สติคุ้มภัย
วันที่ 8 ตุลาคม 2546 เวลา 8:30 น. ความยาว 65.04 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖

สติคุ้มภัย

 

         เมื่อวานนี้วันที่ ๗ ตุลา ทองคำได้ ๖ บาท ดอลลาร์ได้ ๕๑๒ ดอลล์ กฐินทองคำได้ ๑ กิโล ๒๐ บาท ๔๙ สตางค์ ดอลลาร์ได้ ๔๒๐ ดอลล์ เงินสดได้ ๒๔๓,๕๐๐ บาท ทองคำที่ได้หลังจากมอบแล้วเวลานี้ ๓๐๒ กิโล ๑๖ บาท ๑๗ สตางค์ ดอลลาร์ได้ ๙๑,๕๒๓ ดอลล์ รวมทองคำที่ได้แล้วทั้งหมด ๘,๐๒๗ กิโล ยังขาดอยู่อีก ๑,๙๗๓ กิโล จะครบจำนวน ๑๐ ตัน รวมดอลลาร์ที่ได้แล้วทั้งหมด ๘,๓๙๑,๕๒๓ ดอลล์ ยังขาดอยู่อีก ๑,๖๐๘,๔๗๗ ดอลล์ จะครบ ๑๐ ล้านดอลล์ รวมกฐินช่วยชาติที่ได้แล้ว ทองคำได้ ๔ กิโล ๒๕ บาท ๗๒ สตางค์ ดอลลาร์ได้ ๕,๙๐๗ ดอลล์ เงินสดได้ ๑,๕๔๙,๕๖๗ บาท

นี่เราได้ประกาศว่าสิ้นเดือนธันวาแล้วเราจะหยุด หมายถึงหยุดการเที่ยวเทศนาว่าการดังที่เคยปฏิบัติมานั้นเราหยุด ไม่ทำอย่างนั้นอีกแล้ว เหนื่อยมาก ส่วนการบริจาคและการรับบริจาคนี้คงก้าวไปตามเดิม อันนี้ปรกติ มีอันเดียวที่ว่าเราหยุด คือเราไม่ไปเทศนาว่าการทางโน้นทางนี้ นี่ได้ออกเร่ร่อนทั่วประเทศไทยมานี้เป็นเวลา ๕ ปีกว่าแล้ว ไม่ใช่เล่นๆ นะ หนักมาก เทศนาว่าการก็เหมือนกัน เทศน์อยู่ ๕ ปีกว่า เฉพาะเทศน์เกี่ยวกับเรื่องการช่วยชาติ คือเทศน์ปรกติเรื่อยมามันนานต่อนาน มากต่อมาก แต่คิดว่าคงไม่มากเท่าเทศน์เกี่ยวกับการช่วยชาติคราวนี้ อันนี้มันเทศน์ไม่หยุดไม่ถอย เทศน์วันหนึ่งบางที ๓ กัณฑ์ ๔ กัณฑ์ก็มี มากต่อมาก

ถ้าพูดถึงเรื่องการเทศน์จริงๆ แล้ว ตั้งแต่มาสร้างวัดนี่เริ่มเทศน์ อยู่ที่อื่นก็ไม่ค่อยได้เทศน์ เพราะส่วนมากอยู่ตามป่าตามเขา ตั้งแต่เริ่มแรกจริงๆ แล้วไม่มีใครยุ่งเรา เราอยู่ตามป่าตามเขา แต่พระเณรค่อยด้นดั้นเข้าไป ซอกแซกเข้าไป อยู่ที่ไหนก็ซอกแซกเข้าไป ก็มีเฉพาะพระเณรไม่กี่องค์ ระยะจากนั้นก็ค่อยขยับออกมามากขึ้นๆ ตั้งแต่มาสร้างวัดป่าบ้านตาดนี่เริ่มมาก แต่ก็ไม่มากเท่าไรนัก พระเราก็รับอย่างมากไม่ให้เลย ๑๘ องค์วัดนี้ กำหนดไว้เลยทีเดียว เพราะตอนนั้นครูบาอาจารย์ยังมีหลายท่านหลายองค์ พระเณรไปเกาะไปยึดไปอาศัยท่านได้ทั่วๆ ไป พอองค์นั้นล่วงไปองค์นี้ล่วงไป เอาละนะที่นี่ แล้วหดย่นเข้ามาๆ พระเณรหาที่ยึดที่เกาะไม่ได้ เพราะครูบาอาจารย์ทั้งหลายล่วงไปๆ

ครูอาจารย์แต่ละองค์ๆ ลูกศิษย์ลูกหามากขนาดไหนที่ไปอาศัยท่านอยู่น่ะ แล้วก็ล่วงไปๆ ไม่มีที่เกาะที่ยึด เราก็เปิดรับนิดหนึ่งทีแรกเพิ่มอีก ๒ องค์ เริ่มเปิดรับนะ คิดดูพระทั้งหลายกับดูหัวใจเรา หาเกาะหายึดครูอาจารย์ จะไปที่ไหนๆ จิตก็ต้องคิดไว้ๆ ที่เสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ โห ลำบากลำบนมากนะ เราก็คิดอย่างนี้แหละจึงต้องได้ผ่อนผันลง พรึบเลยที่นี่ พรึบๆ เลย เราจำได้ปีแรกเพิ่มจาก ๑๘ เป็น ๒๐ ปีที่สองเราไม่ได้บอกว่าเพิ่มอีกหรืออะไรนะ เพียงเราว่าเพิ่มอีกเล็กน้อย ปีสองมาขึ้น ๒๕ ปีสามมาเข้าถึง ๓๐ ตั้งแต่นั้นมาเลอะเทอะเลยที่นี่ เดี๋ยวนี้มัน ๕๐ กว่า ทั้งๆ ที่กดไว้ขนาดนั้นยัง ๕๐ กว่า

นี่ก็เพราะเราเห็นใจบรรดาพระทั้งหลาย เอาใจเราออกกางเลยเชียว เสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ โถ ของง่ายเมื่อไร ไปไม่ทราบว่ากี่แห่งกี่หนกี่ครูกี่อาจารย์ เสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ เราขี้ริ้วขี้เหร่เราก็อยากได้ของดี อย่างนั้นนะเรื่องมันน่ะ เราโง่เขลาเบาปัญญา ขี้ริ้วขี้เหร่หลายด้านหลายทาง แต่ของดีๆ ครูอาจารย์ดีเราต้องการ เราต้องเสาะ พูดตามความจริงเป็นอย่างนั้น แต่องค์ไหนก็คงจะเหมือนๆ กัน มันเป็นอยู่ภายในใจ ได้ยินทราบข่าวกิตติศัพท์กิตติคุณ องค์นั้นเป็นอย่างนั้นๆ เข้าไปเสาะไปดู ไปดูแล้วก็ผ่านไป ยังไม่สนิทใจก็ผ่านไปๆ เรื่อยๆ มา

ตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่เราก็เป็นอยู่อย่างนั้น ไปหาครูหาอาจารย์กรรมฐาน เรียนหนังสือก็เรียน แต่ภายในลึกๆ ที่อยู่กับพระเณรทั้งหลายในวงปริยัตินั้น ไม่มีใครทราบนะว่าเราสนใจธรรมปฏิบัติคือกรรมฐาน เพราะเพื่อนฝูงมันก็เหมือนลิงเหมือนค่าง เขาเหมือนเรา เราเหมือนเขา กิริยาอันนี้ใช้อยู่ในวงพระฝ่ายปริยัติ ส่วนภายในจิตคือภาคปฏิบัติอรรถธรรมโดยเฉพาะนั้น ใครจะสนใจไม่สนใจภาวนาเราก็ไม่ทราบ แต่สำหรับเราเองเป็นอยู่ตลอด ตั้งแต่เรียนหนังสือทีแรกก็เป็น เป็นอยู่ตลอด เสาะแสวงหาครูหาอาจารย์

อย่างโคราช ท่านอาจารย์สิงห์ กับท่านอาจารย์มหาปิ่น เราได้ยินได้ฟังธรรมท่านมาตั้งแต่โน้นแล้ว ก็มีหลายองค์อยู่ทางโน้น แต่ที่โด่งดังอยู่ เราไปฟังบ่อยที่สุดก็คือท่านอาจารย์สิงห์ วัดสาลวัน คือท่านมีกำหนด ๔ วันประชุมทีหนึ่งตอนบ่ายโมง ตอนไหนโรงเรียนเราปิด เพราะเราเรียนหนังสืออยู่โคราช ออกจากนี้ก็ไปเรียนหนังสือที่โคราช วันไหนโรงเรียนเราหยุดตรงกับวันประชุมนี้เราจะไปทุกวัน ไปองค์เดียวนะไม่ได้บอกใคร เดินไปไม่มีรถ เดินจากวัดสุทธจินดา อยู่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เดินจากนั้นไปวัดสาลวัน ไม่มีรถแต่ก่อน เดินไปธรรมดา ไม่มีใครละ

พอถึงเวลาท่านเทศน์ เราจะไปนั่งตรงหน้าท่านนั้นแหละ ธรรมาสน์อยู่นี้เราจะไปนั่งตรงหน้าเป็นประจำเลย จนท่านจับได้ ท่านไปพูดให้พระฟัง แปลกๆ อยู่นะ ยิ่งวันพระวันอะไรอย่างนี้ไป สำหรับวันพระท่านจะประชุมแหละ ถ้าเป็นวันพระนะ ท่านกำหนดวันพระประชุม เราไปทุกที กลางค่ำกลางคืนก็ไป คือมันเป็นอยู่ในจิต มันสนิทใจกรรมฐาน ไปทีไรต้องไปนั่งอยู่ตรงหน้าท่าน ได้เห็นหน้าท่าน ได้ฟังเสียงท่านเทศน์ชัดๆ จนกระทั่งท่านจับได้นะ พระมาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่ท่านพูดต่อปากต่อคำเราแหละ เพราะเราก็คุ้นกับวัดสาลวันมาก ไปๆ มาๆ ก็คุ้นกับพระเณร เรียกว่าแทบทั้งวัด

ท่านพูด พระมาเล่าให้ฟังว่า พระหนุ่มองค์หนึ่งที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราน่ะ สำคัญอยู่นะ นั่งฟังเทศน์นี้แน่วเหมือนหัวตอ ถ้าจิตไม่สงบจะแน่วอย่างนั้นไม่ได้ ท่านจับเอาจุดนั้นนะ นั่งเหมือนหัวตอ ว่างั้น ท่านว่าพระหนุ่ม ตอนนั้นเราเรียนหนังสือยังหนุ่ม มาฟังเทศน์อยู่เสมอแหละ ว่างั้น เราไม่ลืม อย่างนั้นก็มีแต่เราไปคนเดียวนะ ไม่บอกใคร มีแต่ว่าไปวัดนั้นวัดนี้เท่านั้นถ้าหากจำเป็นจะตอบ ไปคนเดียว เพราะพระวินัยท่านไม่มีห้ามนี่นะ พระไปองค์เดียวๆ ไม่ห้าม

ไปอยู่ที่ไหนก็อย่างนี้แหละเรา ไปอยู่ที่ไหนพอว่างปั๊บนี้เสาะหาครูหาอาจารย์ฟังเสียงอรรถเสียงธรรม แม้ไม่ได้ฟังอรรถฟังธรรม อยู่ในที่สงัดอย่างนั้นก็เหมาะ เป็นอย่างนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งเรียนจบแล้วจึงเป็นเหมือนใบไม้เหลืองหมดเลย เหมือนว่ามันจะร่วงหล่นลงจากขั้วของมันโดยไม่สงสัยเลย ก็คือว่าพอจบตามคำอธิษฐานแล้ว ไม่สงสัยเลย จะออกท่าเดียว พอจบเท่านั้นเหมือนว่าใบไม้เหลืองไปหมด ผู้ใหญ่ก็ผูกพันจะไม่ให้ไป สมเด็จมหาวีรวงศ์ วัดพระศรีมหาธาตุ โอ๋ย เอาจริงมากนะ ติดตามเลยเชียวจะเอาคืนกลับไปกรุงเทพ เราไม่ไป

นี่ละทีนี้ถึงได้ก้าวออกเลย ออกเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ เวลาเรียนหนังสือก็ไปตลอด องค์ไหนเป็นยังไง ๆ ไป บางทีโรงเรียนปิดหลายๆ วัน ไม่อยู่นะนั่น ไปแล้วนะ ไปหาครูอาจารย์องค์นั้นๆ อยู่ทางโคราชแถวนั้นไปหมดนั่นแหละ ไปที่ไหนไปหมดแหละเรา จิตใจมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น แต่ที่จะให้พูดเรื่องภาวนาเรื่องกรรมฐานให้เพื่อนฝูงฟังนี้ไม่เคยพูดเลย เหมือนไม่เคยภาวนาเลย ไปเข้าเพื่อนเข้าฝูงเป็นลิงเป็นค่าง เราก็เป็นลิงกับเขา เขาเป็นอะไรเราก็เป็นกับเขาไปเสีย เป็นในวงของพระปริยัติ เข้าใจไหม ไม่ใช่แบบแหวกแนว พูดบางทีก็มีหัวเราะกันธรรมดา หยอกเล่นกันธรรมดา ก็เหมือนลิง พระกรรมฐานท่านไม่ค่อยหยอกเล่นนะ ไปที่ไหนท่านไม่ค่อยมี พระปริยัติมี เราก็มี อย่าว่าแต่เขามีเลย เราก็มีเหมือนกัน ยิ่งเราเป็นนิสัยตลกด้วยก็ยิ่งมีตลกอยู่ในนั้นแหละ

เวลาอยู่กับเพื่อน เรื่องกรรมฐานไม่ให้รู้เลย อย่างนั้นตลอดมา ไม่เคยพูดเลยว่าภาวนาอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เคยพูด เพราะดูแล้ว พูดหาอะไร มันไม่เหมาะอยู่ในจิตนี้ จากนั้นก็ออกเลย เสาะหาครูหาอาจารย์ จึงได้เข้าหลวงปู่มั่น มุ่งที่จะไปอยู่แล้วแหละ เรื่องมุ่งมุ่งอยู่แล้วที่จะไป หาครูหาอาจารย์ไปเรื่อยๆ มากต่อมาก จึงได้เข้าไปหาหลวงปู่มั่น จากนั้นมาก็ติดเลยเทียวไม่ปล่อย ลงตั้งความสัตย์ไว้ในจิตแล้วนี่ เราถ้าลงตั้งอะไรเป็นอย่างนั้นนะ นี่เราได้ครูอาจารย์ที่เลิศเลอแล้ว หาที่ต้องติไม่ได้แล้ว ที่ต้องติทั้งมวลก็อยู่กับเราคนเดียว เลวก็เราคนเดียว ท่านเลิศเลอแล้ว เราจะต้องอยู่กับท่านตลอดไปจนกระทั่งตายจากกัน ท่านตายจากเราหรือเราตายจากท่านถึงจะหนีจากท่าน ส่วนการไปเที่ยววิเวกในที่สงัดเป็นบางกาลบางเวลานั้นยกไว้ แต่ฐานเดิมของเราที่อยู่ครูอาจารย์ที่ไหน ติดพันอยู่ที่นั่น เห็นว่าเป็นบ้านเป็นเรือนของเราที่นั่น เราไม่ปล่อย

เพราะฉะนั้นท่านมรณภาพ ไปอยู่กับท่านได้ ๘ ปี ท่านมรณภาพจากไป ถึงได้แยกหนีไปนะ ถ้าท่านยังอยู่ขณะนี้เรายังหนีไม่ได้เพราะคำสัตย์นี้ตั้งไว้แล้ว ท่านตายหรือเราตายจึงจะแยกจากกัน นี่ท่านก็เสียไปเสียก่อน ได้พยายามฝึกฝนอบรมตนเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็คือ พอเข้าหาหลวงปู่มั่นแล้ว ได้ความมั่นใจแน่ใจทุกอย่างๆ จึงออก ออกก็ด้วยความมั่นใจแน่ใจไปทุกอย่างตลอดมาเลยแหละ จนกระทั่งจิตก้าวเข้าสู่สติปัญญาอัตโนมัติ ยังอยู่กับท่านอยู่นะนั่น สติปัญญาก้าวเข้าสู่ขั้นอัตโนมัติ หมุนไปโดยลำดับ ความเพียรไม่ต้องบอก ได้รั้งเอาไว้ๆ นี่ละเรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ต้องรั้งความเพียรไว้ไม่งั้นจะเลยเถิด จะไม่หลับไม่นอนไม่อะไร มันหมุนติ้วๆ

เหมือนนักมวยเข้าวงในกัน ทีนี้เราก็หมุนหนักเหมือนกัน แล้วหลวงปู่มั่นธาตุขันธ์ท่านก็เพียบ ท่านก็อ่อนลงทุกวันๆ เราก็หนีจากท่านไม่ได้ จิตของเราก็หมุนเป็นธรรมจักรอยู่ตลอด จนกระทั่งวิตกวิจารณ์ เอ้อ ทำไมนะ ท่านก็เพียบด้วยธาตุขันธ์ เราก็เพียบทางจิตใจ มันยังไงกันน้า ได้วิตกวิจารณ์เหมือนกัน ออกจากทางจงกรมปั๊บเข้ามาหาท่าน ออกจากท่านเข้าทางจงกรม อยู่อย่างนั้น เรื่องห่วงหลับห่วงนอนไม่ทราบมันนอนเมื่อไร ท่านก็เพียบมาก จิตของเราก็เพียบมาก อยู่กับท่าน ปฏิบัติท่านอยู่นั้นจิตก็ทำงานของมันตลอด หมุนติ้ว นี่ละสติปัญญาอัตโนมัติมันจะไม่ปล่อยเรื่องความเพียร จะทำการทำงานอะไรมันจะหมุนของมันอยู่ตลอด เหมือนกับเรื่องของกิเลสบนหัวใจสัตว์ กิเลสเป็นอัตโนมัติของมัน มันอยู่ในหัวใจสัตว์ทุกตัวสัตว์ มันหมุนเป็นอัตโนมัติ แต่โลกทั้งหลายไม่รู้ว่านี้คือกิเลสหมุนตัวบนหัวใจสัตว์

ทีนี้เวลาได้ธรรมะมาเทียบกันแล้วมันเข้ากันได้ไม่ผิดกันเลย แต่ก่อน รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส กระทบกระเทือนอะไรไม่กระทบกระเทือนอะไร คิดโดยลำพังก็เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมดเลย นี่คือกิเลสทำงานมาตั้งกัปตั้งกัลป์ เพราะฉะนั้นจึงแก้ยาก มันคล่องตัวพอแล้ว ทีนี้เมื่อความเพียรเข้าถึงสติปัญญาอัตโนมัติ ทีนี้หมุนตลอดนะ นี่ละที่ว่าเป็นอัตโนมัติเหมือนกัน มาทราบเอาตอนนี้นะ แต่ก่อนไม่ทราบ ก็เพราะยังไม่สนใจกับเรื่องกิเลสเป็นอัตโนมัติอะไรต่ออะไร สนใจแต่จิตของเราที่มันเป็นไปตามกิเลสเป็นอัตโนมัติของมัน แก้กันอยู่ภายในนี้ตลอดๆ จนกระทั่งมันก้าวเข้าถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ มันก็หมุนไปเองๆ เรื่องความเพียรไม่ได้พูดเลย นอกจากเราจะเพียรนี้เพื่อพ้นทุกข์เท่านั้น ที่เพียรในประโยคพยายามไม่ต้องพูดเลย หมุนติ้วๆ ได้รั้งเอาไว้ๆ

พอท่านเสียเท่านั้น เอาท่านเข้าหีบเข้าอะไรเรียบร้อยแล้วเท่านั้นก็หนีเลย เข้าอยู่ในป่า ตอนนั้นอยู่ในภูพานคนเดียว นานๆ ถึงจะด้อมลงไปกราบศพท่านทีหนึ่ง เพราะเรากราบท่านตลอดเวลาด้วยภาคปฏิบัติ เราจึงไม่ได้ติเตียนตัวของเราว่าไม่เคารพครูบาอาจารย์ เราเคารพอยู่ภายในนี้แล้ว ท่านสอนเราท่านก็สอนเพื่ออันนี้ แน่ะ ท่านก็มุ่งอันนี้แหละ ยกตัวอย่าง เมื่อพระพุทธเจ้าปลงพระชนมายุ จาก ๓ เดือน จะปรินิพพาน พระสงฆ์ระเหเร่ร่อน ยุ่งไปที่ไหนคุยแต่เรื่องนิพพานของพระพุทธเจ้า ส่วนพระองค์หนึ่งชื่อ พระติสสะ ท่านไม่สนใจกับใคร ปั๊บนี่เข้าป่าเงียบๆ ไม่ได้สนใจกับใคร ใครจะนั่งคุยเรื่องนิพพานของพระพุทธเจ้า ไม่สนใจเลย ปฏิบัติตนตลอดเวลา

จนกระทั่งพระสงฆ์ทั้งหลายยกโทษท่าน เข้าไปทูลพระพุทธเจ้า ไปฟ้องพระพุทธเจ้า ว่างั้นเถอะว่า พระติสสะไม่มีความเอื้อเฟื้อต่อพระองค์ ไปอยู่คนเดียวๆ หายเงียบๆ ทุกเวลาเลย ไม่เคยมาสนใจ หมู่เพื่อนจะพูดเรื่องพระองค์ปรินิพพานอะไรนี้ไม่สนใจเลย พระองค์ก็เรียกพระติสสะมา เพื่อจะเอาพระติสสะนี้ตีหน้าผากพระเหล่านั้น เรียกพระติสสะมา นั่นละพระพุทธเจ้ามีเหตุมีผล ไหนติสสะว่าเธอไม่เอื้อเฟื้อเราตถาคต อย่างนั้นใช่ไหม พระทั้งหลายว่าเธอไม่เอื้อเฟื้อ หนีไปอยู่แต่ในป่าๆ ตลอดเวลา ไม่เคยมาเกี่ยวข้องกับหมู่เพื่อนเลย

พระสงฆ์ว่าเธอไม่เอื้อเฟื้อเราตถาคตใช่ไหม โอ๋ย ข้าพระองค์เอื้อเฟื้อในพระพุทธเจ้ามากที่สุดเลย เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงเร่งความเพียร จะให้ทันเวลาพระองค์ปรินิพพาน ให้ตรัสรู้ธรรมให้ทันก่อนหน้าพระองค์จะปรินิพพาน ข้าพระองค์จึงไม่เกี่ยวข้องกับหมู่เพื่อน หลีกเร้นอยู่กับความพากความเพียรทั้งวันทั้งคืน เพื่อเร่งความเพียรให้ทัน พระองค์ปรินิพพาน ข้าพระองค์ก็ขอให้ได้บรรลุธรรมถึงขั้นสูงสุด ข้าพระองค์มีความเคารพต่อพระองค์ด้วยการปฏิบัติ ตะเกียกตะกายเพื่อถึงมรรคผลนิพพานก่อนพระองค์ปรินิพพาน เอ้อ อย่างนี้ละตถาคตชมเชย ผู้ใดมีความจงรักภักดีต่อตถาคต ให้เป็นผู้มีความพากความเพียรหนาแน่นมั่นคง ผู้ใดอยากเห็นเราตถาคต ให้เห็นธรรมภายในใจจากความเพียรของตน

ท่านก็แสดงธรรมประโยคใหญ่ประโยคหนึ่ง เห็นไหมล่ะ พระติสสะ เราก็เอาอันนี้มาเทียบ แล้วเราก็สนิทกับท่านอยู่ตลอดเวลาภายในใจ หลวงปู่มั่น ถ้าวันไหนเราจะมาเยี่ยมท่าน อยู่ภูเขาทางภูพาน เดินมานะนั่น เดินคนเดียวมันก็เดินจงกรมทั้งวัน เพราะอันนี้มันเป็นอัตโนมัติมาตลอด ทั้งไปทั้งกลับ อยู่ที่ไหนก็เป็นอัตโนมัติ มาก็ด้อมๆ มาไม่ให้ใครทราบแหละ พระเณรยั้วเยี้ยๆ กำลังทำนั้นทำนี้ ทำขัดแตะอะไรอยู่นั้น เราด้อมๆ เข้าไปกราบท่านเสร็จเรียบร้อยแล้วปั๊บออกเลย กลัวพระเณรจะเห็น ไปเกาะเราพะรุงพะรังให้เสียความเพียร เพราะเวลานั้นอยู่กับใครไม่ได้เลย ต้องอยู่คนเดียวเท่านั้น หมุนติ้วตลอดเวลา

ตอนนั้นมีท่านอาจารย์ฝั้นท่านเป็นหัวหน้า มีพระเณรประชาชนเขามาสานขัดแตะจะทำที่พักพระมาในงานศพนี้ พอพูดถึงเรื่องขัดแตะนี้ก็ทำให้ระลึกได้ ผู้หญิง ๒ คนกำลังรุ่นๆ ท่านอาจารย์ฝั้นดูแลพระเณรสานขัดแตะนี้ ผู้หญิง ๒ คนนั้นขี่จักรยานมา ฉากมาใกล้ๆ พระนี่ ท่านก็รู้สึกจะผิดปรกติ ท่านเลยชะเง้อคอขึ้นดู เอ้า มันยังไง ผู้หญิงสองคนมันขี่รถมายังไงไม่ดูหน้าดูหลังอะไรเลย ท่านว่างั้น เพราะพระเณรนั่งสานขัดแตะอยู่นี่ มันขี่จักรยานฉากมาใกล้ๆ นี่ ท่านตกตะลึงอย่างนั้นแหละ หือขี่มายังไงไม่ดูหน้าดูหลัง พอว่าอย่างนั้นมันผ่านไปนั้น เอา จะเอาให้มันล้มให้ดู ท่านว่างั้นนะ จะเอาให้มันล้มให้ขายหน้ามันสักหน่อย มันเก่งนัก ท่านว่างั้น เอาให้มันขายหน้ามันสักหน่อยมันเก่งนัก

พอว่าอย่างนั้นพระเณรก็วางขัดแตะ คอยดู มันก็ขี่จักรยานไปถึงแค่นั้นแล้วล้มตูมตามเลย ขี่จักรยานไปท่านบอกว่าจะให้มันล้มให้ดู ท่านว่าอย่างนั้น ท่านเองท่านก็นั่งดู นั่งดูคือเพ่งนั่นเอง พูดง่ายๆ พระเณรนี้จ้อหมด วางหมดงาน เพราะท่านพูดได้ยินทุกคน มันเก่งนักเด็กสองคนนี่ จะเอาให้มันล้มขายหน้าสักหน่อย พอมันหันไปนั้นท่านก็ดู ฟังเสียงโครมครามล้มตูมตรงนั้นเลย นั่นเห็นไหม ท่านว่างั้นนะ ทางนั้นก็เผ่นเลยไม่อยู่ พระเณรหัวเราะทับอีกด้วยนะ ไปใหญ่เลย นั่นเห็นไหม บาปบุญมีอยู่ หาอะไรมันก็เจออันนั้นซี นั่นเห็นไหมท่านออก ท่านบอกว่าบาปบุญมีอยู่ หาอะไรมันก็เจออันนั้น มันหาอันนี้มันก็เจออันนี้ ความหมายว่างั้น จะว่าบาปหรือไม่บาปก็แล้วแต่

นี่พูดถึงเรื่องความเพียร ท่านอาจารย์ฝั้นเรื่องพลังจิตนี้ โห ไม่ใช่เล่น รถวิ่งไปนี่ให้หยุดกึ๊กได้เลย อำนาจของจิตจึงว่ารุนแรงมาก แล้วแต่ใครจะใช้ตามนิสัยวาสนาของตนในแง่ใดทางใด อันนี้ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ เป็นกิริยาการใช้ต่างหาก แต่ความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรแปลกต่างกัน ส่วนกิริยาอาการของจิตมีแปลกต่างกัน คนหนึ่งเก่งทางหนึ่งๆ เด่นทางหนึ่ง เด่นคนละทิศละทางไม่เหมือนกัน อันนี้คือเครื่องปลีกย่อย เหมือนต้นไม้มีใบหนาชุ่มเย็นก็มี กิ่งก้านสาขาดอกใบแปลกต่างกันไป แม้จะเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน แต่กิ่งก้านสาขาดอกใบไม่เหมือนกัน เช่น ไม้ตะเคียนอย่างนี้ กิ่งก้านสาขาดอกใบก็ไม่เหมือนกันทุกต้นไป แปลกๆ กันไป นิสัยวาสนาก็เหมือนกัน

อย่างพ่อแม่ครูจารย์เรานี้พูดไม่ได้เลยนะ ไม่ทราบว่าท่านเก่งทางไหน เลยหาที่ต้องติไม่ได้ ที่เราพบมาในโลกปัจจุบันนี้ก็มีพ่อแม่ครูจารย์มั่นองค์เดียว ถ้าเป็นสมัยครั้งพุทธกาลแล้วอย่างไรท่านต้องเป็นเอตทัคคะ ยกให้เลิศในทางใดทางหนึ่งแน่นอน แล้วเลิศก็น่าจะเป็นเลิศพิเศษอีกด้วยนะ ท่านแปลกต่างทุกอย่าง นี่พูดถึงเรื่องเสาะแสวงหาอรรถหาธรรมกับครูกับอาจารย์ จะว่าเรามีนิสัยมาแต่ต้นก็ไม่น่าจะผิด คือมันหากมีความรักความสงวนในธรรมปฏิบัติอยู่ลึกๆ ไม่บอกใคร หากเป็นอยู่ในใจ อยู่ที่ไหนก็เป็น เรียนหนังสือก็เป็น เป็นแต่เพียงว่าเวลาเรียนหนังสือไม่พูดให้ใครฟังเลย ไม่รู้ว่าเราสนใจปฏิบัติธรรม

เวลาเงียบๆ เข้าไปในห้องไปภาวนา ออกมาเพื่อนฝูงก็ถาม ไปอะไร ภาวนาเหรอ พูดแหย่นะนั่น คือพวกนี้มันไม่เคยภาวนา มันแหย่เราเฉยๆ เราก็ไม่ได้บอก พูดสิ่งที่โลกเขาไม่พูดนั่นแหละ ไงภาวนาเหรอ บางรายก็ได้เงื่อนจากเราที่ว่า เราเดินจงกรมอยู่กลางคืนเงียบๆ พระเดินกึ๊กๆ มาเราก็เผลอบอกไป เดินอะไร เราพูดตรงๆ ว่าเดินจงกรม เหอ จะไปสวรรค์นิพพานเดี๋ยวนี้เหรอ คอยกันสักหน่อย ให้เรียนหนังสือจบแล้วค่อยไปด้วยกัน นี่มันแหย่ เข้าใจไหม ทีนี้พอนั้นแล้วเราก็ปิดเลย เดินจงกรมเพื่อนฝูงมาเห็น ส่วนภาวนาไม่เคยพูด โผล่ออกมา ทำอะไร ภาวนาเหรอ ภาวนาอะไร คนจะตาย อยากหลับก็หลับ อยากนอนก็นอนซี ว่าไปกลางๆ เสีย

ออกจากเรียนแล้วถึงได้เร่งใหญ่ เร่งความพากความเพียร สุดท้ายก็มาอยู่ที่สตินะ ท่านทั้งหลายให้จำให้ดี ไม่ว่าหน้าที่การงานใดๆ ถ้าสติมีอยู่กับตัวจะไม่ค่อยผิดพลาดนะ ถ้าสติพรากจากตัวเมื่อไร ทำการทำงานเขียนหนังแส่หนังสือ ลบๆ เขียนๆ ไปอย่างนั้น มันไม่เป็นตนเป็นตัว มันเลอะเทอะไปหมด เพราะสติไม่อยู่กับตัว ถ้าสติจ่ออยู่กับตัว ทำอะไรเป็นการเป็นงาน แม้งานภายนอกก็เป็นการเป็นงาน งานภายในก็ดี เช่นอย่างเราทำข้อวัตรปฏิบัตินี้ สติกลายเป็นสัมปชัญญะอยู่ในตัวของเราตลอด พอปล่อยจากนี้ปั๊บก็เข้าเป็นสติเลย สัมปชัญญะหยุดจากการเคลื่อนไหวของร่างกายแล้ว ที่นี่ก็เป็นสติสัมปชัญญะกับจิต จิตจะอยู่ในขั้นใด สติจ่ออยู่ในขั้นนั้นๆ ไม่ปล่อย สตินี้คุ้มภัยได้เลยนะ

คิดดูอย่างจิตของเรามันผาดโผนโจนทะยาน เวลาฟัดกันนี้เอาจนกระทั่งเหมือนตกนรกทั้งเป็นนั่นแหละ คือบังคับไม่ให้มันคิด ให้มันอยู่กับพุทโธอย่างเดียวทั้งวันไม่ให้เผลอเลย นี่มันหนักมากนะ ไม่ยอมให้เผลอได้จริงๆ เอา ตายก็ตาย เพราะมันเป็นนิสัยอย่างนั้น เวลาระฆังดังเป๋งแล้วต่อยกัน นี่ก็แบบเดียวกัน ต่อยกันกับคำว่าไม่ให้เผลอกับความเผลอ ซัดกัน ไม่ให้เผลอเลยจนกระทั่งหลับ ตื่นขึ้นมาก็ปั๊บพุทโธ ไม่หลายวัน ที่มันพลุ่งๆ นี้อ่อนตัวลงเพราะสติบังคับอย่างแรงนี่ อ่อนตัวลง จากนั้นความเพียรก็ตั้งได้ๆ เรื่อยไปเลย นี่มันดีเพราะสตินะ ความเพียรอยู่กับสติเป็นสำคัญมาก สติถ้าตั้งหลุดนู้นผิดนี้ไม่ได้เรื่องนะ ถ้าตั้งจ่อติดปั๊บๆ นั่นมีทางธรรมภายในใจจะตั้งรากฐานขึ้นได้นะ ต้องพยายามให้ดี

สติเป็นสำคัญมากทีเดียว เราจึงได้พูดเสมอว่าสติ เพราะเราก็ก้าวอย่างนั้น ในธรรมท่านก็บอกว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง ไม่ยกเว้นสติ ท่านบอกไว้อย่างนั้น สติเป็นอันดับหนึ่ง ปัญญามาเป็นกาลเป็นเวลา ในขั้นเริ่มแรกปัญญาจะใช้เป็นบางเวลา ส่วนสตินั้นใช้ตลอด เวลาสติปัญญากลมกลืนกันแล้วที่เรียกว่าอัตโนมัตินั้น เป็นอันเดียวกันแล้ว เหมือนเป็นอันเดียวกัน แย็บนี้รู้กันทันทีๆ สติปัญญาตามทันทีเลย นี่ละการประกอบความพากเพียร

เวลานี้ศาสนาจะไม่มีเหลือแล้วนะ เรานี้วิตกจริง ๆ จวนจะตายเท่าไรยิ่งวิตกวิจารณ์กับชาวพุทธเรา ทั้งชาวพระชาวพุทธนั่นแหละ เราไม่ได้ยกว่าเราวิเศษวิโสกว่าผู้ใด หลักธรรมชาติหนึ่งๆ ที่ทำให้เกิดวิตกวิจารณ์มันมีอยู่ในหัวใจ เพราะเราได้เคยบำเพ็ญมาแล้ว เรื่องกิเลสมีมากน้อยในหัวใจนี้จะก่อจะกวนยุแหย่ตลอดเวลาหาความสุขไม่ได้ เราจะเอาสมบัติเงินทองข้าวของเรือกสวนไร่นา ตลอดถึงยศถาบรรดาศักดิ์ฐานะสูงต่ำ เอามากั้นกางกิเลสไม่ให้มันมาบีบบี้สีไฟใจเรานี้ กั้นกางไม่ได้นะ นอกจาก สติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม นี้เท่านั้นว่างั้นเลย

เหล่านั้นเราไปหมายเขาต่างหากนะ อันใดเขาก็มีอยู่อย่างนั้นสมบัติเงินทองข้าวของมีมากมีน้อยเขาก็มี แต่จิตดวงนี้ที่มันดื้อมันด้านมันคึกมันคะนอง ไปเที่ยวเกาะอันนั้นเกาะอันนี้ ไปสำคัญนั้นว่าดี ว่าได้อันนั้นว่าเสียอันนี้ แล้วก่อกวนตนตลอดเวลา เพราะฉะนั้นคนจึงหาความสุขไม่ได้ตั้งแต่ขั้นมหาเศรษฐี หรือขั้นพวกดอกเตอร์ดอกแต้อะไรก็แล้วแต่เถอะ ว่าความรู้สูง ๆ อยู่สูงปานไหนก็ตามเถอะมันเป็นฐานเหยียบขึ้นของกิเลส ให้กิเลสเหยียบอยู่บน กิเลสมันอยู่ข้างบนมันเหยียบหัวพวกนี้ ยิ่งทะนงตนขึ้นเรื่อยเทิดกิเลสขึ้นเรื่อยละซิ นี่มันไม่ได้มีความสุขอะไรนะ ออกไปปฏิบัติธรรมต่างหาก ความสำคัญมั่นหมายเหล่านั้นจะปล่อยตัวเข้ามาๆ เพราะธรรมนี้เลิศกว่าสิ่งเหล่านั้น

เพราะใจได้สัมผัสธรรมมีความสงบร่มเย็นเป็นพื้นฐานเข้าไปโดยลำดับแล้ว นั้นแหละทีนี้มันจะปล่อยเข้ามา ไม่บอกก็ปล่อย มันจะมีเงินกองเท่าภูเขามันก็ปล่อยของมัน เพราะไม่เลิศเท่ากับอันนี้ แน่ะ อันนี้เลิศกว่าปล่อยเข้ามาๆ ทางนี้สูงเท่าไรยิ่งปล่อยทางนั้นเข้ามา ปล่อยอย่างหยาบ แล้วปล่อยอย่างกลาง ปล่อยอย่างละเอียดเข้ามา เพราะธรรมมีธรรมส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด เป็นคู่แข่งกันกับสิ่งทั้งหลายที่โลกสมมุติว่าดี อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดได้เป็นอย่างดี นั่น

นี่มันผ่านมาในสนามนี้หมดแล้วนี่ พูดทุกอย่างจึงไม่เคยสงสัย พูดเป็นที่แน่ใจ ให้พี่น้องทั้งหลายแน่ใจว่า เราสอนโลกเราไม่ได้สอนด้วยความสงสัยสนเท่ห์อะไร ไม่ว่าธรรมขั้นใด ใครจะมาตำหนิติเตียนเราว่ายังไง ปากเขานี่ว่างั้น ปากเรามีเราจะพูด ปากเราพูดเป็นธรรมเราก็เป็นธรรมไปเรื่อย จิตเป็นธรรมใจเป็นธรรม เขาเป็นยังไงเรื่องของเขา เราไม่ได้ไปรับรองเขา เรารับรองตัวของเราต่างหาก เราจึงไม่เคยสะทกสะท้าน ไปเทศน์ที่ไหนก็ตาม แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหม แต่เราไม่เคยเอามาพูด สูงกว่ามนุษย์นี้ขนาดไหน สะทกสะท้านกับ อินทร์ พรหมองค์ใดวะ เขามากราบธรรมพระพุทธเจ้าทั้งนั้น นั่น ท่านเหล่านี้เลิศกว่าพระพุทธเจ้าที่ไหนไม่มี เลิศกว่าธรรมที่ไหนไม่เคยมี ธรรมเหนือกว่า ๆ ทั้งนั้น แล้วจะมาหวั่นมาไหวอะไรกับมนุษย์เราวะ

การเทศนาว่าการนี้ธรรมมีกำลังมาก ความรู้ ความเห็น ความฉลาดแหลมคมของสติของปัญญาในจิตใจกับธรรมเป็นอันเดียวกันนี้แล้ว มันจะซ่านไปหมดเลย มันไม่ได้ว่าอันนั้นสูงอันนี้ต่ำ ไม่มี มันเหนือไปหมด แล้วจะไปสำคัญตรงไหนว่าตรงนั้นน่าเกรงขาม ตรงนี้น่ากลัวตรงนั้นน่าเคารพ แล้วก็น่ากล้าน่ากลัวกับสมาคมนั้น ๆ มีที่ไหน สมาคมไหนวะ มนุษย์หัวสุมกันก็ว่าสมาคมเท่านั้นเอง ตั้งแต่หนอนเขาก็ยังหัวสุมกันได้อยู่ในส้วมในถาน ไปแปลกต่างอะไรกับสังคมมนุษย์ที่หัวสุมกันแล้วจะไปกลัวไปกล้า สังคมนั้นชั้นสูงสังคมชั้นต่ำที่ไหนมันไม่มี ธรรมพระพุทธเจ้าอะไรจะเลิศเลอยิ่งกว่านี้ ไม่งั้นเอามาสอนโลกได้ยังไง

สามโลกธาตุนี้อะไรเหนือธรรมไม่มี มีแต่ธรรมเท่านั้นเหนือโลกเหนือสงสาร จึงสอนโลกได้ นอกจากโลกที่มันหนาแน่นเกินไปเกินเหตุเกินผล มันก็รับไม่ได้ มิหนำซ้ำดูถูกเหยียดหยามธรรม แล้วเอาความชั่วตีหัวตัวเองให้จมลงไปโดยลำดับอย่างนั้น ก็ยกไว้เป็นกรรมของสัตว์เสีย ผู้ใดที่ควรจะได้ข้ออรรถข้อธรรมไปเป็นคติเครื่องเตือนใจ ก็ยึดเอาเวลาท่านสอนไป พระพุทธเจ้าท่านสำคัญกับอะไร พระสงฆ์สาวกท่านสำคัญกับอะไร อะไรจะเลิศโลกยิ่งกว่า พุทธ ธรรม สงฆ์ มีเท่านั้นเลิศโลก นอกนั้นไม่มี เข้าครองในหัวใจใด หัวใจนั้นเลิศทันที เป็นอย่างนั้นนะ

เพราะฉะนั้น จึงพยายามให้ธรรมเข้าครองในหัวใจเรา จะมีความหวังขึ้นโดยลำดับนะ จิตใจเมื่อมีธรรมเข้าครองแล้วจะมีความหวังขึ้นเป็นลำดับ จิตใจเยือกเย็นเป็นสุขมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นในตัวเรา นั้นมันมีแต่ความล้มเหลวๆ ร่างกายของเรามันก็ล้มเหลว สิ่งเหล่านั้นก็ล้มเหลว สิ่งล้มเหลวต่อล้มเหลวมันอาศัยกันอยู่จะไปแยกกันได้ยังไง ก็ต้องอาศัยกัน แน่ะ ก็รู้เอาไว้อันนี้

ส่วนจิตใจกับธรรมนี่เป็นสิ่งไม่ล้มเหลว ถ้าได้ติดอันนี้แล้วไม่ล้มเหลว ๆ เราก็รู้ เพราะฉะนั้นจิตใจมันจึงขะมักเขม้นอยู่ในนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วมันก็ค่อยปล่อยของมันไป ๆ เมื่อได้สุดส่วนแล้วปล่อยหมดเลย ไม่มีอะไรเหลือเอาไว้ไม่ได้ สลัดปั๊วะเดียวหมดเลย ทีนี้ไม่มีอะไรเข้ามากวนจิตใจอีกเลย ตั้งแต่ขณะจิตบรรลุธรรมถึงขึ้นบริสุทธิ์หรือธรรมธาตุแล้ว กิเลสทั้งหลายเป็นสมมุติทั้งมวล ขาดสะบั้นไปหมดไม่มีอะไรกวนใจท่าน นั่นละท่านว่าเป็นบรมสุข ไม่มีอะไรกวน แล้วเป็นตลอดอนันตกาลเสียด้วยนะ ไม่ได้มาเป็นกาลใดสมัยหนึ่ง เป็นอยู่ตลอดเวลา อย่างนั้นละธรรมอันเลิศ

เพราะฉะนั้นจึงควรพิจารณาพวกเรา เราก็คน ๆ หนึ่งมีหัวใจเหมือนกัน ทุกข์ก็ได้ทุกข์มันเหยียบย่ำเสียพอแรงเหมือนกัน เหยียบย่ำหัวใจเรา ทีนี้เราจะเอาธรรมเข้ามาเหยียบย่ำทุกข์ให้มันกระจายไป เพื่อทุกข์นี้จะเบาไป ๆ จนกระทั่งทุกข์หมดไปทำไมเราจะทำไม่ได้วะ ไม่ได้มากขอให้ได้อย่างนี้ซิ มันถึงเรียกว่าใจมนุษย์เรา ใจลูกชาวพุทธ ให้มีแก่จิตแก่ใจซิ

วันไหนก็อ่อนแอๆ ความอ่อนแออย่าเข้าใจว่ามันจะเสริมคนให้ดีนะ อ่อนแอเท่าไรยิ่งเหยียบคนให้แหลกลงไปต่ำลงไปนะ เราต้องฟิต  ให้มีความเข้มแข็งในอรรถในธรรมซึ่งจะเป็นทางดีต่อเรา เราจะได้สูงขึ้นตามธรรม ถ้าอ่อนแอไปตามกิเลสแล้ว อ่อนลงไปเรื่อย ๆ สุดท้ายหมดราคาคน ๆ นั้น รอแต่ลมหายใจ พอลมหายใจขาดปั๊บก็หมดท่า แล้วตูมเลย อย่าท้าทายนะนรกไม่มี อย่าไปท้าทาย ลูกศิษย์ตถาคตอย่าท้าทาย ถ้าไม่เป็นประเภทที่ว่า เลยปทปรมะไปแล้ว อย่าไปท้าทาย บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน อย่าไปท้าทาย ธรรมเหล่านี้มี

ศาสดาองค์เอกทุกองค์สอนแบบเดียวกันหมด ไม่มีศาสดาองค์ใดที่จะสอนขัดแย้งกันว่า นี้นรกมี ศาสดาองค์นี้มาสอนนรกไม่มี ศาสดาองค์นี้สอนว่าบาปมี ศาสดาองค์นั้นมาสอนว่าบาปไม่มี องค์นั้นว่าบุญมี องค์นั้นมาสอนว่าบุญไม่มี ไม่เคยมี แบบเดียวกันหมด ฉบับเดียวกันหมด เพราะความรู้แจ้งหรือความบริสุทธิ์เป็นอันเดียวกัน ความรู้แจ้งเห็นจริงรู้เหมือนกันหมด สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่มาดั้งเดิมอย่างที่ว่า บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน มีมาดั้งเดิมตั้งกัปตั้งกัลป์กี่กัปกี่กัลป์ เวลาตรัสรู้มาตรัสรู้ทีหลังสิ่งที่มีอยู่นี่นะ พอตรัสรู้ผางขึ้นมาก็มาจ้าก็มาเห็น อ๋อ นั่น เห็นไหมล่ะ ขึ้น อ๋อ ทันทีเลย แล้วก็นำอันนั้นมาสอนโลก อะไรเป็นภัยอะไรเป็นคุณ สิ่งที่เป็นคุณก็สอนโลกให้บำเพ็ญให้อุตส่าห์พยายาม ส่วนไหนที่ผิดก็ให้พยายามละ นี่ละศาสดาสอนโลกสอนอย่างนี้แหละ พากันจดจำเอานะ วันนี้พูดเพียงเท่านั้นละเหนื่อย เอาละพอ

โยม มีปัญหามาทางอินเตอร์เน็ตครับผม

หลวงตา เอ้า ว่ามาซิ

โยม คนที่ ๑ นะครับ ขอกราบเรียนถามการพิจารณากาย ลูกใช้สัญญาความจำภาพอสุภะจากรูปถ่ายที่อื่น และความเข้าใจที่ออกมาจากจิตถึงความเป็นกาย มาพิจารณาร่างกายตัวเอง เหมือนที่หลวงตาได้สอนว่า พิจารณาภายนอกภายใน ลูกเปิดภาพอสุภะในเว็บไซต์ของหลวงตา และให้ติดจิตคือให้สลดในสุภะ ให้คลายออกจากความยึดในกาย จิตมันรู้สึกสลดเข้าทุกที และจากความจำภาพอสุภะที่ดูในรูปนั้น มันเริ่มเข้ามาในจิตใจ เป็นความรู้สึกให้สลดให้วางในกาย สัญญาความจำภาพนั้นเหมือนเป็นความเข้าใจในจิตด้วยอริยสัจ และไตรลักษณ์ พอถึงอริยสัจในจิตมันแน่น ๆ อยู่กลางอกเจ้าค่ะ สติลูกตอนนี้ตั้งไม่ให้เผลอจากอสุภะ พิจารณามากขึ้น ๆ บางทีไม่ได้ตั้งใจพิจารณา แต่เห็นบุคคลทั่ว ๆ ไป มันก็แว็บ ๆ เป็นอสุภะเนื้อไส้ส่วนต่าง ๆ ภายในกาย จิตมันก็ยิ่งสลดเข้าไป อย่างที่ลูกพิจารณาและปฏิบัตินี้ถูกต้องหรือไม่เจ้าคะ

หลวงตา ถูกต้องมาโดยลำดับนะ อันนี้ถูกต้องมาโดยลำดับแล้วไม่มีที่ต้องติ ให้เจริญนี้ให้มากเข้าไป ให้มีความคล่องแคล่วเข้าไป สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดนี้มันจะเข้าในตัวของมันเองไปรู้ตัวเองปล่อยทั้งหมด แต่จะบอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้บอกไม่ได้ตอนนี้ เป็นเคล็ดลับ ให้ผู้นั้นตัดสินตัวเอง เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก มอบให้ตัวเองเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ของตัวเองจากภาคปฏิบัติของตัวเอง ที่ครูบาอาจารย์สอนแล้วว่า ให้พิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนคล่องตัว แล้วมันจะรวมตัวเข้าไปหาจิตทั้งหมดนั่นแหละ เรื่องความรู้ความเห็นต่าง ๆ แล้วจิตจะเป็นผู้ปล่อยเองเข้าใจเหรอ เอ้า เอาแค่นี้ก่อน เอ้า ว่าไปที่นี่ถูกต้องแล้ว

โยม คนที่ ๒ ครับ กราบนมัสการเรียนถามหลวงตาดังนี้ครับ ตอนนี้ผมมีสติแน่นเข้าเรื่อย ๆ ไม่ค่อยเผลอ บริกรรมพุทโธติดแนบกับสติตามที่หลวงตาสอน แล้วระยะนี้ผมสังเกตได้ถึงพัฒนาการของจิต คือมีความระลึกตัวดีขึ้น ทำอะไรมันคิดอ่านไตร่ตรองแบบเป็นธรรมดีขึ้น ไม่ทำอะไรแบบพรวดพราดทันทีเหมือนเมื่อก่อน วันหนึ่ง ๆ ตัวเองอยากอยู่กับความสงบเย็น พอทำงานเสร็จก็กลับบ้านไม่ได้ไปไหน แต่ทุกอิริยาบถมีสติกับพุทโธตลอดนะครับ

หลวงตา เออ ถูกต้อง ๆ อันนี้ก็ถูกต้องเหมือนกัน เอ้า ว่าไป

โยม พยายามไม่ให้ขาด ทีนี้เวลามันมีเรื่องยุ่ง ๆ ใจมันก็ไม่ยุ่งไปด้วยครับ ใจมันก็สงบเย็น ๆ ของมัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ร้อนวุ่นวายไปตามเรื่องร้อนนั้น ๆ ครับ พอมานั่งภาวนาหรือเดินจงกรมเดี๋ยวนี้เพียงครู่เดียวครับ ไม่นานจิตมันก็ดิ่งวูบลึกลงไป แน่วสงบไป แต่ความระลึกรู้ตัวมีเสมอครับ ผมจึงไม่รู้สึกตกใจ เหมือนมีสติสัมปชัญญะประคองไว้ แล้วถึงโอกาสก็เริ่มพิจารณากายไปตามขั้นครับ อย่างนี้เป็นอาการถูกต้องของการภาวนาจิตจากการมีสติอยู่เสมอถูกหรือไม่ครับผม

หลวงตา ถูกต้องอันนี้ก็ถูกไปอีกแบบหนึ่งของผู้นี้นะ ไม่ผิด ถูกด้วยกันทั้ง ๒ นะ ให้เจริญให้มากกว่านี้เข้าไปเพื่อจะได้ชำนิชำนาญ ความสงบจะได้สงบและละเอียดเข้าไป ๆ และคล่องตัวเข้าไปเรื่อย ๆ การพิจารณาก็จะคล่องตัว สติก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราใช้การฝึกด้วยความมีสติฝึกตนเองอยู่ตลอดเวลานี้ จะดีขึ้นทุกอย่างในบรรดาธรรมทั้งหลายที่เรากำลังเจริญเวลานี้ เอ้า ว่าไป

โยม รายที่ ๓ เขาเป็นนิสิตแพทย์ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เขานั่งสมาธิสวดมนต์เป็นประจำ เวลานั่งสมาธิช่วงแรกจะยังรู้สึกวอกแวกครับ แต่พอนั่งไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกว่าตัวจะค้อมลง หายใจสั้นลงครับ และก็เคยถึงจุดหนึ่งที่ลมหายใจสั้นลง จนไม่มีลมหายใจเลยครับ ตกใจก็เลยถอนออกจากสมาธิ ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรต่อไป

หลวงตา ตรงนี้อย่าตกใจนะ เพราะที่ว่าลมหายใจไม่มีนั้นความรู้ยังมีอยู่นั้น เอ้า ว่าไป ลมหายใจเป็นอันหนึ่งต่างหากจากจิต ถึงลมหายใจมันดับไป ความรู้อันนี้ก็ไม่ดับ ให้อยู่กับความรู้นั้นแหละ ลมหายใจจะหายไปก็หายไป ถึงจังหวะที่มันจะคลี่คลายออกมา มันออกมาของมันเอง ถ้าเราไม่วิตกวิจารณ์ หรือเสียอกเสียใจ หรือดีใจตื่นเต้นไปตามมันแล้ว มันจะเป็นอย่างนี้ ที่ว่าเมื่อเวลามันละเอียดมันจะละเอียดของมันไป จนกระทั่งหมดลมหายใจ แต่จิตไม่หมด ให้อยู่กับความรู้นั้นเสีย ทีนี้พอได้จังหวะแล้ว ลมหายใจมันจะคลี่คลายออกมา ให้พิจารณาอย่างนี้ละนะ เอาอย่างนี้ละถูกต้องแล้วนี่ ไม่ปล่อยวาง ให้มันชำนาญอีกเหมือนกัน การชำนาญของลมหายใจยังจะแตกกระจายไปมากยิ่งกว่าการภาวนาทั้งหลายอีก อานาปานสติไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย มีความรู้แปลก ๆ ต่าง ๆ กระจายไปหมด สกลกายของเรามันจะออกเข้ารู้ไปหมดเลย เอ้า ว่าไปที่นี่

โยม รายที่ ๔ อันนี้มาจากข้างในครัววัดป่าบ้านตาดนี้ละครับ กราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เคารพอย่างสูงสุด ขณะนี้สังขารเสื่อมหมดแล้ว (เออ ว่าไป อะไรไม่เสื่อมว่ามา) นั่งนานเดินนานพับขาไม่ได้ จึงได้พิจารณาทุกขเวทนาว่าเกิดจากจิต แม้จะเลิกจากกายเจ็บปวด ป่วยไข้ แต่ก็มีวิญญาณเป็นตัวรับรู้อาการเจ็บปวดส่งไปที่จิต ด้วยแยกจิตจากกายไม่ได้จึงเกิดทุกขเวทนา เพราะจิตยังยึดกาย ได้พิจารณาทบทวนอยู่อย่างนี้รู้สึกว่ามันผิดเพราะเป็นสัญญาไม่ได้เป็นปัจจุบัน ขอได้โปรดเมตตาด้วยครับ

หลวงตา ต้องพิจารณาอย่างนี้ก่อน ปัญญาเรายังไม่ได้ต้องเอาสัญญาเป็นพื้นฐานไปเสียก่อน เมื่อสัญญาเป็นพื้นฐานแน่เข้า ๆ แล้วมันจะเป็นปัญญาเอง เป็นความจริงเอง ต้องอาศัยอันนี้ไปก่อน เข้าใจหรือเปล่านี่ เอ้า ว่าอีกทีหนึ่งน่ะ

โยม ย่อเลยครับ เขาบอกตอนนี้สังขารเสื่อมหมด นั่งนานเดินนานพับขาไม่ได้ จึงได้พิจารณาทุกขเวทนาว่าเกิดจากจิตแล้วก็มาเริ่มจากกาย เจ็บปวดป่วยไข้ แต่วิญญาณเป็นตัวรับรู้อาการเจ็บปวดส่งไปที่จิต เมื่อแยกจิตจากกายไม่ได้ จึงเกิดทุกขเวทนาเพราะจิตยังยึดกาย ได้พิจารณาทบทวนอยู่อย่างนี้รู้สึกว่ามันผิด เพราะเป็นสัญญา ไม่ได้เป็นปัจจุบัน

หลวงตา ไม่ผิด ๆ มันจะเข้าไปเป็นปัญญานั่นแหละ เวลานี้ยังอยู่ในขั้นสัญญาที่จะก้าวเข้าสู่ปัญญา มันยังไม่ชำนาญ มันก็ยังไม่เข้าถึงขั้นปัญญาเข้าใจเหรอ

โยม อันนี้ผู้ถามต้องเข้าใจว่าไม่ผิด นี่เขานึกว่าเขาผิด ๆ

หลวงตา ไม่ผิด

โยม เออ แล้วก็ที่เขาว่าผิด เพราะว่ามันเป็นสัญญาไม่ได้เป็นปัจจุบัน

หลวงตา สัญญาสันแยอะไร เวลามันเป็นกิเลสเต็มตัวมันไม่ได้เห็นว่ากิเลสนี้เป็นสัญญา ทั้ง ๆ ที่กิเลสนี้เป็นตัวสัญญานั่นแหละป้อนอะไร ๆ ให้เป็นกิเลสเข้าใจไหม มันไม่เห็นพูดบ้าง มันอยู่ในครัวมันคนไหนน่ะ เหอ น่าโมโห มันจะเป็นบ้านะนั่นน่ะ หมดเท่านั้นนะ

โยม หมดแล้วครับผม

หลวงตา เออ ๆ หมดแล้วก็ให้พร สายแล้ว

 

 

ชมการถ่ายทอดสดทั่วโลกทุกวัน  ได้ที่

www luangta.com หรือ www.luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก