พระพุทธเจ้าที่แท้จริงเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์
วันที่ 23 ตุลาคม 2546 เวลา 8:35 น. ความยาว 55.54 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖

พระพุทธเจ้าที่แท้จริงเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์

 

         เมื่อวานนี้ไม่ได้เลยทอง ดอลลาร์ ๑๔๘ ดอลล์ ระยะนี้เป็นระยะอะไร เหมือนว่าพักเครื่อง หรือเป็นเรื่องขี้เกียจก็แปลไม่ออก ตรงนี้ ทองคำได้ขีด ธรรมดามันเครื่องหมายลบไม่ใช่เหรอ หรือเตรียมตัว ทองคำเมื่อวานนี้เตรียมตัว ไม่ได้สักบาทสักสตางค์ ส่วนดอลลาร์ ๑๔๘ ดอลล์

         บรรดาพระกรรมฐานในวัดต่าง ๆ อยู่ในป่าในเขา บรรดาประชาชนไปถวายกฐินแล้ว ท่านได้เท่าไรท่านก็ริบรวมออกมาหมด เพราะท่านเหล่านี้ท่านไม่ได้สนใจกับเงินกับทองยิ่งกว่าธรรม ธรรมท่านถือเป็นจิตเป็นใจ ฝากเป็นฝากตายจริง ๆ ที่ว่าปัจจัย ๆ ก็เช่นอย่างเงินทองข้าวของ ไทยทานต่าง ๆ นี่เรียกว่าปัจจัย เครื่องอาศัย เครื่องหนุนกันไป ส่วนธรรมนี่มุ่งเข้าสู่หัวใจ กรรมฐานท่านมุ่งอรรถมุ่งธรรมของท่านเป็นส่วนมากทีเดียว ท่านจะมุ่งต่อธรรมล้วนๆ เพราะฉะนั้นเวลาประชาชนญาติโยมไปถวายกฐินอย่างนี้ ถึงท่านไม่มีการช่วยชาติก็ตามท่านก็ไม่ค่อยยุ่ง ท่านให้เขาไปซื้อนั้นซื้อนี้แจกจ่ายคนจนไปอย่างงั้นนะ

         ทีนี้เวลาช่วยชาติท่านก็หมุนออกมาช่วยชาติ วัดกรรมฐานยังมีอยู่มาก ที่เป็นวัดใหญ่พอสมควร ๆ เช่น ภูสังโฆ ผาแดง นาคำน้อย ศรีชมภู นี่หมายถึงพระมาก ตั้งแต่ ๒๐ ขึ้นไปเรื่อยละ แล้วก็วัดดอยธรรมเจดีย์แต่ก่อนเคยมีมาก เวลานี้ท่านแบนปฏิบัติยังไงเราไม่ได้ไปหลายปีแล้วนะ สองสามปีเราไม่ได้ไปเพราะงานเรายุ่งมาก ปรกติพระมาก ท่านเหล่านี้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมล้วน ๆ  ๆ เลย แล้วที่ไหนอีกเราจำไม่ได้นะ ที่วัดภูวัว ๓๐-๔๐ เหล่านี้ที่เป็นหลักใหญ่มีแต่พระจำนวนมาก ๆ แต่ที่รวมจริง ๆ ก็เข้ามารวมที่นี่ จิตใจก็มาจ่ออยู่ที่นี่ ทุกสิ่งทุกอย่างจ่ออยู่ที่นี่

         ทีนี้เวลาทางนี้หมุนตัวออกเพื่อช่วยโลก ทางนู้นก็ไหลเข้ามาตามเลย บรรดาพระกรรมฐานท่านอยู่ที่ไหนท่านนำมาถวายได้มากได้น้อย เป็นน้ำใจ ออกมาจากน้ำใจ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าท่านห่วงชาติ ห่วงศาสนา ห่วงโลกที่เป็นส่วนรวมที่ขาดตกบกพร่องเอนเอียง ท่านก็หนุนเข้ามา ช่วยเข้ามา นี่แหละที่ได้พูดอยู่ มันหลับตาพูดเราอยากว่างี้เลย เราออกช่วยโลกมันหาว่าออกไปช่วยโลกอะไรไม่ใช่กิจของสงฆ์ มันก็สวนหมัดละซิ อะไรกิจของสงฆ์ก็กระหน่ำเลยทันที อย่ามาต่อยนะ มาหมัดหนึ่งไปสองหมัด หมัดไหนหงายทั้งนั้น

         เราพูดตามหลักตามเกณฑ์ของธรรมของวินัย พูดอย่างนี้มาไม่มีหลักเกณฑ์ เป็นเรื่องหาโทษหาภัยใส่กัน เป็นเรื่องกิเลส เป็นเรื่องสกปรก คำพูดสกปรก คำพูดไม่ใช่อรรถไม่ใช่ธรรม คำพูดกิเลสล้วน ๆ เพราะฉะนั้นมันถึงสวนกันพับทันทีซิ นักบวชไม่พิจารณา ไม่ใคร่ครวญใครจะใคร่ครวญ ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาที่ใคร่ครวญทุกสิ่งทุกอย่าง ละเอียดลออ สุขุมคัมภีรภาพ ไม่มีที่ไหนเกินนะ

         เพราะฉะนั้นพระที่เป็นลูกศิษย์ตถาคต สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ท่านจึงละเอียดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีที่ลับที่แจ้ง เอาใจเป็นประมาณ ใจสะกิดพับยังไง ๆ มีหลายประเภท ธรรมที่มีอยู่กับใจ ใจกับธรรมจะออกแบบไหน ๆ จะรู้เฉพาะเจ้าของ บางทีอย่างหยาบกระตุกก็มี เตือนพับเลย พับทางนี้ถอยจาก ไม่มีคำว่าฝืน สะกิดปั๊บ ๆ ซึมซาบออกมา อย่างนั้นมี มีหลายประเภท นี่ละธรรมในใจ ไม่ได้เคยขึ้นเวทีพูดเรื่องอรรถเรื่องธรรม มันเอากิเลส เอาส้วมเอาถานมาโปะเลยนะ เพราะมันมีแต่ส้วมแต่ถานเต็มโลกเต็มสงสาร ไม่มีอรรถมีธรรมในใจ จะหาอะไรเข้ามาเป็นสิริมงคลแก่ตัว พูดออกคำไหนก็มีแต่ส้วมแต่ถาน ดังที่พูดมาตะกี้นี้แหละ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ฟังซิน่ะมันฟังได้ไหม

         พระพุทธเจ้าเป็นองค์เอกที่ช่วยโลก ไม่มีใครเสมอเหมือนเลย นั่นฟังซิ เราก็เคยพูดแล้ว ขึ้น มหาการุณิโก นาโถ ย่อ ๆ กระเทือนหมดโลก นี่คือองค์ศาสดาแท้ช่วยโลกอย่างนี้เอง แล้วทีนี้ตามเสด็จพระพุทธเจ้านั่นไม่ใช่กิจของสงฆ์ มันก็ศอกกลับกันละซิ อะไรกิจของสงฆ์ มันเป็นอย่างงั้นนะกิเลสกับธรรมมันขัดมันแย้งกัน ท่านไม่เอาอะไร ผู้ตั้งใจปฏิบัติต่ออรรถต่อธรรม จตุปัจจัยไทยทานเกิดมีมานี้ท่านออกหมด ๆ ท่านอยู่ผาสุกเย็นใจระหว่างจิตกับธรรมเท่านั้น ที่ท่านอยู่ ท่านชุ่มเย็นอยู่กับนั้นนะ ท่านอยู่กับอรรถกับธรรม กับความพากความเพียร ท่านร่มรื่นอยู่ภายในจิตใจ อยู่คนเดียวท่านก็สบาย

         นั่นละธรรมเข้าสู่ใจแล้วไม่ต้องหาที่ไหนมาเพิ่มมาเติม มาช่วยมาเหลือ วิ่งใส่นู้นวิ่งใส่นี้ ท่านไม่วิ่ง วิ่งเข้าหาธรรมอยู่ที่ใจ เมื่อธรรมเข้าสู่ใจแล้วสิ่งทั้งหลายที่เคยดีดดิ้นมันสลัดของมันออก ไม่มีอะไรสู้อันนี้ๆ ค่อยปัดออกๆ รู้สูงเข้าไปเท่าไรยิ่งปัดออกเรื่อย รู้ส่วนหยาบก็ปัดส่วนหยาบออก เบาลง ๆ ๆ ปัดออก รู้ธรรมขึ้นไปส่วนกลาง ปัดความสกปรกส่วนกลางที่เป็นส้วมเป็นถานอยู่ในใจนั้นแหละ ออกเรื่อย ๆ ส้วมถานละเอียด ปัดออก ๆ ฟาดที่สุดคว่ำหม้อกันเลย

         คือพวกส้วมพวกถาน พวกยุแหย่ก่อกวน พวกบีบบี้สีไฟ มีแต่เรื่องของกิเลส หลอกไปแล้วก็เพื่อจะขยี้ขยำ หลอกไปให้เพลิดให้เพลินไปตามเล็กๆ น้อยๆ แล้วทีนี้ก็ขยี้ขยำตาม นี่ละเรื่องกิเลสไปไหนจะต้องมีเหยื่อล่อไปเรื่อย ๆ หลอกสัตว์โลกให้หลงงมงายไปกับมัน แล้วก็ขยำเอาๆ ไปที่ไหนมีแต่เรื่องบ่นเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์ ความลำบากลำบน ไม่ใช่กิเลสสร้างขึ้นอะไรสร้างขึ้น นั่น ตัวนี้เป็นตัวสร้างทุกข์ให้สัตว์โลกทั้งหลาย ธรรมเป็นองค์สร้างสุขให้สัตว์โลก แต่โลกมันไม่ได้มอง เพราะกิเลสมันกระซิบกระซาบอยู่ตลอดเวลาโดยหลักธรรมชาติของมัน มันจึงแก้ยากนะ

         ส่วนธรรมนี้ต้องมีครู มีอาจารย์ มีศาสดามาตรัสรู้ก่อน เปิดทางให้แล้วก็ยึดไป แล้วก็ค่อยมีทางออกๆ มันผิดกันมากนะ เรื่องกิเลสมันติดอยู่กับเรา เวลานี้ก็ฟังเสียงอรรถเสียงธรรมซิ พอออกจากนี้ไปแล้วเรื่องของกิเลสมันก็รุมล้อมเข้ามา แทรกเข้ามา กระซิบกระซาบเรื่องนั้นเรื่องนี้ สร้างอารมณ์ที่จะจูงใจให้ดิ้นให้ดีดตามไปตลอดเวลา เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น เราจะเห็นได้ชัดว่าพอกิเลสขาดสะบั้นไปจากใจแล้วไม่มีเลย เรื่องอะไรไม่มีทั้งนั้น นั่น ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องของกิเลสไม่มีเลย ท่านว่าบรมสุข คือไม่มีอะไรกวนตั้งแต่ท่านตรัสรู้ หรือบรรลุธรรมปึ๋งขึ้นมา วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ  เสร็จงานฆ่ากิเลส งานรบกับกิเลสนั่นเอง

         ท่านแปลตามปริยัติท่านว่า พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว งานที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ควรทำก็คืองานแก้กิเลส งานที่จะให้ยิ่งกว่านี้ขึ้นไปไม่มี งานแก้กิเลส ความทุกข์ในหัวใจนี้เป็นงานที่หนักมากที่สุด เมื่อเสร็จอันนี้แล้วงานอะไรที่จะให้ยิ่งกว่านี้อีกไม่มี มีงานนี้เท่านั้น พองานนี้เสร็จลงไปแล้วท่านจึงไม่มีงานแก้กิเลส พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ไม่มีการแก้อารมณ์ใจของตัวเอง ที่กิเลสเข้ามารุมล้อม รบกันกับกิเลสอย่างนี้ หรือกิเลสเข้ามากวนใจท่านไม่มี หมดตลอดไปเลย

         นี่ละที่ว่างานของพระพุทธเจ้า งานของธรรมมีเวลาสำเร็จเสร็จสิ้น เบาบางลงไปโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งเสร็จสิ้นแล้วหมดงาน งานฆ่ากิเลสไม่มี ท่านอยู่ด้วยความหมดการหมดงานที่จะก่อกวนทั้งหลาย งานธรรมะก็เต็มแล้วพอแล้ว ไม่เอาอะไร จากนั้นก็มีแต่แนะนำสั่งสอนสัตว์โลกที่ควรจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงไรจากการแนะนำ ท่านก็สอนไป เมื่อสุดวิสัยท่านปล่อยท่านก็ไปของท่าน นี่แหละผู้มุ่งต่อธรรมย่อมมีหวังได้รับความสมหวังไปเรื่อยๆ โดยลำดับลำดา แต่ผู้ไม่สนใจกับธรรม ดิ้นดีดอยู่กับกิเลสมีแต่จะจมไปเรื่อยๆ ความหวังนั้นเต็มหัวอก ความผิดหวังมันก็เต็มหัวอกเหมือนกัน นี่เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น

         นี่เราพูดถึงเรื่องพระท่านอยู่ในป่าในเขา ท่านพยายามบำเพ็ญสมณธรรม อยู่กับความเพียรแก้กิเลส เพราะข้างนอกก็ปัดออกไม่ให้เข้ามายุ่ง สิ่งก่อกวน ท่านจึงว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ บรรพชาอุปสมบทแล้วให้ไปอยู่ในป่าในเขา เป็นที่หลบภัย ป่าไม้กับป่าคนต่างกัน ป่าอารมณ์กับป่าแห่งธรรมต่างกัน ป่าแห่งธรรมไม่มีอารมณ์กวนใจ ถ้าป่าผู้ป่าคน ป่าอารมณ์แล้วเป็นภัยทั้งนั้น ท่านจึงไล่เข้าไปอยู่ในป่า ปัดออกสิ่งที่จะมาก่อกวน ให้แก้เฉพาะสิ่งที่มีอยู่ภายใน ขนออก ๆ อย่านำสิ่งภายนอกที่เป็นภัยอันเป็นคู่เคียงกันกับใจ ภัยของใจคือกิเลสนี้อย่าให้เข้ามาคละเคล้ากัน มันจะสั่งสมตัวขึ้นเผาเรานั่นเอง

         ท่านจึงปัดออกให้อยู่ข้างนอก ไม่ให้เข้าข้างใน เข้าอยู่ในป่าในเขา รุกขมูลร่มไม้อาศัยไปวันหนึ่งๆ บิณฑบาตพอยังชีวิตให้เป็นไปเท่านั้น ท่านไม่มุ่งอะไรยิ่งกว่านั้น พอยังชีวิตให้เป็นไปวันหนึ่งๆ แต่เรื่องความมุ่งมั่นกับธรรมนั้นท่านไม่มีลดละ ขยับเข้าเรื่อยๆๆ ธรรมเมื่อมีการขวนขวายก็ต้องเกิดขึ้นเป็นผลของงาน ผลของงาน คือบำเพ็ญธรรมเป็นธรรมนั้นละเรียกว่าทำงานเกี่ยวกับธรรม ผลก็ปรากฏขึ้นเป็นความสงบเย็นใจ

         เมื่อสงบเย็นใจเข้ามาก ๆ อารมณ์ภายนอกก็ปล่อย ๆ เหลือแต่อารมณ์แห่งธรรมที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความสงบร่มเย็น ยืน เดิน นั่ง นอน สงบร่มเย็น  อยู่ที่ไหนสบายๆ ตายไม่หมายป่าช้า ท่านดูลมหายใจซึ่งความเกิดความตายมันอยู่ที่จุดลมหายใจ เป็นจุดเด่นมาก ลมหายใจท่านก็พิจารณาอานาปานสติเสีย แน่ะ ลมเข้าลมออก กว้างหรือหยาบละเอียดท่านดูนี้เพื่อจะเข้าหาตัวจิต เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสายเกี่ยวโยงมาจากจิต เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนภาวนาบทนั้นบทนี้เพื่อเข้าสู่จิต ธรรมแท้อยู่ที่จิต กิเลสก็จะจางไปที่จิต นั่นท่านสั่งสมธรรมท่านสั่งสมอย่างนั้นนะ

         ความทุกข์ ความยากลำบากภายนอกท่านไม่ถือเป็นอารมณ์ ยิ่งกว่าการต่อสู้กับกิเลส ทุกข์ยากลำบากขนาดไหนเป็นการจดจ่อ ตบต่อยกันอยู่ตลอดเวลา รบกัน สติปัญญาเป็นพื้นฐานสำคัญมาก อยู่ที่ไหนสตินี้เป็นพื้นฐานปล่อยไม่ได้เลย รักษาจิต ถ้าจิตมีสติอยู่แล้วกิเลสจะไม่ค่อยแสดงตัวออกไปกวาดเอาไฟเข้ามาเผาเรา สติจึงเป็นของสำคัญมากนะ ไม่ได้มากขอให้มีสติรักษาใจเท่านั้นใจก็ทรงตัวอยู่ได้ กิเลสไม่เพิ่มตัว เมื่อสติแนบแน่นเข้าเรื่อยๆ ดีเข้าเรื่อย สืบต่อกันเรื่อย จิตได้รับการอารักขาจากสติ กิเลสก็ไม่กำเริบออกมา จากนั้นก็พิจารณาทางด้านปัญญาเป็นกาลเป็นเวลา เพื่อให้เห็นโทษเห็นภัยของมัน ขยับความสงบใจเข้าไปเรื่อยๆ

คำว่า ปัญญาๆ ปัญญาของเราธรรมดากับปัญญาของธรรมที่เกิดในใจเข้ากันไม่ได้นะ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เฉลียวฉลาดไปตามแถวแนวของกิเลส กับแถวแนวของธรรมต่างกัน สติปัญญาเฉลียวฉลาดไปตามแถวแนวของกิเลส ก็คือกอบโกยเอาความทุกข์เข้ามาใส่ตัวเองนั้นแหละ ใครมีความฉลาดมากเท่าไรยิ่งกอบโกยเอาความทุกข์เข้ามาใส่หัวใจมากเท่านั้น นี่คือความฉลาดทางด้านปัญญาของกิเลส สติก็จดจ่อไปทางกิเลสไปเสีย ปัญญาไปทางกิเลส การขวนขวายทุกอย่างกลายเป็นเรื่องของกิเลสไปหมด มันก็มีแต่ไฟเผาหัวใจ ถ้าสติธรรม ปัญญาธรรมอยู่ในใจ รักษาจิตใจด้วยดี ปัญญาหว่านล้อมตีแตกกระจัดกระจายออกไปๆ เรื่อยๆ ภัยที่มีอยู่ภายในใจที่จะเข้ามาใหม่ไม่มีเพิ่ม มีแต่ตีออกๆ ต่อไปก็ค่อยหมดค่อยสิ้นไป เมื่อสิ้นไปก็สิ้นไปโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ ทุกข์ไม่มีเลย

โลกแบกทุกข์อยู่ทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าสัตว์น้ำสัตว์บก บนฟ้าอากาศ แบกทุกข์อยู่ด้วยกันหมดทั้งนั้น ตามส่วนประเภทของสัตว์แต่ละรายๆ และตามกรรมของตนแต่ละประเภทที่มีอยู่ในใจของสัตว์ เสวยด้วยกันทั้งนั้น ฟังซิครอบโลกธาตุมีตั้งแต่สัตว์ผู้เสวยความทุกข์ความลำบากมากน้อยตามอำนาจแห่งกรรมของตน แต่ท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วหมดโดยสิ้นเชิง ไม่มีได้แบกได้หามอะไรเลย มันน่าคิดไหมพวกเรา น่าอุตส่าห์พยายามไหม หรือเราจะทนแบกทุกข์ไปอย่างนี้กับกิเลสตลอดเวลานั้นเหรอ หรือเราจะสลัดกิเลสออกด้วยธรรมของพระพุทธเจ้าที่สอนเบิกทางให้พ้นจากทุกข์ไปโดยลำดับนี้ ให้เราเลือกเอาอย่างนี้

เกี่ยวกับเรื่องเราที่จะออกจากอำนาจของกิเลสต้องเป็นทุกข์นะ กิเลสมันฝืนมันกดมันดันมันกีดกันทุกอย่างไม่ให้ออก เบื้องต้นนี้ด้วยแล้ว โถ ของเล่นเมื่อไร หนักมากทีเดียว ครั้นทำไปๆ มันก็ค่อยชำนิชำนาญ ทุกสิ่งทุกอย่างค่อยดีขึ้น ทางด้านธรรมะดีขึ้น ก้าวทางด้านธรรมะก็ราบรื่น ก้าวทางส่วนกุศลศีลทานก็ค่อยราบรื่นไปๆ อันนั้นทำไปไหนๆ มาอยู่นี้หมดๆ เพราะฉะนั้นบาปกับบุญจึงไม่หนีจากใจ อะไรทิ้งไปหมด แต่บาปกับบุญทิ้งไม่ได้ ถ้ายังไม่ถึงที่สุดบุญต้องอาศัยตลอดไป บาปก็ติดตามราวีไปตลอดเช่นเดียวกัน จนกว่าว่าบาปมันจะหมด เมื่อหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว บาปก็หมด บุญก็หมด เพราะทั้งสองนี้เป็นแดนสมมุติ บุญเป็นเครื่องหนุนให้ถึงวิมุตติ บาปเป็นเครื่องกดถ่วงลง มันอยู่ในหัวใจทั้งสอง

พวกบาปพวกกรรมนี่เป็นเครื่องกดถ่วงลง บุญกุศลเป็นเครื่องหนุนขึ้นๆ เมื่อถึงที่สุดแล้วบุญกับบาปซึ่งเป็นสมมุติด้วยกันขาดสะบั้นไปจากกัน เป็นคนละฝั่งแล้ว ทีนี้ไม่มีอะไรละ นั่นอำนาจแห่งการบึกบึนตัวเอง ถึงไม่ได้สมมักสมหมายก็ได้ตลอดไป หลายครั้งหลายหนก็เข้าสมมักสมหมายไปเรื่อยๆ

นี่เราพูดถึงเรื่องพระกรรมฐานท่านอยู่ในป่าในเขา ท่านเหล่านี้แลเป็นผู้จะทรงอรรถทรงธรรมทรงมรรคผลนิพพานตามทางของศาสดาที่ประกาศธรรมสอนไว้สดๆ ร้อนๆ เรียกว่าสวากขาตธรรม มาเถิดตามสวากขาตธรรมนี้ ตลาดแห่งมรรคผลนิพพานอยู่จุดนี้นะ ไม่ได้อยู่กับดินฟ้าอากาศใกล้ไกลที่ไหนไม่มี เมืองนั้นเมืองนี้ทวีปไหน ไม่มี บาปบุญมีอยู่ที่ใจ ขวนขวายอยู่ที่นี่ ทีนี้เวลาแก้ก็แก้ด้วยสวากขาตธรรม ท่านตรัสไว้ชอบแล้ว ให้ก้าวเดินตามท่านสอน มานี้ๆ ว่างั้น แล้วก็ถึงไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงที่สุดหลุดพ้น กองทุกข์ทั้งมวลที่เคยแบกหามมากี่กัปกี่กัลป์ สิ้นสุดโดยประการทั้งปวง ในธาตุในขันธ์ก็ยังเหลือแต่ธาตุขันธ์ ส่วนจิตหมดโดยสิ้นเชิง ธาตุขันธ์ที่เป็นเศษของสมมุติยังมีอยู่ ก็ต้องพาอยู่พากินพาขับพาถ่ายพาหลับพานอน  เพราะธาตุขันธ์มันดีดมันดิ้นของมัน จิตที่รับทราบเรื่องของธาตุของขันธ์นี้ก็รับทราบเป็นลำดับ หากเป็นหลักธรรมชาติไม่ซึมซาบกัน จะบังคับให้ซึมซาบก็ไม่มีทางเป็นไปได้ นั่นคือจิตที่บริสุทธิ์ หรือจิตเป็นธรรมธาตุล้วนๆ แล้ว จะทำยังไงให้เข้ากับสมมุติเข้าไม่ได้อีกแล้ว

เช่นท่านรับผิดชอบอยู่ในธาตุขันธ์ของท่านทุกสิ่งทุกอย่าง ธาตุขันธ์นี้เหมือนสมมุติของโลกทั่วๆ ไป ท่านก็ปฏิบัติแบบสมมุติของโลกทั่วๆ ไปนั้นแหละ พาอยู่พากินพาขับพาถ่ายพาหลับพานอน เจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัวตัวร้อน เหมือนๆ กัน แต่มันก็มีอยู่ในวงขันธ์นี้เท่านั้นไม่เลยจากนี้ไป ที่จะให้ซึมซาบไปถึงจิตนั้นไม่มีทาง รักษานี้ไว้พอถึงกาลเวลา ก็เอาอันนี้แหละทำประโยชน์ให้โลก การแนะนำสั่งสอนทุกสิ่งทุกอย่างก็เอานี้ พอหมดสภาพนี้แล้วก็ขาดสะบั้นไปเลย เรื่องสมมุติมาหมดในจุดสุดท้ายคือขันธ์ สมมุติทั้งหลายนี้ย่นเข้ามาหมดแล้วแหละ ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ขันธ์นี้เกี่ยวข้องตลอด รูปคือกายของเรา กายทั้งหมดเรียกว่ารูป เวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ที่อาศัยกายเกิดขึ้นแล้วอยู่ที่กายไม่ไปอยู่ที่ใจ มันอยู่ที่ขันธ์ด้วยกัน เป็นขันธ์ด้วยกัน สุข ทุกข์ เฉยๆ ก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง แล้วมันก็อยู่ด้วยกัน

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เป็นวงขันธ์ มันจะดีดจะดิ้นก็ดีดก็ดิ้นอยู่ในวงขันธ์ด้วยกัน แต่ผู้รับผิดชอบก็รับผิดชอบในขันธ์นี้ พาอยู่พากิน เจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวตัวร้อน หายามารักษาเยียวยากันไป ควรจะใช้ได้สักกี่วันก็เยียวยากันไป เมื่อหมดสภาพแล้วไม่มีใครฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระอรหันต์ท่านปฏิบัติต่อท่านไม่ยากเลย ถึงวาระที่จะปล่อยไม่มีอะไรยากแหละ เวลารักษาท่านก็รักษาของท่านไม่ต้องไปถามใคร นี่ละที่ว่าสมมุติอันสุดท้ายที่หมดโดยสิ้นเชิงคือขันธ์ ลมหายใจขาดปั๊บเท่านั้น เรียกว่าสมมุตินี้หมดโดยสิ้นเชิงจากใจของพระอรหันต์ นั่นจึงเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน ทีนี้เป็นล้วนๆ แล้ว สอุปาทิเสสนิพพาน คือขันธ์มาให้รับผิดชอบ หมดไปแล้วไม่มีอะไรเหลือ เรียกว่าขันธ์ล้วนๆ

อะไรมีมันก็มีอยู่ของมัน คำว่าดับกิเลส กิเลสอยู่ในจิตนะ ไม่ได้มาดับขันธ์ ดับกิเลสที่อยู่ในจิต ดับกิเลสตัวเป็นภัยนั้นหมดแล้ว ขันธ์ก็มีของมันอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ดับขันธ์ไม่ได้ฆ่าขันธ์ทำลายขันธ์ สิ่งใดที่เคยมีอยู่กับขันธ์มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าเจ้าของเข้ามาเป็นเจ้าอำนาจ กิเลสมายึดขันธ์นี้ก็เป็นพิษเป็นภัยไปได้ ขันธ์นี้ทำให้เกิดโทษเกิดภัยขึ้นได้ ด้วยขันธ์เป็นเครื่องมือของกิเลส พาให้สร้างพิษสร้างภัยสร้างบาปสร้างกรรม ขันธ์นี้เป็นเครื่องมือของธรรมนำมาใช้ เราไปทำคุณงามความดีทั้งหลาย ขันธ์นี้ก็เป็นเครื่องมือของความดีไป คือขันธ์นี้อยู่อย่างนั้น ใครมาจับไปใช้ทางไหนก็ใช้ได้ ธรรมมาจับไปใช้ก็ได้ กิเลสมาจับไปใช้ก็ได้ เป็นเครื่องมือของกิเลสและเป็นเครื่องมือของธรรมไป เมื่อกิเลสสิ้นไปแล้วก็เป็นเครื่องมือของธรรม แต่ธรรมท่านไม่ยึด ต่างกันตรงนี้เท่านี้ ใช้กันไปจนกว่าจะสิ้นสุด

เพราะฉะนั้นคำว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านไม่ได้ดับธาตุดับขันธ์นะ ที่เคยปฏิบัติอยู่ยังไงท่านก็เป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงได้เปิดให้บรรดาพี่น้องทั้งหลายทราบด้วยกันว่า เรื่องของขันธ์กับโลกทั่วๆ ไปเหมือนกัน มีสิ่งที่ควรติดกันได้ ไม่ติดกันได้ เบื่อกันได้ รักกันได้ในวงขันธ์เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นจึงว่าเอายาเสพย์ติดไปให้พระอรหันต์ฉันลองดูซิ พระอรหันต์ขันธ์ของท่านติด เป็นพระขี้ยาไปเลย เข้าใจไหม จะเอาอะไรก็ตามมันติดได้อันนี้นะ เพราะเป็นเรื่องของขันธ์ อันนั้นเป็นสมมุติ ควรแก่กันเข้ากันได้ ติดได้ แต่จิตนั้นพ้นแล้ว ถึงธาตุขันธ์จะติด แต่จิตนั้นทำยังไงก็ไม่ติด ไม่มีทางติด

ทีนี้เมื่อท่านครองขันธ์อยู่ อะไรที่เป็นความกระทบกระเทือน เป็นโลกวัชชะที่โลกติเตียน เจ้าของเองก็ไม่เหมาะสมกับสิ่งเหล่านี้ที่เกี่ยวกับใจของตัวบริสุทธิ์ จะมาคลุกเคล้าอยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วยการเสพยาเสพย์ติดเหล่านี้ ท่านจึงไม่ทำ เพราะไม่เหมาะสมกัน แต่ที่เป็นพื้นฐานท่านไม่ติด แต่ขันธ์ติดนะ ไปกินพวกสุรายาเมา พวกฝิ่นหรือยาบ้ายาอะไรเหล่านี้ ที่เขาว่ายาเสพย์ติดนี้ เอาไปให้พระอรหันต์ท่านฉัน ติด พระพุทธเจ้าก็ติด ธาตุขันธ์นั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นสมมุติ พระพุทธเจ้าที่แท้จริงเป็นเจ้าของของธาตุขันธ์นั้น ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นแล อันนั้นไม่ติด เอาอะไรสามโลกธาตุนี้มาให้ติดก็ไม่ติด เพราะไม่ใช่วิสัยของกันและกัน ส่วนสิ่งเหล่านี้เป็นวิสัยของกัน อะไรที่ควรติดติด

อย่างที่เราฉันจังหันนี้ ขันธ์มันจะบอกของมัน มันไม่ได้เข้าไปถึงใจ แต่ความรู้อันนี้เป็นความรู้ที่เจืออยู่กับสมมุติ เอามาใช้ในสมมุติ เช่น ความรู้ของเราอยู่ในประสาทส่วนต่างๆ นี่ มันออกทางนั้นทางนี้ อันนี้เกี่ยวกับขันธ์ เกี่ยวกับสมมุติ ก็มาแยกเป็นสมมุติเสีย ชอบอันนั้นไม่ชอบอันนี้ โอ๊ วันนี้ฉันจังหันดี วันนี้เบื่ออาหาร นี่เป็นเรื่องของขันธ์กับความรู้สึกที่แทรกกันอยู่ในประสาทส่วนต่างๆ มันกลมกลืนกัน มันบอกกันออกมา อยู่ในวงนี้เท่านั้นไม่ได้เข้าข้างไหน เราจะเห็นได้ชัดก็คือว่า เวลามันจะไปของมัน ความรู้อันนี้ที่เข้าไปอยู่ในสมมุติในประสาทส่วนต่างๆ นี้มันจะหดตัวเข้าไปหมด สิ่งเหล่านั้นหมดปัญหาไปเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ไม่มีกิริยา มีแต่จะก้าวออกเท่านั้น นั่นเห็นชัดๆ อ๋อ ความรู้ประเภทนี้เป็นความรู้เกี่ยวกับขันธ์ สำหรับใช้ภายในขันธ์ จะว่าเป็นสมมุติขันธ์ไม่ผิด เป็นสมมุติอยู่ในขณะที่ใช้อยู่กับขันธ์ พอจะไปจริงๆ แล้วความรู้ที่ว่านี้หดตัวเข้าไปสู่ธรรมวิมุตติ ไปเลย นั่น ไม่ออก มันอย่างนั้นซีการปฏิบัติธรรม

เราพูดอย่างอาจหาญชาญชัย ผ่านเวทีมาเต็มกำลังความสามารถ จึงพูดได้ทุกบททุกบาทที่รู้ที่เห็นที่เป็น และฝ่ายเหตุที่ผ่านมายังไง พูดได้ ผลที่ปรากฏขึ้นมาก็พูดได้อย่างนั้น อย่างที่เราพูดนี้แหละ พระอรหันต์ท่านติดยาอย่างนี้ใครจะเชื่อ ไม่เชื่อยังไงก็มันเป็นแล้วนั่น ไม่เชื่อก็ช่างซิ ก็ธาตุขันธ์เป็นสมมุติ อันนั้นก็เป็นสมมุติ มันควรแก่กันก็เข้ากันได้ ติดกันได้ แต่จิตนั้นเป็นวิมุตติแล้วทำยังไงก็ไม่ติด เพราะเป็นคนละภาคเป็นคนละสัดละส่วนแล้ว พากันเข้าใจนะ ธาตุขันธ์เคยยังไงมันก็เป็นของมันอย่างนั้น พูดแยกไปให้มันชัดๆ อย่างนั้นซิ จะว่าเป็นอรหันต์แล้ว อะไรก็เป็นอรหันต์หมด ตดแตกออกมาก็ไม่เหม็น เพราะตดพระอรหันต์ มันมีไหมล่ะ ขี้แตกออกมาก็ไม่เหม็น เพราะเป็นขี้พระอรหันต์มีไหม ขี้ก็เป็นขี้ อรหันต์ก็เป็นอรหันต์ มันเหมือนกันไหมล่ะ เข้าใจหรือเปล่า พูดขนาดนั้นเทียวนะ มันพิลึกพิลั่นนะพวกเรา มันโง่จะตายไป

อะไรเป็นส่วนธาตุส่วนขันธ์ก็เป็นส่วนธาตุส่วนขันธ์ล้วนๆ ทุกอย่างไม่บกพร่อง อะไรที่เป็นธรรม เช่นจิตที่เป็นธรรมทั้งแท่งแล้วนั้น เป็นธรรมทั้งแท่ง อะไรจะไปเข้าแทรกไม่ได้เลย เป็นคนละฝักละฝ่ายไปแล้ว ทำยังไงให้เป็นอื่นเป็นใดไปไม่ได้แล้ว มันต้องอย่างนั้น เมื่อเรียนมันจบแล้วรู้กันหมด อะไรเป็นยังไง ควรยังไง ไม่ควรยังไง มันรู้หมดนั่นแหละ นี่ละที่ว่าปัญญาหรือเป็นญาณ ญาณประจำความรู้ธรรมธาตุเป็นอีกอย่างหนึ่งนะไม่ได้เหมือนกัน ปัญญาญาณที่แก้กิเลสเป็นประเภทหนึ่ง ปัญญาญาณในหลักธรรมชาติที่อยู่ในธรรมธาตุเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้พอธาตุขันธ์หมดไป ธรรมธาตุจากไปแล้ว อันนี้พูดไม่ได้นะ ดังพระอนุรุทธะว่า ที่นี่ปรินิพพานแล้ว เวลาท่านเสด็จพาดกับสมมุติขั้นใด ปฐมฌาน ทุติยฌาน เป็นสมมุติทั้งนั้น พระจิตที่บริสุทธิ์ไต่เต้าไปตามนี้ พระอนุรุทธะก็ดูพระจิตที่บริสุทธิ์ไต่เต้าไปตามสายทางที่ท่านชมฌานในวาระสุดท้าย จนกระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นสมมุติทั้งหมด

พระจิตที่บริสุทธิ์ไต่ขึ้นไปๆ พระอนุรุทธะก็ดูไป ดูพระจิตที่บริสุทธิ์ ธรรมดาเห็นได้ยังไง นี่ละที่ว่าสูญๆ สูญได้ยังไงฟังซิ ถ้าสูญแล้วอะไรมาไต่เต้าไปตามปฐมฌาน ทุติยฌาน นั่น ถอยออกมาปั๊บลงไปถึงขั้นพระจิตที่บริสุทธิ์ธรรมดา ก็เป็นพระจิตที่บริสุทธิ์ธรรมดา ฌานเป็นฌาน พอก้าวขึ้นมาก็เกี่ยวข้องกับสมมุติว่าก้าวถึงนั้น ๆ ทีนี้พอพ้นจากปฐมฌานแล้ว อากาสานัญจายตนะซึ่งเป็นอรูปฌานก็ไม่ไป รูปฌานก็ผ่านมาแล้ว ออกตรงกลางนี้ ที่นี่ปรินิพพานแล้ว คือไม่มีที่พาดพิง จะบอกไม่ได้ว่าพระจิตที่บริสุทธิ์นี้ไปที่ไหน ๆ บอกไม่ได้เลย แต่ท่านไม่สงสัย บรรดาพระอรหันต์ท่านไม่สงสัย อันนี้ท่านพูดเพื่อสมมุติให้รู้กัน ที่ว่าท่านเข้าฌาน พระจิตที่บริสุทธิ์เข้า พระพุทธเจ้า มีที่พาดพิงก็บอกว่าถึงไหน ๆ ๆ

อย่างพระอนุรุทธะตามเสด็จพระพุทธเจ้าเวลาเข้าฌาน ไปถึงไหน ๆ พระอนุรุทธะตามรู้ตามเห็นไปหมด ออกลงมาก็ตามรู้ พอออกจากนี้ปั๊บแล้ว ทีนี้ไม่มีอะไรพาดพิงแล้วทีนี้ปรินิพพานแล้ว เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่จะมาพูดอีกแล้ว นั่นละสูญไหมอันนั้น นั่นละที่ว่าปรินิพพานแล้ว ไปไม่มีจุดที่หมายของสมมุติ แบบนิพพานว่างั้น ไปแบบธรรมธาตุ มันต่างกันนะ

อยากให้บรรดาพี่น้องทั้งหลายอบรมจิตใจทางด้านภาวนา นี้หลักของพุทธศาสนาโดยแท้อยู่ที่จิตตภาวนา เป็นที่รวมแห่งกุศลทั้งหลาย มหากุศลที่สร้างมามากต่อมากจะมาลงที่จิตตภาวนา มานี้เป็นที่รวมใหญ่ เป็นทำนบใหญ่แห่งกุศลทั้งหลายมาอยู่จุดนั้น มีความสงบเย็นบ้างดี ถ้าไม่สงบไม่ดีนะจิต ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ให้พยายามบังคับ วันหนึ่ง ๆ เวลาจะหลับจะนอนให้หลับกับคำภาวนาดี นึกพุทโธก็เอาพุทโธถี่ยิบจนหลับไปกับพุทโธ ภาวนาอันใดให้หลับกับอันนั้นไปเลย นี่เป็นอารมณ์ของธรรมพาให้หลับ อย่าเป็นอารมณ์ของกิเลสเผาไปพาให้หลับ หลับก็ละเมอเพ้อฝัน นั่นมันต่างกันนะ

เรื่องใจนี้ไม่มีอะไรเลิศเท่าแล้ว นี่แหละ ศาสนาขนโคกับเขาโค เข้าใจเอานะ นี่ขนโค พุทธศาสนาแน่เลยเชียวเขาโค จึงไม่มีมาก มีเท่านี้แหละ นอกนั้นแปลเอา ขนโคมีเต็มบ้านเต็มเมืองเต็มโลกเต็มสงสาร พาใครให้พ้นจากทุกข์ได้ไหม มีแต่ขนโคเพื่อนำสัตว์โลกลงเป็นไฟเผาเท่านั้น นั่นละขนโคนี้ไม่ได้เผาง่าย ๆ เผาตั้งแต่ยังเป็นๆ จะถึงขั้นเผาไม่ได้คือเขาโค ศาสนาเขาโค คือศาสดาองค์เอกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นี่คือศาสนาเขาโค ศาสนาขนโคแล้วแต่ใครจะแปล

เราไม่ค่อยทราบเรื่องศาสนาใด ๆ เราเรียนมาตั้งแต่พุทธศาสนานี้เท่านั้น จึงพูดได้เท่านี้ นอกนั้นเราพูดไม่ได้ ให้เอาไปพิจารณาก็แล้วกัน อันนี้เป็นจุดสำคัญมาก เขาโคกับขนโค แปลได้หลายด้านหลายทาง เช่นอย่างเราคิดไปทางบุญทางกุศล กับคิดไปทางกิเลสตัณหา อะไรเป็นเขาโค อะไรเป็นขนโค ขนโคคือกิเลสมันมากต่อมากวันหนึ่ง ๆ คิดมาเป็นเขาโคสักสองสามประโยค แอ้ ๆ ให้ภาวนาก็แอ้แล้ว ไม่ได้เรื่อง นี่เขาโคเข้าใจไหม ต่อไปก็เป็นโคหัวโล้นไม่มีเขา จะเป็นโคหัวโล้นไม่มีเขาเหรอ ถูกขนโคลบไปแหลกหมดเลย

เอ้าที่นี่ถามมาปัญหา พูดเพียงแค่นี้แหละ พูดมานานพอสมควร ไม่มากแต่เป็นคติดี มีอะไรว่ามา

ถาม ข้อที่ ๑ ขณะลูกเริ่มนั่งสมาธิ เกิดอาการปวดหัว มันเกร็งๆ ไปทั้งหัว แต่จิตลูกสงบนิ่ง รู้ว่าปวดตรงนั้น แล้วก็ค่อยออกพิจารณาเวทนาไป อย่างนี้ถูกต้องประการใดหรือไม่เจ้าคะ

หลวงตา พิจารณาถูกต้อง ไม่เป็นไร พิจารณาให้เอาความรู้เอาสติไปดูกับทุกขเวทนา มันก็เป็นสัจธรรม แล้วมันเคลื่อนไหวไปยังไง มันจะหนักขึ้นหรือจะเบาลง ก็ให้รู้มันทางสติ ถ้าเราจะแยกเป็นทางด้านปัญญา ความเจ็บปวดนี้ก็เป็นทุกขเวทนา เป็นทุกขสัจ ร่างกายของเราก็เป็นอริยสัจอันหนึ่ง ชาติปิ ทุกฺขา ก็คือร่างกายนี้เป็นทุกขสัจ พิจารณาแยกไปไหนมันก็ได้ เขารู้อยู่ที่เจ็บปวดอย่างนั้นหรือ

โยม เขาปวดหัวแล้วก็เอาไปพิจารณาเป็นเวทนา

หลวงตา เออ นั่นละ ให้สติอยู่กับนั้นก็ได้ มันปวดหัว เราภาวนาอะไร เราก็เอาคำภาวนาไปอยู่กับที่ปวดก็ได้ ใช่ไหมล่ะ เช่น พุทโธ ๆ ก็อยู่ที่เจ็บที่ปวดนั้นก็ได้ เข้าใจ ?

ถาม ข้อ ๒ ลูกไปอ่านเจอในหนังสือธรรมคู่แข่งขัน เป็นหนังสือที่หลวงตาเขียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ พอดีลูกไปเปิดเจอในเว็บไซต์หลวงตาเจ้าค่ะ เล่มนี้ดีมาก ๆ มีคำถามคำตอบที่หลวงตาเมตตาเดินทางไปประเทศอังกฤษ ลูกไปอ่านเจอที่หลวงตาตอบปัญหา เกี่ยวกับการนั่งสมาธิแล้วปวดหัว มีอาการตึงที่หน้าผาก หลวงตาตอบว่าถ้าทำแรงย่อมปวดหัวได้ กระแสจิตมีความสำคัญมาก เพ่งให้แรงก็ได้ เบาก็ได้ สิ่งที่ถูกเพ่งย่อมแสดงผลหนักเบาไปด้วย ลูกจึงนำมาพิจารณาปฏิบัติตาม ถ้าลูกนั่งแล้วเกิดปวดหัว ลูกพิจารณาเป็นเวทนา ดูตรงที่ปวด แต่ไม่ได้พิจารณาเพื่อให้หายปวด แต่พิจารณาให้เห็นความจริงในเวทนาที่เกิด อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่อย่างไรเจ้าคะ

หลวงตา ถูกต้อง ให้ความรู้อยู่กับนั้นแหละ หรือเราจะเอาคำภาวนาไปไว้ที่มันเจ็บมันปวดก็ได้ อย่างที่พูดแล้วนะไม่ผิด อยู่ในองค์อริยสัจ

ถาม ข้อ ๓ แต่ขณะจิตที่เกิดอาการปวดหัวนั้น จิตไม่ส่ายแส่ไปไหน มันนิ่งแน่วสงบ เพียงแต่รับรู้ว่าเกิดปวด ไม่ได้ทุรนทุรายไปกับเวทนานั้น เมื่อวานได้ดูการถ่ายทอดสดเทศน์ของหลวงตา ได้ชมหลวงตาเมตตาตอบปัญหา ไม่เคยเห็นองค์ไหนตอบได้ทันทีที่ถามจบ และคำตอบก็สุดยอด ลูกขอน้อมกราบสุดชีวิตเจ้าค่ะ

หลวงตา อันนี้เราตอบไปแล้ว เราก็ลืมแล้วแหละนะ สุดยอดก็ให้เป็นผลของผู้ฟังไป ผู้ตอบนี้ไม่ได้ผลอะไรแหละ ลืมหมดแล้ว เอ้าว่าไป

ถาม คนที่ ๒ ขอกราบนมัสการพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พระเดชพระคุณหลวงตาที่เคารพอย่างสูงยิ่ง กระผมมีคำถามเกี่ยวกับคัมภีร์ ในชั้นอรรถกถา อยากฟังความเห็นของหลวงตาในเรื่องว่า เดี๋ยวนี้ในวงการศาสนาพุทธ มีนักวิชาการส่วนหนึ่งบอกว่า คัมภีร์ในชั้นอรรถกถาไม่น่าเชื่อถือ หลวงตามีความเห็นว่าอย่างไรขอรับ ขอกราบนมัสการด้วยความเคารพ จาก อภิรมย์

หลวงตา คนที่พูดว่าไม่น่าเชื่อถือ เขาเป็นคนประเภทคาถา หรือเป็นคนประเภทอรรถกถา

โยม เขาเป็นนักวิชาการครับ

หลวงตา นักวิชาการ ถ้านักวิชาการก็นักวิชาการตาบอดเข้าใจไหม หามาอวดทำไม ใครจะเกินพระพุทธเจ้า นักวิชาการแก้กิเลสได้ นักวิชาการนี้กอบโกยกิเลสเข้ามาทิฐิมานะ ถือตัวว่าตัวรู้ตัวฉลาด นี้คือคลังกิเลสเข้าใจเหรอ พระพุทธเจ้าคือคลังของธรรม อรรถกถา ท่านแยกขยายออกมา คาถา อรรถกถา เป็นต้นแล้วก็แยกออกมาเป็นกิ่งเป็นก้าน มันก็กิ่งก้านของต้นไม้ต้นนั้นแหละ จะผิดหรือถูกจับกิ่งก้านเข้ามาก็มาหาลำต้นของมัน ถ้าเราไม่เป็นบ้าไปโดดจากกิ่งก้านลงเหวไปเสีย พวกนักวิชาการ อย่าเป็นนักวิชาการลงเหว เข้าใจไหม เอ้า ว่าไป

ถาม คนที่ ๓ ครับ ถามว่า ข้อที่ ๑ คนเราควรต้องปฏิบัติตัวเช่นไรเป็นเบื้องต้น เพื่อที่จะสามารถควบคุมและป้องกันสาเหตุแห่งทุกข์

หลวงตา คำว่าปฏิบัติตนนั้นมันก็เป็นเรื่องโลกกับเรื่องธรรม นี่ปฏิบัติตนเกี่ยวกับเรื่องธรรมหรือปฏิบัติตนแบบโลก ๆ แบบโลก ๆ ก็เกิดขึ้นมา ลูกมันเกิดขึ้นมาจากแม่ แม่ก็ดูแลรักษาเอาเข้าใจไหม นี่ก็เรียกว่าปฏิบัติตนดี แม่ปฏิบัติให้ก่อน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ยังไม่มีก็อาศัยแม่เป็นผู้เลี้ยงดู พี่เลี้ยงทั้งหลายดู นี่ก็เป็นการปฏิบัติตนอย่างหนึ่งเกี่ยวกับร่างกาย ที่จะปฏิบัติตนทางด้านธรรมะให้เป็นคนดี ดีชั่วก็รู้มาตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้ว พ่อแม่ผู้ใหญ่ทั้งหลายก็พูดว่าผิดว่าถูกว่าดีว่าชั่ว เราก็นำเอาความ ผิด ถูก ดี ชั่ว นั้นมาวินิจฉัย อะไรไม่ดีก็ปัดออกอย่าทำอย่ายึด อะไรดีก็สั่งสมสิ่งนั้นเข้าไป ก็เรียกว่าปฏิบัติตนดี เข้าใจหรือเปล่าละ เอ้า ว่าไป

ถาม ข้อที่ ๒ ครับ การเจริญภาวนาควรปฏิบัติเช่นใด ถ้าเรายังมีภาระในทางโลก

หลวงตา ใครที่ไม่มีภาระในทางโลก เหอ ตั้งแต่ไอ้ปุ๊กกี้เรายังมีภาระวะ คนจะอวดเก่งมาจากไหน ไอ้ปุ๊กกี้มันยังมีภาระ คนมายุ่งมันมาก ๆ มันก็แว็ก ๆ มันเห่าเอา นั่น ภาระของมันให้มันได้เห่าว่าไง พูดอะไรอย่างนั้น คนมีงานมีการอยู่เป็นธรรมดาไม่ใช่คนตาย ต้องกินอยู่หลับนอนต้องวิ่งเต้นขวนขวายหามา นี้ก็เป็นเรื่องของเราเป็นผู้หามา การเสาะแสวงหาธรรมก็แสวงภายในจิตใจและกาย วาจา เราก็ทำได้เช่นเดียวกับโลก ถ้าเราไม่บัดซบเสียอย่างเดียวเข้าใจเหรอ เราอยากเป็นคนบัดซบก็ให้ทำเหมือนคนตายแล้วนั่นนะ เข้าใจไหม ถ้าจะทำงานทางโลกก็ทำเป็นบ้าไปเลย ถ้าจะทำงานทางธรรมไม่มีเวลา ตายแล้วมีเวลามาจากไหน อยากถามว่าอย่างงั้นนะ เข้าใจหรือเปล่าล่ะ เอ้า ว่าไป

โยม จบแล้วครับ

หลวงตา เออ มันกำลังเริ่มคันฟัน เอ้า จริง ๆ นะ เอ้า ถามมาธรรมะขั้นใดว่าอย่างนี้เลยละ ถ้าลงว่า เอ้า จะตอบเตรียมแล้วนะ ปุ๊บปั๊บ ๆ เลยทันที

โยม ขอโอกาสเจ้าค่ะ ที่มีคนถามถึงอรรถกถานะค่ะ ก็คงหมายถึงว่า ตำราที่อรรถกถาจารย์อธิบายคัมภีร์พระไตรปิฎก คงจะหมายถึงอย่างนั้นมากกว่า

หลวงตา เออ ก็อย่างนั้นแล้ว พระไตรปิฎกก็มาจากคาถามาจากพุทธพจน์ว่ายังไง เราก็เลือกเฟ้นเอาซิ กิ่งนั้นก้านนี้ก็มาหาต้นใหญ่ ถ้ามันไม่เลือกผิดโดดผิด โดดผิดตกเหวตายเสียไม่กุสลาให้ เข้าใจเหรอ ก็ยังบอกให้พินิจพิจารณานะ นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ว่าไง เอะอะจะไม่เชื่ออย่างเดียวไม่ได้ เราเก่งกว่าศาสดามาจากไหน เก่งกว่าอรรถกถาจารย์มาจากไหน จึงจะว่าไม่เชื่อทีเดียว อันนี้ก็ยิ่งเห็นความเลวความชั่วของเจ้าของเข้าใจหรือเปล่าล่ะ แล้วมีอะไรอีกล่ะ พุทธพจน์ คาถา อรรถกถา แปลมาเรื่อย ๆ ถ่ายทอดกันมาเรื่อย ๆ ใช่ไหมล่ะ เราก็จับไปจากนี้เข้าไปหาต้นตอเอาซิ ถ้าเป็นผู้เฉลียวฉลาดจริง ๆ น่ะ ถ้าจะเอาหลักวิชาการมาอวดนี้ นักวิชาอันนี้ไม่มีใครเชื่อเหมือนกันนั่นแหละ อย่าว่าแต่เราไม่เชื่ออย่างเดียวเขาก็ไม่เชื่อเราเหมือนกันทั้งโลกคนแบบนี้น่ะ เข้าใจเหรอ เอ้า ว่าไป

โยม อันนี้ขอขยายอันนี้ครับ ที่เขาบอกเขาดูการถ่ายทอดสดเทศน์หลวงตานี้ ทางอินเตอร์เน็ตนี้ครับ เขาว่าหลวงตาตอบปัญหาไม่เคยเห็นองค์ไหนตอบได้ทันทีที่ถามจบ คงจะหมายความว่าหลวงตาได้คิดคำตอบไว้ก่อนหรือเปล่า

หลวงตา ก็คิดเสียก่อนถึงตอบ จะคิดปัจจุบันก็ได้ คิดมาจากอดีตก็ได้ใช่ไหมล่ะ เรื่องคิดคิดปุ๊บปั๊บตอบทันที ไม่มีความคิดออกมาก่อนตอบไม่ได้ ออกเป็นเสียงมาไม่ได้ แต่เราพูดธรรมดาก็ว่าความคิดนี้ต้องคิดไว้ไตร่ตรองเสียก่อน ถ้าตอบในปัจจุบันนั้นเรียกว่าไม่คิด ธรรมดาเป็นอย่างนั้น นี่หลักใหญ่ใช่ไหมล่ะ แล้วก็ถามเกี่ยวกับเรื่องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้เขาไปตอบเองหาคิดเองเถอะ ใครไม่ติดขัดละอยากคิด เท่านั้นละเราขี้เกียจตอบ บอกแล้วนี่ ท่านเจ้าคุณท่านยังถามเรา เรายังไม่ลืมได้พูดเสมอ เพราะไปที่ไหนมีแต่ให้เราเทศน์ ท่านไม่เคยเทศน์ไปไหนมีแต่เราทั้งนั้นแหละเทศน์ เอาไปเทศน์หมดที่ไหน ยิ่งเขามาช่วยโบสถ์ของท่าน ไปกู้เงินมาจากมหามกุฏฯ ลูกศิษย์ลูกหา เพราะท่านเป็นเจ้าคณะภาคจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคอีสานมาหมด เดี๋ยวจังหวัดนั้นมาเดี๋ยวจังหวัดนี้มา มาทอดผ้าป่า จังหวัดไหนมาที่ไหนมาก็ตามต้องเราโดยถ่ายเดียวเป็นผู้เทศน์ ท่านมาเอาเลยนะท่านไม่ให้คนอื่นคนใดมา เพราะเราก็มียาแก้อยู่ในย่ามเรานี้ ท่านมาเราแก้อย่างนั้นอย่างนี้ไม่ไปเสียท่านเลยมาเอง อย่างที่เขาถ่ายรูป ๘-๙ องค์ เห็นไหม เราผอม นั่น เราไข้อยู่นะ

ไปไหนมีแต่เทศน์ พอเทศน์แล้วก็แหย่เขาละ เอ้า ใครมีปัญหาอะไรถามมาสนทนากัน พอเขาถามปั๊บ เอ้า บัวแก้ แน่ะ อย่างนี้ตลอด ทีนี้นานแสนนานท่านก็ถามละซิไปอยู่ ๒ ต่อ ๒ อยู่เฉย ๆ ก็บัว นั่งอยู่ด้วยกันดูหน้ากัน บัว ที่เขาถามปัญหามาตลอดมากต่อมาก เธอตอบนี้ ถ้าใครถามมาปั๊บถามตรงไหนปั๊บตอบปั๊บ ๆ เธอได้คิดไว้ไหมว่างั้น เราก็เฉย ยิ้มๆ แล้วเฉยเสีย นี่มันไม่ใช่หนหนึ่งหนเดียวมันมากต่อมากมาอย่างนี้ ดูเธอตอบปัญหาตอบอย่างนี้ทั้งนั้น พอถามปั๊บตอบเลย ๆ ๆ นี่เธอได้คิดไว้บ้างไหม เราก็ยิ้มเราไม่ตอบเฉย สุดท้ายท่านก็รวบวุธเอาเลย ขึ้นเด็ด ๆ เสียด้วย ไม่คิด ถ้าคิดตอบไม่ทัน ท่านเลยตอบเอง เราก็เลยเฉยไปเลยจนกระทั่งท่านตายจาก ไม่คิด ขึ้นเลย ถ้าคิดตอบไม่ทันท่านว่าอย่างนั้นละ

โยม พ่อแม่ครูอาจารย์ตอบตามญาณ

หลวงตา ญาณบ้าอะไร อันนี้มันพูดไม่ได้ละ พูดไม่ถูก รู้ได้เฉพาะเจ้าของ แต่การตอบปัญหานี้มันมีอยู่ ๒ แง่นะ พอถามปั๊บมานี้ ทางนี้ขึ้นรับกันปั๊บนี้จะขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์เลยนะ ทีนี้ขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นี้เราดูสภาพผู้มาถามปัญหาจะสามารถรับได้มากน้อยเพียงไร ออกนี้ออกร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เราต้องแยกปั๊บอีกทันที ออกตามที่เขาจะรับได้ เช่น อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ควรจะตอบ ๗๐% - ๘๐% - ๖๐% ก็ตอบ ถ้าเลยจากนั้นแล้วไม่ตอบ ไม่เกิดประโยชน์ เราตอบเสียตามนั้น แต่เรื่องคำรับกันนี้มันจะออกร้อยเปอร์เซ็นต์ทันที ๆ เราแยกตอบเอาอันไหน ถ้ายิ่งเป็นภาคปฏิบัติแล้วนั้นมักจะออกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะภาคปฏิบัติเป็นธรรมที่มุ่งเข้าสู่จุด ๆ ผู้ถามมามักจะเข้ามาตามจุดเลย สวนหมัดปั๊บเลยเข้าจุดปั๊บ อย่างนี้ได้ความเลย ได้ทันทีเลย อย่างนี้ออกทันทีเลย เรียกว่าออกร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกนั้นก็ลดลงมา ๆ ถามสุ่มสี่สุ่มห้า อย่างมาถามนี้ก็ตอบไปเล่น ๆ ไปอย่างนั้นแหละ พูดเล่นบ้างจริงบ้าง บางทีก็บ้านี่ว่างั้นไปเสีย มันเอาแน่ไม่ได้ละการตอบปัญหายังบอกแล้วนี่

บางทีแทนที่จะจริงกลับเป็นเล่นไปเสีย บางทีใส่ปั๊วะก็ตายเสียดีกว่าไปอย่างนั้นเสียอย่างนั้นละ มันแล้วแต่ปัญหามันรำคาญหรือพูดไปอย่างนั้นก็มี เอาเท่านั้นละนะ แล้วมีปัญหาอะไรอีกล่ะ

พระหลวงตาเจ้าคะ เมื่อวานมีผ้าป่าต่อยอดมา ๒,๑๐๐ บาท วันนี้ได้ ๓,๐๓๐ บาท รวมทั้งหมดเป็น ๕,๑๓๐ บาท แล้วทองคำ ๓๘ สตางค์เจ้าค่ะ

โยม เพื่อนมาจากกรุงเทพขออนุญาตกราบเรียนถามเรื่องภาวนาค่ะ

หลวงตา ถามว่ายังไง

โยม คือว่าภาวนาไปแล้วนะค่ะ สักพักหนึ่ง

หลวงตา ไหนว่ายังไง

โยม ภาวนากำกับด้วย พุทโธ นะค่ะ ตลอดเวลา แล้วทีนี้มันก็เกิดขึ้นว่าพยายามบังคับให้จิตอยู่ที่ตรงหัวใจอยู่ตลอดเวลานะคะ

หลวงตา ตรงไหนก็ตาม ให้พุทโธเราขึ้น ผู้รู้อยู่กับพุทโธเราไม่ต้องไปกำหนดว่าสูงไปต่ำไปในอวัยวะของเรา มันขึ้นตรงนี้แหละธรรมดามันนะ แต่ถ้าเราบริกรรมพุทโธ ให้ว่าพุทโธอยู่ไหนก็ตามความรู้อยู่ตรงนั้นแหละ อยู่ได้หมดความรู้ไม่ผิด

โยม แล้วทีนี้คือมันเกิดปัญหาขึ้นก็คือว่า ช่วงนี้มันเป็นเหมือนกับว่ามันไม่ยอมอยู่กับที่มันขยายแผ่ ๆ ไปเรื่อยๆ ค่ะ แล้วทีนี้ปัญหาคือว่ามันทำให้อยู่กับที่ยาก

หลวงตา ไหนว่ายังไง

โยม คือพุทโธอยู่ตรงหัวใจนี้ค่ะ แต่ทีนี้มันรู้สึกว่ามันแบบแผ่ขยายออกไปค่ะ

หลวงตา เอ้า ว่าไป แผ่ขยายออกไป เอ้า ว่าไป

โยม แผ่ขยายออกไปแล้วแผ่เป็นวงกลมกว้างค่ะ กว้างไปเรื่อย ๆ ยิ่งกว้างไปเท่าก็คือเหมือนกับคล้าย ๆ จะเห็นไปตรงบริเวณกว้าง ๆ นั้นด้วย

หลวงตา ให้ย่นเข้ามาอยู่กับพุทโธจุดเดียวเสีย เรื่องเหล่านั้นจะสงบเข้ามา

โยม ก็คือบังคับให้มันอยู่ตรงที่เดียว

หลวงตา เออ อยู่ที่เดียวแล้วเรื่องเหล่านั้นจะสงบเข้ามา มันอยู่จุดนี้จุดเดียว พอมันขยายไป ทีนี้ความรู้นี้ตามมันมันก็จะขยายออกไปเรื่อย ๆ ถ้าตามไป ๆ เรื่อย ๆ นะ ถ้าถอยความรู้เข้ามาแล้วอันนั้นก็หดเข้ามา มาอยู่กับพุทโธคำเดียวไม่ออกไปไหน ก็อยู่ที่นี่จุดเดียว เรื่องนั้นสงบหมดเข้าใจไหมล่ะ แล้วมีอะไรอีกล่ะ

โยม แล้วบางทีมันก็ขึ้นลงค่ะ

หลวงตา ขึ้นลงช่างหัวมันเถอะ ความรู้ไม่ขึ้น

โยม มันลงไปข้างล่าง

หลวงตา ให้มันลงไป ลงนรกอเวจี ไปถามชื่อมันไปดูซินะ ตั้งแต่มันไม่ลงเรายังลงเข้าใจไหม เวลาปวดขี้มันอยู่ได้ มันลงทั้งนั้นละลงไปส้วม เอ้า ว่าไป

โยม ดึงเข้ามา พุทโธ อย่างเดียวนะคะ

หลวงตา ให้อยู่กับพุทโธ ถ้ามันจะมีอาการไปอย่างนั้นให้ถอยเข้ามาอยู่กับ พุทโธ เท่านั้น มันก็หมดไปละ อันนี้เป็นอาการของจิตทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าเป็นธรรมเป็นกิเลสออกจากนี้ไป อาการอะไรเป็นธรรมที่เราควรจะพิจารณาอันนั้นยังไม่บอกเวลานี้ ให้อยู่กับนี้ก่อน ให้อยู่กับพุทโธก่อน เรื่องธรรมเรื่องกิเลสยังไม่พูดนะมันจะตามไม่ทัน เดี๋ยวจะกลายเป็นกิเลสไป ให้อยู่กับจุดนี้เป็นธรรมล้วน ๆ เข้าใจ

โยม ค่ะ เข้าใจค่ะ

 

ชมการถ่ายทอดสดทั่วโลกทุกวันที่  ได้ที่

www luangta.หรือ com www.luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก