เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖
มหาเหตุอยู่ที่จิต
ทองคำคราวนี้รู้สึกจะพอสมควรนะ สมเหตุสมผลกับที่ว่าคราวนี้ต้องเน้นหนัก คือเน้นหนักคราวนี้เผื่อข้างหน้า ถ้าไม่หนักคราวนี้ข้างหน้าจะหนัก สำหรับดอลลาร์ไม่เท่าไร สะเปะสะปะไปก่อน ส่วนทองคำนี้ปักลงๆ เรื่อย เงินสดมีเท่าไรๆ ที่หมุนมาจากที่ไหนๆ เข้าบัญชีๆ เราหมุนออกๆ เพื่อทองคำ ที่โอนมาจากที่ไหนๆ เข้าบัญชีๆ เราก็เอาออกจากบัญชีซื้อทองคำๆ เร่ง ระยะนี้เร่งมากทองคำ เงินสดนี้พอได้มาปั๊บเร่งออกๆ หาทองคำๆ เลย ทองคำอยู่ในคลังหลวงเวลานี้ ๖,๗๐๐ กิโล สำหรับดอลลาร์ได้ ๘,๒๕๕,๘๑๙ ดอลล์ ที่เข้าแล้ว ๘ ล้านเต็ม ส่วนทองคำได้ทั้งหมด ๗,๒๙๘ กิโล
ให้พากันดูจิตใจให้มากนะพี่น้องทั้งหลาย หลักใหญ่ที่จะท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารนี้คือใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ท่องเที่ยว ร่างกายไม่ได้ไป พอจิตออกนี้ปั๊บก็ลงธาตุเดิมของมัน นี้เป็นส่วนผสม มีจิตมาเป็นเจ้าของอยู่นี้ก็เรียกว่าสัตว์ว่าบุคคล พออันนี้ออกแล้วอันนี้จะสลายลงตามธาตุเดิม ไม่มีอะไรจะหมุนต่อไปละ เขาหมุนลงธาตุเดิมของเขาแล้วก็อยู่ ส่วนจิตนี้หมุนตลอด หมุนด้วยอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่ว จิตนี้พาไป ดีชั่วพาไปสูงและต่ำไปตลอดนะ เพราะฉะนั้นจึงให้มองดูใจนะ เราอย่ามองดูแต่สิ่งภายนอก ลืมใจที่จะสมบุกสมบัน ไม่เหลียวแลไม่ได้นะ เหล่านี้ไม่ไปไหนนะ ใครมีกองเท่าภูเขาก็เท่านั้นแหละ เวลาตายแล้วร่างกายก็ทิ้งอยู่นี้ อันนั้นสมบัติเท่าภูเขาก็ทิ้งอยู่นั้น ให้เรารู้จักประมาณในการรับผิดชอบตัวเรา ทั้งร่างกายและจิตใจ
รับผิดชอบร่างกายเราก็วิ่งเต้นขวนขวาย เราอยู่อย่างนี้ก็ต้องวิ่งเต้นด้วยกันทุกคน แต่อย่าวิ่งเต้นจนลืมเนื้อลืมตัวกับสิ่งภายนอกโดยถ่ายเดียวโดยไม่เหลียวแลดูใจเลยนี้เสียมากนะ ให้ดูทั้งสอง ที่หนักมากก็คือดูจิตนี้แหละสำคัญ ตัวนี้จะพาไป ตัวนี้จะพาให้พ้นทุกข์ ตัวนี้จะพาให้จม อันนี้เรามาอาศัยเขาชั่วระยะ ชีวิตของเรามีอยู่เท่านั้นก็อาศัยเขาไปๆ ให้เรากำหนดไว้อย่างนี้ทุกคนๆ ปฏิบัติต่อตัวเองต้องให้รู้ทั้งส่วนวัตถุและนามธรรมคือจิตใจ วัตถุได้แก่ร่างกาย อะไรควรแก่ร่างกาย อาหารการบริโภค ที่อยู่ที่อาศัย ต้องหามาด้วยกันเป็นความจำเป็นในระยะที่มีชีวิตอยู่นี้ ต้องหาด้วยกันทุกคน ให้ทราบ แล้วเรื่องของจิตใจที่จะหมุนตัวตลอดเวลานี้ ให้ทราบอันนี้มากเป็นพิเศษ
ยิ่งจวนจะตายเท่าไรเรารีบเปิดออกๆ เดี๋ยวเราตายแล้วไม่ใช่คุย จะไม่มีใครพูดอย่างนี้อย่างง่ายๆ นะไม่ใช่เล่นๆ นี่ตามติดจิตมาตั้งแต่จิตเริ่มเป็นสมาธิ เริ่มรู้ว่า อ๋อ จิตเป็นอย่างนี้ ร่างกายเป็นอย่างนั้น คือจิตอยู่ภายใน จิตเป็นสมาธิคือสงบตัวเข้ามา มาเป็นผู้รู้เด่นอยู่ท่ามกลางอก ไม่ได้อยู่นะข้างบนข้างล่าง อยู่ท่ามกลางอก สงบแล้วก็ยังผ่องใสสง่าตามขั้นของจิต พอจิตเริ่มสงบเข้าไปก็เริ่มมีความเย็นใจสบายใจ นี่เรียกว่าธรรมเริ่มครองใจแล้วนะ สงบมากเดี๋ยวก็เกิดความผ่องใสขึ้นมา จากนั้นก็เป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นมาตามขั้นของธรรมที่มีในจิต นี่แหละได้ติดตามได้เริ่มทราบเรื่องจิตมาตั้งแต่จิตเป็นสมาธิ จิตอยู่ภายในร่างกาย อยู่กับกายก็ตามแต่ไม่ใช่ร่างกาย รู้ได้ชัดเลย อ๋อ นี่จิตเป็นอย่างนี้ ส่วนนั้นเป็นส่วนร่างกาย เพียงขั้นนี้ก็เริ่มรู้จิตแล้ว แต่ก่อนไม่รู้ เป็นอันเดียวกันหมดเลย หมดทั้งร่างเรานี้ความรู้นี้เต็มตัว ออกไปทางไหนสัมผัสรู้ๆ กระแสของจิตออกมามันก็รู้ล่ะซี
เวลาจิตเข้าเป็นตัวของตัวตามขั้นตามภูมิแล้ว กระแสของจิตออกมาทั้งนั้น อะไรสัมผัสปั๊บกระแสของจิตออกมาตามประสาทส่วนต่างๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีความรู้แทรกเข้ามาเป็นเจ้าของๆ ตาเพื่อดู หูเพื่อฟัง นี่เป็นเครื่องมือประสาทส่วนต่างๆ ทีนี้เวลาจิตละเอียดเข้าไปๆ นี้ยิ่งละเอียด ส่วนร่างกายยิ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายเข้าไปเลย เป็นหลักธรรมชาติไม่ต้องไปถามใครนะ หากรู้อยู่ในตัวเองๆ ไม่ต้องไปถามใคร พอจิตเป็นสมาธิสงบแน่ว สว่างไสวเต็มตัวของสมาธิเท่านี้ก็เป็นความอัศจรรย์อันหนึ่ง ร่างกายรู้ชัดเจนเลยว่าไม่ใช่อันเดียวกัน นี่ละมันรู้ชัดอย่างนี้ ชัดเจนในขั้นสมาธินะ ทีนี้พอก้าวขึ้นสู่ขั้นปัญญา ปัญญาจะบุกเบิกเพิกถอนสิ่งที่หยาบ สิ่งที่ควรแก่ปัญญาออกเรื่อย ๆ ๆ ๆ ทีนี้ยิ่งแหลมยิ่งคมเข้าไป ส่วนใดส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด จิตจะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะรู้ว่าเป็นส่วนเหล่านั้น ไม่ใช่อันเดียวกับจิต ที่นี่ยิ่งแยกออกเรื่อยนะ แยกเรื่อยๆ
นี่ละที่ว่าตัวก้าวเดินคือตัวจิต มันแยกออก ๆ อยู่ที่ไหนมันจะเป็นของมัน แยกของมันออกเรื่อย ๆ ละเอียดลออเข้าไป ๆ จนกระทั่งมันหมดส่วนร่างกาย ร่างกายนี้หมดความยึดมั่นถือมั่น คือที่ว่าร่างกายไมใช่เราในขั้นสมาธินี้ ไม่ใช่เราก็จริงแต่ยังยึดอยู่นะ ไม่ได้หมายถึงว่าไม่ยึดนะ รู้เฉย ๆ ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ร่างกาย แต่ยังยึดกันอยู่ หากรู้ว่าเป็นคนละส่วน ทีนี้พอก้าวเข้าสู่ปัญญา ขั้นของร่างกายนี้หมดปัญหาไปด้วยการพิจารณา ทีนี้ไม่ยึดร่างกาย หมดปัญหา การพิจารณาเรื่องอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา หมดไปตาม ๆ กันกับคำว่าไม่ยึด พอพอแล้วมันก็ปล่อย
จากนั้นก็เป็นนามธรรม นามธรรมคือพวก เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้เกี่ยวกับจิตล้วนๆ ร่างกายไม่เกี่ยว การพิจารณาเรื่องเหล่านี้หมดปัญหาไป พิจารณาร่างกาย เรื่องความเกิดความตายของร่างกายนี้หมดปัญหา มันจะไปเห็นความเกิดความดับของขันธ์ทั้งสี่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เรียกว่าเกิดว่าตาย เรียกว่าเกิดว่าดับ ส่วนร่างกายนี้ว่าเกิดว่าตาย มันหยาบ พอเข้าไปถึงนั้นแล้วว่าเกิดว่าดับ เกิดมาจากไหน แล้วไปอยู่ยังไง มันจะวิ่งเข้าถึงจิต ๆ นั่นละรังใหญ่ของภพ เวลาเราตัดทางเดินอันหยาบนี้ออกแล้ว ทางเดินอันหยาบคือร่างกายนี้ มันพาให้สัตว์ที่ติดยึดอยู่ในร่างกายนี้พาให้สัตว์เกิดสัตว์ตายหมุนตลอดเวลา เต็มตัวๆ
พอจิตถอนออกจากนี้แล้ว ก็ยังเหลือตั้งแต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เข้าขั้นปล่อยกายแล้ว จนกระทั่งปล่อยกายแล้ว ทีนี้คำว่าเกิดว่าตายก็หายไป เหลือแต่ความเกิดความดับของจิต มันตามเข้าไปๆ จิตดวงนี้เป็นพื้นฐานนะ เป็นแก่นอยู่นั้นเลย นี่ที่ว่าจิตไม่สูญ มันเด่นของมันอยู่ในนั้น ยิ่งเปิดอะไรออกแล้วยิ่งเห็นจิตนี้เด่น ๆ ๆ ตัวท่องเที่ยวตัวนี้เด่น พอออกจากนี้ปั๊บมันจะไปเลย อำนาจแห่งความดีก็พุ่งเลย อำนาจแห่งความชั่วก็พุ่งลง ทางความดีพุ่งขึ้น
พอเข้าถึงขั้นนั้นมันจะดับภพดับชาติ มันไม่มีทางเดิน คืออวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั้นตัวใหญ่ของภพของชาติ อยู่นั้นหมด มันอาศัยร่างกายเป็นทางเดิน เป็นเครื่องมือทุกสิ่งทุกอย่าง พออันนี้ถูกตัดลงไป ส่วนกายถูกตัดลงไปๆ ก็ยังเหลือแต่นามธรรม มันก็เกิดก็ดับ มันก็ใช้ของมันอย่างนี้ แล้วถูกตัดเข้าไปๆ จนกระทั่งไปถึงตัวมัน พอถึงตัวแล้วพังลงเลย ตัวนั้นขาดสะบั้นลงไปเท่านั้น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ขาดสะบั้น พออวิชชาขาดสะบั้น ภพชาติขาดสะบั้นไปพร้อมกันไม่มีอะไรเหลือ ที่จะไปเกิดในภพนั้นภพนี้สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง จากอวิชชาพาให้หมุนตัวเดียวเท่านี้ดับลง ไม่มีอะไรเหลือเลย นั่นละท่านว่า จิตดวงนี้เป็นธรรมธาตุแล้ว สูญได้ยังไง แต่ไม่ท่องไม่เที่ยวที่ไหน เป็นธรรมธาตุเลิศเลอสุดยอด อยู่จุดนี้นะ
นี่ที่ท่านว่านิพพานๆ ธรรมชาตินี้พอตัวแล้ว สุดยอด เรื่องอดีตอนาคตไม่มี เคยเกิดมายังไงๆ จะไปเป็นอารมณ์กับการเกิดก็ไม่มี แล้วการเกิดการตายข้างหน้าเป็นยังไงอีก อารมณ์ก็ไม่มี ปัจจุบันก็ไม่มี ทั้งสามนี้เป็นสมมุติ ธรรมชาตินั้นไม่ใช่สมมุติ ผ่านไปหมดแล้ว ธรรมชาตินี้ท่านว่านิพพานเที่ยง ทีนี้จิตดวงนี้ตั้งแต่บัดนั้นตลอดเลยที่นี่นะ อนันตกาล เรียกว่าหมดทุกข์โดยสิ้นเชิงตลอดไปเลย ท่านจึงเรียกว่านิพพานเที่ยง โลกสงสารจะมีความทุกข์ความลำบากลำบน หมุนไปด้วยอำนาจวัฏจักรคืออวิชชาพาให้เป็นไปมากน้อยเพียงไร มันก็เป็นเรื่องวัฏจักรของบุคคลที่มีกิเลส มันก็ต้องหมุนไปอย่างนี้ ส่วนธรรมชาติอันนั้นพ้นไปแล้วไม่มีอะไรหมุน
นี่พระพุทธเจ้าที่พ้นไปโดยสิ้นเชิง และพ้นไปตลอดกาล กับเห็นพวกเราทั้งหลายเกิดแก่เจ็บตาย หมุนไปเวียนมา สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่มีต้นแล้วยังไม่แล้ว ยังไม่มีปลายอีกว่าจะไปยุติเมื่อไรไม่มี อันนี้ท่านจึงสลดสังเวชเอามากทีเดียว จึงท้อพระทัย เพราะกิเลสตัวสำคัญ รสชาติไม่มีอะไรเกินกิเลส ในวงวัฏจักรนี้กิเลสเป็นผู้มีอำนาจ กิเลสออกช่องไหนพอใจทั้งนั้นๆ เพราะฉะนั้นสัตว์โลกจึงเพลินอยู่กับกิเลส ไม่อยากหลุดพ้นออกจากทุกข์ เพราะมันมีกำลังมาก ถ้าไม่มีธรรมแทรกเข้ามาปั๊บอย่างนี้แล้ว กิเลสมันจะเอาให้จมอยู่นี้ตลอดไปไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย เพราะรสชาติมันมากกล่อมไปได้หมด โกรธแค้นให้เขามันก็ยังพอใจโกรธจะว่าไง อะไรถ้าลงกิเลสได้แทรกแล้วพอใจทั้งนั้นๆ พอธรรมแทรกเข้าไปปั๊บ ต่างกันแล้ว แยกกันออกแล้ว
ทีนี้พอจิตแยกจากสมมุติโดยสิ้นเชิงแล้วมันก็เห็นได้ชัดเจน แยกจากสมมุติก็คือถึงขั้นบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว หมดปัญหาโดยประการทั้งปวงไม่มีอะไรเหลือเลย นั่นละท่านว่านิพพานเที่ยง ธรรมธาตุนี้เลิศเลอ เลิศเลอสุดยอดอยู่ที่นั่น คือเลิศเลอนอกสมมุติ ไม่ได้อยู่ในวงสมมุติ ความสุขความทุกข์ทั้งหลายอยู่ในแดนสมมุติทั้งนั้น ความสุขอันนั้นท่านให้ชื่อว่าบรมสุข อันนี้ยังหยาบอยู่นะคำว่าบรมสุข ธรรมชาติอันแท้จริงยังเหนือนี้อีก แต่โลกเขามีสมมุติ ต้องตั้งชื่อว่าบรมสุข สุขอย่างยอดเยี่ยม นี้ยังหยาบอยู่นะ ธรรมชาติที่ทรงไว้นั้น ดูธรรมชาติที่ว่าบรมสุขนี้หยาบ อันนั้นเหนืออันนี้อีก พูดอะไรไม่ออกเลย พูดไม่ได้แต่เจ้าของไม่สงสัย แย็บออกเป็นสมมุติแล้ว แย็บออกมากน้อยเป็นสมมุติแล้ว ธรรมชาตินั้นพอตัวแล้ว ไม่ควรแย็บไม่ต้องแย็บ พูดง่ายๆ เอาอย่างนี้ดีกว่านะ คือไม่แย็บเลย พอตลอดเวลา นี่ละธรรมที่เลิศเลอ
ผู้ที่จะถึงธรรมขั้นนี้แล้ว ต้องเป็นผู้ฝ่าฝืนกิเลส กิเลสนี้ตัวกล่อมมากที่สุด แหลมคมมาก อ้อยอิ่งมากทีเดียว เวลาผ่านไปแล้วถึงได้เห็นโทษของมัน ที่ว่าอ้อยอิ่งมากที่สุดนี้เอาธรรมชาตินั้นดู มันเหมือนกับงูเห่างูจงอาง สามเหลี่ยม ไอ้พวกที่ว่าอ้อยอิ่งนี่นะ นอนคลอเคลียกันอยู่กับจงอางกับสามเหลี่ยมอย่างนี้ หลับครอกๆ อ้อยอิ่งที่สุดนะ ทีนี้เวลาผ่านไปแล้วมันถึงรู้ ตั้งแต่ขั้นที่ท่านจะหลุดพ้น เช่นอย่างคว้าใส่นิพพานที่ว่าหวุดหวิดๆ นี้ท่านก็พอตัวแล้ว นั่นเห็นโทษกิเลสขนาดนั้นแล้ว คือดิ้นนี่ไม่ใช่อะไร ดิ้นจะหนีจากสามเหลี่ยมจงอางนั่นเอง เข้าใจไหม นี่ที่ท่านหวุดหวิดๆ ท่านบืน ความเพียรไม่มีกลางวันกลางคืน คือเห็นคุณของธรรมนี้ก็เต็มหัวใจ แล้วเห็นโทษของตัวสามเหลี่ยมนี่ก็เต็มหัวใจ เมื่อทั้งสองอย่างนี้เข้ามาเต็มหัวใจ ใจอยู่ได้ยังไง ใจจะออก ต้องดีดทีเดียว ดีดตลอดเวลาๆ การดีดอันนี้จึงเรียกว่าความเพียร ถ้าว่าก็ว่าความเพียรเพื่อพ้นทุกข์ ความเพียรกล้า คือยังไม่พ้นก็ว่าเพียรเพื่อพ้น ถ้าธรรมดาปรกตินี้จะเรียกว่าเพียรยังไง ก็มันหมุนตายอยู่แล้ว เข้าใจไหม มันเลยทุกอย่างแล้วจะไปเรียกอะไรว่าเพียรอีก จนได้รั้งเอาไว้ นี่มันหมุนขนาดนั้นนะ ถึงขนาดรั้งเอาไว้
แล้วไปถามใคร มันเป็นอยู่ในหัวใจนะ ถึงเวลามันเห็นโทษเห็นขนาดนั้น เห็นโทษของวัฏวน เห็นโทษแห่งความเกิดแก่เจ็บตายที่กลมกลืนไปกับทุกข์ทั้งหลายนี้ท่านเห็นขนาดนั้น เห็นเองนี่นะถึงขั้นเห็นแล้ว หมุนติ้วๆ ๆ เลย ทีนี้เวลาถึงนั้นแล้วจึงมามองดูอันนี้ ท่านจึงท้อพระทัยไม่อยากสั่งสอนสัตว์โลก คือประหนึ่งว่าสุดวิสัยที่จะมีใครเชื่อถือและตะเกียกตะกายไปด้วยได้ว่างั้นเถอะ แต่มาพิจารณานี้มี แน่ะ ส่วนที่จะตะเกียกตะกายไปยังมี ไม่ใช่มืดไปเสียหมด ที่แทรกอยู่ในนั้นยังมี ดังที่เคยเทียบให้ฟัง ภูเขาทั้งลูกมองไปมืดตื้อ มีแต่หินผาหน้าไม้หาสาระไม่ได้ก็ท้อใจซี ทีนี้เวลาดูเข้าจริงๆ ภูเขาลูกนี้มันจะมีตั้งแต่หินผาหน้าไม้ที่ไร้สาระอย่างเดียวเหรอ แร่ธาตุต่างๆ ที่มีค่ามีคุณไม่มีบ้างเหรออยู่ในภูเขานี้ พิจารณาเข้าไป มี นั่น แร่นั้นแร่นี้ แร่ตะกั่ว แร่ดีบุก แร่อะไรจนถึงแร่ทองคำ เพชรพลอยอะไรมีอยู่ในภูเขาลูกนี้ ไม่มากก็มี
คือคนดีมีอยู่ในคนมืดดำทั้งหลาย อยู่ในคนชั่วทั้งหลายมีอยู่ แต่ไม่มาก จึงเทียบได้ว่าขนโคกับเขาโค มีอยู่แต่ขนาดเขาโค จะว่าไม่มีไม่ได้ ก็เขาโคมันมีอยู่นี่ นอกนั้นเป็นขนโค ๆ ไป เอาเขาโคนี่แหละออก เขาโคมีเท่าไรเอาออกหมด นี่ละท่านท้อพระทัย เวลาพิจารณาไปเห็นก็ต้องทนทรมานสั่งสอนสัตว์โลกเพราะมีอยู่ ตรัสรู้มาเพื่อสั่งสอนสัตว์โลก จะไปไหนไม่สั่งสอน คุ้ยเขี่ยขุดค้นดูด้วยพระญาณหยั่งทราบ เห็นว่า อ๋อ มี ท่านถึงได้เอาละที่นี่ผู้ที่รออยู่ก็มี เหมือนอย่างสัตว์ที่อยู่ปากคอก เช่น วัวมันอยู่ปากคอกรอที่จะออกอยู่ก็มี มันปีนอยู่แล้วมันจะออกก็มี พอเปิดประตูคอกปั๊บผึงเลย ๆ นี่ผู้มีอุปนิสัยแก่กล้า
ในระยะที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้นั้น ผู้มีอุปนิสัยที่รออยู่ปากคอกมีมากต่อมาก เพราะฉะนั้นเวลาตรัสรู้ผึงถึงได้ไหลกันออกๆ เป็นขั้น ๆ ไหลกันออกแล้วก็หนุนกันออก ไหลกันออกหนุนกันออก ตัวอยู่ที่กลางคอกก็ทั้งจะไปข้างหน้า ทั้งจะมาข้างหลัง ท่านบอกว่าพวกเนยยะ พวกนี้ทั้งจะไปทั้งจะมา สู้กัน คือเรานี้ต้องประกอบความพากเพียรสู้กับกิเลส มีแพ้มีชนะอยู่นั้น ทั้งจะขึ้นทั้งจะลงเข้าใจไหม นี่ละเอาตรงนี้ปัจจุบันเรา คือจิตเรามันก็เป็นอย่างงั้นจริง ๆ ในขั้นนี้มันเป็นอย่างงั้น ขั้นนั้นเป็นอย่างงั้น ขั้นที่มันไม่เอาไหนเลยก็มี
ทีแรกชวนไปวัดไปวายังโกรธให้เขา ฟังซิ อย่างโยมคนหนึ่งที่อยู่จันท์เราไม่ลืมนะ แกมาเล่าให้ฟัง โอ๊ย แกโมโหให้แก แกโมโหจริง ๆ เราดู โมโหให้ตัวของแกเอง เวลาจิตของแก่สง่างามผ่องใสขึ้นมาแล้ว แกจึงเห็นโทษของแก เขาเดินผ่านมาบ้าน ว่างั้นนะ เขาจะไปวัด เขาก็ชวนไปวัด อู๊ย เคียดแค้นให้เขาเลยเชียว เคียดแค้นจริง ๆ เหมือนอย่างว่าเป็นคู่กรรมคู่เวรให้เขา ถ้าหากว่าเป็นอย่างอื่นตามฆ่า แกว่างั้นนะ ถ้าเป็นอย่างอื่นให้เคียดแค้นอย่างนี้แล้วตามฆ่าเลย แต่นี้เขาชวนไปวัด มันอะไรก็เขาชวนไปวัด แล้วไปเคียดไปโกรธให้เขาทำไม เราไม่ไปเขาก็ไม่ได้บังคับบัญชา ทำไมจึงไปโกรธให้เขา
พูดแล้วดูลักษณะของแกนี้ แหม แกโมโหให้แกนะ นี่จิตเวลามันหนา มันหนาอย่างนี้นะ จิตดวงนี้นะ แกว่างั้น แกพูดอย่างชัดเจน ทีนี้เวลาเห็นครูบาอาจารย์มาก็สนใจอยากฟังอรรถฟังธรรมท่าน ครั้นได้ฟังอรรถฟังธรรมท่านแสดง ก็พระกรรมฐานนี่ ฟังธรรมรู้สึกว่ามีคติภายในจิตใจ ไปทำการทำงานคิดถึงอรรถถึงธรรมขึ้นมาแล้วอยากภาวนา ทีนี้เวลาภาวนามันก็เป็นละซิ จิตของแกสว่างไสว มองเห็นใจคนอื่น พอพูดอย่างนี้ก็เคยพูดให้ฟังแล้วไม่ใช่เหรอ ท่านสิงห์ทองกับเรานั่งอยู่ด้วยกัน ท่านสิงห์ทองเป็นพระขี้ดื้อ แกก็นั่งอยู่นี่คุยกัน
ครั้นเวลาเราไปนั้นแกสั่งลูกแกเลยละ สูอย่ามายุ่งกับกูนะ อย่ามาเป็นอารมณ์กับกู นี่ท่านอาจารย์มากูจะไปหาท่านอาจารย์ ถ้าท่านอาจารย์ไม่กลับเมื่อไรกูอยู่โน้นเลย สูไม่ต้องเป็นอารมณ์กับกูนะ สั่งแล้วมาเลย แล้วถ้าเราอยู่เท่าไรแกก็อยู่นั้นละ แกไม่ไป ทีนี้เวลาแกมาเล่าภาวนาให้ฟัง เรื่องจิตใจมันมองไปเห็นหมด นั่นเห็นไหมล่ะ สง่างามมาก จึงมาเห็นโทษของเจ้าของตอนนั้น แหม เวลามันมืดมืดจริง ๆ สาโหดจริงๆ แกว่า เวลานี้ดูแล้วมันดูไม่ได้จิตดวงเดียวนะ พูดถึงเรื่องจิตใจของใครแกก็รู้ ๆ ท่านสิงห์ทองก็ขี้ดื้อปากเปราะ แล้วจิตของอาตมาเป็นยังไง ว่างั้น จิตของท่านยังไม่พ้น ผ่องใสดีแต่ยังไม่พ้น
ไอ้เรามันก็ไม่มีอะไรเราไม่ถามอะไร ไม่เหมือนจิตท่านอาจารย์ แน่ะ แกรู้แล้วนะ ไม่เหมือนจิตท่านอาจารย์ นี้พ้นหมดแล้ว ทางนี้แฮ่ ๆ ท่านสิงห์ทอง ฟังซิน่ะ เราก็ไม่ว่าแกจะทายไม่ทายเราก็ไม่ว่า ไม่มีใครจะรู้ยิ่งกว่าเรารู้เราอยู่แล้วใช่ไหม จำเป็นอะไรต้องให้คนอื่นมาทาย นี่แกทายก็ว่าตามเรื่องของแก แกพูดถึงว่า ของท่านยังไม่พ้น แต่ก็ละเอียดมากแล้ว แกว่างั้นนะ ละเอียดมากแล้วแต่ยังไม่พ้น ไม่เหมือนจิตท่านอาจารย์ท่านพ้นไปแล้ว ว่างั้นนะ แกตอบเองพูดเองของแก เราไม่เคยพูดอะไร เราเฉย ก็ใครจะไปรู้เรื่องเรายิ่งกว่าเรา ก็สอนแกใครเป็นคนสอนถ้าไม่ใช่เรา แน่ะ ฟังเอาตรงนั้นซิ
นี่ละพูดถึงเรื่องจิตเวลามันหยาบเป็นอย่างงั้นนะ แกพูด โห เป็นลักษณะโมโหจริงๆ นะ โมโหเคียดแค้นให้ตัวเอง จิตดวงนี้ละ เวลามันเป็นกิเลสประเภทหนึ่งมันก็รักก็ชอบ พอใจจะตามฆ่าเขาได้ ฟังซิน่ะ พอธรรมจับเข้าปั๊บนี้มันเห็นโทษเรื่องจะตามฆ่าเขา ตัวคนเดียวใจดวงเดียวนั้นแหละ นี่ละมันเปลี่ยนได้นะ ฝึกได้ เพราะฉะนั้นจึงพากันฝึกนะ อย่าปล่อยเลยตามเลย กิเลสจะไม่มีถอยตัวนะ เราอ่อนเมื่อไร กิเลสจะหนักเข้าทุกที เพราะกิเลสรออยู่ตลอดเวลา เราต้องได้หมุนของเราเรื่อย ๆ อย่าอ่อนข้อกับมัน
ทีนี้เวลาเราฝึกเข้าไป ๆ มันไม่ใช่จะลำบากลำบนอยู่ตลอดเวลานะการต่อสู้กับกิเลส เวลากิเลสหนามันก็หนัก ทีนี้สู้ไม่ถอย ๆ กิเลสก็ค่อยเบาลง ธรรมมีกำลังมากขึ้น ธรรมก็หนักขึ้น ๆ ต่อไปก็เบิกกว้างๆ อย่างที่ว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ เห็นไหม ไม่ได้หลับได้นอนเลยฟังซิ มันเพลินขนาดนั้น ไม่หลับไม่นอน กลางวันกลางคืนมีแต่จะหมุนตลอดท่าเดียวเท่านั้น เห็นโทษมากไหมกิเลส เห็นโทษของกิเลส และเห็นคุณค่าของธรรมเห็นมากไหม เข้ากันเลย เพราะฉะนั้นมันถึงอยู่ไม่ได้
จึงได้เป็นห่วงพี่น้องทั้งหลาย เรามันจวนตายแล้วนะ ให้จำคำนี้ให้ดี คำนี้ไม่ใช่คำโกหก เป็นคำที่แน่นอนแม่นยำถอดออกจากหัวใจสอนท่านทั้งหลาย เราเป็นมาทุกอย่างแล้ว การสอนจึงไม่ผิดไป จึงให้พากันอุตส่าห์พยายาม การภาวนา วิธีการใดที่จะเป็นความสะดวกสบายในจิตใจ ให้ถือความสะดวกในจิต การภาวนาสะดวกนั้นมากกว่าอย่างอื่นนะ สมมุติว่าเรานั่งมาก เดินมาก ยืนมาก ด้วยการพิจารณามีสติด้วยกัน ทางไหนมีผลมากกว่ากัน เอ้าภาษานี้ท่านตั้งให้แล้วตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย โบร่ำโบราณเราว่ากิน ตั้งชื่อมาทำไม ต้องตั้งชื่อมาให้เรียกใช่ไหม เราว่ากินผิดไปไหน ปู่ย่าตายายบรรพบุรุษของเราตั้งมาให้แล้ว ให้กินให้นอน เรานี้ โอ๋ย ให้กิเลสทำเป็นสวยเป็นงาม บ้าไปเลย รับทานอย่างนั้นอย่างนี้ บ้าไปอย่างนี้ ปู่ย่าตายายเราตั้งมาแล้วว่ากินๆ นอนก็นอน ตรงไปตรงมา เราเอาชื่อของท่านที่ตั้งมาแล้วมาเรียกกันเป็นไร
สมมุติว่ากินมากเป็นยังไง กินน้อยเป็นยังไง และไม่กินเป็นยังไง ให้สังเกตตัวเอง วิธีการที่จะเอาจิตที่มีคุณค่ามาก เอาธรรมที่มีคุณค่ามากซึ่งถูกกิเลสมันปิดมันบังนี้ ต้องได้ใช้ความสังเกตนะ สิ่งเหล่านี้มีแต่กิเลสทั้งนั้นหว่านล้อมไว้หมด กินมากกิเลสชอบ นอนมากกิเลสชอบ ขี้เกียจมากกิเลสชอบ ธรรมไม่ชอบ เราจึงต้องเอาธรรมจับเข้าไป กินมากเป็นไร กินมากภาวนาไม่ดี แสดงว่าถ้ากินมากแล้วภาวนาอ่อน กิเลสเหยียบภาวนา เอ้า ถอยออก กินแต่น้อย อย่างนั้นเข้าใจไหมล่ะ นอนมากนอนน้อย กิเลสมันเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ เราไม่เห็นนี่นะ บทเวลาปฏิบัติมันถึงรู้ เมื่อรู้แล้วก็ค่อยแก้กันไป เอาขนาดไหนพอดี สมมุติว่าผ่อน เอ้าผ่อนแล้วภาวนา
หลักใหญ่ที่เราจะยึดได้คือสตินะ ถ้าสติล้มผล็อยๆ เดินจงกรมทั้งวันก็เดินเถอะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าลงสติตั้งไม่ได้ตั้งไม่ดีแล้ว ถ้าสติตั้งดีๆ อยู่อิริยาบถไหนเป็นความเพียรทั้งนั้น ทีนี้สติจะดีนี้มักจะขึ้นอยู่กับร่างกายอ่อนนะ ถ้าร่างกายมีกำลังมันเสริมกิเลสตัณหาขึ้น แล้วสติล้มผล็อยๆ พอผ่อนอาหารลงไปสติตั้งได้ๆ ผู้ที่ผาดโผนก็ผาดโผน ที่อยากได้ให้สมมักสมหมายก็อดนะ ไม่ต้องกินมันละ ฟัดกันเลย มันก็เคยเป็นมาแล้วถึงได้มาพูดเต็มปาก ครั้นเวลาอดมันก็จริง แต่มันจะตายซิร่างกาย ทางจิตนี้ดีดๆ เราฝึกอย่างนั้นนะ
ตอนนี้เป็นอย่างนี้เอาเสียก่อน ทุกข์ก็ยอม เราอยู่ในบ้านในเรือนเราก็ผ่อนอยู่ตามกำลังของเพศของเรา เราไม่ได้ทำแบบพระก็ขอให้เป็นแบบลูกศิษย์มีครู จึงเรียกว่าแบบมีอารักขา มีการรับผิดชอบตัวเอง อย่าปล่อยเลยตามเลย ต้องการอะไรก็เอาตามเลยๆ เป็นกิเลสทั้งหมดแล้วจมนะ ให้ใช้ความพินิจพิจารณาทุกคนๆ นี้ละการฝึกจิต จิตเป็นของไม่ตาย เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลอยู่ที่จิต ถ้าได้รับการอบรมเหลียวแลจากเจ้าของแล้ว จะเห็นชัดเจนในตัวเองโดยไม่ต้องไปถามใคร นี่ละให้เราสังเกตดู ถ้าสติดีตรงไหนแล้วนั่นละวิธีการถูกแล้ว สติดีนี้วิธีการต่างๆ ถูกแล้ว กับการเดินมากเดินน้อย นอนมากนอนน้อย กินมากกินน้อย อะไรที่ทำให้มีสติดีอันนั้นแหละดี ให้เลือกเอาอย่างนั้น ต่อไปก็ดีขึ้นๆ
ทีนี้พอจิตมีกำลังแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ผ่อนก็ดี แต่มีช้าต่างกันเท่านั้นเอง ที่จะให้เอนให้เอียงให้ล้มให้เหลว ไม่ล้ม จิตที่มีหลักแล้วไม่ล้ม แต่เวลามีการเสริมเช่นอย่างเราเคยผ่อนอาหารมาอย่างไร เรามีหลักมีเกณฑ์ทางจิตใจแล้ว เราก็ผ่อนเราก็อดมันก็ยิ่งเร็วขึ้นๆ ถ้าหากว่าเราไม่ผ่อน มันไปได้ของมันอยู่ ให้ล้มเหลวไม่ล้มเหลว แต่มีช้าต่างกัน แน่ะมันต่างกันยังไงเราก็รู้ ทีนี้ใครอยากช้าล่ะ ใครอยากจะกลิ้งไป มันก็ต้องเดินต้องวิ่งละซี อดหนา เข้าใจไหม มันก็ไปได้
เหล่านี้หลวงตาได้ทำมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นจึงกล้าพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟังว่า การฝึกทรมานนี้เราเรียกว่าหนักสุดยอดเราแล้วในชีวิตของเรา ก็เคยได้พูดให้ฟังแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรๆ พอแย็บออกมามันถึงรู้ทันที เพราะเราผ่านมาหมดแล้ว และสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำไม่สงสัยเสียด้วยนะ แม่นยำๆ เพราะผ่านมาหมด ผิดก็เป็นครู ถูกก็เป็นครู เราผ่านมาหมดแล้ว ผู้ปฏิบัติทั้งหลายมาศึกษาอบรมกับเราเป็นยังไง พอแย็บออกมามันจะเข้าใจทันทีๆ ให้พากันอบรมนะ
จิตนี้สำคัญมาก ให้ดูเสมอกันนะ ทางส่วนวัตถุความเป็นอยู่ปูวาย เราก็ปฏิบัติดังที่เราเคย วิ่งเต้นขวนขวาย ธาตุขันธ์นี้มีความบกพร่องต้องการตลอดเวลา ต้องเยียวยารักษามัน เราก็ขวนขวาย ทีนี้จิตเรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเจ้าของอยู่นั้นได้ดูหรือยัง อันนี้สำคัญมาก เรียกร้องไม่ใช่เรียกร้องธรรมดา ประหนึ่งว่านรกโบกมือหาเรา จิตใจเรายังไม่ขาดยังไม่ลง ทางนรกก็โบกมือหาเรา อันนี้เรียกร้องแล้วนะ แล้วทางสวรรค์ชั้นพรหมกระทั่งนิพพานก็โบกมือ เราจะไปทางไหน จะไปทางโน้นหรือจะไปทางนี้ เอา เราเป็นผู้ตัดสินซี นั่นพิจารณาอย่างนั้น ดีชั่วอยู่กับตัวของเรา เหมือนหนึ่งว่าเรียกร้องเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไปทางชั่ว ทางชั่วดึงไปเลย ถ้าเราไปทางดี ทางดีดึงไปเลย จึงเรียกว่าดีและชั่วโบกมือคอยเราอยู่ตลอดเวลา จำเอานะ
วันนี้พูดเพียงเท่านั้นให้จำเอา เราเป็นห่วงในเรื่องการภาวนาของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่มาอาศัย ให้ตั้งใจภาวนาเถอะ ขอให้จิตมีความสงบร่มเย็น อยู่ที่ไหนก็สบาย ๆ คนเรา ยิ่งมีความสงบมาก เย็นมากเท่าไร จิตมีความสง่าผ่องใสขึ้นเท่าไรยิ่งเรื่อย ๆ อยู่ไหนสบายหมด
โยม (กราบเรียนถามปัญหาภาวนา) หลวงตาขาหนูขออนุญาตกราบเรียนถามเรื่องภาวนาค่ะ
หลวงตา ถามอะไร เอ้า ว่ามา
โยม หนูภาวนาภาวนาโดยการที่ดูข้างในตลอดข้างในตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับดูความคิดดูอารมณ์ที่เกิดทั้งดีทั้งไม่ดี และก็คอยใช้ธรรมะคอยใช้เหตุผลตามแก้ แล้วหนูก็พิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้าค่ะ แล้วหนูก็เชื่ออย่างเช่น ที่บอกว่าคนเราเป็นธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ได้เป็นตัวเราคือหนูเชื่อในเหตุผล แต่ว่าบางทีเวลาอารมณ์อะไรต่าง ๆ เกิดขึ้น ความโกรธเกิดขึ้นพิจารณาความเชื่ออย่างเดียวมันไม่ทัน มันจับอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ทัน หนูก็เลยใช้บังคับข้างใน ไม่ให้เคลื่อนไหว อย่างสมมุติพอหนูรู้ปุ๊บว่าความโกรธกำลังจะเกิด หนูจะบังคับข้างในให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ให้เคลื่อนไหว ไม่ว่าอารมณ์อะไรต่าง ๆ ทุกอย่าง ทั้งอารมณ์ดีใจ เสียใจ โกรธ คือหนูจะใช้บังคับข้างในให้นิ่งอยู่ตลอดเวลา คือว่าหนูเชื่อแล้วในเหตุผลต่าง ๆ แต่ว่าถ้าหากว่าปล่อยให้มันเกิดขึ้นมาความคิดมันตามไม่ทัน หนูเลยจับข้างในให้นิ่งเอาไว้แทน เพราะหนูเห็นโทษว่าถ้าปล่อยให้อารมณ์ต่าง ๆ เกิดจิตใจมันจะเศร้าหมอง ถึงแม้บางทีมันจะดีใจหรือเสียใจมันจะเศร้าหมอง หนูก็เลยไม่สนใจ หนูใช้จับอย่างเดียว จับข้างในไม่ให้เคลื่อนไหว หนูเชื่อเหตุผลทุกอย่าง แต่ถ้าใช้พูดสอนตัวเองมันไม่ทันกับอารมณ์ที่เกิด
หลวงตา เออ เข้าใจ
โยม หนูทำแบบนี้ หนูมีความสงบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ทำมาค่ะ เวลานี้ก็กำหนดมากขึ้น รู้สึกจิตใจข้างในก็มั่นคงมากขึ้น แล้วก็มีความสุขมากขึ้น แต่ว่าบางครั้งที่หนูจับมันจะรู้สึกอึดอัดแน่น เพราะว่าหนูพยายามจับข้างในตลอดค่ะ ไม่ทราบว่าที่หนูทำถูกหรือเปล่า แล้วเวลาพิจารณาค่ะหลวงตา หนูจะใช้ดูกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างในและตามแก้ ตามเหตุการณ์เหล่านั้น สอนตัวเองตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ว่าไม่ได้พิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เหมือนอย่างที่หลวงตาเคยเทศน์ว่า ถ้าพิจารณาอสุภะก็พิจารณาอสุภะอย่างเดียวตลอด พอออกจากสมาธิก็พิจารณาอสุภะ ถ้าเกิดว่าจิตใจเริ่มอ่อนแรงก็เข้าสมาธิใหม่แล้วก็ออกมาพิจารณาเรื่องเดิม แต่หนูไม่ได้ทำอย่างนั้น คือหนูดูข้างในว่าถ้ามีอะไรเกิดหนูก็ตามแก้เรื่องนั้น ทำอย่างนั้นตลอดตั้งแต่ตื่นจนหลับ แล้วหนูไม่เคยนั่งสมาธิได้จิตรวมค่ะ แต่หนูค่อย ๆ สงบขึ้นเป็นลำดับตามวิธีที่หนูปฏิบัติ ไม่ทราบว่าหนูปฏิบัติถูกหรือเปล่า
หลวงตา ที่ทำอย่างนี้ถูกต้องแล้ว ความสงบของจิตที่เป็นพื้นฐานควรจะมีนะ ก็คิดดูซิ ตั้งแต่เราคิดอะไรแก้อะไรไม่ทันเรายังต้องเข้ามาบังคับให้มันหยุดนิ่งเสียก่อนใช่ไหมล่ะ นิ่งก็คือความหยุดเข้าใจไหม แล้วสมาธิ เวลามันนิ่งก็เรียกว่าสมาธิ จิตอยู่กับที่คือยับยั้งเอาไว้ ทอดสมอเอาไว้ ทีนี้พอทางนี้มีกำลังก็ออกตามพิจารณาทางด้านปัญญา ดังที่พิจารณาถูกต้องแล้วนะ ถูกต้องแล้ว แต่ที่พูดว่าหลวงตาพิจารณาอะไรให้พิจารณาแต่อันนั้นๆ นั้นหมายถึงหลักใหญ่ที่ท่านดำเนิน ไม่ใช่ท่านพิจารณาแต่อสุภะ อะไรมาก็ไม่สนใจจะมีไม่มี ไม่ใช่เข้าใจไหม เวลาจะแยกรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็มีเข้าใจไหม แต่เวลาปรกติส่วนใหญ่ท่านจะทำอย่างนั้น ๆ เวลาอะไรเข้ามาเคลือบมาแฝงที่จะตอบรับกันยังไง ๆ มีอีกอย่างหนึ่งเข้าใจไหม มันต้องวิ่งรับกัน ๆ ๆ เข้าใจแล้วเหรอ พิจารณานี้ถูกต้องแล้ว แต่เรื่องฐานของจิตเรื่องความสงบนั้นควรจะให้มีนะ คิดดูตั้งแต่เวลาเหตุการณ์ต่าง ๆ มันทนไม่ไหวต้องมายับยั้งคือบังคับจิตไม่ให้คิดใช่ไหมล่ะ ให้อยู่กับที่นี่ละ เราภาวนาเพื่อจิตรวมสงบให้อยู่กับที่ นี้ก็เพื่อเป็นพลังต่อเหตุการณ์ทั้งหลายนั่นเอง เข้าใจเหรอ นี่ละหลักใหญ่อยู่ตรงนี้
โยม แต่หนูไม่เข้าใจอีกอย่างค่ะหลวงตา คือหนูพิจารณาธรรม หนูเชื่อแล้วในเหตุผล คือหมายความว่าพิจารณา อย่างเช่น ที่บอกว่าร่างกายก็เป็นธาตุสี่ หนูก็เชื่อ อย่างความโกรธหรืออารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปหนูก็เชื่อ แต่สงสัยว่าจะเป็นเชื่อที่สมองหรือว่ายังไงไม่ทราบ คือหนูเชื่อแล้ว หนูก็เลยใช้จับอย่างเดียวไม่สอนแล้ว อย่างนี้ผิดไหมคะ
หลวงตา ถ้าอย่างนั้นมันก็เป็นความเชื่อในความจำผสมกันไป ไม่ใช่เป็นความจริงล้วน ๆ ถ้าเป็นความจริงล้วน ๆ แล้วจะไม่ขึ้นสมองเลยจะหมุนติ้วนี้ ให้เข้าใจตรงนี้นะ ถ้าลงความเชื่อของเรามันขึ้นที่ตรงนี้ๆ มันไม่ไปสมองแล้ว เรียกว่าความเชื่อนี้เข้าสู่หลักความจริง ๆ ความเชื่อที่มันอยู่ในสมอง ๆ นี้เรียกว่า ความจำกับความจริงมันหมุนไปด้วยกันเข้าใจเหรอ เข้าใจแล้วนะ หรือยังไม่เข้าใจ เอ้า ว่ามา
โยม ยังไม่ค่อยเข้าใจ คือหนูเชื่อ หนูทำที่จิตด้วยค่ะ
หลวงตา เอ้า ที่พูดนี้ถูกต้องแล้วละ ถูกต้องตามขั้น ๆ ไปก่อน
โยม งั้นหนูทำแบบนี้ต่อไปตามแบบของหนูอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ใช่ไหมคะ
หลวงตา ถูกต้อง เอ้า ว่าไปเลย เวลาบังคับเวลาทำจิตให้สงบก็ให้สงบนะ ไม่ใช่จะมีแต่พิจารณาเรื่อยเปื่อยไปอย่างเดียว เวลาจะให้สงบก็ให้สงบซิ เข้าใจเหรอ ก็อย่าไปเลยครูเกินไปซิ สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา สมาธิเป็นฐานที่ตั้งที่จะให้เกิดปัญญา นั่น ฟังซิ ถ้ามีแต่ปัญญาจะให้ก้าวเดินอย่างเดียวฐานที่ตั้งไม่มี ปัญาญามันก็ล้มได้เข้าใจเหรอ นี่ละที่ท่านสอนไว้หลักใหญ่อยู่ตรงนี้
โยม แต่หนูบังคับบริกรรมหรือว่าให้สงบอย่างเดียวนาน ๆ ไม่ได้ค่ะ
หลวงตา ไม่ได้ ได้แค่ไหนก็เอา เข้าใจเหรอ เราไม่ได้บอกว่า ให้สงบจนกระทั่งตายไปด้วยกัน เราไม่ได้ว่าอย่างนั้นนี่นะ มันหาอุตริไปนี่ เข้าใจไหม มันได้แค่ไหนก็ได้ แต่อย่าลืมว่า ความสงบนี้เป็นฐานสำคัญที่จะให้หมุนทางปัญญาได้คล่องตัวเข้าใจไหม นี่ละหลักฐานอยู่ตรงนี้นะ คิดดูซิเราพิจารณาอะไรบางทีมันเหมือนอย่างว่า คีมเราคีบปั๊บมันหลุดปุ๊บ ๆ มันไม่ค่อยติดปั๊บ ๆ นี่แสดงว่าปัญญาเราหลุดลุ่ยไปบ้างแล้ว เข้าสมาธิห้ามเสียก่อน พอได้กำลังอันนี้แล้วออกทีหลังนี้จับติด ๆ เข้าใจไหม นี่เรียกว่าเข้ามาสั่งสมกำลัง เข้าใจ
โยม เวลาออกคิดหนูต้องปล่อยข้างในให้หมดไหมค่ะ คือหนูจะจับข้างใน แต่ว่าหนูทำ
หลวงตา ไม่ต้องมาถามให้ปล่อยข้างในให้หมดเลย มาถามอะไรอย่างนั้น มันเป็นความรอบตัวอยู่ในตัวเองนั่นแหละเรื่องอย่างนี้ เอาละ โธ่ เรื่องจิตเป็นของเล่นเมื่อไร ไม่มีใครดูจิตนี่ พุทธศาสนาเท่านั้นดูจิต นี่ละมหาเหตุอยู่ที่จิต ไฟบรรลัยกัลป์อยู่ที่จิต ลงจมนรกก็ออกจากจิตนะ ถึงพระนิพพานก็ออกจากจิตไม่ได้เหนือจากนี้นะ ไขว้คว้านู้นนี้ไม่มีความหมายอะไร ต้องให้หมุนมาที่จิตนี่ นี่ละศาสนาเอกคือพุทธศาสนาเอกทีเดียว ต้นเหตุแห่งความชั่วอยู่ที่ไหน ก็คือกิเลสมันอยู่ที่จิต ต้นเหตุแห่งความดีทั้งหลายจนถึงพระนิพพานได้แก่ธรรม ก็อยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นจึงต้องลงที่จิตนี้ เมื่อลงที่จิตนี้แล้วมันจะรู้ทั้งสองอย่าง เพราะจิตเป็นนักรู้อยู่แล้วเข้าใจแล้วเหรอ เอาละพอ วันนี้เอาแค่นั้นก่อน ไม่เอาอะไรมากมายวันนี้
เราอยากให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายได้ดูใจกันทั่วหน้า มันหากจะมีวันหนึ่งที่จะแสดงขึ้นมา เพราะลงเข้าจุดนั้นแล้วนี่นะ ถ้าลงว่าภาวนาแล้วเข้าจุดแล้วนะ ไม่วันใดก็ต้องวันหนึ่งจะเจอกันละเข้าใจไหม ข้าศึกอยู่ที่นั่น มหาคุณอยู่ที่นั่น จ่อลงไปนี้คือจ่อลงไป ๒ จุดนี้ ที่อยู่ใจอันเดียวกันนั้น ไม่เจอวันหนึ่งต้องเจอวันหนึ่งแน่นอน พระพุทธเจ้าเจอตรงนี้ สาวกเจอตรงนี้ เลิศตรงนี้นะ เทวทัตเลวตรงนี้เข้าใจไหม เอาละ ให้พร
ชมการถ่ายทอดสดทุกวัน ได้ที่
www luangta com หรือ www.luangta.or.th |