กิเลสไม่ยอมรับความจริง
วันที่ 3 ตุลาคม 2534 เวลา 19:00 น. ความยาว 85.21 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔

กิเลสไม่ยอมรับความจริง

 

คำว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ธรรมทั้งสามอย่างนี้โดยหลักศาสนธรรมแล้วแยกกันไม่ออก  กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน  ถ้ามีแต่ปริยัติอย่างเดียวคือความจำล้วนๆ ก็ได้แต่ชื่อแต่นามของกิเลสบาปธรรมต่างๆ เรียนได้มากเท่าไรก็ไม่เกิดประโยชน์ ความสะดุดใจเกี่ยวกับเรื่องหิริโอตตัปปะ เพราะการจดจำธรรมทั้งหลายเหล่านั้นมาก็ไม่ปรากฏ จะเป็นธรรมดาเรานี่เหมือนคนไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน เพราะเป็นแต่เพียงความจำมา เรียนเบื้องต้นก็มีสะดุดนิดหนึ่ง  ท่านว่าบาปว่าบุญ  มีสะดุดใจนิดๆ ๆ เพราะเป็นคำบอกเล่า  นี่ท่านเรียกว่าปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนตามตำรับตำรา

ตำรานั้นบอกไว้ตามหลักความจริงล้วนๆ ไม่มีผิดมีพลาดประการใดเลย ความที่เราจำมาก็จำได้ตามนั้น  แต่จิตซึ่งเป็นเจ้าของแห่งความจำนั้นไม่ยอมรับความจริงที่จำมา  มันยอมรับตามหลักธรรมชาติของกิเลสซึ่งเจ้าของก็ไม่รู้เลยว่านั้นคือกิเลส  ความโลภเคยมีก็มีอยู่ตามเดิม  ความโกรธ  ความหลง  ราคะตัณหา ขึ้นชื่อว่ากิเลสประเภทต่างๆ แล้วมีอยู่ตามเดิม ไม่มีคำว่าถลอกปอกเปิกเพราะความจำได้จากตำรับตำรามาเท่านั้น ทั้งๆ ที่ตำรับตำราบอกชัดเจน  ว่าสิ่งที่ควรละก็บอกชัดเจนว่าให้ละ สิ่งที่ควรบำเพ็ญก็บอกอย่างชัดเจนว่าให้บำเพ็ญให้มากขึ้นโดยลำดับ แต่จิตซึ่งเป็นเจ้าของแห่งความจำได้ว่าละว่าบำเพ็ญนี้นั้น มันไม่ยอมรับเชื่อและทำตามเลย

สิ่งที่หนุนใจให้ยอมรับอยู่ตลอดมาโดยเจ้าตัวไม่รู้นั้นท่านเรียกว่ากิเลส ภาษาธรรมะท่านเรียกว่ากิเลส คือมารของธรรมนั่นแลจะเป็นอะไรไป  เช่นเดียวกับความมืดมันทับถมความสว่าง  หรือความมืดเป็นข้าศึกกับความสว่างอย่างนี้ก็ได้  ความสว่างหมายถึงธรรม ท่านบอกไว้โดยชัดเจนทุกสิ่งทุกอย่างตามความมีความเป็น ไม่ผิดพลาดประการใดเลย  แต่เรื่องความมืดคือกิเลสนี้มันดันไปเสียอย่างหนึ่ง  ไม่ยอมรับความจริง  สิ่งใดที่ธรรมมีไว้บอกไว้ ว่าดีว่าชั่วว่าสุขว่าทุกข์เหล่านี้เป็นต้น กิเลสไม่ยอมรับความจริงเหล่านี้  เพราะกิเลสเป็นของจอมปลอมอยู่แล้วแต่กาลไหนๆ มา  ทุกอาการนับแต่รากเหง้าเค้ามูลของกิเลสจนแตกมาเป็นแขนงต่างๆ เป็นเรื่องความปลอมทั้งหมด  ตั้งแต่รากเหง้าเค้ามูลของมันจนออกมากิ่งก้านแขนงต่างๆ  ล้วนแล้วแต่เป็นกิ่งก้านแขนงที่ออกมาจากสิ่งจอมปลอม  มันจึงปลอมไปได้ทั้งนั้น

ความปลอมเหล่านี้แลฝังอยู่ภายในจิตใจของสัตว์โลก เพราะฉะนั้นสัตว์โลกจึงยอมรับความจอมปลอมทั้งหลาย มากยิ่งกว่าที่จะรับความจริงตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้  ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงเป็นความลำบาก การบำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายจึงเป็นของลำบากลำบน เพราะต้องได้ขัดได้แย้งกับสิ่งที่เป็นภัยต่อความดีทั้งหลายอยู่ตลอดมาและยังจะตลอดไป จนกระทั่งสิ้นสุดวิมุตติหลุดพ้นจากอำนาจของมันแล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะมาคัดค้านต้านทานหรือกีดขวางอีกต่อไป  ดังจิตพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่าน  ท่านหมด ท่านหมดอย่างนั้นจริงๆ

ธรรมดาทั่วๆ ไปแล้วก็ต้องได้มีการฝืนกันอยู่ตลอด เพราะสิ่งที่ทำให้ฝืนนั้นเป็นของไม่จริง  เป็นข้าศึกต่อความดีของเรา จึงได้ฝืนกัน ถ้าไม่ฝืนก็ต้องเป็นไปตามมันโดยแท้  ถ้าเป็นไปตามฝ่ายต่ำเราก็ต้องต่ำไปด้วย ผลที่ได้รับจากความต่ำก็คือความทุกข์ ทุกข์ไปเรื่อยๆ ทุกข์มากทุกข์น้อยไปตามความคล้อยตามมันนั้นแล แม้แต่ผู้มาบวชตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกจากใจโดยสิ้นเชิงภายในจิตใจ  ยังต้องฟัดต้องเหวี่ยงจนเอนจนเอียงจนล้มไปตามมันจนได้ หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วผู้ปฏิบัติเราจะต้องก้าวเดินไปด้วยความสม่ำเสมอและเข้มแข็งขึ้นไปข้างหน้า  ทั้งด้านประพฤติปฏิบัติ  ทั้งผลที่ได้รับเป็นเครื่องดึงดูดกันไป  ให้มีแก่ใจประกอบความพากความเพียร  หนักแน่นในข้อปฏิบัติกำจัดสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ  แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้นกลับท้อถอยน้อยใจ  สุดท้ายก็ล้มเหลวไปตามมันจนได้  นี่เพราะมันมีความดึงดูดเอามากอย่างนั้นแล

เรื่องกิเลสนี้เรียกว่าธรรมชาติดึงดูด เมื่ออยู่ในใจของสัตว์โลกก็ดึงดูดจิตใจไม่ให้ฟื้นขึ้นมาเพื่ออรรถเพื่อธรรมซึ่งเป็นความสูงได้เลย จะต้องถูกดึงดูดลงไปทางต่ำเสมอ  ผลที่ได้รับจึงมีแต่ความทุกข์  ทุกข์ที่ใจเป็นอันดับหนึ่ง  กระจายออกไปก็ทุกข์ทางกาย  นี่ก็ไม่พ้นที่ผลเป็นไปจากกิเลสจนได้  การปฏิบัติธรรมที่ว่ายากที่ว่าลำบาก  เพราะสิ่งอันต่ำทรามทั้งหลายฝังลึกอยู่ภายในหัวใจอย่างเหนียวแน่นมั่นคง จึงลำบากลำบน

จะเห็นได้เมื่อเราฝ่าฝืนต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ด้วยความขยันหมั่นเพียร  ด้วยความอุตส่าห์พยายามบึกบึนไปเรื่อยๆ  ย่อมมีเป็นจังหวะๆ  ที่ผลจะพึงได้รับเป็นที่พอใจ  พอเป็นเครื่องดึงดูดจิตใจให้ก้าวเข้าสู่ความเพียรที่หนักแน่นขึ้นไปโดยลำดับ  จนกระทั่งจิตมีกำลังกล้าที่จะฟัดจะเหวี่ยงกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้แล้ว  ก็ยิ่งมีความขยันหมั่นเพียรมากขึ้นไปๆ  ทุกอากัปกิริยาแห่งความเพียร จะเป็นไปเพื่อความหมุนให้หลุดพ้นจากอำนาจแห่งความดึงดูดนี้ทั้งนั้น  ความขัดความขืนนี้  ความกดถ่วงของความขี้เกียจขี้คร้าน  ความท้อถอยอ่อนแออย่างนี้ก็หมดไปๆ  จนกลายเป็นมีแต่ธรรมคือความเพียรล้วนๆ  ที่จะก้าวเดินออกหน้าเรื่อยไปไม่มีคำว่าถอยหลัง จนกระทั่งจิตได้ถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงแล้ว จึงกลับย้อนมาเห็นโทษของมันได้อย่างเต็มหัวใจ

ผู้ที่ท่านสอนพวกเรามีพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก ท่านจึงสอนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ทั้งการฝ่าฝืนกิเลสประเภทต่างๆ จะควรฝ่าฝืนอย่างไรแก้ไขอย่างไร  ฟัดเหวี่ยงกันอย่างไร  ต้องมีเน้นมีหนักเป็นบางวรรคบางตอนในอรรถในธรรมทั้งหลาย  ตามเรื่องของกิเลสที่มีกำลังหนักเบามากน้อยอยู่ภายในใจเป็นระยะๆ ไป  การสอนของพระพุทธเจ้าจึงไม่มีผู้ใดเป็นคู่แข่งได้เลย เพราะพระองค์ช่ำชองชำนิชำนาญมาก เห็นประจักษ์พระทัยทั้งฝ่ายกิเลสและธรรมไม่มีทางสงสัย

การฝ่าฝืนจนกระทั่งเล็ดลอดออกไปได้ จากสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ความทรมาน  พระองค์ก็ทรงฝ่าฝืนเสียเองและเล็ดลอดออกไปได้โดยลำดับๆ เสียเอง จนกระทั่งเล็ดลอดออกไปถึงความพ้นทุกข์ เรียกว่าแดนแห่งธรรมล้วนๆ พระองค์ก็ได้ทรงผ่านมาเสียเอง  การแสดงอรรถธรรมทั้งหลายต่อสัตว์โลก จึงแสดงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มที่เต็มฐานเต็มอรรถเต็มธรรม  พลังอะไรไม่เหนือพลังแห่งความเมตตาสงสารสัตว์โลกนี้เลย  การแนะนำสั่งสอนจึงเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เพราะโทษก็ทรงเห็นจริงๆ ประจักษ์อยู่ในพระทัย  แล้วสัตว์ทั้งหลายที่จมอยู่ในกองทุกข์ความทรมานหนักเบามากน้อยพระองค์ก็ประจักษ์อยู่ในพระทัย  การผ่านมาของพระองค์หนักเบามากน้อยเพียงไรพระองค์ก็ทรงประจักษ์แล้ว  มิหนำยังทรงรู้รอบจักรวาลหรือทั่วดินแดนจักรวาลแห่งสมมุตินี้ด้วย ญาณํ อุทปาทิ  หรือหยั่งทราบด้วย โลกวิทู รู้แจ้งเห็นสภาวะทั้งหลายเต็มพระทัย แล้วจะไม่ทรงสลดสังเวชอย่างไรต่อสัตว์ผู้ที่ได้รับความทุกข์ความทรมาน ที่ไม่มีช่องว่างเลยในแดนสมมุตินี้ ว่าสัตว์ไม่ได้รับความทุกข์ความลำบาก ไม่ได้เสวยกรรมของตน

เมื่อเป็นเช่นนั้นพระองค์จะนอนพระทัยได้อย่างไร  อยู่สบายกินสบายได้อย่างไร  ขนาดภูมิธรรมของศาสดาน่ะ เมื่อทรงมองเห็นสัตว์โลกทั้งหลายเสวยกรรมต่างๆ กันเช่นนั้นอยู่ ควรที่จะช่วยเหลือได้ขนาดไหน ต้องทรงขวนขวายเต็มพระสติปัญญาความสามารถนั่นแล ลงถึงขนาดองค์ศาสดาแล้ว พระอาการต่างๆ ที่ช่วยโลกจะเป็นเหมือนมนุษย์มนาทั้งหลายได้อย่างไร การช่วยสัตว์โลกต้องช่วยอย่างเต็มพระสติกำลังอย่างนี้แล  เพราะฉะนั้นการสั่งสอนธรรมจึงทรงเน้นหนักต่อผู้ที่เห็นภัย เช่นภิกษุบริษัทเป็นอย่างมาก  สอนตั้งแต่ในสถานที่ที่จะเป็นที่ชำระสะสางกิเลสสังหารกิเลสไปโดยลำดับเท่านั้น  สถานที่ใดที่จะเป็นที่สั่งสมความกังวลเกี่ยวข้องกับกิเลส  พระองค์ทรงตำหนิไม่ให้ไปเกี่ยวข้องสถานที่เช่นนั้น ทรงสอนให้เข้าป่าเข้าเขาเข้าในสถานที่วิเวกสงัดเพื่อบำเพ็ญความพากเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่โดยสม่ำเสมอ

คำว่าความพากเพียร ก็เพียรเพื่อแก้สิ่งที่เป็นมลทินหรือมืดตื้อทั้งหลายอยู่ภายในจิตใจนี้แลจะเป็นอะไรไป ด้วยธรรมมี วิริยธรรม  สติธรรม  ปัญญาธรรม  ขันติธรรมสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา  จิตเมื่อได้รับการช่วยเหลืออยู่ไม่ละไม่ปล่อยวางจากเจ้าของ  ย่อมมีการฟื้นตัวขึ้นมาเป็นลำดับ  ความสุขไม่เคยเจอจากธรรมทั้งหลายก็ได้เจอขึ้นกับผู้มีความพากเพียร  ความเย็นใจเป็นขั้นๆ ตอนๆ  จนกระทั่งถึงความสว่างไสวภายในจิตใจ  ก็ย่อมปรากฏเป็นผลขึ้นมาประจักษ์ใจของผู้ปฏิบัติบำเพ็ญนั้นๆ

เมื่อสถานที่ก็เป็นเครื่องสนับสนุน  ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องกับเรามีแต่เครื่องสนับสนุน  เพื่อความเป็นอรรถเป็นธรรม เพื่อความแก้กิเลสไปโดยถ่ายเดียวแล้ว  จิตใจย่อมจะก้าวเดินไปโดยทางธรรมเรื่อยๆ  ตรงกันข้ามกับสถานที่สั่งสมกิเลส  อิริยาบถใดมีแต่เรื่องสั่งสมกิเลส  สถานที่ก็เป็นสถานที่เหมาะสมกับกิเลสที่จะพอกพูนหัวใจ  ตาได้เห็นก็เหมาะสมกับกิเลสที่จะพอกพูนหัวใจ  จมูก  ลิ้น  กาย  สัมผัสสัมพันธ์อะไรก็มีแต่ความพอกพูนของกิเลสๆ  มันก็จมไปได้โดยไม่อาจสงสัย  พระองค์ทรงทราบสถานที่และการบำเพ็ญเพราะทรงดำเนินมาก่อน จึงต้องสอนธรรมะที่สำคัญๆ ให้แก่ภิกษุบริษัทผู้เหมาะสมแล้วที่จะก้าวให้หลุดพ้นจากทุกข์ในปัจจุบันชาติ  จึงประทานพระโอวาทที่เด็ดๆ  สำคัญๆ ตลอดถึงงานที่ประทานให้ก็ประทานงานที่สำคัญ ซึ่งโลกทั้งหลายไม่มีใครทำกันในงานอย่างนี้

สถานที่ที่พระองค์ประทานให้นั้นโลกก็ไม่ต้องการ  โลกคือกิเลสไม่ต้องการ  งานที่พระองค์ประทานให้กิเลสก็ไม่ต้องการ  แต่เป็นที่เหมาะสมกับธรรมที่จะก้าวเพื่อความพ้นทุกข์  จึงต้องได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าหลังจากอุปสมบทแล้วใหม่ๆ  ในขณะนั้นด้วยว่า  รุกฺขมูลเสนาสนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา  ตตฺถ เต  ยาวชีวํ  อุสฺสาโห  กรณีโย นี่เป็นพระโอวาทที่เด็ดเดี่ยวมากเป็นอันดับหนึ่งอันดับเอกทีเดียว  สถานที่เช่นนี้แลถ้าจะพูดตามภาษาของเรา  เราตถาคตได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นจากสถานที่เช่นนี้  คือใต้ร่มโพธิ์ใต้ร่มไม้ อยู่โคนต้นไม้ จากนั้นที่จะลดหย่อนผ่อนผันไปตามสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสมตามกาลเวลาก็บอกไปเรื่อยๆ 

เช่น  อยู่ตามป่าตามเขา  ตามถ้ำเงื้อมผา  บอกไปๆ มีแต่สถานที่ปราศจากสิ่งที่เป็นข้าศึก  ปัดเป่าสิ่งที่เป็นข้าศึกให้ห่างไกลจากสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งนั้น  สถานที่ก็เป็นสถานที่เหมาะสมกับผู้เข้าสู่สงคราม  แนวรบก็เหมาะสม  ทีนี้งานที่ประทานให้ที่โลกทั้งหลายไม่เคยสนใจ โลกของคนมีกิเลสไม่สนใจกันก็ประทานให้ว่า  เกสา  โลมา  นขา  ทันตา  ตโจ  แปลแล้วก็ว่า  ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  ย่อๆ เพื่อให้พอเหมาะกับเวลาที่มีเพียงเล็กน้อยในขณะที่บวช  จากนั้นก็ให้กระจายขยายออกไปถึงอาการ ๓๒ นี่ล้วนแล้วแต่เป็นงานการที่จะรื้อฟื้นจิตใจให้หลุดพ้นจากหล่มลึกคือกิเลส  ซึ่งเป็นเหมือนกับมหาสมุทรมหาสมมุตินั่นเอง  ให้หลุดพ้นไปจากมันเสียได้ด้วยงานอันนี้

พระโอวาทใดที่พระองค์ประทานแก่ภิกษุบริษัท ต้องเป็นพระโอวาทที่สำคัญๆ  เฉพาะที่ประทานให้พระบวชใหม่จึงเป็นพระโอวาทที่เด็ดเดี่ยวมากทีเดียว นี่เราเป็นผู้ต้องการมรรคผล  เป็นผู้จะทรงมรรคทรงผลในหัวใจตามเจตนาของตนอยู่แล้ว  จึงไม่ควรเห็นพระโอวาทเหล่านี้ว่าเป็นของเล็กน้อย  แต่เป็นธรรมถึงใจที่สุด  ถึงใจก็คือถึงกิเลสซึ่งเคยผูกพันมัดเรามาตลอดกี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วนเลย  ให้ได้หลุดพ้นจากมันเสียได้ก็เพราะสถานที่เป็นที่อำนวย  แล้วงานการที่ทำนี้ก็เป็นงานการที่เหมาะสม  ถ้าเป็นอาวุธก็เป็นอาวุธที่เหมาะสมกับการสังหารกิเลสให้ม้วนเสื่อลงไปได้ในวันใดวันหนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่งโดยไม่อาจสงสัย

ที่นี่พวกเราทั้งหลายเป็นผู้บวชในพระพุทธศาสนา เสาะแสวงหาครูหาอาจารย์มาโดยลำดับ แสวงหาเพื่ออะไรหาครูหาอาจารย์  ในตำรับตำราต่างคนต่างก็ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วก็น่าจะพอแก่การจะประพฤติปฏิบัติแล้ว ถ้าพูดตามความนิยมของโลก  จำเป็นอะไรจะต้องเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ นี่เป็นปัญหาสำคัญ  เรียนก็อย่างที่เคยได้พูดแล้วในเบื้องต้น  ความจำเฉยๆ นั้นเราจะไปทำหน้าที่การงานอะไรโดยไม่มีผู้แนะผู้บอกไว้ก่อนแล้วอย่างไรก็ทำไม่ถูก  เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาชำระกิเลส  ไม่ทราบว่าเดินอย่างไร  นั่งอย่างไร  ตั้งสติสตังตั้งอย่างไรมันไม่รู้เรื่อง

จนกระทั่งไปถึงครูบาอาจารย์ซึ่งท่านเป็นผู้ชำนิชำนาญ และทรงไว้แล้วซึ่งมรรคซึ่งผล ท่านพาดำเนินได้เห็นอยู่ด้วยตาได้ยินด้วยหู  เดินจงกรมก็เห็นต่อหน้าต่อตาว่าท่านเดินอย่างไร  ข้อวัตรปฏิบัติท่านพาทำอย่างไร  นั่งสมาธิภาวนาท่านสอนวิธีใดเกี่ยวกับเรื่องการนั่งสมาธิภาวนา  อารมณ์แห่งธรรมที่นำมาปฏิบัติเพื่อความสงบให้จิตเป็นสมาธิ  ท่านสอนอารมณ์ใด  ท่านนำธรรมเหล่านั้นละมาสอนพวกเรา  แล้วเราก็ปฏิบัติตามนั้นๆ  นี่เรียกว่าเป็นภาคปฏิบัติที่มีครูมีอาจารย์เป็นผู้นำทาง

เมื่อมีภาคปฏิบัติเข้าไปเกี่ยวข้อง  ไม่มีแต่ปริยัติอย่างเดียว  ผลก็จะเริ่มปรากฏ  ที่ว่าปฏิเวธคืออะไร  คือความรู้  รู้ชัดขึ้นภายในจิตใจ  แต่ก่อนรู้แต่ในตำรับตำราว่าเดินจงกรม  ว่าสมาธิ  ว่าปัญญา  ว่าวิมุตติหลุดพ้น  แต่เวลาเราได้นำภาคปฏิบัติมาบำเพ็ญกับตัวของเราเอง  เดินจงกรมทำความเพียรเราก็เป็นผู้เดินเสียเอง นั่งสมาธิภาวนาเราก็เป็นผู้นั่งผู้ทำเสียเอง  เจริญบทภาวนาจะเจริญบทใดตามครูอาจารย์ที่แนะนำสั่งสอนแล้วเราก็นำมาดำเนินมาบำเพ็ญเสียเอง  บังคับจิตใจของตนด้วยวิธีการใดที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนไว้แล้ว เราก็นำวิธีการนั้นมาบังคับจิตใจของเราเอง  ผลก็ปรากฏขึ้นมาเป็นความสงบเย็นใจ  นี่เรียกว่าปฏิเวธะหรือปฏิเวธ  เริ่มปรากฏผลขึ้นแล้วที่ใจของเรา  จากตำรามาเป็นที่หัวใจ

ตำราเราเรียนมาแล้วไม่ปรากฏจิตเป็นสมาธิ  แต่พอมาประพฤติปฏิบัติใจของเราตามครูอาจารย์แนะนำสั่งสอน  ความสงบเย็นใจได้ปรากฏขึ้นแล้วที่ใจของเรา  นี่เรียกว่าปฏิเวธะหรือปฏิเวธ  รู้แล้วที่นี่  รู้ขั้นนี้ก่อนก็เรียกว่ารู้  เริ่มรู้  เริ่มปฏิบัติก็เริ่มรู้อย่างนี้  เมื่อปฏิบัติไม่หยุดไม่ถอย  หนักแน่นเข้าทุกวันๆ  สืบต่อกันด้วยความพากความเพียร  และวิธีการที่จะทำจิตใจให้สงบเย็นใจ เราก็ก้าวเดินเข้าไปเรื่อยให้ชำนิชำนาญ  แล้วความสงบก็จะเด่นขึ้นเรื่อยๆ นี้ก็ชัดขึ้นเรื่อย  เรียกว่าเป็นปฏิเวธ  ปฏิเวธก็คือความรู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ  ในผลที่เกิดจากการปฏิบัติซึ่งปรากฏอยู่ในหัวใจของเรานี้เสียเอง  ทีนี้สมาธิมาปรากฏแล้วที่ใจ

การเรียนปรากฏที่ตำรามีแต่ชื่อสมาธิ ท่านชี้เข้ามาสู่หัวใจเรา  สู่ผู้ปฏิบัติ  เราก็นำมาปฏิบัติ นำธรรมเหล่านี้เข้าสู่จิตใจ บำเพ็ญที่จิตใจ สมาธิก็ปรากฏขึ้นมาในทางจิตใจ เรียกว่าเป็นปฏิเวธธรรม รู้ขึ้นมาๆ จากนั้นก้าวทางด้านปัญญาก็ทำนองเดียวกัน ท่านสอนวิธีคลี่คลายพินิจพิจารณาสังขารร่างกายตั้งแต่ตัวของเรานี้กระจายออกไปทั่วแดนโลกธาตุ  ไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่างกันเลยพอที่จะให้หลงว่ามันเป็นของแปลกจากกัน  มันเหมือนกัน  ถ้าพูดถึงเรื่องสดๆ ร้อนๆ  ก็ร่างกายของเรานี้มีอะไรที่น่าจะติดจะพันจะรักใคร่ชอบใจ  มันมีที่น่าติดน่าพันน่ารักใคร่ชอบใจที่ตรงไหน  ดูตั้งแต่ผิวหนังนี้เข้าไปมันก็เยิ้มด้วยสิ่งสกปรกโสโครกทั้งนั้น  แล้วเข้าไปลึกเท่าไรๆ  ก็มีแต่ความสกปรกโสโครกเต็มไปหมดทั้งร่าง ความสกปรกนี้เหรอเป็นของสวยของงาม  เป็นของที่น่ารักใคร่ชอบใจ

ดูเข้าไปให้เห็นชัดเจนแล้วใครจะไปรักได้ลงคอ ชอบใจได้ลงคอในสิ่งเหล่านี้  เมื่อเป็นเช่นนั้นจะไปติดใจได้อย่างไร  ความเคยติดใจมาแล้วกับความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรสำคัญนั้นว่าเป็นของสวยของงามมันถึงได้ติด  เมื่อได้พิจารณาให้เห็นตามหลักความจริงนี้แล้ว  ความยึดมั่นถือมั่นก็ถอยตัวเข้ามา  เพราะความรักความชอบใจความติดพันทั้งหลายอ่อนตัวลงไปๆ  จากอำนาจของปัญญาที่หยั่งทราบ  นี่เรียกว่าปัญญา  เราอธิบายเพียงย่อๆ แล้วกระจายออกไปทั่วแดนโลกธาตุ  ไม่ว่าหญิงใดชายใดสัตว์ตัวใดมันก็เป็นเหมือนกันนี้หมด  ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใดเป็นเหมือนกันนี้หมด  แล้วตื่นหาอะไรเมื่อได้พิจารณาลงถึงความจริงแล้ว

ถ้าพูดถึงเรื่อง  อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันก็แปรอยู่ตลอดเวลาทั้งเขาทั้งเรา  ใครอยู่ที่ไหนก็แปรอยู่ที่นั่น  ทุกข์อยู่ที่นั่น  อนตฺตา หาตนอยู่ที่ไหนมันก็มีแต่ลมๆ  แล้งๆ  ของใจที่ไปสำคัญมั่นหมายว่านั้นเป็นเรานี้เป็นของเราเท่านั้น  ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอะไรของใคร  แม้แต่ธาตุขันธ์ของเราที่อยู่เวลานี้ ครองตัวอยู่นี้ก็ไม่ได้เป็นเราเป็นของเรา  ความเปลี่ยนแปลงก็ทำหน้าที่ของตัวเองไปโดยหลักธรรมชาติ

ทุกฺขํ  บีบหรือไม่บีบที่ว่า  ทุกฺขํ  ว่าเป็นทุกข์  แปลตามศัพท์จริงๆ แล้ว  ท่านว่า  ทุกฺขํ  แปลว่าความทนไม่ได้จะทนได้ยังไง  คนทุกข์ก็ต้องดีดต้องดิ้นซิ  ท่านจึงแปลทับศัพท์ลงไปว่า  ทุกฺขํ  คือความทุกข์  เพราะมันดีดมันดิ้น เมื่อถูกธรรมชาตินั้นบีบเข้าไปมันก็ดีดก็ดิ้นเพราะทนไม่ได้ ท่านจึงว่า  ทุกฺขํ มันทนไม่ได้  ทีนี้พูดอย่างนั้นมันไม่ถนัดในหัวใจตามอัธยาศัยของแต่ละคนๆ ว่า  มรณมฺปิ ทุกฺขํ  แม้ความตายก็เป็นทุกข์  แน่ะมันเข้าใจทันที ความตายเป็นทุกข์ยังไงเราก็เห็นอยู่แล้ว  นั่นละเป็นทุกข์อย่างนั้น  ท่านว่าทนไม่ได้ๆ  เมื่อยังไม่ถนัดใจเราก็แยกลงไปหา มรณมฺปิ ทุกฺขํ ซิ เวลาจะตายก็เป็นทุกข์อย่างนี้เหมือนกันหมด  นี่เรียกว่าปัญญา  ขยายออกไปจนทั่วแดนโลกธาตุในสมมุตินี้มีอะไร  ก็มีไตรลักษณ์นี้เท่านั้นเป็นพื้นเป็นฐานแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านี้  แยกกันไม่ออกกับธรรมทั้งสามประเภทนี้  ขึ้นชื่อว่าสมมุติมีอยู่สถานที่ใด  ธรรมชาติทั้งสามนี้ต้องมีอยู่เป็นไปด้วยกัน  แล้วไปติดที่ตรงไหน  นี่เรียกว่าปัญญา

เมื่อพิจารณาแยกแยะให้เห็นชัดเจนแล้ว  เรื่องอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นไม่ต้องบอก เพราะนี้เป็นผลแห่งกิเลสที่สำคัญมั่นหมายไปตามเรื่องของมันต่างหากจึงทำให้ยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดแล้วให้หนัก  ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้งห้านี้เป็นทุกข์เป็นภาระหนัก  อันอื่นมันก็หนัก ถ้าลงได้ยึดได้ถือแล้วภายในจิตใจไม่หนักได้ยังไง  นั้นเป็นเรานี้เป็นของเราก็หนักแล้ว  เมื่อมารู้เรื่องรู้ราวชัดเจนแล้วด้วยปัญญาก็ถอนตัวเข้ามา  อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นเบาเข้ามา  ความทุกข์เบาเข้ามา   หมดความยึดมั่นถือมั่นหายห่วงก็ไม่มีทุกข์  นี่เรียกว่าปัญญา

เมื่อพิจารณาเข้าไปกระจายเข้าไปเรื่อยๆ  อย่างนี้  ก็เป็นการซักการฟอกจิต ถอยจิตที่อาจที่เอื้อมในสิ่งต่างๆ ทั่วแดนโลกธาตุให้หดให้ย่นเข้ามาตามหลักความจริง  คือปัญญาตีตะล่อมเข้ามาสู่ภายในจิตใจ  จนกระทั่งถึงตัวกิเลสที่เป็นตัวจอมปลอมสำคัญที่ฝังอยู่ภายในจิตใจ ตามหลักธรรมท่านแสดงไว้ว่า  อวิชฺชาปจฺจยา  สงฺขารา  นี้คือยอดแห่งสมุทัย  คือยอดแห่งกิเลส  จอมกษัตริย์วัฏจิตวัฏจักรคืออันนี้เอง  เมื่อที่ไหนก็พิจารณาหมดๆ  รอบแดนโลกธาตุ  มีแต่กิ่งก้านสาขาดอกใบ  กระแสของจิตอวิชชานี้ทั้งนั้นไปเที่ยวสำคัญมั่นหมาย  ปัญญาตีตะล่อมเข้ามาๆ ทีนี้มาถึงตัวจริงคืออะไร ก็เหมือนอย่างเราจับเถาวัลย์นี้ ตามเถาวัลย์ขึ้นมาจนกระทั่งถึงต้นของมันกอของมันและถอนพรวดขึ้นตรงนั้น  แล้วจะเกิดอีกไหมที่นี่เถาวัลย์น่ะ

นี่ก็เหมือนกัน  อวิชชา  อาการของมันเป็นเหมือนเถาวัลย์  กระจายออกไปทั่วแดนโลกธาตุ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้วก็ตีตะล่อมเข้ามาๆ เหมือนกับว่าตามเถาวัลย์ กระแสจิตนี้เข้ามา  เพราะกระแสจิตนี้เป็นไปด้วยอำนาจของอวิชชา ตามเข้ามาจนกระทั่งถึงตัวจริงคือกอรากเหง้าของกิเลสทั้งหลายได้แก่อวิชชา นี่ละท่านเรียกว่ายอดสมุทัย คืออันนี้เอง วัฏจิตวัฏจักร ยอดของวัฏจิตยอดของวัฏจักร  ตัวที่พาให้สัตว์ทั้งหลายหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเกิดแก่เจ็บตายอยู่ไม่หยุดไม่ถอยไม่มีกาลนั้นสมัยนี้อยู่นี้ ก็คือธรรมชาตินี้แล

เมื่อปัญญาได้เข้าถึงตรงนี้แล้วและถอนพรวดขึ้นมาแล้ว  เอาอะไรไปเกิด  มันหมด  ถอนพรวดขึ้นมาแล้วเงื่อนต่อที่ตรงไหน  จะไปเกิดด้วยเหตุผลกลไกอะไร เหตุผลกลไกอันนั้นก็คือตัวของมันนี้เอง  ตัวของมันนี้ก็ได้ขาดสะบั้นไปแล้วจากใจ  เป็นใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้ว ธรรมชาติที่ว่าวัฏจักรๆ ที่หมุนอยู่ในจิต  ให้จิตเป็นวัฏจิตเข้าไปนี้ขาดสะบั้นไปจากกันแล้ว ก็เห็นประจักษ์ชัดเจน นี่ท่านเรียกว่าปฏิเวธธรรม คือความรู้แจ้งแทงทะลุเต็มภูมิ ความรู้แจ้งนี้เต็มภูมิ  หรือการทำลายวัฏจิตวัฏจักรนี้ออกจากใจท่านเรียกว่ามรรค

ยอดแห่งมรรคได้แก่ปัญญาญาณ  นับแต่มหาสติมหาปัญญาเข้าไปจนละเอียดสุด  เป็นยอดของมรรคทั้งนั้น  ยอดของมรรคปราบยอดแห่งสมุทัยให้สิ้นซากลงไปแล้ว  นิโรธะคือความดับทุกข์  ดับโดยประการทั้งปวงไม่มีสิ่งใดเหลือ  ไม่มีเงื่อนใดมาต่อให้เกิดทุกข์อีกแล้วภายในหัวใจของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว  นับแต่ขณะที่สมุทัยได้สิ้นซากลงไปแล้ว  ไม่มีสิ่งใดที่จะมาสร้างทุกข์ให้จิตดวงนั้นได้ปรากฏว่าเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก  ให้ได้รับความทุกข์ทรมานอีกต่อไปเลย  ส่วนธาตุส่วนขันธ์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องยอมรับกันโดยหลักธรรมชาติ  ที่เรียกว่าสัญชาตญาณ  ความรู้  ต้องมีความหิวความโหยความกระหายเช่นเดียวกับโลกไม่มีอะไรผิดกันเลย เป็นแต่ว่าความยึดถือความประสานกันระหว่างขันธ์กับจิตนี้ไม่มีเท่านั้นเอง  ไม่เหมือนสัตว์โลกที่ประสานกันจนกระทั่งว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเราเป็นของเราเสียทั้งสิ้น  ไม่มีอะไรที่แยกกันได้เลย  กายทั้งกายเป็นเราทั้งคน   แต่ท่านไม่เป็นเช่นนั้น

ธรรมชาติที่บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วตั้งแต่ขณะที่บรรลุธรรมปึ๋งขึ้นมา  ธรรมชาติอันนี้ก็เป็นสมมุติล้วนๆ  ถ้าว่าเป็นขันธ์ก็ขันธ์ล้วนๆ  เป็นเครื่องมือของธรรมเท่านั้น  เพราะกิเลสซึ่งเคยเป็นเจ้าของใช้สิ่งเหล่านี้ทำลายเรามันก็สิ้นซากไปแล้ว  ขันธ์นี้ก็เป็นเครื่องมือของธรรม ธรรมท่านไม่ยึดถือ  ท่านไม่ยึดไม่ถือ  ท่านไม่เป็นอุปาทานจึงเป็นขันธ์ล้วนๆ

ขันธ์ล้วนๆ  คืออะไร  รูปก็คือกายของเรา  เวทนาก็คือความสุข ความทุกข์  เฉยๆ  ในร่างกายอันนี้มันก็มีอยู่อย่างนั้น  แต่ก็เป็นของมันอยู่เพียงเท่านั้น  สัญญาความจำได้หมายรู้  สังขารความคิดความปรุง  วิญญาณการรับทราบทางหูทางตา  จมูก  ลิ้น  กาย  ก็รับทราบไปสู่ใจ  ใจก็เพียงรับทราบ  ไม่ซึมซาบเหมือนแต่ก่อน  เพียงแต่รับทราบโดยหลักธรรมชาติที่สิ่งเหล่านี้ส่งไปให้  ไปตามกระแสของตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  เข้าสู่ใจ  ใจเป็นแต่เพียงรับทราบๆ  แล้วดับลงไปโดยหลักธรรมชาติๆ ของตน  ไม่มีอันใดที่จะต้องบังคับบัญชากันให้เป็นอย่างใดอีกแล้ว  นั่นท่านจึงเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ  เป็นอย่างนั้น

นี่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านยอมรับด้วยกันเพราะอันนี้เป็นสมมุติ สมมุติเขาเป็นสมมุติเราทำไมจะไม่เป็น  ใครจะไปบังคับมันได้ไม่ให้มันเจ็บมันปวด  เพราะมันมีเงื่อนสืบต่อของมันอยู่เช่นเดียวกับโลกทั่วๆ ไปควรเจ็บก็ต้องเจ็บ  ควรทุกข์ก็ต้องทุกข์อยู่เป็นธรรมดา  เช่น  เจ็บท้อง  ปวดศีรษะอะไร  มันเป็นอยู่ด้วยกันอันนี้ แต่สำคัญที่ไม่ซึมซาบถึงจิตใจเท่านั้น  อันนั้นเป็นหลักธรรมชาติ  เรียกว่าเป็นอฐานะ  ให้เป็นอย่างใดไม่ได้อีกแล้ว  คือให้ซึมซาบอย่างแต่ก่อนนั้นเป็นไปไม่ได้ ท่านจึงเรียกอฐานะ เมื่อถึงกาลเวลาที่จะไปแล้ว  คือขันธ์นี้ไม่สามารถที่จะสืบต่อกันได้แล้ว  ต่อจากนี้ไปก็สิ้นสภาพลงไป  จิตที่บริสุทธิ์ก็ถอนตัวออกจากความรับผิดชอบโดยสัญชาตญาณนั้นเสีย  ท่านเรียกว่านิพพาน  ท่านจึงไม่เรียกว่าตายเหมือนพวกเรา

นิพพานนี้ดับสนิทหมดแล้ว  เรื่องสมมุติไม่มีอะไรที่จะไปเกี่ยวข้องกันอีกแล้วกับใจที่บริสุทธิ์นั้น  ให้เหมาะสมกับคำว่านิพพานก็อย่างนั้น  ที่ว่าเกิดตายๆ สัตว์โลกทั้งหลายเกิดตายกันทั้งนั้น  ส่วนพระอรหันต์ท่านตายท่านไม่ได้ตายแบบนี้  จึงเรียกว่าท่านนิพพาน  ทีนี้ดับหมดแล้ว  แต่ก่อนจิตใจกิเลสดับแล้ว  แต่สิ่งเหล่านี้ที่เป็นสัญชาตญาณรับผิดชอบกันนี้ก็ยังจะต้องรับผิดชอบกันอยู่โดยดีเช่นเดียวกับโลกทั่วๆ ไป  พออันนี้สิ้นความสามารถที่จะสืบต่อกันไปได้แล้วก็ปล่อยลงตามธรรมชาติของมัน  จิตก็ถอนตัวออกไปจากธรรมชาตินี้  แล้วไปไหนที่นี่  เวลาอยู่-อยู่ไหน ก็อยู่กับความบริสุทธิ์ ไป-ไปไหน  ก็ไปกับความบริสุทธิ์ แน่ะ  ความบริสุทธิ์กับธรรมชาตินี้อันเดียวกันไม่แยกแยะจากกัน  เป็นเข้าไปแล้วก็รู้เองเห็นเอง

ธรรมชาตินี้เหมือนอะไรเมื่อไร  ในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเหมือน   ไม่เหมือนอะไร  ถ้าเหมือนโลกก็เท่ากับโลกนั่นเอง  เหมือนอะไรก็เท่ากับอันนั้น  ยังมีคู่เคียงกันอยู่  ธรรมชาตินั้นยังมีคู่เคียงกันอยู่เลิศไปที่ตรงไหน  ยังมีคู่เคียงกันได้อยู่แล้ว  มีสิ่งเสมอกันได้  เป็นคู่แข่งกันได้  จึงว่าไม่เหมือนอะไร  ทำให้เห็นให้เป็นขึ้นภายในจิตใจก็รู้เอง  นั่นซิท่านว่าจิตบริสุทธิ์  จิตบริสุทธิ์เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อไร  โลกใครจะไปคาด เอ้า  คาด คาดเรื่องความบริสุทธิ์ของใจท่านผู้สิ้นกิเลสทั้งหลาย  คาดวันยังค่ำตายทิ้งเปล่าๆ  ถ้าเป็นในเจ้าของเองแล้วไม่ต้องคาด  เมื่อเป็นแล้วคาดหาอะไร  เด่นอยู่นี่  อะไรจะเด่นยิ่งกว่าธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้  แต่ไม่ได้เด่นแบบสมมุติเด่นซิ  นี่ละภาคปฏิบัติ

ขอให้ทุกท่านตั้งอกตั้งใจสืบทอดข้อปฏิบัติจากครูจากอาจารย์ อย่าได้ลดละท้อถอย  ท่านดำเนินอย่างไรให้ยึดเป็นหลักเป็นเกณฑ์  อย่าเฉื่อยชา  อย่าอืดอาดเนือยนาย  อย่าเห็นแก่หลับแก่นอน  อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นปักเสียบไว้หมด  ก้าวที่ไหนเหยียบแต่หนามของกิเลส  ล้มหมอนนอนเสื่อลงไปก็มีแต่ขวากแต่หนามของกิเลสปักเสียบไว้หมด  แต่เราไม่รู้กลับถือว่าที่นอนนี้นิ่ม  นอนจมลืมตาย  ความจริงเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น

กิเลสพาคนให้ดิบให้ดีมาจากที่ไหน เคยมีที่ไหนปราชญ์องค์ไหนก็ตาม พระพุทธเจ้าไม่ทราบว่ากี่ล้านๆ พระองค์  มีพระองค์ใดบ้างแสดงว่ากิเลสนี้มีคุณค่า  ทำคนให้ได้รับความสุขความเจริญและพ้นทุกข์ได้เพราะกิเลส  นอกจากพ้นจากทุกข์ได้เพราะธรรม เพราะการกำจัดกิเลสเท่านั้น  เพราะกิเลสสั่งสมทุกข์อย่างเดียวไม่สั่งสมอย่างอื่น  ถึงจะมีสุขก็เพียงเป็นเหยื่อล่อปลาเท่านั้นเองไม่ได้มากมาย ฟังซิเหยื่อล่อปลา ติดไว้ปลายเบ็ดนั้นไม่งั้นปลาก็ไม่กินเบ็ด  อะไรจะแหลมคมยิ่งกว่ากิเลสตัวล่อลวงเต็มไปหมดรอบด้าน  แพรวพราวไม่มีอะไรเกินกิเลส  เครื่องล่อสัตว์โลกให้ติดให้จมอยู่ในนั้น  เพราะฉะนั้นสัตว์โลกจึงต้องติดต้องพัน  จึงไม่มีวันอิ่มพอไม่มีวันเข็ดหลาบ  เพราะมันมีวิชาอาคมที่แหลมคมมากที่สุด  เหนือสัตว์โลกที่จะรู้ได้เห็นได้  นอกจากผู้มีธรรมเท่านั้นจะพอจับได้บ้าง  แล้วก็จับได้จริงๆ 

จงพากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ ยึดหลักของครูบาอาจารย์ไว้เป็นอย่างดี นี้ละเป็นแนวทางที่จะให้หลุดพ้นจากทุกข์  เป็นแนวทางที่จะให้ผู้ปฏิบัติตามที่ยึดถือธรรมเหล่านี้เป็นกฎเป็นเกณฑ์แห่งการปฏิบัติแล้วจะเป็นผู้ทรงมรรคทรงผล  มรรคผลนิพพานนั้นก็คือพุทธศาสนานี้เอง นี้แลเป็นตลาดแห่งมรรคผลนิพพานสดๆ ร้อนๆ ไม่เป็นอื่น สดๆ  ร้อนๆ  อยู่ตลอดเวลา  ขอให้ก้าวเดินตามหลักศาสนธรรมที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้แลจะไม่เป็นอื่นเป็นใดเลย  จะต้องเข้าถึงจุดที่หมายโดยไม่ต้องสงสัยถ้าได้ดำเนินตามนี้แล้ว

เวลานี้กำลังจะกุดจะด้วนไปหมดแล้วนะนักปฏิบัติของเรา จะมีแต่ชื่อกรรมฐาน  สุดท้ายก็เป็นกรรมฐานหากินเท่านั้นซิ  เห็นโลกามิสเป็นของเลิศยิ่งกว่าอรรถกว่าธรรมไปแล้ว  นั้นละเป็นทางให้ล่มให้จม  ลืมเนื้อลืมตัวไปหมด  เขานับถือก็เป็นบ้าไปเสีย  เจ้าของไม่สนใจจะนับถือเจ้าของ  เจ้าของไม่สนใจจะตำหนิเจ้าของ  ตำหนิที่ตรงไหนที่น่าตำหนิ  เอ้า  แก้ไขลงจุดที่ตำหนิ นี่เรียกว่าสนใจ  สนใจดูจุดบกพร่องของเจ้าของ  มันบกพร่องตรงไหน  จุดนั้นน่าตำหนิ  เอ้า  แก้ไขให้สมบูรณ์  เมื่อสมบูรณ์ขึ้นไปโดยลำดับแล้วก็ได้ชมเจ้าของ ถ้าเป็นโลกธรรมก็หาได้ที่ตัวของเราเอง  แต่โลกธรรมนี้เป็นโลกธรรมเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อความพ้นทุกข์  ไม่ใช่โลกธรรมที่ให้โลกทั้งหลายติดจมอยู่ดังโลกธรรม ๘ นั้น

ย้อนโลกธรรมนี้เข้ามาเป็นวิวัฏฏะซิ ให้แก้ไขเจ้าของได้ หาได้ในตัวของเรา โลกทั้งหลายมีแต่อยากให้คนอื่นชม เจ้าของไม่สนใจแก้ไขดัดแปลงเจ้าของ ไม่ดูโทษของเจ้าของ  มีเท่าไรไม่ยอมดู  ทุกข์มีเท่าไรก็ให้คนอื่นเขามาชมว่าดีว่าสุข  ว่ามีหน้ามีตา  มียศถาบรรดาศักดิ์ มีความรู้มีฐานะดีทุกสิ่งทุกอย่าง  เป็นผู้มีอำนาจวาสนาบุญญาภิสมภารมากๆ เขาชมเพียงลมปากๆ เท่านั้น ก็เป็นบ้าไปกับเขา  มันฉลาดหรือคนเช่นนั้น  พิจารณาซิถามเจ้าของนะ  พูดเช่นนี้เพื่อจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ให้ย้อนเข้ามาเป็นธรรมที่ตำหนิเจ้าของ  มันบกพร่องที่ตรงไหน ตำหนิเข้าไป  แล้วความชมจะได้ปรากฏเป็นความเอิบอิ่มขึ้นภายในจิตใจ  ผาสุกเย็นใจขึ้นที่นี่  นั่นละเราหาได้เองที่ตัวของเราไม่มีหลุดมีลอยไปไหนแหละ  เมื่อเราหาได้แล้วจะปรากฏขึ้นที่นี่  ขอให้ยึดหลักเกณฑ์เป็นสำคัญ

หลักปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพาดำเนินมาแล้วนี้เยี่ยม  ผมก็เป็นพระองค์หนึ่งที่ว่ามีทิฐิมานะมากก็แล้วแต่จะพูด  ดูทุกสิ่งทุกอย่างดูพ่อแม่ครูอาจารย์พาดำเนินปฏิบัติ  ไม่ว่าจะเป็นอากัปกิริยาใดเป็นธรรมเทศนาเครื่องสอนใจของเราอยู่ตลอดเวลา  ท่านจะพูดทีเล่นทีจริงพูดอะไรก็ตาม จะเหมือนกับว่าอัดเทปไว้ตลอดเลย แล้วปฏิปทาของท่านตรงไหนที่ผิดพอให้เราขัดข้องภายในจิตใจ ว่าไม่ถูกกับแบบนั้นฉบับนี้ หรือตำรานั้นธรรมข้อนั้นวินัยข้อนี้  ไม่มี ตรงแน่วๆ ไปเลย  จึงเป็นที่ลงใจแล้ว ท่านเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลก็ทรงด้วยการปฏิบัติที่ว่า  สุปฏิปนฺโน  อุชุฯ  ญายฯ  สามีจิฯ  นั่นเอง  ท่านจึงเป็นผู้ทรงมรรคทรงผล  บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ปฏิบัติตามท่านก็เป็นผู้ทรงมรรคทรงผล  มรรคผลจะอยู่ที่ไหน มรรคผลไปอยู่ในเมืองอินเดียนั่นเหรอ  อินเดียก็เป็นเมืองอินเดีย  ผู้ใดปฏิบัติอยู่ที่นั้นก็เป็นมรรคเป็นผลของผู้นั้น ไม่ใช่คนที่อยู่ในเมืองอินเดียเป็นมรรคเป็นผลกันทั้งเมืองทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติอยู่ที่นี่ตามหลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เป็นเราผู้นี้เอง แม้จะอยู่ในเมืองไทยนี้ก็คือเราคนนี้เอง ใครไม่รู้เราก็รู้เพราะเราเป็นผู้ปฏิบัติ  เราเป็นของเราเอง  ให้เห็นชัดๆ อยู่ภายในจิตใจนั้นซิ

ค่อยร่วงโรยไปๆ แล้วนะ ค่อยหมดไปๆ  จางไปๆ  ธรรมก็ค่อยจืดค่อยจาง  เพราะกิเลสมันรีดมันไถธรรมไปโดยลำดับลำดา ไม่ใช่ธรรมรีดไถกิเลสนะเวลานี้  มีแต่กิเลสรีดไถ  มันบีบบี้สีไฟธรรมให้มองไม่เห็น ให้ไม่มีรสมีชาติ  สมาธิก็มีแต่ชื่อ  ปัญญามีแต่ชื่อ  วิมุตติหลุดพ้นซึ่งเป็นธรรมอันเลิศของจอมปราชญ์ทั้งหลาย ก็กลายเป็นของไม่มีราค่ำราคา ไม่มีรสมีชาติไปเสียหมด ในวงปฏิบัติของเรานี้แหละเวลานี้กำลังจะเป็น อันนี้อย่าไปตำหนิใครนะ  ให้ดูหัวใจของเรามันจืดมันจางไปมากเพียงใดแล้วเวลานี้น่ะ

เวลาความขี้เกียจขี้คร้านเกิดขึ้น นั้นแหละมันเหยียบแล้ว  มันบีบบี้สีไฟมรรคผลนิพพานซึ่งควรจะได้จะถึงในตัวของเรานี้ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใด  ตัวขี้เกียจขี้คร้านตัวท้อแท้อ่อนแอ  ตัวอยากในสิ่งที่ไม่ควรอยาก  อยากเห็นอยากดูอยากได้ยินได้ฟัง  อยากอะไรก็ตามขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องของกิเลสแล้ว  นี่ละเป็นสิ่งที่จะบีบบี้สีไฟมรรคผลนิพพานของเราให้ฉิบหายต่อหน้าต่อตาเรา ทั้งๆ ที่เจ้าของก็ยังโอ่อ่าลืมเนื้อลืมตัวอยู่ว่าเราเป็นนักปฏิบัติไม่รู้สึกตัวเลย  เห็นไหมกิเลสกล่อมพระกรรมฐาน พระวัดป่าบ้านตาดเรานี้แหละจะเป็นพระที่ไหนไป ตั้งใจให้รู้นะสิ่งเหล่านี้

กิเลสนี้ละเอียดมาก  ไม่อย่างนั้นครอบโลกธาตุไม่ได้  และไม่มีสิ่งใดที่จะติดตามให้รู้เรื่องกิเลสและฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสลงได้นอกจากธรรมเท่านั้น วิริยะธรรมเป็นเครื่องหนุน  หนุนเข้าไปไม่ถอย  ขันติธรรม เอ้า อดเพื่อฆ่ากิเลส  สติธรรม  ปัญญาธรรม  เป็นธรรมเข้าสู่แนวรบ อยู่ไหนรบอยู่ตลอด นั่งก็รบ เดินก็รบ นอนก็รบ  เว้นแต่หลับมันสุดวิสัย  ตื่นขึ้นมารบแล้วๆ  สติปัญญาเป็นเครื่องรบแล้ว ศรัทธา ความเพียร เป็นเครื่องหนุนหลังๆ  อย่าถอยนะ

มันตายวันใดวันหนึ่งก็ได้นี่เกิดประโยชน์อะไร บวชมาตั้งแต่วันบวชจนกระทั่งถึงวันนี้  บำเพ็ญสมณธรรมสมาธิไม่ได้ครอง ความสงบเย็นใจไม่ได้ครอง ปัญญาไม่ปรากฏวี่แววบ้างเลย  แม้แต่เท่าแสงหิ่งห้อยก็ไม่ได้จะว่าไง  แล้วจะพูดถึงเรื่องวิมุตติอะไร  ตายทิ้งเปล่าๆ เกิดประโยชน์อะไร  บวชเข้ามากี่ปีกี่เดือนตายทิ้งเปล่าๆ หาความทรงมรรคทรงผลไม่ได้นี้มันเสียเกียรติกรรมฐานเราเหลือเกินนะ  และเสียเจตนาที่เรามุ่งมา  เพราะกิเลสเอาไปกินหมด  ความท้อถอยน้อยใจ  ความอ่อนแอ  ความท้อแท้เหลวไหลเอาไปกินหมดๆ  สิ่งที่เหลือก็มีแต่ร่างกายหนังหุ้มห่อกระดูกไว้เท่านั้น เมื่อเนื้อหนังเปื่อยลงไปหมดแล้วก็เหลือแต่กระดูก

มันผิดกับกระดูกสัตว์อะไรบ้างกระดูกกรรมฐานเรานี่น่ะ  พิจารณาซิ  ไม่ได้วิเศษกับกระดูกนี่นะ มันวิเศษอยู่ที่จิต  จึงต้องรีบเร่งขวนขวาย  เอาอันนี้แหละเป็นเครื่องมือ  เดินจงกรม  นั่งสมาธิภาวนาชำระกิเลส  เวลายังมีชีวิตอยู่นี้ร่างกายยังทรงตัวอยู่นี้  ตายแล้วเอาไปทำอะไรไม่ได้นะ  จะมีอะไรที่เป็นคุณค่าล่ะ กระดูกของสัตว์เนื้อของสัตว์ยังมีคุณค่า  เนื้อของมนุษย์ของพระกรรมฐานยิ่งน่ากลัวมาก บวชเข้ามาแล้วน่าจะมีความขยันหมั่นเพียร  กลับกลายเป็นผู้ขี้เกียจขี้คร้านท้อแท้อ่อนแอ ตายแล้วเหม็นคลุ้งไปหมดไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

ให้ยึดให้ดีหลักปฏิบัติของครูบาอาจารย์ที่พาดำเนินมา  อย่าปล่อยอย่าวาง  ไปอยู่ที่ไหนให้ระลึกถึงครูบาอาจารย์นี้ก่อนอื่นๆ ก่อนจะเคลื่อนไหวไปมาให้ระลึกเสมอ  นี้ผิดหรือถูก  ครูบาอาจารย์พาดำเนินอย่างไรให้สะกิดหัวใจอยู่ตลอดเวลา  จะได้สะดุดหัวใจ  คนเราเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วหิริโอตตัปปะจะมีประจำใจ  ตลอดถึงความพากความเพียรจะหมุนไปโดยลำดับลำดา  ไม่อย่างนั้นจมจริงๆ  นะ  เพราะเวลานี้พวกมรสุมมากต่อมากนะ เต็มไปหมดทุกแห่งทุกหนตำบลหมู่บ้านไม่มีชิ้นดีเลย เราไม่ได้ตำหนิเขานะ  เราเองโง่เอาคอสอดเข้าไปให้สิ่งเหล่านั้นพันหัวเอาตัดศีรษะขาดสะบั้นไปเพราะมันมีนี่ จึงต้องให้ระมัดระวังให้มาก  ตำหนิเราผู้โง่นี่ซิ  สิ่งเหล่านั้นเขามีอยู่ตามหลักธรรมชาติของเขา  ถ้าเราไม่โง่ไม่เป็นมีเท่าไรก็ไม่เป็น

พูดท้ายเทศน์

โรคอะไรจะหน้าด้านยิ่งกว่าโรคราคะตัณหา  โห หน้าด้านสันดานหยาบที่สุดตัวนี้  ไม่รู้จักอายเลย  คว่ำกินหงายกินไปหมดน่าทุเรศนะ  วิตกมาก  ต่อไปนี้โลกเรานี้จะฉิบหายเพราะเอดส์ ไม่ใช่เล่นนะ  เพราะโรคชนิดนี้เป็นโรคที่สัตว์ทั้งหลายไม่กลัวด้วย  กลัวไม่เป็น  ถ้าเป็นอย่างอื่นก็กลัวเป็น  แต่ถ้าอันนี้มันไม่กลัว  ไม่รู้จักกลัว  เป็นก็เป็น  ตายก็ตาย  นี้น่าวิตกมาก

ทุกอย่างเรื่องเป็นสิ่งที่จะทำลายความสงบสุขของบ้านเมืองเท่าที่เราผ่านมานี้  รู้สึกว่าถ้าเป็นไฟ ก็เรียกว่ามันส่งเปลวเรื่อยๆ ขึ้นเรื่อยสูงขึ้นเรื่อย  เพราะเชื้อไฟต่างคนต่างไสเข้าไป  ไม่มีต่างคนต่างถอยเชื้อไฟ  มีแต่ต่างไสเข้าๆ  ความทุกข์จึงมีทุกหย่อมหญ้า  ความเมตตากันนี้จะไม่ปรากฏแล้วต่อไปนี้  ความเมตตาสงสารกันนี้จะไม่ปรากฏ  ตัดสินกันด้วยความโหดร้ายทารุณ เอาความโหดร้ายทารุณเป็นเจ้าอำนาจวาสนา  เป็นผู้เด็ดผู้ขาด  เป็นผู้มีอิทธิพลให้เขานับถือด้วยอันนี้ว่างั้นเถอะ  ให้โลกทั้งหลายได้นับถือด้วยอันนี้  ไม่ได้นับถือด้วยคุณธรรมนะ จะให้นับถือด้วยอันนี้  ด้วยความโหดร้ายทารุณ  อำนาจของกิเลสนี้มันรุนแรงขึ้นทุกวัน แล้วเจ้าตัวไม่รู้เลยนี่จะทำยังไง  นี่ซิที่น่าอิดหนาระอาใจนะ  เจ้าตัวไม่รู้เลยๆ  ถ้ารู้ใครจะทำ

 

*****************


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก