อัจฉริยมนุษย์
วันที่ 18 พฤษภาคม 2508 ความยาว 38.51 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘

อัจฉริยมนุษย์

 

        วันนี้ตรงกับวันอัจฉริยมนุษย์บุคคลอัศจรรย์อุบัติขึ้นในโลก คือพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทั้งสามสมัยนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนหก เช่นวันนี้ นับว่าเป็นอุดมมงคลอย่างยิ่งแก่เราทั้งหลาย เพราะนานๆ จะมีคนอัศจรรย์อุบัติขึ้นในโลกครั้งหนึ่ง พระองค์ประสูติจากพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช ทั้งสองพระองค์ท่านทรงได้อัจฉริยมนุษย์มาเป็นพระโอรส ปรากฏเด่นในหมู่ชนเป็นบุคคลที่หาได้ยาก เนื่องจากเป็นบุคคลประเภท เอกนามกึ คือหนึ่งไม่มีสอง ได้แก่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก มีเพียงครั้งละหนึ่งพระองค์เท่านั้น-หนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสคำใดลงไปแล้วต้องเป็นความจริงไม่มีสอง-หนึ่ง พระญาณที่ทรงรู้เห็นอะไรแล้ว สิ่งนั้นต้องเป็นจริงไม่มีผิดพลาด-หนึ่ง จึงจัดว่าเป็นอัจฉริยมนุษย์ คือบุคคลที่อัศจรรย์และแปลกจากโลกทั่วๆ ไป ทรงอุบัติขึ้นในระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหนครต่อกัน แต่ในที่นี้จะกล่าวพระประวัติเพียงย่อๆ พอสมควรแก่เวลา

        เมื่อพระสิทธัตถราชกุมารองค์พระโพธิญาณประสูติแล้ว ทรงได้รับการบำรุงบำเรอเป็นพิเศษ เสด็จประทับอยู่ปราสาทสามหลังตามฤดูกาล มีนางสนมขับกล่อมบำเรออยู่ตลอดกาล พระบิดาทรงให้การรักษาและบำรุงทุกอย่างเป็นที่พอพระทัย สิ่งที่จะทำการรบกวนพระทัยให้ขุ่นมัวไม่ทรงให้มี ให้เสด็จอยู่โดยความสะดวกพระกาย สบายพระทัย พอทรงเจริญพระชนมายุได้สิบหกพรรษาก็ทรงได้รับราชาภิเษก มีพระนางยโสธรา (พิมพา) เป็นอัครมเหสี ครองแผ่นดินแทนพระราชบิดา ทรงครองราชสมบัติได้สิบสามปี ในระยะที่เสวยราชสมบัติอยู่นั้นก็ทรงสำนึกพระทัยว่า บัดนี้พระองค์เป็นผู้ใหญ่แล้ว ทรงคิดอ่านไตร่ตรองทางด้านการปกครอง เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติบ้านเมือง และทรงไตร่ตรองอุบายวิธีเพื่อปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ให้มีความร่มเย็นในร่มเงาแห่งพระบารมีของพระองค์

ยิ่งทรงคิดไปมาก ก็ยิ่งเห็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระองค์ที่จะทรงรับภาระมากไปไม่มีสิ้นสุด ประกอบกับพระบารมีที่ทรงสร้างมาอย่างมากมาย ซึ่งกำลังเข้าขั้นสมบูรณ์เต็มที่แล้วเป็นเหตุบันดาลขึ้นในพระทัย อยากจะเสด็จประพาสพระอุทยานและสถานที่ต่างๆ เมื่อเสด็จประพาสไปในสถานที่ใดและคราวใด ก็เผอิญให้ทรงพบแต่สิ่งที่ทำให้สลดพระทัย คือเมื่อเสด็จประพาสพระอุทยานครั้งแรก ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นทารกพึ่งคลอดใหม่ๆ ตัวเล็กๆ นอนคลุกเคล้ากับฝุ่น ปราศจากผู้ให้ความอารักขาเพื่อความปลอดภัยอยู่ระหว่างทางเสด็จ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นและพิจารณาจนเกิดความสลดสังเวชพระทัยในทารก แล้วรับสั่งให้พาเสด็จกลับพระราชวัง

เสด็จประพาสวาระที่สอง ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ถือไม้เท้าเดินงกงันอยู่ด้วยความทุกข์ทรมานในระหว่างทางเสด็จ ก็ทอดพระเนตรเห็นและสลดพระทัย แล้วรับสั่งให้พาเสด็จกลับ เสด็จออกประพาสวาระที่สาม ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นคนตาย ซึ่งในพระราชวังไม่ค่อยจะมีคนประเภทที่น่าสลดสังเวชปะปนอยู่ เพราะเกรงจะกระเทือนพระทัยแล้วจะเสด็จออกผนวช เนื่องจากทางสำนักพระราชวังเคยทราบจากนักทำนายไว้ก่อนแล้วว่า พระองค์มีคติเป็นสอง คือ หนึ่ง ถ้าครองราชสมบัติจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สอง ถ้าเสด็จออกผนวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้นจึงมีการกวดขันกันโดยทางลับ เมื่อเสด็จออกประพาสวาระที่สี่ ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นเพศสมณะ ซึ่งเป็นเพศที่ต้องพระทัยเพื่อทางดำเนินของพระองค์ผู้เป็นหน่อพระโพธิญาณอยู่แล้ว

แต่สมณะในครั้งนั้นจะเป็นสมณะประเภทใดนั้น สันนิษฐานยาก ถ้าเป็นประเภทนักบวชนุ่งเหลืองห่มเหลือง เช่น ประเพณีของพระไทยเราก็คงจะยังมีขึ้นไม่ได้ เพราะพระพุทธศาสนาที่ประสิทธิ์ประสาทสมณะประเภทนี้ยังไม่อุบัติ คงจะเป็นสมณะที่มีอยู่ตามประเพณีนิยมของคนสมัยนั้น ที่บวชแล้วเที่ยวทำความสงบ กาย วาจา ใจ ด้วยการประพฤติตบธรรมอยู่ตามลัทธิของตน และเคยมีเกลื่อนอยู่ในโลกมาเป็นเวลานาน ทั้งสี่วาระที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจะเตือนพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา ให้สนพระทัยเพื่อบำเพ็ญพระบารมีให้ยิ่งขึ้น ทั้งพระองค์เองก็สนพระทัยต่อสภาพทั้งสี่นี้ จนเกิดความสลดสังเวชเต็มพระทัย

        ในวาระสุดท้ายที่ทรงเห็นเพศสมณะ รู้สึกว่าเป็นเพศที่มีความสงบเสงี่ยม น่าเลื่อมใสและยินดี เป็นเหตุให้พระองค์พอพระทัยอยากจะบำเพ็ญพระองค์ในเพศนั้นมากขึ้น ในราตรีวันนั้นคล้ายกับพระบารมีบันดาล ให้ทรงคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องโลกและธรรม และทรงย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายซึ่งปรากฏในคลองจักษุคราวเสด็จประพาสอย่างติดพระทัย ทรงเทียบพระองค์กับสภาพที่ประสบนั้นเข้าในลักษณะเดียวกัน ว่าความเกิดของเรากับเด็กที่ทรงเห็นนั้นมีเท่ากัน ความแก่ของเรากับคนแก่ที่ทรงเห็นนั้นมีเท่ากัน ความทุกข์ของเรากับคนที่ทรงเห็นเป็นทุกข์นั้นมีเท่ากัน ความตายของเรากับคนที่ทรงเห็นนอนตายอยู่นั้นมีเท่ากัน แม้เราเป็นกษัตริย์อยู่ในหอปราสาทก็คืออยู่ในห้อง เกิด แก่ เจ็บ ตายนั่นเอง ไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่างกันกับสิ่งที่เราไปเห็นมาแล้ว เขากับเรามันอยู่ในห้องขังของความเกิด แก่ เจ็บ ตายเช่นเดียวกัน

เหมือนนักโทษอยู่ในเรือนจำ แม้จะเป็นคนชาติชั้นวรรณะใด ก็คือนักโทษผู้ถูกคุมขังอยู่นั่นเอง ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่มีประจำตัวอยู่ทุกขณะนี้ ถึงแม้เราจะเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน มียศถาบรรดาศักดิ์สูงตามคำเขาเสกสรรให้ แต่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เขามิได้เคารพนับถือว่าเราเป็นกษัตริย์ พอจะเกรงขามอำนาจของเรา เขาก็คือเขาอยู่นั่นเอง มิหนำเราเป็นกษัตริย์ปกครองคน เขายังกลับมาเป็นกษัตริย์ปกครองเรา และมีอำนาจมากกว่าเราเสียอีก ไม่เพียงเขาจะปกครองเราคนเดียว เขายังมีอำนาจวาสนามาก สามารถปกครองคนและสัตว์ทุกประเภทได้ทั่วทั้งไตรภพ สั่งให้เกิดเมื่อไรได้ สั่งให้แก่ไปทุกขณะได้ สั่งให้ทุกข์ทรมานเมื่อไรได้ สั่งให้ตายเมื่อไรได้ ไม่มีอะไรกล้าขัดขืนคำสั่ง ทุกสิ่งต้องยอมจำนนเขาอย่างราบคาบ ไม่มีฝ่าฝืนไปได้แม้แต่กระเบียดเดียว

เรามัวเข้าใจว่าตนมีอำนาจราชศักดิ์ปกครองคนทั้งแผ่นดินได้ แต่ไม่เห็นมีอำนาจปกครองความเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ จะเข้าใจว่าเรามีอำนาจราชศักดิ์อย่างไรได้ แสดงว่าอำนาจเรายังไม่พอแก่การปกครอง เพราะเรายังยอมจำนนต่อความเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนโลกทั่วๆ ไป ไม่อาจบังคับให้สิ่งเหล่านี้อยู่ใต้อำนาจได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมควรแล้วหรือที่เราจะทำความนอนใจ นั่งคอยนอนคอยความทุกข์ทรมานซึ่งอยู่บนศีรษะ ไม่หาทางหลีกเลี่ยงหรือรบรันหั่นแหลกกันจนเห็นจุดความจริงของสิ่งเหล่านี้ แล้วคว้าเอาชัยชนะมาครอง

        เพศสมณะที่เราได้เห็นนั้น เป็นเพศที่จะช่วยให้เรามีทางหลีกเลี่ยง หรือหลุดพ้นจากอำนาจมหาศาลนี้ได้ เพราะเพศนั้นเป็นเพศที่ไตร่ตรองหามูลความจริง ทั้งทางผิดและทางถูก เป็นเพศที่สงบ ถ้าเป็นยาก็เป็นประเภทแก้ได้ในโรคสารพัดของคนและสัตว์ ไม่มีโรคชนิดใดจะฝ่าฝืนยาขนานนั้นไปได้ เพศนี้ก็เป็นเพศจะแก้ทุกข์ได้โดยแน่นอน ทั้งทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ ทั้งทุกข์ในการก่อภพก่อชาติ ทั้งทุกข์เพราะกิเลสสังหารใจ เพศนี้เป็นเพศจะระงับดับภัยทั้งหลายที่กล่าวมาได้จริง

ลจเพราะมองดูแล้วเป็นเพศที่นุ่มนวล อ่อนโยนทางมรรยาทและมีใจเป็นธรรม แต่เป็นเพศที่แข็งแกร่งต่อการพิสูจน์หามูลความจริง ไม่ถอยทัพกลับเกิดกลับตาย และยอมอยู่ใต้อำนาจของทุกข์ทั้งมวล อย่างไรเราคงจะมีทางปลดเปลื้องตนออกจากความกดขี่บังคับของสิ่งที่โลกกลัวๆ กัน คือ กองทุกข์มหาศาลและยืดเยื้อนี้ได้ ด้วยเพศแห่งนักบวชแน่นอน ในราตรีวันนั้นบรรยากาศก็รู้สึกเงียบสงัดไปหมดทุกทิศทุกทาง ไม่มีสิ่งใดไหวติงและส่งเสียงรบกวนพระทัยให้ทรงพลั้งเผลอพระองค์ ทรงมีโอกาสรำพึงไตร่ตรองสภาพการณ์ทุกด้านอย่างเต็มพระทัย

        พอทรงยุติจากเหตุการณ์ในวาระนั้น แล้วก้าวเสด็จออกทางพระทวารที่เปิดไว้ ก็พอดีกับเหตุการณ์ที่ทรงพิจารณาพึ่งยุติลงนั้น มาแสดงความจริงขึ้นกับคณะนางบำเรอผู้ขับกล่อมโดยทางอากัปกิริยา ไม่เป็นที่พอพระทัยและน่าสลดสังเวชยิ่งขึ้นอีก บางนางนอนในลักษณะของคนตายแล้ว บ้างก็ทิ้งแข้งทิ้งขาทิ้งอวัยวะ บ้างก็เปลือยท่อนหน้า บ้างก็เปลือยท่อนหลัง บ้างก็เปลือยหมดทั้งอวัยวะ น้ำลายไหลออกมุขทวารเหมือนคนกำลังสลบไสล บ้างก็กัดฟันกรอดๆ  และบ่นพึมพำทั้งๆ กำลังหลับอยู่ เครื่องดนตรีตกทิ้งเกลื่อนอยู่ตามบริเวณอย่างไม่มีระเบียบสวยงามอะไรเลย ทอดพระเนตรไปทางทิศใดในบริเวณนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกันหมด ซึ่งแต่ก่อนมาไม่เคยแสดงอาการเช่นนี้ ปรากฏแก่พระทัยในเวลานั้นเหมือนป่าช้าผีดิบ ทั้งเป็นสักขีพยานกับสภาพการณ์ที่พึ่งพิจารณามาอย่างสดๆ ร้อนๆ อีกด้วย

สุดที่จะทนอยู่ในป่าช้าผีดิบเช่นนี้ได้ จึงเสด็จกลับเข้าในห้องพระบรรทม จะเสด็จเยี่ยมพระราหุล พระปิโยรส ก็เกรงพระชายาจะทรงตื่นจากบรรทม และจะเป็นอุปสรรคต่อการทรงผนวช ทรงขบพระทนต์กลั้นพระทัยจำเสด็จจากไปในราตรีวันนั้น โดยไม่ทรงอำลาใครๆ มีนายฉันนอำมาตย์และม้ากัณฐกะตามเสด็จ มีพระทัยมุ่งต่อการทรงผนวชอย่างแรงกล้า เมื่อเสด็จถึงสถานที่และทรงผนวชเสร็จแล้ว ก็ทรงรับสั่งให้นายฉันนะนำม้ากลับพระราชฐาน ส่วนพระองค์ก็กลายเป็นนักบวชและเป็นคนขอทานเขามาเสวย พอยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่งๆ และทรงบำเพ็ญพระบารมีอย่างสุดกำลังของมหาวีรบุรุษ ทรงสละทิฐิมานะ สละพระราชสมบัติ ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์แผ่นดินกว้างแคบ พระชนกชนนี พระชายาและพระโอรสสุดที่รัก ตลอดตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ทรงสละโดยไม่มีความอาลัยเสียดาย

ประทับอยู่ในป่าในเขาอันเป็นสถานที่ใครๆ ไม่พึงปรารถนา ความเป็นอยู่ทุกอย่างย่อมมีความลำบากและฝืดเคืองไปตามๆ กัน เพราะศาสนายังไม่มี คนชาวป่าเป็นผู้ให้ทาน ทุกสิ่งที่อาศัยเขาต้องเป็นป่าไปตามคน ทรงเข้าอยู่อาศัยด้วยความลำบากเช่นนั้นถึงหกปี จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาในโลก ไม่ใช่เป็นกิจที่ทำได้อย่างง่ายดายเลย วันพระองค์ตรัสรู้ ตรงกับวันเพ็ญเดือนหก ซึ่งคล้ายกับวันนี้ นับว่าเป็นวันอุดมมงคลอย่างยิ่งสำหรับพวกเรา ที่ได้พร้อมกันมาทั้งทางใกล้และทางไกล มาทำความระลึกกราบไหว้ถึงพระองค์ท่าน

พอสำเร็จดังพระทัยหมายแล้ว ก็ไม่ทรงทำความขวนขวายน้อย เสวยสุขเฉพาะพระองค์ผู้เดียว ยังมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งในมวลสัตว์ ทรงเที่ยวแนะนำสั่งสอนเวไนยชน ผู้มีอุปนิสัยควรแก่การอบรม พระปฐมฤกษ์แห่งธรรม ทรงแสดงแก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าด้วยพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จนได้บรรลุธรรมเบื้องต้นคือ พระโสดาบัน อันดับต่อไปก็ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร จนท่านทั้งห้าได้สำเร็จพระอรหันต์ เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุดขึ้นมาในวงพระศาสนา เพราะพระปรีชาสามารถของพระองค์ จากนั้นก็ทรงรับสั่งแก่พระสาวกเหล่านั้น ให้ช่วยประกาศพระศาสนาสั่งสอนประชาชน โดยรับสั่งมิให้ไปซ้ำรอยกันแห่งละสององค์ เพราะพระสาวกมีน้อย เกรงจะไม่ทั่วถึงประชาชน

บรรดาสาวกซึ่งเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระพุทธเจ้า และไว้ใจตัวเองได้อย่างเต็มที่แล้ว ก็เที่ยวแนะนำสั่งสอนประชาชนให้รู้จักศาสนาว่า มีส่วนสำคัญและเกี่ยวข้องกับตนอย่างไรบ้าง บรรดาประชาชนเมื่อได้รับการแนะนำสั่งสอน ย่อมซาบซึ้งในรสพระสัทธรรม และรู้จักการทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตลอดคุณงามความดีประเภทต่างๆ ที่ควรได้ควรมีแก่ตน จนสำเร็จมรรคผลขึ้นมาในท่ามกลางแห่งการสั่งสอนก็มี ผู้ได้รับการสั่งสอนแล้วนำไปปฏิบัติโดยลำพังตนเอง จนสำเร็จมรรคผลขึ้นเป็นชั้นๆ ก็มี ทั้งฝ่ายนักบวชและฆราวาส

เมื่อสาวกมีจำนวนมากขึ้นและต่างก็ช่วยกันสั่งสอนเพื่อพุทธภาระให้เบาลง พระศาสนาก็แผ่กระจายไปทุกทิศทุกทาง นับแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทำการสั่งสอนเวไนยชนมาเป็นเวลา ๔๕ พรรษา พระศาสนานับว่าเจริญแพร่หลาย และผิดปกติกว่าศาสนาทั่วๆ ไปที่ทำการสั่งสอนกันอยู่ในสมัยนั้น เนื่องจากพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่อัศจรรย์ยิ่ง คนในสมัยนั้นไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวทรงรู้เป็นพระองค์แรก จึงทรงสามารถประกาศพระศาสนาได้อย่างกว้างขวาง พอพรรษาที่ ๔๕ ล่วงแล้วจึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน แม้เช่นนั้น ยังทรงเมตตาประทานหลักพระศาสนาไว้เพื่อเป็นองค์แทนศาสดา

ในข้อนี้มีพระสาวกบางท่านกราบทูลถามพระพุทธเจ้า ด้วยความวิตกกังวลและน้อยใจ โดยเกรงว่าเวลาพระองค์ปรินิพพานแล้วจะไม่มีครูอาจารย์แนะนำสั่งสอน พระองค์ก็ทรงยกพระธรรมวินัยขึ้นแสดงเป็นองค์แทนศาสดาว่า “พระธรรมและพระวินัยนี้แล จะเป็นศาสดาแทน เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว ผู้ใดมีความจงรักภักดี มีความเชื่อเลื่อมใสในตถาคต และมีความมุ่งหวังจะเปลื้องทุกข์เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ผู้นั้นจงมีความเคารพในพระธรรมวินัยที่ตถาคตสั่งสอนไว้แล้วเถิด เพราะหลักธรรมที่เป็นองค์แทนตถาคตล้วนเป็นสวากขาตธรรม ที่กล่าวไว้ชอบแล้วทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดจะบกพร่อง และแสดงไว้แล้วด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งเป็นนิยยานิกธรรม สามารถยังผู้ปฏิบัติตามให้พ้นจากทุกข์ได้โดยชอบ เช่นเดียวกับตถาคตยังอยู่ แม้การผ่านไปแห่งเราก็ไม่มีอะไรจะกระทบกระเทือนถึงมรรคผลนิพพาน อันผู้ปฏิบัติจะพึงได้พึงถึงด้วยข้อปฏิบัติของตน

อนึ่ง การปรินิพพานเป็นเรื่องจิตที่บริสุทธิ์ จะเคลื่อนย้ายจากกองสังขารอันเป็นส่วนผสมจะสลายจากกันเท่านั้น หาได้กระทบกระเทือนแก่วงพระธรรมวินัย อันเป็นทางพ้นทุกข์ของผู้ปฏิบัติชอบและผู้มีความบริสุทธิ์ทั่วๆ ไปไม่ และการปรินิพพานเป็นเรื่องของเราตถาคตโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับมรรค ผล นิพพานอันพึงได้พึงถึง จะมีส่วนเสียหายไปด้วยแต่อย่างใด เพราะสวากขาตธรรมที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว ก็เพื่อมรรคผลนิพพานทั้งนั้น ไม่มีธรรมบทใดบาทใดจะบกพร่องไปตามการปรินิพพานของเรา ฉะนั้น ทุกท่านจงมั่นใจและแน่ใจต่อหลักพระธรรมวินัยที่เราได้แสดงไว้แล้ว นี่แลจะนำท่านทั้งหลายให้พ้นทุกข์โดยสมหวัง”

        ดังนั้น พวกเราผู้มีความตั้งมั่นต่อหลักธรรม ประพฤติให้เป็นไปอยู่ จึงเท่ากับได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดกาล เพราะคำว่า “ศาสดา” นั้น มิได้หมายถึงพระรูปพระโฉมโดยเฉพาะ เพราะเป็นสภาพมีอันแตกสลายเช่นเดียวกับสิ่งทั่วๆ ไป แต่หมายถึงพระทัยที่บริสุทธิ์ และพระธรรมที่ตรัสไว้โดยชอบธรรม ซึ่งเวลานี้ยังสถิตอยู่กับผู้บำเพ็ญทุกท่าน มิได้นิพพานไปตามพระองค์ โปรดยึดหลักธรรมนี้ไว้บนเศียรเกล้าตลอดเวลา จะเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าตลอดกาล

        จวนวาระสุดท้ายก็มีผู้มาทูลถามว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว นานประมาณเท่าไรพระอรหันต์จะสิ้นสูญจากโลก มรรคผลนิพพานจะยังมีอยู่ในโลกนานประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ก็หลักพระธรรมวินัย ตถาคตมิได้แสดงให้ผิดจากเหตุผลอันเป็นฐานที่เกิดขึ้นแห่งมรรค ผล นิพพาน พอผู้ปฏิบัติตามจะผิดหวังในกาลที่ล่วงไปแล้วแห่งเรา แต่เราแสดงเพื่อมรรค ผล นิพพานทั้งนั้น เหตุใดจึงต้องมาถามอย่างนั้น ผู้ใดมีความสนใจใคร่ต่อการปฏิบัติธรรมที่เราแสดงไว้ชอบแล้ว ผู้นั้นจะได้รับความเป็นธรรมอยู่ตลอดกาล ทั้งที่ตถาคตยังมีชีวิตอยู่ และตถาคตนิพพานไปแล้ว เพราะสวากขาตธรรมไม่นิยมกาล สถานที่ บุคคล แต่เป็นอกาลิโกอยู่ตลอดกาล ถ้ายังมีผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่ตราบใด พระอรหันต์จะไม่สูญสิ้นจากโลกอยู่ตราบนั้น

ฉะนั้นจึงไม่ควรสงสัยในสิ่งที่ไม่น่าสงสัย แต่ควรสงสัยในตัวเอง ว่าเวลานี้เรามีความขยันหมั่นเพียรตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าสอนหรือไม่เท่านั้น เป็นสิ่งที่ควรสนใจในตัวเอง ถ้าเป็นผู้เกียจคร้านหมดศรัทธาต่อพระสัทธรรม แม้ตถาคตจะยังมีชีวิตอยู่ ผู้นั้นก็คือโมฆบุรุษ โมฆสตรี ผู้เปล่าจากประโยชน์อยู่นั่นเอง ถึงแม้ว่าเขาจะจับชายสบงจีวรตถาคตอยู่ ก็หาได้ชื่อว่าไปตามตถาคตไม่ แต่ผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมนั่นแล ชื่อว่าผู้ไปตามเราตถาคต ชื่อว่าบูชาตถาคต บูชาพระธรรม และพระสงฆ์อยู่ทุกระยะกาล”

        นี่เป็นพระโอวาทที่ตรัสกับผู้มาทูลถามจวนวาระสุดท้าย ซึ่งเป็นพระโอวาทที่ประทับใจของผู้มุ่งต่อธรรมอย่างยิ่ง จะได้พยายามบำเพ็ญตนโดยความสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และคอยตักเตือนอยู่ตลอดเวลา โดยธรรมที่ประทานไว้แล้ว เช่น ผู้ปฏิบัติถูกหรือผิดก็แสดงถึงผลว่า ต้องเป็นความสุขหรือความทุกข์อยู่เช่นเคย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พระธรรมที่ประทานไว้เป็นความคงที่ต่อเหตุผล สมกับธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว และเป็นธรรมคงเส้นคงวาสำหรับผู้ปฏิบัติตาม ไม่เป็นอย่างอื่น

        หลักใหญ่ของธรรมที่ตรัสรวมไว้ เป็นสัจจะความจริงแล้วตรงไปโดยถ่ายเดียวนั้น เรียกว่า อริยสัจ ข้อต้นตรัสเรื่อง ทุกข์ คือ ความบีบคั้น มีทั้งสัตว์ ทั้งคน ทั้งท่าน ทั้งเรา มีทั้งทางกายและทางใจ ความบีบคั้นทำคนและสัตว์ให้อยู่สบายไม่ได้ ถ้าเป็นน้ำก็ถูกรบกวนอยู่เสมอ หาเวลานิ่งและใสสะอาดไม่ได้ ขึ้นชื่อว่าทุกข์ไม่ไปรบกวนในสถานที่อื่น แต่จะรบกวนที่กายที่ใจของมนุษย์และสัตว์ และทำให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนขึ้นทันทีที่ทุกข์เข้าถึงตัว แม้จะยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ตามปกติ ก็ต้องแสดงอาการเอนเอียงหรือกระดุกกระดิกขึ้นมาทันที และแสดงอาการระส่ำระสาย ถ้ามากกว่านั้นทนไม่ไหวก็ถึงตาย

        ข้อที่สองตรัสเรื่อง สมุทัย คือความคะนองของใจที่แสดงตัวอยู่ภายในใจของคนและสัตว์ แล้วระบายออกมาทางกาย ทางวาจา อันดับแรกก็แสดงเป็นความอยากและค่อยเคลื่อนขึ้นไปเป็นความทะเยอทะยานไม่มีทางสิ้นสุด ไม่มีขอบเขตแห่งความเพียงพอของความอยากประเภทนี้ ไม่มีปกติประจำตัว แต่ปีนเกลียวอยู่ทำนองนั้น แม้จะได้สิ่งที่ตนต้องการมาครองอย่างสมหวังแล้ว ก็ไม่วายที่จะเอื้อมออกไปด้วยอำนาจแห่งความอยาก ไม่มีใครในโลกจะสามารถปฏิบัติตัวต่อความอยาก ให้ได้ระดับและอยู่ในความพอดีได้ ท่านจึงเรียกว่าสมุทัย คือความโผล่ตัวอยู่เสมอ ยิ่งกว่าวานร (ลิง) ตัวคะนองเสียอีก

        ข้อที่สาม ตรัสเรื่อง นิโรธ ความดับทุกข์ทางใจ ชื่อว่าทุกข์ที่สำเร็จรูปมาจากสมุทัยเป็นผู้ผลิตขึ้น ย่อมดับลงเพราะนิโรธธรรม แต่การกล่าวถึงนิโรธจำต้องกล่าวถึงมรรคในระยะเดียวกัน เพราะมรรคเป็นอุบายหรือเครื่องมือดับทุกข์ ถ้าไม่มีเครื่องมือก็ดับทุกข์ไม่ลง เช่นเดียวกับการดับไฟ ต้องมีเครื่องมือ ถ้าไม่มีเครื่องมือในการดับ ไฟก็ดับไม่ลงเหมือนกัน

        มรรค แปลว่า ทางดำเนินเพื่อพ้นทุกข์ หรืออุบายวิธีดับทุกข์ ซึ่งมีมาก แต่ย่อลงก็มีเพียงสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือทาน ศีล ภาวนา นี่คือเครื่องมือดับทุกข์แต่ละประเภท ตามที่ทุกข์ซึ่งมีหลายประเภท การให้ทานหรือการแบ่งปันเป็นอุบายหรือวิธีดับสมุทัย คือความตระหนี่ถี่เหนียว เกิดจากความเห็นแก่ตัวเป็นมูลฐาน โลกจะตั้งอยู่ได้ ธรรมจะเจริญ ต้องอาศัยทานการให้หรือแบ่งปัน ที่เรียกว่าสังคหวัตถุ และสังคหธรรม สงเคราะห์กันทั้งด้านวัตถุและด้านธรรมะ นับแต่ความรู้วิชาเป็นต้นไป สัตว์และคนทั้งโลก นับแต่บิดามารดากับบุตร ผู้ใหญ่กับผู้น้อย อาจารย์กับศิษย์ นักเรียนกับครู สัตว์เลี้ยงกับเจ้าของ และสัตว์ต่อสัตว์ มีสังคหวัตถุและสังคหธรรมเป็นเครื่องประสาน หรือยึดเหนี่ยวน้ำใจกันเป็นประจำ โลกจึงอยู่ด้วยกันโดยความสนิทสนมและความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาได้ตลอดมา

คำว่า ทาน คือทานอย่างเปิดเผยที่รู้ๆ กันหนึ่ง ทานในหลักธรรมชาติได้แก่การสงเคราะห์หรือแบ่งปันกัน เช่น มารดา บิดา ครู อาจารย์ สงเคราะห์ลูกและลูกศิษย์ ซึ่งมิได้คิดว่าตนทำทาน แต่กิริยาที่ทำนั้นๆ ก็คือทานนั่นเอง แต่เป็นทานในหลักธรรมชาติ คือความจำเป็นต้องทำต่อกัน ตามวิสัยของคนและสัตว์ที่อยู่ด้วยกัน จะต้องทำกันทั่วโลกจะเว้นเสียไม่ได้ ดังนั้น ทานจึงเป็นของใหญ่โตค้ำจุนโลกและค้ำจุนธรรม ให้ตั้งเป็นโลกและเป็นธรรมอยู่ได้ตลอดมา ถ้าจะเทียบกับบ้านเรือนก็ได้แก่รากฐานที่ผูกโครงเหล็ก เทคอนกรีตเพื่อความมั่นคงของบ้านเรือนนั่นเอง พระพุทธเจ้าจะเป็นศาสดาสอนโลกได้ก็เพราะทานบารมี จะขาดไปไม่ได้ และทรงปฏิบัติต่อสัตว์โลกตลอดมาจนวันนิพพาน

ทางเดินของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับสัตว์โลกก็คือทานอยู่นั่นแล ได้แก่ ให้ทานวัตถุและให้ทานธรรม แม้ปรินิพพานไปแล้ว ก็ยังประทานธรรมวินัยไว้เพื่อเป็นทานแก่สัตว์โลกตลอดมาถึงพวกเรา ซึ่งพอมองเห็นฟ้าเห็นดิน มองเห็นบุญเห็นบาปได้บ้าง ก็เพราะธรรมทานของพระพุทธเจ้านั้นแล ดังนั้น ทานจึงเป็นธรรมลึกซึ้งและจำเป็นทั่วโลกเหลือที่จะพรรณนา จึงขอยุติไว้ ส่วนศีลและภาวนาได้เคยอธิบายมาบ้างแล้ว เข้าใจว่าคงไม่มีท่านที่จะสงสัย มีอยู่เพียงว่าเราจะดำเนินให้ถึงขั้นบริบูรณ์ได้แค่ไหนเท่านั้น ธรรมที่กล่าวนี้เรียกว่ามรรค คือทางพ้นทุกข์เป็นระยะๆ เมื่อมรรคที่บำเพ็ญให้สมบูรณ์เต็มที่แล้วก็สามารถดับทุกข์ได้ กลายเป็นนิโรธขึ้นมาในขณะนั้นนั่นแล เพราะธรรมทั้งสี่นี้ทำงานเกี่ยวโยงกัน ส่วนชื่อของธรรมเหล่านี้ท่านแยกจากกันเหมือน นาย ก. นาย ข. นาย ค. และนาย ง. คนละชื่อ แต่ทำงานบังคับเครื่องยนต์อยู่ในเครื่องแห่งเดียวกันฉะนั้น

        ดังนั้น โปรดทำความพยายามฝึกหัดอบรมตนให้เป็นที่มั่นใจในปัจจุบันนี้ ในชาตินี้เราเป็นมนุษย์ หมดความสงสัยในความเป็นอย่างอื่น แม้จะอยู่ด้วยกันกับสัตว์ แต่ก็แน่ใจว่าเราเป็นมนุษย์ ทั้งได้ผ่านทุกสิ่งทุกอย่างมาด้วยความรู้ความเข้าใจมากกว่าสัตว์ เพื่อภูมิธรรมของเราให้ยิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ โปรดภาวนาดูตัวเอง จะเห็นเรื่องที่ควรติและควรชมเกิดขึ้นกับใจ เช่น ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรตำหนิเพื่อหาทางออก จึงควรพิจารณาให้รู้เรื่องของเขา ตามธรรมดาทุกข์ไม่เคยอยู่ที่ไหน ซึ่งควรจะรู้อยู่กับตัว เพราะมีอยู่ที่นี่เป็นประจำ

เราจะปลูกบ้านสร้างเรือนให้ทุกข์อยู่ แต่ทุกข์ไม่ยอมอยู่ ถ้าเป็นกายและใจของสัตว์และของคนแล้ว ทุกข์ชอบเต็มที่ และอยู่ได้ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ตลอดกาลที่กายและใจยังควรแก่เขา พาเกิดก็เกิดด้วย พาแก่ก็แก่ด้วย ตายก็ตายไป แต่ทุกข์โดดหนีไม่ยอมตายด้วย เพราะใจไม่ตายทุกข์ต้องเกาะไปด้วย ฉะนั้น ใจไปที่ไหน ทุกข์จึงติดไปด้วย ใจไปถือกำเนิดเกิดในภพชาติใด ทุกข์ย่อมติดตามไปด้วยทุกภพทุกชาติ จนกว่าใจจะได้รับการชำระสะสางด้วยเครื่องซักฟอก คือกุศลธรรมจนสะอาดเต็มที่แล้ว ทุกข์หาที่เกาะไม่ได้ นั่นแลทุกข์จะสุดวิสัยไม่มีทางเอื้อมได้ เพราะใจกลายเป็นวิวัฏฏะพ้นวิสัยของสมมุติแล้ว นี่คือแดนสุดวิสัยของกิเลสทุกประเภทโดยแท้จริง

        พระพุทธเจ้าทรงประทานธรรมะ มีสติปัญญาเป็นต้น ให้พวกเราสอดส่องดูเรื่องของตัว เพื่อจะได้ทราบความเป็นมาของตนๆ หลักใหญ่คือสงสัยเรื่องความเกิดของตัว ซึ่งเคยเป็นทำนองนั้นมา โดยติดต่อไม่ขาดวรรคขาดตอนแห่งภพชาติ แต่พวกเรารู้สึกจะโง่ต่อเรื่องของตัวอยู่มาก ทั้งนี้เพราะการก้าวเหยียบไปแต่ละภพแต่ละชาติก็รอยเท้า (ใจ) ของเราเอง เกิดในภพชาติใดก็เป็นเรื่องของใจดวงรู้ๆ อยู่กับเราขณะนี้ทั้งนั้นพาไปเกิด ไม่ใช่ใจดวงใดไปเป็นตัวการปลูกสร้างรูปร่างขึ้นมา เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นท่าน ถ้าไม่มีเชื้อแห่งความเกิด ความเกิดจะแสดงตัวให้ปรากฏออกมาได้อย่างไร เชื้อนั้นก็ฝังจมอยู่ที่ใจดวงรู้ๆ นี้เอง ท่านให้ชื่อใจที่มีเชื้อนี้ว่า จิตอวิชชา คือความรู้แกมโกง ความหลงแกมเพลินไม่มีทางสิ้นสุด ทั้งเป็นเรื่องใหญ่โตมากสำหรับจิตผู้เป็นนักท่องเที่ยว แต่ไม่ทราบการไปและการมาของตน จึงควรถือเป็นปัญหาสำคัญสำหรับตัวที่จะพยายามตัดต้นเพลิง ไม่ให้ลุกลามไปนานและทำความเสียหายแก่ตนมาก

        คำว่า ธมฺโม ปทีโป ก็คือแว่นส่องทางของสัตว์ผู้มืดมนนั้นเอง จะได้ยึดถือเป็นเครื่องมือในการส่องทางดำเนินเพื่อถึงความปลอดภัยแก่ตน ไม่เป็นความรกรุงรังด้วยภพชาติและกองทุกข์ทั้งมวลให้ยืดเยื้อต่อไป ธมฺโม ปทีโป เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงเริ่มประกาศและรื้อขนสัตว์โลกนับแต่เริ่มตรัสรู้ จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็นเวลา ๔๕ พรรษา ถึงวาระสุดท้ายก็ประทานไว้แทนองค์ศาสดา ส่วนพระองค์ก็เสด็จนิพพานไปตามหน้าที่ของผู้หมดเชื้อภายใน ก่อนจะทรงลาสมมุติทั่วๆ ไปเสด็จนิพพาน ก็ตรัสเรียกบรรดาสาวกมาประชุมแล้วรับสั่งว่า  “ผู้ใดมีความสงสัยข้ออรรถข้อธรรม และวิธีดำเนินของตนภายในใจก็จงพูดขึ้นขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ จะได้ช่วยปลดเปลื้องแก้ไขมิให้มีความเสียใจในภายหลัง”

ขณะนั้นปรากฏว่าไม่มีสาวกองค์ใดทูลสนอง ต่างก็นั่งอยู่ด้วยท่าอันสงบ และคอยสดับพระโอวาทที่จะตรัสต่อไป เมื่อไม่เห็นท่านผู้ใดทูลสนอง ก็ทรงประทานพระโอวาทครั้งสุดท้ายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงพิจารณาสังขารทั้งหลาย ทั้งสังขารภายในและสังขารภายนอก ซึ่งเจริญขึ้นแล้วเสื่อมไป ด้วยความไม่ประมาทเถิด จะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระสัทธรรมที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว”  พอจบเท่านี้ก็ปิดพระโอษฐ์ไม่ตรัสอะไรต่อไปอีก จากนั้นก็ทรงทำหน้าที่ปรินิพพานด้วยความสง่าราศีและความองอาจกล้าหาญ ไม่สะทกสะท้านต่อมรณภัย

ด้วยทรงเห็นว่าเกิดแล้วต้องตาย ไม่ทรงแสดงความโศกกันแสงต่อความทุกข์ที่มาครอบงำพระกายในเวลานั้น ทรงมีความองอาจต่อหลักความจริงที่ทรงรู้เห็นมาแล้วอย่างไร จนมีความชำนิชำนาญและสามารถสั่งสอนโลกได้เป็นจำนวนมากสมภูมิศาสดา เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ก็ทรงแสดงลวดลายของศาสดาไม่ให้มีความบกพร่อง สมพระนามว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นครูของเทวดาและคนทุกชั้น ดังนั้นการทำหน้าที่ปรินิพพานโดยถูกต้องตามหลักของศาสดา จึงเป็นความจำเป็นสำหรับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ เพื่อไว้ลวดลายและพระเกียรติของศาสดาในครั้งสุดท้าย ให้คนรุ่นหลังได้ฟังเป็นขวัญใจ

        เริ่มแรกแห่งการทำหน้าที่ปรินิพพาน ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌานทั้งสี่เบื้องต้นนี้เรียกว่า รูปฌาน โดยใช้กระแสจิตวิตกวิจารณ์ไปตามอาการของพระกาย จนถึงขั้นละเอียดแห่งรูปฌาน จากนั้นก็ทรงเข้าอรูปฌานสี่ คืออากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นลำดับ อรูปฌานสี่นี้เป็นนามธรรมล้วนๆ จากนั้นก็ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับสัญญาและเวทนา ทรงพักอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติชั่วขณะ แล้วทรงถอยจิตกลับลงมาเป็นลำดับ จนถึงปฐมฌาน และถึงขั้นจิตบริสุทธิ์ธรรมดา แล้วทรงเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ต่อไปอีก พอผ่านจตุตถฌานไปแล้วเท่านั้น ไม่ทรงเข้าฌานใดต่อไปอีก แล้วเสด็จปรินิพพานในท่ามกลางแห่งฌานทั้งสอง คือรูปฌานและอรูปฌานนั้น

ทั้งนี้เพราะทรงไว้ลวดลายของพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกให้เต็มภูมิ จึงไม่ทรงปรินิพพานอยู่ในฌานใดฌานหนึ่ง ถ้าจะนิพพานอยู่ในฌานใดฌานหนึ่ง อาจจะถูกตำหนิจากสาวกอรหันต์ ว่าทรงทำหน้าที่นิพพานไม่สมบูรณ์เต็มภูมิของศาสดาในวาระสุดท้าย เพราะฉะนั้น เพื่อประกาศพระองค์ให้เต็มภูมิทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และวาระสุดท้าย จำต้องนิพพานในท่ามกลางแห่งฌานทั้งสอง คือรูปฌานและอรูปฌาน ซึ่งเป็นการถูกต้องและสมบูรณ์ตามลักษณะของจิตที่บริสุทธิ์เข้าชมฌานเพื่อปรินิพพาน เพราะรูปฌานและอรูปฌานล้วนเป็นสมมุติด้วยกัน จะเข้านิพพานในจุดสมมุติ ก็ชื่อว่าไม่สมภูมิกับคำว่านิพพาน เท่าที่พระองค์ทรงทำมานั้นเป็นอันว่า ปรินิพพานโดยสมบูรณ์ เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว พระสรีระก็ถูกทูลอาราธนาไว้เพื่อทำการสักการบูชาจากพุทธบริษัท มีมัลลกษัตริย์ เป็นต้น เพื่อให้สมพระเกียรติ เพียงเจ็ดวันเท่านั้นก็อัญเชิญขึ้นถวายพระเพลิง

        ตกมาสมัยของพวกเรา ศพของครูอาจารย์ที่เคารพนับถือซึ่งมรณภาพลง รู้สึกจะกลายเป็นของหมักดองคล้ายกับผักปลาไปเสียมาก จนจะกลายเป็นประเพณีหมักดองไป หากมีความจำเป็นซึ่งจะควรอาราธนาท่านไว้เพื่อความจำเป็น มีเกี่ยวกับพระราชาเป็นต้นนั้น ทั้งโลกและธรรมก็เห็นใจโดยทั่วกัน แต่จะเก็บไว้โดยมิได้คำนึงถึงท่านผู้เป็นอาจารย์ที่เคารพบูชา ซึ่งถูกอาราธนาไว้เป็นเวลานานๆ และพระพุทธเจ้าผู้เป็นตัวอย่างของสัตว์โลกทั้งเวลายังทรงพระชนม์อยู่และเวลานิพพานแล้ว ต่อไปก็เกรงจะเป็นประเพณีให้กุลบุตรสุดท้ายภายหลังยึดโดยหาเหตุผลและหลักฐานไม่ได้

ครูอาจารย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชน เวลาท่านยังมีชีวิตอยู่ได้ทำประโยชน์แก่โลกเต็มภูมิความรู้ความสามารถของท่าน โดยบัวมิให้ช้ำ น้ำมิให้ขุ่น และเป็นที่อบอุ่นแก่บ้านแก่เมือง แต่เวลาท่านมรณภาพไร้วิญญาณ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่มีประจำร่างแล้ว เกรงว่าศพของท่านจะกลายเป็นสินค้าไปทั่วตลาดอยู่เป็นเวลานานกว่าจะสิ้นสุดลงได้ ดังนั้น พวกเราที่เป็นนักบวชและนักปฏิบัติ ซึ่งจัดว่าเป็นลูกศิษย์ที่มีครู โปรดคิดอ่านไตร่ตรองบ้าง จะเป็นการเสริมเกียรติกรรมฐานว่าเป็นผู้ชอบใคร่ครวญ เพื่อหาเหตุผลและอรรถธรรม นำความพอดีมาประดับตน ประดับโลก ประดับธรรม ให้งามสืบทอดกันไป

        ถ้าคิดว่า เมื่อทำการฌาปนกิจศพท่านผ่านไปแล้ว วัดวาอาวาสจะเสื่อมโทรม เพราะไม่มีที่ยึดเหนี่ยวน้ำใจของประชาชนให้มาสนใจกับวัดและพระเณร นับเป็นความคิดที่จะพาให้ตนและวัดวาอาวาสศาสนา ทั้งวงแคบและวงกว้างเสื่อมลงอย่างแน่นอน จะหาทางเจริญไม่ได้เลย เพราะไปสนใจกับศพของท่านอันเป็นทางจะไหลมาแห่งอามิส มากกว่าจะสนใจในธรรมที่ท่านสั่งสอน และมิได้สนใจกับการจะปรับปรุงตนเองเพื่อข้อปฏิบัติอันดีงามให้ยิ่งขึ้นไป ซึ่งเป็นทางที่จะยังตนและพระศาสนาให้เจริญโดยชอบธรรม

แม้พระพุทธเจ้า พระองค์ก็มิได้ทรงสั่งสอนพุทธบริษัท ให้มีความเลื่อมใสและหนักแน่นในพระองค์มากกว่าธรรม จะเห็นได้ตอนพระอานนท์ทูลถามถึงวิธีจะปฏิบัติต่อพระสรีระของพระองค์เวลานิพพานแล้ว พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัย และกลับห้ามพระอานนท์ไม่ให้ยุ่งเกี่ยว แต่เมื่อทรงเห็นพระอานนท์ทูลโดยมีเหตุผลก็ทรงแนะนำให้เท่าที่ควร ครูอาจารย์ผู้มีธรรมก็คงจะเดินตามร่องรอยของพระพุทธเจ้าพาดำเนิน ท่านคงไม่สั่งสอนบรรดาศิษย์ให้หนักในท่านยิ่งกว่าธรรม ที่ลูกศิษย์ควรจะสนใจและนำไปปฏิบัติต่อตัวเองตามที่ท่านสอนไว้

ผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมชื่อว่าผู้บูชาพระพุทธเจ้าได้ ลูกศิษย์ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมก็คงจะบูชาครูอาจารย์ได้ในทำนองเดียวกัน ดังนั้นหลักของการปฏิบัติจึงไม่ควรเห็นว่าด้อยกว่าสิ่งที่จะพาให้ตนและศาสนาเสื่อม พระศาสนามิได้เจริญมาด้วยศพด้วยเมรุ พอจะทำความหนักแน่นจนลืมตน และลืมความพอดีที่จะปฏิบัติต่อศพต่อเมรุ แต่เจริญด้วย ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมต่างหาก การกล่าวทั้งนี้มิได้สอนให้ผู้มุ่งธรรมเกิดความเนรคุณต่อท่านผู้มีพระคุณแก่ตน แต่การปฏิบัติต่อท่านที่มีคุณทั้งเวลายังเป็นอยู่หรือตายไปแล้ว เท่าที่โลกและธรรมเห็นว่างาม เข้าใจว่าทุกท่านคงเคยปฏิบัติต่อกันมาพอสมควร ลูกมีพ่อแม่ ลูกศิษย์มีครู เป็นกับตายต้องรองรับกันจนสิ้นใจไม่มีใครจะปล่อยทิ้งได้ แต่ขอได้คำนึงถึงความพอดี จะเป็นความชอบธรรมทั้งตนและส่วนรวม สมกับเราเป็นศิษย์มีครูที่สั่งสอนให้รู้จัก มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณยังประโยชน์ให้สำเร็จทุกเมื่อ

            การแสดงประวัติของพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบ เพื่อจะได้น้อมใจระลึกถึงท่าน และน้อมมาเป็นอารมณ์เครื่องเตือนใจเป็นพุทธานุสสติ หากยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางอย่างพระองค์ท่าน คำว่านิยยานิกธรรม ผลที่เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญอย่างไรต้องเป็นเครื่องสนองตอบแทนโดยแน่นอน สมกับภาษิตว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ พระธรรมไม่ปล่อยทิ้งผู้บำเพ็ญธรรม ย่อมตามรักษาให้มีความสุขความเจริญทุกภพทุกชาติไป

            ดังนั้นในอวสานแห่งธรรมนี้ ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงตามคุ้มครองท่านทั้งหลาย ทั้งที่มาจากทางใกล้และทางไกล อุตส่าห์มาด้วยความเสียสละทุกอย่าง จงปราศจากโรคาพยาธิเบียดเบียน มีแต่ความสุขความเจริญและประสบแต่สิ่งที่พึงปรารถนาโดยทั่วหน้ากันเทอญ

www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก