ที่สงบ ที่ยุติ อยู่ที่การภาวนา (ค่ำ)
วันที่ 21 สิงหาคม 2546 เวลา 18:45 น. ความยาว 68.24 นาที
สถานที่ : กุฏิกลางน้ำ สวนแสงธรรม
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม

วันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ [ค่ำ]

ที่สงบ ที่ยุติ อยู่ที่การภาวนา

 

        เมื่อเช้านี้เราก็เดินเข้าไป ไปบอกเด็กคนนั้นน่ะอินโดนีเซียที่ภาวนา เพราะจิตแกผาดโผน กลัวแกจะไปตามกระแสของจิต เราเลยบอกให้ยึดหลักนี้ไว้นะ ดูลม อย่าไปสนใจกับอาการอะไรที่ออกรู้นั้นรู้นี้ ให้เจริญอานาปานสติโดยสม่ำเสมอ อย่าไปสนใจ ตอนเราไม่อยู่เดี๋ยวมีอะไรขึ้นมา เราบอกให้ยึดหลักนี้ไว้ จะไม่มีอะไรเสียหายเราว่างั้น จิตมันผาดโผนอยู่นะ นิสัยนะ นิสัยของจิตคนเราภาวนาไม่ได้เหมือนกันนะ บางองค์เป็นอย่างหนึ่ง บางองค์เป็นอย่างหนึ่งพระที่มาเล่าภาวนาให้ฟัง แล้วพวกฆราวาสก็เหมือนกัน คือมันจะเป็นขึ้นในตัวเองนั้นละ เป็นเหตุให้ได้พูด ให้ถามได้ละ ที่มันเรียบ ๆ มันก็ไม่ค่อยเท่าไรนัก

          เรียบ ๆ มันไม่ค่อยล่อแหลมต่อความผิดพลาด ถ้ามันผาดโผน ล่อแหลมต้องมีครูมีอาจารย์คอยแนะ แล้วครูอาจารย์ก็ต้องเป็นผู้เข้าใจ ไม่ใช่จะสอนสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ได้นะเรื่องภาวนา จิตสอนจิตว่างั้นเถอะ ถ้าไม่รู้สอนไม่ได้ แน่ะมันเป็นอย่างงั้นนะ เราจะเอาตำราไปสอน โอ๋ย ไม่ได้นะ ต้องเอาความรู้จากผลของการปฏิบัติจริง ๆ สอนจึงสอนได้ ก็คิดดูอย่างหลวงปู่มั่นเราหมอบราบตลอดมาเลยนะ ใส่เปรี้ยงลงตรงไหนนี้ไม่เคลื่อนเลยนะ ไอ้เรามันก็ตัวเก่งเหมือนกัน บรรดาลูกศิษย์ลูกหานี้ลองถามย้อนหน้าย้อนหลังดู ว่าบรรดาลูกศิษย์หลวงปู่มั่นนี้องค์ไหนที่มีโต้กันเก่ง ๆ อย่างนี้มีองค์ไหน ไม่มี มีแต่หลวงตาองค์เดียว

          เอาจริง ๆ ก็เหตุที่จะโต้มันมีอยู่ ไม่ใช่เอามาโต้ ไอ้เรื่องทิฐิมานะ ความถือแพ้ถือชนะมันไม่มีแหละ เรื่องมันมี และเรามาศึกษากับครูบาอาจารย์ เมื่อมันมีขึ้นมาไม่ถามครูบาอาจารย์จะถามใคร นั่น ถ้ามันไม่ลงกันจุดไหนมันก็เอากันจุดนั้นแหละ เราไม่ลงก็คือเราเป็นอย่างนี้ ๆ ท่านพูดอย่างงั้นมันขัดกับอันนี้ เราเข้าใจของเราว่าถูกแล้วเอากันละทีนี้ ท่านใส่เปรี้ยงมาเลย อันนี้ลงปั๊บ มันยังมีแง่ไหนเอาอีกอยู่อย่างงั้นน่ะ นี่แหละที่เถียงกันเป็นอย่างงั้นเอง ถ้าอันไหนลงแล้วไม่มีปัญหา จะถามท่านหาอะไรเราเข้าใจแล้ว อันไหนที่ไม่เข้าใจมันเป็นขึ้นมาในใจ ถามท่าน เวลาตอบมาท่านตอบอย่างนั้น ความรู้ของเรามันเป็นอย่างนี้ นั่น เราก็เอาความรู้นี้โดนกับท่านละ นี่ละที่ว่าทะเลาะกัน

          ครูบาอาจารย์ทั้งหลายบรรดาที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน พระท่านเล่าให้ฟังก็เป็นเสียงเดียวกัน ไม่มีองค์ไหนเหมือนที่ว่าจอมทะเลาะว่างั้น กับเรานี้เอากันเรื่อย ทะเลาะกันเรื่อย จะทีไรก็ตามนะเรียกว่าหมอบราบทุกที นั่นละเห็นไหมละ ถ้าสมมุติว่าไปตามแบบเรามันจะผิด ท่านใส่เปรี้ยง ท่านสกัดปุ๊บ เรายังเห็นอย่างนี้ว่าดีอยู่เราก็เถียงท่านอีกก็ใส่ปั๊วะเข้า มันหมอบ แน่ะ และดำเนินตามท่านราบรื่น ๆ ไปอย่างงั้นนะ ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็เถียง มีเหตุมีผลที่จะควรเถียง ถ้ายังไม่ลงใจตรงไหนก็เถียง ไม่มีผิดพลาดเลยนะท่านใส่ตรงไหนเปรี้ยง

          อย่างสมาธินี่ก็เหมือนกัน สมาธิของเรามันเก่งจริงๆ ว่างั้น  มันเต็มภูมิมา อยู่ไหนอยู่ได้หมดเลย ความคิดความปรุงมันกวนใจ นั่นเห็นไหม ตามธรรมดาของจิตนี้ไม่ได้คิดไม่ได้นะ มันกวนใจเหมือนกัน มันอยากคิดอยากปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอด กิเลสตัวอยู่ภายในมันผลักดันออกมาให้อยากคิดอยากปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่อิ่มไม่พอ นี่เป็นความคิดที่กิเลสอยู่ภายในใจเรานี่แหละ มันผลักดันออกมาทางเรื่องของกิเลสให้คิดให้ปรุง ให้แต่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่หยุด ไม่จบไม่สิ้น หิวโหยตลอดเวลาด้วยความอยากคิดอยากปรุง ทีนี้เวลาธรรมระงับเข้าไป มันอยากคิดไม่ให้คิด ให้คิดกับธรรม

          อันนั้นเป็นเรื่องความคิดของกิเลส ความคิดความปรุงต่าง ๆ อันนี้ให้เป็นความคิดของธรรม เอาธรรมเข้าไปแทน คือความคิดเรียกว่าสังขาร สังขารเป็นฝ่ายกิเลสก็มี สังขารเป็นฝ่ายธรรมก็มี สังขารเป็นฝ่ายธรรมเช่นเราคิดตอบรับกันกับสังขารของกิเลส ความคิดคิดพุทโธ ธัมโม หรือสังโฆเป็นความคิดทั้งนั้น แต่เป็นฝ่ายธรรมดับความคิดของกิเลสได้ เวลามันอยากคิดอยากปรุงนั้น เราก็เอาความคิดนี้แทนเข้าไป บังคับให้คิดอยู่กับอันนี้ ไม่ให้คิดกับเรื่องของกิเลส ครั้นต่อไปทางนู้นก็อ่อนลง ๆ ทางนี้ก็ค่อยหนาแน่นขึ้น หนาแน่นขึ้น นั่น แล้วจิตก็ค่อยสงบ สงบด้วยความคิดของธรรม

          นั่นเห็นไหม สังขารอันเดียวกัน ก็เหมือนมีดเล่มเดียวกัน เอ้า เอาไปฟันแตงโมมากินก็ได้ ฟันหัวคนก็ได้ใช่ไหมละ แล้วแต่ผู้ที่จะจับไปฟันทางไหน ความคิดนี่เหมือนกันคิดไปทางกิเลสทำลายตัวเองก็ได้ คิดไปทางอรรถทางธรรมเพื่อส่งเสริมตัวเองก็ได้ นั่น เมื่อคิดทางธรรมมากเข้า ๆ ความสงบมันก็มากขึ้น ๆ ทีนี้เวลาบำรุงส่งเสริมหนักเข้า ๆ ความสงบนี้มีกำลังมาก เลยไม่อยากคิด คือคิดมันกวนใจแล้วทีนี้นะ แต่ก่อนไม่ได้คิดไม่ได้มันกวนใจ ทีนี้คิดไปอีกแบบหนึ่ง มันกวนแบบหนึ่งก็ถือว่าดีเสีย พอจิตสงบแล้วความคิดของกิเลสทั้งหลายมันกวนใจ ไม่อยากคิด

          เวลาจิตสงบเต็มที่แล้วอยู่ไหนอยู่ได้หมด ไม่คิดไม่ปรุงมีแต่ความรู้ที่เด่นอยู่ ความรู้นี้รู้อันเดียว เอกจิต เอกธรรม เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์อันเดียวคือความรู้เด่น อยู่ไหนสบายได้หมดเลย จะนั่ง จะยืน จะเดินที่ไหนสบายหมด จิตไม่กวนเสียอย่าง เดียว จิตไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายสบายหมด นี่มันก็เห็นแล้ว ทีนี้เวลามันสงบมาก ๆ เข้ามันติด เราอยู่นั้นเราสบายทั้งวันไม่อยากยุ่งกับอะไรเลย ถือเป็นความสบาย จนกระทั่งถึงได้คิดในบางครั้งว่า นิพพานจะอยู่ที่นี่ คือมันลงแน่วลงไปแล้วมันรู้อันเดียวเด่น มันก็เลยว่านิพพานจะอยู่ที่นี่ ทีนี้ก็จ่ออยู่นั้น จะนิพพานอะไร กินปลาทั้งก้างนิพพานอะไร ก้างมันเต็มอยู่ในปลา สมาธิมันอมไว้หมด พิษภัยก็อยู่ในนั้น กิเลสอยู่ในนั้น เป็นแต่เพียงว่ากิเลสมันสงบตัวเฉยๆ จะมาเอาเป็นนิพพานได้ยังไง

          นี่เวลาท่านจะเอา ทีแรกท่านก็ถามเรื่อย ๆ ท่านถามมานานนะ ท่านอนุโลมมาหลายปีอยู่นะ ถาม “เป็นยังไงท่านมหาจิตสงบดีอยู่เหรอ” “ก็บอกสงบดีอยู่” ว่างั้นเลย บทเวลาท่านจะเอา “เป็นยังไงจิตท่านมหาสงบดีเหรอ” “สงบดีอยู่” โอ๋ย ผางออกมาเลย นั่นเห็นไหม “ท่านจะนอนตายอยู่นั่นเหรอ” ขึ้นเลยนะ ท่านบอกว่า “ท่านจะนอนตายอยู่นั่นเหรอ ท่านรู้ไหมว่าสมาธิเป็นเหมือนหมูขึ้นเขียง ขึ้นแล้วมันไม่อยากลง” ว่างั้นนะ จ้ำเข้าไป “เข้าถึงสมาธิทั้งแท่งเป็นสมุทัยทั้งแท่งท่านรู้ไหม ๆ” นี่ซิ ตอนมันได้เถียงกัน สมาธิทั้งแท่งเป็นสมุทัยทั้งแท่งท่านรู้ไหม ๆ เหอ ทางนี้ก็เถียง ถ้าว่าสมาธิเป็นสมุทัยแล้วสัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหน มันก็มีในมรรคแปดใช่ไหมละสัมมาสมาธิ อ๋อ “สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นสมาธิหมูขึ้นเขียงเหมือนสมาธิท่าน ท่านมีเวลาเข้าเวลาออก เวลาพินิจพิจารณา อันนี้เข้าไปตายอยู่บนเขียง นี่เหรอสัมมาสมาธิน่ะ” ก็หมอบ เหอ นี่เหรอสัมมาสมาธิน่ะ หมูขึ้นเขียงนี่เหรอ หมดท่า

          ไล่ออกซิ “สมาธิไม่ได้ถอนกิเลสนะ ปัญญาต่างหากนะ” นั่นเอาละทีนี้จะดึงออกทางด้านปัญญา เพราะเห็นว่าสมาธิมันพอตัวแล้ว ถกเถียงท่านหลายแง่หลายกระทง จนกระทั่งลงมาแล้ว เอ๊ นี่เราก็มาถือท่านเป็นครูเป็นอาจารย์กราบไหว้บูชาอยู่ทุกวัน มอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหาท่าน แล้ววันนี้มาถกมาเถียงท่านยังไง เหมือนนักมวยแชมป์เปี้ยน เรามันเก่งกล้าสามารถมาจากไหน ว่าเจ้าของนะ ถ้าเราเก่งกล้าขนาดนี้จะมาหาท่านทำไม เจ้าของว่าเจ้าของเองนั่นแหละ คือมันยังไม่อยากลงตรงไหน มันฝืนอยู่ในนั้นละ เช่นให้ออกทางสมาธิ คือออกจากสมาธิ ออกทางด้านปัญญา ออกทางปัญญามันเป็นความคิด แต่นี้ละเรียกว่าคิดเป็นธรรม คิดทางด้านปัญญาเป็นความคิดเป็นธรรม

          ออกทางด้านปัญญาพินิจพิจารณา อนิจฺจํ  ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง เหล่านี้มันเป็นความคิดทั้งนั้น แต่ความคิดทางด้านปัญญาเรียกว่าความคิดเป็นธรรม มันไม่อยากออก มันติดอยู่ในความแน่ว มันรำคาญไม่อยากออก ลากออกไปละซิทีนี้ ท่านบอกว่าสมาธิไม่ได้ถอนกิเลสนะ ปัญญาต่างหากนะถอนกิเลส ว่างั้น นี่ละถึงออกไปพิจารณา พอไปพิจารณา พอออกไปพิจารณานี้ก็มันเต็มที่แล้วภูมิของสมาธิ คือความสงบใจนี่หนุนปัญญาได้เป็นอย่างดี แต่เราไม่นำมาหนุนมาใช้เฉย ๆ ก็อยู่กับสมาธิ เท่าไรมันก็อยู่ของมัน

          พอออกจากสมาธิ ก้าวทางด้านปัญญามันก็รู้แปลก ๆ ต่าง ๆ แย็บ ๆ เอ๊ ชอบกล ๆ นั่นละทีนี้นะ ก็มันเต็มที่แล้วหมุนไปทางไหนมันก็ไป มันไม่ได้หิวได้โหยมีอารมณ์อื่นใดมาแย่งไป เพราะมันอิ่มอารมณ์แล้ว จิตอิ่มอารมณ์คือไม่อยากดู ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยินได้ฟัง ไม่อยากคิดเรื่องอะไรทั้งนั้น เรียกว่ามันกวนใจ เวลาใช้ทางด้านปัญญาทีแรกมันคิดมันปรุงออกมานี้มันก็เป็นการกวนใจ เพราะมันยังไม่ได้เหตุได้ผลเจ้าของ พอคิดออกไปมันก็ได้เหตุได้ผล ทีนี้มันก็ก้าวแหละ ก้าวอย่างรวดเร็วด้วยนะ เพราะสมาธิพอแล้ว ก้าวไปก็พุ่ง ๆ เลย ไม่กี่วันละกลับมาหาท่านอีก

          นี่ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ให้พิจารณา นี่มันพิจารณาแล้วนะเราก็ว่างั้น มันพิจารณายังไง ก็มันไม่ได้นอนทั้งคืนทั้งวันนี่ ว่างั้นแหละเรา ก็มันเป็นอย่างงั้น เวลามันได้พิจารณากลางคืนมันไม่ยอมนอน หมุนติ้ว ๆ เลย กลางวันมันก็ยังไม่นอนอีก นั่นละมันหลงสังขาร ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้ นั่นละบ้าหลงสังขาร นั่นท่านย้ำ ทีแรกว่ามันหลงสังขาร ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้ นั่นละบ้าหลงสังขารย้ำเข้าอีก คราวนี้หยุดชะงักนะไม่เถียงท่าน เพียงแค่นั้น มันคงจะถูกตามท่านดังที่เคยผ่านมาแล้ว แต่มันก็ไม่ถอยนะ มันหมุนของมัน แต่เวลามันจะตายจริง ๆ มันก็หมุนเข้ามาสู่สมาธิ คือปัญญาที่ใช้เลยเถิด ความเลยเถิดเรียกว่าหลงสังขาร แต่เราไม่รู้แต่ก่อน เวลามันผ่านมันก็รู้ของมันเอง อ๋อ เป็นอย่างนี้เอง ยอมรับ แน่ะ

          จากนั้นก็ปัญญาออกก้าวเดินนี่หมุนติ้ว ๆ ๆ กิเลสที่มันหลบมันซ่อนอยู่ที่ไหน   ปัญญาเป็นผู้คุ้ยเขี่ยขุดค้นขึ้นมาให้เห็น ๆ สมาธิไม่เห็น สมาธิไม่ขุดค้น ปัญญานี้ขุดค้นมันก็เห็นละซิ ฆ่ากิเลสได้เป็นลำดับลำดาเพราะปัญญาละทีนี้ ลงแล้วทีนี้ จึงได้หมุนหนัก ท่านพูดตรงไหนเป็นอย่างงั้นนะ ท่านให้รั้งจิตเข้าสู่สมาธิ แต่เรามันเพลินกับการพิจารณาแก้ไขกิเลส เวลาผ่านไปแล้วมันก็รู้ อ๋อตรงนั้น อ้อมไปตรงนี้ ตรงนั้นขรุขระ  ตรงนั้นราบรื่น การพิจารณาของเจ้าของมันก็รู้หมด ผิดตรงนั้นถูกตรงนี้รู้ไปโดยลำดับ เวลามันผ่านไป ตอนที่ยังไม่ผ่านต้องอาศัยท่านเบิกทางให้ นี่พูดถึงเรื่องมีครูมีอาจารย์ ไม่มีไม่ได้นะ

          นี่เด็กคนนี้แกภาวนาจิตใจแกผาดโผน (โยมชาวอินโดนีเซียที่มาภาวนาในวัดป่าบ้านตาด) เวลามันออกรู้มันรู้เหมือนตาเห็นแกว่างั้นนะ เหมือนตาเราเห็น มองเห็น อะไรเห็นอย่างงี้เห็นภายในจิต มองเห็นผู้เห็นคน เห็นสัตว์ อะไรมองไปที่ไหนเห็น นี่มันเป็นขึ้นในจิต คือตานะเห็น ตาใจนะไม่ใช่ตานี้เห็น หลับตานี้ภาวนามันมองไปมันเห็น มันสว่าง อย่างนี้จะเป็นได้บางคนตามนิสัย อย่างที่หลวงปู่ฝั้นท่านว่า ท่านก็แบบเดียวกัน นั่งภาวนาอยู่จิตมันสว่างไสวไปทั่วทั้งวัด ท่านว่า ท่านอยู่วัดท่านาเวง มันสว่างหมด มันเหมือนเราลืมตาดูท่านว่า ทั้ง ๆ ที่เรานั่งภาวนาอยู่มันเหมือนลืมตาดู

          แล้วมองไปที่ไหน ต้นไม้ต้นไหนมองไปเห็นชัดเจนนี้ แล้วมองไปนี้ก็เห็นละกอมันสุก ท่านว่างั้นนะ มันเห็นจนกระทั่งละกอสุก ท่านว่างั้นนะ อยู่ในวัด มันอยู่หลัง ๆ ไปอย่างงั้น มันไปมองเห็นจนกระทั่งละกอสุก แล้วมันก็ไม่สงสัยแต่เพื่อเป็นพยาน ออกจากที่แล้วตอนเช้าไปดูละกอสุกจริงๆ อย่างงั้นแหละตา ตาใจเวลามันไปเห็นมันเห็นอย่างงั้น นี่ท่านเล่าให้ฟังเอง มองไปที่ไหนมันก็เห็นเหมือนตาเราเห็น มองไปเห็นหมด แล้วมองไปเห็นจนกระทั่งเห็นละกอสุกมันสุกอยู่บนต้น เอ๊นี่ละกอสุกมันก็เห็น ท่านว่างั้นนะ พอตอนเช้าออกจากที่ท่านก็เดินไปดู ละกอลูกนั้นละสุกจริง ๆ ก็เหมือนเราดูอันนี้แล้ว ตื่นขึ้นก็ไปดูอีกก็ต้นเสา อันนั้นก็เหมือนต้นเสานี่และ ละกอสุกอยู่บนต้น นี่เรียกว่านิสัยต่างกัน ท่านเห็นแบบเด็กคนนี้แหละเห็น เวลามันเปิดออกมันเห็นหมดเลย

          วันนี้ไม่พูดอะไรมากแหละมันเหนื่อยนะ พูดเพียงเท่านั้นมันก็พอพูดอะไรนักหนา เทศน์เรื่อย ร่วม ๖ ปีแล้วนี่ มิหนำซ้ำเวลานี้ยังออกทางอินเตอร์เน็ตอีกทั่วโลกอีก ทีนี้เริ่มละปัญหาเริ่มมา เราได้พูดแล้วว่าการเทศนาว่าการในการช่วยชาติคราวนี้รู้สึกบกพร่องทางปัญหาเราว่า ไม่มีใครถามปัญหาก็ไม่มีแง่ที่จะตอบให้เป็นคติ คือการตอบปัญหา เรื่องปัญหานี้มันเป็นจุด ๆ การเทศน์ไปกลาง ๆ แต่ปัญหาที่ถามมาตอบไปนี้มันสะดุดใจนะ เป็นจุด ๆ แล้วอาจจะไปถูกกับจริตของใคร ๆ ๆ ได้เรื่อยไป

          ตอนนี้ก็เริ่มมาแล้ว ตอนเช้าพอเทศน์จบอยู่ที่วัด ปัญหาอินเตอร์เน็ตก็มา มาเล่าเรื่องภาวนาให้ฟัง ทางนี้ก็แก้ไปตามนั้นเลยให้เขาฟัง นั่นละเวลาภาวนาเข้าไปมันหากเป็นนะจิตนะ ถ้าไม่ได้ภาวนาเรื่องเหล่านี้จะออกมาพูดไม่ได้ เพราะมันไม่รู้ไม่เห็น เวลาเราภาวนาละมันจะเจอกัน เมื่อเจอกันแล้วสิ่งที่ข้องใจก็ต้องนำมาถาม สิ่งใดที่ไม่ข้องใจก็ไม่ต้องถามกัน ทีนี้เวลามีตอบกัน ๆ ผู้ฟังมันก็ได้รับความเข้าใจ นี่ก็เริ่มออกแล้ว ดูเหมือนแทบทุกเช้านะที่วัดป่าบ้านตาดมีปัญหามาถาม เช้าหนึ่ง ๆ เช้าละสองรายบ้าง สามรายบ้าง ถามมาเราก็ตอบไปในนั้นในอินเตอร์เน็ตตอบให้เขาฟังด้วย คนอื่นฟังด้วยเป็นประโยชน์ แต่ก่อนไม่มีปัญหาถามมันก็ไม่ออก ถ้ามีถามมันก็ออกเป็นลำดับลำดา แล้วแต่ปัญหาในแง่ใด ที่ถามมาในแง่ใดก็ตอบไปตามแง่ของปัญหาที่ถามมา

          เราจึงอยากให้บรรดาพี่น้องชาวพุทธเราได้สงบใจ เรียกว่าสงบทุกข์ไปด้วยกันด้วยการภาวนา เราจะรับทุกข์ที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่มีทางระงับได้ แต่การส่งเสริมทุกข์นั้นทั้งวันทั้งคืนมีอยู่ทั่วดินแดนด้วยความคิดความปรุงของจิต กับเรื่องนั้น กับสิ่งนั้น สิ่งนี้ ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก ใครก็คิดก็หมายในสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากได้อันนั้น อยากเห็นสิ่งนี้ อันนั้นพอใจ อันนี้ไม่พอใจ มันจะยุ่งอยู่ภายในจิต นี่ความคิด คือมันคิดแต่ละครั้ง ๆ นี่มันสร้างความทุกข์มาแต่ละอย่าง ๆ ไม่น้อย ที่นี้เราจะระงับมันวิธีไหนระงับไม่ลง เพราะไม่รู้วิธีระงับ มันก็ต้องคิด มันก็ต้องปรุงเผาเจ้าของอยู่งั้นตลอดไป ปล่อยให้กิเลสคิด ก่อไฟขึ้นมาแล้วดับไม่ลง นั่น

          ทีนี้เวลาเรามาฝึกหัดภาวนา จิตของเรามันคิดมากเพราะอะไร ก็เพราะปล่อยให้กิเลสมันออกเดินด้วยอิสระของมัน ทีนี้เอาภาวนาเข้าห้ามไม่ให้มันคิดเรื่องนั้นมาก เรื่องเหล่านี้คิดเป็นเรื่องฟืนเรื่องไฟเผาไหม้โลกสงสารมาตลอดแล้ว ไม่มีที่ยุติ ที่ยุติ ที่สงบ ที่ยุติอยู่ที่การระงับความคิดเหล่านี้ด้วยการภาวนา เพราะงั้นจึงต้องเอาคำภาวนาเข้ามา เบื้องต้นนี่มันรุนแรงนะ เราจะเอาคำภาวนาเข้ามามันปัด ๆ มันไม่ยอมให้ภาวนา มันจะให้คิดเรื่องของมันอย่างเดียวกิเลส เราก็ฝืน มันไม่ให้ภาวนาเราก็ภาวนา บังคับไว้ สติจับไว้กับคำบริกรรม เช่น พุทโธ หรือธัมโม ตามแต่จริตนิสัยชอบ บังคับไว้ที่นั่น

          ครั้นหนักเข้า ๆ นานเข้าหลายวันเข้าอันนี้จะค่อยสงบ คำบริกรรมกับสตินี้จะค่อยติดกันเข้าไป พอติดกันเข้าไปเรื่องความคิดนั้นมันจะจางไป เพราะจิตนี้จะทำหน้าที่อันเดียวเท่านั้น เวลาคิดเรื่องกิเลสก็ปล่อยเรื่องธรรม คิดเรื่องธรรมก็ปล่อยเรื่องกิเลส มันทำหน้าที่อันเดียว เมื่อเราหมุนเข้ามาทางด้านธรรมะเสียกิเลสก็ว่างงาน เราก็ทำธรรมะภาวนาขึ้นไป จิตค่อยสงบ ๆ พอสงบแล้วมันก็เห็นโทษแห่งความยุ่งเหยิงวุ่นวายของตัวเองที่กิเลสก่อขึ้นมาได้ในเวลานั้น ๆ และเห็นคุณค่าของความสงบนี้ขึ้นมาในขณะเดียวกัน

          ทีนี้มันก็มีพอฟัดพอเหวี่ยงกัน พอเทียบเคียงกัน เราก็หนักทางด้านภาวนาจิตจะค่อยสงบลง นี่คือที่ดับทุกข์ ทุกข์เกิดที่หัวใจของสัตว์โลก ไม่ได้เกิดที่ต้นไม้ ภูเขา ดิน ฟ้า อากาศ ฟ้า แดด ดิน ลม ที่ไหนทุกข์ไม่เกิด ไม่มี มีแต่ตัวจิตนี้มันไปคิดไปปรุง  สร้างทุกข์ขึ้นมาจากหัวใจเพราะหัวใจไปคิดไปปรุง สร้างขึ้นมาที่นี่ ทีนี้เวลาระงับก็มาระงับที่หัวใจ ไม่คิด เราเอาความคิดที่เป็นอรรถเป็นธรรมเข้าแทนที่ เช่นความคิดเป็นธรรม ภาวนาพุทโธ หรือธัมโม อะไรก็แล้วแต่เถอะ นี่เป็นสำคัญ ให้สติอยู่กับนี้ บังคับนี้แล้วมันจะระงับทุกข์ภายนอกทั้งหลายนะ ที่ไม่เคยระงับเลยละมันจะค่อยระงับตัวมันเข้ามา ๆ อันนี้จะค่อยเด่นขึ้น

          พอจิตสงบมากเท่าไรยิ่งเห็นโทษแห่งความคิดปรุง ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟมาแต่ก่อนมากเข้าเท่านั้น ๆ ต่อไปความรู้อันนี้มันก็เด่นขึ้น พอวันไหนมีงานมาก จิตมันยุ่งมาก เอ้อ วันนี้จิตยุ่งมากเหลือเกินไม่เอา หมุนเข้าหาภาวนาระงับอันนั้นเสีย นั่นมันก็มีที่ระงับได้ เวลาระงับมีอย่างงั้น มันก็มีที่ระงับได้ ต่อไปจิตมันยุ่งเหยิงวุ่นวายมากน้อยมันก็รู้ในตัว รู้ในตัว ระงับมันด้วยการภาวนา นี่ละเรียกว่าระงับดับทุกข์ที่ถูกต้องตามทางเดินของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เรียบร้อยแล้ว เราจะระงับทุกข์เฉย ๆ ธรรมดาไม่มีใครระงับได้ ไม่มีทาง เพราะกิเลสไม่เคยพาสัตว์โลกให้ระงับทุกข์นะ มีแต่เสริมทุกข์ทั้งนั้น ธรรมนี้ระงับทุกข์

          กิเลสขึ้นทางนั้น ๆ ก่อไฟขึ้นทางนั้น เอาธรรมเป็นน้ำดับไฟก่อขึ้นทางนี้ พรากทางนั้นออกเอาพุทโธเข้าไป คือคำบริกรรมอะไรก็แล้วแต่ เช่น ผู้กำหนดอานาปานสติให้จิตอยู่กับนั้นด้วยสติ มันก็สงบไป ๆ สงบมากเข้า ๆ ดังที่เคยว่าน่ะ ความคิดความปรุงไม่อยากคิด รำคาญมันกวน ความคิดไม่เกิดประโยชน์ ปรุงเปล่า ๆ รำคาญ อยู่กับนี่เสีย อยู่กับนี่สบาย ดีถึงยังไม่ถูกทางตามลำดับก็ตาม ระยะนี้ถูก ถ้าติดอันนี้ก็ผิด เช่น อย่างติดสมาธิไม่อยากคิดอยากปรุง อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นว่าให้เรา ถ้าติดมันก็ผิด ถ้าไม่ติดไม่ผิด เป็นที่พักของจิต จากนั้นก็ออกทางด้านปัญญาพิจารณาเรื่องของโลกทั้งหลายที่มันหมุนตัวรอบด้าน

          เขาไม่ได้มีความหมายในเขานะสิ่งเหล่านั้น ใจนี้ต่างหากไอ้ตัวคึกตัวคะนอง ตัวนี้ว่าเป็นจอมฉลาดแล้วก็ตัวจอมโง่ที่สุด ไปหมายอันนั้นว่าเป็นอย่างงั้น หมายอันนี้ว่าเป็นอย่างนี้ ไปชมอันนั้น ไปตำหนิอันนี้ มีแต่จิตดวงเดียว เพราะรู้เรื่องของจิตเป็นผู้ดื้อดึง เป็นผู้คึกคะนอง เท่านั้นก็ระงับมันเข้ามา มันก็ไม่คิดมาก ไม่คิดมากมันก็ไม่สร้างทุกข์ให้มาก สร้างธรรมขึ้นมาก ๆ ความสงบเย็นก็มากขึ้น ๆ ต่อไปก็เย็นไปเรื่อย นี่คือที่ดับทุกข์ เราจะไปดับทุกข์ด้วยวิธีใดไม่มีทาง มีเท่านั้น ท่านถึงสอนให้อบรมภาวนา มันจะทุกข์มากน้อยเพียงไรระงับได้ทั้งนั้น เอาให้ได้ เอาให้ได้ละ  

 

ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาตามกำหนดการ ได้ที่

www.Luangta.com  หรือ www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก