ภาวนาเมื่อทำไม่หยุดแล้วมีช่องจนได้
วันที่ 31 ตุลาคม 2546 เวลา 8:30 น. ความยาว 46.49 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)   วิดีโอแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖

ภาวนาเมื่อทำไม่หยุดแล้วมีช่องจนได้

 

         ดอลลาร์เรากับเมืองไทยเป็นยังไงเดี๋ยวนี้ (๓๙ บาทกว่าๆ ครับ ๗๐ บ้าง ๘๐ บ้าง) นับว่าเงินไทยเราแข็ง ๓๙ บาท ๗๐ หรือ ๘๐ สตางค์บ้าง (เมื่อวาน ๙๙ ,๙๘) ก็ยังเรียกว่าแข็ง (ถ้าเทียบกับเอเชีย เงินบาทเราแข็งมากเลยค่ะ) ที่ ๕๖ บาทต่อดอลล์ แหม สดๆ ร้อนๆ เราเลยไม่ลืม คำว่าไม่ลืมคือมันทั้งเจ็บทั้งแสบทั้งเข็ด ว่างั้นเถอะพูดง่ายๆ อย่าให้ได้ยินเราว่างั้นนะ ๕๖ บวกกับติดหนี้ติดสินเขาเข้าไปแล้ว ร้องโก้กเลยเรา เลยไม่ลืมนะ ฝังลึกมาก ถามอะไรๆ ช่องออกไม่มี มีแต่ช่องจะจมๆ มันยังไงกัน ตั้งหน้ามาสร้างความล่มจมหรือเมืองไทยเรานี่น่ะ ลงถึงขนาดนั้นนะ ไม่ได้ตั้งหน้าที่จะฟื้นจะฟูอะไรบ้างเหรอ มันลด ๕๐ สตางค์มาแล้วนี่ เมืองไทยไม่ได้ครึ่งบาทนี่นะ คือ ๕๐ สตางค์มันยังพอดีใช่ไหม นี่เขากินเข้าไปตั้ง ๕๖ มันจะไม่ร้องโก้กได้ยังไง

ถ้าว่าหนี้สินก็มาทุกช่องทุกทาง เราให้เขาไปค้นดูบัญชีใหญ่ ติดหนี้ติดสินเขาเท่าไรๆ ไปค้นเอามาให้ทราบชัดเจน ก่อนที่จะออกนะ คือออกช่วยชาติ เหมือนว่าจะไม่มีทางออกเลยนะ ถ้าภาษาโลกก็เรียกว่าอ่อนใจสุดยอด เหมือนหนึ่งว่าหมดกำลังใจไม่มีทางออกได้แล้ว มันเลยสดๆ ร้อนๆ นะ ดอลลาร์ก็เหยียบเข้ามาๆ จนกระทั่งเงินเราถึง ๕๖ บาท แล้วหนี้ทางโน้นทางนี้ก็มา จนเรียกว่าหาทางจะออกแทบไม่เห็นละ เวลานี้ขึ้นแล้วนี่นะ หายใจโล่งแล้ว หายใจโล่งโดยลำดับแล้ว ตั้งแต่นั้นแล้วย่นลงมาๆ จนถึง ๔๐ นานเหมือนกันนะ พอลดจาก ๕๖ ลงมาก็มาอยู่ ๔๐ นาน เดี๋ยวนี้ ๓๙ ก็เรียกว่าแข็งแล้ว

เล่นกับโลกก็เป็นอย่างนั้นแล้ว มันสงบเมื่อไรโลก เพียงพูดเท่านี้ก็ดีดขึ้นดีดลงให้เป็นบ้ากันทั่วโลก เข้าใจไหมล่ะ เพียงทองคำกับเงินบาทหรือดอลลาร์อะไรก็แล้วแต่นะ มันขึ้นมันลงของมันนี้ก็เป็นบ้ากันทั่วโลก เห็นไหมล่ะ มันตายใจได้เมื่อไร ไว้ใจไม่ได้ ดีดขึ้นดีดลงอยู่อย่างนั้นตลอด เทียบกับธรรมแล้วจึงต่างกันมากทีเดียว ธรรมไม่ได้วอกแวกอย่างนั้น เชื่อง..ธรรม

ที่จิตเราเสื่อมก็เพราะเราไม่รู้จักวิธีรักษา เพราะเราไม่เคยเป็น ที่ว่าจิตเสื่อมอยู่ตั้งปีหนึ่งกับเท่าไร ตั้งแต่เดือนพฤศจิกาปีนี้ ฟาดถึงเดือนเมษาปีหน้า เป็นกี่เดือน ดูเหมือนปีกับ ๕ เดือน อันนี้คือเราไม่รู้จักวิธีรักษา จะตำหนิอะไรก็ไม่ได้ ต้องตำหนิเรา คือเรามันเป็นขึ้นมาแล้วไม่รู้วิธีรักษานั่นซี มารู้ตัวเพียงเข้าได้บ้างไม่ได้บ้างเท่านั้นแหละ รู้ตัวแล้วก็ดีดเลยทันที มันก็ลงเสียจนสุดขีด เหลือแต่อีตาบัวเท่านั้นแหละ ดูเหมือนปีกับ ๕ เดือน เลยไม่ลืม อันนี้ก็เข็ดเหมือนกัน ไม่ลืมเหมือนกัน อย่างนั้นละหัวใจเราไม่ค่อยเหมือนหัวใจใครนะ ถ้าลงได้ฝังอะไรแล้วฝังจริงๆ

อย่างที่ ๕๖ บาทนี้ก็ร้องโก้กเลย ฝังทีเดียวเลย เป็นสดๆ ร้อนๆ ทำให้เข็ดตลอดเวลา เป็นสดๆ ร้อนๆ ที่จิตมันเสื่อมนี้เหมือนกัน หาวิธีใดก็มีแต่เจริญแล้วเสื่อมๆ มันหมดทางจะไปแล้วก็จึงหันเข้ามาถึงเรื่องคำบริกรรม เราไม่ได้บริกรรม มีแต่ตั้งสติจ่อดูจิตมันเคลื่อนไหวไปไหน อาจเผลอได้แหละมันถึงได้เสื่อม ทีนี้จะมัดมันด้วยสติ ไม่ให้เผลอ เอาจุดนี้แทน ว่างั้นนะ ลงในจุดนี้เลย มันสดๆ ร้อนๆ ถึงได้เอามาพูดอยู่เรื่อยๆ เพราะลงใจแล้วว่าเราไม่มีคำบริกรรม ทีนี้จะเอาคำบริกรรมกับสติจ่ออยู่กับใจไม่ยอมให้มันคิดไปไหนเลย เรียกว่าไม่ให้คิดอะไรทั้งนั้น ให้อยู่กับนี้ เป็นกับตายก็อยู่ที่นี่ เอากัน ลงใจแล้ว ไม่มีทางไปแล้ว ตัดสินใจลงจุดคำว่าบริกรรมกับสติ ทีนี้จะให้ติดแนบกันตลอดจะไม่ยอมให้เผลอเลย จนกว่าเหตุการณ์อะไรที่ควรจะเผลอของมัน มีเหตุการณ์ไม่มีทางตำหนิตนได้โน้นแหละ ในระยะนี้จะเอาแบบนั้นทีเดียว แบบจับติดเลย

พอลงใจปั๊บแล้วก็ มันเหมือนกับ เทียบใจของเรามันเป็นอย่างนั้นนะ เทียบเหมือนกับว่าคอยสัญญาณกันระหว่างคู่ต่อสู้จะต่อยกัน พอระฆังดังเป๋งนี้ก็ฟัดกันเลย นี่พอว่าเอานะก็เหมือนระฆังดังเป๋ง สติกับจิตกับคำบริกรรมติดแนบจากนู้นเผลอไปไม่ได้เลย เป็นกับตายก็อยู่นี้ ทั้งวันทั้งคืนไม่ให้เผลอเลยจริงๆ  เอาขนาดนั้นนะ ไม่ยอมให้เผลอเลยเทียว นี่ทุกข์มากนะตอนที่บังคับ คืออารมณ์ของกิเลสมันผลักดันขึ้นให้คิดให้ปรุง นี่คือกิเลสเข้าใจไหม ที่มันคิดเรื่องนั้นปรุงเรื่องนี้ เป็นทางออกของกิเลสไปกว้านเอาไฟมาเผาเรา ทีนี้พอสติกับคำบริกรรมปิดกึ๊กไม่ยอมให้ออก มันเคยออกไม่ยอมให้ออก มันก็ซัดเรานั่นซิ จะเป็นจะตายจริงๆ ไม่ใช่เล่นนะ

แต่ทางนี้ไม่มีถอย ให้มันตายด้วยกันกับคำบริกรรมกับสตินี้เท่านั้น เป็นอื่นไปไม่ได้ พอระฆังดังเป๋งก็ซัดกันเลย ตั้งแต่ขณะนั้นฟาดทั้งวัน เผลอไปไหนจุดไหนไม่มี ติดกันตลอดเลย ขนาดนั้นละ จึงว่าเอาจริงเอาจังยังบอกแล้ว ไม่ยอมให้เผลอเลยเทียว เวลาจะนอนก็หลับกับคำบริกรรม พอตื่นขึ้นพับจับปุ๊บเลย เรื่อย วันแรกนี้ แหม แทบเป็นแทบตาย แต่มันไม่เคยสนใจกับความเป็นความตายยิ่งกว่าสติกับคำบริกรรมนี้จะเผลอไม่ได้ว่างั้นเถอะ วันแรกเต็มเหนี่ยว

คือจิตที่มันคิดมันปรุงนี้ นี่ละเรื่องกิเลสเข้าใจเสียถ้าไม่ทราบว่ากิเลส คือมันอยากคิดอยากปรุง เปิดทางให้มันมันก็คิดทั้งวัน มันก็กว้านเอาเรื่องราวเข้ามาเผาเจ้าของทั้งวันๆ ไม่มีธรรมเข้าคัดค้านต้านทานกันบ้างเลย มันก็สนุกสนานคิดปรุง ขนฟืนขนไฟมาเผาเรา เราจะทราบได้อย่างชัดเจนก็คือ เวลาสติกับคำบริกรรมปิดช่องที่มันจะคิดปรุงนะ ให้คิดกับพุทโธ ไม่ให้คิดไปอะไรเลย เปิดทางให้กับ พุทโธ อย่างเดียว ไม่เปิดทางให้ทางกิเลสว่างั้นเถอะ บริกรรมพุทโธๆ เอาคิดปรุง ปรุงกับพุทโธไม่ให้ปรุงกับเรื่องอะไรเลย สติจ่อ โอ๊ย ทุกข์มากนะ มันก็สบจังหวะ เป็นเวลาที่พ่อแม่ครูจารย์มั่นไปเผาศพพ่อแม่ครูจารย์เสาร์ ให้เราอยู่คนเดียว เลยพอดีกันเลยนะคนเดียว ทั้งวันไม่มีเผลอเลย วันไหนก็เอาอยู่อย่างนั้นไม่ยอมให้เผลอเลย

วันแรกสองวันนี้หนักมาก เพราะดันไว้ไม่ให้มันออก ให้ออกแต่พุทโธๆ อย่างเดียว นี่ละกิเลสเวลามันออกไม่ได้มันไม่สร้างทุกข์ให้เรา คำบริกรรมนี้เป็นสังขาร เป็นความคิดเหมือนกันก็ตาม  เป็นความคิดของทางธรรมก็เปิดทางให้ธรรมเดิน ปิดทางกิเลสไม่ให้เดิน เปิดทางของธรรม พุทโธๆ เป็นคำบริกรรมเป็นความคิดความปรุง แต่เป็นความปรุงของธรรมล้วนๆ กับสติคุมงานอยู่ตลอด หนักเบาขนาดไหนไม่สนใจ ไม่ให้เผลอเท่านั้น มีอย่างเดียว

โห เหมือนตกนรกทั้งเป็นนะ แต่สำคัญมันไม่มีถอยกันเลย จะเป็นยังไงก็ไม่มีคำว่าเผลอว่างั้นเถอะนะ เป็นกับตายก็ให้ไปด้วยกันเลย วันแรกนี้หนักมากที่สุด วันสองจะมีเบานิดหน่อย พอวันสามวันสี่ไปแล้ว รู้คุณค่าแล้วนะที่นี่ รู้คุณค่าแล้ว ความผลักความดันไม่รุนแรงแต่ความสงบของใจทั้งๆ ที่บริกรรมนั่นแหละ มันสงบมันเย็นอยู่ภายในขึ้นมาๆ เรื่อยๆ นี่ก็ยิ่งแน่ คำว่าเสื่อมว่าเจริญนี้ไม่เอามาคิด คือมันเคยเสื่อมมาเสียจนพอ บังคับเท่าไรไม่ให้มันเสื่อม มันก็เสื่อมอยู่ต่อหน้าต่อตา ทั้งๆ ที่เสียใจเต็มที่ไม่อยากให้เสื่อมมันก็เสื่อม คราวนี้พอได้คำบริกรรมแล้วปล่อยหมด เอ้า จะเสื่อมก็ให้เสื่อมไป เจริญก็ให้เจริญไป ไม่สนใจกับทั้งสองยิ่งกว่าไม่ให้เผลอสติ เอาอันนี้แหละ

นี่ละฟังให้ชัดนะพี่น้องทั้งหลาย กิเลสกับธรรมรบกันดังที่ว่านี่ ทีแรกมีแต่ทางของกิเลสออกเรื่อย มันสร้างกองทุกข์ให้เรา จิตเจริญแล้วเสื่อม ทั้งที่มีสติบังคับอยู่ก็สู้มันไม่ได้ เผลอไปจนได้ จนทำจิตให้เสื่อม จึงบังคับกันไม่ให้ออกเลยเทียว จากนั้นแล้วจิตค่อยดีขึ้นๆ  พอคำบริกรรมได้ที่ของมันแล้ว คำบริกรรมพุทโธๆ นี้ละเอียดเข้าไปๆ จนกระทั่งคำบริกรรมพุทโธนี้กลมกลืนเป็นอันเดียวกันกับความรู้คือใจ ทีนี้บริกรรมพุทโธไม่มีเลย อ้าว ทำไมเป็นอย่างนี้ที่นี่ ก็มันไม่เคยเป็น แต่ก่อนเราก็บริกรรมมาละเอียดลออแล้ว เราไม่มีคำว่าเผลอที่ตรงไหน แล้วมันหมดไปได้ยังไง คำบริกรรมพุทโธไม่มีเลย นึกยังไงก็ไม่ออก หายเงียบเลย มีแต่ความรู้ละเอียด นึกพุทโธยังไงก็ไม่ออก รู้ชัดว่าไม่ออกไม่มี อ้าว ทำไงนี่

จิตเราก็ไม่ได้เผลอ ตลอดไปถึงจนไม่มีคำบริกรรมเลย ก็ไม่เคยเผลอ มันเป็นยังไงนะ มางงนั้นนิดหนึ่ง เอา มันไม่มีก็ไม่ต้องเอา ให้สติอยู่กับความรู้ที่เด่นๆ อยู่นี้ บริกรรมไม่ได้แต่ความรู้มีอยู่นี้ละเอียด ให้สติจ่ออยู่ตรงนั้น คือให้สติควบคุมความรู้นั้นแทนคำบริกรรม เพราะคำบริกรรมไม่มีแล้ว หายไป บังคับอยู่นั้นแหละ เอา เป็นยังไงดู ทีนี้พอได้จังหวะแล้วมันก็เหมือนคนตื่นนอน พอมันคลี่คลายออกมา เรียกว่าตื่นนอน พอจิตคลี่คลายออกมาจากความสงบที่ละเอียดนั้นแล้ว คิดพุทโธ ปรุงพุทโธได้ พอได้ก็เอาพุทโธเข้าแทนเลยที่นี่ เอาไปอีกอย่างนั้น จนกระทั่งมันละเอียดเต็มที่มันแล้วมันก็หมด ทีนี้เราก็รู้วิธีแหละ เอา หมดก็หมด แต่สติจะให้อยู่กับความรู้แทนคำบริกรรม เอาอย่างนั้นเรื่อยมา ต่อไปมันก็กว้างขวางขึ้นมา ความแน่นหนามั่นคงของใจค่อยเริ่มขึ้นๆ

ที่นี่ความดีดความดิ้น กิเลสตัวที่มันฟัดมันเหวี่ยงเรานั้นเบาไปๆ มีแต่ความสงบเด่นขึ้นๆ เด่นขึ้นมากๆ แล้วก็ไปถึงขั้นที่ว่า มันเจริญอยู่ได้เพียงสองสามคืน อยู่ตรงนั้น พอจากนั้นแล้วก็เสื่อมลงอย่างห้ามอะไรไม่ได้เลย ลงสุดขีด ยังเหลือแต่อีตาบัวกับความเสียอกเสียใจ แล้วตั้งขึ้นใหม่อีกไปขึ้นถึงแค่นั้นก็ลงอีก ทีนี้เวลาคราวนี้มันไปถึงนั้นแล้วไม่กังวล เอ้า เสื่อมไป มันเคยเสื่อมตรงนี้แหละ อยากเสื่อมก็เสื่อมไป เจริญก็เจริญไป จะไม่เป็นอารมณ์ยิ่งกว่าไม่ให้จิตเผลอจากคำบริกรรม ถึงนั้นแล้วก็อยู่กับคำบริกรรม เอ้า จะเสื่อมก็เสื่อมไป เจริญก็เจริญไป สุดท้ายไม่เสื่อม พออยู่นั้นแล้วอยู่ เอ้า จะเสื่อมก็เสื่อม เราทอดอาลัยตายอยากหมดแล้ว แต่คำบริกรรมนี้ไม่ให้เสื่อม ต่อไปก็แน่นหนามั่นคงขึ้น ถึงขั้นที่ควรจะเสื่อมไม่เสื่อม แล้วก็แน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้นๆ เรื่อย

แต่ก่อนพอถึงนั่นแล้ว ๓ คืนเสื่อม ๆ ที่นี่คราวนี้ไม่เสื่อม ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจับได้ชัดเจนว่า อ๋อ ที่จิตของเราเสื่อมเพราะขาดคำบริกรรมแน่นอน ทีนี้เมื่อมีคำบริกรรมติดแนบ สติติดแนบอยู่ตลอดเวลาแล้วจึงไม่เสื่อม จับอันนี้ไว้อีกแหละ เอากันเรื่อย จนกระทั่งจิตนี้เด่นดวงเลยที่นี่ นี่มันก็รู้ของมันเอง พอจิตเด่นดวง ความรู้นี้เด่นๆ ฐานของความรู้ที่เป็นความแน่นหนามั่นคงอยู่ภายในจิตนี้ก็เด่น ทีนี้จะบริกรรมหรือไม่บริกรรมมันก็เด่นอยู่นั้นเอง ทีนี้เอาสติจับ นี่มันเปลี่ยนของมันอย่างนี้ คำบริกรรมมันเปลี่ยนของมันอย่างนี้เอง จะบริกรรมหรือไม่บริกรรมความรู้นี้ก็เด่นอยู่นี้ ทีนี้เอาสติจับกับจิตที่เด่น รู้ๆ เด่นๆ นี้ไว้เลย แทนคำบริกรรม มันก็ขึ้นของมันอีกนะ ถูกต้อง

นี่เราพูดถึงเรื่องการฝึกหัดจิต คือความผลักดันอยากคิดอยากปรุง เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล ปิดช่องนั้นแล้วเปิดช่องพุทโธ คำบริกรรมของธรรม เป็นช่องของพุทโธออกเดิน ช่องของกิเลสออกเดินปิดไว้ ให้ออกเดินแต่ช่องของธรรมคือพุทโธๆ ทีนี้เวลาออกทางช่องของธรรมไม่เสื่อมละซี สั่งสมกำลังได้ๆ จนกระทั่งจิตแน่นปึ๋งเลยเทียว เป็นแบบเก่าที่เคยเป็นมา ที่มันเสื่อมคราวก่อนนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นก็ไม่ได้ไว้ใจมัน มันเคยดัดสันดานเรามาแล้ว จะจ่อมันตลอดเลย จ่อ มันก็แน่นหนามั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ว่า ถ้าจิตของเราเสื่อมคราวนี้เราต้องตาย เป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะเราเข็ดหลาบพอแล้ว มันอาจจะตายทางใดทางหนึ่งก็ได้ นิสัยอันนี้มันเป็นได้

จากนั้นมันก็พุ่งของมันเรื่อยๆ ก้าวเข้าสู่นั่งหามรุ่งหามค่ำละนะ ออกจากนี้แล้วก็เข้าสู่นั่งสมาธิตลอดรุ่งเลย นั่งตั้งแต่หัวค่ำบางวัน ยังไม่มืดนั่งแล้ว จนกระทั่งสว่างเป็นวันใหม่อย่างน้อย มากกว่านั้นตะวันขึ้นแล้วก็มียังไม่ออกจากที่ ๑๒-๑๓ ชั่วโมง นั่งแบบตายตัว มัดไว้เลยไม่ให้พลิกแพลงเปลี่ยนแปลง นั่งท่าไหนต้องท่านั้นตลอด แต่เรานั่งท่าขัดสมาธิตลอด ทุกข์ขนาดไหนมัดกันไว้เลยเทียว นั่นละที่นี่พอจิตก้าวเข้าสู่ เรานั่งหามรุ่งหามค่ำ แล้วก็ไปฟัดกันกับกิเลสตัวสำคัญๆ ด้วยความทุกข์ความทรมานในการนั่งนานนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แทบเป็นแทบตายเหมือนกัน แต่มันไม่ได้ถอยกัน รอบกันตรงนั้นอีก สติปัญญาฟัดกับกิเลสตรงนั้นอีก ทีนี้มันก็พุ่งลง มันจึงเห็นแดนอัศจรรย์ล่ะซี

พอมันพุ่งถึงนี้แล้ว ขึ้นอุทานเลย เอ้าที่นี่ไม่เสื่อม มันถนัดในหัวใจ ทีนี้ไม่เสื่อม ถึงไม่เสื่อมก็ตามจิตอันหนึ่งมันจะไม่ไว้ใจ เพราะมันเข็ด มันเคยเสื่อมมาแล้ว มัดกันอยู่ตลอดเวลา จากนั้นก็นั่งหามรุ่งหามค่ำๆ เอาจนก้นแตกเลอะเลยฟังซิ นั่งทีแรกมันก็ออกร้อน ก้นนี่ออกร้อนเป็นไฟลนเทียวนะ มันยังไม่พองวันแรก พอสองคืนสามคืนเข้า จากออกร้อนมันก็พอง จากพองก็แตก จากแตกก็เลอะเลย เลอะก็เลอะถ้ากิเลสยังไม่แตกกูไม่ถอย นั่นเห็นไหมล่ะ มันเด็ดขนาดนั้นนะ นิสัยของเราจึงว่ายากจะเหมือนใครจริงๆ นะ

เวลามันลงถึงขั้นอัศจรรย์แล้วแหม ทั้งๆ ที่กิเลสยังมีอยู่นะ มันก็แสดงความอัศจรรย์ให้เห็นชัดเจน นั่งหามรุ่งหามค่ำประมาณสัก ๙ คืน ๑๐ คืน แต่ไม่ได้ติดกันนะ เว้นสองคืนบ้าง สามคืนบ้าง เรื่องจะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ตายเท่านั้นถึงจะให้ลุก ถ้าไม่ถึงเวลาลุกตามกำหนดต้องได้เป็นสว่างวันใหม่ขึ้นมาถึงจะลุกได้ ถ้ายังไม่ถึงนั้นจะตายก็ตายเลย แต่จะให้ถอยยอมลุกนี้ไม่มี มันเด็ดขาดขนาดนั้นนะจิต เพราะฉะนั้นปัญญามันถึงใช้เวลาจนตรอกจนมุม มันก็ได้อุบายขึ้นมาแก้ตัวได้ จิตพุ่งลงเลย อัศจรรย์ๆ ได้ทุกคืน ไม่มีคืนไหนว่า วันนี้นั่งตลอดรุ่ง เอาไฟเผาตัวเองไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย จิตรวมไม่ได้ ไม่มีเลย พุ่งลงถึงที่ๆ เป็นแต่เพียงว่าช้ากับเร็ว

ถ้าวันไหนพิจารณาจิต ปัญญามันไม่คล่องตัวพอนี้ จับไม่ค่อยติด ติดแล้วหลุด เหมือนว่าจับติดหลุดมือๆ วันนั้นทรมานมากทุกข์มาก ถ้าวันไหนจับติดๆ ปุ๊บๆ ไม่นานก็ลงผึงเลย วันนั้นนั่งเวลาเท่ากันก็ตาม ถึงเวลาแล้วลุกไปเลย ถ้าหากวันไหนมันบอบช้ำมากๆ เวลาจะลุกก็รู้ตัว วันนี้จะต้องได้จับขาดึงออกแหละ เป็นจริงๆ  เวลาจะลุกมันไม่รู้ตัวนี่ หมดจากเอวลงไปนี้ตายหมดแล้ว มันไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวแล้วมันก็ไม่เจ็บละซิ แต่เวลาลุกล้มตูมเลย ล้มตูมแบบไหนก็แบบนั้น กระดุกกระดิกไม่ได้เลย เมื่อมันเคยแล้วคราวหลังวันไหนบอบช้ำมากๆ วันนี้ต้องได้เตรียมท่า ลองกระดิกดูมันเฉย นั่นเอาแล้ว ต้องจับขาดึงออก นั่งขัดสมาธิจับขาดึงออก ขาทางนั้นดึงออก จับขาทางนี้ดึงออก จับขาเหยียดออกไป มันเหยียดไม่เป็นนะมันตาย ส่วนข้างบนไม่เป็นไร เอามือค้ำพื้นแล้วจับขาดึงออก

แล้วค่อยสังเกตดูเลือดลมมันจะวิ่ง พอเราเหยียดออกไปแล้วเลือดลมมันวิ่ง แล้วมันจะค่อยเริ่มรู้สึกตัวขึ้นมาตามขาเรา เริ่มรู้สึก เรากระดิกดู ถ้ากระดิกดูมันยังเฉยอยู่อย่าลุก ลุกก็ล้มตูม ถ้ากระดิกดูมันกระดิกได้ คู้เข้ามาดูคู้ได้ เอาเหยียดๆ ทดสอบดูจนเป็นที่แน่ใจแล้วลุกได้ ถ้าไม่แน่ใจอย่าลุก ลุกก็ล้มตูมเลย ถึงขนาดนี้แหละฝึกตัวเอง จึงได้เคยเล่าให้พ่อแม่ครูจารย์ พ่อแม่ครูจารย์ว่าคำไหนมันยอมทันทีนะ ทีแรกท่านก็ยุเสียก่อน พอนั่งตลอดรุ่งได้ความอัศจรรย์ขึ้นไปหาท่าน ท่านก็ขึ้นผางเลยเทียว พอเวลาเราไปเล่าให้ท่านฟังด้วยความอัศจรรย์ของตัวเองนี้ ท่านว่า เอ้อ ทีนี้ได้หลักแล้ว เอา ฟาดมันลงไป อัตภาพนี้มันไม่ได้ตายถึง ๕ หนแหละ มันตายหนเดียวเท่านั้น ท่านว่างั้น มันไม่ได้ตายถึง ๕ หน เอามันลงไป ที่นี่ได้หลักแล้ว อย่าถอยมัน

พอว่าเท่านั้นแหละ เรามันก็เหมือนหมาตัวหนึ่งถูกยุนี้ก็ ใบไม้สดใบไม้แห้งมันก็จะเห่าจะกัดตลอด เอากันเสียจนกระทั่งถึงเขตที่จะได้หยุด คือวันไหนขึ้นไปเล่าให้ท่านฟัง ทีแรกท่านก็ชมเชยเต็มเหนี่ยว ต่อมาท่านก็ลดลง ต่อมาท่านฟังอยู่เฉยๆ แต่เราก็มั่นใจความเป็นของเรา นิ่งๆ ท่านจะเอาแล้วนะนั่น เราไม่รู้ พอเล่าให้ท่านฟังท่านนิ่งๆ  ทีนี้บทเวลาท่านจะเอา เราขึ้นไปกราบมับๆ ขึ้นเปรี้ยงเลยนะ เปรี้ยงเลยๆ กิเลสมันไม่ได้อยู่กับกายนะ มันอยู่กับใจนะ คือกิเลสมันอยู่กับใจ มันไม่อยู่กับกาย ความหมายก็ว่าจะทรมานไปอะไรนักหนาร่างกายนั้น เมื่อจิตพอเป็นไปแล้วก็ต้องลดหย่อนผ่อนผันในการฝึกไม่ให้หนักเกินไปอย่างนั้น ถ้าจะพูดอย่างนี้ก็กลัวเราจะอ่อนเปียก ท่านต้องหาอุบายวิธี

พอขึ้นไปท่านก็ขนาบเลย ม้าตัวไหนมันคึกคะนองมากๆ เขาต้องฝึกทรมานอย่างหนัก ท่านขึ้นนี้เลย ท่านบอกว่ากิเลสไม่ได้อยู่ที่กายนะมันอยู่ที่ใจนะ ว่างั้นแล้วก็ ม้าตัวไหนมันคึกคะนองมากๆ เขาต้องฝึกทรมานอย่างหนัก ไม่ควรกินหญ้าไม่ให้กิน ไม่ควรกินน้ำไม่ให้กิน จนกระทั่งการฝึกมันลดพยศลงไปๆ แล้วการฝึกเขาก็ลดลงๆ จนกระทั่งม้าทำงานทำการได้ ฟังเสียงเจ้าของฝึกแล้ว การฝึกแบบนั้นเขาก็ไม่ฝึก ท่านพูดเพียงเท่านั้น เราจับได้หมดเลย เรานี้มันโผนเกินไปดูแล้ว นั่นละตั้งแต่นั้นมาทีนี้ก็ฟัดใหญ่เลย

นี่พูดถึงเรื่องการฝึกใจ อย่างเรานี่มันก็ยากนะ มันเป็นตามนิสัย เรามันนิสัยหยาบ คนอาภัพวาสนา ทำอะไรจะทำธรรมดามันไม่ได้เรื่องนะเรา เดินจงกรมธรรมดา นั่งภาวนาธรรมดามันก็ไม่ค่อยได้เรื่อง ต้องเอาแบบนี้ๆ พอยิบแย็บบ้างนะ นี่ถึงได้เอาอย่างหนักๆ ตลอดมา การฝึกจิตใจเห็นผลประจักษ์ๆ เมื่อเอาจริงจังต่อกัน ตั้งแต่เริ่มตั้งคำบริกรรมเห็นผลประจักษ์เรื่อยมา จนกระทั่งถึงนั่งตลอดรุ่ง หามรุ่งหามค่ำยิ่งเห็นผลอัศจรรย์มันก็ยิ่งขยับใหญ่เลย จนกระทั่งท่านรั้งเอาไว้ กิเลสมันไม่ได้อยู่กับกายนะมันอยู่ที่ใจนะ ใจเมื่อมันดีดดิ้นมาก ๆ ก็เอามันอย่างหนักความหมายว่างั้น

แต่พอมันสงบร่มเย็นพอเป็นหลักเป็นเกณฑ์แล้ว การฝึกก็อย่าให้กายมันทรมานมากเกินไป เพราะกิเลสมันอ่อนตัวลงไปแล้ว ก็ให้ฝึกกันพอดิบพอดีกับกิเลส ความหมายว่างั้น แต่ท่านไม่พูดนะ ท่านบอกเรื่องม้าเท่านั้น เราเข้าใจ เพราะนี้มีอยู่ในบาลีแล้วเราก็เห็นมาแล้วนี่ พอท่านพูดปั๊บมันเข้าใจทันที เลยไม่นั่งตลอดรุ่งนะ ตั้งแต่บัดนั้นมาเราไม่เคยนั่งตลอดรุ่ง นี่แหละลงพ่อแม่ครูจารย์ ถ้าคนอื่นมาห้ามไม่ได้นะ พ่อแม่ครูจารย์ว่าเท่านั้นลง ตั้งแต่บัดนั้นมาเราไม่เคยนั่งตลอดรุ่ง นี่เรียกว่าลงด้วยความลงใจจริง ๆ

ถ้าคนอื่นมาห้ามยังไม่ฟังนะ เฉยเชียวนะ พ่อแม่ครูจารย์มั่นใส่เปรี๊ยะเดียวเท่านั้นแหละพอ ยอมเลย อย่างนั้นแหละมันถึงลงขนาดหนักกับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ไม่มีอะไรเหลือเลย ทุกวันนี้สด ๆ ร้อน ๆ ลงสด ๆ ร้อน ๆ ตลอดเวลา เพราะทุกอุบายมีแต่ออกจากท่านทั้งนั้นท่านสอน ถึงได้รู้เรื่องรู้ราว

เราพูดถึงเรื่องการฝึกจิตใจ มันเป็นไปตามนิสัยวาสนาของแต่ละราย ๆ แต่ถ้าเราจะเอาตามนิสัยวาสนามากอดพันอยู่กับหัวใจเราแล้ว ความอ่อนแอจะเกิดทันทีนะ จึงเอาให้มันสุดเหวี่ยงเถอะน่ะว่างั้นเลย เป็นตามนิสัยวาสนาไม่วาสนา มันก็จะรู้กันเองให้ว่ายังงี้เลยเข้าใจไหม ทำไป โอ๊ย.ตามนิสัยวาสนาเรานั้น ล้มแล้ว นิสัยวาสนาแบบนี้แบบกล่อมให้หลับสนิทนะ ยังไงต้องฟัดกันให้สุดเหวี่ยง แล้วนิสัยวาสนายังไงมันก็รู้เอง เรื่องการฝึกภาวนานี้เป็นความเลิศเลอมากทีเดียวนะ เราจวนตายแล้วยิ่งพูดเน้นหนักในเรื่องจิตตภาวนา อันนี้จะเปิดโล่งได้เลย ค่อยเปิดออกๆ ด้วยการฝึกทรมานจิตใจ หากจะรู้อันใดอันหนึ่งขึ้นมาเมื่อเราทำไม่หยุดแล้วมีช่องจนได้ละ มันจะมีแปลกๆ ถึงจะไม่รู้ไม่เห็นอะไรก็ตามการภาวนามีอานิสงส์มากด้วย นั่น มีอานิสงส์มากกว่าทุกความดีทั้งหลาย ความดีเกิดจากการภาวนามีอานิสงส์มาก ถึงไม่รู้อะไรก็ตาม เวลาเราภาวนาบังคับจิตใจอยู่นั้นมีอานิสงส์มาก

จากนั้นก็จะรู้นั้นรู้นี้ เวลามันรู้ โถ มันคาดไม่ได้นะใจดวงนี้ เวลามันได้เป็นขึ้นมาไม่เคยคิดเคยคาด มันเป็นขึ้นมารู้ขึ้นมาเห็นขึ้นมายอมรับกันขึ้นมา ๆ สนฺทิฏฺฐิโก ๆ รู้เองเห็นเองยอมรับตลอดไปเลย นี่ศาสดาติดอยู่กับหัวใจเลย นั่น ทีนี้มันไม่ได้ออกไปข้างนอกนะศาสดาติดอยู่กับหัวใจ ความรู้ความเห็นเป็นความรู้ความเห็นของศาสดาสอนไว้แล้วๆ รู้ตรงไหนเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว มันจะดื้อไปไหนวะ มันก็ยอม ๆ ทั้งนั้นแหละ ได้ทำมาพอแล้วนะ ฝึกทรมานตนเองคราวนี้ ชาตินี้เรียกว่าเป็นชาติที่เด่นมากที่สุด สุดหัวใจเราในการฝึกทรมานตนเอง แล้วธรรมที่เกิดขึ้นจากการฝึกอย่างหนักก็สุดขีดเหมือนกัน เหตุกับผลหาที่ต้องติกันไม่ได้เลย สมดุล เรียกว่า สมบูรณ์แบบทั้งเหตุที่ทำมา สมบูรณ์แบบทั้งผลที่ได้รับจึงหาที่ต้องติไม่ได้

พิจารณาย้อนหลังถึงความพากเพียรของเรามานี้ แทนที่จะได้ตำหนิตรงนั้นมันอ่อนแอ ตรงนี้มันเหลวไหล ตรงนั้นขี้เกียจขี้คร้าน ตรงนั้นจะถอยไปถอยมา ไม่มีเลย หลังจากได้รับคำเทศน์ของหลวงปู่มั่นแล้ว ฟังมันถึงใจจริง ๆ นั่นละมันจึงไม่ค่อยอ่อนเลย ร่างกายมันจะเป็นจะตาย ไปบิณฑบาตไม่ถึงหมู่บ้านเขา นั่งอยู่กลางทางมันก็ยอมนั่ง มันไปไม่ไหว แต่จิตนี้มันหมุนของมันติ้ว ๆ นั่น มันหนักขนาดนั้นนะ แต่แล้วเวลามาเป็นผลนี้มันเป็นที่พอใจ พอมันถึงขีดของมัน

ตะกี้นี้เราพูดถึงเรื่องว่าโลกหาความแน่นอนไม่ได้ มันดีดมันดิ้นให้ตายใจไม่ได้เลยระเวียงระวังตลอด แต่ธรรมไม่เป็นอย่างนั้นนะ พอถึงขั้นเชื่องแล้วเชื่องเรื่อย ๆ ๆ พุ่งจนสุดขีดแล้วหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง ไม่มีอะไรที่จะมายุแหย่ก่อกวน ว่าเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ๆ ไม่มีในหัวใจ จึงเรียกว่า สิ้นสุดทุกอย่าง ท่านบอก วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ งานที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายก็คืองานฆ่ากิเลส เมื่อกิเลสสิ้นซากไปแล้วไม่ได้ฆ่าอะไร มีแต่บรมสุขเป็นนิพพานเที่ยงไปเลย เท่านั้นละพากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัตินะ

เราอุตส่าห์พยายามสอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย สอนท่านทั้งหลายเราไม่ได้มีสงสัยเลย ไม่ว่าจะธรรมะขั้นใดภูมิใดเราไม่เคยสงสัยว่า สอนออกไปแล้ว เอ๊ นี่ถูกหรือไม่ถูกไม่มี คิดดูอย่างเทศน์นี้จะเทศน์ที่ไหนก็ตามนะ ในสมาคมของโลกอันนี้ว่าอย่างนั้น เราที่จะสงสัยในธรรมของเรา ที่ไปเทศน์สถานที่นั่นที่นี่ ได้ผิดตรงนั้นได้พลาดตรงนี้ ไม่มีเลย ออกไปสมบูรณ์แบบ ๆ ไม่ว่าธรรมะขั้นใด ขั้นนี้ก็สมบูรณ์ตามขั้นนี้ ๆ ขั้นนี้สมบูรณ์ตามขั้นนี้ ฟาดถึงวิมุตติหลุดพ้นสมบูรณ์แบบไปตลอด เพราะฉะนั้นเวลาเทศน์ไปแล้วจึงไม่จำเป็นจะต้องมาแก้มาทบมาทวน จะแก้นั้นเพิ่มนี้ตัดออก ไม่มีเราพูดจริงๆ มันพอดีแล้วๆ ตั้งแต่ออกจากนี้ไป เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้มีการแก้ไขดัดแปลงไม่มีเลย ทุกวันก็อย่างนี้แหละ อ่านก็ฟังไป ที่จะให้ได้ไปแก้อันนี้ผิดไม่มี หรือไปเติมเข้าอันนี้บกพร่องไม่มี มันพอดีของมันทุกระยะ ๆ ไปเลย

นี่ละการสอนโลกเราก็สอนด้วยความแน่ใจทุกอย่าง แต่โลกผู้ฟังเป็นยังไงบ้างพอที่จะได้ความแน่ใจจากตน จากการฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์แล้วไปปฏิบัติตนให้ได้ผลเท่าที่ควรบ้างอย่างนี้มีไหม ควรเอาไปคิดไปอ่านนะ ถ้าไม่คิดเลยมีแต่ฟังสนุกฟังสบายเลย ไปแล้วก็ปล่อยตัว ๆ อย่างนี้ใช้ไม่ได้นะ เอาละ เท่านั้นละที่นี่ให้พร วันนี้ก็ดูเหมือนจะนานพอสมควร

เมื่อวานนี้ก็ทองคำได้ ๕ บาท ๒๒ สตางค์ พอดีตอนบ่ายเมื่อวานนี้ท่านเพียรก็เอามา ๑ กิโล ๒๒ บาท มาบวกกันแล้วก็เท่ากับ ๑ กิโล กับ ๒๗ บาทเมื่อวาน หือ เอาอะไรมาให้

โยม ทอง ๑๐ บาทค่ะหลวงตา

หลวงตา พอใจ ๆ โอ้ ได้ทอง ๑๐ บาท

โยม มีปัญหาทางเว็บไซต์กราบเรียนถามหลวงตา

คนที่ ๑ กราบนมัสการหลวงตาที่เคารพอย่างสูงยิ่ง ที่ว่าความคิดไม่ใช่จิต เมื่อปฏิบัติตามที่หลวงตาสอนภาวนาแล้วรู้สึกโล่ง แต่สักพักจะเห็นอาการหมุน ๆ ของกิเลส  วนเวียนๆ อยู่อย่างนี้ บางทีก็ติดสัญญา  ควรดำเนินการต่อไปอย่างไรเจ้าคะ

หลวงตา นั่นละมันคิด ให้ระงับจิตอย่าให้มันคิดเข้าใจไหม มันวนเวียนมันออกไปเป็นความคิดไปแล้วนั่นน่ะ ความคิดกับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน แต่เกิดขึ้นจากจิตเข้าใจเหรอ อย่าปล่อยให้มันคิด เวลาจะต้องการความสงบให้สงบด้วยธรรมบทใดก็ได้อย่างที่เขาเคยปฏิบัติเข้าใจไหมล่ะ เช่น พุทโธ เป็นต้น ก็ได้ ให้สติตั้งอยู่ อย่างวันนี้พูดกันชัดเจนแล้วนะ เอ้า ว่าไป

โยม คือเวลาลืมตาภาวนาแล้วเป็นสมาธิดีกว่าหลับตาภาวนา ทำอย่างไรถึงจะหลับตาแล้วทำสมาธิได้เจ้าคะ หรือหากอิริยาบถใดเป็นสมาธิแล้วก็ให้รักษาคงไว้ กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

หลวงตา เราอย่าเผลอ หลับตาก็ไม่เผลอ ลืมตาก็ไม่เผลอมันก็เป็นสมาธิได้ทั้งหลับตาทั้งลืมตานั้นแหละ ถ้ามันหลับตาดี ลืมตาไม่ดี แสดงว่าสมาธิคอยแต่จะล้ม แบบนี้ ยังหาหลักเกณฑ์ไม่ได้เข้าใจไหม เอ้า เป็นอย่างนั้นนี่

โยม ต่อไปคนที่ ๒ ครับ เมื่อครั้งที่แล้วหลวงตาเมตตาแสดงธรรมะตอบลูก เรื่องการพิจารณาอสุภะที่มันแสดงอาการหดเข้าหาจิต ขณะนี้รู้สึกมันยิ่งหด ๆ เข้ามา แต่ไม่ใช่อสุภะตัวเดียวที่รู้สึกหดเข้ามาที่จิต มันรูปสวยด้วย สุภะก็หดเข้ามา แต่ไม่ถี่เหมือนอสุภะเวลานี้ จิตก็แน่น ๆ บางทีก็น้ำตาไหลปีติในธรรมะนี้ ลูกรบกวนกราบเรียนมาเท่านี้ ขอน้อมกราบระลึกในเมตตาคุณของหลวงตาสุดหัวใจ และตั้งใจปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้นค่ะ (จาก ศิษย์รักธรรม ถามวันที่ ๓๐ ตุลา ๔๖)

หลวงตา พิจารณาอย่างนี้ พิจารณามากไปมันก็เป็นความชำนาญของมันเองละ ให้พิจารณาอย่างนี้เป็นอารมณ์เป็นงานของใจ เข้าใจเหรอ ให้พิจารณาอย่างนี้เป็นงานของใจในขั้นนี้ เอ้า ว่าไป

โยม คนที่ ๓ ครับ ผมภาวนาโดยใช้อานาปานสติบริกรรมพุทโธกำกับลมหายใจ เมื่อภาวนาไปเรื่อยๆ จิตสงบลงและรู้สึกเป็นสุขขึ้นไปเรื่อยๆ และยังบริกรรมภาวนาต่อไป จนกระทั่งความสุขหายไป ไม่สุข ไม่ทุกข์ จะว่าเฉยๆ ก็ไม่ใช่ ความคิดปรุงต่างๆ ไม่มีเลย โดยที่ผมภาวนาในอิริยาบถต่างๆ เป็นเวลาทั้งวันจึงเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมา ผมภาวนาถูกไหมครับ (จาก เชษฐ์ ถามวันที่ ๓๐ ตุลา ๔๖)

หลวงตา ถูก ถูกต้องแล้ว ให้เป็นอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งดียิ่งถูกมากกว่านี้อีก อันนี้ถูกขั้นหนึ่ง ขั้นถูกกว่านี้ยังมีอีก เอ้า ขยับหาให้เห็นให้เจอ เอ้า ว่าไป

โยม รายนี้เขาบอกต่อไปนะครับว่า ผมบังคับจิตออกคิดรู้สึกว่าฝืนมาก

หลวงตา อย่าบังคับ มันจะอยู่อย่างนั้นให้มันอยู่เสียก่อน มันไม่อยากคิดอย่าคิด ถ้าคิดให้คิดไปทางปัญญาพิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ สกลกาย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะ อสุภัง ให้มันคิดไปอย่างนั้นอย่าคิดไปอย่างอื่นเข้าใจไหม มันไม่อยากคิด เป็นจิตที่มีสมาธิเต็มที่มีแต่ความสงบแล้วความคิดต่าง ๆ นี้กวนใจไม่อยากคิด ทีนี้เวลาเราเรียนรู้มันแล้วไม่อยากคิด แล้วอะไร ๆ ไม่อยากคิดให้คิดทางปัญญาเข้าใจไหม นั่น ทางออกของมันมี เราไม่อยากคิดเฉย ๆ นั้น คือว่ามันกวนสมาธินี่เรียกว่า จิตติดความสงบแล้วไม่มีทางออก ต่อจากนั้นมันไม่มีทางออก เอาความคิดทางด้านปัญญาให้มันคิดให้มันออกทางนี้ ทีนี้เปิดละที่นี่เปิดเรื่อย เข้าใจ

โยม ครับหลวงตาก็ได้ตอบไปแล้ว อันนี้เขาบอกว่า บังคับจิตออกคิดรู้สึกว่าฝืนมาก อย่างนี้เรียกว่า จิตอิ่มตัวใช่หรือไม่ ผมจะต้องทำอย่างไรต่อไป

หลวงตา ใช้ปัญญา อย่างว่าจิตอิ่มตัวให้ใช้ปัญญา เข้ากันได้แล้ว จิตอิ่มตัวคือมันไม่หิวอารมณ์ ความอยากดูรูปอยากฟังเสียงอะไรต่าง ๆ อยาก ๆ ๆ มันหิวอารมณ์ ทีนี้มันไม่อยากมันอยู่ด้วยความสงบอิ่มอารมณ์ เวลาจะคิดปรุงอะไรมันรำคาญ จึงให้คิดทางด้านปัญญา ถึงเวลาที่ควรจะคิดให้คิดทางด้านปัญญา ถึงเวลาจะสงบก็ให้สงบเข้าสมาธิตามเดิม เวลาออกคิดให้ออกทางด้านปัญญาเข้าใจไหม พิจารณาอย่างที่ว่า ปัญญาเท่านั้นก็เข้าใจแล้ว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แยกธาตุแยกขันธ์ดังที่ว่า เอ้า ว่าไปที่นี่

โยม คนที่ ๔ ครับ กราบเรียนถามเรื่องเกี่ยวกับการช่วยชาติ

ข้อที่ ๑ ในช่วงวันกฐินเพื่อชาติไทย ผมได้นำซองกฐินไปบอกบุญช่วยชาติให้บริวารทั้งหลายเข้าใจและร่วมทำบุญมหากุศลช่วยชาติ ก็มีบางคนเหมือนไม่ค่อยเต็มใจทำ แต่เขาก็ใส่ซองมาให้ ผมก็พยายามอธิบายให้เขาเข้าใจเรื่องความสามัคคี ความเสียสละที่หลวงตาเทศน์สอนประจำ ผมเอาไปอธิบายให้เขาฟัง แต่ก็มีจำนวนมากที่บอกว่าไม่ให้ไปเรี่ยไรแบบนี้ ผมขอเรียนถามหลวงตาครับว่า การบอกบุญกันแบบนี้เป็นการถูกต้องหรือไม่ครับ ผมตั้งใจให้บริวารได้มหากุศลนี้ทั่วหน้ากัน (จาก ยุทธ ถามวันที่ ๓๐ ตุลา)

หลวงตา นั่นซี ก็พอดีกับเรากำลังจะถาม ว่าแบบนี้ไม่ถูกต้องแล้วแบบไหนจึงจะถูกกำลังจะถามอยู่ เข้าใจไหม ก็แบบนี้แหละมันถูกเข้าใจหรือเปล่า อย่าหวงว่างั้น ความหึงความหวง ความตระหนี่ถี่เหนียวมันเป็นความตระหนี่เป็นกิเลส การเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองก็คือเสียสละเพื่อตัวเอง ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญเป็นผู้ทำเป็นอันดับ ๑ บ้านเมืองเป็นอันดับที่ ๒ เข้าใจไหม ได้ผลอย่างนี้ละเข้าใจ มีเท่าไรให้โกยออกมาให้หลวงตาบัวบอกอย่างนั้นนะ อย่ามัวตระหนี่อยู่บอก ทางนี้เปิดกระเป๋าไว้แล้วคอยรับ เอ้า ว่าไป

โยม อันนี้เขาก็ต่อตอนท้ายอีกนิดหนึ่งว่า ที่เขาได้บอกบุญแบบนี้ เขาตั้งใจให้บริวารได้มหาบุญกุศลนี้ทั่วหน้ากัน

หลวงตา ก็ถูกต้องแล้ว เขาก็ได้ด้วย หมดที่นี่นะ ว่าได้กุศลทั่วหน้ากันทั่วหน้าเขาด้วยก็ได้ จ่อเข้ามาอีกหน้าเขาด้วยอีก

โยม ที่นั่งอยู่นี้หน้าสลอน ๆ ได้ไหมครับ ที่นั่งอยู่นี้

หลวงตา ไม่ตอบ ขี้เกียจตอบ

โยม จบแล้วครับ

หลวงตา เอาละ พอ มีคำถามมันก็มีคำตอบออกมาอย่างนี้ ถ้าไม่ถามก็ไม่ทราบว่าจะตอบว่ายังไง มันก็เป็นประโยชน์เรื่อยๆ ไป ที่เราพูดถึงว่า การเทศน์คราวนี้บกพร่อง การถามตอบปัญหา การเทศน์นี้เทศน์สมบูรณ์นะ กี่ปีแล้ว แต่การตอบปัญหาไม่ค่อยมีกัน บกพร่องตรงนี้ละ ทีนี้ก็เริ่มแล้ว เริ่มมีก็เริ่มเปิดแล้ว ถามมาขั้นใด ๆ ภูมิใดมันจะออกรับกันทันที ถ้าไม่ถามไม่ทราบว่าจะเอาอะไรไปตอบ จะตอบเรื่องอะไร แน่ะ ก็อย่างนั้นเอง เอาละเลิกแล้วนะ

โยม โรงพยาบาลโขงเจียมมาครับผม

หลวงตา อะไรละ แล้วมาอะไรจากอันนั้นมาเพื่ออะไรบ้าง ก็ว่าไปซิ

โยม ก็มากราบขอบพระคุณหลวงตาครับ ที่หลวงตากรุณาบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ให้ครับ แล้วก็จะขอความกรุณาเรื่องรถพยาบาลครับ

หลวงตา รถพยาบาลว่ายังไง เป็นยังไงรถมีกี่คันเป็นยังไงบ้าง

โยม ตอนนี้โรงพยาบาลอยู่ห่างจังหวัดไปประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร รถตู้ใช้มา ๑๐ กว่าปีแล้ว

หลวงตา เมื่อวานซืนก็ให้โรงพยาบาลโนนสะอาดคันหนึ่ง ระยะนี้ให้รถเรื่อยๆ ทางโขงเจียมก็เห็นว่าไกลเราก็ให้ วันนี้ให้นะ (สาธุ) จนก็ทนเอานะเรา ควรติดหนี้ก็ติด อย่างนี้ละเหตุนี้ละ มาแทบทุกวันๆ เงินไม่พอ มันไม่ใช่น้ำมหาสมุทร แต่ผู้มาขอมันเป็นมหาสมุทรทะเลหลวงมาขอจะว่าไง

 

ชมการถ่ายทอดสดทั่วโลกทุกวันที่  ได้ที่

www luangta.หรือ com www.luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก