คลังแห่งธรรมอยู่ที่จิตตภาวนา
วันที่ 27 กรกฎาคม. 2546 เวลา 14:00 น. ความยาว 64.38 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมคณะวัดหินหมากเป้ง ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ [บ่าย]

คลังแห่งธรรมอยู่ที่จิตตภาวนา

 

         มาจากวัดไหนบ้าง (สามวัดครับผม วัดหินหมากเป้ง วัดวังน้ำมอก วัดถ้ำฮ้าน) น้ำมอก เราเคยไปหมดแล้วนะนี่นะ (หลวงปู่เคยไปถ้ำฮ้าน) แล้วน้ำมอก (น้ำมอกก็ติดกันอยู่ภูหน่วยเดียวกัน.) ก็นั่นละผมลืม ๆ เคยไปอยู่นะน้ำมอก เคยไปอยู่ น้ำมอกมีพระหลายวัดน้ำมอก (วัดน้ำมอก ๘ องค์) แล้วถ้ำฮ้านละ (ถ้ำฮ้านมี ๑๓) เอ ถ้ำฮ้านผมเคยไปแล้ว เห็นว่าดีอยู่นะ วัดน้ำมอกดูเหมือนไม่ได้ไปทั่วถึงนะ น่าจะไปเฉพาะ ถ้ำฮ้านนี้เที่ยวบ้าง แล้ววัดหินหมากเป้งล่ะมีหลายปานใด๋พระ (พระ ๓๐ เณร ๓ เป็น ๓๓) เขาเรียกวัดอะไรเทพธารทอง (ครับถัดกันไปเป็นวัดเทพธารทองนี่ ๗ หรือ ๘) อันนี้ไม่เคยไป เป็นแต่เพียงผ่านไปเฉย ๆ ผ่านไปตามลำโขง บ่เคยเข้า แล้วพวกญาติโยมเหล่านี้มาจากทางไหนกันบ้าง (วัดหินหมากเป้งค่ะ) เท่านั้นเหรอ หรือมีที่ไหนอีก

         ตอนเช้าเทศน์ทุกเช้าอยู่นี่นะ อันนั้นออกทางอินเตอร์เน็ตออกทั่วโลก เช่นอย่างพูดอย่างนี้ออกทั่วโลก เข้าเทปหรืออะไร มันเลยกลายเป็นเทศน์ทั่วโลกเป็นประจำทุกเช้า ๆ ออกทางอินเตอร์เน็ตนี้นานเท่าไรแล้ว (๗ เดือนแล้วครับ) เหรอ ออกทั่วไปหมด ๗ เดือน เราพูดอย่างงี้ก็ออก ๆ ทางเมืองนอกเขารู้สึกว่าตื่นเต้นกันมากนะ ธรรมะที่เราเทศน์นี้ เช่น อย่างสหรัฐนี้เป็นต้น เราเทศน์เขาจะได้ยินตอนเช้าเวลาเดียวกัน ๆ

         ส่วนเวลาอื่นผมไม่ทราบได้ แต่เวลาเช้านี้แน่นอนได้ฟังทั่วกันหมด หลายประเทศนะที่ฟังสด ๆ ร้อน ๆ จากเมืองไทย มีอันดับหนึ่ง อันดับสอง อันดับสาม ที่มีคนมาสนใจทางอินเตอร์เน็ตมาก ประเทศไหนต่อประเทศไหนเรามันจำไม่ได้ ระยะหลังมานี้มีถามปัญหามาด้วย เราก็ตอบปัญหาแล้วก็ออกไปถึงผู้ถามมาทางสหรัฐ ปัญหาจะมีดูเหมือนแทบทุกวัน ไม่มากก็น้อย ถามก็ถามเรื่องภาวนา เรื่องภาวนานี้เป็นจุดใหญ่ของพุทธศาสนาเรานะ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะพุทธศาสนานี้ขึ้นจิตตภาวนาเป็นรากฐานสำคัญของพุทธศาสนา แล้วกิ่งก้านออกไปนู้นก็มี

         แต่หลักใหญ่คือจิตตภาวนานี้ ชาวพุทธเราน่าจะไม่ค่อยรู้จักกัน รู้บ้างเล็กๆ น้อย ๆ แล้วผู้ทำก็ไม่มาก คือเกี่ยวกับเรื่องภาวนานี้เป็นการเปิดเผยพุทธศาสนาขึ้นจากผู้บำเพ็ญแต่ละราย ๆ โดยตรงเลย จะเห็นผลขึ้นในปัจจุบันคือการบำเพ็ญ ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ภาวนานี้จะเป็นจุดใหญ่ ถ้าผู้ใดมีภาวนาหนักมากน้อยเพียงไรแล้วก็การทำบุญให้ทานอย่างอื่นจะมีน้ำหนักในหัวใจของผู้ให้ทาน รักษาศีลนั้นมากขึ้น ๆ การให้ทานธรรมดาด้วยความเชื่อความเลื่อมใสจนกลายเป็นประเพณีนี้ ใคร ๆ ก็ทำได้ ไปที่ไหนมีทั่วไปสำหรับชาวพุทธเรา การรักษาศีลมีน้อยมาก การภาวนาไม่พูดถึงกันเลย นี่ละสำคัญ จุดใหญ่ไม่พูดถึงเลย ที่มันเสียเสียตรงนี้ละ

         ถ้ามีภาวนาแล้วก็เหมือนมีอ่างเก็บน้ำ น้ำไหลลงมามากน้อยมันก็เห็นท่วมท้นขึ้น มากเท่าไรในสระ ๆ ไม่อย่างนั้นมันก็ไหลกระจัดกระจายอยู่งั้น ไม่ค่อยรวมตัว เมื่อไม่มีแอ่งเก็บน้ำ คือแอ่งเก็บน้ำนี้สั่งสมกำลังวังชา ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความหนักแน่นในธรรมขึ้นจากจิตตภาวนา ทำให้การทำทานก็หนักแน่น รักษาศีลหนักแน่น กิจการงานอื่นใดก็ตาม ถ้ามีจิตตภาวนาแล้วจะหนักแน่นไปตาม ๆ กัน เรียกว่าเป็นคนมีเหตุมีผล ไม่ค่อยพล่ามพิ่มอะไรนะ พล่ามพิ่มๆ ธรรมดาทั่วไปเป็นอย่างงั้นชาวพุทธเรา ถ้ามีการภาวนาแล้ว คือมันมีจุดสะดุดใจนะ จะทำอะไร ๆ มี บอกไม่ถูกแต่ก็รู้อยู่ในเจ้าของ ผู้ภาวนานั้นแหละจิตอันนี้แหละจะสะดุด ควรไม่ควรมันจะเหมือนกับว่ากระตุกเจ้าของๆ

         นี่ละการภาวนาจึงสำคัญมาก ยิ่งภาวนาได้หลักได้เกณฑ์เข้าไปเท่าไร ความสะดุดใจจากจิตนี้จะรู้ ความเคลื่อนไหวดีชั่วประการต่างๆ นี้จะแสดงออกมาจากจิตของผู้ภาวนานั้นแหละ ถ้าธรรมดาเราไม่เคยสนใจกับจิตนี้มันก็ธรรมดาไปเสีย มันไม่สะดุด ถ้าจิตตภาวนามีแล้วมักสะดุดๆ แล้วละเอียดลออเข้าไปเรื่อย จะทำสิ่งใดก็ตามมักมีเหตุมีผล มีหลักมีเกณฑ์แน่นหนามั่นคงไปตามๆ กัน ส่วนมากมักจะไม่ค่อยทำความชั่วเหมือนคนทั้งหลายทำทั่ว ๆ ไป แล้วผ่อนเข้ามาๆ นี่ละจิตตภาวนาเตือนได้หลายทาง ดีไม่ดีตัดเลย เช่น อย่างศีล ๕ นี้บริสุทธิ์เข้าทันที นั่น เพราะจิตตภาวนา

         มันหากเตือนอยู่ในตัวนั้นแหละ เป็นอยู่ในตัวนะ ศีล ๕ รับไปธรรมดาเป็นอย่างหนึ่ง เช่น วันนี้รับศีล วันไม่รับศีลฆ่าดะ ขโมยดะ เผาดะไปหมด ศีล ๕ ไม่มีเหลือ กี่ศีลก็ไม่มีเหลือ มีแต่ทำเฉย ๆ เมื่อมีจิตตภาวนา จิตตภาวนาจะแสดงหิริโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปต่อกรรมกระจ่างขึ้นเรื่อย ๆ ภายในจิต สุดท้ายศีล ๕ ฆราวาสก็บริสุทธิ์เอง เป็นเองนะ ยกตัวอย่างเช่นพระโสดา พอท่านสำเร็จพระโสดาแล้วเท่านั้น ศีลธรรมชาติคือศีล ๕ นี้ พระอริยบุคคลขั้นพระโสดาไปแล้วไม่ทำ ไม่จำเป็นจะต้องไปหาสมาทานกับพระที่ไหนๆ เพราะคำว่าสมาทานคือเอาพระมาเป็นสักขีพยาน ไม่ได้หมายถึงว่าไปเอาศีลจากพระนะ เอาพระมาเป็นสักขีพยาน ตัวเองไม่เชื่อตัวเอง เมื่อมีพยานหลักฐานแล้วก็ละอายท่านไม่กล้าทำ นั่นละที่ว่าสมาทานศีล

         ศีลมีหลายประเภทที่จะเป็นศีลขึ้นในตัวได้ สมาทานวิรัติก็คือสมาทานกับพระเจ้าพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน แล้วอายท่านไม่ทำ เจตนาวิรัติ เจตนาให้มีศีลภายในตัวก็เป็นศีลสมบูรณ์ขึ้นมาแบบเดียวกัน สัมปัตตวิรัติ สมุจเฉทวิรัติ มีหลายประเภทเป็นศีลด้วยกัน แต่สำหรับพระโสดาแล้วเป็น สมุจเฉทวิรัติไปเลย โดยไม่ต้องสมาทานจากใคร มีหิริโอตตัปปะภายในตัว ไม่ทำ แม้จะเป็นหัวหน้าเขาไปทำบุญให้ทาน เขาพารับศีลอะไรก็เป็นแต่เพียงว่านำเขาเป็นพิธี พวกที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวนำเขาเป็นพิธี แต่สำหรับผู้นำนั้นไม่มีเจตนาที่จะรับ เพราะว่าศีลขาดด่างพร้อยทะลุไปอย่างนี้ไม่มีในพระโสดา นี่ละเกิดขึ้นมาเองอย่างนี้ละ ศีลธรรมเกิดขึ้นเอง เมื่อบำเพ็ญขึ้นมามันก็รู้ขึ้นภายในใจ ตั้งแต่พระโสดาขึ้นไปแล้วศีล ๕ ท่านบริสุทธิ์ ท่านไม่ต้องไปสมาทานกับใคร เป็นอย่างนั้นตลอด

         นี่อำนาจแห่งการภาวนา โสตะ ก็คือกระแสของพระนิพพานพาดพิง ความจริงหยั่งเข้าถึงจิตใจ เชื่อบุญเชื่อกรรมเข้าไปแล้ว ทีนี้มันก็ไม่ทำ อะไรไม่ดีก็ไม่ทำ งดเว้นๆ ไปเลย แต่ชาวพุทธเราไม่ค่อยได้สนใจ แม้แต่พระเราบวชมาก็ไม่สนใจภาวนากัน จะว่าอะไรกับญาติโยม จะไปตำหนิแต่ญาติโยมไม่ได้ ต้องตำหนิคนบรรดาชาวพุทธทั้งพระทั้งฆราวาส ส่วนมากไม่ค่อยสนใจกัน ที่พอมีอยู่บ้าง หรือปรากฏเด่นชัดก็คือ พระกรรมฐานที่อยู่ในป่าในเขา นี่เด่นชัดว่าตั้งหน้าเข้าไปภาวนา แต่ตั้งหน้าเข้าไปสร้างความขี้เกียจขี้คร้านอยู่ในนั้นก็เยอะพระกรรมฐานเรา มันก็มีแง่กิเลสตามเข้าไปกินตับกินปอดหมดนั้นแหละ ไปอยู่ที่ไหนกิเลสตามกิน ความขี้เกียจขี้คร้าน ความท้อแท้อ่อนแอ ไม่เอาไหนนี้เรื่องของกิเลสทั้งนั้น

         มันแทรกเข้าไปติดเข้าไปกับพระกรรมฐานนั่นแหละ ไปก็เลยไม่ภาวนา อยู่ไป ๆ อย่างงั้นวันหนึ่ง ๆ แล้วจิตใจก็เพ่นพ่านออกไปนอกลู่นอกทาง ไม่เข้าในกรอบของศีลของธรรมบ้างเลย มันเตลิดเปิดเปิงไปเสีย นี้มีมากต่อมากนะ ถ้าเป็นผู้ตั้งใจภาวนาเสาะแสวงหาอรรถหาธรรม ธรรมพระพุทธเจ้าประกาศท้าทายอยู่ด้วยความเป็นอกาลิโกตลอดเวลา ทำไมจะไม่รู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาเพราะขวนขวายหาธรรม ธรรมก็ปรากฏขึ้นมา สาวกทั้งหลายขวนขวายธรรม ธรรมปรากฏขึ้นมา ใครขวนขวายธรรมมากน้อยปรากฏขึ้นมาด้วยกันทั้งนั้น เพราะธรรมเป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาล สถานที่ เวล่ำเวลา หรือไม่มีสิ่งใดจะมาทำลายการบำเพ็ญความดี และความชั่วของเราได้

         การทำชั่วก็เป็นอกาลิโก ทำชั่วที่ไหนได้ ไม่มีที่ลับที่แจ้ง เป็นชั่วขึ้นมา เป็นบาปขึ้นมาด้วยกัน ธรรมก็ดี กิเลสก็ดี เป็นอกาลิโกด้วยกัน คือท้าทายอยู่อย่างนี้ ทีนี้คำว่าท้าทายหมายถึงผู้บำเพ็ญธรรม ผลของธรรมก็ท้าทายอยู่ที่จะให้ได้รับผลจากการกระทำ ถ้ามีผู้กระทำผลก็ต้องปรากฏขึ้นมาๆ ถ้าไม่ทำแล้วมันก็ไม่เกิด กิเลสก็ต้องสร้างขึ้นมา อยู่เฉย ๆ ให้กิเลสเกิดกิเลสไม่เกิด ต้องมีสาเหตุให้กิเลสเกิด ทำขึ้นมากิเลสก็เกิด กิเลสประเภทไหน ๆ บ่งบอกอยู่กับเจ้าของผู้ทำเอง ทางความดีก็เหมือนกัน ทำทางด้านไหน ๆ เป็นความบ่งบอกจากจิตใจของผู้บำเพ็ญเอง ก็เป็นบุญเป็นกุศลขึ้นมา

         ทีนี้เรานักภาวนา เช่น พระกรรมฐานของเรา นี่ตั้งหน้าตั้งตามาภาวนาแล้ว ควรที่จะได้เหตุได้ผล ได้หลักได้เกณฑ์ จากอรรถธรรมที่ประกาศท้าทายด้วยอกาลิโกอยู่นี้ตลอดมาบ้างในหัวใจของเรานักภาวนา ไอ้ที่ไม่ได้อะไรเลยนี้ แหม คือจิตนี่มันภาวนา แต่จิตไม่เคยสงบเลยก็แสดงว่าคนนั้นไม่เอาไหน นั่น มันประกาศในตัวของผู้นั้นละ ตั้งใจไปภาวนาจิตหาความสงบไม่ได้ ก็คือไม่เอาไหน ถ้าธรรมดาต้องได้ความสงบ อย่างน้อยเป็นพื้นฐานแห่งการภาวนา ได้แก่ ความสงบของใจที่เป็นผลขึ้นมาจากความอุตส่าห์พยายามของผู้บำเพ็ญ ตั้งหน้าตั้งตา ตั้งใจปฏิบัติ รักษาจิตใจด้วยสติ ด้วยปัญญา ศรัทธา ความเพียร อยู่โดยสม่ำเสมอ แล้วผลก็จะค่อยปรากฏขึ้นมา

         วันนี้ก็ปรากฏ วันหน้าปรากฏ ปรากฏขึ้นมาเพราะการระมัดระวังรักษาอยู่ตลอด ผลจะปรากฏขึ้นมาเรื่อย ๆ สุดท้ายผลก็เด่นขึ้นมาภายในจิตใจของผู้มีความเพียร นั่น ถ้าเพียรต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่เพียรอยู่ที่ไหนก็อยู่ไปอย่างงั้น เดินจงกรมก็เดินหย็อก ๆ จิตใจมันเพ่นพ่านไปห้าทวีป ให้กิเลสลากไปเหวนั้น หลุมนี้ นรกหลุมไหนๆ ไปเที่ยวซอกแซกเห็นหมด ด้วยกิเลสตัวคึกตัวคะนองภายในใจของเรานั้นแหละ ว่าไปภาวนา มันว่าเฉย ๆ นี่ กิเลสมันไม่ได้ว่า มันไม่ได้พูดพล่ามทำเพลงนะกิเลส ขึ้นไปต่อยปึ๋งเลย ใครเผลอหงายเลย นั่นละกิเลสเป็นอย่างงั้นนะ

         ไอ้เรามีแต่ตั้งท่าตั้งทางว่าจะไปเดินภาวนา แต่จิตใจเซ่อซ่า ๆ ไม่ตั้งท่ากิเลสก็ต่อยเอา ๆ ความขี้เกียจความขี้คร้าน ความไม่เอาไหน ความเผลอต่าง ๆ มันก็ติดตามกันไป ๆ สิ่งเหล่านี้ติดตามไปเพื่อทำลายเจ้าของเอง ไม่ได้ติดตามไปเพื่อสั่งสมคุณงามความดีให้ธรรมในใจมีความสงบร่มเย็นขึ้นไปแต่อย่างใดเลย แต่มันก็เป็นอยู่ในหัวใจของคนเรา เพราะอำนาจของกิเลสมันหนาแน่นมาก มันรุนแรง มันเป็นอัตโนมัติของมัน กิเลสสร้างผลประโยชน์ของมันนี่สร้างบนหัวใจสัตว์โลก เฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธเรา และพระกรรมฐานเรา สร้างผลประโยชน์ของมัน

         อยู่เฉย ๆ จะให้กิเลสเกิดเกิดไม่ได้ มันมีเครื่องหนุนของมัน นั่นละเครื่องหนุนเป็นต้นเหตุ หนุนให้เกิดกิเลสประเภทใดขึ้นมาบ้าง ถ้าไม่มีเครื่องหนุน ไม่มีพื้นฐานแล้วกิเลสก็ไม่เกิด เช่น อย่างพระอรหันต์อย่างนี้ไม่เกิด พื้นฐานของกิเลสคืออะไร คืออวิชชา นั่น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา แตกแขนงมา อวิชชาแตกแขนงออกมาก็มาหาส่วนหยาบ ตีออกมาทางกามราคะ กิเลสตัณหา นี่เป็นตัวออกสนาม เป็นเสนาบดีใหญ่โตออกสนามละ นี่กิเลสเกิดออกมาจากฐานของมัน ถ้าเรามีการระมัดระวังแล้ว สติก็จ่อเข้าไปตรงนั้น ไม่ให้มันเกิด ให้เกิดแต่ธรรม เช่น จิตของเรายังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ เราต้องมีหลักใจเป็นที่ยึดที่เกาะ เช่น ผู้ภาวนาต้องยึดคำบริกรรมเป็นหลัก

         นี้เป็นฐานที่ถูกต้องดีงามสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกหัดภาวนา ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์อะไรเลย ต้องมีคำบริกรรมเป็นเครื่องกำกับ เหมือนเด็กมีพี่เลี้ยงติดตาม ปล่อยให้เด็กไปโดยลำพัง เข้าน้ำเข้าไฟ ตกเหวตกบ่อไปได้ไม่สงสัย นี่จิตใจยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์นี้ก็แบบนั้นละ แบบตกเหวตกบ่อ ไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ให้เสียหายไปตลอด หลักเกณฑ์ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างหลักเกณฑ์ขึ้น  ใครมีความสนิทติดใจกับคำบริกรรมบทใด ภาวนาคำใด เช่นพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ หรืออานาปานสติ ธรรมใดก็ตาม บทใดก็ตามขอให้ถูกกับจริตนิสัยของใจเรา

         เราชอบบทนั้น ๆ เอาธรรมบทนั้นเข้ามากำกับใจ นี่เรียกว่าให้ใจเกาะกับคำบริกรรม ใจจะไม่เถลไถล เมื่อใจเกาะกับคำบริกรรม คำบริกรรมนั้นมีสติบังคับไว้อีก ไม่ให้เผลอจากคำบริกรรม เราเอาธรรมบทใดมาเป็นเครื่องกำกับใจ ให้ยึดธรรมบทนั้นด้วยสติ เช่น พุทโธ ๆ ไม่ให้เผลอ นี่เรียกว่าผู้บำรุงรักษาจิตใจ จำให้ดีนะพระลูกพระหลาน วันนี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะพูดอะไร ก็พูดให้ฟังจนได้ มองเห็นเพศเดียวกันสงสารกันจะทำยังไง แล้วมันเด้น ๆ ด้าน ๆ ไม่ได้หน้าได้หลัง ก็เพราะทำไม่ได้หลักได้เกณฑ์ จะได้ยังไง ให้ตั้งคำบริกรรมเอาไว้ คำบริกรรมนี้บังคับให้ดี

         เวลาเราจะเริ่มฝึกหัดภาวนาคำบริกรรมเริ่มติดกับใจนี้ กระแสของกิเลสที่มันจะลากจะถูออกไปสู่อารมณ์ภายนอกนี้มันรวดเร็วนะ กระแสของมันรุนแรงมาก มันทำให้หิวให้โหย อยากคิดเรื่องนั้น อยากปรุงเรื่องนี้ มากยิ่งกว่าการที่จะบริกรรมภาวนา นั้นมันเอาไปได้ไม่สงสัย ตั้งเท่าไรก็ล้มถ้าเป็นประเภทนั้น ถ้าเป็นประเภทที่ว่าตั้งรักษาด้วยสติ เข้มงวดกวดขัน กระแสของกิเลสมันลากออกไปอย่างรุนแรง เราบังคับไว้อย่างรุนแรง ไม่นานจิตใจจะเข้าสู่ความสงบ เมื่อจิตใจเข้าสู่ความสงบ อาการของกิเลสที่มันฉุดมันลากทั้งหลายก็ค่อยเบาไปๆ นี่เห็นผลแล้ว เกิดขึ้นจากการภาวนาด้วยคำบริกรรมโดยความมีสติบังคับบัญชาจิตใจ

         นี่ละหลักเริ่มต้นแห่งการภาวนาจะได้หลักได้เกณฑ์ ต้องมีหลักยึดซิ นึกเอาเฉย ๆ นึกภายในใจเพียงตั้งสติรักษาใจครู่เดียวเท่านั้นไปแล้วนะ ถ้ามีสติบังคับด้วยคำบริกรรม คือเอาสติบังคับคำบริกรรม บังคับจิตให้จิตติดอยู่กับคำบริกรรมนี้ ไม่นานจิตจะสงบลงไปได้นะ ค่อยสงบลงไปๆ ความสงบของใจนี้ไม่มีประมาณนะ จะค่อยละเอียดลออๆ เข้าไปเรื่อย เบื้องต้นต้องใช้การบังคับบัญชาให้หนักแน่นเสียก่อน นี่หลักของการภาวนา ให้พระลูกพระหลานจำเอาไว้ ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็นึกหรือกำหนดเอาความรู้เฉยๆ ได้ในขณะที่กำหนด พอหยุดกำหนดเท่านั้นมันก็เผลอตัวไปแล้ว กิเลสเอาไปถลุงทวีปไหนก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีคำบริกรรมบังคับด้วยดี  ตั้งใจบังคับไว้ จิตจะสงบเย็นขึ้นมาๆ จำให้ดี คำบริกรรมอันนี้จำให้ดี เป็นหลักใจที่จะมัดใจของเราไว้ไม่ให้กิเลสลากถูไป จากนั้นก็สง่างามขึ้นมาใจ

         เมื่อสงบหลายครั้งหลายหนก็กลายเป็นสมาธิขึ้นมาได้ คำว่าสมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงของใจ ความสงบ ๆ เป็นครั้งเป็นคราวในเวลาจิตที่หดอารมณ์เข้ามาสู่คำบริกรรม เข้ามาสู่ความสงบนี้เรียกว่าความสงบ สงบหลายครั้งหลายหนเท่าไรก็ตาม จะสร้างฐานแห่งความมั่นคงขึ้นจากความสงบนั่นแล เมื่อมากเข้า ๆ ก็เป็นการหนุนจิตให้มีความแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น ๆ จนเด่นชัดในจิตใจ อยู่ที่ไหนเด่นด้วยความรู้ ๆ นั่นละจิตเป็นสมาธิ ทีนี้เราจะไม่บริกรรมก็ได้ มันรู้เองนะ เมื่อความรู้เด่นอยู่นั้นแล้ว สติจับอยู่กับความรู้นั้น สติมีที่ยึดแล้ว มีความรู้เป็นที่เกาะที่ยึด ไม่ให้เผลอจากความรู้นั้น

         จากนั้นก็พิจารณาคลี่คลายทางด้านปัญญา ด้านปัญญานี้ยิ่งพิสดารมากนะ ไม่ใช่ธรรมดา จิตมีความสงบ คำว่าจิตสงบคือจิตไม่หิวอารมณ์ อารมณ์นี้จะมีความหิวโหย ประจำใจ ถ้าใจไม่มีความสงบเลยจะหิวโหยตลอด เราจะพาไปพิจารณาทางด้านปัญญา กิเลสลากไปตกเหวตกบ่อ เป็นสัญญาอารมณ์เป็นกิเลสไปหมด ไม่เป็นปัญญาฝ่ายธรรมได้เลย เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนให้มีจิตสงบ ดังที่ท่านแสดงไว้ สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส คือสมาธิที่ศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือหมายความว่า สมาธิคือความสงบใจ ความแน่นหนามั่นคงของใจ เมื่อมีศีลอบรม คือว่าศีลเป็นเครื่องอบอุ่นจากการรักษาของเรา ไม่ให้ศีลด่างพร้อยทะลุ เราก็มีความอบอุ่น ไม่เป็นความกังวล ระแคะระคายภายในจิตใจเลยว่าศีลตัวไม่บริสุทธิ์ เมื่อไม่มีระแคะระคายโดยที่เห็นว่าศีลเรารักษาบริสุทธิ์ดีแล้ว จิตก็ไม่สร้างอารมณ์ขึ้นมา ทำหน้าที่ของการภาวนาอย่างเดียว นี่สมาธิก็เกิดละที่นี่ สงบ

         สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาที่สมาธิหนุนหลังแล้ว ย่อมเดินได้คล่องตัว นี่ละจิตที่อิ่มอารมณ์ จิตใจไม่หิวโหยอารมณ์ แล้วสร้างปัญญาขึ้น ไม่หิวโหยอารมณ์ สร้างความสงบก็ได้ คือศีลบริสุทธิ์แล้ว สงบอารมณ์ไม่ระแคะระคายระแวงแคลงใจตัวเอง ทางด้านปัญญาก็สมาธิมีความสงบตัวแล้ว อิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส ประจำตัว เพราะจิตอิ่มอารมณ์ไม่อยากคิด แล้วก็นำปัญญานี้แหละออกทำงาน พิจารณาคลี่คลาย

เรื่องสกลกายเป็นสำคัญมากนะนักปฏิบัติ ใครพิจารณาเรื่องอสุภะอสุภังเก่งเท่าไร หนักแน่นเท่าไร ผู้นั้นจิตใจจะมีความสว่างไสวเบาบางขึ้นเป็นลำดับลำดา เพราะฉะนั้นจึงต้องอบรมจิตให้มีความสงบ เพื่อเป็นฐานแห่งการพิจารณาทางด้านปัญญาได้คล่องตัว ต้องอบรมไปตั้งแต่สมาธิให้มีความสงบใจ ใจจะได้อิ่มอารมณ์ พอใจอิ่มอารมณ์พาก้าวเดินทางปัญญา พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตั้งแต่บวชมาเราได้เรียนมาแล้วนี่ มันเป็นยังไง ผมเป็นยังไง ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นยังไง ทั้งเขา ทั้งเรา ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งสัตว์ ทั้งบุคคล มันเป็นแบบเดียวกันหมด พิจารณาแยกแยะให้เห็นความไม่สวยไม่งาม ความอสุภะอสุภังของทั้งเขาทั้งเรา แล้วมันจะไปติดไปพันกันหาอะไร นี่ปัญญาแยกเข้าไปดูตามความจริง

ไอ้ความจอมปลอมมันหาว่าสวยว่างาม อะไร ๆ ก็ตามมันก็ส้วมก็ถานในคนและสัตว์ ทุกคนทุกสัตว์นั้นแหละเป็นส้วมเป็นถานด้วยกัน มันเสกสรรปั้นยอว่าสวยว่างาม เราโง่อย่างเดียวเท่านั้นเชื่อมันหมด ถ้าเอาธรรมเข้าไปจับ ปัญญาธรรมจับเข้าไปมันสวยที่ไหน นั่น แม้แต่ผิวหนังมันก็ยังมีขี้เหงื่อขี้ไคล แล้วฟากหนังเข้าไปเป็นยังไง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง นี้หรือของสวยของงาม นี่แหละเรียกว่าปัญญา พิจารณาคลี่คลายหลายครั้งหลายหน ตลบทบทวน เหมือนกับเขาคราดไร่คราดนา ไม่นับเที่ยวของการคราดการไถ เอาให้ละเอียดลออ มูลคราดมูลไถละเอียดลออแล้ว พอควรแก่การปักดำ ปักดำเลย

         อันนี้การพิจารณาทางด้านปัญญาเกี่ยวกับเรื่องอสุภะอสุภังให้มันละเอียดลออ มีความคล่องแคล่วแกล้วกล้า แล้วจิตนี้ไม่พ้นที่จะเห็นโทษของตัวเองแหละ เวลานี้มันไม่เห็นโทษวิ่งตามกิเลส อะไรก็สวยอะไรก็งามทั้งนั้นแหละ นี่คือกิเลสเสกสรรปั้นยอ หาความจริงไม่มี มีแต่ความหลอกลวง เรียกว่ากิเลส เอาปัญญาซึ่งเป็นความจริงหยั่งเข้าไปพิจารณาสิ่งเหล่านี้ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าหลายครั้งหลายหน ตลบทบทวน ไม่นับเที่ยวนะ เอาตั้งขึ้นกำหนดพิจารณาให้แตกกระจัดกระจาย เป็นแบบไหนแล้วแต่ความถนัดใจของผู้พิจารณา จะให้แตกให้พัง จะเอาไฟเผาหรืออะไรก็แล้วแต่เถอะ ให้ใจมันดู ปัญญาพิจารณาคลี่คลายหลายครั้งหลายหนก็เข้าใจ

         ทีนี้ความกังวลกับสิ่งเหล่านี้เบาลง ๆ แยกออกไป ทีนี้ออกทางด้านปัญญามีความแกล้วกล้าเข้าไปแล้วหนุนเรื่องความพากความเพียร ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน พระเราคนเรานะ ถ้าจิตได้มีความเฉลียวฉลาดทางด้านปัญญา หมุนติ้ว ๆ ไปเลย ฟาดเสียจนกิเลสขาดสะบั้นลงไปไม่มีเหลือเลย นี่คลังแห่งธรรมอยู่ที่จิตตภาวนา คลังแห่งมรรค ผล นิพพาน อยู่ที่จิตตภาวนา เอาให้เห็นตรงนี้ พระพุทธเจ้ารู้ที่จิตนี่แหละ พระสาวกรู้ที่จิต ไม่ไปรู้ดิน ฟ้า อากาศ ทวีปไหนแหละ รู้ที่จิตเพราะหลงก็หลงที่จิต พิจารณาให้รู้ที่จิตนี้ กระจายออกไปแล้วมันจะเบิกกว้างออกไปหมดเลย แล้วก็รู้ที่จิต สว่างไสวขึ้นที่นี่ นี่ละทำนบใหญ่ พิจารณาอันนี้

         เรื่องคุณงามความดีที่เราสร้างไว้มากน้อยไม่สูญไม่หาย แต่เรี่ยราดอยู่ตามนั้นแหละ มันไม่มีที่เก็บ พอสร้างอ่างเก็บน้ำได้แก่จิตตภาวนาขึ้นมา คุณงามความดีที่สร้างได้มากน้อยทิ้งเรี่ยราดสาดกระจายอยู่ตามเจ้าของนั้นแหละ จะไหลรวมเข้ามาสู่จิตตภาวนาเด่นขึ้นที่นั่นหมด ควรจะได้ภาวนา หลักพุทธศาสนาแท้คือหลักภาวนา ศาสนาอื่นใดเราไม่ได้ตำหนิ เขาไม่มีการภาวนากัน จุดใหญ่ที่สร้างความวุ่นวายให้โลก เผาโลกมาตลอดคือใจ ธรรมไม่ได้เข้าไปเป็นน้ำดับไฟดับลงที่ใจ ได้แก่การภาวนานี้บ้างเลย โลกจึงหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความทุกข์ยากลำบากของสัตว์โลกไม่มีประมาณ ถ้ามีจิตตภาวนาแล้วมี ตัดเข้าไปๆ ย่นเข้าไป ฟาดเสียให้ขาดสะบั้นลงในปัจจุบัน ภพชาติขาดลงในปัจจุบันด้วยจิตตภาวนาไม่สงสัย ให้ท่านทั้งหลายจำเอานะ

         เวลานี้พระกรรมฐานเราก็ร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ การภาวนายิ่งขาดครูขาดอาจารย์ด้วยแล้วก็ทำไปโกโรโกโส แบบเขาแบบเรา เลยกลายเป็นโลกไปหมด เลยไม่เป็นอรรถเป็นธรรม เป็นกรรมฐานตามแนวทางของศาสดา มันจะไปตามทางของกิเลสไปเสียทั้งหมด ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ ถ้าลงได้รู้ในใจแล้วอะไรไม่มีละเรื่องสักขีพยานที่ไหนจะมาหาเป็นเครื่องยืนยันไม่มี ลงได้รู้ในจิตแล้วผางเดียวขึ้นมา ไม่ว่าขั้นใดภูมิใด เป็นขึ้นในใจแล้วประจักษ์ในตัวเอง พยานมีอยู่แล้วกับ สนฺทิฏฺฐิโก ๆ เห็นเอง ๆ รู้เอง จะกระจ่างขึ้นที่นั่น ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจภาวนา การภาวนานี่เห็นผลประจักษ์ แต่อุบายวิธีการภาวนานี้มีหลายแง่หลายกระทงนะ

         อุบายวิธีการที่จะเป็นเครื่องสนับสนุนภาวนาของเราให้สะดวก ได้ผลเร็วกว่าปกติ กว่าวิธีการทั้งหลายคืออะไรบ้าง นี่อันหนึ่งนะ เช่น อดนอนเป็นยังไง ท่านแสดงไว้ในเนสัชชิ ๑๓ อดนอนเป็นคืน ๆ เป็นยังไงสังเกตดู ทั้ง ๆ ที่เราตั้งสติภาวนาอยู่ด้วยดี มีการเสริมเข้ามาด้วยการอดนอน อดนอนนานเข้าไปเป็นยังไง ดู ผ่อนอาหารเป็นยังไง อดอาหารเป็นยังไง กับฉันอิ่ม ๆ นี้เป็นยังไง ทั้งๆ ที่เราภาวนาอยู่ด้วยกัน คือฉันอิ่มหนำสำราญก็ภาวนา ผ่อนอาหารก็ภาวนา อดอาหารก็ภาวนา ดูใจของเรา มันมีความสง่างาม มีความผ่องใส แยบคายอย่างไรบ้าง ให้ดูวิธีการ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าทำ ไม่ได้เรื่องนะ ท่านจึงมีวิธีการหลายอย่าง เดินมากเป็นยังไง เดินน้อยเป็นยังไง นั่งมากนั่งน้อยเป็นยังไง ทั้ง ๆ ที่ตั้งสติอยู่ด้วยกัน ผลปรากฏอย่างไรบ้าง ควรสังเกตวิธีการของตัวเอง องค์หนึ่งคนหนึ่งหากจะถูกตามนิสัยของตัวเองไปในแง่ต่าง ๆ

         ส่วนมากกรรมฐานของเรามักจะถูกที่ผ่อนอาหาร ท่านจึงให้ฉันพอประมาณ ไม่ให้ฉันเลยเถิด อิ่มมากมันขี้เกียจขี้คร้านมาก เสริมราคะตัณหามาก คืออาหารนี่เป็นเครื่องส่งเสริมธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์เป็นเครื่องมือของกิเลส มีกามกิเลสเป็นสำคัญ ถ้ามีอาหารหวานคาวมาก ๆ แล้วกินมาก นอนมาก ขี้เกียจมาก ความคิดเรื่องราคะตัณหา จะเด่นขึ้นเรื่อย ๆ นี่บอกอย่างงั้น มันไม่ถึงกับแสดงอวัยวะนะ มันยิบแย็บขึ้นภายในใจเท่านั้นก็รู้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัย ใครจะไปยอมให้มันคิด เมื่อไม่ยอมให้คิดยังไงจะตัดมันให้น้อยลงๆ จนกระทั่งมันขาดไปนี้ทำไมจะไม่คิด ไม่พยายามคนเรา ต้องพยายาม

         ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องใช้วิธีการหลายอย่าง การผ่อนอาหารมักจะถูก ไม่มากนักก็ขอให้มีการผ่อนอาหาร สติจะค่อยดีขึ้น ๆ ถ้าอิ่ม ๆ แล้วสติไม่ได้เรื่องนะ ตั้งปั๊บนี่มันเผลอไปตลอดเวลา พอผ่อนอาหารลงไปๆ หรืออดอาหารบ้าง ตั้งสติเป็นยังไงมันจะรู้นะ เมื่อมันรู้แล้ว โอ้ วิธีการนี้ถูกต้อง ดีแล้ว มันก็ต้องพยายามคนเรา พยายามอด พยายามผ่อนอยู่งั้น เพื่อผลประโยชน์ทางด้านธรรมะ ซึ่งมีคุณค่ามากยิ่งกว่าการกิน กินนี้กินเมื่อไรมันก็อิ่ม หิวมาแทบเป็นแทบตายกินปั๊บ ๆ ๆ มันก็อิ่มทันที เห็นผลประจักษ์ แต่จิตใจหิวโหยในอรรถในธรรมนี้ไม่ได้อิ่มง่าย ๆ นะ เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามฟื้นขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ

         ให้พากันพยายามนะพระลูกพระหลาน ให้ได้ทรงอรรถทรงธรรม มรรค ผล นิพพาน เป็นอกาลิโก อยู่กับผู้ปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่ดินฟ้าอากาศ ไม่อยู่กับตำรับตำราที่ไหน นั้นเป็นแบบแปลนแผนผังชี้เข้ามาหาเราให้เราปฏิบัติ ขอให้ปฏิบัติตัวเอง ตลาดแห่งมรรค ผล นิพพาน จะอยู่ที่หัวใจของเรานี้แหละ ไม่อยู่ที่อื่นใด เอาละพูดเพียงเท่านั้นละพอ พูดไปพูดไปก็เหนื่อย ได้ทองคำมาให้หรือนี่

         “สรุปจำนวนทองคำช่วยชาติถวายหลวงตาเข้าคลังหลวง จากศรัทธาวัดหินหมากเป้งดังนี้ ทองคำแท่งใหญ่หนัก ๑ กิโลกรัม ทองคำแท่งเล็กหนัก ๑๓ บาท ทองรูปพรรณหนักกว่า ๓ บาท ขออำนาจแห่งบุญกุศลที่พวกข้าพเจ้าทั้งหลายได้ทอดผ้าป่าครั้งนี้จงหนุนนำให้หลวงตามีสุขภาพอนามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากอันตรายและโรคาพาธทั้งหลายไปตราบนานเท่านาน” ท่านทั้งหลายก็ให้เป็นเหมือนหลวงตานะ เอาละพอ ให้ศีลให้พรแล้วค่อยกลับไป

        (เทศน์ต่อหลังให้พร) ถ้ำฮ้าน วัดวังน้ำมอก เราไปทั้งสองแห่ง สงัดดีอยู่ ถ้ำฮ้านนี่มีต้นไม้ใหญ่แค่นี้ ต้นไม้โบรงโบราณเต็ม ไม่มีใครไปแตะ คงจะเป็นต้นไม้สงวน ต้นใหญ่จริง ๆ นะ เรียกถ้ำฮ้าน วังน้ำมอกก็ได้ไปสงัดดีอยู่ แถวนั้นก็ดูเหมือนมีอยู่สามวัดหรือไง อย่างตอนเที่ยวกรรมฐานเร่ง ๆ  ไม่ได้ไปทางนี้ ไม่ไปนะ อยู่ทางสกลฯ เพราะหลวงปู่มั่นอยู่สกลฯ เราจึงไปแต่ทางด้านตะวันออก ไปนครพนมก็เป็นทางตะวันออก มุกดาหารแต่ก่อนก็เป็นเขตจังหวัดนครพนม อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม เดี๋ยวนี้ก็เป็นจังหวัดมุกดาหาร ตัดเข้าไป ก็เหลือแต่นาแกไปทางนู้น เราไปหมด

         ที่เที่ยวกรรมฐานมากที่สุดคือย่านตะวันออก เฉพาะภูเขาลูกนี้ลูกสกลนคร ระหว่างสกลนครกับกาฬสินธุ์นี่ เป็นภูเขาที่เราเที่ยวเสียแหลกหมดจริง ๆ เพราะอยู่นั้นตั้ง ๘ ปี ปีนี้ออกช่องนี้ไปช่องนั้น ปีนั้นออกนั้นไปนั้น ทะลุจนกระทั่งถึงภูจ้อก้อ จากนั้นก็ไปอยู่ทางมุกดาหาร ก็เที่ยวทางนู้นเสีย จากภูเหล็กนี่ อำเภอสว่าง ภูเหล็กไปเลยละ ไปเรื่อย ๆ ๆ ทะลุถึงภูจ้อก้อ เมื่อพูดที่ไหนรู้หมดเลย เพราะเที่ยวเสียจนแหลก ทางอื่นไม่ได้ไปนะ เช่น อย่างอุดรฯนี่ก็ไม่ได้มา จังหวัดไหนก็ไม่ได้ไป มีสองจังหวัดนี่ที่มากที่สุด

         สกลนครกับกาฬสินธุ์ สกลนครเป็นจุดกลางที่เที่ยวแหลกหมด กาฬสินธุ์ก็เงื่อนทางนู้น และเงื่อนทางนั้น นครพนมก็ไป ไปนู้นไปถึงนู่นละนครพนม ไปถึงอำเภอบ้านแพงไปทางนู้น อำเภอบ้านแพง ไปถึงเขตดงศรีชมภู ไปอยู่ในระยะนั้นดูเหมือน ๒ ปี ไปเขตอำเภอศรีสงคราม อำเภอบ้านแพง ท่าอุเทน ศรีสงคราม เข้าไปนู่น แต่ที่มากจริง ๆ ก็คือเขตสกลนคร ทางด้านนี้ไม่เคยมา เพราะหลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่นั่น นั่นละแม่เหล็ก แม่เหล็กอยู่ที่ไหนเศษเหล็กมันก็อยู่ที่นั่นละ เข้าใจไหม เศษเหล็กเต็มแถวนั้นนะ แม่เหล็กอยู่ที่ไหนเศษเหล็กก็อยู่ตามนั้น

         จนกระทั่งท่านมรณภาพจากแล้ว ออกจากสกลนครก็บึ่งมาทางหนองคาย เข้าไปทางอำเภอท่าบ่อ บ้านผือ ศรีเชียงใหม่ เข้าไปลึก ๆ เข้าไป ไปละที่นี่นะ มีแต่คนเดียวเท่านั้นนะ ไปไหนไปแต่คนเดียว เผาศพท่านเรียบร้อยแล้วไป พอเผาศพท่านเรียบร้อยแล้วออกจากนู้นก็ไป พอเดือนพฤษภาก็ย้อนกลับไปสกลนคร ขึ้นวัดดอยธรรมเจดีย์ เผาศพทีแรกเสร็จแล้วก็ขึ้นวัดดอยธรรมเจดีย์เหมือนกัน แต่เขาไปนิมนต์เรามาครบ ๑๐๐ วันท่าน ก็อย่างนั้น ว่าจะพักที่ไหนไม่ได้พัก เขาก็ไปนิมนต์เราลงมาทำบุญครบ ๑๐๐ วันหลวงปู่มั่น เราก็เลยลงมา พอลงมาแล้วก็เลยเตลิดออกมาทางนี้เลย

         จนเดือนพฤษภาย้อนกลับไปวัดดอยธรรมเจดีย์ นี่ที่ว่าไปติดปัญหาก็ไปติดที่วัดดอยนะ มันแปลกอยู่วัดดอยนี่สองครั้งนะ ไปติดปัญหา หรือไปหลงปัญหา หลงกลอุบายของกิเลสก็ถูก ตอนเผาศพท่านแล้วใหม่ ๆ นั่นละ ก็ไปหลงเพลินความสว่างไสวอยู่นั้น ออกจากนั้นมาปั๊บก็ไปนู้น จนกระทั่งเดือนพฤษภาก็ย้อนกลับมาขึ้นที่เก่านั่นแหละ แก้ปัญหาที่นั่น วัดดอยธรรมเจดีย์นี้ขึ้นลงเสมอทีเดียว เพราะเป็นทางผ่านเข้าไปในภูเขา ไปนี้ก็ผ่านไปนั้น พักพอสมควรแล้วก็ขึ้นเขา เวลาลงมาจากนู้นก็มาพักที่นั่น แล้วก็จะมาหนองผือ

         พูดถึงการเที่ยวนี่สกลนครเป็นอันดับหนึ่ง นครพนม กาฬสินธุ์ กาฬสินธุ์นี่ก็ออกไปทางนู้น เขตกาฬสินธุ์ แต่ไม่ได้ไปตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปเขตอำเภอ เช่น กุฉินารายน์ อะไรเหล่านี้เที่ยวแถวนี้ อำเภอเขาวงเขาเวงอะไรไปหมดนั่นแหละ แต่ก่อนไม่มีอำเภอ มีแต่กุฉินารายน์แห่งเดียว นอกนั้นยังไม่มีอำเภอ เที่ยวแถวนั้น เราพูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้นะ ตะกี้นี้พูดเรื่องอะไรมันถึงเตลิดเปิดเปิง วกวน เหมือนตามรอยวัวในคอก เลยไม่รู้เจ้าของไปไหนมาไหน เหอ พูดเรื่องอะไร ลืมแล้ว (พูดเรื่องถ้ำฮ้านเจ้าค่ะ) เออเรื่องถ้ำฮ้าน คือทางนี้ไม่ได้มา แต่ก่อนไม่มา อุดรไม่มาเลย ทั้ง ๆ ที่ทำเลภาวนาก็เยอะ แต่ไม่มีแม่เหล็กละซิ เศษเหล็กมันก็ไม่ไป มันก็ติดกับแม่เหล็กไป เป็นอย่างงั้น

         เราจึงอยู่สกลนครนี้ ๘ ปีเลยละ เพราะท่านอยู่นั้น ๘ ปี เราก็อยู่นั้นถึง ๘ ปี ที่อื่นไม่สนใจ ไปเที่ยวนู้นก็มานั้นนะ ไปที่ไหนมานั้น ไปที่นู่นมานั้น อยู่อย่างงั้นนะ ปีนี้ออกจากนี้ไปนู้น ๆ มา ไปทางนู้น ๆ มา อยู่อย่างงั้นนะ ท่านเอาจริงเอาจังมากกรรมฐาน เรื่องภาวนานี่จริงจังมากทีเดียว ทุกวันนี้ค่อยจืดค่อยจางไปมาก แล้วกิเลสเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในวงกรรมฐานเรา กิเลสก็เริ่มเข้มข้นมากขึ้น ธรรมะจะจางไป เพราะฉะนั้นวันนี้ถึงได้เทศน์ย่อ ๆ ให้ฟังเล็กน้อย ขาดครูขาดอาจารย์เป็นของเล่นเมื่อไร โถ จึงบอกว่าแม่เหล็กละซี แม่เหล็กเครื่องดึงดูด กำลังใจทุกอย่าง ๆ ออกจากแม่เหล็กนะ ความพากความเพียรด้วยกำลังใจๆ ดึงดูดมาจากครูอาจารย์ ได้ฟังอรรถฟังธรรมแล้วไปด้วยความพอใจ ดึงดูดตลอด ความเพียรเข้มข้นไปตลอด นั่นแม่เหล็ก ไม่ใช่ของเล่นนะ

         ถึงเวลาที่จะพูดนี่นะ อยู่กับท่านเองอยู่ในวัดหนองผือ เวลาเข้ามาหาท่านจริงๆ แล้วไม่มีนะ ภาพของท่านไม่ปรากฏ วันนี้เปิดเสียบ้าง นี่มันแปลกอยู่นะ อยู่กับท่าน ไม่เคยเวลานั่งภาวนา เวลาไหนก็ตามไม่เคยปรากฏภาพ เราอยากจะว่าไม่เคย มีมันก็มีน้อยมากจึงว่าไม่เคยไปเสียดีกว่า ทีนี้พอออกจากท่านไปปั๊บนี่ ไปอยู่ที่ไหนทุกคืนเลย คือมันไม่พลาด มันหากเป็นของมันเอง จึงเรียกว่าทุกคืนไปเลย ที่จะไม่ปรากฏนี้ แหม แทบไม่มีนะ พอหลับตาปั๊บนี่มาแล้ว ๆ นี่แม่เหล็กเข้าใจไหม ดึงดูด แล้วภาพมาแสดงอาการอะไร ๆ ๆ ต่อเรา มันมีแต่ภาพเป็นกำลังใจ ๆ ทั้งนั้น ๆ กับหลวงปู่มั่นนี่ แหม มันจริง ๆ นะเรา ภาพของท่านนี่เด่นมากทีเดียว

แต่เราไม่เคยพูดที่ไหนอันนี้ มีแต่มาพูดกับท่าน “มันเป็นยังไง” “เวลาอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์เรื่องภาพ เวลาใดก็ตาม ภาวนาหรือเวลาไหนก็ตามนี้มันไม่ปรากฏนะ ทั้ง ๆ ที่ความเพียรก็เหมือนเดิม” ว่างี้ “ครั้นเวลาออกจากพ่อแม่ครูจารย์ไป มันทำไมอยู่ที่ไหนมีแต่พ่อแม่ครูจารย์ หลับตาปั๊บมาแล้ว ๆ อะไรงี้ มันเป็นยังไงจึงเป็นอย่างงั้น จนกระทั่งว่านับได้เลย ว่าตั้งแต่วันไปกลับมานี้ภาพนั้นไม่ปรากฏเพียงเท่านั้นคืนเท่านี้คืน จำได้เลย มันเป็นยังไงจึงเป็นอย่างงั้น” ท่านก็ตอบดีนะ อย่างนั้นละจอมปราชญ์พูดอะไรน่าฟัง มาอยู่กับท่านก็จะให้ท่านมัดคอเหมือนผู้ต้องหาลากไปลากมาอย่างงั้นเหรอ ท่านว่างั้น

         ถ้าออกไปก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่เข้ามาแล้วยังอยากจะพบท่าน อยากเห็นภาพท่านอยู่ ก็จะให้ท่านมัดคออยู่งั้นตลอดเวลาหรือนักโทษน่ะ ท่านว่า มันน่าฟังนะนักโทษ ออกไปก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ความใฝ่ฝันกับครูกับอาจารย์ มันเป็นเครื่องแสดงขึ้นทางจิตตภาวนาของเรา เวลาอยู่กับท่านมันก็สมบูรณ์อยู่แล้ว ท่านว่างั้นนะ ท่านบอกว่าสมบูรณ์อยู่แล้ว คือมันอบอุ่น มันก็ไม่คิด ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏจริง ๆ นะเรา อยู่กับท่าน ถึงขนาดได้กราบเรียนท่าน เวลาอยู่กับพ่อแม่ครูจารย์มันไม่แสดง มันเป็นยังไง พอเวลาออกไปนี้คืนไหนก็คืนนั้น ว่างี้เลย ท่านก็สอนดีนะ นี่ละธรรมฟังซิ ธรรมเป็นอย่างงั้น

         แล้วเมื่อวานนี้พูดถึงเรื่องอายตนะนิพพาน ใช่ไหม จะพูดให้เปิดเผย ให้เข้าใจกันที่โลกจะพอฟังได้ก็คือว่า อายตนะนิพพานจึงเทียบเหมือนที่ว่าน้ำตกลงมาในมหาสมุทรปั๊บนี่เป็นมหาสมุทรทันที จิตนี้ผางเข้าถึงธรรมธาตุจ้าถึงกันหมด ประสานกันทันที นี่เรียกว่าอายตนะนิพพานเข้าใจไหม อย่างนี้พอพูดได้ คือไม่สงสัยกันเลย พระพุทธเจ้าจะมีกี่พระองค์ไม่สงสัย พอผางเข้าไปนั้นจ้าถึงกันหมดเลย อายตนะนิพพาน เอาอย่างนี้ชัดเจน คือมันถึงกันทันทีเลยปั๊บ พอถึงนั่นปั๊บมันจ้าเลย เหมือนน้ำมหาสมุทรตกปั๊บเข้าไปเป็นมหาสมุทรด้วยกันทันที นี่พอปั๊บเข้าไปนั้นก็เป็นอายตนะนิพพานด้วยกันทันทีเลย

         เข้าใจไหมที่พูดนี่ หรือยังสงสัยข้อไหนถามมา (ไม่สงสัยค่ะ) แต่เราสงสัยไม่เห็นถามเราบ้าง ทางนั้นไม่สงสัย ทางนี้ไม่สงสัย เราสงสัยว่าสอนให้ภาวนาพิจารณาอะไร ๆ มันก็ไม่ทำนะ เราอยากจะถามว่าหมอนมันขาดกี่ลูก เราอยากถามอย่างงั้น มันจะเย็บแต่หมอนขาดเรื่อย เย็บไม่ทันขาดเรื่อย เราอยากถามว่างั้นนะ ปัญญานะจะแก้กิเลส ก็บอกแล้วสมาธิไม่ได้แก้กิเลสนะ มันพูดได้อย่างจัง ๆ เลย ทั้ง ๆ ที่มันเป็นมันฝังลึกนะ จิตเวลามันละเอียดพอเต็มภูมิของสมาธินี้ จิตจ่อปั๊บลงไปนี้รู้แน่วเลย มันก็เลยว่านี่แหละจะเป็นนิพพานๆ

         นิพพานอะไร ถ้าเป็นสัตว์ ควายทั้งตัวก็จะไปกลืนกินเอาเลยได้เหรอ นี่นิพพาน ก็เท่ากับควายทั้งตัว กิเลสตัณหาอยู่ในนั้นหมด เป็นความสงบครอบมันไว้เท่านั้น หนังกระดูกของควายทั้งตัวจึงไม่ปรากฏ แล้วมันจะไปกลืนเอาว่านี้คือนิพพาน พอออกทางด้านปัญญามันคลี่คลายออก แล่ออก ๆ กระจายออก อะไรเป็นเนื้อ อะไรเป็นหนัง อะไรเป็นกระดูก ชิ้นไหนมันกระจัดกระจายตีออก ๆ นี่ปัญญา ฆ่ากิเลสไปโดยลำดับลำดา ปัญญาต่างหากนะฆ่ากิเลส สมาธิไม่ฆ่า เป็นแต่ทำจิตใจให้สงบ หนุนใจที่จะใช้ปัญญาให้มีกำลังไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น แน่ะ ก็มีเท่านั้น เอาละพูดเพียงเท่านั้น เหนื่อยไม่พูดมากละ

         เข้าใจหรืออายตนะนิพพาน (เข้าใจเจ้าค่ะ) พอปั๊บมันถึงกันทันทีเลยนะ พอปั๊บนี่มันถึงกันทันที ไม่สงสัยพระพุทธเจ้าทั้งหลายเลย นี่เรียกว่าอายตนะนิพพาน ปั๊บกระจ่างเลย กระจ่างมาก ที่จะมาแยกออกพูดนี้ อู๊ย ไม่เอา ให้ภาวนานะ แก้กิเลสแก้ด้วยปัญญานะ ใช้ปัญญาให้มาก จะอยู่เฉย ๆ ให้มันเกิดปัญญาไม่เกิดนะ ยิ่งผู้มีสมาธิเต็มที่ด้วยแล้วยิ่งขี้เกียจทางด้านปัญญา คืออยู่ในสมาธิมันแน่ว สบายใช่ไหมล่ะ จะกระดุกกระดิกออกไปนี่ อู๊ย อืดอาด ๆ มันไม่อยากออก อยากได้ผ้าสามชั้นสี่ชั้นมาห่มเข้าไปอีกจะอบอุ่น ได้หลับครอก ๆ ต่อไปอีก

         เพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่าติดสมาธิ ไม่ติดได้ยังไง มันควรจะติดต้องติดคนเรา เราก็เป็นมาพอแล้ว จนพ่อแม่ครูอาจารย์ขนาบเอาอย่างหนัก ยังเถียงท่านวอก ๆ ท่านก็ใส่เอาเสียหงายเลย แต่เถียงท่านไม่มีนะไอ้เรื่องทิฐิมานะ แม้เม็ดหินเม็ดทรายไม่มี ตรงไหนขัดอยู่ตรงไหนซัดกันตรงนั้น คือหาเหตุ หาผล หาหลักเกณฑ์ พอท่านเปรี้ยงมาปั๊บยอมรับหมอบนะ ตรงไหนยังขัดอยู่ตรงไหนซัดกันอีกที อย่างงั้นแหละนะ คือเถียงเถียงอย่างงั้นนะ ไม่มีใครละ เราเคยสืบถามบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ท่าน  เพราะเรามันพิลึก   กับพ่อแม่ครูจารย์มั่นนี้พิลึกจริงๆ  โอ๋ย เหมือนมวยแชมเปี้ยนฟัดกัน

         ทีนี้มันก็อดคิดไม่ได้ ใครเคยอยู่กับครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นมาด้วยกัน มีองค์ไหนบ้างที่ดื้อ ๆ อย่างผมนี่ ซัดกับครูอยู่เรื่อย ๆ อย่างนี้มีองค์ไหน ไม่เคยมี มีองค์เดียว ก็เป็นจริง ๆ นะ เราก็ถามเหมือนกันไม่มี มีแต่เรานี่มันหัวดื้อองค์เดียว มันหากมีนะเรื่องที่จะฟัดกัน มันเป็นอยู่ในจิต ถ้าอันไหนไม่ลงใจแล้วมันจะเอานั้นละ พอท่านฟาดมาปั๊วะนี้มันโล่งไปเลยนะ โล่ง หมอบเลย นั่นเห็นไหมล่ะ มันขัดตรงไหนอันนั้นละ ขัดตรงไหนก็คือขัดหัวใจเรา พอท่านใส่เปรี้ยงมานี่โล่งปั๊บ หมอบปั๊บ เอาเลย นั่นเป็นอย่างงั้น แล้วเรื่องมันเกิดอยู่เรื่อย จะให้ว่าไง

         ยิ่งสติปัญญาอัตโนมัตินี้ด้วยแล้ว โถ ขึ้นหาท่านสองหนสามหนก็มี มันไปขวาง ก็เมื่อมีครูบาอาจารย์อยู่จะไปพิจารณาให้มันเสียเวล่ำเวลาด้วยตนเองทำไม ไปหาท่านใส่เปรี้ยงเดียวพังเลย ๆ นี่มันง่ายนะ เพราะฉะนั้นพอมันขัดปุ๊บนี้ขึ้นเลย กราบเรียนท่านใส่ปั๊วะเดียวหายเงียบนะ กราบปั๊บลงเลย ไม่ได้นานนะ ไม่ถึงสิบนาทีละ พอไปก็กราบเรียนท่านเป็นอย่างงั้น ๆ ๆ ท่านใส่ปั๊วะมาทีเดียว ก็ท่านผ่านไปหมดแล้ว ปั๊วะเดียวลงพุบเลย กราบปุ๊บไปเลย นั่นเป็นอย่างงั้น นี่สติปัญญาอัตโนมัติมันจะเกิดของมันอยู่วันยังค่ำเลย หมุนอยู่

         เมื่อมีครูบาอาจารย์อยู่เราจะไปพิจารณาต่อสู้กันโดยลำพังให้เสียเวลาทำไม พอขึ้นไปหาท่านใส่ปั๊วะลงเลย ๆ นี่ละเวลาท่านมรณภาพไปนั่งเฝ้าท่านนี้ แหม น้ำตานี้พังเลยนะ คืออันนี้ละ ปัญหาของเราขึ้นหาท่านวันหนึ่งกี่ครั้งกี่หน ทีนี้ท่านสิ้นแล้วเราก็หมดที่พึ่ง ๆ แหม น้ำตานี้พัง คือตอนนั้นเราก็ได้เป็นแล้ว วิตกในจิตแล้วว่า ท่านเพียบทางธาตุทางขันธ์ เราเพียบทางด้านจิตใจ คือใจของเราในเวลาท่านป่วยมันเป็นอัตโนมัติ มันหมุนตลอดเวลาเลย ธาตุขันธ์ของท่านก็อ่อนลง ๆ เพียบทางขันธ์ เราเพียบทางจิตใจ นี่ละ เอ๊ มันทำไมถึงมาเป็นเอาระยะนี้น้า ท่านก็เพียบทางธาตุทางขันธ์ ก็มีแต่จะจากเราไปความหมายว่างั้น ไอ้เราก็เพียบทางด้านจิตใจ

         เพราะฉะนั้นเวลาเผาศพท่านแล้ว ถึงอยู่กับใครไม่ได้เลย ไปคนเดียวทั้งนั้น ไปอยู่กับใครไม่ได้นะ ใครมายุ่งไม่ได้ ประชาชนเข้ามา มาเราก็ไม่เล่นด้วยเลย ไม่เล่นด้วยจริง ๆ ฉันเสร็จแล้วหนีเข้าป่า คนเต็มอยู่ก็ตามหนีเลย เหมือนบ้า แต่เราไม่ใช่บ้า เรื่องของเรามี เขาไม่รู้เรื่องของเรา เอาละไปละ พอ ภาวนาให้ดีนะนั่น มีแต่ไอ้หยองติดตัว ปัญญาพิจารณา ไอ้หยองมันจะพิจารณาอะไร ตั้งแต่หลวงตาไปมันยังเห่า ถ้ามันพิจารณามันจะเห่าอะไร นี่ก็พ่อของไอ้หยองมันจะไปเห่าหาอะไร มันก็ไม่รู้ว่าพ่อมันซิ เห่าวอก ๆ นั่นไอ้หยองเข้าใจไหม ถ้าปัญญาเราไม่ใช้มันจะเป็นไอ้หยองเข้าใจไหม พิจารณาปัญญาแยกออก ไม่มีอะไรมันเหลือแต่ว่างก็ให้ว่าง มันมีอะไรอาการออกมาจับพิจารณาอันนั้น สาเหตุใหญ่มันคือจิต จิตอวิชชา แน่ะก็อยู่ตรงนั้น หมดอันนี้แล้วไม่มี หมด ไปละที่นี่

 

ชมถ่ายทอดสดพระธรรมเทศนาของหลวงตาทุกวัน ได้ที่

www.Luangta.com or www.Luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก