เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๗
จิตไม่เสื่อมเพราะสติติดแนบ
ก่อนจังหัน
วันนี้พระมาฉัน ๓๕ องค์ ขาดไป ๒๐ องค์ เพราะรวมพระวัดนี้ ๕๕ องค์ ไม่มาฉันเสีย ๒๐ องค์ มาฉัน ๓๕ องค์ นี่ท่านพักอาหารของท่านเพื่อธรรมที่เลิศเลอยิ่งกว่าอาหารเป็นไหนๆ เพราะอาหารฉันเมื่อไรก็ได้ อิ่มได้เร็ว ตลอดกำลังวังชามีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ธรรมต้องได้บำรุงรักษาอย่างหนักอย่างมากตลอด แล้วธรรมจึงจะค่อยเจริญขึ้นภายในจิตใจ ธรรมเจริญภายในจิตใจ ใจของผู้บำเพ็ญ ผู้ฝึกทรมานตนนั้น ย่อมมีความสงบทั้งเย็น มีทุกอย่างในใจ เพราะใจนี้เป็นแก้วสารพัดนึก นึกทางชั่วนึกไม่มีสิ้นสุด นึกให้จมลงนรกอเวจีก็ได้ นึกแล้วก็ทำก็พูดไปตามความนึกความคิด ตามความเสียหายที่คิดนึกขึ้นมา ผลก็แสดงเป็นความรุ่มร้อน มากกว่านั้นฟาดนรกแตกได้
ทางความดีก็เหมือนกัน เมื่อได้รับการบำรุงรักษา จิตใจก็ค่อยดีๆ ธรรมหล่อเลี้ยงจิตใจมีความสงบเย็น จึงเรียกว่าธรรม ส่วนมากต่อมากเกิดมาจะไม่รู้ว่าธรรมเป็นยังไง กิเลสเป็นยังไง จะรู้ตั้งแต่สิ่งที่เพลิดเพลินดิ้นรนกันอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น แต่อันนั้นคืออะไรก็ไม่ทราบ นั่นละท่านให้นามว่ากิเลสตัวเสริมไฟๆ ใครคิดมากเท่าไร อยากได้มาก โลภมากเท่าไรยิ่งสร้างความทุกข์ขึ้นภายในจิตใจมากเท่านั้น นั่นท่านเรียกว่ากิเลส ส่วนธรรมตรงกันข้าม แม้จะเป็นฆราวาสผู้มีธรรมก็มีความรู้จักประมาณ รู้จักผิดถูกชั่วดี คอยระงับดับกายวาจาใจของตนไปตามเหตุการณ์ที่ดีและชั่วนั้น นี่เรียกว่าธรรม
ธรรมอยู่ที่ใจ กิเลสอยู่ที่ใจ กิเลสนั้นผลักดันออกมาจากใจ ทำคนให้เสียหายมากต่อมากทีเดียว ส่วนธรรมนั้นมีน้อยมาก ถ้าผู้ไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ว่าธรรมเป็นอะไร เพราะกิเลสเป็นเจ้าอำนาจครอบหัวใจของสัตว์โลกอยู่ จึงแสดงด้วยอำนาจของกิเลสทั้งนั้น ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ตัวเองและผู้อื่น ท่านเรียกว่ากิเลส ธรรมเป็นความสงบใจเย็นใจ ผลของธรรมคือความสงบเย็นใจ ดังที่ท่านฝึกทรมานอยู่นี้ วันนี้มาฉันเพียง ๓๕ องค์ ขาดไป ๒๐ องค์ รวมพระในวัดนี้จำนวน ๕๕ องค์ ท่านที่ขาดไป ๒๐ องค์ ท่านไม่มีปากมีท้อง ท่านไม่มีความหิวความกระหายแล้วเหรอ จะมีแต่พวกเรานี่เหรอ ท่านมีเหมือนกัน แต่มีธรรมเป็นเครื่องหักห้าม เป็นเครื่องดัดแปลงตลอดเวลา
ถ้าปล่อยให้ฉันมากๆ กิเลสเข้าแทรก พระเราที่มุ่งมาหาอรรถหาธรรมบำเพ็ญธรรมแล้วกิเลสเข้าแทรกโดยไม่รู้สึกตัว ถ้ากินมาก ความขี้เกียจเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาชำระกิเลสนั้นก็มาก ทุกอย่างมากขึ้นขึ้นชื่อว่ากิเลส เพราะฉะนั้นท่านต้องฝึก การอดอาหารนี้ตั้งสติได้ดี ช่วยการตั้งสติได้ดีจากการอดอาหาร อดไปหลายวันเท่าไรๆ สติจะติดแนบกับตัวเองๆ ตลอดไป เพราะฉะนั้นพระท่านจึงได้อดอยู่เสมอ ทุกข์ก็ทนทรมานเอาเพื่อความดีทั้งหลาย ท่านมีปากมีท้อง มีความหิวความกระหายเช่นเดียวกับเรา แต่ท่านมีธรรมในใจที่จะหาผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากความหิวกระหายนี้ก็ยอมรับ เอาผลประโยชน์ส่วนใหญ่คือธรรม
เพราะฟื้นยาก..ธรรม ต้องบำรุงรักษามากในเวลาเริ่มต้นยังไม่มีหลักมีเกณฑ์อะไรนัก ต้องลำบากมากในการบำรุงรักษาใจ เมื่อบำรุงรักษามากๆ แล้วใจมีกำลังกล้าขึ้นมาๆ ใจก็สามารถทำงานโดยลำพังตนเองได้ แก้ไขดัดแปลงตนเอง ชำระกิเลสไปในตัวๆ ในตนเองด้วย ท่านจึงเรียกความเพียรขั้นนี้ สติปัญญาขั้นนี้ ว่าสติปัญญาอัตโนมัติ แก้ไขดัดแปลงตัวเองไปในตัว ถอดถอนกิเลสไปในตัวๆ โดยไม่มีการบังคับบัญชา หากเป็นธรรมชาติของสติปัญญาที่ประคองตัวได้แล้ว รักษาตัวได้ ทำงานได้โดยไม่มีใครมาสั่งก็ได้ นี่เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ แก้กิเลสไปในตัวๆ เช่นเดียวกับกิเลสทำงานบนหัวใจสัตว์โดยอัตโนมัตินั้นแล
หัวใจสัตว์มีแต่กิเลสทำงานโดยอัตโนมัติ ไม่มีใครบอกใครกล่าว มันลื่นไปของมันเอง ทีนี้ธรรมเมื่อเราบำรุงรักษามากๆ จนถึงขั้นนี้แล้วก็แบบเดียวกัน ธรรมะทำงานแก้กิเลส สั่งสมความดีงามขึ้นแก่ตนเป็นอัตโนมัติๆ จนกระทั่งหลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง นี่ละธรรมมีอำนาจมากเมื่อได้รับการบำรุงรักษาเสมอ และมีความสุขมาก และกิเลสก็มีอำนาจมากเมื่อมีการส่งเสริม ความทุกข์ก็มาก ให้พากันจำเอานะ
วันนี้พูดถึงเรื่องการอดข้าวของพระ ท่านมีปากมีท้อง ท่านอด อดเพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนความเพียรให้เดินได้คล่องตัว เช่น สติก็คล่องตัว ปัญญาก็ออกได้คล่องตัว สติไม่ค่อยเผลอ อดไปหลายวันเท่าไรสติยิ่งติดแนบๆ สติติดแนบนั้นคือสติรักษาใจ กิเลสจะไม่เกิดนะเวลามีสติดีๆ อยู่ กิเลสจะมีอยู่ภายในใจมากน้อยออกไม่ได้ ถูกสติบังคับเอาไว้ ท่านจึงต้องบำรุงสติ เอาละที่นี่ให้พร
หลังจังหัน
พูดถึงเรื่องสติในองค์ประกอบความเพียร สติเป็นสำคัญมากทีเดียว เป็นพื้นฐานตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด สตินี้พรากไม่ได้ แต่ในเบื้องต้นต้องได้บังคับให้มีสติ เมื่อถึงขั้นไปเองแล้วก็อย่างสติปัญญาอัตโนมัติ อันนี้ไม่มีเผลอเลย เป็นเอง นี่ละธรรมะเมื่อมีกำลังครองตัวได้แล้วก็ไม่ต้องอาศัยอะไร ไปเองๆ พุ่งๆ มีกิเลสบนหัวใจสัตว์นี้เป็นอัตโนมัติของมัน มันหมุนอยู่บนหัวใจของสัตว์ ไม่ว่าบุคคล สัตว์เดรัจฉาน กิเลสมีอยู่ในใจ และมันจะหมุนตัวของมันไปโดยอัตโนมัติไม่มีใครบังคับบัญชา เรียกว่าได้รั้งเอาไว้ มันหมุนของมัน กิเลสเรียกว่าวัฏวน วัฏจักร กิเลสพาให้หมุนเป็นอัตโนมัติบนหัวใจสัตว์แต่ละรายๆ อย่างนี้ตลอดมาและตลอดไปถ้าไม่มีธรรมเข้าหักห้ามหรือตัดกงกรรมนั้นเสีย มันจะหมุนอย่างนี้ตลอดเหมือนมดไต่ขอบด้ง ไต่ไปไต่มา แต่ขอบด้งมันอยู่ที่เก่า แต่สัตว์หมุนนี้ไม่ได้ไปที่เก่า มันลงมันขึ้น หากอยู่ในวงวัฏวน
วัฏฏะคือหมุน มันจะหมุนของมันเป็นอัตโนมัติอย่างนี้ทุกหัวใจสัตว์ ทีนี้พอธรรมเข้ามาก็เป็นเครื่องแก้กัน เริ่มบำเพ็ญธรรมก็เริ่มหาเครื่องหักเครื่องห้ามแหละ มีมากมีน้อยธรรมะนี้เป็นเครื่องห้ามวัฏจักรให้มันหมุนช้าลงๆ สั้นเข้ามาๆ ในหัวใจของสัตว์ เพราะกิเลสพาให้หมุนไม่มีสิ้นสุดก็อยู่ที่หัวใจของสัตว์ เวลาธรรมะจะหักห้ามก็อยู่ในหัวใจของสัตว์ เกิดจากการสร้างความดี จะค่อยหักห้าม ถ้าเร็วก็จะช้าลงมา ถ้ายาวก็ให้สั้นเข้ามา นี่เราพูดถึงเรื่องการฝึกสติ หนุนเรื่องสติ สติต้องบังคับ ในขั้นเริ่มแรกต้องบังคับอย่างหนักด้วยเจตนาจริงๆ บังคับจริงๆ ตั้งหน้าตั้งตาบังคับสติไม่ให้เผลอจริงๆ
ก็ดังที่พูดให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายฟัง เราเป็นมาเองเราพูดได้เต็มปาก ที่ว่าจิตเจริญแล้วเสื่อมๆ เกิดความสงสัยหาที่ลงตัวไม่ได้ จึงได้เอาคำบริกรรมเป็นที่เกาะ เราจะเอาคำบริกรรมใดก็แล้วแต่จริตนิสัยชอบ แต่สำหรับเราเองตั้งแต่วันบวชมาติดกับพุทโธ เอาคำบริกรรมนี้เข้ามา และสติติดกับคำบริกรรมไม่ให้เผลอ คำบริกรรมอยู่กับใจ เช่น พุทโธๆ สติติดอยู่กับพุทโธไม่ให้เผลอ บังคับนะ บังคับหนัก บังคับจริงๆ เรียกว่าฝังลึกไม่ลืมเลย เพราะเอาจริงเอาจัง ลงตัวแล้วว่าจิตเรานี้เจริญแล้วเสื่อมๆ คงเป็นเพราะเราไม่ได้ใช้คำบริกรรม สติอาจเผลอไปในระยะนั้นขณะใดก็ตามเวลาใดก็ตามได้ เผลอได้
คราวนี้เพื่อจะตัดตรงที่ว่ามันเจริญแล้วเสื่อมๆ ทีนี้จะให้เจริญขึ้นเรื่อยๆ ไม่ให้เสื่อม จะเอาแบบไหน มันสดๆ ร้อนๆ พูดเท่าไรมันก็ไม่จืดไม่ชืด มันฝังอยู่ในจิตสดๆ ร้อนๆ จิตเจริญแล้วเสื่อมๆ แหม แบกกองทุกข์หามกองทุกข์ มันสุมอยู่ภายในหัวอกไม่ลืม เพราะฉะนั้นจึงว่าพูดได้อย่างสดๆ ร้อนๆ อยู่ที่ไหนๆ หาความสบายไม่ได้เลย จิตเสื่อมเป็นทุกข์มากทีเดียว ตั้งแต่จิตของเรายังไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรก็เหมือนเราๆ ท่านๆ สุขหรือทุกข์ก็รู้กันธรรมดา ก็ไม่เห็นมีอะไรทุกข์มาก บทเวลาจิตมีความแน่นหนามั่นคง สงบร่มเย็นแน่นขึ้นไปโดยลำดับจนแปลกประหลาดขึ้น เริ่มแหละ และเป็นความสุขความสบายภายในใจ อยู่ไหนเย็นสบาย เพราะจิตสงบ เรียกว่าสมาธิก็ได้ อยู่ที่ไหนสบายๆ แต่แล้วมาเสื่อมนี่ซิ
เหมือนเราพยายามขวนขวายหาเงินมาจนเข้าขั้นเศรษฐีก็ได้ เศรษฐีสมาธินะ ไม่ใช่เศรษฐีปัญญา เศรษฐีวิมุตติหลุดพ้น เริ่มเป็นเศรษฐีสมาธิก็ได้ ทีนี้เราไม่รู้จักวิธีรักษา เพราะธรรมนี้ไม่เคยมีไม่เคยเป็น เวลาเป็นขึ้นมาก็ไม่รู้จักวิธีรักษา เหมือนคนที่สุรุ่ยสุร่าย ได้เงินทองข้าวของมาเหมือนว่าจะสิ้นจะหมดไม่เป็น ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย จนได้คนนั้น ไอ้เราก็จนตรงนี้ พอจิตมีความแน่นหนามั่นคงแล้วสบายๆ กลดหลังหนึ่ง เราไม่ลืมนะกลดหลังหนึ่ง มันไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ ถ้ารู้อยู่จะเอามาเผาไฟต่อหน้านี้ มันเคียดแค้น ทำกลดหลังนี้ยังไม่เสร็จ มันเป็นกังวลอยู่กับกลดไม่ได้เข้าสมาธิตามเวล่ำเวลา เพียงเข้าได้บ้างไม่ได้บ้าง มีลักษณะฝืดๆ ไม่คล่องตัว เอ๊ะ ชอบกล
ก็เราไม่เคยรักษา ทีนี้เวลาเสื่อมมันแสดงขึ้นมา เอ๊ะ ชอบกลๆ จึงรีบทำกลดหลังนี้ ร้อยปุ๊บๆ เสร็จแล้วออก ออกก็เสื่อมไปหมดเลย โห ทีนี้เป็นไฟนะ จิตเป็นไฟเลย พอสมาธิความร่มเย็นพรากจากใจไปแล้วมีแต่ฟืนแต่ไฟ ไปอยู่ที่ไหนหาความสุขไม่ได้เลย พยายามดันเท่าไรๆ ตั้ง ๑๔-๑๕ วัน นี่ทุกข์เต็มที่นะ เหมือนกับว่าไสครกนี้ขึ้นจอมปลวก ไสขึ้นไปพอไปถึงนั้นแล้ว อยู่ได้สักสองคืน พอคืนที่สามนี้เลื่อนแล้วนะ เสื่อม เหมือนครกกลิ้งลงมาจากจอมปลวก ผึงลงเลยไม่ฟังเสียงใคร เวลามันเสื่อมมันเสื่อมอย่างไม่ฟังเสียงใคร มีแต่กองทุกข์ เราไม่ลืมนะ แหม สดๆ ร้อนๆ มากทีเดียว
ท่านทั้งหลายให้ฟังเอานะ ที่พูดนี้เป็นคติ เรื่องก็ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เราเองเป็นมาแล้วก็ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว แต่เรื่องนี้มันจะเป็นไปในรายต่างๆ จึงต้องเตือนกันเอาไว้ ให้รู้จักวิธีระมัดระวังรักษา สมบัติที่มีมากน้อยให้เก็บให้รักษา อย่าสุรุ่ยสุร่าย อันนี้ธรรมก็เหมือนกันต้องพยายามเก็บรักษาเรื่อยๆ เรานี้เป็นทุคตะเข็ญใจ ในเวลานั้นเป็นไฟเผาตัวเองมาเป็นเวลา ๑ ปีกับ ๕ เดือน เราไม่ลืมนะ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกาปีนี้ ฟาดถึงเดือนเมษาปีหน้า เป็นปีกับห้าเดือน เป็นไฟเผาหัวอกตลอด ทีนี้ยกเป็นข้อเทียบเคียงนะ เราเคยมีเงินมีทองเป็นขั้นเศรษฐีๆ แต่ไปล่มจมเสียด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แม้เงินจะติดอยู่ในบ้านในเรือนเป็นหมื่นเป็นแสนก็ตาม เงินเหล่านี้จะไม่มีความหมายยิ่งกว่าเงินที่สูญหายไปเป็นจำนวนมากมายนั้น มันไปเสียใจอยู่จุดนั้นนะ
สมาธิของเราก็เหมือนกัน เสียใจมากยิ่งกว่าคนไม่เคยมีสมาธิ จึงได้หมุนเข้ามา เอามาพินิจพิจารณา ที่จิตของเราเจริญแล้วเสื่อมๆ ทำยังไงมันก็เป็นอย่างนี้ตลอด ไม่เห็นเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไป มันอาจจะเป็นเพราะเราขาดคำบริกรรมกระมัง ไม่มีคำบริกรรม ไม่มีสติติดแนบอยู่ตลอดแล้วมันอาจเผลอไป จิตเถลไถลไปสร้างฟืนสร้างไฟด้วยกิเลสนั่นแหละเอามาเผาเจ้าของได้ เพราะฉะนั้นจิตจึงเสื่อมได้ พิจารณาแล้วก็มาลงจุดนี้ละ เรามีข้องใจอยู่จุดนี้เท่านั้น ทีนี้เราจะเอาคำบริกรรมให้ติดกับจิต แต่นิสัยเราชอบพุทโธ เราเอาพุทโธแหละให้ติดกับจิต สติให้ติดกับคำบริกรรม จะไม่ยอมให้เผลอเลย เอ้า มันจะเป็นยังไงให้เป็น
จะเจริญหรือเสื่อมเราปล่อยหมด เพราะความเจริญความเสื่อมนี้มันสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้เรามากมาย คราวนี้เราปล่อย แต่คำว่าพุทโธกับสตินี้จะไม่ปล่อยกัน เอาเท่านี้ไม่เอาอะไร จะเจริญก็เจริญไป จะเสื่อมก็เสื่อมไป ปล่อยทั้งนั้น เจริญก็เฉย เสื่อมก็เฉย ปล่อยมันแล้ว จะเอาแต่อันนี้ อันนี้ไม่เฉย ติดปั๊บเลย ลงใจละ เอาตรงนี้ละ แต่เราพูดตามความจริง นิสัยเรามีความจริงใจเสมอ จริงจังทุกอย่าง ถ้าลงได้ปักตรงไหนแล้วเอาจริงเอาจังมาก อันนี้ก็ปักลง ลงใจแล้วที่นี่ เราจะใช้คำบริกรรมพุทโธไม่ให้เผลอ เพื่อจะดูจิตดวงนี้ จะเสื่อมจะเจริญไปยังไง จะดูอยู่กับคำบริกรรมพุทโธกับสติติดกันนี้แหละ มันจะเจริญเสื่อมไปไหนเราไม่สนใจ จะดูจุดนี้จุดเดียว
พอลงใจแล้วก็เหมือนนักมวยจะต่อยกัน คอยฟังสัญญาณ พอระฆังดังเป๋งก็ซัดกันเลย อันนี้ลงใจเรียบร้อยแล้วเอาละนะที่นี่ ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปจะเผลอไม่ได้เลย นี่ละเหมือนนักมวยจะต่อยกัน พอว่าเอานะเรียกว่าระฆังดังเป๋ง เผลอไม่ได้เลย ปักตั้งแต่บัดนั้น เราพูดเป็นวันๆ ไปก่อนนะ วันแรกนี่เหมือนอกจะแตก คือสังขารนี่มันเคยคิดมันทำจิตของเราให้เสื่อมเพราะอันนี้เอง แต่ก่อนเราไม่รู้มัน ทีนี้ถูกบีบบังคับจริงๆ ช่องมันขึ้นมานี่ สังขารสมุทัย กิเลสอวิชชาดันให้เป็นสังขารสมุทัยขึ้นมา ทีนี้เราเอาพุทโธซึ่งเป็นด้านธรรมะ เป็นสังขารความคิดปรุงเหมือนกันก็ตาม แต่ความคิดปรุงอันนี้เป็นความคิดปรุงของธรรม อันนั้นเป็นความคิดปรุงของกิเลส
เอาพุทโธนี้ปิดไว้ไม่ให้มันขึ้น ปิดไว้เลยทีเดียว มันอยากจะขึ้นอยากจะคิดอะไรนี้ เอาพุทโธปิดไม่ยอมให้มันออกเลย สติติดแนบเข้าอีก ทีนี้ โอ๋ย เหมือนหัวอกจะแตกนะ วันแรกทุกข์ขนาดนั้น แต่ยังไงก็ตามถึงจะล้มลุกคลุกคลานต่อยกันความเผลอจะไม่ให้เผลอ มันจะเป็นยังไงก็เป็น ซัดกันวันนั้นทั้งวันเหมือนตกนรกทั้งเป็น หัวอกจะแนกคือสังขารมันดันมันจะออกไปคิด จึงได้รู้ชัดเจนว่า อ๋อ มันออกช่องนี้เอง ที่ทำให้เราเสื่อมเพราะเหตุนี้
บังคับจริงๆ ในวันนั้นเต็มวัน ไม่มีคำว่าเผลอเลย ฟังซิ ติดแนบตลอดเลย จนกระทั่งหลับ ตื่นขึ้นมาก็พุทโธเข้าอีก วันแรกนี้เหมือนหัวอกจะแตก สังขารสมุทัยมันดันออก มันจะออก มันออกไม่ได้ พุทโธตีหัวมันไว้ วันแรกหนักมากทีเดียว พอวันที่สองค่อยเบาลงหน่อย ความดันนี้ไม่หนักเหมือนวันแรก ทีนี้พุทโธนี้ไม่มีถอย เร่งตลอด กับสติติดแนบถึงสามวันเต็มๆ ค่อยเบาลง ความดันค่อยเบาลง นี่ละกิเลสมีอยู่ในหัวใจ เมื่อสติมีอยู่แล้วมันจะออกไปทำงานไม่ได้ สติจึงเป็นของสำคัญมาก
สติติดแนบอยู่ กิเลสจะออกไปคิดเรื่องใดไม่ได้ เพราะสติติดอยู่กับคำบริกรรม ตีเข้าไป พอจากสามวันสี่วันไปแล้วทีนี้จิตค่อยๆ สงบ ความผลักดันของความคิดนี้เบาลงๆ ทางนี้ก็ยิ่งหนักเข้าไปๆ ก็แน่ใจว่าเห็นผล เอากันหนัก จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ความละเอียดของจิต เพราะพุทโธนี้แหละ สตินี้แหละ ไม่หยุดไม่ถอย ไม่ให้เผลอจริงๆ นะ ไมใช่ธรรมดา ทั้งวันไม่มีเผลอเลย จะเคลื่อนไหวไปมาที่ไหนสติกับคำบริกรรมจะติดกันตลอด แม้ที่สุดไปบิณฑบาตเขาเอาอะไรใส่บาตรไม่เคยสนใจ ยิ่งกว่าพุทโธกับคำบริกรรม ฉันก็ฉันแต่พุทโธคำบริกรรมไม่ยอมปล่อยกันเลยตลอด
พอหกวันเข้าไป หลายวันเข้าไป ทีนี้จิตละเอียดเข้าไปๆ ความผลักดันของสังขารสมุทัยไม่ค่อยมีแล้วนะที่นี่ มีแต่พุทโธๆ ทีนี้พอพุทโธหนักเข้า บำรุงใจๆ จิตใจก็มีความละเอียดเข้าไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งเข้าถึงขั้นละเอียดจริงๆ นี่เราก็เจอกับเราเอง พอพุทโธละเอียดเข้าไปๆ หมดนะ คำว่าพุทโธคำบริกรรมไม่ออกเลย ไม่มี หมด ละเอียดเข้าไปๆ จนกระทั่งหมด นึกพุทโธไม่ได้ จะนึกอะไรก็ไม่ได้เวลานั้น จิตหยุดทำงาน หมด ทีนี้เหลือแต่ความละเอียดของจิต แล้วเกิดงงขึ้นมา ถึงงงก็ไม่ให้เผลอ
อ้าว ทำไมคำบริกรรมเรา พุทโธก็ไม่มีแล้วจะให้ทำยังไง ทางนี้มันก็รับทราบกันทันทีว่า เอ้าคำบริกรรมไม่มีก็ให้อยู่กับความรู้ที่ละเอียดนั้นด้วยสติ เอาสติติดตรงนั้น ไม่มีพุทโธติดก็ให้ติดกับความรู้นั้น กำหนดไว้นั้นเลยไม่ยอมให้เผลอตลอด จนกระทั่งมันละเอียดลงไปๆ คือจิตสงบเป็นระยะนะ พอได้จังหวะแล้วมันก็คลี่คลายออกมา พอคลี่คลายออกมานึกพุทโธได้เอาพุทโธติดปั๊บเข้าอีก ทีนี้เวลามันสงบเข้าไปอย่างที่เคยสงบ พุทโธไม่มี ไม่มีก็ไม่มีเพราะเราเข้าใจแล้ว ก็อยู่กับความรู้ที่ละเอียด ติดกันเรื่อยๆ อย่างนี้ จิตก็ขึ้นเรื่อยๆ พอไปถึงขั้นที่มันเจริญแล้วเสื่อม เอ้าเสื่อมก็เสื่อมไป ปล่อย แต่พุทโธกับสติจะไม่ปล่อย ติดกันไปเรื่อย
พอถึงขั้นที่มันเคยขึ้นไปได้สองคืนหรือสามคืนเสื่อม ทีนี้เอ้าๆ เสื่อม ปล่อย แต่พุทโธกับสติไม่ปล่อย สุดท้ายไปถึงนั้นแล้วไม่เสื่อม ค่อยละเอียดเข้าไปๆ เรื่อยเลย ทีนี้ไม่เสื่อม พอมันไม่เสื่อมแล้วก็มาทราบตัวเอง อ๋อนี่จิตของเราที่มันเสื่อมเพราะความเผลอสติ เนื่องจากไม่มีคำบริกรรมติดแนบอยู่นั้น นั้นแลที่เสื่อม คราวนี้ไม่เสื่อม เพราะคำบริกรรมกับสติติดแนบตลอดเวลา จิตจึงเสื่อมไม่ได้ จากนั้นก็ก้าวเรื่อย ให้จำเอานะ ก้าวเรื่อย ไม่เสื่อมตั้งแต่บัดนั้นมาจิตเราไม่เคยเสื่อมอีกเลยเพราะสติติดแนบ ไม่เสื่อม
จากนั้นก็ก้าวขึ้น หนัก หนักขึ้นเรื่อยๆ นะไม่ได้ถอย ฟาดจนกระทั่งนั่งหามรุ่งหามค่ำ จากนี้ไปนะเตลิดเรื่อยๆ แล้วไม่เคยเสื่อมอีกเลย จึงเป็นเครื่องเตือนใจไว้อย่างหนักสดๆ ร้อนๆ ว่า จิตเสื่อมนี้เพราะขาดคำบริกรรม ในการตั้งรากฐานเบื้องต้นต้องมีคำบริกรรมติด แล้วสติติด ถ้าอันนี้ติดแล้วจะตั้งรากฐานได้ ไม่ว่าใคร ขอให้สติดีมากน้อยเพียงไรผลจะแสดงขึ้นมา อย่างนี้ละการภาวนา เราจึงได้เน้นหนักเรื่องสติ ให้บรรดานักภาวนาทั้งหลายที่เร่ๆ ร่อนๆ จิตใจไม่ค่อยมีหลักมีเกณฑ์เพราะสติไม่เป็นหลัก ถ้าสติเป็นหลักแล้วจะตั้งได้โดยไม่ต้องสงสัย
ให้จำเอาทุกคนนะ ติดมันลงไปเลย โอ้ มันทุกข์จริงๆ นะ พอจิตมันก้าวเข้าถึงขั้นนี้แล้ว เหมือนกับว่าขีดเส้นตายให้ตัวเองเลย เพราะมันเข็ดมาเสียพอปีห้าเดือนที่แบกกองทุกข์ ตกนรกทั้งเป็น เอ้าทีนี้จิตเราจะเสื่อมไปไม่ได้ ถ้าเสื่อมคราวนี้เราต้องตาย ถ้าเราไม่อยากตายจิตเราจะเสื่อมไม่ได้ ไม่ได้เพราะเหตุไร เพราะด้วยสติที่เราประคองมานี้จะไม่ให้เผลอ ซัดกันเลย มันจึงไม่เสื่อมเรื่องราวมัน เรื่อยมา นี่เป็นคติตัวอย่างแก่บรรดานักภาวนาทั้งหลาย สติเป็นพื้นฐาน
เราไม่ต้องวิตกวิจารณ์ไปไหน ให้วิตกวิจารณ์กับสติขาดหรือสติดี ถ้าสติขาดก็ความเพียรขาด ถ้าสติดีเท่าไรจะเป็นความเพียรตลอด นั่งอยู่เฉยๆ ก็ตาม ลงมีสติแล้วเป็นความเพียรทั้งนั้น เดินจงกรมท่าใดถ้ามีสติเป็นท่าความเพียรทั้งหมด ถ้าสติขาดจะเดินจงกรมแล้วไปยืมขาหมาไอ้ปุ๊กกี้มาอีกสองขา กี่ขา วิ่งแข่งไอ้ปุ๊กกี้มันก็ไม่มีความหมาย ความเพียรแบบนั้น เพราะไม่มีสติ ความเพียรแท้อยู่กับสตินะ เรื่องปัญญานี้ออกเป็นระยะๆ ถึงขั้นปัญญาออกเราต้องไสออกปัญญา
เมื่อจิตมีความสงบผ่องใส จนแน่นหนาเป็นสมาธิเต็มตัวแล้วมันจะติดสมาธิ นั่งที่ไหนทั้งวันได้สบาย ไม่มีอะไรกวนใจ ความคิดปรุงที่มันดันออกมาแต่ก่อนนั้นกลับเป็นเรื่องรำคาญ คือมันไม่อยากคิด สู้ความสงบอยู่อย่างนั้นไม่ได้ นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคง อิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดเรื่องอารมณ์ใดทั้งนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่อยากดู อยากได้ยินได้ฟังอะไรทั้งหมด เหลือแต่ความรู้ที่เด่น เรียกว่าเอกจิต เอกธรรม เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เป็นอันเดียวเท่านั้น จิตเป็นสมาธิเป็นอย่างนั้น แล้วก็ติดนะ ไม่สนใจจะก้าวทางด้านปัญญงปัญญาอะไรเลย
จนกระทั่งครูบาอาจารย์ท่านมาลากออกจากสมาธิ ก้าวทางด้านปัญญา มันถึงก้าวออก แต่ก้าวออกอย่างรวดเร็วเรา เพราะสมาธิดี หากไม่นำออกมาใช้ทางด้านปัญญา มันก็เป็นสมาธิวันยังค่ำนั่นแหละ ไม่เป็นปัญญาให้ พอก้าวออกทางด้านปัญญานี้พุ่งๆๆ เลย เร็ว ทางด้านปัญญาเราเรียกว่าเร็วอยู่ พอก้าวออกจากสมาธิ จิตอิ่มอารมณ์แล้วพาพิจารณาทางด้านปัญญามันก็พุ่งเลย อย่างรวดเร็วทีเดียว พอออกทางด้านปัญญาทีนี้มันเห็นโทษของสมาธินะ สมาธิแต่ก่อนว่าแสนสบายๆ ไม่อยากออกคิดอะไรเลย
ทีนี้กลับเห็นว่าสมาธิมันนอนตายอยู่เหมือนหมู สมาธิไม่ได้แก้กิเลส ปัญญาต่างหากแก้กิเลส พอออกทางด้านปัญญามันเห็นแพรวพราวๆ ถึงขั้นที่ว่าชอบกลๆ เรื่อย ทีนี้ก็หมุนเลย นี่เห็นคุณค่าของปัญญา เลยตำหนิสมาธิ ไม่อยากเข้าสมาธิ หมุนแต่ด้านปัญญามันก็ผาดโผนไป ผิด ต้องมีการพักสมาธิ เวลาพัก เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเหมือนคนทำงานทำการ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เอาพักนอนพักผ่อน รับประทานอาหาร ถึงจะสิ้นเปลืองสมบัติเงินทองก็ตาม สิ้นเปลืองเวลาไปก็ตาม แต่เพื่อเอากำลังนั้นไปประกอบงานต่อไป อันนี้พักทางสมาธิ ไม่ได้ฆ่ากิเลสก็ตาม แต่พักเพื่อเอากำลังไปฆ่ากิเลสทางด้านปัญญาในกาลต่อไป
ก้าวอย่างนั้นละมันถึงออกเรื่อยๆ ทีนี้ถึงขั้นธรรมออกทำงานตัวเองนะ ในขั้นนี้มันก็เพลินของมันนั่นแหละ จิตที่พิจารณานี้ เรื่องความขี้เกียจขี้คร้านรู้สึกจะหายหน้าไปแล้ว มีแต่ความดูดดื่ม ในสมาธิก็ดูดดื่ม ยิ่งออกทางด้านปัญญายิ่งหมุนเลยทีเดียว เรียกว่าได้รั้งเอาไว้ ก้าวถึงขั้นปัญญารั้งเอาไว้ ไม่อย่างนั้นมันจะเลยเถิด มันหมุนของมัน ทีนี้ธรรมทำงานแก้กิเลสโดยลำพังตนเอง ตั้งแต่ขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ นี้เป็นขั้นธรรมถอดถอนกิเลสโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องบังคับ คำว่าเพียรๆ ไม่ต้องเพียร นอกจากว่าความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ แต่ความเพียรในระหว่างทางที่กำลังดำเนินอยู่นี้ไม่เพียร ต้องรั้งเอาไว้ มันเพลิน นี่เรียกว่าธรรมฆ่ากิเลส
ทีนี้เวลาถึงขั้นฆ่ากิเลสนี้แล้วเป็นอัตโนมัติเหมือนกัน กับกิเลสหมุนตัวอยู่บนหัวใจสัตว์โดยอัตโนมัติของมัน ธรรมฆ่ากิเลสก็ฆ่าโดยอัตโนมัติ อยู่ไหนฆ่าตลอด ไม่ว่าเวลาไหนๆ มันจะหมุนของมันเพื่อฆ่ากิเลสๆ เป็นอัตโนมัติๆ ไปเรื่อย จนกระทั่งก้าวถึงมหาสติ-มหาปัญญาเป็นอัตโนมัติด้วยกันทั้งหมด เป็นแต่เพียงว่าความละเอียดต่างกันเป็นลำดับ ถึงขั้นมหาสติ-มหาปัญญานี้มันซึมไปเลย ไม่ได้สับได้ยำ สติ-ปัญญาอัตโนมัติยังมีลักษณะสับยำ แต่ถึงขั้นมหาสติ-มหาปัญญาแล้วเหมือนว่าซึมไปเลย มันละเอียดเพราะกิเลสละเอียด มันก็เป็นไปตามกัน แต่เป็นอัตโนมัติเหมือนกัน ฆ่ากิเลส
จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นลงไปหมดโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือเลย มหาสติ-มหาปัญญาที่สุดยอดของมรรค ว่างั้นเถอะ ที่หมุนตัวอยู่ตลอดเวลานั้นระงับไปเองโดยหลักธรรมชาติ ไม่ต้องบังคับ ก็จะมาฆ่าอะไรกิเลสขาดสะบั้นลงต่อหน้าต่อตาที่หัวใจเราแล้ว แล้วจะไปฆ่าอะไร เหล่านี้ก็เป็นเครื่องมือฆ่ากิเลส มหาสติ-มหาปัญญาเป็นเครื่องฆ่ากิเลสโดยลำดับมา พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปโดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือแล้ว สติปัญญานี้ระงับตัวลงเอง โดยไม่ต้องบังคับนะ เป็นเอง นั่น ให้จำเอา มันผ่านในหัวใจนี้แล้วพูดได้อย่างเต็มปาก ไม่มีคำว่าสะทกสะท้าน
นี่พระพุทธเจ้าสอนโลก ตรัสรู้ปึ๋งขึ้นมาไม่ต้องเอาใครมาเป็นพยาน สอนได้เต็มสามแดนโลกธาตุ สาวกทั้งหลายพอปึ๋งขึ้นมานี้ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้าอีก อุบายแนะนำสั่งสอนสัตว์โลกที่ควรจะได้ผลประโยชน์ และตามนิสัยวาสนาของตนมากน้อย ท่านเป็นของท่านเอง ท่านไม่ไปศึกษากับพระพุทธเจ้าอีกแล้ว ที่จะมาเป็นอุบายแนะนำสั่งสอนคนอื่นท่านเป็นของท่านขึ้นมาเอง อันนี้ก็แบบเดียวกัน มหาสติ-มหาปัญญาขาดลงไปเลย ไม่มี
แล้วทีนี้ก็ไม่สงสัย คือไม่มีเจตนาว่าจะปล่อยเรื่องมหาสติ-มหาปัญญา ไม่ให้ทำงานอย่างนี้อีกไม่มี พอกิเลสขาดสะบั้นปั๊บ เครื่องมือฆ่ากิเลส อาวุธนี้มันก็ปล่อยของมันเอง จากนั้นมาแล้วไม่มีกิเลสตัวใดที่จะให้ฆ่าอีก หมดโดยสิ้นเชิงพระอรหันต์ ท่านว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว การทำงานที่หนักมากที่สุด ยอดของงานก็คือการฆ่ากิเลส ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว งานที่จะควรทำก็ได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว งานอื่นที่จะให้ทำยิ่งกว่านี้ไม่มี หยุด เพราะฉะนั้นพระอรหันต์พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้ว ท่านจึงไม่ได้ทำงานฆ่ากิเลสอีกเลย ธรรมเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ล้วนๆ
นี่ผลแห่งการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลานมา ที่ว่าตั้งสติจนอกจะแตก ตั้งรากฐานทีแรกจนอกจะแตก แล้วค่อยก้าวขึ้นๆ จนกระทั่งถึงขั้นกิเลสขาดสะบั้นลงไป มหาสติ-มหาปัญญาที่หมุนเป็นธรรมจักรก็พักตัว เหมือนว่าขาดสะบั้นไปตามๆ กัน แต่ไม่มีเจตนาว่าจะขาดหรือไม่ขาด ว่าจะปล่อยหรือไม่ปล่อย หากระงับกันเอง ทีนี้บรมสุขไม่ต้องบอก อยู่ในนั้นเสร็จ โลกนี้ทุกข์แสนทุกข์ ทรมานแสนทรมานทั่วโลกดินแดน ไม่มีขอบเขต สัตว์โลกอยู่ที่ไหนกองทุกข์อยู่ที่นั่นทั่วหน้ากันหมด
ท่านผู้สิ้นกิเลสท่านมีความสุขทั่วหน้ากันเหมือนกัน บรรดาผู้สิ้นกิเลสเหมือนกันหมด สอนโลกด้วยความไม่มีทุกข์ โลกมีแต่กองทุกข์เป็นฟืนเป็นไฟ ท่านสอนโลกด้วยความไม่มีทุกข์ มีแต่เมตตาธรรมล้วนๆ สอนโลก ต่างกันอย่างนี้นะ สอนโลกด้วยเราก็ทุกข์เขาก็ทุกข์ท่านไม่มี ท่านสอนโลกด้วยความไม่มีทุกข์ทางใจ หมดโดยสิ้นเชิง นั่นละธรรมประเภทนี้ เวลานี้ก็มีอยู่กับพุทธศาสนาของเรา ให้นำมาปฏิบัติ เป็นธรรมสดๆ ร้อนๆ สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบทุกอย่างแล้ว ไม่มีผิดมีเพี้ยนที่จะแก้ไขดัดแปลงที่ไหน เป็นสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบเรียบร้อย ขอให้ก้าวเดินตามนี้แล้วจะก้าวไปๆ เรื่อย ความพ้นทุกข์อยู่ในสวากขาตธรรมหมด แบบแปลนแผนผังทุกอย่างสอนไว้เรียบร้อยแล้ว ให้ก้าวเดินตามนี้ ความพ้นทุกข์จะติดแนบกันไป
พากันตั้งอกตั้งใจ เราจวนจะตายเท่าไรก็ยิ่งเป็นห่วงโลกห่วงสงสาร ธรรมะนี้เปิดออกมาเรื่อยนะ ไอ้เรื่องที่เราจะไปคิดแบบโลกที่เขาโจมตีนั้นนี้ ก็ประสากองมูตรกองคูถไปสนใจกับมันอะไร เหยียบไปเลย อ้าว จริงๆ ไม่เคยสนใจนะ ความจริงเต็มอยู่ในหัวใจแล้ว อะไรจะมาเหนือความจริงที่เต็มหัวใจนี้ไปได้ สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งจอมปลอมกาฝาก ถ้าเราหลงมันก็เป็นมหาภัยเผาเรา เขาชมเชยสรรเสริญก็ดีใจ ถ้าเขาติฉินนินทาแล้วก็เป็นบ้าไปอีกแบบหนึ่ง ธรรมท่านพอแล้วท่านไม่ได้เป็น ใครจะชมเชยก็เท่านั้น ใครจะตำหนิก็เท่านั้น จึงเทียบกันได้ว่า เหมือนอิฐก้อนหนึ่งน้ำหนัก ๑๐ กิโล ทองคำแท่งหนึ่งน้ำหนัก ๑๐ กิโล ให้คนมาเอา(ยก) จะเอาอะไร เขาจะคว้าทองคำปั๊บๆ ใช่ไหม อิฐเขาจะไม่สนใจ ให้ท่านผู้ที่พอแล้วคือพระอรหันต์ท่านมาเอา(ยก) ท่านไม่เอาทั้งสองเพราะมันหนักด้วยกัน อิฐก็หนัก ทองคำก็หนัก ไม่เอาแล้วไม่หนัก นั่น
นั่นละสมมุติ ดีชั่วเป็นสมมุติ ทองคำกับอิฐกับปูน คำตำหนิติเตียนกับคำชมเชยเป็นเหมือนทองคำกับอิฐกับปูน ไม่เอาทั้งหมด เป็นหลักธรรมชาติพอแล้วไม่เอาอะไรเลย นั่นละความพอของท่านในจิตใจที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ไม่ได้เหมือนโลกทั้งหลายพอ พอด้วยความเลิศเลอของท่าน นั่นมันต่างกันอีกนะ คำว่าพอของพระอรหันต์กับพอของเราไม่เหมือนกัน ให้พากันจำ เอาละวันนี้เอาแค่นี้ก่อน
วันนี้มีแต่เทศน์ธรรมะล้วนๆ ให้เย็นปากเย็นใจสบายหูสักหน่อยเถอะ ทุกวันมีแต่เรื่องสกปรก เรานี่ลำบากมากนะโลกสกปรก หากจำเป็นต้องได้พูดได้จาอยู่นั่นละ เพราะเราอยู่ในท่ามกลางโลกอันนี้
วันนี้เทศน์ให้ฟังมีแต่เนื้อๆ ทั้งนั้น ลำดับของจิตที่ตั้งรากตั้งฐานก็บอกหมดเลย จนกระทั่งถึงธรรมฆ่ากิเลสเป็นอัตโนมัติก็บอก กิเลสฆ่าสัตว์เป็นอัตโนมัติก็บอก ทีนี้ธรรมฆ่ากิเลสก็เป็นอัตโนมัติได้เช่นเดียวกัน
(นั่งสมาธิแล้วชอบหลับ ทำยังไงครับ) อ๋อ เอาหลับไป มันจะหลับจนตายได้จริงๆ เหรอ ว่าอย่างนั้น เข้าใจไหม มันจะหลับจนตายเลยทีเดียว มันถึงขนาดเชียวเหรอ เอาทีนี้พอถึงเวลามันตื่นแล้วเอานั่งสมาธิ เอาสมาธินี้นะ เข้าใจแล้วเหรอ เวลานั่งสมาธิมันอยากหลับ เอาๆ ให้หลับไปเสียก่อนเอา มันจะหลับจนถึงตายก็ให้เห็นเสียทีแต่มันไม่ตายเดี๋ยวมันก็ตื่น ตื่นแล้วพามันภาวนา เข้าใจเหรอ เอาละพอ
วันนี้ดูพวกเราดูว่าจะลงไปกรุงเทพฯ ไปกันเยอะนะ ไปงานอาจารย์เจี๊ยะ ดูว่าสวดตอนเย็นวันนี้มั้ง งานอาจารย์เจี๊ยะ ดูว่าจะสวดตอนเย็นวันนี้ อันนี้ก็เป็นประเพณีอันหนึ่ง แต่ประเพณีนี้เป็นบุญเป็นกุศล เราไม่ว่าอะไร แต่ถ้าให้เราเป็นเจ้าตัวการมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดูซิงานท่านปัญญา พระท่านรู้นิสัยเรา อะไรๆ ท่านจะรีบจัดรีบทำทุกอย่างๆ ก็พอดีเป็นจังหวะที่เราไม่อยู่ ท่านตาย ทีนี้งานศพท่านจะจัดอะไรๆ นี้ จัดไปตามนั้น ถ้าเราอยู่จะมีไม่ได้นะ เข้าใจไหม ท่านรู้ท่านก็รีบจัดเสียตอนเราอยู่โน้น ท่านปัญญาตายนี้ท่านจะจัดอะไร ท่านรีบจัด เพราะท่านรู้นิสัย นิสัยนี้หาที่ค้านไม่ได้ด้วย ท่านก็ต้องยอมรับ เวลาไม่อยู่แอบทำ ปุ๊บปั๊บๆ ตอนเราไม่อยู่ ท่านรีบทำให้ทัน จัดนั้นจัดนี้ อะไรรอบๆ นี้ เราก็ไม่ว่าเมื่อทำแล้วเราก็ไม่ว่าอะไร เฉย แต่เวลาเราอยู่นั้นโอ๋ไม่ได้ นี่พระท่านรู้หมด
สวดนั้นสวดนี้ยุ่งนี้ก็เหมือนกันเพราะฉะนั้นจึงไม่ให้มีอะไร เอาเนื้อๆ เลย เอาธรรมออกมา ธรรมล้วนๆ ออกมาเลย กระพี้เปลือกอะไรไม่เอามายุ่งในวงผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นคติตัวอย่างของโลกได้อย่างดีงาม อย่ามาลูบๆ คลำๆ ให้โลกเขาสงสัย เข้าใจไหมล่ะ ธรรมตรงแน่วเลย เพราะฉะนั้นเราทำอะไรจึงตรงแน่วๆ แต่พวกที่กาฝากนั้นคอยอันนั้นอันนี้ มันก็มาแอบอยู่นั้นละเพราะฉะนั้นจึงต้องรีบทำ คือตอนเราไม่อยู่ใครจะทำอะไรให้รีบทำเสีย เราก็ไม่ว่าอะไร ทำแล้วเราไม่ว่า แต่ถ้าอยู่นั้นไม่ได้ เอาละ
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |