พัฒนาจิตใจก่อนอื่น
วันที่ 5 สิงหาคม 2519 ความยาว 26.28 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

พัฒนาจิตใจก่อนอื่น

ทีนี้เราพูดถึงเรื่องพัฒนา พุทธศาสนาเป็นหลักวิชาอย่างเยี่ยมในการพัฒนา คือพัฒนาจิตใจก่อนอื่น มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา สิ่งทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่เป็นสำคัญ เป็นโรงงานอันใหญ่โตที่จะผลิตดีและชั่วขึ้นมา ขึ้นอยู่กับใจ ใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งควรจะได้รับการพัฒนาก่อนอื่น การตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ก็คือความสำเร็จการพัฒนาจิตใจโดยสมบูรณ์ พระสาวกทั้งหลายที่ได้สดับตรับฟังจากพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติจิตใจของตนก็เรียกว่า ทำหน้าที่พัฒนาจิตใจสำเร็จเป็นขั้นๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงขั้นสูงสุดแห่งการพัฒนาจิตใจ เรียกว่าถึงขั้นอันสมบูรณ์ ได้แก่อรหัตผล เมื่อได้พัฒนาจิตใจให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่มีความบกพร่องในตนแล้ว การสั่งสอนคนอื่นก็สั่งสอนได้โดยถูกต้องแม่นยำและถึงใจด้วย ไม่ว่าธรรมขั้นใด

โลกผู้นับถือพุทธศาสนาตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า จึงควรจะได้รับการอบรมการพัฒนาทางด้านจิตใจก่อนอื่นเช่นเดียวกัน หากว่าจิตใจได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กันกับทางด้านวัตถุแล้ว ก็จะได้รับความสะดวกสบาย มีความผาสุกทั้งภายนอกภายใน สิ่งภายนอกคือด้านวัตถุ อันนี้ก็มีการพัฒนามากมาย แต่จิตใจไม่ได้พัฒนาไปพร้อมๆ กันแล้ว ก็ไม่พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่นั่นแล

ในแผ่นดินนี้มีวัตถุเครื่องสนองความต้องการของโลกมากมายก่ายกอง ไม่เห็นมีอะไรบกพร่องพอที่จะอดอยากขาดแคลนกันนักเลย แต่ทำไมมนุษย์เราจึงมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายระส่ำระสายอยู่ทุกแห่งทุกหนตำบลหมู่บ้าน ไม่ว่าประเทศเขตแดนใดก็ตาม นี่เป็นเรื่องความทุกข์เป็นเจ้าหน้าเจ้าตา ออกหน้าออกตาเสียจนหมด เมื่อพูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วรู้สึกว่ามนุษย์เรานี้ จะมีความทุกข์มากยิ่งกว่าบรรดาสัตว์เสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่มนุษย์มีความฉลาดกว่าสัตว์ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะขาดการพัฒนาทางด้านจิตใจ การปฏิบัติต่อหน้าที่การงาน และปฏิบัติต่อกันในเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน จึงเป็นลุ่มๆ ดอนๆ และมีการกระทบกระเทือนเป็นส่วนใหญ่ ผลจะพึงได้รับก็ต้องเป็นความทุกข์ความเดือนร้อนไปด้วยกัน เพราะจิตใจขาดการพัฒนา

การพัฒนาจิตใจก็คือให้เป็นไปตามเหตุตามผล เพื่อจะสมานความจริงให้เข้าถึงกัน ความจริงก็คือไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าบุคคล มีความรักตนด้วยกันทั้งนั้น สัตว์ตัวใดที่ไม่รักตนไม่สงวนตน ไม่กลัวความล้มความตาย ความเจ็บปวดรวดร้าวต่างๆ นี้ไม่มี นอกจากสัตว์ที่ตายแล้ว และคนที่ตายแล้วเท่านั้นจึงไม่รู้สึกอะไร ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์เป็นคนแล้ว ก็ต้องมีความรักความสงวนตน ตลอดถึงพวกพ้องของตนเป็นธรรมดา เพื่อให้ความเสมอภาคตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่เป็นธรรมให้ความเสมอภาคอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เราจึงควรได้รับการอบรม แม้แต่เพียงศีลห้า ถ้าหากว่าเราได้รับการอบรมให้ถึงเหตุถึงผล ถึงหลักความจริงแห่งพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าแล้ว โลกนี้จะได้รับความร่มเย็นไม่น้อยเลย

ยกตัวอย่าง เช่น ปาณาติบาต เราอย่าแปลออกไปนอกๆ โน้น ปาณาติบาต อย่างฆ่าสัตว์ คือห้ามฆ่าสัตว์ อย่าฆ่าสัตว์ ให้เราย้อนเข้ามาถึงตัวของเรานี้ก่อนอื่น เพราะอะไรๆ ก็อยู่กับเรา ขึ้นอยู่กับเรา เรารักเราสงวนเรามากยิ่งกว่าสิ่งใด แม้เราจะอยู่ในโลกด้วยกันมีจำนวนมากมายเพียงไรก็ตาม ก็เหมือนกับมีแต่ตนคนเดียว เพราะความเห็นแก่ตัวหรือความเห็นแก่เรานี้มันมีมากขนาดนั้น มีน้ำหนักภายในจิตใจของเรามาก เหมือนหนึ่งว่าโลกไม่มีความหมาย คนอื่นไม่มีความหมายเหมือนตัวคนเดียวนี้เลย

ฉะนั้นจึงยกอันนี้ขึ้นมาให้เข้ากันได้ว่า ปาณา อย่าฆ่าเรา เพราะเรารักชีวิต อย่าเบียดเบียนเรา เราไม่ต้องการความทุกข์ความลำบาก เราปฏิบัติรักษาตัวเราอยู่ตลอดเวลา ตะเกียกตะกายแทบล้มแทบตาย เพื่อความหลุดพ้น หรือเพื่อความหลีกเลี่ยงจากความทุกข์ทั้งหลาย มิหนำซ้ำยังจะมาฆ่าเราด้วยแล้วมีอย่างที่ไหน เราไม่ประสงค์อยากตายอย่ามาฆ่า เมื่อยกเราเป็นตัวประธานขึ้นมาแล้ว คนอื่นเขาก็บอกว่าอย่ามาฆ่าฉัน นั่น เพราะฉันก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ตลอดถึงสัตว์อย่ามาฆ่าฉัน อย่ามาฆ่าเรา คนนั้นก็ว่าอย่ามาฆ่าเรา ทั่วทั้งโลกมันมีน้ำหนักเท่ากันแล้วทำกันไม่ลง เมื่อยกเราขึ้นเท่านั้น อย่าฆ่าเรานะ เท่านี้ เขาก็บอกว่าอย่าฆ่าเราเหมือนกัน เมื่ออย่าฆ่าเราแล้วอย่าฆ่าเขา เพราะมันเหมือนๆ กัน โลกก็ปลงใจต่อกันได้ มีความผาสุก ทำกันไม่ลง ยกเพียงศีลห้าขึ้นมา ข้อปาณานี้ มันก็มีน้ำหนักมากแล้ว

อทินนา อย่ามารักของฉัน เข็มเล่มหนึ่ง ฉันถือเป็นกรรมสิทธิ์ ฉันเสียดาย เราเสียดาย ถ้าเราให้ด้วยเจตนาด้วยความยินดีแล้ว ให้เป็นล้านๆ เราก็พอใจให้ แต่การมาฉกมาลักอย่างนี้ไม่พอใจ ไม่ว่าใครทั้งนั้นเป็นความเจ็บลึกอยู่ภายในใจ สิ่งที่เขาลักนั้นไม่สำคัญอะไรนักยิ่งกว่าใจซึ่งเป็นเจ้าของนี้เลย การลักก็ดี การฆ่าก็ดี เป็นการทำลายจิตใจกันซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โตมาก พระพุทธเจ้าห้ามลงจุดนี้ ให้เห็นหัวใจกันว่ามีความสำคัญเท่าไร ในโลกนี้มีหัวใจเป็นสำคัญกว่าอื่น

กาเมสุ มิจฉาจาร อย่ามายุ่งกับเมียฉัน อย่ามายุ่งกับผัวฉัน ผัวของแก ผัวของฉัน มันเหมือนกันหมด เรายกของเราออกมาเทียบกันมันก็ได้กัน ได้สัดได้ส่วนกัน คนไม่ตายถูกผ่าหัวใจให้ดิ้นรนกระวนกระวายกระเสือกกระสนอยู่อย่างนี้ เป็นความทุกข์ความทรมานมาก ท่านจึงห้ามในข้อนี้ เพียงสามข้อนี้ก็ทำโลกให้ร่มเย็นแค่ไหน

มุสา โลกนี้ไม่ต้องการความโกหกหลอกลวง โลกอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ เพราะความสัตย์ความจริงต่างหาก ไม่ใช่เพราะความหลอกลวงต้มตุ๋นกัน การโกหกพกลมไม่ใช่เป็นของดี ทำจิตใจของคนอื่นให้กำเริบมากมาย การโกหกหลอกลวงบางประเภทนี้ถึงชีวิตทีเดียว เป็นความเสียหายถึงชีวิตจิตใจ กระเทือนมากมาย

สุรา เราเกิดมาจากท้องแม่ของเรา พ่อแม่ของเราไม่เคยเอาสุรายาเมามาให้เรากินเราดื่มแทนน้ำแทนท่าอะไร เพราะไม่อยากเห็นลูกเป็นบ้า พูดง่าย ๆ ตั้งแต่มันเป็นโดยหลักธรรมชาติของมันพ่อแม่ก็เสียอกเสียใจ เพียงวิกลวิการส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ถึงกับขั้นเป็นบ้าก็ตาม ก็เสียใจมาก ไหนจะเอาสุราไปให้ลูกกินแล้วให้ลูกเป็นบ้า มีอย่างหรือ พ่อแม่ไม่มีคนไหนเลยที่จะเอาสุราไปเลี้ยงลูก เอาแต่ของดิบของดี ข้าวต้มขนม น้ำก็เป็นนมจะว่าไง ก็เพราะเห็นว่าสุรานี้เป็นพิษเป็นภัย ท่านเห็นเป็นพิษเป็นภัยมานานแล้ว ท่านถึงได้ตั้งกฎบัญญัตินี้ขึ้นมาให้โลกทั้งหลายได้ทราบว่าสิ่งนี้เป็นภัย

พระพุทธเจ้าองค์ใดก็ตามที่ได้ตรัสรู้ขึ้นมาในโลก นับไม่ทราบกี่หมื่นกี่ล้านองค์ เพราะนานแสนนาน ตรัสรู้ถ่ายทอดกันมาเรื่อยๆ เป็นวรรคเป็นตอน เช่น พุทธันดรหนึ่งๆ ก็หมายถึง ระหว่างพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ๆ ที่มาตรัสรู้ธรรมสอนโลก แล้วโลกนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไร พระพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้เรื่อยๆ อย่างนั้น หลายครั้งหลายหนเข้าไปมันก็มากมายก่ายกอง แล้วสอนธรรมแบบเดียวกันทั้งนั้น มีศีลห้านี้เป็นต้น ท่านก็สอนแบบเดียวกัน

ทำไมท่านจึงสอนแบบเดียวกัน เพราะความรู้ความเห็นของนักปราชญ์ไม่ได้แย้งกันเหมือนความรู้ความเห็นของโลกที่มีกิเลส เป็นความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำเหมือนกันจึงหาที่ค้านกันไม่ได้ เวลาบัญญัติบันยังอะไรลง การแนะนำสั่งสอนจึงลงในรอยเดียวกัน ไม่มีการคัดค้านกันได้เลย เพราะเป็นความจริงด้วยกัน ของจริงแล้วย่อมไม่กระทบกัน ต่างอันต่างจริง ไม่มีการกระทบไม่มีการขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นศีลห้านี้จึงเป็นที่ยอมรับกันมาตั้งแต่กาลไหนๆ จนสมัยปัจจุบัน และยังจะเป็นที่ยอมรับกันตลอดไป เพราะเป็นความจริง อันเป็นแนวทางชีวิตที่จะให้โลกได้รับความสงบเย็นใจด้วยศีลห้านี้

ในข้อห้า สุรา เป็นของมึนเมา พอพูดถึงในแง่นี้ก็เคยมีคนมาถาม ตอนไปฉันที่กระทรวงศึกษาธิการ เขามาถาม ผู้ถามก็เป็นนักสุราคอสุราทีเดียว ว่าการดื่มสุรานี้ ท่านบอกว่าเป็นโทษ เราจะดื่มไม่ให้เกิดความมึนเมา ดื่มพอดิบพอดี พอเข้าสังคมได้ อันนี้จะเป็นบาปไหม ว่างั้น เพราะเราไม่ดื่มให้มึนเมา จำเป็นก็ต้องได้ตอบ ขนาดไหนที่ว่าเห็นว่าพอดี ที่เข้าสังคมได้พอดี ไม่ถึงกับมึนเมา หากว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นของดี ไม่เสียอะไรแล้ว ก็ขอเชิญไปหาสุรามาให้หลวงตาบัวดื่มเดี๋ยวนี้ เอาให้ขนาดพอดีกับเข้าสังคม เวลานี้เรากำลังอยู่ในสังคม พวกท่านทั้งหลายจะเห็นด้วยไหม จะพอใจไปหาสุรามาให้หลวงตาบัวดื่มไหม ดื่มเพื่อสังคมเวลานี้ อย่าเอาขนาดที่มันเป็นบาป ให้เอาขนาดที่ท่านทั้งหลายเห็นดีว่าเหมาะกับสังคม

เขาก็บอกว่าทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้แล้ว หลวงตาบัวก็เป็นคน ท่านทั้งหลายก็เป็นคน ข้อบัญญัติบันยังทั้งหมดพระพุทธเจ้าบัญญัติสอนคน สิ่งที่ว่าเป็นบาปก็ว่าเป็นบาป แล้วใครจะเหนือโลกไปไม่เป็นบาป ฆราวาสก็ต้องเป็นบาป พระก็ต้องเป็นบาป เมื่อพระเห็นว่าไม่งามแล้วฆราวาสก็ไม่งามเหมือนกัน สิ่งที่ไม่งามก็คือสิ่งที่ผิด จึงไม่ควรจะไปกล้าหาญในสิ่งเช่นนั้น ซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลายท่านตำหนิ ท่านกลัวกัน

นี่เราพูดถึงเรื่องการพัฒนาจิตใจ เมื่อใจได้รับการพัฒนาตามเหตุตามผล มีความซึ้งในอรรถธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว การที่จะแสดงออกทางกายทางวาจา อันเป็นข้าศึกต่อตนเอง ที่เรียกว่าเป็นข้าศึกต่อธรรมนั้น ย่อมลดลงไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งไม่มี เมื่อจิตใจได้รับการพัฒนาตามสมควรแล้ว เราจะทำหน้าที่การงานจะก่อร่างสร้างอะไรก็ตาม เพราะจิตเป็นตัวประธาน จิตเป็นเจ้าของ เป็นผู้รับผิดชอบ ได้รับการอบรมมาโดยถูกต้องดีงาม เหมาะสมกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะให้เกิดผลงานขึ้นมาตามเหตุตามผลนั้นๆ ก็ย่อมได้เหตุผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำอะไรขึ้นมาก็ได้รับผลเป็นที่พอใจ เป็นความสุขตามฐานะแห่งงานนั้นๆ หรือผลแห่งงานนั้นๆ ที่ตนทำขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้นการพัฒนาจิตใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก มากยิ่งกว่าการพัฒนาภายนอก ให้เหมาะสมจริงๆ ก็คือการพัฒนาจิตใจด้วย การพัฒนาทางด้านวัตถุด้วย เรื่องการพัฒนาจิตใจเป็นสิ่งสำคัญอยู่มากก่อนที่จะพัฒนาอันใดก็ตาม เพื่อเป็นที่ยอมรับกันก็คือจิตเป็นเจ้าของ สิ่งต่างๆ จะผิดถูกดีชั่วประการใดขึ้นอยู่กับจิตที่ได้รับการอบรมมากน้อย หรือการพัฒนามากน้อย หากจิตไม่ได้รับการพัฒนาอะไรเลยนี้ แม้แต่สิ่งที่เป็นคุณ ที่โลกใช้มาเป็นคุณก็ยังมาเป็นโทษแก่จิตดวงนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ไฟ โลกใช้หุงต้ม ใช้ประโยชน์อะไรได้มากมายก่ายกอง แต่เอาไปเผาบ้านดูซิเป็นยังไง อย่างเราเห็นนี้ พัฒนาเผาบ้านเผาเมือง แล้วปลูกกันขึ้นใหม่ดูซิ พัฒนาแบบนี้ดีไหม

หัวใจนั้นแหละมันรกรุงรังด้วยความโลภ เห็นแก่ได้เพียงเล็กน้อย พอได้กินไปวันหนึ่งๆ ก็เอา บ้านเมืองของใครจะฉิบหายวายปวงสักเท่าไรก็ไม่สนใจ ขอให้พุงเรากางๆ สักหน่อยก็พอ เราเป็นที่สบาย อยู่ในท่ามกลางหรืออยู่บนศีรษะของคนผู้เดือดร้อนเพราะถูกไฟเผา ก็ไม่ได้คิด เพราะไม่ได้พัฒนาจิตใจ ไม่มองเห็นหัวใจเขาหัวใจเรา สมบัติเขาสมบัติเรา มันมีคุณค่าอย่างไรบ้าง หรือมีเฉพาะเราคนเดียว โลกนี้เป็นหมู หรือเป็นสัตว์ เป็นไม้แห้งไปหมดอย่างนั้นหรือ ถ้าจิตใจได้รับการพัฒนาแล้ว จะคิดอย่างนั้นไปไม่ได้ ต้องคิดเป็นความสม่ำเสมอ เขาเหมือนเรา เราเหมือนเขา มนุษย์เหมือนกัน มีความรักสงวนตนเช่นเดียวกันหมด

ตามหลักธรรมท่านก็กล่าวไว้แล้ว ความรักเสมอตนนั้นไม่มี ตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง และเมื่อเราพูดได้ เรามีความรู้สึกเราว่า ตนเป็นที่รักอย่างยิ่งนี้แล้ว ใครจะไม่ว่าตนเป็นที่รักอย่างยิ่งเหมือนกับเรานี้ไม่มี ทั้งโลกไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าอะไร ตนเป็นที่รักอย่างยิ่งเหมือนกันหมด นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ ความรักอื่นเสมอด้วยตนไม่มี ถ้าสัตว์เขาพูดได้ เขาก็จะ นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ สัตว์ตัวไหนก็จะเปล่งวาจาออกมาอย่างนี้ นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ หากได้ยินเสียงแล้วจะลั่นโลกนี้เลย มีแต่เสียงอันเดียวนี้ทั้งนั้น ไม่มีสัตว์ตัวใดไม่รักตน การรักตนก็ต้องสงวนตน ไม่อยากจะให้อะไรหรือใครมาแตะต้องทำลายเลย เมื่อเราหยั่งเข้าถึงความจริงของเขาของเราแล้วก็ทำกันไม่ลง

นี่แหละศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าที่ออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ จึงเป็นความเสมอภาค ให้ความเสมอภาคแก่สัตว์โลกทั้งปวงไม่ยิ่งไม่หย่อน พระพุทธเจ้าอยู่ได้กับสัตว์ ฉลาดขนาดไหนไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้า ความบริสุทธิ์ก็ไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้า แต่ทำไมอยู่ได้กับสัตว์ ร่มเย็นไปหมดทั้งสัตว์ทั้งบุคคล เทวบุตรเทวดาอินทร์พรหม ไม่เคยเป็นภัยกับผู้ใด นอกจากเป็นคุณต่อโลกโดยถ่ายเดียว เพราะธรรมนั่นเอง เข้าได้หมด สัตว์จะเล็กขนาดไหนก็ตาม ท่านไม่ให้ทำลาย ฟังซิ ก็เพราะความสำคัญของสัตว์ตัวนั้น ๆ มีเท่ากันกับมนุษย์ มีเท่ากันกับเรา จึงทำกันไม่ลง และสอนไม่ให้ทำกัน ไม่ให้เบียดเบียน ไม่ให้ทำลายกัน เป็นความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง นี่เราพูดในแง่ทั่วไปๆ

ทีนี้ย้อนพูดเข้ามาถึงใจเราโดยเฉพาะ เราเห็นว่าอะไรสำคัญเวลานี้ ใจของเราเห็นแต่เป็นสำคัญ เมื่อเราเห็นว่าใจของเราเป็นสำคัญ เราจะทำวิธีใดที่จะพยายามรักษาจิตใจของเราให้มีความร่มเย็นเป็นสุข สมกับเรารักเรา สมกับใจเป็นของสำคัญ เวลานี้มีแต่สิ่งที่เป็นข้าศึก มันกลุ้มรุมอยู่ภายในจิตใจ จนกระทั่งสิ่งเหล่านั้นเราเข้าใจว่าเป็นเราเสียทั้งหมด ความโลภก็คือเรานั่น ความโกรธก็คือเรา ความหลงก็คือเรา ขึ้นชื่อว่ากิเลส เครื่องก่อกวนทำลายในจิตใจของเรามากน้อย มันเข้าในบัญชีโดยหลักธรรมชาติเสียแล้ว ว่าเป็นเราเสียทั้งหมด เพราะฉะนั้นการจะแยกกิเลสจากจิตใจของเราออกเป็นคนละสัดละส่วน ว่านั่นเป็นกิเลส นี้เป็นเรา อย่างนี้จึงแยกยาก และไม่ทราบจะแยกวิธีไหน และไม่สนใจที่จะแยก เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นเรา เป็นของเรา อะไรเป็นข้าศึกต่อเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารักอย่างยิ่ง จึงเป็นสิ่งที่กิเลสครองอยู่ตลอดเวลา

เรามีแต่ความไปปักปันเขตแดนเอาเฉยๆ ว่าใจเป็นของเรา ใจเป็นเรา ทั้งๆ ที่กิเลสมันก็ถือว่าเป็นมันเหมือนกัน สุดท้ายก็กิเลสนั่นแลเป็นเรา มาเข้าแทรกที่ตรงนี้ เราเลยหาที่แก้ไม่ได้ จะแก้อะไรก็กลัวจะกระเทือนเรา คือตัวกิเลสนั่นแหละมันมาแฝงเป็นเราเสียเอง เราจะแก้กิเลสก็กลัวจะกระเทือนเรา ทีนี้เรากับกิเลสก็กอดกัน หลับนอนเป็นตายอยู่อย่างนั้นตลอดกัปตลอดกัลป์ ไม่มีวันอิ่มพอ ทีนี้เราจะพัฒนายังไง เราจะพัฒนาอะไรให้มันเจริญเวลานี้ ปกติกิเลสมันได้รับการพัฒนาทุกวัน เราอุปถัมภ์อุปัฏฐากดูแลมันตลอดเวลา เพราะเราเข้าใจว่ากิเลสนี้เป็นเรา

ความโลภก็ได้รับพัฒนามากมายก่ายกอง จนกระทั่งโลกจะฉิบหายเพราะความโลภของแต่ละบุคคลๆ เกิดความกระทบกระเทือนกันมากมาย จะรบราฆ่าฟันอะไร มันมีแต่ความโลภอันนี้ เป็นตัวเหตุเป็นเจ้าอำนาจวาสนาใหญ่โตรโหฐาน จึงได้รับการพัฒนามากมายสำหรับอันนี้ อันนี้ถูกพัฒนามากน้อยเพียงไร โลกก็ยิ่งมีความเดือดร้อนมากเพียงนั้น เพราะโลกถือว่าอันนี้เป็นเรา เป็นของเรา แล้วเราเวลานี้อะไรที่ได้รับพัฒนา ใจเราว่าได้รับพัฒนาด้วยธรรม เวลานั่งภาวนาเป็นอย่างไงบ้าง มีแต่ความง่วงเหงาหาวนอน กิเลสมันกล่อมไปเรื่อยๆ มันก็พัฒนาไปในตัวของมันเอง

ในขณะที่เราตั้งใจว่าเราจะพัฒนาจิต ความโงกง่วง ความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจขี้คร้าน เจ็บนั้นปวดนี้ อ่อนแอ มันก็พัฒนาของมัน ผลสุดท้ายก็ล้มไปตามมัน แล้วเป็นยังไง ผลการพัฒนาของเราก็คือหมอน แล้ววันนี้ก็หมอน วันหน้าก็หมอน สุดท้ายก็มีแต่เรื่องพัฒนากิเลสจะว่าไง ทีนี้ย่นเข้ามาเรียกว่า โอปนยิโก ให้น้อมเข้ามา สิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในจิตใจของเราไม่อยู่ที่อื่น การแก้ไขดัดแปลงจึงต้องแก้ไขกันที่นี่ ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้าอย่างถึงใจแล้ว ความเพียรมันก็มีมาเอง ศรัทธาความเชื่อเป็นสำคัญ เมื่อเชื่อต่อเหตุต่อผลในหลักธรรมพระพุทธเจ้าแล้ว ความเพียรก็มาเอง ความอดความทนก็มาเอง สติปัญญาไม่ได้จนตรอกคนเรา คือไม่ได้โง่อยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวจนตรอกแล้ว สติปัญญาก็เกิดขึ้นมาได้เพราะการเสาะแสวงหา ไม่จนตรอกง่ายๆ มันไปจนได้ ไปรอดจนได้

กิเลสไม่ใช่จะมีความฉลาดแหลมคมเหนือเราเสมอไป เรายังสามารถที่จะฟาดฟันกิเลสให้แหลกลงไปได้ด้วยอำนาจของสติปัญญาซึ่งมีความแหลมคมกว่ากิเลสได้ ดังพระพุทธเจ้าทรงดำเนินมาแล้ว ท่านจึงได้ประทานอาวุธเหล่านั้น ซึ่งได้ผลมาแล้วเป็นที่พอพระทัยให้แก่พวกเรา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหล่านี้เป็นอาวุธทั้งหมด ให้ดำเนินพัฒนาจิตใจที่ถูกรุมล้อมอยู่ด้วยกิเลสทั้งหลายนี้ให้มันค่อยหมดไปๆ อย่างน้อยก็พอได้รับความเย็นอกเย็นใจ และพอได้รู้เหตุรู้ผลในการดำเนินชีวิตจิตใจของตน หน้าที่การงานเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล เราก็มีความสุขความสบาย

ยิ่งกว่านั้นจิตมีความฉลาดแหลมคม กิเลสประเภทต่างๆ ที่เคยฝังจมอยู่เป็นเรา เป็นเราๆ มาตลอดเวลานั้นจะถูกแยกออกไป จะแยกออกไปถือว่าเป็นคอมมูนิสต์ก็ได้ จะถือว่าเป็นข้าศึกก็ถูก แล้วแยกแยะกันไม่หยุดไม่ถอย แยกได้ทำไมแยกไม่ได้ หากแยกไม่ได้พระพุทธเจ้าไม่สอนให้แยก พระองค์ตรัสรู้ขึ้นมาไม่ได้ ตรัสรู้ขึ้นมาด้วยอะไร ด้วยสติด้วยปัญญา เราก็นำเครื่องมือนั้นมาแก้ มาถอดถอน ถอดถอนได้ ถอดถอนได้จนไม่มีอะไรเหลือภายในใจ เมื่อใจได้ถึงความบริสุทธิ์เต็มที่เพราะการพัฒนาด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรอย่างเต็มที่เช่นเดียวกันแล้ว นั้นแลเป็นจิตที่ควร เป็นจิตที่เหมาะสมต่อธรรมทั้งหลายอย่างยิ่ง

อยู่ไหนก็อยู่เถอะ ไปไหนก็ไปเถอะ กาลสถานที่ เวล่ำเวลา อดีต อนาคตไม่มี เพราะจิตดวงนี้พอแล้วในตัวเอง จึงไม่ไปหิวโหย ลูบคลำ คว้าโน้น คว้านี้ ถึงอดีต อนาคต ปัจจุบันอะไรก็แล้วแต่ สถานที่ การเป็นการตาย การตกนรก ขึ้นสวรรค์ ไปนิพพานที่ไหนหมดปัญหาไปหมด เพราะตัวนี้เป็นตัวปัญหา เมื่อแก้ปัญหาภายในตัวเองเสร็จสิ้นลงไปแล้ว ปัญหาก็ไม่มี เป็นผู้สิ้นสุด จะเรียกว่าวิมุตติพระนิพพานก็ได้ ไม่เรียกท่านก็ไม่หิวไม่โหย เรียกทำไม ของรู้อยู่กับตัวอยู่แล้ว จำเป็นอะไรจะต้องไปเรียก นั่นพอ นี่คือการพัฒนาจิตใจ

พระพุทธเจ้าทรงพัฒนาจิตใจเป็นพระองค์แรก สอนสาวกทั้งหลายให้พัฒนาจิตใจ ท่านก็ดำเนินการพัฒนาจิตใจจนถึงขั้นวิมุตติสูงสุดหลุดพ้นไปได้ ศาสนธรรมที่ประกาศสอนโลกมาโดยลำดับนี้ ก็สอนให้พัฒนาจิตใจก่อนอื่น เพราะใจเป็นเจ้าตัวการ เป็นเจ้าการเจ้างาน เป็นทุกสิ่งทุกอย่างภายในจิตใจ เป็นผู้บงการ การงานจะผิดถูกดีชั่วประการใด ขึ้นอยู่กับใจเป็นผู้สั่งงาน ใจจึงควรได้รับการอบรมให้ถูกต้องดีงาม ตามหลักธรรมที่เป็นความถูกต้องดีงามอยู่แล้ว แล้วจะมีความเจริญรุ่งเรือง การแสดงธรรมก็เห็นสมควร ขอยุติเพียงเท่านี้

 

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก