ตั้งตัวได้เพราะสติ
วันที่ 13 กันยายน 2547 เวลา 8:30 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่  ๑๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๗

ตั้งตัวได้เพราะสติ

 

ก่อนจังหัน

 

พระให้เร่งความพากเพียรนะ สติเป็นสำคัญเคยพูดเสมอ สตินี่ตั้งได้ตลอด ถ้าใครมีสติดีเท่าไร ผู้นี้ชี้นิ้วได้เลยว่าตั้งฐานได้ ถ้าสติไม่ดีไม่ได้นะ ยิ่งแล้วแต่จะทำเมื่อไรจะตั้งสติเมื่อไร โอ๋ย ตายทั้งเป็น ไม่เป็นท่า ผู้ที่จะทรงมรรคทรงผลเอาความแน่วแน่ เอาสติจับปุ๊บเลยตั้งแต่ต้นจนอวสาน สติรับรองเรื่องมรรคผลนิพพาน เรื่องสติจะครอบๆ ตลอดเลย จำให้ดีนะนักปฏิบัตินักภาวนา สติเป็นสำคัญมากทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว เรามาปฏิบัติก็เป็นอย่างนั้น เราตั้งตัวได้เพราะสติ ว่าอย่างนี้เลย เอาเสียจนล้มลุกคลุกคลาน

นี่พูดจริงๆ พอลงใจแล้วว่าเราขาดคำบริกรรมกับสติกำกับ จิตของเราจึงเจริญแล้วเสื่อมๆ มีขาดอันนี้เท่านั้นเราสงสัย คราวนี้จะให้มีสติ กับคำบริกรรมกำกับใจ จะตั้งรากฐานใหม่ จิตล้มเหลวๆ ทั้งๆ ที่ความเพียรก็ว่าหนักๆ แต่มันขาดสติเท่านั้นความเพียรหนักเบาไม่เห็นมีความหมายอะไร เอาทีนี้คำบริกรรมติดกับจิต แล้วสติติดแนบเข้าไป ย้ำเข้าไปอีก เอาละนะ ระฆังดังเป๋งตัดสินใจเท่านั้นก็ฟัดกันเลย

สรุปความเลยว่า เอา เป็นก็เป็น ตายก็ตาย สติเผลอไปไม่ได้ ตั้งได้ทั้งวันไม่มีเผลอแม้ขณะเดียว เวลากิเลสมันผลักดันคืออยากคิดอยากปรุงดันออกมาจากจิต เหมือนอกจะแตกนะ ได้เห็นชัดเจนมากทีเดียว กิเลสมันเอาสังขารเป็นเครื่องมือ เดินออกมาทางสังขาร ทีนี้เราไม่ให้มันปรุงทางกิเลส ให้ปรุงทางธรรมะ เช่น พุทโธๆ ๆ ทีนี้มันก็ดันออกมาๆ โอ๋ จำไม่ลืมนะ วันนั้นทั้งวันเหมือนตกนรกทั้งเป็น คือไม่ยอมให้เผลอเลย สมมุติว่าซัดกันนี้ เราล้มก็ล้มแต่ไม่เผลอ มันจะแบบไหนไม่ให้เผลอ นี่เป็นวันแรก เหมือนตกนรกทั้งเป็น วันที่สองฟัดกันอีก ไม่เผลอเหมือนกัน แต่อาการนี้จะเบาลงนิดๆ หนึ่ง ที่มันดันๆ อยากคิดอยากปรุง

ความอยากคิดอยากปรุงนี้คือกิเลสออกทำงานทั้งนั้น ให้จำไว้ทุกคนนะ เราผ่านมาแล้วเอาตัวของเราออกประกันเลย จากนั้นพอวันที่สามทีนี้เบาลงๆ สรุปเลยว่าสติเท่านั้นเป็นสำคัญที่ตั้งได้ทำความเพียร ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายจำให้ดีนะ สติเป็นสำคัญมากทีเดียวสำหรับการทำความเพียร จะหน้าที่การงานอื่นสติก็ขาดไม่ได้ จำเอานะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือมรรคผลนิพพานตามทางศาสดาที่สอนไว้เรียบร้อยแล้วนั้นสดๆ ร้อนๆ นะ ที่มันจืดมันชืดคือพวกชาวพุทธเรา พวกเรานี้แหละที่มันจืดมันชืด อะไรไม่เป็นหน้าเป็นหลัง เสียตรงนี้นะ ถ้าทำตามคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ทรงตรัสไว้ชอบแล้วดีแล้วทุกอย่างไม่มีที่ต้องติ เอา บำรุงตนปฏิบัติตนให้เป็นไปตามนั้น มรรคผลนิพพานจะประกาศกังวานขึ้นที่หัวใจทันทีๆ ให้จำให้ดีนะ เอาละทีนี้จะให้พร

 

หลังจังหัน

 

         วันไหนพูดทุกวันๆ โอ๋ย เหนื่อยมากนะเรา เหนื่อยมาก เล่นกับขี้หมูขี้หมายิ่งแล้วนะ เหนื่อย ส่วนมากมีแต่เรื่องสกปรก ออกมาจากหัวใจที่สกปรก แสดงออกมาก็สกปรก มาโดนหูเข้าแล้วหูก็สกปรก ล้างหู ๕ วันมันก็ไม่สะอาด มีแต่เรื่องสกปรก ให้สบายๆ ไม่ต้องล้างหูล้างตา วันนี้ให้สบายๆ หน่อยได้ไหม วันไหนล้างแต่หูแต่ตาตลอดเวลา เมื่อวานนี้ล้างใหญ่ ล้างตั้งแต่นี้ก็ยังไม่สะอาด เพราะฉะนั้นอย่าเอาอะไรมาโปะอีก ขี้เกียจล้าง โห โลกสกปรก

ตะกี้นี้ที่พูดถึงเรื่องสติ เราเคยทำมาแล้วก็ได้ประกาศให้ทราบแล้ว เพื่อเป็นคติเครื่องเตือนใจ ตั้งได้สติ ยิ่งนักภาวนาโดยเฉพาะไม่มีงานการใดๆ แล้วตั้งได้ตลอดเลย เอาให้เห็นเหตุเห็นผลซิ เราได้เห็นมาแล้วจึงได้มาพูดให้ฟังเป็นสักขีพยาน เพื่อเป็นคติของผู้ฟังทั้งหลาย ก็เคยพูดให้ฟังแล้วจิตเจริญแล้วเสื่อมๆ ปีหนึ่งกับ ๕ เดือน เหมือนตกนรกทั้งเป็น โอ้โห ก็เพราะตอนนั้นเราไม่บริกรรม จ่ออยู่แต่จิตด้วยสติ ทีนี้สติมันเผลอไปไหนเราก็ไม่ทราบนี่ มันเจริญขึ้นๆ ได้ ๑๔-๑๕ วันกว่าจะไปถึงจุดที่มันเย็นสบายนั้น แล้วอยู่ได้สองคืน พอคืนที่สามก้าวลงแล้วไม่อยู่ เหมือนครกกลิ้งลงจากภูเขา ไปขวางมันไม่ได้มันทับเอาแหลกเลย มันแรงความเสื่อมของมัน อยู่อย่างนั้นได้ปีกับ ๕ เดือนไม่ลืม นี่ละตกนรกทั้งเป็น

จึงได้มาพินิจพิจารณา มันเป็นเพราะเหตุไรมันถึงเจริญมาอย่างนี้แล้ว ก่อนจะมาถึงนี้ ๑๔-๑๕ วัน แล้วอยู่ได้เพียงสองคืนสามคืนลงปุ๊บเลยเทียว เวลามันลงนี้เร็วมากนะ ไม่ฟังเสียงใครเลย มันเป็นเพราะเหตุไร เราจึงมาหวนระลึกถึง จะเป็นเพราะไม่มีคำบริกรรมติดกับใจ และสติติดกับคำบริกรรมนี้กระมัง อย่างอื่นเราก็ทำหมดแล้วมันก็ยังเป็นอย่างนี้ๆ เรามีแต่อันนี้ยังไม่ได้ทำ คือตั้งคำบริกรรมติดกับจิตเอาไว้ ทีนี้ให้มีคำบริกรรมติดเลย เอาสติติดกับคำบริกรรม ไม่ให้มันพรากจากกันเลย ยังอันนี้ละ พิจารณาเรียบร้อยแล้วก็ลงใจอันนี้ ทีนี้ลงใจแล้วนะจะเอาละนะ คราวนี้จะเอาแล้ว

เหมือนนักมวยจ่อกันอยู่แล้ว ระฆังเป๋งก็ปั๋งเลย อันนี้ก็ว่าเอาละนะ พอระฆังเป๋งก็เรียกว่าลงใจแล้ว ที่นี่ปั๊บจับติดๆ ไม่ยอมให้เผลอ ไม่ให้เผลอจริงๆ ทั้งวันไม่ให้เผลอเลย โอ๊ย มันจึงรู้เรื่องของกิเลสที่มันผลักดันออกมาจากหัวใจ ออกมาทางสังขาร มันอยากคิดอยากปรุง มันอัดอั้นตันใจเหมือนอกจะแตก วันแรกเอากันหนักที่สุดเลย เอา มันจะล้มก็ให้ล้มไปแต่จะเผลอไม่ได้ มันจะเป็นท่าไหนก็เป็นเถอะ นักมวยต่อยกันเป็นอย่างนั้นจะเผลอไม่ได้ เอาตรงนี้เป็นสำคัญ

ซัดกันทั้งวันไม่ให้เผลอเลยจริงๆ โอ๋ย มันดันขึ้นมานะ นี่กิเลสอยู่ภายในใจ ทางออกของมันก็คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่ออกจากใจ ตัวสังขารนี่สำคัญ อยากคิดอยากปรุงเป็นประมาณจนอกจะแตกนะ มันดันขึ้นมา คำบริกรรมบีบเอาไว้ไม่ให้มันขึ้น มันดันขึ้นมาเท่าไรก็บีบคำบริกรรมกับสติติดเอาไว้เลย ไม่ให้มันขึ้นจริงๆ นี่ ไม่ยอมให้มันขึ้นเลย คิดอันไหนไม่ให้คิด ให้คิดแต่คำบริกรรมกับสติอย่างเดียวเท่านั้น ซัดกันอยู่นี้ โห มันดันขึ้นมา จึงได้เห็นอำนาจของกิเลสมันเอาสังขารนี้เป็นตัวสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง ดันขึ้นมาอยากคิดอยากปรุง ไม่ให้คิดให้ปรุง ซัดกันทั้งวันเหมือนตกนรกทั้งเป็น

โห หนักมากเหมือนอกจะแตก มันดันขึ้นมา กิเลสมันผลักออกมาให้คิด เราไม่ให้มันคิด คำบริกรรมอยู่ข้างบนดันมันไว้ไม่ให้ออก วันนั้นทั้งวันเลย และไม่เผลอจริงๆ นะ เพราะนิสัยนี้ก็เคยพูดแล้วรู้สึกจะผิดกับใครอยู่มาก จริงจังมากนะ ว่าอะไรเป็นอันนั้นเลย อันนี้ก็แบบนั้นทั้งวันไม่ให้เผลอ พอตื่นขึ้นมาก็จับอีกปั๊บอีกเอาอีกซัดอีก วันหลังนี่มีเบาหน่อย ความดันนี้ไม่รุนแรงเหมือนวันแรก เบาลงๆ ไม่ให้เผลอเหมือนกัน ทั้งวันไม่ให้เผลอเหมือนกัน

ติดเข้าไปถึงวันที่สาม เบาลงๆ คำบริกรรมกับสตินี้เรียกว่าไม่ให้เผลอเลย ติดแนบตลอด จากนั้นความดันของกิเลสประเภทนี้มันออกไม่ได้มันก็ค่อยเบาลงๆ เพราะธรรมตีเข้าไปๆ พอวันที่สามผ่านไปแล้วรู้สึกว่าเบา ทีนี้รู้นะว่าเบา ไม่ผลักไม่ดันมาก คำบริกรรมกับสติเรียกว่าเผลอไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ บังคับตลอดเลย อันนี้แข็งแกร่ง อันนั้นมันก็อ่อนของมันลงไปๆ นี่ละตามดูจิตตัวนี้

เราไม่ปล่อยไม่ให้เผลอเลยนี่ เป็นยังไงก็ให้รู้กันคราวนี้ จะเอาจุดนี้แหละ พอมันค่อยเบาลงๆ แล้วค่อยสงบตัวลงๆ ที่ผลักดันนี้เริ่มเบาลงๆ แทบจะไม่มี สติกับคำบริกรรมติดเข้าไปๆ ก็กลายเป็นความสงบเย็นละที่นี่ นั่นเห็นไหมล่ะน้ำดับไฟ ไฟที่มันพลุ่งๆ มันจะออก ถูกบังคับด้วยน้ำคือคำบริกรรมกับสติบังคับ พอสามวันล่วงไปแล้วก็ค่อยเบาลงๆ รู้สึกได้คติดีละที่นี่ จับติดๆ ต่อไปก็จิตสงบแน่ว ไม่ดันนะ ไม่ดัน พอสงบลงไปๆ สงบขนาดไหนก็ไม่ปล่อยคำบริกรรมกับสติ เอาจนกระทั่งมันสงบลงไปถึงขนาดที่ว่าถึงจุดของมันแล้วคำบริกรรมนี้ไม่มีนะ

ที่เราพุทโธๆ นี้ไม่มี ดับไปด้วยกัน ปรุงก็ไม่ขึ้น ไม่มีอะไรขึ้น เหลือแต่ความรู้ที่ละเอียดแน่ว ทีนี้ก็มางงอยู่นิดหนึ่ง ถึงงงก็ไม่ให้เผลอ มันเป็นยังไงที่นี่ เราปรุงคำบริกรรมพุทโธๆ ทำไมจึงบริกรรมไม่ได้ หมดไปเลยนะ ปรุงก็ไม่ออก เงียบเลย แต่ความรู้นี้ละเอียด เอา มันปรุงไม่ได้ก็ไม่ต้องปรุง เอาจุดนี้ ให้สติตั้งอยู่กับความละเอียดของจิตที่รู้ละเอียดนั้น สติติดอยู่นี้ไม่ให้เผลอ คำบริกรรม บริกรรมไม่ได้ก็ไม่ต้อง มันถึงขั้นละเอียดของมันแล้ว ตั้งแต่ที่มันดันเต็มเหนี่ยวลงไปถึงขั้นนี้ พอไปถึงนั้นแล้วแน่วเลยที่นี่ ปรุงอะไรก็ไม่ออก เงียบเลย สังขารที่จะเป็นสมุทงสมุทัยดังที่เคยว่าไม่ต้องพูดอันนั้น เงียบเลย สังขารที่เป็นฝ่ายธรรมคือคำบริกรรมนี้ก็ยังไม่มี ดับ เหลือแต่จิตที่ละเอียดล้วนๆ สติจับไว้นั้นเลย

มันบริกรรมไม่ได้ก็ไม่ต้องบริกรรม สติให้จับอยู่นี้ไม่ปล่อย จะเป็นอย่างไรให้รู้ ทีนี้เวลามันได้จังหวะมันแล้ว มันก็มีคลี่คลายออกมานิดๆ พอบริกรรมได้บริกรรมปั๊บอีก เอาอีก อยู่อย่างนั้นตลอด ต่อไปมันก็ลงอย่างนั้นอีก พอถึงขั้นเต็มที่ของมันแล้วบริกรรมไม่ได้มันก็ลงอย่างนั้น ก็จับเอาอย่างนั้นตลอดๆ ต่อไปค่อยละเอียดขึ้นๆ เรื่อย จนกระทั่งถึงจิตขั้นที่มันเคยเจริญแล้วเสื่อม ถึงขั้นนี้แล้วมันจะเสื่อม เอาๆ เสื่อมไป เราไม่เสียดายทั้งความเจริญทั้งความเสื่อม เสียดายพอแล้ว สร้างกองทุกข์ให้เรามากมาย แต่คำบริกรรมกับสตินี้จะไม่ปล่อย นอกนั้นอะไรจะเป็นอะไรช่างมัน ปล่อยเลยเทียว

พอถึงขั้นนั้นแล้ว เอาเสื่อมๆ ไปไม่เสียดาย เพราะเคยเสียดายพอแล้ว สร้างทุกข์ให้เรามาก ปล่อยทั้งความเจริญทั้งความเสื่อม แต่คำบริกรรมกับสตินี้ไม่ปล่อย ติดตลอดเลย สุดท้ายถึงขั้นนี้แล้วว่ามันจะเสื่อม มันถึงขั้นนี้แล้วอยู่ได้สองสามคืนเสื่อม เอา เสื่อม แต่คำบริกรรมไม่ปล่อย สุดท้ายไม่เสื่อม แล้วค่อยก้าวขึ้นๆ จนกระทั่งโล่งไปเลย โล่งเรื่อยๆ นี่คุณค่าแห่งการตั้งสติ จำเอานะ จากนั้นก็ขึ้นเรื่อยไม่ลง จึงมาจับได้ อ๋อ ที่เราเจริญแล้วเสื่อมๆ เพราะขาดคำบริกรรมกับสติ ทีนี้จับได้แล้ว จากนั้นก็ติดกันแนบเลยเทียว

นี่ละฐานเบื้องต้นที่ตั้งจิตเราตั้งได้ด้วยเหตุนี้เอง จากนั้นมาก็ไม่เสื่อม พอหลังจากนั้นแล้วก็ก้าวเข้าความเพียรอันหนักละที่นี่ ไปรับพ่อแม่ครูจารย์(มั่น) ที่ธาตุพนม ท่านไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ เราไปแต่ภาวนานี้ไม่ได้ถอยเลย อยู่อย่างนั้นตลอด พอกลับมาธุระว่างแล้วที่นี่ ท่านก็มาถึงที่แล้ว เอาละที่นี่จะขึ้นเวทีใหญ่ละคราวนี้ ซัดกันอีก นั่นละที่นี่นั่งตลอดรุ่ง พอจิตก้าวขึ้นไปนี้แล้วขึ้นขั้นนั่งตลอดรุ่ง จากนั้นมาก็ไม่เสื่อมเลย เจริญเรื่อยๆ

จำเอานะเรื่องสติเป็นเรื่องสำคัญมาก เราได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วนะ ไม่ผิดไม่พลาด เราทำมาแล้วอย่างนี้ไม่สงสัย และตั้งฐานขึ้นมาได้อย่างนี้ จากนั้นมาก็ไม่เคยเสื่อมอีกเลย ตั้งแต่นั่งตลอดรุ่งแล้วยิ่งแม่นยำเข้าไป ถึงขึ้นอุทานเลยว่า เออที่นี่ไม่เสื่อม คือมันลงผึงนี้จ้าไปหมดเลย ทีนี้ไม่เสื่อม ไม่เสื่อมก็ไม่วางใจ ไม่ปล่อยใจให้หลงไปตามมัน คือถ้าจิตเราได้เสื่อมคราวนี้เราต้องตายเท่านั้น เราจะทนทุกข์ทรมานอย่างนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว อย่างไรถ้าเรายังมีชีวิตอยู่จิตเรานี้จะเสื่อมไปไม่ได้ การเสื่อมไปไม่ได้มีอะไรเป็นประกัน ก็คือสติเป็นเครื่องประกัน เพราะสติเป็นเครื่องพยุงขึ้นมา และเป็นเครื่องประกันไม่ให้เสื่อม จับสติไว้ให้ดีก็ก้าวเรื่อย จำเอาไว้นะ จากนี้ไปก็เร่งละที่นี่ แล้วไม่เคยเสื่อมอีกเลย ให้พากันจำเอา

เรียนให้มันถึงฐานซิเรื่องภาวนา เรื่องกิเลสนี่มันอยู่ภายในใจ มันออกหากินตามสังขารความคิดความปรุง อยากรู้อยากเห็นนั้นนี้ มีแต่เรื่องกิเลสดันออกมา พอบังคับไม่ให้มันออกแล้ว โอ๋ย เหมือนอกจะแตกมันจะออก ทางนี้ก็บังคับไว้ด้วยคำบริกรรม สุดท้ายมันก็ไม่แตกอก เจ็บปวดหัวอกไปเรื่อยๆ แล้วสงบลงๆ ได้ จำให้ดีนะ วันนี้เอาเท่านั้นละ ไม่พูดมากละเหนื่อย

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก