เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔
ใจจะงามได้เพราะธรรม
การฟังเทศน์ล้วนปรากฏผลในปัจจุบัน ควรให้มีสติอยู่กับใจโดยเฉพาะ ไม่ต้องส่งออกไปสู่เสียงที่ท่านเทศน์ แม้องค์ผู้เทศน์ก็ไม่ควรสนใจ แต่จะสนใจอยู่เฉพาะความรู้สึกของตน ใจเมื่ออยู่กับที่ เมื่ออยู่กับตัว เสียงที่ท่านแสดงไปมากน้อยจะเข้าไปสัมผัสความรู้ที่อยู่กับตัวนั้นแล เช่นเดียวกับเราอยู่ในบ้านของเรา แขกจะมาจากที่ไหน ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย มาจำนวนมากน้อย รู้ทั้งนั้น เพราะเราอยู่ในบ้าน ถ้าเราออกนอกบ้านไปเสีย จะมีคนมาจำนวนมากน้อยเพียงไร เราก็ทราบไม่ได้ ใจที่ส่งออกไปจากตัว ย่อมไปรับทราบในสิ่งต่างๆ นอกจากตัวไป เลยไม่ค่อยทราบเรื่องของตัว
การแสดงธรรมนี้เพื่อเป็นการเตือนให้ทราบเรื่องของตัว เมื่อใจอยู่กับตัวแล้วย่อมทราบ เพราะธรรมไม่ว่าจะแสดงในครั้งใดๆ ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ามาจนกระทั่งถึงปัจจุบันและอนาคตที่จะเป็นไปข้างหน้า ก็ต้องแสดงถึงเรื่องความมีอยู่เป็นอยู่ของเราทุกๆ ท่าน ซึ่งมีอยู่กับตัวด้วยกัน ฉะนั้นเมื่อตั้งใจให้อยู่กับตัว มีสติรับรู้อยู่กับตัวเองคือใจ ท่านแสดงไปมากน้อยย่อมรับทราบได้ทุกระยะๆ ความสัมผัสแห่งธรรมคือระหว่างความรู้ของเรากับธรรมสัมผัสกันนั้น ย่อมทำให้ความรู้สึกของเราสืบเนื่องกันกับความสัมผัสแห่งธรรมไปเรื่อยๆ วาระจิตที่จะคิดออกไปในสิ่งต่างๆ ตอนนั้นก็ระงับไป เพราะกระแสของธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับใจที่ตั้งไว้โดยชอบ เมื่อความรู้สึกกับธรรมที่ท่านแสดงเข้าไปสัมผัสกับใจ กลมกลืนกันกับใจไปเรื่อยๆ ใจย่อมได้รับความสงบในขณะที่ฟัง
ดังที่ท่านแสดงไว้ว่าจิตผู้ฟังธรรมย่อมผ่องใสนั้น ผ่องใสเพราะจิตได้รับความสงบในขณะที่ฟัง ถ้าไม่สงบก็ไม่ผ่องใส เราคิดดูน้ำแม้จะไม่มีตะกอนอะไรเลย เวลาถูกกวนก็ยังขึ้นฟองให้เราเห็น ฟองนั้นไม่ใช่เป็นปรกติของน้ำอันดั้งเดิม แต่ปรากฏขึ้นมาใหม่เพราะการถูกกวน ใจก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่สงบก็ไม่ผ่องใส ถูกกวนด้วยอารมณ์ ถูกกวนด้วยความคิดความปรุงของตน ใจก็ขุ่นมัวได้ เพราะการรบกวนจากอารมณ์ต่างๆ ขณะที่ฟังเทศน์ให้มีแต่เสียงธรรมะเท่านั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับจิตใจ จึงเป็นเหมือนกับสารส้มที่ไปกวนน้ำที่ขุ่นให้ปรากฏเป็นน้ำที่ใสขึ้นมา
เพราะเสียงของธรรมกับเสียงอย่างอื่นนั้นผิดกัน เรื่องของธรรมกับเรื่องอย่างอื่นผิดกัน ฉะนั้นจิตที่คิดถึงเรื่องธรรมกับคิดถึงเรื่องอื่นนั้น ผลที่เกิดขึ้นจากความคิดทั้งสองประเภทนี้จึงต่างกัน ถ้าคิดเรื่องธรรมแล้วทำใจให้เกิดความสงบเยือกเย็นรื่นเริงบันเทิง และมีพลังภายในใจได้ดีกว่าเราคิดอย่างอื่น แม้จะเป็นเวลาเท่ากันก็ตาม ฉะนั้นในครั้งพุทธกาลท่านที่แสดงไว้ว่า ผู้ฟังเทศน์ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานนั้น แต่ก่อนก็ยังเป็นเหตุให้สงสัย แต่เวลาปฏิบัติเข้าจริงๆ แล้วเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นไปได้อย่างนั้นจริงๆ ผู้ที่เป็นขิปปาภิญญาสามารถที่จะรู้ได้เร็วอย่างนี้ ท่านก็สามารถรู้ได้ด้วยการสดับธรรมที่ท่านแสดงไปโดยลำดับ ตั้งแต่ธรรมะขั้นต่ำ จิตก็คล้อยตามพิจารณาตามจนสามารถหลุดพ้นไปได้ ถ้าเป็นพวกทันธาภิญญาคือรู้ได้ช้า ก็ค่อยผ่านไปได้เป็นระยะๆ ได้ฟังธรรมในครั้งนี้ผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ฟังธรรมครั้งต่อไปผ่านไปได้อีกระยะหนึ่ง
เราปฏิบัติจิตใจของเราเป็นไปอย่างไรบ้าง ในขณะนั้นเราอยู่ในจุดใด พอกระแสของธรรมที่ท่านแสดงไปถึงจุดนั้น จิตใจของเราต้องจ่อว่าท่านจะแสดงไปอย่างไรบ้าง เพราะขณะนี้เราติดอยู่ในจุดนี้ พอท่านแสดงผ่านไปในจุดนั้นเท่านั้นเราก็เข้าใจ แล้วผ่านพ้นไปได้ในจุดนั้น แล้วไปติดข้องอยู่ข้างหน้าอีก พอได้ฟังไปเรื่อยๆ แล้วผ่านไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางได้ นี่ที่ท่านว่าฟังเทศน์ได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน สำเร็จอย่างนี้ คือสำเร็จเป็นขั้นๆ ขึ้นไปเป็นระยะๆ ถ้าผู้ที่ช้าก็ค่อยสำเร็จเป็นระยะๆ ถ้าผู้ที่เร็วก็อาจจะสำเร็จในครั้งเดียวนั้นก็ได้
การฟังธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นภาคปฏิบัติไม่ด้อยกว่าการปฏิบัติอย่างอื่นโดยทางปฏิบัติเช่นเดียวกัน เช่นนั่งสมาธิภาวนาหรือเดินจงกรม นั่งฟังธรรม ทั้งสามวาระนี้ อาจเป็นการนั่งฟังธรรมจะได้รับผลรวดเร็วหรือง่ายกว่าการทำโดยลำพังตนเอง เพราะมีผู้ปรุงผู้แต่งให้เสร็จ ถ้าเป็นอาหารก็มีแม่ครัวปรุงแต่งให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราเป็นแต่เพียงผู้รับประทานเท่านั้น การพิจารณาโดยลำพังตนเองนั้นเป็นเหมือนกับเราเป็นแม่ครัวเอง ทำเอง การฟังธรรมท่านที่แสดงให้ฟังนั้น เหมือนกับเราเป็นผู้คอยรับประทานเท่านั้น ท่านเป็นผู้หยิบยื่นให้โดยลำดับๆ ธรรมะข้อใดที่ถูกกับจริตจิตใจของเราก็เข้าถึงจิตใจในขณะนั้นทันที สิ่งที่ข้องใจอยู่ก็เป็นเหตุให้ปลดเปลื้องไปได้ในขณะที่ฟังธรรม
ตามปรกติของใจที่ทำโดยลำพังตนเอง เช่นนั่งสมาธิภาวนาอย่างนี้ ถ้าจิตไม่มีรากฐานอยู่ก่อนแล้ว รู้สึกบังคับได้ยาก วอกแวกคลอนแคลน กำหนดไว้ในธรรมบทใดบทหนึ่งได้ชั่วระยะกาลเท่านั้น แล้วก็ปล่อยอารมณ์นั้นไปเสีย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้กว่าจะรู้สึกตัวก็เวลาเสียไปตั้งนาน แล้วย้อนกลับมาพิจารณาอีกกำหนดอีก แล้วก็เผลอไปอีก กำหนดอีกแล้วเผลอไปอีก เลยตั้งเนื้อตั้งตัวให้เป็นความสงบในขณะนั่งนั้นไม่ได้
แต่การฟังธรรมนั้นผิดกัน เพราะความสืบต่อแห่งสติหนึ่ง ความจดจ่อของใจที่เต็มไปด้วยสติหนึ่ง แล้วกระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดงไปมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกของเราไปเป็นลำดับลำดาหนึ่ง เมื่อพร้อมด้วยองค์แล้วเช่นนี้ ใจจึงค่อยได้รับผลคือความสงบสุขขึ้นมาเป็นลำดับๆ จนกระทั่งจิตรวมสงบลงไปในขณะที่ฟังเทศน์เลยก็มีจำนวนไม่น้อยในบรรดานักปฏิบัติ แต่ท่านไม่พูดเท่านั้นเอง ผลเป็นอย่างนั้นที่เกิดขึ้นจากการฟังธรรม บางขณะที่ฟังเข้าถึงใจจริงๆ นี้ จิตรวมไปจนกระทั่งหายเลยการฟังเทศน์ เสียงไม่มีเลย นั่นเรียกว่าจิตเข้าถึงที่แล้ว ปล่อยเรื่องอะไรภายนอกเสียทั้งหมด ทรงความรู้ไว้โดยเฉพาะ นั้นเรียกว่าจิตเป็นตัวของตัวในขณะนั้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการฟังธรรม หลักของการฟังธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นความจำเป็นไม่ด้อยกว่าการปฏิบัติภาคอื่นๆ
บรรดาพระนักปฏิบัติที่ท่านมีความรักใคร่มีความเคารพ ฝากชีวิตจิตใจกับครูกับอาจารย์นั้น ความมุ่งหมายส่วนใหญ่ของท่านก็คือการสดับธรรมจากครูบาอาจารย์ ประหนึ่งว่าถอดจิตดวงนี้ใส่จิตดวงนั้น หรือถอดธรรมจากนี้สู่จิตดวงนั้น คือว่าจิตสอนจิต ท่านปฏิบัติอย่างไร รู้เห็นอย่างไร เคยผ่านไปยังไงบ้าง ท่านก็อธิบายถึงเรื่องความเป็นความมีของท่าน ซึ่งมีความเกี่ยวโยงหรือเหมือนๆ กันกับเรื่องของเรา เมื่อเราได้ยินได้ฟังเข้าไปเรื่องนั้นเหมือนๆ กัน เราก็เข้าใจได้และปลดเปลื้องไปได้โดยลำดับ เพราะอำนาจแห่งธรรมที่ท่านแสดงไป เพราะฉะนั้นการที่ท่านแสดงธรรมให้เราฟังนั้น จึงเป็นเหมือนกับท่านปรุงอาหารแล้วหยิบยื่นให้เรารับประทานอย่างสะดวกสบาย
จิตเป็นแต่เพียงคอยฟังขณะที่ท่านแสดงเท่านั้น ให้มีความรู้สึกอยู่กับตัว ธรรมะบทใดบาทใดไม่ได้ขาดตกบกพร่อง จะต้องเข้าไปสัมผัสความรู้ที่ตั้งไว้แล้วด้วยดีนั้นทุกระยะ นั่นละจิตได้รับความสงบเยือกเย็นในขณะนั้น นี่หมายถึงขั้นของความสงบ ถ้าหมายถึงขั้นปัญญาก็เป็นอีกแง่หนึ่ง คือขณะท่านแสดงธรรม สำหรับท่านผู้ที่มีภูมิแห่งปัญญาซึ่งกำลังก้าวเดินอยู่แล้ว ไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะจิตที่เกี่ยวข้องกับปัญญา ท่านแสดงไปในจุดใด จิตจะต้องพยายามขยับตามๆ พิจารณาตาม ขยับตามเรื่อย ขยับตามเท่าไรก็เห็นการถอดถอนกิเลสของตนออกไปเป็นลำดับๆ เป็นอย่างนี้ แล้วมีความเพลินต่อเสียงแห่งธรรมที่ท่านแสดงไปทุกระยะๆ ลืมเนื้อลืมตัว จะกี่ชั่วโมงไม่กำหนด
แม้ผู้ที่ตั้งอยู่ในความสงบก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ฟังธรรม ยกตัวอย่างเช่นท่านอาจารย์มั่นท่านแสดงธรรมแต่ละครั้ง อย่างน้อยต้องสองชั่วโมงขึ้นไป บางครั้งถึง ๔-๕ ชั่วโมงก็มี แต่ดูนักปฏิบัติแล้วขออภัยเหมือนหัวตอ เหมือนไม่มีหัวใจเลย นั่งนิ่งเงียบ องค์ท่านเองก็เช่นเดียวกัน เพราะต่างองค์ต่างเพลินในธรรม ผู้แสดงก็มีแต่ความรู้กับธรรมที่สัมผัสขึ้นมาภายในใจโดยเฉพาะๆ ในบทธรรมที่จะแสดงออกเท่านั้น ผุดขึ้นมาๆ ก็แสดงไปตามลำดับลำดาของธรรมที่ผุดขึ้นมา ไม่มีความรู้สึกที่เกี่ยวข้องไปกับอารมณ์อื่นๆ เข้ามาเคลือบแฝงในขณะนั้นเลย มีแต่ความรู้กับธรรมที่สัมผัสขึ้นจากใจโดยเฉพาะๆ แล้วระบายออกมาทางวาจาให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกัน
ผู้ที่ฟังก็มีแต่ความรู้สึกของตนนั้นกับกระแสแห่งธรรมที่เข้ามาสัมผัสกับใจเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเข้ามาเจือปนเช่นเดียวกัน เมื่อใจกับธรรมได้มีความสัมผัสต่อเนื่องกันเป็นลำดับลำดาย่อมหยั่งลงสู่ความสงบ ถ้าใจอยู่ในฐานะแห่งความสงบ ถ้าใจก้าวออกสู่ด้านปัญญาแล้วก็มีแต่ความเพลิดเพลินกับกระแสแห่งธรรมของท่านเป็นลำดับๆ ทั้งผู้ที่ตั้งอยู่ในความสงบ ทั้งผู้ที่คิดค้นด้วยปัญญาตามกระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดงไป เป็นผู้มีความเพลิดเพลินไปด้วยกัน ลืมเวล่ำเวลา ฉะนั้นจะนั่งอยู่กี่ชั่วโมงในขณะฟังธรรม จึงไม่มีการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีแต่ความรื่นเริงบันเทิงภายในจิตใจ นี่ท่านเรียกว่า ธมฺมปีติ สุขํ เสติ ความปีติในธรรมย่อมทำให้อยู่เป็นสุข คือนั่งอยู่ก็เป็นสุขสบาย
นี่เรียนให้ทราบถึงความสำคัญในการฟังเทศน์ เป็นความสำคัญอย่างนั้น การพยายามตกแต่งจิตใจของเราให้สวยงามให้สะอาด นี่เป็นของทำได้ยากกว่าสิ่งอื่นใด แต่เป็นของที่มีคุณค่ามากกว่าสิ่งอื่นใดเช่นเดียวกัน แม้จะยากลำบากเราก็ทราบอยู่ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ชำระดัดแปลงจิตใจ ให้งามที่ใจนั่นแหละเป็นสิ่งที่งามยิ่งกว่าสิ่งทั้งหลายในบรรดาสิ่งของที่งามในโลก ใจงามเป็นที่หนึ่ง ใจจะงามได้เพราะธรรม เพราะการฝึกฝนอบรม เพราะการดัดแปลง แม้แต่ไม้ถึงจะเป็นไม้ชนิดใด ไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน ถ้าเราไม่นำมาดัดแปลงแต่งให้ตามความต้องการของเราแล้ว แม้จะเป็นไม้ชนิดใดๆ ก็ต้องเป็นต้นเป็นลำอยู่อย่างนั้น ไม่สำเร็จประโยชน์อันใด ผลที่สุดไม้ดี ไม้ไม่ดี ไม้เนื้อแข็งไม้เนื้ออ่อนนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเท่าๆ กัน แต่เมื่อนำมาทำประโยชน์ตามความฉลาดของนายช่างแล้ว ไม้ทั้งสองประเภทนั้นจะสำเร็จประโยชน์ตามฐานะของตน
ใจของเราก็เช่นเดียวกัน เพราะใจเกิดขึ้นมาจากสิ่งโสมมทั้งหลาย ได้แก่กิเลสอาสวะเป็นเครื่องพาให้เกิด จะต้องมีสิ่งโสมมเป็นธรรมดาที่ฝังอยู่ภายในตนเอง จึงเรียกว่าเป็นจิตที่ไม่สะอาด เป็นจิตที่ไม่สวยงาม เป็นจิตที่เต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ท่านว่าขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง หรือว่าขี้เต็มตัว คำว่าขี้นั้นฟังแล้วไม่น่าฟังเลยแต่เราก็ชอบ โดยหลักธรรมชาติของใจเป็นอย่างนั้น พอออกมาทางหูก็ไม่อยากฟัง ออกมาทางปากไม่อยากได้ยิน แต่เมื่อเข้าสู่ทางใจแล้วชอบ ชอบทำไม ชอบขี้โลภขี้โกรธขี้หลง ขี้เกียจขี้คร้าน มีแต่ขี้เต็มตนเต็มตัว ฝังอยู่ภายในใจ เพราะฉะนั้นใจจึงเป็นใจที่สกปรกโสมม แต่เราก็ชอบ เมื่อความชอบสิ่งเหล่านี้มีอยู่ สิ่งเหล่านี้จึงต้องสนิทติดจมกับจิตใจ ไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ ถ้าไม่เห็นโทษเสียกาลใด ฉะนั้นธรรมท่านจึงจี้เข้าไปในจุดนั้น ว่านั้นเป็นของสกปรกของโสโครกให้ล้างด้วยน้ำคือธรรมะ
ธรรมะไม่ว่าบทใดเป็นเหมือนกับน้ำที่สะอาด ก็พอชะล้างสิ่งสกปรกภายในจิตใจของเรา หากจะเกิดความเกียจคร้าน เกิดความอ่อนแอท้อแท้ขึ้นมาก็ให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า ดังที่เราเปล่งวาจาถึงท่านว่าเป็นสรณะ ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ การถึงพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นถึงอย่างไร ไม่เพียงแต่เปล่งวาจาถึงพระองค์เท่านั้น ต้องระลึกถึงคุณสมบัติ ถึงคุณงามความดี ถึงปฏิปทาที่พระองค์ท่านพาดำเนินมา ท่านดำเนินอย่างไร ท่านดำเนินแบบความขี้เกียจมักง่ายเหมือนอย่างเรานี้ หรือท่านดำเนินอย่างไร
ถ้าเราต้องการท่านเป็นศาสดาอย่างแท้จริงแล้ว ท่านดำเนินอย่างไร แม้เราจะไม่ได้แบบท่าน ก็ควรจะเป็นแบบศิษย์ที่มีครูอยู่บ้าง พยายามฝึกฝนอบรมตนให้เป็นไปตามร่องตามรอย สมกับว่าลูกศิษย์มีครู คือศาสดาเป็นครูของเรา และสมกับนามว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ นี่จะเป็นที่ถึงจิตถึงใจเรา ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ธรรมก็คือธรรมชาติที่สะอาด ไม่มีอะไรที่จะเทียบเท่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐ สิ่งที่ประเสริฐเมื่ออยู่ในสถานที่ใดต้องประเสริฐ สิ่งที่ดีจะเก็บไว้ในหีบในตู้ในอะไรก็ตาม ย่อมดีอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน ธรรมใครจะค้นพบ ไม่ค้นพบก็ตามย่อมเป็นธรรมชาติประเสริฐอยู่เช่นนั้น
เพราะฉะนั้นใจเมื่ออาศัยธรรมเป็นเครื่องพึ่งพิงอิงอาศัย สมกับคำว่า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ แล้ว ใจย่อมจะสะอาดสวยงามขึ้นมาเป็นลำดับๆ ด้วยอำนาจแห่งการซักฟอก การแก้ไข การดัดแปลง การส่งเสริม ดังที่เราท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญมาทั้งด้านการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา และการฟังธรรมอยู่ในขณะนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่จะตบแต่งจิตใจของเราให้สวยงาม งามด้วยศีลงามด้วยธรรม คนที่มีใจงามนั้นย่อมเป็นคนที่มีความสุข
คำว่า สุขํ สุขํ คือความสุขนั้น ไม่ว่าสมัยใดๆ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังชอบตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัย เป็นธรรมชาติที่มีคุณค่าอยู่เสมอ สิ่งที่มีคุณค่านี้ควรจะได้เป็นสมบัติสำหรับครองในตัวของเราบ้าง สมบัติที่สำคัญก็ได้แก่ธรรมสมบัติ ที่จะสามารถทำจิตของเราให้ได้รับความสุขความสบายได้ ดังนั้นจึงควรพยายามตบแต่งจิตใจให้สวยงาม กาย วาจา หรือรูปร่างสังขารร่างกายของเรานี้ เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่กรรมได้ปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว เป็นรูปไหนก็รูปนั้น ร่างไหนก็ร่างนั้น สูงต่ำดำขาวก็ตามประเภทของกรรมซึ่งเป็นผลปรากฏตัวขึ้นมาแล้ว แก้ไขไม่ได้ ส่วนใจนี้เป็นสิ่งที่ควรจะแก้ไขได้อยู่ แม้จะเศร้าหมองหรือสกปรกโสมมขนาดใดก็ตาม ถ้ามีความพยายามความขยันหมั่นเพียร อุตส่าห์ชำระซักฟอกอยู่เสมอ ใจจะมีความผ่องใสหรือสวยงามขึ้นมาเป็นลำดับ
คนที่มีใจงาม คนที่มีใจสงบ คนที่มีใจเยือกเย็น ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณค่า แม้สมบัติเงินทองจะไม่มีจำนวนมากมายเพียงไรก็ตาม แต่คนนั้นก็ชื่อว่าได้ครองความสุข ประจักษ์ใจของตนเอง นี่เป็นความสุขที่สัมผัสคือความสุขภายในใจ ความสุขภายนอกเราก็ไม่ได้ประมาท เพราะกายก็ต้องอาศัยที่พึ่ง เช่นที่อยู่อาศัย ที่หลับที่นอน เสื้อผ้าอาหารการบริโภค เป็นที่อาศัยของกาย อันนี้เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งที่จะต้องขวยขวายเพื่อโลก จะอยู่อย่างเฉยๆ ไม่ได้ เพราะธาตุขันธ์มีความต้องการกับสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอมา
ทีนี้ส่วนใจซึ่งเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แม้จะอยู่ในกายก็ตาม แต่อาหารของใจนั้นไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ ได้แก่ความสุขหรือความทุกข์ที่ใจจะต้องคว้าให้ได้ ไม่ได้อย่างหนึ่งต้องเอาอย่างหนึ่งเข้ามาเป็นคู่เคียงของใจ เราเป็นเจ้าของของใจควรจะหาสิ่งที่เป็นคู่เคียงอันดีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นความสุขความสบาย ความสุขจะเกิดขึ้นเพื่อใจนี้จะเกิดขึ้นในทางใด จึงจะเป็นความชอบธรรม นอกจากเกิดขึ้นด้วยการชำระจิตใจของเราให้มีความสงบเยือกเย็นเท่านี้ ไม่มีทางอื่นใดที่จะยิ่งไปกว่า
ฉะนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านจึงสอนให้เราอบรมจิตใจ ให้มีความสงบเยือกเย็น จะได้เห็นผล อยัมภทันตา คือปัจจุบันเราก็เป็นสุข นั่งอยู่นี้ก็เป็นสุข เราจะไปโลกไหนๆ ถ้าใจมีความสงบสุขเย็นใจ เฉพาะอย่างยิ่งคือจิตนี้ได้หลุดพ้นจากสิ่งเกี่ยวข้องพัวพันทั้งหลายมาดั้งเดิมเสียโดยสิ้นเชิง จะอยู่โลกไหนอยู่สถานที่ใด อยู่ในอิริยาบถใด ย่อมไม่มีอดีตอนาคตสำหรับจิตดวงนั้น ที่จะให้เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวด้วยอดีตก็ดี ด้วยอนาคตก็ดี ขณะปัจจุบันที่นั่งอยู่นอนอยู่ก็ดี จะไม่มีในจิตดวงนี้ นี่เพราะเหตุใด เพราะจิตได้สั่งสมคุณงามความดีจนเป็นที่พอตัวแล้ว จึงไม่ต้องการสิ่งใดเข้ามาเพิ่มเติมหรือส่งเสริมอีกต่อไป ท่านจึงว่า ปุญญปาปปหินบุคคล.ผู้มีบุญและบาปอันละเสียแล้ว
คำว่าบุญได้แก่ความสุขอันเกี่ยวกับความสมมุติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคลือบแฝงอยู่นั้น ท่านสำรอกปอกออกหมด ไม่มีสิ่งใดเหลือ คำว่าบาปก็หมายถึงสิ่งสกปรกโสมมทั้งหลายที่จะทำให้เกิดความทุกข์ นั้นก็เป็นสิ่งที่เคลือบแฝง ไม่ใช่ธรรมชาติของจิตแท้ ก็ได้ถูกชำระซักฟอกออกเสียจนหมด คำว่าสมมุติอันได้แก่บุญแก่บาปนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่เคลือบแฝงภายในใจ ได้ถูกกำจัดปัดเป่าออกเสียโดยสิ้นเชิง ไม่มีสิ่งใดเหลือ เหลือแต่หลักธรรมชาติของจิตแท้ล้วนๆ นั้นแลคือความพอดีของใจ ถ้าเป็นน้ำก็เต็มแก้ว จะเพิ่มลงไปอีกแม้หยดหนึ่งก็ต้องไหลออกไปหมด ไม่มีเหลืออยู่ จะเหลืออยู่เพียงความพอดีที่น้ำเต็มขอบปากแก้วเท่านั้น
ใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้ชำระซักฟอกให้ถึงความเต็มที่พอดีของตนแล้ว โลกธรรมทั้งแปดที่ท่านอธิบายไว้นั้นเป็นเรื่องของสมมุติทั้งหมด จิตรู้เท่าปล่อยวางเสียโดยสิ้นเชิง เมื่อเป็นเช่นนั้นนั่งอยู่ก็พอ เดินอยู่ก็พอดี อิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืนเดินนั่งนอน เป็นความพอตัวอยู่สำหรับใจดวงนั้น จะตายในวันใดเดือนใดปีใดไม่เป็นปัญหา ไม่ได้คิดให้ว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่เป็นเครื่องกวนจิตใจ เพราะไปไหนก็คือธรรมชาติที่พอตัวอยู่นี้แล้ว จะมีอดีตอนาคตที่ไหนเข้ามาแทรก
เพราะคำว่าอดีตอนาคตหรือสถานที่ก็ดี หรือว่าเวล่ำเวลาก็ดี เป็นเรื่องของสมมุติซึ่งเป็นสิ่งที่เคลือบแฝงทั้งนั้น จิตนี้ไม่ใช่จิตต้องการความเคลือบแฝงสิ่งใดทั้งหมด จึงไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นอดีตอนาคตของจิตดวงนั้นจึงไม่มี มีแต่ความพอตัวอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ว่าหลับตื่นลืมตา ไม่ว่ายังมีชีวิตอยู่ หรือจะตายเมื่อไร ความเป็นอยู่กับความตายไปนั้นมีน้ำหนักเท่าๆ กัน คือไม่ได้มีความกลัวในเรื่องตาย หรือว่าตายแล้วจะไปเกิดในสถานที่ใดอีกก็หมดปัญหา เพราะปัจจุบันได้รู้เท่าและปล่อยวางเสียโดยสิ้นเชิงแล้ว บรรดาสมมุติที่จะให้เกิดความวุ่นวายทั้งหลาย ไม่มีอยู่ภายในใจ เรียกว่าเป็นใจที่พอตัว
นั่นละท่านว่าเมืองพอ เราจะหาที่ไหน ถ้าไม่หาได้ที่ดวงใจ เพราะเมืองบกพร่องก็คือหัวใจของคนเราของสัตว์นี่ละ บกพร่องอยู่เสมอ ท่านว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาความทะเยอทะยานอยากของใจนี้ไม่มี อะไรเสมอนี้ไม่มี นี่คือความบกพร่องก็มีอยู่ที่ใจ เมื่อชำระความหิวโหยทั้งหลายออกแล้วด้วยธรรมะ กลายเป็นใจที่บริสุทธิ์พอตัวขึ้นมาแล้ว จึงไม่มีความหิวความโหย ไม่มีความกลัว อยู่ก็สบาย ไปก็เป็นสุข อนาคตกับอดีตเป็นอันเดียวกัน คือมารวมอยู่ในปัจจุบันอันเดียวกันหมด
จะตายวันนี้เดือนนี้ปีหน้าไม่สำคัญ เมื่อจิตได้เข้าถึงความพอตัวแล้ว กาลสถานที่ไม่สำคัญทั้งนั้น เพราะผู้นี้ไม่เกี่ยวข้อง ถ้าหากว่าเราไม่ได้เทียบเหตุเทียบผลบวกลบกันดูว่า การมีชีวิตอยู่นั้น จะทำประโยชน์ให้โลกได้รับมากมายเพียงไร กับความตายไปเสียในวันนี้ ผู้ที่จะควรได้รับประโยชน์จากเรานี้จะมีจำนวนเท่าไร เมื่อเรามาบวกลบดูเช่นนี้แล้ว การเป็นอยู่นั้นมีน้ำหนักมากกว่าก็เป็นอยู่ และพอใจในความเป็นอยู่ที่จะทำประโยชน์ต่อไป แต่ไม่ได้หมายถึงพอใจความเป็นภพเป็นชาติ มีความเมตตาสงสารผู้ที่ควรได้รับประโยชน์ก็ทำประโยชน์ไปจนถึงอวสานแห่งชีวิตเท่านั้น
ถ้าไม่ได้เทียบประโยชน์ภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ความเป็นอยู่กับความตายไปของธาตุขันธ์อันนี้มีเท่ากัน ไม่มีอะไรที่จะยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะจิตนั้นไม่เกี่ยวข้องกับธาตุกับขันธ์กับอายตนะเหล่านี้ จิตเป็นจิตที่บริสุทธิ์ แม้จะอาศัยขันธ์อยู่ก็เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์อยู่โดยลำพังตนเอง จะดับจะสลายเมื่อไรไม่มีปัญหาเข้ามาเกี่ยวข้อง ว่าท่านได้นั่งสมาธิอยู่หรือไม่เวลาท่านตาย หรือท่านตายด้วยอุบัติเหตุ หรือตายด้วยวิธีใดเหตุใดก็ตาม ธรรมชาติที่บริสุทธิ์แล้วจะไม่เป็นของกำเริบ เพราะตายด้วยวิธีนั้นๆ แต่จะเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์อยู่โดยลำพังตนเองตลอดกาลที่เรียกว่าอกาลิโก คำว่าอกาลิโกอันแท้จริงนั้นก็หมายถึงธรรมชาตินี้นี่แลเป็นสิ่งสำคัญ
ท่านว่าธรรมะเป็นอกาลิโก เราเทียบไปทางฝ่ายเหตุฝ่ายผลก็ถูก นั่นเป็นถูกประเภทหนึ่ง ทำกาลใดสมัยใดก็ได้รับผล ไม่ได้มีหน้าแล้งหน้าฝน ไม่มีกลางวันกลางคืน เหตุตั้งลงที่ไหน ผลปรากฏขึ้นที่นั่น นี่ก็ถูก แต่จะให้แม่นยำจริงๆ ก็คือหมายถึง ธมฺโม ปทีโป ได้แก่จิตดวงที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้ว เป็นความสว่างไสวอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีเวล่ำเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง คืออกาลิโกแท้ ได้แก่จิตดวงนี้ ถ้าเราได้พยายามชำระเข้าไปจริงๆ จิตดวงนี้จะเป็นอะไร ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ไม่มีทางอื่นเป็นทางเดินไป
เพราะศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้านับเป็นกิริยาหรืออุบายต่างๆ เพื่อจะนำมาสอนโลก มีจำนวนถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ล้วนแล้วตั้งแต่อุบายที่จะแก้ไขดัดแปลงจิตใจของตน หรือจะชำระซักฟอกกิเลสประเภทต่างๆ ที่ซ่องสุมอยู่ภายในจิตใจให้เหือดแห้งหรือหมดไปเป็นลำดับๆ จนกลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้นมาด้วยธรรมะเหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีธรรมะบทใดที่จะสอนคนให้สั่งสมกิเลส ให้ไปเกิดในช่องนั้นช่องนี้ ให้มีบาปหาบไปจนหนักจนหนา นอกจากจะชำระซักฟอกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้หมดไป
แล้วจิตจะเป็นอะไร ถ้าลงได้ดำเนินตามแถวธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ชี้แจงแสดงไว้แล้วนี้ ไม่มีทางอื่นให้เป็นไป นอกจากจะเป็นไปอย่างนี้ท่าเดียวเท่านั้น เพราะธรรมะเป็นสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบ เหตุที่จะตรัสไว้ชอบก็คือรู้ชอบ เหตุที่ทรงรู้ชอบก็เพราะการปฏิบัติชอบของพระองค์เป็นมาโดยลำดับ พระองค์เองเป็นพระองค์แรกที่ได้ค้นพบศาสนาที่แท้จริง และเห็นของจริงขึ้นมาเป็นพระองค์แรก เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธเราจึงไม่ใช่ศาสนาลัทธิ (ต้นฉบับจบแค่นี้)
รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ |