ราคะประจำขันธ์
วันที่ 25 กันยายน 2546 เวลา 8:25 น. ความยาว 56.56 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)   วิดีโอแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖

ราคะประจำขันธ์

 

         เรื่องรายการต่างๆ (ทางวิทยุ) ส่วนมากก็เป็นเรื่องของโลกของสงสารที่อยู่ร่วมกัน เพื่อจะได้ทราบเรื่องราวต่างๆ โดยทั่วถึงกัน ส่วนมากมักเป็นเรื่องของทางบ้านเมืองเขา เรียกว่าชาวโลกว่างั้นเถอะน่ะ ไม่ค่อยมีเรื่องของชาวธรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อมีธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องราวของชาวธรรมขึ้นแทรกเข้าในจิตใจ จิตใจก็จะเบิกกว้างออก ทั้งทางด้านวัตถุความเป็นอยู่ทั่วๆ ไปที่เห็นกันอย่างชัดเจน ทั้งด้านธรรมะคือความรู้สึกของจิตใจที่ได้รับธรรมแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ดีเสมอนี้ เรียกว่าได้ทั้งสองทาง วิทยุออกได้ทั้งสองทาง เป็นประโยชน์ทางด้านวัตถุด้วย เป็นประโยชน์ทางด้านจิตใจด้วย สำหรับเราเห็นด้วยมาตลอดอยู่แล้ว

จิตใจของเรานี้จะเรียกว่าอะไร ถ้าว่าผ้าขาวหรือ ที่มันคอยซับคอยซึม เขาเรียกอะไร (กระดาษซับค่ะ) เป็นกระดาษซับ อย่างนี้ละจิตใจของเราเหมือนกระดาษซับ อะไรเข้ามาซึมซาบๆ ส่วนมากต่อมากมีตั้งแต่เรื่องของกิเลสเข้าซึมซาบ เพราะอยู่ในก็เป็นกิเลสอยู่แล้ว แล้วก็ซึมซาบทั้งภายนอกเข้ามา เพิ่มแต่กำลังแห่งความเสียหายขึ้นภายในตัวเองจากกิเลส ซึ่งมันตัวทำสัตว์โลกให้เสียหายอยู่แล้ว ที่ไหนๆ ก็เลยเป็นเรื่องที่จะซึมจะซาบแต่เรื่องเดียวกัน เรื่องอรรถเรื่องธรรมที่จะได้ซึมซาบเข้าสู่จิตใจนี้ ว่ามีน้อย มันยังน้อยเข้าไปกว่านั้นอีกนะ ถ้าว่ามีน้อยมากว่างั้น ทั่วโลกนี้มีน้อยมากก็ยังไม่จุใจนะ คือแทบจะไม่มีเลยธรรม โลกถึงแทบจะไม่มีเลยเรื่องความสุขในหัวใจของโลกที่ไม่มีธรรม มีแต่กิเลสล้วนๆ อยู่ภายในจิตใจ จึงแสดงพิษภัยภายในตัวเองตลอดเวลา

ทีนี้คนเรานี้เป็นสัตว์หมู่สัตว์พวก เมื่อมีอยู่ในคนหนึ่งมันก็ระบายต่อกัน กระจายออกไป ระบายด้วยคำพูดก็มี กระจายออกไปด้วยกิริยามารยาทแห่งความเสียหายก็มี เลยมีแต่เรื่องอย่างนี้ไปเสียทั่วโลกทั่วสงสาร ออกจากเรื่องของกิเลสตัวมืดมิดปิดทวารเสียหมด ไม่เห็นเหตุเห็นผล มันปิดไว้นี้เต็มโลกเต็มสงสาร เพราะฉะนั้นโลกจึงหาความสงบร่มเย็นไม่ได้ ไปที่ไหนมีแต่เรื่องความทุกข์ ทุกข์มันมีสาเหตุนี่ ไม่มีใครดูสาเหตุของทุกข์ละซี มีแต่วิ่งตามทุกข์ที่หลอกลวงไป ด้วยความอยากความทะเยอทะยาน ความมักใหญ่ใฝ่สูง ความลืมเนื้อลืมตัว ตื่นตัวเอง ลืมตัวเอง หลงตัวเอง ทีนี้เลยเป็นบ้าอำนาจไปก็มี ถ้ามีอำนาจเข้ามาแฝงว่าเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาแล้วทำลายโลกไปได้อย่างกว้างขวาง

นี่ละเรื่องกิเลสเมื่อมีในใจ มันทำลายโลกให้หาความสงบร่มเย็นไม่ได้อย่างกว้างขวางมาก ทีนี้ตรงกันข้ามเอาธรรมแทรกเข้าไปซี ส่งเสริมโลกให้มีความสงบร่มเย็นทั่วหน้ากันได้อย่างกว้างขวางเหมือนกัน แต่โลกไม่มีใครนำไปใช้เพราะไม่ทันกลอุบายของกิเลส กิเลสมันออกหน้าๆ ใครจะฉลาดขนาดไหนก็เถอะ  เป็นกลอุบายของกิเลสพาให้ฉลาดเพื่อทำลายตัวเองและส่วนรวมทั้งนั้นๆ ผิดกันกับธรรม ธรรมจึงมีน้อยมากทีเดียวที่จะแทรกอยู่ในจิตใจของแต่ละคนๆ อย่าว่าแต่ที่อื่นที่ใดเลย แม้ชาวพุทธเราก็เหมือนหนึ่งว่าไม่มีศาสนาอยู่ในตัว นำธรรมเข้ามาระงับดับตัวเองไม่ได้ หรือหักห้ามตัวเอง ดัดแปลงตัวเองไม่ได้ ก็มีแต่เรื่องความรุนแรงของกิเลสผลักดันออกไปๆ ความทุกข์จึงมีได้ทุกแห่งทุกหน ตำบลหมู่บ้าน ไม่ว่าศาสนาใด ศาสนาเช่นศาสนาพุทธก็เป็นพุทธรู้ยิ่งเห็นจริงแต่พระพุทธเจ้า ของพวกเรานี้เป็นศาสนาหลงงมงาย หลับตาไปตามพระพุทธเจ้า จูงไปก็ไม่ยอมไป จูงไปตามช่องทางมันแหวกออกไปชนต้นไม้จนได้ ทั้งๆ ที่จูงไปนั้น จูงไปนี้มันจะแหวกไปชนต้นไม้ต้นเสาจนได้นั่นแหละ นี่อำนาจของกิเลสมันแทรกมันแซง จึงลำบากมาก

นี้เราพูดเสมอให้พี่น้องทั้งหลายฟังด้วยความห่วงใย เราไม่ได้พูดด้วยความห่วงเราเลย ฟังแต่ว่าเราไม่ได้พูดด้วยความห่วงเราเลย เลยก็เรียกว่าไม่มีเลย สำหรับเราเองเราไม่มีเราบอกจริงๆ ที่สอนโลกนี้เราสอนด้วยความแน่ใจตายใจในธรรมทั้งหลาย ที่บรรจุอยู่ในหัวใจนี้ออกมา แต่ก่อนกิเลสเต็มหัวใจ มันพาเราไปขโมยอ้อยป้าฝ้ายเห็นไหม มันเอาตั้งแต่เด็กๆ นั่นเห็นไหม มันลากคอเราเข้าไปในสวนอ้อยเขา ไปทีแรกก็มุบมิบๆ พอไปเห็นอ้อยลำใหญ่ลำนั้น อู๊ย ลำนี้ใหญ่ๆ เสียงลั่นไปเลยเสียงเด็ก เลยลืมไปว่ามาขโมยเขา เสียงลั่นเลย นั่นละกิเลสมันดึงไปตั้งแต่นู้นแล้ว เราไม่ลืม ขบขันนะ มันดึง มันอยากมันหิว เดินผ่านไปมาวันไหนก็เห็นอยู่ทุกวันๆ สุดท้ายก็ชวนพี่เข้าไป อย่างนี้ละกิเลสมันแทรกอยู่ มันพาเป็นอย่างนั้นละ

ออกจากนี้โตขึ้นไป ถ้าไม่ได้รับการอบรมทางธรรม ไม่รู้เรื่องรู้ราวผิดถูกชั่วดีก็ยิ่งไปใหญ่ ทีนี้เวลาไปใหญ่รู้แล้วมันก็ไม่ยอมทำตามทางอรรถทางธรรมนะ มันทำถูลู่ถูกังไปกับกิเลสนั่นแหละ จึงลำบากมากนะ เรื่องธรรมนี่ละเอียด แต่ขึ้นไม่ได้ มีแต่กิเลสปกคลุมหุ้มห่อตลอด แสดงตัวออกมาไม่ได้ แม้ตั้งแต่เราไปภาวนายังได้น้ำตาร่วงกับมันฟังซิน่ะ เราลืมเมื่อไร เราไม่ลืม มันฝังลึกมากนะ คือมันรุนแรงขนาดที่ว่าสู้ท่าไหนก็สู้ไม่ได้เลย เสือมันลวดลายอาวุธมันเต็มตัว ไอ้เรามีแต่กำปั้นสู้เสือ ธรรมเราไม่มี สติธรรมสู้มันไม่ได้ อะไรสู้มันไม่ได้ มันตีเอาเทียว เคียดแค้นจนถึงขนาดน้ำตาร่วง ถึงออกกูออกมึง เลยไม่ลืมนะ ฝังลึก นี่ละพลังของกิเลสอยู่ในหัวใจดวงนี้ เวลามันเป็นมันเป็นอย่างนั้น ฟังเอานะพี่น้องทั้งหลาย

ทั้งๆ ที่เราตั้งหน้าตั้งตาขึ้นไปจะฆ่ากิเลสนั่นแหละ ถูกกิเลสฆ่าเอาเสียหงายลงๆ ตลอด นั่นเห็นไหมเวลามันหนาแน่น มันเอาซึ่งๆ หน้าเลย ให้หงายซึ่งๆ หน้า เหมือนนักมวยแชมเปี้ยนกับนักมวยเลี้ยงควายนั่นแหละ    นักมวยเลี้ยงควายนักมวยวัดขึ้นไป  แชมเปี้ยนใส่หมัดเดียว เข้าไปยังไม่ได้ถึงตัวเขาเลย  เขาต่อยมาแล้วหงายแล้วๆ นี่ลวดลายของกิเลสเหมือนแชมเปี้ยนในหัวใจของสัตว์โลก ลวดลายของเราเหมือนกับหนูตัวหนึ่ง เวลามันรุนแรงๆ อย่างนั้น มันประจักษ์ในหัวใจ นำมาพูดกับพี่น้อง เอาออกมาจากเวทีที่เราเคยผ่านกันมาแล้วนี่นะมาพูดให้ฟัง จึงแน่ใจว่าไม่ผิด การสอนโลกเราสอนด้วยความแน่ใจทุกด้านทุกทางในธรรมทุกขั้น ตั้งแต่ขั้นพื้นๆ ฟาดถึงวิมุตติเราก็ได้พูดแล้วให้ฟัง อยู่ในหัวใจนี้หมด

เวลามันมืดหนาสาโหดก็เล่าให้ฟัง เวลารู้ตัวแล้วไปสู้กับมันก็ยังสู้มันไม่ได้ หงายลงมาๆ เห็นไหมกิเลสมันเอาซึ่งๆ หน้าอย่างนี้ เวลามันมีกำลังมากมันต่อยเราซึ่งๆ หน้า แต่สำคัญที่ความมุมานะ ความเอาจริงเอาจังที่จะต่อสู้กับมันนี้ มันก็อยู่ในเงื้อมมือเราได้เหมือนกัน ทีนี้กลับมาพลิกใหม่ แก้ไขใหม่ ขึ้นต่อยกันใหม่ๆ หลายครั้งหลายหนเราก็เห็นความเผลอของมันบ้าง ใส่เข้าไปได้ ต่อไปก็ค่อยได้กำลังขึ้นไปๆ ตัวที่มืดมิดปิดตาก็ค่อยจางไปๆ ธรรมมีความสว่างไสวขึ้นภายในใจด้วยการอบรมใจ สำหรับเราที่ปฏิบัติอยู่ในป่าในเขา ก็คือด้วยการภาวนานั้นแหละ สติจับเข้าไป ปัญญาจับเข้าไป ความอดความทน ความพากความเพียรหนุนเข้าไป ตั้งหลายครั้งหลายหน หาวิธีการต่างๆ มาช่วย เพื่อการทำงานของเรากับกิเลสได้คล่องตัวขึ้นๆ เพราะฉะนั้นจึงมีหลายวิธีการ ดังพระกรรมฐานท่านอบรมอยู่เวลานี้น่ะ

อยู่ในป่าก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง สถานที่เหมาะสมอย่างหนึ่ง อยู่ต้นไม้ภูเขา อยู่ในถ้ำเงื้อมผา อยู่ที่อัพโภกาส มีแต่อุบายวิธีการต่างๆ ที่จะอยู่ด้วยความเหมาะสมและต่อสู้กับกิเลสด้วยความพากความเพียรได้สะดวก นั่น จากนั้นก็มีอดนอน มีผ่อนอาหาร แน่ะฟังซิ ไปอยู่ในป่าช้า เหล่านี้ธุดงค์ ๑๓ ข้อท่านบอกไว้หมด นี้คือกลอุบายหาวิธีที่เหมาะสมต่อสู้กับกิเลสทั้งนั้นแหละ แล้วแต่ใครจะถูกกับจริตนิสัยตัวเองในสถานที่ หรืออุบายต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เป็นกลางๆ แล้วแต่ใครจะหยิบเอาเครื่องมือใดที่จะมาฆ่ากิเลสที่เหมาะสมกับตน แล้วเอามา

อดนอนนี้ท่านบอกไว้ชัดเจนในธุดงค์ ๑๓ แต่ผ่อนอาหาร อดอาหาร นี้ในธุดงค์ ๑๓ ไม่มี แต่ไปมีอยู่ในบุพพสิกขา แน่ะเราก็ไปเห็น ที่ไม่มีในธุดงค์ อันนั้นก็ธรรมใช่ไหมล่ะ มีในนี้ไม่มีในนี้ก็ธรรมเหมือนกัน เอามาแก้ได้เหมือนกัน มีอยู่ในคัมภีร์ไม่มีในคัมภีร์ก็คือกิเลสเช่นเดียวกัน เราไม่ระบุถึงมันมันก็เป็นกิเลสเต็มตัว ระบุถึงมันมันก็เป็นกิเลสเต็มตัว ธรรมก็เหมือนกัน ที่เรารู้เราเห็น เราได้ยินได้ฟังก็เป็นธรรม ที่เราไม่เคยรู้เคยเห็นก็เป็นธรรม นี่ก็เหมือนกัน เช่นอย่างธุดงค์ ๑๓ ท่านบัญญัติไว้ นอกจากธุดงค์ ๑๓ ก็เป็นธรรมที่เราจะนำมาใช้

เช่นอย่างที่เราพูดถึงเรื่องผ่อนอาหาร อดอาหาร ในธุดงค์ ๑๓ ไม่มี แต่มีในบุพพสิกขา คือลอกออกมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า บุพพสิกขา เข้าใจไหม ออกมาจากคัมภีร์มาอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เวลาอ่านเข้าไปก็ไปเจอเอาที่นั่น พระสงฆ์ท่านเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าท่านฉันแต่น้อยๆ  ถ้าฉันมากภาวนาไม่ดี ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ดีในการภาวนาเพื่อแก้กิเลสไม่ดี ถ้าผ่อนอาหารแล้วรู้สึกว่าดี คล่องตัว สติปัญญาค่อยดีขึ้น ความเพียรก็หนุนไปได้สะดวก ท่านก็บอกว่า ผ่อนเถิด ตถาคตเองที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้วเวลานี้เราก็ยังผ่อน พอดีกับธาตุกับขันธ์ของเรา นั่น แต่ท่านไม่ได้บอกว่าท่านผ่อนเพื่อฆ่ากิเลส แต่ผ่อนหนักผ่อนเบาให้พอดีกับธาตุกับขันธ์ของท่าน นี้ผ่อนเพื่อฆ่ากิเลสนี้เอ้าผ่อนเถิด

พูดถึงเรื่องอดอาหาร ถ้าอดอาหารท่านแยกเป็นสองนัยเอาไว้ว่า อดอาหารถ้าอดเพื่อโอ้เพื่ออวดโลกสงสารแล้วห้ามอด ถ้าอดท่านปรับอาบัติ ปรับโทษทุกความเคลื่อนไหวเลย เพราะไม่ใช่ธรรม อดเพื่อโอ้เพื่ออวดเป็นเรื่องของกิเลส จึงห้ามไม่ให้อด ในคัมภีร์มีอย่างนี้ ฟังเอาซิท่านทั้งหลาย ถ้าอดเพื่อเป็นการส่งเสริมกิเลส คือด้วยความโอ้อวด ยกตนโพนตัวว่าดิบว่าดี เขาไม่อดเราอดได้ อวดเขาอย่างนี้อย่าอด ห้ามอด อดแล้วปรับโทษ ถ้าอดเพื่ออรรถเพื่อธรรมเพื่อความพากความเพียรชำระกิเลสแล้วอดเถิด เราตถาคตอนุญาต นั่นฟังซิน่ะ ท่านบอกไว้สองแง่

เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายที่จะมีในคัมภีร์ไม่มีในคัมภีร์ก็ตาม เป็นธรรมได้ เป็นกิเลสได้ด้วยกันนั่นแหละ จะเห็นได้ชัดคือภาคปฏิบัตินะ ภาคปฏิบัติเราจะไปคอยดูในคัมภีร์ไม่ทัน ต้องดูในหัวใจเรา กิเลสอยู่เต็มหัวใจ ธรรมะก็มีอยู่ในหัวใจ มากขึ้นก็เรียกว่าเต็มหัวใจด้วยกัน ไม่ได้ไปคำนึงคำนวณกับคัมภีร์ใบลานที่ไหน เวลาฟัดกันบนเวทีกับกิเลสแล้ว จะดูตั้งแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างลวดลายของกิเลสต่อยกับธรรม ระหว่างธรรมต่อยกับกิเลสคือสติปัญญาฟัดกับกิเลสนี้ อยู่บนหัวใจๆ ไม่ได้ไปคำนึง ไม่ได้ไปเที่ยวดูในคัมภีร์ใบลานนะ ดูแต่เหตุการณ์ซึ่งมันมาแสดงซึ่งๆ หน้า กิเลสประเภทไหน ธรรมะประเภทนั้นออกรับกันๆ อยู่ภายใน

เอ้า ฟังให้ดีนะ ท่านทั้งหลาย หลวงตาบัวตายแล้วดูว่าไม่ค่อยมีใครมาพูดอย่างนี้นะ นี่พูดฟังให้ดี เราไม่ได้พูดเพื่อความโอ้อวด เอาความจริงมาพูดให้ท่านทั้งหลายฟังว่า กิเลสก็ดี ธรรมก็ดี ไม่ได้มีในคัมภีร์อย่างเดียว มีอยู่รอบโลกธาตุเต็มไปหมด มากยิ่งกว่าหลายร้อยเท่า หลายพันเท่าเป็นไหนๆ ว่างั้นเถอะ มีอะไรเป็นเครื่องเป็นพยานกัน นักปฏิบัติภาวนา ภาคปฏิบัติ ภาคภาวนา คือภาคขึ้นเวที ข้าศึกศัตรูของคู่ต่อสู้มันจะออกเต็มตัวของมันมาหาเราที่เป็นคู่ต่อสู้กัน เข้าใจไหม เช่นนักมวยนี่เรารู้ได้เมื่อไรว่าเขาเรียนจากครูไหนบ้างต่อครูไหนบ้าง เวลามาต่อยกับเราลวดลายมีเท่าไรมันออกมาหมดให้เห็นชัดๆ อันนี้ก็เหมือนกันกิเลส เวลามันมีลวดลายอะไรมันก็ออกมาใช้ ธรรมะเรามีลวดลายอะไรออกรับกันๆ แก้กันไปโดยลำดับ โดยไม่ต้องคำนึงถึงคัมภีร์ใบลานที่ไหนละ

ดังพระพุทธเจ้าและสาวกท่านปฏิบัติมา ท่านไม่ได้ไปหาคำนึงในคัมภีร์ใบลานที่ไหน ท่านดูในหลักธรรมชาติ ตามที่พระพุทธเจ้าสอนโดยหลักธรรมชาติ เพราะธรรมและกิเลสเป็นหลักธรรมชาติ ท่านนำหลักธรรมชาติมาสอน ทีนี้มันก็รู้ในหัวใจ เพราะกิเลสกับธรรมอยู่ที่ใจ ไม่อยู่ที่อื่นที่ใดเลย เวลาแก้กันเข้า กิเลสเบาบางไปๆ ธรรมมีกำลังมากขึ้น หนามากขึ้น ตีกิเลสลงๆ จิตใจที่มืดตื้อก็ค่อยสว่างไสวออกมา สว่างไสวออกมามากน้อยเพียงไร เห็นมากน้อย เห็นทั้งอรรถทั้งธรรม เห็นทั้งกิเลสไปด้วยกัน เห็นทั้งธรรมเป็นสิ่งอัศจรรย์ เป็นที่น่าปลื้มใจ เห็นกิเลสเห็นด้วยการฆ่ามันและกำลังฆ่ามัน และด้วยการต่อสู้กัน อยู่ที่ใจๆ นี่นะ

เพราะฉะนั้นคำว่าธุดงควัตร มีในคัมภีร์ก็ตาม เฉพาะอย่างยิ่งมีในธุดงค์ ๑๓ ข้อก็ตาม ไม่มีก็ตาม อุบายวิธีการที่จะแก้กิเลส เรียกว่าธรรมได้ทั้งนั้น สิ่งใดที่เป็นกิเลส ไม่มีในคัมภีร์ก็ตาม มีในคัมภีร์ก็ตาม เป็นกิเลส เป็นภัยต่อสัตว์โลกได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงให้หามาโดยหลักธรรมชาติ เฉพาะอย่างยิ่งภาคปฏิบัติเห็นได้ชัดมากทีเดียว ไม่ได้ไปดูคัมภีร์ไหนแหละ มีอยู่ในใจนี้ทั้งหมดแล้ว ทีนี้เวลาปฏิบัติไปๆ ผู้ถูกในการผ่อนอาหารหรืออดอาหาร ได้ผลประจักษ์ในใจท่าน ท่านชอบจะยึดอันนี้เป็นหลักเป็นพื้นฐานไว้เสมอ อดบ้างอิ่มบ้างไปเรื่อยๆ อดบ้างอิ่มบ้างไปเรื่อยๆ เพื่อความเพียรได้สะดวกๆ ให้พากันจำเอา

การอดการผ่อนอาหารหรือวิธีการต่างๆ อยู่ในป่าในเขา ไม่ใช่เป็นการฆ่ากิเลสนะ เป็นอุบายวิธีการที่จะช่วยฆ่ากิเลสหรือบำเพ็ญธรรมได้อย่างสะดวกสบายต่างหาก ให้พากันจำเอาไว้ เหล่านี้เป็นอุบายวิธีการหนุน หนุนได้ทั้งทางธรรม หนุนได้ทั้งทางกิเลส ใครหนุนทางผิดก็ไปทางผิด หนุนทางธรรมก็เป็นธรรมไป ให้พากันจำเอา

เวลามันหนามันหนาจริงๆ นะ กิเลสอยู่กับหัวใจสัตว์นี่ ดูหัวใจเราเอง สู้มันไม่ได้ล้มทั้งหงายๆ ดังที่ว่านี่ นั่นเห็นไหมล่ะใครจะอยากล้ม สู้มันไม่ได้มันก็ต้องล้มโดยดีแหละ เพราะหมัดกิเลสมันหนัก เอาถึงขนาดล้มได้เลยๆ ให้พยายามพากันทำนะ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว รื้อขนสัตว์โลกออกให้พ้นจากทุกข์ไปด้วยศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า เฉพาะอย่างยิ่งลงในจิตตภาวนา พุทธศาสนาลงในจิตตภาวนา การให้ทาน การรักษาศีล เป็นกิ่งก้านสาขาของจิตตภาวนา ใครมีจิตตภาวนาหนักแน่นเข้าไป ยิ่งเป็นการหนุนกิ่งก้านสาขาให้สดชื่นออกไปเรื่อยๆ  การให้ทานก็ให้ด้วยความเต็มอกเต็มใจ ให้ด้วยความพินิจพิจารณา การรักษาศีลก็พอใจรักษา เพราะเชื่อธรรมของพระพุทธเจ้าจากการภาวนา ซึ่งมีจิตแน่นอนอยู่ภายในนั้น เป็นเครื่องกระจายออกไปให้ทุกสิ่งทุกอย่างแน่นอนไปตาม หลักของการภาวนาจึงเป็นของสำคัญมาก

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยการภาวนา พระสาวกทั้งหลายตรัสรู้ด้วยการภาวนา มาสอนพวกเราจึงถือรากฐานสำคัญ คือการภาวนาเป็นพื้นฐานแห่งการบำเพ็ญความดีทั้งหลาย จำเอาไว้นะ ทีนี้เวลาภาวนาเข้าไปนี้ การภาวนาคือตั้งสติ จำให้ดีจุดนี้นะ เราจะบริกรรมภาวนาบทใดก็แล้วแต่เราชอบตามจริตนิสัยของเรา พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรือว่าตายๆ ๆ ก็เป็นธรรมแล้วนั่น มรณัสสติ ระลึกถึงความตาย ก็เรียกว่าเป็นการภาวนา นี่เป็นธรรมแล้ว ให้อยู่กับคำบริกรรมนั้น เช่น มรณัสสติ ก็ให้รู้อยู่นั้น อย่าไปหวังผลประโยชน์อะไรนอกจากคำบริกรรมที่เราภาวนาอยู่ในปัจจุบัน ตั้งจิตให้เป็นหลักปัจจุบันไว้เสมอ สติติดแนบอยู่กับนั้น เรื่องผลไม่ต้องบอก จะค่อยแตกกิ่งแตกก้านออกไปจากหลักปัจจุบันที่เราตั้งสติไว้ด้วยดีกับคำบริกรรมนั้นแหละ ทีนี้จิตจะค่อยสงบตัวเข้ามา

คือคำบริกรรมนี้ตีความผลักดันของจิตที่อยากคิดออกไปข้างนอกๆ มันเป็นเหมือนน้ำพุ เห็นไหมน้ำพุ มันพุ่งๆ ๆ เรื่อย ทีนี้เราเอาพุทโธหรือคำบริกรรมคำใดก็ตามปิดไว้ตรงนั้น มันพุ่งแรงเราก็ปิดให้แน่น สติตั้งให้ดี วิธีการที่จะตั้งสติได้ดีคือทำอะไรบ้าง แน่ะที่ว่าท่านอดนอน ท่านผ่อนอาหาร เวลาผ่อนอาหารจิตใจนี้พูดอย่างเปิดเผย กิเลสในโลกอันนี้ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะหนาแน่นมั่นคงและออกสนามได้อย่างเปิดเผยยิ่งกว่ากามราคะ กิเลสตัวกามกิเลส ตัวนี้ผาดโผนโจนทะยานมากในหัวใจของสัตว์ ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งสัตว์ตัวผู้ตัวเมียทั่วแดนโลกธาตุ ไม่มีอะไรเกินกามกิเลส ตัวนี้รุนแรงมากที่สุด จะเห็นได้ชัดในเวลาเข้าภาวนาขึ้นเวทีต่อกรกัน อยู่เฉยๆ ไม่รู้นะ

เวลาขึ้นต่อกรกัน ตัวนี้จะออกยิบแย็บๆ ตลอดเวลา นี้เราก็ไม่ลืม พูดให้ฟังชัดๆ ให้เป็นคติแก่ท่านทั้งหลาย เราไม่ได้พูดเพื่อเสริมกิเลส เราพูดเพื่อได้คติอันดีงามแล้วไปแก้กิเลสตัวมันรุนแรง อย่างน้อยจะได้สงบตัวลงไป พอมันสงบพอฆ่าได้ให้ฆ่ามัน ด้วยวิธีการอันถูกต้อง นี่ที่ได้ทำไป การฝึกทรมานจิตตภาวนานี้ เรื่องกามราคะเป็นรุนแรงมากที่สุดในกิเลสทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา เป็นตัวหนุนมาก อวิชชาอยู่พื้นๆ ไม่ได้มาแสดงฤทธิ์เดชอะไรแหละ ตัวกามราคะนี่เป็นตัวแสดงฤทธิ์เดช

เช่นอย่างเราเป็นคนหนุ่มคนน้อยอย่างนี้นะ เรื่องธาตุขันธ์ของเรามันมีกำลังมาก มีกำลังมากมันก็เป็นเครื่องมืออันเหมาะสมได้กับกิเลสตัวมันต้องการคือราคะตัณหา นี่เครื่องมือของกิเลส ได้แก่ร่างกายที่มีกำลังมาก ถ้าร่างกายมีกำลังมาก ฉันมากๆ กินมากๆ แล้วก็นอนมาก ขี้เกียจมาก ราคะตัณหาขึ้นมาก กวนเจ้าของตลอดเวลาในใจ ฟังให้ดี นี่ละเวลามันกวน จนกระทั่งงงบางที เหอ ตั้งแต่ก่อนกูเรียนหนังสืออยู่กูก็เรียน เห็นหญิงเห็นชายที่ไหน ก็เป็นธรรมดาของคนมีกิเลส สวยก็ว่าสวย น่ารักก็ว่าน่ารัก บางทีก็รัก นี่มันเป็นตามนิสัยของมัน มันก็รัก ไม่ว่าหญิงว่าชายเป็นด้วยกัน พูดคนหนึ่งแล้วกระเทือนไปหมด เป็นคติเครื่องเตือนใจได้ทั้งนั้น

แต่เวลาเราเรียนหนังแส่หนังสือยังไม่ได้สนใจกับภาวนาอย่างแท้จริงนั้น กิเลสมันก็มี เห็นหญิงน่ารักก็รัก เห็นน่าชอบก็ชอบ บางทีรักเขาก็มี แต่รักประเดี๋ยวประด๋าวไม่ใช่รักด้วยความจงใจจริงๆ รักประเดี๋ยวประด๋าวคือรักเพราะมันมีกิเลส มันเป็นของมันก็รู้ แล้วก็ผ่านไปๆ ไม่มีอะไรเป็นข้อรบกวนเราให้หนักมาก แต่เวลามาภาวนามันทำไม นั่นซิที่นี่ เวลาเราจะฆ่ามันที่นี่นะ มีแต่อารมณ์ของกิเลส กามกิเลสมันยิบแย็บๆ มันไม่ได้ออกทางร่างกายนะ มันเป็นอยู่ภายใน กวนอยู่ภายในใจ มันก็โมโหละซีที่นี่ อ้าว ตั้งแต่ก่อนอยู่ธรรมดาอยู่ที่ไหนๆ กิเลสตัวนี้มันก็มี เห็นอะไรควรรักก็รัก เห็นผู้หญิงผู้ชายอะไรควรรักมันก็รัก แต่ก็รักเพียงผ่านๆ ๆ แต่คราวนี้มันทำไมถึงมายุบยิบๆ ยิบแย็บๆ อยู่ภายในใจตลอดเวลา โดยไม่หาว่าผู้หญิงคนนั้นสวยคนนี้ไม่สวย ไม่ได้หานะ มันหากเป็นอยู่ในจิตของมัน เอ๊ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

จึงต้องใช้วิธีหนักเข้าๆ เรียกว่าผ่อนอาหาร อดอาหาร มันเป็นยังไงมันถึงเป็นอย่างนี้ พอผ่อนอาหาร อดอาหาร อันนี้จะลดลง สติตั้งได้ ความพากเพียรมีขึ้น เพราะร่างกายไม่มีกำลังมาก มันไม่เสริมราคะให้คิดมาก แล้วมันก็อ่อนลงๆ ทีนี้ก็ฟัดกัน นั่นละพระที่ท่านอดอาหาร ท่านรู้ของท่านเอง แต่ท่านไม่นำมาพูดเฉยๆ หลวงตานี่ขึ้นสนามขึ้นเวทีผ่านมาแล้วจึงมาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ตัวราคะตัณหาตัวรุนแรงมาก ตัวที่กดที่ดึงสัตว์โลกลง มันดึงลงอย่างนี้นะ กามกิเลสนี้ดึงลงตลอด

เราจะเห็นได้ชัดผู้สิ้นกามกิเลส เช่น พระอนาคามีพอกิเลสขาดสะบั้น ตัวนี้ขาดสะบั้นลงไปนี้ จิตใจนี้จะไม่ถูกดึงลง มันจะหมุนขึ้นเรื่อยๆ ดังที่ว่าพระอนาคามีตายแล้วท่านไม่กลับมาเกิดอีก ท่านไปข้างหน้าเรื่อย ข้างหน้าคือลำดับของพระอนาคาที่มีอุปนิสัยปัจจัยไม่เหมือนกัน ผู้ที่มีอุปนิสัยปัจจัยอย่างรวดเร็ว พอผึงนี่ขึ้นอนาคา ไม่ต้องมีคำว่าสถานที่อยู่ที่นั่นที่นี่ คือขึ้นผึงถึงอกนิฏฐา จากนั้นพุ่งนิพพานเลย ผู้นี้ผู้ท่านเร็ว ทีนี้ผู้ที่ไม่เร็ว ค่อยไปลำดับลำดา พอสำเร็จขั้นนี้ สอบได้แล้ว ตัวราคะตัวใหญ่ขาดไปแล้ว แต่ที่มียิบๆ แย็บๆ อยู่ข้างฝา ข้างผนังอะไรก็แล้วแต่เถอะ มันเข้าไปข้างในไม่ได้ ตัวใหญ่ถูกฆ่าแล้ว ตัวนี้ก็ต้องได้ขัดได้เกลามัน ตัวใหญ่ขาดไปแล้ว ตัวเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นมลทินติดใจอยู่นี้ก็ต้องซักต้องฟอก ต้องฝึกต้องซ้อม

นี่ละขั้นอนาคานี้มันขาดไปแล้วส่วนใหญ่ ส่วนย่อยๆ มันยังมี ต้องขัดต้องเกลาไปเรื่อยๆ หากว่าตายในเวลานี้ที่ควรจะอยู่ในขั้นแรกก็คือว่า อวิหา ผู้ซึ่งสำเร็จอนาคาที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ตายแล้วจะไปเกิดชั้นอวิหา แล้วเลื่อนขึ้นไปชั้น อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี ตามขั้นของจิตของธรรมที่จะรอรับกันๆ เป็นระยะไป ครั้นเต็มภูมิแล้วอกนิฏฐา แล้วตั้งแต่นี้ขึ้นไปนู้นไม่มีคำว่าลงนะ ตั้งแต่สำเร็จเป็นพระอนาคามีได้ระดับ ถ้าพูดภาษาเราเรียกว่าสอบได้ ๕๐% แล้ว ได้ จากนี้จะไม่ลงนะ ขึ้นเรื่อยๆ ฝึกซ้อมกันเรื่อยแล้วก็ขึ้นเรื่อยๆ จิตละเอียดเข้าไปก็อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา แล้วพุ่งใส่นิพพานเลย เห็นชัดๆ ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้ามีหรือไม่มี บอกอยู่นี้เห็นชัดๆ อย่างนี้ นี่ละท่านว่ากามกิเลสนี้รุนแรงมากทีเดียว มันดึงลงตลอดไม่มีดึงขึ้น พออันนี้ขาดลงนี้ คำว่าดึงลงไม่มี มีแต่ดึงขึ้น เป็นสำลีละที่นี่ เหมือนปุยนุ่นหรือสำลี จะค่อยขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่กลับมาเกิดอีก พอดับปั๊บก็ไปอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี ขึ้นเรื่อยๆ พุ่งเลย ไม่กลับมาอีก เพราะไม่มีเครื่องกดถ่วง ไม่มีเครื่องดึงดูดนั่นเอง ให้จำเอาไว้ เรื่องกิเลสตัวนี้สำคัญมาก เราเปิดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง สัตว์โลกไปไม่ได้เพราะอันนี้รุนแรงมากที่สุดเลย ขึ้นสนามขึ้นเวทีจึงได้เห็นมันชัดเจนทีเดียวไม่ใช่ธรรมดา

เวลามันหมดไปมากน้อยมันก็เห็นชัดๆ หมดโดยสิ้นเชิงมันก็เห็น เข้าใจไหมล่ะ ฟังเอาซิภาคปฏิบัติ หมดโดยสิ้นเชิงก็ยังเหลือแต่ขันธ์เท่านั้น ความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องกิเลส มีกามกิเลส เป็นต้น ที่จะซึมซาบเข้าถึงใจไม่มีเลย ขาดสะบั้นเป็นวรรคเป็นตอน หากจะแย็บๆ เอา เราจะพูดให้เปิดเผย ทีนี้เรื่องราคะประจำจิตนะ ที่จะพาให้เกิดให้ตายให้เป็นกิเลสโดยแท้นั้น ได้ขาดสะบั้นลงไปแล้วจากจิต ท่านว่าสำเร็จพระอนาคา จนกระทั่งถึงพระอรหันต์ หมดโดยสิ้นเชิง ราคะที่เข้าแทรกในจิต แต่ที่มันแทรกอยู่ในธาตุในขันธ์มันยังมี นั่นเอามันชัดๆ อย่างนั้นซี

มีก็เหมือนกับเรากินข้าวกินน้ำ พระอรหันต์กินข้าวกินน้ำเหมือนเรา เรากินข้าวกินน้ำเหมือนพระอรหันต์ แต่ท่านไม่มีความดึงดูดยินดีซึมซาบเข้าไปถึงใจเหมือนปุถุชนกิน เข้าใจไหม ปุถุชนกิน ฟาดทั้งเหล้า สะแตกทั้งยา แล้วยาเสพย์ติดเข้าไป ยิ่งกล่อมกันไปเลย นี่มันกล่อมเข้าใจไหม นี่กิเลสตัวมันแทรกเข้าไปในจิต พอมันออกมาแล้วก็กินเท่าที่จำเป็น นี่เราแยกให้ฟังชัดเจนนะ ว่าราคะมีหรือไม่มี เอามันขนาดนั้น มันเห็นชัดๆ อย่างนั้นจะว่าไง สำหรับราคะที่จะพาให้เกิดให้ตายหมดโดยสิ้นเชิงตั้งแต่ขณะมันขาดไป แต่เราจะปฏิเสธว่ามันไม่มีไม่ได้ ก็มันมีอยู่นี่ประจำขันธ์เท่านั้นเอง จะให้กำเริบเสิบสานกว่านั้นไม่มี มีประจำขันธ์ เข้าใจหรือเปล่า ให้มันเห็นอย่างนั้นซิผู้ปฏิบัติ ไม่ต้องทูลถามพระพุทธเจ้า นี่พูดอย่างชัดๆ เลย

อะไรประจำขันธ์ อะไรประจำจิต ประจำจิตเป็นกิเลสโดยแท้ ประจำขันธ์ก็เป็นอาการของขันธ์เท่านั้น มันติดแนบกันอยู่มันยังไม่ตาย เข้าใจไหม คือขันธ์ยังไม่ตายอันนี้ก็ติดกันไป แต่ไม่กำเริบเสิบสาน จะทำให้เป็นยังไงอีกไม่เป็น เข้าใจหรือเปล่า คำนี้เราไม่เคยพูดสักที วันนี้พูดให้ท่านทั้งหลายฟังเสียให้ชัดเจน ทีแรกจะงง ครั้นต่อไปมันก็รู้เองเรื่องเหล่านี้ บางทีมันมียิบๆ แย็บๆ ทำไมเป็นอย่างนี้วะ เอาทดลองเป็นไร มันก็รู้ของมันเอง อ๋ออย่างนี้เอง นั่น เข้าใจ

นี่ละจิตฝึกได้อย่างนี้เอง ฝึกได้ๆ มันมืดมัวขนาดไหนก็ตามไม่พ้นจากการฝึกการทรมานของเรา การฝึกทรมานทุกข์ขนาดไหน ก็ทุกข์เพื่อความสุข เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ ไม่ได้เหมือนเราทุกข์ด้วยกระเสือกกระสนไปตามกิเลส นั้นทุกข์เพื่อมหันตทุกข์ ให้จำเอาไว้นะ เอาแค่นี้ก่อนวันนี้นะ

(ลูกศิษย์) วันนี้มีปัญหาอินเตอร์เน็ตครับ

หลวงตา ปัญหามายังไงอีก เอ้าฟัง ๆ ๆ

(ลูกศิษย์) เขาถามมาจากประเทศ อิสราเอล เป็นเรื่องที่คุณแม่เขาภาวนา ลูกถามมาแทน คุณแม่ฝากถามมาว่า เวลาท่านนั่งสมาธิ จะเกิดขนลุกซู่บ่อยมาก เป็นสภาวะใดครับ และท่านยังบอกอีกว่า ท่านน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ท่านก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร คุณแม่ท่านเคยปฏิบัติมานานหลายปีแล้ว

หลวงตา ให้เอาอันนี้นะ เอาจุดนี้เสียก่อน ขนลุกซู่คือความปีติยินดีจากการภาวนา ให้จับจุดคือการภาวนานั้นอย่าปล่อยวาง เข้าใจไหม มันจะลุกขนาดไหนให้มันลุก

(ลูกศิษย์) ท่านเคยปฏิบัติมานานหลายปีแล้ว ท่านเคยเล่าว่า ท่านปฏิบัติจนตัวลอยได้ ท่านบอกว่าลอยจริง ๆ ตอนแรกผมคิดว่าเป็นแค่นิมิต ท่านบอกว่าลอยขึ้นประมาณหนึ่งศอก จนท่านตกลงมาในสภาพขาขวายังคุกเข่าอยู่เลย เกิดขึ้นเมื่อเกือบยี่สิบปีแล้ว และท่านก็ไม่เคยทำได้อีกเลย ท่านไม่ทราบเรื่องการปฏิบัติมากนัก ได้แต่นั่งภาวนาพุทโธกับสวดมนต์อย่างเดียว โดยท่านไม่มีความรู้มากนักในเรื่องการปฏิบัติ ขอรบกวนขอคำแนะนำจากหลวงตาด้วยครับ

หลวงตา ให้ภาวนาพุทโธให้ติดกว่านั้นนะ การตัวลอยเป็นเรื่องความปีติ ปีติมีหลายประเภท แบบตัวลอยก็มี อันนี้มันก็มีอยู่แล้ว เป็นกิ่งก้านของการภาวนาของเรา เราอย่าปล่อยหลัก อันนี้เป็นอาการ มันมีเกิดได้ระงับไปได้หายไปได้อันนี้ ส่วนจิตที่ได้รับการอบรมด้วยดีนั้น ความสงบร่มเย็นจะไม่หาย จะหนาแน่นขึ้นภายในใจ สิ่งเหล่านี้เป็นอาการภายนอก เข้าใจเหรอ ไม่ให้เป็นอารมณ์กับมันนัก มันเป็นอะไรก็ช่างมัน แต่อย่าลืมพุทโธภายในใจ ถือหลักพุทโธไว้ให้ดี เข้าใจไหม เข้าใจหรือยัง

(ลูกศิษย์)  ถ้าเขาลอยอีกทำไงครับ ถ้าเขาพุทโธ ๆ แล้วตัวลอยอีกให้ทำยังไงหรือเปล่า

หลวงตา มันจะขึ้นฟากจรวดให้มันไป หลวงตาบัวจะจับหางดึงลงมา เข้าใจไหม ปล่อยให้มันไปเถอะ หลวงตาบัว จะจับหางมันดึงลงมา ก็ลูกศิษย์หลวงตาบัวมันเก่งกว่าครูไปไหนวะ เข้าใจหรือ

(ลูกศิษย์) คนที่สองครับ ลูกรู้สึกเป็นอาการจิตว่างสงบ เมื่อมีเรื่องราวยุ่งเหยิง เรื่องราวเข้ามาก่อกวน แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีอะไรก็ตามค่ะ จิตมันดูนิ่งสงบของมัน เพราะลูกบังคับไม่ให้เผลอสติกับคำบริกรรม ตามที่หลวงตาสอน มันเหมือนเป็นธรรมะท่านเตือนนะคะ เผลอแว็บหนึ่งเมื่อไร เหมือนธรรมะท่านมาดึงเอาสติกับคำบริกรรมกลับคืนมา พอเวลามีเรื่องราวอะไรเข้ามาสัมผัสใจ ก็กลายเป็นเรื่องน่ารำคาญ แต่ไม่ใช่เป็นอาการรำคาญหงุดหงิดแบบกิเลสที่เราโกรธคนอื่นนะคะ มันรำคาญจะปัดเครื่องก่อกวนจิตออกค่ะ ทีนี้ลูกก็กำลังเริ่มเข้าปัญญา พิจารณาไปทีละขั้น เพราะลูกแน่ใจว่าเป็นอำนาจของการรักษาสติกับคำบริกรรม พยายามสุดฤทธิ์ที่จะไม่ให้เผลอ จิตก็เลยสงบนิ่งเย็นขึ้นมาเป็นลำดับ แต่ลูกก็กลัว หากเผลอสติเข้ามันจะดึงกลับลำบาก แต่จะพยายามเต็มที่ค่ะ

หลวงตา ฟัง ๆ กลัวจะเผลอสติเข้า มันจะดึงกลับลำบากหรือ ถ้ากลัวก็อย่าเผลอสติซิ เข้าใจไหม ก็ไม่อยากให้เผลออยู่แล้ว ยิ่งกลัวจะเผลอสติ ก็อย่าเผลอซิ สติเป็นฐานสำคัญมากก็บอกแล้วนี่นะ ขอให้สติเป็นพื้นฐานดีเถอะ จะขึ้นจากนี้ทั้งนั้น ธรรมทั้งหลายจะเป็นเพราะสติวางพื้นฐานไว้ดี ถ้าสติขาดแว็บ ความเพียรขาดไปด้วย สติเป็นพื้นฐานสำคัญมาก นักภาวนาต้องอย่าลืม แม้แต่เหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ถ้ามีสติแล้วยับยั้งตัวได้นะ อย่างหยาบ ๆ ก็ยังได้ ยิ่งละเอียดสติยิ่งละเอียดตามกัน

(ลูกศิษย์) หากเผลอสติเข้ามันจะดึงกลับลำบาก แต่จะพยายามเต็มที่ค่ะ ขั้นนี้ลูกต้องทำประการใด ขอเมตตาจากหลวงตาเจ้าค่ะ เขาบอกกลัวมันจะเผลอแล้วดึงกลับลำบาก

หลวงตา ก็บอกว่าอย่าเผลอด้วยการตั้งสติให้ดี เข้าใจไหม นี่แหละกันเผลอ มันจะเผลอ เราระวังของเราไว้มันก็ไม่เผลอ แต่เวลาเราไม่กลัวนั่นแหละมันเผลอเข้าใจไหม (หัวเราะ) เวลาเรากลัวอยู่มันไม่เผลอแหละ มันเอาตอนที่เราไม่กลัว พอไม่กลัวก็คือลืมตัวแล้วใช่ไหม เผลอแล้วนั่น

(ลูกศิษย์) ถ้าเผลอจะดึงกลับลำบาก ได้พยายามเต็มที่

หลวงตา อย่าไปหาดึง ให้ตั้งจุดกับพุทโธ แล้วสติจะมาทันที อยู่กับคำบริกรรมนั้น ถึงมันจะแย็บไปไหนมันจะมาทันที เข้าใจเหรอ

(ลูกศิษย์) คนนี้ชื่อเขาดีครับ ชื่อเขาลงตอนท้ายครับ เขาบอก เด็กเชื่อฟังหลวงตา

หลวงตา หลวงตาก็บอกว่า เด็กอย่าดื้อ ให้ว่างั้นเข้าใจไหม มันก็รับกันละซี หมดแล้วเหรอ หมดแล้วก็หมดเท่านั้น

(ลูกศิษย์) วันนี้ขอบูชาธรรมหลวงตาด้วยค่ะ

หลวงตา กลัวเผลอไหมล่ะ คือมันเลยจนด้านมันเลยไม่กลัวเผลอ(หัวเราะ) มันเผลอได้วันยังค่ำมันเลยไม่กลัวเผลอ อย่างนี้แหละ ถ้าถามมา ถามธรรมะขั้นไหนมันจะออกรับกันทันที พูดจริง ๆ มันเต็มอยู่ในนี้แล้วว่างั้นเลย เราพูดอย่างนี้ว่าเราพูดเล่นเหรอ ธรรมะพระพุทธเจ้าเลิศเลอขนาดไหน ให้ปฏิบัติให้รู้น่ะ ว่างั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้า สาธุว่างั้นเลย ไม่ทูลถามนั่นน่ะ ฟังซิ สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศป้างไว้แล้วในธรรมอันเด็ดขาดทุกขั้นของธรรม ด้วย สนฺทิฏฺฐิโก จะรู้เองเห็นเอง ไม่จำเป็นต้องทูลถามพระพุทธเจ้า ถ้ายังทูลถามพระพุทธเจ้าอยู่ คำว่า สนฺทิฏฺฐิโก ที่พระองค์ประกาศมาแล้วก็หมดความหมาย ไม่มีค่า อันนี้พอรู้ก็ อ๋อ ทันทีเลย ๆ คือ สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศขึ้น ตัวเองก็อ๋อทันทีเลย แล้วอะไรอีกล่ะ

(ลูกศิษย์) ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ เรานั่งนาน ๆ ปวด ถ้าปวดเราก็ปล่อยให้มันปวดหรือคะ หรือว่าอยู่กับพุทโธ

หลวงตา อันนี้มันรู้เอง ไม่มีใครกลัวตายยิ่งกว่ามนุษย์ เพราะเวลามันเจ็บมาก ๆ โอ๋ยไม่ไหว ล้มตูมแล้ว เข้าใจไหม

(ลูกศิษย์) แล้วเราจะทำอย่างไร เราปล่อยให้มันปวดหรือ

หลวงตา โอ๋ อันนี้มันเป็นขั้น ๆ นะ เวลาเราทนได้ก็ทนไปเสียก่อน เราทนไม่ได้จะนอนก็นอนเสีย ก็เบาเอง นี่แบบหนึ่ง ถ้าแบบที่หลวงตาขึ้นเวทีดังพูดแล้วนั่นเห็นไหมล่ะ นั่นแบบหนึ่งต่างหาก แบบธรรมดานี้หลวงตาเคยใช้แล้ว แบบหมูขึ้นเขียงนี่ เวลามันเหนื่อยมาก ๆ ก็ล้มนอนลงเสีย เอาละพอ อันนี้บทเวลาขึ้นเวทีจริง ๆ เอานะวันนี้ นั่นเห็นไหม วันนี้จะนั่งตลอดรุ่ง อะไรก็ไม่มีมาทำลายได้เลย เท่านั้นเอง ก็เคยพูดแล้วว่า มีข้อยกเว้นข้อเดียว เวลานั้นเราอยู่กับครูบาอาจารย์กับพระกับเณรใช่ไหมล่ะ เราต้องมีข้อยกเว้นเอาไว้ มันจะไปจนตรอกเวลาจำเป็นขึ้นมา เว้นแต่ครูบาอาจารย์หรือพระเณรในวัดนี้เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินในวัดเท่านั้น เราจะลุกออกไปช่วย เข้าใจไหม นอกนั้นหมดเลย ไม่ให้มีเหลือ

สำหรับเราเองไม่ให้มีเลย เอ้า ปวดหนักออกเลย ปวดเบาออกเลย ตั้งแต่มันเป็นเด็กมันขี้ใส่ตักแม่มาพอแล้ว เห็นไหมล่ะมันใส่เจ้าของ อันนี้มันจะขี้ใส่ผ้าเจ้าของ พอออกจากที่แล้วมันเอาไปซักไปล้างไม่ได้ เอาไปฆ่าทิ้งเสียมันหนักศาสนา นี่เห็นไหม นี่หมายว่าหมัดเด็ดเจ้าของ หยาบไหมอย่างนี้ ไม่หยาบเข้าใจไหม คือเราจะมัดเจ้าของให้เข้าสู่จุดธรรมเข้าใจไหม ตั้งแต่ธรรมพื้น ๆ ฟาดถึงธรรมอันเลิศ ทีนี้มันก็ได้อย่างนั้นจริง ๆ เวลามันเต็มที่แล้ว โอ๋ย มันเป็นเหมือนกับว่า คือความทุกข์นี่นะ มันเหมือนกับเปลวไฟรอบตัวของเรา จนมองหาตัวไม่เห็น ไฟมันเผาเรา ที่เรานั่งเหมือนหัวตอ ความทุกข์นี่เหมือนไฟรอบตัวเรา เอ้า ตายก็ตายไปว่างี้เลย เรื่องที่จะให้ลุกจากที่ไม่มีทาง เอ้า อะไรจะตายก่อนตายหลังจะเผาทั้งเป็นให้เห็น โน่นน่ะ ซัดกันเลย

ทีนี้ก็แยกเวทนา อะไรเป็นทุกข์ ๆ เวลามันทุกข์มากเท่าไรนี้จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้นะ สติปัญญานี้อยู่ไม่ได้ มันทุกข์มากก็ไล่เข้าไปถามเข้าไป มันจะบอกอันใดอันหนึ่งละเด่นกว่าเพื่อน เช่นหนังหรือเป็นทุกข์ หรือกระดูกเป็นทุกข์ หรือเอ็นเป็นทุกข์ ถ้าว่าหนังเป็นทุกข์ เวลาคนตายแล้วหนังยังมีอยู่เอาไฟเผา เขาว่าไง เขาไม่มีอะไรเลย ว่าเอ็นเป็นทุกข์ เผาไฟเอ็นไหม้จนเป็นเถ้าเป็นถ่าน เขาไม่เห็นว่าเขาเป็นทุกข์ กระดูกหรือเป็นทุกข์ ถ้าเผาไฟแล้วเขาไม่ได้เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เป็นทุกข์อยู่กับผู้ใด ถ้าว่าหนังเนื้อเอ็นกระดูกเป็นทุกข์ คนตายแล้วมีหนังมีเนื้อสมบูรณ์เอาไปเผาไฟ เขาไม่เห็นว่าไง เดี๋ยวนี้เป็นอยู่กับอะไร ใครเป็นผู้ไปว่าเขาเป็นทุกข์ แยกนู้นแยกนี้ ทุกข์มากเท่าไรยิ่งหมุนติ้ว ๆ สติปัญญามันก็วิ่งตามกัน สักเดี๋ยวก็ทันกัน พอทันกัน แก้ก็ขาดสะบั้นไปเลย ผึงลงปึ๋งเลย นั่นเห็นไหม 

ไฟที่มันกำลังไหม้เรา ทุกขเวทนาเหมือนกับมองไม่เห็นตัวเอง มีแต่เปลวไฟทั้งหมดนั้นดับพรึบลงพร้อมกัน จิตสว่างจ้าเลย ร่างกายหมดไป นั่นเห็นไหมล่ะ ที่ว่าไฟไหม้อยู่นั่น นี่อำนาจของสติปัญญา เวลาเข้าถึงฐานแล้วมันดับได้หมดในปัจจุบันนะ ดับหมดเลย มีแต่ความสว่างจ้าขึ้น อัศจรรย์ โอ้โห ขึ้น แน่วเลยที่นี่ พอเข้าถึงที่แล้วจะกระดิกพลิกแพลงไม่ได้นะ เพราะฉะนั้นเวลาเราจะพูด จะพูดได้แต่เพียงว่า สักแต่ว่าปรากฏ แต่ว่าสักแต่ว่าไม่ใช่เป็นของไม่มีราคานะ คือมันเลยไปทุกสิ่งทุกอย่าง สักแต่ว่าปรากฏ ถ้าว่าอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะเป็นสองขึ้นมา จะไม่เด่นเหมือนอย่างนั้น เข้าใจไหม สักแต่ว่าปรากฏ คือปรากฏความอัศจรรย์อย่างนั้นเองเข้าใจไหม เท่านั้น พอเคลื่อนออกมานั้นมันก็มีสองมีสาม เอ้า ทุกข์ก็เกิดขึ้นอีก ฟัดกันอีก

ทีนี้ฟัดนี่เราจะไปเอาแบบเก่าของเรามาใช้ เอานั้นมาเทียบอันนี้มาเคียง เรารู้อย่างนี้ ๆ เมื่อวานหรือวันไหนก็ตามนะ อย่างนี้ไม่ได้นะ เราต้องเอาปัจจุบันอีก ถามมันปัจจุบันเลย ขึ้นในปัจจุบันเป็นสด ๆ ร้อน ๆ แก้กันอีก ถ้าเราเอาอดีตที่เรารู้แล้วมาแก้ ไม่เป็นท่า เป็นปริยัติไปแล้ว เข้าใจเหรอ นี่เราเคยมาแล้ว ถ้าถึงขั้นนี้มันก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง ขั้นหมูขึ้นเขียงมันก็ขั้นหนึ่ง เข้าใจไหม ขั้นนี้ไม่มีคำว่าขึ้นเขียง ตายไปด้วยกันเลย สมมุติว่ามันล้มลงนี้ลุกขึ้นทันทีเลย เมื่อสติมีอยู่จะไม่ยอมนั่ง สัจจะความจริงนี้เหนือทุกอย่างแล้ว สัจจะคือธรรมเป็นของจริงเหนือทุกอย่างแล้ว ไม่ยอมที่จะล้มนอนไปเลย ถ้าสมมุติว่ามันเผลอไปมันสู้มันไม่ได้ ล้มลง พอรู้สึกตัวจะลุกขึ้นนั่งทันทีเลย นี่เรียกว่าถึงขั้นเด็ด มันหลายขั้นเข้าใจไหมล่ะ

มันเป็นขั้น ๆ ถึงขั้นมันจะเอาจริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้นแหละ ก็คนที่เคยเซ่อ ๆ ซ่า ๆ หมูขึ้นเขียงโดดขึ้นโดดลงนั่นแหละ เวลามันเอาจริง ๆ แล้วมันไม่ยอมขึ้นเขียง ฟาดเอาเขียงขึ้นหมูไปเลย (หัวเราะ) เข้าใจไหม แต่ก่อนนี้มีแต่หมูขึ้นเขียง ต่อไปมันฟาดจะเอาเขียงขึ้นหมูทับหัวหมูไปเลย เข้าใจไหมเวลามันเด็ด นั่น มันเป็นขั้น ๆ นะ อย่างนี้แหละถ้ามีผู้ถาม มันหากมี นี่เป็นคติได้ไหมที่สอนอย่างนี้ ถอดออกมาจากนี้ทั้งนั้นยังบอกแล้ว ความรู้นี้มันครอบไปหมดก็ยังพูดแล้ว จะให้ว่าไง เวลานี้จะเทศน์ยังไงจะพูดยังไงคนอย่างนี้ไม่มี เราพูดจริง ๆ นะ มันออกมาแง่ไหนจะรับกันทันที ๆ นี่แหละ ถึงว่าธรรมพระพุทธเจ้าเลิศขนาดไหน มันมีอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก ทำไมจึงให้กิเลสเข้ามามัดจนไม่มองเห็นเนื้อเห็นตัวเลย มันโง่เกินไปนะมนุษย์เรานี่ เอาธรรมะพระพุทธเจ้าไปเปิดบ้างซิน่ะ พระพุทธเจ้าพระสาวกท่านเปิดมาเท่าไร พ้นถึงนิพพานมาเท่าไรแล้ว เรานอนจมมาอยู่ในวัฏสงสารนี้มีมากขนาดไหน กี่กัปกี่กัลป์มาแล้วไม่อิ่มพอบ้างเหรอ ถามตัวเองบ้างซิ พิจารณาซิ เอาละ มีอะไรอีกล่ะ เอาละพอวันนี้

เวลานี้กำลังรวบรวมทองคำ เงินสดอะไรจะหมุนเข้าซื้อทองคำ เข้าใจไหม กองไหน ๆ มาเราจะคัดเข้าซื้อทองคำๆ เป็นอันดับหนึ่ง เวลานี้กำลังหมุนใส่ทองคำเป็นอันดับหนึ่ง เงินสดได้มากได้น้อยหมุนเข้า ๆ หาทองคำนะเดี๋ยวนี้ จะไม่ออก ออกก็ออกไปอย่างนั้นแหละ มันเคยออกแล้ว อันไหนที่เคยช่วยเขาแล้วก็ถึงวาระที่เขามาจ่ายงวดก็ต้องให้เขาใช่ไหม ไม่ใช่ไม่ให้นะ งวดที่เขาจะมารับนั้นให้ แต่ที่เราจะเพิ่มไม่เพิ่มเป็นเรื่องของเราอีก เราตัดไว้ ๆ

นี่แหละช่วยพี่น้องทั้งหลายช่วยถึงขนาดนี้ ให้เห็นใจนะ ทุกอย่างสละไว้หมดเพื่อชาติไทยของเรา คราวนี้เราเต็มที่ของเรา เรียกว่าคราวตัวเองเอาตัวเองก็บอกว่าตายเลย เข้าใจไหม ไม่มีสองละ เราเอาเราเองนี้ตายเลย คิดดูว่าทุกขเวทนาโหมขึ้นจนจะมองไม่เห็นตัวโน่น เท่ากับไฟ มันยังฟาดดับลงไปได้ทั้งไฟทั้งฟืนหายไปด้วยกันเลย อย่างนั้นมันก็เห็นได้ นี่แหละธรรมะอัศจรรย์อยู่ในใจนะ ไม่อยู่ที่ไหนนะ ความเลวร้ายก็อยู่ที่ใจ ของอัศจรรย์ก็อยู่ที่ใจ ฟื้นขึ้นมาใช้ก็ใช้เพื่อตัวเรา มันทุกข์ขนาดไหนทุกข์เพื่อเรา ได้หลุดพ้นจากทุกข์อันนี้ไปได้ ก็จะเป็นอะไรไปว่างั้นนะ เอาละที่นี่

 

ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาทุกวัน ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก