เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
อธรรมเหมือนยาพิษ
โลกที่ไม่สงบ เราที่ไม่สงบเพราะอธรรมเข้าแทรก ถ้าอธรรมเข้าแทรกในสถานที่ใดบุคคลใด สถานที่นั้นบุคคลนั้นจะหาความทรงตัวอยู่เป็นปรกติสุขไม่ได้ ต้องมีอาการต่างๆ ให้เห็น ยกตัวอย่างเช่นเมืองไทยเรา เป็นเมืองที่ชอบความสงบมาดั้งเดิมแต่ปู่ย่าตายาย เมืองไทยเรานี้เป็นเมืองที่ชอบสงบจนเป็นนิสัย รู้สึกจะหาเมืองไหนๆ เทียบได้ยาก เสมอได้ยาก เนื่องจากเมืองไทยเรานี้ถือพุทธศาสนาเป็นความเคยชินกับจิตใจ เป็นนิสัยของธรรมแทรกอยู่ทุกอาการที่แสดงออกของผู้ถือธรรมะ ถือพุทธศาสนา ไม่มากก็น้อยถ้าลงได้ถือพุทธศาสนาแล้ว นิสัยอันเกี่ยวกับธรรมต้องแสดงออก เพราะฉะนั้นเมืองไทยเราจึงเป็นเมืองที่มีนิสัยให้อภัยแก่กัน ไม่ชอบเรื่องชอบราว เอาถ้อยเอาความแก่กันและกัน ถ้าไม่มากหรือไม่เหลือวิสัยจนเกินไป ส่วนมากมีนิสัยเช่นนั้น เมืองไทยจึงมักเป็นเมืองสงบสุข ไม่ชอบยุ่งชอบวุ่นวายอะไรกับใครๆ
ในขณะที่เมืองไทยเรามีความสงบและชอบความสงบเป็นนิสัย ก็เป็นโอกาสอันหนึ่งของพวกอธรรมซึ่งหาความสงบในตัวไม่ได้ ถือความสงบนั้นเป็นของดิบของดีเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นการเป็นงาน เป็นช่องเป็นโอกาสที่จะหาผลประโยชน์หรืออำนาจวาสนา รายได้รายรวยอะไรก็แล้วแต่ใส่ตน แล้วก็ต้องแทรกเข้ามา ดังทุกวันนี้เราก็ทราบกันแล้วว่า เมืองไทยทั้งๆ ที่เป็นเมืองชอบสงบและมีความสงบอย่างนั้นทั่วดินแดนของประเทศไทย แต่เวลานี้ก็กลายเป็นแดนแห่งความไม่สงบขึ้นมา มีการยุแหย่ก่อกวนปลุกปั่นต่างๆ ทุกแง่ทุกมุมไม่ว่าบ้านนอกในเมือง เมืองใหญ่เมืองเล็กในป่าในเขามีทั้งนั้น
เมื่อสิ่งเหล่านี้แสดงตัวออกมา เมืองไทยที่เคยมีความสงบร่มเย็นก็ทรงตัวแห่งความสงบนั้นไว้ไม่ได้ เช่นเดียวกับโรคภัยที่เข้าแทรกสิงภายในร่างกาย เจ้าของจะอยู่ด้วยความสงบสุขไม่ได้ ต้องมีอากัปกิริยาแสดงไปตามโรคที่มีมากน้อยภายในร่างกาย ถ้าหนักเข้าก็จะต้องแสดงอาการครวญครางระส่ำระสาย ถ้าความไม่สงบความวุ่นวายนี้มีมากเข้า ก็จะต้องแสดงอาการอย่างนั้น เดือดร้อนกันไปทั่วดินแดน นี่คืออธรรมเข้าแทรกเป็นอย่างนี้
ผู้ที่มีใจอธรรมย่อมเห็นอธรรมเป็นของดีสำหรับตน จึงไม่ยอมเห็นโทษแล้วก็ก่อเรื่องอธรรมขึ้นมาเรื่อยๆ ส่งเสริมขึ้นมาเรื่อยๆ ให้มีกำลังมาก อธรรมนั้นแลเป็นเหมือนยาพิษ เมื่อแทรกลงไปที่ตรงไหนจะทำให้สิ่งนั้นเป็นพิษเป็นภัย เป็นความลำบากลำบนวุ่นวายขึ้นมา ถ้ามากยิ่งกว่านั้น จะไปที่ไหนจะไปไหน จะเป็นอย่างไรนี่พอทราบกันได้ จึงไม่จำเป็นต้องอธิบาย นี่เราพูดถึงแง่ภายนอกทั่วๆ ไป
ที่นี่ย่นเข้ามาภายในจิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเราไม่มีเรื่องมีราวมายุแหย่ก่อกวน ไม่มีอารมณ์มาก อยู่ด้วยความสงบสุข มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ยิ่งได้ภาวนาด้วยแล้ว ใจก็ยิ่งมีความสงบ ถ้ามีธรรมอยู่ในใจ ใจก็สงบ มีสติมีการรักษาใจ มีการเลือกเฟ้นอารมณ์ ว่าอารมณ์ชนิดใดคิดออกไปแล้วเป็นภัยแก่ตนเองให้เกิดความเดือดร้อน ก็พยายามระงับอารมณ์นั้นไม่ให้สืบต่อ เพื่อจะไม่เป็นการส่งเสริมความรุนแรงหรือความเดือดร้อนภายในจิตให้มากไป ใจก็สงบได้ อารมณ์ใดที่เป็นไปเพื่อความสงบสุข เป็นไปเพื่อประโยชน์ก็พยายามสั่งสมบำรุงอารมณ์นั้นให้มีกำลังมากขึ้น จิตใจก็มีความสงบร่มเย็นมากขึ้นเพราะอาศัยคุณธรรมประเภทแห่งการรักษานี้
เช่นเราภาวนา ใจได้รับความสงบ ใจเราก็เชื่อง ใจก็เย็น อยู่ที่ไหนก็พออยู่ได้มนุษย์เรา ถ้าใจเย็นเสียอย่างเดียว แต่ถ้าใจร้อนแล้วจะอยู่โลกไหนๆ ก็ต้องร้อน เพราะความร้อนความวุ่นวายความทุกข์มันอยู่ที่ใจ ท่านจึงสอนให้อบรม เมื่อเราได้อบรมจิตใจของเราด้วยธรรม ใจย่อมมีความสงบสุข เรื่องต่างๆ ที่จะเป็นภัยต่อจิตใจก็พยายามกำจัดปัดเป่า ไม่เสาะไม่แสวงไม่ส่งเสริมมัน ไม่หลงไปตามมัน ถึงจะลำบากก็หักห้าม ใจย่อมได้รับความสงบร่มเย็น
เราทั้งหลายมาบำเพ็ญ ปฏิบัติตนเอง ด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดี มีเจริญภาวนาเป็นต้น ซึ่งเป็นกิจที่ชอบ ชอบทั้งทางโลก ชอบทั้งทางธรรม คนที่มีธรรมในใจประกอบการงานทางโลกก็เป็นประโยชน์ ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่ก่อความเสียหายให้แก่ผู้อื่นใด ภายในจิตใจก็มีความร่มเย็นเป็นสุข
ใจเป็นธรรมชาติที่เสาะแสวงหาความสุขอยู่ตลอดเวลา ต้องอาศัยเจ้าของคือเรา เราในสถานที่นี่ก็หมายถึงใจกับสติปัญญาที่บวกกันเข้า ใจอันหนึ่งเต็มไปด้วยสิ่งก่อกวน เต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยที่ท่านให้ชื่อตามหลักพุทธศาสนาว่ากิเลส แยกแง่แห่งใจอันหนึ่งขึ้นมาเป็นเราเป็นของเรา แยกสติปัญญาขึ้นมาเป็นเราเป็นของเรา เพื่อกำราบปราบปรามสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายนั้นด้วยความพากเพียรของเรา ใจจะได้รับความสงบร่มเย็น นี่เรียกว่าชอบทางภายในเฉพาะตัวเราด้วย ชอบทั้งภายนอกด้วย
แต่การปฏิบัติธรรมพึงทราบว่าผิดจากการงานทางโลก งานทางโลกส่วนมากเป็นไปด้วยความเพลิดเพลินหรือพอใจ แต่งานทางธรรมนี้เป็นงานที่ทวนกระแสโลกที่เราเคยชอบใจ จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องฝืนกัน เช่นการภาวนาเพื่อจะให้ใจได้รับความสงบก็ต้องฝืนบ้าง ความฝืน ความอดความทนนั้นแลคือการบำเพ็ญธรรม ถ้าไม่มีการฝืนการอดการทนก็หาธรรมไม่มี ว่าเป็นความบำเพ็ญหรือการบำเพ็ญ จิตใจก็หาความเจริญรุ่งเรืองไม่ได้ หาความสงบสุขหรือเย็นใจไม่ได้ คนเราเมื่ออยู่ด้วยความรุ่มร้อนทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนแล้ว โลกอันนี้ก็เหมือนว่ามันแคบเอาเหลือเกิน แผ่นดินนี้จะกว้างขนาดไหน โลกจะมีจำนวนมากมาย สิ่งที่น่ารื่นเริงบันเทิงก็มีมากแต่มันก็กลายเป็นไฟไปอยู่ภายในหัวใจ จึงเป็นเหมือนกับว่าโลกนี้แคบไปหมด เพราะใจมีความรุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้อบรมให้รักษา ให้กำจัดปัดเป่าสิ่งที่ให้เกิดความรุ่มร้อนอยู่ภายในจิต คืออารมณ์ที่ไม่ดีของใจ ด้วยสติด้วยปัญญาด้วยความอดความทน ด้วยความฝืนในอารมณ์ต่างๆ ที่ทำให้เป็นพิษภัยแก่จิตใจ แล้วนำธรรมะที่เป็นคุณเข้าไปแทนที่ เช่นกำหนดบทธรรมบทใดบทหนึ่ง มีพุทโธเป็นต้น ให้อยู่กับบทธรรมนั้นๆ ใจเมื่อได้รับธรรม ก็ชื่อว่าได้รับโอสถ จะมีความรู้สึกเบาสบาย โรคคือความรุ่มร้อนภายในจิตใจก็ค่อยสงบไปเบาไป ความผาสุกเย็นใจก็ปรากฏขึ้นมา ที่นี่โลกรู้สึกว่าจะเริ่มกว้างไป ชีวิตจิตใจก็รู้สึกว่ายืดยาว
โลกค่อยกว้างไปเพราะจิตใจพาให้กว้างขวาง จิตใจพาให้เยือกเย็น เพราะฉะนั้นโลกกว้างหรือแคบจึงขึ้นอยู่ที่ใจดวงเดียว ถ้าใจมีความคับแคบตีบตันภายในตัวเอง ถูกบีบบังคับอยู่ด้วยความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา ใจก็แคบตีบตัน หาทางไปไม่ได้ ดีไม่ดีอาจตัดสินใจไปในทางที่ผิดซ้ำเข้าอีกก็ได้ เช่นอย่างคนที่มีความทุกข์มากๆ ฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอตายอะไรอย่างนี้ มีเยอะ เข้าใจว่าเป็นทางพ้นจากทุกข์ ความจริงก็คือการเพิ่มทุกข์เข้าไปอีกภายในตัวเอง การฆ่าคนทั้งคนไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องใหญ่โตมาก ฆ่าตัวเองก็คือคนคนหนึ่ง ก็ต้องเป็นทุกข์
เพราะจิตนี้มันไม่แล้ว มันแล้วเฉพาะร่างกายที่มีอยู่นี้ สมมุติว่าตายในอัตภาพนี้แล้วอัตภาพนี้มันก็ไม่มีความหมาย กลายเป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟไปตามส่วนแห่งธาตุของเขา แต่ใจผู้เป็นผู้รับผิดชอบหรือเป็นเชื้อแห่งวัฏฏะซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวนี้ย่อมไม่มีการสิ้นสุด ออกจากร่างนี้ไปแล้วก็ต้องไปสู่ร่างนั่น ออกจากที่นี่ต้องไปสู่ที่นั่น การไปที่นั่นไปที่นี่ เกิดที่นั่นเกิดที่นี่ ไม่ใช่ไปเกิดเอาตามธรรมดาของตัวเอง แต่ไปด้วยอำนาจแห่งความผลักดันของกรรมดีและชั่วหนักเบามากน้อย พาให้เป็นไป พาให้เกิด ในภพน้อยภพใหญ่ ภพดีภพไม่ดี เช่นทุคติหรือสุคติภพอย่างนี้เป็นต้น มันขึ้นอยู่กับวิบากแห่งกรรมคือผลที่มีอยู่ภายในจิต เกิดขึ้นจากการกระทำไม่ดีของเรา มันแทรกอยู่ภายในนั้น ผู้นั้นแลเป็นตัวปัญหาอยู่ตลอดเวลา
เราจะมาแก้ด้วยวิธีการดังที่ว่านี้ มันจึงแก้เพียงปลายเหตุแล้วก็เป็นการเพิ่มต้นเหตุอันไม่ดี คือความไม่ดีเข้าไปใส่จิตใจอีก ให้ใจต้องแบกต้องหามต้องรับภาระความไม่ดีทั้งหลายเพิ่มเติมเข้าไปอีก จึงไม่ใช่การตัดสินในทางที่ถูก การตัดสินในทางที่ถูก มันผิดที่ตรงไหน ร้อนที่ตรงไหน มันมีความทุกข์ความลำบากอยู่ที่ตรงไหน นอกจากใจแล้วไม่มีที่อื่น แล้วกำหนดแก้ไขกันที่ตรงนั้น มันฟุ้งซ่าน พยายามระงับไม่ให้มันคิดมันปรุงเรื่องความฟุ้งซ่านรำคาญต่างๆ ยับยั้งหรือบังคับให้อยู่กับบทธรรมบทใดบทหนึ่ง จะเป็นจะตาย จะทุกข์จะยากจะลำบากก็ฝืนบังคับกัน นี้ชื่อว่าเป็นผู้ต่อสู้ เป็นผู้ป้องกัน เป็นผู้รักษาตัวคือใจ ให้พ้นจากภัยคือสิ่งที่ผิดทั้งหลายไม่ให้มันผิดมากมายไป ใจย่อมได้รับความสงบเย็นใจ
ใจเป็นสิ่งสำคัญในร่างมนุษย์และสัตว์ พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายต่อจิตใจเป็นสำคัญเกี่ยวกับการประทานพระศาสนาไว้สอนโลก เพื่อสัตว์โลกจะได้เข้าใจในศาสนธรรม แล้วปฏิบัติบำเพ็ญหรืออบรมจิตใจของตนให้ถูกทาง เพราะใจนี้ไม่สิ้นสุด จะสิ้นสุดเฉพาะเรื่องธาตุขันธ์ในอัตภาพหนึ่งๆ เมื่อถึงวาระแล้วมันก็ไป คนดีคนชั่ว คนโง่คนฉลาดมันตายด้วยกันทั้งนั้นแหละอัตภาพนี้ แต่ใจซึ่งเป็นตัวการสำคัญนั้นไม่ตาย ไม่มีป่าช้า มันก็ต้องไปอีก ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเชื้อซึ่งแทรกอยู่ภายในจิตใจ ที่จะทำให้ไปเที่ยวก่อปฏิสนธิเกิดที่นั่น ตายที่นี่ ถ้าหมดเชื้อนี้แล้วก็ไม่มีปัญหา ใจก็ยุติในการท่องเที่ยวได้ทันทีที่หมดเชื้อ
ถ้ายังไม่หมดเชื้อก็ต้องได้รับการบำรุงการรักษาในทางที่ดี เพื่อให้จิตนั้นไปดี เกิดก็เกิดดี อยู่ก็อยู่ดี มีความสุขความสบาย ที่จะให้เรามีความสุขความสบายได้นั้นนอกจากการบำเพ็ญความดีนี้ไม่มี นี่คือคำของนักปราชญ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ประทานไว้แล้วโดยถูกต้อง ไม่มีใครจะมีความรู้ความฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า ได้ตรัสสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายโดยถูกทาง ไม่มีที่ต้องติ ไม่มีทางปลีกแวะเป็นอย่างอื่น นอกจากมีความถูกต้องอย่างเดียวเท่านั้น เราที่เป็นลูกศิษย์พระตถาคตคือพระพุทธเจ้า จึงควรถือหลักศาสนธรรมที่พระองค์ท่านประทานไว้แล้วมาประพฤติปฏิบัติ ยากบ้างง่ายบ้างเป็นธรรมดาของงานที่ทำต้องมีบ้าง ไม่ว่างานทางโลก งานทางธรรมต้องมีความทุกข์ความลำบากบ้าง ไม่เช่นนั้นก็ไม่เรียกว่าทำงาน
ดังที่ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์มา ไม่ว่าท่านผู้ที่มาอยู่แล้ว ท่านที่เพิ่งมา ก็มีเจตนาอันเดียวกัน เพื่อหวังบำเพ็ญกุศลเพื่ออบรมตนด้วยศีลด้วยธรรม นี่ก็เป็นโอกาสอันดี เวลานี้ชีวิตจิตใจร่างกายของเราก็ยังปรกติ แม้โลกจะตายอยู่ทุกหย่อมหญ้า มีป่าช้าอยู่ทุกแห่งหนตำบลหมู่บ้านก็ตาม แม้ที่สุดมีป่าช้าอยู่ภายในตัวของเราก็ตาม แต่เวลานี้เรายังไม่ตาย จึงชื่อว่าเรามีโอกาสเหมาะสมในการที่จะประกอบความพากเพียรในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ เมื่อตายไปแล้วสุดวิสัย ใครจะบำเพ็ญได้มากน้อยเพียงไรก็ต้องยุติไปพักหนึ่ง เวลานี้เป็นเวลาที่เราจะบำเพ็ญ
ทางโลกทางสงสารเราก็ได้ทำมาพอสมควร ความเป็นอยู่พูวายของเราก็อย่างที่เรารู้เราเห็น ไม่ว่าท่านว่าเรา ในโลกอันนี้ก็ต้องเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงวุ่นวายด้วยหน้าที่การงานเพื่อการครองชีพ เราก็ได้ผ่านมาพอสมควร ส่วนงานทางด้านธรรมะเพื่อความสุขสวัสดี อันเป็นผลที่พึงพอใจจากการบำเพ็ญคุณงามความดีนี้ เรายังไม่ค่อยปรากฏภายในจิตใจอย่างชัดเจนเหมือนนักปราชญ์ทั้งหลายท่านที่ปรากฏมาแล้วได้มาสอนพวกเรา เราจึงควรบำเพ็ญในระยะที่มีชีวิตจิตใจอยู่นี้ อย่าให้เสียเวล่ำเวลา
คนที่มีบุญมีกุศลอันได้สร้างไว้แล้ว จะตายวันตายคืนตายเวลาใด ด้วยเหตุผลกลไกอันใดก็ตาม ก็คือผู้ดีอยู่วันยังค่ำ ต้องขออภัย เช่น ตายแล้วจะไม่นิมนต์พระมากุสลามาติกาก็ไม่เสียหาย อันนั้นเป็นแบบเป็นประเพณีอันหนึ่ง ไม่ใช่เป็นความจริงดังที่ตัวของเราได้บำเพ็ญด้วยตัวของเราเอง อันนี้เป็นความจริง เป็นสิ่งที่เห็นประจักษ์อยู่กับเราว่าเราได้สร้างกุศลด้วยตัวของเราเอง มีมากน้อยเราทราบอยู่ภายในจิตใจของเรา
ผู้ที่มีกุศล มีบุญด้วยการสร้างไว้ด้วยตนเองเห็นประจักษ์อย่างนี้ ผู้นี้แลคือผู้สร้าง กุสลา ธมฺมา ธรรมที่เป็นกุศล เมื่อเราสร้างอยู่เช่นนี้ ก็เท่ากับมาติกาตัวเองเป็นแม่บทอันดีงามสำหรับใจของเราอยู่เสมอ จะตายอยู่ในป่าในเขาในบ้านในช่องในที่ไหน จะมีพระมามาติกากุสลาหรือไม่ บังสุกุลอะไรๆ หรือไม่ก็ตาม ไม่เป็นความบกพร่อง ไม่เป็นความเสียหาย ไม่เป็นการตัดกำลังแห่งความดีของเราที่ได้สร้างไว้แล้วแม้แต่น้อย หรือแต่อย่างใดเลย
ท่านจึงสอนให้สร้างกุศลเสียตั้งแต่บัดนี้ที่เรียกว่าสร้าง กุสลา ธมฺมา คือธรรมที่เป็นกุศล ผลที่เกิดขึ้นจากกุศลได้แก่ความฉลาดนั้นก็คือบุญ เป็นความสุขอยู่ภายในจิตใจ พระพุทธเจ้าท่านสอนคนท่านสอนอย่างนี้ สอนคนเป็นให้รู้เรื่องของตัว ให้รู้การสร้างกุศลสร้างอย่างไร ไม่ใช่เวลามีชีวิตอยู่ไม่สนใจกับวัดกับวา วัดอยู่ภายในตัว ศีลวัตร ทานวัตร ภาวนาวัตร ไม่เคยสนใจ ตายแล้วค่อยไปหานิมนต์พระมา กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา แล้วก็ว่าผู้นั้นจะไปสวรรค์นิพพานกัน เลยเป็นความขี้เกียจอ่อนแอ มอบภาระให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเสีย โดยที่ภาระอันสำคัญซึ่งมีอยู่กับตัวที่ควรจะทำนั้น ไม่ทำ ปล่อยทิ้งไปเสียเปล่าๆ
ความสร้างกุศลด้วยตัวเอง สร้าง กุสลา ธมฺมา ด้วยตัวเอง หรือมาติกาตนด้วยตนเองนี้เป็นสิ่งที่แน่ใจมั่นใจ ดังที่เราสร้างอยู่เวลานี้ นั่งฟังเทศน์อยู่เวลานี้ก็คือการสร้างกุศล หรือการ กุสลามาติกาคนเป็นคือเรานี้ บรรจุธรรมะเข้าสู่จิตใจ ให้กลายเป็นความสงบเย็นใจขึ้นมาโดยลำดับๆ นั้นแลคือการสร้างกุศลให้เห็นประจักษ์ตนโดยแท้ เพราะคำว่าศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เอาละ เอวัง ไม่ได้เรื่องละเขามาเทศน์แข่งแล้ว
รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ
|