ความรู้ถูกปิดตัน
วันที่ 6 สิงหาคม 2515 ความยาว 62.18 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรบคณะครูอาจารย์และนักศึกษา

ณ วิทยาลัยครูอุดรธานี อ.เมือง จ.อุดรธานี

เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

ความรู้ถูกปิดตัน

         วันนี้เป็นโอกาสวาสนาอำนวย อาจารย์และท่านทั้งหลายได้มาพบกันในวันนี้ ตามปกติก็ไม่ค่อยมีเวลา เฉพาะวันนี้เป็นโอกาสอันดี จึงได้มาพบกับท่านทั้งหลายซึ่งมีความประสงค์อยากจะพบอยู่เป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากท่านทั้งหลายก็เป็นพุทธศาสนิกชนผู้หนึ่งในพระพุทธศาสนาซึ่งแยกกันไม่ออก เป็นมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายของเราจนกระทั่งบัดนี้ แล้ววันนี้จะเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบตามกำลังความสามารถ และตามนิสัยของพระป่าดังที่ได้เคยเรียนมาอยู่เสมอ ในหัวข้อที่ยกขึ้นนั้นว่า ความรู้ถูกปิดตัน นี่เป็นหัวข้อที่จะแสดงให้ท่านทั้งหลายทราบในวันนี้ และก่อนที่จะบรรยายธรรมทั้งหลายจึงขออภัยจากทุกๆ ท่าน มีท่านผู้อำนวยการเป็นต้นไว้ก่อนว่า หากว่ามีการขัดข้องในสำนวนโวหารหรืออรรถธรรมใดๆ ก็ดี หวังว่าจะได้รับอภัยจากท่านทั้งหลายโดยทั่วกัน

ท่านนักศึกษาทั้งหลายเวลานี้ท่านทั้งหลายกำลังเจริญ คือกำลังจะเจริญทั้งวัยคืออายุ ทั้งความรู้วิชา และเป็นผู้กำลังมีคุณค่าน่าสนใจในวงการและบุคคลทั่วๆ ไป ก้าวนี้เป็นก้าวแรกของเราที่จะนำตัวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง การจะนำตัวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้นั้นต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียน การอบรม หากไม่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนและการอบรมพอสมควรแล้ว ความมุ่งหมายของเราที่ตั้งไว้อาจล้มเหลวไปก็ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น กับความประพฤติที่จะเป็นไปในแนวแห่งความศึกษานั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เมื่อเราต้องการความสุขความเจริญอยู่ ฉะนั้นคำว่าการศึกษานี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นในเราทุกท่านทั้งทางโลกและทางธรรม

การศึกษาทางโลกดังที่ท่านทั้งหลายได้ศึกษามาพอสมควร ซึ่งกำลังศึกษาอยู่เวลานี้เป็นการศึกษาแขนงหนึ่ง การศึกษาทางด้านศาสนาเกี่ยวกับความประพฤติหน้าที่การงานให้เป็นไปเพื่อความเรียบร้อยไม่ผิดพลาดนั้น จัดว่าเป็นการศึกษาประเภทหนึ่ง การศึกษาทั้ง ๒ ประเภทนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราด้วยกัน แต่จะขออธิบายถึงเรื่องการศึกษาในทางพระพุทธศาสนาให้ท่านทั้งหลายทราบพอสมควร ศาสนาท่านสอนให้บุคคลเป็นคนดี ถ้าจะเทียบก็เหมือนกับเครื่องประดับประดาหรือเครื่องตกแต่งให้มีความสวยงามขึ้นในบุคคลแต่ละคนๆ ถ้าเป็นทางก็เรียกว่า ทางที่ตรงแน่วไปสู่ความสุขความเจริญ นี่เรียกว่าศาสนาคือคำสั่งสอน สอนให้บุคคลเป็นคนดี

ท่านผู้มีความหวังต่อความสุขความเจริญ เรื่องศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายจะต้องศึกษาให้เข้าใจ คำว่าศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่เป็นคนธรรมดาเหมือนเราๆ ท่านๆ แต่เป็นคนพิเศษคือ ความประพฤติก็พิเศษ ความรู้วิชาก็พิเศษ การรู้ก็รู้พิเศษ จิตใจของพระพุทธเจ้าก็เป็นจิตใจที่พิเศษจากจิตใจสามัญชนทั่วๆ ไป เมื่อมาเป็นศาสดาแล้วจึงเป็นบุคคลพิเศษ ธรรมคำสั่งสอนที่ท่านชี้แจงแสดงออกแต่ละบทละบาท นับแต่ธรรมขั้นต้น ท่ามกลางและที่สุด ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมพิเศษที่เรียกว่า สวากขาตธรรม คือธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว

การที่จะได้ทรงนำธรรมมาตรัสให้ชอบนั้น เนื่องจากพระพุทธองค์เป็นผู้ปฏิบัติมาชอบแล้วทุกประการ ความรู้จึงเป็นความรู้ที่ชอบ เมื่อแสดงออกเป็นศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ชอบสมนามว่าเป็นสวากขาตธรรม แปลว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว นิยยานิกธรรมเป็นธรรมที่จะนำบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตามนั้นให้พ้นจากความทุกข์ความวุ่นวายโดยลำดับ จนกระทั่งถึงความสุขอันเป็นบรมสุขที่เรียกว่า นิพพานหรืออรหัตอรหันต์ ล้วนแล้วตั้งแต่ออกจากสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแนะแนวทางให้ทั้งนั้น

ทางที่จะไปสู่ความสุขความเจริญในภาคทั่วๆ ไปนี้ เราพอจะนำมาแสดงหรือชี้แจงให้กันทราบได้ หรือพอจะปฏิบัติได้ แต่ทางที่จะให้ถึงความสุขอันเป็นบรมสุขคือ มรรคผลนิพพานนั้น มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้นเป็นพระองค์แรก ที่จะนำสัตว์ทั้งหลายหรือแนะนำสัตว์ทั้งหลายให้เข้าใจในวิถีทางเดินเพื่อธรรมอันบริสุทธิ์นั้น นอกนั้นไม่มีใครสามารถจะแสดงได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงควรทรงพระนามว่าเป็นบุคคลพิเศษ และสมควรเป็นสรณะของพวกเราทั้งหลาย

ดังที่ได้เคยเปล่งวาจาถึงท่านเสมอ ตลอดถึงความระลึกถึงพระคุณท่านทางใจ ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกทางใจ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรม สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ทั้ง ๓ รัตนะนี้เป็นธรรมชาติที่พิเศษจากสิ่งทั้งหลาย บรรดาที่เป็นสมมุติในโลก ไม่มีสมมุติใดๆ จะประเสริฐเสมอเหมือนสรณะทั้ง ๓ นี้ได้

พระพุทธเจ้าก่อนที่จะได้เป็นบรมศาสดา ตรัสรู้มรรคผลนิพพานถึงกับเป็นครูสอนโลก ท่านก็เป็นคนธรรมดาเหมือนเราๆ ท่านๆ นี่เอง คือเป็นคนมีกิเลสตัณหาอาสวะอยู่ภายในใจ การปฏิบัติพระองค์แต่ละครั้งแต่ละประโยค ต้องเป็นการฝืนพระองค์และฝืนกิเลส สิ่งที่ชั่วช้าอยู่ภายในใจอย่างมากมาย ถึงกับบางครั้งต้องสลบไสล ถ้าหากว่าไม่ฟื้นก็เรียกว่าตาย นี่พระพุทธองค์ท่านทรงฟื้นกลับมาเรียกว่า สลบถึง ๓ ครั้งแล้วฟื้นถึง ๓ หน การที่สลบไสลไปถึงขนาดนั้น ถ้าไม่ทุกข์ถึงขนาดควรจะสลบเราจะสลบได้อย่างไร ก็ต้องเป็นธรรมดา

นี่เรียกว่าฝืนทุกข์ฝืนความลำบากฝืนกิเลสตัณหาฝืนสิ่งที่เป็นข้าศึก เพื่อจะให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยความฝึกความทรมาน ด้วยความอดความทน ด้วยความพากความเพียร พูดถึงประโยคพยายามก็ไม่มีใครจะเทียมเท่าเสมอพระองค์ได้ คือความเพียรก็เยี่ยม ความอดทนก็เยี่ยม ทุกสิ่งทุกอย่างเยี่ยม สติปัญญาก็เยี่ยม เมื่อได้ทำทุกสิ่งด้วยความเยี่ยมๆ แล้ว ผลที่พระองค์พึงได้รับก็คือ ความบริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพาน กลายเป็นบุคคลที่เยี่ยมขึ้นมาในโลก เราทั้งหลายจึงได้ยอมรับเป็นสรณะเป็นที่เคารพนับถือ ถ้าหากเป็นคนธรรมดาใครจะไปเปล่งวาจาถึง พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เล่า ก็เพราะพระพุทธเจ้าไม่ใช่บุคคลธรรมดา นี่เป็นประโยคแรก

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ คำว่าธรรมนั้นเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติที่ประเสริฐ ทรงแสดงออกจากพระทัยของพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ กลายเป็นนิยยานิกธรรม และเป็นสวากขาตธรรมออกมาให้เราทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติ คำว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เบื้องต้นก็คือบุคคลธรรมดาสามัญเช่นเราๆ ท่านๆ นี้แล แต่เมื่อได้ทำความอุตส่าห์พยายามตามธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ด้วยความพากเพียรไม่ละ ก็สามารถได้บรรลุถึงธรรมที่บริสุทธิ์ได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าทัน เรียกว่าสำเร็จมรรคผลนิพพานขึ้นมา เป็นสรณะองค์ที่ ๓ ที่เรียกว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

เหตุแห่งการดำเนินของท่านเหล่านี้ ท่านดำเนินด้วยความยากลำบาก ความฝืนตนอย่างมากมาย ถ้าไม่ยอมฝืนเสียบ้าง ก็จะไม่เป็นบุคคลพิเศษขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายกรุณานำคำว่า ฝืนๆ นี้เข้ามาปฏิบัติต่อตนเอง สิ่งใดที่เป็นไปด้วยความชอบ ความอยาก เป็นไปด้วยตามอัธยาศัยไม่ได้ฝืนนัก โดยมากสิ่งนั้นจะพาให้เราไปในทางต่ำเสมอ แต่สิ่งใดที่เราฝืน การทำความฝืนใจ ดังพระพุทธเจ้าและสาวกท่านฝืนมาแล้ว เป็นความชอบธรรมเป็นทางที่จะนำมาซึ่งความสุขความสงบแก่เราทั้งหลายได้ จึงควรฝืนตน

คือฝืนในสิ่งที่เห็นว่าไม่ดี ฝืนไม่ทำในสิ่งที่จะให้โทษแก่ตัวของเรา เช่นเราจะไปอะไร การไปนั้นมีความเสียหายอย่างไรบ้าง เมื่อไปแล้ว การทำเช่นนั้นมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เมื่อทำแล้ว และการคิดในสิ่งนั้นๆ เมื่อคิดแล้วจะเกิดความเสียหายแก่ตนอย่างไรบ้าง เมื่อใคร่ครวญดีแล้วเห็นว่าควรฝืนเราก็ฝืน ไม่ไป ฝืนไม่ทำ ฝืนไม่คิดสิ่งที่ให้โทษนั้นต่อไป นี่เรียกว่าเป็นความฝืนที่ชอบธรรม ระหว่างความชั่วกับความดีรบกันหรือฝืนกันนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายท่านเคยรบท่านเคยฝืนกันมาอย่างนี้ แล้วก็ได้ชัยชนะจากการฝืนตนมาโดยลำดับ จนปรากฏเป็นศาสดาของพวกเราทั้งหลายอยู่ ณ บัดนี้

ท่านดำเนินด้วยวิธีฝืน ท่านไม่ให้เป็นไปตามความชอบใจเสียทุกอย่าง เพราะความชอบใจโดยมากเป็นไปในทางต่ำ และเคยฝังอยู่ในนิสัยของเรามาเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นการแสดงออกทุกอย่าง จึงชอบแสดงออกตามนิสัยของตนที่เป็นความต่ำทรามเสมอ นี่เป็นหลักที่เราจะควรนำมาคิดและนำไปปฏิบัติต่อตนเองว่าควรฝืน สิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แต่ไม่อยากทำ ไม่อยากประกอบ ไม่อยากไป ไม่อยากคิด สิ่งนั้นก็ควรฝืนให้ทำ ฝืนให้พูด ฝืนให้คิด เพราะทำ เพราะพูด เพราะคิดแล้วเป็นประโยชน์แก่เรา การพูดในการฝืนนี้ ดังอาจารย์ที่มาแสดงธรรมให้ท่านทั้งหลายฟังอยู่ ณ บัดนี้ ก็ได้พยายามฝืนตนมาเป็นลำดับ

นับตั้งแต่วันก้าวเข้าวัดวันแรกจนกระทั่งถึงบัดนี้ การบวช ใจไม่อยากจะบวช คือความอยากบวชนี้ไม่ค่อยมี แต่ความอยากสิ่งอื่นซึ่งเป็นข้าศึกต่อความดีนั้นมีอยู่มากมายภายในใจ ใจชอบจะไปในทางนั้น แล้วก็พยายามฝืนตนมาจนถึงกับได้บวช บวชแล้วการเรียนก็ขี้เกียจ ต้องฝืนเรียนไปโดยลำดับ ความเกียจคร้านรู้สึกว่ามีมาก คล่องแคล่วภายในใจ แต่สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์ความเกียจคร้านยิ่งมีมาก สิ่งที่จะเป็นโทษความอยากทำ อยากพูด อยากคิดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์โดยถ่ายเดียวของเราเป็นอย่างนี้

จึงได้พยายามฝืนตนมาเป็นลำดับ เวลาเรียนก็ต้องฝืนเรียน แล้วฝืนความประพฤติที่เห็นว่าเป็นข้าศึกต่อตัวเอง และต่อตนเองทุกด้าน พยายามฝืนตลอดมา สิ่งใดที่ขัดข้องต่อหลักของพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ทรงห้ามไว้ พยายามฝืนตน และทางใดที่พระองค์ทรงบัญญัติเปิดให้เดิน แม้ไม่อยากเดินก็พยายามฝืนเดินไปโดยลำดับ ที่เรียกว่า ประพฤติตามหลักพระธรรมวินัย นี่พยายามฝืนตนตลอดมา

เวลาออกเที่ยวกรรมฐาน ที่เรียกว่าวิปัสสนาหรือเรียกว่า เที่ยวธุดงคกรรมฐาน ไปอยู่ตามป่าตามเขาก็ฝืนไปทั้งๆ ที่กลัว สถานที่ใดที่ชาวบ้านเขาบอกว่ามีอันตรายเช่น มีเสือ หมีเป็นต้นชุม สถานที่นั้นธรรมชอบ แต่หัวใจของเราไม่ชอบ เมื่อไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น จิตใจมีความเจริญคือธรรมะเจริญ กิเลสค่อยเสื่อมตัวลงไป แต่จิตใจไม่อยากไป จำต้องฝืนให้ไป คือบังคับให้ไป สถานที่ใดกลัวมาก สถานที่ใดอดอยากขาดแคลน เรื่องของกิเลสไม่อยากไปเพราะกลัวจะลำบาก กลัวจะกลัวบ้าง กลัวจะเป็นทุกข์บ้าง กลัวจะตายบ้าง นี่เป็นเรื่องของกิเลสคอยฉุดลากเราอยู่เสมอ

แต่เรามีความรักธรรม มีความมุ่งหมายต่อธรรม มีความมุ่งมั่นต่อธรรม จำเป็นระหว่างกิเลสกับธรรมหรือกิเลสกับเราก็ต้องฝืนกัน คือฝืนไปอยู่ในที่เช่นนั้น เมื่อเข้าไปอยู่แล้วจิตใจมีความสงบร่มเย็น ความคิดฟุ้งซ่านรำคาญที่จะก่อกิเลสตัณหาอาสวะให้มากมูนบนหัวใจ ก็ลดน้อยถอยลงไป ธรรมะคือความสงบเย็นใจค่อยเจริญขึ้นมา ผลปรากฏว่าเกิดขึ้นจากความฝืน คือฝืนอยู่ ฝืนทรมาน ใจเราเกิดความสงบ เมื่อเห็นผลอย่างนี้แล้ว แม้จะยากลำบาก จะกลัวขนาดไหนก็ฝืนใจทำลงไป นี่ท่านเรียกว่าฝืน

ที่ปฏิบัติมาฝืนอย่างนี้ และฝืนเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ ไม่ได้ไป ไม่ได้พูด ไม่ได้ทำตามความชอบใจที่เคยอยากทำและที่เคยทำมาแล้ว ต้องฝืนอยู่เสมอ ฝืนมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ณ บัดนี้ แล้วยังจะฝืนต่อสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายจนกระทั่งวันอวสานแห่งชีวิต ความคิดที่พยายามฝืนนี้ ซึ่งเราเคยได้ฝืนมาเป็นเวลานานก็มีกำลัง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถที่จะมาลบล้างความฝืน ความสุข ความทรมานตนได้ นี่ก็พอเป็นคติสำหรับท่านนักศึกษาทั้งหลาย ว่าพยายามฝืนนั้นแลเป็นความดี ความรู้วิชาเราเรียนมามากน้อย ดังที่ได้ยกเป็นหัวข้อเบื้องต้นว่า ความรู้ถูกปิดตันนั้น โดยมากความรู้ของเราที่เรียนมาไม่ว่าทางโลก ไม่ว่าทางธรรม มักจะมาถูกปิดตันที่ตัวความอยาก กิเลสราคะตัณหาตัวเดียวนี้เท่านั้น ตัวนี้เป็นสิ่งที่มีอำนาจมากเหนือสิ่งใดๆ มีธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะสามารถลบล้างหรือทำลายสิ่งที่มีอำนาจบนหัวใจเราได้

ความรู้ที่มีมากน้อยโดยมากมาเป็นเครื่องมือของกิเลสประเภทเหล่านี้ จึงเรียกว่าความรู้ถูกปิดตัน จะเรียนมากรู้มากเพียงไรก็ตาม แต่บทเวลาจะเอาจริงเอาจัง ความอยากที่เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของตัณหานี้มีกำลังรุนแรง จึงฉุดลากความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือเพื่อทำหน้าที่ของตนเสีย โดยมากเป็นอย่างนี้ จึงได้ให้ชื่อหัวข้อธรรมว่า ความรู้ถูกปิดตัน ถ้าความรู้ของเราเรียนมามากมายเพียงไร สามารถที่จะทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามภายในใจ ให้หมดไปได้โดยลำดับ ความรู้เหล่านั้นก็เรียกว่า ไม่ถูกปิดตัน แต่โดยมากรู้มากเพียงไรก็ตาม ถ้าไม่พยายามฝืนแล้วต้องถูกปิดตันที่ตรงนี้

อำนาจของกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากมาย แม้แต่ธรรมะที่เราเรียนมามากน้อยก็ตาม ไม่สามารถที่จะลบล้างธรรมชาตินี้ได้ จึงต้องอาศัยภาคปฏิบัติ คำว่าภาคปฏิบัติคือ ทำอย่างเอาจริงเอาจัง ดังที่ได้เรียนแล้วเมื่อสักครู่นี้ว่า การเข้าไปอยู่ในป่าในเขานั้นล้วนแล้วแต่เป็นการฝืน คือฝืนเพื่อจะชำระหรือลบล้างกิเลสตัวมีอำนาจเหล่านี้ให้ลดน้อยถอยลงไป จนมีความรู้ความเฉลียวฉลาดเกิดขึ้นภายในใจ สามารถต้านทานหรือลบล้างกิเลสที่มีอำนาจมากเหล่านั้นให้ลดลงไปโดยลำดับๆ จนมีความอยู่สบาย

ธรรมะเมื่อเรานำมาลบล้าง นำมาแก้ไขสิ่งที่สกปรก คือกิเลสอาสวะซึ่งมีอยู่ภายในใจให้หมดไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงสะอาดปราศจากมลทินโดยตลอดทั่วถึงแล้วนั้น เราอยู่ที่ไหนก็สบาย ดังพระอรหัตอรหันต์ท่านผู้ที่ชำระสิ่งที่เป็นข้าศึก หรือเจ้าอำนาจที่เคยปิดตันความรู้ทั้งหลายนี้ให้หมดสิ้นไปจากใจแล้ว อยู่ที่ไหนท่านก็สบาย ไม่มีสิ่งใดมารบกวนเลย นี่ผลแห่งการฝืน ผลแห่งการฝึกทรมาน ผลแห่งการปฏิบัติแสดงให้เห็นประจักษ์ใจอย่างนี้

คำว่าความรู้ถูกปิดตันนั้น คือเวลาความอยาก ความทะเยอทะยาน ความคึกความคะนองปรากฏขึ้นที่ใจ เรามักจะลืมความรู้วิชานั้นเสียหมด แล้วคล้อยตามความเป็นไปของจิต มีความคึกคะนองเป็นต้น เพราะฉะนั้นคนเราจึงมีทางเสียได้ทั้งๆ ที่มีความรู้มาก แต่การกล่าวทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ท่านทั้งหลายได้ระงับดับเสียโดยสิ้นเชิง นี่กล่าวเพียงว่ามีการฝืนใจกันบ้างหรือการฝืนตนบ้าง พอให้งามตา งามตัวเอง งามเกี่ยวกับสังคมทั้งหลายไม่ให้ล้นฝั่งไปเกินประมาณเท่านั้น

คำที่ว่าถูกปิดตันนี้โดยมากหมายถึงสิ่งที่จะทำเราให้เสีย ไม่ได้หมายถึงธรรมดาสามัญทั่วไป เพราะโลกนี้เป็นสามัญชน แต่ต้องเป็นกัลยาณชนด้วยจึงจะงามตาสงบใจ ถ้าประพฤติปฏิบัติหรือคล้อยตามสิ่งที่ปิดตันนี้ทุกระยะทุกเวลาที่ต้องการแล้ว โลกนี้ก็ต้องเป็นความเดือดร้อนยิ่งกว่าไฟ เพราะต่างคนต่างอยาก ต่างคนต่างทะเยอทะยาน ต่างคนต่างคึก ต่างคนต่างคะนอง ต่างคนต่างล้นฝั่ง ไม่มีธรรมความพอดีเข้ากำกับเสียบ้างพอให้งามตา โลกจึงกลายเป็นไฟขึ้นได้ เท่าที่โลกพอมองดูได้ ไม่น่าเบื่อ ไม่น่าเอือมระอาก็เพราะมีธรรมเป็นฝั่งฝาปิดกั้นเอาไว้ เราทั้งหลายที่กำลังจะเจริญรุ่งเรืองทั้งวัยคืออายุ สังขารร่างกาย ทั้งความรู้วิชาที่เรียนมานี้ จึงควรนำธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้แก่ความรู้จักประมาณนี้เข้าไประงับกำกับตนเอง เพื่อให้สิ่งเหล่านี้มีอยู่พอประมาณ ไม่น่าเกลียดน่ากลัวมากนัก

เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อแสดงออกมากๆ ทำบุคคลให้เสียได้จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้รู้จักประมาณในการรักษา อยู่เฉยๆ สิ่งเหล่านี้ก็แสดง แม้อยู่ในที่ชุมนุมชนก็แสดง อยู่ในที่ลับก็แสดงอยู่ในที่แจ้งก็แสดง เราต้องมีการระงับดับมันอยู่เสมอ ถ้าไม่ดับด้วยอำนาจแห่งธรรมแล้ว ไม่มีสิ่งใดจะดับได้ จึงควรระวัง ความรู้วิชาที่เราเรียนมา กรุณานำไปทำประโยชน์ให้ตนด้วย แก่สังคมทั่วๆ ไปด้วย อย่าให้ความรู้วิชาทั้งหลายที่เรียนมานั้น กลายเป็นเครื่องมือของความไม่ดีนี้ แล้วทำความเสียหายแก่ตนและสังคมทั่วๆ ไป

เพราะคนเราเรียนรู้มากเพียงไร ความฉลาดก็ย่อมมีมาก แต่ถ้าพื้นฐานของจิตใจไม่ได้รับการอบรมกับธรรมะเท่าที่ควรแล้ว ความรู้วิชาที่เรียนมาส่วนมากก็กลายเป็นเครื่องมือให้เราทำความชั่วช้าลามกได้มากมายกว้างขวาง ยิ่งกว่าคนที่ไม่มีความรู้วิชาเป็นไหนๆ แต่ถ้าเรามีธรรมะเป็นพื้นเพของใจ ได้รับการอบรมอยู่เสมอ ความรู้ที่เรียนมามากน้อย กลายเป็นเครื่องประดับตัวให้สวยงาม ประกอบหน้าที่การงานก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคมทั่วๆ ไป กลายเป็นโลกที่ร่มเย็นขึ้นมา เพราะความรู้เป็นเครื่องประดับและเสริมเกียรติของเรา ตลอดหน้าที่การงานก็เป็นผลตามความต้องการ ฉะนั้นกรุณานำธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไปปฏิบัติในข้อที่ว่า นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ใคร่ครวญก่อนแล้วทุกอย่างค่อยทำลงไป นี่เป็นความรอบคอบไม่ค่อยผิดพลาดในกิจการทุกอย่าง หากเราได้นำธรรมะข้อนี้ไปปฏิบัติ

การแสดงธรรมรู้สึกว่าเป็นไปด้วยความไม่สะดวก เพราะเสียงรบกวนมาก นิสัยของธรรมะป่าต้องแสดงในที่สงบสงัด เมื่อออกสังคมเช่นนี้โดยมีความกระทบกระเทือนทางเสียงแล้ว การแสดงจึงไม่ค่อยสะดวก และเพื่อสงวนเวลาให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาไต่ถามข้ออรรถข้อธรรมที่เป็นปัญหาข้อข้องใจในวาระต่อไป การแสดงธรรมจึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

คำถามท้ายเทศน์

         ถาม กระผมมีข้อข้องใจก็คือว่า เมื่อความรู้ถูกปิดตัน เราจะทำอย่างไรมันจึงจะเปิดออก

        ตอบ ก็เหมือนอย่างประตูบ้านของเราเมื่อถูกปิดตันอยู่ เราต้องการจะออกหรือเข้าเราก็เปิด ประตูนั้นก็ย่อมจะเปิดได้และมีทางเข้าไป ถ้าเราจะปิดไว้ทั้งวันไม่ยอมเปิด ประตูกับเราก็เข้ากันไม่ได้ เราต้องการจะเข้าห้องหรือออกห้องก็ออกไม่ได้ เพราะเราไม่เปิดประตู ถ้าคุณต้องการจะเข้าห้องหรือออกห้อง คุณก็ต้องเปิดประตู คุณก็ออกได้เข้าได้อย่างสบาย ความรู้ที่ถูกปิดตัน อะไรเป็นเครื่องปิดตันของความรู้เรา ก็ได้อธิบายให้ฟังแล้วเมื่อกี้นี้ สรุปความลงแล้วก็คือความอยาก เมื่อมีแต่ความอยากโดยถ่ายเดียว โดยไม่ใช้ธรรมะมาพิจารณาเหตุผลแก้ไขความอยากนั้น พอเป็นทางออกของความรู้หรือพอเป็นทางออกของเราแล้ว เราก็ออกไม่ได้ การที่จะออกได้ก็ต้องอาศัยความฝืนว่าทำอย่างไร สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทั้งๆ ที่ฝืน คือทั้งๆ ที่อยากจะทำอยู่เวลานี้ เราจะฝืนได้ด้วยวิธีใด เราก็มีอุบายอันหนึ่งที่จะพยายามฝืน ไม่ทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งกำลังถูกปิดตันความรู้ของเราอยู่เวลานี้ ถ้าไม่เข้าใจก็ถามได้อีก ขอยุติเพียงแค่นี้เพื่อให้โอกาสแก่ท่านผู้ถามต่อไป

         ถาม อำนาจแห่งธรรมเป็นอย่างไร

         ตอบ อำนาจแห่งธรรมเหรอ เราพูดอำนาจที่เป็นข้าศึกต่อกันเสียก่อนว่า อันใดที่มีอำนาจ จะเป็นข้าศึกต่อธรรม แล้วธรรมมีอำนาจที่จะแก้ไขสิ่งนั้นได้อย่างไร ทางหลักธรรมท่านว่า กิเลสชนิดต่างๆ มีอำนาจตามวิสัยของมัน แต่ธรรมะก็มีอำนาจที่จะแก้กิเลสประเภทนั้นๆ ให้ลดน้อยหรือหมดไปโดยลำดับ นี่เราพูดอำนาจโดยเฉพาะๆ ไม่ได้พูดถึงอำนาจของธรรมทั่วๆ ไป เพียงแค่นี้ก่อน

         ถาม คนเราเกิดมาบางคนมีโรคภัยไข้เจ็บ พิกลพิการอย่างหนัก บางคนยากจนข้นแค้นเหลือเกิน บางคนก็ร่ำรวยมหาศาล ดังนี้ทางพระพุทธศาสนาว่าเป็นเพราะอะไรจึงแตกต่างกันเช่นนั้น

         ตอบ แล้วทางโลกเห็นเป็นอย่างไร จึงต้องนำมาถามอย่างนั้น

         ถาม เพื่อจะเห็นความแตกต่างของคน ว่าบางคนก็รวย บางคนก็จนอย่างนี้ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

        ตอบ ความร่ำรวยนี้ เราอาจตีความหมายได้ ๒ ทาง ความร่ำรวยนั้นเกิดขึ้นมาในทางที่ชอบหนึ่ง เกิดขึ้นมาในทางที่ผิดหนึ่ง เกิดขึ้นมาทางที่ชอบคือ มีความขยันหมั่นเพียรทำการค้าการขายด้วยความชอบธรรม บุคคลนั้นก็เกิดความมั่งมีขึ้นมา เพราะความขยันและความฉลาด แต่อีกแง่หนึ่ง ความร่ำรวยนั้นเพราะเที่ยวรีด เที่ยวไถ เที่ยวกอบ เที่ยวโกยเขามาก็มี แต่ทั้ง ๒ นี้เรียกว่าความร่ำรวยเหมือนกัน ผิดกันแต่กิริยาที่แสวงหานั้นเท่านั้น ตามหลักของพระพุทธศาสนาว่าขึ้นอยู่กับกรรม กรรมแปลว่าการกระทำ กระทำอย่างไรผลก็ปรากฏขึ้นมาอย่างนั้น แล้วมีข้อข้องใจอะไรก็ถามต่อไปอีกได้ ในปัญหาแง่นี้

         ถาม คือปัญหานี้นะครับ เป็นปัญหาที่นักศึกษาแต่ละคน เรียนถามมา ก็มีความคิดความเห็นต่างๆ กัน ปัญหาต่อไปที่จะเรียนถามท่านอาจารย์ก็มีว่า คำว่าธรรมะนี้ควรจะให้คำจำกัดความอย่างไรถึงจะเหมาะสม

         ตอบ ธรรมะนี้ลึกซึ้งมาก แยกเป็นประเภทๆ ตั้งแต่ธรรมะขั้นสามัญทั่วๆ ไปจนกระทั่งธรรมะขั้นสูงสุด การทำดีก็เรียกว่าเป็นธรรมอันหนึ่ง ผลปรากฏขึ้นเป็นความสุข ตามอำนาจของเหตุที่ทำได้มากน้อยก็เรียกว่าธรรมอันหนึ่ง ทั้งเหตุทั้งผลตามขั้นภูมิของผู้ทำและผู้ได้รับนั้นก็เรียกว่า ธรรมเป็นชั้นๆ เช่นสมาธิธรรม ผู้บำเพ็ญสมาธิจนเกิดความสงบ ก็เรียกว่าธรรม คือสมาธิธรรม ปัญญาธรรม ผู้มีความเฉลียวฉลาดทางด้านปัญญา จนสามารถรื้อถอนสิ่งที่รกรุงรังภายในจิตใจของตนออกได้โดยลำดับ ก็เรียกว่าปัญญาธรรม พอกิเลสอาสวะหมดไปเพราะอำนาจของปัญญาธรรมนั้นก็เรียกว่า วิมุตติธรรมได้ ธรรมเป็นชั้นๆ อย่างนี้ เมื่อรวมความว่าธรรมแล้วนั้น แปลว่าธรรมชาติที่ประเสริฐ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเราจะอธิบายถึงคำว่าธรรมนี้ให้ซึ้งถึงธรรมจริงๆ นั้นเป็นการยากมาก เพราะธรรมนี้มีทั้งอยู่ในแดนสมมุติ มีทั้งนอกแดนสมมุติไปแล้วแต่เรียกว่าธรรมด้วยกัน จึงยากที่เราทั้งหลายที่ไม่สามารถจะทราบในธรรมทั้ง ๒ เงื่อนภายในใจ คือธรรมภายในสมมุติและธรรมนอกสมมุตินั้น จึงไม่สามารถจะแสดงให้แจ่มแจ้งได้

         ในระหว่างที่พระคุณท่านตอบปัญหานี้นั้น อยากจะให้นักศึกษาทั้งหลายตั้งอกตั้งใจฟังเพราะเป็นปัญหาที่มาจากคุณเอง อย่าได้คุยกัน ปัญหาต่อไปก็มีว่า

         ถาม ที่ว่าผลแห่งกรรมนั้น ย่อมเนื่องมาจากการกระทำในแต่ปางก่อน มีข้อเท็จจริงอย่างไร

         ตอบ เรื่องผลแห่งกรรมนั้น ปรากฏมาในชาติก่อนก็มี ในปัจจุบันก็มี ในขณะนี้ก็มี ส่วนในชาติก่อนนั้นเราไม่สามารถจะทราบได้ว่า ชาติก่อนนั้นเราเคยทำดีทำชั่วอย่างไร ผลจึงปรากฏขึ้นมาเป็นอย่างนั้นๆ หรืออย่างนี้ๆ ในชาตินี้เราเคยทำอะไรบ้าง บางอย่างเราก็ลืม แต่ผลก็ปรากฏให้เราทราบชัด ดังที่เรามีความรู้อยู่เวลานี้ เราต้องเคยเรียนหนังสือมาแล้วจากครู จากโรงเรียนนั้นๆ แต่ว่าในโรงเรียนนั้นๆ ครูได้สอนวิชาอะไรให้เราบ้างในวันและเวลานั้นๆ จนกระทั่งถึงบัดนี้ เราไม่อาจจะจำได้ทั้งครู จำได้ทั้งความรู้วิชาที่เราเรียนในวันนั้นๆ ว่า ครูสอนอะไรให้เราบ้าง และเราจำอะไรได้บ้าง จนกระทั่งปัจจุบันนี้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรู้ที่มีอยู่ภายในตัวของเราเวลานี้เราไม่ได้รับการศึกษามาเลย นี้เป็นข้อหนึ่ง แล้วในหลักปัจจุบัน ที่ว่าผลปรากฏขึ้นในขณะที่ทำ เช่นเรากำลังหิวข้าว เรารับประทานลงไปในขณะที่หิว ความอิ่มก็ปรากฏให้เราเห็นชัดๆ จนกระทั่งถึงอิ่มถนัดแล้วหยุดจากการรับประทาน นี่เป็นผลที่เราเห็นประจักษ์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ด้วยกันทุกคน เรียกว่าผล อยัมภทันตา ได้แก่การรับประทาน เอาละแค่นี้ก่อน

         ถาม ขอบพระคุณมากครับ ปัญหานักศึกษาต่อไป ผู้ที่จะบรรลุถึงธรรมขั้นต้นนั้น ควรจะปฏิบัติอย่างไร

         ตอบ ธรรมขั้นต้นหมายถึงธรรมอะไร

         ถาม อาจจะเป็นธรรมที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติของฆราวาส  ฆราวาสธรรม

         ตอบ เอาอย่างนี้ดีกว่านะ สมมุติว่าเราขี้เกียจ เวลาตื่นขึ้นมาตอนเช้า หรือเวลาจะหลับนอน เราขี้เกียจไหว้พระสวดมนต์ แม้ย่อๆ ก็ขี้เกียจ เราก็พยายามกำจัดความขี้เกียจนั้นด้วยความอุตส่าห์พยายาม วันนี้จะสวดให้ได้ทั้งตอนเช้าตอนเย็น แม้จะย่อๆ ก็ให้ได้ ไม่ผิดพลาดไปได้อย่างนี้ เราพยายามทำจนทำได้ ก็เรียกว่า เอ้าถามว่ายังไงตะกี้นี้ลืมคำถามไปแล้ว

         ถาม ผู้ที่จะบรรลุถึงธรรมขั้นต้น

         ตอบ เอาละ เข้าใจ ก็เรียกว่าเราบรรลุแล้ว คือบรรลุความขี้เกียจอันนั้นให้ถึงความขยัน แล้วเราก็ได้สวดมนต์ไหว้พระด้วยความสะดวกสบายของเรา นี้ก็จัดว่าบรรลุขั้นหนึ่งแล้ว คือบรรลุความขยัน ทำลายความขี้เกียจในขณะนั้นออกไป หรือเราจะเรียกว่าบรรลุความขี้เกียจก็พอได้ เพราะเราเคยขี้เกียจมานาน เราผ่านพ้นความขี้เกียจมาได้ก็เรียกว่า เราบรรลุความขี้เกียจนั้นถึงความขยันได้ไหว้พระสวดมนต์ เอ้า นี่เป็นธรรมขั้นหนึ่ง แล้วขั้นสมาธิ เรียกว่าบรรลุสมาธิ คือถึงสมาธิ ความถึงนั้นเรียกว่าความบรรลุ คือบรรลุถึงนั้นถึงนี้ ก็เรียกว่าธรรมขั้นหนึ่ง บรรลุพระโสดา บรรลุสกิทาคา บรรลุอนาคา บรรลุอรหันต์อย่างนี้ล้วนแต่เป็นธรรมบรรลุ แต่การจะทำตนให้ถึงความบรรลุหรือปฏิบัติให้บรรลุนั้น ความเพียรพยายามเป็นสิ่งสำคัญ เราจะทำให้บรรลุถึงขั้นไหนต้องมีความเพียรความพยายามประจำหน้าที่ของเรา แล้วความบรรลุก็จะเป็นผลตามมา ไม่ว่าธรรมะขั้นต่ำ ขั้นกลาง หรือขั้นละเอียดสูงสุดคือ วิมุตติพระนิพพานต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียรเป็นสำคัญ เอ้า เอาแค่นี้ก่อน

         ถาม อยากจะเรียนถามพระคุณท่านต่อไปว่า ในขณะที่เรียนหนังสือมีวิธีการอย่างไรจึงจะทำให้เกิดสมาธิได้ดี ไม่วอกแวกต่อสิ่งรบกวน

         ตอบ อ๋อ แต่อาจารย์เองก็ยังวอกแวก แล้วจะสอนลูกศิษย์ไม่วอกแวกนี้ไม่ได้ ถ้าอาจารย์ไม่วอกแวก แล้วสอนลูกศิษย์ไม่ให้วอกแวกก็ควรอยู่ แต่นี้อาจารย์ก็วอกแวก เวลาเสียงมาบางทีก็ต้องหยุดเสียก่อน แม้แสดงธรรมอยู่ต้องหยุด เพราะมารบกวนสมาธิเรา ทีนี้สมาธิเราก็วอกแวกแสดงธรรมก็ไม่ได้ต้องหยุดเสียก่อน การเรียนก็สำคัญที่ความมุ่งมั่นเป็นหลักใจ แต่ความวอกแวกของใจนี้ ใจเป็นธรรมชาติที่เคยคิดเคยปรุงมาประจำตน ไม่ว่ากลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอนเว้นเสียแต่หลับสนิทเท่านั้น ความคิดจะต้องคิดปรุงอยู่เสมอ แล้วสิ่งที่จะคอยรับทราบมีอยู่ภายในตัวของเรา ตาก็คอยรับทราบทางรูป หูคอยรับทราบทางเสียง จมูกคอยรับทราบทางกลิ่น ลิ้นคอยรับทราบทางรส กายคอยรับทราบสิ่งที่มาถูกต้องสัมผัส ใจคอยรับทราบอารมณ์ที่มาเกี่ยวข้องหรือที่เกิดขึ้นกับใจ ความคอยรับทราบมีอยู่พร้อมทุกเวลา แล้วเราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า จะไม่ให้ใจรับทราบ จะไม่ให้ใจวอกแวกคลอนแคลน ก็มีอยู่เพียงข้อเดียวก็คือว่า เราพยายามระวังสิ่งใดที่เป็นภัยในขณะที่รับทราบนั้น เราพยายามกำจัดพยายามแก้ไข แล้วปลดเปลื้องจิตจากความรับทราบนั้น ให้ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนในทางอื่นเสีย นี่ก็เป็นวิธีหลีกเลี่ยงการรับทราบที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อถือเอาประโยชน์จากการรับทราบทางหนึ่ง นี่ก็เป็นทางออกอันหนึ่ง แต่จะให้จิตแน่นหนามั่นคงไม่ให้รับทราบอะไรเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ นอกจาก ๑. คนนอนหลับ ๒. คนตายนั้นมั่นจริงๆ เรียกว่ามั่นคงใครจะทำอะไรก็เฉย จิตธรรมดานี้จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ มีอะไรว่าต่อไปอีก

         ถาม ปัญหาต่อไป การศึกษาธรรมะมีความจำเป็นต่อสังคม การครองชีพอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

          ตอบ การศึกษามีความจำเป็น และการปฏิบัติก็มีความจำเป็นเท่าเทียมกัน ถ้ามีแต่การศึกษาไม่พยายามปฏิบัติตามก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ จะรู้มากรู้น้อยเพียงไรก็ไม่ค่อยจะเกิดประโยชน์ ประโยชน์ที่จะให้เกิดนั้นเกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติ คือการปฏิบัติตามความรู้ที่เราได้ศึกษามานั้นเกิดประโยชน์ แล้วมีอะไรอีก

         ถาม คนในทางพุทธศาสนาหมายถึงอะไร ทำไมถึงเรียกว่าคน

         ตอบ คนนอกพระพุทธศาสนา เขาไม่เรียกว่าคนเหรอ เขาเรียกคนเฉพาะในวงของคนที่นับถือพุทธศาสนาเท่านั้นหรืออย่างไรจึงเป็นปัญหาให้ต้องถามกัน

         ถาม คืออาจจะมีความหมายว่าคนที่พุทธศาสนากำหนดนี้ หมายถึงอะไร มีคุณสมบัติอย่างไรถึงเรียกว่าคน

         ตอบ คนนี้เป็นคำที่ใช้ทั่วๆ ไป คนไม่ถือศาสนาก็เรียกว่าคน คนชั่วก็เรียกว่าคน คนดีก็เรียกว่าคน คนพาลก็เรียกว่าคน บัณฑิตนักปราชญ์ก็เรียกว่าคน เพราะคนนี้เป็นนามของมนุษย์เรา เช่นมนุษย์หรือคนนี้เป็นไวพจน์ที่จะใช้แทนกันได้โดยทั่วๆ ไป จึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกับทางพุทธศาสนาว่า ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาต้องเรียกว่าคน คนไม่นับถือพระพุทธศาสนาจะเรียกว่าอะไรต่อไปอีก หรือเรียกว่ามนุษย์ มนุษย์ที่ถือพุทธศาสนาก็ยังมี แต่เราให้ชื่อว่ามนุษย์ให้ชื่อว่าคน เป็นไวพจน์แทนกันเท่านั้น ไม่สำคัญกับคำว่าคน กับคำว่ามนุษย์ที่ต้องนับถือพุทธศาสนาจึงเรียกว่าคน เรียกว่ามนุษย์ แล้วมีอะไรอีก

         ถาม นมัสการพระคุณท่าน เท่าที่เกล้ากระผมได้รวบรวมปัญหามาและเท่าที่ได้อ่านปัญหาดูนั้น ปัญหาหนึ่งซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่สนใจมาก คือเรื่องของผี เรื่องของเทวดา เรื่องของนรก และเรื่องของสวรรค์ นักศึกษาส่วนใหญ่อยากจะทราบว่าผีก็ดี นรกก็ดี เทวดาก็ดี สวรรค์ก็ดีเหล่านี้ มีจริงหรือไม่อย่างไรครับ

         ตอบ ถ้าไม่มีจริงแล้ว ผู้ที่เอาผีมาถาม นรกมาถาม เอามาจากไหน หรือเอาผีโกหกเอานรกโกหกมาถามกันอย่างนั้นหรือ ผู้ตอบถ้าหากว่าตอบไปแบบโกหกแล้วผู้ฟังจะน่าฟังหรือไม่ จึงยังเรียนตอบไม่ได้ในข้อนี้ ต้องถามถึงความจริงสำหรับผู้ถามเสียก่อนว่า คำว่าผีที่ได้มาถามนี้ได้มาจากไหนถึงเรียกว่าผี

         ถาม เกล้ากระผมใคร่จะขอชี้แจงรายละเอียดของปัญหา โดยจะยกเรื่องผีมาเป็นปัญหาก่อน คือเท่าที่เรานักศึกษาส่วนใหญ่เข้าใจกันในปัจจุบันนี้ก็ว่า คนที่ตายไปแล้วนั้นอาจจะมาหลอก อาจจะมาหลอน หรืออาจจะมาเข้า ซึ่งที่เรียกว่าเข้าทรงหรือผีเข้าเหล่านี้ ผีที่ว่าดังนี้นั้นมีจริงหรือไม่อย่างไร

         ตอบ ผีเหล่านั้นไม่เคยมาทรงอาจารย์จึงไม่กล้าจะรับรองได้ว่ามีจริง ถ้าผีทั่วๆ ไปที่โลกให้ชื่อว่าผีนั้นเป็นคำที่เหมาเสียโดยมาก คือเรื่องของผีนี้ตามหลักพุทธศาสนาก็เคยมีมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าของเรา ที่ให้นามว่าผีนั้นเป็นส่วนรวมของอมนุษย์ ที่นอกจากสัตว์เดรัจฉาน นอกจากมนุษย์ของเราที่มีรูปร่างทางด้านวัตถุแต่เป็นนามธรรม ที่เราให้ชื่อว่าผีนั้น ตัวเขาเองเขาไม่ทราบว่าเขาเป็นผี เขาไม่ได้ให้ชื่อให้นามเขาว่าเป็นผี แต่เขาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่เป็นวิสัยของผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางใจโดยเฉพาะเท่านั้นจะมองเห็นเขาได้ ว่าผีเหล่านี้มีลักษณะอย่างนั้นมีนิสัยอย่างนั้น หรือมีบาปมีบุญได้เสวยกรรมอย่างนั้นๆ นี่เป็นวิสัยของท่านผู้มีความรู้ทางด้านสมาธิหรือด้านจิตตภาวนาจะทราบได้

แต่คำว่าผีนี้โดยมากเมื่อพิจารณาตามความจริงแล้ว เป็นคำรวมของพวกที่ไม่มีรูปร่าง เรียกว่าพวกกายทิพย์ คือรูปร่างเหมือนอย่างเรานี้ไม่มี แต่จิตวิญญาณนั้นมีเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไป เราให้นามพวกนี้ว่าผี พวกเทวดานั้นหมายถึงผู้ที่มีภพอันหนึ่งที่นอกเหนือไปจากพวกนี้ เช่น รุกขเทวดาหรืออากาสเทวดา เทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ ภูเขา เทวดาที่อาศัยอยู่บนอากาศหรือเทวดาอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นๆ อันนี้ก็มีแต่จำพวกกายทิพย์ไม่มีกายเนื้อเหมือนอย่างพวกเรา แต่พวกผีเขาเป็นชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เช่นอย่างพวกที่เข้าทรงหรือเขาเรียกผีปอบที่เข้าผู้เข้าคนน่ะ คนป่วยน่ะผีปอบชอบ ชอบเหลือเกิน ไปเข้าคนนั้นเข้าคนนี้ แล้วถ้าหมอผีปราบไม่เก่ง ปอบหรือผีนั้นก็กินได้แล้วตายได้ นี่ตามที่เขาพูด เขาพูดอย่างนั้น

แต่อาจารย์ไม่เคยเห็นผีทุกๆ ประเภทว่าเป็นชนิดใด เพราะไม่เคยมาถามข่าวถามคราวไม่เคยมาสนทนาปราศรัยและไม่เคยมาเข้าทรงอาจารย์ ไม่เคยมาเข้าอาจารย์ ไม่เคยมาตำหนิติโทษหรือชมเชยอาจารย์ว่าอย่างไร และไม่เคยมารายงานตัว รายงานชื่อของตัว ว่าเขามาจากที่นั่นที่นี่ เขามาจากภูมินั้นภูมินี้ พ่อแม่สกุลของเขาชื่อนั้นๆ ป้าน้าอาหรือปู่ย่าตายายของเขาชื่ออย่างนั้นๆ เขาไม่มีเหมือนมนุษย์เรา แต่คนก็ให้ชื่อว่าเขาเป็นผี สำหรับอาจารย์แล้วขอเรียนว่าไม่เคยทราบวี่แววของท่านเหล่านี้ หรือของพวกผีเหล่านี้มาเกี่ยวข้องเลย เอาแค่นี้ก่อน

         ถาม เป็นอันว่าทางฝ่ายผู้ฟังเองก็ยังสรุปเอาแน่นอนไม่ได้ว่า ผีนั้นมีจริงหรือไม่อย่างไร

         ตอบ อ๋อ ก็ควรจะฟังให้แน่นอน เพราะผู้พูดนี้พูดให้ฟังตามหลักพุทธศาสนาว่าผีนั้นมีจริง หลักพุทธศาสนาแสดงไว้ว่าผีนั้นมีจริง แต่คำที่ว่าผีนั้นเป็นคำรวมของพวกกายทิพย์ทั้งหลายเว้นพวกเทวดาเสียโดยมาก นอกนั้นเรียกว่าผีเป็นคำรวม พวกเหล่านี้มีความเป็นอยู่โดยเปิดเผยตามหลักธรรมชาติของตน เช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์มีอยู่ด้วยความเปิดเผยในวิสัยของเราที่รู้เห็นกันอย่างชัดๆ พวกเหล่านั้นเขาก็มีทางรู้เห็นเขาโดยชัดเจนเช่นเดียวกับเรารู้เห็นกันนี้เอง แต่เป็นวิสัยของใจที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นเท่านั้น ไม่ใช่เป็นวิสัยของตาของหู ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่มาแสดงเป็นอากัปกิริยาให้เราทราบในบางครั้ง เราจึงไม่มีทางทราบได้ แล้วก็ลบล้างเขาเสียเลยว่า เขาไม่มีหรือสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ในโลก บางคนจึงปฏิเสธว่าผีไม่มีทั้งๆ ที่ก็ไม่เคยเห็นว่าผีมีหรือไม่มี อย่างนี้ก็มีมากมาย บางคนก็ว่ามี ใบไม้ร่วงลงมาใบหนึ่งก็ว่าผีหลอกอย่างนี้ก็มี อะไรๆ เหมาว่าเป็นผีไปหมดอันนี้ก็เกินไป ผู้ที่ปฏิเสธเสียหมดทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมีอยู่ ไม่มีอะไรจะไปลบล้างเขาได้ แต่เราก็ไปลบล้างเอาเสียด้วยวาทะหรือความรู้ความเห็นของเราเสียถ่ายเดียวว่าผีไม่มีอย่างนี้ก็เกินไปเช่นเดียวกัน ท่านผู้ฟังพอจะเข้าใจแล้วหรือว่าได้ความแน่นอนอย่างไรบ้างที่ชี้แจงให้ฟังตะกี้นี้ว่าผีมีจริงหรือไม่

         ถาม เกล้ากระผมเคยอ่านหนังสือเจอตามภูมิตามปัญญาขั้นต่ำว่าความเป็นมนุษย์ความเป็นคนนี้ประกอบจากขันธ์ ๕ เป็นสิ่งปรุงแต่งขึ้นจากขันธ์ ๕ คือเรื่องของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ การที่เรารู้สึกร้อนก็ดี การที่เรารู้สึกว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น หรือการที่เรารู้สึกว่าอะไรเป็นอะไรก็ดีเหล่านี้ ล้วนแต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นของขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหากมองกันในแง่ว่าความเป็นตัวตนก็ดี ความเป็นสิ่งที่มีอยู่ก็ดี เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของขันธ์ ๕ แล้ว เมื่อคนตายลงหรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ดับตายลงไปนั้น ก็น่าที่จะไม่มีอะไรเหลือไปอีกเลย หากพระคุณท่านยังเน้นอยู่ว่า มีสิ่งหนึ่งซึ่งเราสามารถจะทราบได้ด้วยจิต สิ่งนั้นเกล้ากระผมก็เลยจะทราบว่าเป็นส่วนของขันธ์ ๕ หรือว่าเป็นสิ่งที่แผ่ไปจากขันธ์ ๕ อย่างไร

         ตอบ ขันธ์ ๕ ก็คือรูป ได้แก่ ร่างกายของเราทุกส่วน เวทนาได้แก่ ความสุขความทุกข์เฉยๆ ทั้งทางกายและทางใจ เรียกว่าทุกขเวทนาบ้าง สุขเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง ซึ่งมีอยู่ตามร่างกายและจิตใจ สัญญา คือความจำได้ว่าบ้านนั้น คนนั้น ชื่อนั้น บ้านนั้นชื่อนั้น เป็นต้น สังขาร คือความคิดของใจ คิดไปต่างๆ คิดดีบ้างชั่วบ้าง วิญญาณ คือความรับทราบทางอายตนะภายนอกกับภายในเข้าสัมผัสกัน เช่นตากับรูปสัมผัสกัน เกิดความรู้ขึ้นมาเป็นต้น เรียกว่าวิญญาณ อาการทั้ง ๕ นี้ท่านเรียกว่า ขันธ์ ๕ แต่ธรรมชาติอันหนึ่งที่นอกเหนือไปจากขันธ์ ๕ นี้ท่านเรียกว่าใจ ใจนี้คือความรู้อยู่ตามหลักธรรมชาติของตัว สิ่งเหล่านี้จะแสดงตัวขึ้น คืออาการทั้ง ๕ นี้อาการใดอาการหนึ่งจะแสดงขึ้นมาก็ตามไม่แสดงขึ้นมาก็ตาม ธรรมชาติที่รู้ๆ อยู่ตามปกติของตนหรือตามธรรมชาติของตนนั้น ท่านเรียกว่า จิต จิตนั้นไม่ใช่ขันธ์เหล่านี้ เพราะฉะนั้นจิตกับขันธ์จึงไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน แต่อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วมีข้อข้องใจอะไรอีก

         ถาม ปัญหานั้นออกจะเป็นปัญหาที่หนักอยู่ ทีนี้เกล้ากระผมจะถามปัญหาในเรื่องของอัตตหิตประโยชน์ไม่ใช่ปรหิตประโยชน์. คือมีผู้ส่งปัญหามาว่า ธรรมะในปัจจุบันนี้ถ้าเราจะโน้มเอียงไปในทางด้านการตัดกิเลสตัณหาอาสวะ เราก็คงจะออกเดินป่าไปเสียหมด จะทำอย่างไรจึงจะให้ธรรมะเป็นประโยชน์กับชีวิตในปัจจุบัน โดยไม่ออกเดินป่าเหมือนแต่ก่อน

         ตอบ ถ้าเช่นนั้นอาจารย์มาหาท่านทั้งหลายนี้ไม่ได้เรียกว่า เข้าป่าแต่เข้ามาหาป่ามนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนั้นอาจารย์ก็เป็นผู้มาสั่งสมกิเลสเต็มหัวใจละซิ เพราะการแก้กิเลสต้องไปแก้ในป่า เข้ามาในบ้านนี้ก็กลับตรงกันข้ามเรียกว่า มาสั่งสมกิเลส เพราะฉะนั้นอาจารย์ที่มาจากวัดป่าบ้านตาด ซึ่งเป็นสถานที่นิยมกันว่าเป็นสถานที่แก้กิเลส แล้วเข้ามาสถานที่นี่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน ก็กลายเป็นว่ามาสั่งสมกิเลสขึ้นให้มากมูนภายในใจ ใช่ไหม

         ถาม เกล้ากระผมคิดว่าผู้ที่ถามปัญหามาคงจะเข้าใจ

         ตอบ อาจารย์อธิบายให้ฟังใหม่นะ คือการแก้กิเลสนั้นไม่ได้หมายถึง กิเลสต้องเป็นพระอรหัตอรหันต์ การแก้กิเลสไม่ใช่ว่าจะไล่คนเข้าป่าเสียทุกคน เราอยู่ในบ้านในเรือนนี้กิเลสมันก็มี ธรรมะเครื่องแก้ก็มี เช่นใจของเราถ้าวันไหนมันโมโหโทโสมาก ก็เอาขันติเข้าไปแก้ มันโลภมากก็เอาความพอดีเข้าไปแก้ มันคึกคะนองมากก็เอาธรรมะคือความข่มใจเข้าไปแก้อย่างนี้ ก็แก้กันไปได้โดยลำดับๆ โดยไม่ต้องถึงมรรคผลนิพพานคือไม่ถึงกับจะต้องแก้กิเลสให้หมดถึงมรรคผลนิพพานได้ คือแก้กิเลสที่เป็นข้าศึกต่อตัวอยู่ทุกระยะๆ ประจำวันๆ นี้ด้วยหลักธรรมเป็นข้อๆ ไปเท่านั้น เราก็เกิดประโยชน์ พอเข้าใจไม่ใช่หรือ

        ถาม ขอรับกระผม มีปัญหาหนึ่งซึ่งเกล้ากระผมคิดว่าเป็นปัญหาที่หลายท่านสนใจมาก คือเวลามีญาติโยมของเราเสียชีวิตไปแล้ว เรามักจะได้ยินเสมอๆ ว่าหากเราทำบุญ เราตั้งจิตอธิษฐานหรือว่าตั้งจิตที่จะส่งผลบุญนั้นไปถึงผู้ตาย ผลบุญนั้นก็จะถึงผู้ตาย เกล้ากระผมอยากจะเรียนถามว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นจะได้รับส่วนกุศลจริงหรือไม่อย่างไร

         ตอบ ถ้าถึงก็ควรจะได้รับ นอกจากไม่ถึง ประการหนึ่งๆ นอกจากไม่อุทิศ นอกจากไม่ทำก็ไม่ถึง หรือไม่ใช่วิสัยที่จะควรรับได้ก็ไม่ถึง ถ้าส่งถึงจริงๆ แล้วก็ควรจะได้รับ แล้วมีอะไรอีก

         ถาม ปัญหานี้เป็นปัญหาซึ่งคงจะฮิตอยู่มากอยู่ในเมืองไทย คงจะเป็นที่เลื่องลือมากในเมืองไทย คือปัญหาที่มักจะปรากฏบ่อยๆ ว่ามีผู้ระลึกชาติได้ เรื่องนี้มีความเป็นจริงอย่างไรทางด้านพุทธธรรม

         ตอบ ระลึกชาติของตัวเองว่าชาติอะไรเกิดเป็นอะไรงั้นหรือ

         ถาม ใช่ครับ

         ตอบ อ๋อ อันนี้ควรจะไปถามท่านผู้ระลึกชาติได้ อาจารย์ระลึกไม่ได้ ถามก็ไม่เกิดประโยชน์

         ถาม มีปัญหาที่เพิ่งมาเมื่อตะกี้นี้ คือปัญหาการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับศีลข้อที่ ๑ คือข้อที่ห้ามฆ่าสัตว์นั้น ถ้าหากพุทธศาสนิกชนไม่เป็นผู้ฆ่าแล้ว พระสงฆ์จะได้ฉันแต่อาหารจำพวกพืช ขอให้ท่านอาจารย์ได้อธิบายเกี่ยวกับการถือเบญจศีลข้อนี้ด้วย

         ตอบ ถ้างั้นพระก็เรียกว่ายักษ์ใช่ไหม คอยจะกินแต่ของตั้งแต่ปาณาติบาตอย่างเดียว อย่างอื่นไม่กินไม่ฉัน พระก็ตั้งตัวเป็นยักษ์เท่านั้นเอง ถ้าหากว่าญาติโยมมีศรัทธาอะไรไปถวาย หน้าที่ของพระซึ่งอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ ก็ควรจะรับได้ในวิสัยของสมณะที่ควรรับได้ ไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นปาณาติบาตอย่างเดียวพระถึงจะรับ นอกนั้นไม่รับ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรจะเป็นพระยักษ์หรือตั้งชื่อให้เสียใหม่ว่า พระยักษ์คอยกินแต่เนื้อหนังของคนและของสัตว์อื่นๆ แล้วว่าไงอีกล่ะ

         ถาม เกล้ากระผมนึกปัญหาหนึ่งออกมาได้ว่า ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์เจริญมาก จากการที่เราสามารถประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายมากมายนั้นทำให้เราทราบว่า น้ำนั้นถึงจะบริสุทธิ์ปานใดก็ตาม จะต้องมีสิ่งที่มีชีวิตอยู่ในนั้นเป็นของแน่นอน เพราะฉะนั้นหากเราถือว่า พระพุทธองค์ซึ่งเป็นผู้ที่ตรัสรู้แล้วไม่ทรงกระทำผิดศีลข้อที่ ๑ จะเป็นไปได้หรือไม่ ก็เพราะว่าพระพุทธองค์ยังทรงเสวยน้ำอยู่ และในน้ำนั้นต้องมีพวกสิ่งมีชีวิตอยู่เป็นล้านๆ ตัวถ้าใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู

         ตอบ ตามหลักพระวินัยท่าน เขาบัญญัติไว้ที่อยู่ในวิสัยของพระเท่านั้น คือวิสัยของเราที่จะทำได้ เช่นท่านมีธมกรก เครื่องกรองน้ำ กรองนั้นก็กรองตัวสัตว์ไม่ให้มี แต่เวลากรองแล้วสัตว์จะมีเป็นจำนวนล้านๆ อย่างที่คุณว่าก็สุดวิสัยที่ท่านจะทราบได้ แม้จะมีจำนวนมากกว่าล้านๆ นั้นขึ้นไปท่านก็อาจจะฉันได้เพราะท่านไม่ทราบ หรือยกตัวอย่างเช่นในน้ำชานี้ น้ำชาที่อาจารย์ฉันอยู่นี้ ต้มน้ำร้อนเป็นน้ำร้อนมาแล้ว น้ำชานี้อาจารย์เข้าใจว่าน้ำชานี้บริสุทธิ์ไม่มีตัวสัตว์อยู่ภายใน แต่ตัวสัตว์อาจจะอยู่นี้จำนวนตั้งหลายล้านตัวก็ได้ อาจารย์ต้องฉันสัตว์ตายไปจำนวนล้านๆ ตัวแล้วหรือถ้าอย่างนั้น

         ถาม ขณะนี้มีข่าวฮิตทางหน้าหนังสือพิมพ์ คือข่าวการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศ อาจจะมีการผ่าตัดเปลี่ยนจากผู้หญิงมาเป็นผู้ชาย มีผู้เรียนถามมาว่า ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดอย่างนี้แล้วเมื่อจะบวชนั้นจะผิดวินัย จะผิดบัญญัติข้อไหนหรือไม่

         ตอบ ถ้าเป็นคน ๒ เพศท่านก็ไม่ให้บวช ตามหลักพระวินัยท่านห้าม เป็นอุภโต เป็นคน สองเพศ แต่การผ่าตัดเปลี่ยนเพศเป็นใหม่อย่างนี้อาจารย์ไม่ทราบ เพราะแต่ก่อนไม่เคยมีนักวิทยาศาสตร์ที่เจริญขนาดนี้ อุปัชฌาย์อาจารย์จึงไม่มีพิเศษไว้สำหรับบวชคนเปลี่ยนเพศอย่างนี้ ต่อไปจะต้องมีอุปัชฌาย์หลายอุปัชฌาย์ละมัง อุปัชฌาย์ที่บวชเป็นเพศชายล้วนๆ นี้เป็นอุปัชฌาย์หนึ่ง อุปัชฌาย์หนึ่งก็ผู้ที่เปลี่ยนเพศจากผู้หญิงเป็นผู้ชาย นี้บวชให้เป็นอุปัชฌาย์หนึ่งต้องเป็นสองอุปัชฌาย์ในวัดหนึ่งๆ จะต้องมี ๒ อุปัชฌาย์เพื่อบวชคน ๒ เพศด้วย บวชคนเพศเดียวด้วย

         ถาม ปัญหาหนึ่งซึ่งคนส่วนมากคงจะแปลกใจ คือเวลาหลับแล้วนั้นจะเกิดความฝัน ฝันเห็นโน่นเห็นนี่ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงๆ ในความฝันนั้น เท่าที่รู้สึกก็รู้สึกว่าจับได้จริง รู้สึกเจ็บจริง ร้อนจริง ตกใจจริง กลัวจริง อยากจะเรียนถามพระคุณท่านว่า ในด้านพุทธศาสนานั้นจะอธิบายเรื่องของความฝันนี้อย่างไร

         ตอบ อ๋อ อาจารย์เคยฝันเหมือนกัน บางทีฝันวิ่งกลัวเสือ ปรากฏว่าเสือมาหาก็มีในขณะที่ฝัน จนลุกวิ่ง วิ่งแล้วในขณะที่วิ่งตัวนอนอยู่นะแต่มันเป็นความรู้สึกอันหนึ่งลุกวิ่ง พอตื่นขึ้นมาแล้ว โอ้โห นี่มันฝันเสือก็หายไป ก็ไม่เห็นมีอะไรต่อไป

         ถาม ปัญหาต่อไป มีปัญหามาว่า การที่จะทำให้สงบไม่ให้จิตใจฟุ้งซ่านเวลาอยู่คนเดียว จะทำอย่างไรจึงจะไม่คิดในเรื่องที่เป็นกิเลส

         ตอบ ก็ควรจะเอานำธรรมเข้าไปกำกับใจ ตามธรรมดาของใจทำหน้าที่อันเดียวในขณะหนึ่งๆ เมื่อได้คิดสิ่งใดแล้วก็ย่อมคิดอยู่ในสิ่งนั้น ไม่เคยแยกเป็นสอง เหมือนอย่างมือซ้ายมือขวาของเรา เช่นเรามี ๒ มือ มือซ้ายอาจจะทำงานอันหนึ่ง มือขวาอาจจะทำงานอันหนึ่งก็ได้ แต่ใจเราทำหน้าที่อันเดียว ในขณะที่คิดอารมณ์อันใดอยู่ก็เป็นเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นเพื่อกันจิตของเราไม่ให้คิดในทางชั่วมาก เราก็ควรจะนำอารมณ์อันดีเข้าไปให้จิตทำหน้าที่ในขณะนั้น เช่น คำบริกรรมภาวนาพุทโธ เป็นต้น จิตก็จะห่างเหินจากอารมณ์ที่เคยเกาะเกี่ยวนั้น ซึ่งเป็นของไม่ดีนั้นเสีย แล้วหมุนตัวเข้ามาสู่อารมณ์อันดี มีอารมณ์แห่งธรรม คือพุทโธเป็นต้น ทำหน้าที่แทนต่อไป ก็ควรจะได้รับประโยชน์และควรจะได้รับความสงบสำหรับผู้คิดเช่นนั้น

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก