เทศน์อบรมคณะนักศึกษา
ณ วิทยาลัยครูอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒
วิถีแห่งชีวิต
วันนี้เป็นวันอุดมมงคลที่ต่างท่านที่เป็นนักศึกษา ได้มีโอกาสมาพบปะและฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาตมาจะได้อธิบายให้ฟังตามสมควรแก่เวลา หากมีความพลั้งพลาดด้วยประโยคแห่งธรรมะหรือคำพูดใดๆ ก็ดี หวังว่าคงได้รับอภัยจากท่านผู้ฟังโดยทั่วกัน เพราะอาจารย์ก็เป็นพระป่า โดยมากก็อยู่แต่ในป่า ไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าสังคมที่ท่านนิยมมาแล้วเพียงไร ฉะนั้นการพูดทุกๆ ประโยคอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปได้ จึงขออภัยจากบรรดาท่านนักศึกษาทั้งหลายด้วย
คำว่านักศึกษาก็รู้สึกว่าเป็นที่ซาบซึ้งถึงจิตถึงใจแล้ว เพราะหลักวิชาทุกๆ แขนงที่เราทั้งหลายได้ศึกษามา เป็นเครื่องชี้แนวทางให้เราได้ทราบวิถีแห่งชีวิตหรือความเป็นไปของเราเป็นประจำ เพราะโลกมนุษย์เราไม่เหมือนบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีกฎเกณฑ์มีระเบียบ มีธรรมมีวินัยเป็นเครื่องอยู่อาศัย เป็นเครื่องปกครอง ทำให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าหากปราศจากกฎข้อบังคับหรือระเบียบวินัยแล้ว มนุษย์เราจะทำความกระทบกระเทือนกันยิ่งกว่าบรรดาสัตว์เสียอีก เพราะฉะนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายที่เป็นบรรพบุรุษจึงได้มีกฎเกณฑ์ระเบียบขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ สำหรับให้กุลบุตรสุดท้ายภายหลังได้ประพฤติปฏิบัติดำเนินตามจะเป็นไปเพื่อความราบรื่น
คำว่าหลักวิชาที่เราทุกๆ ท่านได้ศึกษามา ล้วนแต่เป็นหลักวิชาที่ชี้แนวแห่งชีวิตและความประพฤติทุกด้าน ให้เป็นไปเพื่อความเรียบร้อยราบรื่นแก่ตัวของเราและสังคมทั่วๆ ไป นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอีกด้วย เพราะการศึกษาด้วยดีนี้ เพราะเราเมื่อได้รับการศึกษาด้วยดีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะทำอันเป็นไปในเข็มทิศแห่งการศึกษานี้ ย่อมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่พลั้งพลาด การศึกษาจึงเป็นของดีที่เราทุกๆ ท่าน จะต้องมีความรักในการศึกษา การศึกษานั้นเป็นภาคที่ให้เรารู้วิธีดำเนินและประพฤติปฏิบัติอย่างไร ต่อจากนั้นก็เป็นภาคปฏิบัติ เมื่อเราเรียนแล้วไม่ปฏิบัติตาม สิ่งที่เรียนมาก็เป็นโมฆะไม่ค่อยจะได้รับประโยชน์เท่าที่ควร เพราะฉะนั้นภาคการศึกษากับภาคปฏิบัติท่านจึงให้เป็นคู่เคียงกันไป
เวลานี้เรากำลังมารับการอบรมศึกษา เพื่อรู้วิธีปฏิบัติ เช่นเราจะดำเนินไปในทางสอนคน เช่นสอนเด็ก คือเราเป็นครู เราจะต้องรู้วิธีและวิชาที่จะนำไปสอนเด็กด้วย ความรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเด็กเราจะต้องทราบไว้ทุกระยะทาง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เป็นไปเพื่อความราบรื่นและดีงามสำหรับเด็ก ก่อนที่เราจะเป็นผู้ใหญ่จำเป็นต้องเป็นเด็กไปก่อน คือได้รับการศึกษาให้เป็นไปพอสมควร ซึ่งท่านทั้งหลายก็ดำเนินไปตามทางแถวนั้นเหมือนกัน ฉะนั้นจงเป็นผู้ตระหนักในการศึกษา ๑ ในภาคปฏิบัติ ๑ ทั้งสองประเภทนี้ถ้าหากว่าแตกแยกกันแล้ว การงานจะไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
เพราะเหตุใดเล่า เพราะว่าคนเรามีตั้งแต่ความรู้แต่ไม่มีการงาน ผลของงานก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อความรู้มีแล้วด้วย การประกอบหน้าที่การงานต้องเป็นไปตามเข็มทิศคือความรู้วิชาที่ศึกษามาด้วย ผลของงานก็ตกออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่อย่างไรก็กรุณาอย่าได้ลืมว่าธรรมกับโลกนั้นเป็นของที่แยกกันไม่ได้แต่ไหนแต่ไรมา คำว่าธรรมหรือคำว่าศาสนา บางท่านอาจจะไม่เข้าใจเท่าไรนัก เพราะไม่มีโอกาสที่จะศึกษาเล่าเรียนในทางนั้น เนื่องจากเวล่ำเวลาไม่ค่อยเพียงพอ ดังนั้นในโอกาสนี้จะขออธิบายให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ทราบเท่าที่ควร
คำว่าธรรม หรือคำว่าโลกกับธรรมนั้น เป็นความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน คำว่าโลกก็คือหมู่คน จะอยู่โดยลำพังคนเดียวก็ตาม หลายคนก็ตาม ที่มีอาชีพต่างๆ กัน ตามเรื่องของคนที่เป็นฆราวาสเหย้าเรือน นี่ท่านเรียกว่าโลก เมื่อรวมกันเป็นกลุ่มแล้วเรียกว่าโลก คำว่าธรรมนั้น ได้แก่ข้อประพฤติปฏิบัติที่โลกหรือบุคคลแต่ละคนจะนำไปประพฤติ เมื่อแปลให้ได้ความแล้ว ธรรมแปลว่าสิ่งที่ดีงามคือการกระทำก็ดี การพูดก็ไพเราะเพราะพริ้ง การคิดทางด้านใจก็ไม่เป็นไปเพื่อความอิจฉาบังเบียดเป็นต้น หรือในทางที่เรียกว่าธรรม
เราผู้อยู่ในโลกก็เหมือนกับเราอยู่ในธรรม เพราะความสุขความเจริญเป็นสิ่งที่เราทุกๆ คนต้องการ แต่ไม่ทราบจะปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง จึงจะให้ถูกกับความต้องการของตน ข้อนี้ต้องได้รับการศึกษา ส่วนสำคัญก็คือธรรม ถ้าหากว่าเป็นขนมก็ต้องมีน้ำสำหรับเชื่อมให้มีรสมีชาติ นี่ธรรมะก็เหมือนกัน แม้จะมีความรู้มากมายในทางโลกที่เราเรียนมา แต่ถ้าขาดธรรมะแล้วก็เหมือนกับว่าขนมบางประเภทที่ขาดน้ำเชื่อม ย่อมไม่มีรสอร่อยพอที่จะรับประทาน ธรรมะย่อมมีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน ยิ่งสมัยทุกวันนี้มีคนจำนวนมากและมาจากสถานที่ต่างๆ รวมกัน เรื่องขนบธรรมเนียมความประพฤติทุกด้านก็ย่อมเป็นเหตุให้คละเคล้ากันไป หากผู้ที่ไม่ได้คิดอ่านไตร่ตรองและผู้ไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้งน้ำใจด้วยแล้ว จะเป็นเหตุให้เสียได้อย่างรวดเร็ว
อุปมาแล้วก็เหมือนกันกับรถที่มีแต่คันเร่งอย่างเดียว ไม่มีเบรกซึ่งควรจะใช้ในกาลที่จำเป็น ตามธรรมดาของรถที่ตกเข้ามาในเมืองไทยของเราก็ดี จะตกมาในเมืองไหนก็ดี หรือจะมาจากเมืองใดก็ดี เขาย่อมทำให้ครบมูลทุกส่วนของรถ ควรแก่การขับขี่ได้อย่างสะดวกสบาย สำคัญอยู่ที่ผู้ขับรถจะเป็นบุคคลเช่นใดเท่านั้น นี้เราก็เป็นคนหนึ่งซึ่งเทียบกับคนขับรถ ที่จะดัดแปลงตนเองเป็นเช่นเดียวกับบุคคลที่ขับรถให้เป็นไปเพื่อความราบรื่น ตามธรรมดาของรถทุกๆ คันย่อมมีทั้งคันเร่งและเบรกพร้อมกันเสร็จ ผู้ที่จะขับขี่ไปในทางใดต้องการความรวดเร็วหรือช้า หรือจะหยุดพัก เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เครื่องที่จะบังคับมีอยู่ภายในรถนั้นเสร็จ นอกจากเจ้าของจะปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักของผู้ขับรถเท่านั้น นี่เป็นหลักสำคัญ
เราที่เป็นคนขับรถต้องเป็นผู้ระมัดระวัง ไม่เพียงแต่ว่าเป็นถนนหนทางแล้วก็เหยียบคันเร่งเรื่อยไปเท่านั้น บางทีรถอาจสวนมา บางทีคนหรือสัตว์เดินตัดหน้าก็มี แล้วบางทีเป็นที่ๆ มีคนสี่แยกซึ่งควรจะรอควรจะหยุดรถอะไรทำนองนี้ เราต้องได้ระวัง ตาก็ต้องดี จิตใจก็ต้องได้คิดอยู่เสมอ มีความระเวียงระวัง ไม่เช่นนั้นก็เป็นอันตราย เรื่องเบรกกับคันเร่งและพวงมาลัยเราจะเผลอไปไม่ได้ ในกาลเช่นไรซึ่งควรจะใช้สิ่งทั้ง ๓ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องได้นำมาใช้ทันที เมื่อเป็นเช่นนั้นรถที่เราขับขี่ไปก็เป็นไปเพื่อความสะดวกและปลอดภัย
ข้อนี้เป็นเครื่องเทียบอุปมาให้เราท่านทั้งหลายได้ทราบว่า การครองตัวที่จะให้เป็นไปเพื่อความราบรื่นในโลกที่มีคนจำนวนมากและมีขนบธรรมเนียมต่างๆ กัน เราต้องมีทั้งพวงมาลัย คือการมองซ้ายมองขวา เรียกว่าการไตร่ตรองด้วยความคิดอ่านที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ การยับยั้งตัวไม่ให้ผลุนผลันไปตามสิ่งที่มายั่วยวน อันจะทำตัวให้มีความเสียหาย และคันเร่งได้แก่รีบประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปในทางที่ดี มีความขยันหมั่นเพียรต่อหน้าที่การงาน สิ่งใดที่จะเป็นหายนะทั้งแก่ตนและส่วนรวมตลอดครอบครัวและวงศ์สกุล สิ่งนั้นให้เราทราบว่าเป็นเหมือนยาพิษเครื่องสังหารตนทั้งผู้อื่นด้วย นี่เรียกว่าหลักวิชาที่เราเรียนมา เมื่อเราเรียนมาแล้วเราต้องปฏิบัติตัวให้ดีเช่นนี้
ถ้าหากว่าขาดธรรมะคือ การยับยั้ง การไตร่ตรองหาเหตุผลที่ควรหรือไม่ควรแล้ว ความรู้วิชาที่เรียนมามากน้อยนั้น ไม่สามารถที่จะทำประโยชน์ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีธรรมะนั้นได้เลย เพราะฉะนั้นธรรมะจึงเปรียบเหมือนกับว่าคันเร่งของรถ เบรกของรถ พวงมาลัยของรถ เราเป็นผู้ขับรถซึ่งมีธรรมทั้ง ๓ ประเภทที่เทียบกับรถนี้แล้ว จะเป็นผู้ดำเนินตนของตนให้เป็นไปด้วยความราบรื่น การปฏิบัติในสิ่งใดและงานใดก็ตาม ไม่ค่อยจะสำคัญยิ่งกว่างานคือการปฏิบัติต่อตนเอง งานนี้เป็นงานสำคัญมาก หากว่าการปฏิบัติต่อตนเองไม่ถูกต้องแล้ว เรียกว่าเราทำงานชิ้นใหญ่ๆ ให้เสียไป งานเล็กงานน้อยงานย่อยๆ ที่ออกไปจากตัวของเรานั้น ไม่สู้สำคัญ ถ้าตัวของเรายังดีอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ สำคัญที่เราซึ่งเป็นต้นเหตุของงานและต้นเหตุแห่งผลของงานนี้ ต้องปฏิบัติตัวให้ดี
เฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในวัยกำลังคึกคะนองนี้ รู้สึกจะเหยียบตั้งแต่คันเร่งกันเสียมากที่เราเห็นทั่วๆ ไป แม้แต่ผู้แสดงคืออาจารย์นี้ก็เคยเป็นมาเช่นนั้นเหมือนกัน ไม่ค่อยจะมีเวลายับยั้งชั่งตัวในวัยเช่นนั้น ต่อเมื่อวัยได้ผ่านไปและเหตุการณ์ได้ผ่านมาผ่านไป สิ่งเหล่านั้นที่เราได้เคยผ่านมาจะมีความเสียหายมากน้อยเราถึงได้พิจารณาทีหลังว่าสิ่งนั้นเราไม่ควรทำ แต่เราก็ได้ทำไปเสียแล้วด้วยความไม่ยับยั้ง หรือด้วยการขาดปัญญา ฉะนั้นความพลั้งพลาดทั้งหลายที่เคยเป็นมาจึงได้นำมาแสดงแก่บรรดาท่านนักศึกษาทั้งหลายให้ทราบไว้ว่า การไตร่ตรองเสียก่อนแล้วค่อยไปค่อยมา ค่อยทำค่อยพูดนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
เพราะความอยากของเรานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเวลาบกพร่อง ถ้าเป็นน้ำแม้ว่าน้ำในมหาสมุทรก็ยังมีเวลาลดหย่อนผ่อนตัวลงตามกาลของมัน แต่ความอยาก ความทะเยอทะยาน ความไม่รู้จักยับยั้งชั่งตัวซึ่งมีอยู่ในหัวใจของเราแต่ละท่านๆ นี้ รู้สึกจะไม่มีวันลดหย่อนผ่อนผัน หากได้รับการส่งเสริมด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะทวีคูณขึ้นเป็นลำดับ การส่งเสริมนั้นคืออย่างไร คือการปล่อยหรือคล้อยตามใจทุกอย่างโดยไม่มีเหตุผลไม่มีการยับยั้งตัวบ้าง นี้เรียกว่าปล่อยตามใจ วันนี้เราปล่อยขนาดนี้ วันหน้าหรือกาลต่อไป ใจซึ่งได้รับการส่งเสริมในการปล่อยตัวเช่นนี้ จะมีกำลังมากขึ้นและชอบประพฤติตามใจตัว โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีจนทวีคูณขึ้นเป็นลำดับๆ จากนี้แล้วก็ไม่สามารถที่จะกั้นกางหวงห้ามไว้ได้ ถ้าเป็นน้ำก็เทียบเหมือนกับน้ำมหาสมุทร ไม่มีใครจะสามารถไปทำทำนบกั้นไว้ได้เลย
ใจที่มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมลืมตัวเพราะการปล่อยตามใจวันละเล็กละน้อย ย่อมเป็นไปเพื่อความเสียหายจนถึงขั้นล่อแหลมต่ออันตรายหรือขั้นหมดหวังในคุณค่าของตัวก็ได้ ฉะนั้นเราทุกๆ คนจึงควรสำนึกในตัวประธาน ได้แก่ตัวของเรา นี่เป็นหลักใหญ่ของความเจริญและความเสื่อม เป็นหลักใหญ่ของหน้าที่การงานและผลของงาน ถ้าเราตั้งหลักนี้ไว้ด้วยดีแล้ว งานก็จะเป็นไปเพื่อความเรียบร้อย และผลของงานก็จะมีความเจริญและชุ่มเย็น เราได้สิ่งใดมา ด้วยการชอบธรรมหรือด้วยความชอบธรรมด้วยการปฏิบัติตัวของเราดี สิ่งนั้นจะเป็นความชุ่มเย็น สมบัติมีมากน้อยก็เย็นใจ ถ้าหากว่าเราได้ปฏิบัติตัวให้ผิดไปเสียเพียงเท่านี้ แม้ผลของงานอื่นๆ ที่จะปรากฏขึ้นมากน้อย ก็ไม่สามารถที่จะทำใจของเราให้ชุ่มเย็นได้เลย เพราะความเดือดร้อนมีอยู่ที่การกระทำผิดซึ่งเกิดจากตัวเองเพราะการขาดการไตร่ตรอง
ฉะนั้นหลักธรรมของพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไว้ว่า นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ทุกสิ่งทุกอย่างขอให้ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วค่อยทำลงไป แม้จะมีความผิดพลาดก็มีจำนวนน้อย ไม่ค่อยจะผิดไปเสียเลยทีเดียว การเลือกเฟ้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่นเราจะปลูกบ้าน ปลูกตึกปลูกตลาด ทำเลค้าขายก็ตาม จะปลูกบ้านเรือนหรือทำเป็นไร่เป็นนาก็ตาม เขาจะต้องเลือกเฟ้นด้วยดีว่า นี้เป็นทำเลเช่นไร หากว่าปลูกตึกรามบ้านช่องหรือจะสร้างตลาด เขาจะต้องหาทำเลที่เหมาะว่าเป็นที่รวมแห่งชุมนุมชนทั้งหลาย แม้จะปลูกร้านขายผลิตสินค้าก็ตาม เขาจะต้องเลือกสถานที่ ว่าเป็นทำเลเช่นไรเมื่อปลูกไปแล้วจะขาดทุนหรือมีกำไร จะมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปข้างหน้าไหม เขาต้องเลือกเฟ้นเสียก่อน แม้ที่จะมีราคาแพงบ้างก็ยอมซื้อ เพราะเห็นผลประโยชน์ที่จะเกิดจากสถานที่นั้นแล้วด้วยดี
การเลือกเฟ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่เลือกเฟ้น เห็นเขาทำเราก็ทำ เห็นเขาไปเราก็ไป โดยไม่คิดอ่านไตร่ตรองเสียก่อนแล้วค่อยทำนี้ อาจจะเป็นความเดือดร้อนในภายหลังก็ได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่าให้เลือกเฟ้นเสียก่อนค่อยทำ ให้เราคิดดูแม้แต่อาหารในสำรับที่ยกเข้ามาถึงที่และเป็นอาหารที่สำเร็จรูปเรียบร้อยแล้ว ควรแก่การรับประทานอย่างเต็มที่ เรายังต้องได้เลือกดูว่าอาหารประเภทใดถูกกับธาตุขันธ์และแสลงกับโรค นอกจากนั้นยังต้องเลือกเฟ้นว่าอาหารในถ้วยในชามนี้ มีอะไรบ้างที่จะเป็นพิษภัยต่อร่างกาย ก็คือกระดูก ก้าง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นภัย เราจะต้องเลือกเฟ้นและเก็บออกให้หมด จะรับประทานทั้งสิ่งเหล่านี้เลยนั้นไม่ได้ อาจเป็นภัยต่อร่างกาย อย่างมากถึงตายก็ได้ นี่เพราะความไม่ใคร่ครวญไม่เลือกเฟ้น
เพราะฉะนั้นธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราทุกๆ ท่านที่มีความมุ่งหวังความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนและส่วนรวม ต้องเป็นผู้ตระหนักในหลักธรรม เราอย่าเห็นว่าธรรมกับเรานั้นเป็นคนละอย่างและห่างเหินจากกันโดยไปอยู่คนละโลก ไม่ใช่เช่นนั้น ความสุขเราก็ต้องการ ความเจริญความสวยงามความเรียบร้อยทุกอย่างเราต้องการด้วยกัน แม้จะเป็นโลกไหนก็ตาม ความมุ่งหวังเหล่านี้ย่อมตรงกัน เข็มทิศทางเดินที่จะให้เป็นไปเพื่อความสมหวังดังที่กล่าวนี้คืออะไร นอกจากหลักธรรมะที่จะชี้ให้ถูกจุดแห่งความสมหวังนี้ รู้สึกจะไม่ค่อยมี ท่านสอนไว้ในหลักธรรมทั่วๆ ไปเพื่อคนทุกๆ ชั้นจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเพศและวัยของตนมี ๔ ข้อ คือ
๑ ฉันทะ ให้มีความพอใจในการงานที่เราจะต้องทำ เช่นเดียวกับเรามีความพอใจในผลของงานมีเงินเป็นต้น
๒ วิริยะ ให้มีความขยันหมั่นเพียรต่อหน้าที่การงานของตนที่ทำอยู่นั้น จนกว่าจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยความสวัสดี สมกับว่าเรามีความต้องการผลของงานมีเงินเป็นต้น
๓ จิตตะ มีความฝักใฝ่ต่อหน้าที่การงาน เช่น เราเรียนหนังสือเราก็มีฉันทะความพอใจในการเรียน วิริยะ พยายามเรียนอยู่เสมอ สูตรใดที่ควรจะท่องบ่นจดจำให้ขึ้นปากขึ้นใจจดจำจนได้ จิตตะคือความฝักใฝ่ในหลักวิชาของเรา
๔ วิมังสา ให้ไตร่ตรอง ความหมายแห่งสูตรนั้นๆ ว่ามีความหมายลึกตื้นแค่ไหน มีกี่แยกกี่แขนงที่จะแยกไปจากหลักสูตรข้อนั้นๆ เราต้องพิจารณาตรวจตราดูด้วยปัญญา
นี่เป็นรากฐานแห่งความสำเร็จ หรือเป็นพื้นเพอันใหญ่โตแห่งความสำเร็จของผู้มุ่งต่อผลของงานนั้นๆ ท่านสอนไว้ ๔ ประเภท คือ ฉันทะ คือความพอใจ วิริยะความขยันหมั่นเพียร จิตตะความพอใจฝักใฝ่ต่องานของตน วิมังสาจะทำอะไรให้ไตร่ตรองเรียบร้อยเสียก่อน แล้วจะสำเร็จลงด้วยความสมใจของเรา นี่ท่านก็เรียกว่า ธรรมะ เราจะหาธรรมะที่ไหนนอกจากตัวของเรา ผู้กำลังมุ่งความสุขความเจริญอยู่เวลานี้ ธรรมะก็คือเครื่องทรงไว้ ทรงอะไรไว้เล่า คนที่รักความสุข รักความดี ผู้นั้นต้องเป็นผู้มีความสนใจต่อการทำดี ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา และทางใจ ผลคือความสุขความเจริญก็ต้องทรงไว้ซึ่งบุคคลผู้นั้น
นี้แปลย่อๆ ให้ท่านนักศึกษาทั้งหลายได้ทราบ ว่าศาสนากับเรานั้นแยกกันไม่ออก เพราะเหตุใด เพราะศาสนาท่านชี้ลงในจุดที่มนุษย์ต้องการทั้งนั้น ไม่ได้ชี้นอกเหนือไปจากความต้องการของโลกอันชอบธรรมเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นศาสนากับเราจะแยกกันได้อย่างไร
ความสุขไม่ว่าทางกายไม่ว่าทางใจเราต้องการ เมื่อต้องการความสุขความเจริญ ไม่ว่าจะเจริญทางจิตใจและเจริญทางโภคทรัพย์สมบัติเงินทอง ต้องเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดความทน หนักก็เอาเบาก็ทำ ไม่ลดละความเพียร ไม่ให้มีความเกียจคร้าน นี่ท่านเรียกว่าธรรม ประการหนึ่ง
อุฏฐานสัมปทา ให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ตื่นดึกลุกเช้า ทำงานให้ตรงต่อเวล่ำเวลา อย่าโกหกตนเองต่อหน้าที่การงานจะทำให้เคยตัว ท่านสอนอย่างนี้ คนที่มีความขยันหมั่นเพียรจะหาทรัพย์สมบัติประเภทใดย่อมได้ตามใจหวัง
อารักขสัมปทา เมื่อผลของงานเกิดขึ้นจากความขยันหมั่นเพียรที่เราทำได้แล้ว ให้เก็บหอมรอมริบ อย่าเป็นผู้สุรุ่ยสุร่าย จับจ่ายจนหมดไม่มีอะไรเหลืออย่างนี้ เรียกว่าเป็นผู้สุรุ่ยสุร่ายเกินไป ท่านสอนไว้ว่าทรัพย์สมบัติที่ได้มาด้วยความชอบธรรมของเรานั้น จะมากน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ผู้เป็นเจ้าของนั้น จะต้องเก็บรักษาหรือจะจับจ่ายไปทางใดบ้างด้วย ต้องเอาเหตุผลเข้าไปค้ำประกัน คือเราจะจ่ายแม้แต่สตางค์แดงหนึ่งขึ้นไป เราต้องมีเหตุผลว่าจ่ายไปเพราะเหตุไร เท่านั้นบาทเท่านี้สตางค์เราต้องมีเหตุผลไว้เสมอ ถ้าหากไม่มีเหตุผลแล้วทรัพย์สมบัติมีมากเท่าไรก็ตาม จะหมดไปสิ้นไปโดยไม่กี่วันกี่เวลาเลย
เมื่อกี้นี้ได้อธิบายถึงเรื่องอารักขสัมปทา คือให้ถึงพร้อมด้วยการเก็บรักษาทรัพย์สมบัติที่เกิดขึ้นด้วยความชอบธรรมของตน อย่าเป็นผู้สุรุ่ยสุร่ายจ่ายไปไม่รู้จักประมาณ ทรัพย์หมดไปใจก็เสียไปด้วย ทรัพย์รั่วไหลเนื่องไปจากใจของเราที่รั่ว ไม่มีประมาณในตนเอง นี่เป็นหลักสำคัญ ฉะนั้นการรักษาทรัพย์ภายนอกกับรักษาใจของเราผู้เป็นเจ้าของนี้ การรักษาใจรู้สึกจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าการรักษาทรัพย์ ถ้าเรารักษาระดับใจของเราให้คงที่ดีงามควรแก่เหตุผลทุกด้านแล้ว การจ่ายทรัพย์แม้จะจ่ายมากน้อย ย่อมเสียไปด้วยมีเหตุผลและเป็นประโยชน์สำหรับตัวของผู้จ่าย แต่ถ้าจ่ายโดยนิสัยที่เป็นคนสุรุ่ยสุร่ายด้วยแล้ว ทรัพย์สมบัติแม้จะเสียไปมากมายเพราะการจับจ่าย แต่ผลประโยชน์ที่จะพึงได้รับไม่ค่อยมี นี่เราควรจะสำนึกตัวของเราผู้เป็นเจ้าของแห่งสมบัติทั้งมวลไว้ให้มาก
การรักษาใจให้อยู่ในระดับที่ดีงาม นี่เป็นการรักษาทรัพย์โดยตรง ถ้ารักษาใจได้แล้วจนเคยชินต่อนิสัย ทรัพย์สมบัติมีมากน้อยเก็บไว้ก็อยู่ จ่ายไปก็เป็นประโยชน์ การรักษาใจไม่ให้เป็นคนใจรั่วนี้เป็นการรักษายาก ฉะนั้นขอให้ทุกท่านได้สนใจในการรักษาตัว คนเราจะเสียไปในทางใด เนื่องจากใจที่ได้รับการศึกษาอบรมมากน้อยต่างกัน หรือไม่ได้รับการศึกษาอบรมเลย นี่ก็เป็นข้อที่เราจะควรคิด การรักษาสิ่งใดไม่เหมือนรักษาตัวของเรา ถ้ารักษาตัวของเราดีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อยดีไปตาม เป็นเพื่อนหญิงเพื่อนชายที่มาคบค้าสมาคมกับเราก็เป็นคนที่ดี
ในข้อหนึ่งได้อธิบายถึงเรื่องอุฏฐานสัมปทา คือให้มีความขยันหมั่นเพียร อย่าหัดเป็นคนเกียจคร้านต่อหน้าที่การงานที่ควรทำ ข้อที่สองอารักขสัมปทา ให้ถึงพร้อมด้วยการเก็บรักษาทรัพย์ที่เกิดขึ้นมีขึ้นภายในตน ข้อที่สามสมชีวิตา คือการจ่ายทรัพย์ให้พอเหมาะสมกับการใช้สอย คือความเป็นอยู่ของตน วันหนึ่งมีความจำเป็นขนาดไหนเราก็จับจ่ายใช้ทรัพย์เท่าที่ความจำเป็นเท่านั้น ไม่จ่ายให้เลยนั้นไป ท่านเรียกว่าสมชีวิตา การเลี้ยงชีพให้พอเหมาะสมไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก การฝืดเคืองทั้งๆ ที่ทรัพย์เครื่องสนองมีอยู่ แต่เราไม่ทำให้พอเหมาะพอควรอย่างนี้ ก็เกิดความเดือดร้อนแก่เราและครอบครัวเหมือนกัน การจ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุร่ายจนกลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไปในครอบครัวก็ไม่ดี จะเป็นนิสัยที่เรียกว่านิสัยใจรั่ว เก็บอะไรไว้ไม่อยู่
เช่นเดียวกับตะกร้า เราลองเอาไปตักน้ำ ไม่ว่าน้ำในลำคลอง ไม่ว่าน้ำในบึงในบ่อ ไม่ว่าน้ำในมหาสมุทรทะเล ตะกร้าตักลงไปที่ตรงไหน น้ำจะไม่มีขังอยู่ในตะกร้านั้นเลย เพราะตะกร้านั้นรั่วหรือภาชนะรั่วก็เช่นเดียวกัน ใจที่รั่วก็ย่อมเป็นเช่นนั้น เก็บอะไรที่ดีงามไว้ไม่อยู่ นอกจากของชั่วเท่านั้นมีเท่าไรอยู่จนหมด เราควรจะสนใจในจุดนี้ให้มาก นิสัยของคนที่ใจรั่วแล้วแม้จะได้เงินทองมาวันละหมื่น ละแสน ละล้าน ก็ไม่มีความหมาย เพราะใจมันรั่วได้มาเท่าไรก็หายไปหมดๆ
ความใจรั่วจึงไม่ใช่เป็นของดี จะทำความเดือดร้อนวุ่นวายแก่เราและตัดความเจริญในอนาคตของเราด้วย นอกจากความใจรั่วเกี่ยวกับเรื่องการเก็บทรัพย์แล้ว ยังจะใจรั่วไปทุกแห่งทุกหนตลอดถึงการคบค้าสมาคมกับบุรุษหญิงชายไม่ว่าวัยใด อาจจะเป็นคนใจรั่ว เป็นคนใจง่ายจับจ่ายหายไปโดยไม่มีเครื่องตอบแทนก็เป็นได้ เพราะความใจง่ายนี้ไม่ดี มีอยู่ในผู้ใดผู้นั้นจะเป็นคนด้อยราคา ไม่ค่อยมีคุณค่าเท่าที่ควร และขอเน้นในคำว่าใจรั่วนี้ให้ท่านนักศึกษาทั้งหลายได้ทราบ และเห็นโทษของมัน ให้เราคิดดูว่าหม้อรั่วก็ใช้งานใช้การไม่ได้ แม้แต่ยางรถจักรยานของเรารั่ว ก็ขับขี่ไปไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าขาดถ้ารั่วแล้วก็เริ่มจะทำลายตัวของมัน ใจของเราถ้าเริ่มรั่วก็เรียกว่าจะเริ่มทำลายตัวเองนี่เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ารั่วมากก็ทำลายตัวเองให้ไม่มีคุณค่าในตัวของเรา ฉะนั้นจึงกรุณาได้พากันรักษาระดับจิตของเราไว้ให้ดี
เฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้กำลังเข้าหัวเลี้ยวหัวต่อ คนก็มีจำนวนมาก การคบค้าสมาคมก็ต้องเป็นไปโดยลำดับๆ เพราะความจำเป็นบังคับ เนื่องจากหน้าที่การงานเกี่ยวข้องกัน เราจะอยู่โดยลำพังคนเดียวก็ไม่ได้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ทุกด้านต้องเกี่ยวข้องกับสังคม เราจะปฏิบัติอย่างไรให้เข้ากับสังคมได้โดยราบรื่นแต่เราไม่เสียคน นี่เป็นหลักสำคัญที่เราจะต้องนำไปพินิจพิจารณาทุกๆ ท่าน เพื่อให้สังคมเป็นไปเพื่อความราบรื่น ตัวของเราก็เป็นไปเพื่อความปลอดภัยไม่มีอันใดเสีย เพราะหลักวิชาคือ ธรรมะ แทรกสิงภายในหัวใจ ถ้าเป็นรถก็เรียกว่ามีทั้งเบรก มีทั้งคันเร่ง มีทั้งพวงมาลัย ทำผู้โดยสารให้มีความปลอดภัย
นี่เราก็กำลังดำเนินไปอยู่ทุกๆ ระยะที่เกี่ยวกับการครองชีพ เกี่ยวกับสังคม เราจะปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะเป็นไปเพื่อความปลอดภัย นี่เป็นหลักใหญ่ที่เราจะต้องขบคิด ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเดือดร้อนในภายหลัง เราอย่าเห็นสิ่งใดว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าตัวของเรา ถ้าหากว่าตัวของเราได้เสียไป แม้เงินจะมีจำนวนล้านๆ ก็ไม่ค่อยมีผล เช่นเดียวกับปลูกบ้านปลูกเรือนให้คนตายอยู่ จะปลูกสักกี่ชั้น ประดับประดาด้วยความสวยงาม ก็ไม่เห็นมีคุณค่าอะไรสำหรับบ้านแห่งคนตายหลังนั้น นี่ก็เหมือนกันสมบัติเงินทองที่มีมาจำนวนมาก ความรู้ที่เรียนมามากๆ แต่มาประดับคนที่ไม่มีคุณค่าคือ คนเหลวไหล คนเหลวแหลก คนใจรั่ว คนหลักลอย ก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเช่นเดียวกัน
เพราะหลักวิชาที่เรียนมาทุกๆ แขนง ก็เพื่อประดับตัวของเราให้มีความสง่าราศีและความปลอดภัย ความราบรื่นดีงามในการประพฤติปฏิบัติต่อตนเองและสังคม ตลอดความเป็นอยู่คือชีวิตจิตใจให้เป็นไปวันหนึ่งๆ มีความสะดวกสบาย หลักวิชาเป็นเครื่องเสริมคนให้ดีทั้งนั้น ไม่มีหลักวิชาแขนงใดที่เรียนมาแล้วหรือที่สอนให้คนทำความฉิบหายแก่ตนเอง ไม่มี นอกจากจะเสริมคนให้มีความรู้ ความฉลาด ในการปฏิบัติต่อตัวเองเพื่อความปลอดภัยและราบรื่นเท่านั้น
ในข้อที่สามได้อธิบายผ่านไปแล้ว ข้อที่สี่ กัลยาณมิตตตา การเลือกคบเพื่อนหญิงชาย ที่สมควรหรือไม่สมควร ก็เป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง เพราะคนเราโดยลำพังตัวเองอยู่คนเดียวความเสียหายย่อมมีน้อย ความเจริญก็มีน้อยเหมือนกัน แต่จะให้เกิดความเจริญหรือเสื่อมเสียนั้น ย่อมเกี่ยวกับสังคมคือหมู่เพื่อน การคบค้าสมาคมกับสังคมและหมู่เพื่อนหญิงชาย เราต้องเลือกเฟ้นภายในใจของเราด้วยดี ว่าการคบค้าสมาคมกับใครแล้ว จะเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง หรือจะเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองต่อไปทั้งตนและผู้มาเกี่ยวข้อง เราต้องเลือกเฟ้นด้วยดี ไม่เช่นนั้นเมื่อหลวมตัวเข้าไปแล้วแก้ไขยากหรืออาจไม่มีทางแก้ไข แล้วถลำไปเลยก็ได้ ท่านจึงสอนว่าให้เลือกเฟ้นในการคบค้าสมาคมกับเพื่อนหญิงชาย อย่าเห็นแก่ว่าเป็นเพื่อนแล้วก็คบไป
เรื่องนิสัยใจคอเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อซึมซาบกันไปวันละเล็กละน้อยหรือคละเคล้ากันไปวันละเล็กละน้อยก็กลายเป็นหนึ่งอันเดียวกันได้ ในหลักธรรมท่านสอนไว้ว่า อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา อย่าคบคนพาลสันดานหยาบ ให้คบบัณฑิตนักปราชญ์ ซึ่งเป็นทางหนึ่งให้เกิดมงคล ดังนี้ คำว่าคนพาลนั้นมีสองประเภท คือคนพาลได้แก่คนชั่ว ภายนอกดี ความชั่วความคิดที่ไม่ดีไม่งามภายในของตนหนึ่ง คนชั่วอยู่ภายนอกเรายังพอหลบหลีกได้ ความชั่วคือความคิดที่ไม่ดีไม่งาม ผลักดันให้เราคิดหาทางเสื่อมเสียแก่ตนของตนซึ่งเกิดอยู่ตลอดเวลาภายในใจนี้ รู้สึกว่าจะเลือกเฟ้นและหลีกเลี่ยงได้ยากที่สุด ฉะนั้นเราควรจะสนใจในจุดนี้ เรามองเห็นคนไม่ดีภายนอกเรายังไม่พอใจ ไหนจะมาเจอเอาตัวของเราเสียเอง ซึ่งเป็นคนไม่ดีทั้งความประพฤติ กายวาจาใจทุกด้านนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คัดเลือก หรือให้เลือกเฟ้นบุคคลที่จะควรคบค้าสมาคมก่อนแล้วคบค้าสมาคมไป ท่านให้เลือกเฟ้นเสียก่อน ไม่ให้คบค้าสมาคมแบบสุ่มสี่สุ่มห้า อย่างนั้นใช้ไม่ได้จะทำให้เราเสีย เรื่องอนาคตของเรายังมีคุณค่ามากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้ เราจะปรับปรุงตัวของเราเพื่ออนาคตต้องปรับปรุงหลักปัจจุบันไว้ให้ดี คือปรับปรุงตัวของเราในวันนี้ให้ดี วันพรุ่งนี้ก็ให้เป็นคนดีเช่นเดียวกัน เดือนหน้าปีหน้าตลอดอวสาน เมื่อเราปรับปรุงหลักปัจจุบันคือตัวของเราให้อยู่ในกรอบแห่งเหตุผลและศีลธรรมแล้ว เราจะเป็นคนเจริญรุ่งเรืองมั่นคงและเชื่อตนเองได้ตลอดถึงอนาคต ไม่ปรากฏเป็นความเสียหายเกิดขึ้นในหลักปัจจุบันที่รักษาไว้ด้วยดีนี้ได้เลย
นี่ละหลักธรรมะที่อธิบายให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบ หวังว่าคงจะพอเข้าใจกัน อาจารย์ก็เป็นพระป่าไม่ค่อยจะรู้เรื่องของสังคม ว่ามีความเจริญและเสื่อมไปทางใดบ้าง จึงอธิบายให้ท่านทั้งหลายฟังด้วยแบบสุ่มเดา หากมีความผิดพลาดประการใดก็หวังว่าคงได้รับอภัยจากบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย และต่อจากนี้ไปหากท่านผู้ใดมีข้อข้องใจในเรื่องข้ออรรถข้อธรรมที่จะสนทนาก็ได้ตามกาลเวลา การแสดงธรรมให้บรรดาท่านนักศึกษาทั้งหลายฟังในวันนี้ ก็รู้สึกว่ายังไม่จุใจที่อยากจะแสดง แต่ก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องยุติ ขอความสวัสดีมงคลในสกลโลกจงมีแก่บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายโดยทั่วกัน
รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ
|