เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘
อบรมใจให้หายพยศ
เราเป็นฆราวาสกับเป็นพระมีความต่างกัน เพราะเราเป็นฆราวาสแม้จะมีกฎหมายบ้านเมือง หรือระเบียบข้อบังคับปกครองอยู่ แต่เรื่องของจิตนั้นมีการเล็ดลอดออกได้ตลอดเวลา นอกจากนั้นกายวาจาก็ยังมีทางเล็ดลอดได้ เพราะการสนใจต่อตัวเองมีน้อย เรื่องระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมหรือกฎหมายบ้านเมืองนั้น เป็นของดีสำหรับผู้สนใจจะปฏิบัติตาม แม้ที่สุดกฎข้อบังคับของตัวเองที่ตั้งขึ้นเพื่อดัดความประพฤติของตนเอง ถ้าเรามีความสนใจต่อกฎเกณฑ์ของเราแล้ว เราก็กลายเป็นคนดีได้ แต่ถ้าขาดความสนใจก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เหมือนกัน
พูดถึงความเป็นพระก็ต้องมีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องดัดแปลงกายวาจาใจ แต่หลักของพระธรรมวินัยรู้สึกจะแปลกต่างกับโลกอยู่บ้าง เพราะเป็นส่วนละเอียดกว่ากัน ดังนั้นผู้ก้าวเข้ามาบวชเป็นพระเป็นเณรในพระศาสนา โลกทั้งหลายจึงนิยมนับถือกราบไหว้และพอใจ พร้อมทั้งความเลื่อมใสยินดีที่จะสนับสนุนผู้ที่ก้าวเข้ามาสู่วงกาสาวพัสตร์ เพราะเหตุว่าในประเทศไทยของเรานี้นับถือพระพุทธศาสนา ย่อมทราบเรื่องของพระศาสนาได้ดีมากกว่าเมืองที่เขาไม่สนใจพุทธศาสนา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องทราบผู้ที่ก้าวเข้ามาบวชในพระศาสนา ว่าจะเป็นผู้ดัดแปลงกายวาจาใจของตน ให้เป็นไปตามหลักของพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นธรรมที่มีความสวยงามประจำองค์ของธรรมวินัยอยู่แล้ว ให้กลายเป็นผู้มีความสวยงามขึ้นไปตามหลักของพระธรรมวินัย โดยทางมารยาทและจิตใจ
หากว่าเราได้พยายามดัดแปลงกายวาจาใจของเรา ให้เป็นไปตามหลักของพระธรรมวินัยแล้ว แม้เราเองก็ยังมีความภาคภูมิใจ และเห็นผลประจักษ์ภายในตัวเอง ไม่เพียงแต่คนอื่นจะมีความเคารพเลื่อมใสกราบไหว้บูชา และให้ความสนับสนุนด้วยปัจจัย ๔ เพียงเท่านั้น เราเองยังรู้สึกมีความภาคภูมิใจในเรา ที่ได้พยายามดัดแปลงตนเองให้เป็นไปตามหลักของพระธรรมวินัยที่พระองค์ท่านตรัสสอนไว้ ผู้ที่ดัดแปลงตนให้เป็นไปตามหลักของพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเพียงไร ย่อมเป็นที่ภาคภูมิใจตนเพียงนั้น นอกจากนั้นยังเป็นเหตุให้เชิดชูพระศาสนาซึ่งเป็นส่วนรวม เพื่อประชาชนทั้งหลายซึ่งเขาไม่สามารถจะ หรือไม่มีโอกาสที่จะบวชเหมือนอย่างเรา ได้มีความภาคภูมิใจ และมีความเลื่อมใสมั่นคงในพระศาสนา เพราะเหตุแห่งพระผู้ปฏิบัติดีเป็นจำนวนไม่น้อย
หลักของพระศาสนารวมทั้งพระธรรมและพระวินัยเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก เพราะส่วนใหญ่ออกมาจากจิตใจ และดัดแปลงจิตใจมากกว่าอื่น กายวาจาจำต้องคล้อยตามใจที่ได้อบรมตามหลักธรรมะและวินัย ผู้มีจิตใจหนักแน่นในพระธรรมวินัย กายวาจาจึงเป็นที่น่าดู ความประพฤติทุกด้านเป็นที่น่าเลื่อมใส และเป็นที่ภาคภูมิใจของตัวเองด้วย อยู่ที่ไหนก็เย็นใจสบาย ก็บัดนี้เราทั้งหลายที่ได้บวชในพระศาสนา ผู้ที่บวชใหม่ พึ่งเริ่มบวชได้สองสามวันแล้วก็ตาม มาอบรมดัดแปลงตนเองกับครูกับอาจารย์ ก็กรุณาได้ทำความมั่นใจต่อหลักพระธรรมวินัยว่า อย่างไรต้องให้ผลคือความร่มเย็นแก่ตนเองโดยแน่นอน เมื่อเราได้พยายามประพฤติปฏิบัติตามหลักของพระธรรมวินัย และที่ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนเรา
การอยู่ทางฆราวาสเราก็อยู่มานาน ความชั่วเราก็เคยได้เห็นเขาทำก็มี เราทำเสียเองก็มี ไม่ว่าความชั่วที่จะเกิดขึ้นทางกายทางวาจาและทางจิตใจ ทั้งสามประเภทนี้เป็นสิ่งที่เราเคยได้เห็นได้ยิน และเป็นสิ่งที่เราเคยทำมาจนชิน และสามารถทราบได้ชัดว่า ความชั่วที่เป็นไปในสามทวาร คือ กาย วาจา ใจ ทั้งของเขาและของเรานี้ เป็นสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความดีของเรา เพราะถ้าเราปล่อยช่องทางให้ความชั่วได้มีโอกาสสั่งสมตัวเองขึ้นมา โดยอาศัยกายวาจาใจเป็นเครื่องมือแล้ว ความชั่วทั้งหมดที่ได้ผลิตผลออกมานั้น จะเป็นความทุกข์ร้อนแก่ผู้ทำ
เมื่อเราเป็นผู้ที่ได้เคยผ่านความเป็นฆราวาส ผ่านทั้งความดีความชั่ว และผ่านทั้งการทำดีทำชั่วมาด้วยแล้ว มาถึงขั้นแห่งความเป็นพระ เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ เราจึงควรคำนึงเทียบเคียงกับสิ่งที่เราทำด้วยความอยากแต่เป็นความผิดนั้น ให้ผลแก่เราอย่างไรบ้าง ถ้าให้ผลดีเราก็จะทราบชัด ให้ผลชั่วก็จะทราบชัดภายในตัวของเราเอง หากว่าการทำชั่วเป็นสิ่งที่ให้ผลดีตามความชอบใจของผู้ต้องการทำชั่วนั้นแล้ว การดัดแปลงตนเองให้เป็นคนดีตามแนวทางของนักปราชญ์ท่านสอนไว้ก็คงไม่มีราค่ำราคา คนดีคงไม่เกิดขึ้นจากการทำดีได้ตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน แต่จะตรัสตรงกันข้าม กลายเป็นคนดีเกิดขึ้นเพราะการทำชั่วพูดชั่วคิดชั่วไปเสียทั้งโลก แล้วศาสนาที่เป็นคำสอนก็ไม่ปรากฏขึ้นมา กฎหมายบ้านเมืองที่จะบังคับไม่ให้คนทำชั่วก็จะตั้งขึ้นมาไม่ได้ เพราะไม่เป็นของสำคัญ
แต่นี้เพราะเหตุใด ทางโลกกฎหมายบ้านเมือง ระเบียบขนบธรรมเนียมก็ยังมี ทางธรรมะคือทางพระศาสนาก็มีธรรมวินัย ซึ่งเป็นของละเอียดมากกว่าทางโลกนั้น เป็นเครื่องปกครองรักษาอีก นี่เราก็พอจะทราบได้ว่าความชั่วนั้นต้องเกิดขึ้นจากการทำชั่ว คนที่โลกพลเมืองดีทั้งหลายขยะแขยง ไม่อยากจะคบค้าสมาคมเหล่านั้น ล้วนแล้วตั้งแต่คนที่ชั่วด้วยการกระทำความชั่วทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นคนดีพอที่จะให้เกิดความสนิทสนมและไว้วางใจเขาได้เลย แต่ผู้ที่ประพฤติตัวตามหลักของศีลธรรมแล้ว ย่อมเป็นที่ร่มเย็นแก่โลก แม้จะอยู่ฆราวาสก็ทำความร่มเย็นแก่โลกสงสาร ใครที่มาคบค้าสมาคมก็ให้ความสนับสนุน ให้ความอนุเคราะห์เท่าที่กำลังความสามารถซึ่งเกิดขึ้นจากใจที่มีธรรมเป็นประจำ
ผู้ที่บวชเป็นพระก็มีคุณงามความดี ที่จะพอเป็นเครื่องดึงดูดของทั้งคนภายนอกและคนภายในคือหมู่เพื่อนกันเอง ให้ได้รับความเลื่อมใสยินดี นอกจากนั้นยังมีอุบายที่จะแนะนำพร่ำสอนในทางที่ดี ตามที่ตนได้ดำเนินมาตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า แก่ท่านผู้มาคบค้าสมาคมและมาศึกษาอบรมกับเราด้วย
การปฏิบัติธรรมะนี้ก็เช่นเดียวกับการประกอบการงานทางโลก ย่อมมียากบ้าง ง่ายบ้าง มีสุขมีทุกข์เจือปนกันไปเหมือนกันกับโลก เพราะเป็นธุระหน้าที่ที่เราจะต้องทำด้วยกัน คำว่าหน้าที่การงานนั้นต้องจัดว่าเป็นภาระของผู้สนใจต่อการงานจะต้องทำ เมื่อทำลงไปแล้วก็ย่อมมีความลำบาก แม้แต่เขาคิดค้าคิดขายทำไร่ทำนา เขายังต้องมีความลำบากเพราะแดดเพราะฝน เพราะทนต่อสิ่งต่างๆ ที่ตนจะพึงกระทำ แต่ผลรายได้ก็กระจายขึ้นมาให้เขาผู้ลำบากด้วยการงานนั้นได้รับความสุขความสบาย มีสมบัติเงินทองข้าวของมากมูนสมบูรณ์ขึ้นเพราะความขยันหมั่นเพียร ซึ่งไม่เห็นแก่ความยากและลำบากในการประกอบการงาน
การบำเพ็ญธรรมะก็ย่อมมีความยากลำบากเช่นเดียวกัน เรารักษาศีลก็ต้องเป็นภาระ คือระมัดระวัง จะเคลื่อนไหวไปมาทางไหนก็ต้องระวัง ไม่เช่นนั้นศีลก็จะขาดทะลุด่างพร้อย และเป็นเหตุให้ตัวเองเดือดร้อน ความเดือดร้อนขึ้นนั้นแลเป็นผลที่เกิดขึ้นจากความละเมิดหลักของพระธรรมวินัย กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาแก่เรา จึงจำเป็นสำหรับนักบวชจะต้องระมัดระวังรักษาตนเอง ไม่ให้คลาดเคลื่อนจากหลักของพระธรรมวินัย ความระมัดระวังรักษาเช่นนี้จัดว่าเป็นภาระของแต่ละท่านๆ คือมีภาระประจำตัว ไม่ว่ากลางคืนกลางวัน ยืนเดินนั่งนอน เว้นเสียแต่หลับซึ่งเป็นของสุดวิสัยเท่านั้น เรื่องการรักษาศีลรักษาธรรมต้องเป็นหน้าที่ของผู้สนใจต่อธรรมะหรือวินัยซึ่งตนรักษานั้น จะต้องประคับประคองเสมอ
เกี่ยวกับธรรมะล้วนๆ คือการบำเพ็ญจิตใจให้มีความสงบเยือกเย็นแก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ ก็เป็นความลำบากลำบน เช่น พระพุทธเจ้าของเราเป็นตัวอย่าง ปรากฏว่าทรงสลบไสลไม่รู้กี่ครั้งกว่าจะได้สำเร็จขึ้นมาถึงภูมิแห่งความเป็นศาสดาสอนโลกได้ รู้สึกว่าเป็นมาด้วยความตะเกียกตะกาย เหลือตายแล้วนั้นแลจึงปรากฏเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ถ้ายังไม่เหลือตายหรือรอดตายแล้วยังเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ การกระทำด้วยความลำบากเช่นนั้นก็ลำบากเฉพาะงานของพระองค์ท่าน เราที่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ผู้มีความขยันหมั่นเพียร และมีความแกล้วกล้าสามารถต่อหน้าที่การงานที่ชอบตามเพศของตนแล้ว จึงควรถือว่าเป็นความภาคภูมิใจต่อหน้าที่การงานในเพศของตน อย่าได้มีความท้อถอย จิตใจแม้จะแสนพยศ ก็จะทนต่อความขยันหมั่นเพียรในการอบรมไปไม่ได้
การกล่าวถึงเรื่องวิธีการอบรมทั้งหมด เพื่อใจหายพยศเป็นลำดับๆ ไปนี้ ล้วนแล้วตั้งแต่ภาระที่จะต้องทำความทุกข์ความลำบากแก่ผู้บำเพ็ญ แต่ถึงยังไงเราก็ไม่ทอดธุระ เพราะทุกข์เพื่อจะนำสุขมาให้นี้เป็นทางที่ชอบธรรม ตามหลักสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่า ทุกฺขสฺสานนฺตรํ สุขํ สุขย่อมจะเกิดขึ้นตามลำดับแห่งทุกข์นั้นแล คือทุกข์ด้วยการกระทำงานที่ชอบ จะยากลำบากก็ทำ หนักก็ทำ เบาก็ทำ
เช่น เราทั้งหลายอดอาหาร ตามธรรมดาโลกทั่วๆ ไปเขาไม่มีการอดอาหาร รับประทานได้วันยังค่ำตามความต้องการของตนเอง แต่เราแม้จะมีอาหารหวานคาวมากมายก็ตาม ที่ทายกทายิกานำมาถวายด้วยศรัทธา ก็รับแต่พอประมาณ วันหนึ่งมื้อหนึ่งหรือสองมื้อเป็นอย่างมาก ถึงเช้าชั่วเที่ยง นอกจากนั้นยังมีธรรมะเป็นเครื่องดัดแปลงแก่ตนเองอีก สำหรับผู้ที่มุ่งต่อธรรมหรือมุ่งต่อความขยันหมั่นเพียรอย่างแรงกล้าขึ้นไปเป็นลำดับๆ แล้วยังอดฉันสองมื้อนั้นเสีย คืองดการฉันสองมื้อกลับมาฉันมื้อเดียว แล้วนอกจากนั้นยังอดอีก วันหนึ่งๆ ไม่ฉันก็ได้
เพราะการสังเกตสอดรู้เรื่องราวของตนเองที่มีอยู่ภายในใจ ว่าฉันจังหันไปมากเป็นอย่างไร ผลปรากฏเวลาภาวนา ทำใจให้ได้รับความสงบไหม ฉันน้อยเป็นอย่างไร หรือไม่ฉันเสียเลยในวันหนึ่งๆ จะกี่วันก็แล้วแต่ ตามแต่การสังเกตตัวเอง และตามสมควรแก่ธาตุขันธ์ของตนจะอำนวยให้กี่วัน พร้อมทั้งความสังเกตทางด้านจิตใจว่า การฉันมื้อหนึ่งก็ดี แม้จะฉันมื้อหนึ่งแต่ฉันเพียงเล็กน้อย ไม่ฉันให้เต็มตามธรรมดาที่เราฉันก็ดี หรือเราอดไปกี่วันก็ดี การภาวนาทางด้านจิตใจของเรามีผลอย่างไรบ้าง นี่เป็นเรื่องของท่านนักปฏิบัติผู้มีความมุ่งหวังต่อทางพ้นทุกข์เป็นขั้นๆ ขึ้นไป จะต้องสังเกตตัวเองที่ทำลงไปทุกระยะๆ ในการอดอาหารหรือผ่อนอาหาร
เมื่อจริตนิสัยของท่านผู้ใดถูกกับวิธีใด ด้วยการสังเกตสอดรู้ภายในตนเองแล้ว ก็พยายามประกอบจุดนั้น ผู้ที่อดอาหารเรื่อยๆ ฉันไปบ้าง อดบ้าง นี่ก็เพราะเหตุที่ตนได้สังเกตสอดรู้เรื่องจิตใจของตนว่า มีความสงบเยือกเย็น และมีความแยบคายทางด้านปัญญา เพราะการพักไม่ฉันอาหาร แต่จะอดเอาเฉยๆ โดยไม่คำนึงถึงการภาวนา คือเพื่อจะรู้อรรถรู้ธรรม จนกระทั่งถึงเพื่อความตรัสรู้ในธรรมขั้นสูงขึ้นไปเพราะการอดอาหารเพียงเท่านั้นไม่ถูกทาง
การอดอาหารนี้เป็นการพักผ่อน หรือเป็นการลดหย่อนผ่อนผันธาตุที่มีกำลังมาก อาจจะทับจิตใจของเราให้ดำเนินในการภาวนาไม่สะดวกเท่านั้น เพราะฉะนั้นการฉันมื้อเดียวจึงเป็นการตัดกังวล หรือการอดไม่ฉันในวันหนึ่งๆ จึงเป็นเหตุให้ธาตุขันธ์ของเรานั้นมีกำลังลดน้อยลงไป ใจที่ได้รับการอบรมด้วยธรรมอยู่เสมอย่อมมีกำลังกล้าขึ้นไปเป็นลำดับ ผู้ที่ถูกกับจริตในการอดอาหารย่อมเป็นเช่นนั้น แล้วปรากฏว่าผู้ที่อยู่ในขั้นแห่งความสงบก็สงบละเอียดเข้าไปเป็นลำดับในขณะที่อดอาหาร ผู้ที่พิจารณาทางด้านปัญญาก็รู้สึกว่าคล่องแคล่วว่องไว ทันกับเหตุการณ์ที่มาเกี่ยวข้องกับตนเองเป็นระยะๆ ไป นี่แสดงว่าถูกกับจริต เราก็ยึดเอามาดัดแปลงตนเอง
การอดอาหารเราไม่ได้อดเพื่อให้ตาย แต่อดเพื่อจะนำธรรมะเข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญภายในร่างนี้ ให้ได้รับความสงบเยือกเย็นและมีความเฉลียวฉลาดรอบตัว จะไม่เป็นผู้ทรงขันธ์อยู่เฉยๆ ยังมีความฉลาดรอบรู้ต่อขันธ์เพราะอุบายวิธีต่างๆ ที่ตนฝึกฝนทรมานตนเองอีกด้วย นอกจากนั้นยังสามารถจะถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจให้หมดไปได้เป็นลำดับๆ เพราะวิธีการเช่นนี้อีกก็มีจำนวนไม่น้อย ดังนั้นการอดเพื่อการบำเพ็ญด้วยความสะดวกนี้จึงไม่เป็นการขัดแย้งต่อหลักของพระธรรมวินัย แต่จะอดโดยไม่คำนึงถึงการภาวนา มีจุดประสงค์ที่จะรู้อรรถรู้ธรรม ตลอดถึงความตรัสรู้ด้วยการอดอาหารเท่านี้ไม่ถูกทาง เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ทำความลำบากแก่ตนเปล่าๆ ไม่มีผลอันใดปรากฏขึ้นเป็นเครื่องตอบแทน
เฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้เป็นนักปฏิบัติ ซึ่งอุตส่าห์พยายามมาจากสถานที่ต่างๆ มาแสวงหาครูหาอาจารย์ผู้อบรมแนะนำสั่งสอน โปรดได้คำนึงหรือสังเกตเสมอในคำพูดจากิริยามารยาทของหมู่เพื่อนและของครูอาจารย์ อันใดที่จะเป็นคติเครื่องเตือนใจตนเอง ให้ถือว่านั้นเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า อย่านำบุคคลเข้ามาพาดพิงว่าเป็นเด็กบ้าง เป็นผู้ใหญ่บ้าง หรือว่าเขาเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาบ้าง ส่วนใดที่เป็นคติแก่ตนเองให้ถือว่านั้นเป็นของดี แม้จะอยู่กับสุนัขเราก็ยึดมาเป็นคติสอนเราได้ ไม่เพียงจะอยู่กับประชาชนพลเมืองหรือพระเณรหมู่เพื่อนด้วยกันเท่านั้น
เพราะธรรมะมีอยู่ทั่วไป ท่านก็กล่าวไว้แล้วว่า ธรรมะมีอยู่ทุกแห่งทุกหน ผลที่สุดใบไม้ร่วงท่านก็นำมาเป็นธรรมะ เป็นเครื่องพร่ำสอนตนเองได้ ผู้สนใจต่อธรรมะต้องเป็นอย่างนั้น และการดำเนินตนเองเพื่อไม่ให้มีการกระทบกระเทือนแก่ตนเองและหมู่เพื่อนที่อยู่ด้วยกันสำหรับนักบวชนี้ ควรมองดูเรื่องของตัวเสมอ อย่าได้มองดูเรื่องภายนอกคือเรื่องของหมู่เพื่อนหรือใครๆ ก็ตาม จะเกิดข้อข้องใจขึ้นมาโดยที่เรามองในแง่ร้าย ถ้าเรามองในแง่ดีนั้นมองไปที่ไหนก็เป็นของดี ถ้ามองในแง่ร้ายมองไปไหนก็เป็นความเดือดร้อนแก่ตนเอง นั่นคือความผิด เพราะหลักของพุทธศาสนาให้มองดูตัวของเราเป็นหลักสำคัญมาก
คนอื่นผิดเราก็นำมาเป็นคติว่า เราอย่าทำผิดเช่นเขา แต่อย่าไปตำหนิติโทษเขาเสียทีเดียว หากจะมีโอกาสแนะนำสั่งสอนเขาด้วยความจงรักภักดี ก็โปรดได้มองดูนิสัยกิริยามารยาท หรือโอกาสที่ควรจะแนะนำพร่ำสอนเขาด้วยเจตนาอันดีของตน ธรรมดาดีย่อมชนะชั่วเสมอ เช่นเดียวกับสถานที่หรือสิ่งที่สกปรก ย่อมกลายเป็นของสะอาดขึ้นมาได้ด้วยน้ำที่สะอาด หลักธรรมะทั้งหมดเหมือนกับน้ำที่สะอาด ความชั่วไม่ว่าอยู่ในสถานที่ใดบุคคลผู้ใด เมื่อนำธรรมะซึ่งเป็นของสะอาดไปล้างสิ่งเหล่านั้นหรือผู้นั้นๆ ย่อมจะกลายเป็นของดีขึ้นมาได้ นอกจากจะสุดวิสัย แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงทอดอาลัย
การอยู่ด้วยกันเป็นหมู่เป็นเพื่อนมีหลายท่านหลายองค์ ย่อมมีจริตนิสัยแปลกต่างกัน แต่จริตนิสัยนั้นอย่าถือเป็นข้อหนักแน่นจนเกินไปจะเกิดอารมณ์ข้อข้องใจ ให้มองดูหลักของพระธรรมวินัยซึ่งเป็นเหมือนกับรั้วครอบอยู่ จะเป็นจริตนิสัยยังไงก็ตาม ถ้าไม่เป็นการผิดกับหลักของพระธรรมวินัยก็ให้ถือว่าเป็นสมบัติเฉพาะตัวของผู้นั้นๆ ไปเสีย เพราะแม้เราเองก็จะทำนิสัยตัวเองให้เป็นเหมือนหมู่เพื่อนทุกๆ รายไปก็ทำไม่ได้ จึงเรียกว่านิสัย คนมีมากเท่าไรนิสัยไม่เหมือนกัน กลายเป็นนิสัยมากขึ้นมาด้วยทันที ผลที่สุดเราจะอยู่ด้วยกันเฉพาะเท่านี้ก็นิสัยไม่เหมือนกัน แต่ข้อสำคัญให้อยู่ในกรอบของหลักพระธรรมวินัยนี้ก็ดี
มองดูกันให้มองดูด้วยความเมตตา อย่าได้มองดูด้วยความเพ่งโทษโกรธแค้นในเขา เพราะไม่ถูกหูถูกตาหรือถูกจิตใจของตน นี่เป็นเรื่องผิด ถ้าจะแนะนำสั่งสอนเขาก็ขอให้สั่งสอนด้วยความเมตตาหวังธรรมเป็นที่ตั้ง เขาสอนเราเราก็น้อมรับด้วยธรรม อย่าน้อมรับด้วยโลก คือ ความโกรธความไม่พอใจ ถือว่าตนเป็นคนฉลาด หรือมีชาติชั้นวรรณะสูงกว่าหมู่เพื่อน มีฐานะดีกว่าเขา ถ้าเป็นอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้แลจะมากั้นกางทางความรู้ความฉลาดผลประโยชน์ของเราที่จะพึงได้จากหมู่เพื่อน ก็จะกลายเป็นคนขวางโลกไปเสีย ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่สะดวกสบายสำหรับหมู่เพื่อน เพราะเหมือนกับเรือขวางท่า หรือก้างขวางคอ ไปอยู่ที่ไหนหมู่เพื่อนก็แตกกระจัดกระจายไปหมด เพราะเราทำตัวของเราให้เป็นคนขวางเรา เมื่อขวางเราแล้วก็ขวางโลก ขวางหมู่เพื่อน หลักธรรมท่านให้มองดูตัวเองเพราะเหตุนี้เอง
เมื่อเรามองดูความเคลื่อนไหวทางกายวาจาใจของเราบกพร่องที่ตรงไหน เราก็พยายามปรับปรุงตนเอง จนปรากฏเป็นความสมบูรณ์ขึ้นมาตามที่เราเห็นว่าจุดนั้นบกพร่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีมากก็อยู่ด้วยกันเป็นสุข จะเป็นคนชาติชั้นวรรณะไหนมาอยู่ด้วยกันเป็นสุขทั้งนั้น เพราะมีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องปกครอง ผู้ก้าวเข้ามาสู่วงผ้ากาสาวพัสตร์ ก็เป็นผู้มุ่งต่อหลักของพระธรรมวินัย ไม่มีนำเรื่องอื่นเข้ามาเคลือบแฝงพอจะให้ทำการกีดขวางต่อตนเองและหมู่เพื่อนตลอดครูอาจารย์ ด้วยจิตของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง จึงทำความร่มเย็นแก่ตนและผู้อื่นได้ด้วยเหตุนี้เอง เพราะท่านมีธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่มองในแง่ผิดโดยท่าเดียว
ถึงเห็นเขาผิดก็มีความเมตตาไม่อยากจะให้เขาทำผิด แต่ไม่ได้เพ่งโทษเขา หากมีโอกาสก็แนะนำสั่งสอนเขาได้เท่าที่ควร เมื่อเขาสั่งสอนเราก็น้อมรับโดยวิธีเดียวกัน มีความยิ้มแย้มแจ่มใสพออกพอใจต่อโอวาทที่เขาแนะนำสั่งสอนเราเพื่อทางที่ดี เมื่อเป็นเช่นนั้นใครจะผิดพลาดก็มีทางจะเป็นคนดีได้ ด้วยการแนะนำตักเตือนซึ่งกันและกัน โดยไม่ถือกัน เพราะถือธรรมเป็นใหญ่ นี่ท่านเรียกว่าธรรมาธิปไตย ถือหลักธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ถือความรู้วิชาอำนาจวาสนาของตัวเป็นที่ตั้ง ถ้าถืออย่างนี้แล้วจะเป็นการกีดขวาง หรือปิดช่องทางที่ผู้อื่นจะแนะนำสั่งสอน เราก็ไม่ได้รับความรู้ความฉลาด
การมองดูตัวเราชื่อว่ามองธรรม ธรรมอยู่กับใจของเรา เมื่อเห็นใจตัวเองก็เห็นใจหมู่เพื่อน เมื่อสงสารตนเองก็เป็นอันว่าสงสารหมู่เพื่อนในขณะเดียวกัน การสงสารตนเองนั้นหมายถึงการสอดส่องมองดูเรื่องความผิดพลาดของตน และพร้อมอยู่เสมอที่จะรับการอบรมแนะนำสั่งสอนจากหมู่เพื่อนหรือครูอาจารย์ นี่เป็นทางที่ดี อยู่ด้วยกันเป็นความสนิทสนมร่มเย็น จะอดบ้างอิ่มบ้างจิตใจไม่ฝืดเคืองไม่เดือดร้อน เพราะมีหลักธรรมเป็นเครื่องรักษาจิตใจ อยู่ที่ไหนก็สบาย ขอให้พากันสนใจต่อเรื่องของตัวเรา
เราบวชเป็นพระ คือเป็นผู้สละสมบัติตามที่โลกนิยมเขามาหมด มีแต่บริขาร ๘ ของเรา นี่เป็นบริขารประจำพระที่แท้จริง นอกจากนั้นไม่ค่อยจำเป็นเท่าไร การขบการฉันได้อะไรมาฉันได้ทั้งนั้น ไม่ขัดข้องกับอาหารการฉัน พยายามฝึกหัดดัดแปลงธาตุขันธ์ของตนให้เป็นไปตามเยี่ยงอย่างของพระพุทธเจ้าที่ทรงดำเนินมา เพราะพระองค์ไม่เคยมีความอิดหนาระอาใจ ขยะแขยง หรือฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมต่ออาหารการเสวยอย่างใดทั้งนั้น จึงสมนามว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้รอบคอบในเรื่องโลกทั้งหลาย และสมนามที่ว่า โลกวิทู ทรงมองเห็นโลกได้โดยชัดเจนทั่วถึง ทั้งภายนอกทั้งภายใน ทั้งด้านวัตถุและนามธรรมรู้แจ้งเห็นจริงไปหมด
เมื่อรู้ตามเป็นจริงในสภาวธรรมทั่วๆ ไปด้วย โลกวิทู แล้ว การปฏิบัติต่อสภาพการณ์ทั้งหลาย จึงไม่ทำให้พระองค์ท่านมีความขัดข้องยุ่งเหยิง มีความสะดวกไปตลอดพระอิริยาบถจนกระทั่งวันนิพพาน นี่ควรจะเป็นคติตัวอย่างอันดีสำหรับเราทั้งหลายผู้มุ่งตามเสด็จพระพุทธเจ้าในนามว่าศากยบุตร นี่แหละทางดำเนินเพื่อสันติภายในใจของตน ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ไม่เดือดร้อนกับปัจจัยทั้งสี่ คือ อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ ที่อยู่ที่อาศัย ยาแก้โรคแก้ภัย มีอะไรขบฉันใช้สอยอยู่กันไปตามเกิดตามมี เป็นที่สบายใจ นี่เป็นความสงบอันหนึ่งของใจ ไม่ฟุ้งเฟ้อ
นอกจากนั้นใจก็จะมีความสงบโดยลำพังตนเอง ก้าวเข้าสู่สมาธิ คือ ความแน่วแน่ต่อหลักธรรม และพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา ถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดในสิ่งทั้งหลายได้ด้วยปัญญาของตนที่พิจารณาเป็นประจำ เรื่องความพ้นทุกข์นั้นเราไม่ต้องไปหาค้นกันที่ไหน ขัดข้องที่ตรงไหนแก้ลงที่ตรงนั้นด้วยปัญญา เรื่องความหลุดพ้นจะเป็นไปเป็นลำดับๆ ที่ท่านให้นามว่า นิโรธ คำว่านิโรธคือความดับทุกข์นั้น ไม่ใช่จะดับพรึบทีเดียว ดับทุกข์ส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด ดับไปเป็นลำดับลำดา ด้วยอำนาจของข้อปฏิบัติคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อดับได้เต็มที่แล้วก็กลายเป็นนิพพานขึ้นมาทั้งสดๆ ในหัวใจของผู้หมดเชื้อแห่งกิเลสทั้งหลาย
ผลที่จะปรากฏขึ้นเป็นความหมดจดโดยสิ้นเชิงนั้น ปรากฏขึ้นมาจากความตะเกียกตะกาย ความขยันหมั่นเพียร แม้จะทุกข์จะยากลำบากลำเค็ญขาดเขินอะไรก็ตาม ต้องถือว่าสภาพเหล่านี้เป็นของธรรมดาของโลกจะต้องมีอยู่เช่นนี้ เพราะความสมบูรณ์กับความบกพร่องนั้นเป็นเรื่องของโลก ถ้าเรารู้เท่าทันกับความสมบูรณ์ความบกพร่องขาดเขิน ความดีความชั่วทั้งหลายแล้วเราก็สบาย ไม่ไปติดพันกับสิ่งเหล่านั้นพอให้เกิดอารมณ์เพิ่มทุกข์เข้ามาใส่หัวใจของเรา อยู่ที่ไหนเราก็สบาย
หลักความสบายของพระนั้นสบายด้วยวิธีปฏิบัติ ไม่ใช่สบายเพราะไม่ได้ทำไร่ทำนาทำเรือกทำสวนซื้อถูกขายแพง ทำราชการงานเมืองอะไร แต่สบายด้วยการสอดรู้กับสภาพการณ์ทั้งหลายที่ปรากฏเกี่ยวข้องกับตนเองทั้งภายนอกและภายใน รู้แจ้งเห็นจริงกันโดยแจ้งชัด แล้วถอดถอนภาระความกดถ่วงจิตใจของตนออกไปเป็นขั้นๆ จนกลายเป็นผู้หมดภาระไปโดยสิ้นเชิง ดังสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอรหันต์ท่าน เป็นต้น ท่านเหล่านี้ท่านเดินไปด้วยวิธีนี้ ท่านจึงถึงความสบายอันสมบูรณ์
ดังนั้นบรรดาเราทั้งหลายที่ก้าวเข้ามาสู่ความเป็นพระเป็นเณรในพระศาสนา จงเป็นผู้ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย อย่าจู้จี้จุกจิกภายในตนเอง อย่าหาเรื่องใส่ตนเอง ว่าอันนั้นหมดอันนี้ยัง อันนั้นขาดเขิน อันนี้บกพร่อง ที่นั่นสบาย ที่นี่ไม่สบาย นี่จะกลายเป็นเรื่องกองทุกข์ขึ้นมาภายในตัวของเราเพราะเป็นเครื่องกังวลกับสิ่งที่ว่านี้ อยู่สบาย ไปสบาย มาสบาย ฉันสบาย ด้วยการไม่กังวลกับสิ่งใด นั่นละถูกทางของพระพุทธเจ้า ผู้พยายามดัดแปลงตนเองให้ถูกกับหลักธรรมแล้วย่อมเป็นที่สบายเป็นลำดับๆ
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ เอวัง
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |