เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๗
ฝึกจิตใจเป็นขั้นๆ
วัดป่าที่เป็นวัดอันดับหนึ่งๆ มีวัดภูวัว เป็นอันดับหนึ่ง เอกอีกด้วย นอกนั้นก็อันดับหนึ่งๆ เรื่อยมา วัดศรีชมภู วัดผาแดง วัดภูสังโฆ เป็นประเภทที่หนึ่งๆ ทั้งนั้น วัดดอยนั่นพระจะมากเท่าไรไม่ทราบนะ วัดดอยธรรมเจดีย์ ที่เราไปมาหลายปีมันหกเจ็ดสิบนะ หลังจากนั้นแล้วเราก็ไม่ได้ไป เลยไม่ทราบว่าพระจะมีจำนวนสักเท่าไร วัดนาคำน้อย หนึ่ง ที่หนึ่งๆ สะดวกเป็นที่หนึ่งเลยละ นอกจากนั้นเข้าไปลึกๆ ก็มี แต่พระไม่ค่อยมีมาก นี่หมายถึงว่าสถานที่พระบำเพ็ญจำนวนมากด้วยกัน แล้วก็เป็นสถานที่เหมาะ คือสถานที่เหล่านี้แหละ อย่างภูสังโฆ ไปที่ไหนก็ได้ ผาแดงเป็นเขา ไปที่ไหนก็ได้สะดวกสบาย วัดดงศรีชมภู กว้าง ไปที่ไหนก็ได้สะดวก การบำเพ็ญสะดวกมากทีเดียว แล้วก็วัดไหนบ้างนา เราก็จำไม่ค่อยได้
แต่ก่อนมันมีสิ่งบังคับด้วย ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว มีความมุ่งมั่นต่อธรรมอย่างแรงกล้านี้ จึงต้องอาศัยที่เช่นนั้นแหละ เช่นที่มีเสือชุม เสือมีอยู่ทั่วไปแต่ก่อน แต่ที่เสือชุมก็มี นั่นละพระกรรมฐานท่านมักจะไปอยู่ที่อย่างนั้นๆ เป็นเครื่องบังคับจิตไม่ให้เผลอสติ สติเป็นสำคัญมากการประกอบความเพียร สติดีเท่าไรความเพียรเรียกว่าต่อเนื่องกันไปเลย สติเป็นเครื่องคุ้มครองภัยทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่พื้นๆ ถึงที่สุดของธรรม สตินี้ปราศจากไม่ได้เลย เราอยากเห็นความสามารถของตนอย่างไรบ้าง มักจะไปทดลองหรือทดสอบกันอยู่ในป่าลึกๆ อย่างนั้น ในภูเขา
แต่ก่อนป่ามีที่ไหน เสือมี เป็นธรรมชาติของเขาอย่างนั้น อย่างทางภาคอีสานนี้ ภาคไหนก็เหมือนกัน พวกสัตว์พวกเนื้อพวกเสือชุม เสือนี้อาศัยกินเนื้อกินสัตว์ เมื่อพวกสัตว์พวกเนื้อชุมที่ไหนเสือก็มี แล้วที่เช่นนั้นละเป็นที่ดัดสันดานได้ดี คือเวลาไปแล้วมันไม่มีที่พึ่ง เอาธรรมเป็นที่พึ่ง เกาะกับธรรม เมื่อเกาะกับธรรมแล้วก็ปลอดภัย ความกลัวทั้งหลายมันก็หดเข้ามา มาสู่ธรรมแล้วความกลัวมันก็ไม่คิดออกไป สติอยู่กับใจ บังคับใจเอาไว้ ใจเมื่อได้รับการอารักขาสืบเนื่องกันไปก็มีกำลังขึ้นๆ
เดี๋ยวนี้มันมีแต่ป่านะ พวกที่ว่านี่ไม่มี พวกเนื้อพวกสัตว์ต่างๆ เสือนี้ไม่มี ถ้าพูดถึงเรื่องเครื่องดัดสันดานก็ไม่สมบูรณ์ แต่ก่อนเครื่องดัดสันดานเหล่านี้มีอยู่ทั่วไป บุกเข้าไปๆ เลย แล้วก็เห็นกำลังใจตัวเอง เห็นเป็นลำดับ อยากเห็นกำลังใจตนเองและความสามารถของตนเองให้ไปอยู่ที่เช่นนั้น ทดลองทดสอบกันอยู่นั้นเป็นสนามรบเลย จิตเมื่อไม่เผลอสติ ตั้งอยู่เสมอแล้วดี เรียกว่าปลอดภัย มีสติรักษาแล้วปลอดภัย ถ้าสติเผลอไปเมื่อไรแล้วความเพียรก็ขาดองค์ เบาลง ขาดองค์ ถึงจะนั่งสมาธิ เดินจงกรมก็มีแต่กิริยาอาการ ส่วนจิตไม่ได้ทำงานเพื่อผลประโยชน์แก่ตัวเอง เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนเรื่องสตินี้สำคัญมาก ใครต้องถือสติเป็นสำคัญ
แม้แต่ภายนอกสติก็สำคัญอยู่ วันไหนเราคิดมาก คิดเรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวาย แม้แต่เขียนหนังสือก็ไม่เป็นตนเป็นตัว เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียน เพราะสติไม่อยู่ จิตก็เร่ร่อน เขียนก็สักแต่ว่าเขียนไป ถ้าสติจ่อนี้อะไรก็เป็นการเป็นงานไปหมด ท่านว่า พละ ๕ คือกำลัง พละ ๕ หรืออินทรีย์ ๕ ความเป็นใหญ่ ๕ ประการ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เรียกว่า พละ ๕ หรืออินทรีย์ ๕ อินทรีย์ แปลว่าความเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ในตัวเองๆ เช่น ตาเป็นใหญ่ในตา หูเป็นใหญ่ทางเสียง เป็นใหญ่ไปคนละทางๆ แล้วธรรมเหล่านี้เป็นใหญ่ทั้งนั้นๆ รวมกันแล้วเป็นพลังอันสำคัญมาก ศรัทธาความเชื่อมั่นนี่สำคัญ จากนั้นความเพียรก็ก้าว สตินี่ควบคุมไปเรื่อยๆ จิตก็สงบ นั่น จากสงบก็พาก้าวออกทางด้านปัญญาเพื่อความหลุดพ้น พ้นได้ไปเลย นั่น จึงเรียกว่าอินทรีย์ ๕ หรือพละ ๕ ธรรมนี้เป็นกำลัง มี ๕ ประการ ส่วนอินทรีย์นี้หมายถึงความเป็นใหญ่
เดี๋ยวนี้มันจะได้ยินแต่ชื่อของศาสนาที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นแก่นเป็นสารจริง ๆ นะ จะได้ยินแต่ชื่อ ตัวเองไม่ประกอบไม่ทำก็ไม่เห็นผล ทีนี้กำลังอะไรก็ไม่มี ความเชื่อมั่นในศาสนานี้ก็ไม่มี เชื่อไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี ปู่ ย่า ตา ยายพาเชื่อมาก็เชื่อมา ถ้าลงได้เห็นประจักษ์ในจิตแล้วมันฝังลึกนะ ปั๊บทันทีเลย ฝังลึก ศรัทธาความเชื่อมั่นในความรู้ความเห็นของตน ทีนี้วิริยะก็มา ทุกสิ่งทุกอย่างก็มารวมกัน ธรรมพระพุทธเจ้านี้เป็นเครื่องถอดถอนกิเลส หรือบรรเทาทุกข์เป็นลำดับลำดา ถึงขั้นถอดถอนกิเลสเป็นลำดับไป
พุทธศาสนาเป็นศาสนาชั้นเอก มีศาสนาเดียวที่จะทำประโยชน์ให้โลกได้อย่างสมบูรณ์แบบตามกำลังของตัวเอง คือเราต้องขึ้นสนามขึ้นเวทีเสียก่อนมันถึงได้รู้แขนงต่างๆ ของพุทธศาสนาไปทุกแง่ทุกมุม รู้ไปหมด สิ่งที่ไม่เคยเห็นในตำรับตำรามันก็เห็นในใจ รู้ในใจ เชื่อในใจ เป็นลำดับลำดา อย่างงั้นละ ใครจะละเอียดลออยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าที่สอนให้ละกิเลส มีที่ไหน ไม่มี ส่วนพุทธศาสนาสอนให้ละกิเลส ประเภทหยาบโลนลดลงมาๆ ประเภทหยาบโลนก็สร้างกองทุกข์ให้มาก ลดลงมาก็สร้างกองทุกข์ ลดลงๆ จนสิ้นกิเลสแล้วไม่มีทุกข์ นั่น ไม่มีทุกข์เลย ผู้สิ้นกิเลสภายในใจไม่มีทุกข์
อย่างนี้เราไม่เคยเห็นในจิตเราก็ไม่เชื่อ ทุกข์ก็หมดทั้งตัวเราเลย พอใจหวั่นอันเดียวเท่านั้นละกระเทือนไปหมดทั่วร่างกาย ไม่มีวรรคมีตอน ไม่มีเกาะมีดอน เป็นทะเลแห่งความทุกข์ไปหมด ความวุ่นวายไปหมด ถ้าจิตมีความสงบเย็นด้วยการฝึกอบรมแล้ว มันจะเป็นวรรคเป็นตอนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตสิ้นจากกิเลสรู้หมด ใครไม่รู้ก็ตาม ไม่ถือใครเป็นสักขีพยาน ไม่มี แน่อยู่ในตัวเองหมดเลย แม้แต่บรรดาพระสาวกทั้งหลายที่เข้าทูลจะถามปัญหาพระพุทธเจ้า พอไปแล้วบรรลุธรรมกลางทางเสียกลับคืนมาเลย ไม่ไป นั่นเห็นไหม บรรลุธรรมเดี๋ยวนั้น หายความสงสัยไปหมดเลย จะไปถามพระพุทธเจ้าแง่ใด แน่ะ แง่นี้ก็รู้แล้ว กลับคืนเลย มีในตำรา
ความรู้ที่ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก รู้ด้วยตนเอง ผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้รู้ผู้เห็น ผู้ปฏิบัติไม่รู้ อย่างท่านว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะรู้โดยจำเพาะตนเท่านั้น ผู้ไม่ปฏิบัติไม่รู้ สนฺทิฏฺฐิโก ก็เหมือนกัน เห็นผลงานของตัวเองโดยลำดับลำดา เหมือนเรารับประทาน เผ็ด เค็ม เปรี้ยว หวาน มันก็รู้กันไปโดยลำดับ ความอิ่มมันก็หนุนกันขึ้นมา หนุนกันขึ้นมาไปพร้อมกัน ก็อิ่ม แน่ะ พอ จิตใจเมื่อเวลาชำระกิเลสออกแล้วความหิวโหยก็ลดลง
เพราะความหิวโหยนี่เป็นเหตุให้ดีดให้ดิ้น ตาก็อยากดู หูอยากฟัง คือตาก็หิวอยากดู หูหิวกระหายอยากฟัง ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่ความหิวออกมาจากหัวใจที่เป็นตัวหิว ส่งกระแสออกมาทางด้านนั้นด้านนี้ เป็นทางออกของความหิวโหยของกิเลสนั้นแหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้ เป็นทางออกแห่งความหิวโหยของกิเลส หิวอยากได้เห็น อยากได้ยินได้ฟัง อยากทดลอง อยากสัมผัสสัมพันธ์ มีแต่อยากกับอยาก มันก็มีเครื่องรับกัน ถ้าอยากดูก็ตา ออกทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สัมผัสสัมพันธ์เรียกว่าทางกาย ก็ลงไปจากใจ ใจนี้อยาก กิเลสตัวทำให้อยากฝังอยู่ที่ใจ จึงทำใจให้เป็นเรื่องอยากไปหมด แล้วก็ออกไปตามแขนงต่างๆ
พอสิ่งเหล่านี้ลดลงๆ ความอยากลดลง ความทุกข์ก็ลดลง ลดลงๆ ทำกิเลสหมดโดยสิ้นเชิง ความอยากอะไรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มี ก็ดูไปธรรมดา ถ้าอยากก็เพื่อเหตุเพื่อผล ไม่ใช่อยากเพื่อกิเลส แน่ะมันต่างกันนะ อยากเห็นอยากดูอย่างนี้ก็เป็นอรรถเป็นธรรมไปหมด ไม่ได้เป็นกิเลสเหมือนแต่ก่อนที่กิเลสฝังลึกอยู่ในใจ บังคับใจให้อยากทะเยอทะยาน นั่นละเมื่อเวลามันหมดเชื้อแห่งความอยากอยู่ภายในใจแล้ว อะไรก็ไม่อยาก ท่านพอ จึงเรียกว่าพอ แล้วทุกข์ก็ไม่มี เมื่อความหิวความกระหายหมดเสียอย่างเดียว ความทุกข์ก็หมดโดยสิ้นเชิง
ธรรมะพระพุทธเจ้าจะต้องเกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติ ถ้าไม่มีปฏิบัติก็ฟังกันไป ได้ยินกันไป เชื่อกันไปอย่างงั้น มันไม่ได้ฝังลึกนะ ถ้าลงมันได้หยั่งเข้าถึงใจแล้วมันฝังลึกเป็นลำดับลำดา เลยไม่สนใจจะไปเชื่อใคร ความรู้ความเห็นนี้เป็นขึ้นกับตัว สมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องถามใคร นั่นเป็นอย่างงั้นนะ ท่านจึงสอนให้มีการปฏิบัติ ศาสนาพุทธเราสอนให้ปฏิบัตินะ ไม่ได้สอนลมๆ แล้งๆ ปล่อยทิ้งไปเฉยๆ สอนแล้วให้ปฏิบัติด้วย ทางชั่วก็ให้ละด้วย ทางดีก็ให้บำเพ็ญด้วย ท่านสอนให้ปฏิบัติทั้งการละการบำเพ็ญสอนด้วยกัน ผลจะเกิดขึ้นมา ทางละก็ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกิเลสมันก็เบาลง ทางการบำเพ็ญความดี มีความดีงามมากขึ้นความสุขก็เพิ่มขึ้นๆ
นี่เรื่องของศาสนาพุทธเรา เป็นศาสนาที่แปลกจากโลกทั้งหลายอยู่มากทีเดียว ไม่มีศาสนาใดเหมือนเลย พิสูจน์กับหัวใจของผู้ปฏิบัติและรู้ธรรมเห็นธรรมจากการปฏิบัติของตนมากน้อย จะมีความเชื่อมั่นแน่นหนามั่นคงขึ้นไป จนกระทั่งถึงความรู้ความเห็นเต็มเปี่ยมแล้วหมดความสงสัยเลย ไม่มีอะไรเหลือ นี่พุทธศาสนา ทีแรกเราก็พูดถึงเรื่องสถานที่บำเพ็ญ นั่นละเป็นพื้นที่ที่จะสั่งสมธรรมขึ้นในใจ เช่นอย่างภาวนาไปเที่ยวอยู่ที่นั่นที่นี่ ที่ไหนดีมันต่างกัน เช่นอย่างที่ที่ว่าสงบวิเวกมาก มีที่น่ากลัวมาก นั่นเป็นที่เหมาะสมมากสำหรับผู้บำเพ็ญธรรมด้วยความมุ่งมั่น ในธรรมขั้นสูงเท่าไรยิ่งหาแต่ที่เช่นนั้น คือมันช่วยได้ดี ช่วยได้ดี
อยู่ในป่านี้สติไม่ได้ปราศจากตัวเอง นี่ก็เพราะสิ่งแวดล้อมข้างนอกที่จิตมันไปสำคัญว่า ที่นั้นเป็นภัย ที่นั้นเป็นสัตว์ ที่นั้นเป็นเสือเป็นอะไร มันระวังมันก็เข้ามานี่ มันไม่ออก ทีนี้ระวังอยู่ตลอดจิตก็ได้รับการบำรุงรักษาตลอด มันก็เพิ่มกำลังเข้าไป เพิ่มกำลังเข้าไป ท่านจึงสอนให้อยู่ในป่าในเขา ที่สงัดวิเวก เป็นขั้นๆ ในป่าก็ดี แล้วแต่ใครจะเลือกเอาตามจริตนิสัยของตน ป่าที่เด็ดๆ ก็มีอย่างที่ว่านี่ พวกสัตว์พวกเสือพวกเนื้อพวกอะไรที่น่ากลัว ที่เช่นนั้นจะประมาทไม่ได้ กลางวันเดินจงกรมอยู่เสืออาจโผล่มาก็ได้ เพราะไปอยู่ป่าเขานี่ เสือมันชุมแต่ก่อน ในเมืองไทยของเรา เฉพาะอย่างยิ่งอย่างภาคอีสานนี่ดงไหนป่าไหนมีเสือทั้งนั้น มีสัตว์ทั้งนั้น แล้วภาคไหนก็เหมือนกัน เข้าไปสู่ที่ไหนก็เป็นที่ดัดสันดานได้ดี เหมาะสมๆ
พอพูดเช่นนี้เราก็ระลึกได้ที่ว่า เราบุกป่ากลางคืน ก็อย่างงั้นแล้ว เดินบุกป่าเลย ไปพักที่พักของเก่าเขา เขาก็มาจัดให้ นั่งทำอะไร ๆ สักเดี๋ยวเก้งมันร้องโก้กๆ ขึ้นข้างๆ นี่ แถวนี้มันมีเก้งเหรอ โหย มีเก้งอะไรมีกระทั่งเสือ เขาว่างั้นนะ ป่าเขาละเหล่านี้น่ะ ว่างั้น นี่ก็ไม่ใช่เป็นที่เด็ดเดี่ยวอะไรมากนัก แต่มันหากเป็นเวลานั้นแหละ พอได้ยินเสียงเก้งมันร้องโก้ก ๆ เลยถาม เอ้า แถวนี้ก็มีเก้งเหรอ เราว่างั้น โหย มีเก้งอะไรมีกระทั่งเสือ เขาว่างั้น ก็ไม่ใช่เป็นป่าที่เด็ดเดี่ยวอะไรมากละ และตอนที่เขาว่ามันก็เฉยๆ มันก็ไม่เห็นคิดอะไร บทเวลาเดินจงกรม อ้าว เสือมาแล้วนะ ที่ว่ามีกระทั่งเสือ เสือมาหมอบอยู่ตามทางจงกรม เสือหลอกตัวเองไม่ใช่เสือแท้ เดินจงกรมอยู่เหมือนว่าเสือหมอบรอจะกินเราคนเดียว
นี่ที่จะได้ดัดกัน เดินจงกรมไปนี่มีแต่เสืออยู่สองฟากทาง ความกลัวมันก็กลัวมากละซี ทีนี้มันก็พลิกกลับปุ๊บ เอ้าเสือที่มันมีอยู่มากๆ นี่ตามความหลอกเจ้าของ สัญญามันหลอก มันไม่มีเสือสักตัวแหละมันหลอก สังขารนี่หลอกตัวเอง ถ้าอย่างงั้นจะให้ตัวไหนกินก่อน ตัวไหนใหญ่ที่สุดให้ตัวนั้นกินก่อนนะ พูดเจ้าของ ตัดสินในเจ้าของ แล้วกำหนดดูมันก็มีหลอกว่า ตัวนั้นใหญ่กว่าเพื่อนอยู่ตรงนั้น บุกเข้าไปตรงนั้นมันไม่มี มันหลอก แต่สติไม่ถอยนะ สติจับอยู่นั้น ไปตัวนี้ไม่มี แล้วตัวไหนอีก ตัวนั้นอีกไปตัวนั้นไม่มี หนึ่งสองแล้วโกหกเรา นั่นจับเรื่อยไป
ไปที่ไหนว่ามีเสือที่ไหน เดินไปไหนมันไม่มี โอ๊ นี่มันโกหกตัวเอง จากนั้นก็เดินพุ่งออกทางจงกรมเข้าป่าเลย เอาที่นี่จะไปหาที่กลัวๆ มันกลัวตรงไหนจะบุกเข้าไป ก็มันทำแล้วนี่น่ะ พูดได้อย่างอาจหาญชาญชัย จะไปโกหกใครก็เจ้าของทำเองอยู่แล้ว เดินบุก ตัดสินใจ เอ้า ถ้าหากว่าจิตใจไม่กล้าหาญชาญชัยเสียก่อนเราจะไม่กลับ มันไปถึงไหนก็ไปกลางคืนบุกเลย ไปไม่นานนะ บังคับพิจารณาดู ตรงนั้นก็เหลว ตรงนี้ก็เหลว มีแต่เรื่องสังขารหลอกเราตลอด เอ๊ นี่มันหลอกเราอย่างนี้ตลอด จับได้ ๆ
ต่อไปมาเห็นความโกหกของจิต จิตก็ถอยเข้ามาไม่ไปหมายเสีย พอถอยเข้ามาแล้วมันก็สร้างกำลังขึ้นเป็นความแน่นหนามั่นคงปึ๋งเลยที่นี่ ไม่มีกลัว ไปที่ไหนก็ได้หมด ขณะก่อนนั้นมันกลัวจนกระทั่งตัดสินใจจะให้ตัวไหนกินก่อน คือมันกลัวมาก ให้เสือตัวใหญ่ๆ กินก่อน ครั้นต่อไปผ่านไป ๆ ตัวไหนมันก็ไม่มี ๆ เดินบุกออกเลย จนกระทั่งเกิดความกล้าหาญในป่านั้นแหละ ทีนี้กำหนดดูอะไรไม่มีกลัวเลย เอ้า ครอบมาหมดทั่วโลกเหล่านี้มันกลัวอะไร ไม่มีเลย สมมุติว่าเดินไปนี้เสือมามันจะเดินเข้าไปหา ไม่ว่าอะไรเดินเข้าไปหาได้สบาย ๆ เวลามันกล้านะจิต เมื่อมันกล้าจริงๆ แล้ว นี่ไปหาอะไร กลับคืนมันกล้าแล้ว
นี่ได้ทำมาแล้ว ได้เห็นผลอย่างงั้น คือสละตายเลยเทียว อะไรจะกินก็ให้กินเลย เมื่อมันสละแล้วมันก็ถึงธรรม เลยไม่กลัว นั่นละที่ว่าอยู่ในป่าได้ระวังอยู่ตลอด ถึงไม่ทำเด็ดแบบนั้นก็ระวังอีกแบบหนึ่ง คือระวังตัว สติอยู่กับตัวภัยย่อมไม่มี ภัยของใจที่จะเกิดความทุกข์ความกระวนกระวาย เพราะการส่ายแส่ของจิต คิดหาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาหลอกตัว ทีนี้อันนี้มันหมดไปมันก็ไม่มีอะไรหลอก จิตก็สง่าผ่าเผยขึ้นมา เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนให้อยู่ในป่าในเขา อย่างน้อยก็เพื่อความสะดวกสบายในการบำเพ็ญ ผู้คนหญิงชายไม่ค่อยเข้าไปพลุกพล่านวุ่นวายในป่าในเขาเช่นนั้น หรือป่าช้าอย่างนี้ คนส่วนมากกลัวผีในป่าช้า ไปอยู่ในป่าช้าคนก็ไม่เข้าไป อยู่ในป่าในป่าช้า แต่ผู้กลัวผีอยู่ป่าช้าแหละดี ได้ฝึกหัดทุกอย่างรู้ในตัวเองๆ วิธีการฝึกหัด อุบายวิธีการต่างๆ ไม่ต้องถามใครนะ มันหากเกิดขึ้นเองๆ จะพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ทันเหตุการณ์ หากเป็นไปเองในจุดๆ สุดท้ายก็ได้ผลขึ้นมาเป็นที่พอใจ
การภาวนานี้ก็มีขั้นตอนของจิตของสิ่งแวดล้อมข้างนอกเหมือนกัน ในเบื้องต้นจิตใจของเรายังตั้งไม่ได้ ไม่มีหลักมีเกณฑ์ ให้ยึดคำบริกรรมให้แน่น สติให้อยู่กับคำบริกรรม ไปอยู่ที่ไหนว่ากลัว อย่าส่งจิตออกไป ไม่ส่งออกไปหาสถานที่กลัว มันจะเพิ่มความกลัวมากขึ้น ให้อยู่ในนี้ เช่นเรากำหนดพุทโธก็ให้อยู่กับพุทโธ ไม่ต้องคิดถึงอะไร พวกเสือสาง พวกผีพวกอะไรเหล่านี้ที่มันกลัวๆ ไม่ให้มันคิดออกไป ให้อยู่กับนี้ๆ ต่อไปมันก็สั่งสมความแน่นหนามั่นคงขึ้นมาในใจ ทีนี้ก็ไม่กลัวอีก นั่นเป็นอย่างนั้นนะ ในขั้นที่ตั้งจิตยังไม่ได้ ให้เอาคำบริกรรมติดกับใจเลยแล้วตั้งได้
พอจิตเข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิแล้ว ทีนี้อยู่กับสมาธิแน่นหนามั่นคง ไม่คิดออกหาอะไร มันเป็นขั้นๆ ที่จิตจะได้เกาะได้อาศัย เวลาจิตไม่มีหลักก็ต้องเอาคำบริกรรมเป็นหลัก มัดไว้ตรงนั้นไม่ยอมให้คิด มันเสียดายอยากคิดนะ บังคับไม่ให้คิด ให้คิดอยู่กับคำบริกรรมอย่างเดียว สติติดแนบๆ ไม่นานจิตจะสงบขึ้นมา อันดับต่อไปที่จิตมีความสงบเย็นใจเป็นพื้นฐานแล้ว อยู่กับจิตที่สงบนั้นไม่คิดออกไปข้างนอก แต่อยู่กับความสงบที่มันเด่นอยู่ภายในใจนั้นมันก็ไม่กลัว
พอขั้นที่สามขั้นปัญญา ขั้นปัญญาไม่อยู่นะ ขั้นสมาธินี้จิตอยู่กับตัวไม่กลัว พอออกขั้นปัญญาแล้วออกพิจารณาไปละที่นี่ แยกธาตุแยกขันธ์แยกไปทุกแห่ง เอานี้เป็นงาน เอาวิปัสสนาคือความแยกธาตุแยกขันธ์ พิจารณาแยกๆ ก็เคยเขียนให้ผู้อ่านคงเคยได้อ่านแล้วเรื่องปฏิปทาของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น เมื่อจิตแยกเป็นปัญญา ทีนี้เห็นอะไรเป็นปัญญาไปหมด เห็นสัตว์ก็แยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้พุงของมัน เห็นคนก็แยก คิดไปทางไหนเป็นปัญญาไปเรื่อยๆ นี่ก็ไม่กลัว
อย่างสมมุติว่ากลัวเสือ กลัวอะไรมัน นั่นไล่เข้าไป กลัวขนมันหรือ ขนเราก็มี แน่ะมันแก้กัน กลัวตามันหรือ ตาเราก็มีไม่เห็นกลัวไปกลัวอะไรตาเสือ แน่ะ กลัวเขี้ยวของมัน เขี้ยวเราก็มีไปกลัวอะไรเขี้ยวเสือ แน่ะ มันแก้กันอยู่ในนั้นแหละ ไม่มีใครบอกนะมันหากแก้ของมัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่น่ากลัว กลัวเล็บมัน เล็บเราก็มีไม่เห็นกลัว ไปกลัวอะไรเล็บเสือ ไล่ไปๆ ไปถึงหางแทนที่มันจะจนมันไม่จนนะ ไล่ไปหมดของเราก็มีเทียบกัน เราไม่เห็นกลัว ไปกลัวอะไรของมัน ไล่มาถึงหาง หือ กลัวหางมันหรือ จะเอาหางของเราออกไป ก็เราไม่ใช่หมามันไม่มีหาง ใช่ไหมล่ะ กลัวหางมันเหรอ จะงัดเอาหางเราออก หางเราก็ไม่มี มันแก้อีกพลิกอีกอันหนึ่งนะ หือ กลัวหางมันเหรอ ตั้งแต่หางอยู่กับมัน มันยังไม่เห็นกลัว เราไปกลัวมันอะไร แน่ะ หางอยู่กับมันแท้ๆ มันไม่เห็นกลัว เราไปกลัวมันหาอะไร ไปอย่างนั้นเสีย
นี่เป็นปัญญาทั้งนั้นนะ แก้ไปๆ จนสภาพรูปอันนี้มันพอตัวของมันแล้ว รูปเหล่านี้หมด ที่แยกธาตุแยกขันธ์อะไรๆ นี้หมด จิตมันว่างไปแล้วที่นี่ มันไม่มีรูปมีอะไรละ ตั้งพุบดับพร้อมๆ ๆ จะแยกธาตุแยกขันธ์อย่างนี้แยกไม่ทัน นี่พลังของจิต กำลังของปัญญา เป็นอย่างนั้น แยกธาตุแยกขันธ์ ต่อจากนี้ไปอันนี้หมดสภาพเพราะจิตก้าวเข้าสู่ความละเอียด ก็เหลือแต่นามธรรม เช่นอย่างที่ว่า พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปได้แก่ร่างกายมันแยกหมดแล้ว มันผ่านไปๆ จากนั้นมันก็ว่าง พอปรุงขึ้นมาว่าเสือ ปรุงพับเหมือนแสงหิ่งห้อยแหละ ปรุงพับดับปุ๊บๆ จะแยกธาตุแยกขันธ์ไม่ทัน ดับแล้ว ก็เห็นแต่ความเกิดความดับ แน่ะเอาอีกแล้วนะ ปั๊บเข้าไปๆ เรื่อย นี่การพิจารณาฝึกจิตใจเป็นขั้นๆ ๆ
จนกระทั่งว่าง อะไรๆ ว่าง ไปที่ไหนก็ว่างหมด กลัวอะไร เรื่อยไปๆ จนกระทั่งย้อนเข้ามาสุดท้ายก็มาว่างในหัวใจตัวเอง หมด นั่นมันเป็นขั้นๆ นะ ว่างทางจิต ว่างทางสมาธิ ว่างทางด้านปัญญา จากนี้แล้วว่างในฐานของจิต พอหมดอันนี้แล้วมันก็ว่างไปหมด ทั้งฐานของจิตก็ว่าง อะไรก็ว่าง ปล่อยวางได้หมด นั่นหมด พิจารณาอะไรที่นี่ จิตถึงขั้นจะพิจารณาอะไรมันก็พิจารณา ไปถึงขั้นว่างแล้วจะพิจารณาร่างกายไม่ได้ละ มันไม่สนใจ มันอิ่มแล้ว จนกระทั่งปล่อยไปหมดแล้วพิจารณาอะไร เท่านั้นคำเดียว มันปล่อยเสียหมดทุกอย่างพิจารณาอะไร กรรมฐานคือทางเดิน พิจารณากรรมฐานคือทางเดิน เมื่อถึงที่หมายแล้วไปกอดบันไดอยู่หาอะไร ถึงบ้านเป็นบ้านแล้วนี่เราจะไปกอดบันไดอะไร ถ้าไม่ใช่บ้า
การพิจารณาเหล่านี้เป็นทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน เมื่อมันผ่านไปๆ เหมือนขึ้นบันไดขั้นนี้ข้ามไปๆ พอถึงบ้านปั๊บกับเราก็ขาดกันไป บันไดกับเรากับบ้านมันเป็นคนละส่วน เพราะฉะนั้นถึงว่าบาปว่าบุญเป็นเครื่องหนุนนะ บุญเป็นเครื่องหนุน หนุนเหมือนบันไดหนุน ส่วนบาปเป็นเครื่องดึงลง ท่านว่า ผู้ละบาปละบุญได้แล้ว บาปก็ไม่ทำ ละได้หมดโดยสิ้นเชิง บุญที่ทำอยู่ ที่มีความติดพันกับบุญซึ่งเป็นเหมือนบันได ติดพันกันไปเรื่อยๆ พอถึงที่ปั๊บแล้วบุญเป็นเครื่องหนุนก็เป็นบันไดไปเสีย จิตก็พ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นท่านถึงว่า ผู้มีบุญและบาปอันละเสียแล้ว ถึงขั้นสิ้นสมมุติโดยประการทั้งปวงแล้ว บุญก็เป็นสมมุติ บาปก็เป็นสมมุติ จิตเป็นวิมุตติ มาเกี่ยวข้องกันหาอะไร นั่น มันก็ชัดๆ อย่างนั้น
แล้วจะไปถามใคร ถามผู้ปฏิบัตินั่นเอง รู้ในตัวเอง นี่ละธรรมพระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านรู้นี้แล้วไม่มีหวั่น รู้เป็นลำดับลำดา อย่างที่เราพิจารณาสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็คือทางก้าวเดิน พอถึงที่แล้วก็จะมากอดบันไดคือเส้นทางอยู่ทำไม มันก็ปล่อยของมันเอง ปล่อยโดยสิ้นเชิง นี่ละถ้าปฏิบัติพุทธศาสนาของเรานี้คงเส้นคงวาหนาแน่นด้วยมรรคผลนิพพานนะ ดังที่เคยพูดข้อเปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนน้ำนี้เต็มสระอยู่ตลอด เป็นแต่เพียงว่าจอกแหนปกคลุมหุ้มห่อไว้ไม่ให้มองเห็นน้ำ ใครเข้าไปก็ปฏิเสธว่าน้ำในบึงในสระนี้ไม่มีๆ ทั้งๆ ที่มันเต็มอยู่ในนั้นแหละน้ำ แต่เพราะจอกแหนปกคลุมไว้เท่านั้น พอเปิดจอกเปิดแหนออกมากน้อย จะเห็นน้ำมากน้อยเหมือนกัน พอเปิดออกหมดจ้าเลย น้ำเต็มสระมาตั้งแต่เมื่อไร
นี่กิเลสปกคลุมใจซึ่งเป็นเหมือนกับสระอรรถสระธรรม ไม่มองเห็นอรรถเห็นธรรมได้ มีแต่กิเลสตัวมืดบอดปกปิด พอแก้ออกถอนออกๆ แก้กิเลสด้วยการบำเพ็ญทุกสิ่งทุกอย่างมารวมที่จิตตภาวนา พออันนี้ค่อยเปิดออกๆ พอเปิดออกมันก็แน่วแน่ลงไป เหมือนเราเริ่มเห็นน้ำแล้วในสระนี้ เปิดจอกแหนออกกว้างมากเท่าไรมันยิ่งเห็นชัด เปิดออกหมดก็เห็นชัด อ๋อ น้ำนี้มีมาแต่เมื่อไร นี่ละธรรมมีมาแต่เมื่อไร เป็นแต่เพียงกิเลสมันปกคลุมไว้ไม่ให้เห็นเท่านั้นเอง พอเปิดนู้นแล้วจ้าเลย ท่านถึงเรียกว่า อกาลิโก ไม่มีกาลเวลาที่จะมาทำลายได้เมื่อเราบำเพ็ญของเราอยู่ จะเป็นผลตลอดไป
เฉพาะอย่างยิ่งการภาวนาเป็นเครื่องตัดสินตัวเองเป็นลำดับลำดาไป เช่นอย่างในพระไตรปิฎก อันนั้นท่านแยกมาเพียงนิดหน่อยนะ อย่าว่ามากนะพระไตรปิฎก ปิฏกๆ แปลว่าภาชนะ สุตตันตปิฎก ภาชนะสำหรับรับรองพระสูตร พระวินัยปิฎก ภาชนะสำหรับรับรองพระวินัย อภิธรรมปิฎก เป็นภาชนะสำหรับรับรองธรรมขั้นสูงสุด คืออภิธรรม ก็มี ๓ ปิฎก ใน ๓ ปิฎกที่ท่านเอามานี้ท่านเอามาพอประมาณ ปฏิบัติในจิตซีในปิฎกเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม มันขึ้นในจิตนี้ยอมรับๆ ในนี้ พระไตรปิฎกเลยอยู่นอกไปๆ พระไตรปิฎกในอยู่นี้หมดแล้ว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ก็ตรัสรู้พระไตรปิฎกใน สอนโลกด้วยพระไตรปิฎกในจากความรู้ของพระองค์ล้วนๆ พระสาวกทั้งหลายปฏิบัติ สอนโลกท่านสอนจากพระไตรปิฎกของท่านภายในใจล้วนๆ จึงแตกแขนงออกกว้างขวางมากมาย พระไตรปิฎกเลยเป็นเรื่องเล็กน้อยไปนะ เมื่อมันแตกขึ้นภายในจิตแล้ว รวมอยู่นี้หมดแล้ว
ลงได้มารู้ในใจนี้มันก็แน่นอนๆ ไปเลย ไม่ได้ลูบๆ คลำๆ เหมือนที่เราเรียนนะ เราเรียนไปทั้งลูบไปคลำไป ความสงสัยแหละให้ลูบให้คลำไปเรื่อยๆ พอออกปฏิบัติรู้เห็นเป็นลำดับลำดา ความสงสัยเหล่านี้จะปล่อยไปๆ แม้ที่สุดสงสัยมรรคผลนิพพานก็หายสงสัย นั่น จากอันนี้ ถึงยังไม่ถึงนิพพานเวลานั้น สายทางที่จะถึงนิพพานเราจับได้แล้ว ทางนี้จะต้องถึงพระนิพพาน มันก็เชื่อไปโดยลำดับ เชื่อสายทางคือการแนะนำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เช่นธรรมเช่นวินัย เป็นสายทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน มันก็ถึงปึ๋งๆ เลย
เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติ ศาสนาก็เลยเป็นตำรับตำรา เป็นแบบเป็นแปลนไปเสีย เหมือนแปลนบ้านแปลนเรือนเต็มหับเต็มห้องไม่มีใครเอามาปลูก ไม่มีใครหยิบเอาแปลนบ้านชนิดต่างๆ ออกมากางมาปลูกสร้าง มันก็ไม่สำเร็จเป็นบ้านเป็นเรือน มันก็เป็นแปลนเต็มห้องอยู่นั้นแหละ นี่เรื่องธรรมะที่ท่านสอน ก็แปลนแห่งบาปแห่งบุญ แห่งมรรคผลนิพพาน อยู่ในนั้นหมดเลย ดึงแปลนออกมาปฏิบัติ ท่านสอนว่ายังไง สอนให้รักษาศีล รักษายังไง นั่น นี่วิธีการสอน นั่นพระไตรปิฎก แปลนท่านสอนว่าอย่างนั้น ให้ทำอย่างนั้นๆ เราก็ปฏิบัติตามนั้นแล้วก็เห็นผลๆ สมาธิเป็นยังไง แปลนศีล แปลนสมาธิ แปลนปัญญา แปลนวิมุตติหลุดพ้น จะเห็นอยู่ในนั้น เอาแปลนมาปฏิบัติจิตก็จะเลื่อนไปตามนั้นๆ แล้วพุ่งถึงเลย เหมือนเขาปลูกบ้านสร้างเรือนสมบูรณ์แบบ อันนี้การปฏิบัติบำเพ็ญตน สร้างอรรถสร้างธรรมในหัวใจของตน ตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งถึงสมบูรณ์แบบในธรรมในจิตเป็นอันเดียวกันเลย นั่น พากันจำเอาไว้นะ
พูดถึงเรื่องปฏิบัติ ไม่มีอะไรพิสดารยิ่งกว่าภาคปฏิบัติ ที่รู้ขึ้นจากภาคปฏิบัติรู้พิสดารกว้างขวางมาก พูดอย่างนี้เราไม่ได้ประมาทพระไตรปิฎกนะ อันนั้นท่านพูดไว้กลางๆ ท่านไม่ซอกแซกซิกแซ็ก พูดกลางๆ ถ้าจะเอามาทุกแง่ทุกมุม ผู้ฟังผู้ศึกษาเล่าเรียนจะฟั่นเฝือเหลือความสามารถแล้วท้อถอยน้อยใจไปเสียไม่ปฏิบัติตาม ท่านจึงเขียนไว้พอประมาณ ที่สมควรๆ เอาไว้ ที่ปลีกย่อยท่านไม่เอามา เอามาเฉพาะสมควร แต่เวลาปฏิบัติมันจะวิ่งถึงกันหมดเหมือนไฟได้เชื้อ เอา เชื้อไฟไม่ว่าเชื้อหยาบเชื้อละเอียดไฟจะไหม้ไปหมด ไหม้ไปเรื่อยๆ นี่เชื้อคือความจริง เชื้อไฟคือความจริงทั้งหลาย ไฟได้แก่ความรู้ความเห็น มันจะไหม้ไปเลย รู้ไปเลยเห็นไปเลยเรื่อยๆ นี่ธรรมภาคปฏิบัติภายในใจ มันรู้อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าก็รู้มาก่อนแล้ว สาวกก็รู้มาก่อนแล้ว ทำไมเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย เราจะรู้ไม่ได้สอนไม่ได้ตามกำลังของเรา มันต้องสอนได้พูดได้นั่นแหละ พากันจำเอานะ เอาละวันนี้พูดเท่านั้นพอ พูดธรรมะธัมโมเสียบ้างเถอะ มีแต่เรื่องสกปรก เราพูดจริงๆ อยู่กับโลก โลกมูตรโลกคูถสกปรก เดี๋ยวเรื่องนั้นมา เดี๋ยวเรื่องนี้มา มีตั้งแต่เรื่องมูตรเรื่องคูถ รำคาญนะ ถ้าพูดเรื่องอรรถเรื่องธรรมโล่งไปสบายไปอย่างนั้น มรรคผลของกิเลสมันพิลึกนะ มรรคผลของกิเลสมากจริงๆ มรรคผลนิพพานไม่ค่อยมี นี่มรรคผลของกิเลส อันนั้นช็อกโกแลต อันนี้หวาน อันนี้หอม อันนั้นดี มรรคผลของกิเลส ซัดกันวันยังค่ำ มรรคผลของนิพพานแห้งผาก มันเป็นอย่างนั้นนะเดี๋ยวนี้ มีแต่มรรคผลของกิเลสเต็มไปหมดไปที่ไหน มรรคผลของนิพพานไม่มี เอาละให้พร
ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาตามกำหนดการ ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th |