เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
ธรรมปกครองโลก
บัดนี้จะเริ่มแสดงความเป็นมาแห่งธรรมอัศจรรย์ซึ่งสะเทือนโลกมานาน แต่ศาสนธรรมที่เป็นของประเสริฐเลิศโลกซึ่งสะเทือนโลกมาเป็นเวลา ๒๕๐๐ กว่าปีนั้น ได้สะเทือนภายในจิตใจของเราบ้างเล็กน้อยเพียงไรหรือไม่ นี่เป็นปัญหาที่ควรคิดคำนึงอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐโดยหลักธรรมชาติ ด้วยการปฏิบัติโดยลำพังพระองค์เอง และรู้เห็นเองไม่มีใครอนุเคราะห์ช่วยเหลือ เป็นความสามารถของพระองค์เอง พระธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นเป็นธรรมที่บริสุทธิ์สุดส่วน ไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือนเลยในแหล่งแห่งไตรภพ นอกจากนั้นยังผลิตพระสงฆ์ให้เป็นพระสงฆ์ที่อัศจรรย์ สะเทือนโลกขึ้นในอันดับต่อมาอีก
พระเหล่านี้เริ่มแรกท่านออกมาจากปุถุชนคนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกในดวงใจเหมือนคนทั่วไปในโลก เมื่อได้ยินได้ฟังจนเกิดความเชื่อความเลื่อมใสและปฏิบัติตามพระโอวาท จึงกลายเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาเป็นขั้นๆ นับแต่พระโสดา สกิทา อนาคา ถึงขั้นอรหัตบุคคล ท่านเหล่านี้ล้วนแต่สำเร็จขึ้นด้วยธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงชะล้างเอง เพราะฉะนั้น ศาสนธรรมจึงเป็นธรรมของจริงสุดส่วน และเริ่มสะเทือนโลกแต่บัดนั้นมาจนถึงสมัยปัจจุบันคือพวกเราชาวพุทธ ที่ได้กราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจและปฏิบัติตามอยู่ทุกวันนี้
การปฏิบัติธรรมในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าซึ่งทรงขุดค้นธรรมอย่างเอาจริงเอาจังจนได้สำเร็จเป็นศาสดาเอกของโลกขึ้นมา ธรรมที่ทรงสั่งสอนสัตว์โลกก็ทรงสั่งสอนด้วยพระเมตตาสุดส่วน ไม่มีผู้ใดในโลกนี้จะมีพระเมตตากรุณามหาธิคุณยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนสัตว์โลกเต็มพระกำลังความสามารถทุกด้านทุกแง่ทุกมุม จนวาระสุดท้าย แม้ปรินิพพานไปแล้วก็ยังประทานพระโอวาทคือคำสั่งสอนไว้ ให้พวกเราทั้งหลายได้พอมองเห็นบุญเห็นบาป เห็นคุณเห็นโทษ ตามหลักศาสนธรรมนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
พระสงฆ์สาวกท่านก็เป็นผู้จริงจังด้วยการประพฤติปฏิบัติ กำจัดกิเลสทุกประเภทภายในใจ ด้วยความเชื่อพระโอวาทของพระพุทธเจ้า โดยเปลี่ยนจากความเชื่อตัวเองซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสที่ฝังจมอยู่อย่างลึกลับ เพราะตามธรรมดาของสัตว์ของบุคคลย่อมมีสิ่งที่พาให้เชื่ออยู่ภายในใจ ไม่เช่นนั้นก็ไม่เชื่อ ต้องมีสิ่งที่เหนือจิตใจประเภทหนึ่งอยู่ภายในนั้น คอยชักจูง คอยกระซิบกระซาบให้เชื่อให้พอใจในสิ่งกระซิบกระซาบนั้น
แต่สิ่งนั้นเป็นข้าศึกกับตัวเองและกับธรรมของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ให้ชื่อให้นามของสิ่งเหล่านั้นว่ากิเลส คือสิ่งมัวหมองและมืดมิดปิดหัวใจของสัตว์โลก ไม่ให้มองเห็นบุญเห็นบาป เห็นนรกสวรรค์ อันเป็นความจริง ซึ่งมีอยู่ดั้งเดิมมาแต่กาลไหนๆ ได้เลย เพราะอำนาจแห่งสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ตนและแก่ธรรมปิดกั้นกำบังเสียหมด จะเชื่อว่าบาปมี กิเลสมันไม่ยอมให้เชื่อเสีย เชื่อว่าบุญมี กิเลสก็ไม่ยอมให้เชื่อ กิเลสต้องทำการกีดขวางต่อธรรมเหล่านี้อยู่เสมอ เพราะกิเลสกับธรรมเป็นข้าศึกกันมาตั้งแต่กาลไหนๆ จะเชื่อบุญเชื่อบาป เชื่อนรกเชื่อสวรรค์ เชื่อนิพพานก็เชื่อไม่ได้ เพราะกิเลสไม่ให้เชื่อ กิเลสเคยมีอำนาจครองหัวใจของสัตว์โลกมาเป็นเวลานาน ถ้าปล่อยให้เชื่อธรรมเหล่านั้นกิเลสต้องขาดผลประโยชน์และอำนาจลงโดยลำดับ สัตว์โลกที่ถูกหลอกลวงให้จมทุกข์มานานก็จะพากันแหวกว่ายหนีที่คุมขังของกิเลสเสียหมด กิเลสจะอดตาย จึงต้องกีดกันต้านทานไว้เต็มกำลังของมันเรื่อยมา
ด้วยเหตุนี้จิตใจของเราจึงต้องโน้มเอียงไปกับสิ่งเหล่านี้อยู่เรื่อยมา ไม่มีทีท่าว่าจะคิดอ่านว่าถูกหรือผิดในความคิดคำพูด การกระทำนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลิตออกมาจากกิเลสตัวเป็นข้าศึกแห่งธรรม และไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้ควรแก้ สิ่งนี้ควรถอน สิ่งนี้เป็นข้าศึกต่อตัวเรา จึงยอมรับการพร่ำสอนจากสิ่งแหล่านี้อยู่ตลอดมา ธรรมเครื่องแก้ทุกข์จึงไม่สามารถแทรกเข้าไปภายในจิตใจได้ เพราะสิ่งเหล่านี้หนาแน่นยิ่งกว่ากำแพงเจ็ดชั้น ถ้าจะหมุนไปทางต่ำแล้วลื่นยิ่งกว่าน้ำมันเครื่องหล่อลื่นด้วยซ้ำ เพราะเคยคล่องตัวมาในภพในชาติ ในความเกิดแก่เจ็บตาย เคยคล่องตัวมาด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสพาดำเนินมาเป็นเวลานานแสนนาน ตั้งใจไม่ตั้งใจก็เป็นไปตามได้เพราะความคล่องตัวชำนาญพอตัว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้มาปฏิบัติธรรมจะให้ได้อย่างใจหวังอย่างเดียว โดยที่เราได้รับโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการสดับตรับฟัง หรืออ่านหนังสือธรรมะธัมโม และได้ยินได้ฟังจากครูจากอาจารย์สอนแล้วเกิดความเชื่อขึ้นมา โดยที่ยังไม่ได้ลงมือต่อสู้ห้ำหั่นกับกิเลสบ้างเลย แต่จะให้กิเลสพังทลายไปเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่าพากันหาญคิดกิเลสจะหัวเราะเอา แม้การปฏิบัติเพื่อแหวกทางของกิเลสไปสู่ความสุขเป็นชั้นๆ ก็ยังฝืดเคืองเหลือที่จะฝืดเคือง และยังแสดงความขัดข้องยุ่งเหยิงขึ้นภายในใจจากกิเลสทุกระยะไป เหมือนจะเจ็บท้องปวดศีรษะ เป็นไข้ปวดหัวตัวร้อนขึ้นมาทันทีทันใดอยู่เรื่อยไป เพราะพิษของกิเลสมันขัดมันขวาง มันบีบคั้นบังคับมันทุบมันตีไม่ให้เราออกนอกลู่นอกทางของมันไป กลัวจิตใจของเราจะไม่อยู่ในอำนาจของมัน จึงต้องมีการต่อสู้ต้านทานเสมอ นี่เรื่องหลักธรรมชาติแท้เป็นอย่างนี้มาดั้งเดิมภายในใจของสัตว์โลก
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ขึ้นมา จึงได้นำเอาธรรมนี้ซึ่งเปรียบเหมือนกับน้ำที่สะอาดเข้าไปชำระล้างสิ่งที่สกปรกซึ่งฝังอยู่ภายในใจนั้น ให้ค่อยสะอาดไปโดยลำดับลำดาพอมองเห็นบาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ และมีแก่ใจที่จะประพฤติปฏิบัติ จนกลายเป็นคนดีขึ้นมาได้ เพราะมีเครื่องซักฟอก มีเครื่องต่อสู้ มีเครื่องต้านทาน มีคู่แข่งซึ่งกันและกัน
แต่ก่อนไม่มีอะไรมาแข่งกิเลสซึ่งฝังอยู่ภายในใจ หนึ่งไม่มีสองก็คือกิเลสเรืองอำนาจที่ยังไม่มีคู่แข่ง แต่พอได้ยินได้ฟังอรรถธรรมจากศาสนธรรมที่ท่านประกาศสอนไว้แล้วนี้เข้าไปสู่จิตใจ จึงกลายเป็นใจที่มีคู่ช่วยคู่แข่ง ใจที่มีสิ่งช่วยต้านท่านช่วยรักษาใจ กิเลสไม่ได้เหยียบย่ำทำลายอย่างเต็มที่เหมือนอย่างแต่ก่อนมา เพราะมีธรรมเข้าขัดขวางต้านทานฟัดเหวี่ยงกัน
พูดถึงเรื่องความตระหนี่ก็มีจาคเจตนาเข้าไปขัดขวางไปชะล้างเสีย ความโกรธก็มีความเมตตาสงสาร คิดเห็นท่านเห็นเรา ซึ่งมีหัวใจอันเป็นคุณค่าเสมอกันเข้าไปเป็นคู่แข่ง เข้าเป็นเครื่องเทียบเคียง มีขันติ โสรัจจะ ความอดกลั้น ความยิ้มแย้ม ความสงบงามตางามใจเข้าไปกีดกันต้านท่านไม่ให้ความโกรธแสดงออกตามพลการ ความหลงก็อาศัยสติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอยู่เสมอ พูดถึงเรื่องราคะตัณหา สัตว์โลกก็มีด้วยกันทุกคนทุกสัตว์ แต่ก็อาศัยการพิจารณา ความพอดีงามตา ไม่ผาดโผนโลดเต้นดังสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีศีลมีธรรมเครื่องหักห้ามต้านทาน บ้านเมืองก็มีความสงบสุขมีความร่มเย็นเป็นสุข มนุษย์ก็เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบตามความเป็นมนุษย์ ไม่สักแต่ว่าร่างแห่งความเป็นมนุษย์เฉยๆ แต่จิตใจนั้นยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะความโหดร้ายทารุณผาดโผนต่างๆ
อำนาจแห่งธรรม เมื่อเข้าไปแทรกภายในใจแล้ว ย่อมจะเป็นปฏิกิริยาต่อกันกับสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อใจ คือกิเลสประเภทต่างๆ ให้ค่อยจางไปและหมดไปในที่สุด อย่างน้อยใจก็ค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมาด้วยการปฏิบัติธรรม ด้วยความเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อพระธรรม เชื่อพระสงฆ์ เปลี่ยนจากความเชื่อกิเลสมาเป็นความเชื่อธรรม แล้วก็ย้อนเข้าไปต่อสู้กับกิเลส เห็นกิเลสว่าเป็นภัย เห็นกิเลสว่าเป็นข้าศึกต่อตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่ควรแก้ เป็นสิ่งที่ควรถอดถอน เป็นสิ่งที่ควรปราบปรามให้หมดสิ้นไป คนเราจะดี ดีเพราะการปฏิบัติรักษาตนด้วยธรรม มิใช่ดีเพราะกิเลส ความโลภมาก ความโกรธมาก ราคะตัณหามาก ความลุ่มหลงงมงายมาก
ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ดีขึ้นมา ดีขึ้นมาไม่ได้ถ้าไม่มีสิ่งที่พาให้ดี เพียงเกิดเป็นรูปร่างขึ้นมาเป็นคนหญิงชาย ก็เหมือนต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ตามดงตามป่านั่นแล จะเป็นไม้เนื้อแข็งเนื้ออ่อน ไม้เนื้อดี เนื้อไม่ดีประเภทใดก็ตาม ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ในขณะที่ต้นไม้นั้นยังยืนต้นอยู่ ต่อเมื่อนายช่างไปตัด ไปฟัน ไปเลื่อย แปรรูปต่างๆ ออกมาตามความต้องการ แล้วยกขึ้นเป็นบ้านเป็นเรือน เป็นกระดานพื้นกระดานฝา เป็นตู้เป็นหีบต่างๆ ตามความต้องการ ไม้ประเภทนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าตามคุณภาพของตนอยู่แล้วก็แสดงคุณภาพออกมา ด้วยอำนาจแห่งนายช่างผู้ฉลาดจัดทำขึ้นมา ไม้นั้นก็สำเร็จประโยชน์ด้วยดีตามคุณภาพของตน
คนเราก็เหมือนกัน จะเกิดในชาติชั้นวรรณะใดก็คือคน เพราะเป็นคนอยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติแห่งความสมมุติทั่วๆ ไป เกิดในป่าก็คือคน เกิดในบ้านก็คือคน เกิดในสถานที่ไหนๆ ก็คือคน แต่คนเหล่านี้จะว่าเป็นคนดีเสียทีเดียว ยังไม่ดี เพียงแต่ว่าเป็นคน เกิดในสกุลดีก็เป็นผู้อยู่ในสกุลดี ยังไม่เรียกว่าคนนั้นดีตามสิ่งที่ควรจะทำให้ดีต่อเมื่อได้รับการอบรม ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใดได้รับการอบรมศึกษา ย่อมจะมีความรู้วิชาไปตามแขนงต่างๆ ที่ตนได้รับการเล่าเรียนศึกษามา ตลอดถึงอรรถธรรมเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วนำไปฝึกหัดดัดแปลงตนเอง ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใดวัยใด ย่อมจะเป็นคนมีความรู้ความฉลาด ย่อมจะเป็นคนดิบคนดีขึ้นมาด้วยความประพฤติการฝึกฝนอบรม ตามกำลังแห่งการดัดแปลงแก้ไขตัวเองเพื่อความเป็นคนดีโดยลำดับนั้นแล เพราะฉะนั้น การฝึกฝนอบรมหรือการได้ยินได้ฟังโอวาทคำสั่งสอนอันเป็นทางที่ถูกที่ดี ออกมาจากสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว จึงเป็นความดีงามสำหรับมนุษย์เราทั่วๆ ไป
มนุษย์เราจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ ย่อมขึ้นอยู่กับเครื่องดัดแปลงแก้ไข อันใดขัดข้อง อันใดไม่ดี อันใดเป็นโทษแก่ตนและผู้อื่น พยายามดัดแปลงแก้ไขสิ่งนั้น นำสิ่งที่ดีเข้ามาแทนที่ เช่นเคยประพฤติตัวไม่ดีก็พยายามแก้ไขความประพฤตินั้นด้วยความประพฤติดี จิตใจที่คิดหนักไปในทางใดซึ่งเป็นโทษเป็นภัยแก่ตน ก็พยายามหักห้ามจิตใจไม่ให้คิดไปในทางนั้น เพราะคิดไปมากก็ผิดไปมาก เมื่อพยายามหักห้ามจิตใจไม่ไห้คิดแบบนั้นได้มากน้อย ก็นับว่าได้รั้งความไม่ดีของตนไว้ ไม่ปล่อยให้เสียไปมาก
และจิตใจที่ได้รับการอบรมจนมีความเชื่อในเหตุในผล ตามหลักความถูกต้องดีงามแล้ว ความอยากความทะเยอทะยาน ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมซึ่งเคยเป็นมาภายในใจ และฉุดลากใจของเราให้เสียคนไปด้วยนั้น ก็ค่อยเบาลงไปๆ จนยอมฟังเหตุฟังผลทุกแง่ทุกมุม ความอยากนั้นก็ไม่มีอำนาจ เพราะเหตุผลเหนืออำนาจความอยากนั้น และก็ดำเนินตนตามเหตุผลที่ได้พิจารณาด้วยความถูกต้องดีงามต่อไปไม่ลดละ คนเราย่อมจะเป็นคนดีได้ไม่มีประมาณ
การกระทำ ไม่ว่าทำกิจการงานใด เมื่อเห็นเป็นผลเป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมแล้ว ยากหรือง่ายก็ทำ เพราะเหตุผลบ่งบอกแล้วว่าควรทำ เพราะเป็นผลเป็นประโยชน์ สิ่งที่ควรจะพูดเป็นผลเป็นประโยชน์ ก็พูดได้หนักเบามากน้อยตามเหตุผลที่อำนวย ความคิดความปรุงก็เป็นงานของใจประเภทหนึ่ง ที่จะแสดงออกมาทางกาย วาจา ความประพฤติต่างๆ นี่ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรได้รับการอบรม และหักห้ามความคิดในสิ่งที่จะพาให้เสีย เปิดทางให้คิดในสิ่งที่ดีงามทั้งหลายจนเป็นความเคยชิน จิตก็ย่อมเป็นจิตดีไปตามกำลังแห่งการดัดแปลงแก้ไขไม่ฝ่าฝืน
ธรรมท่านจึงสอนลงที่จิตใจเป็นสำคัญ ใจควรได้รับการอบรมให้รู้เหตุรู้ผลดีชั่ว หลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ทรงสั่งสอนในสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เคยนำสิ่งที่ไม่มีมาสอนโลกเลย เช่นบาปมีเป็นต้น บาปเป็นของมีอยู่แล้วดั้งเดิม ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ธรรมชาติคือบาปนี้มีอยู่แล้ว บุญก็เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ดั้งเดิมเหมือนกัน นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เป็นสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิมมาแล้วแต่กาลไหนๆ ไม่มีการขยับขยาย ไม่มีการยักย้ายเปลี่ยนแปลงไปไหนเลย เป็นแต่ความสามารถของผู้ที่จะรู้บาปรู้บุญ รู้นรกสวรรค์ พรหมโลกและนิพพานนั้น มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน หรือไม่มีความสามารถรู้เห็นได้เท่านั้น
พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก ทรงปฏิบัติจนมีความเฉลียวฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าสัตว์โลกทั้งสามภพนี้ สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในบุญในบาป ในนรก สวรรค์ พรหมโลก ตลอดนิพพานได้อย่างประจักษ์พระทัย เมื่อทรงรู้ทรงเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าสิ่งใดเป็นภัยสิ่งใดเป็นคุณประจักษ์พระทัยแล้ว ก็นำสิ่งที่ทรงรู้ทรงเห็นแล้วนี้ออกมาสั่งสอนสัตว์โลกให้รู้วิธีละ ให้รู้วิธีหลีกเว้นในสิ่งไม่ดี เช่นการทำอย่างนั้น การพูดอย่างนั้น การคิดเช่นนั้นเป็นบาป เป็นทางผิด เป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่นอย่าพากันทำเป็นต้น แม้ทางดีที่ควรบำเพ็ญให้เกิดให้มีมากมูนขึ้นในตน ก็ทรงสอนวิธีบำเพ็ญไว้โดยตลอดทั่วถึง
แต่ก่อนพระพุทธเจ้ายังไม่เคยปฏิญาณพระองค์ว่าได้เห็นแล้วซึ่งบาป เห็นแล้วซึ่งบุญ เห็นแล้วซึ่งนรก เห็นแล้วซึ่งสวรรค์ พรหมโลก ตลอดนิพพาน ต่อเมื่อได้ตรัสรู้คือตรัสรู้สิ่งที่มีอยู่เหล่านี้เอง ทรงรู้แจ้งแทงตลอดแล้วจึงนำมาสอน สิ่งที่ควรละควรหลบหลีก ก็ทรงสอนให้รู้วิธีการหลบหลีกปลีกตัว รู้วิธีการยับยั้งชั่งตวง สิ่งที่ควรอบรมก็แนะนำสั่งสอนให้อบรมให้เกิดให้มีขึ้นโดยลำดับลำดาจนถึงขั้นสมบูรณ์
คำว่าบาป ได้แก่ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากการกระทำผิด บุญซึ่งเป็นความสุขอันเป็นผลนั้นเกิดขึ้นจากการทำถูกทำดี นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เป็นสถานที่อยู่เสวยของผู้ดีผู้ชั่วที่ทำแล้วจะต้องไปสู่ที่นั้นๆ ไม่มีผู้ใดที่จะหักห้ามฉุดลากไว้ได้ ไม่ว่าจะไปทางนรก ก็ผู้นั้นบรรจุสิ่งที่เป็นนรก สิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟเต็มหัวใจของตนแล้วใครจะเอาน้ำที่ไหนมาดับหัวใจดวงนั้นให้พ้นจากนรกไปได้ ใจดวงนั้นก็ต้องเป็นใจนรก อยู่ที่ไหนก็เป็นนรกอยู่นั่นแหละ เมื่อถึงขั้นนรกจริงๆ ก็เป็นนรกไปเลย
ผู้ที่ได้สร้างคุณงามความดี อันเป็นเครื่องเย็นกายเย็นใจ หล่อเลี้ยงจิตใจให้ได้รับความสุขความเจริญทั้งปัจจุบันและอนาคต ก็ได้ไปเสวยความดีอันนี้ สถานที่ที่จะไปของผู้มีความดีเช่นนี้ อย่างน้อยก็คือมนุษย์สมบัติ ยิ่งกว่านั้นขึ้นไปก็สวรรค์สมบัติอันเป็นสถานที่อยู่ที่เสวยของผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้วตามลำดับลำดา จนกระทั่งเต็มภูมิแห่งความดีทั้งหลาย ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านถึงเมืองพอแล้ว
นิพพานก็คือเมืองพอ เคยโลภมาเท่าไรก็หมดจากจิต เคยโกรธ เคยหลง ราคะตัณหา ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส ได้ประหัตประหารให้สิ้นซากลงไปแล้วจากจิต ด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว เป็นใจที่พอตัว อิ่มตัว ไม่ต้องการสิ่งใดมาเพิ่มเติมอีก จะนำออกก็มิใช่ฐานะ เพราะนั้นคือความพอดีโดยหลักธรรมชาติ จะเรียกว่าถึงมัชฌิมาคือความพอดีโดยหลีกธรรมชาติก็ไม่ผิด
ใจเมื่อถึงขั้นพอตัวแล้ว อยู่ที่ไหนก็พอ จะเป็นจะตายก็ไม่มีความสำคัญอันใด เพราะเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์อันเป็นส่วนสมมุติ ซึ่งได้พิจารณารอบคอบขอบชิดและปล่อยวางแล้วตั้งแต่ยังไม่ตาย อุปาทานยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ได้สลัดปัดทิ้งแล้วด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เหลือแต่ใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ซึ่งเป็นใจที่พอตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นนิพพาน ไปก็เป็นนิพพาน อยู่ก็เป็นนิพพาน คือ สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่นี้ ดับสนิทบรรดากิเลสประเภทต่างๆ ไม่มีเหลือ กิเลสดับสนิทแล้วเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน พอทิ้งวิบากขันธ์ที่เคยรับผิดชอบแล้วก็เป็น อนุปาทิเสสนิพพาน ดังนั้นจิตใจที่ได้รับการซักฟอก จิตใจที่ได้รับการอบรม ย่อมมีความดีและมีคุณค่าขึ้นเป็นลำดับจนมีคุณค่าอันสูงสุด ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน
เพราะฉะนั้น ศาสนธรรมท่านจึงสอนลงที่ใจ เพราะใจเป็นสิ่งสำคัญมาก โลกจะเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายระส่ำระสาย หรือจะก่อความพินาศฉิบหายแก่กันก็ขึ้นอยู่กับใจที่เป็นฟืนเป็นไฟ ใจไม่มีธรรมเข้าเคลือบแฝง ใจย่อมไม่มีการยับยั้ง แม้จะมีความฉลาดมาก มีอำนาจราชศักดิ์มากเพียงไร ยิ่งจะทำความเดือดร้อนเสียหายหรือฉิบหายวายปวงได้มากเพียงนั้น เพราะใจเต็มไปด้วยกิเลสอันเป็นภัยต่อโลก
ไม่ว่าคนโง่คนฉลาด ถ้าไม่มีธรรมแล้ว สามารถจะทำความผิดจนถึงขั้นพินาศฉิบหายได้ด้วยกัน เพราะความฉลาดในทางโลกเป็นความฉลาดที่เกิดขึ้นจากกิเลสเป็นผู้บงการ ความฉลาดในทางธรรมนั้นเป็นความฉลาดจากธรรมเป็นผู้บงการ คนฉลาดทางธรรมท่านจึงเรียกว่านักปราชญ์ คนฉลาดทางโลกด้วยการก่อความฉิบหายแก่หมู่ชนนั้น ทางหลักธรรมท่านเรียกว่า พาลชน พวกมืดบอด รู้ก็รู้แต่รู้เพื่อทำความผิด ทำความฉิบหายโดยถ่ายเดียว จึงไม่จัดว่าเป็นผู้ฉลาดแหลมคมโดยธรรม
ใจจึงเป็นของสำคัญมากที่ควรได้รับการอบรม เฉพาะภายในตัวเราก็มีความสงบร่มเย็น ปฏิบัติไป ดัดแปลงตนไป หักห้ามตนไปโดยลำดับ ไม่ยอมให้กิเลสฉุดลากไปถ่ายเดียว มีการต่อสู้ มีการยับยั้ง มีการต้านทานความอยากคิด อยากพูด อยากทำในทางไม่ดีของตนอยู่เสมอ หลายครั้งหลายหนย่อมได้ชัยชนะ ต่อไปจะคิด จะพูด จะทำอะไร จะไปไหนมาไหน เหตุผลว่าควรหรือไม่ควรจะเข้ามาทดสอบเทียบเคียงกันทันที และดำเนินตามหลักเหตุผลที่เห็นว่าถูกว่าควรนั้นไม่ฝ่าฝืน เมื่อเห็นว่าไม่ควรแล้วแม้จะอยากไปก็ไม่ไป อยากอยู่ก็ไม่อยู่ อยากทำก็ไม่ทำ เพราะเหตุผลไม่อำนวยให้ทำ นี่คือคนเชื่อเหตุผล ได้แก่เชื่อธรรม ย่อมดำรงตนด้วยความราบรื่นดีงาม
คนที่เชื่อธรรมย่อมปฏิบัติตามธรรม ไม่ฝ่าฝืนธรรม ผลย่อมมีความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ภายในบ้านก็มีความสุข ยิ่งในครอบครัวแต่ละครอบครัวต่างคนต่างมีศีลมีธรรม ฝ่ายสามีก็มีศีลมีธรรม ฝ่ายภรรยาก็มีศีลมีธรรม ลูกเต้าเหล่ากอ ลูกเด็กเล็กแดงหลานเหลน ต่างคนต่างได้รับการอบรมจากพ่อแม่ครูอาจารย์ในทางศีลธรรม และมีกฎมีระเบียบเป็นเครื่องปฏิบัติดำเนิน ให้เป็นความสวยงามน่าดูและมีความสงบเย็นใจไม่ดื้อดึง ไม่ฝ่าฝืน ไม่ผาดโผนโจนทะยาน ว่าตนมีความเชี่ยวชาญ มีความเฉลียวฉลาด ว่าตนเป็นปัญญาชนทั้งๆ ที่โง่ด้วยความประพฤติยิ่งกว่าสัตว์ตัวไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาเลย แต่ไม่เที่ยวก่อกรรมทำเข็ญแก่ผู้ใดเหมือนมังกี้ปัญญาชน
ตามหลักความจริง ผู้ปฏิบัติธรรมยอมไม่ทะนงตน มีการถ่อมเนื้อถ่อมตัวโอนอ่อนต่อผู้ใหญ่ ต่อครูต่ออาจารย์ ต่อพ่อต่อแม่ ต่อท่านผู้มีบุญคุณแก่ตน ท่านจึงเรียกว่านักปราชญ์ เรียกว่าปัญญาชน ลูกก็ลูกคนแท้ เด็กก็คือเด็กที่ดีงามแท้ ไม่เป็นเด็กหัวแข็ง ไม่เป็นเด็กฉลาดแหวกแนว การมีธรรมครอบครองย่อมเป็นคนดีเด็กดีดังกล่าวมา ในครอบครัวย่อมมีความร่มเย็นเป็นสุข พูดกันรู้เรื่อง ระหว่างสามีภรรยาพูดกันก็รู้เรื่อง คือยอมรับเหตุผลของกันและกัน ใครผิดยอมรับว่าผิดและดัดแปลงแก้ไขไม่หมักหมม ย่อมอยู่กันเป็นผาสุก
เพราะคนเราย่อมผิดได้ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งสามีภรรยา ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ มีการผิดได้ด้วยกัน สำคัญที่พยายามแก้ความผิดและยอมรับซึ่งกันและกัน ย่อมอยู่ด้วยกันได้คนเรา นอกจากไม่ยอมรับผิด ก็จะกลายเป็นนิทานที่สามีภรรยาหย่ากันไป เมื่อถูกถามว่าเป็นยังไง ถามฝ่ายผู้ชาย จึงต้องหย่าเมียเสียล่ะ เมียแกเป็นยังไง จะไม่หย่าได้ยังไง มันเหมือนหมานี่นา จะอยู่กับมันได้ยังไง เราเป็นคนแต่มันเป็นหมา พูดกันไม่รู้เรื่องจะอยู่ด้วยกันได้ยังไง ทีนี้ก็ถามฝ่ายผู้หญิงอีก เป็นยังไงไอ้นั่นน่ะถึงต้องหย่าต้องร้างกัน เป็นเพราะเหตุไร โอ๊ย ไอ้นั่นมันร้ายกว่าหมา อยู่กับมันได้ยังไง มันไม่ขนาดหมามันร้ายยิ่งกว่าหมา อยู่กับมันได้ยังไง ก็เราเป็นคนทั้งคน อยู่กับสัตว์ประเภทที่ร้ายกว่าหมาได้ยังไง นั่น
ความจริงมันก็เป็นหมาทั้งสองตัวนั่นแหละถึงได้กัดกันและแยกทางกันเดิน จะตำหนิใครว่าไม่ดีก็ตำหนิยาก หากจะมีส่วนดีอยู่บ้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ควรทำตัวเป็นหลักไว้ อย่างน้อยก็จะไม่เป็นหมาทั้งสองคน อีกอย่างหนึ่งถ้าเราผิดด้วยไม่ได้ตั้งใจให้ผิด เรายอมรับผิดต่อเขาแต่เขาไม่ยอมรับ มันก็จำเป็นจำใจได้จากกันไป ตามธรรมดาระหว่างสามีภรรยาผิดทั้งสองไม่ดีทั้งสองคนก็มี ฝ่ายหนึ่งดีแต่ฝ่ายหนึ่งไม่ดีก็มี แต่การสนใจใฝ่ธรรมย่อมจะทำให้คนได้ดีได้ทั่วโลก อย่าว่าแต่เพียงสามีภรรยาครอบครัวลูกหลานเท่านั้นเลย เพราะธรรมเคยให้ความร่มเย็นต่อโลกมาแต่กาลไหนๆ อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น สามีภรรยาจึงเป็นของสำคัญมาก ที่จะก่อรากก่อฐานให้ความร่มเย็นแก่ลูกเล็กเด็กแดงและหลักฐานมั่นคง ย่อมขึ้นอยู่กับสามีภรรยา คือพ่อกับแม่เป็นหลักใหญ่ ที่จะปฏิบัติตนให้เป็นแบบเป็นฉบับและให้ความอบอุ่นแก่ลูกเต้าหลานเหลน นี่คือครูคืออาจารย์ คือบุพพาจารย์ผู้ให้การเลี้ยงดูและการอบรมสั่งสอนในเบื้องต้นได้แก่พ่อแม่ เด็กที่เกิดมาจากพ่อแม่ย่อมเรียนวิชาในหลักธรรมชาตินี้ พ่อแม่หรือคนในครอบครัวประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร ย่อมเป็นการประสิทธ์ประสาทความรู้ความประพฤติ ในหลักธรรมชาติทั้งดีและไม่ดีให้เด็กกลืนเข้าสู่สมองทุกเวล่ำเวลาอิริยาบถ เมื่อเติบโตขึ้นมาก็กลายเป็นเด็กประเภทนั้นได้ ถ้าเป็นฝ่ายดีก็ดีไปได้ ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็ชั่วไปได้ เพราะความสัมผัสสัมพันธ์ฝังสมองเข้าโดยลำดับ ดังนั้นผู้ใหญ่เราทุกๆ คนจึงควรมีอรรถมีธรรมเป็นแบบเป็นฉบับ เป็นเครื่องดำเนินให้เหมาะสมงามตาเย็นใจไว้ สำหรับเด็กได้ถือเป็นคติตัวอย่างอันดีงามไปใช้ไม่มีประมาณ ตัวเราเองก็เย็น ระหว่างสามีภรรยาที่อยู่ร่วมกันก็เย็น เพราะดีต่อดีเข้าบวกกัน
สิ่งที่เป็นความผิดมาก เป็นสิ่งที่ขัดใจกันมากระหว่างสามีภรรยาก็คือ ศีลองค์ที่สามที่ท่านห้ามไว้นั่นแล กาเมสุ มิจฉาจาร นี่แหละตัวทำลายจิตใจคู่ครองอย่างฉิบหายป่นปี้ เงินจะมีกี่ล้านกี่โกฏิกี่แสนกี่พันล้านก็ตาม ก็ไม่มีความหมาย ถ้าลงระหว่างสามีภรรยาได้ทำผิดต่อกันในศีลข้อนี้แล้ว เพราะเป็นการทำลายรากฐานอันสำคัญให้ฉิบหายป่นปี้ไปไม่สงสัย การจะวากรากฐานสำคัญต่อกันได้สนิทคืออะไร ศีลข้อที่สามนี้เป็นสำคัญมากเหมือนกัน ฉะนั้น จึงต่างคนต่างประพฤติปฏิบัติตนด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน เพราะระหว่างสามีภรรยาย่อมถือเป็นกรรมสิทธิ์ของตนด้วยกัน ใครจะไม่รักไม่สงวนขึ้นชื่อว่าสามีภรรยาซึ่งถือเป็นสมบัติอันล้นค่าของตัวแล้ว สามีก็คือสมบัติอันล้นค่าของภรรยา ภรรยาก็คือสมบัติอันล้นค่าของสามี จงเทิดทูนกันตามหลักศีลธรรมและประเพณีอันดีงามตลอดไปจนวันอวสานแห่งชีวิต อย่าได้ทำลายล่วงเกิน
สิ่งใดที่จะเป็นการกระทบกระเทือนต่อจิตใจซึ่งกันและกัน อันเป็นความเสียหายแล้วอย่าทำ จะเป็นการทำลายตน ทำลายผู้เกี่ยวข้องและทำลายศีลธรรมอันดีงามของมนุษย์ด้วย ธรรมท่านสอนไว้อย่างนี้ สอนไว้เพื่ออะไร สอนไว้เพื่อไม่ให้ใจและความประพฤติอันเป็นภัยต่อกันกระเพื่อม ไม่ให้เลยขอบเขต ไม่ให้เลยฝั่งเลยแดน ไม่ให้รวดร้าว ไม่ให้แตกกระจาย พยายามรักษาสิ่งที่มีอยู่ให้ใช้ได้ตลอดกาลแห่งชีวิตคู่ครอง สิ่งที่มีอยู่ สมบัติอันมีอยู่คือสามีภรรยา เป็นของมีอยู่เป็นสมบัติเดิม สมบัติก้นถุงที่มีอยู่แล้วด้วยกัน
อยู่ด้วยกันจงประคับประคองกันด้วยศีลด้วยธรรม ด้วยความจงรักภักดีต่อกัน มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน อย่าเป็นโจรเป็นมารต่อกันในระหว่างสามีภรรยา อย่าเป็นโจรเป็นผู้ร้าย อย่าเป็นเพชฌฆาตฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการทำลายศีลข้อที่สาม อย่าเป็นอัยการเป็นผู้กำอำนาจแต่ผู้เดียว....ไม่ถูก อำนาจให้มีได้ทุกคน ความเป็นธรรมแล้วมีอำนาจด้วยกันทุกคน มีอำนาจที่จะพูดได้ในสิ่งที่ถูกต้อง ฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับ ไม่ยอมรับก็ขายตัวเอง หลักธรรมมีอย่างนี้ จงพากันนำไปปฏิบัติเพื่อความร่มเย็นแก่ตนและครอบครัวตลอดสังคมทั่วๆ ไป
เมื่อต่างคนต่างฝ่ายตั้งใจประพฤติปฏิบัติดีแล้วย่อมมีความร่มเย็น ไปไหนไปเถอะสามีภรรยาจะไปทำงานในบ้านนอกบ้าน ในเมืองนอกเมืองก็ไป ไม่ว่าแต่เมืองไทยแหละเมืองนอกก็ไป ถ้ามีความมั่นคงต่อศีลต่อธรรมอยู่แล้ว ไปไหนก็คือคนผู้ซื่อสัตย์สุจริตผู้จงรักภักดีต่อครอบครัวของตนนั่นแล สมบัติได้มามากน้อยก็เป็นผลเป็นประโยชน์มาค้ำจุนครอบครัวให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ลูกเต้าหลานเหลนที่เกิดขึ้นมาก็ถือพ่อถือแม่ที่เป็นบุพพาจารย์นี้เป็นแบบเป็นฉบับ กลายเป็นเด็กดีไปตามๆ กัน สกุลใดเด็กก็ได้รับการอบรมจากพ่อแม่ที่ดี เพราะพ่อแม่เป็นแบบฉบับอันดีอยู่แล้ว มาจากสกุลใดมาคละเคล้ากันก็สวยงามทั้งนั้น
เช่นในโรงเรียน ในสมาคม มีแต่เด็กที่ได้รับการอบรมในทางที่ดีมาด้วยกันแล้ว ก็ยิ่งได้คติจากกันเป็นอย่างดีไม่มีประมาณ ไม่มีความเสียหายเข้าเคลือบแฝงเลย เท่าที่เด็กเสียนั้นเสียเพราะไม่ได้รับการอบรมศีลธรรมดังที่กล่าวมา พ่อแม่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ตำหนิติเตียนลูกว่าไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ส่วนพ่อแม่ไม่ดีเท่าไรไม่ว่า ไม่มองดูตัวบ้างเลย แต่ผลิตของไม่ดีให้ลูกทุกอย่างทุกเวลาอิริยาบถ เด็กๆ จะเป็นเด็กดีได้อย่างไร
นี่พูดเรื่องทางโลก ก็ต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องปกครอง ไม่อย่างนั้นหาหลักหาเกณฑ์หาความเย็นใจไม่ได้ ความเย็นใจอย่างแท้จริงสำหรับครอบครัวนั้น ระหว่างสามีภรรยาในครอบครัว ต้องมีความจงรักภักดีต่อกัน มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน อย่าเป็นโจรเป็นผู้ร้าย อย่าเป็นเจ้าอำนาจวาสนาหรือเจ้าอำนาจบาตรใหญ่ในครอบครัว ถือหลักธรรมเป็นเครื่องปกครอง นั้นละคืออำนาจอันถูกต้อง อำนาจที่เกิดขึ้นโดยธรรมนี้ให้ความสุขเสมอกัน ไม่มีใครยิ่งใครหย่อน ไม่มีใครได้เปรียบและเสียเปรียบกัน
เวลาจะหลับจะนอนให้เจริญภาวนา เพื่ออบรมจิตใจซึ่งทำหน้าที่การงานอยู่ภายในตลอดเวลา จิตนั้นแหละเป็นผู้ทำงานหนักที่สุด ร่างกายทำเป็นเวล่ำเวลา วาจาพูดเป็นกาลเป็นสมัย แต่ใจนั้นคิดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเช้าสายบ่ายเย็น ขณะใดไม่มีขณะที่จะไม่คิด นั่นคือจิตทำงาน เราควรอบรมจิตใจของเราด้วยธรรมบทใดก็ตาม เช่นกำหนดอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกด้วยความมีสติ หรือจะกำหนดคำบริกรรมบทใดก็ตาม เช่น พุทโธๆ เป็นต้น ให้จิตได้รู้อยู่กับคำบริกรรมนั้น ยึดคำบริกรรมนั้นเป็นกฎเป็นเกณฑ์ เป็นหลักเป็นฐาน เป็นที่ยึดที่เหนี่ยว ใจจะหยั่งเข้าสู่ความสงบเย็น
เมื่อจิตใจได้หยั่งเข้าสู่ความสงบ ภาระของจิตที่เคยคิดเคยปรุงอันเป็นการก่อเรื่องก่อราวให้จิตใจว้าวุ่นขุ่นมัวก็ระงับดับลงไป ถ้าเป็นน้ำก็ไม่มีอะไรกวน ก็ใสสะอาดขึ้นมา มองเห็นเงาตัวเองได้ จิตใจเมื่อมีความใสสะอาดสงบร่มเย็น มองเห็นความผิดถูกดีชั่ว มองเห็นโทษเห็นภัยของตนเอง และในขณะเดียวกันก็มองเห็นคุณที่จะเป็นไปในกาลข้างหน้าโดยลำดับ เพราะจิตสงบย่อมใส ความใสย่อมจะมองเห็นทั้งคุณทั้งโทษซึ่งมีอยู่ภายในตัวเรา ใจเป็นสำคัญในตัวเราแต่ละคน
ใจนั่นแหละเป็นพื้นฐานแห่งความเกิดแก่เจ็บตายที่เป็นมาทุกท่านทุกคน เป็นแต่เราไม่รู้ไม่เห็น เรานั้นแหละคือตัวเกิดตัวตาย เกิดภพนั้น เปลี่ยนมาภพนี้ จากภพนี้เปลี่ยนไปภพนั้น ล้วนเป็นอยู่กับจิต จิตมีสิ่งเข้าสิงอยู่ภายในตัว เชื้อคือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้จะทำให้สัตว์เกิดโดยไม่ต้องสงสัย การไปเกิดในสถานที่ดีชั่วด้วยกำเนิดต่างๆ นั้น เพราะวิบากกรรมของจิตนั้นเองได้สร้างเอาไว้ ตนทำไว้อย่างไร ถ้าทำไม่ดีก็ไปเกิดในสถานที่ไม่ดี ที่ว่าไม่เกิดนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเชื้อที่พาให้เกิดผลักดันอยู่ตลอดเวลา ยืนยันอยู่ภายในตัวโดยหลักธรรมชาติ
เอ้า ถ้าอยากจะทราบสิ่งเหล่านี้ จงตั้งใจปฏิบัติจิตตภาวนาลงไป จะหาที่ค้านพระพุทธเจ้าไม่ได้ ว่าสัตว์ทั้งหลายมีความเกิดแก่เจ็บตาย ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารตามภพน้อยภพใหญ่ มีตั้งแต่เรื่องของเชื้อคืออวิชชาพาให้เกิดทั้งสิ้น ไม่มีอะไรพาให้สูญ มีแต่พาให้เกิดถ่ายเดียว ที่ว่าตายแล้วสูญนั่นกิเลสมันหลอกต่างหาก มันเคยหลอกสัตว์โลกมาประจำวัฏวน จิตไม่สูญ กิเลสมันเหยียบอยู่บนจิตนั่นแล ประกาศหลอกสัตว์ผู้โง่กว่ามันว่าตายแล้วสูญ ถ้าจิตสูญจริง กิเลสก็บรรลัยเพราะไร้ที่อยู่ แม้กิเลสดับไปเพราะถูกธรรมปราบ จิตยังไม่เห็นดับ นอกจากเป็นจิตบริสุทธิ์เต็มดวงเท่านั้น ดังพระอรหันต์เป็นตัวอย่าง
คำว่าโลกทั้งสามคือ มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก นี่คือแดนสมมุติ ใจสามารถไปเกิดในแดนทั้งสามนี้ได้ตามอำนาจแห่งวิบากดีชั่ว พาให้สุขให้ทุกข์ในภพนั้นๆ โดยปฏิเสธไม่ได้ ท่านจึงสอนไว้ว่า กิเลสเป็นเหตุให้สัตว์ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วย่อมได้รับผลของกรรมดีชั่วต่างๆ หมุนเวียนกันไปมาอยู่อย่างนี้ ท่านเรียกว่า วัฏวนสาม หมุนอยู่แค่เกิดแก่เจ็บตายในสามภพนี้ ไม่มีทางเล็ดลอดออกไปได้ ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องฉุดลาก
ใจของเรามันสมบูรณ์ด้วยวัฏวนสามนี้อยู่แล้ว เรายังจะเห็นไปว่าตายแล้วสูญได้อย่างไร อะไรมันสูญ ถ้ามันสูญจริงๆ อะไรมาเกิดให้เป็นเราเป็นท่านอยู่เวลานี้เห็นไหม การเกิดก็เอาของมีอยู่นั่นแลมาเกิด ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นของมีอยู่มารวมกันเข้าผสมกันเข้า เรียกว่าส่วนผสม มีจิตซึ่งเป็นตัวการเข้ามาแทรกสิงอยู่ในร่างกายอันเป็นส่วนผสมนี้ แล้วก็ยึดว่าเป็นเราเป็นของเราขึ้นมา แม้ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟล้วนๆ เห็นชัดๆ ด้วยตาเนื้อก็ตาม แต่กิเลสมันก็ไม่ให้เป็นไปตามความจริงของสิ่งเหล่านั้น มันบิดเบือนความจริงให้เป็นอื่นไปจนได้ โดยให้หลงยึดถือว่านี้เป็นเรานั้นเป็นของเรา เป็นต้น ขวางธรรมอยู่ตลอดเวลา
เมื่อจิตได้รับการอบรมเข้าโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นล้มลุกคลุกคลานเป็นต้นไป เอ้าภาวนา บางทีก็สงบ บางทีไม่สงบ และพาเผ่นออกนอกเขตจักรวาลโน่น แต่ไม่ถอยความพากเพียรเพื่อพิสูจน์ให้เห็นเรื่องความเกิดตาย ตายเกิด-ตายสูญนี้มีอยู่ที่ไหนถ้าไม่มีอยู่ที่จิตดวงนี้ พิสูจน์กันเข้าไปที่ตรงนี้ พิจารณาเข้าไปไม่ถอย เมื่อได้รับการอบรมมาแล้วจิตมีความสงบเย็น นี่เริ่มทราบเรื่องของจิตบ้างแล้ว เริ่มทราบบทบาทของกิเลสและบทบาทของธรรม ซึ่งเป็นคู่แข่งกันขึ้นมาแล้วภายในใจดวงนี้ แต่ก่อนมีแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญหาความสงบไม่ได้ บัดนี้ธรรมเข้าแทรกให้ปรากฏเป็นความสงบขึ้นมาและกลายเป็นคู่แข่งกิเลสตัวพาให้ฟุ้งซ่านในขณะนั้น ว่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นโทษ ความสงบเป็นคุณ และทำให้จิตใจมีความสุขและพอใจกับความสงบ เมื่อพอใจในความสงบสุขอันเป็นผลแล้ว ย่อมพอใจในเหตุคือการกระทำ ทำไปเรื่อยไม่หยุดไม่ถอย จิตมีความสงบแน่วแน่และละเอียดเข้าไปโดยลำดับ
จิตดวงนี้แหละ ดวงกำลังคึกคะนองอยู่นี่แหละ โดยไม่นิยมชาติชั้นวรรณะ ฐานะเพศ วัยทั้งสิ้น มันคึกคะนองอยู่ทำนองนั้นตลอดเวลา เพราะกิเลสมันไม่เคยแก่ ไม่เคยชราคร่ำคร่า มันหนุ่มฟ้ออยู่อย่างนั้นเรื่อยมา เมื่อสิงอยู่ในจิตใจใด มันจึงทำให้คนให้สัตว์คึกคะนองแบบไม่มีฝั่งมีฝา ราวกับไม่มีป่าช้า มันคึกมันคะนองอยู่ภายในใจ เมื่อได้อบรมด้วยธรรม นำธรรมเข้าไปปราบ นำธรรมเข้าไปชะล้างจิตใจที่คึกคะนองนั้น จนกลายเป็นจิตที่สงบร่มเย็นขึ้นมา ผ่องใสขึ้นมาเรื่อยๆ มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นมาเรื่อยๆ และเห็นคุณค่าของจิตขึ้นมาเรื่อยๆ
อันดับต่อไป ก็ใช้ปัญญาพิจารณา แยกแยะดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ สกลกายของเรานี้มีอะไรบ้างตามหลักความจริง ไม่ปล่อยให้กิเลสมาเสกสรรปั้นยอล่อลวงเรานานนักนานหนาดังที่เคยเป็นมา เราเป็นคนๆ หนึ่ง เราไม่อายบ้างหรือ ถูกกิเลสหลอกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร กิเลสมันหลอกว่านี้เป็นเรานี้เป็นของเรา นั้นเป็นหญิง นี้เป็นชาย นั้นสวย นี้งาม นั้นน่ารัก นี้น่าชัง น่าโกรธ น่าเกลียด กิเลสมันหลอกร้อยสันพันคม ธรรมไม่หลอกอย่างนั้น พิจารณาดูสภาพของร่างกายนี้เป็นอย่างไร ที่ให้ชื่อว่าเป็นร่างกายนี้มันออกมาจากอะไร ออกมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นส่วนผสมกัน ข้างนอกข้างในดูให้ตลอดทั่วถึง ให้เห็นชัดเจนด้วยปัญญา ความจริงมีแต่ของปฏิกูลโสโครกเต็มไปหมดทั้งร่าง ข้างบนข้างล่างเป็นกองปฏิกูลทั้งนั้น ป่าช้าผีดิบก็คือร่างกายของคนของสัตว์นี่แล
พิจารณาแยกแยะออกทุกชิ้นทุกส่วน ให้เห็นตามความจริงทุกสัดทุกส่วน จนหายสงสัยแล้ว อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ มีรูปขันธ์เป็นต้น ก็สลัดปุ๊บเดียวเสร็จ จิตดีดผึงขึ้นมาเอง รู้ชัดว่านี้คือธาตุดิน จะเอามาเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร ลม น้ำ ไฟ มันเป็นธรรมชาติของมัน จะให้เป็นอะไรมันก็ไม่เป็น เราหากเสกสรรปั้นยอว่ามันเป็นนั้นเป็นนี้อย่างไม่อาย เมื่อสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามความจริงของเขา เราก็ไม่พอใจ ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ ปรารถนาไม่สมหวังก็สร้างความทุกข์ให้แก่เรา เพราะความเห็นเช่นนี้เป็นเรื่องของสมุทัย ก็คือเรื่องของกิเลส มันจะไม่สร้างทุกข์ให้เราอย่างไรได้ มันต้องสร้างวันยังค่ำไม่มีถอย
เมื่อพิจารณาให้เห็นตามความจริงลงไป ในส่วนรูปก็ปล่อย เอ้า ทีนี้ยิ่งรู้ได้ชัดว่าจิตนี้เคยท่องเที่ยวมาในภพน้อยภพใหญ่มามากมาน้อยเพียงไร จะเป็นสักขีพยานอยู่ภายในใจที่ตัดภาระลงไปโดยลำดับนี่แล เชื้อที่เกี่ยวโยงกันมามันมีอยู่ภายในจิต มันติดพันกับเรื่องอะไร แยกแยะออกด้วยปัญญาจนขาดสะบั้นลงไปโดยลำดับ กองรูป เอ้า อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นขาดลงไป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความสุขความทุกข์ทางร่างกายและจิตใจ ก็สักแต่ว่าอาการหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นแล้วดับไปๆ สุขเกิดขึ้นดับไป ทุกข์เกิดขึ้นดับไป อุเบกขาความเฉยๆ เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจดับไปๆ ถือว่าเป็นเราเป็นของเราได้ที่ไหน แม้สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นอาการหนึ่งๆ ที่แสดงออกมาจากจิต ก็มีเกิดดับๆ อย่างเดียวกันดังที่เคยอธิบายมาหลายครั้งแล้ว กรุณาทำความเข้าใจตามนั้นและปล่อยวางลงตามความจริงของแต่ละอย่างๆ
จิตพิจารณาจนรอบ ว่านี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ปัญญาหยั่งลงไปจนถึงเชื้ออวิชชาที่ฝังจมอยู่ภายในใจ ระเบิดปรมาณู คือมหาสติ-มหาปัญญา ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปที่นั่นจนแตกกระจายหมด เมื่ออวิชชาแตกกระจายจากใจแล้ว ทำไมจะไม่รู้ว่าเราเคยเกิดแก่เจ็บตายมากี่ภพกี่ชาติ อะไรตัวไหนพาให้เกิด ตัวนี้เอง...ก็รู้ ต่อไปนี้เราจะเกิดที่ไหนอีกไหม ก็ทราบชัดเจนแล้วว่า เชื้ออันนี้ได้ถูกตปธรรมแผดเผาแหลกเป็นจุณวิจุณไปไม่มีเหลือ แล้วคำว่าเชื้อที่จะพาให้เกิด จิตที่เคยเป็นนักจับจองป่าช้า ได้กลายเป็นจิตอิสรเสรีเต็มตัวแล้ว เพราะไม่มีกิเลสแม้ปรมาณูเข้าแทรกสิงพาให้เกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป จิตดวงนี้ไม่ควรแก่การเกิดอีกแล้ว ควรแก่ความบริสุทธิ์ ควรแก่วิมุตติพระนิพานโดยถ่ายเดียว นี่คือการพิสูจน์จิต พิสูจน์อย่างนี้นักปฏิบัติธรรมน่ะ
พระพุทธเจ้าท่านสอนโลก ท่านไม่ได้สอนแบบสุ่มเดา ท่านปฏิบัติมาเสียก่อน วินิจฉัยเข้ามาโดยลำดับลำดา จนกระทั่งรู้แจ้งแทงตลอดหมดแล้ว เอาทั้งเหตุทั้งผลมาชี้แจงให้โลกตาบอดหูหนวกทั้งหลายฟัง พวกเราตาก็มี หูก็มี จมูกก็มี ลิ้นก็มี กายก็มี ใจก็มี แต่มันไม่เฉลียวฉลาด มันไม่แหลมคมเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราจึงยอมกราบท่าน หากว่าท่านเสมอเรา เรากราบท่านทำไม ถ้าธรรมก็เสมอเรา ธรรมไม่วิเศษกว่าเรา เรากราบธรรมทำไม พระสงฆ์สาวกไม่วิเศษยิ่งกว่าเรา เรากราบท่านหาประโยชน์อะไร ท่านก็คนๆ หนึ่งเท่านั้นไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าเรา เรากราบท่านหาอะไร ถ้าจะกราบก็กราบหัวเข่าเราเสียไม่ดีเหรอ แต่นี้เรากราบท่านก็เพราะความดีความวิเศษของท่าน ท่านสามารถทำได้ทั้งๆ ที่เราทำไม่ได้ ท่านสามารถรู้ได้ทั้งๆ ที่เรารู้ไม่ได้ ท่านเป็นผู้ประเสริฐทั้งๆ ที่เราไม่ประเสริฐอะไรเลย มันผิดกันตรงนี้คนเราจึงยอมเชื่อ ยอมกราบ ยอมปฏิบัติตามท่าน
ธรรมจึงรวมลงที่จิตดวงนี้ ธรรมที่เราเคยคาดเคยหมายว่า ธรรมมีอยู่น่ะอยู่ที่ไหน เหมือนกับรูป เสียงเป็นต้น มีอยู่เต็มแผ่นดินนี้แหละ แต่คนตาบอด คนหูหนวก ไม่มีความหมายในคำว่ารูปว่าเสียงนั้นน่ะ เสียงอะไรก็ไม่รู้เพราะหูหนวก สีสันต่างๆ ก็ไม่เห็นเพราะตาบอด มันสุดวิสัย เป็นวิสัยของผู้ตาดีหูดีเท่านั้น ธรรมก็เหมือนกัน ใจบอดก็ไม่สามารถรู้ธรรมเห็นธรรม แม้ธรรมจะมีรอบตัวรอบใจอยู่ตลอดเวลา ใจก็คือใจหนวกใจบอดใจมืดตื้อ ไม่สามารถสัมผัสสัมพันธ์ธรรมที่มีอยู่ได้ เช่นเดียวกับตาหูที่บอดหนวกไม่สามารถสัมผัสสัมพันธ์รูป เสียงเป็นต้นได้นั้นแล แล้วจะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ว่าไม่มีได้อย่างไร เพราะมันมีอยู่ เป็นเพียงตนไม่เห็น ไม่ได้ยินเท่านั้น เพราะความตาบอด หูหนวก
ธรรมก็มีอยู่เช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อจิตควรแก่การสัมผัสธรรมมากน้อย จิตจะเข้าใจตนเองในเรื่องของธรรม ธรรมจะมีความหมายขึ้นกับจิต จิตกับธรรมจะมีความหมายกลมกลืนไปโดยลำดับลำดา จนถึงธรรมขั้นวิเศษวิมุตติหลุดพ้น จะมีความหมายเต็มตัวขึ้นที่ใจของผู้ปฏิบัตินั้นแล ไม่อยู่ที่ไหน ไม่รู้ที่ไหน แต่จะรู้จะเห็นธรรมทุกประเภทที่ใจของผู้ปฏิบัติแห่งเดียว
ฉะนั้น ขอให้ทุกๆ ท่านนำไปประพฤติปฏิบัติ กำจัดสิ่งที่เป็นภัยต่อจิตใจของตนออก พอให้มีความสงบเย็นใจบ้าง สมกับธรรมเป็นธรรมมีอยู่และเป็นธรรมประเสริฐ สมกับเราเป็นชาวพุทธนับถือพระพุทธศาสนา พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ อย่าได้ลดละปล่อยวางเพราะเป็นสิ่งประเสริฐ น้อมเข้าสู่จิตใจ บำเพ็ญตนให้มีความสุขความเย็นใจ
หน้าที่การงานอะไรก็ทำไป โลกนี้มีความบกพร่องอยู่กับธาตุกับขันธ์นั้นแหละ มีความบกพร่องต้องการ อยากอยู่ อยากกิน อยากหลับ อยากนอน ไม่มีสิ่งมาสนองความต้องการก็เป็นทุกข์ เราก็ต้องทำ งานนี้เป็นงานเพื่อส่งเสริมหรือบำรุงร่างกาย งานจิตตภาวนางานทำบุญทำกุศลต่างๆ เป็นงานบำรุงจิตใจให้มีอาหารเครื่องหล่อเลี้ยง เมื่อสมบูรณ์ทั้งอาหารของจิต สมบูรณ์ทั้งอาหารของร่างกายแล้ว อยู่ในโลกนี้ก็สบาย ตายไปก็เป็นสุข คนที่เตรียมพร้อมแล้วด้วยปัญญา คาดสายตาคือปัญญาไว้ดูเหตุการณ์ไกลๆ แล้ว ย่อมสามารถทำประโยชน์โลกนี้ให้สำเร็จ มีความสุข ความสบาย ตายไปก็เป็นสุข เพราะอำนาจแห่งคุณงามความดีที่ตนได้สั่งสมไว้แล้ว
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติเพียงแค่นี้
************ |