กรรมฐานเป็นน้ำดับไฟ
วันที่ 15 กรกฎาคม. 2547 เวลา 19:00 น.
สถานที่ : กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ

เมื่อค่ำวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

กรรมฐานเป็นน้ำดับไฟ

 

         ส่วนมากธรรมะของพระที่ท่านอยู่ในป่าในเขา ไม่ค่อยได้ออกมาแสดงในสังคมภายนอก นอกจากท่านแสดงอยู่ในป่าในเขา สำหรับบุคคลผู้ควรจะฟังได้มากน้อยเท่านั้น นอกนั้นท่านสอนหรือท่านแสดงเฉพาะพระที่ปฏิบัติด้วยกัน เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ส่วนภายนอกท่านไม่ค่อยได้ออกมา เพราะท่านอยู่ในป่า ไม่มีเวล่ำเวลาและท่านก็ไม่สนใจที่จะออกมาแสดงธรรมทางบ้านทางเมืองนอกๆ ของเรานี่ ท่านมักจะอยู่ในป่า พระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบส่วนมากท่านอยู่ในป่าทั้งนั้น

         รากเหง้าเค้ามูลแห่งพระพุทธศาสนาของเราก็คือพระพุทธเจ้า เสด็จออกจากพระราชวังเข้ามาอยู่ในป่า ทรงบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่า ถ้าจำไม่ผิดว่ากรุงพาราณสี(ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม รัฐมคธ) เป็นเวลา ๖ ปี ตะเกียกตะกายล้มลุกคลุกคลานเต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยวิธีการที่ยังไม่เคยบำเพ็ญมา หลายเรื่องหลายราวที่พระองค์ทรงทดลองจนเห็นว่าไม่ได้ผล จึงค่อยเปลี่ยนแปลงๆ ก็มาเปลี่ยนเอาวาระสุดท้าย อยู่ในป่านั้นแหละ เมืองพาราณสี พระองค์ทรงบำเพ็ญในป่า อยู่ในป่าตั้งแต่วันเสด็จออกทรงผนวช จนกระทั่งวันปรินิพพาน ไม่เคยออกจากป่าจากเขาไปอยู่ในสถานที่เช่นใดเป็นกิจจะลักษณะเลย นอกจากป่านั้นเป็นพื้นฐานของท่าน ที่เสด็จและประทับอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขในธรรม และพระสรีระของท่าน เหมาะสมอยู่สบายในป่าในเขาเรื่อยมา

         เวลาทรงบำเพ็ญอยู่ในป่าก็ได้ตรัสรู้ธรรม นี่คือถูกทางแล้ว โดยเจริญอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออกที่ทรงระลึกได้เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ พระราชบิดาพาเสด็จไปแรกนาขวัญ ท่านประทับอยู่ใต้ร่มหว้าใหญ่ ทรงบำเพ็ญอานาปานสติในเวลาเป็นพระราชกุมาร เกิดความอัศจรรย์วันนั้นสว่างไสวขึ้นในพระทัย นั่นละเป็นเรื่องปฐมฤกษ์ทีแรก แต่เวลาท่านไปทรงบำเพ็ญในที่อื่นๆ หลังจากเสด็จออกทรงผนวชแล้วท่านทรงบำเพ็ญธรรมประเภทอื่นเสีย เพราะความติดใจ ติดหู ติดตาคนทั้งหลาย ก็คือการทรมานร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ จะได้ตรัสรู้

         สัญญาอารมณ์นั้นก็คงจะมาติดพระทัยพระองค์ ทรงได้บำเพ็ญหลายแบบหลายฉบับ เช่นอดอาหารถึง ๔๙ วัน เพื่อจะได้ตรัสรู้จากการอดอาหารโดยถ่ายเดียว โดยไม่มีจิตตภาวนาเข้าแฝงเลยมันก็ผิดทาง ก็ไม่ได้ตรัสรู้ หลายประเภทที่พระองค์ทรงทดลอง ดูไม่ตรัสรู้ ปล่อยไปๆ มาวาระสุดท้ายนี้ก็ทรงอดพระกระยาหารอยู่ถึง ๔๙ วัน ไม่เสวยเลยจนสลบไสล ปรากฏว่าสลบไสลถึงสามหน เห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงทรงระลึกได้ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญอยู่ใต้ร่มหว้าใหญ่ ในคราวที่เป็นพระราชกุมาร โดยพระราชบิดาพาเสด็จไปแรกนาขวัญ

         พอระลึกได้แล้วก็ทรงแน่พระทัย บัดนี้เราจะทรงบำเพ็ญวิธีการที่เราบำเพ็ญมาแล้วตั้งแต่คราวเป็นเด็ก จะยึดอันนี้เป็นหลักเป็นเกณฑ์เลย จึงปล่อยการอดพระกระยาหาร มาก็มาอยู่ที่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ ตอนเช้าท่านปลงพระทัยแล้วว่าจะเสวยพระกระยาหารต่อไป แล้วบำเพ็ญอานาปานสตินี้เพื่อความตรัสรู้โดยถ่ายเดียว พอดีตอนเช้าวันเดือนหกเพ็ญ นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาส ๔๙ ก้อน แต่คงไม่ก้อนใหญ่นักแหละ ก็พอดีกับที่พระองค์ทรงอดพระกระยาหารมา ๔๙ วัน

         วันนั้นนางสุชาดามาถวายข้าวมธุปายาส ๔๙ ก้อน พระองค์ก็ทรงรับ แล้วทรงเสวยหมดพอดี แล้วตัดสินพระทัยว่าต้นโพธิ์ต้นนี้ สถานที่นี่เองเป็นสถานที่ตรัสรู้ หนึ่ง เป็นสถานที่ตายของเรา หนึ่ง ถ้าไม่ได้ตรัสรู้เราต้องตาย จากนี้ไปแล้วเราจะไม่ยอมลุก จะเจริญอานาปานสติ ในคืนวันนั้นทรงบำเพ็ญภาวนา แล้วมีโสตถิยพราหมณ์นำหญ้าคาแปดกำมือมาถวายให้เป็นที่ประทับนั่ง แล้วทรงบำเพ็ญอานาปานสติในคืนวันนั้น ต้องตัดสินพระทัยลงเลยว่าสถานที่เรานั่งนี้เป็นสถานที่เราจะต้องตรัสรู้หนึ่ง ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ก็เป็นสถานที่ตาย เราจะไม่ลุกจากสถานที่นี้อีกต่อไปแล้ว เพราะพระองค์ทรงมั่นพระทัยในอานาปานสติว่าถูกต้องแล้ว จึงต้องได้มอบทุกอย่างลงในอานาปานสติ ถึงขนาดชีวิตก็สละไปเลย ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ให้ตายในสถานที่เดียวกันนี้

         พระองค์ทรงบำเพ็ญถึงได้ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในป่า พอตรัสรู้ธรรมแล้ว อันดับแรกก็คือพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม อันดับต่อมาก็ทรงเล็งญาณดูสัตวโลก เห็นอุปนิสัยของสัตว์ที่พร้อมแล้วที่จะพ้นจากทุกข์ ยกตัวอย่างใกล้ๆ ก็คือมีเบญจวัคคีย์ทั้งห้า ส่วนดาบสทั้งสองที่เคยเป็นครูเป็นอาจารย์สั่งสอนท่านด้วยวิธีต่างๆ ตามนิสัยของพวกฤาษีดาบสนั้นได้เสียไปแล้วตั้งแต่วานนี้รู้สึกเสียดาย เล็งญาณดูเบญจวัคคีย์ทั้งห้านี้เป็นผู้พร้อมแล้ว ถ้าว่าวัวก็อยู่ปากคอกแล้วคอยที่จะโดดออกมาเมื่อประตูถูกเปิดออกมาเท่านั้น พระองค์ก็เสด็จมาแนะนำสั่งสอนเบญจวัคคีย์ทั้งห้า มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้น

         ขึ้น เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน เสวิตพฺพา ขึ้นทันทีธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เบญจวัคคีย์ทั้งห้านั้นได้รับอรรถธรรมของพระพุทธเจ้าในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในท่ามกลางแห่งการแสดงธรรมอยู่นั้นแล พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุพระโสดา โสตะแปลว่ากระแสแห่งพระนิพพาน กระแสแห่งความจริงที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้พาดพิงมาถึงใจดวงนั้นแล้ว จึงเรียกว่าบรรลุโสดา พอพระองค์เทศน์จบลง เรียกว่าสรุปพระธรรมที่พระองค์ทรงบำเพ็ญและแสดงมาตั้งแต่ เทฺวเม ภิกฺขเว จนถึงวาระสุดท้ายว่า ญาณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ ญาณความรู้ความเห็นอันเลิศเลอได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราตถาคต

         อกุปฺปา เม วิมุตฺติ ความหลุดพ้นจากทุกข์ จากกิเลสทั้งหลายของเราไม่มีการกำเริบอีกแล้ว อยมนฺติมา ชาติ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราตถาคต นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ต่อไปนี้เราจะไม่มาเกิดถือภพถือชาติ แบกกองทุกข์อีกต่อไปแล้ว พอจบพระพุทธพจน์ทั้งสี่บทสี่บาทนี้แล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะได้แสดงเป็นสักขีพยานขึ้นมาในวันนั้นว่า อายสฺมโต โกณฑญฺญสฺส วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขÿ อุทปาทิ ในขณะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมขึ้นแล้วในเวลานั้น โดยออกอุทานว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ นี้พูดด้วยความออกอุทานจึงพูดเด็ดพูดเดี่ยว พูดเฉียบขาด ไม่สงสัยในความรู้ของท่าน ว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดก็ตามเกิดแล้วดับทั้งนั้น

         แต่ในปริยัติท่านว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาย่อมมีความดับเป็นธรรมดา นี้ทางปริยัติท่านแสดงเอาไว้ แต่เบญจวัคคีย์คือพระอัญญาโกณฑัญญะได้เห็นประจักษ์ใจถึงขั้นออกอุทานขึ้นมาแล้ว จึงแน่ใจว่าจะไม่แสดงลอยๆ อย่างนั้น จะแสดงขึ้นมาว่า สิ่งใดก็ตามเกิดแล้วดับทั้งนั้น นี้เป็นความแน่ใจว่าโลกนี่หาความแน่นอนไม่ได้เลย ไม่มีที่ไว้ใจ ไว้ใจได้อันเดียวนี้แหละ ที่ว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ หยั่งทราบแล้ว กระแสของจิตกระแสของธรรมถึงแล้วซึ่งความไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่กระแสพระนิพพานถึงแล้ว นี่ท่านออกอุทานขึ้นมา

         พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระอุทานออกรับว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ พระอัญญาโกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ พระอัญญาโกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ ได้รู้แล้วหนอ คือจับสายทางแห่งพระนิพพานคือหลักความจริงล้วนๆ ได้ประจักษ์ใจแล้ว นี่ละที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระโอวาทเบื้องต้นแก่เบญจวัคคีย์ทั้งห้า ต่อจากนั้นมาก็กระจาย ท่านผู้ไปศึกษาอบรมเข้าไปอยู่ในป่าในเขา ตามพระพุทธเจ้าตลอดมา เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ สกุลของพระพุทธเจ้าจึงเป็นสกุลที่อยู่ในป่าในเขาล้วนๆ สาวกทั้งหลายอยู่ในป่าในเขาล้วนๆ ได้ตรัสรู้ธรรม บรรลุธรรมในป่าในเขามาเป็นสรณะของพวกเรา พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ได้ปรากฏขึ้นแล้วในหัวใจของพระพุทธเจ้า และสาวกทั้งหลายในป่าในเขา ท่านแสดงไว้อย่างนี้

         ผู้ที่บำเพ็ญอยู่ในป่ามาประจำ โดยพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนพระว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย บรรพชาอุปสมบทแล้วให้ท่านทั้งหลายอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ในป่าในเขา ตามถ้ำเงื้อมผา หรือป่าช้าป่ารกชัฏ ที่แจ้งลอมฟาง อันเป็นสถานที่สะดวกในการบำเพ็สมณธรรม ไม่มีสิ่งอื่นใดเข้ามาก่อกวนจิตใจ ให้ท่านทั้งหลายจงทำความอุตส่าห์อยู่อย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด พระโอวาทข้อนี้สอนมาตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งปัจจุบันนี้

         คำว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ พระไม่เว้นแม้องค์เดียว จนกระทั่งปัจจุบันนี้ที่จะไม่ได้รับพระโอวาทข้อนี้ พระโอวาทของพระพุทธเจ้าสอนอย่างเน้นหนัก บรรพชาแล้วให้เธอทั้งหลายไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ในป่าในเขา ให้ทำความอุตส่าห์พยายามอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด พระสงฆ์ก็สืบทอดมาตั้งแต่พระสงฆ์สาวกทั้งหลายจนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วตั้งแต่สืบทอดมาจากพระโอวาทข้อนี้อย่างเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่าสกุลของพระพุทธเจ้าคือสกุลแห่งป่า อยู่ในป่า บำเพ็ญในป่า ชื่อให้เพราะให้ทันสมัยอย่างทุกวันนี้เรียกว่า มหาวิทยาลัยป่า

         มหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัยถอดถอน สังหารกิเลสให้ขาดจากพระทัย ขาดจากใจของสาวกโดยลำดับลำดา แล้วผู้บำเพ็ญธรรมที่ไปเสาะแสวงหาอยู่ตามพระโอวาทที่สั่งสอนนี้ ก็บรรลุธรรมเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ไม่มีคำว่าครึว่าล้าสมัย การปฏิบัติธรรมตามพระโอวาทนี้จึงเป็นธรรมที่ทันสมัย พร้อมที่จะตรัสรู้ธรรมตลอดมา สกุลของพระพุทธเจ้า พระสาวกทั้งหลาย กลายมาเป็นสกุลของพระป่าที่บำเพ็ญอยู่ในป่าในเขาตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

         เพราะฉะนั้นในสถานที่ใดเป็นที่วิเวกสงัดในป่าในเขา จึงมักมีพระกรรมฐานท่านไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในที่เช่นนั้น ตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แต่ท่านไม่ค่อยได้ออกมาตามบ้านตามเมือง สถานที่ชุมนุมชนมากนัก จะออกมาก็เล็กๆ น้อยๆ ส่วนมากท่านบำเพ็ญอยู่ในป่าในเขา ถือการงานทั้งหลายคือการชำระกิเลสตัณหาด้วยการเดินจงกรมเพื่อแก้ถอดถอนกิเลส นั่งสมาธิภาวนาเพื่อแก้เพื่อถอดถอนกิเลสตัวเป็นภัยต่อจิตใจตลอดมา เรียกว่าเป็นงานอันแท้จริงของพระในสมัยพุทธกาลกับสมัยปัจจุบันนี้ของพระป่าทั้งหลาย ท่านถืองานอันนี้เป็นสำคัญมาก

         เพราะฉะนั้นผลที่ตามมาจึงสมกันกับเหตุ คือการอยู่ในป่าถูกแล้ว เป็นสถานที่เหมาะสม การบำเพ็ญในป่าไม่มีสิ่งใดยุ่งเหยิงวุ่นวายรบกวนก็เป็นการเหมาะสมแล้ว การประกอบความเพียรก็สะดวกสบาย จิตใจจะว้าวุ่นขุ่นมัวขนาดไหนก็สงบร่มเย็นลงได้  เมื่อถูกน้ำดับไฟ ไฟคือกิเลสที่มันฟุ้งซ่านขึ้นมาจากใจ นำธรรมเข้าไปกำกับ นำธรรมเข้าไปชะไปล้างด้วยวิธีการต่างๆ เช่น มีบทบริกรรมเป็นเครื่องดับไฟ ท่านสอนให้บริกรรม ส่วนที่ท่านสอนไว้เป็นส่วนรวมในสมถธรรมนั้นกรรมฐานมีถึง ๔๐ ห้อง

         ท่านทั้งหลายอยากดูก็ไปดูเอา มีอานาปานสติเป็นต้น รวมแล้ว ๔๐ ห้อง เป็นกรรมฐานที่เป็นน้ำดับไฟ ให้เหมาะสมกับจริตของตนที่นำมาบริกรรม นำมาบำเพ็ญ  จิตใจของเราเมื่อมีธรรม เช่นคำบริกรรมคำใดก็ตาม จะเป็นพุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ หรือธรรมอื่นนอกจากนี้ก็ได้ตามแต่จริตนิสัยชอบ นำมาบริกรรมภายในใจของเรา เช่น พุทโธๆๆ แล้วมีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาใจ ไม่ให้เผลอไปตามอำนาจของกิเลส ที่มันคอยฉุดลากอยู่ตลอดเวลา ให้อยู่กับคำบริกรรม คือสติเป็นพื้นฐานแห่งการประกอบความเพียร

         ใจมันจะอยากดีดอยากดิ้นบังคับเอาไว้ไม่ให้ออก ให้อยู่กับคำบริกรรมด้วยสติโดยถ่ายเดียว ไม่นานใจที่มันดีดมันดิ้นตามความเคยของมัน คือกิเลสนั้นแหละมันดีดมันดิ้น มันอยากออกไปหาอาหารมากินเอร็ดอร่อยของมัน แต่สร้างฟืนสร้างไฟเผาสัตว์โลก คือกิเลสตัวนี้เอง ท่านให้ระงับดับไฟนี้ด้วยการบริกรรมภาวนา เช่น พุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ หรืออานาปานสติ อย่างนี้ก็ได้ตามจริตนิสัยชอบ ให้มีสติกำกับกับใจนี้แล้วจิตใจในขณะนั้นจะไม่คิดอย่างอื่น เพราะจิตใจมีหน้าที่อันเดียว เวลาให้คิดกับธรรมก็อยู่กับธรรม เวลาจะคิดอย่างอื่นมันต้องปล่อยธรรมไปเสียก่อน เช่นปล่อยคำบริกรรมออกไป แล้วไปคิดถึงเรื่องความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา ถึงเรื่องความเพลิดความเพลินไปตามภาษาของจิตที่ถูกกิเลสฉุดลากไปนั้นแล นี่คือทางเดินของกิเลส

         เมื่อเรานำธรรมปิดช่องมันจะคิดขึ้นมา สังขารอันหนึ่งเป็นสังขารส่วนสมุทัย กิเลสลากไป สังขารประเภทหนึ่งมีคำบริกรรมเป็นต้น เช่นพุทโธๆ เป็นต้น นี่เป็นสังขารฝ่ายธรรม เอาสังขารฝ่ายธรรมนี้ระงับดับสังขารฝ่ายกิเลสไม่ให้มันคิดปรุงออกมา ให้มีแต่สังขารฝ่ายธรรมติดแนบอยู่กับใจ ถึงจะอยากคิดขนาดไหนตามเรื่องของกิเลสไม่ยอมให้คิด ฝืนกัน ไม่ให้เผลอจากคำบริกรรมพุทโธๆ นี้ ใจของเราเมื่อถูกบังคับบัญชาไม่ให้เป็นไปตามกิเลสแล้วจะค่อยสงบเย็นลงๆ ด้วยสังขารธรรม คือสังขารที่เป็นฝ่ายธรรมได้แก่คำบริกรรมนี้แล จิตจะค่อยสงบเย็นลงไป เย็นลงไป

         พอเห็นผลแห่งการสงบเย็นของจิตแล้ว วันหลังจะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส ความอุตส่าห์พยายาม ความพออกพอใจจะเพิ่มตัวขึ้นมา ยิ่งภาวนาไปเท่าไรยิ่งปรากฏจิตเป็นความสงบ คือความสงบนี้ปราศจากฟืนไฟคือกิเลสมันก่อขึ้นมาให้คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ร้อยแปดพันประการ นี้เป็นเรื่องของไฟทั้งนั้น แต่เราคิดอย่างเดียวคือพุทโธๆ ไม่ให้มีอย่างอื่นเข้ามาแทรก นี่เรียกว่าน้ำดับไฟ ใจของเราจะสงบเย็นลงไป การสงบเย็นของใจเป็นไปตามนิสัย บางรายจะค่อยสงบเย็นเข้าไป  บางรายจะสงบอย่างผาดโผนโจนทะยานก็มี

         เหมือนอย่างเราวิ่งไปอย่างรวดเร็วนี้ ไปเจอเอาน้ำบ่อหรือหลุมหรือบ่อ โดดลงตกหลุมตกบ่อไปก็มี เพราะยับยั้งไม่ทัน นี่จิตเวลาจะสงบค่อยๆ สงบลงๆ ก็มี สงบลงอย่างผาดโผนเหมือนตกเหวตกบ่อก็มี แต่ผลที่ปรากฏขึ้นภายหลังนี้มีความสงบเย็นเช่นเดียวกัน จริตนิสัยไม่เหมือนกัน ขอให้จิตสงบเถิด พอจิตสงบแล้วเราจะได้เห็นคุณค่าแห่งใจของเรา ตั้งแต่วันเกิดมาไม่เคยเห็นคุณค่าแห่งใจของตัวเองเลย เห็นแต่สิ่งนั้นมีคุณค่าสิ่งนี้มีคุณค่า อันนั้นก็ดีอันนี้ก็ดี ดีไปเสียหมด วิ่งตามสิ่งที่กิเลสหลอกลวงว่าดีมีคุณค่านั้นไปเรื่อยๆ เลยลืมตัว ตัวเลยไม่มีค่ามีราคาอะไร

         เพราะฉะนั้นจึงให้ภาวนายับยั้งจิต พอจิตค่อยสงบเข้ามาแล้วจะแสดงความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นมาที่ใจของเรานั้นแหละ พอสงบแล้วจะเย็นสบาย ไม่มีอะไรกวนใจเลย เราก็เห็นคุณค่าแห่งความสงบในเวลานั้น และเห็นโทษแห่งความฟุ้งซ่านวุ่นวายของกิเลสที่มันก่อกวนใจตลอดมาในขณะเดียวกัน จากนั้นไปแล้วเราก็พยายามทำวิธีนั้นไปเรื่อยๆ สืบต่อไปเรื่อย จิตเราจะค่อยสงบเย็นลงไปเรื่อย เราจะได้เห็นความแปลกประหลาดของจิตขยายตัวออกไปเรื่อย ขยายตัวออกไปตั้งแต่ความสงบอย่างหยาบเข้าสู่ความสงบอย่างละเอียด ละเอียดเข้าไปโดยลำดับลำดาของจิต ยิ่งมีคุณค่าหนักเข้าไป หนักเข้าไป

         ทีนี้ก็มาย้อนรู้ตัวเองเลยว่า อ๋อ จิตเรานี้ตั้งแต่ก่อนไม่มีค่ามีราคาอะไร พึ่งมามีค่า มีราคาเวลานี้เหรอ นั่น เวลานี้เป็นเวลาที่ธรรมบำรุงรักษาให้จิตสงบ เวลากิเลสลากไปนั้นมันไปสังหาร ไปทำลาย จึงมีแต่ความทุกข์ความทรมาน เราก็เห็นคุณค่าแห่งความสงบใจของเรา ในขณะเดียวกันเราก็เห็นโทษแห่งความวุ่นวาย เช่นวันใดเราคิดมากวุ่นมาก วันนั้นเราต้องเข้าที่สงบใจ วันนี้คิดมากวุ่นวายมากจะเข้าสู่ความสงบ เอาพุทโธ หรือธัมโม คำบริกรรมเข้ามาติดแนบกับใจ บังคับไม่ให้คิดเรื่องเหล่านั้น จิตก็สงบแน่วลงๆ นี่ระงับความฟุ้งซ่านวุ่นวายด้วยบทแห่งธรรมคือคำบริกรรมของเรา เราจะมีที่พักที่จอดของจิตใจ ไม่เตลิดเปิดเปิงเหมือนกิเลสลากไปถูไปโดยถ่ายเดียว เราจะทราบ

         จึงได้แสดงให้บรรดาพี่น้องทั้งหลายได้ทราบ ในกาลต่อไปจะได้ประพฤติปฏิบัติ ศาสนาจะเลิศอยู่ที่ใจของชาวพุทธ การทำบุญให้ทานทำไปตามจริตนิสัยของคนเรา ตามนิสัยของคน แต่เมื่อได้ภาวนาจิตใจวางรากฐานลงสู่ส่วนลึกของอรรถของธรรมแล้วจะขยายความรู้นั้นออกมาเป็นส่วนละเอียด กลั่นกรองเรื่องทานเรื่องศีลของตนให้ละเอียดลออเข้าไป ทำอะไรพิถีพิถัน การให้ทานก็พิถีพิถัน การรักษาศีลพิถีพิถันเข้าไปโดยลำดับ พอจิตใจมีรากฐานแล้วจะสะกิดเตือนบอกเสมอ ก็ยิ่งทำดีขึ้นไปเรื่อยๆ นี่ละการภาวนา เห็นเหตุเห็นผลอย่างนี้

         พอใจมีความสงบเย็นเข้าเท่าไร จิตก็ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นไปเป็นลำดับลำดา ถึงขั้นที่ว่าจิตแน่นหนามั่นคง ไม่อยากคิดอยากปรุงเรื่องอะไร ทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่ได้คิดได้ปรุงอยู่ไม่ได้ ดีดดิ้นเหมือนคนจะตาย เพราะกิเลสลากไปๆ พอธรรมทำความสงบแก่ใจได้แล้ว ใจเลยไม่อยากคิดอยากปรุงอะไร อยู่ที่ไหนสบายๆ เพียงเท่านี้ก็เห็นคุณค่าของใจแล้ว ยิ่งใจมีความละเอียดลออยิ่งกว่านี้เข้าไปอีกแล้ว เช่นทางด้านปัญญา ด้านปัญญานี้ละเอียดลออมาก พูดไม่ถูกนะ เป็นขึ้นกับหัวใจตัวเองก็รู้เอง อัศจรรย์ตัวเองโดยไม่คาดไม่ฝัน

         เพราะเรื่องปัญญานี้เป็นความยิบแย็บ พิจารณาเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สกลกายมีธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ นับตั้งแต่ที่ท่านมอบกรรมฐานให้พระทุกองค์ๆ นั้นแหละ ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟันคือเขี้ยวของเรา ตโจคือหนังมันหุ้มห่ออยู่ในตัวของเรา หนังบางๆ นี้แหละมันแสดงตัวว่ามีคุณค่ามีราคามากที่สุด หลอกสัตว์โลกได้อย่างจมมิดไม่สงสัยเลย คนมองกันจะมองแต่ผิวหนัง ภายในสกปรกรกรุงรังขนาดไหน ส้วมถานสู้ไม่ได้มันไม่มอง เพราะฉะนั้นโลกจึงติดกัน เมื่อติดแล้วก็สร้างกองทุกข์ขึ้นมาจากความติดพัน รักมากเท่าไรยิ่งติดมากๆ ความรักกับความชัง ความเกลียดความโกรธมันจะเกิดขึ้นในฉากเดียวกันนั้นแหละ เมื่อมีรักแล้วต้องมีชัง มีเกลียด มีโกรธมันจะเกิดขึ้นจากนั้น

         ปัญญาพินิจพิจารณาสิ่งเหล่านี้แล้วพิจารณาเล่า ถอยหน้าถอยหลัง กลับไปกลับมาเหมือนเขาคราดไร่คราดนา จนกระทั่งมูลคราดมูลไถแหลกละเอียดแล้วควรแก่การปักดำเขาก็ปักดำกัน อันนี้การพิจารณา นี่หมายถึงด้านปัญญา พิจารณาตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน เราจะพิจารณาอะไรถูกจริตของเรามากน้อยเพียงไรตามแต่จริตนิสัย ไม่ใช่พิจารณาผมแล้วก็ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกไป เราพิจารณาอะไรก่อนแล้วมันจะค่อยกระจายคืบคลานไปเหมือนไฟได้เชื้อ

         พิจารณาดูผม ขน เล็บ จากนั้นมันก็ต่อไปหาฟัน หาหนัง พอถึงหนังทีนี้ดูไปรอบตัว คนเรานี้ผิวหนังเพียงบางๆ นิดเดียว ไม่ได้หนาเท่าใบลานเลย ไม่ได้หนาเท่ากระดาษเลยมันก็หลงกัน โลกนี้หลงผิวหนังนี้เท่านั้น ไม่ได้หลงอะไรเลยนะ ผิวหนังนี้แผ่กระจายออกไปให้โลกได้ลุ่มหลงจนไม่รู้เนื้อรู้ตัว ลืมบุญลืมบาป สร้างแต่บาปแต่กรรมใส่ตัวเองด้วยความเพลิดความเพลิน หวังร่ำหวังรวย หวังสวยหวังงาม หวังดีหวังเด่น มีแต่กิเลสหลอกไปๆ เพราะหนังบางๆ หุ้มนี้ไม่ได้มองดูเลย

         ทีนี้เวลาปัญญาพิจารณาอันนี้แล้ว มันดูเราก็เป็นอย่างนี้แล้วดูเขาก็เป็นอย่างนี้ ดูคนทั้งโลก สัตว์ทั้งโลก มันก็คือหนังอันนี้เองหลอกไว้ๆ พอมันแจ้งชัดอันนี้แล้วมันก็เป็นโลกวิทู กระจ่างแจ้งขึ้นภายในใจของเรา ดูอะไรมันก็แบบเดียวกัน ทีนี้ย่นเข้าไปภายใน เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง ยิ่งมีแต่ความสกปรกโสมม ดูไปเท่าไรจิตใจยิ่งมีความสว่างกระจ่างแจ้ง เบาหวิวๆ มันรู้ตรงไหนอุปาทานมันจะค่อยปล่อยตัวของมันไป อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นให้หนักถ่วงหัวใจนั้นมันจะปล่อยวางของมันออกไปเรื่อยๆๆ แล้วใจเบาหวิวๆ ยิ่งมีแต่ความเพลิดความเพลิน อยากพิจารณา อยากรู้อยากเห็น จนกระทั่งค่อยปล่อยวางเข้าไป จางเข้าไป ความยึดมั่นถือมั่นจะจางลงไป เบาลงไป สุดท้ายความยึดมั่นในร่างกายนี้ปล่อยผึงเลย

         ทีนี้จิตจะจ้าแล้วนะที่นี่นะ นี่ละอัศจรรย์ขนาดไหน พอจิตผ่านร่างกายคือภูเขาภูเรานี้ไปได้แล้ว สว่างจ้าไปเลย จากนั้นก้าวออกทางปัญญายิ่งละเอียดลออ ยิ่งสว่างไสว โลกธาตุนี้มันไปได้หมด เพราะใจนี้ไม่มีขอบเขต รู้ครอบโลกธาตุ นี่เรียกว่าปัญญา วันนี้อธิบายให้ท่านทั้งหลายฟังบ้าง ไม่ค่อยจะอธิบาย วันนี้ได้อธิบายเสียบ้าง พอเป็นแนวทางแห่งการพินิจพิจารณาตามที่มีโอกาส จิตใจของเราจะแสดงความแปลกประหลาดไปเรื่อย อัศจรรย์ขึ้นเรื่อย สว่างไสวแยบคายไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปถามใครนะ ความรู้จะเป็นขึ้นจากภาคปฏิบัติ รู้ตรงไหนเห็นตรงไหนไม่มีทางที่จะถกจะเถียงกัน แม่นยำๆ

         เช่นอย่างดูหนังเป็นต้น เราดูหนังของเราเป็นยังไง ดูหนังคนอื่นจะไปสงสัยที่ไหน มันแม่นยำอย่างนี้แล้ว ทีนี้อุปาทานความเบาบางของจิตมันก็ถอยตัวเข้ามา ก็ยิ่งเบาบาง ก็ประจักษ์แล้วๆ โดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงขั้นปัญญาที่ละเอียดลออแล้วทีนี้หมุนติ้วเลย มีแต่จะให้หลุดพ้นจากทุกข์โดยถ่ายเดียว จะอยู่ในกองทุกข์ กองธาตุกองสังขาร กองส้วมกองถานนี้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว ไม่ได้แล้วเรื่อย ทีนี้จิตก็หมุนติ้ว นี่ละเรียกว่าปัญญาถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ ทำงานโดยลำพังตนเอง โดยไม่มีการบีบ ไม่มีการบังคับบัญชาให้ทำเหมือนแต่ก่อนที่ลากถูกันไป ทั้งขี้เกียจขี้คร้าน ทั้งจะเอาความขยันไม่ค่อยมี มีแต่ความขี้เกียจขี้คร้าน บังคับมันไป

         พอได้เหตุได้ผลขึ้นมาแล้ว ความขี้เกียจขี้คร้านจะจางไป ความขยันหมั่นเพียรจะหนักขึ้นๆ จนถึงขั้นที่ว่า สติ-ปัญญาอัตโนมัติหมุนตัวไปเอง แก้กิเลส ฆ่ากิเลสไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับบัญชา ไม่ว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง ว่านอน เว้นแต่หลับเท่านั้น เป็นอาการของจิตที่ต่อสู้กับกิเลสเพื่อความหลุดพ้นของตนโดยถ่ายเดียวเท่านั้น นี่ละจิตท่านทั้งหลายให้พิจารณาให้ดีนะ การสอนอันนี้เราไม่ได้ไปหาคัมภีร์ไหนๆ มาสอน เราเรียนมาจากคัมภีร์เราก็เรียนมาแล้ว พอเป็นปากเป็นทางในการปฏิบัติ

         พอปฏิบัติเข้าไปๆ ความรู้ความเห็นแจ่มแจ้งขึ้นภายในใจ หายสงสัยเป็นลำดับ  ไม่ได้เหมือนที่เราเรียนในปริยัติ เรียนปริยัติเรียนบาปสงสัยบาป เรียนบุญสงสัยบุญ เรียนนรกสงสัยนรก เรียนสวรรค์สงสัยสวรรค์ จนกระทั่งนิพพานก็ไปตั้งเวทีต่อสู้กับนิพพาน ว่านิพพานมีหรือไม่มีนะ นี่เพียงการเรียนเฉยๆ ไม่ได้ตัวจริงมันก็ไม่หายสงสัย แต่ภาคปฏิบัตินี้ประจักษ์เป็นลำดับลำดาไปเลยไม่สงสัย เป็นความจริงล้วนๆ เชื่อตัวเองได้เป็นลำดับลำดา จนกระทั่งถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้น

         นี่เราพูดถึงว่าสติ-ปัญญาอัตโนมัติก้าวเชื่อมเข้าไปหามหาสติ-มหาปัญญา ล้วนแล้วแต่เป็นกิริยาของจิตที่ฟาดฟันกิเลสประเภทต่างๆ ให้ขาดสะบั้นลงไป ๆ จนกระทั่งมุดมอดไม่มีอะไรเหลือเลย วิมุตติหลุดพ้นผางขึ้นมาทันทีในหัวใจ ไม่ต้องไปถามใครก็ได้ พระพุทธเจ้าไม่ถามใคร พระสงฆ์สาวกแม้ได้ศึกษาอบรมกับพระพุทธเจ้า แต่เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วไม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้าอีก แม้องค์เดียวไม่เคยมี สนฺทิฏฺฐิโก รู้เองเห็นเองจากภาคปฏิบัติของตัวเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะรู้จำเพาะตน ผู้ไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ จำเพาะตนแม่นยำๆ ตลอดมา

         นี่ละธรรมภาคปฏิบัติ เมื่อได้รู้ได้เห็นขึ้นมาภายในใจแล้วจึงไม่มีการสงสัยในการแนะนำสั่งสอน เพราะได้ผ่านมาแล้วจากภาคปฏิบัติของตนทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นก็ตนเห็นก่อนรู้ก่อน แล้วนำมาสั่งสอนก็เอาสิ่งที่มีที่เป็นอยู่ในใจ ที่รู้แล้วเห็นแล้วนี้ออกสอน จึงไม่มีขยาดครั่นคร้ามว่าจะผิดไปๆ แม่นยำๆ ตลอดถึงนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านสงสัยนิพพานที่ไหน พอผางเท่านั้นกิเลสขาดสะบั้นลงไปนิพพานไม่ต้องถาม จ้าขึ้นมาแล้ว จิตของเราที่มันมัวหมอง ที่มันมืดตื้อ ที่ไม่มีราค่ำราคา มีแต่กิเลสนั้นละเหยียบย่ำไป โดยถือว่ากิเลสเป็นของมีราค่ำราคาไปเสีย อะไรก็มีราคาไปหมด วิ่งตามกิเลสก็เป็นไฟเผาตัวไปตลอด

         พอวิ่งมาสู่ธรรม เห็นธรรมเป็นคู่แข่งกับกิเลสได้ทันทีๆ ตามขั้นของธรรม  ชนะกิเลสไปเป็นลำดับลำดาของขั้นกิเลส นั่นละจนกระทั่งถึงกิเลสมุดมอดไม่มีอะไรเหลือ ธรรมจ้าขึ้นมาภายในจิตใจ ไม่ต้องไปถามใครเลย รู้ขึ้นมา ทีนี้การแนะนำสั่งสอนใคร ก็เราสั่งสอนเรามาเต็มเหนี่ยวแล้ว สั่งสอนผู้อื่นมันจะยากอะไร มันยากในการสั่งสอนเจ้าของนี่ละยากเป็นอันดับหนึ่ง สั่งสอนผู้อื่นก็ไม่ได้ยากอะไรนักนะ พูดไปตามความจริง ก็เรารู้เห็นแล้วจะไปสอนยากอะไร นอกจากผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เห็นก็ยากสำหรับผู้มาศึกษาเอง แต่ผู้สอนไม่ยากเพราะผู้สอนได้รู้แล้วเห็นแล้ว รู้แจ้งเห็นจริงทุกอย่าง และสอนออกไปตามหลักความจริงที่มีอยู่ในหัวใจของตน จึงไม่ยาก

         สำหรับผู้ปฏิบัติที่จะไปแก้ไขดัดแปลงตามอรรถธรรมที่ท่านสอนไว้นั้น มียากเป็นธรรมดา ยากบ้าง ง่ายบ้าง ส่วนมากมักจะยากตลอดไป แต่เราถูไถไปแบบเดียวกันแล้วต่อไปมันก็ลื่นไปดังที่ว่าสติ-ปัญญาอัตโนมัติ ถึงขั้นนี้แล้วคำว่าความเพียรไม่มี ได้รั้งเอาไว้ ไม่งั้นมันจะเลยเถิดเตลิดเปิดเปิง เพราะความเพลินในความพากเพียรของตน จึงต้องได้ยับยั้งเอาไว้ ให้พักในสมาธิบ้าง ให้พักนอนหลับบ้าง ไม่งั้นมันจะเลยเถิด เพราะจิตนี้ผาดโผนมาก ถึงขั้นที่จะให้หลุดพ้นจากทุกข์ จะไม่อยู่ท่าเดียว คือมีแต่จะไปท่าเดียวๆ นี่ความเห็นทุกข์เห็นเต็มหัวใจ เห็นความสุขความประเสริฐเลิศเลอของธรรมทั้งหลายก็เต็มหัวใจเช่นเดียวกัน

         เมื่อเป็นเช่นนั้นมันจึงต้องดีดต้องดิ้น ซึ่งเราไม่เคยเป็นมามันก็เป็นขึ้นมาเอง ดีดดิ้นจนกระทั่งกิเลสฟัดกันจนไม่มีกิเลสเหลือแล้ว ความดีดดิ้นก็หายไป เพราะการต่อสู้ไม่มี นั่นละท่านว่าวิมุตติหลุดพ้นแล้ว วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติเพื่อถอดถอนกิเลสได้จบสิ้นลงไปแล้ว ไม่มีกิเลสตัวใดจะมาต่อสู้อีก ท่านบอกว่าหมด กตํ กรณียํ กิจที่ควรกระทำก็คือการแก้กิเลสด้วยความเพียร ก็ได้ทำลงไปเสร็จเรียบร้อย จะทำกิจอื่นที่ยิ่งกว่านี้ไปอีกไม่มี

นั่นละท่านผู้ทำงานแก้กิเลสภายในจิตใจมีวันสิ้นสุดวิมุตติหลุดพ้นไปได้ แต่การวิ่งตามกิเลสวิ่งเท่าไรไม่มีสิ้นมีสุดมาตั้งกัปตั้งกัลป์ ตายเกิดกองกันอยู่นี้ไม่ทราบเท่าไร แบกกองทุกข์มานี้ไม่ทราบเท่าไร ไม่รู้ทั้งเงื่อนต้นเงื่อนปลาย ไม่มีกำหนด หากแบกกันไปอย่างนี้ เพราะความลุ่มหลง เหมือนมดแดงไต่ขอบด้งนั่นแหละ ไต่ไปไต่มามันก็มาขอบด้งอันเก่านั่นแหละ กามภพ รูปภพ อรูปภพนั่นแหละ มันก็ไม่รู้ว่าเป็นภพที่ตนเคยมาแล้ว แต่พอรู้แจ้งขึ้นนี้มันรู้หมดเลยทันที หายสงสัย

นั่นละพระพุทธเจ้า-พระสาวกท่านสอนโลกท่านสอนด้วยความไม่สงสัย ด้วยการประจักษ์ในหัวใจทุกสิ่งทุกอย่าง บาป บุญ นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เปรตผีประเภทต่างๆ ท่านบรรจุไว้ในหัวใจท่านหมด แต่ท่านไม่ได้ตื่นเต้น ควรที่จะแสดงหนักเบามากน้อยท่านแสดง ไม่ควรแสดงไม่ใช่วิสัยของผู้จะได้ยินได้ฟังธรรมประเภทนี้ ท่านก็เหมือนไม่รู้ไม่เห็นท่านไม่แสดง นั่นเป็นอย่างนั้นนะ ขอให้ท่านทั้งหลายได้นำไปปฏิบัติ ศาสนาพุทธของเรานี้เป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว ไม่มีที่ไหนที่จะมาแข่งพุทธศาสนา เพราะศาสดาของเราเป็นผู้สิ้นกิเลส ทรงไว้แล้วซึ่งโลกวิทู รู้แจ้งโลกทั้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง ไม่มีใครเสมอแล้ว

การสอนโลกจึงสอนด้วยสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ขอให้ก้าวเดินตามนั้นเถิด จะเป็นไปเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เรา การทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนาอย่าปล่อยอย่าวาง นี้คือบันไดที่เลิศเลอละ จะนำเราให้หลุดพ้นจากทุกข์โดยไม่ต้องสงสัย ส่วนความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ได้แก่เอานี้เป็นเรื่องของกิเลส จะพากันตายจมกันอยู่นี้กองกัน ไม่มีวันสิ้นสุดลงได้เลย กัปไหนกัลป์ใดก็จะตายกองกัน ถ้าเราเห็นสิ่งนี้ว่าเป็นของวิเศษวิโส พากันจำเอานะ ตายแล้วไม่มีใครเอาไปได้ละ สมบัติกองเท่าภูเขาก็เป็นสมบัติ เราก็คือเรา ตายแล้วหมดความหมายทั้งลมหายใจและตัวของเรา สิ่งที่จะติดตามเราไปคือบุญกับบาป เราได้สร้างไว้ยังไงบ้าง

ถ้าเราสร้างบุญสร้างกุศลไว้แล้วอยู่ในโลกนี้ก็เย็นภายในใจ ถ้าเราไม่ได้สร้างบุญสร้างแต่บาปอยู่โลกนี้มันก็ร้อน ถึงจะแสดงอาการยิ้มแย้มแจ่มใสโอ่อ่ากับสมบัติเงินทองข้าวของมีมากมีน้อยก็ตาม แต่หัวใจมันแฟบๆ นะ มันเป็นทุกข์อยู่ในใจ ไม่อาจจะแสดงให้ใครได้ ทั้งๆ ที่แบกกองทุกข์อยู่ด้วยความเป็นเศรษฐีนั่นแหละ เนื่องจากไม่เคยได้สร้างความดี ความดีนั้นก็ไม่มาชโลมจิตใจให้ได้ยิ้มแย้มแจ่มใส ถ้ามีแต่ความเหี่ยวแห้งในใจ ตายแล้วก็เหมือนโลกทั้งหลายที่เขาตายกันไป หาที่ยึดที่เกาะไม่ได้ อยู่ในโลกนี้เป็นเศรษฐี ไปโลกหน้าเป็นทุคตะเข็ญใจ เพราะไม่ได้นำสมบัติเหล่านี้ไปทำประโยชน์ให้เป็นคุณธรรมอันเลิศเลอเข้าสู่ใจของตน มันก็ตายไปเหมือนหมาตัวหนึ่งตายนั่นละ เข้าใจไหม

เราอยากเป็นเหมือนหมาตัวหนึ่งตายไหม ถ้าไม่อยากเป็นเหมือนหมาให้อยู่แบบคน ให้มีศีล มีทาน มีการภาวนา สร้างคุณงามความดีทั้งหลายเราจะเป็นคนตลอดไป ถ้าเราไม่สนใจกับอรรถกับธรรม สนใจแต่ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เหมือนหนึ่งว่าไม่มีป่าช้า นี้เรียกว่าสัตว์ไม่มีเจ้าของ ตายแล้วสู้หมาไม่ได้นะ หมาบางตัวที่ตายมันอยู่กับเจ้าของ เจ้าของเป็นพระเสียด้วย รักใคร่ใฝ่ใจกับเจ้าของตายแล้วมันไปสวรรค์ได้สบายนะหมา ไอ้เราเห็นพระก็ไม่อยากจะพบจะเห็น ดีไม่ดีชี้หน้าด่าทอก็มี ประเภทนี้เก่งกว่าสัตว์นรกไปอีกนะ มันจะไปเป็นอาจารย์สัตว์นรก ใครอยากไปเป็นอาจารย์สัตว์นรกไหม ถ้าไม่อยากเป็นอาจารย์ให้เห็นสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นภัย อย่าไปใกล้ชิดติดพันกับมัน สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วให้ยึดให้ถือ ให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์แก่ตน จะเป็นสิริมงคลต่อตนของเราทั้งชาตินี้และชาติหน้า

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่ธาตุแก่ขันธ์ แก่กาลเวลา ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้ฟังทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ (สาธุ)

คุณทองก้อน           เมื่อประมาณทุ่มหนึ่งที่ผ่านมา ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ว่าเป็นแถลงการณ์อาการพระประชวรของสมเด็จพระสังฆราชขอรับ โดยอ้างว่ารัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับรายงานจากแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ รายงานถึงอาการพระประชวรของสมเด็จพระสังฆราชว่า มีพระอาการพระประชวรหลายระบบ บางระบบได้รับการรักษาแล้วดีขึ้น แต่มีบางระบบที่ทรุดหนักลง ถึงกับบางครั้งต้องให้เครื่องช่วยหายใจและไม่อาจลงพระนามใดๆ ได้ สำนักนายกรัฐมนตรีรัฐบาลได้รับแล้วก็เลยมีความเห็นว่า สมควรให้พระองค์ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลต่อไป เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด โดยรัฐบาลจะดูแลเป็นอย่างดี และยังบอกด้วยว่ารัฐบาลให้พระองค์งดปฏิบัติศาสนกิจ หรือรับแขก อย่างที่พระองค์เคยทำอยู่ทุกวันนี้ เช่นทุกวันที่ ๑๕ มาลงอุโบสถ ทุกวันเวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกาพระองค์จะออกมารับญาติโยมที่ไปเฝ้าเป็นปกติอยู่ แต่นี้บอกว่ารัฐบาลเห็นว่าไม่ควรออกมารับแขก และไม่ควรไปปฏิบัติศาสนกิจและบอกว่าต่อไปก็จะทยอยแถลงมาให้ทราบต่อไปเรื่อยๆ

จากการตรวจสอบก็ได้ทราบว่า ผู้ที่ทำแถลงการณ์นี้เป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในเบื้องต้นนี้ทราบว่าชื่อนายสุรชัย รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คือรองจากนายบวรศักดิ์ บวรศักดิ์นี่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับคุณวิษณุ เครืองาม วันนี้คณะรัฐมนตรีไปอยู่ที่ปักษ์ใต้หมดเลย ที่สำนักนายกฯก็มีแต่นายวิษณุกับนายบวรศักดิ์กับพวกอยู่เท่านั้น แล้วก็ออกแถลงการณ์มา อาจารย์นพดลท่านโทรศัพท์ไปถามท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คุญยงยุทธ คุณยงยุทธก็ตอบว่าไม่ทราบเรื่องนี้ และนายกฯก็ไม่ทราบ คุณยงยุทธเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเวลานี้อยู่ที่นครศรีธรรมราชกับท่านนายกฯ โทรศัพท์กลับไปต่อว่าคุณสุรชัยว่า รู้ไหมว่าแถลงออกไปอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น นี่คือล่าสุดขอรับ

เกล้ามาพิจารณาจากคำแถลงในชั้นนี้ เห็นข้อที่น่าตำหนิคือว่า หนึ่ง เป็นการที่รัฐบาล ถ้าพูดว่าเป็นรัฐบาล ก็คือฆราวาสเข้าไปสั่งสมเด็จพระสังฆราชไม่ให้รับแขก  เหมือนกับว่าหลวงตาไม่สบายเท้าบวมก็มีคนมาสั่งหลวงตาว่าอย่าเทศน์ ให้หลวงตานอนอยู่แต่กุฏิ ห้ามไปปฏิบัติศาสนกิจอีกด้วย นี่ก็คือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สมเด็จพระสังฆราชท่านจะทำอะไรก็ได้ หากท่านมีพระสติที่จะทำ อันนี้ก็เท่ากับล่วงรัฐธรรมนูญ เป็นคำสั่งรัฐบาลที่น่าอับอายมาก ถ้าพูดถึงว่าเป็นรัฐบาลทำ ข้อสอง ย่อมขัดต่อพระธรรมวินัยอีกนั่นแหละ คือฆราวาสไปสั่งพระได้ยังไงขอรับว่าไม่ให้ออกมารับแขก ไม่ให้ไปสวดมนต์

หลวงตา                ก็นั่นแล้วมันปลอมมาทั้งนั้นละ

คุณทองก้อน           เลยมากราบเรียนหลวงตาเพื่อขออนุญาตว่าพรุ่งนี้ จะเอาเท่าที่อาสาสมัครที่จะไปทักท้วงกันได้ เพราะถ้าปล่อยไปมันจะเอาโอกาสนี้บอกว่า เพื่อจะเอาไปอ้างด้วยนะครับ

หลวงตา                มันฉวยโอกาสนั่นแหละ พวกนี้มีแต่พวกฉวยโอกาส พูดตรงๆ อย่างนี้เลย

คุณทองก้อน           ถามว่าทำอย่างนี้ได้ยังไง เขาบอกว่าสำนักนายกเองมีหนังสือไปถึงแพทย์ที่จุฬา อ้างว่าจะเอาไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวฯ เอะอะๆ ก็อ้างพระเจ้าอยู่หัวฯ เอามาข่มขู่พวกเรา

หลวงตา                มันหลบมันหลีก มันทุกอย่างร้อยสันพันคมพวกนี้น่ะ เราไม่เชื่อ เราเชื่อหลักธรรมหลักวินัย การที่จะทรงทำอะไรเป็นพระอัธยาศัยของท่านเอง  ใครฆราวาสที่ไหนจะมาบีบมาบังคับไว้ แล้วจะไปอ้างว่าเป็นรัฐบาลทำอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลเป็นใหญ่เป็นโตมาจากไหนยิ่งกว่าพระผู้ทรงธรรมทรงวินัยจะปฏิบัติต่อกัน

คุณทองก้อน           เกล้าจะขออนุญาต พาโยมกับพระที่เข้าใจไปทักท้วงไว้เสียครั้งหนึ่งก่อน ก่อนที่เรื่องจะลุกลามไป

หลวงตา                พูดได้ๆ หลักธรรมวินัยมียืนยันไว้เลย ห้ามท่านทำไม ว่างั้นเลยนะ ห้ามเพื่อจะเอาผลประโยชน์แก่ตัวเอง แล้วเหยียบคนทั้งชาติทั้งศาสนาแหลกไปหมด ไม่เห็นด้วยเข้าใจเหรอ ธรรมวินัยต่างหากพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว ฆราวาสไม่มีสิทธิไม่มีอำนาจพอจะมาประกาศตนโจ่งแจ้งยิ่งกว่าพระไป เข้าใจแล้วเหรอ มันคอยเป็นอยู่อย่างนี้นะ แหม ลำบากมากนะ พลิกนู้นพลิกนี้คอยแต่จะสะแตกตับปอดชาติไทยเรา ศาสนาไทยเรา พวกนี้หิวมาก โหยมาก ดีดดิ้นมากทีเดียว

ฟังไม่ได้เลยเรา เอาธรรมเข้าจับซิมันฟังไม่ได้ เพราะฉะนั้นถึงได้ปัดออกๆ มากี่ครั้งแล้ว มีแต่เรื่องอย่างนี้ละ ธรรมเป็นของจริงรับไม่ได้ อันนั้นเป็นของปลอมปัดออกๆ ตลอดมา นี่ก็กำลังมาปลิ้นปล้อนอยู่นี่จะให้เป็นของจริง มันจริงได้ยังไง พระธรรมวินัยไม่อำนวย พระสงฆ์ อย่าว่าแต่สมเด็จพระสังฆราชใครก็ตามสมควรที่จะปฏิบัติยังไงท่านปฏิบัติของท่านเอง เรื่องพระเจ้าพระสงฆ์ที่ดูแลรักษาท่าน จำเป็นอะไรที่จะเอาโรคเข้ามาเป็นใหญ่เป็นโตเพื่อจะนำผลประโยชน์ของตัวเองไปเหยียบประชาชน รัฐบาลอย่างนั้นรัฐแบนอย่างนี้ ว่าไป ภาษาธรรมไม่เหมือนอะไรนะ ตรงไปตรงมาเลย อันนี้มัน แหม มันปลิ้นปล้อนหลอกลวงร้อยสันพันคม ฟังไม่ได้เลยนะออกมาแง่ไหนๆ ฟังไม่ได้

 

ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาตามกำหนดการ ได้ที่

        www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก