ธรรมเกิดที่ใจกินไม่หมด
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 เวลา 20:30 น. ความยาว 72.15 นาที
สถานที่ : วัดป่าโนนม่วง (วัดป่ามหาวิทยาลัย) อ.เมือง จ.ขอนแก่น
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)   วิดีโอแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่ามหาวิทยาลัย(วัดป่าโนนม่วง) ขอนแก่น

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๖(ค่ำ)

ธรรมเกิดที่ใจกินไม่หมด

 

         เหนื่อย วันนี้เทศน์ไม่ได้หน้าได้หลัง วกวน หลงหน้าหลงหลังด้วย ธาตุขันธ์กวนวันนี้ เหนื่อย ธาตุขันธ์กวนแล้วสัญญาความจำตัด เทศน์เลยบางแห่งขาดไปก็มี มันวกวน แต่ก่อนมันไม่เป็น เรื่องหลงหน้าหลงหลังไม่มี พอเริ่มเทศน์ปั๊บนี่แน่วเลย ความจำติดกันไปเลย เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างงั้น ความจำคอยแต่จะตัด ๆ พูดไป ๆ เรื่องราวอะไรไปตัดปุ๊บหายเงียบ ไม่ทราบว่าพูดอะไรมา แล้วก็ตั้งใหม่ไปเรื่อย เทศน์กัณฑ์หนึ่งเป็นห้ากัณฑ์หกกัณฑ์ไป มันหลงหน้าหลงหลัง

         นี่ก็ไปภาคเหนือพึ่งกลับมา กลับมาวันที่ ๑๗ ไปตั้งแต่วันที่ ๕ วันที่ ๑๗ กลับมาถึงวัด จากนั้นก็มีธุระเรื่อย ติดเรื่อย ดูเหมือนไม่ได้เทศน์แต่เมื่อวานนี้มั้ง ไม่เทศน์ก็ไปธุระอีก แล้ววันนี้ก็มาที่นี่ ศาลานี้ก็โล่งดี กว้างดี โล่งดี แต่ศาลาไหนก็สู้ศาลาวัดป่าบ้านตาดไม่ได้ นี่เห็นไหมล่ะวัดป่าบ้านตาดหลวงตาบัว บทเวลาจะสู้ไม่มีใครสู้เราได้เลย ศาลาเราใหญ่กว่าทุกหลังเลย เห็นไหมล่ะอยู่ที่หน้าวัด เห็นไหมศาลาหลวงตาบัว หรือไม่เคยไปวัดสักทีมันก็ไม่เห็นล่ะซี นั่นบทเวลาจะต่อย ต่อยตรงนั้นนะ พวกศรัทธาเขามาขอร้อง เราก็ไม่สนใจว่าจะสร้างให้แหละ ก็คิดว่าเท่านั้นแหละในชีวิต เท่าศาลาในวัดที่มีอยู่นั้น

         ตอนมาช่วยบ้านช่วยเมืองนี่แหละ ผู้คนหนาแน่นเข้ามา หนาแน่นเข้ามา เวลาฟ้าลงฝนตกเปียกปอนกันไปหมด ไม่มีที่พักที่อาศัย เราก็ยังไม่ได้ดำริว่าจะสร้างนะ มาตั้งหลายปีมั้ง น่าจะถึงสามปีหรือเท่าไรปี หรือสองปีนี้ได้ท่า นี่ก็เสร็จมาได้สามปีแล้วมั้ง ช่วยบ้านเมืองมาดูเหมือนเป็นเวลาสองปี คนมาแต่ละที ๆ นี่โถ แน่น ๆ ๆ ปีที่เขาได้สร้างนั้น นู่นเขาสั่งไม้มาจากเวียงจันทน์ ซื้อไม้มาจากนู้น เอามาแช่ไว้สองปีแล้ว บทเวลาจะรู้ก็รู้ตอนที่เขามาขอสร้างศาลาหลังนี้ละหลังใหญ่นี่ โอ๊ย ยังไงก็ทนไม่ไหว จะว่ายังไงก็ยอมแหละ เพราะทนมาได้สองปี ไม้นี้สั่งจากประเทศลาวเข้ามา รออยู่นี้ได้สองปี ไม่กล้า มาทีไรไม่กล้าๆ

         คราวนี้ดูคนก็หนาแน่นเข้าทุกวัน เปียกปอนมาตลอด ประกอบกับไม้ที่สั่งมาก็พร้อมแล้ว ควรที่จะสร้างบังแดดบังฝนบ้างแล้ว ก็เลยจึงมาขอนี่แหละ ว่างั้น จะว่าไงก็ยอมแล้ว ขอสร้างศาลาเพื่อประชาชนมาจำนวนมากอยู่ตลอด เพราะเวลานี้เป็นเวลาช่วยชาติบ้านเมืองด้วย ถ้าจะปล่อยไปนี้ก็จะเปียกปอนลำบากกันอยู่อย่างนี้ คนก็ไม่หยุดไม่ถอยมามากอยู่ตลอด ทั้งๆ ที่ไม่มีศาลาเขาก็ยอมเปียก เลยทนไม่ไหวจึงมาขออนุญาตสร้างศาลา เขาว่า เราก็มาพิจารณาตามเหตุผล ก็เลยลงกันแหละ จะสร้างก็ไม่ว่าแหละ เหตุผลก็ลงได้แล้วแหละ เปียกจริง ๆ คนมามากจริง ๆ ถ้าไม้มีมาพร้อมแล้วก็ให้สร้างได้เลย ถ้าหากว่ายังไม่มีไม้นี้ก็ไม่เอา เราก็ว่า เมื่อไม้ก็สั่งมาเรียบร้อยแล้ว สั่งมาเพื่อจะสร้างศาลานี้จะเอาไว้ทำไม ตกลงเอ้าสร้างก็สร้างได้

         ตกลงเวลาสร้างนี้ความกว้างมัน ศาลาความกว้าง ๓๐ เมตร ความยาว ๖๐ เมตร เพราะฉะนั้นมันถึงใหญ่ กว้างตั้ง ๓๐ นี่กี่เมตรความกว้าง เหอ มันถึง ๓๐ เมตรไหมนี่ ไหนว่าไง ก็ขยับเข้ามานี้เป็นอะไร มานี่เป็นอะไร อยู่ไกล ๆ ยังอยู่ได้ มานี่มาไม่ได้เหรอ เข้ามานี่ก็ได้เป็นไรไป อันนี้ความกว้างเท่าไร ยาวเท่าไร (๑๔ เมตร คูณ ๒๐ เมตร ระเบียงเติมใหม่อีก ๘ เมตรครับ) ตรงนี้เติมออกไปนู้นอีก แล้วต้นเสานั้นเป็นต้นเสาขยายออกนะ เออ ๆ เข้าใจ

         ศาลาเราความกว้างมัน ๓๐ เมตร ความยาวมัน ๖๐ เมตร เพราะฉะนั้นมันถึงกว้างขวาง นี่เราจะเห็นได้เวลามีงาน ศาลาหลังนั้นไม่มีความหมายเลยนะ คนแน่นอยู่ข้างนอกเต็มหมด ศาลาหลังนี้อัดแน่นแล้ว ยังล้นเหลือไปอีก มาอีกหลังหนึ่งก็ยังไม่พอ โถ มันขนาดนี้เชียวนา เอาละเท่านั้นแหละเราก็บอก สั่งขาดเลย ศาลายังไม่พออีก มันจะพออะไรคนทั้งแผ่นดินเราก็ว่างั้น ไม่เอา พอเท่านั้นแหละ การช่วยบ้านช่วยเมืองก็จะหยุดไปแล้วสร้างหาอะไรอีก หยุดแหละ จะให้พอกับคนทั้งแผ่นดินมันไม่พอแหละ จึงหยุดแค่นั้น ถึงอย่างนั้นมันก็ใหญ่กว่าทั่ว ๆ ไปศาลาวัดป่าบ้านตาด เป็นแต่เพียงว่าทำให้โล่งไว้หมดเลย ปูพื้นแล้วนั่งได้นอนได้สบาย ไม่ให้มีอะไรมากั้นห้องกั้นหับอะไรมันจะยุ่ง ไม่เอา เราบอกอย่างงั้นเลย ให้โล่งไปนี้ตลอดหมดเลย ทีนี้คนมาอยากนอนข้างนอกข้างในได้ทั้งนั้น สะดวกสบายหมด

         ธรรมดาเราไม่เอาละเรื่องการก่อการสร้าง เพราะฉะนั้นวัดเราจึงไม่หรูหรา ในวัดป่าบ้านตาดศาลาหลังนั้นก็เราไม่ลืมนะ เขามาขอเรา ศาลาหลังข้างในน่ะ แต่ก่อนมันเตี้ยๆ ยกขึ้นมันถึงสูง ได้อาศัย นี่เขาจะมาขอขยาย ขอปลูกใหม่หลายวิธีการเราไม่ให้ทั้งนั้น บทเวลาจะให้ก็ให้ยกศาลานั้นขึ้น แล้วคนก็อยู่ข้างล่าง แล้วแขกคนมาก็ให้นอนข้างบน ก็เท่านั้นละ สำหรับวัดป่าบ้านตาดเวลานี้มันก็เลอะเทอะแล้ว เรียกว่าเลอะเทอะในวัดป่าบ้านตาด ตั้งแต่เราช่วยบ้านช่วยเมือง แขกคนพระเณรไปมาทั้งวันทั้งคืน

         ทีนี้การงานเท่าไรมันก็ทำไปเรื่อย ไอ้เราไม่รู้นะเขาทำ เขาทำของเขาเองเราไม่รู้ สุดท้ายก็เลยเป็นศาลาเดือนเก้าไปเลย เข้าไหมเดือนเก้า รู้ไหมพวกนี้ศาลาเดือนเก้า เดือนสิบสอง รู้ไหมศาลาหมาเดือนเก้านั่นน่ะ จะให้บอกชัดเจนอะไรนักหนา เลอะกันขนาดนั้น เราก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเลอะเทอะ มันเลอะขนาดนั้น ดูไม่ทัน มองไม่ทัน เช่นเรามานี้เขาทำข้างหลัง กลับไปทำแล้ว ๆ ๆ ที่จะให้เราสั่งนั้นสั่งนี้ โอ๋ย เราไม่เคย เหล่านั้นมีแต่เขาทำเองเราไม่เห็น เราก็ไปของเราอย่างนี้ เพราะเราไม่ต้องการ เรื่องการก่อการสร้างอะไรเราไม่ต้องการ

         เพราะฉะนั้นวัดเราจึงไม่เคยหรูหราแต่ก่อน ศาลาในวัดเก่าที่เป็นกำแพงใหม่นั้นก็มันก็มีหรูหราบ้าง ที่ศาลาหลังนั้นสองชั้น กับกุฏิมีบ้างรอบ ๆ ทำไว้โก้ ๆ อย่างงั้นแหละ ก็โลกเขาโก้เราก็เป็นคนเหมือนกันนี่ เราก็โก้บ้างล่ะซิเลยทำไว้ ส่วนมากก็คือรับแขกรอบ ๆ ข้าง ๆ ศาลารับแขก ข้างในนี้มีแต่กระต๊อบ เข้าไปข้างในนั้นมีแต่กระต๊อบเล็ก ๆ สั้น ๆ เตี้ย ๆ เป็นร้านเล็ก ๆ ทั้งหมดเลย ภาวนาอยู่กันคนละแห่ง ๆ เงียบเลย ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งนะ ตั้งแต่บริเวณศาลานี้ไปแล้ว เข้าไปข้างในห้ามขาดเลย ทั้งหญิงทั้งชายห้ามขาดไม่ให้เข้าไป เพราะเป็นทำเลของพระภาวนาล้วนๆ ให้เป็นสิทธิ์ของพระเต็มที่เลย เราห้ามคนไม่ให้ไปกวน เพราะฉะนั้นจึงเขียนเบอร์ติดไว้ว่า ห้ามเข้า ๆ รอบ ๆ ข้างในไม่ให้เข้าเลย

         พออยู่ได้ในป่า รับพระได้อย่างมากที่สุดก็ในราว ๕๐ องค์ เรารับได้แค่นั้น ไม่ให้มากกว่านั้น ๕๐ ภายในวัด ส่วนพระที่ไปมาเรื่อย ๆ ไม่นับแหละ ก็อยู่นอกเขตนี้ไป เขตภายในมีแต่เขตของพระที่อยู่ปรกติ ท่านภาวนาอยู่แล้ว ไม่เข้าไปยุ่งท่านแหละ เราสงวนไว้ตลอด ไม่ให้เข้าไปยุ่งพระภาวนาเลย สงวนไว้เต็มที่ตามเดิม นอกจากนั้นก็จึงเลอะเทอะไปหมด เป็นอย่างงั้น จึงเลอะเทอะละวัดป่าบ้านตาด มิหนำซ้ำยังปลูกกล้วย ปลูกสับปะรดอีก โธ่ มันจะทำให้เป็นตลาดขายของหรือนี่น่ะ ทำเองนะ ก็วัดป่าไม่เคยปลูกสิ่งเหล่านี้ ไม่เอา ให้เป็นป่าไม้สดๆ ธรรมดา ถ้าเป็นต้นใหญ่ก็เป็นต้นขนุนไปเสีย เวลามันเป็นมันสุกมาก็ปล่อยให้กระรอกกิน เราไม่ยุ่งนะ ปลูกไว้สำหรับกระรอก เช่น ลำไยอยู่ในนั้นสำหรับกระรอก เราไม่ยุ่งนะ พระไม่ยุ่ง คนไม่ยุ่ง ปลูกไว้สำหรับกระรอก กระแต ภายในวัด ทีนี้เวลาเขามาปลูกกล้วยปลูกอะไรข้างนอก โอ๊ย ดูไม่ได้

         มันทำไมเหนื่อย ๆ วะ เหอ พูดนิดหน่อยเหนื่อยแล้ว ถ้าเทศน์มาแล้วเหนื่อยง่ายนะ ไปเทศน์ข้างนอกนั้นก็ทนเอานะที่เทศน์ไปนานพอสมควร ทนเอานะ ธาตุขันธ์มันฝืน ๆ ๆ ทนไม่ไหวจึงได้หยุด อย่างงั้นละทุกวันนี้เทศน์ไปไม่รอดนะ เทศน์ไปเหนื่อย ๆ พอเหนื่อยเข้าเดี๋ยวก็หยุด นี่เทศน์มาแล้วเลยพูดจะไม่ได้ละ อย่างงั้นแหละมันเหนื่อย วันนี้ก็ได้ฟังเทศน์กันหมดแล้วนี่นะ ตอนนี้จึงไม่เทศน์แหละเหนื่อยแล้ว ไม่เอาอะไรแหละ เหนื่อย เพราะเทศน์มานี้ แหม ห้าปี หกปี เทศน์ไม่หยุดไม่ถอย วันหนึ่งสองกัณฑ์สามกัณฑ์ก็มี ขนาดนั้นละ ในห้าปีหกปีนี้ เทศน์บางวันถึงสามกัณฑ์ก็มี เรื่อยไปเลย มันก็เหน็ดเหนื่อยล่ะซี เทศน์ไม่หยุดไม่ถอย ก็ยังบอกแล้วหลวงตา ป.๓ ยังว่าแล้ว เห็นไหม เวลาเทศน์มัน ป.๓เมื่อไร นั่น เทศน์ทั่วประเทศไทยและทั่วโลก

         เวลานี้ก็ออกอินเตอร์เน็ตทั่วโลกแล้ว ตอนเช้าเราเทศน์ที่วัดป่าบ้านตาดนั้นเขาก็ออกทางอินเตอร์เน็ตทั่วโลก นู่นสหรัฐอเมริกาก็ได้ฟังพร้อมกันกับขณะที่เราเทศน์อยู่ศาลา ได้ฟังพร้อมกันๆ เพราะฉะนั้นจึงว่าเทศน์ของเรากว้างขวางมากนะ ดูแต่พระในประเทศไทยจะไม่มีใครสู้แหละ เทปก็มาก มากจริงๆ แล้วหนังสือก็เป็นร้อยๆ โอ๋ย เป็นร้อยๆ เล่ม ออกเทปทั่วไปแล้วก็ออกทางวิทยุด้วย ออกทางทีวีโทรทัศน์ด้วย ออกทางอินเตอร์เน็ตด้วย ออกมันทั่วโลกเลยที่เราเทศน์คราวนี้นะ ก็ดีอยู่ เพราะเทศน์อย่างเราเทศน์นี้ไม่ค่อยมีใครเทศน์ละ มีแต่เราเทศน์คนเดียว เทศน์สำนวนโวหารแบบเราไม่ค่อยมี ไปหาที่ไหนไม่ค่อยได้ละ มีได้หลวงตาองค์เดียวนี้ เทศน์ป่าเทศน์รกบ๊งเบ๊ง ๆ ไปเรื่อย ดังที่เทศน์ให้ฟังนั่นแหละก็เป็นแบบนั้น เทศน์ทางปริยัติเขาก็เทศน์กันมามากแล้ว เราเลยไม่ออกละปริยัติ ออกปฏิบัติ ออกเรื่องป่าเรื่องเขาเรื่อยๆ ไปเลย ไปเทศน์ที่ไหนเอาแบบเดียวนี้ทั้งนั้น ไม่ได้ออกนะปริยัติ

         ถ้าหากเขาไม่ทราบว่าเป็นมหานี้เขาจะด่าหมดทั้งโคตรทั้งแซ่หลวงตา ด่ายังไง เขาก็ว่า โอ๊ย อีตาบัวนี่ทั้งโคตรทั้งแซ่มันไม่ได้หนังสือสักตัวมันจะเอาอะไรมาเทศน์ มันก็เทศน์ป่า ๆ รก ๆ ไปอย่างงั้นแหละ เขาก็ว่า แต่นี้มีมหากั้นเอาไว้ เขาจึงไม่ว่า เพราะเราไม่เทศน์ทางปริยัติเลย เทศน์ได้ปริยัติก็เรียนมาแล้วนี่ แต่มันไม่ถนัดใจ ไม่ทันใจเหมือนเทศน์ภาคปฏิบัติ อันนี้ออกผึงเลยจิ้มเลย ๆ ๆ ทันใจ  เอาไปเหน็บฝา จับมาจากฝา กว่าจะมาจิ้มเขานี่เขาวิ่งได้ห้าทวีปไปแล้ว อันนี้อยู่กับมือจิ้มเอาเลย ถ้าเหน็บแล้วมาจับนี้ก็ยังช้า ถ้าอยู่กับมือจิ้มเลย ๆ สะดวก

         ได้มาเห็นพี่น้องทั้งหลายนี้ก็ดีใจหลวงตา ได้เทศนาว่าการให้ฟังให้ได้พากันไปเป็นข้อคิดนะ หลวงตาเทศน์ดังที่บอกพูดอยู่ในธรรมาสน์แล้ว หลวงตาหายสงสัยหมดในโลกอันนี้ไม่มี ปล่อยวางหมดโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นจึงเทศน์โลกด้วยความห่วงใย เราจวนจะตายเท่าไรยิ่งห่วงใยโลก สำหรับเราเองเราไม่มี ไปเมื่อไรได้ทั้งนั้น เราห่วงใยโลกจึงได้อุตส่าห์เทศน์ที่นั่นที่นี่ เห็นพี่น้องชาวพุทธเรามาฟังเทศน์ฟังธรรมก็คิดว่าจะได้เป็นคติเครื่องเตือนใจบ้างพอประมาณ เราจึงดีใจ

         หลวงตาตายทีนี้จะไม่มีใครเทศน์แบบหลวงตานะ พูดได้จริง ๆ เลย ไม่สงสัยด้วย เพราะปริยัติเราก็เรียนมาแล้วเต็มกำลังของเรา ผู้ทรงปริยัติก็ทรงเต็มบ้านเต็มเมืองมันก็แบบเดียวกันกับเรา แน่ะ เข้าใจอย่างนั้น เรียนมาแบบเดียวกัน รู้แบบเดียวกัน เห็นแบบเดียวกัน มันก็ไม่สงสัยกันทางด้านปริยัติ เพราะเราก็เรียน คนอื่นก็เรียน ทีนี้ทางภาคปฏิบัติซิ พระพุทธเจ้าปฏิบัติ พระสาวกทั้งหลายท่านปฏิบัติเรื่อยมาเป็นลำดับลำดาด้านปฏิบัติ ท่านจึงตักตวงเอามรรค ผล นิพพาน มาออกตลาดสอนพวกเรา นี่น่ะ ๆ อยู่อย่างงั้นนะ

         ท่านถอดออกมาจากหัวใจมาแบ นี่น่ะ ๆ ท่านไม่ไปหาเอาตามปริยัติ ตามคัมภีร์ใบลาน ท่านถอดออกจากนี่ พระพุทธเจ้ารู้ธรรมตรงนี้ก่อนแล้วจึงได้ถอดออกจากนี้ไปจดจารึกไว้ตามคัมภีร์ใบลาน เราอ่านก็เป็นนอกไปเสีย ความรู้จริงๆ ธรรมจริงๆ อยู่ในพระทัยของพระพุทธเจ้า เวลาท่านเทศน์ออกมาท่านจิ้มเลยๆ ๆ ท่านไม่ได้เอาจากไหน ออกจากนี้ทั้งหมด ธรรมะพูดไว้พอประมาณ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นี่เพียงพอประมาณนะ ไม่ได้มาก ในพระทัยของพระพุทธเจ้าไม่มากเลย คัดเลือกออกมาพอที่จะจดจำได้ ไม่ฟั่นเฝือเหลือกำลังจนเกินไป จึงมีเพียงแค่ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

         นี่เรียกว่ามีน้อยนะ ไม่ได้มากเหมือนที่มีอยู่ในพระทัยของพระพุทธเจ้า ที่อยู่ในพระทัยของพระพุทธเจ้า โหย ไม่ทราบว่าจะมากขนาดไหน เทียบไม่ได้แล้ว มากขนาดนั้นในพระทัย ในคัมภีร์จะมากอะไร ไม่มาก เวลาท่านปฏิบัติคือรู้ปฏิบัติ ภาคปฏิบัติ กับรู้ทางปริยัติมันต่างกันนะ รู้ปริยัตินี่กินหมดได้ รู้ปฏิบัติกินไม่หมดจากภาคปฏิบัติ รู้เห็นขึ้นมาจากการปฏิบัติ กินเท่าไรไม่หมด มีแต่ธรรมล้วน ๆ เต็มหัวใจ เปิดโล่งอยู่ตลอดเวลา นั่นละธรรมทางภาคปฏิบัติ ธรรมทางภาคปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายบรรจุไว้ บรรจุไว้ในใจ ไม่ได้บรรจุไว้ในคัมภีร์ใบลานนะ อันนี้ออกมาทีหลัง ถอดออกจากพระทัยพระพุทธเจ้าออกมาเป็นคัมภีร์ใบลาน นั่นเรียกว่าธรรมนอก

         ธรรมใน คือธรรมในพระทัย ธรรมในใจ อยู่ที่ใจ เกิดที่ใจ รู้ได้ที่ใจ เห็นได้ที่ใจ นี่เรียกว่าธรรมแท้อยู่ที่ใจ ธรรมนอกอยู่ตามคัมภีร์ใบลาน ธรรมในอยู่ที่หัวใจ สำคัญอยู่ตรงนี้ ใครอยากรู้จักธรรมในสนใจปฏิบัติภาวนาซิ รู้ได้จริง ๆ เพราะธรรมอยู่ในใจ เราไปหาแต่นอกมันก็ไม่ได้ ไม่เห็น เรียนมาเท่าไรก็คลำแต่นอก ไม่ได้เข้ามานี้ก็ไม่เห็น แต่ท่านปฏิบัติ ท่านค้น คุ้ยเขี่ยขุดค้นอยู่ที่นี่ รู้ที่นี่ เห็นที่นี่ ละที่นี่ นั่น ถ้าว่ากิเลสอยู่ในหัวใจ ละที่หัวใจเสีย ธรรมอยู่ที่หัวใจ เปิดขึ้นที่หัวใจถึงเห็น ทีนี้เวลารู้แล้วนี้มันไม่ได้เหมือนปริยัตินะ กินไม่หมดธรรมภายในใจ แต่ธรรมความจำกินหมด

         จะไปพูดที่ไหนๆ เทศน์ที่ไหนต้องดูหนังสือเสียจนแหลก ถึงขนาดนั้นไปอ่านแล้วยังต้องดูสมุด ดูหนังสือพกอยู่ในนั้นอีกด้วย ทั้งดูหนังสือ ทั้งพูด ทั้งมาดูแล้วทั้งพูด นั่นละความจำ มันต่างกันอย่างงั้น ทีนี้ความจริงไม่เป็นอย่างงั้น ความจริงอยู่ในใจหมด จะเอาแง่ไหนๆ จะออกทันทีๆ ๆ อย่างนั้นตลอด จึงว่าธรรมในใจกินไม่หมด แต่ธรรมในความจำนี้กินหมด จะไปเทศน์ที่ไหน พูดที่ไหนต้องดูหนังสือเสียก่อน เทศน์มาแล้วสมมุติว่าเขาเอาไปเทศน์อีก วันนี้เทศน์ไม่ได้เพราะยังไม่ได้ดูหนังสือ แน่ะเป็นอย่างงั้น

         ภาคปฏิบัติไม่ทราบว่าดูหรือไม่ดูเทศน์เรื่อยเลย ตกธรรมาสน์ลงไปแล้วขึ้นธรรมาสน์นั่นอีก เทศน์อีก ตกธรรมาสน์แล้วขึ้นธรรมาสน์อีก อยู่อย่างงั้น วันหนึ่งบางทีถึงสามสี่กัณฑ์ก็มี เทศน์ไม่หยุดไม่ถอย เทศน์อยู่อย่างงั้น ใจถ้าลงเป็นภาชนะของธรรมแล้วเป็นอย่างงั้น เวลาเป็นภาชนะของกิเลสมันอัดอั้นตันใจ จะพูดอะไรก็พูดไปไม่ได้ เพราะกิเลสกันไว้หมด มันไม่ให้รู้ กิเลสกันไว้ๆ ความรู้ที่เล็ดลอดออกมาก็เศษเดนของกิเลส สุดท้ายก็เรียกว่าหาเก็บตกจากกิเลสเอามาเทศน์ไป ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ ทีนี้มันก็หมดไปอีกแหละ เทศน์ไปแล้วหมด อ้าว วันพรุ่งนี้เขาจะนิมนต์ไปพูดที่ไหน เทศน์ที่ไหนล่ะ อ้าว ยังไม่ได้ดูหนังสือไม่ได้แล้ว แน่ะเป็นอย่างงั้น

         นี่ละภาคปริยัติภาคความจำ ต้องอาศัยความจำเป็นพื้นฐานไปตลอด ไม่มีความจำเทศน์ไม่ได้ นี่เรียกว่าภาคปริยัติคือภาคความจำ ภาคปฏิบัติคือภาคความจริง ปฏิบัติจริง ๆ ภาวนาจริง ๆ ละจริง ๆ ละกิเลส เห็นธรรมก็เห็นจริง ๆ ขึ้นในใจ เมื่อได้รู้ได้เห็นขึ้นมาแล้วหายสงสัย ๆ แต่รู้ทางปริยัติเราสงสัยนะ นี่ก็เคยเรียนมาแล้วถึงเอามาพูดได้ ว่าบาป ว่าบุญ ว่านรก สวรรค์ พรหมโลก เปรต ผี นิพพาน มี ท่านบอกไว้ในตำรา บอกไว้ตามความจริงไม่ผิดไม่เพี้ยน แต่ใจเรามันปลอม กิเลสมันปลอมอยู่ในใจ

         ครั้นอ่านแล้วมันไม่ยอมเชื่อตามพระพุทธเจ้า มันเชื่อไปตามกิเลสเสีย เอ๊ บาปมีเหรอ บุญมีเหรอ ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าเอาบาปเอาบุญมาสอนเราจากความมีของท่าน เรายังรับไม่ได้ นี่เป็นอย่างนี้ จากนั้นก็พวกเปรตพวกผีมีจริงๆ เหรอ นรกมีจริงเหรอ สวรรค์มีจริงเหรอ นิพพานมีจริง ๆ เหรอ เหล่านี้มีในตำราหมดแล้ว ท่านเห็นแล้วรู้แล้วทุกอย่าง ท่านจึงนำเอาสิ่งที่รู้ที่เห็นมาสอนพวกเรา พวกเรายังรับไม่ได้ อย่างน้อยมันสงสัย มากกว่านั้นมันไม่เชื่อ เรียกว่ารับไม่ได้ เป็นอย่างนี้นะปริยัติ

         เพราะฉะนั้นใครจะเรียนสูงขนาดไหนก็ตามเราไม่ได้ประมาท ถ้าไม่ได้ออกภาคปฏิบัติแล้วเรียนเท่าไรความสงสัยคืบคลานไปตามเท่านั้น ที่จะให้ความสงสัยหลุดลอยไปจากการเรียนนั้นไม่มี ละกิเลสได้จากการเรียนไม่มี มีแต่เพิ่มกิเลสเข้าอีก ดีไม่ดีก็ลืมตัวไปเสีย สำคัญว่าตนเรียนได้มาก ความรู้สูงนี้ทะนงตน นั่นเสริมกิเลสแล้วนะ กิเลสเข้าไปแล้วไม่รู้ ตนเรียนสูงเท่าไรยิ่งทิฐิมานะสูงกิเลสยิ่งมาก ตกลงว่าเรียนสั่งสมกิเลส เรียนไม่ปฏิบัติ ถ้าเรียนปฏิบัติถูกต้อง ดังพระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้ว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

         เรียนเพื่อปฏิบัติถูกต้อง รู้แล้วจะได้ปฏิบัติตามนั้น ถูกต้อง แล้วก็นำมาภาคปฏิบัติ เอ้าที่นี่ท่านสอนว่ายังไง ศีลให้รักษาตามสิกขาบทที่ท่านสอนไว้แล้วนั้น นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติ อย่าให้เคลื่อนคลาดในศีล ให้ปฏิบัติตามข้อห้ามที่ท่านห้ามไว้แล้วนั้น นี่เรียกว่าเดินตามทางที่ท่านสอนไว้ เรียกว่าปฏิบัติ ปฏิบัติตามสิกขาบทวินัยที่เราเรียนมาแล้วนั้น ไม่ข้ามเกินฝ่าฝืน จิตใจของเราก็อบอุ่น ศีลก็อบอุ่นอยู่ภายในใจ ยังไม่ได้สมาธิใจก็อบอุ่น ใจก็เย็นสบาย ไปอยู่ในป่าในเขาเสือคำรามข้างทางจงกรมก็ไม่กลัว อย่างน้อยศีลบริสุทธิ์แล้ว เสือไม่ทำอะไรได้ผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์

นั่นมันไม่กลัว เสือคำรามๆ หรือกระหึ่มๆ ก็เดินจงกรมได้สบาย เพียงศีลบริสุทธิ์เท่านั้น จิตใจก็อบอุ่น แม้ว่าเสือมาเอาไปกิน ตายแล้วเราก็ไปสวรรค์เลย มันมีที่พึ่งอยู่แล้ว แล้วยิ่งได้ภาวนาทำใจให้สงบเย็นมากเข้าไปเท่าไร นี่ทางด้านธรรมะ ทางด้านศีลคือวินัยของพระก็ปฏิบัติตามศีล ใจก็อบอุ่น ไม่ฝ่าฝืนล่วงเกิน เวลาปฏิบัติธรรมท่านสอนภาวนายังไงใจจึงจะสงบ นี่ล่ะที่นี่จะเอาตัวจริงมันอยู่ในนั้น กิเลสตัวกวนใจมากที่สุด มันคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดเรื่องไหนมีแต่เรื่องกิเลสกวนใจตลอดเวลา นี่เรียกว่ากิเลสทำงาน เราก็ภาวนาบังคับความคิดของกิเลสนั้นเสีย เอาความคิดของธรรมเข้าไปแทนที่ เช่นเราภาวนาพุทโธ ๆ หรือธัมโม หรือบทใดก็ได้ นี่เรียกว่าธรรม

         เอาความคิดอันนี้ซึ่งเป็นธรรมแทนความคิดของกิเลสเสีย ไม่ให้กิเลสคิด ให้มีแต่ธรรมคิดด้านธรรมโดยถ่ายเดียว เช่นพุทโธ ๆ มีสติกำกับอยู่ในจิต ไม่นานจิตจะสงบลงได้ เพราะสติรักษาอยู่ ไม่ให้จิตคิดไปทางกิเลสพอจะสั่งสมความเดือดร้อนมาให้เรา มีแต่คิดเป็นธรรม บังคับสติไว้กับคำบริกรรมไม่ให้เผลอไปไหน บริกรรมพุทโธ ๆ ติดกันไปๆ เดี๋ยวจิตสงบลงๆ นั่นล่ะเอาอารมณ์ของธรรมมากล่อมใจ ใจสงบได้ ถ้าเอากิเลสมากล่อมใจที่ปล่อยให้คิดตามกิเลส เอาไฟเผาตัวตลอด ตั้งแต่เช้ายันค่ำเผาตลอด นี่เราเอาธรรมเป็นคำบริกรรม เป็นอารมณ์ของธรรม ออกจากใจดวงเดียวกันนั่นแหละ แต่นี้เป็นอารมณ์ของธรรม เป็นธรรม จิตที่เคยวุ่นวายก็สงบลง ๆ

         เมื่อพุทโธติดกันเรื่อยๆ ไม่ให้มันคิดทางกิเลส มันก็ไม่เกิดกิเลสออกมารบกวนเรา เราก็มีแต่ความสงบ เพราะเราภาวนาสั่งสมธรรมให้ธรรมเกิด เช่น พุทโธๆ ให้เกิดติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ใจของเราก็เย็น นั่น ทีนี้เพียรทำไปเรื่อยจิตก็ยิ่งเพิ่มความเย็นเข้าไปเรื่อยๆ เพราะจิตได้รับการบำรุงรักษา ทางธรรมก็เกิดได้กิเลสก็เบาลง ธรรมเกิดได้จิตก็โล่งไป ๆ นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติจิตตภาวนา เราเร่งตั้งแต่ความสงบ พอสงบจิตเป็นสมาธิแล้ว มีความเย็นอยู่ภายในตัวเอง

จิตอิ่มอารมณ์ไม่วอกแวกคลอนแคลนไปกับอารมณ์ต่างๆ เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ แล้วก็พาพิจารณาทางด้านปัญญา ยกเอาธาตุเอาขันธ์สกลกาย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ออกมาคลี่คลาย ท่านเรียกว่าภาวนา คลี่คลายดูผม คลี่คลายดูขน ดูเล็บ ดูฟัน ดูหนัง ดูเนื้อ ดูเอ็น ดูกระดูก ดูตับ ไต ไส้ พุง อาหารเก่า อาหารใหม่ ดูเข้าไปในตัวเอง เวลาดูเข้าไปจริงๆ แล้วมันก็มีแต่มูตรแต่คูถเต็มอยู่ในตัวของเรา หาที่ว่าสวยว่างาม ว่าน่ารักใคร่ชอบใจที่ตรงไหน มันก็มีแต่หนังกำพร้า นี่เห็นไหมหนังกำพร้านี้ มันฉาบทาไว้บาง ๆ หลอกบุรุษตาฟางให้หลงหนังบางๆ หนังกำพร้านี้ ข้างในเป็นส้วมเป็นถานมันไม่ให้เห็น เพราะฉะนั้นจึงเอาปัญญาดูตรงนี้ ดูหนังบางๆ พอดึงแย็บเดียวเท่านั้นมันก็ถึงตัวจริงแล้ว เลือดเยิ้มออกมา นั่น สกปรกไหมที่นี่

         จากนั้นดูเข้าไปอีก เป็นหนังแล้วก็เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นกระดูก ตับ ไต ไส้ พุง ยิ่งเยิ้มไปหมด พิจารณาเข้าไปมันจะเกิดความเบื่อหน่ายในซากศพของเจ้าของ ที่หนังกำพร้าไปฉาบทาไว้แล้วว่าเป็นของดิบของดี ของมีค่ามีราคา ทีนี้มันก็เห็นตามความจริง มันมีค่าอะไร แน่ะ หนังกำพร้าหลอกไว้เฉย ๆ มันเอาอะไรมาวิเศษวิโส พิจารณาเท่าไรก็ยิ่งชัดเข้า จิตใจเกิดความสลดสังเวช แบกส้วมแบกถาน แบกสัตว์ แบกบุคคล แบกของสวยของงาม ประหนึ่งว่าได้แบกเทวบุตรเทวดา เทวบุตรเทวดาอะไร ส้วมถานอยู่ในตัวของเรา แน่ะ  ดูอันนี้มันก็ชัดเข้าไป ชัดเข้าไปทางด้านปัญญา ทีนี้ก็เบิกกว้างออก จิตใจที่เคยมืดมนก็สว่างไสวออกเรื่อย ๆ นั่น ภาคปฏิบัติ

         สมาธิธรรมก็มีขึ้นเป็นชั้นๆ ศีลก็มีขึ้น สมถะความสงบก็มี สมาธิความแน่นหนามั่นคงของใจก็มี ปัญญาพิจารณามันก็แจ่มชัดขึ้น มันก็มีขึ้นมา สว่างขึ้นๆ นั่น นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติ เวลามันรู้นี้จิตใจมันก็เบิกกว้างออกไป เบิกกว้างออกไป กิเลสเท่านั้นปิดบังไว้ไม่ให้เบิกกว้าง จะพูดอะไร ๆ ๆ นี้กิเลสเปิดช่องให้มันถึงจะพูดได้ ถ้ากิเลสไม่เปิดช่องพูดไม่ออก ติดเขาติดเรา ถ้าจะพูดแบบดุเดือด เข้มข้น กิเลสมันก็หาว่าดุว่าด่าไปเสีย ต้องพูดสวยๆ งามๆ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สวยได้งาม เวลาพูดออกมาก็บอกว่าดีอย่างงั้นดีอย่างงี้ สวยงาม

         นั่นกิเลสไปอีกแบบหนึ่งนะ ตกแต่งของเลอะเทอะนั่นว่าให้เป็นของสวยของงาม ตกแต่งไปไหนก็เหมือนเราตกแต่งกองมูตรกองคูถ ตกแต่งไปไหนมันก็คือมูตรคูถ จะให้มันสวยงามไปไหน มันไม่ใช่ทองคำ มันมูตรคูถ นั่น พิจารณาตามนั้นก็เห็นตามเป็นจริง ทีนี้ทองคำคือธรรมเกิดแล้วที่นี่ มันต่างกันละที่นี่ ทองคำคือธรรมภายในใจเกิดขึ้นแล้ว มันก็แข่งกันได้ นี่เรียกภาคปฏิบัติ มันก็รู้ขึ้นมาๆ กว้างขวางออกไป กิเลสจางไปเท่าไร ๆ เบาไปเท่าไรธรรมะนี้ยิ่งออกได้มากขึ้นๆ พูดได้ เทศน์ได้ถ้าว่าเทศน์นะ พูดได้ เทศน์ได้ตามภูมิของตัว เวลามันยังไม่สิ้นไม่สุดพูดได้ตามขั้นตามภูมิของตนที่รู้ที่เห็นธรรม

         ทีนี้เวลามันเปิดออกไปๆ มันเปิดจ้าไปหมดเลย ไม่มีอะไรเลย กิเลสไม่มีเหลือภายในใจ มีแต่ใจสว่างจ้าทั้งกลางวันกลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ที่ไหนก็สว่างจ้าไปหมด ไม่มีอาภัพ คือความสว่างของธรรม ความสว่างของใจ ภายในใจของผู้ปฏิบัติได้นั้นแหละ อยู่ที่ไหนก็สว่างจ้า ผลที่สุดมาดูร่างกายเจ้าของ ซึ่งเป็นเหมือนกับมูตรกับคูถ เพราะอำนาจแห่งธรรมคือความสว่างจ้านี้ครอบมันไว้ ร่างกายนี้ก็กลายเป็นทองแท่งหนึ่งขึ้นมาในท่ามกลางแห่งมูตรแห่งคูถนั้นแหละ เพราะใจพาให้เป็นของแปลกประหลาดอัศจรรย์ ร่างกายก็เลยกลายเป็นทองทั้งแท่งขึ้นมาเคียงข้างกับธรรมนั้น ในท่ามกลางแห่งความสกปรกของร่างกายนี้ ทีนี้ร่างกายนี้ความสกปรกเลยไม่เห็น เห็นแต่ทองทั้งแท่งของใจกับร่างกายครอบกันอยู่ ร่างกายเลยกลายเป็นทองทั้งแท่งไปตามๆ กัน ทั้งๆ ที่มันสกปรก ก็เพราะอำนาจแห่งธรรมครอบไว้เลยกลายเป็นของสวยงามโดยธรรมๆ ไป ไม่ใช่งามแบบโลกเขานะงามแบบธรรม

         นี่ละที่พระอรหันต์ท่านตายแล้ว อัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุ เพราะจิตใจของท่านสะอาดแล้วก็ซักฟอกกายซึ่งเป็นของหยาบให้เป็นของสะอาดตามส่วนของตน ตายแล้วก็เป็นพระธาตุได้ ร่างกายของท่านกลายเป็นสดใสงดงามเหมือนหนึ่งว่าเป็นทองทั้งแท่งไปตามกันกับใจ เพราะใจฟอกร่างกาย ร่างกายนี้ถึงจะเป็นเหมือนโลกทั่วๆ ไปก็ตาม แต่ส่วนลึกลับของร่างกายนี้จะเป็นส่วนละเอียด เพราะอำนาจแห่งใจที่สะอาดนั้นซักฟอก เหมือนหนึ่งว่าร่างกายท่านเป็นทองทั้งแท่งอันหนึ่งไป ฟังเสียนะท่านทั้งหลายไม่เคยฟัง

         นี่ละภาคปฏิบัติเอาขึ้นมาพูดบ้างซิ ถ้าเอามาปฏิบัติแล้วพูดได้ เพราะมีอยู่ตลอดธรรม เหมือนจอกแหนที่ปกคลุมหุ้มห่อสระน้ำในบึงเอาไว้มิดชิด ใครต้องการที่ไหนเปิดจอกเปิดแหนออกตรงไหนน้ำก็มีอยู่ตรงนั้น ไม่ว่ามุมสระ กลางสระที่ไหน เปิดตรงไหนที่จอกแหนปกคลุม น้ำก็มีอยู่ตรงนั้น ธรรมก็มีอยู่ที่บุคคล.ที่กิเลสซึ่งเป็นเหมือนกับจอกกับแหนปกคลุมไว้นั่นแหละ แต่เวลาเราเปิดทางด้านธรรมะขึ้นมา ก็เหมือนกับเปิดจอกเปิดแหนออก ก็ได้เห็นอรรถเห็นธรรมในเวลานั้น

         ต่อจากนั้นก็ค่อยเปิดออกๆ มันก็กว้างออกๆ จอกแหนฟาดมันออกหมด โล่ง มองไปที่ไหนบึงทั้งบึง สระทั้งสระมีแต่น้ำขาวจ้าเลย พวกจอกพวกแหนไม่มี นั่นละจิตของพระอรหันต์ ขาวจ้าไปหมดเลย ทีนี้ขาวจ้าไปหมด สระนั้นก็คือใจนั่นแหละ ขาวจ้าก็คือธรรม จ้าอยู่ภายในใจเพราะกิเลสที่เป็นจอกแหนหุ้มห่อนั้นเปิดออกหมดแล้ว ยังเหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ครองร่างกาย ร่างกายนี้ที่ว่าสกปรกโสมมก็ปล่อยให้เป็นสกปรกโสมมเหมือนโลกเขา เป็นประหนึ่งที่เคลือบแฝงอยู่นั้น กายนั้นเป็นเหมือนทองคำทั้งแท่ง นั่น เพราะความสะอาดของใจ ความวิเศษของใจครอบกายนั้น ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์ตายแล้วอัฐิของท่านจึงกลายเป็นพระธาตุ เพราะจิตที่บริสุทธิ์กลั่นกลองธาตุขันธ์ให้สะอาดไปตามๆ กันตามส่วนของธาตุขันธ์ซึ่งเป็นของหยาบ ก็เลยเป็นของสะอาดไปตามๆ กัน นี่ภาคปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติแล้วรู้ธรรมพระพุทธเจ้า

นี่มีแต่เรียนไม่ได้สนใจปฏิบัติ ครั้นเรียนมาแล้วก็ตักตวงเอาเป็นมรรคเป็นผลไปหมด ทั้งๆ ที่ไม่มี ก็ความจำมันจะเป็นมรรคเป็นผลที่ไหน เรียนอะไรก็จำได้ เรียนนิพพานก็จำได้ แต่จิตใจนั้นอยู่ในมูตรในคูถ มันไม่เป็นนิพพานให้ตามที่เรียนที่จำมานั่นซิ เรียนอะไรชั้นนั้นชั้นนี้ มันก็ได้แต่ชื่อแต่นามของชั้น ใจนั้นก็จมอยู่ในมูตรในคูถ แน่ะ เวลามาปฏิบัติมันก็เปิดสิ่งเหล่านี้ออก ใจก็สะอาดๆ สุดท้ายกิเลสที่มีอยู่มากน้อยพังลงไปหมด เหลือแต่ใจล้วนๆ ก็เรียกว่าสระลูกนี้เต็มไปด้วยน้ำล้วนๆ จอกแหนไม่มาเจือปนเลย นั่น จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น ถ้ามีผู้ปฏิบัติ รู้ได้อย่างนี้ไปตลอด เพราะธรรมเป็นอกาลิโก เปิดเผยอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะให้ผลแก่ผู้บำเพ็ญความดีงามทั้งหลาย ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาปอยู่ตลอดไป เวลาตายก็ไปดีไปชั่วได้ตลอด ผู้ทำบาปก็ไปชั่วได้ตลอด ผู้ทำดีก็ไปดีได้ตลอด ไม่มีอะไรมาเป็นใหญ่กว่าการทำดีทำชั่วของบุคคล

         ท่านจึงสอนว่าเรื่องกรรมนี้หนักมาก มีอำนาจมาก นตฺถิ กมฺมสมํ พลํ ไม่มีอานุภาพใดจะเหนือกรรมดีกรรมชั่วไปได้ กรรมดีกรรมชั่วนี้มีอำนาจครอบหมด บังคับไม่ให้ผล บังคับเท่าไรก็ไม่ได้ ต้องให้ผล นี่ละอำนาจของกรรม วิบากกรรม ดีก็ต้องเป็นผลดีตลอด บังคับไม่ได้ไม่ให้ดี เป็นดีตลอด ชั่วเป็นชั่วตลอด บังคับไม่ให้ชั่วไม่ได้ ท่านเรียกว่ากรรมมีอำนาจมาก พากันจำเอา ให้พากันภาวนาให้จิตสงบบ้างนะ เราจะได้เห็นธรรมที่แปลกประหลาดภายในใจ อยู่ในคัมภีร์ก็มีแต่ความจำ อยู่ในกระดาษ ผู้อ่านก็อ่านไปไม่สนใจปฏิบัติมันก็เลยกลายเป็นหนอนแทะกระดาษไปหมด ไม่มีคำว่าได้แทะอรรถแทะธรรมเหมือนภาคปฏิบัติ

ถ้าภาคปฏิบัตินี้รู้จริงๆ ว่าสมาธิก็สงบจริงๆ ว่าปัญญาก็สว่างจริงๆ ถึงขั้นบริสุทธิ์ๆ ได้จริงๆ ถ้ามีการปฏิบัติเป็นมรรคเป็นผลได้อย่างนี้แหละ ถ้าไม่ปฏิบัติไม่เป็น เรียนมาเท่าไรก็มีแต่ความจำ สุดท้ายความจำเสื่อมไป เจ้าของก็เก้งๆ ก้างๆ หลงหน้าหลงหลังไปเท่านั้นเอง เพราะความจำเอาอะไรกับมันไม่ได้ หลงหน้าหลงหลังไป เฒ่าแก่ไปความจำมันก็เสื่อมไป นี่หรือเอามาเป็นมรรคผลนิพพาน ความจำนี้เสื่อมไป โลเลโลกเลก หลงหน้าหลงหลัง เข้าห้องน้ำออกมาที่นอนก็ออกมาไม่ถูก เอาอันนี้หรือเป็นมรรคเป็นผล ก็เหมือนกับเอาคนบ้ามาเป็นมรรคเป็นผลได้ยังไง

         นี่ละเรื่องความจำ แต่เรื่องความจริงไม่มี ไม่มีเคลื่อนคาด เรื่องขันธ์คือเรื่องความจดความจำมันมีได้ด้วยกัน พระอรหันต์ก็มีได้ แต่หลักของท่านที่ไม่เกี่ยวข้องกับความจดความจำนี้นั้นคือความบริสุทธิ์ มันไม่เกี่ยวข้อง เป็นความบริสุทธิ์ตลอดไปเลย ที่เรียกว่ามรรคว่าผลละนะ นั่นคือมรรคคือผล อันนี้คือความจำ เป็นมรรคเป็นผลไม่ได้ ที่เราเรียนมามากน้อย ต้องเอาความจำนี้ไปปฏิบัติให้เป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา มันถึงจะเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาได้ ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านปฏิบัติมา เป็นทองทั้งแท่งๆ หรือเพชรน้ำหนึ่งๆ ตลอดมาจากการปฏิบัติ ไม่ใช่อย่างจดจำเอามาแล้วมาเป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรานะ ท่าน สงฺฆํ จริงๆ ท่านรู้จริงๆ เห็นจริงๆ ละกิเลสได้จริงๆ บริสุทธิ์จริงๆ จึงเป็นสรณะพวกเรา ไม่ได้มาเป็นด้วยความจดความจำ เรียนสูงถึงพระนิพพานแล้วมาเป็นมรรคเป็นผล ไม่มี ได้แต่ชื่อว่านิพพานๆ ได้แต่ชื่อว่านิพพาน กิเลสเต็มหัวใจเป็นนิพพานได้ยังไง ถ้าผู้ปฏิบัติตนจนกระทั่งจิตถึงนิพพาน ถึงไม่ออกชื่อออกนามก็เป็นนิพพานอยู่โดยตรง นั่นละเรียกว่ามรรคว่าผล ออกชื่อไม่ออกชื่อก็เป็นมรรคเป็นผลตายตัว นี่ภาคปฏิบัติให้พากันจำเอา

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธคือความรู้แจ้งของตัวเองนั่นแหละ ศาสนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มบาทเต็มเต็ง ถ้ามีแต่ปริยัติขาดบาทขาดตาเต็งแล้วศาสนาไม่ครบสมบูรณ์ แล้วมรรคผลนิพพานจะเอามาจากไหน มันก็ไม่ได้ซิ ถ้ามีปริยัติจดจำได้แล้ว มีปฏิบัติ นั่น ก็มีผลขึ้นมาพร้อมกันแล้วทั้งสาม สมบูรณ์แล้วศาสนา สมบูรณ์แล้วใจของเรา ถ้าเราเอานี้มาปฏิบัติ ถ้ามีแต่จำเฉยๆ ไม่มี มีแต่ความจำไม่มีมรรคมีผล กิเลสไม่ถลอกปอกเปิกเพราะความจำได้นั้นเลย ถลอกปอกเปิกและหลุดลอยไปเพราะความปฏิบัติต่างหาก แก้กิเลสได้ด้วยการปฏิบัติ กิเลสหลุดลอยไปจนบริสุทธิ์ ก็บริสุทธิ์ด้วยการปฏิบัติ ไม่บริสุทธิ์ด้วยความจำนะ ให้จำเอาไว้

         ศาสนาจะไม่มีเหลือแล้วเวลานี้ ใครก็มีแต่เรียน เรียนมาแล้วก็เอาเรียนเป็นมรรคเป็นผล โอ่อ่าฟู่ฟ่าไปหมด ทั้งๆ ที่ได้แต่ลมปาก ความจริงในหัวใจนี่มืดยิ่งกว่ากลางคืนเสียอีกจะว่าไง ใจมันไม่สว่าง ได้แต่ความจำมันก็มืด ถ้าได้ความจริงแล้วอยู่ไหนจ้าอยู่ตลอด พระอาทิตย์ๆ อย่าเอาเข้ามาแตะเลย อย่าเอามาแหยมนะว่างั้น จ้าอยู่ตลอด นั่นละธรรมแท้เกิดที่ใจ ถ้าลงธรรมได้เกิดที่ใจแล้วกินไม่หมด แนะนำสั่งสอนผู้ใดๆ ได้ตลอด ไม่มีคำว่าหมด คือธรรมในใจท่านสมบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ตามความจำ ที่เรียนแล้วต้องจดต้องจำ ไปสอนเขาแล้วต้องมาเรียนใหม่อย่างนี้ นั่นความจำมันหมดมันสิ้นได้ แต่ความจริงไม่มีหมดมีสิ้น เปิดโล่งตลอดเวลาตามแต่ผู้มาเกี่ยวข้องจะควรได้ประโยชน์มากน้อยเพียงไร ธรรมจะออกรับกันทันทีๆ นี่คือธรรมภายในใจแท้ ใจเป็นธรรมแท้ ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกันแท้ มรรคผลอยู่ในนั้นหมดเลย

         ศาสนาของพระพุทธเจ้าเรานี้เลิศเลอแล้ว อย่าพากันไปตื่นศาสนานะ ถ้าไม่อยากจม ให้ยึดให้ดี พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ยึดนี้ไม่จม ถ้ายึดอย่างอื่นจมได้ เพราะมันเป็นโครงการของกิเลส โครงการของธรรมแก้กิเลสคือพุทธศาสนาของเรา แก้ได้จนหมด บริสุทธิ์เต็มเหนี่ยวเลย นี่ที่ว่าความจริงกับความจำมันต่างกัน ความจำมันหมดมันสิ้นได้ ความจริงไม่มีสิ้น รู้ได้ตลอดแล้วหายสงสัย ดังที่พูดตะกี้นี้ว่า ผู้เรียนไปๆ เรื่องบาป เรื่องบุญ นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เรียนไปเท่าไรมันก็ยังสงสัยไปตลอดๆ อย่างนี้ทั้งเขาทั้งเรา ไม่มีใครที่จะเชื่อมรรคผลนิพพานตามความจำนั้นได้เต็มสัดเต็มส่วนนะ ผู้ที่เชื่อได้เต็มสัดเต็มส่วนก็คือผู้ปฏิบัติ พอมันรู้มันเห็นเข้าไปแล้ว มันเป็นพยานพระพุทธเจ้าแล้ว อ๋อๆ อย่างนี้ละเหรอๆ ยอมรับๆ ผู้นี้แลเป็นผู้ทรงมรรคทรงผล ผู้นี้แลเป็นผู้ยึดเอาความจริงของจริงไว้ได้ ไม่วอกแวกคลอนแคลน ไม่สงสัยเหมือนที่เราเรียนปริยัติ เวลามาปฏิบัติมันรู้จริงๆ เห็นจริงๆ ว่าเปรตมันก็เห็นจริงๆ สงสัยเปรตยังไง เห็นอยู่ต่อใจต่อตา ตาคือตาใจ ว่าอะไรมันก็เห็นอยู่ประจักษ์ แล้วจะไปหาใครมาเป็นพยาน

         นั่นละพระพุทธเจ้าเห็นๆ อย่างนั้น พระสาวกทั้งหลายท่านเห็นท่านก็เห็นอย่างนั้น แล้วท่านพูดไปท่านจะสงสัยอะไร ก็ท่านเห็นอยู่ อยู่กับมือ จิ้มเลยๆ ล่ะซิ มันต่างกันอย่างนี้ ที่ว่าความสงสัยในภาคปริยัติ ไม่หายสงสัย แต่ภาคปฏิบัตินี้หายสงสัยทันที ขอให้จิตได้เป็นไปมันรู้จริงๆ มันเห็นจริงๆ สงสัยไปหาอะไรก็รู้อยู่ เราไม่ปฏิบัติมันไม่รู้ มันก็สงสัยเหมือนกันหมดเลย พากันจดจำเอานะ วันนี้พูดภาคปฏิบัติ ภาคปริยัติ ว่าความจำกินหมด ความจริงจากภาคปฏิบัติกินไม่หมด อะไรกินหมด ธรรมพระพุทธเจ้านี่กินไม่หมด สอนโลกทั้งสามแดนโลกธาตุไม่มีพระพุทธเจ้าจะจนตรอกจนมุมในการสอนสัตว์โลก พระสาวกทั้งหลายท่านก็เหมือนกัน ท่านไม่จนตรอก เพราะธรรมอยู่ที่ใจท่านแล้ว เวลานี้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกันอยู่ตามนิสัยวาสนา ผู้ที่มีนิสัยวาสนากว้างขวางลึกซึ้ง การอธิบายอรรถธรรมนี้มีแจกแจงออกไปละเอียดลออต่างกันได้มาก ผู้ที่มีอุปนิสัยตื้นกว่านั้น การแสดงก็ตามภูมิของตน แต่ความบริสุทธิ์นั้นเสมอกัน ความลึกซึ้งของอรรถของธรรมที่จะนำมาแจงมาเทศนาว่าการนี้ต่างกัน ยอมรับว่าต่างกัน

         แต่ในครั้งพุทธกาลก็ยกให้ พระปุณณมันตานีบุตร เป็นนักเทศน์เป็นธรรมกถึกเอกไม่มีใครเสมอ แน่ะ ก็อย่างนั้นละ ทั้งๆ ที่เป็นพระอรหันต์ด้วยกัน แต่การเป็นนักเทศน์ยกให้ พระปุณณมันตานีบุตร เป็นนักเทศน์เอก คือผู้นั้นเด่นทางนั้นตามนิสัย พูดถึงเรื่องปัญญา พระสารีบุตรปัญญาเลิศรองพระพุทธเจ้าลงมา ไม่มีใครเสมอพระสารีบุตร เรื่องปัญญา ทั้งๆ ที่ความบริสุทธิ์เสมอกัน มันต่างกันด้วยนิสัยวาสนา เพราะฉะนั้นผู้บริสุทธิ์ด้วยกันแล้ว การชี้แจงอรรถธรรมจึงมีต่างกัน ผู้ที่มีลึกซึ้งกว้างขวางท่านก็แสดงได้เต็มเหนี่ยวของท่าน ผู้ที่ไม่ลึกซึ้งกว้างขวางก็ได้แต่ความบริสุทธิ์ ก็พอกินแล้ว ท่านจะได้กว้างขวางไม่กว้างขวางท่านไม่เดือดร้อน เพราะท่านเองพอกินแล้วนั่นซิ พวกเรามันไม่พอกิน เรียนจบที่ไหนมาก็ไม่พอกิน มันก็หิวโหยอยู่เพราะกิเลสพาเป็นไป อันนั้นธรรมพาเดินไป เมื่อถึงขั้นอิ่มๆ ด้วยกัน พอกับความบริสุทธิ์ แต่เรื่องการเทศนาว่าการอุบายต่างๆ นั้นต่างกัน แม้จะต่างกันท่านก็ไม่หิวโหย ท่านก็ไม่เป็นทุกข์ ท่านพอของท่านเสมอกันหมด จากจิตที่บริสุทธิ์เหมือนกันนั้น มันต่างกันอย่างนี้แหละ

         พากันจำเอานะ วันนี้มาเทศน์ให้ท่านทั้งหลายฟัง ธรรมะพระพุทธเจ้านี้เอกเลิศโลก ขอให้ปฏิบัติ บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี ให้เชื่อพระพุทธเจ้าอย่าไปเชื่อกิเลส มันจะพาคนให้ตาบอด จมไม่มีวันฟื้นนะ ถ้าเชื่อกิเลสจมไม่มีวันฟื้น ถ้าเชื่อธรรมแล้วฟื้นไปเรื่อยๆ เพราะศาสดาองค์เอกสอนโลกให้ฟื้น กิเลสมันสอนโลกให้จมต่างหาก ถ้าจะเอากิเลสมาเป็นอาจารย์สอนเราจมแน่ๆ นะ จำให้ดีนะ เอาละพอ

         วันนี้ทองคำที่ได้มาเทศน์ขอนแก่น ดอลลาร์ได้ ๑,๗๐๒ ดอลล์ ทองคำได้ ๒ กิโล ๑๔ บาท ๘๕ สตางค์ เงินสดได้ ๑,๗๖๙,๔๘๕ บาท (สาธุ)

 

ชมการถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาทุกวัน ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก