เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๗
กีดกั้นเขาทำไมทางบุญ
ผู้กำกับ ปัญหาทางอินเตอร์เน็ตครับ
คนแรก
ที่ลูกดำเนินอยู่ คือหมั่นรู้สึกตัวที่กายที่ใจในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ แต่ช่วงนี้มีบางอย่างที่เปลี่ยนจากเดิม คือที่เคยกำหนดรู้เข้ามาที่ใจ ที่เคยตั้งใจว่าจะรู้สิ่งต่างๆ เดี๋ยวนี้ว่างไปเองไม่ได้ทำอะไร สังเกตได้ว่าเมื่อก่อนเวลาน้อมนึกถึงสิ่งที่จะเป็นไปในข้างหน้าของตนเอง ก็จะเห็นอารมณ์ หรือเห็นจิตที่นึกคิดในขณะนั้น แต่ตอนนี้น้อมไปมันไม่มีให้ดูแล้ว ทั้งดีทั้งร้ายต่างๆ ที่จะเกิดเกี่ยวกับตนเองในอนาคต กลับว่างเข้ามาที่ใจหมด เลยดูอะไรให้ตัวเองเหมือนเดิมไม่เห็นแล้ว แต่ถ้าเป็นอาการข้างนอกก็ยังคงเห็นเหมือนเดิม คือลูกสังเกตว่ามีสิ่งที่เปลี่ยนไป กราบเรียนหลวงตามตรงเพราะไม่เห็นที่พึ่งอื่นเลยเจ้าค่ะ (จาก สลัดบาร์)
หลวงตา ไม่ตอบอันนี้ ฟังเฉยๆ ไม่มีแง่ใดที่จะน่าตอบ
ผู้กำกับ คนที่สอง ครับ
ผมเป็นเด็กชายอายุ 15 ปีครับ ได้กราบหลวงตามาตั้งแต่ผมอายุ 3 ขวบ แม่ของผมได้สอนให้ผมได้ภาวนาโดยกำหนดบริกรรมพุทโธ ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และจิตของผมได้รวมดิ่งวูบลงไปเหมือนตกเหว บางครั้งที่ผมได้ภาวนา ก็จะเกิดแสงสว่างจ้าที่ผมรู้สึกว่าเหมือนออกมาจากกายของตนเอง และค้างอยู่อย่างนั้น ไม่นานจิตก็จะถอนออกมาสู่สภาพปกติ หรือบางครั้งที่ภาวนา ก็จะมีความรู้สึกว่ากายหายไป แต่ยังคงได้ยินเสียงรอบข้างอยู่ หรือบางครั้งจิตก็จะหายเงียบไปไม่รับรู้ภายนอกเลย เหลือแต่ความรู้สึกที่เด่นอยู่ตัวเดียว แต่ทุกครั้งที่ภาวนาจิตของผมจะรวมได้ไม่นาน ประมาณ 10 นาทีก็จะถอนออกมาสู่สภาพปกติ ผมอยากกราบเรียนถามหลวงตาว่า ที่ทำอยู่อย่างนี้ถูกหรือไม่ และอยากให้หลวงตาเมตตาชี้นำสั่งสอนผมด้วยครับ
หลวงตา ที่ทำนี้ถูกต้องแล้ว ที่จะแนะนำสั่งสอนก็คือ ให้พยายามทำไปอย่าขี้เกียจ มันจะสงบไปเรื่อยๆ และง่ายเข้าๆ ให้พยายามทำเสมอด้วยความมีสติ เรื่องสตินี่สำคัญมาก ก็มีเท่านั้น ภาวนานี่ทำถูกต้อง จิตบางทีวูบลงไปเหมือนตกเหวตกบ่อก็มี บางทีค่อยสงบเข้าไปๆ แล้วสงบเงียบไปเลยก็มี เป็นไปตามจริตนิสัย ในจริตนิสัยนั้นบางทีมันวูบลงไปเลยก็มี บางทีค่อยสงบลงไปก็มี ในคนๆ เดียวกันนั้นแหละ อย่าไปตื่นเต้นกับมัน อาการของจิตเป็นไปได้ทุกอย่าง เราอยากเห็นความพิสดารให้ทำตามแบบพระพุทธเจ้า ไม่มีใครเหมือนเลยแบบพระพุทธเจ้า เข้าไปจิตนั่นซีที่ว่าไม่มีใครเหมือน ภาวนาเข้าไปหาจิต จิตนี้คือมหาเหตุดังเคยพูดแล้ว กิเลสสั่งสมตัวอยู่เต็มทับธรรมอยู่ในนั้น ธรรมก็อยู่ในจิตแต่แสดงตัวออกไม่ได้เมื่อไม่มีผู้เปิดทาง คือ ความเพียร สติ อุบายวิธีการต่างๆ ทำจิตตภาวนาดูใจตัวเอง แล้วจะได้เริ่มเห็นเรื่องของกิเลส เรื่องของธรรมจะเริ่มเห็น เพราะอยู่ในจุดเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่ากิเลสหนาแน่นมากกว่า ในเบื้องต้นเป็นอย่างนั้น ธรรมแทบจะไม่มี ถูกปิด
ทีนี้เวลาเราจ่อเข้าไปดูเรื่อยๆ นี้ เรื่องราวนี้จะขยายออกในนี้ๆ จึงเรียกว่ามหาเหตุอยู่ที่จิต เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากจิต ไม่ได้เกิดขึ้นจากอะไร จิตนี้ไปวาดภาพหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่ามันวาดภาพหนา ดูจิตนั่นแหละต่อไปมันก็รู้เอง ภาพของจิต ตัวของจิตก็รู้เอง ไม่มีอะไรพิสดารยิ่งกว่าใจ ใจนี่พิสดารมาก เพราะฉะนั้นจึงว่าไม่มีใครเหมือนองค์ศาสดาที่สอนโลกมานี้เลย สอนได้อย่างถูกต้องแม่นยำทีเดียว จ่อเข้าไปหาจิตนี้คือมหาเหตุ ความเกิด ความตาย ความทุกข์ความทรมานอะไรอยู่ในนี้หมด จิตรวมไว้หมดเลย
อย่างที่ท่านว่าโลกสูญหมด นั่นเป็นยังไง คือไม่มีในหัวใจเลย ว่างไปหมดเลย ทั้งๆ ที่โลกก็มีอยู่อย่างนี้ ก็คือใจไปหมายว่าสิ่งนั้นมีสิ่งนี้มี เวลาใจทำตัวของตัวให้ละเอียดลงไปแล้ว มันก็ลบล้างตัวของมันเองนั้นแหละ สิ่งเหล่านั้นเขาก็มีอยู่ตามเดิม ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ มีอยู่ตามเดิม จิตเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในอาการต่างๆ เวลาเข้าไปดูจิตแล้วจะเห็นเรื่องของตัวอย่างนั้น ถ้าไม่ได้ดูจิตไม่เห็นเรื่องเหล่านี้ มีแต่ยุ่งตลอดเวลา คือจิตไปยุ่งกับเขาต่างหาก เขาไม่ได้มายุ่งนะ อะไรก็เป็นอันนั้นอยู่อย่างนั้น ทีนี้ว่าโลกนี้สูญก็คือว่าจิตนี้มันว่างในตัวเองไปหมด ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเลย เลยว่าง นี่คำว่าโลกสูญเปล่า โลกเขาไม่ได้สูญ เป็นตามความจริงของเขาอย่างนั้น ตามความจริงของจิตหากว่างในตัวเอง เป็นโลกสูญ นั่น เป็นความจริงคนละอย่าง
เรื่องภาวนา เอ้า ว่าไปซิ ลองภูมิหลวงตาบัวดูซิ ที่เทศน์ว้อกๆ มานี้ ๖ ปีเต็มแล้วนะ เอา มาลองภูมิหลวงตาบัวดู ท่านทั้งหลายมีภูมิทางด้านจิตตภาวนา เอา มาลองดูจะเป็นยังไง จะรู้กันตอนนี้ละนะ อันนี้พูดออกได้เฉพาะที่เขามาเกี่ยวข้องอะไรก็พูดเฉพาะเท่านั้นๆ ที่ว่าเหล่านี้มาเกี่ยวข้องก็พูดอย่างนี้ให้ฟัง เอ้า เกี่ยวข้องอะไรมาอีก นั่นฟังซิน่ะ
จิตเวลาได้เปิดออกแล้วมันมีอะไรมาปิดบัง พูดตรงๆ อย่างนี้แหละมันจวนจะตายแล้วนี่นะ ไม่มีอะไรมาผ่านเลย แม้เม็ดหินเม็ดทรายไม่มี เป็นสมมุติทั้งหมด จิตที่นอกจากสมมุติไปแล้วจะไม่มีสิ่งนี้เกี่ยวข้อง สามแดนโลกธาตุไม่มีเลยในจิต จึงเรียกว่าจิตเป็นวิมุตติ จิตหลุดพ้นแล้วจากสมมุติทั้งมวล ตั้งแต่หยาบถึงละเอียดสุด หมด ไม่มีอะไรภายในจิต นั่นละท่านว่าจิตว่าง จิตบริสุทธิ์ เป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลย แต่ก่อนเป็นมหาเหตุอยู่ในนั้นหมด ปราบลงไปได้หมด สิ่งที่ก่อกวนที่สุดมหาเหตุก็คือกิเลส ธรรมก็เป็นมหาเหตุฝ่ายดับฝ่ายระงับ น้ำดับไฟ ระงับลงไปจนกระทั่งหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว โลกที่ว่าจิตไปวาดนู้นวาดนี้หดตัวเข้ามาหมด เขาก็มีอยู่อย่างนั้นละโลกแต่ไม่ไปยุ่งกับเขา
เหมือนเวลาเรานอนหลับสนิท อะไรมีเวลาหลับสนิท อะไรก็มีอยู่อย่างนั้นแหละ เสื่อ หมอน ทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่ตามปรกติ แต่เวลาจิตหลับสนิทเป็นยังไง มีเขามีเรา มีตนมีตัว มีสัตว์มีบุคคลมีอะไรที่ไหน ไม่มี ไม่มีห่วงใยอะไรทั้งนั้นเวลาหลับสนิท แต่ถ้าไม่สนิทก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างฝันอย่างนี้ ถ้าหลับสนิทแล้วเป็นอย่างนั้นละ ไม่มีอะไรเคลื่อนไหวเลย พอตื่นขึ้นมาก็รู้ว่า โห เมื่อคืนนี้นอนหลับดีเหลือเกิน เป็นอย่างนั้นละ นี่เราเทียบหลับสนิทเฉยๆ นะ กับจิตที่บริสุทธิ์สุดส่วนแล้วปล่อยวางโดยสิ้นเชิงแล้ว ดับสนิทอย่างนั้น มันต่างกันที่ว่า หลับสนิทของคนมีกิเลส จิตนั้นดับสนิทของผู้สิ้นกิเลส มันต่างกันอย่างนี้ละ
เราจึงสอนอยากให้ภาวนา พุทธศาสนาจะเด่นขึ้นที่หัวใจของผู้ภาวนานะ ในคัมภีร์ใบลานในที่ไหนจะพรรณนาสักเท่าไรก็ไม่สิ้นสุด มาสิ้นสุดที่หัวใจนี้ มหาเหตุก็สิ้นสุดลงที่นี่ มหาเหตุทั้งปวงหมดก็สิ้นสุดลงที่นี่ ไม่ได้สิ้นสุดลงที่ไหน ใจจึงพิสดารมากทีเดียว ไม่มีอะไรเกินใจแหละ เรื่องความพิสดารอยู่กับใจทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงให้จ่อเข้าไปดูที่จิตตภาวนา จะแสดงขึ้นตามนิสัยของตนๆ และกำลังของตัวเองนั้นแหละ จะแสดงขึ้นที่นั่น ก็มีเท่านั้น แล้วมีอะไรอีกล่ะ
ผู้กำกับ คนที่สาม ครับ
หลังจากที่ลูกนั่งแล้ว จิตรวมแล้ว แต่ไม่มีอะไรเกิดขื้น จะไม่คิด ไม่ปรุงแต่งอะไรเลย จะอยู่อย่างนั้นเป็นนานๆ แต่ละครั้ง ลูกอยากรู้ว่าลูกควรจะทำอย่างไรต่อไปอีก ลูกขอกราบเรียนหลวงปู่เท่านี้ ขอหลวงปู่เมตตาลูกด้วย (จาก อเมริกา)
หลวงตา เบื้องต้นทำภาวนายังไง(คงภาวนาพุทโธแหละครับ) กำหนดพุทโธแล้วเป็นยังไง เอ้าว่าซิ (นั่งแล้วจิตรวมแต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่คิดไม่ปรุงแต่งอะไรเลย จะอยู่อย่างนั้นนานๆ ในแต่ละครั้ง) เออ ถูกต้อง (แล้วเขาจะทำยังไงต่อไปครับ) ให้ทำอย่างนั้นแหละ ต่อมาถ้ามันมีความสงบ ความสงบของจิตเรียกว่าความค่อยอิ่มอารมณ์ของจิต คือจิตนี้หิวโหยตลอด อยากนั้นอยากนี้อยากตลอดเวลา มีอะไรๆ ก็ไม่พอ ความอยากของจิตนี้ท่วมท้นไปเลย ได้มากเท่าไรยิ่งอยากมากๆ นี่คือกิเลส อารมณ์อันนี้เรียกว่ากิเลส วัตถุทั้งหลายเป็นวัตถุที่จะให้จิตไปพาดพิงไปวาดภาพขึ้นให้เกิดอารมณ์มากขึ้น ได้มากเท่าไรๆ ไม่พอๆ นี่คืออารมณ์ของจิต
ทีนี้พอจิตสงบ อารมณ์เหล่านี้ความหิวโหยเหล่านี้จะสงบตัวลงๆ นี่เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ไม่อยากคิดอยากพูดอะไร นั่นละให้ออกทางด้านปัญญา พิจารณาดูธาตุดูขันธ์ ดังพระพุทธเจ้ามอบงานให้พระ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่นี่จะรื้อภพรื้อชาติจะรื้อตรงนี้นะ เอาอันนี้งานอันนี้งานรื้อภพรื้อชาติของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ละงานรื้อภพรื้อชาติ จับตัวนี้เข้าไปแล้วมันจะค่อยกระจายเหมือนไฟได้เชื้อ เชื้อมีอยู่ที่ไหนไฟจะลุกลามไปๆ เรื่อยๆ หยาบละเอียดเผาไหม้ไปได้ ส่วนไหนๆ จะรู้ได้เห็นได้ไปเรื่อย ลบล้างกันไปเรื่อย ปล่อยวางกันไปเรื่อย ให้ใช้ทางปัญญา สมาธิคือความสงบใจ ความสงบใจนี่ถ้าไม่มีปัญญามาแฝงก็นับว่าเลิศว่าเลอในตัวเอง จนติดสมาธิ ประหนึ่งว่านิพพานอยู่ในสมาธิ
นี้เป็นแล้วนะ ไม่ใช่มาพูดเฉยๆ เวลาจิตสงบเต็มที่อิ่มตัวเต็มที่แล้ว ไม่อยากคิดอยากปรุงอะไร ยุ่งกวนใจ แต่ก่อนไม่ได้คิดไม่ได้มันจะตาย ดีดดิ้น ทีนี้เวลาจิตอิ่มอารมณ์ด้วยการภาวนา แล้วสงบตัวเข้ามาๆ ทีนี้ไม่อยากคิดอยากปรุง ความคิดปรุงยิบๆ แย็บๆ กวนใจทั้งนั้น อยู่แน่วอันเดียวเลยที่นี่ รู้แน่วอยู่อันเดียว สุดท้ายเลยเหมาอันนั้นว่าจะเป็นพระนิพพาน นั่น มีอันเดียวเท่านั้นละ เอกจิตเอกธรรม เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์เต็มที่ นี่ละจิตอิ่มอารมณ์เต็มที่แล้วไม่สนใจกับอารมณ์อะไร ทีนี้ให้พาพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับไตไส้พุงภายในภายนอกของตัวเองและของผู้อื่น หรือสัตว์ใดก็ตาม พิจารณาเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภังป่าช้าผีดิบ พิจารณาดูในกายของตัวเองนี้ ทีนี้ปัญญาจะขยายตัวออก
ความรู้ทางด้านปัญญาจะเฉียบแหลมมาก สมาธิที่ว่าเลิศเลอในเบื้องต้นที่ไม่เคยออกพิจารณานั้น จะกลายเป็นมูตรเป็นคูถไปนะ คือต่ำกว่ากันขนาดนั้นละ ปัญญานี้แหลมคมเข้าไปเรื่อยๆ จิตจึงได้ดื่มทางด้านปัญญา ให้ใช้ปัญญาบ้างนะ ถ้าใช้ปัญญาจิตจะเบิกกว้างออกไปเรื่อยๆ จิตอิ่มอารมณ์นั่นละเป็นทางที่จะก้าวเดินทางด้านปัญญา พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ตามสัดตามส่วนของมันเป็นยังไงๆ เวลาจิตหิวโหยอารมณ์พาพิจารณานี้มันเถลไถลออกไปข้างนอกเสีย เลยเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นสมุทัยเป็นกิเลสไปเสีย เพราะฉะนั้นท่านจึงสอน เวลาจิตมีความสงบแล้วให้พิจารณาทางด้านปัญญา
ท่านสอนพระท่านว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาเมื่อมีสมาธิหนุนหลังแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว แต่ทางปริยัติท่านว่า ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ท่านพูดกว้างๆ แต่ผู้ปฏิบัติจะมารู้ตัวเอง สรุปลงมาแล้วก็เรียกว่า เมื่อมีสมาธิหนุนแล้วปัญญาเดินได้คล่องตัว ไปอย่างนั้นเลย ศีลเป็นเครื่องอบรมจิตให้มีความสงบ ไม่ระแคะระคายในศีลของตนว่าด่างพร้อยหรือขาดทะลุประการใด จิตก็ไม่มีอารมณ์ระแคะระคาย แล้วภาวนาก็สงบได้ง่าย เวลาสงบแล้ว จิตนี้สงบเข้าไปๆ ก็อิ่มอารมณ์ พออิ่มอารมณ์แล้วพาคิดทางด้านปัญญาก็คิด แยกธาตุแยกขันธ์ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จะทำให้เป็นสมถะก็ได้ คือสงบด้วยการพิจารณา เกสา ในจุดเดียว โลมา ผม ขน เล็บ ฟัน จะพิจารณาอะไรก็ตาม หรือเอาคำใดบริกรรมก็ตาม เป็นอารมณ์แห่งความสงบได้
ทีนี้เวลาจิตมีความสงบแล้ว เอาอันนี้แยกออกเป็นด้านปัญญาทางวิปัสสนาก็ได้ นั่นมันออกไปเรื่อยๆ จากนั้นก็เป็นปัญญาไปเรื่อยแหละ อาการทั้งหมด เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้กลายเป็นหินลับปัญญาไปเรื่อยๆ แต่ก่อนเป็นหินลับจิตให้สงบ เบื้องต้นให้สงบ กล่อมจิตให้สงบ ต่อไปก็เป็นหินลับปัญญาไป ให้พิจารณาทางด้านปัญญา พากันเข้าใจนะเรื่องปัญญา ออกทางปัญญาเป็นอย่างนี้ ออกทางปัญญานี้กว้างขวางมาก สมาธิมีแต่รวมตัวเข้าๆ ไม่กว้างขวางมากนัก แต่ทางด้านปัญญานี้กว้างขวาง ออกไปเท่าไรยิ่งแตกกระจัดกระจาย แตกไปเรื่อยๆ เรื่องปัญญา พิสดารมากทีเดียว ให้พิจารณาทางด้านปัญญาแยกธาตุแยกขันธ์ ป่าช้าผีดิบ
ท่านสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า คือดูป่าช้าตัวเองไม่เห็น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ คือร่างกายมันแตกมันเน่า มันยังไม่แตกมันก็เน่า มันก็เป็นของมันอยู่ภายใน นี่เรียกว่าป่าช้าผีดิบผีสด เราพิจารณานี้ไม่เห็น ท่านจึงสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า ให้ไปดูโน้นแล้วเทียบเข้ามาภายใน พอได้หลักได้เกณฑ์แล้วป่าช้าภายนอกก็ไม่จำเป็น ดูป่าช้าภายในกระจายไปหมด นั่นเรียกว่าปัญญา ก็มีเท่านั้นละ พูดย่อๆ ๆ ไปเสียก่อน แล้วมีอะไรอีกล่ะ
ผู้กำกับ คนที่สี่ ครับ
กราบเท้าพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพ กระผมปฏิบัติธรรมโดยการเฝ้ามองดูความเป็นไปของจิต จิตใจก็มีความเข้าใจตัวเองตามลำดับ แต่เมื่อจะให้จิตหยุดคิดกลับทำไม่ได้ จึงขอกราบเท้าเรียนถาม จะหยุดสภาวะการคิดของจิตควรจะทำอย่างไรดีขอรับ (จาก สุรยุทธ)
หลวงตา ให้บริกรรมซึ่งเป็นความคิดอันหนึ่ง เพื่อระงับความคิดอันหนึ่ง เข้าใจไหม ความคิดอันหนึ่งเป็นความคิดของกิเลส ความคิดอันหนึ่งเป็นความคิดของธรรม เช่น พุทโธ หรือคำบริกรรมคำใดก็ตาม นี้เป็นความคิดเหมือนกัน เป็นสังขารเหมือนกัน แต่เป็นสังขารฝ่ายธรรม ระงับสังขารฝ่ายกิเลสได้ ให้เอานี้ละระงับความคิดปรุง เขาบอกคิดปรุงไม่ใช่เหรอ (เขาบอกเขาปฏิบัติธรรม เฝ้ามองดูความเป็นไปของจิต จิตใจก็มีความเข้าใจตัวเองตามลำดับ แต่เมื่อจะให้จิตหยุดคิดกลับทำไม่ได้) นั่นละมันคิด คือทำไม่ได้มันก็คิดของมันไปเรื่อย ห้ามมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเอาความคิดทางด้านธรรมะตีเข้าไปตรงนั้น ให้คิดแต่คำบริกรรมคำเดียว ไม่ต้องคิดคำอื่น เช่น พุทโธ ก็ได้ ธัมโม หรือสังโฆ อะไรก็ได้ ให้คิดคำเดียว ติดกันๆ ตลอดไปเลย ทับความคิดที่มันหยุดไม่ได้นั่นแหละ ให้เอาความคิดนี้ทับมัน เดี๋ยวมันก็สงบเองความคิดอันนั้น ความคิดของธรรมระงับแล้วเป็นความสงบ ความคิดของกิเลสเป็นความฟุ้งซ่านรำคาญ ให้เอาความคิดของธรรมระงับเข้าไป มีเท่านั้นละ แล้วมันสงบเอง
ผู้กำกับ คนที่ห้า ครับ
กระผมได้ฝึกปฎิบัติมานานพอสมควรแต่ไม่ได้เข้มข้นมากนัก จะเน้นไปในด้านการพิจารณาภาวะจิตเป็นหลัก เช่น ขณะขับรถอยู่แล้วมีคันอื่นแซง ก็จะมองดูจิตตัวเองว่ากระเพื่อมขึ้นด้วยอารมณ์โทสะหรือไม่ บางครั้งก็กำหนดทัน บางทีก็ไม่ทัน ส่วนการปฏิบัติด้านสมถะนั้นจะนั่งเป็นหลัก และกำหนดอานาปานสติตลอดเวลาที่มีโอกาส มาช่วงหลังๆ มีรู้สึกว่าผลจากการกำหนดลมหายใจเข้า-ออกนั้นทำให้มีสติควบคุม กาย และวาจามากขึ้น เกิดความสบายใจมากกว่าแต่ก่อนมาก แต่ที่เจอปัญหาตอนนี้คือ อารมณ์โทสะ จะมาเร็ว และจะหงุดหงิด อยากขอคำแนะนำจากหลวงตาว่า จะอบรมจิตอย่างไรดี ไม่ให้จิตหงุดหงิดรำคาญ อยากให้จิตสงบ ไม่อยากโกรธใคร อยากจะให้จิตของตัวเองเป็นอย่างแผ่นดิน ซึมซับทุกอย่างได้โดยไม่กระเทือน
กราบนมัสการถามหลวงพ่อด้วยความเคารพ ขอหลวงพ่อช่วยชี้ทางให้คนโง่อย่างผมด้วยครับ (จาก ณัฐวุฒิ)
หลวงตา ให้ภาวนาอารมณ์สงบเข้าให้มาก พอจิตมีความสงบบ้างแล้วจิตจะค่อยละเอียดเข้าไป โทสะจึงปรากฏได้ง่าย ทั้งๆ ที่แต่ก่อนโทสะมันมีอยู่แล้วแต่ไม่รู้ เพราะมันมากต่อมากทับเอาจนจะตายว่างั้นเถอะ ทีนี้พอจิตมีความสงบละเอียดเข้าไป โทสะแย็บขึ้นมามันก็รู้ จึงมาว่าโทสะนี้เกิดได้ง่าย ความจริงสติดีขึ้น เข้าใจ เท่านั้นละ เอา ทำใจให้สงบมากเข้า โทสะมีก็ให้รู้ว่ามี
ผู้กำกับ คนสุดท้าย ครับ
ทางวัดอนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดบริจาคเป็นเจ้าภาพก่อสร้างสิ่งหนึ่งให้แก่วัด ผู้ที่เป็นเจ้าภาพต้องการทำบุญแต่เพียงผู้เดียว โดยมิได้บอกบุญผู้อื่น หรือไม่ยินยอมให้ผู้อื่นร่วมทำบุญด้วย โดยมีเหตุผลว่าไม่เหมาะสม ถ้าครูบาอาจารย์ทราบจะตำหนิเอาได้ อยากทราบว่าการกระทำเช่นนี้จะเป็นการปิดกั้นบุญของผู้ที่ต้องการร่วมบุญด้วยจิตศรัทธาหรือไม่
หลวงตา จะว่ากีดกั้นก็ได้ ถ้าไม่กีดกั้นก็เปิดทางให้เขาทำซิ เขาก็อยากได้บุญเหมือนเรา ไปกีดกั้นเขาทำไมทางบุญด้วยกัน มันก็เท่านั้นเอง คนทำบุญต้องมีจิตใจอันกว้างขวาง ไม่คับแคบตีบตัน ถ้าคับแคบตีบตันกิเลสจะเข้าแทรกอยู่ในนั้นแหละ (เป็นการไม่เหมาะไม่ดีใช่ไหมครับ) ไม่เหมาะแหละ กีดกั้นยังไงทางบุญ ใครก็อยากได้บุญ ให้เขาทำไปซิ เอ้า มา ใครจะมาทำบุญกับหลวงตาบัว มีล้านเอามาเลย หลวงตาบัวจะเปิดกว้างรับหมดเลยตลอด ไม่คับแคบละ เท่านี้แหละแก้กัน (ต้องให้เขาเปิดทางบุญ ให้ร่วมสามัคคีกันได้เต็มที่) เออ ใครทำมากทำน้อยก็เป็นของตัวเองๆ ถึงจะรวมกันทำก็ตาม ส่วนของใครของเรามันหากเป็นสัดเป็นส่วนของมันอยู่ในนั้นแหละ อะไรที่จะเสมอภาคยิ่งกว่าธรรม ธรรมไม่เอียง
ผู้กำกับ แล้วเหตุผลที่เขาอ้างว่า โอ๊ย ไม่ได้หรอกเดี๋ยวครูบาอาจารย์จะตำหนิ คล้ายกับว่าครูบาอาจารย์มอบให้เขาทำบุญสิ่งนี้ เขาถึงไม่ยอมให้คนอื่นร่วมบุญ
หลวงตา กลัวครูบาอาจารย์จะตำหนิงั้นเหรอ ลองเอามาให้หลวงตาบัวดูซิหลวงตาบัวจะตำหนิไหม เอามาลองดูซิให้มันเห็นพยานกันนี่ หลวงตาบัวจะตำหนิไหม ถ้าตำหนิก็มีแต่ว่าน้อยไปเท่านั้นเอง มันก็อย่างนั้นจะว่าไง ตำหนิอย่างอื่นไม่เอาละ นี่น้อยไป ไปเอามาอีก จะว่างั้น เหมือนทองคำเข้าคลังหลวงไม่ตำหนิ เอ้า เอามาเลย มาเท่าไรเอามาเถอะ ยกทองคำเป็นต้นเลย หลวงตาบัวจะเอาหมดแหละ มีอะไรว่าไป (จบแล้วครับ) วันนี้แก้แต่ปัญหาก็พอแล้วนะ จะเก้าโมงแล้ว
เราพูดถึงเรื่องภาวนาให้ท่านทั้งหลายได้ฟังทุกคนๆ นะ ให้เอาไปพิจารณานะ จิตเป็นมหาเหตุ จะเบิกกว้างออกนี้นะ เบิกออก จากนี้มันจะกว้างขวางออกไป ทุกสิ่งทุกอย่างจะละเอียดลออ กว้างขวางเรื่อยๆ จิตนี้สำคัญมากทีเดียว พุทธศาสนาจึงสอนลงที่จุดที่แม่นยำที่สุดเลย ลงจุดนี้จะกระจายไปหมดเลย อย่างอื่นไม่กระจาย
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |