เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๙
ต่อสู้เพื่อจิตสมบัติ
เรามาอยู่สถานที่เช่นนี้เป็นสถานที่สงบ ส่วนมากจะปราศจากอารมณ์เครื่องก่อกวนทั้งหลายที่เราเคยเกี่ยวข้องในบ้านในเรือนในสังคมต่างๆ มีอยู่ทั่วไป พอก้าวเข้ามาวัด เราก็ทราบแล้วว่าวัดเป็นอย่างไร ความรู้สึกมันก็คล้อยตามนั้น มันก็เริ่มมีความผาสุกสบาย แล้วเราก็พยายามอบรมจิตใจของเรา ไม่ให้คิดวุ่นวายกับสิ่งภายนอกที่เคยก่อกวน ไม่ให้แบกหามสิ่งเหล่านั้นเข้ามาหอบไว้ในหัวอก ซึ่งเป็นเครื่องก่อกวนหรือทำลายจิตใจให้ชอกช้ำขุ่นมัว เรื่องอะไรที่อยู่นอกวัด อยู่ในบ้านก็ให้มันอยู่ในบ้านเสีย อยู่นอกวัดก็ให้มันอยู่นอกวัด อย่าไปกว้านเข้ามาในวัด กว้านเข้ามาหาตัวของเรา ให้มาก่อกวนวุ่นวายอยู่ภายในจิต มันไม่เกิดประโยชน์ นอกจากนั้นยังเกิดโทษอยู่ภายในจิตของตัวเอง ให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ความทุกข์ความเดือดร้อนนั้นแลท่านเรียกว่าโทษ ไม่ใช่คุณ
เรามาสู่สถานที่เช่นนี้ ให้ต่างคนต่างดูหัวใจเจ้าของ ต่างคนต่างดูใจตัวเอง ใจนั้นละเป็นตัวสำคัญมาก ปกติจะไม่อยู่เป็นสุข มักจะคิดเรื่องนั้นแส่เรื่องนี้ เป็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป เมื่อไม่สังเกตก็ไม่รู้ เรามาสู่สถานที่อบรมนี้ เป็นสถานที่ที่จะสังเกตตัวเอง ท่านเรียกว่าภาวนา ภาวนาคือการอบรมจิตใจของตัว พร่ำสอนจิตใจตัวเอง จะด้วยอุบายวิธีใดก็ตาม หรือด้วยบทบริกรรมภาวนา ให้จิตได้ยึดคำบริกรรมนั้นๆ เป็นอารมณ์ของใจ ใจได้อาศัยอยู่กับอารมณ์นั้นๆ ก็ตาม ท่านเรียกว่าการอบรมหรือเรียกว่าการภาวนา การคิดในแง่ทั้งสอง หรือการกระทำในทั้งสองประเภทนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบสุขภายในจิตใจ และเป็นไปเพื่ออุบายแยบคาย เพราะความคิดความไตร่ตรองโดยทางสติปัญญา
ใจเมื่อมีงานทำซึ่งเป็นงานที่ถูกตามหลักภาวนาที่ท่านสอนไว้ ใจย่อมจะได้รับความร่มเย็น เท่าที่ใจไม่ร่มเย็น ใจมีความเดือดร้อน เพราะนำสิ่งที่จะให้เกิดความเดือดร้อนเข้ามาคิดมาปรุง มายุ่งมากวนตัวเอง ถ้าสิ่งเหล่านี้ยังเข้ามายุ่งมากวนตัวเองอยู่ตราบใด เราจะหวังความผาสุกสบายจากจิตนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องพยายามหักห้ามอันเป็นทางที่ถูก แล้วเร่งทางจิตตภาวนาคือการบังคับบัญชาจิตใจของตน
ยากลำบากเราก็ทนเอา เพราะทนเพื่อประโยชน์สำหรับใจ ไม่มีใครที่จะได้อย่างง่ายดาย นอกจากประเภทที่ว่า อุคฆฏิตัญญู ที่พร้อมแล้วที่จะรู้จะเห็นธรรมทั้งหลาย เรียกว่ากิเลสยังมีเหลือเพียงเล็กน้อย พอได้ทราบอุบายวิธีจากพระพุทธเจ้าก็บรรลุธรรมในไม่ช้า ท่านเหล่านี้หากจะเทียบถึงเรื่องความทุกข์ความลำบาก การฝึกฝนทรมานก็ไม่ได้ใช้กำลังวังชา สติปัญญา หรือความบึกบึนมากมายเหมือนผู้ที่มีระดับต่ำยิ่งกว่านั้น เพราะท่านพร้อมที่จะรู้แล้ว ท่านจึงเทียบเหมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำแล้ว พอได้รับแสงพระอาทิตย์เท่านั้นก็แย้มบาน
อันนี้เราทั้งหลายไม่ใช่คนประเภทนั้น เราจะไปทำแบบคนประเภทนั้น ผู้มีอุปนิสัยอย่างนั้น มันก็ขัดกัน เช่นอย่างไม้บางชิ้นสำเร็จรูปมาหมดแล้ว มีแต่จะไสกบอย่างเดียว เขาก็ไสกบให้เกลี้ยงเกลาไปเลย ไม้บางประเภทยังต้องตัดต้องถาก ต้องฟัน ดัดทางโน้นดัดทางนี้ กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เราก็ต้องทำอย่างนั้น เราจะเอากบไปไสไม้ประเภทนั้น มันขัดกัน และไม้ประเภทที่ควรไสกบเราจะไปตัดไปฟันมันก็ขัดกันอีก ไม้ที่ไม่ควรจะไสกบเราเอากบไปไสมันก็ขัดกัน
เพราะฉะนั้นการจะไสกบหรือการจะถาก ต้องดูรูปของไม้ว่าควรจะทำโดยอาการใด วิธีใด เราก็เป็นเหมือนไม้ประเภทหนึ่งๆ ถ้ายังไม่ใช่ขั้นประเภทที่จะไสกบเอาเลย ได้แก่ทำเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็รู้เหตุรู้ผลไปเลยอย่างนั้น เราก็ต้องมีอุบายวิธีหนักลงกว่านั้น คืออาจเป็นไม้ประเภทที่ต้องถากต้องฟันให้หนักมือบ้าง เราก็ต้องมีการทำอย่างหนักมือบ้าง มีการฝ่าฝืนกัน การอดการทน การกดขี่บังคับจิตใจตัวเอง
จิตใจนั้นมีสิ่งหนึ่งที่พยายามผลักดันหรือฉุดลากไป ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายต่างๆ แล้วก็มีอีกอันหนึ่งที่เหนือความเป็นเช่นนั้น ได้แก่สติกับปัญญา และความพากเพียร ที่จะต้องฝืนหรือต้านทาน กดขี่บังคับจิตที่ชอบคิดเช่นนั้น ให้เข้าสู่วงของสติปัญญาผู้ควบคุม ให้อยู่ในอำนาจของสติปัญญาคอยเข้มงวดกวดขันตัวเองเสมอ หลายครั้งหลายหน ความดื้อด้านของจิต ความชอบคิดแส่นั้นยุ่งนี้ของจิตก็ค่อยเบาลงไป เพราะอำนาจของการกดขี่บังคับ การต้านทาน อำนาจของสติปัญญา ซักไซ้ไล่เลียง ซักซ้อมกัน มันก็ค่อยยอมลงไปโดยลำดับ
ถึงจะยากบ้าง ก็เหมือนเราถากไม้เพื่อจะทำต้นทำเสาบ้านเสาเรือน มันก็ยากบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องทนเพราะเหตุผลบังคับให้ทน อันนี้เราจะทำจิตใจของเราเพื่อให้เป็นที่ร่มเย็นเป็นสุขแก่ตนเอง ซึ่งเปรียบกับเราจะปลูกบ้านอยู่อาศัย เพื่อความผาสุกสบายในอิริยาบถต่างๆ ของเรา เราก็ต้องฝืนต่อสิ่งที่จะมาทำลายบ้านของเรา ที่เราจะอาศัยให้เป็นความสุขขึ้นมา ได้แก่การอบรมธรรมะให้เป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่สบายภายในจิตใจ เมื่อมีสิ่งใดเข้ามายุแหย่ก่อกวนหรือมาทำลาย มากีดขวาง เราก็ต้องพยายามต่อสู้กับสิ่งกีดขวาง สิ่งต้านทานที่เห็นว่าไม่ดีนั้น มากน้อยตามแต่เหตุการณ์นั้นๆ ที่เกิดขึ้นมามากน้อย มีมากก็ต้องต่อสู้กันมาก เอาเป็นเอาตายเข้าว่าเราก็ยอม เพื่อนำของดีคือจิตนี้ให้เข้ามาสู่ในวงของธรรม มีสติปัญญาเป็นผู้ควบคุมรักษา
เราทุกคนมีเจ้าของ เราเป็นเจ้าของของเรา ตัวของเรามีคุณค่ามาก ไม่มีอันใดที่จะมีคุณค่ามากยิ่งกว่าตัวของเรา เฉพาะอย่างยิ่งคือใจ ใจเป็นสมบัติอันสำคัญสำหรับเราทุกคน แต่ใจถูกอะไรบ้างที่มาทำลายมาก่อกวนอยู่เสมอ จนตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ เราผู้เป็นเจ้าของจึงต้องเข้มงวดกวดขันระมัดระวังต่อสู้ต้านทานกับสิ่งที่เป็นมาร สิ่งที่เป็นภัยต่อจิตใจของเรา ด้วยวิธีการต่างๆ หนักบ้างเบาบ้าง เป็นหน้าที่ของเราจะต้องสู้ต้องอดต้องทน เพื่อสมบัติคือจิตให้อยู่ในครอบครองของเรา นักปราชญ์ทั้งหลายท่านดำเนินมาอย่างนั้น ท่านไม่ได้ปล่อยตามยถากรรม
เพราะเราไม่ใช่เป็นคนประเภทยถากรรมซึ่งควรจะปล่อยอย่างนั้น สติเราก็มีพอระลึกรู้ว่าผิดว่าถูก ปัญญาเราก็มีพอคิดพออ่านว่าจะปฏิบัติอย่างไรแก้ไขอย่างไร นอกจากนั้นอรรถธรรมเราก็เคยได้ยินได้ฟังจากครูจากอาจารย์ตามตำรับตำรา ซึ่งพอที่จะเป็นกำลังช่วยส่งเสริมความรู้ความฉลาดหรืออุบายต่างๆ ให้เราได้ดำเนินงานต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งกำลังมาแย่งชิงเอาจิตอันเป็นสมบัติสำคัญนี้ไปจากตัวของเรา เราต้องพยายามต่อสู้เพื่อจิตสมบัตินี้ได้เป็นของเรา อยู่ในความคุ้มครองของสติปัญญา เราจะได้มีความผาสุก
ใจเป็นของมีเจ้าของ มีสติปัญญาเป็นผู้รับผิดชอบ เราไม่ควรปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ความปล่อยเป็นไปตามยถากรรมนั้นไม่มีผลดีอันใดที่จะเกิดขึ้น นอกจากจะเพิ่มความเดือดร้อนเสียหายไปโดยลำดับเท่านั้น เมื่อเราทราบชัดแล้วเช่นนี้ เราจึงไม่ควรที่จะปล่อยใจให้เป็นเช่นนั้น สู้กันจนถึงเหตุถึงผล ถึงเป็นถึงตายก็สู้ เมื่อถึงกาลที่จะสู้เพื่อความดีสำหรับตน นักปราชญ์ทั้งหลายท่านเคยทำอย่างนั้น ท่านเคยสู้อย่างนั้น ท่านจึงได้นำอุบายวิธีการต่อสู้ต่างๆ กับสิ่งทั้งหลายที่ไม่ดี มาสั่งสอนพวกเรา โดยที่ท่านเคยดำเนินและได้ผลมาแล้ว จึงได้นำมาสั่งสอนโลก
ในธรรมที่ว่าไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ล้วนแล้วตั้งแต่อุบายวิธีที่จะตามยื้อแย่งเอาจิตกลับมาจากสิ่งไม่ดี คือสิ่งที่ต่ำทรามทั้งหลายทั้งนั้น และองค์ไหนที่จะได้อยู่สบายๆ มีจำนวนน้อยมาก พันคนจะมีสักรายหนึ่งก็ทั้งยาก ที่ว่าประเภทอุคฆฏิตัญญู พอได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้วยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน บรรลุธรรมขึ้นมาถึงวิมุตติหลุดพ้นไปอย่างนี้นั้น ในจำนวนพันคนจะเอาสักหนึ่งคนก็ทั้งยากแล้ว นอกนั้นเป็นประเภทที่จะต้องถากต้องฟันกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ เราก็เป็นผู้หนึ่งในจำนวนคนทั้งหลายนี้ เพราะฉะนั้นการดำเนินของเรา เราจึงควรดำเนินแบบนักปราชญ์ทั้งหลายท่านดำเนินกัน ในประเภทที่ว่าลดจากอุคฆฏิตัญญูลงมา
บางองค์ท่านทำความเพียร เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก นั่นฟังซิ เดินขนาดไหนฝ่าเท้าถึงได้แตก ถ้าเดินธรรมดาแล้วจะไม่แตก ต้องเลยธรรมดา คำว่าเลยธรรมดานี้ ความเพียรก็ต้องเลยธรรมดา การฝ่าฝืนการอดทน การต่อสู้ทุกแง่ทุกมุมระหว่างกิเลสกับสติปัญญาศรัทธาความเพียรต้องเต็มภูมิ ต้องเลยธรรมดา ถ้าธรรมดาแล้วฝ่าเท้าจะไม่แตก และบางองค์ก็ไม่หลับไม่นอนจนจักษุแตก เช่นอย่างพระจักขุบาลเป็นต้น ขณะจักขุแตก บอด ตาในก็สว่างจ้าขึ้นมา คือตาธรรม ประทีปดวงธรรมปรากฏขึ้นภายในจิตใจ เราคิดดู เอามาเทียบเคียงกับพวกเรา นั่นท่านลำบากหรือไม่ลำบาก ขนาดตาแตกไม่ลำบากมีหรือคนเรา อดทนอย่างยิ่ง ฝ่าฝืนกับสิ่งต่ำหรือต่อสู้กับฝ่ายต่ำอย่างยิ่ง ขนาดจักขุบอดก็มี เราคิดดู
บรรดาพระสาวกที่บำเพ็ญมา และพุทธบริษัททั้งหลายบำเพ็ญมา ก็ต้องฝ่าความลำบากลำบนมาเช่นเดียวกันกับพวกเราที่ดำเนินอยู่เวลานี้ เพราะเรื่องของกิเลสนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะแก้ได้อย่างง่ายดาย เป็นเรื่องที่เหนียวแน่นแก่นสำคัญที่สุดก็คือกิเลสทุกๆ ประเภท ซึ่งจะต้องทุ่มเทกำลังเต็มความสามารถ ฉลาดรู้ทุกแง่ทุกมุมพอที่จะแก้ไขมันได้ มันถึงจะหลุดลอยลงไปตามอำนาจของสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรที่เหนือมัน แล้วรายไหนที่จะได้รับความสะดวกสบายไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องประกอบความพากเพียรความอดทนอะไรต่างๆ นี้ พันคนก็หาได้ยาก จะมีสักคนหนึ่งก็ยังทั้งยาก คิดดู เมื่อได้รับความลำบากลำบนขึ้นมาให้พึงเทียบอย่างนี้ เพื่อเป็นสักขีพยานหรือเป็นกำลังใจของเรา
อันเรื่องมรรคผลนิพพานนั้นพร้อมอยู่แล้วด้วยกัน เพราะเป็นความจริงอยู่กับใจ ขอให้พยายามขุดค้นลงไปตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนเถิด เช่นความเพียรพยายามเป็นต้น นี้แลเป็นทางที่จะให้ถึงธรรมโดยลำดับ หากเกิดความท้อแท้อ่อนแอขึ้นมาก็พึงยึด พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ มาเป็นคติตัวอย่าง ว่าพระองค์ท่านลำบากแค่ไหนก่อนจะได้ตรัสรู้ธรรม สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ บรรดาพระสงฆ์สาวกที่ออกมาจากสกุลต่างๆ ไปบำเพ็ญพรตอยู่ในที่ลำบากลำบน โคนต้นไม้ ภูเขา ชายเขา ในป่าที่เปลี่ยวๆ เหล่านั้น ท่านจะได้รับความทุกข์ความลำบากแค่ไหน คิดดู เราอย่าเข้าใจว่ามีความลำบากเพียงเรา ซึ่งทำความพากเพียรเพียงเท่านี้เลย เมื่อเราคิดอย่างนี้มันก็เป็นคติ เป็นเครื่องหนุนกำลังใจของเราให้มีความแกล้วกล้าอาจหาญขึ้นมา ความจริงคือธรรมอันประเสริฐนั้น ย่อมจะปรากฏไปได้โดยลำดับ เพราะความเพียรดังที่กล่าวมานี้ ไม่หนีความจริงไปได้
ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมลงในมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นเครื่องมืออันเหมาะสม และทันกับกิเลสทุกประเภทอย่างยิ่งที่ควรจะนำมาแก้ได้ ให้หลุดลอยไปจากจิตใจเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล ไม่มีธรรมะข้อไหนที่จะลดหย่อนอ่อนกำลังไม่สามารถจะแก้กิเลสได้เหมือนครั้งโน้น เป็นธรรมที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา หากจะอ่อนแอก็คือผู้ดำเนินงาน คือพวกเรานี้เท่านั้นเป็นผู้อ่อนแอ ส่วนธรรมท่านไม่อ่อนแอ ฉะนั้นจึงควรฟิตตัวของเราขึ้น ให้เป็นผู้เหมาะสมกับเครื่องมือที่พระองค์ท่านประทานให้แล้วด้วยพระเมตตาบริสุทธิ์สุดส่วน แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ ผลที่จะพึงได้รับจะไม่ผิดแปลกอะไรจากครั้งพุทธกาลนั้นเลย
เพราะครั้งโน้นกับครั้งนี้กิเลสเป็นประเภทเดียวกัน ความโลภ ความโกรธ ความหลงเคยมีอยู่กับบรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในครั้งโน้น กับมีอยู่กับบรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในครั้งนี้เป็นประเภทเดียวกัน จะพึงหมดสิ้นไปจากจิตใจหรือเบาบางลงไปด้วยธรรมประเภทเดียวกัน คือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่มีธรรมใดมี่จะเหมาะสมอย่างยิ่งในการแก้กิเลส และทำให้กิเลสอ่อนตัวลงไปนอกจากธรรมที่กล่าวนี้
เวลานี้เราก็จำได้ทุกคน สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป หมายถึงความเฉลียวฉลาด อุบายต่างๆ ของสติของปัญญา ที่จะพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ทันกับเหตุการณ์คือกิเลสมันก่อตัวขึ้นมาด้วยอาการใด สติปัญญาก็ให้ทันมัน สรุปสุดท้าย สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็บอกว่า สติๆ เป็นสำคัญ เมื่อมีสติแล้วจิตใจจะมีความมั่นคงต่อหน้าที่การงานทั้งหลาย เต็มเม็ดเต็มหน่วยในการทำงาน แล้วผลจะปรากฏขึ้นเป็นความมั่นคงภายในจิตใจ
สอนครั้งโน้นท่านก็สอนแบบนี้ เพราะกิเลสครั้งโน้นกับครั้งนี้เหมือนกัน พวกเราปฏิบัติไม่ได้กำหนดว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย นักบวช หรือฆราวาส กิเลสมันไม่ได้เป็นหญิงเป็นชายเป็นนักบวช เป็นฆราวาส มันเป็นกิเลสเต็มตัวของมัน การนำธรรมะเข้าไปแก้เมื่อถูกตามพระโอวาทที่ทรงสอนไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหญิง เป็นชาย เป็นนักบวช หรือฆราวาส เป็นผู้แก้กิเลส กิเลสย่อมหลุดลอยไปได้ด้วยเครื่องมือคือธรรม มีมัชฌิมาปฏิปทาเป็นต้น จะไม่นอกเหนือไปจากธรรมเหล่านี้ได้เลย
ท่านสอนว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ให้ตนเป็นที่พึ่งของตน เพราะปกติเรามักจะหวังพึ่งผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ตามนิสัยของมนุษย์เราเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ไม่ว่านักบวช ฆราวาส เด็กหรือผู้ใหญ่ แม้ที่สุดเฒ่าแก่ชรามาแล้วก็ยังต้องหวังพึ่งผู้อื่นอยู่เสมอตามนิสัยมันเคยเป็นมาอย่างนั้น พระองค์ประทานพระโอวาทไว้ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ให้ตนเป็นที่พึ่งของตน เมื่อได้รับโอวาทจากครูจากอาจารย์ หรือได้ศึกษาเล่าเรียนจากตำรับตำราแล้ว ให้นำโอวาทหรือคำสั่งสอนเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือต่อสู้กับสิ่งที่เป็นข้าศึกภายในตัวของเรา โดยความหวังพึ่งเป็นพึ่งตายกับธรรมเหล่านี้ ไม่ต้องไปหวังพึ่งผู้ใดในขณะที่ประกอบความพากเพียร นั่นละ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
ยิ่งเวลาจนตรอกจนมุมด้วยแล้ว สติกับปัญญามันเข้าประชิดกัน เป็นกับตายก็เรา ไม่มีใครที่จะช่วยเหลือเราได้แล้วเวลานี้ นั้นแหละคนเราจะเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ของตนขึ้นอย่างชัดเจนก็เวลาจนตรอกจนมุม แต่เราไม่อยากให้ถึงขั้นนั้นแล้วค่อยเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ อยากให้เป็นไปโดยลำดับ ให้พยายามพึ่งตัวเองด้วยอำนาจแห่งความพากเพียรไปโดยลำดับ จนถึงกับความพึ่งตนเองได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือเต็มขั้นเต็มภูมิ การฟังครูบาอาจารย์นั้นก็เป็นประเภทหนึ่ง เพื่อจะนำอุบายเข้ามาช่วยตัวเอง อันเป็นลักษณะของความพึ่งตัวเอง
ความดีความสุขความสบายมีอยู่กับทุกคน ถ้าเราพยายามทำตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เราจะเจอความสงบเย็นใจไปโดยลำดับ ความแปลกประหลาดก็คือใจจะเป็นผู้แสดงอาการอันแปลกขึ้นมาเมื่อได้รับการรื้อฟื้น ได้รับการถอดถอนสิ่งที่กดขี่บังคับจิตใจให้หมอบ หรือให้เสือกคลานอยู่ตลอดเวลาออกมาได้โดยลำดับ จิตจะแสดงความเป็นอิสระขึ้นมา ความเป็นอิสระของจิตไม่เหมือนอะไรเป็นอิสระ แต่จะแฝงขึ้นมาด้วยความแปลกประหลาดอัศจรรย์ พร้อมกับความสุขที่เกิดขึ้นโดยลำดับตามกำลังแห่งจิตที่มีอำนาจขึ้นมา ด้วยอำนาจแห่งความเพียรคือสติปัญญาเป็นเครื่องแก้ไข
ความสุขที่เราพึงหวังที่โน่นที่นี่ กาลโน้นสมัยนี้ หรือที่โน่นจะมีความสุข ที่นี่จะมีความสุข นั้นมันวาดภาพหลอกเจ้าของ ให้กำหนดลงที่ใจซึ่งกำลังเป็นความทุกข์ความลำบาก หรือสร้างความกังวลให้แก่ตนอยู่เวลานี้ด้วยสติปัญญา ด้วยความอดความทนต่อสู้ โดยถือจุดนั้นเป็นจุดพิจารณา หรือเป็นสนามรบเป็นชัยสมรภูมิ หรือเป็นเวที มันยุ่งขึ้นที่ตรงไหน จะดูความยุ่งอันนี้ ให้รู้ที่นี่ ถ้ายังไม่มีกำลังพอ เอาพุทโธตั้งไว้ที่ตรงมันยุ่งๆ นั้นถี่ยิบเข้าไปความยุ่งนั้นก็หาย ความยุ่งวุ่นวายก็หายไปเพราะอำนาจแห่งคำบริกรรมถี่ยิบในงานอันเดียว ในคำบริกรรมอันเดียว จะเป็นพลังขึ้นมาแล้วเป็นความสงบสุขได้ในเวลานั้น ยิ้มแย้มได้ในขณะนั้นทีเดียว ให้พยายามดัดแปลงตนเอง ให้เราพึ่งตัวของเราได้
เราอย่าไปหวังพึ่งใครมากยิ่งกว่าการพึ่งตัวเอง เราเคยพึ่งผู้อื่นมานาน เป็นเด็กก็พึ่งพ่อพึ่งแม่ พี่เลี้ยงนางนม เติบโตขึ้นมาก็พึ่งคนนั้นคนนี้ พึ่งมาเรื่อยๆ จากนั้นก็มาวัดมาวาฟังธรรมจำศีลก็พึ่งครูพึ่งอาจารย์ แล้วมันยังหวังพึ่งไปเรื่อยๆ เวลาจะเป็นจะตายก็จะพึ่งคนนั้นพึ่งคนนี้ ตอนนั้นละจะพึ่งไม่ได้ เราต้องสร้างที่พึ่งไว้เสียแต่บัดนี้ให้เป็นที่พึ่งได้ เป็นที่แน่ใจภายในจิตใจของเราแล้ว ก็ปล่อยวางในการที่จะพึ่งใครๆ ทั้งหมด เป็นเอกสิทธิ์หรือเป็นอิสระภายในตนเอง ไปอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส ท่านเรียกว่า สุคโต ไปดีไปอย่างสะดวกสบาย ไม่มีความกังวลวุ่นวายกับสิ่งใด เพราะได้แก้แล้ว แล้วเข้าอยู่ในหลักว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ควรแก่ตนเป็นที่พึ่งของตนได้แล้ว หรือควรแก่ความเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างเอกแล้ว นั้นยิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งใดทั้งหมด
แม้ที่สุดธาตุขันธ์มันกำลังจะแตกกระจายอยู่นั้นก็ดูได้อย่างถนัดชัดเจนว่า นี่ความประชุมแห่งธาตุแห่งขันธ์อันเป็นกองสมมุตินี้มันกำลังจะกระจายจากกัน กำลังจะแตกสามัคคีกัน มันรวมกันเป็นก้อนมานี้ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งถึงบัดนี้ วันนี้มันกำลังจะแตกให้เราเห็นอย่างชัดเจนเช่นนี้ แต่จิตใจเราไม่ได้ว้าวุ่นขุ่นมัวไปกับความแตกของธาตุของขันธ์อันเป็นส่วนสมมุตินี้ เพราะจิตเป็นจิต จิตไม่ใช่ธาตุไม่ใช่ขันธ์ ไม่ใช่ดินน้ำลมไฟ จิตเป็นจิต ธรรมเป็นธรรม ธรรมกับจิตเป็นอันเดียวกัน อะไรจะแตกอะไรจะดับไม่มีใครที่จะรู้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่าจิต
จิตนี้เป็นนักรู้ รู้มาตลอดเวลา ไม่เคยละความรู้ ยิ่งได้มีการอบรมส่งเสริมจิตใจโดยทางสติปัญญาด้วยแล้วก็ยิ่งมีความเฉลียวฉลาดรอบตัว ทันกับกาลเวลา นี่เรียกว่าสร้าง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ขึ้นอย่างเต็มที่ อะไรจะแตกก็แตกไป จิตเป็นจิต เราเป็นเรา หมายถึงจิตนั้นเอง ไม่ได้หวังพึ่งพิงอะไรอีกแล้วกับสิ่งเหล่านี้ เราเป็นเรา เราเป็นอิสระ อันนี้จะแตกไปเราก็ไม่ได้แตก อันนี้จะฉิบหายลงไปไหน ธรรมชาติของเราแท้ก็ไม่ฉิบหาย ไม่วิตกวิจารณ์กับสิ่งที่รวมกันที่เรียกว่าก้อนกาย จะสลายตัวลงไปแบบไหนลักษณะใดก็ไม่มีปัญหา นั่นแลท่านเรียกว่าสุคโต อยู่ก็สุคโต ไปก็สุคโต ด้วยอำนาจแห่งความดีที่เราฝึกฝนจิตใจของเราให้เป็นที่พึ่งของตนได้
สารคุณอันสำคัญก็อยู่ที่ตรงนี้ ไม่อยู่ที่วาดภาพไปโน้นไปนี้ ว่านั้นจะเป็นความสุข นี้จะเป็นความสบาย อันนั้นมันหลอกเราต่างหาก ความจริงแท้ๆ อยู่ที่ตรงนี้ ผู้ที่หลอกก็คือใจนี่มันหลอกไปโน้นไปนี้ ครั้นไปตามมันแล้วก็ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร มันก็หลอกไปเรื่อยๆ เราก็เชื่อมันเรื่อยไม่เคยเห็นโทษของมัน จึงพยายามพิจารณาจุดที่มันหลอกได้แก่จิตเป็นผู้หลอกมันปรุงมันแต่งเรื่องต่างๆ ขึ้นมา เอาสติปัญญาจับเข้าไปตรงนั้นมันก็รู้เรื่องเหตุเรื่องผลแล้วมีทางแก้ไขดัดแปลงกัน แล้วก็ค่อยอ่อนลงไปๆ ภัยทั้งหลายก็ไม่เกิด เมื่อไม่มีภัยรบกวนใจก็สบาย ใจก็ผ่องใสเหมือนน้ำที่ไม่มีสิ่งรบกวนก็ใสสะอาดปราศจากมลทิน
รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ |