เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๗
บรรพชาอุปสมบทแล้วให้อยู่ในป่า
ก่อนจังหัน
พระตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติให้ได้สาระสำคัญๆ ไปปฏิบัติต่อตนเองและส่วนรวมนะ ที่มานี่หมายถึงมาศึกษา ตาให้ดูให้ดี หูฟังด้วยความพินิจพิจารณาทุกอย่าง อย่าสักแต่ว่าดูว่าฟังอะไร ไม่เกิดประโยชน์อะไรนะ คำว่าไปศึกษา ก็คือไปเสาะแสวงหาสาระสำคัญๆ นำไปปฏิบัติ ได้จากครูบาอาจารย์ไปแล้วเราเอานั้นเป็นหลักปฏิบัติ มัดจิตใจไว้กับสิ่งที่เราได้ศึกษามาแล้วนั้นปฏิบัติตามให้แน่นหนามั่นคง อย่าอ่อนแอนะ โลเลๆ ใช้ไม่ได้นะ สำคัญที่หลักใจไม่มี ข้อวัตรปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างอ่อนไปตามหมด ถ้าหลักใจดีแล้วจะแน่นหนามั่นคงไปเรื่อยๆ หลักใจดีเท่าไรยิ่งแม่นยำๆ ละเอียดลออ มันอยู่ที่ใจนะ
ใจที่จะได้หลักใจก็ต้องมาศึกษา เอาจริงเอาจัง การประพฤติปฏิบัติให้แน่นอนๆ อย่าทำจิตใจให้เหลาะแหละ ไม่เกิดประโยชน์เหลาะแหละ การภาวนาก็เอาให้ดี ใครอยู่ในธรรมบทใดให้สติติดแนบๆ ยังไงก็ต้องสงบ เป็นอื่นไปไม่ได้ ขอให้สติดีเถอะ สติจับกับคำบริกรรมถ้าเราอยู่ในขั้นบริกรรม สติจับกับคำบริกรรม คำบริกรรมติดกับจิต ไปไม่พ้น สงบแน่นอนเลย ส่วนมากก็คือมีตั้งแต่โลเลๆ สติตั้งไม่ชั่วถึงวินาทีไปได้ ๕ ชั่วโมง ได้ย้อนมาอีกสักครึ่งวินาทีไปได้ ๑๐ ชั่วโมง จ้างมันก็ไม่ได้ผล ตายทิ้งเปล่าๆ นะ ต้องเอาให้จริงให้จังทุกอย่าง ให้เล็งถึงศาสดาองค์เอก เจาะจงทุกอย่างศาสดาของเรา ไม่ได้เหลาะแหละนะ เรามาปฏิบัติอย่าเหลาะแหละ เป็นภัยต่อศาสนา ต่อตัวของเรา ทีนี้ให้พร
หลังจังหัน
ไม่ค่อยหนาวเท่าไร เมื่อวานลง ๑๗ ตอนเราลงไปเดินจงกรมตอนตี ๓ จวนตี ๓ ลงไปเดินจงกรม เราดูปรอทลง ๑๙ นะ จากนั้นมาสองสามชั่วโมงมันก็ต้องลดลงอีกนะ คงจะอยู่ ๑๗ หรือ ๑๗ ครึ่ง ไม่ใช่ตี ๓ ตีสองครึ่งเราไปเดินจงกรม เราดูปรอท ๑๙ ตีสองครึ่งจนถึงสว่างมันก็สามชั่วโมงกว่าใช่ไหมล่ะ นั่นมันต้องลงอีก เวลาเราขึ้นมาเราไม่ได้ดูปรอท เราจะลงไปเราดู ลง ๑๙ ส่วนมากเราจะลงราวตี ๓ หรือตี ๔ ส่วนมากตี ๔ ลงเดินจงกรมตอนเช้าๆ หากผิดปรกติก็นานๆ มีทีหนึ่งเดินจงกรม
ในอปัณณกปฏิปทาสูตรท่านแสดงไว้ สำหรับความเพียรของพระที่เป็นความเหมาะสมเรียกว่ามัชฌิมา สม่ำเสมอวางไว้เป็นย่านกลาง นอนสี่ชั่วโมง แสดงในอปัณณกปฏิปทาสูตร ว่า ตั้งแต่ปฐมยามนี้ทำความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิ พอถึงมัชฌิมยามพักเสีย แล้วทำความกำหนดเอาไว้ นั่นฟังซิ เวลานอนก็ให้ทำความกำหนดเอาไว้ พอรู้สึกตัวแล้วจะตื่น จะลุก นี่อปัณณกปฏิปทา สอนไว้จุดศูนย์กลาง จะยิ่งกว่านั้นหย่อนกว่านั้นเป็นบางครั้งบางคราวก็ไม่เสียอะไรนัก
แต่ที่ว่าจุดศูนย์กลางคือนอนสี่ชั่วโมง แล้วก็ไปตื่นเอาตีสี่ สี่ชั่วโมง หนึ่งทุ่มถึงสี่ทุ่มเป็นปฐมยาม ห้า หก เจ็ด แปด สี่ชั่วโมงเป็นมัชฌิมยาม มัชฌิมยามนอน ปัจฉิมยามลุก ลุกแล้วก็จะเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาอะไรก็แล้วแต่ นี่เป็นความเพียรที่อยู่ในท่ามกลางพอเหมาะพอดี วางไว้เป็นกลางๆ สำหรับคนจำนวนมากที่ปฏิบัติความเพียร แต่ผู้ที่จะยิ่งจะหย่อนบ้างเป็นบางกาลเวลาสำหรับตัวเองนั้น มันเป็นตามอัธยาศัย เวลาจะเร่งมี เวลาหย่อนยานออกมาก็มี ก็ให้อยู่ในย่านนั้น นอกนั้นต่ำกว่านั้นก็ให้มีการระวังตัวเสมอ ไม่ใช่ต่ำลงจนจม
ท่านบอกเวลาพักนอนให้สำรวมระวังเจ้าของ มีสติเป็นสำคัญ อย่างผู้ที่จะแก้กิเลสถือสติเป็นพื้นฐานแห่งความเพียร ไม่ว่าจะขั้นใดๆ สติให้มี เมื่อสติมีแล้วก็ไม่ทำเวลาอะไรให้เสียไป เช่นจะทำข้อวัตรปฏิบัติอะไรนี้ สติอยู่ในนั้นกลายเป็นสัมปชัญญะไป ถ้ามันเกี่ยวข้องกับอะไร ถ้าอยู่นิ่ง ๆ เรียกว่าสติจ่ออยู่กับจิต พอเราทำงานทำการ เคลื่อนไหวไปมาความรู้สึกให้อยู่กับตัว ท่านว่าสัมปชัญญะ ผู้มีความเพียรประเภทนี้จะไม่ล่าไม่สาย ไม่อะไร จะพอเหมาะพอดีตลอด ไม่เสียเวล่ำเวลา
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างละเอียดลออมาก สอนส่วนมากต่อมากมีตั้งแต่เรื่องแก้กิเลส ชำระกิเลส ๆ ทางปริยัตินี้ท่านไม่ค่อยกล่าวถึงนะ มีผู้เรียนก็เรียน แต่ท่านไม่ค่อยกล่าวอะไรถึงมากนัก ไม่แสดงอาการชมเชย ส่วนภาคปฏิบัตินี้หนุนตลอด ทำความพากเพียรแก้กิเลส แสดงในคัมภีร์ไหนมักจะมีตั้งแต่ความเพียรออกหน้า ๆ เรื่องปริยัติมีไว้เท่านั้นแหละ ก็เหมือนอย่างอยู่ในป่า พระบวชแล้วขึ้นโอวาททันทีเลย รุกฺขมูลเสนาสนํ นี่พื้นฐานของพระบวชมาเพื่อชำระกิเลสตัณหาเพื่อความพ้นทุกข์ ขึ้นรุกฺขมูลเสนาสนํเลย พอบวชเสร็จก็ประทานพระโอวาทอันนี้ให้ โอวาทนี้จึงติดมากับอุปัชฌาย์ทุกองค์
อุปัชฌาย์องค์ใดบวชกุลบุตรไม่สอนนิสสัย ๔ นี้ เรียกว่าผิด นู่นน่ะฟังซิ ท่านเน้นหนักมาก ผิดองค์ของผู้เป็นอุปัชฌาย์ เช่น รุกฺขมูลเสนาสนํ ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ บังสุกุล แล้วก็ยาแก้ไข้ ขึ้นต้นก็รุกฺขมูลเสนาสนํ บรรพชาอุปสมบทแล้วให้ท่านทั้งหลายไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ในป่า ในเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา ป่าช้าป่ารกชัฏอะไร แล้วแต่เป็นความสะดวกในสถานที่เช่นนั้น เพื่อประกอบความเพียร ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับข้าศึกภายนอก จุ้นจ้านวุ่นวาย แล้วมิหนำซ้ำยังให้ทำความอุตส่าห์พยายามอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด ฟังซิของเล่นเมื่อไร ให้ทำความพากเพียรอย่างนั้น
นี่ท่านสั่งเข้าไปเลย ถึงขนาดที่ว่าเคลื่อนไปไม่ได้ พระทุกองค์ต้องได้รับโอวาทข้อนี้หลังจากบวชเสร็จแล้วท่านจะสอนอนุศาสน์ ๘ นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ นี้ทันทีเลย ส่วนทางวัดบ้านก็มีในหนังสือ อรัญวาสี แปลว่าผู้อยู่ป่า คามวาสี ผู้อยู่แดนบ้าน คือต่ำยิ่งกว่าหนึ่งกิโลขึ้นไปเรียกว่าวัดป่าได้ ต่ำกว่านั้นลงมาเรียกว่าคามวาสี เรียกว่าเขตบ้านหรือในบ้านได้ เข้ามาหาจนกระทั่งถึงตั้งวัดอยู่ในบ้าน ตั้งแต่ใกล้เข้ามาขาดจาก คือต่ำกว่าหนึ่งกิโลมาแล้วไม่เรียกว่าวัดป่า ตามหลักธรรมท่านแสดงไว้ เรียกวัดป่าตั้งแต่หนึ่งกิโลขึ้นไป เป็นป่าๆ ไกลเท่าไรก็เรียกว่าป่าเรื่อย ที่ต่ำกว่าหนึ่งกิโลมาเรียกว่าบ้าน ตั้งแต่ต่ำลงมา จนกระทั่งเข้ากลางบ้านก็เรียกว่า คามวาสี ผู้อยู่ในแดนบ้าน หรือบ้านเป็นปรกติ
อันนี้ไม่ได้บอกเน้นหนักเหมือนให้เข้าอยู่ในป่า ให้อยู่ในป่านี้เน้นหนัก คิดดูอุปัชฌาย์สอนต้องสอนโอวาทข้อนี้เลย นั่นเด็ดไหมล่ะ ส่วนในบ้านท่านไม่เห็นว่าอะไร ก็บอกไว้ในคัมภีร์ว่า อรัญวาสี คามวาสี ผู้อยู่ในป่า หรืออยู่แดนบ้าน ในป่าดังที่กล่าวตั้งแต่หนึ่งกิโลไปเรียกว่าป่า ต่ำกว่าหนึ่งกิโลมานี้เรียกว่าแดนบ้าน หรือในบ้านไปเลย แล้วแต่จะตั้งตรงไหน เรียกว่าแดนบ้านทั้งนั้น อันนี้ท่านไม่เห็นบอก ว่าบวชแล้วให้เธอทั้งหลายไปอยู่ในแดนบ้าน ตามบ้าน อันนี้ท่านก็ไม่เห็นบอก ท่านไม่เห็นถือ แล้วมันก็สมัครกันเต็ม เห็นไหมล่ะ ดีไม่ดีตำหนิพวกอยู่ป่าว่าวิกลจริตไปอีก เห็นไหมเหยียบหัวพระพุทธเจ้า
มันด้านขนาดไหนเวลานี้ คนอื่นว่าค่อยยังชั่ว ไอ้พระว่านี่ซิมันดูไม่ได้เลย แหม หยาบโลนมากที่สุด คำพูดคำนี้เรียกว่าเป็นภัยต่อพุทธศาสนาโดยตรง นับแต่พระพุทธเจ้าลงมา เหยียบลงมาเลย พุทธศาสนาเรียกว่าไม่มี ถูกเหยียบหมด จึงเป็นคำพูดที่หยาบโลนมากที่สุด สำหรับพระแล้วไม่ควรอย่างยิ่งเลย แต่มันด้านขนาดไหนมันพูดออกมาได้ เอาเทียบกันซิ ผู้อยู่ในป่าเป็นคนวิกลจริต นั่นเห็นไหมล่ะ มันพลิกตาลปัตร เทวทัตกับพระพุทธเจ้าฟัดกัน เทวทัตละคำพูดอย่างนี้ เป็นข้าศึกกับพระพุทธเจ้า เป็นภัยต่อพระพุทธเจ้า จะไม่เรียกว่าเทวทัตได้ยังไง เรียกได้ไม่สงสัยเลย ถึงไม่เรียกมันก็เป็นอยู่แล้ว
ท่านไม่ได้มีกำหนดกฎเกณฑ์พวกในบ้าน ท่านบอกไว้สอง ท่านก็ไม่ห้าม เพราะฉะนั้นจึงมีด้วยกัน แต่ทางแดนป่านี้บอกชัดเจนไปเลย บรรพชาอุปสมบทแล้วให้ไปอยู่ในป่าในเขาไปเลย จงทำความอุตส่าห์พยายามอย่างงั้นตลอดชีวิตเถิด ไม่ไปอยู่ท่านก็ไม่บีบบังคับ แต่อุปัชฌาย์ต้องสอน บีบบังคับอันนี้นะ อุปัชฌาย์ต้องสอนลูกศิษย์อันนี้ทั้งนั้น บีบบังคับ ไม่สอนไม่ได้ สำหรับกุลบุตรที่ฟังโอวาทแล้วไปอยู่แดนป่าแดนบ้านก็อย่างเราเห็นนี่ละ เพราะท่านไม่ได้ปรับเป็นพระวินัย มันเป็นธรรมอันหนึ่ง
พระก็ไม่มีมากแต่ก่อน พระราชามหากษัตริย์ตามคัมภีร์ท่านแสดงไว้นี่มีน้อยเมื่อไร เสด็จออกผนวชเป็นพระอรหันต์ ๆ ขึ้นมา เช่นมหากัปปินก็เป็นมหากษัตริย์นะนั่น มีมาก พวกมหากษัตริย์ออก มหากัปปินที่ว่านี้ก็เป็นพระอรหันต์ ไปอยู่ที่ไหน สุขํ วต สุขํ วต สุขหนอ ๆ ไปนั่งที่ไหนก็บ่นสุขหนอ ๆ จนพระทั้งหลายเกิดความสงสัย ว่าทำไม พระมหากัปปินถึงอยู่ที่ไหนก็เห็นบ่นว่า สุขํ วต สุขํ วต สุขหนอๆ แปลว่าอย่างงั้นนะ ท่านดูเหมือนจะเป็นเหตุ ท่านเคยครองราชสมบัติแล้วท่านออกมาบวช แล้วอยู่นี้จะเป็นความลำบากลำบน แล้วคิดถึงทางหอปราสาทราชมณเฑียร ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินคงจะสุขยิ่งกว่านี้ ดูว่างั้นนะ
พระสงฆ์ก็ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทราบขนาดไหนจึงต้องเรียกมา มาถามเหตุผล เพื่อจะเอาเหตุผลนี้สอนพระ ไหนได้ยินว่าเธอไปอยู่ที่ไหนสุขํ วต สุขํ วต ว่าอย่างงั้นใช่ไหม ว่าใช่พระเจ้าค่ะ เพราะเหตุไรว่ามา โอ๋ แต่ก่อนข้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินนี้ไม่ได้หลับได้นอนบางคืน ต้องสอดต้องแทรกต้องดู ปกครองบ้านเมืองนี้หาเวล่ำเวลาไม่ได้เลย ทั้งจิตใจก็คิดรอบอาณาจักรของตัวเอง แล้วยังรับผิดชอบทุกอย่าง วุ่นวายลำบากที่สุด แต่เวลาออกมาบวชนี้บำเพ็ญความพากความเพียร ชำระความวุ่นวายคือกิเลสตัวนั้นออกแล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข ๆ เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงได้ออกอุทานว่า สุขํ วต สุขํ วต นั่นเห็นไหมล่ะ จากนั้นท่านก็นำนี้มาสอนพระละซิ
พวกนี้มันเป็นยังไงถ้าถามนะ ถ้าเป็นอย่างอีตาบัวนี้จะถามว่า พวกเรานี่เป็นยังไงมาอยู่ในวัด ทุกฺขํ วต ทุกฺขํ วต ว่างั้นเหรอ มีแต่กองทุกข์ ไปอยู่ในบ้านจมอยู่ในมูตรในคูถ สุขํ วต สุขํ วต งั้นเหรอ ถ้าเป็นอีตาบัวจะถามว่างั้น แล้วอีตาไหนจะตอบมาก็ตอบมาซิน่ะ มันเป็นอย่างนั้นทุกวันนี้ บวชไล่เข้าป่าไม่ยอมไป ตำหนิติเตียนว่าเป็นวิกลจริต มันอยู่ในบ้านมันเป็นยังไง มันสุขํ วต เหรอพวกนี้น่ะ เราอยากว่า อยากเปิดหัวใจใส่กันดู เอามาดูว่างั้นเลยนะ
นี่มันขนาดนั้นนะ มันกล้าหาญ คนเดียวเท่านี้กล้าหาญครอบโลกธาตุ จะมาว่าอะไร ใครจะมาคิดว่ายังไงไม่สนใจกองมูตรกองคูถ นั่นเห็นไหม อันนั้นสง่าเลยโลกเลยสมมุติ อยู่ในหัวใจนี้สง่าตลอดเวลา ที่ท่านว่านิพพานเที่ยง เที่ยงตรงไหน เที่ยงที่หัวใจ เวลาไหนจะมีลดหย่อนเปลี่ยนแปลงไปอะไรบ้าง ไม่มีเลย นั่นฟังซิ จึงว่านิพพานเที่ยง ธรรมชาติอันนี้ละเที่ยง ทีนี้เป็นอย่างนั้นจะพูดว่าสุขหนอๆ ไม่พูดได้ยังไง ก็มันเป็นธรรมชาติอันเดียวกัน เวลากิเลสพันหัวใจอยู่นี่ไปที่ไหนมีแต่ ทุกฺขํ วต ทุกฺขํ วต มีแต่ความทุกข์ความทรมานที่สุด ไม่มีอะไรเกินกิเลสเหยียบหัวใจสัตว์โลกละนะ เรื่องความทุกข์ความทรมาน อันนี้ความทุกข์มากทุกข์น้อย
เฉพาะอย่างยิ่งกามกิเลส เปิดให้ฟังชัดเจนเสีย เรื่องราคะตัณหา ตัวนี้เป็นตัวกดตัวถ่วง ตัวกว้านทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาหามันหมดเลย ความอยากได้ ความทะเยอทะยาน ความดีดความดิ้นนี้อยู่ในราคะนี้ทั้งนั้น ตัวนี้เป็นตัวใหญ่ เป็นมหากษัตริย์อันหนึ่ง อยู่ในวงวัฏฏะ มหากษัตริย์ในวงวัฏฏะก็คือราคะตัณหานี้ละ มันกดมันถ่วง แล้วมันดูดมันดื่ม ความดูดความดื่มก็อยู่กับมัน ความสร้างกองทุกข์ให้ก็อยู่กับตัวนี้แหละ ไม่มีอะไรที่จะอ้อยอิ่งยิ่งกว่าตัวราคะตัณหานะ มันกล่อมจิตใจให้เคลิ้มได้ๆ ของเล่นเมื่อไร ใครๆ ก็ตามเถอะ เรียนมาจรดเมฆเลยเมฆไปก็ตาม ถ้าลงยังไม่พ้นจากกิเลสตัวนี้แล้ว หมอบให้มันเหยียบอยู่ตลอดเวลา จะมาคุยโม้อะไรมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร คุยโม้อยู่กับกองมูตรกองคูถตัวนี้
ทีนี้เวลาชำระอันนี้ออกจากใจแล้ว จิตใจนี้จะดีดขึ้นเลยที่นี่ ไม่มีคำว่ากดถ่วง ดีดขึ้นๆ ทีนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันห่วงมันใยมันอยากได้ อยากร่ำอยากรวยอยากอะไร ถอนเข้ามาพร้อมกันหมดกับตัวนี้ พอตัวนี้ขาด สิ่งเหล่านั้นหมด นั่นเห็นไหมล่ะ ความอยากความทะเยอทะยานทั้งหลาย แม้ยังไม่สิ้นก็ตาม จะพูดว่าหมดมันก็เฉียดกันเลย หากยังไม่หมดนะ เพราะอวิชชายังอยู่ แต่เครื่องกดถ่วงทั้งหลาย ความทะเยอทะยาน ความดีดความดิ้นอยู่กับตัวนี้ทั้งหมดเลย พอฆ่าตัวนี้ได้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในจิตใจของเรานี้จะดีดขึ้นๆ ไม่ลง
เพราะฉะนั้นพระอนาคามีท่านบรรลุธรรมตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกสอบได้พระอนาคามี สอนได้ระดับ เช่น ๕๐% ตั้งแต่นี้จะขึ้นเรื่อยละ ๕๐% ๖๐% ๗๐% ขึ้นไปเรื่อยๆ พอร้อยเปอร์เซ็นต์ก็อวิชชาขาดสะบั้น ก็เรียกว่าอนาคาเต็มภูมิ จากนั้นก็ก้าวเข้าอรหัตมรรค เป็นอย่างนั้นนะ อนาคาเต็มภูมิความกดถ่วงทั้งหลายในจิตใจนี้จะไม่มี ขอให้ตัวนี้ขาดเถอะมันจะรู้ในทันทีทันใดเลย อะไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่กดถ่วงลงโดยลำดับลำดา อ้อยและอิ่งอะไรอย่างนั้นหมดตามๆ กันหมด มีแต่อันนี้ค่อยดีดขึ้นๆ เรื่อย ถ้าผู้ยังไม่ถึงขั้นภูมิอันสมบูรณ์เต็มที่ทีเดียวในเวลาบรรลุธรรมนะ คือบรรลุตั้งแต่ ๕๐% ๖๐% บางทีฟาดปึ๋งถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็มี มันแล้วแต่ผู้หนักผู้เบา การสอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็มี ได้ ๙๐% ก็มีใช่ไหมล่ะ ลดกันลงมาโดยลำดับ
อันนี้อนาคามีตั้งแต่ ๕๐% ไปนี้แล้วเรียกว่าสอบได้ ทีนี้เรื่องกดถ่วงแทบจะไม่มีละนะ ระดับสูงขึ้นไปความกดถ่วงออกๆ ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ถึงจะไม่สำเร็จถึงขั้นภูมิอรหัตบุคคลก็ตาม มันหมดไปเลย มันปล่อยของมันหมดเลย นี่จึงว่าราคะตัณหาหนักมากที่สุด โลกที่ตายกองกันอยู่นี้เพราะราคะตัณหาตัวนี้เอง ไม่ใช่ตัวใด เมื่อท่านสำเร็จพระอนาคามีแล้วท่านไม่กลับมาเกิดอีก คือท่านเลื่อนขึ้นเรื่อยไม่ได้ลงนะ เลื่อนขึ้นตามภูมิของท่านที่ยังไม่ได้ระดับ ถ้าผู้ถึงระดับแล้วก็เต็มภูมิเลย หมด นั่นเห็นไหมล่ะ นี่ละการบำเพ็ญให้มันเห็นประจักษ์ในหัวใจนี่นะ อยู่ในหัวใจออกมาพูด สนามรบอยู่ที่หัวใจ กิเลสอยู่ที่หัวใจ ธรรมอยู่ที่หัวใจ ฟาดกันขาดสะบั้นลงไปทำไมจะไม่รู้ พระพุทธเจ้าสอนให้รู้แท้ๆ
นี่ละจึงได้บอกให้ชัดเจนอย่างนี้เลย ไม่มีอะไรเกินราคะตัณหา ตัวนี้ตัวกดตัวถ่วงมาก ตัวอ้อยอิ่งมาก หลงเพลินกับมันนี้ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยนะ แล้วความกดความถ่วงความทุกข์ความทรมานทั้งหลายอยู่กับตัวนี้ พอตัวนี้ขาดลงไปแล้ว อันนั้นก็ดีดไปตามๆ กันหมดเลย ทีนี้ก็เบาหวิวๆ ๆ เลย ผู้ที่ยังไม่ถึงจุดเต็มภูมิก็ฝึกซ้อมเข้าเรื่อยๆ มันหากมีเครื่องให้ฝึกซ้อมอยู่ในนั้น เป็นเครื่องดูดดื่มให้ฝึกซ้อม ฝึกซ้อมๆ เรื่อย เขียนลบๆ เขียนเรื่อยลบเรื่อย จนกระทั่งมีความชำนิชำนาญในการเขียนการอ่านแล้วผึงเลย นี่อนาคามี ท่านจึงไม่กลับมาเกิด สิ่งที่จะให้มาเกิดคือราคะตัณหา ดึงสัตว์โลกให้มาเกิดตายกองกันอยู่นี้ พออันนี้หมดไปแล้วดีดขึ้นเลยไม่คืน จิตนั้นยังไปเกิดสุทธาวาส นั่นเห็นไหมล่ะ
พระอนาคามีตายแล้วไปเกิดสุทธาวาส เกิดก็เกิดตามขั้นภูมิของขั้นสุทธาวาสที่ได้แล้วนั่นแหละ เช่นสอบได้ ๕๐% ตายปั๊บก็เข้าสู่อวิหา อตัปปา เลื่อนขึ้นไป สุทัสสา สุทัสสี เลื่อนไป อันนี้มันจะฝึกของมันเองๆ ฝึกซ้อมได้ระดับนี้แล้วขึ้นระดับนั้น ที่ว่าตายแล้วไปอยู่ในขั้นอวิหานี่ เลื่อนขึ้นอตัปปา เลื่อนขึ้นสุทัสสา เลื่อนขึ้นสุทัสสี เลื่อนขึ้นอกนิฏฐา สุดภูมิของอนาคามี ไม่มีที่จะลงมา แม้ท่านบรรลุแล้วท่านยังรู้ภูมิของท่านที่จะไปอยู่ ในขณะนี้จะอยู่ภูมิไหนมันรู้แล้ว ตายเวลานี้จะอยู่ภูมิไหนชั้นใด อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา นี่จะอยู่ชั้นใด ภูมิจิตภูมิธรรมของเราขั้นใดเหมือนกับว่ามันบอกกันอยู่ตลอด มันบอกโดยหลักธรรมชาติ มันไม่มากระซิบกระซาบ หากรู้เป็นเครื่องวัดเครื่องเหวี่ยงกันอยู่อย่างนี้ เรื่อยๆ รู้อยู่ในนั้น
พระพุทธเจ้าสอนโลกหลอกโลกเมื่อไร เห็นเข้าไปก็ยอมรับทันที เหมือนองค์ศาสดาติดแนบๆ อยู่กับเรา พอถึงขั้นอนาคามีเต็มภูมิก็ถึงอกนิฏฐา จากนั้นก็มีอรหัตมรรค ก้าวเข้าไปเรื่อยๆ แล้วอวิชชาดับพรึบเลยไม่มีเหลือ ทีนี้หมดโดยประการทั้งปวง ขึ้นชื่อว่าสมมุติในสามแดนโลกธาตุนี้จะไม่มีอะไรติดใจของพระอรหันต์เลย แม้เม็ดหินเม็ดทรายไม่มี หมดโดยสิ้นเชิง นั่นท่านเรียกว่านิพพาน ดับหมดขึ้นชื่อว่าสมมุติไม่มีเหลือเลย จะดับอะไร คำว่านิพพานๆ แปลว่าดับ หรือปรินิพพาน ดับรอบไปหมดเลยก็ได้ นิพพานเป็นกลางๆ ดับ ปรินิพพานดับรอบหมดให้ชัดเจนขึ้นไป ก็คือดับสมมุติ
ในสามโลกธาตุนี้เป็นแดนสมมุติ แดนแห่งสัตว์ที่เกิดตายกองกันอยู่ทั้งนั้น จากนั้นก็ดีดผึงเลย หมดโดยประการทั้งปวง แล้วไม่มีอะไรอีกที่นี่ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์พอสิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วตั้งแต่บรรลุธรรมปึ๋งขึ้นไปเป็นอรหัตบุคคลแล้ว จึงไม่ได้ละกิเลสอีกเลย เพราะกิเลสสิ้นซากไปหมดแล้ว เอาอะไรมาดับมัน เอาอะไรมาชำระมัน มันสิ้นซากไปหมดแล้ว ตั้งแต่ขณะนั้นไปท่านจึงไม่ได้ประกอบความเพียรเพื่อละกิเลสตัวใดเลย ท่านจะอยู่ด้วยวิหารธรรมของท่าน วิหารธรรมความอยู่สบายในระหว่างขันธ์กับจิตที่ปฏิบัติต่อกันให้ถูกต้อง อายุขัยก็ยืนนาน นี่อันหนึ่ง อันที่สองพิจารณาในธรรมทั้งหลายของท่านอยู่ในนั้นเป็นประจำ บอกใครไม่ได้อันนี้ ท่านอยู่เพื่อธาตุเพื่อขันธ์ ปฏิบัติต่อกันให้เหมาะสม นี้ประการหนึ่ง ทิฏฐธรรม วิหารธรรม ธรรมเป็นเครื่องอยู่สบายในเวลายังครองธาตุครองขันธ์อยู่ นี่อันหนึ่ง อันหนึ่งท่านพิจารณาในธรรมทั้งหลาย
คำว่าธรรมนี้กว้างมากนะ ลึกตื้นหนาบางแห่งธรรม พิจารณาเรื่องสัตวโลกอีก เรื่องสัตว์ทั้งหลายอีก กว้างหาประมาณไม่ได้ นี่ท่านพิจารณาธรรม ท่านไม่ได้แก้กิเลส ไม่มี แก้อะไรก็ประจักษ์อยู่นั้นแล้ว นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ เลิศเลอขนาดไหน ขอให้รู้เข้าไปเถอะน่ะ มันเป็นเข้าไปนี้จิตใจจะค่อยดูดดื่มไปเรื่อยๆ เพราะรสของธรรมนี้ชนะซึ่งรสทั้งหลายหมดเลย พอปรากฏขึ้นเท่านั้นเริ่มชนะแล้ว แล้วยิ่งหนาแน่นขึ้นไปได้มากเท่าไรสิ่งเหล่านั้นยิ่งตกไปๆ ๆ ดีดผึงเลย นั่น
เราตายไปนี้ใครจะมาพูดอย่างนี้ ไม่ใช่คุยนะ นี่ถอดออกมาจากหัวใจมาพูด จึงไม่เคยสะทกสะท้านกับโลกธาตุใดสามแดนโลกธาตุ ที่จะมาว่าพูดโกหกพกลม พูดโอ้พูดอวดเราไม่เคยสนใจ ประสากองมูตรกองคูถมันเห่ามาจากปากมัน พวกปากมันกินขี้พวกสัตว์ว่าไง แล้วเห่าแล้วมันก็กลับไปอยู่มูตรอยู่คูถของเก่านั่นแหละ เหมือนหมาเห่าฟ้า เข้าใจไหมหมาเห่าฟ้า ฟ้าอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ มันก็เห่าของมันว้อกๆ ๆ มันไม่เคยเห็นฟ้า อันนี้มันไม่เคยเห็นนิพพานมันเห่าว้อกๆ ๆ เข้าใจหรือ มันเห็นแต่มูตรแต่คูถ นี่ละโลกที่ตำหนิธรรม มีแต่โลกมูตรโลกคูถทั้งนั้น เอามูตรเอาคูถไปแข่งธรรมได้ยังไง เหมือนกับเอากองมูตรกองคูถไปแข่งทองคำทั้งแท่งแข่งได้ยังไง พิจารณาซิ ใครดูก็รู้
อันนี้มูตรคูถของสมมุติทั้งหลาย จะไปแข่งธรรมทั้งแท่งของท่านได้ยังไง ไม่ได้แข่งช่างมันเถอะ ได้เห่าก็เอา ความหมายว่างั้น ได้เห่าแค่นี้ก็ยังดี ว้อกๆๆ โห พูดแล้วเราสลดสังเวชนะ พระพุทธเจ้าจึงท้อพระทัยในการสั่งสอนสัตว์โลก คือประหนึ่งว่ามันเลยที่จะสั่งสอนให้เป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ ให้หลุดให้พ้นไปเป็นวรรคเป็นตอนได้ มันมืดตื้อ พอธรรมจ้าขึ้นมาแล้ว โลกทั้งสามนี้เหมือนว่ามืดหมด ทั้งๆ ที่แต่ก่อนเราก็อยู่ในโลกนี้แหละ เขามืดเราก็มืด เขาแจ้งเราก็แจ้งเหมือนเขาไม่ผิดกัน แต่พอเวลามันผึงออกจากนี้แล้ว มองอันนี้ถ้าว่าโลกก็เป็นคนละโลกไปแล้ว นั่นละจึงท้อพระทัย ทั้งๆ ที่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าสั่งสอนสัตว์โลก พอตรัสรู้ขึ้นมาแล้วท้อใจไม่อยากจะสั่งสอนใครเลย
ถึงขนาดที่ว่าท้าวมหาพรหมมาอาราธนา พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ ท้าวมหาพรหมได้มาอาราธนาพระพุทธเจ้า ขอให้อยู่โปรดสัตว์ เวลานี้สัตว์โลกผู้มีธุลีเบาบางยังมีอยู่ พระองค์อย่าทำความขวนขวายน้อย ปรินิพพานไปเสียเลย ทั้งๆ ที่พระองค์ก็ทรงทราบยิ่งกว่าท้าวมหาพรหม นั่นละเรื่องของสัตว์โลก เรื่องของพระองค์ แต่เมื่อท้าวมหาพรหมมาหนุนเข้าเป็นที่สอง จนกระทั่งท้าวมหาพรหมมาอาราธนา ท่านรู้แล้ว ท่านรู้ก่อนท้าวมหาพรหมแล้วที่จะสอนมากน้อยเพียงไร ก็เป็นอย่างนั้น
เอ้า ยันเข้ามานี่ไม่ต้องพูดไปที่อื่น พูดอย่างไม่สะทกสะท้านนี่นะ มันเป็นในเราเหมือนกัน พอฟ้าดินถล่มอยู่หลังวัดดอยธรรมเจดีย์ ๕ ทุ่มเป๋งเลย จังหวัดสกลนครนั่น ผางขึ้นมาเท่านั้น โถ กายนี้สะดุ้งผึงเลยเทียวนะของเล่นเมื่อไร ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกัน กิเลสขาดสะบั้นลงจากใจ ใจดีดขึ้นนี้ทำร่างกายให้ดีดผึงไปตามๆ กัน ประหนึ่งว่าโลกธาตุหวั่นไหว ความจริงก็มีแต่ธาตุขันธ์กับใจนั่นแหละไหว มันรุนแรง เหมือนโลกธาตุไหวไปเลยเทียว มัน โอ้โหๆ ขึ้นเลย น้ำตานี้พรากๆ นี่ละขันธ์ตื่นเต้นกับธรรมชาติที่เลิศเลอนั้น ขันธ์ไม่ได้เลิศเลอแหละแต่มันสัมผัสกันอยู่ระหว่างขันธ์กับจิต ขันธ์นี้ตื่นเต้น
น้ำตาก็คือเรื่องของขันธ์ร่วง กายไหวก็อีกเหมือนกัน มันกระเทือนกันเกี่ยวข้องกันกับจิต ใครคิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น ใครคิดว่าจะรู้อย่างนั้นจะเห็นอย่างนั้น จะพูดอย่างนี้ขึ้นมาหรือจะอุทานอย่างนี้ขึ้นมา พอผางขึ้นมานี้ มองนี้มันจ้าไปหมดเลย ขึ้น โอ้โห ไม่ใช่เล่นๆ นะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้อย่างนี้ละเหรอๆ ซ้ำนะ ซ้ำอยู่กับหัวใจของเราที่มันเป็นขึ้นมานั่น ไปถามพระพุทธเจ้าที่ไหน เหอ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้อย่างนี้ละเหรอๆ ซ้ำอยู่นั่น มันถึงใจว่างั้นเถอะ มันพูดอะไรไม่ถูก เหอ พระพุทธเจ้าแท้เป็นอย่างนี้ละเหรอ ตรัสรู้อย่างนี้ เป็นอย่างนี้ละเหรอ พระธรรมแท้เป็นอย่างนี้ละเหรอ นั่นย้ำเข้ามา อ๋อ พระสงฆ์แท้เป็นอย่างนี้ละเหรอ นั่นเห็นไหม พุทธ ธรรม สงฆ์ เป็นอย่างนี้ละเหรอ สุดท้ายก็รวมกันเข้ามา เหอ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ยังไง นั่นมันเป็นแล้วนะนั่นน่ะ มันเป็นแล้วขณะนั้น พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ยังไง นี่หมายถึงว่ามันเป็นแล้วในจิต เป็นทองแท่งเดียวแล้ว เป็นธรรมธาตุล้วนๆ แล้ว
นี่ก็เคยได้ยกข้อเปรียบเทียบให้ท่านทั้งหลายฟังแล้ว เราเทียบเรื่องมหาสมุทร น้ำจะตกลงมาจากบนฟ้า หรือจะไหลมาจากคลองไหนๆ ก็ตาม พอเข้าถึงมหาสมุทรแล้ว น้ำนี้จะเป็นมหาสมุทรโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่เรียกว่าน้ำนี้มาจากบนฟ้า น้ำนี้มาจากคลองนั้นคลองนี้ไม่มี เป็นน้ำมหาสมุทรอันเดียวกันหมด แต่ก่อนที่ยังไม่ถึงมาจากบนฟ้าเรียกได้ มาจากคลองนั้นคลองนี้เรียกได้ทั้งนั้น มีกี่คลองเรียกได้ทั้งหมด พอเข้าถึงมหาสมุทรแล้วเรียกได้คำเดียวว่ามหาสมุทร แตะลงตรงไหนเป็นมหาสมุทรหมด เราจะแยกว่านี้มาจากคลองนั้นคลองนี้ไม่ได้ ฉันใดก็เหมือนกัน บรรดาพุทธบริษัทสัตว์โลกทั้งหลาย เท่ากับแม่น้ำที่ไหลมาจากที่ต่างๆ จะเข้ามาสู่มหาวิมุตติมหานิพพาน ผู้ไหลใกล้เข้ามาๆ ก็เข้ามา พอบรรลุธรรมปึ๋งแล้ว นั่นเป็นมหาวิมุตติมหานิพพานแล้ว เหมือนกับว่าน้ำนี้เป็นมหาสมุทรแล้ว เข้าใจไหมล่ะ มาจากที่ไหนๆ
เพราะคนผู้สร้างบารมีมีเหลื่อมล้ำต่ำสูง มีช้ามีเร็ว มีก่อนมีหลัง ต่างกัน จึงไหลเข้ามาเรื่อย ใครเข้ามาถึงนี้ก็เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานเหมือนกันๆ ใครถึงเมื่อไรปั๊บเป็นมหาวิมุตติมหานิพพานขึ้นทันทีๆ เหมือนกับแม่น้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทร พอถึงมหาสมุทรแล้วเป็นมหาสมุทรทันที เข้าใจไหมล่ะ นี่ละมันชัดเจนขนาดนั้นแล้ว ถึงขนาด หือ ขนาดนี้แล้วจะสอนใครได้ นู่นฟังซิน่ะ ลงขนาดนี้แล้วจะไปสอนใครได้ อยู่ไปกินไปวันหนึ่งๆ พอถึงวันเวลาแล้วก็ไปเท่านั้นแหละ ไปสอนที่ไหนเขาก็จะหาว่าบ้า นั่นเห็นไหมล่ะ เพราะเขาเป็นบ้ากันทั้งโลก ธรรมชาตินี้มันเป็นยังไงฟังซิน่ะ แล้วไปพูดอะไรใครเขาจะเชื่อ เขาก็จะหาว่าเป็นบ้า จากนั้นก็เลยเป็นลักษณะจะทอดอาลัยตายอยากไปแล้วนะ โอ๊ย อยู่อย่างนี้ไปพอถึงวันเวลาเท่านั้นแล้วก็ไปเสียเท่านั้น คือตายแล้วไปเลย ไม่ต้องยุ่งกับใครให้ลำบากลำบน เดี๋ยวเขาจะหาว่าบ้า
สักเดี๋ยวธรรมะผึงขึ้นมาละนะ นั่นเห็นไหมล่ะ มากระตุกแล้วนะ หือ ถ้าว่าสุดวิสัยของโลกทั้งหลายที่จะรู้ได้เห็นได้ เราเป็นเทวดามาจากไหน เราถึงรู้ได้เห็นได้ รู้ได้เพราะเหตุใด คำว่าเพราะเหตุใดก็มาตามสายทางที่พระพุทธเจ้าสอน เราก้าวเดินมาตามสายทางแห่งธรรม ก้าวมาๆ ตั้งแต่ศีลแล้วก็สมาธิ แล้วปัญญาเป็นขั้นๆ ขึ้นมา มีแต่ทางก้าวเดินนะ บันไดก้าวเดิน จนกระทั่งมาถึงวิมุตติหลุดพ้นปึ๋งนี้ รู้เพราะเหตุใด นี่ก็คือว่ามาได้เพราะเหตุใด ก็มาเพราะสายทาง ตั้งแต่ ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา นี่เป็นสายทางติดต่อกันมาถึงที่นี่ นั่น ถ้าหากว่าสุดวิสัยของโลกจะรู้ได้จริงๆ แล้ว เราเป็นเทวดามาจากไหน ทำไมเราถึงรู้ได้ นั่นเห็นไหม รู้ได้เพราะเหตุใด นี่ละเพราะเหตุใด มันก็วิ่งถึงสายทางมา อ๋อ มาได้เพราะศีลเพราะทานการกุศล นี่เป็นสายทางทั้งนั้นมานี่ มันรู้ชัดเจนแล้วยอมทันทีเลยนะ ทั้งๆ ที่จะปล่อยแล้วไม่เอาอะไรแล้ว พออยู่ไปถึงวันตายก็พอ มันยอมรับทันที เรารู้ได้เพราะเหตุใด พอว่างั้นมันก็ผางขึ้นมา อ๋อ รู้ได้ ทีนี้ยอมรับนะ รู้ได้ ไม่มากก็ได้ ยันว่าได้เท่านั้น ทีนี้จิตใจมันก็คลี่คลายออกมา
ถึงอย่างนั้นมันก็ไปเที่ยวหาอยู่ในป่าในเขาสะดวกสบาย แล้วพระเณรก็รุมตามๆ เพราะพระเณรรุมตลอดตั้งแต่พ่อแม่ครูจารย์มรณภาพแล้ว ไปอยู่ที่ไหนไม่ได้กี่วันแหละ เดี๋ยวโผล่ไปแล้วๆ อยู่อย่างนั้น มันก็ได้สอนกันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งออกช่วยชาติบ้านเมือง ให้เขาเห่าเขาหอนเขาทุบเขาตีทุกวันนี้ หลวงตาบัวนะ เอ้า ตีไปซิอยากตีไปซิ ยกมาทั้งโคตรมาตีกู โคตรกูก็มี เข้าใจไหม ไม่ถูกโคตร ถูกกูก็ไม่ถูก แน่ะ ไปนั้นเสียสบายเลย นี่แหละเรื่องธรรมเป็นอย่างนั้น ลงถึงขนาดนั้นแล้วจึงได้ออกอย่างจังๆ หือจะสอนใครได้ลงขนาดนี้แล้วๆ แต่ก่อนเราตายกองกันมานี้กี่กัปกี่กัลป์มันยังไม่เห็นว่านะ พอมันผางพ้นขึ้นมาจากนี้ มันดูเป็นอย่างนั้นแล้ว หัวใจดวงนี้แหละ เวลากิเลสตัวมืดบอดได้ถูกเปิดออกหมดแล้วมันก็จ้าไปหมดละซิ นั่น
ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัตินะ เรื่องดีเรื่องชั่วมันมีอยู่ในโลก อย่าไปตื่นเต้นกับมันนักเลย เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่มามีเมื่อวานนี้ มันมีมาแต่กาลไหนๆ ดีกับชั่ว นินทาสรรเสริญ ท่านว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน เหล่านี้เป็นธรรมเก่าแก่มีมาดั้งเดิมทั้งนั้น อย่าไปตื่นเต้น นั่น พระพุทธเจ้าว่า นี่ก็อย่าไปตื่นเต้นเกินเหตุเกินผล พอปัดปัด พอปิดปิด พอชะๆ ชะล้างไปธรรมดา อย่าไปตื่นเต้นเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก จะเป็นกังวล แล้วสร้างความทุกข์ขึ้นแก่ใจตนเอง โลกความดีความชั่วคนดีคนชั่วมันมีอยู่ด้วยกันอย่างนี้แหละ เอาเท่านั้นแหละพอแล้ว
ฟัง ครอบครัวนายอาชวัน นางเพ็ญศรี วายวานนท์และญาติมิตรขอกราบนมัสการน้อมถวายทองคำ ๙๙.๙๙% เป็นจำนวน ๑ กิโลกรัม เพื่อบูชาคุณองค์หลวงตามหาบัว ด้วยความเคารพอย่างสูง เอานะเราตอบ พอใจๆ (สาธุ)
โยมในครัวกราบเรียนถามปัญหาภาวนา
ภาวนาดูใจตลอด (นิมิต)เห็นม้ามีปีกบิน บางทีเห็นหลวงปู่มั่นเดินจงกรมนั่งสมาธิ เห็นชีวิตในอดีตของตัวเอง (หลวงตา ชีวิตในอดีตมันเป็นเหมือน(หมา)ไอ้หยองนี้ไหม) เห็นภาพคนทั้งหลายเป็นเด็กแล้วก็โตขึ้นตามลำดับ เป็นคนแก่แล้วก็ตาย หนูอยากรู้ว่า อันนี้เป็นการฟุ้งซ่านหรือเปล่า หรือเป็นเพราะอะไร
หลวงตา จะว่าฟุ้งซ่านก็ไม่ฟุ้ง เพราะสติเราดีเราดูตามเหตุการณ์ไม่เรียกว่าฟุ้งซ่าน ไปตามอาการร่องรอยของตัวเองที่เป็นมา หรือสัตว์ทั้งหลายเป็นมายังไงๆ มันจะวิ่งตามร่องรอย อันนี้ไม่เรียกว่าฟุ้งซ่าน แต่เวลาเราปล่อยก็ปล่อยไปเสีย เวลาเราจะเข้าสู่ความสงบพิจารณาร่างกายของเรา ซึ่งเป็นเรื่องจะละถอนกิเลสนี้ก็เราพิจารณานะ อันนั้นเป็นเรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้ว หรือมันจะพิจารณารู้อนาคตก็เป็นเรื่องอนาคตนอกจากตัวของเรา ไม่ใช่เรื่องการแก้กิเลสละกิเลส เข้าใจหรือ
โยม มีอีกค่ะ หนูภาวนาดูใจตลอด ความรู้ที่ตัวหายไปแล้ว อ๋อ ความรู้อันนี้มันไม่ยึดติดกับร่างกายแล้ว และไม่ยึดติดกับเวทนาแล้ว ดูใจตลอด อันนี้ขยับไม่ได้ลุกขึ้นไม่ได้ แต่ลูกดูอย่างเดียว อ๋อ ไม่เป็นไร แต่ก่อนถ้าหนูเป็นอย่างนี้ จะไม่สบาย เจ็บ ตอนนี้ไม่เป็นไร อันนี้สบาย เหมือนอันนี้ไม่มีร่างกาย
หลวงตา เออ เวลาดูกายก็เพื่อจิต เวลาดูจิตก็เพื่อจิต เวลาเราจะดูกายซึ่งมันไปสัมผัสไปเกี่ยวข้องที่จะให้รู้ก็รู้ ที่ควรจะให้ดูก็ดูนะ แล้วมันจะเพื่อใจๆ อย่างเดียวกัน เข้าใจเหรอ สิ่งที่มันรู้นั้นนี้มันเป็นอาการที่จิตไปตามดูร่องรอยของตัวเอง ก็ไม่เรียกว่าฟุ้งซ่าน เวลามันออกเที่ยว สติมีอยู่ดูธรรมดาไม่เรียกฟุ้งซ่าน (โยม แต่ว่าในใจอันนี้ออกไปข้างนอก) ไปข้างนอกเราก็รู้อยู่ เช่นอย่างตาเราดูโน้น แต่ใจเราก็รู้ว่าตาดูโน้น ก็ไม่ฟุ้งซ่าน เข้าใจไหม เช่นเรามองดูคนอยู่โน้น เราเห็นไกลก็เห็น แต่เราก็รู้ว่าเราดูเขา เราไม่ลืมตัวเรา จึงเรียกว่าไม่ฟุ้งซ่าน เข้าใจไหม ถ้าเราลืมตัวเมื่อไรฟุ้งซ่าน เข้าใจเหรอ สติมีอยู่นั้น
โยม บางที(ใจ)หนูไปถึงอินโดนีเซีย เข้าประตูแล้วเข้าห้องนอน แล้วก็อ่านหนังสือ ทำไม
หลวงตา เอาละ ฟัง ถ้าลงไปอินโดนีเซียระวังมันจะเป็นบ้า (คนหัวเราะ) ก็อยู่มาแล้วตั้งแต่วันเกิดโน่น มันเป็นบ้าเหรออยู่อินโดนีเซีย เอาละไป เท่านั้นแหละ
ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาตามกำหนดการ ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th |