เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๗
สมาบัติเป็นธรรมปลีกย่อย
ขณะจิตสงบๆ นี่มันอยากหลับเหมือนกัน ชอบกล คือขณะจิตสงบมันสบายคนเรา คือจิตไม่สงบมันไม่สบายคิดโน้นคิดนี้ อันนี้มีความสบายมันก็อยากหลับ พอจิตเริ่มสงบๆ หน่อยมันก็อยากหลับ คือได้ความสุขเพิ่มขึ้น เมื่อตะกี้นี้นั่งทำความสงบ รู้สึกมันก็อยากหลับเหมือนกัน เป็นเพียงเราไม่ให้มันหลับ เช่นอย่างเรานั่งฟังเทศน์ เวลาท่านเทศน์เราฟังไปเพลินๆ จิตนี้มันจ่ออยู่ในคำเทศน์ของท่าน เป็นอารมณ์อันเดียว จิตสงบตัวเข้ามาๆ ตอนนั้นชักง่วงๆ เคลิ้มหลับไปก็มี บางคนก็ตำหนิตัวเอง เอ๊ เวลาอยู่ลำพังคนเดียวนี้พูดคุยกับเพื่อนฝูงไม่เห็นอยากหลับอยากนอน เวลามาฟังเทศน์ทำไมมันถึงอยากหลับอยากนอน นั่งสัปหงกงกงันมันมารมาจากไหน
มันจะมารอะไรมันไม่เคยได้รับความสุขความสบาย พอได้รับกระแสของธรรมกล่อมให้มีความสงบสบายมันก็อยากหลับเท่านั้น มันจะมีมารอะไร ความจริงเจ้าของเป็นมารก่อกวนเจ้าของทั้งวันทั้งคืนไม่ได้รับความสะดวกสบาย จนกระทั่งจิตหลับไม่ได้สงบไม่ได้ เราไม่ทราบว่าเป็นมาร พอเราฟังธรรมในขณะที่ท่านแสดง จิตมีความสงบในขณะนั้นมันก็อยากหลับ เราก็ว่ามันเป็นมาร ความจริงไม่ใช่มาร มันสบายมันอยากหลับทุกคนนั่นละ นี่เราหมายถึงขั้นหนึ่ง ขั้นที่จะพอจิตให้สบายๆ นี้อยากหลับ
ขั้นการอบรม เริ่มแรกมีการอบรมให้จิตมีหลักฐานแห่งความสงบ และมีงานทำในขณะที่ฟังเทศน์ตามฐานะหรือตามขั้นภูมิของจิตแล้วจะไม่ง่วง ขั้นสมาธิก็จะเพลินไปตามสมาธิเลย ขั้นของปัญญาก็เพลินไปตามเวลาท่านแสดง ใจของเราจะคล้อยไปตามๆ ทำให้เพลิดเพลินในอรรถในธรรม เหมือนอย่างท่านช่วยบุกเบิกให้ เราก็ก้าวตามหลังท่านไปเรื่อยๆ นี่หมายถึงขั้นวิปัสสนาได้แก่การไตร่ตรอง จิตเพลินไปตามนั้นก็ไม่มีความโงกง่วง ที่กล่าวถึงความโงกง่วงนี้หมายถึงเหตุแห่งการปฏิบัติ คือจิตของเราก็ยังไม่หยั่งลงสู่ความสงบ พอจิตเริ่มสงบจึงเป็นเหตุให้อยากหลับอยากนอนเพราะเป็นความสบาย
การทดสอบหรือการพิสูจน์เรื่องศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งคือพุทธศาสนาอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ควรจะทดสอบกับใจของตนเอง ท่านสอนอย่างไรแล้วให้นำวิธีของท่านไปปฏิบัติ หรือน้อมวิธีที่ท่านสอนนั้นเข้ามาปฏิบัติสำหรับใจเราเอง คือปฏิบัติต่อใจของเรา ให้ใจของเราดำเนินไปตามแนวทางที่ท่านสั่งสอนไว้นั้น ผลจะปรากฏเป็นอย่างไร เราจะทราบเองเป็นลำดับๆ นี่เป็นการพิสูจน์ถึงเรื่องศาสนธรรมกับใจของเราเอง ว่าอันใดจะเป็นของจริง อะไรจะเป็นของปลอม เราจะทราบได้โดยลำดับๆ
ส่วนมากเราจะมาทราบเราว่าเป็นของปลอม ปลอมมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม ปลอมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราไม่ทราบ ขณะที่เราไม่ทราบนั้นเราเข้าใจว่าเราดี เราเข้าใจว่าเราฉลาด ฉลาดกว่าโอวาทฉลาดกว่าคำสอน ฉลาดกว่าศาสนา ฉลาดกว่าพระพุทธเจ้า ฉลาดกว่าศาสดาองค์ใดๆ ที่นำศาสนามาสอนพวกเรา นี่เป็นความสำคัญตน ทั้งๆ ที่เวลานั้นกำลังโง่เต็มที่ของเรา เรากำลังโง่เต็มที่ จึงทำให้สำคัญตนว่าฉลาดเต็มภูมิ เมื่อเราได้นำหลักศาสนาเข้ามาประพฤติปฏิบัติเป็นการทดสอบดูว่าอันใดจะจริงเพียงไรปลอมแค่ไหน นั่นเราจะทราบได้ด้วยวิธีการปฏิบัติตามหลักธรรมคำที่ท่านสอน
เบื้องต้นเรายังไม่สามารถก็เอาเพียงย่อๆ ก่อนหรือเอาวิธีสั้นๆ ง่ายๆ ดังที่ท่านสอนไว้ว่าให้ภาวนา กำหนดอย่างไรที่เรียกว่าภาวนาตามหลักที่ศาสนาท่านสอนไว้ มีอุบายวิธีต่างๆ กันตามแต่ความถนัดของผู้จะปฏิบัติให้ได้รับความสงบเย็นใจ อันเป็นผลขึ้นมาจากการปฏิบัติ เช่น กำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า ออก ให้มีความรู้สึกลมที่สัมผัสเข้าออกอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่พลั้งเผลอสติ ไม่ปล่อยจิตให้ส่งไปที่อื่น ทำความเข้าใจ ทำความรู้อยู่กับลมเท่านั้น นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะทราบเรื่องความจริงความปลอมของใจตนเอง
เมื่อใจสงบเข้ามาก็จะเห็นความปลอมของตนด้วย จะเห็นความจริงของตนด้วยในขณะเดียวกัน เห็นโทษทั้งความฟุ้งซ่านของใจก่อกวนตนเองให้ได้รับความทุกข์ด้วย เห็นคุณทั้งความสงบเย็นใจอันเป็นสุขแก่ตนในขณะที่ใจสงบด้วย นี่เป็นอันว่าเห็นทั้งโทษทั้งคุณไปในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ จะเห็นอย่างนี้ นี่เป็นเพียงวิธีหนึ่งในบรรดาวิธีทั้งหลายที่จะทดสอบดูเรื่องของจิต ให้เห็นผลขึ้นมาโดยลำดับจากการปฏิบัติ
เช่นท่านบอกว่าให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอ นี้ก็คือการระมัดระวังจิตให้รู้อยู่ในวง ให้มีขอบเขตเป็นที่รู้ ไม่ให้รู้แบบเตลิดเปิดเปิง ที่ไม่มีเขตมีแดนตามความรู้สึกทั้งหลายที่เป็นไปอยู่ทั่วโลก ความรู้ความเห็นชนิดนั้น ไม่เป็นความรู้ความเห็นที่จะเข้าสู่ระดับแห่งความสุขความสบายให้เห็นเหตุเห็นผลได้ ท่านจึงต้องมีวงจำกัดในการปฏิบัติต่อจิตใจ โดยถือหลักธรรมคือหลักศาสนาเป็นเส้นทางเดินของจิต หรือเป็นเส้นทางเดินเพื่อจิตจะได้ดำเนินตามวิธีนั้นๆ นี่หลักศาสนาสอนไว้ ถ้ากำหนดบริกรรมคำใดคำหนึ่ง ก็ให้มีความรู้สึกอยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ ถ้าจะเผลอคิดไปในแง่อื่นๆ ก็ให้ทำความเข้าใจหรือหาอุบายวิธีฝึกตนเข้าไปให้มันทันกับความพลั้งเผลอนั้นๆ เช่นบริกรรมให้ถี่เข้าไปอย่างนี้
อุบายใดก็ตามวิธีใดก็ตามที่จะทำใจของเราให้ได้รับผลคือความสงบเย็นใจ ให้ได้อุบายต่างๆ ขึ้นมาภายในใจนี้ จัดว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องในการฝึกฝนอบรมตนเอง ถ้าจิตได้สงบลงไปมากน้อย ความกังวลวุ่นวาย กาลสถานที่ไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีแต่ความรู้อยู่อันเดียว เพียงเท่านี้ก็เป็นสุข นั่งนานหรือไม่นานไม่มีอะไรมารบกวน นั่งอยู่ในที่เช่นไรเรียกว่าสถานที่ นั่งเป็นเวลานานเท่าไรนี้เรียกว่ากาลเวลา ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องสำหรับจิตที่ไม่ยุ่งออกไปเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ มีธรรมเป็นอารมณ์ของใจ มีความสงบอยู่โดยลำพัง รู้ตัวอยู่เฉพาะหน้าที่เรียกว่าความรู้ในหลักของการภาวนา หรือความรู้ในการรักษาจิต มีขอบเขตเป็นที่รู้ที่เห็น นี่วิธีดำเนินเบื้องต้น
จะปฏิบัติไปนานเพียงไรก็ตาม วิธีที่เราเคยดำเนิน วิธีที่เคยปฏิบัติมาไม่ควรลดละปล่อยวาง ควรยึดหลักนั้นไว้ เช่น เราเคยกำหนดอานาปานสติ เราก็ยึดลมนั้นละเป็นหลักขณะเริ่มต้น แต่ความชำนาญของจิตที่เคยทำไปอยู่โดยสม่ำเสมอและลงอยู่บ่อยๆ สงบบ่อยๆ นั้นจะมีความรวดเร็วต่างกันอยู่มาก เพียงกำหนดลมนั้นชั่วขณะเดียวก็ผ่านไปๆ ละเอียดหายเงียบไปเลย ไม่ทราบว่าลมไปไหน นี่หมายถึงความคล่องแคล่วของจิต
เหมือนอย่างเราเขียนหนังสือ ถ้าเขียนเป็นภาษาไทย เช่นท่านอย่างนี้ ตัว ท สระอา น ไม้เอก ผู้ฝึกหัดเขียนจะต้องระลึกถึงตัวหนึ่งแล้วระลึกถึงตัวหนึ่ง จนกว่าจะระลึกถึงทุกตัวแล้วเขียนลงไปครบแล้วอ่าน ถ้าผู้ชำนาญแล้วเพียงว่าท่านคำเดียวเท่านั้น มันพร้อมไปหมดทั้งสระ พยัญชนะ ความชำนาญของจิตจะเป็นสมาธิก็ตาม จะเป็นปัญญาก็ตามก็มีลักษณะนั้น ดังที่ท่านว่าฌาน ๔ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี่เรียกว่ารูปฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่ท่านเรียกว่าอรูปฌาน รวมแล้วเรียกสมาบัติ ๘ สัญญาเวทยิตนิโรธ ดับสัญญาและเวทนา นี่ท่านเรียกว่าสมาบัติ
สมาบัตินี้เป็นธรรมปลีกย่อย หรือเกี่ยวข้องกับนิสัยวาสนาของผู้จะควรเป็นไปก็เป็นไปเอง ไม่ใช่เป็นธรรมจำเป็นสำหรับในมรรคในผล ที่จะถอดถอนกิเลสถึงขั้นภูมิแห่งความบริสุทธิ์ของใจเช่นพระอรหันต์ แต่จะอย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ชำนาญในฌานก็เป็นลักษณะเช่นเดียวกับผู้ชำนาญในการเขียนหนังสือ เพียงว่าปฐมฌาน ทุติยฌานนั้นน่ะกำหนดทีเดียววิ่งถึงกันหมด เพราะความรวดเร็ว อาการของจิตเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับๆ ไม่ใช่จะก้าวขึ้นไปเหมือนอย่างเราก้าวขึ้นบันไดจากขั้นนี้ก้าวขึ้นขั้นนั้น ก้าวจากขั้นนั้นถึงขั้นนั้น ถึงจะชำนาญเท่าไรก็ต้องก้าวไปอย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น
ความชำนาญของจิตนี้เปลี่ยนอาการเพียงขณะเดียวเท่านั้นก็ถึงไหน รวดเร็วที่สุด ไม่มีอันใดที่จะมีความรวดเร็วยิ่งกว่าใจ ใจนี้รวดเร็วที่สุด ยิ่งมีความชำนาญในหน้าที่ของตนด้วยแล้วก็ยิ่งรวดเร็ว เรื่องสมาธิก็เหมือนกัน นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้เราไม่จำเป็นต้องหาคำบริกรรมใดมากำหนด มาเป็นผู้บังคับผูกมัดจิตใจให้เข้าสู่ความสงบ เมื่อใจได้มีความสงบด้วยความชำนิชำนาญของตนอยู่แล้ว เพียงกำหนดเท่านั้นก็สงบลงไปเลยทีเดียว ชั่วขณะครึ่งวินาทีเท่านั้นก็ไปอย่างราบไม่มีอะไรเหลือแล้ว ถึงฐานของสมาธิแล้ว นี่หมายถึงผู้มีความชำนาญในสมาธิ เพียงกำหนดขณะเดียวเท่านั้นทะลุไปเลย เหมือนกับเราเขียนหนังสือว่าท่าน มาพร้อมกันหมด อ่านได้ความทีเดียว นี่พูดถึงสมาธิเป็นขั้นๆ เมื่อมีความชำนาญแล้วเป็นอย่างนั้น
แต่กรุณาอย่าไปยึดว่าชำนาญหรือไม่ชำนาญ มันเป็นความคาดหมายที่ออกไปจากตัว ซึ่งเรียกว่าออกไปจากความจริง จะไม่ปรากฏผลเท่าที่ควร จะชำนาญหรือไม่ชำนาญก็ตามให้เราฝึกอยู่ในความที่เคยฝึก อยู่ในหน้าที่ที่เคยทำ นี่เป็นหลักสำคัญ เหมือนอย่างเราเขียนหนังสือนี้ เขียนอยู่ตัวเดียวนั้นแหละ ไม่ต้องไปคาดตัวนั้นคาดตัวนี้ ต่อไปมันก็ชำนาญเอง วิธีการฝึกใจก็เป็นเช่นนั้น มันชำนาญขึ้นในตัวของเราเอง
ที่นี่ปัญญา ปัญญาคือความแยบคายของจิต ความคิดความปรุง ความไตร่ตรองในเหตุผลแง่อรรถแง่ธรรมต่างๆ ท่านเรียกว่าปัญญา การสอดส่อง การไตร่ตรองเรียกปัญญา เช่นพิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ความแปรสภาพทั้งภายนอกภายในเป็นไปอยู่ทั้งวันทั้งคืน เป็นไปอยู่ทุกแห่งทุกหน ถ้าผู้มีสติปัญญากำหนดไปที่ไหนจะเห็นธรรมเหล่านั้น จะเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหินลับปัญญาอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่ว่ากลางวันกลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน จะเห็นสภาพทั้งหลายเหล่านั้นแสดงอาการให้เราทราบทางปัญญาอยู่ทุกระยะๆ เหมือนกับว่าเป็นหินลับของปัญญาอยู่ตลอดเวลา
ธรรมจึงมีอยู่ทั่วไป ไม่ใช่จะมีอยู่เฉพาะตัวของเรา ไม่ใช่จะมีอยู่เฉพาะเวลานั่งภาวนา เฉพาะเวลาเดินจงกรม มีอยู่ทุกเวลาถ้าจะทำให้มี และมีอยู่ทุกอิริยาบถ เรื่องความชำนิชำนาญของสมาธิ ของสติ ของปัญญา ก็เป็นในทำนองเดียวกันดังที่กล่าวนี้แล้ว แต่จะไม่อธิบายมาก เพราะจะฟั่นเฝือมากไป เรื่องปัญญานี้กว้างขวางมากพิสดารมากทีเดียว ให้เหมาะจริงๆ ก็ควรจะอธิบายให้ฟังเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นในปัญญาขั้นนั้นๆ นั่นเป็นที่เหมาะที่สุด นอกจากนั้นก็อธิบายพอเป็นบาทเป็นทาง คือเป็นแนวทางให้ผู้ที่เริ่มฝึกหัดได้พินิจพิจารณาดังที่อธิบายผ่านมาแล้วนี้
จิตของเราเป็นสิ่งที่ฝึกหัดได้ อาการของจิตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้โดยลำดับ เปลี่ยนแปลงจากความหยาบเข้าสู่ความละเอียดได้ และเปลี่ยนแปลงจากความละเอียดลงสู่ความหยาบก็ได้ ตามแต่เราผู้เป็นเจ้าของจะพาดำเนินไปในทางใดแง่ใด เช่นเรามาอบรมศีลธรรม ฝึกหัดสมาธิภาวนาเวลานี้ เป็นการฝึกหัดอบรมจิตใจของเราให้ขึ้นสู่ระดับสูงๆ ถ้าพูดถึงกระแสของจิตก็คิดในเหตุในผลในแง่ดีแง่ร้ายทั้งหลาย อันเป็นทางที่เราจะพึงบำเพ็ญให้มีขึ้นและเป็นสิ่งที่เราจะถอดถอนออกจากตัวของเรา คือมีทั้งส่วนที่ควรละ ที่เห็นว่าไม่ดี มีทั้งส่วนที่ควรบำเพ็ญที่เห็นว่าดีแล้วให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ท่านเรียกว่าเป็นการบำเพ็ญหรืออบรมจิตให้มีระดับความรู้ความเห็น มีเหตุมีผลสูงขึ้นไปเป็นลำดับๆ
ถ้าจิตเสื่อมก็เปลี่ยนความรู้ความเห็นไปเรื่อยๆ ถ้าจิตถึงความบริสุทธิ์หมดจดเต็มที่แล้ว ความเสื่อมก็ไม่ปรากฏ ความเจริญก็ไม่มี เพราะอาการที่จะให้เกิดความเสื่อมและความเจริญนั้นได้หมดสิ้นไปจากใจแล้ว เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ หรือว่าธรรมทั้งแท่งก็ถูก ใจเป็นธรรม ธรรมเป็นใจ ใจกับธรรมเป็นอันเดียวกันก็ถูก แล้วไม่มีความเปลี่ยนแปลง ท่านเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ เป็นผู้สิ้นสุดในการประพฤติพรตพรหมจรรย์ เพื่อธรรมขั้นสูง เสร็จกิจในการละกิเลสทุกประเภท และในการบำเพ็ญธรรมภายในใจให้สูงขึ้นไปเป็นลำดับ หมดทั้งการละการบำเพ็ญทั้ง ๒ ประเภทนี้แล้ว ที่จะละอะไรอีกก็ไม่มีอันละเพราะละหมดแล้ว จะทำอะไรให้เจริญขึ้นไปอีกกว่านั้นก็ไม่ได้ เพราะได้เจริญจนสุดขีดแล้ว กตํ กรณียํ คือกิจที่ควรทำได้แก่การละและการบำเพ็ญนี้ ได้ทำให้สมบูรณ์เต็มที่แล้ว
จิตประเภทนี้ไม่มีกาล ไม่มีสถานที่ ไม่มีอดีตอนาคต บัดนี้เป็นอย่างนี้ ต่อไปจะเป็นอย่างไรอีกอย่างนี้ไม่มี ชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าจะเป็นอย่างนั้นไม่มี เพราะอดีตอนาคต รวมเข้าสู่ความเป็นปัจจุบันอันเดียว มาบริสุทธิ์อยู่กับใจอันเดียวนี้แล้ว อดีตอนาคตซึ่งเกี่ยวข้องไปกับใจที่จะพึงสำคัญมั่นหมายนั้น จึงไม่มีความหมายอันใดทั้งสิ้น เพราะใจปราศจากความหมายสิ่งนั้นๆ แล้ว
ที่กล่าวมาทั้งนี้ กล่าวด้วยหลักปฏิบัติอันเป็นผลของการปฏิบัติธรรม มีหลักพุทธศาสนาเป็นทางเดินอันถูกต้องตายตัว เป็นที่แน่ใจได้สำหรับชาวพุทธเรา ไม่มีทางสงสัยว่าธรรมของพระพุทธเจ้านี้มีแง่ใดบ้างที่จะทำโลกให้ล่มจม จะทำเราให้ผิดหวัง ให้เชื่อถือไม่ได้ มีตรงไหนบ้างในบรรดาธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ ไม่มีเลย จึงหมดปัญหา มีแต่ว่าเราจะปรับปรุงประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง ให้เป็นไปตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า สวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ให้เป็นนิยยานิกธรรม คือนำตนผู้ปฏิบัติถูกต้องแม่นยำนี้ ให้พ้นจากอุปสรรคความกีดขวางภายในจิตใจไปโดยลำดับๆ จนทะลุปรุโปร่งถึงวิมุตติหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง ไม่มีสิ่งใดเหลือหลออยู่ภายในใจ อันเป็นผลสุดยอดจากการปฏิบัติธรรม
ใจกับศาสนาก็เป็นอันเดียวกันได้ ศาสนากับใจก็หาทางต้องติกันไม่ลง ใจก็จริงศาสนาก็แท้ ต่างอันต่างแท้ต่างอันต่างจริง นี่ละที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต จึงหมายถึงธรรมดวงนี้ ตถาคตไม่ใช่รูปร่าง รูปร่างนั้นเป็นตถาคตประเภทหนึ่ง เช่นเรือนร่างของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีเหมือนกับพวกเราทั้งหลาย คือร่างกายนี้เป็นเรือนร่างของพุทธะอันวิเศษ ได้เห็นพระพุทธเจ้า ได้กราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจก็เชื่อ เราได้เห็นตถาคตทางตาก็จัดว่าเห็นตถาคตประเภทหนึ่ง หรือในทางหนึ่งพูดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ด้วยความเชื่อความเลื่อมใส ก็ชื่อว่าได้ถึงธรรมถึงพระพุทธเจ้าอีกแง่หนึ่ง
ผู้สำเร็จโสดา สกิทา อนาคาเป็นขั้นๆ ขึ้นไปก็ชื่อว่าได้เห็นตถาคตในธรรมทั้งหลายเป็นขั้นๆ ผู้ได้ถึงวิมุตติหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง คือบรรลุถึงขั้นพระอรหันต์ พระอรหัต ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพระตถาคตโดยสมบูรณ์ ตถาคตแท้คือความบริสุทธิ์แห่งธรรม ความบริสุทธิ์แห่งใจ ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกัน หาทางแยกทางแยะกันไม่ได้ ใจอยู่ที่ใดธรรมอยู่ที่นั้น ธรรมอยู่ที่ใดตถาคตอยู่ที่นั้น จึงเรียกว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต เห็นอย่างนี้ เห็นทางภาคปฏิบัติเห็นอย่างนี้
เราจึงไม่สงสัยว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานนานไปแล้วได้ ๒๕๐๐ ปี หรือ ๕๑๗ ปีหรือจะห้าร้อยกี่ปีไปอีกก็ตาม เราไม่สงสัย อันนั้นท่านแสดงไว้ตามกาลตามสถานที่ เพื่อเป็นกรุยหมายปลายทาง หรือให้ทราบกาลสถานที่ของท่านเป็นประเภทอันหนึ่ง สำหรับพุทธศาสนิกชนผู้เคารพเลื่อมใสท่าน จะได้กราบไหว้สักการบูชาตามกาลสถานที่วันเวลา ส่วนตถาคตแท้นั้นคือความบริสุทธิ์แห่งใจล้วนๆ หรือผู้ถึงพระพุทธเจ้าด้วยความเชื่อความเลื่อมใสภายในจิตใจ อยู่สถานที่ใดก็ได้เฝ้าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในสถานที่นั้น นี่เป็นธรรมที่สนิทแนบอยู่กับตัวของเราทุกๆ ท่าน
กรุณาประพฤติปฏิบัติหลักธรรมเหล่านี้ให้เจริญขึ้นภายในใจ ชื่อว่าเราไม่ได้ปราศจากศาสดา อยู่ในสถานที่ใดก็เท่ากับได้เฝ้าศาสดา พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในสถานที่นั้น จนกระทั่งได้เข้าถึงวิมุตติหลุดพ้นภายในจิตใจ ก็ทราบชัดว่าศาสดาคือพระองค์ใดแน่โดยไม่ต้องสงสัย ขอยุติเพียงเท่านี้
รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ |