ของดีเยี่ยมคืออะไร
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2512 ความยาว 33.43 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อค่ำวันที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๒

ของดีเยี่ยมคืออะไร

         วันนี้เป็นอุดมมงคล มีพระเดชพระคุณท่านมาเป็นประธาน และท่านคณะศรัทธาทั้งหลายมีท่านเจ้าภาพเป็นต้น ได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างมาเพื่อบำเพ็ญคุณงามความดี อันเป็นสิ่งสำคัญในหลักชีวิตของเรา และเป็นคู่ชีวิตของจิตใจทั้งปัจจุบันและอนาคต ได้มาบำเพ็ญคุณงามความดี และเป็นผู้มีศรัทธาอยากจะฟังธรรมเทศนา คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อให้สำเร็จเป็นธัมมัสสวนานิสงส์

การฟังเทศน์ก็กรุณาทำความรู้สึกไว้กับใจโดยเฉพาะ คือไม่ต้องสนใจไปอื่น แม้ที่สุดองค์แสดงเราก็ไม่ส่งจิตใจมา ทำความรู้สึกอยู่จำเพาะใจให้เป็นปัจจุบันจิตเท่านั้น ก็เป็นอันว่าเราได้ตั้งภาชนะไว้ด้วยดีแล้วสำหรับธรรม กระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดงไปมากน้อย เมื่อเราตั้งความรู้สึกของเราไว้ในปัจจุบันให้เป็นปัจจุบันจิต จิตที่ตั้งไว้โดยถูกต้องเช่นนั้นจะสามารถรับได้ทุกระยะแห่งธรรมะที่ท่านแสดงไป

ใจมีอารมณ์อันเดียวในขณะที่คิดสิ่งใดย่อมเป็นสิ่งนั้นจริงๆ ที่จะคิดสิ่งอื่นขึ้นมาก็ต่อเมื่อได้ปล่อยจากอารมณ์ที่เคยคิดอยู่แล้วถึงจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์อื่นได้ ใจเมื่อได้รับความสัมผัสคือรับรู้กับธรรมะอยู่สืบเนื่องกันไปเป็นลำดับ ย่อมจะทำให้สงบตัวลงได้ในขณะที่ฟัง ใจที่มีความสงบตัวลงได้ ย่อมจะปรากฏความสุขเย็นใจขึ้นมาตามลำดับแห่งความสงบที่มีมากน้อยภายในจิตของตนในขณะนั้น ฉะนั้นการฟังเทศน์จึงจัดเป็นภาคปฏิบัติธรรมะ ไม่ด้อยกว่าการปฏิบัติธรรมะภาคอื่นๆ เช่นนั่งภาวนาเป็นต้น

ครั้งพุทธกาลท่านถือเป็นสำคัญในการฟังธรรม ทั้งฟังทั้งปฏิบัติอยู่ในนั้นเสร็จ ดังนั้นจึงสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในขณะที่ฟังธรรมมีจำนวนไม่น้อย การแสดงธรรมก็ขออภัยจากท่านผู้ฟังทั้งหลายด้วย เพราะผู้ฟังก็มีวัยต่างๆ กัน อาจจะมีเหลื่อมล้ำต่ำสูงในการแสดงธรรมและไม่เหมาะกับจริตจิตใจของทุกท่านก็อาจเป็นได้

คำว่าธรรมะ ถ้าพูดฝ่ายเหตุก็เป็นเครื่องมือด้วยดี ผู้จะสร้างโลกสร้างสงสารให้เป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนและผู้เกี่ยวข้อง ธรรมะก็เป็นเครื่องมือต่อสู้ บุกเบิกหน้าที่การงานนั้นๆ ให้เป็นไปด้วยความราบรื่น ถ้าผู้มุ่งต่อธรรมะโดยตรง เช่นนักบวช ไม่มีหน้าที่อื่นใดเกี่ยวข้อง มีเฉพาะหน้าที่ที่จะบำเพ็ญตนให้ได้รับความสงบสุขเย็นใจเป็นลำดับ ธรรมะก็เป็นเครื่องนำออกจากความยุ่งเหยิงใดๆ เป็นลำดับไปเช่นเดียวกัน ธรรมะจึงใช้ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม ผู้ที่จะสร้างกิจการทางโลก หรือจะพยายามบำเพ็ญตนให้เป็นคนดีให้มีหลักฐานมั่นคง ในส่วนทรัพย์สมบัติทั้งหลาย จำเป็นต้องได้รับการอบรมทางด้านจิตใจให้มีความมั่นคงต่อตนเองเท่าที่ควรก่อน สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อหลักใหญ่คือตัวของเรามั่นคงดีแล้ว ก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่มั่นคงขึ้นตามๆ กัน

ฉะนั้นการปรับปรุงตัว การประพฤติตัว การพิจารณาสอดส่องเรื่องของตัว นี่เป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับเราปิดทำนบไว้สำหรับน้ำ เราต้องการน้ำจำนวนมากเท่าไร เราต้องดูทำนบของเราเป็นสำคัญยิ่งกว่าจะมองดูฟ้าซึ่งเป็นที่ตกลงมาแห่งน้ำทั้งหลาย เมื่อทำนบของเรามีความมั่นคงเพียงใดและสามารถจะบรรจุน้ำได้มากน้อยเพียงใด น้ำที่จะไหลเข้ามาสู่ทำนบก็จะมีประมาณเท่าที่เรากำหนดเอาไว้ และเท่าที่ความมั่นคงของทำนบเราจะพอกับน้ำนั้นๆ

การปฏิบัติตัวต่อหน้าที่การงานสำหรับทางโลกก็ย่อมเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ก่อนอื่นเราต้องพยายามฟิตตัว คือตั้งหลักตัวให้ดีอย่าให้ตัวเสียไป เฉพาะอย่างยิ่งกำลังเป็นเด็กหรือวัยรุ่น นี่รู้สึกจะเป็นเรื่องระวังอยู่มาก หากไม่มีธรรมะเป็นเครื่องรักษาก็เช่นเดียวกับรถที่ไม่มีเบรก เราต้องพยายาม การขับรถได้เคยแสดงให้ท่านผู้ฟังในที่ต่างๆ มากพอสมควร เพราะเป็นข้อเทียบเคียงกันได้ดีสำหรับการดำเนินชีวิตหรือการบำเพ็ญตน ให้เป็นไปเพื่อความแน่นหนามั่นคงภายในจิตใจและเจริญรุ่งเรืองต่อหน้าที่การงานทั้งหลาย จึงได้ยกเรื่องรถมาเป็นเครื่องเทียบ คือถึงกาลที่ควรจะเร่งตามสายทางที่เห็นว่าจะเร่งได้ คนขับรถซึ่งเป็นคนฉลาดก็ต้องทราบเอง ถึงสถานที่ที่จะควรรอ จะควรเบรกคนขับรถก็ต้องรู้วิธีการในสิ่งเหล่านี้

การดำเนินชีวิตของเราก็ย่อมเป็นเช่นนั้น เราอย่าเห็นแก่ความอยากความทะเยอทะยาน โดยไม่คำนึงถึงอนาคตที่จะเป็นความเสียหายมากน้อยเพียงไร อันจะเกิดขึ้นจากความอยากของเราในขณะนั้น เราต้องเล็งถึงเหตุผลแห่งความอยากว่าเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะเป็นไปเพื่อความเจริญแก่เรา หรือจะเป็นไปเพื่อความสังหารตน เราต้องคิด เพราะตามธรรมดาหัวใจของบุคคลที่มีกิเลสย่อมไม่มีขอบเขตอยู่แล้วตามปกติของตน นอกจากจะหาธรรมะมาเป็นรั้วกั้น หรือเป็นเครื่องบังคับไว้ ให้อยู่ในกรอบแห่งความถูกต้องคือธรรมนั้นเท่านั้น เราจะเป็นผู้ยับยั้งตนได้

ถ้าหากปราศจากธรรมอันเป็นขอบเขต หรือเป็นรั้วกั้นเป็นสิ่งบังคับแล้ว ปล่อยให้เป็นไปตามอำเภอใจนั้น ก็เทียบกับน้ำที่ไหลซึมออกวันละเล็กละน้อย จากแอ่งหรือจากบึงจากหนองใดก็ตาม น้ำนั้นจะค่อยไหลซึมออกเป็นลำดับๆ แล้วทำรูที่ไหลซึมนั้นให้กว้างขวางออกไป จนสามารถทำลายทำนบหรือคูนั้นให้ขาดไปได้ น้ำไหลไปหมดไม่มีอันใดเหลืออยู่ภายในบึงนั้นเลยก็ได้ ถ้าเจ้าของไม่พยายามระมัดระวังรักษาตรวจตราอยู่เสมอในทำนบหรือคูนั้นๆ

จิตใจของเราก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเราปล่อยตามความอยากอันไม่มีขอบเขต แม้จะเพียงวันละเล็กละน้อยก็ตาม ก็เช่นเดียวกับน้ำที่ได้รับความปล่อยตัวอยู่เสมอไม่มีใครปิดกั้นเอาไว้ ก็สามารถที่จะทำช่องที่ไหลออกนั้นให้ใหญ่โตขึ้นเป็นลำดับๆ แล้วทำลายคูคันทั้งหลายให้ฉิบหายป่นปี้หมดไปทั้งน้ำ จิตใจของเราก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน โปรดได้นำไปพินิจพิจารณา ความอยากอันใดที่เกิดขึ้นโปรดพิจารณาด้วยดี อย่าปล่อยให้เป็นไปตามความอยาก แม้จะเพียงเล็กน้อย

วันนี้ปล่อยให้ความอยากดำเนินตามความชอบใจของตนเพียงเท่านี้ วันหน้าความอยากนี้จะเพิ่มปริมาณขึ้นอีกเป็นจำนวนเท่าตัวหรือมากยิ่งกว่านั้น เราก็ปล่อยให้เป็นไปตามความอยาก ความเป็นไปของใจที่ไม่มีขอบเขตนั้น ต่อไปๆ ก็ทำเราให้เสีย เรานั้นเทียบกับทำนบ ซึ่งสามารถที่จะกั้นน้ำไว้ได้มากมายในเมื่อรักษาไว้ด้วยดี แต่นี่กลายเป็นความคิด ความอยากนั้นมาทำลายตนเสีย สมบัติที่มีคุณค่าอันใหญ่ซึ่งจะเกิดขึ้นจากใจนี้จึงไม่มี การรักษาใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้มีขอบเขต ให้มีรั้วกั้น อย่าปล่อยให้เป็นไปตามความอยากความทะเยอทะยาน นี่เป็นหลักสำคัญ

วันนี้เราพยายามรักษาตัวเราได้ขนาดนี้ วันหน้าก็พยายามรักษาอีก ความที่เคยรักษาตัวอยู่เสมอด้วยเหตุผลนี้แล จะเป็นธรรมที่เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงภายในจิตใจ และสามารถรักษาตนได้ในอนาคตไม่มีทางเสียหาย เพราะการพยายามรักษาทุกวันก็ย่อมเป็นนิสัยของคนดีเหมือนกัน วันนี้ก็พยายามรักษาวันหน้าก็พยายามรักษา เดือนหน้าปีหน้าพยายามรักษาอยู่เช่นนี้ ก็กลายเป็นนิสัยเคยชินต่อการรักษาตัว ไม่ว่าจะคิดเรื่องใด และอยากทำอยากพูด อยากไปอยากมา อยากจับจ่าย อยากอะไรก็แล้วแต่ชื่อว่าความอยากแล้ว จะต้องมีเหตุผลเป็นผู้จัดการเสมอ

เมื่อเหตุผลอำนวยสมควรแค่ไหนแล้ว ก็ให้ดำเนินไปตามเหตุผลที่ชี้บอกว่าสมควรเพียงเท่านั้น ไม่ให้เลยขอบเขตของเหตุผลที่เห็นว่าควร นี่ชื่อว่าการปฏิบัติรักษาตัว ปฏิบัติแบบนี้ ต่อไปใจของเราก็มีเหตุผลรอบตัว ไม่ว่าจะกิจเล็กกิจใหญ่ ไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ต้องมีเหตุผลมาเป็นคู่เคียงหรือเป็นมิตรเป็นสหาย กำจัดปัดเป่าสิ่งที่จะให้ร้ายแก่ตนอันจะเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความอยากนั้นได้เป็นลำดับๆ ผู้นี้ชื่อว่าผู้ฟิตตัวได้ถูกต้อง ผู้ยับยั้งหรือบำรุงตนอันเป็นบ่อสมบัติได้ดี จะแสวงหาโภคทรัพย์มามากน้อยก็อยู่ ไม่กลายเป็นคนใจรั่ว เป็นคนหลักลอย

คำว่ารั่วนี้ เราคิดดูหม้อน้ำรั่วก็ใช้งานไม่ได้ ถ้ารั่วมากเท่าไรก็ยิ่งเสียไปมาก อะไรที่คำว่ารั่ว ผ้าขาดเล็กน้อยก็ไม่ดี ถ้ายิ่งขาดมากก็ยิ่งใช้ไม่ได้ ทีนี้ขอให้ตีความหมายไปกว้างๆ คำว่าขาด คำว่ารั่ว อันใดรั่วไม่ดีทั้งนั้น คนเราถ้าปล่อยใจให้รั่ววันละเล็กละน้อยแล้วมันก็แตก ทีแรกก็รั่วเสียก่อนต่อไปก็แตกแล้วก็ใช้งานไม่ได้ ใจที่แตกแล้วหมดที่พึ่ง คนเราถ้าปล่อยให้เป็นไปตามอำเภอใจกลายเป็นคนใจแตกหาที่ยับยั้งไม่ได้ สมบัติเงินทองจะมีมามากน้อยเท่าไรไม่มีเหลือ เพราะใจไม่มีส่วนดีที่เหลืออยู่พอจะเก็บทรัพย์สมบัติไว้ได้ สมบัติทั้งปวงจึงกลายเป็นสิ่งที่สังหารตนเองไปเสียด้วยซ้ำ คนนั้นหมดราคา

การปล่อยตัวจึงไม่ใช่เป็นของดี แต่การรักษาตัวนั้นแลเป็นความมั่นคง เป็นความเจริญรุ่งเรืองและเป็นความอบอุ่นภายในตัวทั้งปัจจุบันและอนาคต เราจะแสวงหาทรัพย์สมบัติสิ่งใดๆ ก็ตาม ถ้ามีเหตุมีผลเป็นเครื่องแสวงหาและเป็นเครื่องรักษาตลอดถึงการจับจ่าย มีเหตุผลไปอย่างพร้อมมูลแล้ว ผู้นั้นจะเป็นผู้พอดีเสมอ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ไม่ตื่นเต้นไปตามกาลตามสมัยตามสถานที่ แต่จะมีความตระหนักอยู่ในเหตุผลว่าควรหรือไม่ควรเสมอไป ผู้เช่นนี้จะไปอยู่ในสถานที่ใดก็ไม่น่าตกใจ แม้จะไปเป็นลูกน้องหรือไปเป็นนายของผู้ใดก็ตาม ผู้นั้นก็สามารถจะทำความอบอุ่นหรือทำความเบาใจแก่นายหรือแก่ลูกน้องได้ดี เพราะตนเป็นผู้ปฏิบัติโดยถูกต้องและมีขอบเขต นี่คือหลักของการบำเพ็ญตัว หลักของการดำเนินชีวิต

ชีวิตของเราไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย คิดดูตั้งแต่บัดนี้จนกระทั่งถึงอวสานแห่งชีวิต เราจะต้องรับภาระของโลก ที่โลกทั้งหลายทำไปนั้นไม่ใช่น้อยๆ เราคนหนึ่งที่จะต้องรับภาระของโลกไปมากมาย เพียงระยะในวันหนึ่งๆ เราไม่สามารถจะรักษาตนให้ดีได้แล้ว เราจะสามารถนำโลกอันเป็นภาระสำคัญต่อไปได้อย่างไร ต้องเป็นคนที่อับเฉาเสมอไป นี่เป็นหลักสำคัญ ขอให้พากันนำไปพินิจพิจารณา

การรักษาตัวนี้เรียกว่า รักษาสมบัติอันยิ่งใหญ่หรือก้อนใหญ่ที่สุด ถ้ารักษาตัวได้แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะค่อยมีความเจริญขึ้นไปเป็นลำดับ แม้จะมีน้อยก็จะกลายเป็นคนมีมาก คนจนก็จะกลายเป็นคนมี โง่ก็จะกลายเป็นฉลาด คนชั่วก็จะกลายเป็นคนดีถ้ายังมีการรักษาอยู่ แต่ถ้าขาดการรักษาแล้วไม่ว่าสิ่งใดๆ ย่อมจะหมดคุณค่าไปสำหรับบุคคลผู้ทอดอาลัยนั้น แม้สิ่งนั้นๆ จะมีคุณค่าอยู่ก็ตามแต่ก็ไม่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ไม่มีการรักษา ตัวของเราจะเป็นประโยชน์แก่เราไม่น้อยจากนี้ถึงอวสานแห่งชีวิต ถ้าเราพยายามประคับประคองไว้ด้วยดี จะเป็นประโยชน์มากมาย

เราต้องคิดถึงเรื่องตัวของเราก่อนอื่น ตัวเรานี้เป็นหลักสำคัญ เราอย่าเห็นแก่ความทะเยอทะยานอยาก วิ่งเต้นตามหมู่ตามเพื่อน เห่อเหิมไปตามเพื่อนตามฝูง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะตามมาในระยะเดียวกัน แล้วกลายเป็นโรคเรื้อรังฝังอยู่ที่ใจถอนไม่ขึ้นตลอดวันตาย อันนี้เป็นโรคร้ายมาก โรคแก้ไม่หาย โรคฉิบหายไปตามๆ กัน เราต้องระวังโรคประเภทนี้ นี่เป็นธรรมะขั้นหนึ่ง เรื่องความอยากนั่นละสำคัญ ความทะเยอทะยานอยาก สำคัญมากต้องได้จ้องมองดู อันนี้ละจะเป็นผู้ทำลาย สำคัญ ทำลายความมั่นคงของจิตใจ ทำลายตัวของเราให้เสียไปด้วย อันนี้สำคัญมากพากันสนใจ

ผู้ที่จะดำเนินทางโลกต้องมีธรรมะเป็นเครื่องมือบุกเบิก เป็นเครื่องมือต่อสู้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นไปไม่ได้แล้วจะเสียทั้งตัวของเราด้วย ทีนี้ผู้จะดำเนินในทางธรรมะล้วนๆ เช่นเป็นนักบวชหรือแก่เฒ่าชรามาแล้ว หมดความห่วงใยทางโลกทางสงสาร มีความมุ่งหมายที่จะบำเพ็ญตนให้มีความอยู่เย็นเป็นสุขภายในจิตใจแล้ว ธรรมะก็เป็นเครื่องบุกเบิกทางแห่งความเกษมสำราญโดยลำดับ เพราะธรรมะไม่ได้ทำคนให้อ่อนแอ ผู้มีธรรมะแล้วจะดำเนินทางโลกก็ตามทางธรรมก็ตาม ไม่ใช่เป็นผู้อ่อนแอถอยหลัง แต่เป็นผู้ก้าวหน้าเสมอ เป็นนักต่อสู้ด้วยเหตุด้วยผล หนักก็เอาเบาก็สู้เมื่อเหตุผลลงรอยตรงนั้นแล้วว่าควรจะสู้ ต้องสู้ ควรจะถอยต้องถอย ควรจะก้าวหน้าก้าวไป ธรรมะเป็นอย่างนั้น

ท่านจึงสอนให้มีความอดทน ให้มีความขยันหมั่นเพียร ให้มีสติ ให้มีปัญญารอบตัว คนเราถ้ามีธรรม ๔ อย่างนี้เป็นเครื่องรักษาตัวแล้ว จะอยู่ทางโลก โลกก็เจริญรุ่งเรือง จะดำเนินทางธรรมะใจก็ได้รับความเยือกเย็น เฉพาะอย่างยิ่งใจนี้สำคัญมาก เกี่ยวกับเรื่องภาวนาเพราะตามปกติของจิตมีความคิดอยู่เป็นประจำตัว ขณะที่คิดนั้นโดยมากก็ต้องคิดอารมณ์ที่เป็นข้าศึก ไม่ค่อยจะมีอารมณ์เป็นสิริมงคลหรือเจริญรุ่งเรืองบำรุงจิตใจให้มีความสุขความสบาย แต่เป็นอารมณ์ที่ก่อกวนทำลายเสียมาก สำหรับอารมณ์แห่งธรรมะนั้น เป็นอารมณ์ที่ส่งเสริมจิตใจให้มีความเยือกเย็นสบาย ท่านจึงสอนใจให้มีธรรมะ มีการภาวนาเป็นต้น

การภาวนาก็ย่อมมีลำบากบ้าง แต่เราต้องคำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการภาวนาคืออะไรเสียก่อน แม้ลำบากก็พอทำกันไปได้ เพราะคำว่าสุขนั้น แม้แต่ผลไม้สุกเราก็ยังชอบ คนมีความสุขกายสบายใจจะไม่ชอบอย่างไร เรามีความสุขกายสบายใจเราก็ชอบ ความสุขใจเป็นสิ่งสำคัญ ความสุขใจจะสุขได้ด้วยวิธีใด ผลไม้เขาก็เอามาบ่มหรือสุกกับต้นที่ต้นลำของมันหรือลูกของมันได้รับการบำรุงจากต้นลำเสมอ จากลำต้นของมัน มันก็แก่ขึ้นมาจนกระทั่งสุก ไม่ใช่มันสุกเอาเฉยๆ เมื่อมันพอทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจากอาหารเครื่องบำรุงมันก็สุกได้

ใจของเราที่จะสุข ก็ต้องมีอาหารเครื่องบำรุง พอที่จะสุขได้ถึงจะสุข เมื่อไม่มีอาหารเครื่องบำรุงมันก็สุขไม่ได้ เราต้องการแต่ความสุข แต่เราก่อแต่เรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายใส่ตัวของเรา ทั้งๆ ที่เราต้องการความสุข เหตุกับผลก็ไม่ตรงกัน ความต้องการเป็นอย่างหนึ่ง แต่การกระทำเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผลก็ขัดแย้งกัน เอ๊ เราทำอย่างนี้แทนที่จะได้อันนี้ ทำไมจึงได้อย่างนั้น เจตนาของเราเบื้องต้นเราว่าจะทำดีจริง แต่บทเจตนานั้นหลุดลอยไปในขณะเดียวเท่านั้น ก็กลายเป็นการสั่งสมความไม่ดีขึ้นมา ก่อกวนจิตใจให้วุ่นวายยุ่งเหยิงไปหมด ผลจึงปรากฏเป็นทุกข์ขึ้นมา นี่เหตุกับผลเป็นอย่างนี้ คือมันไม่ลงรอยกันกับเจตนา

ฉะนั้นการทำความสงบทางด้านจิตใจ เจตนากับการรักษาการดำเนินให้กลมกลืนกันไป พยายามระมัดระวังรักษาจิตให้ได้รับความสงบ ด้วยอำนาจแห่งบทธรรมบทใดบทหนึ่ง เช่นเรากำหนดพุทโธเป็นอารมณ์ของใจหรืออานาปานสติ ก็ให้มีความรู้สึกอยู่กับลมหายใจของเราเท่านั้น หรือมีความรู้สึกอยู่กับพุทโธที่เรานำมาบริกรรมในเวลานั้น โดยไม่ต้องคาดผลว่าจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง มีเพียงว่าทำอย่างไรความรู้สึกของเราคือใจนี้ กับคำบริกรรมนั้นๆ จะสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันเป็นลำดับไป นี่เป็นจุดที่มุ่งหมายสำหรับผู้บำเพ็ญเหตุเพื่อผลที่พึงใจจะปรากฏขึ้นได้อย่างไม่ผิดคาดผิดหมาย ต้องทำอย่างนี้

ใจเมื่อเป็นอารมณ์อันเดียวตามปกตินิสัย และได้บทธรรมะมาเป็นเครื่องอบรมเสมอ ความรู้สึกมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันกับบทธรรมบทนั้นๆ ก็จะได้รับความสงบเย็นใจขึ้นมา ใจสบายนี้เป็นสิ่งที่หายากมาก ความสงบพอเริ่มขึ้นก็จะเห็นความสบายขึ้นกับความสงบ สงบมากเท่าไรใจก็สบายมากเท่านั้น ท่านจึงสอนให้อบรมใจให้มีความสงบ ความสงบกับความสบายเป็นคู่เคียงของกันและกัน อบรมได้มากเท่าไรใจก็ยิ่งสบายมาก

ใจที่เคยผาดโผนโลดเต้นมาก็ตาม ถ้าได้รับความสงบเยือกเย็นแล้วต้องสงบ คนแม้จะเคยเป็นคนชั่วมาก็กลายเป็นคนดีได้ สม่ำเสมอ มีเหตุมีผลประจำตน นี่วิธีอบรมภาวนา อันนี้เป็นชีวิตจิตใจของเราจริงๆ พึ่งเป็นพึ่งตายกันจริงๆ กับอันนี้ กับคำว่าใจสงบ ใจเย็น ใจเป็นที่พึ่งได้ คนเราไม่ใช่ว่าจะมีความราบรื่นสม่ำเสมอไปเป็นลำดับ อาจจะเป็นลุ่มๆ ดอนๆ ยิ่งวาระสุดท้ายคือธาตุขันธ์จะทำลายลงไปนี้ ต้องเขย่าตัวเองเสียอย่างบอบช้ำ ทนไม่ไหวก็ต้องแตกไป ตอนนี้ตอนทำให้ว้าวุ่นขุ่นมัวมาก ถ้าใจไม่มีหลักยึดด้วยแล้วก็ยิ่งไปใหญ่ กายก็ร้อนเป็นไฟจะแตกเดี๋ยวนี้ ใจก็ร้อนเป็นไฟ เลยหาที่ยึดไม่ได้ คว้าหาใจ ใจก็ร้อน คว้ามาหาทางกาย ร่างกายก็จะแตกเลยหาที่ยึดไม่ได้ ไปทั้งร้อนๆ อยู่ทั้งร้อนๆ แล้วก็ไปทั้งร้อนๆ

อยู่ที่ไหนก็ร้อน ถ้าธรรมชาตินี้เป็นผู้ร้อน เพราะเราจะหวังพึ่งเป็นพึ่งตายพึ่งสุขพึ่งทุกข์กับใจดวงนี้ แต่ใจดวงนี้ได้กลายเป็นไฟเสียอย่างนี้ เราจะไปอาศัยความร่มเย็นจากอะไร ไม่มีความร่มเย็น นั่น เหตุที่ท่านจะสอนพุทธบริษัททั้งหลายให้บำเพ็ญธรรมก็เพื่อความร่มเย็นให้เป็นที่พึ่งของตนได้ ตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ว่า.อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน หมายถึงนี้ละเป็นสิ่งสำคัญ

เวลาจวนตัวมาจริงๆ แล้วเราจะเห็นว่าตนของเราเป็นที่พึ่งของเราอย่างไรบ้างจะรู้กันตอนนี้ คือจะอาศัยอะไรมันไม่มีทาง จะอาศัยญาติมิตรพ่อแม่ลูกหลานก็หมดวิสัยที่จะอาศัยในเวลาเช่นนั้น คือเราก็กำลังจะแตกอยู่แล้ว ร่างกายก็เป็นไฟทั้งกอง ทุกส่วนของร่างกายนี้จะกลายเป็นไฟไปหมด ร้อนหมด ใจถ้าไม่ได้รับการอบรมก็จะร้อนเป็นไฟไปอีกเช่นเดียวกัน หาที่ยึดไม่ได้ คิดไปทางไหนก็มีแต่ไฟ

แต่เมื่อได้รับการอบรมให้มีความสงบเย็นใจแล้วไม่เป็นเช่นนั้น ผิดกันเหมือนฟ้ากับดินหรือคนละโลก กายจะร้อนเป็นไฟก็ให้ร้อนไปตามเรื่องของกาย แล้วก็ทราบชัดด้วยว่ากายเวลานี้กำลังจะสลาย กำลังแสดงตัว ดำเนินไปตามแถวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของมันอย่างเต็มที่จนสุดขีดสุดแดนของมันที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่นี้ ต้องแสดงถึงวาระสุดท้ายของเขา ใจของเราผู้ที่ได้บำเพ็ญคุณงามความดีด้วยสติปัญญามาอย่างรอบตัวแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่รอบคอบขอบชิดภายในตัว ไม่ยอมให้เสียท่าเสียทีไปกับความแปรปรวนของส่วนร่างกาย ใจก็เป็นใจ กายก็เป็นกาย กายแตกใจยังดีมีศีลมีธรรมเป็นเครื่องอบรม ใจก็ไม่มีทุกข์ นี้แลชื่อว่าใจเป็นที่พึ่งของตน นี่ละตนเป็นที่พึ่งของตน วาระสุดท้ายจะต้องมายึดใจเป็นหลักสำคัญ

ใจมีอะไรเป็นอาหารเครื่องหล่อเลี้ยงบ้าง ถ้าใจมีศีลมีธรรมมีความสงบเย็นใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง นี้แลเป็นอาหารของใจ ใจอาศัยกับอารมณ์แห่งความดีอันนี้ไปเลย นี่ท่านว่าสุคโต อยู่ก็ดีไปก็เย็น ถ้าหากทำใจให้เดือดร้อนแล้วอยู่ก็เป็นทุคโต อยู่ก็เดือดร้อนไปก็เดือดร้อน อิริยาบถทั้ง ๔ ไม่สบาย ขาด อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ทำที่พึ่งของตนไม่ได้ อย่างอื่นเราทำได้หมด แต่จะมาทำที่พึ่งให้ตัวโดยเฉพาะเท่านั้น เราไม่สามารถ จะแสดงว่าเราโง่หรือเราฉลาด เราต้องหาอุบายสอนเราอย่างนี้ คือใจนี้ต้องชอบอุบายสอน แม้แต่เด็กก็ยังชอบเหตุชอบผล เราพูดด้วยเหตุด้วยผลเด็กก็ยังต้องยอมเชื่อ เราสอนเราด้วยเหตุด้วยผลทำไมจะไม่เชื่อ

หลักธรรมเป็นสิ่งที่แน่นอนจริงจังตามพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบทุกอย่าง ไม่มีเอนมีเอียงไม่มีสูงๆ ต่ำๆ มีความสม่ำเสมอ เรียกว่า มัชฌิมา เป็นภาคพื้นของธรรมะหรือเป็นความจริงของธรรมะ ไม่มีอะไรที่จะควรตำหนิติเตียนได้เลย เราพยายามดัดแปลงเราให้เข้าสู่หลักธรรมที่เรียกว่า สวากขาตธรรม ใจของเราก็จะหาที่ตำหนิตนไม่ได้ เป็นผู้สม่ำเสมอทั้งความเป็นอยู่ทั้งความตายไป

ฉะนั้นท่านผู้บำเพ็ญตนจนถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง หมดทุกสิ่งทุกอย่างที่จะควรตำหนิติชมภายในจิตใจแล้ว ท่านจึงเป็นผู้สม่ำเสมอ เสมอทั้งความเป็นอยู่เสมอทั้งความจะตายไป ระหว่างความเป็นอยู่กับความตายไปนั้นไม่มีทางใดเงื่อนใดจะมีน้ำหนักต่างกัน ความเป็นอยู่ก็คือขันธ์อันนี้ เราก็ทราบแล้วว่าขันธ์อันนี้รวมตัวอยู่ ประชุมกันอยู่ ผสมกันอยู่ เวลานี้ยังไม่แตก เราก็ทราบได้ชัดเจน จิตที่รู้เท่าทันต่อขันธ์แล้วก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์อยู่อย่างนี้ เวลาจะสลายไปแล้วอะไรจะล่มจมอะไรจะฉิบหาย ไม่มีส่วนใดฉิบหาย

ส่วนธาตุขันธ์คือ ดิน น้ำ ลม ไฟที่ประชุมกันเป็นรูปเป็นกายนี้ ก็สลายไปตามธรรมชาติของตนที่ประชุมมาแล้ว แล้วสลายตัวไป ส่วนดินเป็นดิน ส่วนน้ำเป็นน้ำ ส่วนลมก็ไปเป็นลมตามเดิม ส่วนจิตที่บริสุทธิ์ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะบกพร่องพอที่จะขาดทุนสูญกำไรเวลาตายไปแล้ว เพราะฉะนั้นความเป็นอยู่กับความตายไปของพระขีณาสพท่านจึงไม่มีส่วนใดหนักยิ่งกว่ากัน มีเสมอกันหมด

นอกจากท่านจะแยกแยะว่าการมีชีวิตอยู่นี้ จะทำประโยชน์ให้โลกนับว่าจะได้มีประมาณเท่านั้นๆ ถ้าหากว่าได้ขาดไปเสียในเวลานี้ซึ่งไม่ควรจะเป็นไป แต่ได้เป็นไปเสียเช่นนี้ ประโยชน์ที่จะทำแก่โลก โลกที่จะได้รับประโยชน์จากท่านก็จะขาดสะบั้นไปตามๆ กัน ก็เป็นเหตุให้เกิดความมีน้ำหนักในการเป็นอยู่ต่อไป เพื่อประโยชน์สำหรับโลก แต่จะเพื่อประโยชน์สำหรับท่านนั้นท่านไม่มี เพราะความเป็นอยู่กับความตายไปนั้นเป็นเรื่องของธาตุขันธ์ซึ่งเป็นตัวสมมุติล้วนๆ เหมือนโลกทั่วๆ ไปต่างหาก ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะล่มจมไปถึงจิตใจของท่านที่บริสุทธ์แล้ว

ธรรมชาติที่บริสุทธิ์แล้วจะยังมีชีวิตอยู่ก็บริสุทธิ์ จะตายไปแล้วจะฉิบหายไปไหน จะไปล่มจมที่ไหนไม่มี ต้องเป็นความเสมอภาคอยู่โดยหลักธรรมชาติของตนที่นอกจากสมมุติอนิจจังนี้ไปแล้ว นี่ละจิตถ้าเราฝึกหัดให้ได้เต็มที่แล้ว เราต้องมีความอาจหาญต่อความจริงทุกด้าน ไม่ว่าขณะใดจะเจ็บขณะใดจะตายขณะใดจะแตกสลาย ไม่มีการย่อท้อ ไม่มีการกลัว ไม่มีการหวาดเสียว มีความเสมอภาคเป็นธรรมประจำใจ เพราะเห็นตามความจริงไปเสียสิ้นแล้ว อะไรจะเป็นเครื่องหลอกจิตใจที่จริงแล้วได้เล่า ไม่มีสิ่งใดจะหลอก ชื่อว่าสมมุติในโลกนี้ เพราะคำว่าโลกวิทูต้องรู้แจ้งในเรื่องสมมุตินี้ทั้งหมด

แม้จะไม่ใช่โลกวิทูแบบเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่คุณสมบัติของสาวก ก็จัดได้ในโลกวิทู คือรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพแห่งความจริงทั้งหลายที่เป็นสมมุติในโลกนี้ ส่วนโลกวิทูของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอีกประเภทหนึ่ง ทรงรู้แจ้งเห็นจริงตามหลักความจริงของสมมุติทั้งหลายนี้ด้วย และสามารถที่จะรู้ในสิ่งทั้งหลายที่พระองค์ต้องการอยากรู้ได้ด้วย ว่าสิ่งนั้นอยู่ที่ไหน สิ่งนั้นมีจำนวนเท่าไรเป็นต้นได้ สาวกไม่สามารถอย่างพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่ก็สามารถในโลกวิทูที่รู้แจ้งในเรื่องสมมุติที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของตนได้ดี จนถึงกับเป็นผู้บริสุทธิ์เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า

นี่ละจิตไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยเรื่องของจิต จะทำให้เลวไม่มีอะไรที่จะเลวกว่าจิตกว่าคนไป ถ้าจะทำให้ดีก็ไม่มีอะไรที่จะดียิ่งกว่าจิตกว่าคนเราไป ธรรมะทั้งหมดจึงทุ่มเทลงที่จิตใจของคน ศาสนาจึงสอนคนเราให้รู้เรื่องว่าของดีเยี่ยมคืออะไร คือดวงใจที่ได้รับการระมัดระวังรักษา ดวงใจที่ได้รับการซักฟอกตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงอวสานสุดท้ายนี้เป็นใจที่ประเสริฐ สมบัติใดในโลกจะไม่เสมอเหมือนสมบัติคือใจนี้

ก่อนที่เราจะหาสมบัติอื่น เราต้องพยายามรักษาสมบัติคือใจและชีวิตร่างกายของเรานี้ไว้ เป็นหลักประธานหรือหลักประกันไว้ก่อน ถ้าอันนี้ดีแล้วสิ่งอื่นๆ ก็เป็นผลพลอยได้ไปตามๆ กัน ยิ่งได้รับการอบรมให้ถูกต้องตามหลักจนถึงความบริสุทธิ์วิมุตติในปัจจุบันจิตด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นผู้เสมอตัว ไม่มีคำว่าได้ว่าเสียอยู่ภายในใจ จึงไม่มีการกล้าการกลัวอะไรทั้งนั้น มีแต่ความจริงล้วนๆ ที่อยู่ภายในใจ นั่นละท่านว่าเสมอตัว

เมืองพอเราจะหาที่ไหนถ้าไม่หาที่จิต เมื่อจิตถึงขั้นพอตัวแล้วไม่อยากอะไรทั้งนั้นแหละ เรื่องการอยากข้าวอยากน้ำ อยากหลับอยากนอน เกี่ยวกับเรื่องของธาตุของขันธ์ สิ่งนี้ยังมีอยู่จะต้องเป็นไปอยู่ตลอดกาลของมัน เมื่ออันนี้หมดความหมายลงไปแล้วสิ่งเหล่านั้นก็หมด ส่วนความอยากของใจเมื่อกิเลสตัณหาอาสวะทั้งมวลหมดไปแล้ว ความอยากจะไม่มี

วันนี้ได้แสดงธรรมะป่าให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายฟัง หากมีการคลาดเคลื่อนด้วยบทแห่งธรรม หรือสำนวนโวหารใดก็ดี ก็หวังว่าได้รับอภัยจากบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ขอความสวัสดีจงมีแก่ทุกท่านเทอญ

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM103.25 MHz

พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก