ยอดแห่งธรรม
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2520 ความยาว 50.34 นาที
สถานที่ : วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๐

ยอดแห่งธรรม

 

การแสดงธรรมขอให้ทุกๆ ท่าน ตั้งใจด้วยดี วันนี้ให้หูเราเป็นประโยชน์ นี่ก็เคยพูดมานาน ลมปากเป็นประโยชน์บ้าง ไม่เป็นประโยชน์บ้าง วันนี้ตั้งใจจะให้ลมปากเป็นประโยชน์ และท่านทั้งหลายก็ขอให้หูเป็นประโยชน์  ให้ใจเป็นประโยชน์วันนี้ ใจเราเคยคิดยุ่งเหยิงวุ่นวายก่อความรบกวน หรือเดือดร้อนแก่เจ้าของมามากมาย วันนี้ให้เกิดประโยชน์ทั้งทางหูทั้งทางใจ จะได้นำธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ให้ความร่มเย็นแก่จิตใจของสัตว์โลกมาเป็นเวลานาน มาแสดงให้ท่านทั้งหลายได้ฟังในวันนี้

        นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (สามจบ)

        มทนิมฺมทโน วฏฺฏูปจฺเฉโท ตณฺหกฺขโย วิราโค นิพฺพานํติ

        ธรรมที่ยกขึ้นเมื่อสักครู่นี้ เป็นยอดแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ ได้ถึงความประเสริฐด้วยธรรมที่กล่าวมาเหล่านี้ ธรรมนั้นจึงประเสริฐเรื่อยมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และยังจะประเสริฐตลอดกาลไหนๆ ถ้ามีผู้ปฏิบัติมีผู้สนใจนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้า อันเป็นธรรมชาติประเสริฐนี้ไปประดับตัว

        วันนี้เป็นโอกาสอันดีของพี่น้องทั้งหลาย ที่มาจากทั้งทางใกล้และทางไกล มาเคารพนบน้อมศพของท่านพระอาจารย์ฝั้น ซึ่งเป็นผู้มีอุปการคุณแก่โลกมามากมายก่ายกอง และเป็นเวลานาน เราท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท และได้นับถือท่านว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ เมื่อทราบถึงการล่วงลับของท่าน ซึ่งเป็นธรรมดาของกฎอนิจจังที่มีอยู่กับทุกคน แล้วก็ได้อุตส่าห์สละจากบ้านจากเรือน หน้าที่การงาน แม้ที่สุดชีวิตก็ยอมสละ เพื่อมากราบไหว้บูชาคุณท่าน

        ในเบื้องต้นก็ได้สวดบทธรรมหลายบทให้เราท่านทั้งหลายฟัง แต่การสวดบทธรรมนั้นท่านสวดเป็นบทบาลี จึงพอเข้าใจบ้างสำหรับท่านผู้เคยได้ศึกษาเล่าเรียนมา แต่จะไม่เข้าใจเป็นจำนวนมากว่าท่านหมายความว่าอย่างไรที่สวดเหล่านั้น หลังจากนั้นแล้ว เราท่านทั้งหลายก็จะได้ฟังธรรมที่เป็นเนื้อความแห่งภาษาเรา จะเรียกว่าจากบทบาลีก็ได้ เพราะบทบาลีก็เป็นธรรมที่มีเนื้อความอยู่ในตัวแล้ว แต่เราทั้งหลายแปลไม่ออก และสิ่งที่เราแปลไม่ออกนั้นก็มีอยู่กับเราทุกคน

ดังที่ท่านสวดในวันนี้ ล้วนแล้วตั้งแต่เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดังที่ท่านสวดอนัตตลักขณสูตร วันนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงแล้ว เป็นอะไร เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยงก็คือความรบกวน การรบกวนก็คือ ขันธ์ ได้แก่ กองรูป คือร่างกายของเรา เวทนามีความทุกข์เป็นสำคัญ  สัญญา คือความจำได้หมายรู้ สังขาร คือความคิดความปรุงทางด้านจิตใจ วิญญาณ คือความรับทราบจากสิ่งที่มากระทบ คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ให้เป็นการรบกวนกันอยู่เสมอ

ท่านกล่าววันนี้ท่านกล่าวถึงเรื่องเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ในอาการทั้งห้า ซึ่งเราทุกคนมีอยู่ด้วยกัน ไม่มีความบกพร่อง ในบทบาลีท่านถามว่า สุขหรือทุกข์ พระสงฆ์ที่ฟังท่านก็ ทุกฺขํ ภนฺเต ทุกฺขํ ภนฺเต เป็นทุกข์พระเจ้าข้า เมื่อเป็นอย่างนั้นสมควรแล้วหรือที่ท่านทั้งหลายจะถือสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเราเป็นของเรา ไม่สมควรพระเจ้าข้า แต่ท่านผู้ที่ฟังธรรมท่านในขณะที่ตอบรับอยู่นั้น ท่านฟังด้วยความสนใจ อยากทราบความจริงตามหลักธรรมที่เป็นความจริง ซึ่งพระองค์ท่านกำลังประทานอยู่เวลานั้น

บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายที่ฟัง ท่านก็ฟังด้วยความเต็มอกเต็มใจ ฟังเพื่อความรู้เหตุรู้ผลในสิ่งที่มีอยู่กับตนแต่ตนยังไม่รู้ อาศัยพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้มีความฉลาดแหลมคมได้ทรงรู้ทรงเห็นมาแล้วในสิ่งที่มีอยู่กับตนนี้ ได้แสดงให้บรรดาพระสงฆ์เหล่านั้นฟัง จนพระสงฆ์เหล่านั้นได้รู้เห็นตามเป็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ในบทสุดท้ายท่านว่า สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ คือ รู้ตามเป็นจริงของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณ ว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นตามความจริงของมัน ความยึดมั่นถือมั่น มีรากฐานอันลึกขนาดไหนก็ตาม เมื่อปัญญาได้หยั่งลงถึงความจริงแล้ว ย่อมปรากฏเป็นความจริงขึ้นมา ถอนตนออกมาจากที่หล่มลึก คำว่าหล่มลึก ก็คือความจมดิ่งแห่งความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเราเป็นของเรานั่นแล ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเราเป็นของเรา มีแต่กองทุกข์ทับถมโจมตีอยู่ตลอดเวลา โลกจึงมีความเดือดร้อนเพราะเรื่องธาตุเรื่องขันธ์

พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงแสดงให้เห็นความจริงของสิ่งที่เป็นภัยแก่เรา คืออะไร นี่เราแปลไม่ได้ วันนี้จึงถือโอกาสแปลให้ท่านทั้งหลายฟัง ว่ามีอยู่กับทุกคน ให้พากันเข้าใจ และวันนี้ให้หูของเราเกิดประโยชน์ ให้ใจของเราเกิดประโยชน์ในการฟังธรรม ในขณะที่ฟังกรุณาทำใจของเราให้รู้อยู่กับตัว อย่าได้ส่งไปสถานที่อื่นๆ ใดทั้งหมด แม้ที่สุดส่งมาหาผู้เทศน์ ให้ทำความรู้สึกตัวไว้กับเรานั้นแล เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งในการฟังธรรม และการแสดงธรรมจะไม่นอกเหนือไปจากธาตุจากขันธ์จากตัวของเรานี้เลย

เพราะพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จึงได้นำมาแสดงให้เราทั้งหลายฟัง ซึ่งยังไม่รู้เหมือนพระองค์ท่าน เราเกิดมาก็นาน เราอยากรู้อยากเห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ เป็นไปด้วยกันทั้งนั้นนับทั้งผู้แสดงนี้ด้วย แต่ความอยากรู้เรื่องของตนนี้มีน้อยมากทีเดียว จึงไม่สามารถที่จะรู้เรื่องของตนว่าเป็นอะไรบ้าง ถ้าเกิดความทุกข์ขึ้นมากๆ ก็มีความบ่นพิไรรำพัน ร้องห่มร้องไห้ไปเท่านั้น สิ่งที่จะให้เกิดประโยชน์ มีความแยบคายเพื่อจะขยายจิตใจออกจากสิ่งบีบบังคับเหล่านี้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่สนใจจะรู้ ไม่สนใจจะพินิจพิจารณาอ่านดูตัวเอง

ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นสอนทุกรูปทุกนาม สอนให้พิจารณาถึงเรื่องของตัว ทั้งภายในตัวเองและสิ่งภายนอกที่มาเกี่ยวข้อง ให้มีความรอบคอบทุกด้านทุกแง่ทุกกระทง สมกับพระพุทธเจ้าเป็นจอมปราชญ์ ไม่มีใครที่จะฉลาดรู้เหมือนพระพุทธเจ้าเลย จึงสามารถเป็นครู สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในสามโลกธาตุนี้ไม่มีใครที่จะเป็นใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า ทั้งความรู้ความฉลาดความสามารถ ความองอาจกล้าหาญ ความมีอำนาจวาสนาบารมี พระองค์เป็นหนึ่งทีเดียว

เราจึงได้เปล่งวาจาถึงพระองค์ท่านด้วยการยอมตนว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า ฝากเป็นฝากตายถวายชีวิตมอบไว้กับพระพุทธเจ้า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ธรรมดวงเลิศที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น เราขอกราบไหว้บูชา เพราะเป็นนิยยานิกธรรมจะนำสัตว์ผู้ลุ่มหลงงมงาย ตกอยู่ในที่หล่มลึกนี้ให้พ้นจากทุกข์ไปได้ เพราะอำนาจแห่งธรรมเหล่านี้ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ท่านก็เป็นผู้วิเศษตามพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนแล้ว ได้รับความเฉลียวฉลาดสามารถถอดถอนตนขึ้นจากหล่มลึก คือธาตุคือขันธ์เหล่านี้ ให้พ้นเป็นอิสระภายในจิตใจ กลายเป็นผู้วิเศษขึ้นมา จึงสมควรเป็นสรณะของพวกเรา ทั้ง รัตนะนี้แล ชาวพุทธเราถืออย่างฝากเป็นฝากตาย ถวายชีวิตตลอดเวลา เพราะท่านวิเศษ

เราก็เกิดมาในโลกนาน นับถือพระพุทธศาสนาก็นับถือมานาน มีอะไรบ้างที่ปรากฏขึ้นภายในจิตใจของเรา พอเป็นผลแห่งการนับถือพระพุทธศาสนา คือให้รู้ประจักษ์กับใจของเรา มีจำนวนน้อย เพราะสักแต่ว่าทำ ทำไปตามบ้านตามเมือง ทำไปตามหมู่ตามเพื่อนเฉยๆ ทำไม่ค่อยจะสนใจถึงความจริง ทั้งๆ ที่ธรรมนั้นพระองค์ท่านประทานไว้ด้วยพระเมตตาอย่างถึงพระทัย

การประกาศสอนธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ไม่เหมือนเราทั้งหลาย เป็นออกจากพระเมตตา มหากรุณาธิคุณ ฟังแต่ว่า มหา ใหญ่โตมาก มีพระเมตตามาก ประทานพระโอวาทให้สัตว์ทั้งหลายด้วยพระเมตตา ไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งหมด มีพระประสงค์ที่ให้สัตว์ได้พ้นจากทุกข์เพราะพระโอวาทที่ชโลมลงไป หรือชะล้างลงไปให้พ้นจากความเศร้าหมองมัวเมา ให้เป็นความสุขความสบายจนกระทั่งถึงความหลุดพ้นแล้วเป็นที่พอพระทัย สมกับพระองค์ท่านได้ทรงปรารถนาพระบารมีมานาน เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อได้ตรัสรู้ธรรมแล้วจึงประทานพระโอวาทให้เต็มพระทัย จนกระทั่งวาระสุดท้ายที่จะปรินิพพาน ก็มีสุภัททปริพาชกเข้าไปทูลถามปัญหา ถูกพระอานนท์ห้ามไว้ว่าเวลานี้พระองค์ทรงลำบากอยู่มากจึงไม่ควรจะรบกวน เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบอย่างนั้น จึงรับสั่งให้เข้ามา แล้วประทานพระโอวาทย่อๆ ให้ว่า การที่เรามานิพพานที่นี่ก็มุ่งประสงค์เธอนั่นแหละ หรือประสงค์คนๆ เดียวนี้เป็นวาระสุดท้าย ฉะนั้นจึงขอให้เข้ามา

เมื่อสุภัททปริพาชกจะทูลถามปัญหาข้อใดๆ พระองค์ท่านก็ได้เตือนหรือตัดความออกไม่ให้ยืดเยื้อเกินไป ว่าเวลาของเราตถาคตมีน้อย ฉะนั้นเราจะให้ พูดภาษาของเรา โอวาทให้เหมาะสมกับเธอเวลานี้ และให้ออกประพฤติปฏิบัติให้เป็นปัจฉิมสาวกครั้งสุดท้ายที่เราจะปรินิพพานในราตรีวันนี้ สุภัททปริพาชกก็ได้รับพระโอวาทจากพระองค์ท่านแล้วออกไปบำเพ็ญเพียรในคืนวันนั้นก็ได้บรรลุถึงอรหัตผล ปรากฏเป็นพระอริยบุคคลชั้นสุดยอดขึ้นมาในปัจฉิม สุดท้ายแห่งการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ผลแห่งธรรมที่ทรงสั่งสอนโลก ย่อมปรากฏมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนกระทั่งปัจจุบัน จากผู้ปฏิบัติด้วยความสนใจ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ เพราะศาสนธรรมนั้นก่อนที่จะได้ปรากฏขึ้นมา พระองค์ท่านทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง จนเต็มความสามารถเรื่อยมา จนกระทั่งได้ตรัสรู้ธรรม ไม่ได้ทำอย่างย่อๆ หย่อนๆ ไม่ได้ทำแบบเล่นๆ ลูบๆ คลำๆ สักแต่ว่าทำอย่างนั้น การประกาศสั่งสอนโลกก็เช่นเดียวกัน สั่งสอนแบบถึงพระทัยจริงๆ

เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธ ที่เรียกว่าเป็นลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า ขอให้คำนึงถึงตัวของเราเสมอ เพราะเราเกิดมาในโลกนี้เป็นเวลานาน เราได้มีความรู้ความเห็นอะไรบ้าง พอที่จะเป็นสาระแก่นสารเป็นที่ยึดเป็นที่มั่นใจของเรา ในปัจจุบันก็ดี ในวาระสุดท้ายก็ดี อย่าให้เป็นหลักปักขี้ควาย เหลวๆ ไหลๆ เหมือนอย่างว่าวเชือกขาดอยู่บนอากาศ จะตกไปทางไหนก็ไม่ทราบ เราคิดอะไรเราคิดได้ แต่เมื่อเวลาจะมาคิดถึงความเป็นอยู่และความเป็นไปของตัวนั้น มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง ให้สมกับว่าเราเป็นผู้ต้องการความสุขความเจริญ

เพราะความสุขความเจริญนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยล้าสมัย ใครต้องการทั้งนั้น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ต้องการ เราเป็นมนุษย์มีความเฉลียวฉลาดมากยิ่งกว่าสัตว์ ยิ่งมีความต้องการมากยิ่งกว่าเขาเสียอีก แล้ววิธีการที่จะให้เกิดความสุขความเจริญ และเกิดความมั่นใจในปัจจุบันและอนาคตของตน ในคติความเป็นไปของตนนั้น มีอย่างไรหรือไม่ภายในใจของเรา จึงควรคำนึงให้มาก ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เป็นสมบัติกลาง ใครมีความนึกน้อม ใครมีความประพฤติปฏิบัติย่อมกลายเป็นสมบัติของคนนั้นไปโดยลำดับๆ ท่านเรียกว่า อกาลิโก

ธรรมนั้นหากาลหาเวลาไม่ได้ พร้อมที่จะให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติโดยลำดับตามกำลังของตนๆ เสมอไป นับตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งปัจจุบัน และยังจะเป็นไปเช่นนั้นอีก จึงเรียกว่า นิยยานิกธรรม เป็นธรรมที่สามารถจะนำสัตว์โลกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามหลักธรรมของพระองค์ท่านให้พ้นจากทุกข์ไปได้โดยลำดับ จนกระทั่งถึงพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ไม่มีอันใดที่จะเหนือกว่าธรรมนี้ไปได้เลยที่จะทำสัตว์ให้มีความเฉลียวฉลาด ทำประชาชนหรือบุคคล พุทธบริษัทที่จะประพฤติตัวให้มีความราบรื่นดีงาม ทั้งความเป็นอยู่ในฆราวาส และความเป็นอยู่ทางพระสงฆ์ ตลอดถึงการประพฤติปฏิบัติ ทุกด้านทุกแง่ทุกมุม ไม่มีอันใดที่จะดีเยี่ยมยิ่งกว่าการประพฤติธรรม และความสุขใดก็ตาม ไม่มีความสุขใดที่จะยิ่งไปกว่าความสุขจากการประพฤติธรรม

การประพฤติธรรมใครจะเป็นผู้ประพฤติ ถ้าไม่ใช่พุทธบริษัท ใครเป็นผู้หวังความสุขความเจริญอยู่เวลานี้ หวังอย่างไม่จืดไม่จาง หวังตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ และวันตายไปยังต้องหวังความสุขความเจริญ หวังความสมหวังอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่จะมาสนองตอบความสมหวังเรานั้นคืออะไร ถ้าไม่ใช่ความดี คือการกระทำดี แล้วผลจะเป็นสุขขึ้นมาให้สมหวังไม่ได้ นี่เป็นหลักตายตัวแห่งความจริงที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้

คำว่าธรรมนั้น เป็นสมบัติของทั้งฆราวาสทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งนักบวช เป็นไปได้ทั้งหมดถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติ คำว่ามรรคผลนิพพานก็เหมือนกัน เราได้ยินแต่ชื่อ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลท่านบรรลุมรรคผลนิพพาน บรรลุโสดา สกิทา อนาคา อรหัตอรหันต์ แล้วมาทุกวันนี้เป็นยังไง ศาสนามีแต่ชื่อหรือเป็นอย่างไร ศาสนาต้องมีนิ่มมีนวล ศาสนาต้องมีเหตุมีผล มาพร้อมๆ กัน มีเหตุแล้วต้องมีผล ผู้ประพฤติปฏิบัติได้มากน้อยเพียงไรในทางความดี ย่อมมีผลตอบแทนสนองโดยลำดับๆ เรื่อยมา

ท่านจึงเรียกว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว คำว่า ตรัสดีแล้ว นั้น หาที่ค้านไม่ได้ หาที่แย้งไม่ได้ ไม่มีใครที่จะตรัสได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ท่านได้ทรงรู้ทรงเห็นทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจึงนำมาแสดงมาสั่งสอนโลก ไม่ใช่ได้ยินแต่ข่าวแล้วก็เอามาสอนโลกอย่างนั้น คนที่ได้ยินเขาพูดแล้วมาเล่าเรื่องที่เขาพูดให้ฟังนั้น สู้คนที่ไปเห็นด้วยตาของตนไม่ได้ เราไปประสบเหตุการณ์เสียเอง แล้วมาพูดสิ่งนั้นได้ถูกต้องแม่นยำ ไม่ผิดไม่เคลื่อนคลาดไปได้เลย

นี่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นทุกสิ่งทุกอย่างประจักษ์พระทัยของพระองค์แล้ว จึงได้นำมาสั่งสอนโลก จึงหาทางผิดไม่ได้ เรียกว่า สวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้ว และเป็นนิยยานิกธรรม นำสัตว์โลกที่จะให้พ้นจากทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าก็พ้นทุกข์ไปได้เพราะการปฏิบัติธรรม สาวกทั้งหลายพ้นทุกข์ไปได้เพราะการปฏิบัติธรรม ธรรมจึงเป็นสิ่งที่นำสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ได้ตลอดมา ไม่ใช่ธรรมจะเป็นโมฆะในสมัยปัจจุบัน นอกจากตัวของเราทำตัวให้เป็นโมฆะหาประโยชน์ไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็เป็นโมฆะอยู่เช่นนั้น แม้จะจับชายจีวรพระพุทธเจ้าอยู่ก็เป็นโมฆะสำหรับคนนั้น สำคัญอยู่ที่การปฏิบัติของเรา

เฉพาะอย่างยิ่งวันหนึ่งๆ ควรจะระลึกถึงความตายในตัวบ้างอย่างน้อย หนก็ยังดี จิตใจของเราจะได้มีการยับยั้งจากความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ความโลภก็จะไม่มากนัก ความโกรธก็จะไม่มากนัก ความหลงก็จะไม่มากนัก เพราะมองเห็นป่าช้า ส่วนมากคนเราไม่มองเห็นป่าช้า มองเห็นตั้งแต่ดินฟ้าอากาศ เหมือนกับว่าจะเหาะเหินเดินฟ้าได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีปีก นั้นแลมันจึงทำตัวให้เพลิน เพลินจนลืมเนื้อลืมตัวลืมวัย ไม่ทราบว่าเป็นหญิงเป็นชาย เฒ่าแก่ชราขนาดไหน ลืมไปหมด ว่าตั้งแต่จะมีความสุขความบันเทิง ดีไม่ดีอยากจะใส่ส้นสูงขึ้นรำวงกับเขา เพราะความเพลินความลืมตัว ไม่มองดูป่าช้า

คนเราถ้ามองดูความตายก็เท่ากับมองป่าช้า เหมือนกับว่ารถมีเบรก พอถึงสถานที่จะรอก็ต้องรอ ถึงสถานที่ควรจะเร่งก็ต้องเร่ง ถึงสถานที่จะหมุนซ้ายหมุนขวาไปตามที่เราต้องการด้วยพวงมาลัยนั้นก็เป็นไปได้ นี่ละการขับขี่ตัวเราเอง การดัดแปลงตัวเราเองด้วยหลักธรรม ให้ทำอย่างนี้ ท่านสอนไว้อย่างนั้น รถนั้นจะเอามาจากอู่ใหม่ๆ ก็ตาม จะขับขี่ให้ชนอะไรดะไปหมดก็ไม่ถึง นาทีแหลกไปเลย ถ้าพยายามขับขี่ให้ถูกต้องตามกฎของจราจร และมีความระมัดระวังแล้ว รถนั้นก็ปลอดภัย ส่งบุคคลให้ไปถึงสถานที่ตามความต้องการได้ เป็นประโยชน์มาก เราเองก็เหมือนกัน การขับขี่คือการฝึกหัดอบรมตนเอง

เรื่องความสุขความเจริญนั้นเราต้องการด้วยกันทุกคน ให้ระวังอันใดที่จะเป็นภัยต่อความสุขความเจริญของเรา สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สัตว์โลกต้องการมาก จึงต้องทำอันตรายแก่ตนเสมอ มีตั้งแต่ความทุกข์ ความสุขไม่ค่อยปรากฏ ก็เพราะไปเที่ยวหาเหยียบย่ำตั้งแต่ขวากแต่หนามมันก็ปักเอาเสียบเอาแทงเอาแล้วเกิดทุกข์ขึ้นมา คำว่า เสี้ยนหนามนั้นคืออะไร ก็คือความผิด เมื่อทำผิดแล้วจะให้เป็นสุขขึ้นมาเป็นไปไม่ได้ มันต้องเป็นทุกข์ ความจริงเป็นเช่นนั้น

เมื่อตะกี้นี้ได้กล่าวถึงเรื่องมรรคผลนิพพานว่ามีตั้งแต่ครั้งพุทธกาลหรือ ทุกวันนี้มีได้ไหม แล้วใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นผู้มีอำนาจวาสนากำเอามรรคผลนิพพานไว้ในเงื้อมมือของตน โดยไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับผลเหมือนครั้งพุทธกาลเลย ถ้าไม่ใช่เราเองเป็นผู้กีดกันหวงห้ามทางเดินของเราแล้วไม่มีผู้อื่นผู้ใดทั้งนั้น เพราะสิ่งที่จะทำให้เกิดมรรคผลนิพพานได้ หรือจะปิดตันมรรคผลนิพพานก็มีอยู่ ประการ แยกออกเป็นด้านละ ทุกข์กับสมุทัย สมุทัยคือกิเลสตัณหาอาสวะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่แหละเป็นสิ่งที่กีดกั้นมรรคผลนิพพานที่จะไม่ให้เกิดขึ้นได้ และก็มีตั้งแต่ความทุกข์ที่จะเป็นผลของกิเลสตัณหาอาสวะเหล่านั้นพอกพูนหัวใจขึ้นโดยลำดับ นี้แลคือสิ่งที่กีดกันหรือกั้นกางมรรคผลนิพพานไม่ให้เกิดขึ้น

แล้วอะไรที่จะเป็นเครื่องบุกเบิกสิ่งเหล่านี้ออก ให้ดำเนินไปตามทางมรรคทางผลจนกระทั่งถึงที่สุดจุดหมายปลายทางได้ ก็คือมรรค มรรคคืออะไร แปลว่า ทางดำเนิน มรรคกับนิโรธ นิโรธคือความดับทุกข์ ถ้ามีมรรคแล้วนิโรธก็ปรากฏได้ เพราะมรรคเป็นเครื่องบุกเบิก เป็นเครื่องตัดฟันกิเลสอาสวะทั้งหลายซึ่งเป็นข้าศึกนี้ ด้วยการปฏิบัติ ในมรรคนั้นมีอะไรบ้าง ท่านว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่รวมเข้าแล้ว ย่นเข้ามาเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แลคือเครื่องมืออันทันสมัยที่สุดตลอดมา ท่านจึงเรียกว่า มัชฌิมา

คำว่า มัชฌิมา มีความเสมอต้นเสมอปลาย ความเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าครั้งโน้นหรือครั้งนี้ ไม่ว่าครั้งใดคำว่ามัชฌิมาต้องเป็นธรรมที่คงเส้นคงวาสม่ำเสมออยู่ตลอดไป จึงเรียก มัชฌิมา อันใดที่ขัดกับมัชฌิมา อันนั้นไม่ใช่ของจริง เรียกว่าเป็นข้าศึกต่อมัชฌิมา เช่น ทุกข์ สมุทัย เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมา เมื่อผู้ดำเนินมัชฌิมาธรรมนี้ให้มากขึ้นภายในจิตใจแล้ว กิเลสตัณหาอาสวะย่อมค่อยหมดไปๆ เหือดแห้งไป นิโรธ คือความดับทุกข์ก็ทำหน้าที่ดับไป เพราะอำนาจแห่งมรรคเป็นผู้พาเดิน หรือเป็นตัวเหตุให้ทุกข์ดับไปโดยลำดับ จนกระทั่งทุกข์ไม่มีเหลือ เพราะอำนาจแห่งมรรคมี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น เป็นเครื่องมือที่ทันสมัย ประหัตประหารสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในจิตใจของเราให้หมดสิ้นไป แล้วคำว่า นิโรธ คือความดับทุกข์ก็ปรากฏขึ้นมาเอง

เมื่อมรรคได้ทำหน้าที่ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มสติกำลัง จนกิเลสตัวใดไม่มีเหลืออยู่ภายในจิตใจแล้ว เราไม่ต้องไปถามหานิพพาน เราไม่ต้องไปถามหามรรคหาผลที่ไหน เรานั้นแลเป็นผู้ถึงมรรค เรานั้นแลเป็นผู้ถึงผล เรานั้นแลเป็นผู้พ้นจากทุกข์ เหมือนพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ธรรมด้วยมรรคนี้แล ได้เป็นศาสดาของโลกก็เพราะมัชฌิมาปฏิปทาของพระองค์ สาวกทั้งหลายได้พ้นจากทุกข์ก็เพราะมัชฌิมาปฏิปทานี้ เพราะฉะนั้นมัชฌิมาปฏิปทานี้จึงเป็นธรรมยืนยัน หรือเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในการแก้ขวากแก้หนามทั้งหลาย อันเป็นข้าศึกต่อจิตใจของเรา ที่เรียกว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น

เวลานี้ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีอยู่ในหัวใจของเราหรือไม่กับครั้งพุทธกาล กิเลสเป็นกิเลสประเภทเดียวกัน ความโลภก็มีเหมือนกัน ความโกรธมีเหมือนกัน ความหลงมีเหมือนกัน แล้วทีนี้มัชฌิมาปฏิปทาก็เป็นธรรมแท่งเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญมาแต่ก่อน และสาวกบำเพ็ญมาก่อน นำมาแก้กิเลสนี้จะขัดแย้งกันที่ตรงไหน มีธรรมเหล่านี้เป็นที่เหมาะสมที่สุดตลอดมา ที่จะแก้กิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจของเรา อย่างน้อยเราก็ได้ไปสู่สถานที่ดีคติที่งาม ไม่นอกเหนือไปจากการบำเพ็ญธรรมนี้เลย ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญอย่าได้ประมาทนอนใจ วันหนึ่งคืนหนึ่งให้ได้บำเพ็ญ

ทานก็เป็นความดีของเรา ศีลก็เป็นความดีของเรา ภาวนาก็เป็นความดีของเรา เฉพาะอย่างยิ่งภาวนาเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว ให้อ่านดูจิตใจของเรา วันหนึ่งคืนหนึ่งจิตใจของเรามันคิดแส่ส่ายไปที่ไหนบ้าง ได้ประโยชน์อะไรบ้าง เราไม่เคยคำนึงคำนวณถึงความคิดความปรุงที่มันก่อความเสียหายให้ตนอยู่เรื่อยๆ นั้น เราคิดแต่เรื่องอื่น มองดูแต่สิ่งอื่น ไม่มองดูตัวของเรา เราก็ไม่เห็นความบกพร่องของเรา แล้วจะแก้ไขกันได้อย่างไร หาทางแก้ไขไม่ได้

เพราะฉะนั้นธรรมะพระพุทธเจ้าท่านสอน ซึ่งสอนมาหาเราให้เราได้ดูตัวของเรา โอปนยิโก ให้น้อมเข้ามาดู เห็นคนอื่นตายเราก็น้อมเข้ามาดูตัวของเราว่าจะตายอย่างนั้นหรือไม่ แน่ะ ดังท่านพระอาจารย์ฝั้นเป็นต้น ท่านก็ปรากฏชื่อลือนามด้วยคุณงามความดีทั้งหลาย เป็นสง่าราศีในวงพระศาสนา ตลอดถึงให้ความร่มเย็นแก่ประชาชนมากว้างขวางมากมาย แม้เช่นนั้นท่านก็ยังตกอยู่ในกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ เกิดแล้วก็ต้องตายเช่นเดียวกัน ท่านตายไปวันนี้ เราอาจจะตายในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ทุกรูปทุกนามที่อยู่ด้วยกันนี้ มีป่าช้าตีตราอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่มีใครที่จะนอกเหนือกว่ากันได้ ที่จะข้ามโลกข้ามสงสารไปโดยไม่มีป่าช้า เกิดแล้วต้องตายด้วยกัน

แต่ก่อนที่จะตายนั้น ผู้ที่ตายในทางชั่วก็มี ตายไปด้วยความดีก็มี ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ถึง บท มืดมาแล้วมืดไปก็มี ท่านว่า ตโมตมปรายโน ทั้งมืดมาทั้งมืดไป เกิดมาก็ไม่รู้ภาษีภาษาอะไร แล้วก็อยู่ไปอย่างนั้นละ เหมือนเป็ดเหมือนไก่ เหมือนเต่า เหมือนสัตว์ทั้งหลาย ไม่ได้คำนึงถึงศีลถึงทานการกุศลอะไรไรเลย ตายก็ตายไปแบบนั้น นี่เรียกว่า มืดมาแล้วก็มืดไป มืดมาแล้วสว่างไป เบื้องต้นนั้นเรายังไม่รู้ภาษีภาษาอะไร ต่อมาเราได้สดับตรับฟัง ได้อ่านหนังแส่หนังสือหรือฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำสั่งสอน ก็พอรู้จักบาปรู้จักบุญแล้วบำเพ็ญตนโดยลำดับ เลยกลายเป็นผู้สว่างไป นี่อันหนึ่ง

และสว่างมาแล้วมืดไป นี่ก็หมายถึงเบื้องต้นเราเป็นผู้สนใจประพฤติตัวเป็นคนดี มีศีลมีธรรม ครั้นเวลาจวนตัวเข้ามา เรือเลยล่มบาดจอด เขาว่า ภาษาภาคอีสาน ตาบอดบาดเถ้า คือเรือล่มตอนจะจอด ตาบอดตอนแก่ บทเวลาจะตายเลยคว้าอะไรไม่ได้ คว้าได้ตั้งแต่น้ำเหลว คือประพฤติตัวเหลวแหลกไปหมด เลยเสียตอนตาย นี่เรียกว่าสว่างมาแล้วมืดไป สว่างมาแล้วสว่างไปก็เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าของเรา พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาทุกแง่ทุกมุม มาก็ไม่ทรงประพฤติความเสียหายใดๆ ทั้งนั้น แล้วเสด็จออกทรงผนวชจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเทียบถึงตัวของเราก็รู้จักภาษีภาษามาตั้งแต่ยังเล็กยังน้อย ประพฤติศีลประพฤติธรรมมาโดยลำดับจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย เป็นคนดีตลอดไป เรียกว่า สว่างมาแล้วก็สว่างไป

คำว่า สว่างนี้มีหลายชั้นตามขั้นแห่งการประพฤติปฏิบัติ กำลังความพากเพียรการบำเพ็ญของเรา คำว่า สว่างไป นี้ สว่างถึงขั้นสุดยอดก็มี เช่น บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก็มี ชั้นอนาคาก็มี สกิทาคาก็มี โสดาก็มี เป็นกัลยาณชนก็มี อย่างพวกเราทั้งหลายไม่ได้ขั้นนั้นก็ตาม เราก็เป็นกัลยาณชน เป็นผู้มีคุณงามความดีเป็นที่น่าดูน่าชม เป็นที่น่าดูดดื่มภายในจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงกรุณาสร้างคุณงามความดีไว้เป็นที่อบอุ่นของใจ สิ่งใดก็ไม่มีอะไรที่จะอบอุ่นยิ่งกว่าบุญกว่ากุศล เราอยู่กับหมู่กับเพื่อนก็อบอุ่นในขณะที่อยู่ พอจากกันไปก็เดือดร้อน อยู่ในบ้านก็รู้สึกร่มเย็น พอออกจากบ้านไปก็ร้อน อยู่ที่นี่ก็ร้อน ไปที่นั่นก็ร้อน เพราะความร้อนมีอยู่ภายในจิตใจ

เมื่อเราสร้างคุณงามความดีให้เป็นที่อบอุ่นภายในจิตใจแล้ว อยู่คนเดียวก็เย็น เวลายังมีชีวิตอยู่ก็เย็น ตายไปก็เย็น เพราะเย็นด้วยบุญด้วยกุศล มีความสุขด้วยบุญด้วยกุศล คำว่าบุญว่ากุศลนี้ ใครเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมา ใครเป็นผู้บัญญัติขึ้นมาให้เราทั้งหลายได้บำเพ็ญ ถ้าไม่ใช่จอมปราชญ์คือ พระพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถที่จะทราบว่าบุญว่าบาป และวิธีการบำเพ็ญบุญบำเพ็ญยังไง ละบาปละยังไง ไม่สามารถทำได้เลย นี่พระพุทธเจ้าทรงสามารถทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเรียกว่าเป็นจอมปราชญ์ศาสดาของโลก

ถ้าเราไม่ประพฤติตามนักปราชญ์แล้วเราจะประพฤติตามใคร พระพุทธเจ้าเป็นผู้สามารถ สามารถสั่งสอนโลกได้ทั้งสามโลก เราคิดดูซิความสามารถใครจะเหมือนพระพุทธเจ้า เราเพียงจะปกครองเรา ประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี เรายังไม่สามารถจะปกครองเราได้ จะกำจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีจากตัวของตัวเองก็ยังไม่สามารถ ประคับประคองตนไปก็ยังล้มลุกคลุกคลาน เราอย่าว่าจะปกครองคนอื่นได้เลย เราเองยังปกครองตัวของเรายังไม่ได้ ยังพาให้มันล่มจมฉิบหายไปได้มีอยู่มากมายก่ายกอง นี่ถ้าเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเราจะเชื่อใคร

พระพุทธเจ้าเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว พูดคำใดออกมา ตรัสคำใดออกมา จริงทุกคำ จึงเรียกว่า สวากขาตธรรม ไม่มีคำโกหกหลอกลวงเจือปนอยู่แม้หนึ่งเปอร์เซ็นต์เลย คนธรรมดาสามัญเรานี้ พูด ๒๕ คำนั้นจะปลอมไปแล้วอย่างน้อย คำ พูดร้อยคำนี้ ปลอมไปแล้ว ๒๐ คำเป็นอย่างน้อย ปลอมเพราะอะไร ก็เพราะความลุ่มหลง ก็เพราะใจมันปลอม ใจไม่ได้จริง ไม่ได้รู้จริงเห็นจริง พูดออกมาถูกบ้างผิดบ้าง เรียกว่า งูๆ ปลาๆ จะว่างูเสียจริงๆ ก็ไม่แน่ใจ ว่าปลาเสียจริงๆ ก็ไม่แน่ เอางูๆ ปลาๆ เสีย ฟาดมันทั้งสองเลย แล้วก็ได้ของปลอมมา ไม่ได้ของจริง

เมื่อตะกี้นี้ได้ยกภาษิตขึ้นมาว่าเป็นยอดแห่งธรรมนั้นยอดยังไง มทนิมฺมทโน ธรรมยังความเมาให้สร่าง เราเมาอะไร แล้วธรรมอะไรที่จะมาทำความเมาให้สร่าง พระพุทธเจ้าเป็นผู้สร่างแล้วจากความลุ่มความหลงทั้งหลาย พระสาวกท่านสร่างแล้วจากความลุ่มหลงทั้งหลาย ถึงความพ้นทุกข์แล้ว พวกเราเต็มอยู่ในความลุ่มหลงหาความสร่างไม่ได้ ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน นับตั้งแต่เป็นเด็กจนกระทั่งถึงอวสานแห่งชีวิตยังจะมัวเมาอยู่อย่างนั้น เป็นยังไง มัวเมาเกาหมัด มันเป็นยังไง มันดีไหม พวกเรามันเต็มด้วยของอย่างนี้

มทนิมฺมทโน คือ ธรรมที่ยังความเมาให้สร่าง ได้แก่ ถึงขั้นแห่งความบริสุทธิ์ วฏฺฏูปจฺเฉโท ตัดเสียซึ่งวัฏฏะความหมุนเวียน เวียนเกิดเวียนตาย ซึ่งเป็นการเวียนเอากองทุกข์ ปล่อยภัยทุกข์นี้แล้วแบกทุกข์นั้น ปล่อยทุกข์นั้นแบกทุกข์ในภพนี้ ปล่อยทุกข์ในภพนี้แบกทุกข์ในภพนั้น เป็นมาอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ท่านจึงเรียกว่าวัฏจักร คือ ความหมุนของสัตว์ที่เป็นไปด้วยความลุ่มหลง วฏฺฏูปจฺเฉโท นั้น ตัดออกเสียซึ่งความหมุนทั้งหลายนี้โดยประการทั้งปวง จิตไม่มีหมุนอีกต่อไปแล้ว

ตณฺหกฺขโย ตัดเสียซึ่งความทะเยอทะยานอยาก อันเป็นเครื่องก่อกวนให้ดิ้นรนกระวนกระวายไม่มีเวลาอิ่มพอได้เลย เพราะตัณหาคือความอยากมันหิวตลอดเวลา ท่านจึงเรียกว่า ตัณหา ไม่มีความพอเลย รับประทานข้าวอิ่มแล้ว หัวใจมันไม่อิ่ม มันอยากได้นั้น อยากได้นี้ อยากได้นั้น อยากไม่หยุดไม่ถอย ท่านจึงเรียกว่า ตัณหา คือ ความบกพร่องอยู่ตลอดเวลา ตณฺหกฺขโย พระพุทธเจ้าตัดได้หมด ไม่มีอะไรเหลือเลย พระสาวกท่านตัดได้หมด ด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติธรรม

วิราโค สิ้นแล้วซึ่งความกำหนัดยินดีในสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าสมมุติไม่มีเหลือภายในพระทัย ภายในใจของพระพุทธเจ้าและสาวกเลย ท่านจึงเรียกว่า วิราโค    นิโรโธ ดับสนิท เรื่องกองทุกข์มากน้อยที่มีอยู่ภายในจิตใจไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย เรียกว่า นิโรโธ

นิพฺพานํ ถึงละที่นี่ถึงนิพพาน เมื่อถึงนิพพานแล้วก็เป็นอันว่าแล้วเท่านั้น อย่างท่านอาจารย์ฝั้นท่านเคยแสดง เราก็เคยได้ยินท่านพูด ท่านพูดให้พวกเราฟังได้อย่างง่ายๆ ถ้าจะแปลให้ลึกซึ้งกว่านั้นพวกเราทั้งหลายจะไม่เข้าใจ ท่านก็แปลเอาอย่างง่ายๆ ให้พวกเราทั้งหลายฟัง บรรดาผู้ใดที่เคยฟังธรรมจากท่าน คงจะได้ฟังศัพท์นี้ว่า นิพพานๆ นั้นแปลว่าอะไร ท่านว่า ก็อะไรมาพาน ก็หนีบเอาๆๆ เอาหมด ความโลภก็หนีบมัน ความโลภมาพานก็หนีบมันเสีย ความโกรธมาพานก็หนีบมันขาดไปเลย ความหลงมาพานก็หนีบมัน อะไรมาพานก็หนีบมันหมด จึงเรียกว่า นี้เป็นนิพพาน ท่านว่างั้น นั่นฟังซิ เราเคยหนีบไหมล่ะ ไม่เคยหนีบ มีแต่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความทุกข์ความลำบากแก่ตัวของเรานั้นแหละ นี่ได้ยกที่ว่ายอดธรรม หมายถึงอย่างนี้

การที่จะถึงยอดธรรมนี้ ต้องอาศัยความขวนขวายความอุตส่าห์พยายาม เราเป็นผู้รับผิดชอบเราตลอดเวลา ไปเกิดในภพใดชาติใดก็ตาม ความทุกข์ความสุขมีมากน้อย เราเป็นผู้รับผิดชอบทั้งนั้น แล้วเราจะปล่อยตัวของเรา เพราะอาศัยความรื่นเริงบันเทิงความอยากเฉยๆ โดยไม่มีเหตุมีผลนั้น เข้ามาบังคับจิตใจ หรือฉุดลากจิตใจไปนั้น ไม่สมเหตุสมผลกับเราที่เป็นชาวพุทธ และเป็นผู้ฉลาดในนามแห่งมนุษย์นี้เลย เราจึงควรแก้ไขดัดแปลงตัวของเราเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

คำว่า บาป หมายถึงอะไร ผลของบาปคืออะไร คือความทุกข์ บาป คือความเศร้าหมอง ความมืดตื้อนั้นเอง แสดงผลขึ้นมาก็คือความทุกข์ ทุกข์ทั้งทางกาย ทุกข์ทั้งทางใจ ทุกข์ทั้งบัดนี้ ทุกข์ทั้งอนาคตข้างหน้า และทุกข์มาแล้วก็เพราะสิ่งเหล่านี้ แน่ะ บาปมันมีอย่างนี้ มีอยู่กับตัวของเรา ใครจะไปลบล้างไม่ได้ คำว่า บาป ผลของบาป คือความทุกข์ ทุกข์มีอยู่ในทุกคน เมื่อเราลบทุกข์ได้จากตัวของเราแล้ว เราลบบาปว่าไม่มีนั้นถูกต้อง

แต่นี้ทุกข์มีอยู่ภายในจิตใจร่างกายของเราอยู่ทุกรูปทุกนามปฏิเสธไม่ได้ แล้วเราจะไปลบบาปว่าไม่มีได้ยังไง ลบบุญ คือความสุข ความสุขก็มี มีอยู่ในโลกประจำตลอดมา แล้วเราจะลบบุญได้ยังไง บุญ แปลว่าความสุข บาปแยกออกไปก็เป็นความทุกข์ นรก สวรรค์ ใครเป็นผู้ไปเห็นนรกสวรรค์ พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีจักษุญาณ อันเฉลียวฉลาดแหลมคมมาก สามารถมองเห็นได้ทั้งบาปทั้งบุญ ทั้งนรกทั้งสวรรค์ จึงนำสิ่งที่เห็นแล้วรู้แล้วด้วยพระทัย โดยไม่มีความสงสัยแม้นิดหนึ่งนั้นมาสั่งสอนโลก

พวกเราเป็นคนหูหนวกตาบอด บอกว่านี่น่ะๆ มันก็ไม่เห็น จนกระทั่งโดนเอาเสียหน้าผากแตกไป นั่น สิ่งที่ไม่เห็นนั่นแหละมันโดน มันมักจะโดนเสมอ เช่นเราเดินทาง ถ้าเราเห็นแล้วว่านี่หัวตอ เราจะไม่โดน คนที่ไปโดนสะดุดนั้น คือคนไม่เห็น แน่ะ ผู้ที่ว่านรกไม่มีนั้นแลคือผู้ที่จะลงนรก สำคัญที่ตรงนี้ ถ้าเราไม่เชื่ออย่างพระพุทธเจ้าเราจะเชื่อใคร เราจะเชื่อความด้นเดาของเรามันก็จะพาด้นเดาไปอีก ให้เกิดความทุกข์ความลำบาก ก็คือเราผู้ด้นเดานี่แหละ คนตาบอดก็ต้องเชื่อคนตาดี คนโง่ก็ต้องเชื่อคนฉลาด เดินตามคนฉลาดถึงจะเป็นไปได้

พวกเราโง่ก็ต้องเดินตามครู คือพระบรมศาสดาผู้มีความเฉลียวฉลาดแหลมคม ทรงเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเรียกว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลก เรานี้เห็นแต่กลางวัน กลางคืนมามืดตื้อ ตาของเราเป็นตาเนื้อ ตาพระพุทธเจ้าไม่ใช่ตาเนื้อ จึงเห็นได้ทั้งกลางวันกลางคืน เห็นได้ทุกระยะที่พระองค์จะพิจารณาให้เห็น เห็นได้ทั้งนั้น จึงเรียกว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลก
โลกทั้งสาม คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก พระองค์ท่านสามารถทราบหมด แล้วเหตุใดจึงจะไม่ทราบเรื่องสุขเรื่องทุกข์ เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องนรกเรื่องสวรรค์ แล้วนำธรรมะมาสั่งสอนพวกเรา ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นสวากขาตธรรม

ถ้าเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วเราจะเชื่อใคร นอกนั้นเป็นแต่คนมีกิเลสทั้งนั้น ตัวเราเองก็เชื่อเราไม่ได้ มันโกหกเราตลอดเวลา แม้ที่สุด เอา ยกตัวอย่างใกล้ๆ เช่น เราจะนั่งภาวนา พอจะเริ่มนั่งภาวนามันจะหาอุบายโกหกแล้วนะ จอมโกหกตัวเองก็คือเรา พอจะเริ่มภาวนา นี่ไม่ได้นะ วันพรุ่งนี้จะต้องทำงานหนัก นั่งมันเหน็ดเหนื่อยแล้วทำงานพรุ่งนี้ไม่ไหวนะ ไปนั่งสัปหงกโงกง่วงอยู่แย่นะ ถ้างั้นนอนเสียดีกว่า มันก็ดีกว่าไปอย่างนั้น เพราะมันหลอกให้นอนเสียดีกว่า จะไปวัดไปวาก็กลัวเสียเวล่ำเวลา จะทำบุญให้ทานอะไรก็กลัวหมดกลัวสิ้นกลัวเปลือง บทเวลาเจ้าของกินไม่กลัวสิ้นกลัวเปลือง แน่ะ พิจารณาซิ

นี่ละถ้าหากว่าจะไปทางดีมันหลอกเจ้าของๆ เรายังไม่ทราบอีกหรือว่าตัวของเรามันหลอกเรายิ่งกว่าคนอื่นหลอกเป็นร้อยเท่าพันทวี ถ้าหากว่าเราได้เรียนธรรมะแล้ว เราจะทราบเรื่องความจริงความปลอมในตัวของเราเองโดยไม่ต้องไปหาที่ไหน เรียนธรรมะก็เรียนเรื่องของตัวเอง เมื่อรู้เรื่องของตัวเองแล้วทำไมจะไม่รู้เรื่องของคนอื่น เพราะเป็นเรื่องเหมือนๆ กัน หลักสำคัญท่านจึงสอนให้เรียนตัวของเรา ดูตัวของเรา วันหนึ่งๆ ความเคลื่อนไหวไปมาของเรา ไปในทางผิดหรือทางถูกดีชั่วประการใด ทดสอบตัวอยู่เสมอด้วยหลักธรรม แล้วเราจะเห็นความบกพร่องของเรา และมีทางแก้ไขดัดแปลงกันได้ จนกลายเป็นคนดี ไม่ค่อยผิดค่อยพลาด นี่ละการเรียนตัวของเราเป็นสิ่งสำคัญมากยิ่งกว่าเรียนสิ่งอื่นใด ขอให้เราทั้งหลายได้พิจารณา นำไปประพฤติปฏิบัติ

แล้วบัดนี้จะได้อธิบายถึงเรื่องจิตตภาวนาให้ท่านทั้งหลายฟัง พอเป็นคติเครื่องเตือนใจ แล้วได้นำไปประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยภาวนา พระสาวกอรหัตอรหันต์ได้ตรัสรู้ด้วยภาวนาเป็นวาระสุดท้าย การภาวนาจึงเป็นธรรมที่รวมยอด หรือเป็นบารมีที่รวมยอด เป็นคุณงามความดีที่รวมยอด เหมือนกับเป็นภาชนะใหญ่ทีเดียว หรือเหมือนกับสระใหญ่ น้ำไหลมาจากที่ไหนรวมลงในสระใหญ่หมด เช่น มหาสมุทรเป็นต้น แม่น้ำจะไหลมาจากทางทิศใดก็ตาม ลงในมหาสมุทรทะเลทั้งหมด นี่บุญญาบารมีของเราที่สร้างมามากน้อยเพียงไร จะไหลลงในจิตตภาวนาทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นจึงปรับปรุงจิตใจของเราในด้านจิตตภาวนาให้ดี อำนาจวาสนาของเราที่สร้างมามากน้อยจะเป็นทานก็ดี เป็นรักษาศีลก็ดี จะรวมลงในภาวนานั้นหมด เป็นภาชนะใหญ่ เราจะทราบได้ในสถานที่นั้น ท่านสอนให้ภาวนา ภาวนาอะไร พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง หรือกำหนดอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกบ้าง เราพยายามทำ วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ทำไมจะไม่ว่าง ถ้าเราจะหาเวลาให้ว่าง เวลาอยู่กับเราเอง ความยุ่งยากอยู่กับเราเอง เราพยายามทำได้ เราทำงานอื่นเราทำไมมีเวล่ำเวลา เอา ยกตัวอย่างใกล้ๆ มันไม่มีเวลาจริงๆ เหรอ ไม่มีจริงๆ จนหาช่องว่างไม่ได้จริงๆ เหรอ บทเวลาตายทำไมมันมีเวลา ถ้ามันไม่มีเวลามันตายได้ยังไง ก็เวลายังมีชีวิตอยู่ทำไมหาเวลาไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ว่าเราโง่ต่อความโกหกของเรา เราย้อนเข้ามาอย่างนี้มันก็ทันกิเลส แล้วเราก็ทำได้

นึกพุทโธๆ นึกเพื่ออะไร คือจิตของเราหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ จึงต้องอาศัยคำว่า พุทโธ หรือคำบริกรรม เช่น อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นต้น ให้ใจของเราได้ยึดอยู่กับนั้นเป็นหลักเป็นเกณฑ์ มีความรู้สึก มีสติประคับประคองอยู่กับธรรมบทนั้น อยู่กับลมหายใจ เป็นต้น ให้มีความรู้อยู่จำเพาะๆ นั้น จิตใจของเราจะสงบเข้ามา เพราะอาศัยหลักยึด คือคำบริกรรมนั้นๆ แล้วจะปรากฏเป็นความสงบขึ้นมา พอปรากฏเป็นความสงบแล้ว ความสุขก็ปรากฏขึ้นมาในขณะเดียวกัน เพราะความสงบกับความสุขนี้เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าไม่สงบไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นจึงต้องให้สงบให้รวม เหมือนอย่างแกงนี้ ผักอยู่ที่โน่น พริกอยู่ที่โน่น น้ำปลาอยู่ที่โน่น เนื้ออยู่ที่โน่น ปลาอยู่ที่โน่น ไม่รวมกันมันก็เป็นแกงให้ไม่ได้ ต้องรวมมันถึงจะเป็นแกง รวมลงมาหาตัวของเรานี้ถึงจะอิ่มท้อง รวมเข้ามา ผลสุดท้ายก็มารวมอยู่ภายในอันเดียวในร่างกายของเรา

เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยรวม จิตกระแสหนึ่งคิดไปทางโน้นๆๆ มันก็วุ่นตัวเองกวนตัวเอง หาความสุขไม่ได้ทั้งๆ ที่เราต้องการความสุขอยู่ตลอดเวลา แต่กิริยาที่แสดงออกของจิตนั้น มันเป็นการก่อกวนตัวเองให้เกิดความทุกข์ จึงต้องหาวิธีที่ถูกต้อง ดังที่กล่าวมานี้ เรียกว่า ภาวนา นึกพุทโธๆ ให้ปรากฏภายในใจของเราโดยเฉพาะ ไม่ต้องคาดต้องหมายว่าผลจะเป็นอย่างไร จะเกิดขึ้นมาอย่างไรบ้าง อัศจรรย์แปลกประหลาดอย่างไรบ้าง ไม่ต้องไปคาดไปหมาย การกระทำอยู่ด้วยความไม่เผลอสติ ในคำว่า พุทโธ ธัมโม หรือสังโฆ หรืออานาปานสตินั้นแล คือ การทำงานโดยถูกต้อง ผลจะปรากฏเป็นความสงบเย็นขึ้นมาโดยลำดับ

เมื่อใจของเราได้รวมกระแสเข้ามาสู่จุดเดียว คือเป็นความรู้อันเดียวแล้ว นั้นแลเรียกว่า จิตสงบ ในขณะที่จิตสงบนั้นแลเรียกว่าเราได้เห็นความสุข เมื่อได้เห็นความสุขเพียงครั้งหนึ่งเท่านั้น เป็นสิ่งที่สลักจิตใจของเราลงได้อย่างลึกทีเดียว แม้คราวหลังจะทำไม่ได้อย่างนั้นอีกก็ตาม แต่ศรัทธาคือความเชื่อมั่นในผลที่เคยปรากฏแล้วนั้นจะไม่ถอน แล้วจะได้ทำความพยายามต่อไปเรื่อยๆ หลายครั้งหลายหนจิตก็มีความละเอียดลออลงไป ละเอียดลออลงมากเท่าไร ยิ่งเห็นความแปลกประหลาด เห็นความอัศจรรย์ เห็นความสุขที่ละเอียดเข้าไปโดยลำดับภายในจิตดวงนั้นแล ไม่ใช่ที่อื่นที่ไหน

ของประเสริฐอยู่ที่จิต ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งโน้นสิ่งนี้ดังที่เราคาดหมายกัน ความสุขจริงๆ คือ จิตจะเป็นผู้ได้รับความสุข เพราะจิตเป็นตัวทุกข์ จิตเป็นตัววุ่นวาย เพราะการปฏิบัติต่อตัวเองไม่ถูก จึงต้องก่อความทุกข์ให้แก่ตัวเอง เผาลนตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเราประกอบตนให้ถูกตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเพื่อมรรคผลนิพพาน ถ้าไม่อ่านในตัวเองแล้ว จะไม่เจอในสิ่งเหล่านี้ ถ้าอ่านที่ตรงนี้ต้องรู้ พระพุทธเจ้าอ่านที่ตรงนี้จึงเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา สาวกอ่านที่ตรงนี้พ้นทุกข์ไปได้ เราทั้งหลายได้กราบ เพราะท่านอ่านที่ตรงนี้ ท่านรู้ที่ตรงนี้

มหาสติมหาปัญญา เมื่อพอแล้วไม่ต้องบอก เรื่องกิเลสนี้จะหลบซ่อนอยู่ที่ไหน รู้หมด ไม่มีอะไรที่จะแหลมคมยิ่งกว่าสติปัญญา เพราะฉะนั้นกิเลสจึงกลัวตั้งแต่สติปัญญาเท่านั้น ไม่กลัวอย่างอื่นใดทั้งหมดในโลกนี้ กลัวแต่สติปัญญา ถ้าเราได้สร้างสติปัญญาขึ้นภายในจิตใจนี้แล้ว มันก็เหมือนอย่างเราเห็นพระพุทธเจ้าตลอดเวลา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต จะเห็นอะไรถ้าไม่เห็นธรรมชาติอันเป็นธรรมแท่งเดียวกันนี้ คือความหลุดพ้น

เพราะอำนาจของสติปัญญา ได้ถอดถอนสิ่งลามกหมกไหม้ทั้งหลาย ออกจากใจหมดแล้ว เป็นใจที่บริสุทธิ์ขึ้นมา จะเรียกว่า ธรรมทั้งดวงก็ได้ เรียกว่า จิตที่บริสุทธิ์ทั้งดวงก็ได้ จะเรียกว่า จิตก็ถูก ธรรมก็ได้ ไม่มีอะไรขัดข้อง เพราะกิเลสเท่านั้นเป็นผู้ขัดข้อง เมื่อกิเลสสิ้นไปจากใจแล้ว จะเรียกว่าเราถึงแล้วพระนิพพานก็ตาม ไม่เรียกก็ตาม ผู้นั้นก็คือผู้หมดทุกข์แล้วโดยประการทั้งปวง นี่อำนาจแห่งมหาสติมหาปัญญา

เราเคยอ่านตั้งแต่ในหนังสือ ตัวของเรามันเป็นไหมสติปัญญา ถ้าเราจะทำให้เป็น ทำไมจะไม่เป็น พระพุทธเจ้าทำ ทำไมเป็นได้ ท่านสอนธรรมไว้เพื่อมนุษย์ เพื่อพวกเราทั้งหลาย เหตุใดเราจะไม่สามารถ ถ้าเราชาวพุทธบริษัทไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าได้แล้ว ใครจะเป็นผู้ทรงศาสนาไว้ เมื่อไม่มีใครเป็นผู้ทรงศาสนาแล้ว ก็ไม่มีใครทรงมรรคผลนิพพานเท่านั้นเอง ก็จะทรงตั้งแต่กองทุกข์ จะว่ายังไง

นี่ผลแห่งการปฏิบัติศาสนา ไม่ว่าครั้งพุทธกาล ไม่ว่าสมัยปัจจุบัน ขอให้ดำเนินตามหลักสุปฏิปันโน อุชุ ญาย สามีจิ เถอะ ธรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นสมบัติของเรา ขึ้นประจักษ์ใจ โดยไม่ต้องถามใคร ไม่มีสิ่งใดอันใดในโลกนี้จะมีอำนาจวาสนามากีดกั้นมรรคผลนิพพาน ไม่ให้ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้บรรลุ นอกจากกิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งเป็นตัวสำคัญกีดขวางอยู่ภายในจิตใจของเรานี้เท่านั้น

เพราะฉะนั้นจึงต้องบุกเบิกออกด้วยความพากเพียรโดยทางสติปัญญา ให้สิ่งเหล่านี้มันหมดไปๆ แล้วคำว่า มทนิมฺมทโน วฏฺฏูปจฺเฉโท ตณฺหกฺขโย วิราโค นิพฺพานํ เราจะไม่ไปถามใคร เพราะอันนั้นเป็นชื่อ ตัวความจริงจริงๆ เราทรงไว้แล้ว คือตัวเราเอง ความบริสุทธิ์อยู่ภายในตัวของเราแล้วจะไปหานิพพานที่ไหน เวลามันทุกข์มันทุกข์อยู่ที่ไหน มันทุกข์อยู่ที่หัวใจ เวลาพ้นจากทุกข์แล้วจะไปหานิพพานที่ไหน ท่านไม่ไป ท่านไม่หา จะหาอะไร ถ้าหาก็หลงน่ะซี เมื่อรู้แล้วไม่ต้องหา อิ่มแล้วไม่ต้องกินอีก อิ่มนอนก็ไม่ต้องนอน อิ่มกินแล้วก็ไม่ต้องกินอีก ถ้ายังกินอีกไม่เรียกว่าอิ่ม แน่ะ

เมื่อรู้แล้วเต็มที่แล้ว ก็จะไปหาอะไร ถ้าหาก็หลง ทีนี้คำว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ก็เห็นธรรมชาตินี้ พระพุทธเจ้าฉันใด อันนี้ฉันนั้น อันนี้ฉันใด พระพุทธเจ้าฉันนั้น อันนี้ฉันใด สาวกฉันนั้น เพราะเป็นธรรมชาติเหมือนกันหมด อยู่ที่ไหนก็เหมือนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เห็นกันประจักษ์อยู่ภายในจิตใจ นี้แลตถาคตแท้ ส่วนพระสรีระของพระองค์นั้น เป็นเรือนร่างแห่งพุทธะ ไม่ใช่พุทธะแท้ ผู้ที่เห็นธรรมชาตินี้แล ชื่อว่าเป็นผู้เห็นพุทธะแท้ คือความบริสุทธิ์ภายในใจ นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย ไม่มีความยิ่งหย่อนกว่ากันเลย นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้าย เป็นผู้สม่ำเสมอกันอย่างนี้

เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายที่ฟัง จึงได้พยายามแสดงตามสติกำลังความสามารถเท่าที่จะเป็นได้ และเหตุที่จะได้มาแสดงธรรมในวันนี้ เนื่องจากท่านเจ้าคุณราชวรคุณ วัดอโศการาม พาคณะมาอุทิศถวายส่วนกุศลแด่ท่านอาจารย์ฝั้น แล้วนิมนต์หลวงตาบัว วัดป่าบ้านตาด มาแสดงธรรมให้ท่านทั้งหลายฟัง เพราะอำนาจแห่งท่านเป็นผู้เคยมีคุณต่อหลวงตาองค์นี้ก็เลยได้มา แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม ก็ได้เจียดเวล่ำเวลามาแสดงธรรมให้แก่ท่านทั้งหลายฟัง

หากว่าการแสดงธรรมนี้ ได้ขาดตกบกพร่องไปในแง่ใดก็ตาม หวังว่าคงได้รับอภัยจากบรรดาท่านทั้งหลายโดยทั่วกัน การแสดงธรรมนี้ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติลงเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก