สมบัติหยิบยืมมา
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2508 ความยาว 35.47 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมคณะม.ล.จิตติ นพวงศ์ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่  ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๘

สมบัติหยิบยืมมา

 

         ศาสนธรรมที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาท ซึ่งได้ประทานไว้สำหรับบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย เป็นธรรมะที่สำเร็จออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ของท่านจริงๆ ถ้าจะเปรียบอุปมาก็เช่นเดียวกับผู้มีสมบัติมากๆ มีเงินเป็นจำนวนล้านๆ ผู้ที่ไปหยิบยืมจากเขามาเพื่อค้าหากำไร ก็ต้องเป็นผู้มีความขยัน มีความเฉลียวฉลาด อย่างน้อยก็รักษาต้นทุนเอาไว้ มากกว่านั้นก็สำเร็จเป็นกำไรขึ้นมา ถ้าหยิบยืมของเขามาแล้วเกิดความนอนใจถือว่า สมบัติที่หยิบยืมเขามามากน้อยนั้น เข้าใจว่าเป็นของตนเสีย และไม่พยายามคิดค้าหากำไร คนนั้นก็ชื่อว่าขาดทุน ดอกเบี้ยเขาก็จะคิดทุกเดือนทุกปี ผู้จะหาเงินให้ค่าดอกเบี้ยเขาก็ไม่เพียงพอ ไม่เพียงแต่จะไม่สำเร็จให้เป็นผลกำไรแก่ตนเอง

แต่ถ้าผู้มีความเฉลียวฉลาด ได้หยิบยืมของเขามาเท่าไรแล้ว ไม่แสดงความนอนใจ จะยืมมาเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน ก็ต้องถือว่าต้นทุนนี้เป็นของเขาที่ตนได้หยิบยืมมา ไม่ใช่เป็นของตัวเองอย่างแท้จริง และรีบเร่งขวนขวายหาทางที่จะให้เกิดผลกำไร จากต้นทุนที่หยิบยืมมานั้นโดยไม่นิ่งนอนใจ เมื่อผลกำไรตกออกมาจากต้นทุนนั้นเท่าไร นั่นละเป็นที่อิ่มอกอิ่มใจ และเป็นที่พอใจในตัวเอง โดยความรู้สึกว่านี้เป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยต้นทุนที่ได้หยิบยืมเขามา ทำให้เกิดผลกำไรขึ้นมาจำนวนเท่านั้นๆ เมื่อได้ส่งต้นทุนให้เขาแล้ว ผลกำไรก็ยังเป็นสมบัติของตนอย่างภาคภูมิใจ

ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนมา จากสวากขาตธรรมของพระองค์ท่านก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน เราจะเรียนได้มากได้น้อยนั้นเป็นต้นทุนที่ได้รับจากพระโอวาทของพระพุทธเจ้ามาชี้ช่องทางให้เราทราบ ว่าควรจะทำอย่างไรตามแนวของธรรมะที่แสดงบอกเรา ถ้าผู้ประมาทได้ศึกษาเล่าเรียนมามากน้อย ก็เข้าใจว่าความที่เราได้เรียนรู้มานั้นกลายเป็นสมบัติของเราไปเสีย และนิ่งนอนใจในการที่จะพยายามปรับปรุงตนเองด้วยความประพฤติทั้งด้านธรรมและด้านพระวินัย โดยถือเอาสมบัติที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้นว่าเป็นของตนเสีย นี่เป็นเหตุที่จะให้ขาดทุน

แต่ผู้ไม่มีความนิ่งนอนใจ เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนจากสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้ามามากน้อย และได้ยินได้ฟังจากครูจากอาจารย์ในสถานที่ต่างๆ จะเป็นพระหรือฆราวาสที่แสดงหรือเล่าให้ฟังก็ตาม จะเรียนจากคัมภีร์ไหนๆ มาก็ตาม น้อมมาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับตัวเอง พยายามดัดแปลงหรือปรับปรุงจิตใจ ตลอดความประพฤติของตนทุกด้าน ให้เป็นไปตามหลักแห่งสวากขาตธรรม ที่ได้ยินได้ฟังหรือได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น จนปรากฏผลขึ้นมาภายในใจของตน

เช่น ท่านสอนว่าให้ทานมีผลอย่างนั้น เราก็ไม่เพียงแต่จะจำเอาชื่อว่าให้ทานมีผลอย่างนั้นเท่านั้น แต่เรายังมาดำเนินด้วยตนเอง คือประกอบตามที่ท่านชี้บอกไว้ ได้แก่ให้ทานตามกำลังและศรัทธาของตนมากน้อย นี่ชื่อว่าผู้ได้ทำตามพระโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า ศีลเราก็รักษาตามเพศ วัย และความสามารถของเราเท่าที่จะได้ตามโอกาสอันควร การภาวนาเราก็ได้อบรมตามทางที่ท่านสอนไว้ ดังที่เคยได้แสดงให้ทราบมาหลายครั้งแล้ว ว่าการอบรมภาวนาทำอย่างไร

เมื่อเราได้อบรมจิตใจของเราด้วยการภาวนา จนปรากฏผลเป็นที่สงบเยือกเย็น เห็นประจักษ์กับใจของเราเป็นขั้นๆ ขึ้นไป นี่ก็พอจะทราบได้แล้วว่าเป็นผลกำไรที่ปรากฏขึ้นในตัวของเราที่อาศัยต้นทุน ได้แก่การได้ยินได้ฟังจากธรรมะคำสั่งสอนของท่านมาเป็นเครื่องชี้แนวทางให้เรา แล้วมีการอบรมมากเท่าไร ผลกำไรก็ยิ่งปรากฏขึ้นมาก ดังนั้นในหลักธรรมท่านจึงสอนไว้ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ธรรมทั้งสามประเภทนี้จะแยกจากกันไม่ได้

ปริยัติ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียน การได้ยินได้ฟังจากสถานที่หรือบุคคลต่างๆ

ปฏิบัติ ได้แก่การกระทำตามที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมา

ปฏิเวธ คือความรู้เห็นอันเป็นผลขึ้นมาเป็นขั้นๆ ตามแต่กำลังความประพฤติปฏิบัติของเราได้มากน้อยแค่ใด นี่เป็นผลที่สืบทอดกันมาอย่างนี้

เฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติทางด้านจิตใจ นี่เป็นจุดใหญ่ซึ่งสามารถจะรวมคุณสมบัติหรือคุณงามความดีทั้งหลายให้เข้ามาอยู่จุดเดียวได้ เช่น การให้ทาน การรักษาศีล และผลที่เกิดขึ้นจากการให้ทานและรักษาศีล ก็จะมารวมอยู่ที่จุดแห่งภาวนาจุดเดียวนี้ เนื่องจากใจของเราเป็นภาชนะที่ดี เช่นเดียวกับเราขุดสระหรือขุดบ่อ หรือปิดทำนบไว้ น้ำจะตกลงมาในที่ไหนๆ ย่อมไหลลงมาสู่ที่ต่ำเสมอ เมื่อเรามีบึงมีบ่อหรือมีทำนบไว้เรียบร้อยแล้ว เรื่องน้ำเราไม่จำเป็นจะต้องไปแสวงหามาจากที่ไหน จะต้องไหลลงมาสู่จุดนั้น จนทำให้บึงหรือทำนบของเรานั้นเต็มไปด้วยน้ำสะอาด จะใช้สอย ซักฟอกอะไรได้ตามความต้องการ

เรื่องของจิตที่ได้รับการอบรมตนเองเป็นลำดับไป ก็เช่นเดียวกันกับเราขุดบ่อหรือปิดทำนบไว้ฉะนั้น ผลของการให้ทาน รักษาศีล ก็จะมารวมอยู่ที่จิตที่เป็นภาชนะอันดี ไม่ได้เรี่ยราดอยู่ในที่ต่างๆ เพราะจิตใจของเราเป็นภาชนะอันดี ซึ่งได้รับการอบรมมาตามกำลังความสามารถของตน ใจย่อมมีความเยือกเย็นเพราะอำนาจการภาวนา นอกจากใจมีความเยือกเย็นเป็นสุขแก่ตนเองแล้ว ยังจะมีความเฉลียวฉลาดเห็นเหตุเห็นผลทั้งข้างนอกข้างใน ทั้งเรื่องของท่านของเรา เรื่องของสัตว์ของบุคคล ตลอดเรื่องของสภาวะทั่วๆ ไป

สิ่งที่เป็นโทษก็เห็นได้ชัด สิ่งที่เป็นคุณก็เห็นได้ชัด สิ่งที่จะควรละก็ตั้งใจละอย่างเต็มอกเต็มใจ ละด้วยความขยันหมั่นเพียรที่จะละ สิ่งที่จะบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นความดี ก็มีความหนักแน่นขยันหมั่นเพียร ที่จะพยายามส่งเสริมความดีนั้นให้ยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับ เรียกว่าเห็นอะไรเห็นชัด เพราะจิตมีความสว่างไสว จิตมีความเฉลียวฉลาด จิตรู้เหตุรู้ผลรู้ดีรู้ชั่วจริงๆ ไม่ใช่รู้เพียงคาดคะเน

เมื่อจิตเราได้รู้ขึ้นมาเป็นลำดับๆ เช่นนั้น ชื่อว่านี้แลเป็นผลกำไร เป็นสมบัติของเราแท้ ส่วนที่เราได้หยิบยืมมาจากพระพุทธเจ้ามากน้อยนั้น เป็นของพระองค์ท่าน แต่ส่วนที่ได้สำเร็จรูปออกมาจากการหยิบยืมธรรมะพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัตินั้น นั่นเป็นผลกำไรและเป็นสมบัติของเราโดยตรง เช่น คำว่าสมาธิ แต่ก่อนเราเรียนได้แต่ชื่อ แต่ใจของเราไม่มั่นคง นี่เรียกว่าเราได้ตั้งแต่สมบัติที่หยิบยืมมาจากพระองค์ท่าน คือธรรมะที่เรียนมา แต่เมื่อเราได้ฝึกหัดจิตใจของเราจนปรากฏเป็นสมาธิเห็นประจักษ์กับใจ นี่เป็นสมบัติของเรา รู้ทั้งชื่อว่าสมาธิด้วย รู้ทั้งความเป็นแห่งสมาธิภายในจิตใจด้วย ทั้งรู้ชื่อทั้งเห็นตัว

คำว่าปัญญาเป็นอย่างไร เราเรียนจากคำสอนของท่านว่า ปัญญาคือความเฉลียวฉลาด ปัญญาคือความรู้รอบคอบ หรือความเห็นตามเป็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ชื่อของปัญญาท่านอธิบายไว้อย่างนี้ แต่ใจของเรามีความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่สามารถจะรู้รอบสิ่งทั้งหลายตามที่ปัญญาชี้บอกไว้ ฉะนั้นคำที่ว่าปัญญาซึ่งเราได้ศึกษาเล่าเรียนมา จึงยังไม่สำเร็จประโยชน์อะไรให้เรา ต่อเมื่อเราได้นำปัญญาที่เราได้ศึกษามานั้น มาปรับปรุง ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ปัญญาซึ่งเราได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้นชี้บอกไว้ จนปรากฏเป็นความเฉลียวฉลาดขึ้นมาภายในใจของตนจริงๆ นี่ก็เป็นสมบัติของเราเป็นขั้นๆ ไป

ปัญญา แปลว่า ความฉลาดเป็นขั้นๆ ตามขั้นของปัญญา ใจของเราก็มีความฉลาดเป็นขั้นๆ ขึ้นไปตามอำนาจแห่งปัญญาของเราที่พยายามฝึกฝนอบรมตนได้มากน้อยแค่ไหน ปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับๆ พูดถึงเรื่องสมาธิก็ไม่สงสัย เพราะใจของเราเป็นสมาธิอยู่แล้ว พูดถึงเรื่องปัญญาก็ไม่สงสัย เพราะใจเป็นปัญญาอยู่แล้ว มีปัญญาอยู่รอบตัว พูดถึงเรื่องสติก็ไม่สงสัย เพราะใจของเรากับสติปัญญาอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้เป็นผลกำไรที่ได้สำเร็จมาจากต้นทุนที่เราได้หยิบยืมจากพระพุทธเจ้า คือการได้ยินได้ฟัง หรือได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากที่ต่างๆ มาปรับปรุงตนเอง จนปรากฏผลขึ้นมาเช่นนี้ นี่เป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง

คำว่า วิมุตติ เราก็ได้เรียนมา คำว่า นิพพาน เราก็ได้เรียนมา แต่ใจเรายังไม่เป็นนิพพาน ใจเรายังไม่เป็นวิมุตติ คำว่า กิเลส เราก็ได้เรียนมา รู้เรื่องของกิเลส แต่เรื่องของกิเลสเป็นเรื่องของเรา เรายังแก้ไขไม่ได้ คำว่า นิพพาน ใจของเราก็ยังไม่เป็น ได้แต่ชื่อของนิพพาน ได้แต่ชื่อของนิโรธ คือความดับแห่งทุกข์ แต่ใจของเรายังไม่สามารถจะดับทุกข์ นี่ชื่อว่าเป็นสมบัติที่เราได้หยิบยืมมา ยังไม่ใช่เป็นของเราแท้จริง พอเราได้พยายามปรับปรุงตัวของเราตามแนวทางที่ท่านสอนไว้ ทั้งด้านทาน ทั้งด้านศีล ทั้งด้านสมาธิ ทั้งด้านปัญญา จนปรากฏผลขึ้นมาเห็นประจักษ์กับใจเป็นขั้นๆ มากเท่าไรก็เห็นผลกำไรที่เป็นสมบัติของตนปรากฏขึ้นมากเท่านั้น นี่จะมีความภาคภูมิใจในการที่จะแสวงหาหรืออบรมจิตใจของตน ด้วยธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นต้นทุน ให้ปรากฏผลขึ้นเป็นชั้นๆ จนถึงชั้นวิมุตติสุดท้าย

คำว่าพระนิพพานกับใจที่บริสุทธิ์ของเรานั้นเป็นอันเดียวกัน ไม่มีความสงสัยเหมือนอย่างที่เราได้เรียนมาจากท่านว่า นิพพานๆ แต่ใจของเราเต็มไปด้วยความสงสัยเหมือนอย่างแต่ก่อน คำที่ว่านิพพานที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เป็นอย่างไร ใจของเราก็เป็นนิพพานเช่นนั้น คำว่าวิมุตติที่ท่านสอนไว้อย่างไร ใจของเราก็หลุดพ้นอย่างนั้น นี่เป็นสมบัติของเราเต็มที่ที่ได้อาศัยการหยิบยืมธรรมะของท่านมาเป็นต้นทุน เห็นผลประจักษ์เช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สวากขาตธรรมที่ท่านตรัสไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เราจะมีข้อข้องใจสงสัยที่ตรงไหน เพราะว่าจิตของเรานี้เป็นที่บรรจุไว้ซึ่งสมบัติอันแท้จริง ที่ได้อาศัยการหยิบยืมจากพระพุทธเจ้ามา เห็นเป็นธรรมประจักษ์อยู่กับใจเสียทั้งนั้น ไม่มีอะไรบกพร่องในจิตใจของเรา

จะว่าสมาธิ จิตก็เป็นสมาธิมาเป็นลำดับ จะว่าปัญญา ใจก็มีความเฉลียวฉลาดถอดถอนกิเลสมาเป็นลำดับๆ ไม่สงสัยทั้งเรื่องกิเลส ไม่สงสัยทั้งเครื่องแก้กิเลส คือเรื่องของสติ เรื่องของปัญญาที่เต็มไปด้วยความเพียร พูดถึงเรื่องวิมุตติหลุดพ้นก็ไม่สงสัย เพราะใจของเราได้หลุดพ้นไปตามหลักแห่งสวากขาตธรรมจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เราจะไม่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนจากพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาทก็ตาม แต่เราไม่ได้สงสัยในธรรมะทั้งหลายเหล่านั้น เพราะธรรมะเหล่านั้นมาเต็มอยู่ในจิตใจของเราเสียทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับน้ำที่ตกมาจากสถานที่ต่างๆ ไหลมารวมกันอยู่ในสระหรือในทำนบของเรา ไม่ทราบว่าเราจะไปสงสัยว่าน้ำนี้ไหลมาจากที่ไหนๆ บ้าง เพียงแต่มองเห็นน้ำเราก็ชัดว่าเป็นที่น่าดื่มน่าอาบน่าใช้สอย และเป็นน้ำของเราจริงๆ ด้วย เพราะบึงบ่อเหล่านั้นก็เป็นของเรา ทำนบนั้นก็เป็นของเรา น้ำก็กลายเป็นของเราขึ้นมา แม้จะตกมาจากบนฟ้าก็เป็นของเรา เพราะรวมเข้ามาสู่สถานที่ของเรา กลายเป็นเรื่องของเราเสียทั้งหมด ทีนี้ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นับตั้งแต่เราได้เรียนศึกษามาเป็นลำดับๆ จนกระทั่งถึงเราไม่สามารถจะเรียนให้ได้ตามที่ท่านสอนไว้ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ตาม แต่ก็มารวมอยู่ที่จิตใจของเรา เช่นเดียวกับน้ำซึ่งไหลมาจากที่ต่างๆ มารวมอยู่ในทำนบของเราเช่นนั้น จึงหาความสงสัยไม่ได้ในเรื่องของมรรคผลนิพพาน ในเรื่องเหตุเรื่องผลดีชั่ว ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ทุกแง่ทุกมุม ทั้งแก่สัตว์แก่บุคคล ไม่มีอันใดจะสงสัย เนื่องจากธรรมะทั้งหมดนั้นได้กลายมาเป็นสมบัติของเราอย่างเต็มที่แล้ว นั่นแลที่สาวกทั้งหลายไม่ได้สงสัยพระพุทธเจ้า ประหนึ่งว่าได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลาก็เพราะเหตุนี้แล

ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต ก็เห็นอย่างนี้ เราเริ่มเห็นมาตั้งแต่เบื้องต้น เราเริ่มปฏิบัติเบื้องต้นก็ชื่อว่า เราเริ่มจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ามาทุกก้าวๆ เป็นลำดับ นับตั้งแต่การให้ทาน ให้ทานมากทานน้อย เป็นการตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาทุกระยะๆ รักษาศีล จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือศีลข้อใด เป็นการก้าวเข้าไปเพื่อจะเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้มีศีลอันสมบูรณ์ เป็นการก้าวเข้าไปเพื่อจะเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้มีทานอันสมบูรณ์ เราเจริญภาวนาจะบทใดบาทใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่จะก้าวเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาท ซึ่งเป็นผู้มีธรรมทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ทั้งวิมุตติอย่างสมบูรณ์ เราก็ก้าวเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกระยะๆ

เริ่มตั้งแต่บริกรรม เริ่มตั้งแต่ภาวนาทีแรก จะเป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ตาม ก็คือองค์ของพระพุทธเจ้าเป็นลำดับไป กำหนดลมหายใจก็เช่นเดียวกับลมหายใจของพระพุทธเจ้า กำหนดอาการไหนๆ ก็เป็นอาการเช่นเดียวกับอาการของพระพุทธเจ้า เรารู้ธรรมแง่ไหนก็เหมือนกับรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า หรือรู้พระพุทธเจ้าเป็นแง่ๆ ไป เพราะอาการของพระพุทธเจ้านั้นก็คือเรื่องของธรรมทั้งหลายนี้เอง เมื่อเราเห็นสภาวธรรมด้วยอำนาจของปัญญา ก็ชื่อว่าเราได้เห็นพระพุทธเจ้า เราได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกระยะๆ ใกล้เข้าไปทุกทีๆ

จิตเป็นสมาธิ พระพุทธเจ้าก็เคยเป็นสมาธิมาแล้ว นี่เห็นร่องเห็นรอยเห็นพระพุทธเจ้าเข้าไปเป็นชั้นๆ จิตเป็นปัญญา จิตมีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ ถอดถอนกิเลสไปได้เป็นลำดับๆ ก็ชื่อว่าได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นลำดับๆ ไป เพราะความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นไปตั้งแต่เบื้องต้น ที่ว่าสร้างพระโพธิญาณมามากน้อย ล้วนแล้วตั้งแต่เรื่องของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น คือเรื่องจะให้เป็นพระพุทธเจ้า เราก็ชื่อว่าได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นลำดับๆ เมื่อถึงขั้นสุดท้ายได้แก่ถึงวิมุตติพระนิพพาน ซึ่งเราก็ได้ยินแต่ชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่อินเดียหรือที่ไหนๆ แต่เมื่อย่นเข้ามาถึงหลักความจริงแล้ว คือตรัสรู้อริยสัจ ๔

อริยสัจ ๔ ที่ท่านกล่าวไว้ในตำรับตำราก็ดี ที่ท่านได้ตรัสรู้ก็ดี ของท่านกับของเรานี้เป็นอริยสัจ ๔ ประเภทเดียวกัน คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเดียวกัน ความบริสุทธิ์จึงเป็นเช่นเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ไม่มีความแปลกต่างกันที่ตรงไหน ดังนั้นสาวกทั้งหลายจึงไม่ได้สงสัยพระพุทธเจ้า อยู่ในสถานที่ใดๆ ก็เช่นเดียวกับได้เฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา นี่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ จะอยู่นอกวัดอยู่ในวัด พระพุทธเจ้าจะนิพพานแล้วก็ตาม ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม บรรดาผู้ที่ท่านบรรลุถึงธรรมอันสมบูรณ์แล้ว ก็ชื่อว่าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลาฉะนั้น

ไม่ว่าพระพุทธเจ้านิพพานแล้วจะไม่ได้เข้าเฝ้า ความบริสุทธิ์นั้นแลเป็นพุทธะที่แท้จริง อาการทั้งหลายเหล่านั้นเป็นอาการของพระพุทธเจ้าต่างหาก ไม่ใช่เป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงเหมือนความบริสุทธิ์ เราที่ได้ก้าวเข้าสู่ความบริสุทธิ์ในขั้นนั้นแล้ว จึงชื่อว่าอยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา แล้วเราจะสงสัยพระพุทธเจ้าที่ตรงไหน พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็คือผู้บริสุทธิ์ นิพพานแล้วจะมีความเศร้าหมองมาจากไหน จึงไม่ได้สงสัยทั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่และนิพพานไปแล้ว และนิพพานไปแล้วไปอยู่ที่ไหนก็ไม่สงสัย เพราะเราไม่สงสัยในความบริสุทธิ์ของเรา ว่าในขณะนี้ความบริสุทธิ์ของเราอยู่ที่ไหน และเวลาตายไปแล้วความบริสุทธิ์ของเราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีความสงสัยทั้งขณะที่อยู่ ทั้งขณะที่ดับไป และดับไปแล้วไปอยู่ที่ไหนก็ไม่สงสัย

เพราะความบริสุทธิ์อันนี้ไม่มีสอง ปัจจุบันนี้เป็นอย่างหนึ่ง อนาคตเป็นอย่างหนึ่ง หามิได้ ปัจจุบันเป็นฉันใด อนาคตก็คือเรื่องของปัจจุบัน ดังนั้นสาวกกับพระพุทธเจ้าจึงไม่มีข้อข้องใจซึ่งกันและกัน นอกจากพวกเราที่ยังไม่เข้าใจตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะยังไม่ใช่สมบัติของตนที่แท้จริง ท่านกล่าวถึงเรื่องวิมุตติเรื่องพระนิพพาน เราก็ได้แต่ชื่อยังไม่เห็นตัวจริงของวิมุตติพระนิพพานภายในใจของตน จึงเป็นเหตุให้สงสัยพระพุทธเจ้าหรือมรรคผลนิพพานตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เราก็เรียนเรื่องมรรคผลนิพพาน จึงเรียกว่าธรรมะเหล่านี้เป็นธรรมะที่หยิบยืมมา ยังไม่ใช่เป็นของจริงสำหรับเราแท้

หากเป็นของจริงตามที่เรียนมาภายในใจของเราจริงๆ แล้ว พอกล่าวถึงเรื่องกิเลสเราก็รู้เรื่องกิเลส กล่าวถึงเรื่องการแก้กิเลสเราก็เป็นผู้แก้กิเลส กล่าวถึงเรื่องความบริสุทธิ์เราก็เป็นผู้บริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน แต่นี้ยังไม่เป็นเช่นนั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมะที่หยิบยืมท่านมาค้าเพื่อหาผลกำไร แต่ถ้าผู้ไม่ฉลาดรอบคอบ ไม่อาศัยความขยันหมั่นเพียร ก็จะเกิดบาปเกิดกรรมเพราะเรียนธรรมะพระพุทธเจ้ามาก็มีจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าท่านและเรา เพราะความประมาทมีทั้งท่านและเรา สำคัญแต่ว่าใครประมาทเท่านั้น ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามร่องตามรอย หรือฝ่าฝืนหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า นั่นท่านก็เรียกว่าเป็นบาป เป็นบาปก็ผู้ที่ฝ่าฝืนนั้นเอง ผู้ทุกข์ก็คือผู้นั้น

ถ้าผู้ที่พยายามวิ่งเต้นขวนขวาย มีความเคารพในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า แม้เราจะยังไม่ได้สำเร็จผลประโยชน์อันใดก็ตาม อย่างไรต้องเป็นไปเพื่อความสำเร็จเป็นขั้นๆ ขึ้นไปในบรรดาธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น จนถึงขั้นธรรมอันสมบูรณ์ ดังนั้นเราทั้งหลายจึงควรพยายามรักษามรดกที่ท่านมอบให้ไว้ เพื่อค้าหากำไรแก่ตนเอง อย่าได้นำธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาล่มจมฉิบหายป่นปี้ไปเฉยๆ ทั้งตนก็ไม่ได้รับประโยชน์ ทั้งที่ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของมีคุณค่า ก็กลายเป็นโมฆะไปเสียในบุคคลผู้นั้น ธรรมะเป็นของมีคุณค่า ผู้ศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติตามธรรมะนั้นก็เป็นผู้มีคุณค่า ผลที่สำเร็จขึ้นมาก็กลายเป็นสมบัติที่มีคุณค่าขึ้นเป็นชั้นๆ จนถึงขั้นที่หาค่าหาราคาเทียบไม่ได้ นั่นเป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง

ธรรมะที่กล่าวทั้งหมดนี้ จะไม่นอกจากเราทั้งหลายผู้ได้ยินได้ฟังและมีความรู้สึกกันอยู่ ณ บัดนี้ ใจเป็นหลักสำคัญที่จะรับทราบเรื่องราวทั้งปวง กาย วาจา เป็นบริษัทบริวาร จะต้องตามนายคือใจนั้น ที่มีความมุ่งประสงค์อย่างไร จะทำอย่างไร จะพูดอย่างไร ความเคลื่อนไหวของกาย วาจา จะต้องเป็นไปตามส่วนใหญ่คือใจซึ่งเป็นตัวประธาน ดังนั้นจงพยายามดัดแปลงจิตใจของตนให้เป็นผู้นำที่ดี กายจะเป็นไปเพื่อความเรียบร้อย ได้แก่ความประพฤติ วาจาก็จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสุภาพ เพราะใจมีธรรมภายในใจ และสมบัติทั้งหลายที่ท่านกล่าวไว้ทุกบททุกบาท ก็จะมารวมอยู่ที่หัวใจที่ดัดแปลงตนด้วยดีแล้วนี้แล

สมบัติอันนี้ไม่ได้ตกหล่นเสียหายไปไหน เมื่อได้เข้ามาถึงใจของเราอย่างเต็มภูมิแล้ว อยู่ที่ไหนก็จะทรงไว้ซึ่งสมบัติอันมีค่าหาประมาณไม่ได้นี้ตลอดเวลา นี้แลท่านเรียกว่า อกาลิโก ธรรมะที่เป็นผลอันสมบูรณ์นี้เป็น อกาลิโก ประเภทหนึ่ง ไม่มีกาลไม่มีเวลา สิ่งทั้งหลายมีกาลมีเวลาเป็นทางเดิน สภาวะทั้งหลายเดินตามกาลตามเวลา ถึงกาลจะแตกสลาย ถึงกาลจะเจริญก็เจริญขึ้นเสื่อมไปตามกาลตามสมัย แต่เรื่องของธรรมที่มีความบริสุทธิ์เต็มที่แล้วนั้นเป็น อกาลิโก ไม่เป็นไปตามกาลเวลา เพราะว่ากาลเวลาทั้งหลายเป็นเรื่องของสมมุติ ธรรมชาตินั้นได้พ้นจากสมมุติทั้งหลายเหล่านี้แล้ว จึงไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะทั้งหลายที่เป็นไปอยู่ตลอดกัปตลอดกัลป์

คืนนี้เป็นคืนสุดท้าย ที่ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์สละทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของมีคุณค่า ไม่เห็นแก่ความลำบากยากเย็น ไม่เห็นแก่ความหมดความสิ้นความเปลืองอันใด ไม่เห็นแก่ชีวิตจิตใจความยากความลำบาก ทุกๆ สิ่งได้สละมา แม้การงานที่เป็นของมีคุณค่าทั้งหลายก็ได้สละมาโดยไม่มีความอาลัย มุ่งหน้ามาเพื่ออบรมธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และได้ปฏิบัติเต็มตามหน้าที่ของตนตามเวลาที่ได้สละมา จึงขอขอบคุณและอนุโมทนาบรรดาท่านทั้งหลายที่เต็มไปด้วยศรัทธาอันแกล้วกล้า และขอภาคภูมิใจด้วยเป็นอย่างยิ่ง

หากว่าโลกเราได้เป็นผู้มีความสนใจมีจำนวนมาก เหมือนอย่างท่านทั้งหลายนี้แล้ว โลกนี้ก็จะเป็นโลกที่มีความเจริญรุ่งเรืองและสงบร่มเย็น กุลบุตรสุดท้ายภายหลังที่จะดำเนินตามถือเอาเยี่ยงอย่าง ก็จะได้แบบพิมพ์อันดี คติที่เป็นประโยชน์นำไปใช้ ประเทศชาติบ้านเมืองของเราก็จะมีความเจริญรุ่งเรือง เพราะความเจริญรุ่งเรืองนั้น จะเกิดขึ้นจากผู้มีความขยันหมั่นเพียร และมีหลักธรรมเป็นเครื่องรักษาจิตใจ ไม่เลยเถิด ทำอะไรพูดอะไรเป็นไปด้วยอรรถด้วยธรรม เป็นไปด้วยเหตุด้วยผล แล้วโลกของเราก็นับวันจะเจริญรุ่งเรืองไปเป็นลำดับๆ เพราะคนดีมีจำนวนมาก กุลบุตรสุดท้ายภายหลังก็ได้สืบทอดคุณงามความดีนี้ไว้เป็นลำดับๆ เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก็เป็นผู้ใหญ่ที่ดี แม้ในภาวะที่เป็นเด็กอยู่ก็เป็นเด็กที่ดี เพราะได้รับการอบรมศึกษาจากแบบพิมพ์คือผู้ใหญ่ด้วยดี จึงขอขอบคุณและอนุโมทนากุศลเจตนาที่ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์มาทุกๆ ครั้งที่มาอยู่ในวัดป่าบ้านตาดนี้ และที่ได้บำเพ็ญอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ก็ดี

ในอวสานนี้ขอบุญญานุภาพขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงมาคุ้มครองรักษาท่านทั้งหลาย ให้มีความสะดวกกายสบายใจ และประพฤติปฏิบัติตนด้วยความราบรื่น จนถึงจุดที่มุ่งหวังโดยทั่วหน้ากันเทอญ

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก