แดนแห่งป่า-เสียงแห่งธรรม
วันที่ 7 มีนาคม 2514 ความยาว 94 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมคณะนักศึกษาแพทย์จากศิริราชพยาบาล

ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔

แดนแห่งป่า-เสียงแห่งธรรม

         วันนี้รู้สึกมีความดีใจเป็นพิเศษ ที่เห็นท่านนักศึกษาและท่านหัวหน้าที่อุตส่าห์มาจากกรุงเทพเข้ามาสู่แดนแห่งป่าซึ่งเป็นสถานที่รู้สึกจะไร้ความหมายในความรู้สึกทั่วๆ ไป เพื่อการอบรมธรรมะทางด้านจิตใจ การแสดงธรรมะกรุณาท่านผู้ฟังนั่งอย่างสบาย ไม่ต้องประนมมือก็ได้ นั่งในท่าสงบธรรมดา มือวางลงไว้อย่างธรรมดา แล้วพยายามระวังความรู้สึกของตนในขณะที่ฟังไม่ให้ส่งออกไปภายนอก ให้มีความรู้สึกอยู่กับตัวในขณะที่ฟัง  การตั้งใจคือความรู้สึกไว้กับตัวนั้นเป็นการพร้อมแล้วที่จะรับเสียงต่างๆ

ขณะนี้เราต้องการรับเสียงแห่งธรรม ฉะนั้นกระแสเสียงที่ท่านแสดงไปมากน้อยจะต้องเข้าไปสัมผัสความรู้สึกของเราที่ตั้งไว้แล้วด้วยดี โดยไม่ต้องคิดออกมาแม้ที่สุดสู่ท่านผู้เทศน์ เพียงทำความรู้สึกไว้เท่านั้น ความรู้กับธรรม คือกระแสเสียงที่มีเนื้อธรรมไปด้วยในขณะเดียวกันนั้นเข้าไปสัมผัสใจ  ใจที่รับการสัมผัสจากธรรมอยู่โดยสม่ำเสมอ มีความรู้สึกคือรับรู้กันอยู่ จะรู้สึกว่าใจมีความสบายและเบากายเบาใจ อารมณ์ที่คิดเกี่ยวกับกาลสถานที่เวล่ำเวลาอะไรเหล่านี้ จะไม่ค่อยมารบกวนจิตใจ มีแต่ความรู้กับธรรมที่สัมผัสกันอยู่เท่านั้น ผลแห่งการฟังด้วยวิธีนี้จะทำใจให้มีความสงบเยือกเย็น

การปฏิบัติธรรมที่เกี่ยวกับศาสนานั้นกรุณาทราบว่า ศาสนากับเราในหลักธรรมชาติแล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ศาสนาได้แก่คำสั่งสอนที่ชี้แจงแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อการดำเนินความประพฤติ เริ่มมาจากใจคือความคิดนึกคำพูด การปฏิบัติเกี่ยวกับกายเรียกว่าความประพฤติ ทุกด้านจะเป็นไปเพื่อความปลอดภัย ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางที่ได้รับจากธรรมเป็นสำคัญ  ลำพังใจที่ไม่ได้รับการอบรมนั้น ใจที่ไม่ได้รับการอบรมด้วยธรรมเลยนั้น รู้สึกจะล่อแหลมแม้จะมีความรู้ก็ยับยั้งกันไม่ทัน ฉะนั้นธรรมะจึงเป็นความสำคัญสำหรับใจ ถ้าเราจะเทียบวัตถุภายนอกก็เหมือนกับว่ารถที่มีทั้งคันเร่ง มีทั้งเบรกด้วย  นี่เป็นเรื่องสำคัญ

ธรรมะเพียงพูดเท่านี้ก็เป็นความซึ้งใจ เพราะธรรมะนี้ไม่เป็นข้าศึกต่อสิ่งใดและผู้ใดเลย  ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมะก็คือความผาสุกเย็นใจ เฉพาะตนก็มีความผาสุกเย็นใจ ผู้เกี่ยวข้องมากน้อยก็ได้รับความเย็นใจไปด้วย ตามแต่ผู้นั้นมีธรรมะคือความร่มเย็นภายในตัวมีกำลังมากน้อย เพราะฉะนั้นศาสนากับเราจึงแยกกันไม่ออก ในหลักธรรมชาติจริงๆ เป็นอย่างนั้น แต่ที่ท่านหรือความเข้าใจของเราอาจจะคิดไปว่าศาสนาอยู่กับพระกับเณร อยู่กับวัดวาอาวาส อยู่กับตำรับตำรา นั่นเป็นอันหนึ่งต่างหาก ความจริงแล้วศาสนาคือคำสั่งสอน สอนทั่วๆ ไป ผู้ปฏิบัติก็ปฏิบัติได้ทั่วๆ ไปโดยไม่นิยมว่าชาติชั้นวรรณะเพศวัยอะไรเลย เราปฏิบัติกันได้ การปฏิบัติได้เราก็มีสิทธิที่จะรับผลจากการปฏิบัติถูกต้องดีงามของเรา การปฏิบัติด้วยความถูกต้องตามหลักธรรมนั้นแลชื่อว่าการปฏิบัติธรรม ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติก็คือความสงบสุขหรือเย็นใจตนเอง

วันนี้จะอธิบายภาคปฏิบัติเฉพาะอย่างยิ่งคือสมาธิภาวนา ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบพอเป็นแนวทาง เพราะการปฏิบัตินี้เป็นเรื่องสำคัญอยู่มาก สำหรับผู้ที่เคยปฏิบัติมาบ้างแล้ว หรือผู้ปฏิบัติมาแล้ว รู้สึกมีความสำคัญอยู่มาก แต่ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติก็อาจไม่เข้าใจจึงไม่ทราบ ไม่อาจทราบได้ว่าความสำคัญของการปฏิบัตินี้มีแง่หนักเบาอย่างไรบ้าง วิธีฝึกหัดเบื้องต้นของการภาวนาเรียกว่านั่งกรรมฐาน นั่งทำภาวนา ตามบทธรรมท่านสอนไว้หลายบท แต่ถ้าเทียบแล้วก็เหมือนกับยาหลายขนานซึ่งควรแก่โรคชนิดใดก็นำยาขนานนั้นเข้ามาประกอบฉันนั้น

เกี่ยวกับเรื่องกรรมฐานท่านพูดไว้ถึง ๔๐ ห้อง ที่สำคัญซึ่งใช้กันอยู่เป็นประจำและถูกจริตนิสัยของท่านผู้ปฏิบัติเป็นจำนวนมากก็คือ พุทโธธัมโม ๑ สังโฆหรือ อานาปานสติและกรรมฐาน อย่างใดอย่างหนึ่ง  กรรมฐาน ๕ คือ เกสา ได้แก่ผม โลมาได้แก่ขน นขาได้แก่เล็บ ทันตาได้แก่ฟัน  ตโจได้แก่หนัง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบทธรรม ที่จะควรนำมาปฏิบัติหรือบริกรรมภาวนากับจิตใจของตนทั้งนั้น ในบทใดบทหนึ่งที่เห็นว่าเหมาะกับจริตนิสัยของตนชอบ เราก็นำธรรมบทนั้นๆ บทใดก็ตามเข้ามาเกี่ยวข้องหรือบริกรรมภาวนา ทำความรู้สึกไว้กับธรรมบทนั้นโดยไม่สนใจคิดไปในทางอื่นและไม่คาดผลว่าจะเกิดขึ้นอย่างใดบ้าง เพียงทำความรับรู้ไว้กับบทธรรมที่กำลังบริกรรมภาวนาอยู่เท่านั้น

ใจเมื่อได้ทำงานสืบต่อ และมีความรู้สึกตัวอยู่เป็นประจำในหน้าที่การงานที่กำลังทำอยู่เวลานั้น จะปรากฏเป็นความสงบเย็นใจขึ้นมาเป็นลำดับ บางทีก็สงบลงไปอย่างละเอียด จนร่างกายของเราทั้งที่เรารู้สึกอยู่ในเบื้องต้นแห่งการภาวนาว่า กายของเรานี้มีอยู่และความรับรู้นี้ซ่านอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกาย แต่พอจิตรวมเข้าสู่ความสงบเป็นตัวของตัวอย่างแท้จริงในองค์ของสมาธิแล้ว ความรู้สึกว่ากายมีนี้หายไปเหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกาลสถานที่หรือวัตถุใดๆ ทั้งนั้น แต่เป็นความรู้ล้วนๆ และเป็นความรู้ที่แปลกประหลาดอัศจรรย์อยู่เพียงอันเดียวเท่านั้น  นี่ท่านเรียกว่าจิตสงบหรือจิตรวมหรือจิตลงสู่สมาธิ 

คำว่าสมาธิหมายถึงความมั่นคงหรือความแน่วแน่ของใจ ขณะที่ใจลงสู่จุดนั้นเป็นใจที่แน่วแน่ ไม่วอกแวกคลอนแคลน ไม่คิดนู้นคิดนี้ ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ มีแต่ความสงบกับความสุขเป็นสมบัติของตัวเท่านั้นจากการทำภาวนา  ถ้าสงบไม่ถึงนั้นส่วนใจก็สงบ ส่วนร่างกายหรือมีอะไรมาสัมผัสเช่นเสียงเป็นต้น ก็ยังได้ยินอยู่ธรรมดาแต่จิตไม่เกาะเกี่ยว หากรู้อยู่จำเพาะตัวของตัวเท่านั้นนี่เรียกว่าสงบขั้นหนึ่ง

สงบอีกประเภทหนึ่งซึ่งอาจมีบางจริตนิสัยเท่านั้นไม่มีจำนวนมากนักเลย ท่านเรียกว่าอุปจารสมาธิ คือ รวมเฉียดๆ ตามปริยัติท่านว่าอย่างนั้น แต่เวลาภาคปฏิบัติทำลงไปจริงๆ แล้ว อุปจาระนั้นพอจิตสงบลงไปแล้ว จะถอยตัวออกมานิดหนึ่งแล้วออกรู้เหตุการณ์ต่างๆ อันนี้มี รู้สึกจะมีล่อแหลมอยู่บ้างเล็กน้อย เฉพาะรายที่มีนิสัยชอบกลัว เช่น กลัวผีเป็นต้น แต่จริตนิสัยที่จะชอบรู้สิ่งต่างๆ นานาอย่างนี้ ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วก็มีในราวสักห้าเปอร์เซ็นต์ หากปฏิเสธไม่ได้ต้องมี ในวงปฏิบัติคือพระเณรเป็นต้นยังปรากฏอยู่บ้าง  เช่น มีจำนวนมากๆ นี้ก็จะต้องมีอยู่ ๒-๓ รายจนได้ ที่มีความรู้ในลักษณะนี้ 

ความรู้ที่ปรากฏขึ้นเช่นนี้เราไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากไหน การศึกษาหรือการปฏิบัติในขณะนั้นเพื่อจิตหยั่งลงสู่ความสงบ เป็นการศึกษาตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ แต่เวลาจิตหยั่งเข้าสู่ความสงบแล้วถอยตัวออกมาเล็กน้อยแล้วรู้สิ่งต่างๆ โดยมากก็เป็นภาพออกจากใจเอง ซึ่งตนไม่ทราบว่าออกไปจากไหนหรือมาจากที่ไหน โดยเป็นรูปคนเดินผ่านมาบ้าง หรือมีผู้ใดผู้หนึ่งเดินเข้ามาหาบ้าง เป็นเหมือนเปรตเหมือนผีเดินเข้ามาหาบ้าง มีคนมาล้มตายต่อหน้าต่อตาในขณะนั้นบ้าง

โดยมากขั้นเริ่มแรกเกิดขึ้นจากใจตัวเอง แต่ตัวไม่ทราบ เพราะเป็นกระแสของจิตที่ละเอียดออกไปแสดงตัวอยู่นั้น ก็เลยกลัวภาพที่ออกไปจากใจตัวเองเข้าใจว่ามาจากที่อื่นเสีย แล้วทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา  ถ้านิสัยชอบกลัวผีแล้ว นี่จะทำให้เสียสติได้ ถ้ากลัวมากก็เป็นไปได้จริงๆ

วิธีแก้ไขนี้ก็ไม่มีอะไรยากสำหรับผู้ปฏิบัติภาวนา เมื่อเราทราบเรื่องอย่างนั้นแล้ว เราย้อนจิตคือความรู้สึกของเราที่เกี่ยวกับภาพนั้นเข้ามาสู่ภายในเสีย  ภาพนั้นก็หายไปเพราะภาพนั้นก็คือกระแสของจิตของเราที่ส่งออกไปนั่นแล มิใช่สิ่งอื่นใดมาจากที่ไหน พอเราย้อนกระแสจิตเข้ามาสู่ภายในคือเข้ามาสู่ตัวของเราแล้วภาพนั้นก็หายไป เท่านี้วิธีแก้นิมิตประเภทนี้หรือแก้นิสัยของตัวเองเพื่อไม่ให้มีความเสียหายจากปรากฏการณ์เช่นนั้น ถ้าย้อนจิตเข้ามาสู่ภายในแล้วร้อยทั้งร้อยไม่มีเสีย รับรองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โดยมากผู้ปฏิบัติถึงกลับมีความขยะแขยงมีความกลัว พอนึกว่าจะภาวนาแล้วเกิดความกลัว กลัวจะเป็นบ้านี้ เพราะไม่ทราบวิธีปฏิบัติแล้วเข้าใจว่าศาสนานี้ ขออภัย เหมือนกับโรงบ่มบ้าไปก็ได้ ซึ่งผู้ปฏิบัตินั้นไม่เข้าใจ

ความจริงจิตที่ส่งออกไปเช่นนั้น แนวทางของศาสนาท่านก็สอนไว้แล้ว แต่เราไม่สามารถที่จะนำมาปฏิบัติแก้ไขตนเอง เลยทำให้จิตเตลิดเปิดเปิงไปตามความรู้ความเห็นนั้นเสีย สิ่งที่ทำให้กลัวก็กลัวจนตัวสั่นและทำให้เสียสติไปได้ เพราะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเอง ความจริงธรรมะท่านสอนไว้แล้ววิธีปฏิบัติแก้ไขตนเองแก้ไขวิธีใด เช่นวิธีที่อธิบายผ่านมาแล้วเมื่อสักครู่นี้ นั้นแลเป็นวิธีการแก้ไขความรู้สึกของตนไม่ให้เสียไป หรือไม่ให้ผิดทางหลักของการปฏิบัติธรรมะหรือการปฏิบัติภาวนา

นี่เป็นสมาธิประเภทหนึ่งจะมีสักราว ๕ เปอร์เซ็นต์ สมาธิประเภทนี้ถ้าเรารู้วิธีปฏิบัติหรือปฏิบัติจนมีความชำนิชำนาญแล้ว จะเกิดประโยชน์มากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์อดีตอนาคต เกี่ยวกับสิ่งภายนอกเช่นเหตุการณ์จะเกิดอะไรบ้างภายนอก จะเป็นอนาคตก็ตาม เรื่องของตัวจะเป็นยังไงในอนาคตก็ตาม เรื่องของคนอื่นหรือเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตาม อาจจะรู้ได้หรือสามารถจะรู้ได้เมื่อมีความชำนาญแล้วสำหรับจริตนิสัยชนิดนี้

ที่ท่านห้ามยังไม่ให้เพลินไปตามความรู้ความเห็นเช่นนั้น เพราะวิธีปฏิบัติรักษาตนเองนั้นเรายังไม่รอบคอบเพียงพอ จึงต้องให้ยับยั้งหรือระงับไว้ก่อน พยายามอบรมจิตซึ่งเป็นรากฐานสำคัญนี้ให้มีความแน่นหนามั่นคงเป็นหลักเป็นเกณฑ์เท่าที่ควร และมีครูอาจารย์คอยแนะนำอุบายวิธีว่าสิ่งนั้นควรเจริญ สิ่งนั้นควรแก้ไข เพราะเป็นความบกพร่องหรือสิ่งนั้นควรงดเสีย เพราะเป็นทางผิด นี่ครูบาอาจารย์ผู้มีความชำนิชำนาญในทางนี้จะต้องแนะให้อย่างนี้เสมอ

แต่จริตนี้ที่แสดงออกเป็นความรู้ความเห็นในเบื้องต้นนั้น ไม่มีใครสอนกันนอกจากทำสมาธิภาวนาไปตามธรรมดา เมื่อจริตนิสัยชอบเป็นไปในทางนั้นแล้วก็แสดงเหตุการณ์ขึ้นมาให้เจ้าตัวปรากฏเอง  จากเหตุการณ์นั้นแล้วนั้นแล ครูอาจารย์ถึงจะแนะนำสั่งสอนวิธีปฏิบัติว่าอย่างไรถูกอย่างไรผิดต่อไป  นี่เป็นสมาธิประเภทหนึ่งที่รู้สึกแฝงๆ อยู่บ้าง ทางด้านธรรมะป่าเรียกว่า อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่เข้าสงบตัวแล้วถอยออกไป จาระ แปลว่าเที่ยว อุปะ คือเข้าไป เข้าไปแล้วไม่อยู่กับที่ จาระ คือถอยออกมา แล้วรู้เหตุการณ์ต่างๆ โดยมากก็เป็นเรื่องของตัวเสียก่อน ครั้นต่อไปเมื่อมีความชำนิชำนาญแล้ว เรื่องของตัวออกแสดงก็ทราบ เรื่องมาจากภายนอกจริงๆ ก็ทราบ จะเป็นเรื่องอะไรมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นทราบไปได้โดยตลอด ตามความสามารถของผู้นั้น เรียกว่าทราบทั้งเรื่องของตัวทราบทั้งเรื่องสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตในเวลานั้น จริตนิสัยเช่นนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์คือสามารถจะรู้เหตุการณ์ได้ดีกว่าอย่างอื่นๆ กว่านิสัยอื่นๆ นี่เป็นสมาธิประเภทหนึ่ง

สำหรับท่านนักปฏิบัติไม่ควรก่อความ หรือไม่ควรคิดกังวลเกี่ยวกับเรื่องความกลัวในสมาธิที่ว่านี้ อะไรจะแสดงขึ้นก็ตาม เราไม่ต้องไปตั้งข้อรังเกียจว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นน่าจะเป็นอย่างนี้

เพราะตามปกติที่เราไม่ได้เข้าสมาธิ เราก็เคยเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูของเราอยู่แล้วอย่างสดๆ ร้อนๆ เช่น คนตายเราก็เคยเห็น เราก็เคยไปเผาศพเขาไม่รู้กี่ราย เราไม่เห็นกลัว ป่าช้าเราก็เคยผ่าน แต่บ้านนอกรู้สึกจะมีอยู่ตามป่า ในเมืองมีอยู่ตามเมรุอยู่ตามวัด ก็เรียกป่าช้าเหมือนกัน  เราไม่เห็นกลัวเราไปเห็นคนตาย ใครตายเราก็ไม่เห็นกลัวอะไรนัก แต่เวลาภาพที่ปรากฏขึ้นในนิมิตซึ่งเป็นเหมือนกับความฝันทำไมเราถึงจะกลัว เราหาอุบายคิดเพียงเท่านี้ เราก็พอจะแก้ไขความกลัวของเราได้

ประการที่สองเราย้อนจิตเข้ามาเสีย เพราะนั้นคือกระแสของจิตที่ไปวาดภาพหลอกตนต่างหากไม่ใช่เป็นความจริงมาจากที่ไหน ย้อนจิตเข้ามาสู่ภายในเสียเรื่องก็หายไป ภาพนั้นก็ไม่มี นี่วิธีปฏิบัติง่ายนิดเดียว แต่ถ้าจะส่งจิตให้เพลินไปตามเรื่องนั้นอาจมีทางเสียหายได้  หรือบางทีอาจจะมีครูบาอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งแต่เราก็พูดตามเรื่องตามความจริง ไม่ได้ยกโทษครูบาอาจารย์หรือท่านผู้ใด คืออาจจะส่งเสริมผู้เป็นอย่างนั้นขึ้นมาบ้างก็ได้ ทั้งที่ตัวไม่ทราบสาเหตุและไม่ทราบวิธีปฏิบัติและตนไม่เคยผ่านเรื่องนั้นมาก่อน พอเห็นลูกศิษย์ลูกหาปรากฏอย่างนั้นขึ้นมาอาจารย์ก็รู้สึกมีความดีใจแล้วส่งเสริมให้ลูกศิษย์พิจารณาไปเรื่อยๆ นี้อาจมีทางเสียหายได้

ทางที่ถูกที่ควรและเพื่อความปลอดภัยควรพิจารณาดังที่อธิบายไว้เบื้องต้นนั้นก่อน หากว่าได้ปรากฏขึ้นกับรายใด วิธีปฏิบัติก็คือให้ย้อนจิตเข้ามาเสีย เพราะภาพนั้นเป็นแต่เพียงภาพหลอกหลอนในเบื้องต้นต่างหาก  ถ้าเรามีสติปัญญาเราสามารถที่จะพิจารณาภาพที่ปรากฏในขณะนั้นให้เป็นธรรมะได้ เช่น เราเห็นคนตายในขณะที่จิตรวมสงบแล้วออกไปรู้เช่นนั้น เทียบเข้ามาสู่ตนว่านี่เขาตาย หรือบางทีอาจเป็นตัวของตัวตายเสียด้วยซ้ำก็มี คือเรานั่งภาวนาอยู่นั้นแล แต่ไปปรากฏภาพขึ้นมาว่าตัวของเราได้มาล้มตายอยู่ต่อหน้าต่อตา เป็นตัวของเราทุกๆ ส่วนของอวัยวะ เป็นเรื่องของเราล้วนๆ อย่างนี้ก็มีสำหรับผู้ปฏิบัติ

ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม ถ้าผู้ที่จะใช้ปัญญาพิจารณาในด้านธรรมะเพื่อประโยชน์สำหรับตัวแล้ว ความตายนั้นก็เป็นเทวทูตอยู่แล้วคือผู้บอก หรือผู้ส่งเสริมผู้แสดงอย่างสูงสุด ให้เราน้อมเข้ามาสู่ตัวของเรา นี่ตั้งแต่เรายังไม่ตายภาพก็มาแสดงให้ปรากฏอยู่แล้ว บทเวลาตายจะไปที่ไหนก็ต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน เวลานี้ยังไม่ตายก็เห็นแล้ว เราควรประมาทนอนใจละเหรอกับเรื่องความตายนี้ พยายามทำความขยันหมั่นเพียรให้รู้เรื่องความตายไว้เสียแต่ยังไม่ตายนี้เป็นการชอบธรรมแท้ นี่เป็นอุบายที่แยบยลสำหรับที่จะเป็นประโยชน์แก่เราโดยตรงไม่มีทางเสียหาย เรื่องใดจะปรากฏขึ้นก็ตามสำคัญที่สติปัญญาที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นให้เกิดประโยชน์สำหรับตัว

หรืออาจจะคิดในทางที่ไม่ดีแล้วกลายมาเป็นภัยต่อตนก็ได้ เช่น ความกลัวผีแล้วทำให้เสียสติสตังไปได้จากภาพนิมิตที่ปรากฏนั้นก็มี นี่เพราะความรู้สึกของเรา คิดไม่ถูกทางที่ถูกก็กลายเป็นผิดไปได้  แล้วเราก็ไปตำหนิเสียว่าการภาวนานี้ทำคนให้เป็นบ้า ความจริงศาสนาไม่ได้สอนคนให้เป็นบ้า ผู้ปฏิบัติต่างหากดำเนินผิดทางไป เช่น สายทางจากจุดนี้ไปสู่จุดนั้นเป็นสายทางที่ถูกต้องตามจุดมุ่งหมาย แต่ผู้เดินทางไม่ได้ตรงแน่วไปตามสายทางนั้นเสีย กลับปลีกแวะไปทางที่ผิดแล้วจะตำหนิว่าทางนั้นไม่ถูกไม่ได้ เป็นความผิดสำหรับผู้ปลีกแวะไปจากทางต่างหาก  การปฏิบัติธรรมะก็ย่อมมีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน จึงได้อธิบายให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ทราบในเงื่อนที่ควรพิจารณาหรือควรระวัง 

อัปปนาสมาธิได้แก่สมาธิที่แนบแน่นมาก เวลาสงบตัวลงไปแล้วละเอียด มีความรู้สึกอยู่จำเพาะตัวจริงๆ ถึงกับร่างกายที่มีอยู่ในเรานี้หายไปจากความรู้สึก ไม่มีเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ นี่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ จะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตามในขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธินี้เวลาเป็นบ่อยๆ ก็เป็นเหตุให้สร้างฐานแห่งความสงบ  สร้างฐานแห่งความมั่นคงของใจให้มีขึ้นภายในใจ ใจนั้นเลยกลายเป็นใจที่สงบเยือกเย็นมีความมั่นคง มีฐานแห่งความมั่นคงประจำตน นี่เรียกว่าผู้มีสมาธิเป็นรากฐานภายในแล้ว ได้อธิบายถึงเรื่องของสมาธิ ให้ท่านนักศึกษาทั้งหลายได้นำไปพิจารณา เพราะคำว่าสมาธิเหล่านี้มีได้ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งนักบวชและฆราวาส เนื่องจากธรรมเป็นของกลางเป็นสมบัติกลาง ผู้ต้องการธรรมมุ่งหมายอย่างไรโดยอาศัยธรรมเป็นเครื่องพาดำเนิน เราก็ปฏิบัติได้ ผลก็เป็นของเรา

นี่อธิบายถึงเรื่องสมาธิย่อๆ ใน ๓ สมาธิ  ต่อจากนี้จะอธิบายเรื่องปัญญา คำว่าปัญญาเป็นอย่างไร เราเห็นแต่ในแบบในตำรับตำราว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ศีลจริงๆ  สมาธิจริงๆ  ปัญญาจริงๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติดังที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นและสาวกท่านรู้เห็น จนกลายเป็นอริยบุคคลผู้ประเสริฐขึ้นมา และเป็นศาสดาสอนโลกนั้น เป็นสมาธิประเภทใด เป็นปัญญาประเภทใด ทั้งที่ท่านก็เป็นคนเหมือนกันกับพวกเรา แล้วกลายเป็นผู้วิเศษขึ้นมาทางด้านจิตใจ เพราะเรื่องของการบำเพ็ญ เพราะจิตเป็นสิ่งที่ละเอียดสุขุมมาก  แม้จะมีกิเลสความทะเยอทะยานแฝงอยู่ภายในใจก็ตาม ความคล่องแคล่วแกล้วกล้าของจิตย่อมมีเป็นประจำ  ความละเอียดของจิตมีอยู่เป็นประจำนิสัยของตัวเองไม่เคยลดละ

ฉะนั้นจิตเมื่อได้รับการอบรมทางด้านปัญญา คำว่าปัญญาคือความสอดส่อง คือความไตร่ตรอง ความพินิจพิจารณา ท่านเรียกปัญญา ในองค์มรรคว่าสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป ความเห็นชอบ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโปคือความดำริชอบ ท่านก็อธิบายไว้แล้ว แต่นี้เรานำมาเพื่อพิจารณาให้รู้ว่าปัญญานั้นมีอยู่ที่ไหน จะพิจารณาอะไรถึงจะเป็นปัญญา พิจารณาอย่างไรจึงจะเรียกว่าปัญญา  เบื้องต้นท่านสอนให้พิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ จะส่วนใดอย่างใดก็ตาม คำว่าขันธ์ได้แก่รูปขันธ์ คือกายของเรานี้ทุกส่วน  เวทนาขันธ์คือสุขทุกข์เฉยๆ ทั้งทางกายและทางใจ เพราะเวทนานี้มีอยู่ทั้งทางกายและทางใจ สัญญาคือความจำความหมาย   สังขารคือความปรุงความคิดของใจ  วิญญาณคือความรับทราบในขณะที่อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสเข้ามาสัมผัสอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา

การพิจารณาปัญญานั้นโดยมากพิจารณาเกี่ยวกับรูปขันธ์เสียก่อน รูปขันธ์ได้แก่กายของเรา เราจะพิจารณาหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อวัยวะทั้งหมดนี้ ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือจะพิจารณาไปทีละส่วนจนซาบซ่านถึงกันหมด โดยความเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  มีอนุโลมปฏิโลม พิจารณาย้อนหน้าย้อนหลังจนชำนิชำนาญหลายครั้งหลายหน  ปัญญาก็มีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าขึ้นไปเอง ทีแรกก็ถูไถกันไปบ้าง เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง  คำว่าอนิจจังเป็นอย่างไร ที่ท่านว่าอนิจจัง คือความไม่เที่ยง ความแปรสภาพ แล้วในกายของเรานี้มีอะไรบ้างที่ไม่แปรสภาพ หรือมีอะไรบ้างที่แปรสภาพ ให้เห็นทั้งความแปรสภาพของมัน ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย นี่ท่านเรียกว่าปัญญา

หยั่งเข้าไปสู่กายของเรานี้ เอากายนี้เป็นสนามรบหรือเอากายนี้เป็นเป้าหมายพิจารณาไตร่ตรองให้มีความรู้สึกอยู่ในกายของตัว จะดูส่วนบนก็ตาม ส่วนล่างก็ตาม หรือดูไปรอบด้านของส่วนร่างกายส่วนต่างๆ นี้ก็ตาม  พิจารณาเป็นไตรลักษณ์ จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็แล้วแต่จริตนิสัยของเราชอบ เช่นจะหนักไปในทางอนิจจังคือความแปร ก็ให้เห็นชัดในส่วนแห่งร่างกายส่วนต่างๆ ซึ่งมีความแปรอยู่ตลอดเวลา จะพิจารณาออกไปภายนอกก็เห็นความแปรสภาพของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบด้านทั้งใกล้ทั้งไกล มีอยู่หมดทุกแห่งทุกหนไม่เว้นเรื่องไตรลักษณ์จะไม่เข้าเหยียบย่ำทำลายหรือทำการทำงานอยู่กับสิ่งนั้นๆ ต้องมีไตรลักษณ์เป็นประจักษ์อยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืนเรียกว่าอกาลิโก เขาทำงานอยู่อย่างนี้

แม้ที่สุดร่างกายของเรานี้ เราจะพักผ่อนนอนหลับว่าเป็นความสะดวกสบายก็ตาม แต่ความอนิจจังที่มีอยู่ในกายของเรานี้ เขาทำงานอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ตั้งแต่เป็นเด็กมาจนกระทั่งบัดนี้ทำไมแปรสภาพขึ้นมาจนถึงเป็นผู้ใหญ่ นี้ไม่เรียกว่าอนิจจาหรืออนิจจังจะเรียกว่าอะไร นี่แปรไปเรื่อยๆ ทุกส่วนของร่างกายมีความแปรปรวนไปอยู่เสมอ นี่เป็นเอกเทศอันหนึ่งที่อธิบายให้ท่านนักศึกษาพิจารณาเป็นแง่แห่งการพิจารณา และทุกขังก็เช่นเดียวกัน อวัยวะทุกส่วนนี้อันไหนที่ไม่เป็นทุกข์ แสดงความทุกข์ให้เราเห็นอยู่เสมอ นั่งนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายก็ทุกข์ เจ็บนั้นปวดนี้อันไหนที่ผิดปกติในส่วนร่างกายมีแต่แสดงทุกข์ออกมาให้เห็นทั้งนั้น ไม่มีเลยว่าสิ่งไหนที่แปรไปแล้ว แล้วไม่แสดงทุกข์ออกมาให้เห็น เป็นความทุกข์อยู่โดยสม่ำเสมอ

อันนี้ก็ทำงานอยู่ทั้งวันทั้งคืนเหมือนกัน โรงจักรโรงงานอันนี้ไม่มีวันปิด เปิดอยู่ตลอดเวลา คือเปิดทำงานอนิจจังก็ทำงานอยู่เช่นนั้น ทุกขังก็ทำงานไปในแนวเดียวกัน อนัตตาก็เป็นสภาพที่ตายตัว ใครจะไปเสกสรรปั้นยอว่านี้เป็นเรา นี้เป็นของเรา หรือนั่นเป็นของเขาเป็นของใครก็ตาม ธรรมชาติอันนั้นก็คือธรรมชาตินั้นนั่นแล มิได้เป็นไปตามความเสกสรรปั้นยอของใครๆ นี่คือปัญญาหยั่งเข้าไปอย่างนี้ท่านเรียกปัญญา

ในทางปฏิบัติการพิจารณาปัญญาจะเป็นปัญญาขั้นใดหรือพิจารณาในส่วนใดก็ตาม เป็นเหตุให้ซาบซึ้งถึงสิ่งที่มีจริงเป็นจริง เช่นอนิจจังเป็นต้น ก็เห็นชัดเห็นประจักษ์กับปัญญาของเราว่าเป็นความแปรปรวนจริง ไม่เหมือนเราคาดคะเนเอาเฉยๆ ว่าทุกขังก็รู้ทุกข์อย่างถึงใจจริงๆ ว่าอนัตตาก็ซาบซึ้งว่าเป็นธรรมชาติอย่างนั้นมาดั้งเดิม  ถึงใครจะสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรก็ตาม ธรรมชาตินั้นก็คือนั้นนั่นแล ไม่เป็นอื่นไปตามความเสกสรรปั้นยอ นี่เรียกว่าปัญญา เมื่อปัญญาหยั่งเข้าถึงไหนอันใดจะเกิดความสงสัยข้องใจอยู่อย่างไรบ้าง ก็เป็นเหตุให้แจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นมาเพราะปัญญาเป็นแสงสว่าง

ท่านกล่าวไว้ในธรรมว่า.นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มีท่านว่าอย่างนี้ ในที่มืดเช่นทางด้านวัตถุตะวันส่องเข้าไม่ถึง แต่ปัญญาส่องเข้าถึงหมด ท่านเรียกว่า นตฺถิ คือไม่มีอะไรจะเสมอความสว่างของปัญญา ปัญญาได้หยั่งเข้าไปถึงไหน ความสงสัยสนเท่ห์ที่เคยข้องจิตข้องใจก็ย่อมหายไปอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งอื่นๆ เพราะความมืด ความดำของใจเราที่ยังไม่มีปัญญาส่องให้เห็นความจริงก็ย่อมยึดมั่นถือมั่น พอปัญญาส่องเข้าไปถึงไหนเห็นจริงแค่ไหน อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นย่อมถอนตัวออกจากที่นั่น

เมื่อปัญญาหยั่งลงไปตลอดทั่วถึงในส่วนร่างกายทุกส่วนเห็นว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา โดยประจักษ์ใจแล้ว อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นภาระอันหนักของจิตใจนั้น จะไม่ถอนไปได้อย่างไร ต้องถอนไปโดยไม่มีใครห้ามได้ เพราะปัญญาเป็นเครื่องตัดสินใจให้รู้ชัดเจนแล้วถอนตัวออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นนั้น นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง เวทนา ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ซึ่งมีทั้งทางกายและทางใจก็ต้องอาศัยปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปแยกแยะเข้าไปพิจารณา สังขารความปรุง วิญญาณความรับรู้ มีปัญญาเข้าไปแทรกอยู่ทุกจุดทุกอาการ ก็ย่อมสามารถรู้เท่าทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง มากระทบกับใจเรา

ใจเราเมื่อมีปัญญารักษา มีสติเป็นเครื่องปกครองอยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว ภัยที่จะเกิดให้เป็นความกระทบกระเทือนในระหว่างอารมณ์ที่มาสัมผัสกัน ก็น้อยลงตามส่วนของปัญญาที่มีกำลังมากน้อย  ถ้าปัญญามีความรอบตัวอย่างเต็มที่แล้ว แม้กิเลสจะละเอียดแสนละเอียดเพียงไรก็ตาม ชื่อว่าเป็นสิ่งเสียดแทงจิตใจของเรา ย่อมถอดถอนกันออกได้หมดไม่มีสิ่งใดเหลือ สิ่งที่เหลือก็คือผู้รู้ว่าบริสุทธิ์แล้วนี้เท่านั้น นี่ท่านเรียกว่าหมด สิ่งที่เกี่ยวข้องพัวพันกับจิตใจ ด้วยอำนาจของปัญญาเป็นผู้คลี่คลายหรือตัดให้ขาดจากกัน ระหว่างจิตกับสมมุติทั้งหลายที่เคยเกี่ยวข้องกันมานานตั้งกัปตั้งกัลป์นับไม่ถ้วน ก็ได้ขาดกระเด็นออกจากกันเพราะอำนาจของปัญญา

นี่แลผลของการปฏิบัติรักษาจิตใจของเรา นับแต่เริ่มต้น ถ้ามีความสามารถประพฤติปฏิบัติตนเป็นไปโดยนัยที่ว่านี้ จิตต้องรู้ความหลุดพ้นของตนด้วยอำนาจของปัญญาของตนจริงๆ นี่ท่านเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก สมาธิก็รู้อยู่ในใจ ไม่เพียงแต่รู้ชื่อของสมาธิตามแบบแผนตำรับตำรา ปัญญาก็รู้อยู่ในใจรู้อย่างถึงใจ ไม่เพียงรู้อยู่ตามตำรับตำรา วิมุตติคือความหลุดพ้น จากสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ทั้งเป็นส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด ก็เห็นประจักษ์กับใจคือหลุดพ้นที่ใจ เพราะใจเป็นผู้เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย ใจเป็นผู้ถอดถอนตนเองออกมาได้จากสิ่งทั้งหลายก็ประจักษ์อยู่กับใจ นี่เป็นวิมุตติเป็นพุทโธ เป็นสมบัติของตัวโดยแท้ มีอยู่ที่จิตของทุกคนเมื่อเราพยายามทำได้อย่างที่กล่าวมานี้

เพราะจิตเป็นนามธรรม จิตไม่ขึ้นกับคำว่าหญิงว่าชาย ว่านักบวชหรือฆราวาส เป็นธรรมชาติของกลางๆ ธรรมะก็เป็นของกลาง ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นของกลาง เพราะฉะนั้นความวิมุตติหลุดพ้นที่เกิดขึ้นในจิตจึงเป็นของกลาง มีได้ด้วยกันเมื่อสามารถปฏิบัติได้  นี่อธิบายย่อๆ ถึงเรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ปัญญานั้นยังมีหลายขั้นถึงสามขั้นสี่ขั้นเหมือนกัน จนกระทั่งถึงขั้นสุดท้ายได้แก่ ปัญญาอย่างยอดเยี่ยม ท่านเรียกว่ามหาปัญญามหาสติ

คำว่ามหาสตินั้นหมายถึง สติที่มีอยู่กับตัวเป็นประจำ ไม่มีการเผลอไปไหน เวลาใด อยู่สถานที่ใด ทำงานอะไรอยู่ ความพลั้งเผลอได้ปรากฏตัวขึ้นมาในขณะนั้นๆ อย่างนี้ไม่มีสำหรับท่านผู้มีมหาสติ จิตที่เป็นมหาสติจริงๆ มหาปัญญาก็เช่นเดียวกัน สามารถฉลาดรู้หมดในวิธีการที่จะแก้ตัวเอง แต่ไม่ได้หมายถึงว่าสามารถฉลาดรู้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างว่าอันนั้นมีจำนวนเท่านั้น โลกนั้นมีเท่านั้นโลกนี้มีเท่านี้ อันนั้นเป็นประเภทหนึ่งต่างหาก สำหรับปัญญาในสถานที่นี้หมายถึง ปัญญาจะถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ใจของตนเองออกให้หมดด้วยอำนาจของปัญญา ปัญญาจึงสามารถถอดถอนออกได้หมดเรียกว่ามหาปัญญา

คำว่ามหาปัญญาก็คือทำงานอยู่ตลอดเวลานอกจากจะยับยั้งไว้บ้างชั่วกาลเวลา ให้เข้าพักสู่ความสงบคือสมาธิ มีความสงบตัวอยู่โดยเฉพาะไม่ต้องคิดอ่านไตร่ตรองอะไร แม้คิดอ่านเรื่องแก้กิเลสเพราะการคิดอ่านนั้นเป็นการทำงานของใจ ทำให้ใจเหน็ดเหนื่อยต้องมีการพักผ่อนให้สบายโดยทางสมาธิ พอถอนจากนั้นก็ทำงานไปโดยลำดับ เรียกว่าปัญญาอัตโนมัติ หรือมหาปัญญา ทำงานอยู่เช่นนั้น จิตที่ก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญาแล้ว เป็นจิตที่มีความขยันหมั่นเพียรอย่างเอาเป็นเอาตายเข้าว่ากัน ไม่มีการถอยหลังจะเป็นจะตายก็ขอคืบหน้าท่าเดียว สมมุติของโลกเรียกว่า ขอตายเอาดาบหน้า

คือความเชื่อก็ชัดภายในใจ ความเห็นผลก็เห็นไปโดยประจักษ์ ความเห็นคุณแห่งการหลุดพ้นของตนไปโดยลำดับก็เห็นได้ชัด เมื่อเป็นเช่นนั้น ความมุ่งมั่นต่อความหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงจึงมีอย่างเต็มใจ เมื่อความมุ่งมั่นมีอย่างเต็มใจอย่างนี้แล้ว ความขี้เกียจไม่มี หายไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ  นอกจากว่าถึงจุดนั้นแล้วถึงจะยอมพักตัวเท่านั้น ถ้าไม่ถึงนั้นแล้วตายก็ยอมไปเลย  นี่อำนาจของมหาสติของมหาปัญญา อำนาจของจิตที่มีความผ่องใสเข้าถึงขั้นจะเต็มที่ต้องเป็นอย่างนี้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกิดจากการภาวนาเป็นหลักใหญ่ เพราะฉะนั้นคำว่าภาวนานี้จึงเป็นธรรมกว้างขวางมาก คนที่มีภาวนาในใจย่อมทำอะไรไม่ค่อยผิดพลาด จะพูดก็ไม่ค่อยผิดค่อยพลาด จะทำอะไรก็มีเหตุมีผล จะไปจะมา จะจับจะจ่ายใช้สอยอะไรทั้งนั้น มีเหตุมีผลเป็นเครื่องรับรองในหน้าที่กิจการที่ตนทำเสมอไป นี้คือคนภาวนา  คนที่ไม่ภาวนาอยากทำอะไรก็ทำตามใจชอบ อยากไปก็ไปอยากมาก็มา อยากอยู่ก็อยู่ อยากซื้อก็ซื้อ อยากเล่นก็เล่น โดยไม่คำนึงถึงความผิดถูกชั่วดีอะไรเลย นี้คือคนไม่ภาวนา  คือไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องปกครองรักษาตนเลย แม้จะเรียนรู้มามากมายก็ตาม ถ้าไม่ใช้ปัญญาเข้าไปเป็นเครื่องกำกับรักษาแล้ว ความรู้นั้นก็เป็นโมฆะ มิหนำยังจะเสริมผู้นั้นให้เสียไปอีกด้วยโดยไม่มีปัญหาอะไรเลย

ด้วยเหตุนี้ธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเหมือนกับคันเร่งหรือเบรกประจำรถคันหนึ่งๆ ให้สมบูรณ์ จะขาดทั้งสองอย่างนี้ไปไม่ได้ ผู้มีความรู้วิชาที่จะเร่งในหน้าที่การงานใดโดยเห็นว่าถูกก็ต้องเห็นด้วยปัญญา จะควรยับยั้งในสิ่งใดเห็นว่าไม่ควรก็ต้องยับยั้งด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาเป็นเครื่องเร่ง ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องทดสอบ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องยับยั้งตนแล้วเสียได้คนเรา

เพียงความรู้ที่เรียนมามากน้อยไม่สำคัญ เพราะมันมีอันหนึ่งที่เหนือความรู้ทั้งหลายอยู่นั้น ได้แก่ความอยากภายในจิต  ความอยากนี้เป็นความกว้างขวางมากทั้งหยาบทั้งกลางทั้งละเอียด แต่อย่างไรก็ตามต้องเหนือความรู้วิชา ต้องเหนือใจของคนเสมอไป เมื่อไม่อาศัยธรรมะเข้ามาเป็นเครื่องบังคับซึ่งเหนือกว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อีก นั้นแลถึงจะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้การอบรมธรรมะจึงเป็นความจำเป็นสำหรับเราผู้มุ่งหวังต่อความเจริญสำหรับตัวเองและส่วนรวม จะต้องอาศัยธรรมะเป็นเครื่องปกครอง เป็นเครื่องทดสอบ เป็นเครื่องพินิจพิจารณา คนที่มีธรรมะ คนที่มีภาวนาย่อมมีความปลอดภัยไร้ทุกข์

จิตเสื่อมจากศีลจากธรรม กับจิตที่มีศีลมีธรรมนั้น มีคุณค่าต่างกันมาก จิตที่มีศีลมีธรรมก็ดังที่อธิบายมาแล้ว เป็นคนมีเหตุมีผลทุกสิ่งทุกอย่าง จะจับจะจ่ายใช้สอย จะทำอะไรก็ตามมีเหตุมีผลเป็นเครื่องรับรองพอเหมาะพอสมทุกอย่าง ตนเองก็ไม่เดือดร้อน สิ่งที่ทำลงด้วยปัญญานั้นก็เกิดผลเกิดประโยชน์เท่าที่ควรแก่งานนั้นๆ  คนที่ไม่ใช้ปัญญา คนที่เสื่อม หรือว่าคนที่ไม่มีธรรมในใจนี้ผิดกัน  คำว่าจิตที่เสื่อมจากศีลจากธรรมนี้ จึงไม่ใช่เป็นพวกเล็กๆ น้อยๆ แล้วเป็นสิ่งที่ว่าไม่ได้สน ไม่ควรสนใจกัน เป็นสิ่งที่ควรสนใจและเห็นโทษอย่างยิ่ง คำว่าความเสื่อมของจิต เสื่อมจากศีลจากธรรมคือไม่มีเหตุมีผลไม่มีความจริงอันใดที่จะเป็นหลักแหล่งที่จะเป็นที่ยึดถือสำหรับตนเลย ถ้าเป็นคนก็เป็นคนเลื่อนลอยเป็นคนหลักลอย  ความเสื่อมจากธรรมจึงไม่ใช่ของดี เสื่อมเฉพาะเราเราก็เดือดร้อน ถ้าอยู่ในครอบครัว สมมุติว่าสามีภรรยา จะเป็นฝ่ายใดก็ตามเสื่อมจากธรรม จะต้องก่อความเดือดร้อนให้เกิดในครอบครัวจนได้

ไม่ถึงกับต้องเกิดด้วยความเป็นจิตเสื่อมจากธรรมด้วยกันทั้งสองคนเลยก็ตาม เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสื่อมเท่านั้นก็ทำให้เสียได้ เช่น สามีเป็นคนมีอารมณ์มาก ชอบอารมณ์มาก ไม่มีความไยดีกับสิ่งที่มีอยู่ของตน เที่ยวโลเลไปทุกแห่งทุกหน แสวงหาที่ลับที่กำบังที่ซุ่มที่ซ่อนที่ไม่น่าไปไม่น่าทำอย่างนี้ จะก่อความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวของตนเพียงไร นี่คือคนที่มีจิตเสื่อมย่อมทำสิ่งที่เสียหายทั้งนั้น จะทำสิ่งที่ให้เกิดความสุขความเจริญแก่ตนและส่วนรวมนั้น รู้สึกจะไม่มี ความที่เสื่อมจากศีลจากธรรมนี้จึงไม่ใช่ของดี เสื่อมมากเท่าไรก่อความเสียหายได้มากเท่านั้น ท่านจึงสอนให้พยายามรักษาจิตใจอย่าให้เสื่อมจากศีลจากธรรม

เพียงครอบครัวหนึ่งเสื่อมจากศีลจากธรรมเท่านั้นครอบครัวนั้นก็เดือดร้อน ลูกก็เดือดร้อน พ่อกับแม่ก็เดือดร้อน ถ้าทั้งบ้านเสื่อมจากศีลจากธรรมทั้งบ้าน บ้านนั้นก็เดือดร้อนกันทั้งบ้าน ทั้งเมืองต่างคนต่างเสื่อมจากศีลจากธรรมเมืองนั้นก็ร้อน ทั้งประเทศเขตแดนถ้าต่างคนต่างเสื่อมจากศีลจากธรรมแล้ว โลกจะไม่เป็นไฟไปจะเป็นอะไร เพราะคำว่าไฟในสถานที่นี้ก็คือความรุ่มร้อนเผาซึ่งกันและกันนั่นเอง เพราะความเสื่อมจากศีลจากธรรม  ธรรมคือความดีงามมีเหตุมีผลเป็นเครื่องยับยั้งชั่งตวง แต่ไม่มีเสียแล้วเรียกว่าเสื่อม ความเจริญด้วยศีลด้วยธรรมนี้ทำโลกให้เจริญ ทำตนให้เจริญ อยู่ในครอบครัวก็เจริญ เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานก็เจริญ เป็นชิ้นเป็นอัน

ฉะนั้นขอให้นักปฏิบัติทั้งหลาย กรุณานำธรรมะไปตรึกตรองเป็นเครื่องส่งเสริมจิตใจหน้าที่การงานของเราจะได้มีความเจริญรุ่งเรืองไม่บกพร่องในหน้าที่นั้นๆ ทำอะไรก็เป็นไปเพื่อความราบรื่นดีงาม ผลประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ทั้งตนและผู้อื่นโดยลำดับ การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติเพียงเท่านี้

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก