ความดีนี้ลบไม่สูญ
วันที่ 4 กันยายน 2519 ความยาว 30.05 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๙

ความดีนี้ลบไม่สูญ

ในหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตํ กรรมเป็นเครื่องจำแนกแจกบรรดาสัตว์ทั้งหลายให้มีความประณีตเลวทรามต่างกัน นี่เป็นหลักตายตัวที่จะแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ คำว่า กรรม ก็หมายถึงสิ่งที่บรรดาสัตว์ทำไว้แล้ว กลายเป็นวิบากขึ้นมาภายในจิตซึ่งเป็นผู้กระทำ แล้วสถานที่เกิดสถานที่อยู่และสิ้นไปแห่งกรรมทั้งหลาย ดีชั่วต่างๆ ก็มีอยู่ในจิตแห่งเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแห่งอื่นเป็นที่ผลิตที่ทำ เป็นที่สถิตของผลที่ทำขึ้นทั้งดีและชั่ว แล้วเป็นที่สิ้นไป มีจิตดวงเดียว

คำว่าที่เกิดที่ผลิตก็ได้แก่ ความคิดขึ้นในเบื้องต้น ขณะที่คิดท่านก็เรียกว่ากรรม คือมโนกรรม อันดับที่สองก็แสดงออกมาทางกายหรือทางวาจา ซึ่งรับช่วงออกมาจากใจ แต่จะเป็นระยะใดก็ตาม ผลที่ทำนั้นจะต้องออกมาจากใจและเข้าอยู่ที่ใจ เรียกว่าเป็นที่สถิต เวลาสิ้นสุดกันก็สิ้นสุดลงที่ใจ นี่เป็นความถูกต้องตายตัวแห่งศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงสอนไว้แบบเดียวกันหมด เพราะทรงรู้ทรงเห็นแบบเดียวกัน ศาสนาจึงสอนเรื่องกรรมเป็นสำคัญ เพราะกรรมเป็นต้นเหตุแห่งวิบากดีชั่วต่างๆ ที่จะพึงเป็นไปในอันดับต่อไป ท่านให้ระมัดระวังเรื่องการกระทำ

อันหนึ่งท่านก็สอนว่า กมฺมสฺสโกมฺหิ กมฺมทายาโท กมฺมโยนิ กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ ยํ กมฺมํ กริสฺสามิ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ ก็มีลักษณะเดียวกัน คือมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมเป็นผู้ให้ผล ท่านก็บอกอย่างนี้ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือเป็นความสืบเนื่องไปโดยลำดับ เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะต้องได้รับ เป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างนี้ สถานที่เกิดขึ้นแห่งกรรมหรือที่ผลิตแห่งกรรมก็ได้แก่ใจ เพราะฉะนั้นใจจึงควรได้รับการอบรมให้รู้วิธีการต่างๆ ที่จะพึงรักษาตัว หลบหลีกปลีกตัวจากสิ่งที่เป็นภัยอันจะพึงทำขึ้นด้วยตัวเอง เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ

บรรดาสัตว์โลกไม่ว่ามนุษย์และสัตว์ เป็นผู้มีกรรมในลักษณะนี้เช่นเดียวกันหมด มีดีชั่วต่างๆ อยู่ภายในจิต ในขณะที่รูปร่างเปลี่ยนแปลงไปนั้น กรรมหรือวิบากแห่งกรรม ซึ่งมีอยู่ภายในจิตของสัตว์ก็ย่อมเป็นของมีอยู่เช่นนั้น เปลี่ยนแปลงไปแต่สภาพ เช่น คนหนึ่งเป็นมนุษย์ คนหนึ่งเป็นสัตว์ คนหนึ่งเป็นสัตว์ชนิดนั้นๆ เป็นไปตามกาล ไปตามจังหวะของกรรมที่จะให้ผลตามลำดับลำดา สุดท้ายก็เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกัน อาจกลับมาเป็นมนุษย์อีกก็ได้ เป็นเทวบุตรเทวดาก็ได้ หรือต่ำลงไปยิ่งกว่านั้นก็ได้ เพราะการทำกรรมทำลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ได้สม่ำเสมอ จะทำดีหรือทำชั่วมันก็ลุ่มๆ ดอนๆ การให้ผลจึงเป็นลุ่มๆ ดอนๆ

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพที่เราเห็นได้ชัด เช่นอย่างรูปกายนี้มันก็เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น เป็นสัตว์ เป็นบุคคล นี่เป็นวิถีทางเดินของวัฏสงสาร คือวัฏฏจิตที่ยังท่องเที่ยวหมุนเวียนอยู่ในภพในชาติ คือความเกิดความตาย ต้องหมุนตัวไปอยู่เช่นนั้น ส่วนเจ้าตัวจะทราบหรือไม่ทราบว่าได้ทำอะไรไว้ ถึงต้องมาเป็นเช่นนี้ๆ จะทราบหรือไม่ทราบไม่สำคัญ สำคัญเรื่องของกรรมต้องเป็นกรรม เรื่องวิบากต้องมีวิบากหมุนตัวไปตามลำดับ ตามความจริงของตน ผู้ที่จะทราบได้ก็คือพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลกทั้งหลาย นอกจากนั้นก็พระอรหันต์จะทราบได้ตามกำลังแห่งความสามารถของตนมากน้อย ไม่ได้เป็นโลกวิทูอย่างเต็มภูมิเหมือนพระพุทธเจ้า

ส่วนพระพุทธเจ้านั้นไม่มีทางสงสัย สามารถทราบได้กี่ภพกี่ชาติของสัตว์ประเภทนั้นๆ ยังทรงทราบได้อีกเกี่ยวกับเรื่องอนาคต เรายกเป็นอุทาหรณ์มาเพียงย่อๆ เช่นอย่าง สันตติมหาอำมาตย์ ขณะที่กำลังเมาสุราอยู่บนคอช้าง ทั้งขับทั้งรำทั้งฟ้อนทั้งอะไร รื่นเริงบันเทิงด้วยความมึนเมาของตน ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตผ่านไป ทรงทอดพระเนตร แล้วก็รับสั่งกับพระอานนท์ว่า นี่ดูซิ อานนท์ ขณะนี้เขากำลังเพลิดเพลินรื่นเริง รื่นเริงนี้รื่นเริงด้วยความเมาสุรา แล้วตอนบ่ายวันนี้ เขาจะเกิดความโศกเศร้าโศกาอาลัย แล้วสละจากความเป็นฆราวาสไปบวชในศาสนา และได้บรรลุธรรมในวันนี้ นี่ทรงทราบถึงเรื่องอนาคต

แล้วสันตติมหาอำมาตย์ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ หลังจากนั้นภรรยาก็เสีย ตายแบบปุบปับปัจจุบันว่าอย่างนั้นตามตำรา ถ้าจำไม่ผิด ไอ้เรื่องความจำมันก็ไม่แน่นะ แล้วเกิดความเสียใจเต็มกำลัง จะหาใครเป็นผู้แก้ความทุกข์ความทรมานจิตใจนี้ไม่ได้ ก็มีผู้แนะให้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามหรือสดับธรรมจากพระองค์ อาจจะบรรเทาความทุกข์ร้อนทั้งหลายเหล่านี้ได้ หรืออาจจะดับความทุกข์นี้ได้ คนเราเมื่อจนตรอก ก็ต้องวิ่งหาที่พึ่งเป็นธรรมดา ตอนที่ไม่จนตรอกก็ไม่สนใจ นี่คือเวลาจนตรอก สันตติมหาอำมาตย์ก็วิ่งเข้าไปถึงพระพุทธเจ้า ทูลเรื่องราวให้พระองค์ทราบ ก็ประทานพระโอวาทและได้สำเร็จมรรคผลนิพพานในเวลานั้น คือเป็นพระอรหันต์ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บวชเลย นี่เรื่องอนาคตก็ทรงทราบได้อย่างนี้ เราพิจารณาซิเรื่องพระญาณของพระพุทธเจ้า

ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เอกนามกึ คืออะไร หนึ่งไม่มีสองนั้นคืออะไร หนึ่งไม่มีสองก็คือว่า บรรดาสัตว์โลกนี้ ไม่ว่าสัตว์ประเภทใด การกินต้องมาที่หนึ่ง แม้จะอยู่ในท้อง คือเมื่อตกคลอดออกมาก็ดูดนมแม่แล้ว และจากนั้นจะเป็นอะไรเรื่อยไปโดยลำดับ นี่เป็น เอกนามกึ อันหนึ่ง สัตว์โลกหลีกเลี่ยงไม่ได้เรื่องการกิน จึงต้องมาเป็นที่หนึ่ง

อีกอันหนึ่งคืออะไร เอกนามกึ ประเภทหนึ่งคืออะไร คือพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นมาแต่ละครั้งๆ นี้ จะไม่มีครั้งละสองพระองค์เลย มีครั้งละหนึ่งพระองค์เท่านั้น ไม่มีสอง ไม่มีคู่ ไม่มีคู่แข่ง หรืออะไรก็แล้วแต่เราจะพูด เรียกว่ามีอันเดียว มีพระองค์เดียวเท่านั้น เอกนามกึ

ประการที่สาม คือพระญาณที่ทรงหยั่งทราบเหตุการณ์ต่างๆ นั้น ไม่มีสอง เมื่อทรงหยั่งทราบอย่างไรต้องเป็นความจริงตามความหยั่งทราบแล้วทุกสิ่ง รับสั่งออกมาด้วยความถูกต้องแม่นยำ ไม่มีเคลื่อนคลาดแม้นิดหนึ่งเลย บรรดาพระปรีชาญาณของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เป็นเหมือนกันนี้หมด นี่ก็เรียกว่า เอกนามกึ หนึ่งไม่มีสอง คือไม่มีผิดพลาดไปเลย เพราะฉะนั้นธรรมะที่ประทานไว้สำหรับสัตว์โลก จึงเป็นธรรมะในประเภทเอกนามกึ มีความถูกต้องโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีสองกับความจอมปลอมหรือผิดพลาดมาแทรกแม้แต่น้อยเลย

ที่อาจจะผิดพลาดไปบ้างนั้น ก็เกี่ยวกับเรื่องผู้ที่สืบทอดธรรมะนั้นๆ มา เมื่อกาลเวลาผ่านมานานก็ย่อมลบๆ เลือนๆ ไป นี่อาจจะผิดพลาดไป แต่ไม่ได้ผิดพลาดจากพระพุทธเจ้า มีความเคลื่อนคลาดลบเลือนไปตามวิสัยของคนที่มีความสามารถต่างกันกับพระพุทธเจ้า สำหรับพระอรหันต์นั้น ท่านแสดงออกมากน้อยเพียงไรก็เป็นความจริง แม้จะไม่กว้างขวางเหมือนพระพุทธเจ้า ก็เป็นความถูกต้องแม่นยำ เพราะท่านรู้ความจริงเห็นความจริง แต่ส่วนปลีกย่อยท่านอาจจะผิดพลาดอยู่บ้างเป็นธรรมดา ไม่เหมือนสัพพัญญู เช่นอย่างพระปรีชาญาณหยั่งทราบเหตุการณ์ต่างๆ นี้ พระสาวกแม้จะไม่กว้างขวางลึกซึ้งเหมือนพระพุทธเจ้า แต่ก็ยังมีส่วนที่อาจจะผิดพลาดไปบ้างได้ สำหรับพระพุทธเจ้าแล้วไม่มี

ธรรมะของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จึงเป็นประเภทเอกนามกึ คือมีความถูกต้องแม่นยำอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีสองกับสิ่งใดอีกที่จะมาเป็นคู่แข่ง หรือลบล้างความจริงคือความถูกต้องนี้ แล้วหลักแห่งศาสนธรรมที่ประทานไว้ สรุปลงแล้วได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา นี่สรุปความลง วิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแก้กิเลสประเภทใด หรือการครองชีพประเภทใด ต้องขึ้นอยู่กับหลักมัชฌิมาคือความถูกต้องเหมาะสมนี้ทั้งนั้น

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ นี่ก็หมายถึงองค์ปัญญา คำว่าปัญญามีความกว้างขวางมาก เราจะใช้ทางโลกทางธรรม ธรรมประเภทไหน ต้องอาศัยปัญญาเป็นหัวหน้า เพราะปัญญาเป็นผู้ฉลาด เช่นเดียวกับหัวหน้างาน ต้องเป็นคนฉลาด ไม่เช่นนั้นก็เป็นหัวหน้างานไม่ได้  สัมมาสังกัปปะ ก็เป็นความฉลาด เรียกว่าเป็นองค์ของปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่เป็นธรรมที่เหมาะสมอย่างยิ่งของผู้นำไปประพฤติปฏิบัติ สามารถกำจัดกิเลสได้ทุกประเภทให้หมดสิ้นไปจากใจ โดยไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลาสถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนานไปเพียงไรก็ตาม คำว่า มัชฌิมา คือธรรมเหมาะสมอยู่แล้วในการแก้กิเลสประเภทต่างๆ จึงเรียกมัชฌิมาอยู่ตลอดเวลา

เราทั้งหลายเป็นพุทธบริษัทที่เรียกว่าลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้านั้นเอง ก็ได้ปฏิบัติบูชาตามสติกำลังความสามารถของตน เช่น การให้ทาน ก็ได้ให้ทานมามาก มากจนตัวเราเองก็นับไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรไปคิดว่าเรามีวาสนาน้อย ถ้าพูดถึงเรื่องทานเราเคยทานมาตั้งแต่รู้จักเดียงสาภาวะ จนกระทั่งถึงบัดนี้ มีวันนี้เป็นปัจจุบัน เราจำได้ไหมว่า เราเคยให้ทานอะไรบ้างตั้งแต่ต้นมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ให้ทานมากี่ครั้งกี่หนหมดมากน้อยเพียงไร เราไม่อาจนับได้ ทำไมจึงไม่อาจนับได้ เพราะมากต่อมาก นานต่อนาน หลายวันหลายปีหลายเดือน ทำอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ จึงเรียกว่ามาก จนเจ้าของเองก็จำไม่ได้ การจำได้หรือไม่ได้ก็ไม่สำคัญ ดังที่เคยกล่าวไว้แล้ว เราแน่ใจแล้วว่าเราสร้างบุญสร้างกุศล ชื่อว่าเราสร้างบารมี ตามเสด็จพระพุทธเจ้า

ทานเราก็ได้ให้ ให้มากต่อมากจนกระทั่งตัวเองก็จำไม่ได้ แล้วยังจะให้ไปอีกมากมายจนชีวิตหาไม่เมื่อไรถึงจะหยุด ศีลเราก็ได้รักษาพยายามตามสติกำลังความสามารถของเรากี่ครั้งกี่หนจนนับไม่ได้อีกเหมือนกัน ภาวนาก็ทำ หากจำปีได้ จำเวลาทำก็ไม่ได้ เราเริ่มมาปี พ..เท่าไร ในชาตินี้เราจำได้ว่าเราเริ่มภาวนานับตั้งแต่ พ..นั้นมาถึงวันนี้ เราเคยนั่งภาวนากี่ครั้ง ตรงนี้จะจำไม่ได้นะ แล้วในขณะที่เรานั่งแต่ละครั้งๆ นั้น เรากำหนดคำบริกรรมคำใด แล้วคำบริกรรมที่เรากำหนด เช่น พุทโธ ๆ เป็นต้นนั้น ครั้งนั้นๆ ครั้งละเท่าไร นี่เราก็จำไม่ได้ อันนี้ก็มาก มากอยู่ภายในหัวใจของเรา จนกระทั่งเราจำไม่ได้

เวลาผลปรากฏขึ้นมา ก็เป็นเช่นเดียวกันกับเหตุที่เราทำ ถึงขนาดจำไม่ได้นั่นเอง เวลาปรากฏขึ้นมาเรานับไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะเต็มอยู่ในดวงใจนี้ทั้งนั้น ไม่ได้ไปอยู่ที่ไหน รวมอยู่ที่ดวงใจ ไม่สามารถจะนับอ่านได้ ธรรมชาติแห่งความศักดิ์สิทธิ์วิเศษความอัศจรรย์ทั้งหลายที่รวมตัวอยู่ภายในจิตใจของเรา ซึ่งเรียกว่าความดีทั้งนั้นส่งผลให้มาเป็นถึงความอัศจรรย์ขั้นนี้ ไม่มีอันใดที่จะมาส่งผลให้เป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ให้มีความสุขความรื่นเริงภายในจิตใจได้ยิ่งกว่าบุญกุศลที่เราสร้างมาด้วยตัวเราเอง นี่ท่านเรียกว่าสั่งสมทรัพย์ ทรัพย์ภายใน ท่านกล่าวไว้ในพระสูตร.นิธึ นิเธติ ปุริโส คมฺภีเร อุทกนฺติเก.. เป็นต้น

การสั่งสมทรัพย์ไว้ภายในจิตใจด้วยการทำความดีทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่ฝังไว้โดยความถูกต้อง และรักษาได้ง่ายยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติภายนอกเป็นไหนๆ ท่านว่าอย่างนั้น ทรัพย์ภายนอกแม้ตัวเองเป็นผู้เก็บไว้เองก็ยังลืมสถานที่เก็บก็มี ไปฝังไว้ในสถานที่ใดที่หนึ่งเพราะอำนาจแห่ง สญฺญา วาสฺส วิมุยฺหติ คือความจำหลงลืมไปเสียบ้างอะไรบ้าง ตายแล้วก็ทิ้งเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ได้รับประโยชน์เฉพาะกาลเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่ บางอย่างก็สูญหายไปโดยหาประโยชน์ไม่ได้ก็มี แต่ขุมทรัพย์คือบุญ ที่ได้ฝังลงภายในจิตใจด้วยการสร้างคุณงามความดีทั้งหลายนี้ เป็นสิ่งที่ติดแนบกับจิต โจรก็ลักไม่ได้ ใครจะมาปล้นมาจี้มาอะไรไม่ได้ อโจรหรโณ นิธิ ท่านว่า โจรไม่สามารถที่จะลักจะขโมยจะปล้นจะจี้ได้เลย ขุมทรัพย์คือบุญที่มีอยู่ภายในจิตใจ ท่านว่าอย่างนั้น

ทรัพย์นี้เมื่อสั่งสมไว้มากๆ แล้วก็กลายเป็นทรัพย์อันประเสริฐ คือเป็นอริยทรัพย์ขึ้นมา ปราศจากข้าศึก อริก็แปลว่าข้าศึก ทรัพย์ก็คือสิ่งที่สนองความต้องการหรือเป็นที่พึงพอใจ กลายเป็นโลกุตรทรัพย์ขึ้นมาภายในใจของผู้บำเพ็ญ นี่ทางแห่งพุทธบริษัทที่เป็นลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า ก็พยายามวิ่งเต้นขวนขวายหาความดีสำหรับตน ต่างคนต่างขวนขวาย ต่างคนต่างคิดตามสติปัญญาศรัทธาความเพียรความสามารถของตน เวลารวมตัวแล้วก็ลงอยู่ที่ใจดังที่กล่าวแล้วเบื้องต้นนั้นเอง ไม่มีสถานที่ใดเป็นที่เก็บทรัพย์สมบัติ คือบุญคือกุศลทั้งหลาย มีใจเท่านั้นเป็นที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นภาชนะที่เหมาะที่สุด รวมลงสู่ที่นี่

ไม่ต้องมีทะเบียนบัญชีจดจารึกว่าเราเคยทำบุญให้ทานมาตั้งแต่ครั้งไหนเมื่อไร ได้ให้ทานอะไรๆ บ้างก็ตาม รวมอยู่นั้นหมด ขึ้นชื่อว่าความดีที่จิตทำลงไปแล้ว สัญญาไม่เป็นอันตรายต่อการทำดี คือจะจดจำได้ ไม่จำได้ ไม่สำคัญ สำคัญที่ความดีนี้ลบไม่สูญ นั่น จำได้หรือไม่ได้ก็มีอยู่ภายในใจของตน

คนที่มีทรัพย์ไม่ว่าทรัพย์ภายนอกทรัพย์ภายใน จะไปไหนก็มีความสง่าผ่าเผยมีความรื่นเริงบันเทิง ไม่เกิดความเดือดร้อนเสียใจ กระวนกระวายกลัวจะไม่ได้ใช้ไม่ได้สอย ไม่ได้กินอยู่หลับนอนเพราะทรัพย์ติดกระเป๋าอยู่แล้ว จะไปทวีปไหนก็ไป ถึงเวลาหลับนอนก็นอนที่ดีๆ จะเอาโรงแรมไหนก็ได้ อาหารประเภทไหนสั่งได้ทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าปัจจัยสี่ คือ เครื่องอาศัย ๔ อย่าง ก็มีเครื่องนุ่งห่ม อาหารการบริโภค ที่อยู่ที่อาศัย ยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ แน่ะ ๔ อย่าง เกิดขึ้นมาจากแก้วสารพัดนึกคือเงินนี้ทั้งนั้น ผู้ที่มีเงินมีสมบัติ ไปไหนก็ไม่ลำบากลำบน

นี่เป็นข้อเทียบเคียง ทางโลกมีความสะดวกสบายด้วยทรัพย์ที่เรียกว่าเป็นแก้วสารพัดนึก เอ้า ทางธรรมการท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับเราเดินทางไปสู่บ้านนั้นเมืองนี้ทวีปนั้นนั่นเอง เช่นอย่างเขาเที่ยวรอบโลก นี่เป็นทางของโลก ทางของวัฏสงสารก็คือความเกิดแก่เจ็บตายที่หมุนไปเกิดที่นั่น ภพนั้นภพนี้ ผู้มีบุญมีกุศลภายในจิตใจ ย่อมไปด้วยความเป็นสุคโต ไปก็มีความสะดวกสบายราบรื่นสม่ำเสมอ อยู่ก็มีความสุขความเจริญรื่นเริงเพราะอำนาจแห่งทรัพย์ที่ตนได้สร้างไว้แล้วภายในจิตใจ ซึ่งเรียกว่าแก้วสารพัดนึก

จะไปเกิดในที่ใดสถานที่ใดก็เกิดด้วยอำนาจแห่งบุญแห่งกุศล อยู่ด้วยอำนาจแห่งบุญแห่งกุศลที่ตนได้สร้างไว้แล้ว แม้จะมีการท่องเที่ยวอยู่เหมือนสัตว์โลกทั่วๆ ไป คนที่มีบุญมีกุศล กับคนไม่มีบุญมีกุศลนั้น มีความลำบากมีความสุขทุกข์ต่างกันอยู่มาก แล้วนอกจากนั้นคุณงามความดีที่เราสร้างไว้เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนในคติหรือในภพนั้นๆ ยังไม่แล้ว เมื่อเต็มภูมิแล้วยังสามารถที่จะยกผู้ที่บำเพ็ญ หรือผู้เป็นเจ้าของนั้นให้หลุดพ้นจากวัฏฏะ คือความหมุนเวียนเกิดแก่เจ็บตายนี้ได้ นั้นแลที่ว่ากรรมสิ้นก็สิ้นที่ตรงนั้น ที่ผลิตแห่งกรรมก็คือใจ ที่สถิตแห่งกรรมก็คือใจ คือวิบากผลแห่งกรรมที่ทำไว้แล้วมากน้อย มีบุญเป็นต้น ก็อยู่ที่ใจ

เมื่อใจพอตัวแล้ว เพราะอำนาจแห่งบุญกุศลเป็นเครื่องสนับสนุน จนถึงฝั่งแห่งความปลอดภัยโดยประการทั้งปวงแล้วนั้น คำว่า บุญ ในจิตใจก็หมดความหมายไป เรียกว่าสิ้นก็สิ้นกันที่ตรงนั้น เช่นเดียวกับเราขึ้นมาบนบ้านของเรา ถึงสถานที่ที่ต้องการแล้ว บันไดกับเราก็หมดปัญหากันไป ไม่ใช่ว่าเราเจตนาจะทิ้งบันได แต่เป็นหลักธรรมชาติแห่งความจำเป็นที่เกี่ยวข้องกันมา แล้วเป็นหลักธรรมชาติที่หมดความจำเป็นกันแล้วในขณะนั้น มันก็ปล่อยวางกันไปเอง เรื่องบุญเรื่องกุศลที่เป็นเครื่องสนับสนุนเรามาโดยลำดับ เมื่อถึงขั้นพอตัวแล้ว บุญกุศลทั้งหลายภายในจิตใจ ก็หมดปัญหากันไป เหลือแต่ธรรมทั้งแท่งที่ได้รับมาจากความดีทั้งหลายสนับสนุนให้ถึงจุดนี้ จึงเรียกได้ว่า ที่สุดหรือที่สลายที่ดับไปก็อยู่ที่ใจดวงนี้ ดับไปแห่งบุญแห่งบาปทั้งหลายดับไปที่ตรงนั้น

เพราะคำว่าบุญ ว่าบาป ก็เป็นเครื่องสมมุติอันหนึ่ง จิตเมื่อถึงขั้นที่เลยสมมุติไปแล้ว คำว่า สมมุติกับวิมุตติ คือความหลุดพ้นนั้น มันก็หมดปัญหา แยกทางกันไปเองโดยหลักธรรมชาติ เช่นเดียวกับเราขึ้นตามบันได จนไปถึงที่อยู่อันสมบูรณ์แล้ว บันไดกับเราก็หมดความหมายกันไปโดยหลักธรรมชาติเช่นนั้นแล ให้ทุกท่านได้นำไปพินิจพิจารณา

พยายามปฏิบัติตัวของเราให้เป็นคนดี แม้จะอยู่ในวัยเด็ก เด็กหรือผู้ใหญ่ก็สำคัญอยู่ที่ความประพฤติ ประพฤติดีก็เรียกว่าเด็กดี ประพฤติไม่ดีก็เรียกว่าเด็กชั่ว ผู้ใหญ่ก็เหมือนกันอยู่ที่ความดี ให้พยายามยึดหลักธรรมเป็นเข็มทิศทางเดินแห่งความประพฤติหน้าที่การงาน ยึดไว้จนเป็นนิสัยฝังอยู่ภายในจิตใจ ใจของเราทั้งดวงก็จะมีธรรมเข้าแทรกซึม มีธรรมเป็นน้ำเชื่อมให้มีความร่มเย็นเป็นสุขปลอดภัย ไร้สิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติเพียงเท่านี้

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก