เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ [ค่ำ]
กองทุกข์ทั้งหลายมารวมอยู่ที่กามกิเลส
ผมก็ไม่มีเวลาที่จะแนะนำสั่งสอนเพื่อนฝูง เพราะงานผมก็มีอยู่ตลอดดังที่เห็นนั้นละ เพราะฉะนั้นจงพากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ อย่าถืออะไรเป็นใหญ่เป็นโต เป็นหลักเป็นเกณฑ์ยิ่งกว่าสติที่จ่ออยู่ในหลักธรรมหลักวินัย หลักธรรมหลักวินัยนี้แลเป็นทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียวเท่านั้น นอกนั้นพระพุทธเจ้าไม่ทรงรับรองเลยว่า ผู้ที่ข้ามเกินหลักธรรมหลักวินัยนี้จะเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ และพ้นจากทุกข์ไปได้ ไม่มี เพราะฉะนั้นเราผู้ปฏิบัติให้ยึดหลักธรรมหลักวินัยเป็นหัวใจของเรา มีสติคอยประคับประคองระมัดระวังรักษาตัวให้ดี
เรื่องมรรคผลนิพพาน อย่าไปคิดให้เสียเวล่ำเวลากับสิ่งนั้น กาลนี้ เวลานั้น สถานที่นั่นที่นี่ อย่าไปคิดให้เสียเวลา นอกจากสติกับธรรมที่เราก้าวเดินอยู่ด้วยจิตตภาวนาของเราทุกอิริยาบถ อันนี้เป็นความพากเพียรของผู้จะทรงมรรคทรงผลโดยตรง นอกนั้นไม่มี อันนี้เป็นเครื่องยืนยัน เราอย่าหาสิ่งใดซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสหลอกลวงเสียมากต่อมากมาเป็นที่ยึดที่เกาะ แล้วก็คว้านู้นคว้านี้ มีแต่ความเหลวไหลไปตามกิเลสทั้งนั้น สิ่งที่แน่นอนที่เป็นสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้นั้น คือธรรม คือวินัย ให้ยึดนี้ไว้ให้ดี นี้ละเป็นทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพานโดยตรง ไม่ว่าครั้งใดสมัยใด ผู้ที่ยึดตามหลักธรรมหลักวินัยด้วยความเข้มงวดกวดขันในตัวเองเสมอ จะเป็นผู้ก้าวเดินตามเสด็จพระพุทธเจ้าโดยลำดับลำดา ในทางความพากเพียรไม่ท้อถอยอ่อนแอ จึงขอให้ทุกท่านได้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ
การที่ผมสอนเพื่อนฝูงทั้งหลายนี่ผมหมดความสงสัยมาเป็นเวลา ๕๔-๕๕ ปีนี้แล้ว ไม่มีแง่ใดที่จะให้เกิดความสงสัยในธรรมทุกขั้นทุกภูมิที่นำมาสั่งสอนเพื่อนฝูง สอนด้วยความแน่ใจจากหัวใจที่รู้กระจ่างแจ้งเต็มอยู่ภายในจิตนี้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีอะไรสงสัยในศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ เป็นศาสนาชั้นเอกอุ ไม่มีแง่ใดที่จะให้เกิดความข้องใจสงสัยแม้แต่น้อยเลย
จึงขอให้พากันลงใจปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย นี้คือทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ สิ่งที่เราประกอบก็คือความพากเพียร อย่าให้เคลื่อนคลาดจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยสำคัญมากนะ ใครอย่าถือว่าวินัยไม่สำคัญ วินัยนี่สำคัญมากทีเดียว ถ้าลงได้ข้ามเกินด้วยความฝ่าฝืนแล้วผู้นั้นหมดหนทางที่จะก้าวเดินต่อไป หาความเจริญไม่ได้เลย ผู้ใดมีหิริโอตตัปปะสะดุ้งกลัวต่อพระโอวาทที่แสดงไว้แล้ว คือบัญญัติไว้แล้วนั่นเองอยู่ตลอดเวลา ผู้นั้นจะเป็นผู้ก้าวเดินตามศาสดา จะไม่เป็นอื่นเป็นใดแหละ จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว
ทางด้านธรรมะ ความเพียรภายในใจของเรา ใครผู้ปฏิบัติในธรรมขั้นใด ตอนใด หรือเป็นคำบริกรรม ให้เป็นหลักใจของตนเองในขั้นเริ่มแรกที่ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติด้วยความมีสติ เฉพาะอย่างยิ่งการตั้งสติ และถือคำบริกรรมในธรรมบทนั้นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของใจอยู่แล้ว ผู้นั้นแน่นอนว่าจิตนี้จะเข้าสู่ความสงบได้ไม่สงสัย เพราะจิตที่เผลอเมื่อไรนั่นน่ะคือกิเลสเอาไปแล้วๆ มันจึงตั้งไม่ได้ พอเจริญแล้วเสื่อมๆ ดังที่ผมเคยพูดให้ท่านทั้งหลายฟังแล้ว
นี้ผมได้ทดสอบตัวเองมาพอ จนถึงขั้นว่าลงใจว่า เราอาจสงสัยในธรรมทั้งหลายที่เราเจริญแล้วเสื่อม ๆ นั่นเพราะเราไม่ได้ใช้คำบริกรรม มีแต่สติเฉย ๆ เผลอได้ ทีนี้เราจะตั้งใหม่ให้มีคำบริกรรม แล้วก็มีสติติดแนบกับคำบริกรรม ไม่ยอมให้จิตคิดออกนอกลู่นอกทาง หรือคิดในแง่ใด นอกจากคำบริกรรมนี้เท่านั้น นี่ละจิตของเราจึงเสื่อม ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็ค่อนข้างแน่ใจแล้ว เพราะพ่อแม่ครูจารย์ก็สอนอยู่แล้ว จึงได้ประมวลลงมาลงใจในจุดว่าคำบริกรรมนี้ละ ที่นี่เอาฝากเป็นฝากตายกับคำบริกรรมนี้เลย จะไม่เป็นอื่น
จึงได้พูดว่าเป็นเหมือนระฆังดังเป๋งเลย นักมวยต่อยกัน พอระฆังดังเป๋งก็ต่อยเลย อันนี้ลงใจปึ๋งนั่นเท่ากับระฆังดังเป๋ง ปึ๋งว่าจะบริกรรมไม่ให้เผลอตั้งแต่บัดนี้ต่อไป นี่ละเรียกว่าระฆังดังเป๋ง จากนั้นปั๊บ ผมชอบพุทโธเป็นนิสัย พุทโธเลยติดแนบตลอดทั้งวันไม่ยอมให้เผลอ เอ้า มันจะเผลอไปไหนได้ สติติด เอ้า ทุกข์ก็ทุกข์ เป็นตายไม่ยอมให้เผลอ ไม่ปล่อยวางพุทโธกับสติ เอาถึงขนาดนั้นเทียวนะ ผมไม่ได้ลืมสด ๆ ร้อน ๆ ทุกข์มากนะเราตั้งสติเบื้องต้น เพราะจิตที่มันเคยคิดเคยปรุงไปทางกิเลสมันเป็นเหมือนน้ำพุพุ่งออกมาจากใจ ดันคำว่าพุทโธให้แตกกระเจิงไปหมดเลย แล้วน้ำพุของกิเลสมันจะพุ่งไปตามหน้าที่ที่มันเคยมาแล้วจนชิน
เราจึงต้องบังคับ เอาพุทโธบังคับจิตไม่ให้คิดอย่างอื่นอย่างใด ให้มีแต่คำว่า พุทโธ อย่างเดียวเท่านั้น กับสติบังคับไว้อีกอย่างนี้ เอาจนหนัก ทุกข์มากแต่สำคัญที่ไม่ยอมถอย ไม่ได้หลายวันนะที่เอากันอย่างนี้ หนัก วันแรกนี้หนักมาก พอวันที่สองมาก็ค่อยเบาลง ทั้งๆ ที่ก็ไม่เผลอด้วยกัน จากนั้นสามวันสี่วันทีนี้เบาลงๆ น้ำพุของกิเลสนั้นจะเบาลงมากๆ น้ำอรรถน้ำธรรมคือคำบริกรรมนี้จะคล่องตัวไปเรื่อย ๆ สติติดแนบกันตลอดทุกวันไม่ให้เผลอเลย ต่อไปก็ค่อยตั้งรากตั้งฐานได้
นี้ละได้เอามาสอนเพื่อนฝูง ผมได้ทำมาแล้วถึงขั้นระฆังดังเป๋ง คือลงใจแล้วทีนี้ฟัดกันเลยทีเดียว ก็ได้ผลดังที่ว่านี่ ท่านผู้ใดเป็นผู้ตั้งอกตั้งใจอย่างนี้แล้วแน่นอน จิตใจต้องสงบได้ไม่เป็นอื่น ได้ทำแล้วให้เห็นชัดเจนประจักษ์ใจ ทีนี้เวลาเจริญขึ้นไปแล้วมันเคยเสื่อมแต่ก่อน เอ้า เสื่อมก็เสื่อมปล่อยเลย มันจะเจริญก็เจริญ เพราะอยากเจริญไม่อยากให้เสื่อม ไม่อยากเท่าไรมันก็เสื่อมต่อหน้าต่อตา คราวนี้ปล่อยทั้งความเจริญและความเสื่อม สิ่งที่ไม่ปล่อยก็คือคำบริกรรมกับสติจะไม่ปล่อย ตายด้วยกันกับนี้เลย ก็เอากันตั้งแต่นี้
พอถึงขั้นที่มันจะลงไม่ลงที่นี่นะ เอ้า ปล่อยเลย ไม่เป็นอะไรตายอยากกับมันละ คำบริกรรมนี้ให้ติดกับตัวเอง มันก็ขึ้น ๆ ขึ้นแล้วทีนี้ไม่ลง เจริญไปเรื่อย ๆ จึงจับหลักได้ว่า อ๋อ นี่เป็นเพราะเราเผลอที่ไม่ได้คำบริกรรมกำกับนี้เอง มีแต่กำหนดสติเฉย ๆ เผลอได้ นั่น เอาละที่นี่ คราวนี้เราทำอย่างนี้ไม่เผลอ แล้วจิตเห็นผลประจักษ์อย่างนี้ ตั้งแต่นั้นจิตก็ก้าวขึ้นเรื่อย ๆ ๆ นี่สอนผู้ที่เริ่มต้นอยากจะได้หลักได้เกณฑ์ในจิตใจ ให้ทรงความสงบเย็นใจของเราจากความพากเพียรที่ประกอบแล้ว ก็ขอให้พากันทำอย่างนี้
อย่าพากันเหลาะแหละนะ อย่าเสียดายความคิดความปรุงที่กิเลสหลอกลวงมานานแสนนานแล้ว อย่าเสียดาย เราเคยคิดมามากต่อมากแล้วปล่อยให้หมด เอาที่มันขมๆ นี่ละ กิเลสมันถือว่าขมเหมือนบอระเพ็ด คือคำบริกรรม บังคับใส่นั้นนะ แล้วขมนี่ก็จะหวานออกไป ต่อไปหวาน ๆ ไปเรื่อย ๆ เลย ทีนี้จิตสว่างไสวขึ้นมาละ ให้จำอันนี้ให้ดี ขอให้มีหลักใจนะผู้ปฏิบัติ อย่าเหลาะแหละโลเล ถ้าเหลาะแหละแล้วจะทำอะไรไม่ได้เรื่องทั้งนั้น จะบริกรรมภาวนาแบบใดวิธีใดความเหลาะแหละจะไปทำลายให้ล้มเหลวไปหมด ถ้าความจริงจังจับได้ตรงไหน เมื่อถูกแล้วจับให้ถูกแล้วเอาไปเลย แล้วจะมีความเจริญรุ่งเรือง
ผู้มีธรรมขั้นใดก็ตามสติเป็นของสำคัญมาก อย่าปล่อยอย่าวางสติ ในเบื้องต้นสติต้องเป็นพื้นฐานสำคัญ ครั้นต่อไปจิตมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ แล้วออกทางด้านปัญญา ปัญญานี้จะมีเป็นระยะนิดหน่อยๆ เบื้องต้น จะมีแต่สติเป็นพื้นฐาน ต่อเมื่อปัญญาได้ออกทำงานทางด้านคลี่คลายสกลกาย ซึ่งเป็นของสำคัญมากในตัวของเรา กิเลสในหัวใจสัตว์ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะรุนแรงยิ่งกว่ากามกิเลส ราคะตัณหานะ ให้จำให้ดี ตัวนี้ตัวฝังลึกมากที่สุด ประหนึ่งว่ากิเลสทั้งมวลมีตัวนี้เท่านั้น เหมือนหนึ่งว่ามีกิเลสตัวเดียว มันใหญ่กว่าเพื่อนกว่าฝูง บังคับให้โลภ ให้โกรธ ให้อะไรอยู่กับตัวนี้เป็นสำคัญ
พอตัวนี้เบาลง ความโลภมันก็เบา ความโกรธก็เบา เพราะตัวนี้เบาลง พิจารณาทางด้านอสุภะอสุภัง พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ดูข้างในข้างนอก ผิวหนังเรานี้มันบางนิดเดียวเท่านั้น ดูเอานะ มันประดับคนทั้งคนกลายเป็นนางงามจักรวาลไปได้ ทั้ง ๆ ที่หนังมันบาง ๆ เป็นเครื่องหลอก มันยังถือว่าเป็นนางงามจักรวาลไปได้ ใหญ่โตไหมกิเลสหลอกลวงคน นั่นละแล้วค่อยคลี่คลายเข้าไป เบื้องต้นมันไม่ชำนาญเราก็ต้องพยายามฝึก ใช้การพินิจพิจารณา แต่ขอให้จิตมีความสงบบ้างพอประมาณก่อน จิตถึงจะไม่หิวโหยในอารมณ์ต่าง ๆ ถ้าจิตยังไม่มีความสงบบ้างเลยนี่พาพิจารณาทางด้านปัญญานี้มันจะกลายเป็นสัญญา เถลไถลออกนอกลู่นอกทางกลายเป็นกิเลสไปเลยนะ
ท่านจึงสอนเรื่องสมาธิเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ให้อิ่มอารมณ์ทั้งหลายแล้วพาพิจารณาทางด้านปัญญา นี้แม่นยำมากที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ สีลปริภาวิโต ปญฺญาปริภาวิตํ สอนตั้งแต่นี้ละไป คือหล่อเลี้ยงกันเป็นลำดับ หนุนกันเป็นลำดับลำดาไป ให้เราจับจุดนี้ไว้ มรรคผลนิพพานอยู่ที่หัวใจของเรานะ อย่าไปคิดอื่นใดให้กิเลสหลอกไป ๆ อยู่ที่ความเพียรของเรานี่ละ หนุนให้ดี การพิจารณาร่างกายนี้ก็แล้วแต่อุบายของผู้ใด มันเป็นอุบายวิธีการของแต่ละคน ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในสกลกายของตน ให้นำมาคิด
เราจะพิจารณาให้เป็นของเน่า ของเหม็น ของเปื่อย แตกสลายทำลายลงไป พิจารณาภายนอก คนอื่น หญิงอื่น ชายอื่นก็ได้ พิจารณาเราเป็นอย่างนั้นก็ได้ มันเป็นเรื่องสมุทัย มันติดได้ทั้งข้างนอกข้างใน เมื่อพิจารณาเป็นมรรคพิจารณาข้างนอกก็ได้ ข้างในก็ได้เป็นมรรคด้วยกัน ให้นำมาพิจารณา นี่ละทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ พอจิตมีความสงบเป็นปากเป็นทางได้แล้วให้ใช้ปัญญา อย่าไปนอนอยู่เฉยๆ นะ ความสงบนี้สงบไปเรื่อย ๆ แล้วก็มีเพียงเท่านั้นไม่ได้มีความแยบคายยิ่งกว่านั้น ผมเคยเป็นมาแล้วสมาธิเต็มภูมิมาถึงขนาด ๕ ปี
ไม่มีละเรื่องที่จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันรำคาญ ถ้าอยู่ด้วยความสงบแน่วอยู่อันเดียวเท่านั้น ทั้งวันอยู่ได้ อยู่ไหนอยู่ได้ เลยสบายอยู่กับนั้น แล้วไม่รู้ตัวว่าติดสมาธิแล้ว ไม่อยากใช้ปัญญา นี่ละจึงต้องดึงออกมา เมื่อมีกำลังพักทางความสงบแล้วเอาออกมาใช้ทางปัญญา เบื้องต้นมันจะไม่อยากออกนะ ถือว่าเป็นการกวนความสงบคือสมาธิของตน แล้วให้ดึงออก จำให้ดีคำเหล่านี้ ดึงออกพิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ พอพิจารณาไป ๆ นี้สมาธิเป็นเครื่องหนุน มันอิ่มอารมณ์แล้วมันไม่ไปคิดเรื่องอื่นนอกจากทางด้านปัญญาที่เราตั้งหน้าตั้งตาพิจารณา มันจะพิจารณาทางนั้น แล้วค่อยแยบคายออกไปๆ
พิจารณาอสุภะอสุภัง พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า เหมือนเขาคราดไร่คราดนานั่นแหละ กลับไปกลับมาจนมูลคราดมูลไถมันแหลกลงไป พอปักพอดำก็ปักก็ดำ อันนี้พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า จนเรื่องอสุภะอสุภังมีความชำนิชำนาญ และคล่องแคล่วไปโดยลำดับลำดา ทีนี้ปัญญาจะค่อยก้าวเดิน เห็นผลแห่งการพิจารณาของตน นี่เป็นก้าวสำคัญมาก จากนั้นก็ดังที่เทศน์ในวันเข้าพรรษา มันจะก้าวเข้าสู่อสุภะที่จะตัดราคะตัณหาตรงนั้น แต่อันนี้ยังไม่ชำนาญยังก้าวไม่ได้ ก็สอนวิธีแล้วให้ท่านทั้งหลายจำให้ดี นี่ละทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน
ปัญญาอย่าปล่อยอย่าวาง เมื่อมีความสงบพอเป็นปากเป็นทางแล้วให้ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาทางด้านปัญญา แล้วจิตใจที่ออกรู้ทางด้านปัญญานี้จะเบิกกว้างออกไปๆ ขยายออกไป ละเอียดลออเข้าไป ผิดกับสมาธิเป็นไหนๆ นะ จนถึงขนาดที่ว่าได้มาตำหนิสมาธิว่ามันนอนตายเฉยๆ สมาธิไม่ได้แก้กิเลส ปัญญาต่างหากแก้กิเลส มันรู้ขึ้นมาในตัวเอง แก้กิเลส รู้กิเลสไปโดยลำดับลำดา แต่อยู่ในสมาธิไม่รู้อะไร รู้อันเดียวแน่ว เป็น เอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์ เท่านั้นเอง พอออกทางด้านปัญญามีความแยบคาย จึงให้ใช้ปัญญาให้ดีทางด้านอสุภะอสุภัง
กิเลสตัวนี้หนามากนะ หนักมาก กดถ่วงมากทีเดียว พอตัวนี้ค่อยเบาไป ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเบาไปตาม ๆ กันหมด จึงทราบได้ชัดเจนว่ากามราคะนี้รุนแรงมาก ออกสนาม แนวรบทั้งหมดอยู่ในนี้หมดทีเดียว พอตัวนี้อ่อนลงๆ สิ่งทั้งหลายก็อ่อนไปตามๆ กันหมด ฟาดตัวนี้ขาดลงไปเท่านั้นสิ่งทั้งหลายมันก็ขาดไปตามๆ กัน เพราะตัวนี้เป็นเจ้าอำนาจบาตรหลวงอันใหญ่หลวง ให้พิจารณากันตรงนี้นะ
ผมนี่เป็นห่วงเป็นใยกับเพื่อนกับฝูงทั้งหลาย กลัวจะไม่ได้ทรงมรรคทรงผลตามทางศาสดาที่สอนไว้ ทั้งๆ ที่เราเป็นกรรมฐานเต็มตัวด้วยกัน ปฏิบัติกรรมฐานทุกวี่ทุกวัน ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติมาจนกระทั่งบัดนี้ ไม่ปรากฏผลแห่งการปฏิบัติธรรมของตนทางด้านจิตตภาวนานี้ไม่ดีเลย ไม่มีความหมาย ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เป็นโมฆกรรมฐาน เพราะฉะนั้นจึงพากันเน้นหนัก ในทางด้านสมาธิก็เอาให้สงบให้ได้ ทางด้านปัญญาก็เอาให้มีความแยบคายจนได้ พอปัญญาแยบคายแล้วมันจะค่อยรู้ไอ้เรื่องอสุภะอสุภัง มันคล่องตัวถึงขนาดแย็บเดียวเท่านั้นมันพุ่งขาดสะบั้นไปหมดๆ นี่คือปัญญาชำนาญ ผมเป็นมาหมดแล้วนะเรื่องเหล่านี้
เมื่อจากนั้นแล้วจึงได้เข้าประมวลกัน เข้าขั้นที่จะตัดขาดจากราคะดังที่ผมพูดแล้ว แต่ไม่บอกในจุดที่มันขาด จะเป็นสัญญาอารมณ์แก่ผู้ปฏิบัติ ให้เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ของตัวเอง แล้วจ้าขึ้นมา เอ้ออย่างนี้ นั่น ขาดหรือไม่ขาดมันก็รู้เอง ถ้าเราบอกว่าให้ทำอย่างงั้น ๆ มันจะเป็นอย่างงั้น ๆ มันไปหมายอย่างลึกลับเสีย แล้วมันก็เอาอันลึกลับที่ไปหมายว่าเป็นความจริง แล้วหลอกตัวเองไปลึกๆ เพราะฉะนั้นธรรมะอันนี้แม้พ่อแม่ครูจารย์มั่นก็ไม่เคยบอก เวลามันผ่านเข้าไปผางมันก็รู้เอง
ทีนี้สอนท่านก็สอนเลยจากนั้นไปเสีย ในจุดนั้นท่านไม่สอน ให้ผู้นั้นพิจารณาตัวเอง ขอให้เรื่องอสุภะมีความคล่องแคล่วว่องไว แล้วก็มาตั้งจุดที่ว่า เอาให้มันรู้ในจุดนั้นให้ดี ไม่ต้องไปหมายมันอะไร มันจะเคลื่อนไหวไปมาที่ไหนมันจะรู้ตรงนั้น ราคะที่แท้จริงที่ตัดขาดกันตรงไหนมันจะตัดขาดในจุดนั้นแหละโดยไม่มีใครบอกหากรู้เอง อ๋อ อย่างนี้เอง นั่น เวลาไปบอกเสียก่อนมันหมายอย่างละเอียดนะ มันเลยเอาความสำคัญมั่นหมายมาเป็นมรรคเป็นผล เลยไม่ได้เรื่องนะให้จำให้ดี เพราะฉะนั้นผมจึงไม่บอก มีแต่บอกวิธีการให้ฝึกซ้อมเข้าไป เข้านั้นแล้วให้เข้าตรงนั้น ให้ดู
ถ้าหากยังไม่พอ เอา พิจารณาอีกเสียก่อนอสุภะอสุภัง แล้วรวมตัวเข้ามาตั้งลงในจุดนั้น ไม่ทำลาย เพ่งดู มันจะเคลื่อนไหวไปมาที่ไหนให้ดูตัวนั้นน่ะตัวอสุภะอสุภัง ที่เรามาตั้งไว้ตรงหน้าของเรา ไม่ทำลาย แล้วไม่โยกย้ายไปไหนด้วยเจตนา ให้มันเป็นของมันเอง หากมันจะโยกย้ายไปไหนให้มันเป็นของมันเอง มันจะเข้าหรือมันจะออกกองอสุภะกองนั้นน่ะ ให้มันรู้เอง นั่นละมันจะตัดสินกันที่ตรงนั้น เรื่องราคะอยู่ที่ไหนไม่ต้องถามที่นี่ ขาดจากราคะก็ไม่ต้องถาม อ๋อขึ้นทันทีเลยเทียว จุดนี้เป็นจุดสำคัญมาก
หากมันยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวไปมาของอันนั้น เอา พิจารณาซ้ำอีกให้มีความชำนิชำนาญ แล้วตั้งดู อยากทดสอบดูความจริงของอสุภะตัวนี้มันจะไปยุติกันที่ตรงไหน เอาตรงนั้นละ มันจะไปยุติกันที่ตรงไหนก็รู้ตรงนี้ละ ถ้าอันนี้แสดงคราวหลังแล้วนี้จะรู้ทันที ถึงขั้นนี้เป็นขั้นที่จิตชุลมุนกับอสุภะอสุภังมากทีเดียว หมุนติ้ว ๆ ฝึกซ้อม ๆ ดังที่พูดแล้ว หลังจากนั้นไปแล้วก้าวเรื่อยไปๆ เป็นอัตโนมัติไปละ นี่ละก้าวแรกคือเรื่องกามราคะ ขอให้ท่านทั้งหลายหนักแน่นในกามราคะ เอาให้หนักแน่นด้วยอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ให้เต็มเหนี่ยวอยู่ในนี้
นี่ละมรรคผลนิพพาน ขาดจากราคะแล้วเราจะขาดจากความกดถ่วงทุกสิ่งทุกอย่าง กองทุกข์ทั้งหลายมารวมอยู่ที่กามกิเลสทั้งหมดนะ พอตัวนี้ขาดเท่านั้นไม่มีอะไรดึงลง กิเลสตัวนี้ดึงลง ถ่วงลง แหม จะเป็นจะตายจริงๆ นะ พออันนี้ขาดนี้ดีดขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่กล่าวแล้วว่าพระอนาคาท่านไม่ลง ท่านจะลงมาหาอะไร มันขาดแล้วก็มีแต่ขึ้นข้างหน้าเรื่อย ๆ อย่างที่ท่านลำดับไว้ตามภูมิของจิตของธรรม อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี ภูมิของธรรมของจิตจะไปพักอยู่เป็นระยะ ๆ ภูมินั้น จิตอยู่ในขั้นใดแล้วจะไปตามขั้นของตน ขึ้นไปเรื่อยอย่างงั้นให้ลงไม่มี นี่ละให้พากันจดจำทุกคน เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งกว่านี้ไปละ ให้พอเหมาะพอดี เอาละพอ
ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาทุกวัน ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th |