อยู่ด้วยกันให้ดูหัวใจเจ้าของ
วันที่ 8 มกราคม 2547 เวลา 9:00 น. ความยาว 53.43 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

อยู่ด้วยกันให้ดูหัวใจเจ้าของ

 

         ข้างในได้นับไหม เท่าไรข้างในครัว ได้นับดูไหมประมาณเท่าไร (๑๑๗ ครับ) นั่น ทางโน้นมันมากกว่าทางนี้ พระเท่าไร ทางนั้นตั้งร้อยกว่า มาตั้งใจมาปฏิบัติก็เป็นอย่างหนึ่งนะ ไอ้มาขวางเพื่อนขวางฝูงขวางวัดวา ขวางครูบาอาจารย์พระเณรทั้งหลาย เรียกว่าดูไม่ได้เลย ถ้าตั้งหน้าตั้งตามาปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมก็เห็นใจ ทุกข์ยากลำบากก็ถูไถกันไปได้ อย่างนั้น ถ้ามาแบบสกปรกนี้ดูไม่ได้ แล้วชอบทะเลาะเบาะแว้งกันนี่มันเลวร้ายมาก ต้องให้พากันระมัดระวัง การพูดนี้เพื่อชำระสิ่งไม่ดี กั้นกางสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามาทำลายสิ่งที่ดี สถานที่ดี

เรานี้เห็นตอนที่เราอยู่กับพ่อแม่ครูจารย์มั่น มีแต่พระเณรล้วนๆ ท่านก็ไม่มีอะไรแหละ แต่เราหากเป็นบ้าของเราอยู่ คอยดูค่อยสอดคอยส่อง คอยแนะนำตักเตือนพระเณรที่มาจากที่ต่างๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรก็มี เพื่อความสะดวกสบายของครูบาอาจารย์ เพราะพวกเรานี้ไปหาท่านเอง ไปก็ไปกีดขวางไปอะไรให้ระเกะระกะ ให้ท่านลำบากลำบนกังวลมีสายตา มีหู ตลอด เข้าไปกวนใจ เราจึงต้องระมัดระวัง จึงได้บอกกับหมู่กับเพื่อนที่มาอยู่นี้ แล้วเรากลายมาเป็นผู้ใหญ่อยู่ในนี้ ก็คิดย้อนหลังถึงเรื่องความเป็นผู้น้อย เป็นผู้ดูแลคอยสอดส่องพระเณรทั้งหลาย โหย หนักมากนะ เป็นเหมือนบ๋อยกลางวัดนั่นนะ แต่พระเณรทั้งหลายท่านก็ดี แต่ความสอดส่องของเราเพื่อให้เป็นความเรียบร้อย สะดวกแก่ท่านผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่เรานั้น เราสงวนรักษามากตรงนี้นะ สำหรับพระเณรก็ไม่มีอะไรละ

แต่ก็เป็นธรรมดาที่มาศึกษาอบรม ยังไม่รู้ไม่เข้าใจก็เป็นธรรมดา ท่านไม่ได้ตั้งหน้ามาทำเสียหายอะไร แต่ความรู้ของคนเรามีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงหยาบละเอียดต่างกันซิ นั่นละที่จะต้องได้ระมัดระวังมากทีเดียว วันนี้พูดเสียบ้างเกี่ยวกับเรื่อง เราเป็นผู้ดูแลพระเณรทั้งหลายในวัดนั้น ผู้เซ่อมันเซ่ออยู่ในตัวของมัน มันหนักอยู่ในนั้นแหละ ไม่มีเจตนาอะไรมันก็หนักโดยธรรมชาติของมันนั้น คือความเซ่อๆ ซ่าๆ มี ต้องได้ระมัดระวัง จะเข้าจะออกกับท่านนี้เราต้องคอยดูแล นี่ที่ว่ามาอยู่หนองผือนี้ อาหารไม่เคยอด คือไม่ฉันอย่างนี้ ฉันทุกวัน แต่ฉันลดลงไปเพียง ๖๐% เป็นประจำ ไม่ให้อิ่มแหละ เพื่อความพากเพียรของเราเกี่ยวกับหมู่มาก ถ้าออกไปแล้วเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นคนละโลกไปเลย อยากกินก็กิน ไม่อยากกินกี่วันช่างมัน เรื่อย ไม่ได้มองดูใคร มองดูตัวของเราคนเดียว มันก็เบาหวิวๆ ซิ

เวลามาอยู่นั้นเป็นความอบอุ่นสำหรับครูบาอาจารย์ แต่เป็นเรื่องหนักสำหรับเราที่แบกภาระเกี่ยวกับเพื่อนฝูงที่มาอยู่ร่วมกัน ไม่ให้มีอะไรเกิดขึ้นในวัดนั้นเลย นั่นละที่มันหนักตรงนี้ ต้องหูดีตาดี คอดสอดคอยส่องดูแลพระเณร เอะอะเรานี่เอาคอเข้ารับเลย ถ้าผิดพลาดก็เราเป็นผู้รับ เวลาออกมาแล้วก็จับบิดเอา ทำไมทำอย่างนั้นล่ะ ถ้าเข้าไปข้างในแล้วเอาคอไปรับท่าน เรารับผิดแทนพระเณรหมด เป็นอย่างนั้นนะ ผิดพลาดอะไรเราดึงตัวของเราเข้าไปเกี่ยวข้องจนได้ พอเป็นเรื่องของเราท่านก็นิ่งไปเสีย ผิดพลาดอะไรๆ นี่เราพยายามหาเรื่องเกี่ยวโยงเข้าไปให้เกี่ยวกับเรา ว่าเราผิดพลาดอยู่ในนั้นด้วย ท่านก็เลยนิ่งไปเสีย มันมีอย่างนี้ อย่างนี้ละที่เราต้องได้ระมัดระวัง

สุดท้ายท่านก็จับจนได้นั่นแหละ มันหลายครั้งหลายหน พระเณรหลายองค์ พระเณรผิดท้ายวัดหัววัดก็มหาผิด ผิดที่ไหนก็มหาผิด หูหนวกตาบอดเข้ามาในนี้ก็มหาผิด อะไรก็มหาผิด ทำไมมหาองค์นี้มันถึงโง่เอานักหนา ขึ้นเลยนะที่นี่ รู้แล้วนั่นว่าเราตัดคอรองพระ ท่านรู้แล้ว เป็นอย่างนั้นนะ กับพระนี่เราระมัดระวัง เราต้องยอมรับผิด เข้าไปแทรกเลย เรื่องก็เบาไปๆ ถ้าเป็นเรื่องของเราท่านไม่ค่อยว่าอะไร เพราะท่านก็ดูเราอยู่แล้ว จนกระทั่งท่านฟาดออกมา พระท้ายวัดหัววัดผิดก็ว่ามหาผิด หูหนวกตาบอดมาจากไหนก็มหาผิด เลยมหาองค์เดียวมันผิดเอาทั้งวัดทั้งวา หือ มันโง่ขนาดนั้นเชียวหรือมหาองค์นี้น่ะ ขึ้นขนาดนั้น ฟังซิน่ะ ท่านรู้จนได้นั่นแหละว่าเราเป็นผู้รับรองหมู่เพื่อน ไม่มีเจตนาอะไรต่อหมู่เพื่อน รับรองรักษาหมู่เพื่อน แต่ผิดเอา ถ้าออกมาจากท่านแล้วควรอย่างไรก็ซัดกันละ เข้าใจไหม ถ้าเข้าไปหาท่านเราเอาคอไปรอง เป็นอย่างนั้นนะ เราปฏิบัติหมู่เพื่อนเราปฏิบัติอย่างนั้น ที่จะไปยกโทษคนนั้นคนนี้ไม่เคย ออกมาเจ้าของก็เอาเลย ผิดตรงไหนก็ว่ากันเลย

หนักมากทีเดียว ทั้งๆ ที่ก็ไม่มีเรื่องมีราวอะไรแหละในวัดในวา ท่านก็ต่างองค์ต่างมาปฏิบัติ พระเณรในวัดท่านไม่ค่อยมากนัก ประมาณ ๓๕-๓๖ นี่เป็นพื้นนะ บางที ๔๐-๕๐ ก็มีเป็นกาลเวลา ที่ครูบาอาจารย์หรือพระเณรเข้ามาก็ต้องขยับขยาย ฉันจังหันก็ไม่ให้อิ่ม คือพอประคองความเพียรเจ้าของ จะให้มันเจริญขึ้นไปนั้นไม่ค่อยเจริญแหละ เพราะภาระมาก เกี่ยวข้องกับหมู่กับเพื่อน แต่ความเพียรของเราก็หนุนของเราอยู่ มันไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นจึงผ่อนอาหารไว้ให้พอดีเท่านั้น ไม่เคยอดอยู่ที่นั่น ถ้าออกไปแล้วเอาละที่นี่ เรียกว่าเกี่ยวกับหมู่กับเพื่อนนี้หนักมากนะ

นี่อยู่ด้วยกันเป็นยังไง ใครหนักใครเบายังไงให้ดูหัวใจเจ้าของนะ อย่ามีตั้งแต่ทิฐิมานะ ปากเปราะ จิตใจส่ายแส่ดูแต่โทษคนอื่นไม่ดูตัวของเรา ตัวนั้นละตัวเสนียดจัญไร ให้พากันดูทุกคน ดูตัวเอง นี่เคยผ่านมาเสียมากต่อมากแล้ว ไปอยู่ทางด้านปริยัติก็มักจะเป็นหัวหน้าคณะจนได้นั่นแหละ เรียนหนังสืออยู่ก็มักได้เป็นหัวหน้าคณะ เป็นหลายคณะๆ ไม่ค่อยได้เป็นผู้น้อยแหละ มักจะเป็นหัวหน้าคณะเรื่อย ออกมาปฏิบัติก็เลยมาเกี่ยวข้องกับพ่อแม่ครูจารย์มั่น อันนี้จึงรู้ได้ชัดว่าหนักมาก เพราะพระเณรเข้าออกตลอดเวลา ผิดถูกชั่วดีมาด้วยกันๆ กับพระกับเณรแต่ละองค์ เราต้องได้ระมัดระวังทุกสิ่งทุกอย่าง หูดีตาไว คอยสอดคอยส่องไม่ให้ท่านได้รับความขัดข้องยุ่งเหยิงวุ่นวายกับพระกับเณร ที่เราต่างคนต่างมาเอง ให้ท่านได้เบาอกเบาใจ เพียงแนะนำสั่งสอนเราก็เป็นมหาคุณอย่างล้นฟ้าล้นแผ่นดินแล้ว ไหนจะไปทำอะไรให้ท่านลำบากลำบน เราคิดอย่างนั้นนะ

เพราะฉะนั้นจึงต้องได้สอดได้ส่อง หนัก สำหรับพระเณรท่านก็ไม่มีอะไรแหละ หากเป็นเรื่องของเราคอยดูแลอยู่อย่างนั้น ท่านก็จนจับได้ทุกอย่างนั่นแหละ จับได้นะ เวลาเรากราบเรียนปรึกษาหารือที่จะไปเที่ยววิเวกส่วนตัวของเราเอง ท่านก็เห็นใจ ว่าอยู่กับหมู่เพื่อนการประกอบความเพียรไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ท่านก็รู้ ทีนี้เวลาเราไป พระเณรอาจจะระเกะระกะให้ท่านเห็น ท่านไม่ได้พูดแหละเรื่องเหล่านี้เงียบทั้งนั้น เวลาเราปรึกษาหารือจะไปไหนมาไหน ดูอาการของท่านไม่อยากให้ไปแหละ แต่ท่านก็คิดเห็นประโยชน์ส่วนใหญ่ของเรา ท่านก็ให้ไปจนได้นั่นแหละ แต่อาการเวลาเรากราบเรียนท่าน เรารู้ทันทีอาการของท่าน นี่มันก็ส่อไปถึงพระถึงเณรในวัด เวลาเราอยู่เป็นยังไง เวลาเราจากท่านไปแล้วเป็นยังไง มันจะมีจนได้นั่นแหละ แต่ท่านไม่พูด

ไม่ผิดมากผิดน้อยอะไรแหละ เพียงระเกะระกะให้ขวางตาของท่านเท่านั้นมันก็ไม่เหมาะแล้ว เราระมัดระวังอย่างนี้แหละ จึงต้องเข้มงวดกวดขันตลอดเวลา เวลามีพระมีเณร ประชาชน เข้ามาเกี่ยวข้องมากๆ เราก็อดคิดไม่ได้สำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าๆ อยู่ในต่างๆ เช่นอย่างอยู่ในครัวนี่ ให้ต่างคนต่างอดต่างทนเก็บความรู้สึก อย่าปากเปราะ อย่าหายกโทษคนนั้นคนนี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องอรรถเรื่องธรรมฆ่ากิเลส เป็นเรื่องสั่งสมกิเลสและก่อความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น เป็นความกังวล อย่าทำนะ เราเสาะแสวงหาธรรม อะไรมันขัดขึ้นให้ดูตัวของเราทันที อย่าไปดูภายนอก จะเป็นการเสริมความไม่ดีของเราขึ้น ให้ดูตัวของเรามันก็หดเข้ามา

การปฏิบัติมีหลายขั้นหลายภูมิ สำหรับเรามันผ่านมาพอแล้ว พระเณรมาจากทางไหนต่อทางไหน มาที่นั่นก็ต้องเป็นกฎระเบียบอันดีงามด้วยกัน ตบตีเข้าไปหาครูบาอาจารย์ให้ท่านได้สงบร่มเย็น ให้มีแต่มารยาทความประพฤติอันดีงามไปด้วยกัน ผู้ใหญ่ท่านก็สะดวกสบาย อย่าให้หนักอกหนักใจ เดี๋ยวยิ่งมีการทะเลาะกันอย่างนั้น โอ๋ย อย่างนี้เรื่องใหญ่โตมากนะ เพราะพระเณรผู้ปฏิบัติมามีการทะเลาะเบาะแว้ง เลวมากที่สุดเลย เราพูดไว้อย่างนั้นแหละ สำหรับวัดหนองผือไม่เคยมีแหละเรื่องมีน่ะ แต่การสอดส่องเพื่อความดีงามยิ่งขึ้นไปนี้ มันก็เป็นเรื่องของเราที่จะพินิจพิจารณา ตักเตือนพระเณร คอยดู แนะนำกันไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้ นี่ละที่มันหนัก หนักเพราะอันนี้เอง

แล้วอะไรๆ เอะอะท่านมักจะมาถามมาหาเรานี่แหละ แน่ะ มันก็มาจุดนี้อีก มีเรื่องอะไร ท่านมหาว่ายังไง แน่ะเอาแล้ว มาหาเรานี่แหละ ท่านก็เห็นใจเรา เพราะเจตนาของเราเป็นยังไงไม่ต้องบอกท่านก็รู้เอง เวลาอยู่กับเพื่อนกับฝูงเป็นยังไง นี่ท่านก็ทราบอีกทางหนึ่ง พูดจริงๆ พระเณรเรียบร้อยตลอดเวลาเราอยู่ที่นั่น แล้วพระเณรไม่มีองค์ไหนที่จะมาทะลึ่งกับเราได้ ไม่เคยมี มีแต่กลัว กลัวทั้งนั้นแหละ เรียกตรงๆ ก็คือว่า กลัวรองลำดับพ่อแม่ครูจารย์มั่นลงมา พระเณรเห็นเรานี่หลบพับๆ เหมือนหนูหลบแมว เป็นอย่างนั้นนะ เพราะเราเอาจริงเอาจังทุกอย่าง ด้วยความเป็นอรรถเป็นธรรม ใครจะมาทะลึ่งได้ยังไง

ทุกสิ่งทุกอย่างตกเข้ามาในวัดนี้ ท่านมอบให้เราเลยเป็นผู้จัดการดูแลอะไร จตุปัจจัยไทยทาน เขามาทอดผ้าป่งผ้าป่ามากน้อยเพียงไร ให้ท่านมหาพิจารณาจัดเสียนะ เท่านั้น ท่านหนีเลย เราจะต้องดูแลทุกอย่าง แบบรอบคอบอีกเหมือนกัน ภาระก็มารวมอยู่กับเราๆ หนัก เวลามาเป็นผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าหมู่เพื่อนด้วยความเป็นเองอย่างนี้ละ มันก็ต้องได้พิจารณาเรื่องเหล่านี้ ถ้าต่างคนต่างมุ่งมามุ่งอรรถมุ่งธรรมจริงๆ คอยดูแลตัวเองตลอด สอดส่องตัวเองอยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว ความผิดพลาดไม่ค่อยมี เรื่องราวเกิดขึ้นอะไรก็ให้ย้อนเข้ามาดูตัวเอง ถ้าย้อนเข้ามาจิตมันจะได้เหตุได้ผลขึ้นมาทันที ถ้าพุ่งออกไปข้างนอกนี้เพิ่มฟืนเพิ่มไฟขึ้นนะ ต้องย้อนเข้ามาดูตัวเองเสมอ นี่ละท่านว่าภาวนา คือมีสติ ถ้ามีสติอยู่กับตัวความผิดพลาดรู้ได้ง่าย แก้ได้เร็ว ถ้าไม่มีสติแล้วลุกลามไปทางชั่ว เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ภาวนา

ภาวนาคือเรื่องดูตัวเอง เพราะเหตุมันเกิดที่ใจ ส่วนมากมักจะมีเหตุชั่วเกิดที่ใจ ถ้ามีสติรับทราบอยู่แล้ว เหตุเหล่านี้มันก็ระงับ เพราะเรารู้ตัวมันแล้วมันก็ดับ ถ้าไม่รู้มันก็ลุกลามไปใหญ่ การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องละเอียดลออมากทีเดียว ศีลเป็นรั้วกั้นไม่ให้ล่วงเกิน ธรรมเป็นทางเดิน ศีลเป็นรั้วกั้นไม่ให้ข้ามออกไป ถ้าข้ามออกไปก็ผิด ก่อความเดือดร้อนขึ้นมาทันที เพราะศีลนี่ก็หมายถึงธรรมขั้นหยาบ ท่านเรียกว่าศีลเฉยๆ แปลว่าธรรมขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดเข้าไปก็เป็นธรรมๆ

อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง อยู่ด้วยกันให้เห็นเสมอภาคกันไปหมด อย่าเห็นแก่เขาแก่เรา เห็นของเขาของเรา เห็นแก่ปากแก่ท้อง คนๆ นี้ไปไหนขวางโลก ถ้าใครเห็นแก่ตัวแล้วขวางทันที ถ้าใครเห็นแก่เพื่อนแก่ฝูง เรียกว่าความเป็นธรรม ไปที่ไหนเย็นหมด คนเห็นแก่ธรรมไปที่ไหนเย็น เพื่อนฝูงก็รักก็ชอบ คนใดเห็นแก่ตัวไปที่ไหนไม่ดี ให้พากันระมัดระวัง

การประพฤติปฏิบัติต้องเอาความทุกข์เป็นพื้นฐานไว้ จะต้องยอมรับความทุกข์ทุกประเภทจากการปฏิบัติธรรม นั่นละที่นี่ปฏิบัติตัวได้ถ้าอย่างนั้น ถ้าหวังจะเอาความสุข ความดีความเด่น นอกลู่นอกทางไปแล้วนะนั่น นอกจากอรรถจากธรรมไปแล้ว จะกระทบกระเทือน ตัวเองก็หาความสงบไม่ได้ ถ้าเอาธรรมเป็นพื้นฐาน กางจิตใจตัวเองออกประสานกับเพื่อนฝูงให้สม่ำเสมอกันแล้วก็เสมอภาค ผิดถูกชั่วดีก็เป็นไปโดยธรรม รู้กันได้ง่าย แก้กันได้เร็ว เรื่องธรรมละเอียดอย่างนั้นนะ

คิดดูตั้งแต่เราภาวนา วันนี้ทำไมจิตมันขัดๆ ข้องๆ มันเป็นเพราะอะไรวันนี้ สาวหาเหตุ ได้จนได้ อ๋อ วันนี้มีอารมณ์กับอันนั้นๆ แล้วจิตมันมักจะแย็บออกไปๆ ตีเข้ามาละที่นี่ นั่น พอรู้แล้วตีเข้ามา มันก็ไม่ออกไปยุ่ง.ถ้ามันยุ่ง ไม่ได้คิดได้อ่าน ผิดถูกประการใดไม่ได้คิดได้อ่าน มันสร้างผลความยุ่งยากขึ้นมาใส่ตัวเอง เวลาภาวนาจิตก็ไม่ลง ต้องได้คิดทดสอบทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงต้องได้ระมัดระวังอากัปกิริยาการแสดงออกของเรา ให้มีสติติดตามๆ อย่าให้มันลุกลามไปความคิดความปรุงอะไร พยายามตีต้อนเข้ามาเรื่อยๆ ถ้าฝึกอย่างนี้แล้วมันก็ดีๆ

กิเลสนั้นละตัวสำคัญที่เป็นภัยต่อธรรมอยู่ตลอดมา การฝึกฝนอบรมลำบากลำบน มีแต่กำลังของกิเลสต้านทาน เตะถีบยันการภาวนาของเราให้สงบไม่ได้ คืออารมณ์ของใจ อารมณ์ของใจนั้นแหละออกจากกิเลสผลักดันออกมา ท่านจึงเรียกว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาหนุนให้เกิดความคิดความปรุงต่างๆ ด้วยอำนาจของอวิชชา คิดไม่หยุดไม่ถอย ปรุงไม่หยุดไม่ถอย เพราะอวิชชาตัวนี้มันหนุนออกให้อยากคิดอยากปรุงเรื่องราวนั้นๆ ให้อยากนั้นอยากนี้ อยากตลอด ไปจากอวิชชานี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ใช้ความสงบเสียก่อน ด้วยบทบริกรรมภาวนา เอาสติบังคับ

สตินั่นละเป็นธรรมที่บังคับกระแสต่างๆ ของกิเลสได้เป็นอย่างดีไปโดยลำดับ ถ้ามีสติแล้วอะไรก็ไม่รุนแรง บังคับเอาไว้ด้วยสติๆ ก็อยู่ คือกิเลสมันก็อยู่ในใจ ธรรมอยู่ในใจ ส่วนใดที่มีกำลังมากส่วนนั้นออกก่อน ส่วนมากต่อมากก็มีตั้งแต่กิเลสมีกำลังมากแล้วออกก่อนตลอดเวลา เราจะระงับมันเพียงชั่วกาลชั่วเวลา พอระงับปั๊บก็หาว่าลำบากลำบนไปเสีย ไม่ได้คิดตัวพาให้ลำบากคืออะไร นั่น วันหลังก็ลำบากอีก เลยเถลไถลไปเรื่อยๆ  ถ้ามันลำบากเอาให้หนักเข้าๆ ซิ ทำไมมันจึงภาวนาลำบาก มันดีดดิ้นไปหาอารมณ์อะไร จับดึงเข้ามา มันไม่อยากเข้า ดึงเข้า นั่นจึงเรียกว่าฝึกกัน

สติมีอยู่กับตัวรักษาภัยได้ดี แม้จะยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ก็ขอให้มีสติ พอจะรู้ผิดถูกชั่วดีอันหยาบๆ ของตัวเองได้ ทีนี้เวลาเราฝึกหนักเข้าๆ สติดีขึ้นๆ  กิริยาของกิเลสที่เคยแสดงและผลักดันออกมาก็เบาลงๆ นั่นละท่านจึงว่าขันธ์ของกิเลสทำงานล้วนๆ ก็มี เป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเจือปนก็มี มันต่างกัน สังขารที่ปรุงออกด้วยอำนาจอวิชชานี้ จะเป็นสังขารของกิเลสทั้งหมด ไม่ว่าสัญญา ความรู้ความเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เรื่องอวิชชานี่มันจะฉวยมับๆ มาเป็นหัวหน้าลากไปดึงไปหนุนไปตลอด นั่น เวลากิเลสเหล่านี้เบาลงเพราะอำนาจของความพากเพียรของเรา ความผลักดันของอวิชชานี้ก็เบาลงๆ

ตัวสำคัญตัวอวิชชา ของง่ายๆ เมื่อไร เวลาเบาลงๆ แล้วก็ค่อยสบายไปๆ ธรรมหนักเข้าๆ ตัดกิ่งตัดก้านเข้ามาเรื่อยๆ ที่มันออกไปนอกๆ ตีเข้ามาๆ เดี๋ยวก็มาถึงต้นตอคืออวิชชา มีมากมีน้อยอวิชชาจะเป็นต้นตออยู่นั้น ตีเข้าไปๆ ฟาดอวิชชาพังทลายแล้ว สังขาร ความคิดความปรุง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีเหมือนกัน แต่ไม่มีอะไรผลักดันเหมือนที่อวิชชาเป็นเจ้าอำนาจครองตัวอยู่เป็นผู้ผลักดัน ตัวนี้ไม่มีแล้วไม่มีอะไรผลักดัน ท่านจึงเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ ตาก็ตาล้วนๆ เห็นแล้วไม่เป็นภัย ไม่มีตัวใดปรุงเป็นกิเลสขึ้นมา ไม่รักไม่ชัง ได้ยินได้ฟัง พอใจไม่พอใจไม่แสดง เพราะกิเลสคืออวิชชามันดับแล้ว มันจึงมาเป็นขันธ์ล้วนๆ

ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต เป็นขันธ์ล้วนๆ เช่น สังขารขันธ์ คิดก็เป็นขันธ์ล้วนๆ  สัญญาจำก็จำเป็นขันธ์ของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปนี่ออกไปหาตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปเลย เรื่องรูปก็เป็นอวัยวะแต่ละส่วนๆ ล้วนๆ ไปเลยไม่เป็นภัย ความคิดความปรุงเกิดขึ้นแล้วให้เกิดเวทนาต่างๆ สังขารก็เป็นขันธ์ล้วนๆ เวทนาไม่มีทางใจ มีแต่เวทนาความทุกข์ ความสุข อยู่ภายในร่างกาย สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกอย่างเป็นขันธ์ล้วนๆ ไปหมดเลย เพราะไม่มีอวิชชาเป็นเจ้าของ

ธรรมเป็นเจ้าของท่านไม่ติด ท่านนำมาใช้เฉยๆ  กิเลสเป็นเจ้าของ ยึดด้วย ติดด้วย มันจึงสร้างแต่กิเลสขึ้นมา จิตที่บริสุทธิ์แล้วไม่ยึด แต่จิตนั้นไม่มีเครื่องมือเป็นของตน ต้องอาศัยธาตุขันธ์ของเรา ขันธ์ ๕ นี่แหละเป็นเครื่องมือ แต่ก่อนขันธ์ ๕ เป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสเป็นเจ้าของ ทีนี้เวลามาชำระให้หมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ขันธ์ก็กลายเป็นขันธ์ล้วนๆ  ธรรมท่านไม่ยึด ท่านเป็นผู้นำมาใช้เฉยๆ ท่านไม่ได้ถือว่าเป็นใหญ่อย่างนั้นอย่างนี้ในขันธ์ ท่านไม่ได้ว่า ใช้กันตามหลักธรรมชาติที่ครองตัวอยู่เท่านั้น มันต่างกันอย่างนี้

นี่ละจิตดวงเดียวนี้ มันมีกิเลสเป็นตัวสำคัญอยู่ในนั้น มันแสดงออกตามทางของกิเลสตลอด ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอาธรรมมาบังคับๆ และมีธรรมบังคับไว้อีกเป็นขั้นๆ เช่น บริกรรม มีสติตั้งอยู่กับคำบริกรรม ไม่ให้มันคิดปรุงเรื่องอะไร ให้รู้อยู่กับคำบริกรรม คำบริกรรมกับใจติดกันแนบ คำบริกรรมกับสติติดกันแนบ มันไม่สร้างโทษนะ เวลานั้นไม่สร้างโทษสร้างภัย ถ้าธรรมทำงานแล้ว สติธรรมก็ทำงาน บริกรรมธรรมมันก็ทำงานกับใจ มันก็ทำงานอยู่ในวงของธรรม ก็ค่อยสงบเย็นไปเรื่อยๆ ถ้าเราปล่อยจากนี้ไปเมื่อไรกิเลสเอาไปเผาทันที ให้พากันจำเอานะ การปฏิบัติ

นี่อธิบายเรียงมาเป็นลำดับลำดาให้พากันเข้าใจ เพราะได้ผ่านมาหมด ที่พูดเหล่านี้ผ่านมาแล้วทั้งนั้นเลย เรื่องของกิเลสนี้แหม กิเลสกับธรรม ไม่มีใครรู้ละเอียดได้ยิ่งกว่านักปฏิบัติธรรม ด้วยความเอาจริงเอาจังในธรรมทั้งหลาย ผู้นี้รู้ละเอียดทุกอย่าง ทำสักแต่ว่าทำ ภาวนาสักแต่ว่าๆ ไป มันก็เหมือนโลกเขานั่นแหละไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ถ้าผู้เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติตนเพื่อชำระกิเลสจริงๆ แล้ว ต้องเห็นเรื่องของกิเลสเป็นลำดับ และเห็นคุณค่าของธรรมไปเป็นลำดับในระยะเดียวกันๆ

ท่านจึงบอกว่ามหาเหตุคือใจ เหตุชั่วคือกิเลสพาให้สร้างความชั่ว เกิดขึ้นที่ใจ เหตุดีคือธรรมอยู่ที่ใจ เอาสติธรรมเป็นต้นจับปั๊บเข้าไปตรงนั้น แล้วจะเห็นเหตุชั่วคือเรื่องของกิเลส มันจะปรุงเรื่องอะไรขึ้นมา มันจะรู้กันเห็นกันเพราะมันอยู่ด้วยกัน ระหว่างกิเลสกับธรรมอยู่ในหัวใจอันเดียวกัน ปฏิบัตินานเข้าๆ ธรรมก็เป็นเจ้าของของใจหนักขึ้นๆ แต่ก่อนมีแต่กิเลสเป็นเจ้าของของใจ สร้างแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนให้เรา เพราะไม่มีผู้ต้านทานรักษากัน พอเรามีความพากเพียร มีสติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม พากเพียรอยู่ตลอดเวลาเข้าไปแล้ว จะได้เห็นเรื่องของกิเลสมันผลักมันดัน อยากคิดอยากปรุงอยู่ตลอดเวลา ทางนี้บังคับไว้ไม่ให้คิด ครั้นนานเข้าๆ มันก็มาดูดดื่มกับธรรม คือความสงบเย็นใจ ต่อไปก็ดื่มเข้าทางนี้ เรื่องของกิเลสมันก็เห็นโทษกันไปๆ เพราะเห็นคุณค่าของธรรมหนักเข้า นั่นละการภาวนา พากันคิดนะ

สักแต่ว่าภาวนามันไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร ขอให้จริงจังเถอะ เพียงแต่สติเท่านี้ก็ได้ความนะ วันไหนที่สติเราตั้งได้ดีๆ แล้ว วันนั้นเหตุการณ์ไม่ค่อยเกิดภายในใจนะ ความยุ่งเหยิงวุ่นวายไม่ค่อยเกิด ถ้าเรามีอารมณ์กับอะไรแล้ว จิตมันจะไปยุ่งกับอารมณ์นั้น สร้างกิเลสขึ้นมาๆ  วันนั้นภาวนาไม่ลงแหละ

อะไรจะไปยากยิ่งกว่ากิเลสภายในหัวใจวะ แล้วทีนี้โลกไหนที่มาพูดโทษของกิเลสและคุณค่าของธรรมอยู่ที่ใจ ให้ชำระจิตใจ มีจิตตภาวนาเป็นพื้นฐาน ใครมาพูดไม่มี ศาสนาใดก็ลองดูซิน่ะ มีพุทธศาสนาเท่านั้นลงที่จุดมหาเหตุ แล้วแก้กันได้ตรงนี้ บริสุทธิ์ตรงนี้ เลิศที่ตรงนี้ นอกนั้นไม่มี สอนก็งูๆ ปลาๆ ไป ตามเงาของกิเลส กิเลสหลอกไปไหนก็สอนกันไปตามกิเลสหลอก ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้หลง รู้หมดเรื่องเงาของกิเลส ต้นตอของกิเลสจริงๆ อยู่ตรงไหนก็รู้หมด แก้กันได้แล้วเอานั้นมาสอนโลก ถูกต้องหมดนะ พากันจำเอานะ

อยู่ด้วยกันให้มีความผาสุกเย็นใจ อย่าให้กิเลสเข้ามาทำงานบนหัวใจ กาย วาจา กิริยาที่แสดงออก ให้ธรรมแสดงออกมาสมกับผู้มาปฏิบัติธรรมนะ เอาเท่านั้นละวันนี้

 

ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตา ตามกำหนดการ ได้ที่

www.Luangta.com


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก