เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗
วันงานของธรรม
ตามธรรมดาของวัดทั้งหลายและชาวบ้านในที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดกับวา วันพระในครั้งพุทธกาลตลอดมา ถือวันพระเป็นวันว่างการว่างงาน เพื่อน้อมนำอรรถธรรมบุญกุศลผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่เข้าสู่ภายในจิตใจ วันเช่นนั้นให้เป็นวันว่างของงานภายนอก งานยุ่งเหยิงไม่มีเวล่ำเวลา รวมเข้ามาเป็นวันพระให้เป็นวันงานของธรรม เพราะจิตใจไม่ค่อยได้ดื่มอรรถดื่มธรรม มีตั้งแต่ยาพิษสุมอยู่ตลอดเวลาหายาแก้ไม่มี อรรถธรรมเป็นเครื่องแก้ยาพิษทั้งหลาย เพราะฉะนั้นท่านจึงมีกำหนดกฎบัญญัติขึ้นมาว่า วันพระ เช่นวัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ วัน ๑๔-๑๕ ค่ำ เป็นวันอบรมอรรถธรรมเข้าสู่ใจ
วันนั้นเป็นวันที่ใจได้รับอรรถรับธรรม เป็นอาหารอันโอชาเลิศเลอเข้าสู่ใจ นอกนั้นก็เป็นเรื่องของร่างกายและจิตใจที่เต็มไปด้วยความไม่ดีทั้งหลาย เที่ยวดึงดูดเอาสิ่งไม่ดีเข้ามาสู่ตน แทนที่จะเป็นอรรถเป็นธรรมก็กลายเป็นยาพิษเข้ามาสู่ใจ ใจจึงมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายเพราะเป็นยาพิษ ธรรมคือความสงบเย็นใจจึงไม่ค่อยมี ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงให้ถือวันพระเป็นวันว่างงาน ว่างอารมณ์ทั้งหลายที่คิดในแง่ต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นพิษเป็นภัยต่อจิตใจมาดั้งเดิม
วันพระท่านให้เสียสละอารมณ์เหล่านั้น และทั้งกายของเรา หน้าที่การงานที่เกี่ยวกับสิ่งภายนอกคือทางโลกทางสงสาร ให้สละปล่อยวางเข้ามาสู่อรรถสู่ธรรม ก้าวเข้ามาสู่วัดก็ระลึกถึงวัด ถึงพระเจ้าพระสงฆ์ เข้ามาในวัดกิริยาอาการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็เป็นศีลเป็นธรรมขึ้นมา จิตใจก็มีความชุ่มเย็นไปด้วยอรรถด้วยธรรม เช่นได้ยินได้ฟังอรรถธรรมท่านแสดงว่า วันพระหนึ่งๆ ในวัดทั้งหลายท่านจะถือเป็นวันประชุมบรรดาพุทธบริษัทเข้าไปฟังอรรถฟังธรรม รักษาศีลในวันเช่นนั้นประจำทั่วประเทศไทยของเรา เป็นแต่เพียงว่ามีมากมีน้อยต่างกัน ส่วนวันพระนี้มีประจำในที่ต่างๆ สำหรับประชาชนจะได้สละเวล่ำเวลาไปบำเพ็ญคุณงามความดี นี่ถือเป็นคติอันดีงามของชาวพุทธเรามาตลอด
ให้มีวันว่าง อย่าให้มีแต่วันยุ่งเหยิงวุ่นวายตลอดไป จิตใจจะหาคุณค่าหาราคาไม่ได้ มีแต่ความรุ่มร้อนตลอดเวลาแม้จะนั่งนิ่งอยู่ก็ตาม คนเรานั่งนิ่งไม่กระดุกกระดิกเป็นเหมือนหัวตอ แต่จิตใจอยู่ภายใน มีลิงอยู่นั้นตั้งร้อยตัวพันตัว มันกระดุกกระดิก มันคิดมันปรุงเรื่องนั้น คว้าสิ่งนี้คว้าสิ่งนั้นอยู่ทั่วขอบเขตจักรวาลมันไปได้หมด จิตแต่ละดวงที่อยู่ในหัวตอคือคนนั่งสงบกายแต่ใจไม่สงบ นี่คือกิเลสออกทำงาน หาตั้งแต่ฟืนแต่ไฟเข้ามาเผาไหม้ตนเอง ทีนี้ทางด้านธรรมะร่างกายก็นิ่ง จิตใจก็มีธรรมเป็นเครื่องอบรม เป็นเครื่องเกาะเครื่องยึด
เช่นเรานั่งฟังธรรม จิตใจก็เอาธรรมเป็นอารมณ์ในเวลานั้น ท่านแสดงไปอย่างไรจิตใจก็รับทราบไปตลอด และกล่อมจิตใจจนเป็นความสงบในเวลานั้น เพราะอารมณ์แห่งธรรมเป็นเครื่องกล่อมใจ ใจมีความสงบ เฉพาะเวลาเรานั่งสมาธิภาวนา กายก็นิ่ง ใจก็มีคำบริกรรม ถ้าใจยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ยึด เช่น สมาธิความสงบใจยังไม่มีก็ให้มีคำบริกรรม นึก เช่น พุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ บทใดก็ได้เป็นธรรมทั้งนั้น เป็นโอสถอันเลิศเลอสำหรับใจ นำเข้ามาบริกรรม มีสติกำกับอยู่นั้น ร่างกายก็นิ่ง ใจก็นิ่งจากอารมณ์อื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับธรรมคือพุทโธๆ นี่ก็เพื่อความนิ่งของใจ
คำว่า พุทโธ คำบริกรรมเป็นอรรถเป็นธรรมนี้ เป็นธรรมที่กล่อมใจ แม้จะบริกรรมอยู่กับคำว่าพุทโธๆ สังขารปรุงว่า พุทโธๆ แต่ใจมีความสงบเย็นเข้ามาเป็นลำดับ ไม่เหมือนสังขารที่ปรุงไปด้วยอำนาจของกิเลส ปรุงไปเท่าไรยิ่งว้าวุ่นขุ่นมัว ขนทุกข์เข้ามาสู่จิตใจตลอดไป อย่างนี้เป็นความทุกข์สำหรับใจ เวลาเป็นความสุขสำหรับใจนั้นก็คือเวลาภาวนา ร่างกายก็นิ่ง จิตใจก็มีคำบริกรรมเป็นอารมณ์ พอจิตเข้าสู่ความสงบแล้วอารมณ์คำว่า พุทโธๆ ก็ค่อยจางไปๆ ใจเป็นความสงบ เด่นขึ้นอยู่ภายในตัว ทีนี้ใจก็นิ่ง ร่างกายก็นิ่ง นั่นเป็นเวลาที่ใจสงบ ท่านผู้ไม่เคยภาวนา พูดอย่างนี้รู้สึกจะไม่เข้าใจเลย แต่ผู้ภาวนา ท่านผู้เป็นภาวนามาแล้ว เช่น พระพุทธเจ้า สาวกอรหันต์ท่าน สอนวิธีภาวนาให้จิตใจสงบ ถ้าใจสงบเสียอย่างเดียวทุกข์ทั้งหลายก็สงบไปตามๆ กัน ถ้าใจไม่สงบเสียอย่างเดียว จะมีอะไรไม่มีความหมายทั้งนั้น เป็นความทุกข์อยู่ภายในใจของเรา
เช่นวันนี้ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงท่านก็เสด็จมาเยี่ยมพี่น้องชาวพุทธเรา ท่านจะมาบำเพ็ญภาวนาเพื่อใจสงบเหมือนกัน ใจสงบก็เป็นธรรม ท่านอุตส่าห์เสด็จมาเป็นขวัญตาขวัญใจ เราได้พบได้เห็นท่าน ได้กราบไหว้บูชาท่านก็เป็นมหามงคลอันหนึ่ง เวลานี้ต่างคนต่างก็พร้อมหน้าพร้อมตากันฟังเสียงอรรถเสียงธรรม ซึ่งเป็นเครื่องกล่อมใจให้มีความสงบเย็นภายในใจ กลับไปถึงบ้านถึงเรือนแล้วก็เอาอารมณ์ของธรรมนี้ติดใจไปด้วย ไปทำหน้าที่การงานใดๆ ก็ให้มีธรรมแทรกอยู่ภายในใจ ใจนั้นจะมีความสงบเย็น ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวกับงานการจนเกินไปที่ไม่มีธรรมแนบอยู่ภายในนั้น
เมื่อกลับไปถึงบ้านถึงเรือนแล้วเราก็ระลึกธรรมอยู่เสมอ เวลาจะหลับจะนอนให้ทำความสงบใจ ใจนี้เมื่อสงบแล้วจะเย็นจะสบาย จะแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นที่ใจ โลกธาตุกว้างแสนกว้างขนาดไหนไม่มีประมาณ แต่หาจุดยืนตัวแห่งความสุขความทุกข์นั้นไม่มี มามีอยู่ที่ใจแห่งเดียว ถ้าจิตใจยุ่งเหยิงวุ่นวายนี้ ความทุกข์ทั้งมวลกว้านมาจากโลกธาตุมาเผาหัวใจดวงเดียวนี้ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาแต่ละดวงๆ โลกนี้เลยกลายเป็นกองฟืนกองไฟของหัวใจสัตว์โลก ที่สั่งสมตั้งแต่ความชั่วช้าลามกมาเป็นฟืนเป็นไฟเผาตน ใครอยู่ในสถานที่ใดมีแต่ฟืนแต่ไฟ ก่อแต่ฟืนแต่ไฟเผาตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใด ใจไม่มีธรรมเสียอย่างเดียวหาความสุขไม่ได้ มีแต่ไฟเผาหัวอก เพราะฉะนั้นท่านจึงสั่งสอนให้อบรมจิตใจ เมื่อจิตใจมีความสงบแล้ว โลกธาตุกว้างแสนกว้าง ความสงบ ความเย็นใจ ความสุขความสบายจะมาปรากฏอยู่ที่ใจแห่งเดียว
สรุปความลงแล้วว่าทุกข์ทั้งมวล สุขทั้งมวลจะมารวมอยู่ที่ใจของเราดวงเดียว ของผู้สั่งสม ทางทุกข์ก็ได้ทุกข์เข้ามา ผู้สั่งสมทางความดีงามก็ได้ความสุขเข้ามาสู่ใจ ใจเป็นภาชนะรับรองความสุขและทุกข์ทั้งหลาย ไม่ใช่ท้องฟ้ามหาสมุทรเป็นผู้รับรองความสุขความทุกข์ อันนั้นเป็นธรรมชาติของเขา เขาไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยว่าเขาเป็นอะไร แต่ใจเราตัวรู้เนื้อรู้ตัวอยู่นี้แหละ เป็นผู้ที่ได้รับความทุกข์และความสุข มารวมอยู่ที่ใจนี้ทั้งหมด ท่านจึงสอนให้อบรมทางด้านจิตใจให้มีอรรถมีธรรม อบรมจิตใจ อารมณ์ของธรรมกับอารมณ์ของโลกนั้นต่างกัน อารมณ์ของโลกเป็นฟืนเป็นไฟ อารมณ์ของธรรมนี้เป็นน้ำดับไฟที่ใจของเราเอง จึงควรให้มีธรรมภายในใจ
เวลาจะหลับจะนอนก็ควรนึกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ ในคำบริกรรมภาวนา และมีสติติดแนบอยู่กับนั้นทุกวันๆ จนชินต่อนิสัย ใจของเราจะสั่งสมความสงบร่มเย็นขึ้นมาที่ใจโดยลำดับลำดา ใจจะสง่างามขึ้นมา ขึ้นมาที่ใจนะ สิ่งภายนอกจะตกแต่งให้สดสวยงดงามเท่าไร ก็เป็นสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่ปรากฏเป็นความสุขความเจริญ เป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นมา เหมือนใจที่ได้รับการอบรมตนด้วยธรรม ธรรมนี้เป็นธรรมชาติที่ให้ความหมายแก่ใจได้อย่างมากมายและกว้างขวางมาก จึงควรอบรมใจให้ดี ประดับใจนั้นละดี ตกแต่งใจดี ชำระซักฟอกใจให้ดีแล้วอยู่ที่ไหนสบาย
ผู้ที่มีธรรมในใจท่านไม่เลือกสถานที่อยู่ ที่หลับที่นอนที่ไหนท่านอยู่ได้สบายไปหมด เพราะใจท่านสบาย ถ้าใจเดือดร้อนเสียอย่างเดียว ขึ้นไปอยู่บนหอปราสาทกี่ชั้นก็เหมือนกับคนไข้หนักๆ ไปอยู่โรงพยาบาล ตึกกี่ชั้นก็ขึ้นไปร้องไปครวญครางที่ตึกชั้นนั้นๆ เพราะความทุกข์ของตนนั้นแล เพราะฉะนั้นสถานที่ใดจึงไม่มีความหมายยิ่งกว่าใจ ใจนี้สร้างความหมายให้ตัวเองแล้วอยู่ไหนอยู่ดี อย่างคนไข้ที่ร้องครวญครางอยู่บนตึกชั้นสูงๆ พอหายไข้แล้วอยู่ที่ไหนเขาก็อยู่ได้ ไม่ร้องไม่ครวญคราง อยู่สบาย นี่มันสบายอยู่กับร่างกายและจิตใจของแต่ละคนๆ ต่างหาก นี่ก็ความสบายอยู่ที่จิตใจ ถ้าได้อบรมจิตใจให้ดีอะไรก็สง่างามไปหมดนั้นแหละถ้าใจงามเสียอย่างเดียว ถ้าใจไม่งาม ใจเดือดร้อน ไปที่ไหนก็มีตั้งแต่ฟืนแต่ไฟหาความสงบร่มเย็นไม่ได้
จึงขอให้บรรดาพี่น้องชาวพุทธเราหันหน้าเข้าสู่ธรรม เพื่อนำอรรถธรรมเข้าสู่จิตใจ ระงับจิตใจด้วยธรรมโอสถนี้ให้เป็นใจสงบร่มเย็นขึ้นมา แล้วบำเพ็ญเป็นประจำๆ เราอย่าฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกับโลกกับสงสาร กับกิเลสตัณหาที่มันหลอกลวงตลอดมานี้ หลงกับมันตลอดไปนี้ก็จะมีความทุกข์ความเดือดร้อนตลอดไป เงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่มีสำหรับคนที่หลงไปตามกิเลส เงื่อนต้นไม่ปรากฏ และเงื่อนปลายว่าจะระงับดับทุกข์ได้เมื่อไรก็ไม่ปรากฏ
ไม่เหมือนผู้มีอรรถมีธรรม ผู้มีอรรถมีธรรมนี้ตัดย่นภพชาติความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความทุกข์ความลำบากของตนให้สั้นเข้ามาๆ ไปอยู่สถานที่ใดก็เป็นความสุขความเจริญสำหรับผู้มีธรรมมีบุญมีกุศลภายในใจ และหดย่นเข้ามา ภพชาติจะกี่กัปกี่กัลป์ที่ไม่เคยกำหนดนับกันได้เลย ธรรมภายในใจของเรา ความดีภายในใจของเรา ท่านจะเป็นเครื่องตัดฟันให้หดย่นเข้ามาเอง จนกระทั่งถึงที่สุดจุดหมายปลายทางได้แก่ความบริสุทธิ์ของใจ ดังพระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่าน เป็นผู้ตัดภพตัดชาติได้ขาดสะบั้นลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ต่อไปจะไม่มีความทุกข์ใดๆ ปรากฏในจิตนั้นอีกเลยเป็นอนันตกาล ท่านจึงเรียกว่านิพพานเที่ยง
นี่ละอำนาจของธรรมตัดความทุกข์ความลำบาก ตัดภพตัดชาติเกิด แก่ เจ็บ ตายในภพต่างๆ ให้หดย่นเข้ามาๆ เพราะการสร้างคุณงามความดี แต่การเพลิดเพลินไปตามกิเลสตัณหานั้น เท่ากับต่อภพต่อชาติให้ยืดยาวไปไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ ผู้สร้างความดีเป็นการตัดภพตัดชาติให้หดย่นเข้ามาสู่ความสุขความสมหมาย ได้แก่ความบริสุทธิ์ใจ ให้พากันอุตส่าห์พยายาม ให้คิดบ้างว่าบุญเป็นยังไง บาปไม่ต้องคิดมันก็คิดอยู่แล้ว มันคิดเรื่องบาปเรื่องกรรม ทำความชั่วใส่ตัวเองโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี้มากต่อมากนะว่าได้ทำความชั่ว แต่การทำความดีต้องได้ระลึก ต้องมีครูมีอาจารย์เป็นผู้แนะนำสั่งสอน นี่เราก็ได้ยินได้ฟัง เช่นมาวัดในวันนี้ก็ได้ฟังเสียงอรรถเสียงธรรม เครื่องตัดย่นวัฏวนและตัดย่นความทุกข์เข้ามาๆ สู่ใจของคนผู้มีอรรถมีธรรม ได้ยินได้ฟังแล้วนำไปปฏิบัติ อรรถธรรมนี้จะเป็นเครื่องตัดทอนสิ่งไม่ดีทั้งหลายให้หดย่นเข้ามา
กลับไปถึงบ้านถึงเรือนแล้วก็ให้ปฏิบัติตนเอง อย่าฟุ้งเฟ้อเห่อคะนองจนเกินเนื้อเกินตัว อันนี้กิเลสหลอกสัตว์โลกต่างหาก จะไม่มีวันจืดจาง ไม่มีวันเข็ดหลาบอิ่มพอคือกิเลสหลอกสัตว์โลก ความโลภได้เท่าไรไม่มีคำว่าพอ ใครมีความโลภมาก ได้วัตถุสมบัติที่มุ่งหมายมามาก ได้มามากเท่าไรก็ยิ่งเป็นเหมือนกับไฟได้เชื้อ ไสเชื้อเข้าไปมากเท่าไรไฟยิ่งแสดงเปลวมากขึ้นๆ ไม่มีกำหนด ขึ้นอยู่กับเชื้อไฟที่มีมากน้อย อันนี้กิเลสความทะเยอทะยานอยากไม่มีวันอิ่มพอ นี่เป็นไฟอันหนึ่ง ไปเสาะแสวงหามาให้ได้เท่าไรๆ ก็เท่ากับเสาะแสวงหาเชื้อไฟมาให้กิเลสตัวโลภนี้แหละให้แสดงเปลวหนักขึ้น แล้วอยากได้มากขึ้นๆ ไม่มีวันสิ้นสุด นี่เราหลงตามมันมาเท่าไรแล้วไม่เคยเข็ดหลาบอิ่มพอ จึงต้องหลงตามมันไปเรื่อยๆ
ถ้ามีอรรถมีธรรมก็มีเครื่องสกัดลัดกั้น มีความพอ เช่นอย่างเขารับประทานเขายังมีวันพอ ถึงกาลเวลาของธาตุขันธ์แล้วพอ ในคราวนี้รับประทานเพียงเท่านี้พอ เมื่อหิวอีกก็รับประทานก็พอกับธาตุขันธ์ แต่กิเลสที่หิวที่อยากนี้ไม่พอนะ ให้เท่าไรไม่มีคำว่าพอ จึงต้องระงับด้วยอรรถด้วยธรรมให้มีความพอดีบ้าง ความพอดีของธรรมมี เช่นจิตของท่านผู้รักษาศีลรักษาธรรมท่านมีศีล ตัวอย่างเช่น พระผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรม นับตั้งแต่ท่านบวชมาด้วยความสนใจ รักใคร่ในอรรถในธรรม รักษาศีลรักษาธรรมของตน ประหนึ่งว่าเป็นชีวิตจิตใจหรือเหนือชีวิตอีกตลอดไป ท่านก็พอในศีลของท่าน ไม่มีอะไรที่จะคืบคลานไปเป็นอย่างอื่น ศีลของท่านพอท่านก็เย็นใจ
จากนั้นก็เข้าสู่สมาธิ สมาธิเมื่อความสงบเย็นเต็มพื้นฐานของใจแล้วสมาธิก็พอ ธรรมท่านมีพอๆ เป็นลำดับลำดา ส่วนกิเลสไม่มีคำว่าพอ ความไม่พอของกิเลสมีแต่ฟืนแต่ไฟทั้งนั้น ความพอของธรรมมีแต่ความเอิบอิ่มเย็นอกเย็นใจสบาย สมาธิก็พอ ถึงขั้นปัญญาพิจารณาแก้ไขถอดถอนกิเลสก็แก้ไขเป็นลำดับลำดา เหมือนกับเรารับประทานนั้นแหละ เวลาแก้ไขถอดถอนเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งไม่มีกิเลสเป็นเครื่องถอดถอนแล้วภัยก็หมด ความอิ่มพอก็ขึ้นในขณะที่กิเลสตัวหิวโหยขาดสะบั้นลงไปจากใจ ความอิ่มพอเกิดแทนกันทันที ดังที่ท่านว่าถึงนิพพาน
นิพพานแปลว่าเมืองพอ กิเลสตัวหิวโหยขาดสะบั้นลงไปแล้วความพอก็เกิดขึ้นมาเอง นี่ละธรรมท่านมีคำว่าพอเป็นขั้นๆ ตอนๆ แต่กิเลสไม่มีคำว่าพอ ได้เท่าไรไม่พอทั้งนั้นๆ ที่จะให้กิเลสว่าพอแล้วนี้ไม่มี มีแต่คืบหน้าไปเรื่อยๆ จึงให้พากันเอาธรรมเข้าสกัดลัดกั้นความหิวโหยของจิตใจ ที่มันกวนใจเราให้ได้รับความทุกข์อยู่ตลอดเวลานี้ให้มีวันลดน้อยถอยลง และให้มีความพอดีประจำใจตนบ้างจะมีความสุขความสบาย
วันนี้ทูลกระหม่อมท่านก็มาสดับธรรม ท่านมาภาวนากับพวกเรา ท่านตั้งใจมาภาวนา แต่พวกเรานี่มันกองขี้เกียจขี้คร้านเต็มในวัดในวา ตั้งแต่พระแต่เณรลงมา อาจจะเอาความขี้เกียจขี้คร้านไปทับท่านก็ได้ ตั้งใจว่าจะมาภาวนาวัดป่าบ้านตาดกลายเป็นหมอนทับเอาเสียเหมือนพระเหมือนเณร ประชาชนวัดป่าบ้านตาด จมอยู่กับหมอนไปก็ได้ เวลาไปนี้ถ้ามีโอกาสจะทูลถามท่านว่าเป็นยังไงหมอนทับมากไหม พวกนี้พวกมองไม่เห็นตัว มีแต่หมอนแต่เสื่อพันตัว แล้วทูลกระหม่อมท่านล่ะเป็นยังไงมาที่นี่ หมอนไม่กองเท่าภูเขาแล้วเหรอ เวลามีโอกาสให้ไปทูลถามท่านบ้างนะ เรานี้สงสัยเหลือเกิน เพราะเสื่อหมอนอยู่ในวัดนี้มันมากเหลือเกิน ความขี้เกียจขี้คร้านล้มตูมลงหมอนไม่มีฟื้นนะ
พากันจำเอานะ วันนี้เทศน์เพียงเท่านี้แหละ ขอให้ทุกๆ ท่านนำศีลธรรมไปประพฤติปฏิบัติจะได้มีความสงบร่มเย็น เวลานี้ชาวพุทธเรารู้สึกห่างเหินศีลธรรมมากทีเดียว ใกล้ชิดติดพันกับความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา เต็มบ้านเต็มเมือง จนไม่มีขอบเขต ไม่มีหลักมีเกณฑ์ เร่ร่อนกันทั้งบ้านทั้งเมือง ใครมีมากมีน้อยตั้งตนเป็นเศรษฐี สิ่งที่จนมันก็ติดแนบอยู่กับเศรษฐี มันหิวโหยตลอดเวลา ความจนความหิวโหยนั้นแหละก็มาเผาหัวใจเศรษฐีอีกเช่นเดียวกัน จึงไม่มีใครมีความสุขถ้าไม่มีธรรม ถ้ามีธรรมอยู่ที่ไหนสบายๆ ขอให้พี่น้องทั้งหลายจำเอานะ
วันนี้ก็เทศนาว่าการเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่บรรดาพี่น้องทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ (สาธุ)
ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาตามกำหนดการ ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th |