เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร
เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๔
การเสกสรรปั้นยอของกิเลส
วันนี้เป็นวันบรรจบครบรอบที่เคยปฏิบัติเพื่อบูชาครูบาอาจารย์ของเรา ท่านพี่น้องทั้งหลายมาจากทั้งทางใกล้ทางไกล ทั้งพระ ทั้งเณร ประชาชน ที่มีความเคารพเลื่อมใสต่อองค์ท่านพระอาจารย์ฝั้น ที่มรณภาพไปแล้วในทางธาตุขันธ์ แต่จิตใจนั้นไม่ได้ตาย คือเป็นจิตอยู่โดยดีไม่มีคำว่าตาย
ตามปกติของใจ ไม่มีป่าช้าอยู่แล้วประจำตน คำว่าเกิดก็อาศัยสมมุติที่เข้ามาแทรก คือสมมุติส่วนต่างๆ เช่น มาเกิดเป็นมนุษย์ก็อาศัยส่วนต่างๆ มาผสมกัน ธาตุส่วนผสมนั้นเป็นธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นส่วนใหญ่มาประกอบกับจิตดวงนั้น ซึ่งไม่สามารถจะพึ่งตนเองได้โดยสมบูรณ์ จำต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งที่อาศัยในภพนั้นๆ เพราะฉะนั้น คำว่าเกิดแก่เจ็บตายจึงมีประจำอยู่กับสิ่งเหล่านี้ที่จิตเข้าไปอาศัย ส่วนจิตนั้นไม่มีคำว่าเกิดว่าตาย มีแต่คำว่าท่องเที่ยวสู่ภพน้อยภพใหญ่ ดังที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ตามตำรับตำรา ซึ่งก็เป็นพระพุทธเจ้าเสียเองทรงแสดงไว้ หาที่ผิดเพี้ยนไม่มีแม้แต่น้อย นี่แหละที่ว่าเกิดตายเป็นเรื่องของธาตุขันธ์ สลายลงจากส่วนผสมแล้วก็ลงสู่ธาตุเดิมของตน นั้นก็ไม่ตาย คำว่าตายหมายเฉพาะความสลายจากกันคือจากส่วนผสมนี้ต่างหาก
จิตที่ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ ยังไม่เป็นตัวของตัว เมื่อที่พึ่งนี้ขาดสะบั้นลงไปด้วยการสลายทำลายที่เรียกว่าตาย จิตก็อาศัยวิบากซึ่งมีเชื้อพาให้เป็นไปอีก ได้แก่อวิชชา นั่นคือเชื้อที่จะพาให้เกิดแน่นอน วิบากได้แก่ดีชั่วที่แฝงอยู่ในเชื้อนั้น ซึ่งอยู่ในจิตดวงเดียวกัน เพราะฉะนั้นแม้จะมีคำว่าเกิด แต่อาการของความเกิดนั้นไม่เหมือนกัน กำเนิดที่เกิดไม่เหมือนกัน ความสุขความทุกข์ที่มีประจำกำเนิดนั้นๆ ก็ไม่เหมือนกัน เพราะวิบากดีชั่วที่มีอยู่ภายในจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน พาให้ไปเกิด สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ความสุขความทุกข์เจือปนกันไป มากน้อยตามแต่ในภพนั้นๆ ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจแห่งวิบากกรรมของแต่ละราย ให้เป็นไปเป็นมาอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ถ้าจิตยังไม่สามารถพึ่งตัวเองได้โดยสมบูรณ์ ก็จำต้องท่องเที่ยวและอาศัยสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไปไม่มีการยุติลงได้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญคุณงามความดี เพื่อได้เป็นเสบียงกรังในเวลาท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารนี้ จะได้อาศัยเป็นความสุขความสบายพอปลดปลงลงได้ เป็นบางกาล บางสถานที่ บางภพกำเนิด ไม่มีแต่ความทุกข์โดยถ่ายเดียว จนกว่าจะสามารถพึ่งตนเองได้โดยสมบูรณ์แล้วก็ไม่ต้องอาศัยอะไรอีก เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องภพน้อยภพใหญ่ ซึ่งเคยอาศัยกันมาก็เป็นอันว่ายุติกันลงได้ นี่แลเรื่องคติธรรมดาของจิตที่มีเชื้อพาให้เกิด ย่อมมีวิบากติดตามเสมอแยกกันไม่ออก นอกจากหมดเชื้ออันพาให้เกิดเสียเมื่อไรแล้ว นั่นแหละวิบากจึงจะหมด เพราะจิตเป็นตัวของตัวโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่หวังพึ่งพิงสิ่งใดอีกต่อไป นั่นคือผู้หมดปัญหาจริงๆ ไม่วกเวียนเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเปลี่ยนสุขเปลี่ยนทุกข์ เกิดๆ ตายๆ ในภพน้อยภพใหญ่ต่อไปอีก
ผู้หมดปัญหาที่กล่าวมานี้ มีแต่ท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วเท่านั้น นอกนั้นเป็นคลังแห่งปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากมีแง่หนักเบาต่างกันบ้างเท่านั้น ส่วนพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่าน เป็นผู้สิ้นสุดเรื่องปัญหาเหล่านี้แล้ว เพราะเป็นตนของตนโดยสมบูรณ์ คำว่าตนในสถานที่นี้ไม่ได้หมายถึงตนแบบสมมุติที่เขาใช้กัน ที่ยกขึ้นมาพูดว่าเป็นตนของตนนี้ก็หมายถึงธรรมชาตินั้นพอแล้วกับทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ตัวเองก็พอในตัวเองและพอกับสิ่งต่างๆ บรรดาที่เป็นสมมุติ ไม่ว่าจะหยาบ กลาง ละเอียด พอหมด ท่านผู้นี้เรียกว่าผู้พอ แต่ไม่เรียกว่าผู้สูญ
ดังคลังมารแห่งธรรม ข้าศึกแห่งความจริง ว่าพระพุทธเจ้าตายแล้วสูญ พระอรหันต์ตายแล้วสูญ แม้ปุถุชนที่กิเลสยึดหัวใจเป็นที่อยู่อาศัยไม่มีกาลสถานที่ภพกำเนิดเรื่อยมา ก็ถูกกิเลสมารลบล้างจนเกลี้ยงว่าตายแล้วสูญ โดยไม่สำนึกเลยว่าธรรมจะสวนหมัดเอาว่า ถ้าจิตของสัตว์โลกตายแล้วสูญจริง ทำไมกิเลสไม่บรรลัยไปด้วยเล่า เพราะกิเลสอยู่กับใจดวงว่าสูญแท้ๆ เมื่อจิตสูญไปจริง กิเลสอาศัยอะไรอยู่เล่า แม้แต่จิตของพระอรหันต์ที่กิเลสบรรลัยไปหมดแล้ว ท่านยังไม่ประณามลบล้างกิเลสว่าสูญไปจากจิตปุถุชนและสัตว์ทั่วไตรภพ การสูญไปแห่งกิเลสทั้งมวลก็สูญไปเฉพาะจิตท่านที่บริสุทธิ์แล้วเท่านั้น กิเลสทำไมลามปามไม่เข้าหลักเข้าเกณฑ์อย่างนั้น
กลอุบายของกิเลสที่เคยหลอกลวงโลก จะหลอกได้เฉพาะผู้มีความรู้ที่กิเลสประสิทธิ์ประสาทให้เท่านั้น แต่กิเลสไม่สามารถหลอกลวงธรรม และพระอรหันต์ท่านที่มีความรู้ความสามารถเหนือกิเลสได้เลย ฉะนั้นตราบใดที่กิเลสจอมหลอกลวงยังจมฝังอยู่ในจิตของสัตว์โลกไม่บรรลัยไป สัตว์โลกจะต้องเกิดและตายอยู่ตราบนั้น กิเลสตัวเป็นพิษแก่สัตว์มามากต่อมาก ทำไมไม่ประจานหน้าตัวเองบ้าง แม้ไม่มากก็พอให้สัตว์โลกได้เห็นภัยของจอมปลิ้นปล้อนนี้บ้าง พอให้โลกได้ชมว่า กิเลสก็ยังเป็นนักกีฬา มียอมแพ้ยอมชนะอยู่บ้าง ไม่รวบไม่รัดเอาโดยถ่ายเดียว ถ้าสูญจริง เอาคำว่าพอมาจากไหน ถ้าสูญไปจริงเอาคำว่าบริสุทธิ์มาจากไหน ถ้าสูญไปจริง เอา นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งมาจากไหน กิเลสมันหลอกโลกอย่างหน้าด้านไม่มียางอายเลย
คำว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น หมายถึงสุขในหลักธรรมชาติของความบริสุทธิ์แห่งใจนั้นแล ไม่ได้เป็นความสุขแบบสมมุติทั้งหลาย ดังสุขเวทนาที่มีอยู่ภายในกายภายในจิตของสามัญชนทั่วไป นี่เรียกว่าสุขในขั้นสมมุติ มีอยู่ทั้งทางกายทางจิตใจ ส่วนพระอรหันต์ท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วนั้น ท่านมีเพียงทุกข์ทางกายเท่านั้น ในจิตของท่านไม่มีทั้งทุกขเวทนาและสุขเวทนา อุเปกขาเวทนาเหลืออยู่ในนั้นเลย เพราะฉะนั้น คำว่า ปรมํ สุขํ จึงไม่ใช่สุขเวทนาที่โลกทั้งหลายอาจเอื้อมถึงอยู่ นั่นไม่ใช่โลกที่กิเลสอาจเอื้อมถึงได้ เป็นธรรมชาติแห่งความสุขของจิตบริสุทธิ์ล้วนๆ ต่างหาก นั่นแลท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ เป็นสุขในหลักธรรมชาติที่มีอยู่กับความบริสุทธิ์นั้น สุขนี้จึงไม่มีคำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปแทรกได้เลย เพราะ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นสมมุติต้องอยู่ในวงสมมุติ นอกไปจากสมมุติไม่ได้ ส่วน ปรมํ สุขํ นั้นนอกวงสมมุติไปแล้ว ท่านให้ชื่อว่า วิมุตติ เป็นชื่อเรียกขึ้นมาประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ยึดถือในสิ่งนั้น
เราทั้งหลายกำลังเสาะแสวงหาที่พึ่ง ที่พึ่งของเราชาวพุทธก็คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี่คือที่พึ่งทางใจ เป็นกำลังทางจิตใจและเป็นกำลังเพื่อหน้าที่การงานทั้งหลายด้วย คนที่มีศีลธรรมเป็นกำลังภายใจจิตใจย่อมทำอะไรไม่ค่อยผิดพลาด ไม่วู่วาม ชอบไตร่ตรอง มีเหตุมีผล มีเครื่องยับยั้งชั่งตวงตนเองด้วยดี จึงเป็นกำลังทางด้านจิตใจโดยเฉพาะ และเป็นกำลังเพื่องานทั่วๆ ไปด้วยดี ไม่ใช่ผู้อบรมศีลธรรมแล้วจะมีกำลังเฉพาะใจ เป็นความสุขเฉพาะใจ มีประโยชน์เฉพาะใจเท่านั้น ยังมีประโยชน์อย่างกว้างขวาง ไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งไปกว่าผู้มีธรรมในใจทำประโยชน์แก่โลก
พระพุทธเจ้าของเรา ให้โลกมีใครได้เสมอเล่า ไม่มี พระสาวกแต่ละองค์ๆ ทำประโยชน์ให้โลกได้อย่างกว้างขวาง มิหนำซ้ำยังซึ้งในจิตใจของเราอยู่ทุกวันนี้ พุทฺธํ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ อีกด้วย เพราะฉะนั้น พลังทางด้านจิตใจจึงเป็นของสำคัญ คนเราเมื่อมีความพอใจในสิ่งใดแล้ว ย่อมทำสิ่งนั้นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่กำลังทางด้านศีลธรรมนี้เป็นไปในทางที่ดีโดยถ่ายเดียว ไม่เป็นกำลังไปในทางที่ชั่ว ที่พอใจในความชั่ว คนพอใจในความชั่วย่อมสามารถทำความชั่วช้าลามกได้อย่างถึงใจ โดยไม่อิดหนาระอาใจ ไม่คิดว่าลำบากรำคาญเพราะความพอใจพาให้ทำ ทำหนักขนาดไหนทำได้อย่างถึงใจ นี่เป็นพลังของกิเลส คือพลังฝ่ายต่ำ พลังทางความเสียหาย ที่จะให้ทำความเสียหายได้ย่อมมีพลังเช่นเดียวกัน
พลังของธรรมเป็นอีกอย่างหนึ่ง คนมีธรรมในใจ มีกำลังใจ สามารถทำคุณงามความดีได้อย่างถึงใจ ถ้าธรรมไม่มีกำลังก็ไม่สามารถจะปราบกิเลส ซึ่งเป็นตัวพลังสำคัญให้หมดสิ้นไปจากใจ หรือลดน้อยลงไปได้ เพราะฉะนั้นพลังของธรรมจึงมีเหนือกิเลส อย่างน้อยก็พอๆ กับกิเลส และพอฟัดพอเหวี่ยงกัน เช่นเราเริ่มต้นฝึกหัด เริ่มต้นมีความสนใจในพระพุทธศาสนา จิตใจยังไม่มีกำลังพอ ย่อมแพ้ต่อฝ่ายต่ำอยู่เสมอ จะทำบุญให้ทาน เสียสละสิ่งของแต่ละชิ้น สละกำลังแต่ละน้อยเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นแต่ละครั้ง แทบเป็นแทบตาย เหงื่อแตกโชกเพราะรบกับความตระหนี่เหนียวแน่นที่เข้ามากีดมาขวางมาทำลายความตั้งใจ
เงินบาทหนึ่งสองบาทหยิบแล้วหยิบเล่า สละไม่ได้ เพราะกำลังแห่งศรัทธาความอยากเสียสละนั้นไม่มีกำลังมากเท่าความตระหนี่ถี่เหนียว ซึ่งเคยฝังใจมานานฉุดเอาไว้ เพราะฉะนั้น เมื่อหยิบยกเงินขึ้นกี่บาทกี่สตางค์ที่จะสละทำบุญให้ทาน กิเลสตัวมัจฉริยะถี่เหนียวมันปัดทีเดียวหลุดมือไปเลย เจ้าของต้องขาดรายได้จากการให้ทานไป นี่แสดงว่ากิเลสมันมีกำลังมาก กำลังทางฝ่ายต่ำที่เป็นมารของธรรมฝ่ายชั่ว เป็นมารของฝ่ายดี มันมีกำลังมากกว่าฝ่ายดี สามารถทำคนซึ่งมีเจตนาที่จะทำดีให้หยุดชะงักไปได้ เพราะกำลังไม่พอกับมัน ท่านจึงเรียกว่า กิเลสมารภายในใจของแต่ละคน มันคอยปิดกั้นกีดขวางในเวลาเราจะทำดีอยู่นั่นแล
เมื่อเราพยายามหลายครั้งหลายหนก็พอทำได้ และทำได้อย่างองอาจกล้าหาญ อย่าว่าแต่เพียงสองสามบาทนี้เลย เป็นร้อยๆ พันๆ หมื่นๆ แสนๆ หรือเป็นล้านๆ ก็ทำได้ เพราะกำลังทางดีของเราฟิตขึ้นมาทุกวัน ย่อมมีกำลังต่อสู้กับฝ่ายต่ำได้โดยลำดับ สุดท้ายจะทำอะไร เมื่อเหตุผลพร้อมแล้วเท่านั้นทำได้เลย ทำได้อย่างถึงใจ นี่กำลังของธรรมแก้กับกำลังฝ่ายต่ำได้โดยลำดับอย่างนี้
เช่นความเสียสละ เราเชื่อในการทำบุญให้ทาน ทำลงไปแล้วไม่ไปไหน ใครเป็นผู้ทำ เราเองเป็นผู้ทำรู้อยู่ชัดๆ ประจักษ์ใจ หยิบยื่นสิ่งใดออกให้ทานแก่ท่านผู้ใด เราเห็นด้วยตาของเรา รู้ด้วยใจของเรา ประจักษ์อยู่กับตัวเองเป็นผู้ทำ เมื่อทำลงไปแล้วผลประโยชน์ก็เห็นประจักษ์ ผู้ได้รับทานจากเราก็ได้รับความสุขความสบาย เช่น ขาดตกบกพร่องหรือมีความจำเป็น ความจำเป็นนั้นก็หมดไปหรือบรรเทาลงไป ทุกข์ก็หมดไปหรือบรรเทาไป เพราะอำนาจแห่งความเสียสละของเราไปชะล้างความขัดข้องขาดเขิน ความทุกข์ความทรมานของเขา เพราะความจนหรือความไม่มีนั้น ให้กลายเป็นผู้มีความสุขความสะดวกขึ้นมา เพราะอำนาจแห่งความเสียสละของเรา เราเองก็มีความปีติยินดีว่า ได้เสียสละสิ่งของที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนนี้ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างประจักษ์ใจประจักษ์ตาไม่สงสัย
เมื่อทราบว่าเราได้ทำความดีอยู่อย่างนี้แล้ว ก็ยิ่งเพิ่มทวีคูณศรัทธาธรรมขึ้นไปเรื่อยๆ แม้แง่อื่นๆ ก็ค่อยชนะกันไปในทำนองเดียวกันนี้ การให้ทานและการรักษาศีล กิเลสมารก็มีแง่อันหนึ่งที่จะมาสอดแทรกขัดขวางเรา ทางฝ่ายต่ำต้องมีอยู่เสมอไปเผลอไม่ได้ เพราะเป็นข้าศึกกับฝ่ายดีอยู่ทุกระยะไม่เคยปล่อยวางเลย เราจะแยกความดีออกเพื่อบำเพ็ญแขนงใด แขนงแห่งความชั่ว กำลังแห่งความชั่วจะต้องติดตามเข้ามากีดขวางจนได้ แต่ก็ต้านทานไม่ได้เพราะกำลังฝ่ายธรรมของเรามีมาก และสู้ไปได้โดยลำดับไม่แพ้มันง่ายๆ เหมือนขั้นเริ่มแรกที่สนใจธรรมและบำเพ็ญความดี
พูดถึงเรื่องการเจริญภาวนาทีแรก นั่งครู่เดียวก็เหมือนกับจะถูกเอาไปเข้าตะแลงแกงแดนประหารชีวิต เจ็บนั้น ปวดนี้ ศีรษะอยู่ดีๆ ไม่ปวด พอจะนั่งภาวนา ถูกกิเลสมันทุบเอาปวดหัว ทำไม่ได้แล้ว เจ็บนั้นปวดตรงนี้ งานนั้นก็กว้านเข้ามา งานนี้ก็กว้านเข้ามา งานในแดนโลกธาตุนี้กว้านเข้ามาเพื่อวันพรุ่งนี้ เพื่อวันมะรืนนี้ หรือเพื่อเดี๋ยวนี้จนได้ นี่ถ้าเราทำภาวนาแล้วงานนั้นก็ขาดไปจะไม่ได้ทำ เอ้า วันพรุ่งนี้เล่า วันพรุ่งนี้ยิ่งมีงานยุ่งมากทำไม่ได้ หัวเสียไปเลย นั่นกิเลสมันเอาให้หัวเสียๆ ไปเรื่อยๆ ทีแรกเป็นอย่างนั้น พอนั่งภาวนาไม่ถึง ๑๐ นาที ๑๕ นาที เจ็บระบมไปหมดทั่วสรรพางค์ร่างกาย เพราะมันเจ็บที่ใจ ถูกกิเลสบีบบี้สีไฟใจไม่ให้ทำ ไม่ใช่เจ็บที่ไหนแหละ แล้วก็เลยเถลไถลหาเรื่องใส่ร่างกายว่าเจ็บนั้นปวดนี้ นี่คือพลังของฝ่ายต่ำ มันพยายามกีดขวางหรือบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาจะไม่ให้หลุดมือมันไปได้
เราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้นวิเศษกว่ากิเลสเป็นไหนๆ กิเลสเป็นสิ่งที่ต่ำทราม ปราชญ์ทั้งหลายไม่พึงปรารถนากัน เราต้องคิดหาอุบายขึ้นเพื่อปลดเปลื้องตัวเองว่า เหตุใดเราเป็นลูกศิษย์ตถาคตจะไป กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ เรายึดกิเลสเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่เคารพนับถือมีอย่างเหรอ เราเคยเปล่งวาจาและระลึกทางใจอยู่เสมอว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ เพราะความเชื่อถือท่านต่างหาก เหตุใดจึงต้องเชื่อถือกิเลส เอากิเลสเป็นสรณะโดยไม่รู้สึกตัว ต้องมีการขัดการแย้งการต่อสู้กันไปหลายครั้งหลายหน
เราเริ่มภาวนาทีแรกกิเลสมารต้องกีดขวางทุกๆ ครั้งทุกๆ รายไป ไม่มีกลัวใครและไว้หน้าใคร พอหลายครั้งหลายหนเข้า ธรรมแทรกเข้าถึงใจ ความสงบไม่เคยมีก็เริ่มปรากฏขึ้นมา เอ๊ จิตสงบเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนไม่เคยรวมสงบตัวเข้ามาให้มีความสุขความสบาย กายที่หนักยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูกมาแต่ระยะก่อนนั้นกลับเบาหวิวเหมือนสำลี จิตใจที่เคยฟุ้งซ่านรำคาญกับสิ่งต่างๆ ด้วยความคึกคะนอง ก็สงบตัวเข้ามาสู่แดนแห่งความสงบ ผลแห่งความสงบปรากฏขึ้นเป็นความสุขความสบาย เบาทั้งใจเบาทั้งกาย นี่สมถธรรมเริ่มปรากฏเด่นขึ้นแล้ว นี่คือธรรมได้ซึมซาบเข้าถึงใจ ใจมีความกระหยิ่มยิ้มย่องต่อผลแห่งความดีความสงบเย็นใจของตน นั่นเป็นการวางเชื้อลงไปแล้ว เกิดศรัทธาความเชื่อมั่นในผลอันพึงใจ ได้ปรากฏจากการกระทำภาวนาขึ้นมาเรื่อยๆ
ต่อจากนั้นจิตก็มีกำลังขึ้นมาโดยลำดับ การเจ็บนั้นปวดนี้ค่อยหายไปๆ เพราะฝ่ายต่ำมันทดลองเรา หยั่งเสียงหยั่งเชิงเราลองดู เห็นเราไม่หวั่นไม่ไหวต่อสู้มันอยู่ไม่ถอย มันก็ถอยทัพไป กองทัพธรรมเราก็ขึ้นหน้าเรื่อยๆ วิริยธรรม ก็เพียรโดยสม่ำเสมอ ขันติธรรม นำมาใช้ อดทน สติปัญญาเครื่องฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสนำมาใช้กันอยู่โดยสม่ำเสมอ กิเลสก็เข้าไม่ค่อยติด จิตก็มีหลักมีฐานมีธรรมเป็นที่ยึด แต่ก่อนกิเลสเป็นผู้รึงรัดเอาไว้ หาแต่ความทุกข์ทรมานมาใส่ใจ เผาลนจิตใจอยู่ไม่หยุด พอธรรมแทรกเข้าถึงใจเท่านั้น ความเย็นความสบายซึ่งไม่เคยคาดเคยฝัน ไม่เคยมีมาก่อน ก็ปรากฏขึ้นที่ใจดวงนี้ ปลูกศรัทธาความเชื่อขึ้นมา วิริยะ ความเพียรก็เกิดขึ้นมา ความอดความทนที่จะบากบั่นเพื่อผลอันดียิ่งกว่านี้ขึ้นไปโดยลำดับก็ค่อยมีมาเอง และมีมาเองตามกันมาเรื่อยๆ
นี่แหละเรียกว่ากำลังของธรรมเริ่มมีขึ้นที่ใจแล้ว กำลังของฝ่ายต่ำเริ่มลดลงโดยลำดับ ฝ่ายธรรมก็แซงหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นแห่งความสงบละเอียดแนบแน่นยิ่งกว่านี้ ความสุขที่ละเอียดสุขุมแนบสนิทกับใจยิ่งขึ้นไปกว่าที่เคยเป็นมาโดยลำดับลำดา สิ่งที่เคยอาศัยมาแต่ก่อนที่ว่าเป็นความสุขความสบาย เพราะกิเลสเสกสรรปั้นยอหรือเอามาป้อนเรานั้น ก็ค่อยปล่อยวางและสลัดปัดทิ้งไปโดยลำดับ เพราะคุณค่าของมันสู้คุณค่าแห่งธรรมไม่ได้ นี่แหละการปล่อยกิเลส ปล่อยเพราะรสชาติที่เหนือกัน รสชาติของธรรมเหนือรสชาติของกิเลส จึงสามารถปล่อยกิเลสประเภทนั้นๆ ได้โดยลำดับ รสชาติของธรรมสูงเยี่ยมขึ้นไป ละเอียดลออเข้าไปเท่าไร ก็ปล่อยกิเลสส่วนที่แพ้ธรรมลงไปได้โดยลำดับ ส่วนไหนที่ยังเหลืออยู่ เรายังไม่สามารถละได้ก็ยอมรับไปก่อนและสู้กันไปเรื่อยๆ นี่เพียงขั้นแห่งความสงบของใจก็เริ่มมีรสและมีอำนาจขึ้นแล้ว เรียกว่า สมถธรรม
ความสงบเป็นธรรมที่พึงปรารถนาประเภทหนึ่ง จากนั้นก็เป็นวิปัสสนาธรรม คือ ความรู้แจ้งแทงตลอด การที่จะให้รู้แจ้งแทงตลอด แทงที่ตรงไหน ตลอดที่ตรงไหน ก็แทงทะลุตรงที่มันเคยมืดดำนั่นแล สกลกายตั้งแต่วันอุบัติทีแรกจนกระทั่งบัดนี้ จะแสดงความสุขความพึงใจให้เราได้รับแม้นิดหนึ่งไม่เคยปรากฏเลย มีแต่แสดงความทุกข์เรื่อยมาตามความบกพร่องต้องการของมัน แต่เราหากพูดกันติดปากเฉยๆ ว่าสบายดีเหรอ ซึ่งหมายถึงความสบายกาย เวลาไม่เป็นโรคเป็นภัยอยู่ตามปกติ เราก็เหมาเอาว่ามันสบาย ความจริงมันไม่เห็นแสดงความสบายขึ้นมาให้เราเห็นเลย จะมีบ้างก็ตอนที่สัมผัสสัมพันธ์กับอาหารการบริโภคยังงั้น ว่าอันนั้นหวาน อันนี้มัน อันนี้อร่อยมีชั่วระยะๆ ของมันที่มีสิ่งมาสัมผัสสัมพันธ์บ้างเท่านั้น
โดยปกติของร่างกายแล้วหาความสุขไม่ได้ นอกจากเป็นความทุกข์ขึ้นมาจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จากความหิวความกระหาย เจ็บท้องปวดศีรษะ จากอิริยาบถที่เปลี่ยนไม่สม่ำเสมอ ร่างกายนี้จึงแสดงแต่ความทุกข์ขึ้นมาเป็นส่วนมากเท่านั้น เราก็ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ถือเป็นสมบัติอันล้นค่า รักสงวนยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ปรนปรือมันเสียจนไม่มีขอบเขตมีเหตุมีผล ไม่มีเครื่องยับยั้งชั่งตวงตนบ้างเลย จนเสียผู้เสียคนไป เพราะการบำรุงบำเรอร่างกายเกินขอบเขตนี้มีจำนวนมาก
อาหารการบริโภคที่นำมาเยียวยารักษาธาตุขันธ์นั้น มีเหตุผลเป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้วในโลกนี้ ท่านว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์โลกเป็นอยู่ด้วยอาหาร อันนี้เป็นความจำเป็นที่โลกผู้มีเหตุผลอรรถธรรมยอมรับกัน ที่นำมาบำรุงบำเรอจนเลยขอบเขตเหตุผลนี้ไป จนกลายเป้นความฟุ้งเฟ้อเห่อทะยาน แล้วกลับมาสังหารตนให้เสียคนไปวันละเล็กละน้อย จนเสียไปจริงๆ หาที่เยียวยารักษาไม่ได้นี้มีจำนวนมาก เพราะความหลง ความเพลินด้วยอำนาจของกิเลสมันฉุดมันลากไป มันเสกสรรปั้นยอให้เรารัก ให้เราสงวน จนลืมอรรถลืมธรรม ลืมสติปัญญาที่จะนำมาพิจารณาไตร่ตรองตามหลักความจริงที่มีอยู่ ให้อยู่ในความพอดี ไม่เสียผู้เสียคนไปเพราะการกินการใช้ไม่รู้จักประมาณตามสังหารทำลาย
เพราะฉะนั้น พอจิตมีความสงบคนเราย่อมมีทางยับยั้ง เพราะจิตมีความสงบย่อมอิ่มตัวในขั้นนี้ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ไม่ส่ายแส่เร่ร่อนไปที่นั่นที่นี่ แล้วบังคับให้ทำงานคือใช้ปัญญาพินิจพิจารณาแทงทะลุลงก้อนธาตุก้อนขันธ์ ก้อน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ที่เป็นธรรมของจริงนี้แล แต่กิเลสมันเสกสรรปั้นยอว่าเป็นความสุขความเจริญเป็น อตฺตา เป็นเราเป็นของเราของเขา คำว่า อนิจฺจํ ที่ธรรมของจริงท่านแสดงไว้ มันบอกว่า นิจฺจํ เป็นของเที่ยงไปเสียเหมือนกับเราจะไม่ตาย ป่าช้าไม่มี กิเลสมันเสกไปอย่างนั้นเสีย ทุกฺขํ ร่างกายคือคลังแห่งทุกข์ เราแบกกองทุกข์แทบล้มแทบตายเรื่อยมา มันก็หาว่าเป็นสุขไปเสีย กิเลสมันแทรกเข้ามาอย่างนี้แหละ กิเลสแทรกธรรมแทรกอย่างนี้ ของปลอมแทรกของจริงแทรกอย่างนี้แล อนตฺตา หาตัวตนที่ไหนมี เมื่อพิจารณาแยกส่วนแบ่งส่วนออกไปแล้ว มันมีแต่ธาตุสี่ดิน น้ำ ลม ไฟ กระจายลงไปเป็นธาตุเดิมของเขา เอาตัวเอาตน เอาเราเอาเขามาจากที่ไหน ถ้าไม่ใช่เรื่องความปั้นยอของกิเลสหลอกเราต่างหาก ปัญญาจึงสอดแทรกลงไป พิจารณาลงไป
เมื่อปัญญาพิจารณาสอดแทรกลงไป คลี่คลายให้เห็นตามความจริงทั้งสิ่งที่ปลอมทั้งสิ่งที่จริง จนเข้าใจในความจริงทั้งหลายแล้ว จิตย่อมปล่อยวางสิ่งที่ปลอม ยึดมั่นในความจริงเพื่อถากถางทางเดินของตนให้ราบรื่นชื่นใจไปโดยลำดับไม่อับจน นี่ท่านเรียกว่า วิปัสสนา พิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์สกลกาย ทั้งของเขาของเราตลอดสัตว์ทั่วโลกดินแดนที่เต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จิตแทงทะลุเข้าไปในส่วนร่างกาย เห็นตามความจริงของมัน แทงไปที่ไหนทะลุไปที่นั่น ท่านจึงเรียกว่า โลกวิทู รู้แจ้งเห็นจริงทั้งโลกภายใน คือขันธ์ภายในร่างกายและจิตใจเรา และแทงออกไปขันธ์นอก คือรูปสัตว์บุคคลภายนอก ไม่ว่าหญิงว่าชาย ดูทะลุปรุโปร่งไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เพราะอำนาจของสติปัญญาอันคมกล้า
จิตก็ยิ่งเบิกกว้างออกไป ขยายวงของตัวออกไป ขยายความรู้ความฉลาดความสามารถออกไปเรื่อยๆ กิเลสที่เคยแบกเคยหามมาแต่ก่อนหนักเบามากน้อยขนาดไหน ก็ยังหาว่าเบาไป ก็เริ่มเห็นเป็นของหนักไปตามธรรมด้วยปัญญา พอใจสลัดออกและปล่อยไปเรื่อยๆ
จนสติปัญญามีความสามารถฉลาดรู้รอบธาตุรอบขันธ์ ขันธ์มีอะไร รูปขันธ์ได้แก่ร่างกายของเราทุกส่วนทั้งภายนอกภายใน เวทนาขันธ์ คือ ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญาแทงทะลุเข้าไป เอาอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ปราบเข้าไป ชะล้างเข้าไป ตัวจอมปลอมทั้งหลายก็สลายตัวออกไปๆ
สัญญา ความจำได้หมายรู้ การเรียนมามากน้อยนั้นเป็นความจำ พอจำแล้วก็หายไปๆ เหมือนไม่มี ต้องการสิ่งนั้น ต้องการอันใดก็คิดขึ้นมา ปรุงขึ้นมา วาดเป็นความจำขึ้นมาในขณะนั้นแล้วดับไปๆ
สังขารก็คิดปรุงอย่างนั้นแหละ คิดแล้วปรุงแล้วก็ดับไปๆ ทำนองเดียวกัน
วิญญาณ ความรับทราบ เวลาสิ่งมาสัมผัสจากรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสเข้ามากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็รู้ในระยะที่สิ่งนั้นสัมผัส พอสิ่งสัมผัสดับไปวิญญาณความรับทราบนี้ก็ดับไป เอาสาระแก่นสารจากสิ่งนี้ได้อย่างไร
ปัญญาพิจารณาทบทวนอยู่ตลอดเวลาจนสามารถรู้แจ้งแทงทะลุในขันธ์นี้ รูปขันธ์ก็รู้แจ้งแทงตลอด ปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ เวทนา ความสุข ความทุกข์ในส่วนร่างกาย ก็รู้เท่าทันว่าเป็นความจริงแต่ละอย่างเท่านั้น ไม่ได้เป็นอะไรยิ่งกว่านั้นไป สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็แบบเดียวกัน สักแต่ว่าอาการๆ อันหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาแล้วดับไปตามหลักธรรมชาติของเขา จิตผู้ไม่ดับก็ทรงความรู้ไว้เช่นนั้น ปัญญาก็สอดส่องมองทะลุสิ่งเหล่านี้ เมื่อเข้าใจไปถึงไหน ความยึดมั่นถือมั่นก็ถอนตัวเข้ามาๆ กายทั้งกาย จิตอิ่มตัวแล้ว จิตไม่ไปยึดแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตก็ถอนเพราะความอิ่มตัวกับสิ่งเหล่านี้แล้ว
แต่ก่อนไม่อิ่มตัวหวังพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เลยกลับทับลงไป แทนที่จะได้พึ่งพิงเขาเลยกลายเป็นเขาบีบคั้นเอา เราก็ไม่รู้ แต่พอปัญญาสอดส่องลงไป ย่อมรู้ชัดว่าเหล่านี้เป็นโทษจริงๆ ความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดนี้ที่เป็นหนามยอกหัวใจเราเองก็รู้ชัด ถอดหัวหนามที่ยอกหัวใจออกด้วยวิปัสสนาญาณ คือปัญญาอันละเอียด เมื่อปัญญารู้แจ้งเห็นจริงแล้วถอนออกหมด อุปาทานในขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถอดออกได้หมดไม่มีเหลือ นี่แลจิตอิ่มตัว ท่านเรียกว่าจิตมีที่พึ่งมีที่อาศัยเข้าไปเป็นขั้นเป็นตอน
แต่ก่อนอาศัยสิ่งนั้น ยึดสิ่งนั้น ทุกข์ในสิ่งนั้น ทุกข์ในสิ่งนี้ ทุกข์เพราะสิ่งนั้น ทุกข์เพราะสิ่งนี้ เพราะความไม่รอบคอบของใจนั่นแล เมื่อใจมีความรอบคอบแล้วย่อมสลัดปัดทิ้งได้ตามกำลังของตน จิตเบาขึ้นๆ โดยลำดับ กิเลสที่เคยปักเสียบไว้ทุกแห่งทุกหน ทุกแง่ทุกมุมภายในร่างกายหรือในขันธ์ห้าเต็มไปหมด ก็ถูกถอดถูกถอนเข้ามาเป็นลำดับลำดา จนไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ภายในขันธ์ ขึ้นชื่อว่ากิเลสอุปาทานไม่มีเหลือเลย ทีนี้มันไปอยู่ที่ไหน
คำว่าปัญญา ฟังให้ดี นี่ปัญญาทางภาคปฏิบัติ ทางภาคพิสูจน์ใจ พิสูจน์การเกิดแก่เจ็บตายของใจที่เต็มไปด้วยเชื้อ และของธาตุของขันธ์ที่ท่องเที่ยวเกี่ยวโยงกันเรื่อยมา ใครเป็นผู้พาให้เป็น ก็หมายถึงใจดวงนี้ ใจดวงนี้ก็คือเราคนนี้แลเป็นผู้เป็น ต้องพิสูจน์เข้ามาทางภาคปฏิบัติ เมื่อไล่ตะล่อมเข้ามา ถอดเข้ามา ถอนเข้ามาด้วยความรู้แจ้งเห็นจริง กิเลสทุกประเภทสลายตัวลงไปๆ สุดท้ายก็ยังเหลืออยู่เฉพาะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา
อวิชชา อยู่ที่ไหนที่นี่ กิ่งก้านสาขาอันเป็นทางเดินของกิเลสประเภทเป็นเชื้ออยู่ภายในจิต เดินออกมาทางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาแทรกสิงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ถือสิ่งเหล่านี้เป็นที่อยู่ที่อาศัย เป็นที่หลับที่นอนของกิเลสก็ได้ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นทางเดินเที่ยวกว้านอาหารเข้ามาสู่กิเลส แต่กว้านเอายาพิษมาเผาใจเรา กิเลสมันรื่นเริง แต่หัวใจเรามันเหี่ยวแห้ง จะเป็นแหล่จะตายแหล่อยู่นั้นแล เราก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์และไม่ทราบจะหาทางออกทางไหน
เมื่อสติปัญญามีความสามารถฉลาดแหลมคมทันมันแล้ว รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็รู้เท่าทันหมด ขันธ์ทั้งห้าก็รู้เท่าทัน ตัดสะพานซึ่งเป็นสถานที่อยู่ที่ท่องเที่ยวของกิเลสเข้ามาเป็นลำดับ กิเลสหาทางไปไม่ได้ ก็วิ่งเข้าสู่อุโมงค์ได้แก่จิต เมื่อเข้าไปสู่จุดนั้นแล้ว ก็มีจุดเดียวที่จิตยึดที่จิตหลง
กิเลสมีอยู่ที่ไหนต้องหลงที่นั่น ต้องยึดที่นั่น เมื่อไม่มีที่ยึดก็ยึดจิต ไม่มีที่หลงก็หลงจิต คำว่าหลงจิตนี้หมายความว่ากิเลสอยู่ที่นั่น มันจึงหลงที่นั่น กิเลสอยู่ที่นั่น มันจึงยึดที่นั่น กิเลสอยู่ที่นั่น มันจึงเป็นทุกข์ที่นั่น แม้ไม่ทุกข์มาก แต่ก็ทุกข์ตามภูมิของกิเลส ตามภูมิของจิตอยู่นั่นแล
ขึ้นชื่อว่ากิเลสอยู่ที่ไหนจะไม่ทุกข์ไม่มี เป็นแต่เพียงว่าหยาบละเอียดหรือหนักเบาต่างกันเท่านั้น ในขั้นนี้เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่าทุกข์ไม่มี เพราะกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ยังมีอยู่ในนั้น กิเลสซึ่งเป็นตัวสมมุติมีอยู่ในจุดใด อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็มีอยู่ในจุดนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร ทุกข์ต้องมี
แต่ปัญญาไม่มีสิ้นสุดของนักค้นคว้า ต้องตีตะล่อมเข้าไปๆ จนถึงเหตุถึงผลถึงต้นถึงปลายกันอย่างแท้จริงจึงจะปล่อยวางกันได้ ถ้ากิเลสไม่ตายสติปัญญาขั้นนี้จะถอยหลังไม่ได้ ต้องฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป จนกระทั่ง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา แตกกระจายไปจากใจหมดไม่มีสิ่งใดเหลือเลย นั้นแลคือผู้พอตัวเต็มที่แล้ว จิตดวงนี้บริสุทธิ์เต็มที่แล้ว จิตดวงนี้เป็นตัวของตัวเต็มที่แล้ว ไม่มียึดอะไรอีกแล้ว จากนั้นก็ไม่ต้องไปเที่ยวเกิดโน้นเกิดนี้ อาศัยนั้นอาศัยนี้เหมือนอย่างแต่ก่อนที่พึ่งตนเองยังไม่ได้ เมื่อพึ่งตนเองได้เต็มที่แล้ว ย่อมปล่อยวางสมมุติโดยประการทั้งปวง
นี่แหละการพิสูจน์จิตใจ พระพุทธเจ้าท่านพิสูจน์ทางภาคปฏิบัติ พระสาวกทั้งหลายท่านพิสูจน์ทางภาคปฏิบัติ รู้แจ้งเห็นจริงทั้งโทษทั้งคุณอย่างถึงใจด้วยภาคปฏิบัติ ธรรมะเกิดขึ้นมาเพราะการพิสูจน์นี้ ที่เราได้กราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้ว่า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ นั้น เกิดมาจากการพิสูจน์ของพระพุทธเจ้า รู้แจ้งเห็นจริงเต็มเม็ดเต็มหน่วย ธรรมก็แสดงขึ้นในพระทัยเต็มดวง ใจก็เป็นพุทธะทั้งดวง นั่นแลพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้น พระสงฆ์สาวกอยู่ตรงนั้นไม่อยู่ที่อื่น
เพราะฉะนั้นคำว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี้ จึงไม่มีคำว่ากาลสถานที่ เป็นจุดที่เหมาะสมกับใจของพุทธบริษัทผู้ระลึกถึงท่านอยู่ตลอดเวลา จะสูญไปที่ไหนเล่า เมื่อได้เห็นหลักธรรมชาติอันตายตัวอย่างแท้จริงนี้ประจักษ์ใจแล้ว สงสัยพระพุทธเจ้าไปหาอะไรกัน พระพุทธเจ้าปรินิพพานกี่พระองค์ คำว่าปรินิพพานก็หมายถึงตาย ธาตุขันธ์สลายตัวลงไปสู่ธาตุเดิม คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพียงเท่านั้น ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นมีกาลสถานที่ที่ไหน ถ้าเราอยากจะทราบเรื่องนี้ประจักษ์ใจ เราก็พิสูจน์ใจเราซึ่งเป็นความรู้เหมือนกัน ต่างกันเพียงใจเรายังมีสิ่งแทรกซึมอยู่เท่านั้น ให้รู้ดังท่านด้วยการปฏิบัติ จนเป็นใจที่บริสุทธิ์ขึ้นมาเต็มดวงแล้ว จะถามหาพระพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์อะไร
พุทธะนั้นฉันใด พุทธะนี้ก็ฉันนั้น ธรรมะนั้นฉันใด ธรรมะที่เต็มเปี่ยมอยู่ในดวงใจอันเป็นภาชนะที่เหมาะสมอย่างยิ่งนี้ก็ฉันนั้น สังฆะนั้นฉันใด สังฆะอันนี้ก็ฉันนั้น พุทธะ ธรรมะ สังฆะ รวมลงเป็นธรรมอันเอก เป็นธรรมแท่งเดียว คือจิตดวงเดียวนี้แล้ว ไม่สงสัยพระพุทธเจ้า อยู่ที่ไหนก็กราบพระพุทธเจ้าได้สนิทติดใจไม่สงสัย พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปกี่ปีกี่เดือนนั้น เป็นเพียงกาลสถานที่ตามสมมุตินิยมเท่านั้น หลักความจริงแท้ๆ คือธรรมชาติที่กล่าวนี้แลคือพุทธะแท้
จงพยายามทำพุทธะของเราที่ล้มลุกคลุกคลานนี้ให้ตั้งตัวได้ แม้ตั้งไข่ได้ก็ยังดี เราเกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา จะไม่มีอำนาจยิ่งกว่าสัตว์ได้อย่างไร นี่เราสูงกว่าเขาแล้ว อัตภาพร่างกายมนุษย์นี้ถือว่าเยี่ยมกว่าสัตว์ ความรู้ความฉลาดแหลมคมของมนุษย์ก็เยี่ยมกว่าสัตว์ ความประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ที่มีศีลมีธรรมก็เยี่ยมกว่าสัตว์ เราเยี่ยมกว่าเขาทุกๆ ด้านแล้ว จงพยายามทำตัวของเราให้เยี่ยมขึ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งเราหาที่ตำหนิเราไม่ได้แล้วไม่มีใครจะมาตำหนิ แม้ตำหนิก็เป็นเพียงลมปากซึ่งหาประมาณไม่ได้
เพราะเหตุว่า ปากคนไม่มีฝาปิดเหมือนฝาปิดปากโอ่งน้ำ เขาอยากว่าอะไร เขาก็ว่าไป หูเราก็มี เราก็ไม่ได้มีฝาปิด หูก็ฟังเขาไป เขาว่าอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เขาสร้างเหตุดีชั่วขึ้นที่ใจที่ปากของเขา ถ้าเราไม่ไปยึดเอามาเป็นอารมณ์เสีย เราก็ไม่สร้างเหตุดีชั่วขึ้นที่ใจของเรา ใจเราก็ไม่มีเรื่อง เราก็อยู่สบาย นี่แหละการเรียนรู้โลกธรรมรู้อย่างนี้ จะไปหาดับโลกธรรม ดับได้ที่ไหน ถ้าไม่ดับที่ดวงใจซึ่งเป็นตัวเหตุแห่งโลกธรรมนี้ไม่มีที่ดับ ดับที่นี่ รู้เท่าที่นี่ แล้วอยู่สบาย นี้การพิสูจน์จิตพิสูจน์อย่างนี้จะหายสงสัย
จิตเป็นนักท่องเที่ยว ดังที่เขียนไว้แล้วในประวัติของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นเสียเองเป็นผู้พูด ท่านพูดออกมาจากภาคปฏิบัติ จากการรู้ยิ่งเห็นจริง จากการพิสูจน์ของท่านโดยแท้จริงแล้วจะสงสัยที่ไหน เราอยากจะทราบว่าจิตเป็นนักท่องเที่ยวก็ให้พิสูจน์ลงตรงนี้ เมื่อพิสูจน์ลงตรงนี้ดังที่กล่าวมา จนถึงเหตุถึงผลถึงต้นถึงปลายอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายคุณฝ่ายโทษอย่างถึงใจแล้วจะหาที่สงสัยไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็สบาย แม้ที่สุดการตาย จะตายเวลาไหนไม่สำคัญ ตายได้ทั้งนั้น ไม่คัดค้านต้านทานหลักธรรมชาติ คติธรรมดา ที่เคยมีเคยเป็นมาดั้งเดิม
ความเป็นอยู่กับการตายไปของผู้สิ้นกิเลสแล้วมีน้ำหนักเท่ากัน ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่หวังเอาอะไรจากธาตุจากขันธ์อันนี้ เพราะจิตพอตัวแล้ว ไม่หวังพึ่งขันธ์ ตายไปก็จะฉิบหายป่นปี้ที่ไหน ความพอตัวอยู่กับจิตนั้นแล้ว ไม่ได้อยู่กับกาลสถานที่ ไม่หวั่นไหวใดๆ ทั้งสิ้นเพราะอยู่กับความพอตัวนั้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้น น้ำหนักแห่งการมีชีวิตอยู่กับการตายไปของพระขีณาสพเจ้าจึงไม่นอกเหนือกว่ากัน มีเสมอกัน มีน้ำหนักเท่ากัน นี่หมายถึงเรื่องของท่านโดยเฉพาะ ถ้าจะแยกไปถึงประโยชน์ประชาชน การเป็นอยู่ของท่านก็มีน้ำหนักมากกว่าความตายไปซึ่งโลกยังอาศัย ยังยึดสมมุติอยู่ เมื่อพลัดพรากจากไปก็มีความเสียดายเสียอกเสียใจ ขาดที่พึ่งพาอาศัย ขาดการสดับตรับฟังผู้ให้โอวาทการแนะนำสั่งสอน เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการแนะนำสั่งสอน การได้เห็นได้ยินก็มีแก่ประชาชนทั้งหลายเป็นจำนวนมากหาประมาณไม่ได้ เพราะฉะนั้นการมีชีวิตอยู่จึงดีกว่าตายไปเสีย นี่หมายถึงประโยชน์ส่วนรวมที่โลกจะพึงได้รับจากท่านในเวลาที่มีชีวิตอยู่
ถ้าพูดถึงประโยชน์ของท่านแล้ว การเป็นอยู่และการตายไปนั้นมีน้ำหนักเท่าๆ กัน เพราะท่านพอตัวอยู่แล้ว มีชีวิตอยู่ก็พอภายในใจ ตายไปแล้วจะบกพร่องได้ยังไง อันไหนบกพร่องอันนั้นก็เป็นไปตามความบกพร่อง เพราะเป็นสมมุติ อันไหนสมบูรณ์เต็มที่แล้วโดยทางวิมุตติ ก็อยู่ตามหลักธรรมชาติแห่งความสมบูรณ์ของตนไม่ขัดแย้งกัน เรื่องก็มีเท่านั้น
นี่เรามากราบไหว้ครูบาอาจารย์ มาเคารพบูชาท่าน ก็คือเคารพเรา บูชาเรา บำรุงจิตใจของเรานั่นแลเป็นหลักสำคัญ แต่อาศัยท่านเป็นต้นเหตุ กราบไหว้บูชาท่านด้วยความเคารพนบน้อมมากน้อยเพียงใด ก็เป็นการทำประโยชน์แก่ตนได้มากน้อยเพียงนั้น ผู้เชื่อกรรมเชื่อที่การกระทำของตน กระทำดี กระทำชั่วในที่แจ้งที่ลับไม่สำคัญ สำคัญที่การกระทำดีและชั่ว ใครเป็นคนทำ ผลดี-ชั่วมีอยู่กับคนนั้น เพราะคนนั้นเป็นผู้สร้างเหตุดี-ชั่วขึ้นมา
ธรรมคือความเสมอภาค ไม่ลำเอียง มีความเที่ยงธรรมอยู่เสมอ ไม่มีอะไรทำลายได้ แม้ผู้ไม่เชื่อธรรมไม่เชื่อกรรม ฝืนทำชั่วลงไป ผลชั่วก็ไม่เข้ากับคนนั้น แต่เข้ากับธรรมเพราะเป็นความจริงความถูก ผู้ทำชั่วที่ไม่เชื่อธรรมไม่เชื่อกรรมว่าจะให้ผล ก็ย่อมได้รับผลเป็นทุกข์อยู่โดยดี การกระทำดี-ชั่วทางกายวาจาใจอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามทวารนั้นแล คือการคุ้ยเขี่ย การผลิตผลสุข-ทุกข์เพื่อตัวเองโดยตรง ถ้าได้ลงมือทำแล้วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งดีและชั่ว ก็เท่ากับได้ผลิตผลสุข-ทุกข์ไปพร้อมๆ กันแล้ว ไม่จำต้องรอให้ผู้หนึ่งผู้ใดหยิบยื่นให้ มันไม่ทันกาลเวลาเหมือนกรรมหยิบยื่นวิบากดี-ชั่วให้เอง
ศาสนธรรมสอนไว้ด้วยความถูกต้องแม่นยำ สมกับคำว่า มัชฌิมาธรรม และ สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว ผู้ฝืนธรรมจึงเท่ากับฝืนตัวเอง ทำลายตัวเอง คนอื่นไม่ชั่วแต่คนนั้นก็ชั่ว คนอื่นไม่ทุกข์คนนั้นก็ทุกข์ แต่ผู้ไม่ฝืนธรรม ดำเนินตามธรรม จึงเท่ากับบำรุงส่งเสริมตัวเอง รักษาตัวเอง คนอื่นไม่ดี แต่คนนั้นก็ดี คนอื่นไม่สุข คนนั้นก็สุข ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวเองจะฝืนตน ทำลายตนด้วยการทำชั่ว หรือจะดำเนินตนไปตามศีลธรรม ซึ่งเท่ากับบำรุงส่งเสริมตนให้ไปในทางที่ถูกที่ดี ย่อมได้รับความสุขความสมหวังเพราะกรรมดีและวิบากอันดีช่วยสนับสนุน
ใจเป็นสิ่งสำคัญในตัวเรา ถ้าใจได้รับการอบรมในทางที่ถูก เชื่อในทางที่ถูกที่ดี ใจย่อมเป็นกำลังงานสำคัญ อะไรๆ ย่อมสำเร็จได้ดังใจหมาย ไม่พ้นกำลังใจไปได้ ดังท่านทั้งหลายมาบำเพ็ญกุศลในงานนี้ก็มาด้วยกำลังใจ กำลังศรัทธาที่ออกจากใจ เรามาด้วยกำลังใจของเรา มาด้วยความพอใจของเรา เมื่อความพอใจมีแล้ว กำลังใจก็มี ถ้าความพอใจไม่มีเสียอย่างเดียว กำลังใจก็ไม่มี กำลังทุกสิ่งทุกอย่างตลอดสมบัติเงินทองอะไรไม่มีทั้งนั้น เพราะไม่มีไปจากใจซึ่งเป็นหลักใหญ่ ถ้าใจมีกำลังเสียอย่างเดียวแม้ยากแสนยากก็พอตะเกียกตะกายได้คนเรา ต้องบึกบึนตามสภาพกำลังวังชาของตนจนได้
ฉะนั้น จงพากันบำเพ็ญคุณงามความดี อย่าได้ละอย่าได้ปล่อยวาง โอวาทนี้เป็นโอวาทของจอมปราชญ์ พระพุทธเจ้าเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้วสั่งสอนธรรมะไว้แก่เรา ไม่ใช่คนมีกิเลสสั่งสอน เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงเป็นธรรมะที่บริสุทธิ์ เราเชื่อคนฉลาด เชื่อคนสิ้นกิเลสแล้วนั่นแล ดีกว่าเชื่อกิเลสเป็นไหนๆ ความเชื่อกิเลสมากน้อยเพียงไร ก็ยิ่งจมลงไปมากเพียงนั้น เราเคยเชื่อมันมานานแล้ว คราวนี้ให้พยายามเชื่อธรรม ซึ่งเป็นคู่ปราบกับกิเลสนั้น ให้กิเลสซึ่งเป็นฝ่ายต่ำค่อยเบาบางลงไป ความสุขความเจริญที่เกิดขึ้นจากการเชื่อธรรม การประพฤติธรรม จะได้มีขึ้นแก่พวกเราทั้งหลาย หลักใหญ่อยู่ที่ตรงนี้ จงพากันจำให้ดี ระวังอย่าให้กิเลสมาลบทิ้งไปเสีย เหลือแต่ความหลงลืมธรรม จำได้แต่เรื่องของกิเลสเต็มหัวใจ นั่นจะแบกทุกข์ไม่วาย จะว่าไม่บอก
ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เป็นตลาดแห่งมรรคผลนิพพานมาตลอด ไม่มีคำว่าล้าสมัย ก็คือศาสนธรรมที่ทรงมรรคทรงผลทรงต้นทรงลำเรื่อยมานั่นแล พระพุทธเจ้าแม้จะปรินิพพานไปกี่ปีกี่เดือนแล้ว ทรงสอนว่าสิ่งนั้นผิด ต้องผิดอยู่ตลอดมาและตลอดไป สอนว่าสิ่งนั้นถูก ให้พากันทำ ก็ถูกอยู่ตลอดมาและตลอดไป ไม่มีคำว่าล้าสมัย นอกจากกิเลสมันหลอกเราให้ล้าสมัยเสียเท่านั้นเอง ให้ระวังตรงนี้นะ กิเลสมันแหลมคมมาก ไม่ทันมันง่ายๆแหละ พอขึ้นเวทียังไม่ได้ยกครูเลย มันใส่ตูมตกเวทีไปแล้ว พอขึ้นมายังไม่ถึงเวที มันเตะตกบันไดลงไปอีกแล้ว นั่นมันเร็วขนาดไหนกิเลสน่ะ ไม่ยังงั้นมันจะเป็นจอมโลกครองหัวใจสัตว์ได้ยังไง
โลกธาตุทั้งสามนี้ กิเลสเป็นจอมกษัตริย์วัฏจักร พาให้สัตว์เกิด พาให้สัตว์ตาย ใครสอนก็สู้กิเลสสอนไม่ได้ มันกระซิบทีเดียวเท่านั้นยอมหมอบราบแล้ว นั่นจะไม่เรียกว่ากิเลสแหลมคมได้ยังไง แล้วอะไรจะปราบกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือได้ ถ้าไม่ใช่ธรรม ธรรมยังเหนือกิเลสไปอีก แต่เมื่อกิเลสมันครอบหัวใจเราอยู่ เราก็ไม่อาจเชื่อธรรมได้ เลยเห็นธรรมเป็นข้าศึก เห็นวัดวาอาวาสเป็นข้าศึก เห็นคุณงามความดีทั้งหลายเป็นข้าศึก ผู้ไปวัดไปวาจำศีลฟังธรรม ทำบุญให้ทาน ถือว่าเป็นคนครึคนล้าสมัย มองเห็นคนหนุ่มสาวไปวัดไปวา หือ นี่เป็นคนเฒ่าคนแก่แล้วหรือถึงไปวัดไปวา ไปอย่างนั้นเสีย
นี่กิเลสมันเที่ยวเยาะเที่ยวเย้ย เที่ยวถากเที่ยวถางไปอย่างนั้น ทีนี้เราที่เคยเป็นลูกศิษย์ของกิเลสอยู่แล้วก็เชื่ออย่างง่ายๆ เวลาจะไปวัดก็เลยอายเขา ไม่อยากไป เขามันสูงส่งขนาดไหนจึงต้องอาย คนประเภทนั้นเป็นคนประเภทใด สูงขนาดไหน มีสง่าราศี มีอำนาจวาสนาบุญญาภิสมภารมาจากไหนเราถึงได้เชื่อ เราถึงได้อายเขา ทำไมไม่อายพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมปราชญ์ศาสดาของโลกนี้บ้าง ถ้าเราอายพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะได้สนุกสนานทำความพากความเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้ถึงที่ถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์ไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่ากิเลสกล่อมให้จมอยู่นี้เป็นไหนๆ เอามาเทียบกัน ถ้าจะเป็นนักปราชญ์ตามรอยพระพุทธเจ้า ถ้าจะเป็นนักเชื่อง่ายอายกิเลส ก็ให้เคารพวันทยหัตถ์กิเลสตัวไม่หันหน้าเข้าวัดฟังธรรมจำศีล ผลก็จะปรากฏดังที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่เต็มโลกนั่นแล มันน่าอัศจรรย์ที่ไหน คิดดูให้ดี หัวใจเรามีเหมือนกัน
เราเป็นลูกศิษย์ของตถาคต นอกจากนั้นยังเป็นลูกศิษย์พระกรรมฐานอีกด้วย ครูบาอาจารย์ของเราแต่ละองค์ๆ ที่จะได้ธรรมมาสั่งสอนโลกนี้ ท่านแทบล้มแทบตาย สลบไสลไปก็มีบางองค์ นั่นเป็นของเล่นเมื่อไร ได้ธรรมของจริงมาแล้วยังเห็นว่าเป็นตะกั่ว เป็นก้อนกรวดไปได้เหรอ และกลับเห็นกิเลสเป็นทองคำธรรมชาติไปได้เหรอ ถ้าอย่างนั้นก็แพ้กิเลสไปวันยังค่ำ หาวันปลดเปลื้องไม่ได้ ถ้ายังไม่เห็นโทษมันเมื่อไร ในขณะเดียวกันยังเห็นคุณค่าของมันและยอมมันตลอดไป ความยอมมันตลอดไปผลเป็นอย่างไร มีแต่ความทุกข์ความทรมานทางด้านจิตใจ เราจึงต้องใช้ความพินิจพิจารณาปลดเปลื้องด้วยวิริยธรรม สติธรรม ปัญญาธรรมเสมอไปไม่ท้อถอยปล่อยวาง
วันนี้ได้อธิบายเรื่องจิตสงบ จิตพึ่งตัวเองยังไม่ได้ จึงต้องอาศัยเกาะนั้นเกาะนี้ และเมื่อพึ่งตัวเองได้โดยลำดับ ย่อมปล่อยวางสิ่งที่เคยเกาะนั้นโดยลำดับ จนกระทั่งพึ่งตัวเองได้อย่างเต็มที่แล้วก็ปล่อยวางโดยประการทั้งปวง ขึ้นชื่อว่าสมมุติไม่มีอยู่ภายในใจเลย เป็นจิตอันเอก เป็นธรรมอันเอกของผู้นั้น เป็นสมบัติอันล้นค่า เป็นสมบัติชิ้นเอกของผู้นั้น ผู้นั้นคือใคร ก็คือเราผู้รักษาศีลภาวนา ทำบุญให้ทานอยู่นี้แลจะเป็นของใคร ธรรมเป็นสมบัติกลาง บุญเป็นสมบัติกลาง ใครหาได้ทั้งนั้น
วันนี้เทศน์ให้ฟังเป็นส่วนรวมทั้งฝ่ายพระและประชาชน ซึ่งมีหัวใจด้วยกัน ไม่ใช่เพศเป็นแบบเดียวกัน ให้ได้ฟังโดยทั่วถึงกันในการประพฤติปฏิบัติ การเทศน์มานี้บางท่านก็อาจจะเข้าใจว่า เทศน์ธรรมะสูงเกินไปไม่สามารถปฏิบัติได้ นี่ก็พึงทราบว่ากิเลสกระซิบเข้าไปแล้ว บทเวลาเป็นวิสัยของกิเลสทำไมถึงไม่ว่าสูงเกินไป ไม่ว่าต่ำเกินไป เวลาจะเข้าวัดเข้าวาฟังธรรมจำศีลนั่งสมาธิภาวนา ก็ตำหนิตนว่าอำนาจวาสนาน้อย ทำไปไม่ได้แหละ แน่ะ บทเวลานอนจมอยู่กับกิเลสนั้นมีวาสนามากพอแล้วเหรอ ก็ต้องถามตนบ้างอย่างนั้นมันถึงทันกับกิเลส
ถ้าไม่มีอะไรต่อยกันบ้าง สวนหมัดกันบ้าง ก็ไม่เรียกว่านักมวย ปล่อยให้เขาตีเอาๆ ตูมเอาๆ ตกเวทีลงไปเรื่อยๆ มันเป็นท่าอะไรอย่างนั้น มันต้องมีท่าต่อสู้กันบ้าง นี่เราเป็นนักต่อสู้กับความชั่วเพื่อความดี ต่อสู้กับฝ่ายต่ำเพื่อธรรมอันสูง เราต้องพินิจพิจารณา
วันหนึ่งคืนหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ล่วงไปนานเท่าไร วันหนึ่งล่วงไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง ทั้งวันทั้งคืนหนึ่งล่วงไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง แล้วปีหนึ่งล่วงไปเท่าไร ๓๖๕ วัน ชีวิตจิตใจของเราล่วงไปด้วยหรือไม่ เราคิดแล้วยัง คนมันหนุ่มสาวย้อนหลังได้ไหม มันแก่ไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จม ธาตุขันธ์จมดิน จมน้ำ จมลม จมไฟ ไปตามเดิม จิตใจเราเป็นยังไง ได้หลักได้ที่พึ่งแล้วยัง อาศัยธาตุขันธ์นี้มานานแล้ว พอจะสั่งสมความดีเป็นกำลังของตัวพอเป็นที่พึ่งของตัวได้บ้าง ความดีเหล่านั้นได้แล้วหรือยัง
ต้องคิดนักปฏิบัติ นักธรรมะต้องคิด ถ้ายังตรงไหน เอ้า บกพร่องตรงไหน ซ่อมขึ้นมาๆ อย่าไปคำนึงว่ากิเลสจะให้อำนาจวาสนา นอกจากความดีของเราที่ทำเท่านั้นที่จะเพิ่มอำนาจวาสนาให้แก่เรา ให้คิดตรงนี้ จึงจะทันกับกิเลส มันจะไม่ได้หัวเราะเยาะ นี่แหละการแสดงธรรมก็ควรแก่กาลเวลา ขอให้ทุกท่านได้นำไปประพฤติปฏิบัติ
เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นแนวหน้าก็คือนักบวช นักบวชนักปฏิบัติเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร บวชมาเพื่อความเห็นภัย บวชมาเพื่อการชำระสะสางกิเลส ในขณะเดียวกันอย่าหลงกลมายาของกิเลสกระซิบให้บวชมาสั่งสมกิเลสนะ อันนี้เป็นสำคัญ ทีแรกมาสั่งสมธรรม ครั้นต่อมาเลยกลายเป็นสั่งสมกิเลสไป แล้วก็เป็นข้าศึกต่อตนและหูตาประชาชน เป็นข้าศึกไปหมด ตลอดถึงจิตใจชาวพุทธทั้งหลาย กลายเป็นข้าศึกเพราะความสั่งสมกิเลสของพระ อันนี้ให้ระวังให้ดี พยายามทำตัวให้เป็นผู้ชำระสะสางกิเลส อยู่ด้วยความพากเพียร
คำว่าพระก็แปลว่าประเสริฐ เพศนี้เป็นเพศที่ประเสริฐอยู่แล้ว การประพฤติปฏิบัติที่จะให้กลมกลืนกับเพศนี้ก็คือ การประพฤติให้วิเศษด้วยความพากเพียรชำระกิเลสนั่นแล นั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม ชำระกิเลสอยู่ตลอดเวลา นั้นถือเป็นงานอันประเสริฐของเรา สมบัติอันล้นค่านี้ไม่มีใครจะได้และอยู่ใกล้มือยิ่งกว่าผู้ทำงานอันวิเศษนี้เลย ผลก็คือผลวิเศษเป็นเครื่องสนองตอบอย่างถึงใจ
การแสดงธรรมเท่าที่ได้แสดงมานี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จงมาอภิบาลรักษาท่านทั้งหลายให้มีความสุขกายสบายใจ และปฏิบัติหน้าที่การงานของตนไปด้วยความราบรื่นดีงามโดยทั่วกัน
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ |