เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗
แน่ใจแล้วสอนคนอื่นก็แน่ใจ
งานที่คนมากๆ ไม่ว่างานไหนเราไม่ไปละ แม้แต่งานฟ้าหญิงนิมนต์กี่ครั้งแล้วเราก็ไม่ไป ทางนั้นก็เลยนิมนต์ให้ไปพิเศษไม่ให้ไปเกี่ยวกับงานเลย เราจึงไปให้ทุกครั้งนะ ที่ของเราก็อยู่พิเศษนู้น มีพิธีอะไรก็ว่ากันทางนี้ เราไม่เกี่ยวกับพิธีเลยเพราะเราบอกไว้แล้ว ทางนู้นก็เอาตามเราเลย ไปฉันคราวที่แล้วที่ปราจีนฯ วัดเกษียณใหญ่ ตกลงกันแล้วก็ไปตามนั้นแหละ มีพิธีอะไรให้ทำกันไปเลย เรามาถึงเมื่อไรก็เมื่อนั้น เรื่องพิธีไม่ให้เกี่ยวกับเรา ตกลงทางโน้นก็นิมนต์พระไป ๙ องค์หรือ ๑๐ องค์ เราไปนี้พระท่านทำพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังจะเริ่มฉัน เราก็ไปถึงพอดี ก็อย่างนั้นแหละ ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีอะไรเลย เรานั่งลงสักพักหนึ่งเขาก็นำอาหารมาถวาย
งานนายกนี้เราก็บอกเราไม่ไป บอกตัดขาดไปเลยว่าไม่ไป มีอะไรก็ว่ากันไปเถอะ นึกว่าแล้วไปแล้วยังไม่แล้วอีก ยังขอนิมนต์ให้ไปเป็นกรณีพิเศษ วันนั้นดูเหมือนเป็นวันที่ ๓๑ เป็นวันงาน ก็เป็นวันเราออกเดินทาง อาจเป็นวันที่ ๑ ถ้าไปก็ดี ไปแล้วก็ไม่ได้ไปฉันอะไร แล้วแต่จะตกลงว่าจะไปเมื่อไรเราก็ไป เราไม่ได้ไปเข้าพิธีอะไรทั้งนั้น ดูซิ พัดนี้ของเล่นเมื่อไร ลากเราเข้าพระราชวังทุกพัดไปเลยนะ ไม่เข้าทั้งนั้นแหละเรา เอาจนรอดไปได้ทุกที สองพัดนี่แหละ พัดราชกับพัดธรรม เอาไปฉันในพระราชวัง เราไม่ไป พระรับพัดด้วยกันนี้มีเท่าไรไปเลยเราไม่ไป เราลำบากเราแก่แล้ว หากินกับความแก่ไปเรื่อยๆ แก่ไม่แก่ช่าง ข้ามมันไปเลย ใครก็รู้มันไม่ใช่เด็กคนนี้น่ะ ว่าได้
ให้ไปที่ไหนเราก็ไม่ไป ชั้นธรรมนี้เอาหนัก หนักเราก็เอาหนักเหมือนกัน รอดได้เลย จึงได้ขู่เอาไว้ นี่ขึ้นธรรมแล้วนะ มีแต่ข้ามชั้นๆ จากธรรมจะไม่อยู่รองสมเด็จ ไม่อยู่พรหมนะ จะขึ้นสมเด็จนะ บอกแล้วขู่ด้วยนะ อย่ามาเอาไปนะ เท่านี้เราพอแล้ว พูดตรงๆ เลย นี่เรารับด้วยน้ำพระทัยของพระองค์ต่างหากนะ เราบอกตรงๆ อย่างนี้ที่เรารับ เพราะฉะนั้นอย่าให้ไปอีกเลย อย่าให้รับอีกนะ อย่ามาตั้งอีก พอแล้วหนักแล้วเราว่างี้เลย พูดตรงๆ เลย ก็มันพอแล้วจริงๆ เอาอะไรมาใส่มันก็ไม่เอา เอาไปหาอะไร เราแบกมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว เวลาปล่อยก็ปล่อยบ้างซิ ไม่ว่าบ้างแหละ ปล่อยเลยเทียว
ไม่อย่างนั้นจะกล้าพูดเหรอ พระพุทธเจ้ากล้าสอนโลกสามโลกธาตุนี่ ก็ออกจากพระทัยอันเดียวกัน พระทัยคือใจเป็นนักรู้ พระสาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน ธรรมอันเดียวกัน ความรู้อันเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกันถามกันหาอะไร แน่ะเท่านั้น เรื่องภพเรื่องชาติตัดขาดสะบั้นเห็นอยู่ประจักษ์กับใจนั้นแล้ว จะไปถามภพชาติที่ไหนอีก เวลามันติดต่อสืบเนื่องกันอยู่มันก็สืบกันไปๆ ก็รู้กันอยู่ มันยังไม่สิ้น มันละเอียดขนาดไหนก็รู้กันอยู่ในใจๆ ดังที่เคยพูดแล้วที่ว่ายังไม่อยากตาย ความไม่อยากตายไม่ใช่ห่วงใยอะไร ห่วงใยที่ว่าถ้าค้างอยู่ จะไปค้างที่ไหนก็ตามวันหนึ่งคืนหนึ่งไม่อยากค้าง ผ่านปึ๋งแล้วไปเมื่อไรได้เลย ถ้าผึงแล้วไปเมื่อไรได้เลย ก็มาห่วงใยเรื่องมันจะยังตกค้างจึงไม่อยากตาย ให้สิ้นเสียก่อนค่อยยังชั่ว จะมาตายตอนนี้ก็จะค้าง ค้างชั้นไหนมันรู้แล้วนั่น ถึงจะไม่กลับมาเกิดอีกก็ค้าง ค้างเพื่อจะก้าวข้างหน้า ก็รู้ชัดๆ อยู่ในหัวใจจะไปถามใคร
เพราะฉะนั้นธรรมท่านจึงมาเตือนเอา เตือนแบบกระตุกเลยนะ อ้าว ท่านจะมาห่วงใยอะไรเรื่องความเป็นความตาย ท่านก็พิจารณามาอย่างโชกโชนแล้วนี่นะ ผึงขึ้นมานี้เลย แบบกระตุกแรงนะ ท่านจะมาห่วงความเป็นความตายอะไร ท่านก็พิจารณามาอย่างโชกโชนแล้วนี่ เรื่องเหล่านี้เป็นอริยสัจที่ท่านพิจารณามาแล้วทั้งนั้น ท่านมาห่วงหาอะไร พอว่าอย่างนั้นจิตก็กลับปุ๊บเลยทันที เรื่องความเป็นความตาย ก็ฟัดกันเลยกับทุกขเวทนาที่แสนสาหัส ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าเต็มที่นะ คือห่วงความเป็นความตาย พอธรรมท่านมากระตุกเอาเท่านั้นตัดปึ๊ง ทางนี้ก็พุ่งเลย
ทุกขเวทนานั้นเป็นของง่ายเมื่อไร ตายอย่างน้อยวันละ ๓ ศพ วันละ ๘ ศพก็มี ไป กุสลาอยู่ในป่า กุสลาทั้งวันไม่ได้กลับ พอเสร็จจากนี้ เอ้า ศพนั้นมา แล้วศพนี้มา นั่งคอย กุสลาอยู่ที่ป่าช้านั่นแหละ ไม่กี่วันมันก็ขึ้นของเรา ขึ้นมานี้มันก็รู้ชัดเลย รู้ในเวลานั้นแหละ มันขึ้นอย่างรวดเร็วนะ เพราะฉะนั้นคนจึงตาย สองวันตายนี้มาก สามวันตาย หนึ่งวันตายยังไม่มี พอพ้นสามวันไปแล้วก็ผ่านได้ อยู่ในย่านนี้ เรามันขึ้นมันขึ้นอย่างรวดเร็วนี่ มันเสียดแทงเข้ามานี้ อ้าวโรคเรานี้เป็นอย่างนั้นแล้วนี่ ยังไม่ถึงไหนนะ มันขึ้นอย่างรวดเร็ว พอรู้ชัดว่า อ๋อ นี่เป็นโรคชนิดนั้นแน่แล้ว เราก็บอกประชาชนเลย โรคชนิดที่หามกันมาเผาอยู่นี้ เวลานี้มันเป็นขึ้นกับอาตมาแล้วนะ เป็นขึ้นแล้วเดี๋ยวนี้ กำลังเป็น อย่าให้มากุสลาต่อไปอีกนะ ให้กลับวัดเสีย เราก็เล่าให้ฟัง ไม่งั้นจะตายอยู่ด้วยกันนี่นะ เขาก็ให้ไปทันทีเลย เพราะเขาเห็นแล้วเรื่องมัน
พอเราไปเขาก็ตามแห่กันไป ไล่กลับหนีหมดเลย ยกขบวนไปเลยเขากลัวเราตาย ยกขบวนไปเราก็ไล่กลับไม่ให้มีเหลือเลย เอายามาให้ก็บอกว่าเอาไว้นั่นแหละ ไม่เอาเลยไม่แตะยา ไล่เขาหนีหมดแล้วก็เข้าที่ เข้าที่ก็ไปห่วงใยความเป็นความตายเจ้าของ ที่ว่าตายในระยะนี้แม้จิตจะละเอียดขนาดไหนก็แสดงว่ายังอยู่ๆ ยังไม่อยากตาย ให้สิ้นนี้แล้วไปเมื่อไรได้ทั้งนั้น จึงว่าพระธรรมท่านกระตุก พอกระตุกก็สะดุ้งกึ๊กทันที ซัดกันเลย พุ่งเลย ทุกขเวทนาแสนสาหัส นี่เราก็เคยซัดกันมาแล้วเรื่องทุกขเวทนา แล้วทางธรรมะก็เตือน ท่านก็เคยพิจารณามาแล้ว มันจับปุ๊บได้ก็พุ่งเลย ทุกขเวทนา เป็นสติปัญญาธรรมฟาดเข้าไปเปรี้ยงๆ ซัดกันถึงหกทุ่ม หมุนกันติ้วเลยเชียว ไม่มีละคำว่าเป็นว่าตาย จะดูตั้งแต่ความจริง มันก็พุ่งๆ ทางนี้กระจ่างออก ทางนั้นขยายออกๆ ก็ตามไปฟัดกันๆ จนกระทั่งออกหมดโล่งในหัวใจปัจจุบันนะ นี่ละแก้ปัจจุบัน กำหนดที่ไหนไม่มีขัดมีข้อง หมดเลย เห็นไหมล่ะ นี่ละมันแก้กันธรรมโอสถ ประจักษ์อยู่ในหัวใจ
กำหนดไปที่ไหนโล่งหมด แน่แล้วทีนี้ไม่ตาย หมดโดยสิ้นเชิงแล้ว หกทุ่มพอดี จากนั้นก็ลงมาเดินจงกรม นี่พูดถึงเรื่องความเป็นห่วง จากนั้นมาแล้วก็ไม่ห่วง ไม่เห็นมีห่วงอะไร ให้มันเห็นชัดๆ ซิ เป็นอยู่ในหัวใจไม่ถามใคร พระพุทธเจ้าว่า สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัตินั้นแลจะรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีใครมารู้แทนได้ จ้าเข้าไปตรงไหนมันก็รู้ทันทีๆ เลย
นี่จะมาตั้งอันนั้นให้อันนี้ให้มาให้แบกทำไม ความหมายก็ว่างั้น แบกมาพอแล้วตั้งกัปตั้งกัลป์ แบกภพน้อยภพใหญ่ ใจดวงนี้ไปเที่ยวจับจองหมด เคยพูดแล้วนี่นะ ไม่ว่าสัตว์ประเภทใดๆ หัวใจเรานี้มันไปเที่ยวจับจอง ไปเที่ยวเกิดหมดนะ คือมันมากต่อมาก นานแสนนานขนาดนั้น มันเกิดได้หมดด้วยอำนาจแห่งกรรม มันซอกแซกให้พาไปเกิดที่นั่นที่นี่ พวกเปรตพวกผี สัตว์นรกอเวจี สัตว์น้ำสัตว์บก มันเคยทั้งนั้นแหละ นรกก็เคยไปหมด ชั้นพรหมขึ้นไปแล้วก็ลงมา หมุนกันไปหมุนกันมา นี่ละใจดวงนี้ พอมันขาดสะบั้นออกจากใจโดยสิ้นเชิงจะไม่รู้ได้ยังไง มันจ้าขึ้นมา ขาดสะบั้นออกหมดทุกอย่างก็รู้ได้ชัดๆ อย่างนั้นละจิตตัดสินตัวเอง
พระพุทธเจ้าท่านว่าจะตายวันนั้นๆ ก็ยังตายวันนั้น เช่นจากเดือน ๓ เพ็ญปลงพระชนมายุ ตัดสินพระทัยว่าจะตายเดือน ๖ เพ็ญ พอถึงเดือน ๖ เพ็ญก็เสด็จไปเลย ตรงแน่วไปเลย ไปถึงนั้นแล้วก็ตายในคืนวันนั้น ท่านแน่ในหัวใจของท่านว่าบริสุทธิ์แล้ว ยังชัดเจนอีกเรื่องหนึ่งตายวันไหนๆ รู้หมดเลย นี่ละธรรมที่ตั้งใจปฏิบัติแล้วเป็นอย่างนั้น อย่ามานอนเฝ้าคัมภีร์อยู่เฉยๆ แบกคัมภีร์จนหลังหัก เอาความจำมาอวดกัน เอามาเป็นสมบัติของตนมันไม่ได้ ความจำเฉยๆ เป็นสมบัติของตนไม่ได้ ใครเรียนมากเรียนน้อยจำได้ทั้งนั้น แต่แก้ทุกข์ให้เจ้าของไม่ได้นะ ไม่ใช่สมบัติของตัวเอง
สมบัติตัวเองออกจากภาคปฏิบัติ ที่เราเรียนมาแล้วปฏิบัติตามที่เรียนมา ผลประโยชน์เกิดขึ้นมากน้อย นั่นละที่เป็นของเราๆ เป็นของตัว ศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติหลุดพ้น เป็นของตัวเองโดยตลอด พ้นแล้วก็เป็นของตัวเอง อย่างนั้นท่านว่าการปฏิบัติ ผลเกิดขึ้นมากน้อยเป็นของเราทั้งหมด แต่ปริยัติเป็นเรื่องของความจำ เรียนมากเรียนน้อยไม่เกิดประโยชน์ ผู้เรียนมากยิ่งกิเลสหนากว่าคนไม่เรียนมีมากต่อมาก อวดทิฐิมานะว่าตนเรียนมาก ยิ่งเขามายอว่านี่พระไตรปิฎกเคลื่อนที่นะ อู๋ย เป็นบ้าเลย นั่นความจำ ถ้าเป็นความจริงแล้วจะว่าอะไรก็เฉย ไม่สนใจกับใคร ไม่มีอะไรจะจริงจังยิ่งกว่าหัวใจ เอาอะไรมารับ ของเหล่านั้นเป็นของปลอมทั้งนั้น นั่น ของจริงอยู่กับตัวเราแล้วไปหลงอะไร เท่านั้นพอ
นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้าให้พากันไปปฏิบัติเอานะ โลกจะได้สงบร่มเย็น เขาไม่ร่มเย็นเราร่มเย็น ถ้าเรามีธรรมเราร่มเย็น ในท่ามกลางแห่งความเดือดร้อนวุ่นวายนั่นแหละเราจะเย็นของเรา ถ้าไม่มีธรรมแล้วใครอย่าไปหวังที่จะเอาความสุขความเจริญ ความสมหวัง ไม่มี เพราะกิเลสมีแต่หลอกให้หมดหวังๆ ไปเรื่อย พอได้มาสักนิดหนึ่งความผิดหวังมาแล้ว พลัดพรากจากกันไปแล้ว พังไปแล้ว หาใหม่ได้มาก็ไม่สมหวัง ได้มาแล้วก็ไม่สมหวัง พังไปด้วยกัน ถ้าธรรมภายในใจอยู่ที่ไหนเหมาะหมด สบายหมด อยู่ที่ไหนจึงสบาย
นี่ก็สอนพระเมื่อวานนี้ถึงเรื่องภาวนาตั้งสติ สตินี้เป็นสำคัญมากทีเดียว ที่เราตั้งตัวได้ก็ด้วยสติ จึงเอานี้มาสอนหมู่เพื่อน ด้นเดาตามเจ้าของ เพราะจิตมันเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ทำยังไงถึงเวลาเสื่อมเอาไว้ไม่อยู่เลย ผางลงไปเลย ผางไปเลย โอ๊ย ยังเหลือแต่ร่างกระดูกไม่มีความหมาย จึงได้มาทบทวน พิจารณาทบทวน จะเป็นเพราะเรานี้เผลอคำบริกรรม เราไม่มีคำบริกรรมติดกับจิต จิตอาจจะเผลอไปเวลานั้นไปสั่งสมกิเลสมาให้เกิดความวุ่นวาย ถึงกับว่าเจริญแล้วเสื่อมๆ อย่างนี้
ก็มีแหว่งอยู่ที่ว่าเราไม่ได้ใช้คำบริกรรม มีสติติดแนบอยู่ในนั้น ทีนี้เอาใหม่ ตั้งคำบริกรรมให้สติติดกับนั้นเลย จะเจริญไปไหนเสื่อมไปไหนจะให้รู้ตอนนี้ เอาอย่างนั้นจริงๆ แต่เรามันจริงนะ มันไม่ได้เหลาะแหละ ถ้าลงตัดสินอะไรเหมือนว่าระฆังดังเป๋งเท่านั้นละ นักมวยฟัดกันเลย อันนี้ก็เอาแล้วนะเท่านั้น เหมือนระฆังดังเป๋งติดปั๊บเลย เคลื่อนไม่ได้ เราไม่ลืมวันแรกนะ แหมเหมือนตกนรกทั้งเป็น มันดีดมันดิ้น มันอยากคิดอยากปรุงตามเรื่องของกิเลส แต่เรื่องของธรรมคือคำบริกรรมติดแนบบังคับไว้ไม่ให้คิดไปทางกิเลส ให้คิดแต่พุทโธๆ อันเป็นเรื่องของธรรมล้วนๆ ติดเลย ไม่ให้เผลอเลยจริงๆ ขณะเดียวก็ไม่ให้มี ทุกข์มากไหมล่ะ
จิตที่มันเคยผาดโผนโจนทะยานด้วยความคิดความปรุง มาบีบบังคับไม่ให้มันคิดเลย จะเป็นอะไรก็เป็นกันความเผลอไม่ให้มี ซัดกัน วันแรกแหมทุกข์มาก แต่เรื่องความเผลอไม่มี ฟาดถึงวันที่สอง พอตื่นนอนปั๊บจับเลยตลอดจนกระทั่งหลับไม่ให้เผลอ เราอยู่คนเดียวเสียด้วยนะ มันก็สนุกละซิ ไม่มีใครมายุ่งมาเหยิงเลย ติดแนบอยู่กับคำบริกรรม พอวันที่สองมาค่อยเบาลง วันแรกนี้แทบเป็นแทบตายประหนึ่งว่าสลบไสลนู่นแหละ แต่มันไม่สลบไสล เพราะความคิดความปรุงเรียกว่าสังขาร สมุทัยคือกิเลสดันออกมาให้คิดให้ปรุงเรื่องกิเลส มันดันออกมา ทางนี้ก็พุทโธเป็นเรื่องของธรรมปิดเอาไว้ๆ ไม่ให้มันคิด มันผลักมันดันเอาจะเป็นจะตายมันก็จะออก เราก็ปิดด้วยพุทโธด้วยสติ ซัดกันไปเต็มเหนี่ยว
พอวันสองมานี่จะรู้สึกเบา ๆ นิดหนึ่ง พอวันสามวันสี่มานี้เบา เบาเรื่อย แต่ไม่มีถอยนะนั่น ไม่มีเผลอ ซัดกันจนกระทั่งมันเบาเข้าไปๆ นี่บังคับไม่ให้มันคิด สติบังคับกิเลสไม่เกิด จึงออกมาได้ชัดเจน กิเลสเกิดขึ้นจากความคิดความปรุง พอเผลอเมื่อไรความคิดออกมา เพราะกิเลสผลักดันให้คิดออกมาก็เป็นกิเลสวันยังค่ำ ไม่ให้มันคิด ให้แต่ธรรมทำงานคือคำบริกรรมสั่งสมตลอดวันไม่ให้เผลอ สุดท้ายผลของธรรมก็เกิดขึ้นเป็นความสงบเย็นเข้ามาๆ
จนกระทั่งถึงขั้นที่ว่ามันละเอียดสุดยอด คำบริกรรมที่ว่าพุทโธๆ หายเงียบไปเลยนะ ไม่มี ปรุงไม่ขึ้น ปรุงยังไงก็ไม่ขึ้น หมด เลยละเอียดเข้าไปแล้วหมดความคิดความปรุงไม่มี จนกระทั่งสงสัยตัวเอง อ้าว แต่ก่อนเราก็อาศัยคำบริกรรม ตั้งสติอยู่กับคำบริกรรม ทีนี้คำบริกรรมนี้หายไปแล้ว แล้วจะทำยังไง มันก็ได้สติขึ้นมาในนั้นแหละ เอ้า คำบริกรรมหายไป แต่ความรู้ที่เด่นละเอียดลออนั้นไม่หาย เอาสติจับไว้ตรงนั้น เอาสติจับที่รู้ๆ นั้น ที่มันละเอียดสุดยอดแล้วมันรู้อยู่เฉยๆ เอาสติจับไว้ตรงนั้น ไม่ให้เผลอกับตรงนั้น
คำบริกรรมคือพุทโธหายไปก็หายไป แต่ความรู้ที่ละเอียดนี้ไม่หาย ให้อยู่กับตรงนั้น มันก็จับตรงนั้นแทนไปเลย พอได้จังหวะจิตมันก็คลี่คลายออกมา พอระลึกคำบริกรรมได้พุทโธได้ เอาพุทโธอัดเข้าไปอีก ติดต่อกันไปเรื่อยๆ ทีนี้พอมันละเอียดเต็มที่มันก็ลงอีกอย่างนั้น ทีนี้เราก็จับได้แล้ว มันลงไปนั้นสติไม่ถอยจับตลอดๆ นี่ละทีแรกมันดิ้นมันดีดมันอยากคิดอยากปรุง ไม่ยอมให้คิด เอาพุทโธปิดช่องมันตลอดเวลา สติปิดช่อง พุทโธปิดช่อง กิเลสไม่เกิดขึ้น จึงกล้าพูดได้ละซิ
จากนั้นไปมันก็ละเอียด ละเอียดเข้าไปถึงขั้นที่ว่าบริกรรมไม่ได้ หมดโดยสิ้นเชิง กำหนดยังไงก็ไม่มี แต่ความรู้อันนั้นละเอียดสุดอยู่ในนั้น สติอยู่ตรงนั้น พออันนั้นคลี่คลายออกมาบริกรรมได้ เอา คำบริกรรมติดเข้าไปต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตั้งแล้วๆ ถึงขั้นที่มันเจริญแล้วมันจะเสื่อม เอ้าเสื่อมไป เราหึงเราหวงไม่ให้มันเสื่อมมันก็เสื่อมต่อหน้าต่อตา คราวนี้ไม่หึงไม่หวง อะไรจะเสื่อม เสื่อม อะไรเจริญ เจริญไป แต่กับคำว่าพุทโธนี้ไม่ยอมปล่อย จับกับพุทโธ ทีนี้ก็ขึ้นๆ ขึ้นเรื่อยเลยที่นี่ ถึงขั้นที่มันควรจะเสื่อมมันรู้นี่ พอถึงขั้นนี้อยู่ได้สองสามวันเสื่อม เอ้ามันจะเสื่อมก็ให้เสื่อมเราไม่ปล่อย มันก็เลยไม่ลงนะ ขึ้นเรื่อยๆ
นี่ละมันเป็นบทเรียนอย่างสำคัญ จนกระทั่งขึ้นไปแล้วไม่เสื่อม ก็พุ่งใหญ่เลย ตั้งหลักได้เพราะอันนี้ เราตั้งได้เพราะอันนี้เราก็มาสอนหมู่เพื่อนอย่างนี้ จนกระทั่งถึงขึ้นตลอดๆ ไปจากสติ สตินี้ติดแนบตลอดๆ ตั้งแต่ธรรมขั้นต่ำถึงขั้นสูงเรื่อยไป จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ เป็นมหาสติ-มหาปัญญา คำว่าสติๆ ติดแนบอยู่ตลอด นี่การบำเพ็ญเมื่อแน่ใจแล้วสอนคนอื่นก็แน่ใจ เราทำมาอย่างนี้ๆ สอน เพราะฉะนั้นจึงว่าผู้ที่บำเพ็ญหวังอรรถหวังธรรมจริงๆ สติเป็นสำคัญนะ กับคำบริกรรมติดแนบกับจิต
เวลาที่มีสติอยู่นั้นกิเลสจะไม่เกิด กิเลสเกิดขึ้นจากความคิดความปรุง กิเลสอันหนึ่งมันผลักดันความคิดออกมา ความคิดนี้เป็นสังขารธรรมดา ถ้ากิเลสสวมเข้าไปความคิดนี้ก็เป็นสมุทัย เป็นกิเลสไป ถ้าเป็นธรรมผลักดันออกมาความคิดก็เป็นธรรมไป เช่นอย่างเราผลักดันออกมาด้วยพุทโธๆ นี้ความคิดนี้ก็เป็นธรรม เป็นธรรมก็แก้กิเลส กิเลสก็ไม่มีๆ คิดขึ้นมาไม่ได้ ละเอียดอย่างนั้นนะ พอถึงขั้นมันอัศจรรย์แล้วมันไม่ได้เหมือนใจดวงที่ล้มลุกคลุกคลานหลับหูหลับตาชนนั้นชนนี้อยู่อย่างนี้นะ มันจ้าของมันไปหมด
นี่อำนาจแห่งการฝึกอบรมตนเอง พุทธศาสนานี้เท่านั้นที่เป็นเครื่องยืนยันรับรองร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอให้ดำเนินตามทางของศาสดาจะหลุดพ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์ไม่สงสัย ในพุทธศาสนาเรานี้เป็นศาสนาที่รับรองมรรค ผล นิพพาน ทุกอย่างไม่สงสัยแล้ว นี่ได้ก้าวเดินมาแล้ว หายสงสัย เพราะฉะนั้นการสอนจึงไม่สงสัยในการสอน ไม่ว่าธรรมขั้นใดๆ สอนด้วยความแม่นยำของจิตใจและสอนด้วยความถูกต้อง ให้ใครต่อฟังก็ตามให้ได้ผลประโยชน์ไปทั้งนั้น จึงขอให้พากันตั้งอกตั้งใจ
อย่าเพลิดเพลินไปกับโลกกับสงสารที่มันถลุงมาเสียตั้งกัปตั้งกัลป์ มีตั้งแต่ความทุกข์ความทรมาน เกิดก็หาความแน่นอนไม่ได้ เกิดเดี๋ยวนี้เกิดเป็นมนุษย์ปั๊บลงไป ฟาดลงไปเป็นเปรตเป็นผี ฟาดลงไปนรกอเวจีใจดวงนี้แหละ เพราะบาปเพราะบุญที่ตนสร้างนั่นแหละมันไปทำลายตนและส่งเสริมตน ถ้าใครทำดีก็ส่งเสริมไปเรื่อย ถ้าทำชั่วมันก็ลงไป ใจดวงนี้ไม่เคยตาย เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปด้วยอำนาจแห่งบุญแห่งบาปนั่นแหละ จึงต้องให้ระวังตัวให้ดีนะ เราเป็นผู้รักตน ท่านว่า นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ ความรักอื่นเสมอตนไม่มี คือรักสิ่งใดก็ตามรักตนเป็นที่หนึ่งเลย ท่านจึงว่า นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ ไม่มีอะไรที่จะยิ่งกว่าความรักตน รักตนปฏิบัติรักษาตนละซิแล้วก็เลิศขึ้นที่ตนนั่นแหละ พากันจำเอานะ เอาเท่านั้นละวันนี้มันเหนื่อยแล้ว
โยม พระท่านเขียนจดหมายถามมาจากจังหวัดศรีสะเกษครับ วัดป่าไผ่สามัคคีธรรม ถามปัญหาดังนี้ ข้อที่หนึ่งเมื่อเกล้ากระผมเร่งความเพียร พยายามควบคุมสติให้อยู่กับคำบริกรรมให้ได้มากและนานที่สุด ในอิริยาบถต่างๆ ก็ได้ความสงบเยือกเย็น และพิจารณาธรรมได้พอประมาณ แต่เมื่อทำติดต่อกันประมาณ ๗-๑๐ วันทำไมจึงเกิดอาการนอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดเบ้าตา แต่เมื่ออ่อนความเพียรลงอาการก็หายไป เมื่อเร่งความเพียรก็กลับมาเป็นอีก เป็นอย่างนี้ซ้ำๆ ซาก ไม่รู้จะทำอย่างไร จะแก้ปัญหานี้อย่างไรครับ
หลวงตา อย่าเร่ง อย่าอ่อนแอ มัชฌิมาปฏิปทาจุดศูนย์กลางคือความปฏิบัติให้พอดี ถ้าเร่งเกินไป นี่เรียกว่าเกินไปแล้วนั่น ถ้าอ่อนมันก็อ่อนไปอีกแหละ เกินไปอีกแหละ มันไม่ใช่มัชฌิมา เข้าใจเหรอ ให้ปฏิบัติเท่านั้น ถ้าเวลามันเร่งมันนอนไม่หลับก็ถอยความเพียรมาหน่อย ถ้ามันจะอ่อนแอก็จับไสมันเข้าไป เท่านั้นแหละ เอ้าว่าไปอีก
โยม ข้อสองครับ สมาธิความสงบระดับใด จึงพอเป็นฐานของการพิจารณา
หลวงตา แน่ะก็ถูกต้องแล้ว จะให้ว่าอะไรอีก เอ้าว่าต่อไปอีก
โยม ข้อสาม เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นเราก็มีสติรู้สึก แล้วก็ตัดเลย โดยไม่พิจารณาเป็นการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ครับ
หลวงตา ความคิดชนิดไหนนั่นน่ะ ความคิดเป็นธรรมไปตัดก็ไม่ถูก ความคิดที่ไม่เป็นธรรม ตัดออกนั้นถูกต้อง แน่ะ
โยม สุดท้ายนี้ขอกราบอาราธนาหลวงปู่ให้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่งของพระเณรตลอดจนพุทธศาสนิกชน
หลวงตา อย่ามาหาเรื่อง ลมหายใจมีให้หายใจไป ของเราก็มีเราจะหายใจของเราไป อย่ามาหายุ่งนะ เอาเท่านั้นแหละตอบแล้ว อย่ามายุ่งเข้าใจไหม ถ้าไม่อยากตายให้หายใจต่อไป ถ้าอยากตายอย่าหายใจ เท่านั้นแหละ หมดแล้วเหรอ (หมดแล้วครับ) หมดแล้วก็หมดแล้ว เราอยากหมดตั้งแต่ยังไม่ตอบ เราเหนื่อยมากแล้ว
โยมอินโดฯ ถือศีลห้าหลายๆ คนไม่ชอบโยม เขาว่าไม่เคารพครูบาอาจารย์ อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่
หลวงตา เคารพครูบาอาจารย์เคารพยังไง
โยมอินโดฯ ทุกคนๆ เขาถือศีลแปด แต่สันติถือศีลห้า ปฏิบัติศีลห้าเคร่งครัด พวกที่ศีลแปดไม่ชอบสันติ
หลวงตา ถ้าอยากให้เขาชอบก็ถือศีลแปดเหมือนเขาใช่ไหมล่ะ จะให้เราตอบว่ายังไง อย่างนั้น
โยม ที่เขาว่าไม่เคารพครูบาอาจารย์ถูกหรือเปล่า
หลวงตา ไม่ตอบ ขี้เกียจตอบ
โยมอินโดฯ นั่งภาวนาเห็นความสว่าง ปากมาก่อน จมูกมา ดวงตามา ตอนนั้นไม่รู้จักว่าเป็นใคร แต่พอมาทั้งใบหน้าก็เห็นชัดว่าเป็นหลวงปู่มั่น และเห็นพระพุทธเจ้าตลอดเวลา กราบเรียนถามอันนี้เป็นอย่างไร
หลวงตา ก็ถูกต้องแล้ว เห็นในเห็นนอก เห็นหยาบ เห็นกลาง เห็นละเอียด เห็นธรรมชาติแท้ นั่นเป็นขั้นๆ ขึ้นไป จนมองดูอะไรฉลองพระบาทรองเท้าก็เป็นของพระพุทธเจ้า ฝ่าพระบาทก็เป็นของพระพุทธเจ้า ขึ้นมาเป็นของพระพุทธเจ้าๆ ดวงใจเป็นเหมือนพระพุทธเจ้า นั่นเป็นขั้นๆ เข้ามา มีอะไรอีกล่ะ
โยมอินโดฯ นั่งภาวนาความรู้สึกหายไป เหมือนกับจิตออกจากร่าง
หลวงตา มันหายไป ไม่ใช่เกี่ยวกับความรู้สึกอะไรต่างๆ หายไปเหรอ
โยมอินโดฯ รู้อยู่ที่ใจอย่างเดียว อย่างอื่นไม่มี
หลวงตา เอาให้มันรู้ แล้วพิจารณาอาการของใจ ร่างกายมันพิจารณาพอแล้วเหรอมันจึงไม่เอา (ไม่เอาค่ะ) ไม่เอาก็ให้มันพิจารณาตั้งแต่อาการของจิตมันคิดไปยังไง ปรุงไปยังไง ให้ดูอาการนั้นนะ ดูเข้าไปย่นเข้าไปๆ
โยมอินโดฯ ใจไม่มีอะไร ไม่รู้สึกอะไร ไม่ห่วงต่อใคร ไม่กลัวต่อใคร พิจารณาร่างกายมันจะเจ็บปวดอะไรก็ไม่สนใจ เอาแต่จิตอย่างเดียว เวลาเดินจงกรมเช่นเดียวกัน
หลวงตา ให้ดูอาการของจิตมันคิดไปยังไงๆ นะ มันคิดยังไงมันก็จะออกจากนี้ๆ มันจะตามเข้าไปให้ถึงตัวจริงของมัน รากเหง้าของมัน
โยมอินโดฯ มันไม่มีอะไรรบกวนแล้วค่ะ
หลวงตา มันแน่ใจหรือว่ามันสิ้นสุดแล้ว มันไม่มีอะไรกับภายนอก แต่มันมีอะไรกับตัวเองก็ยังมี นั่นมันเป็นขั้นๆ นะ เป็นยังไงไม่มีอะไรแล้ว ในตัวเองมีไหม อีกนั่น
โยมอินโดฯ ใครจะพูดว่าอะไรก็ไม่ได้เอามาติดใจอะไร ตรงนี้ไม่มี ปล่อยออกไปหมด
หลวงตา เจ้าของยังไม่ปล่อยเจ้าของ ให้พิจารณาอยู่ในเจ้าของก็ยังบอกแล้ว กับผู้รู้มันจะคิดอะไรปรุงอะไรมันเกิดมันดับๆ ลงไปจุดนั้นละ เอาแค่นั้นเสียก่อน พอ เอ้าให้รางวัลภาวนาเก่ง ให้ใหญ่ๆ ถ้าอยากได้ใหญ่กว่านี้ไปเอาถังน้ำนั่นไป
ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาตามกำหนดการ ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th |