เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
ส่งเสริมความหวังด้วยการประพฤติปฏิบัติ
ธรรมของพระพุทธเจ้ากับธรรมของพวกเราผิดกันอยู่มาก ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมที่รู้ ที่เห็น ที่ละ ปล่อยวางอยู่กับใจจริงๆ ธรรมของพวกเราเป็นธรรมสั่งสม เรียนรู้มากจำได้มากเท่าไรยิ่งสั่งสม ไม่ได้ถอดได้ถอนเหมือนพระพุทธเจ้าและสาวกท่าน เพราะฉะนั้นธรรมจึงต่างกัน ธรรมเรามันธรรมจำ ได้มาจากความจดจำ จดจำจากตำรับตำรา จดจำจากครูจากอาจารย์ จดจำจากคำบอกเล่าต่างๆ รวมแล้วก็เรียกว่าธรรมจดจำ คือได้มาจากการจดจำ ส่วนธรรมของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านนั้นได้มาจากความจริง ความจำกับความจริงจึงต่างกันอยู่มาก ความจริงจริงถึงไหนละได้ถึงนั้น รู้ได้ถึงนั้น มีความสบายตามขั้นภูมิแห่งความรู้ความจริงของตนที่ได้รู้ได้เห็นภายในจิตใจ อย่างพวกเรานี้จำได้เท่าไร แทนที่จะเป็นการแก้หรือถอดถอนกิเลส กลับเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นด้วยความสำคัญของตน ว่าเรียนได้จำได้มากขึ้นเท่านั้นๆ
ที่ท่านอาจารย์มั่นท่านว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าเมื่อสิงสถิตอยู่กับปุถุชน จึงเป็นธรรมปลอม แต่เมื่อสิงสถิตอยู่กับพระอริยเจ้าย่อมเป็นธรรมจริง ท่านพูดรวมไว้ในบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย มี ๔ คือพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ นี้ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นพระอริยเจ้า แต่เป็นพระอริยเจ้าในขั้นเสขบุคคลหนึ่ง อเสขบุคคลหนึ่ง คำว่าเสขบุคคล คือผู้เป็นอริยเจ้าแล้ว แต่ยังต้องศึกษาเพื่อธรรมขั้นสูงขึ้นไป ตั้งแต่ขั้นพระโสดาถึงขั้นอรหัตมรรค เรียกว่า เสขบุคคล ผู้ยังต้องศึกษา ส่วนอเสขบุคคลนั้น หมายถึงผู้ได้บรรลุถึงพระอรหันตผลล้วนๆ แล้ว รวมแล้วก็เรียกว่าพระอริยเจ้า
ธรรมที่ว่าสิงสถิตอยู่ในพระอริยเจ้านั้นจึงเป็นของจริงตามส่วน คือส่วนแห่งพระอริยเจ้ามันผิดกัน เช่น พระโสดา ภูมิธรรมแห่งพระโสดา พระโสดานั้นจะไม่ปลอม ธรรมในขั้นพระโสดาของพระโสดาย่อมไม่ปลอม แต่พระโสดายังต้องปลอมในขั้นสกิทาคา อนาคา อรหัต อยู่โดยดี แม้จะจำมาได้มากมาย หรือได้ฟังจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้ามาแล้วก็ตาม เพราะนี้เป็นความจำ ไม่ใช่เป็นความจริงที่รู้เห็นขึ้นกับตน ทีนี้พระสกิทาคา ก็เป็นความจริงสำหรับขั้นของพระสกิทาคานั้น แต่ยังปลอมในขั้นอนาคาและอรหัตเช่นเดียวกัน การได้ยินได้ฟังจะมากน้อยเพียงไรซึ่งเลยภูมิของตนไปแล้วนั้น จะมีตั้งแต่ความจำความคาดความหมายไว้เท่านั้น ยังไม่เป็นความจริงเต็มส่วนภายในจิตใจตนเลย จึงเรียกว่าธรรมประเภทนั้นก็ยังปลอมทั้งหมด พระอริยะสองขั้นนี้
ทีนี้ขั้นพระอนาคา ท่านก็จริงสำหรับขั้นของท่าน แต่ยังปลอมในขั้นอรหัตผล แม้ท่านจะเข้าอกเข้าใจวิธีการต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วก็ตาม ก็เหมือนอย่างเราเข้าใจในแบบแปลนแผนผังต่างๆ แต่ที่จะสำเร็จเป็นตัวบ้านตัวเรือนขึ้นมา ตามแบบแปลนแผนผังที่เราจดจำไว้นั้นแล้ว ยังเป็นไปไม่ได้ ต้องลงมือทำตามแปลนนั้นจนสมบูรณ์แล้วจึงจะเต็มภูมิ ส่วนพระอรหัตผลนั้นเป็นอันว่าจริงเต็มส่วนเลย ธรรมเมื่อได้สิงสถิตอยู่ในพระอรหัตบุคคลแล้ว จึงเป็นธรรมบริสุทธิ์สุดส่วน ไม่มีทางต้องติ นี่ความจำกับความจริงมีต่างกันอย่างนี้ คือต่างกันไปโดยลำดับลำดา ด้วยเหตุนี้คำว่าปริยัติ คือการศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว จึงไม่อยู่เพียงแค่นั้น ยังต้องมีปฏิบัติ ปฏิเวธ ธรรมสามข้อนี้แยกจากกันไม่ได้ ถ้าผู้ต้องการมรรคผลตามศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า จะต้องมีการเกี่ยวเนื่องกันไป
คำว่า ปริยัติ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียน การศึกษาจะศึกษาเล่าเรียนแบบที่เราเรียนสอบกันนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เราจะเรียกว่ามันกลายเป็นโลกไปก็ได้ถ้าเรียนแบบนั้น แต่คำว่าปริยัติในครั้งพุทธกาลนั้น เรียนเพื่อประพฤติปฏิบัติโดยตรง ปริยัติได้แก่การศึกษาสำเหนียกจากอุปัชฌายะเป็นต้น เวลาท่านสอนท่านจะสอนกรรมฐาน ๕ ให้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ได้แก่ภาคปริยัติให้จำไว้ แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามที่เราเรียนจากอุปัชฌายะมาแล้วนี้ ออกจากนั้นก็ขยายไปเป็นอาการ ๓๒ เป็นธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ แล้วแต่ อย่างที่ท่านว่าไว้ในวิปัสสนาภูมิ แต่ยังไงก็พ้นจากการปฏิบัติไปไม่ได้ ให้ประพฤติปฏิบัติ
สถานที่ที่จะปฏิบัติ ท่านก็สอนว่าให้ไปอยู่ในสถานที่โน้น โน้นป่าไม้ โน้นชายเขา โน้นเป็นที่สงัดงบเงียบ โน้นภูเขา โน้นถ้ำ เป็นที่เหมาะสมแก่การประกอบความพากเพียร เพื่อการถอดถอนกิเลส อันจะยังปฏิเวธธรรมให้ปรากฏขึ้นโดยลำดับ ทีนี้เมื่อเราเรียนด้วยความสนใจที่จะพึงปฏิบัติและเราได้ปฏิบัติด้วยความเต็มใจดังที่เรียนมาแล้วนั้น ผลจะพึงเริ่มปรากฏขึ้นมา นับตั้งแต่ขั้นความสงบเย็นใจ คือเกิดขึ้นจากการอบรมภาวนา ที่เรียกว่าสมาธิ
คำว่าสมาธิที่เราเคยจำได้ ก็จะเห็นสมาธิขึ้นภายในใจของตนเป็นขั้นๆ ของสมาธิ คืออย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างละเอียด หรืออย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดก็ได้ ปัญญา ได้แก่ ความพิจารณาสอดส่องใคร่ครวญตามเหตุตามผล โดยถือ เกสา โลมา หรืออาการ ๓๒ นี้ เป็นต้นเหตุแห่งการพิจารณา คลี่คลายขยายออกดูสิ่งเหล่านี้ว่ามีลักษณะอย่างไร ตามหลักธรรมท่านสอนไว้ว่า เป็นกองอนิจจัง กองทุกขัง กองอนัตตาอยู่เต็มรูปกายอันนี้
แม้แต่เวทนา ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ก็เป็นกองไตรลักษณ์ สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นกองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เรียน ให้สำเหนียก ให้สังเกตพิจารณาใคร่ครวญตามนี้ คลี่คลายดู เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งรวมกันอยู่ ทั้งเอามารวมกันเข้า ทั้งแยกขยายออกเป็นส่วนเป็นชิ้นเป็นอัน ตามฐานะของจิตที่มีความช้าเร็วต่างกัน จนเป็นที่เข้าใจ เมื่อเข้าใจสิ่งนี้ประจักษ์ด้วยการพิจารณาแล้ว ปฏิเวธะคือความรู้แจ้งในสิ่งนั้นๆ ย่อมปรากฏขึ้นเป็นลำดับ คำว่าปฏิเวธะ คือความรู้แจ้งแทงตลอดนี้ รู้แจ้งแทงตลอดไปโดยลำดับ ไม่ใช่ตลอดไปหมดเสียทีเดียว นอกจากขิปปาภิญญาผู้ที่รู้ได้เร็วเท่านั้น
คำว่ามรรคผลนิพพาน มรรคก็ได้แก่ข้อปฏิบัติ ผลก็ได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เช่น ความสงบเย็นใจ เป็นต้น จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น จะนอกเหนือไปจากการปฏิบัตินี้ไม่ได้เลย คำว่าปฏิเวธะ คือความรู้แจ้ง ก็รู้แจ้งไปเป็นลำดับลำดาตามขั้นแห่งธรรม ตามขั้นของจิต หรือตามขั้นของปัญญา จนกระทั่งแทงทะลุปรุโปร่งไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว นั่นแลเรียกว่า ปฏิเวธธรรมอย่างเต็มภูมิ แล้วก็ปรากฏเป็นความจริงขึ้นมาภายในจิตใจล้วนๆ นี่คือการรู้ความจริงรู้อย่างนี้ เห็นความจริง เห็นอย่างนี้ ละได้ตามความรู้ความเห็นความเข้าใจนั่นจริงๆ ไม่สักแต่ว่าจำชื่อได้แล้วกิเลสยังเต็มหัวใจ เหมือนกับภูเขาไฟทั้งลูกไม่บกบางลงบ้างเลยนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรในการเรียน
แต่การกล่าวทั้งนี้ไม่ได้ตำหนิติเตียนผู้ที่เรียนโดยถ่ายเดียว เรียนเพื่อประพฤติปฏิบัติเป็นแนวทางโดยถูกต้อง แต่เรียนเพื่ออย่างอื่นไม่จัดเข้าในหลักแห่งการศึกษาศาสนธรรม ที่พระองค์ท่านมีพระประสงค์ให้แก้กองทุกข์ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจ อันสืบเนื่องมาจากกิเลสเป็นต้นเหตุ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ผู้นับถือศาสนาจึงควรคำนึงถึงเหตุถึงผลของพระศาสนาที่พระพุทธเจ้าประทานไว้มากกว่าอย่างอื่น นี่เราพูดถึงเรื่องความจำกับความจริง ต่างกันอย่างนี้ ความจริงเข้าถึงไหน กิเลสหลุดลอยไปถึงนั้น ความจริงเข้าตลอดทั่วถึงกิเลสก็หลุดลอยไปหมด รู้แจ้งแทงตลอดโดยตลอดทั่วถึง ดังพระขีณาสพท่านเป็นตัวอย่าง ในคำที่ว่าอริยบุคคลที่กล่าวมาทั้งนี้ มีอยู่กับทุกคน ที่ผู้สามารถปฏิบัติได้ตามหลักธรรมที่ท่านสอน
เบื้องต้นได้กล่าวถึงธรรมจริงธรรมปลอม ธรรมปลอมก็คือธรรมที่เราจดจำเอามาได้ ยังปลอมสำหรับเรา ไม่ใช่เป็นสมบัติของเราแท้ แต่เมื่อเข้าถึงความจริงมากน้อยเพียงไร นั้นแลเป็นสมบัติของเรามากน้อยเพียงนั้น จนกระทั่งถึงเข้าจริงเต็มส่วนก็เป็นสมบัติของตนเต็มภูมิ ดังพระอรหันต์ท่าน แม้จะนั่งอยู่ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีปัญหาอันใดที่จะทูลถามพระพุทธเจ้าเพื่อจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในจิตใจของพระอรหันต์องค์นั้นๆ เนื่องจากท่านสิ้นความสงสัยโดยสิ้นเชิงแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น พระอัญญตรภิกขุ ซึ่งบำเพ็ญธรรมถึงขั้นจวนจะสุดยอดอยู่แล้ว เกิดปัญหาข้อข้องใจภายในจิตโดยเฉพาะ จะไปทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า พอไปถึงใต้ถุนพระคันธกุฎี ฝนก็ตก จะขึ้นทูลถามก็ไม่ได้ เลยยืนอยู่ใต้ถุนคันธกุฎีนั้น เวลาฝนตกก็สังเกตดูน้ำฝนที่หยดย้อยลงมาจากชายคา มากระทบกับน้ำที่มีอยู่ข้างล่าง ตั้งเป็นต่อมเป็นฟองขึ้นมาแล้วก็ดับไปๆ ท่านก็พิจารณาย้อนเข้ามาสู่สังขารธรรม คือความคิดความปรุงของใจ ปรุงทั้งดีทั้งชั่ว กลางๆ ประเภทใดก็ตาม มีการเกิดขึ้นแล้วดับไปในลักษณะเดียวกัน และมีสาเหตุมาจากไหน ท่านก็พิจารณาย้อนเข้าจนกระทั่งถึงสาเหตุต้นตอ แล้วได้บรรลุธรรมเสียในสถานที่นั้น พอฝนตกหยุดเท่านั้น ท่านก็กลับไปกุฎี ไม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้าอีกต่อไป เพราะสิ้นสงสัยแล้ว นี่คือความจริงเมื่อเข้าถึงผู้ใดแล้วก็เหมือนกัน ไม่ว่าผู้ใดจะรู้จะเห็นเพราะเป็นธรรมเหมือนกัน ไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่างกันเลย
การสอนธรรมของพระพุทธเจ้า จึงมุ่งเพื่อผู้นับถือศาสนาและเชื่อตามหลักศาสนธรรมของท่าน ให้ได้รับประโยชน์จากการนับถือ จากการปฏิบัติของตนจริงๆ ตามขั้นตามภูมิ จะเป็นฆราวาสก็ตาม เป็นพระก็ตาม ท่านสอนให้เหมาะสมกับขั้นภูมินั้นๆ ฆราวาสก็ไม่ได้ปิดกั้นเรื่องมรรคผลนิพพาน มีสิทธิที่จะรู้จะเห็นได้เช่นเดียวกันกับพระ เพราะเรื่องธรรมไม่มีกฎเกณฑ์ประจำเพศเหมือนเรื่องศีล ศีลนี้มีกฎเกณฑ์ประจำเพศ เป็นกฎข้อบังคับประจำเพศ แต่ธรรมนั้นมีอยู่ทั่วไป ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย การพิจารณาถูกต้องตามธรรมที่ทรงสอนไว้แล้วนั้น ก็สามารถจะรู้ได้เช่นเดียวกับพระ
ในครั้งพุทธกาลก็ปรากฏว่า อุบาสก อุบาสิกาบริษัทนี้ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน แต่ตกมาสมัยเราทุกวันนี้มีแต่ชื่อ แม้กระทั่งพระก็มีแต่ชื่อ ได้ยินแต่ชื่อของมรรคผลนิพพาน ได้ยินแต่ชื่อสมาธิ ได้ยินแต่ชื่อปัญญา องค์ของปัญญา องค์ของสมาธิแท้ไม่ปรากฏ องค์ของมรรคผลนิพพานแท้ๆ ไม่ปรากฏ มีแต่ชื่อ ได้ยินตั้งแต่ท่านร่ำลือกันว่าท่านบรรลุมรรคผลนิพพาน ตัวของตัวเองร่ำลือตั้งแต่ความขี้เกียจอ่อนแอ มักง่าย ท้อแท้ มิหนำซ้ำยังตำหนิหรือปฏิเสธว่ามรรคผลนิพพานหมดเขตหมดสมัยไปแล้ว จะปฏิบัติอย่างไรก็ไม่ได้ เป็นผู้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษขึ้นมา เพื่อให้คะแนนหักคะแนนผู้ปฏิบัติพระศาสนาเสียอีก ก็ยิ่งให้เห็นชัดลงไปว่า คนเช่นนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
เพราะไม่เคยปฏิบัติศาสนธรรม ไม่เคยถึงจิตถึงใจ แล้วทำไมจะไปทราบว่ามรรคผลนิพพานหมดเขตหมดสมัยได้ด้วยเหตุประการใด ตัวเองยังไม่เคยปฏิบัติต่อศาสนานั้นเลย ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จึงยกให้เป็นข้อพิสูจน์สำหรับตัวเราเองทุกคน พระพุทธเจ้าให้ความเสมอภาค ศาสนธรรมนี้ให้ความเสมอภาคแก่บรรดาสัตว์โลกทั่วๆ ไป ที่มีความสามารถจะประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของพระองค์ท่านได้มากน้อยเพียงไร ให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เราอย่าเข้าใจว่าศาสนานี้มีอยู่ในวัด อยู่กับพระกับเณร อยู่ตามโบสถ์ตามวิหาร ตามคัมภีร์ใบลานต่างๆ โดยถ่ายเดียว จะเป็นความเข้าใจผิด
ความจริงศาสนธรรมก็เป็นเครื่องสอนจิตใจมนุษย์มนาเทวดาทั้งหลาย ให้ละชั่วทำดี การทำชั่วทำดีนี้ก็คือมนุษย์เรานี้เป็นจอม ไม่มีใครที่จะเฉลียวฉลาดทำชั่วทำดีได้ยิ่งกว่ามนุษย์ มนุษย์จึงเป็นภูมิที่เหมาะสมกับศาสนธรรมที่พระองค์ท่านจะประทานไว้ แล้วก็ประทานไว้กับมนุษย์เราให้ประพฤติปฏิบัติ ผลก็เราเองเป็นผู้จะได้รับ พระพุทธเจ้าไม่ได้มาแบ่งสันปันส่วนอันใดกับพวกเราเลย ทั้งๆ ที่ประทานโอวาทไว้ เพราะประทานไว้ด้วยพระเมตตาล้วนๆ กาลนี้อัตภาพนี้ของเรา เป็นกาลเป็นอัตภาพที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อศาสนธรรม คือการบำเพ็ญ เราจะไปหาเวล่ำเวลา กาลสถานที่อันเป็นเรื่องหลอกลวงตัวเองให้เสียไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อันใด การกระทำคุณงามความดี เราเป็นผู้กระทำ เพราะเราต้องการผลคือความสุขความเจริญ ทำที่ไหนเราทำได้ทั้งนั้น ถ้าอุบายของเราทันกับกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องหลอกลวงมาเป็นประจำ
สถานที่นั่นดี สถานที่นี่ไม่ดี เวลานี้ไม่เหมาะ เวลานั้นไม่ควร วัยนี้ไม่เหมาะสม วัยโน้นถึงค่อยทำ มีแต่เรื่องหลอกเรื่องลวง ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสแล้วมันเหมาะสมทุกเรื่องนั่นแหละ เพราะเราเชื่อมัน เราไม่เคยเห็นกิเลสว่าเป็นข้าศึกต่อเรา เราจึงต้องคล้อยตามและเชื่อโดยลำดับลำดา เมื่อยกธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องเทียบเคียงแล้ว เราก็จะเห็นว่ากิเลสกับธรรมนี้เป็นคนละอย่าง แล้วเป็นข้าศึกกันด้วย ซึ่งมีอยู่ภายในหัวใจของเราคนเดียวกัน เราก็มีทางที่จะแยกแยะสิ่งเหล่านี้ออก กำจัดสิ่งเหล่านี้ได้ ความดีก็ปรากฏขึ้นที่ใจของเราได้เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล
หากเราไม่สามารถที่จะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คุณงามความดีที่สร้างมานี้ ก็คือใจนั้นแลเป็นสถานที่เก็บรักษาสมบัติ คือคุณงามความดีทั้งหลายไว้ ไม่มีภาชนะใดที่จะเหมาะสมยิ่งกว่าใจที่จะรับอรรถรับธรรม รับบุญรับกุศล รับบาปรับกรรมอะไร ก็คือใจ ฉะนั้นใจจึงสำคัญที่ควรจะได้รับการอบรม ให้รู้วิธีปฏิบัติต่อตัวเอง เกิดมาเราก็พึ่งบุญ ตายไปเราจะพึ่งอะไร เราก็ต้องพึ่งบุญเหมือนกัน บุญคือความสุข ความหวังต่อความสุขความเจริญมีอยู่ด้วยกันทุกถ้วนหน้าและตลอดเวลาด้วย ความทุกข์ไม่ต้องการเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ให้ทราบความหวังของตน แล้วพยายามส่งเสริมความหวังด้วยการประพฤติปฏิบัติดี แล้วเราจะได้สมหวังในวันหนึ่งแน่นอน พ้นไปไม่ได้
เพราะธรรมเป็นของจริง จริงเรื่อยมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศศาสนธรรมทีแรก จนกระทั่งปัจจุบันนี้ และยังจะจริงตลอดไป ถ้าคนนำมาปฏิบัติให้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างจะปรากฏความจริงขึ้นภายในใจของผู้ปฏิบัติ เว้นผู้ที่ไม่ปฏิบัติและไม่สนใจเสียเท่านั้น จะอยู่กับความจริงจนกระทั่งวันตายกี่กัปกี่กัลป์ก็ไม่ทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร คงเช่นเดียวกันกับทัพพีอยู่กับแกงนั่นแหละ ระคนปนเปกันอยู่ทั้งวันทั้งคืนก็ไม่รู้รสชาติของแกงว่าเผ็ดเค็มประการใดบ้าง สู้ลิ้นที่อยู่ไกลๆ ก็ไม่ได้ นั่นเอาตรงนี้ ให้เป็นลิ้นทุกคน ให้รู้รสของธรรม เพราะธรรมสำหรับสัมผัสหัวใจ เป็นที่สถิตก็คือใจ ภาชนะที่เหมาะสมแก่ธรรมก็คือใจ ให้พยายามปรับปรุงจิตใจของเราให้ดี
ใจเป็นสิ่งที่มีเจ้าของคือสติปัญญาคอยเป็นผู้ควบคุม มันจะผาดโผนโลดเต้นไปไหน มีสติปัญญาเป็นเครื่องหักห้าม เหนือสติปัญญาไปไม่ได้ ถ้าเราจะปล่อยให้เป็นไปตามอำเภอใจ เป็นไปตลอดเวลา ไหลลงไปเรื่อยเช่นเดียวกับน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำ จะให้มันไหลขึ้นไปบนภูเขาเป็นไปไม่ได้ จะต้องมีเครื่องผลักดันขึ้นไปถึงจะขึ้น นี่ก็เอาสติปัญญาเป็นเครื่องผลักดันจิตใจขึ้นจากสิ่งที่ต่ำทรามทั้งหลาย ให้ขึ้นสู่ความดีที่เรียกว่าสูง เราทำได้ด้วยกัน ขอให้มีความเชื่อความเลื่อมใสในศาสนธรรมเท่านั้น ฝืนได้ อย่างอื่นเรายังพอฝืนได้ยังทำได้ ทุกข์ยากลำบากเรายังทำได้ ทำไมการประพฤติธรรมเพื่อตัวเองเป็นอันดับแรก ทำไมเราทำไม่ได้ ต้องหาอุบายพร่ำสอนตัวเอง มันก็เป็นไปได้ เอาละการแสดงธรรมก็เห็นสมควรเพียงแค่นี้
รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ |