เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๗
นักภาวนาไม่ควรปล่อยสติ
นี่ที่ไปเทศนาว่าการที่ผ่านมาถึงเมื่อวานนี้ งานทอดผ้าป่ารวม ๔ จังหวัด ฉะเชิงเทรา จันทบุรี สระแก้ว ปราจีน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ถึงวันที่ ๗ เมื่อวานนี้ ได้ทองคำ ๔๑ กิโล ๕๔ บาท ๙๘ สตางค์ เอาเข้าไปหลอมแล้ว ไปหลอมตั้งแต่วันที่ ๖ ดอลลาร์ได้ ๑๙,๕๙๑ ดอลล์ ทองคำที่มอบเข้าคลังหลวงเรียบร้อยแล้วเวลานี้ได้ ๙,๑๒๕ กิโล ดอลลาร์ที่มอบเข้าแล้ว ๘,๘๐๐,๐๐๐ ดอลล์ ดอลลาร์ที่ได้เพิ่มทีหลัง ๑๑๕,๘๒๕ ดอลล์ ดอลลาร์ทั้งหมดจึงได้จำนวน ๘,๙๑๕,๘๒๕ ดอลล์ ยังขาดอยู่อีก ๑,๐๘๔,๑๗๕ ดอลล์ จะครบจำนวน ๑๐ ล้าน ส่วนทองคำขาด ๑๐ ตัน ดูคงไม่เลย ๔๐๐ กิโลนะ คือคราวนี้จะมอบตามที่กำหนดไว้แล้วว่า มอบคราวนี้เป็นคราวมอบปิดโครงการด้วย ทองคำจึงจะมอบทั้งหมดให้ได้ ๑๐ ตันเลย
เราแน่ใจกับบรรดาพี่น้องทั้งหลายมาตลอดอยู่แล้ว และแน่ใจว่าจะครบจำนวนที่ขาดอยู่นี้ เราแน่ใจไว้เลยทั้งทองคำและดอลลาร์ จะให้ได้ตามนั้นเลย ส่วนเงินสดก็ดังที่เรียนให้ทราบแล้ว ได้ซื้อทองคำไม่ได้มากนะเงินสด แต่ก็ยังดีอยู่ คือที่ได้ประกาศทีแรกบอกว่า ทองคำและดอลลาร์เข้าคลังหลวงทั้งหมดคือร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ส่วนเงินสดเราจะออกช่วยชาติทั่วประเทศว่างั้น แต่นี้เรายังมาแบ่งอีก แบ่งเงินสดออกมาซื้อทองคำ จึงไม่ค่อยได้มาก สองพันล้านกว่าบาทซื้อทองคำเข้าสู่คลังหลวง นอกนั้นแยกทั่วประเทศเลยเทียว ช่วยที่นั่นที่นี่เงินสดนะ จึงไม่ได้เข้าคลังหลวงมาก เข้าแค่นั้นแหละ
ไปคราวนี้ไปตั้ง ๔ จังหวัดนะ ฉะเชิงเทรา ปราจีน สระแก้ว จันทบุรี ออกไปตั้งแต่วันที่ ๓๐ จนกระทั่งวันที่ ๗ ถึงกลับมา ไม่ได้หยุดได้ถอยนะ นี่เราทำประโยชน์เพื่อโลกเราทำอย่างนี้แหละ กรณีสำคัญที่เทศน์นั้นหนักมากนะ คือมันใช้ลมๆ ถ้าธรรมดาก็ไม่เป็นไรแหละ การเทศน์นี่ต้องใช้ลม แล้วธาตุขันธ์ก็หมุนตัวพร้อมๆ กันไปเลย วันละสองกัณฑ์สามกัณฑ์ก็มี สภาแมว สภาหนู จากนั้นก็สภายั้วเยี้ย ฟังซิ เทศน์หมดละนี่ สภาแมว สภาหนู สภายั้วเยี้ย ได้เทศน์หมดแหละถึงสามสภา บางวันถึง ๓ กัณฑ์ก็มี มันต้องใช้ลม
คือการเทศน์มันมีอยู่ ๒ ประเภท คือสองเพื่อสามนั่นแหละ มันติดกันไปเลย ถ้าเทศน์ธรรมดาทั่วๆ ไปอย่างสอนประชาชนนี้ก็เทศน์ธรรมดาไม่ใช้ลมแรง เป็นธรรมดาก็เบาหน่อย แต่มันก็ถูกเตือน เราอยากจะว่าทุกกัณฑ์ในระยะนี้นะ คือเทศน์พอสมควรแล้วธาตุมันจะเตือน พอเตือนแล้วเราก็เหยียบเบรก ลดๆ ๆ หยุดเทศน์ อันนี้ต้องเป็นธาตุละเตือนๆ เทศน์ธรรมดานี้ได้นานอยู่พอสมควร ถ้าเทศน์เป็นแกงหม้อเล็ก แกงหม้อจิ๋วนี้เร่งๆ เร่งเครื่องนะ หม้อเล็กจะถึงหม้อจิ๋วมันวิ่งใส่กัน ถ้าถึงนี้แล้วมันจะวิ่งใส่กันปึ๋ง ธรรมท่านเรียกว่าขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ กับขั้นมหาสติมหาปัญญา วิ่งถึงกันเลย ขั้นสติปัญญาธรรมดาเรานี้เป็นอีกขั้นหนึ่ง
ขั้นสมถะ ความสงบ ขั้นสมาธิ ความแน่นหนามั่นคง สงบแล้วก็เข้าไปหาความแน่นหนามั่นคงของใจ อันนี้ไม่ค่อยอะไรนัก เป็นสติปัญญาค่อยแข็งตัวขึ้นๆ เป็นลำดับ พอออกถึงขั้นปัญญาแล้วทีนี้จะเริ่มละ จากสมาธิออกขั้นปัญญานี้คือภาคปฏิบัติ จากเวทีจิตตภาวนา ที่จิตกับกิเลสกับธรรมฟัดกันบนเวทีคือจิต จะเป็นอย่างนี้แหละ นี่ถอดออกมาจากหัวใจเทศน์ให้พี่น้องทั้งหลายฟัง อาจหาญชาญชัย พูดให้ตรงอย่างนี้เลย คำว่าอาจหาญก็เลยสมมุติไปเสีย ไม่ได้อาจหาญธรรมดา ยังเลยสมมุติ คือเลยเสียทุกอย่างๆ
เช่นเรื่องสตินี้เป็นพื้นนะ นักภาวนาทั้งหลายไม่ควรปล่อยสติ แม้แต่ทำหน้าที่การงานต่างๆ เช่น เขียนหนังสือ เป็นต้น ถ้าวันไหนเกิดยุ่งเหยิงวุ่นวาย เขียนหนังสือขีดฆ่า เขียนผิดเขียนฆ่าเรื่อย มันไม่ได้ศัพท์ได้แสงได้เป็นตนเป็นตัว เพราะสติไม่มี มีแต่จิตเร่ร่อนๆ เพียงงานภายนอกก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ถ้ามีสติแล้วไม่ว่าภายนอกภายในจะเรียบร้อยไปตามขั้นของงาน ตามประเภทของงาน สติอยู่ในจิตตภาวนาก็เช่นเดียวกัน สตินี้จ่อเหมาะสมที่สุด ผู้ที่จะก้าวหน้าได้เร็วคือเป็นผู้มีสติดี ตั้งสติดี สตินี้รักษาอันตราย จะเกิดขึ้นจากภายในนะ
โลกทั้งหลายก็คิดกันว่ามาจากภายนอก ทางโน้นทางนี้ ภายนอกก็มี ภายในก็มี ภายในก็ไปเห็นข้างนอก แล้วก็วิ่งเข้ามาภายใน เช่น เห็นรูป ฟังเสียง อะไรอย่างนี้ พอเห็นปั๊บมันก็กระเทือนเข้าหากัน ทางนี้ก็ออก เมื่อมีสติอยู่ เห็นก็สติบังคับเอาไว้ มันจึงไม่มีภัย ส่วนมากเป็นภัยนะ ที่ออกเข้าอยู่ตลอดเวลาของนิสัยจิตวัฏจิตเป็นอย่างนั้น มันจะออกเที่ยวทำงานของมัน ผลของงานมันจะเอาความยุ่งเหยิงวุ่นวายเข้ามาสู่ใจเรา งานแล้วไปแล้วมันก็ไม่แล้วนะ มันจะเอามาทำงานภายในบ้าน เรียกว่างานในบ้าน งานนอกบ้าน ออกนอกบ้านก็ออกคิดออกปรุง อยู่ในบ้าน เรื่องเหล่านั้นผ่านไปแล้วก็เก็บเข้ามาเป็นงานภายในบ้าน ภายในจิต เป็นอารมณ์
เรื่องภาวนาจึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง พุทธศาสนานี้เลิศเลอสุดยอด ต้องเอาขั้นปฏิบัติซิทดสอบกัน เราเอาปริยัติมาทดสอบไม่ได้ความแหละ ได้ก็ได้แต่ความจำมา คือได้ความจำมาแล้วถ้าภาคปฏิบัติไม่มี ความจำก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เรียนจบพระไตรปิฎกก็เป็นโปฐิละอยู่งั้น เรียกว่า ใบลานเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ ถ้ามีภาคปฏิบัติปั๊บ เหมือนนี่ เขาเอาแปลนมาวางปุ๊บ มันก็มีแต่แปลน เต็มห้องก็มีแต่แปลน ยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างอย่างนี้นะ รูปร่างนี้ขึ้นมาจากภาคปฏิบัติ ให้ทำอย่างนั้นนะอย่างนี้
เช่น เบื้องต้นเราจะวางรากวางเสาขุดดินอะไร วางรากวางเสาวางคาน นี่เริ่มปฏิบัติแล้ว จะปรากฏขึ้นมา เราปฏิบัติเรื่อยก็คือเขาปลูกเรื่อยๆ ปรากฏขึ้นมาเรื่อย คำว่าปฏิเวธก็รู้ชัดว่า เราขุดดิน เราวางคาน เราวางเสา รู้ขึ้นเป็นลำดับๆ นี่เรียกว่าปฏิเวธ คือรู้ผลของงาน งานเกิดขึ้นจากการปลูกสร้าง ปริยัติก็คือแปลน ดูแปลน ปริยัติที่ออกมาจากพระไตรปิฎก เอาออกมามากาง ถ้ามีแต่ปริยัติเฉยๆ ก็เหมือนว่ามีแต่แปลน แปลนบ้านแปลนอะไรก็ตามไม่สำเร็จ พอดึงแปลนออกมาแล้ว เราจะเอาชนิดไหนๆ กางแปลนแล้วทำตามนั้น ทีนี้เราจะปลูกบ้านปลูกเรือนชนิดไหนๆ เราก็ทำตามนั้น ดูแปลนแล้วทำตามนั้น ผลของงานจะปรากฏขึ้นๆ ปฏิเวธหรือปฏิเวธธรรม ความรู้ว่าผลของงานถึงไหนแล้ว วันนี้เทคาน วันนั้นเทนั้นๆ รู้เห็นชัดเจน จนกระทั่งถึงบ้านเรือนสำเร็จรูปโดยสมบูรณ์ ก็เป็นปฏิเวธโดยสมบูรณ์ เพราะการปฏิบัติคือการปลูกสร้าง ปลูกสร้างจนกระทั่งเสร็จ ปฏิบัติจนกระทั่งถึงบรรลุธรรมถึงที่สุด พอถึงที่สุดแล้วไม่ได้แก้กิเลสอีก เหมือนเขาปลูกบ้านเสร็จแล้ว ไม่ต้องมาปลูกมาทำอะไรมันอีกจึงเรียกว่าเสร็จ
อันนี้พอเป็นเครื่องเทียบเคียงได้ พอปลูกบ้านเสร็จก็เป็นอันว่าเสร็จ ปฏิเวธคือความรู้แจ้งชัดว่า บ้านปลูกเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีคนถาม เป็นยังไงบ้านเสร็จหรือยัง เสร็จแล้ว นั่น ธรรมะภาคปฏิบัติก็เหมือนกัน พอได้จากการศึกษามาแล้วก็มากางมาปฏิบัติ ท่านสอนวิธีนะ เอ้า เริ่มตั้งแต่รักษาศีล รักษายังไง ศีลมีกี่ประเภทเราต้องรักษาตามประเภทของศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ รักษาตามขั้นตามภูมิภายในใจของเราอยู่นี้เสร็จ จากนั้นสมาธิคือความสงบใจ ทีนี้จะเข้าด้านธรรมะ ตีกิเลส อันนี้หว่านล้อมไว้ไม่ให้อากัปกิริยาของเราส่ายแส่ไป เป็นงานหยาบๆ อันนี้ ท่านจึงเรียกว่าศีล ความจริงคือธรรมขั้นหยาบนั้นแหละ รักษาขั้นนี้ไว้ไม่ให้มันดีดมันดิ้นออกนอกกำแพง ออกนอกรั้วแห่งความรับผิดชอบของเราไป
เราก็พยายามปฏิบัติภายในจิตที่นี่ จิตมันดิ้นของมันอยู่ภายใน นี่เป็นเรื่องธรรม กิเลสส่วนละเอียดเข้ามาจากศีลนั้นก็มาเป็นธรรม ทำใจให้มีความสงบ สงบยังไง ท่านก็สอนวิธีสงบ อย่างกรรมฐาน ๔๐ ห้องนั้น นั่นละอุบายวิธีการทำจิตให้สงบ เช่น อนุสติ ๑๐ เราจะเอาอารมณ์ใดตามแต่ถูกจริตนิสัยของเรา เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆ นี่อนุสติ ๑๐ ขึ้นไปจากนี้ จนกระทั่งถึงอานาปานสติ ก็อยู่ในอารมณ์อันนี้ เราแยกมาย่อๆ นะ ใครถูกกับอารมณ์อะไรก็ให้นำอารมณ์นั้นเข้ามากำกับใจ เช่น พุทโธ เป็นต้น เราก็นำ พุทโธ นี้เข้ามาทำคำบริกรรม พุทโธๆ จิตทำหน้าที่อันเดียว
ในขณะที่ทำหน้าที่ใดแล้วจะทำแต่สิ่งนั้นอย่างเดียว เช่น พุทโธ ก็มีแต่ พุทโธ ไม่ให้งานอื่นเข้ามาแทรก พองานอื่นเข้ามาแทรก เรียกว่าจิตปล่อยงานนี้ไปทำงานนั้นแล้ว งานของธรรมคืองาน พุทโธ งานของกิเลสคืองานเรื่องโลกเรื่องสงสาร มันจะคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราเอา พุทโธ ปิดเอาไว้ในช่องเดียวนี้ไม่ให้ออก เอา พุทโธ ปิดไว้ สติบังคับไว้กับ พุทโธ ให้พุทโธติดกับจิต สติติดกับพุทโธอยู่ในนี้ แล้วจิตของเราจะค่อยเริ่มสงบลง นี่คือภาคปฏิบัติ เข้าด้านจิตใจละที่นี่ พอภาคปฏิบัตินี้เสริมเข้าไปเรื่อยๆ อันนี้จะมีความสงบเข้าไปๆ เพราะรักษาจิตไม่ให้มันออกไปนอก ไปเสาะแสวงหางาน หาทำงานหาผลประโยชน์ของมัน กิเลสผลประโยชน์ของมันต้องเป็นทุกข์ รื่นเริงบันเทิงกับความทุกข์จะไปด้วยกัน บังคับนี้เอาไว้
พอบังคับจิตของเราไว้ จิตไม่มีทางที่จะออกข้างนอก ส่วนข้างในไม่ให้ออกไม่ให้เข้ามา มีแต่อันนี้แหละจะออกไป แล้วจิตจะสงบ พอจิตสงบ สงบด้วยอารมณ์ของธรรมบังคับไว้ กิเลสเป็นธรรมชาติที่ฟุ้ง ธรรมะเป็นธรรมชาติที่ดับหรือน้ำดับไฟ กิเลสเป็นไฟ ธรรมะเป็นน้ำดับไฟ แล้วจิตจะสงบเข้าไปๆ พอสงบหลายครั้งหลายหน จิตรวมครั้งหนึ่งสองครั้งสามครั้งเข้าไปนี้ มันจะไปสั่งสมกำลังขึ้นมา เมื่อรวมหลายครั้งแล้วจะเป็นจิตแน่นหนามั่นคง จนกลายเป็นสมาธิ
สมาธิกับสมถะนี้ต่างกันนะ สมถะคือความสงบด้วยจิตรวมหลายครั้งหลายหนแล้วสั่งสมผลขึ้นมา จนกลายเป็นจิตใจมั่นคงและจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธินี้แน่นหนามั่นคง ไม่หิวไม่โหยกับอารมณ์ต่างๆ ที่อยากคิดอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นต่างๆ นี้มีแต่ความอยากของจิต ความหิวโหยของจิต ทีนี้พอจิตอิ่มอารมณ์ด้วยธรรมแล้วจิตไม่อยากคิดอยากปรุง นั่นละที่นี่เมื่อจิตอิ่มอารมณ์ไม่อยากคิดอยากปรุง พาจิตทำงาน พิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองอะไรๆ ในธาตุในขันธ์ของเขาของเรา จะแยกแยะให้เห็นตามความจริง แล้วจิตใจจะได้ปล่อยวางภาระทั้งหลายเหล่านี้ คือภูเขาภูเรา ถือเขาถือเรา พิจารณาแยกไปหาสิ่งที่มันถือคืออะไร มันก็ไม่มีอะไร มีแต่ไปถือลมๆ แล้งๆ สร้างความทุกข์มาใส่ตัวเอง
จิตก็พิจารณาทางด้านปัญญาหนักเข้าๆ นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติ เมื่อสร้างปัญญาหนักเข้าๆ ความรู้แจ้งอันนี้ทีนี้จะเป็นเรื่องฆ่ากิเลส สมถะหรือสมาธินี้ เป็นเรื่องสงบกิเลส เหมือนหินทับหญ้า เอาสมาธิหรือเอาคำบริกรรมทับไว้ๆ จิตก็ค่อยสงบ ทีนี้พอเปิดออกนี้ออกทางด้านปัญญา ถากถางกิเลสละที่นี่ ฟันกิเลสด้วยปัญญา แยกนั้นแยกนี้ไป ปัญญาก็ค่อยแหลมคม ทีนี้พอปัญญาเห็นผลของการปฏิบัติของตน เกิดความรู้ความเห็น ละกิเลสก็เห็นประจักษ์ๆ จิตใจสงบลงเห็นประจักษ์ นี้ละปัญญาขั้นนี้เริ่มเข้าไปหนักเข้าๆ สติปัญญานี้จะติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพิจารณาสุดส่วนของร่างกายซึ่งเป็นรูปธรรมให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหายสงสัย ปล่อยวางได้โดยประการทั้งปวงเรื่องธาตุขันธ์
รูปคือกายของเรา ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่เรียกว่ารูป อันนี้หยาบ ต้องพิจารณานี้ให้หนัก โลกติดอันนี้มากกว่าอย่างอื่น นี่เรียกว่าปัญญา พอพิจารณานี้ละเอียดลออจนกระทั่งพอแล้ว เหมือนกับเรารับประทานอาหาร เมื่อรับประทานพอแล้วนี้เป็นยังไง มันปล่อย นี่พิจารณาเรื่องร่างกายสังขารเหล่านี้ซึ่งเป็นภูเขาภูเรา พอแล้วปล่อย ไม่มีภูเขาภูเรา ทีนี้หมุนเข้าไปละ ร่างกายกับ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรม ยังมีประสานกันอยู่บ้าง มันประสับประสานกันอยู่ ถึงปล่อยได้มันก็ยังมี พอเข้าถึงขั้นนามธรรมล้วนๆ ก็จะยังเหลือตั้งแต่เวทนา เวทนาในกายในจิต ในระยะนี้ยังมีเวทนาในจิต สุข ทุกข์ เฉยๆ มีได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจก็รู้ แต่พิจารณาเข้าไป
เวทนาเหล่านี้มันก็มาจากหัวใจ มาจากกาย พิจารณากายก็ค่อยทราบ และพิจารณาทางใจก็ทราบ ทีนี้ย่นเข้ามาทางภาคปฏิบัติ สุดท้ายร่างกายมันก็ปล่อยไม่สนใจ มีตั้งแต่นามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารนี่ตัวสำคัญ ตัวก่อเรื่องก่อราวตลอดเวลาคือสังขารตัวนี้ แม้ตั้งแต่ผู้สิ้นกิเลสแล้วสังขารก็ยังทำงาน เป็นแต่เพียงว่าสิ้นแล้ว สังขารที่เป็นกิเลส สังขารที่เป็นสมุทัยสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่สังขารที่ประจำธาตุขันธ์อยู่นี้ ก็มีแต่อันนี้ เมื่อยังเป็นสังขารสมุทัยอยู่มันเข้าถึงจิตๆ พิจารณานี้เข้าไป นี้สติปัญญาเริ่มเป็นอัตโนมัติตั้งแต่นี้ไป ตั้งแต่ร่างกายหมดปัญหาไปแล้ว สติปัญญาอัตโนมัติจะเป็นไปเอง ส่วนการพิจารณาสังขารร่างกายทุกสัดทุกส่วน อันนี้เราไม่อยากพูดว่าเป็นอัตโนมัติ มันเป็นขั้นชุลมุนวุ่นวาย หมุนเอาเป็นเอาตายเข้าว่าการพิจารณาเรื่องนี้ขั้นชุลมุน พอจากอันนี้แล้วก็กลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ
คำว่าอัตโนมัติคือมันเป็นไปเอง ไหลเหมือนน้ำไหลลงที่ต่ำที่นี่นะ สติปัญญาจะไหลด้วยความสะดวกสบายไปเรื่อยๆ จากนี้ก็ก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญา นั่นไหมล่ะมันเข้าหากันแล้วนะ ถ้าลงสติปัญญาอัตโนมัติได้เริ่มตัวเข้าไปแล้ว จะหมุนเข้าไปหามหาสติมหาปัญญาอัตโนมัติเหมือนกัน ละเอียดลออเข้าไป นี่เป็นผลของงาน ปฏิบัติไปรู้ไปเห็นไปละไป สิ่งที่ถอดที่ถอน ละไปเรื่อยด้วยมหาสติมหาปัญญานี้ เมื่อเข้าถึงนี้แล้วจะมีแต่อาการของจิต เช่น พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะมีแต่อาการของจิต เข้าไปหาจิตออกมานี้ จะมาหาร่างกาย ร่างกายใครก็ตาม ไม่ออก มันจะออกอยู่ภายในมันลับๆ ลึกๆ เรียกว่าละเอียดลอออยู่นั้น แล้วพิจารณานั้นย้อนหน้าย้อนหลัง มันไปไหน มันเกิดมาจากไหนมันก็ลงตรงนั้น มันเกิดมาจากจิต มีความยึดถือกันอยู่ด้วย
พิจารณาหลายครั้งหลายหนมันก็เข้าถึงจิต ต่อไปมันก็ปล่อยได้ อาการ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งสี่นี้ออกมาจากจิต ดับได้ที่จิต ทีนี้พอจิตดับ คือสมุทัย รากฐานของมันที่เกิดอาการ ๔ อาการ ๕ มานี่ให้เป็นสมุทัยนี้ ออกมาจากอวิชชา พออวิชชาดับพรึบลงไปเท่านั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้จึงกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ ไป เรื่องกิเลสไม่มี ท่านจึงเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ จิตก็บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้ว เป็นอฐานะ ให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เรียกว่าจิตที่บริสุทธิ์ เมื่ออวิชชาตัวมืดตื้อนั้นออก มันละเอียดอยู่ในจิตของเรานั้นแหละ ขาดสะบั้นลงไปแล้ว จิตนี้เป็นวิวัฏจิต จิตไม่หมุนแล้วที่นี่ เพราะอวิชชาตัวพาหมุนดับไปหมดแล้ว ทีนี้จิตนี้ก็บริสุทธิ์ สิ้นสุดเรื่องละกิเลส ละได้ถึงจุดนี้ท่านไม่ได้ละอีกนะกิเลส ไม่มีละ
พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ตั้งแต่บรรลุธรรมปึ๋งขึ้นมาแล้วไม่มีจะได้ละกิเลสตัวใดเลย และเป็นอฐานะด้วย ที่จะมีอะไรมาบังคับให้มีความยินดียินร้าย แล้วได้บังคับห้ามไม่ให้มันยินดีไม่มี เป็นหลักธรรมชาติ ทีนี้ก็มีแต่ขันธ์ล้วนๆ ที่ใช้อยู่ในเวลาที่จิตยังครองตัวอยู่ ขันธ์ยังมีลมหายใจอยู่ ขันธ์ก็เลยกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ เป็นเครื่องใช้ของจิตที่บริสุทธิ์นั้นให้เป็นประโยชน์แก่โลกทั่วๆ ไป ถ้ามีกิเลสอยู่ในนั้นส่วนมากมักจะมีแต่โทษ มันไปทำโทษทั้งนั้นแหละ ขันธ์อันนี้ขันธ์สมุทัย เพราะจิตเป็นสมุทัย อวิชชานั่นละจอมสมุทัย พออันนั้นดับหมดแล้ว ขันธ์ก็กลายเป็นขันธ์ล้วนๆ จิตบริสุทธิ์แล้วก็ไม่ได้ละอะไรอีก จะละกิเลสตัวใดหยาบละเอียดไม่มี สำหรับพระอรหันต์ท่านไม่มี ละขาดสะบั้นลงไปขณะที่อวิชชาขาดเท่านั้น กิเลสขาดไปพร้อม ทุกข์ขาดไปพร้อมภายในจิต ไม่มีอะไรเหลือเลย
นี่ผลแห่งการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าของเราที่สอน เป็นธรรมที่สอนได้แม่นยำ ขึ้นเวทีแล้วมันก็รู้เอง ถ้าไม่ขึ้นเวที เรียนจบพระไตรปิฎกก็ได้แต่ความจำมาโม้มาอวด คุยกัน แล้วเป็นการส่งเสริมกิเลสเพราะความสำคัญว่าตนเรียนรู้หลักนักปราชญ์ฉลาดแหลมคม ทั้งๆ ที่โง่จะตายไป กิเลสตัวหนึ่งไม่ได้ถอนนะการเรียน ถ้าเรียนมุ่งปฏิบัติด้วย การเรียนนั้นถูกต้อง ถ้าเรียนมีแต่หวังจะเอาชื่อเอาเสียงอะไรๆ เป็นกิเลสทั้งมวล ทั้งๆ ที่เรียนธรรม แต่ถ้ามีความมุ่งหมายที่จะปฏิบัติตามธรรมเพื่อละกิเลสแล้ว เรียนไปเป็นธรรมไปล้วนๆ ด้วยกัน พอหยุดจากการเรียนมุ่งต่อการปฏิบัติ ทีนี้เป็นปฏิบัติล้วนๆ ไปเลย ละกิเลสไปเรื่อยที่นี่ มันต่างกันอย่างนั้นนะ
นี่พูดย่อๆ นะ พูดให้ได้ความสำหรับผู้ปฏิบัติเป็นไปตามนี้แน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่น แต่การออกอันนี้มันกว้างขวางนะ อาการของจิตที่จะออกฟัดเหวี่ยงกับกิเลสนี้มีมากมายก่ายกอง แต่มันก็อยู่ในวงที่ว่านี่ คือย่อๆ ไปตามแถวนี้แหละ
ทีนี้เวลาปฏิบัติแล้ว จิตเมื่อเข้าถึงขั้นเต็มตัวแล้วมันก็หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง ท่านจึงว่าโลกธาตุว่างเลย ก็กิเลสมันว่างจากหัวใจแล้วจะเอาอะไรมาปิดมาบังหัวใจล่ะ คำว่าโลกมืดโลกแจ้ง แจ้งก็แจ้งเรื่องของกิเลส มืดก็มืดเรื่องของกิเลส แจ้งของธรรมล้วนๆ แล้วไม่มีอะไรเสมอ ไม่มีอะไรเข้าเทียบเคียงหรือแข่งขันได้ ไม่มี โลกของกิเลสมีมืดมีแจ้งธรรมดา เอาให้มันแจ้งในภายในนี้แล้ว มันแจ้งไปหมด ท่านว่า อาโลโก อุทปาทิ สว่างโร่ทั้งกลางวันกลางคืน จิตของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์ โลกวิทู รู้แจ้งโลกทั้งสาม กามโลก รูปโลก อรูปโลก รู้ทั้งภายนอกรู้ทั้งภายใน ภายนอกคือโลกทั้งสาม ภายในคือจิตอวิชชา รู้หมดขาดสะบั้นไปหมด เป็นธรรมจ้าขึ้นมา นั่นแหละธรรมที่ปฏิบัติ
ศาสนาของพระพุทธเจ้าคงเส้นคงวาหนาแน่นด้วยมรรคผลนิพพาน เป็นแต่เพียงว่ากิเลสมันเหมือนจอกเหมือนแหนปกคลุมหุ้มห่อจิตใจเอาไว้ เราจึงไม่สามารถจะมองเห็นธรรมที่เลิศเลอภายในจิตใจของเรา เช่นเราไม่สามารถที่จะมองเห็นน้ำในสระ น้ำในสระในบึงนั้นเต็มไปด้วยน้ำ แต่กิเลสนั้นมันเหมือนกับจอกกับแหนปกคลุมหุ้มห่อผิวน้ำไว้หมดเลย มองลงไปก็เห็นแต่จอกแต่แหน ใครก็ว่าน้ำไม่มีๆ เหยียบย่ำไปมาก็ไม่เห็น ผู้ฉลาดแหวกจอกแหวกแหนออกมาก็เห็นน้ำ แหวกแคบก็เห็นน้ำแคบ แหวกกว้างออกไปก็ยิ่งเห็นน้ำกว้างเข้าไป ตักมาอาบดื่มใช้สอยเป็นยังไง ยิ่งรู้ชัดขึ้นไปโดยลำดับ จากนั้นก็เบิกออกเรื่อย ขนจอกขนแหนออก น้ำในสระก็ค่อยเปิดกว้างออกๆ จนเปิดออกหมดจอกแหนไม่ให้มีเหลือเลย น้ำในสระในบึงไม่ทราบว่ามีแต่เมื่อไร จ้าอยู่อย่างนั้น
นั่นแหละธรรมมีแต่เมื่อไร เหมือนน้ำอยู่ในบึงในสระมีแต่เมื่อไร เป็นแต่สิ่งจอมปลอมกาฝากมันมาปกปิดผิวน้ำเอาไว้ คือจอกแหนนั่นแหละเป็นกาฝาก เปิดอันนี้ออกแล้วก็จ้า จิตนี้เวลาเปิดกิเลสออกหมดๆ ด้วยภาคปฏิบัติดังที่ว่านี่ ออกหมดแล้วมันก็จ้าไปหมดเลย จอกแหนที่ไหนหมด นั่นแหละที่ว่า อาโลโก อุทปาทิ สว่างโร่ทั้งกลางวันกลางคืน ท่านไม่มีค่ำมืด ชาคโร ชาคระ ตื่นตลอดเวลาคือธรรมชาตินั้น ชาครบุคคล บุคคลผู้ตื่นอยู่คือจิตดวงนั้นตื่นตลอดเวลา
นี่ละธรรมะของพระพุทธเจ้า ศาสนาของพระพุทธเจ้า เป็นศาสนาที่คงเส้นคงวาหนาแน่นด้วยมรรคด้วยผล มรรคผลนิพพานอยู่ในนั้นหมด แต่เวลานี้พูดไม่ได้ เวลานี้พวกหญ้าพวกจอกพวกแหนพะรุงพะรัง เต็มอยู่ในหัวใจหมด ความโลภความโกรธความหลงราคะตัณหา ไอ้มูตรไอ้คูถขี้โลภขี้โกรธขี้หลงเต็มอยู่ในหัวใจหมด แล้วจะหามรรคผลนิพพานที่ไหน พิจารณาดูซิ มูตรคูถมันพาคนไปสวรรค์นิพพานที่ไหน มันพาจมอยู่ในมูตรในคูถนั่นแหละ ฉะนั้นจึงให้พากันปัดกันกวาดซักฟอกเรื่อยๆ ไปจะค่อยขึ้นมาเรื่อยๆ
จิตใจถ้าได้รับการเหลียวแลได้รับการบำรุงรักษาแล้ว จะค่อยเจริญขึ้นมา แต่จะปล่อยให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายดังที่เคยเป็นมาแล้ว จะเป็นอีกต่อไปเช่นเดียวกัน จึงไม่มีต้นมีปลาย วัฏวนของกิเลสพาสัตว์เกิดสัตว์ตายนี้ ไม่มีต้นไม่มีปลาย เพราะฉะนั้นจึงเอาจอกเอาแหนนี้ออก ไม่ต้องหาต้นหาปลายที่ไหน เอาจอกแหนออกแล้วน้ำจ้าขึ้นมา นั่น ต้นปลายอยู่ที่ไหน อยู่ในสระนั้นหมดนั่นแหละ นั่น ให้พากันตั้งใจปฏิบัตินะ
เราที่ตะเกียกตะกายเวลานี้ เราไม่ได้ทำเพื่อเรา เราก็พูดให้พี่น้องทั้งหลายฟังแล้วว่า ธรรมนี้พูดอย่างตรงไปตรงมา เรื่องกิเลสมันจะมาแอบมาแฝงยุแหย่ก่อกวนหรือทำลายประเภทใด มาโจมตีประเภทใด นั่นเป็นเรื่องของกิเลส อยู่ด้วยความเป็นสุขไม่ได้เพราะมันมีแต่ความปลอม สิ่งใดที่จอมที่ปลอมมันจะหามาหลอกโลกที่หลงอยู่แล้วต้องการหลงอยู่อีก มันก็จะหลอก ผู้ที่ต้องการอรรถการธรรมก็ให้แหวกจอกแหวกแหนออก แล้วจะได้เห็นความจริงภายในใจของตนขึ้นโดยลำดับลำดา จนกระทั่งจ้าขึ้นหมดแล้ว ถามหานิพพานทำไม นั่นฟังซิ
ใครก็อยากพบอยากเห็นพระพุทธเจ้าเป็นองค์เช่นไรๆ ธรรมดาของโลกสมมุติก็อยากดูพระรูปพระโฉมของท่าน แต่เรื่องของธรรมแล้ว ใครปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมชื่อว่าบูชาตถาคตนี้หนึ่ง แล้วจากนั้นผู้ใดเห็นธรรมชื่อว่าเห็นเราตถาคต เห็นเป็นลำดับ ร่องรอยของศาสดา ร่องรอยของธรรมไปด้วยกัน ปฏิบัติพอจิตเริ่มสงบจะเริ่มเห็นความแปลกประหลาดเรื่อย เป็นสมาธิเป็นปัญญา ทางเดินเพื่อพระพุทธเจ้าจะค่อยเบิกกว้างออกไปๆ นี่แหละที่ว่าผู้ใดเห็นธรรมชื่อว่าเห็นเราตถาคต เห็นใกล้เข้ามา ละเอียดเข้ามาจนกระทั่งถึงเห็นแบบอัศจรรย์ อย่างอวิชชาขาดสะบั้นลงไปบรรลุธรรมปึ๋งขึ้นมา นั่นแหละพระพุทธเจ้าเต็มองค์อยู่ที่จิตดวงนั้นนะ พุทโธๆ ธัมโม สังโฆ เข้ามาเป็นอันเดียวกันในนั้นหมดเลย พุทโธก็ปากทาง ปากโอ่งพูดง่ายๆ ว่างั้น สังโฆก็ปากโอ่ง ธัมโมก็คือน้ำที่ไหลลงในโอ่ง คือโอ่งอยู่ในนั้นแหละรับกันปึ๋งเลย
พุทโธ ธัมโม สังโฆ ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักธรรมชาติ เมื่อเข้าถึงความจริงตายตัวแล้วเป็นอันเดียวกัน พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นธรรมชาติอันเดียวกัน เรียกว่าธรรมแท่งเดียว แล้วถามหาพระพุทธเจ้าหาอะไร พอบรรลุธรรมปึ๋งขึ้นมา อ๋อ นั่นเห็นไหมล่ะ เราเคยรู้เคยเห็นเมื่อไร พระพุทธเจ้าเป็นยังไงถามหาท่านหาอะไร พระรูปพระโฉมก็เหมือนกันหมดเหมือนเราๆ ท่านๆ มีเกิดมีตายมีสลายเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน พอถึงธรรมชาติที่อมตธรรม-อมตจิต หรืออมตธาตุแล้วหมดปัญหาด้วยกัน เป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกองค์ ท่านจึงว่า นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย ความยิ่งหย่อนกว่ากันไม่มี บรรดาพระอรหันต์ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา เสมอกันหมด เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ถามกัน
จึงเคยเทียบให้ฟังว่า เหมือนแม่น้ำมหาสมุทร น้ำไหลมาจากที่ต่างๆ ทั้งตกมาจากบนท้องฟ้า แล้วน้ำที่ไหลมาจากห้วยหนองคลองบึง พอลงสู่มหาสมุทรทะเลแล้วเป็นน้ำมหาสมุทรเหมือนหมด ใครจะไปแยกน้ำมหาสมุทรให้เป็นน้ำบนฟ้าให้เป็นน้ำคลองนั้นคลองนี้ไม่ได้ มือเราจ่อลงไปปั๊บนี่ถูกมหาสมุทรหมดเลย นั่น นี่แหละที่นี่เทียบปั๊บเข้ามาหามหาวิมุตติมหานิพพานซึ่งเทียบกันกับมหาสมุทร เอ้า ผู้บำเพ็ญธรรมทั้งหลายนี้ เป็นเหมือนกับน้ำสายต่างๆ หรือตกมาจากบนฟ้า มาจากคลองใดก็ตาม ไหลเข้ามาๆ จะมาหา บารมีจะถึง ใกล้ถึงฝั่งแล้ว ไหลใกล้เข้ามาๆ พอถึงวิมุตติหลุดพ้นบรรลุธรรมปึ๋งขึ้นมา นั่น น้ำนี้คือบารมีของเราถึงมหาวิมุตติแล้ว มหาวิมุตตินี้ เอ้า ใครบารมีแก่กล้าไหลเข้ามาถึงปั๊บเป็นมหาวิมุตติมหานิพพานๆ เหมือนกันกับน้ำไหลมาถึงมหาสมุทร เป็นมหาสมุทรทะเลหลวงอันเดียวกันหมด ใครจะไปแยกมหาสมุทรทะเลหลวงให้เป็นน้ำคลองนั้นคลองนี้ไม่ได้ฉันใด ใครจะไปแยกวิมุตติหลุดพ้นของจิตผู้บำเพ็ญธรรม ที่สมบูรณ์เต็มที่แล้วเข้าสู่ธรรมธาตุ เข้าสู่ความหลุดพ้นแล้วให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นั่น จึงว่ามีอันเดียว พอ
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์แท้มีอันเดียว แม่น้ำมหาสมุทรแท้มีอันเดียว นั่น ลงรวมกันที่น้ำ เป็นที่รวมแห่งน้ำ จิตนี้เป็นที่รวมแห่งธรรมทั้งหลาย ธรรมกับจิตเป็นอันเดียวกัน นี่ละธรรมหลักธรรมชาตินี้เรียกว่าธรรมธาตุ กระจายครอบโลกธาตุคือธรรมธาตุ ว่าธรรมมีอยู่ๆ ธรรมชาตินี้แหละมีอยู่ มาจากใจที่ไม่เคยตาย ใจเราใจท่านใจใครก็ตาม ชำระให้เสร็จสิ้นลงไปแล้วจะไม่ตาย แม้ตั้งแต่ยังชำระไม่ได้มันก็เกิดนั้นเกิดนี้ ขึ้นสูงลงต่ำ อะไรก็แล้วแต่มันจะขึ้นไปตามกรรมของมันนั่นแหละ มันก็ไม่ตาย ทุกข์ยอมรับว่าทุกข์ ตกนรกหมกไหม้ตั้งกี่กัปกี่กัลป์ก็ยอมว่าตก แต่ไม่ยอมฉิบหายคือจิตดวงนี้ ท่านจึงเรียกว่านักท่องเที่ยว คือเที่ยวภพนั้นเที่ยวภพนี้ พอชำระให้เสร็จสิ้นแล้วดีดผึงแล้ว จิตดวงนี้แหละที่นี่ที่ว่าไม่ตาย เป็นธรรมธาตุครอบโลกธาตุอยู่เวลานี้
ให้พากันตั้งอกตั้งใจนะ ประพฤติตัวให้ดี ให้ฟังเสียงอรรถเสียงธรรม ตัวเองจะไม่ทะเลาะตัวเองด้วยอารมณ์ต่างๆ มันขัดมันแย้งอยู่ภายในจิตใจ อันหนึ่งจะไปอันหนึ่งไม่ไป อันหนึ่งจะทำดีอันหนึ่งจะทำชั่ว อันหนึ่งจะขยันอันหนึ่งจะขี้เกียจ ต่อยกันวันยังค่ำคืนยังรุ่ง พอต่อยอะไรเสร็จแล้วไปลงในหมอน ต่อยกันในหมอนอีก หลับครอกๆ ต่อยกันในหลับครอกๆ ฝันละเมอเฟ้อฝันไปต่างๆ นี่พวกบ้าฝันไม่เลิกเข้าใจไหม จำให้ดีนะ เอาแค่นี้แหละวันนี้
ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาตามกำหนดการ ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th |