สวากขาตธรรม
วันที่ 12 กันยายน 2505 เวลา 19:00 น. ความยาว 59.08 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๕

สวากขาตธรรม

การปฏิบัติพระศาสนา พึงเล็งดูเข็มทิศ คือหลักสวากขาตธรรม ที่เป็นธรรมอันพระองค์เจ้าทรงตรัสไว้ชอบแล้ว เข้ามาเทียบเคียงกับความเคลื่อนไหวแห่งกายวาจาใจของตน อย่าให้เคลื่อนคลาดไปจากหลักสวากขาตธรรม ให้สังเกตทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ถ้าเคลื่อนไหวจากหรือผิดจากหลักของสวากขาตธรรมแล้ว พึงทราบว่าเป็นไปเพื่อทางผิด  อย่างน้อยก็เนิ่นช้า  อย่างมากก็เป็นมลทินแก่ตนเอง  เราทุกๆ ท่านซึ่งมารวมกันอยู่ในสถานที่นี้ไม่ได้อยู่ในบ้านเดียวเมืองเดียวกัน ในตระกูลเดียวกัน ต่างก็ระเหเร่ร่อนมาด้วยความเจตนาหวังดีของตน แต่ละท่านๆ  ถ้าพูดตามทางโลกแล้ว  เรียกว่าเราทั้งหลายไม่ได้เป็นญาติเป็นมิตร  ต่างมารดาบิดา ต่างบ้านเกิดเมืองนอน ต่างเมือง ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ  ต่างภาค

แต่เมื่อพูดตามหลักของธรรมที่เราทั้งหลายได้ทรงอยู่ บัดนี้  เรียกว่าเราทั้งหลายเป็นญาติกันอย่างสนิทที่จะแยกจากกันไม่ได้  ญาติทางความเกิดก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ญาติทางความทุกข์ความลำบาก ความขัดข้องยุ่งเหยิงต่างก็ได้ผ่านมาในทางสายเดียวกัน  ญาติในทางนักบวชซึ่งเป็นผู้โกนผมโกนคิ้ว เพื่อสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ตนเอง  เป็นเจตนาอันเดียวกันไม่ได้ผิดแปลกกันแม้แต่น้อย  และปฏิปทาก็เป็นเช่นเดียวกันด้วย มีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องปกครองและเป็นเครื่องดำเนินเช่นเดียวกัน จึงเรียกว่าเราทั้งหลายเป็นญาติกันอย่างสนิท

แม้แต่ลูกพ่อเดียวแม่เดียวก็ยังมีการทะเลาะเบาะแว้ง หรือคู่สามีภรรยาถึงจะเป็นที่รักสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังมีการขัดข้องไม่ลงคอกันได้ในบางกาล ในบางกรณี  แต่สำหรับเราทั้งหลายที่ได้มาร่วมกันอยู่ บัดนี้  นับตั้งแต่ที่ล่วงมาแล้วจนกระทั่งถึงวันนี้ รู้สึกว่าเป็นที่น่าอนุโมทนาสำหรับผมผู้เป็นหัวหน้าปกครองบรรดาท่านทั้งหลาย เรื่องที่พวกเราทั้งหลายได้รับความร่มเย็นไม่มีการระแคะระคายในกันและกัน ทั้งข้อวัตรปฏิบัติ ทั้งด้านความเห็นอันเป็นเหตุที่จะให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน และเป็นบ่อเกิดแห่งความกระทบกระเทือนนับตั้งแต่เล็กน้อยจนกระทั่งถึงส่วนใหญ่ไม่เคยปรากฏ อันเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่ดีจากบรรดาท่านทั้งหลายที่ได้มาอยู่ร่วมกัน

การที่เราทั้งหลายได้อยู่ร่วมกันด้วยความเป็นสุขเช่นนี้  เนื่องจากต่างท่านต่างองค์มีหลักธรรม คือเหตุผลเป็นเครื่องสอบสวน หรือเป็นเครื่องทบทวน อยู่ในตัวของเราเองและหมู่เพื่อนด้วยกัน  จึงเป็นเหตุให้อยู่ด้วยกันด้วยความเป็นสุข  ถ้าหากว่าหลักธรรมของพวกเราได้ด้อยไปบ้าง ในการทบทวนดูเรื่องความเคลื่อนไหวของตนและหมู่เพื่อนไม่ลงรอยกันได้  นั่นแลเป็นเหตุที่จะให้เกิดความระแคะระคาย  ถ้าเป็นอย่างหม้อน้ำก็แสดงว่ากำลังร้าว  จากร้าวไปก็เรียกว่าแตกกระจาย  หม้อน้ำเพียงแต่ว่าร้าวเท่านั้น คุณภาพก็ไม่สมบูรณ์ เราจะเห็นหุงต้มแกงหรือขังน้ำก็ไม่สมบูรณ์ ยิ่งหม้อน้ำได้แตกไปเสียก็ยิ่งขาดประโยชน์เต็มส่วนของหม้อน้ำที่จะพึงได้รับผล

เรื่องความที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องทิฐิความเห็น หรือปฏิปทาที่ปราศจากหลักธรรมคือเหตุผล ก็ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่นี้ถ้าจะเทียบก็เหมือนกันกับว่าเวลานี้หม้อน้ำกำลังสมบูรณ์ ไม่มีร้าวหรือบิ่นแม้แต่น้อย  คือพวกเราทั้งหลายได้อยู่ร่วมกันด้วยความเป็นสุข เนื่องจากว่าต่างคนต่างมีธรรมเป็นเครื่องประจำใจของตนเอง ไม่เห็นแก่ความเป็นผู้ใหญ่ ไม่เห็นแก่ความเป็นผู้น้อย เห็นแก่หลักธรรมคือเจตนาที่จะมุ่งดำเนินตามสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้า เต็มสติกำลังและความสามารถของตนแต่ละท่านๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแสดงว่าเป็นการถูกหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เมื่อการดำเนินของพวกเราตั้งแต่ขั้นหยาบเป็นการถูกหลักธรรมเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขอย่างนี้แล้ว  ส่วนละเอียดก็พึงทราบว่าจะต้องเป็นไปจากส่วนหยาบ  ส่วนละเอียดหมายถึงเรื่องของเราโดยเฉพาะที่จะพยายามปรับปรุง หรือพยายามสอบสวนทวนดูหลักเหตุผลอันเกิดขึ้นจากความเคลื่อนไหวในกาย วาจา ใจของตน  เฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวซึ่งเกิดขึ้นจากใจ ที่จะทำความสงบให้เป็นไปได้ ทางภายใน

ที่กล่าว บัดนี้กล่าวถึงเรื่องความสงบ ซึ่งเป็นไปในระหว่างหมู่เพื่อนด้วยกัน เรียกว่าเป็นที่น่าอนุโมทนา  การปกครองก็รู้สึกว่ามีความเบาอกเบาใจ  ไม่ได้เป็นอารมณ์สำหรับผู้เป็นหัวหน้าที่เกี่ยวกับบรรดาลูกศิษย์ จะเป็นรายใดก็ตามแสดงความไม่เป็นที่ไว้วางใจในกิริยามารยาท อย่างนี้ไม่เคยปรากฏ  นี่แสดงถึงเรื่องความสงบที่เกี่ยวกับหมู่เพื่อนด้วยกัน นี่เราก็พอจะที่เห็นผลประโยชน์เกิดขึ้นจากการระมัดระวัง ในระหว่างเรากับหมู่เพื่อนหรือในระหว่างตนกับหมู่เพื่อน ต่างคนก็ต่างระมัดระวัง ถือหลักธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าถือเรื่องของเราแต่ละรายๆ พยายามปรับปรุงตนเองแต่ละท่านๆ ให้เข้ากับหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว ผลที่ปรากฏขึ้นให้เราทั้งหลายได้ทราบหรือได้ดูหรือได้เห็นประจักษ์ ก็คือความร่มเย็นเป็นสุขด้วยกัน นี่คือความสงบส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับหมู่เพื่อน

แล้วพึงถือเอาหลักเหตุผลอันเป็นส่วนหยาบที่เกี่ยวกับหมู่เพื่อนนี้ เข้าไปปรับปรุงเรื่องภายในของตนเอง คือเรื่องของจิตใจโดยเฉพาะ จิตใจที่มีความกระทบกระเทือนระหว่างสิ่งที่มาสัมผัสเกิดความไม่สงบขึ้นภายในใจ พึงทราบว่าจะต้องมีเรื่องอันใดอันหนึ่งที่เราสอบสวนทบทวนดูยังไม่รอบคอบ ในระหว่างสิ่งที่มากระทบกับการรับรู้ของเราในสิ่งกระทบนั้น พร้อมด้วยสติปัญญายังไม่เพียงพอและยังไม่สมบูรณ์พอ  จึงเป็นเหตุให้จิตของเราทรงความสงบของตนไว้ไม่ได้ หรือผู้ที่ได้แล้วในขั้นที่ละเอียดยิ่งกว่านี้เข้าไปก็ยังมี ซึ่งเรายังไม่สามารถที่จะระงับดับได้ กลายเป็นเรื่องเกิดขึ้นกับใจของเราอยู่ตลอดเวลา  ให้พึงสอบสวนทบทวนดูเช่นเดียวกันกับระหว่างเรากับหมู่เพื่อน เพื่อปรับปรุงข้อวัตรปฏิบัติให้กลมกล่อมเข้ากันได้ กลายเป็นความสงบสุขขึ้นในระหว่างของพวกเรา

เรื่องของจิตก็พึงเทียบเคียงกันเช่นนี้  ถ้าหากว่าใจของเราได้มีหลักเหตุผลสอบทวนตน ในลักษณะอาการของใจที่เคลื่อนไหวต่ออารมณ์ใดๆ เช่นเดียวกับเราทบทวนดูเรื่องภายนอกที่เกี่ยวกับหมู่เพื่อนนั้นแล้ว เราก็จะได้รับผลประโยชน์เป็นเครื่องตอบแทนขึ้นภายในจิตใจของเรา  คือใจจะเริ่มมีความสงบเป็นลำดับไป  ความสงบก็มีหลายชั้น เมื่อเราผ่านความสงบชั้นหยาบนี้เข้าไปได้ ความสงบขั้นกลางยังมีเรื่องตามขนาดของขั้นแห่งความสงบ เมื่อเราได้นำสติปัญญาเข้าสอบสวนทบทวนดูสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง หรือเป็นข้าศึกต่อความสงบส่วนกลางของเราได้จนพอตัวแล้ว ความสงบส่วนกลางนั้นก็จะกลายเป็นความสงบที่สมบูรณ์ขึ้นมาโดยลำพังตนเอง  และต่อจากนั้นก็จะพยายามสู้รบกันกับข้าศึกที่ไปรังควาน หรือไปก่อเรื่องกันกับความสงบที่ละเอียดโดยทางสติปัญญาอีกเช่นเดียวกัน

เมื่อสติกับปัญญาของเราได้สอบสวนทบทวนดูข้าศึก คืออารมณ์ภายนอกกับภายในมาสัมผัสฟัดเหวี่ยงกัน แล้วเกิดผลอย่างไรขึ้นมา เราก็สอบทวนด้วยเหตุผลโดยมีสติกับปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัย เมื่อสติปัญญารู้เหตุผลได้พอตัวลงแล้ว เรื่องความสงบอันละเอียดก็จะปรากฏขึ้นเช่นเดียวกับความสงบส่วนหยาบ ส่วนกลาง  นี่หลักแห่งความสงบมีหลายชั้น เรื่องของปัญญาพึงทราบว่าเดินตามรอยกันไปกับความสงบส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด เหมือนกันกับเงาตามตัว นี่หลักธรรมชาติแห่งการปฏิบัติธรรมให้ท่านทั้งหลายพึงทราบไว้อย่างนี้

อย่าพึงเข้าใจว่าปัญญาจะไปอยู่ข้างหน้า ปัญญาจะมาอยู่ข้างหลังของความสงบ ไม่ใช่เช่นนั้น ตามหลักธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว  เรื่องของปัญญากับเรื่องของสติจะต้องสวมรอยกันไป หรือเป็นคู่เคียงกันไปกับความสงบ ไม่ว่าความสงบชั้นใดๆ ปัญญาก็มีตามฐานะแห่งความสงบ เริ่มจะทำความสงบอย่างหยาบให้ปรากฏขึ้นมา  ปัญญาอย่างหยาบต้องเป็นพี่เลี้ยงเสมอไป  ขั้นกลางปัญญาขั้นกลางก็ต้องเป็นพี่เลี้ยง  ขั้นละเอียดปัญญาขั้นละเอียดก็ต้องเป็นพี่เลี้ยงตามๆ กันไปอย่างนี้  นี่เป็นหลักธรรมชาติที่ได้ปฏิบัติมาตามกำลัง  ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายซึ่งถือเป็นอันเดียวกัน ผมได้เปิดเผยให้ท่านทั้งหลายฟังโดยจำเพาะ ให้พึงทราบไว้เสียว่าเรื่องของสติกับปัญญานี้  ตามขั้นของสมาธิหรือตามขั้นแห่งความสงบจะปราศจากกันไปไม่ได้ เป็นธรรมที่จำเป็นที่สุดที่เราจะพึงใช้อยู่ตลอดเวลา ตามฐานะแห่งปัญญาและสติของเรา เท่าที่จะพยายามฝึกฝนจิตใจของตนให้เป็นไปในความสงบขั้นไหน แล้วแต่อำนาจของสติ  แล้วแต่อำนาจของปัญญา

เมื่อปัญญาของเรามีความละเอียดสามารถขึ้นเป็นลำดับแล้ว  เรื่องที่ว่าปัญญาอันละเอียดนั้นไม่ต้องว่า  เพราะเป็นสิ่งที่ฝึกซ้อมไปตามๆ กันกับการฝึกหัดใจของเราให้เป็นความสงบตั้งแต่เบื้องต้น การที่เราจะพิจารณาหรือสอบสวนทบทวนเอาหลักเหตุผลเข้าไปจับที่หัวใจของเรา ที่จะเป็นความเคลื่อนไหวรับกับอารมณ์ที่มาสัมผัส ให้มีสติให้มีปัญญาเป็นเครื่องสอบสวนทบทวนกันอยู่เช่นนี้ ความสุขความสงบหรือความสบาย ความแยบคายความเฉลียวฉลาดจะค่อยปรากฏขึ้นกับใจดวงนี้ เมื่อใจของเราได้มีความสงบแล้ว ปัญญาของเราก็จะเริ่มพิจารณาคล่องแคล่วเป็นลำดับไป

เมื่อจิตมีความสงบ การสงบของจิตไม่ใช่เป็นนิสัยอันเดียว ลักษณะแห่งความสงบของจิตนั้นมีหลายลักษณะ และเป็นตามนิสัยของผู้ปฏิบัติแต่ละรายไม่เหมือนกัน แต่ผลรายได้คือความสงบนั้นเป็นเช่นเดียวกัน ลักษณะของจิตบางประเภท  เมื่อกำหนดบริกรรมในคำใดคำหนึ่ง บรรดาที่เป็นบทธรรมซึ่งตนชอบในจริตของตน เพียงบริกรรมเข้าเท่านั้นจิตก็ลงได้ทันทีและลงได้อย่างรวดเร็ว นี่เป็นนิสัยของนักปฏิบัติบางรายต้องเป็นอย่างนี้ แต่บางรายนั้นค่อยมีความสงบเข้ามา ความสงบเข้ามา ความรู้สึกภายนอกก็หดตัวเข้ามาๆ สู่ความรู้สึกภายใน คือคำบริกรรมกับความรู้ได้แก่ใจของตนเองแล้วก็สงบเข้าไป จนกระทั่งถึงหยุดหรือปล่อยวางคำบริกรรมทรงไว้ซึ่งความรู้อันเดียว มีความรู้รอบอยู่อันหนึ่ง อันนี้ชื่อว่าสติ  รู้อยู่จำเพาะ จิตนิ่งก็รู้ว่าจิตนิ่ง หยุดก็รู้ว่าหยุด  จิตจะกระเพื่อมออกนิดก็ต้องรู้ทันที  นี่คือเรื่องของสติ มีประจำอยู่กับองค์แห่งสมาธิหรือองค์แห่งความสงบนั้น

ทีนี้คนๆ เดียวนั่นเอง ผู้ปฏิบัติรายเดียวนั่นเอง ลักษณะของจิตไม่ใช่จะลงอย่างนั้นเสมอไป เช่นอย่างรายที่เคยลงได้อย่างเร็วๆ บางกาลบางสมัยกลับลงอย่างเชื่องช้าก็มี  เพราะเหตุนั้นอาการแห่งการลงของใจนั้นเราอย่าถือเป็นข้อข้องใจ สิ่งที่เราจะถือสำคัญที่สุดก็คือว่า ผลที่ปรากฏขึ้นจากความสงบนั้นเป็นอย่างไร นี่เป็นของสำคัญ ผลที่เกิดขึ้นจากความสงบนั้นคือความสุขหนึ่ง และอาการที่จิตจะแสดงความกระเพื่อมอย่างใดไม่มี มีความรู้เพียงอันเดียว และมีสติรู้อยู่ว่าจิตของตนหยุด ผลรายได้เป็นอันเดียวกันอย่างนี้  จะลงเร็วหรือช้าก็ตาม  จะลงลักษณะอาการใดๆ ก็ตาม ให้เราพึงถือเอาผลคือความหยุดของใจนั้น  ถือเอาความที่ว่าหยุดเป็นหนึ่ง

เมื่อถอนขึ้นมาแล้วให้เป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ในกายวิภาคของตน  กายทุกส่วนเป็นสภาพแห่งไตรลักษณ์ทุกๆ อาการ เป็นไตรลักษณ์ในหลักธรรมชาติ ใครจะรู้ก็ตาม ใครไม่รู้ก็ตาม  สภาพนี้ต้องเป็นหลักธรรมชาติแห่งไตรลักษณ์อยู่นั่นเอง  คำว่าไตรลักษณ์คือความไม่เที่ยง นี่เคยอธิบายให้ท่านผู้ฟังได้ทราบหลายครั้งแล้ว ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา  และเราอย่าพึงทราบว่าความเป็นทุกข์ก็ดี ความเป็นอนิจจังก็ดี ความเป็นอนัตตาก็ดีนอกไปจากอาการหนึ่งๆ อย่าพึงทราบว่าเป็นอย่างนั้น อาการเดียวนั้นเองพร้อมด้วยไตรลักษณ์อยู่แล้วอย่างสมบูรณ์  เช่นอย่างอาการแห่งกายของเรานี้มีถึง ๓๒ อาการ ทุกๆ อาการนั้นล้วนแล้วตั้งแต่เป็นไตรลักษณ์โดยหลักธรรมชาติอยู่ในตัว คำว่าอนิจจัง ทุกขัง กับอนัตตาจะแยกจากกันไม่ได้

เพราะเหตุนั้นบรรดาท่านผู้พิจารณา จะพิจารณาชัดเรื่องของทุกข์ก็ตาม  เรื่องของอนิจจังก็ต้องแสดงขึ้นกับทุกข์ เรื่องอนัตตาก็จะปฏิเสธความเป็นเราเป็นเขาอยู่ในตัวนั้นเสร็จ แต่ท่านแยกอาการออกว่าเป็นอนิจจังบ้าง เป็นทุกขังบ้าง เป็นอนัตตาบ้าง เหมือนกันกับอาการแห่งกายของเรานี้ แม้จะรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนในธาตุของบุคคลผู้เดียวนี้ก็ตาม แต่เมื่อแยกออกไปแล้วธาตุนี้มีอยู่ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ แม้แต่ธาตุดินก็ยังแยกอาการเป็นหลายธาตุ ตั้ง ๓๒ อาการ ให้คิดดู แต่อาการใดก็ตามพึงทราบว่าคือดินนั่นเอง น้ำจะแยกไปกี่ประเภทก็คือน้ำนั่นเอง ลมจะแยกไปกี่ประเภทก็คือลมนั่นเอง ไฟจะแยกไปกี่ประเภทก็คือไฟนั่นเอง อาการแห่งอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตาก็คือไตรลักษณ์นั้นเอง ให้ทราบกันอย่างนี้

ให้สอบสวนทบทวนวิพากษ์วิจารณ์ดูเรื่องไตรลักษณ์ที่มีอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกายของเรา  เราจะแยบคายในทางทุกข์  ชอบพิจารณาในทางทุกข์มากก็ให้พิจารณา  ชอบอนิจจังมากก็ให้พิจารณา  ชอบอนัตตามากก็ให้พิจารณาส่วนที่จริตชอบนั้นให้มากๆ  อย่างไรก็จะต้องซึมซาบถึงกันหมดในไตรลักษณ์ทั้งสามนี้จะแยกจากกันไม่ได้  นี่พูดตามหลักธรรมชาติเท่าที่ได้ปฏิบัติมา  ขอให้ท่านทั้งหลายเป็นที่ลงใจไม่ต้องสงสัยในหลักธรรม ว่าไตรลักษณ์ทั้งสามนี้จะแยกกันไปอยู่ในที่ต่างแดน  เป็นหลักธรรมชาติอันเดียวกัน  กำหนดอันหนึ่งก็ซึมซาบถึงอันหนึ่ง ให้รู้ได้ชัดๆ อย่างนี้ด้วยปัญญาของเรา  จะรู้ในไตรลักษณ์ใดก็ตาม เป็นความรู้ที่จะถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นสำคัญ ว่าเป็นเราเป็นเขาออกได้จากใจโดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับเราพิจารณาทั้งสามไตรลักษณ์

เรื่องของปัญญาจะวิ่งถึงกันหมด เพราะธรรมชาติอันนี้เป็นธรรมชาติอันเดียว แต่มีลักษณะถึงสามประการในวัตถุหรือในอาการอันเดียวนี้ ไม่ใช่จะไปซุ่มซ่อนอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง มีอยู่ในวัตถุอันเดียว ในชิ้นเดียวนั้นเต็มไปด้วยไตรลักษณ์  เมื่อปัญญาได้สอดส่องเข้าไปเห็นเรื่องของทุกข์ ก็แสดงว่าเห็นภัยอยู่แล้ว เห็นเรื่องอนิจจังก็แสดงว่าเป็นเรื่องที่เห็นภัยอยู่แล้ว เห็นเรื่องอนัตตาก็เป็นอันบอกอย่างชัดเจนว่าคือตัวภัย ไม่ควรจะยึดถือได้ว่าเป็นเราเป็นเขา  ว่าเป็นสุข เป็นของเที่ยงแม้แต่ชิ้นเดียวหรืออย่างเดียว ให้พิจารณาอย่างนี้

เรื่องของสติแล้วพวกท่านทั้งหลายอย่าถือว่าเป็นภาระของใคร เรื่องของปัญญาแล้วไม่สิ้นสุดอยู่กับใคร ขึ้นอยู่กับผู้ชอบตั้งสติ ชอบค้นคว้าด้วยปัญญา  วันหนึ่งๆ จะเกิดขึ้นมากี่ครั้งกี่หนไม่มีสิ้นสุดเหมือนกัน  เราอย่าเข้าใจว่าเราโง่  เราไม่ได้โง่ถ้าเราได้หยั่งความรู้สึกของเราลงในอวัยวะคือก้อนแห่งกายนี้แล้ว เรื่องความรู้สึกที่แปลกประหลาดจะปรากฏขึ้นมาในสถานที่นี้โดยไม่ต้องสงสัย ความเฉลียวฉลาดไม่ได้มีอยู่ในที่ไหนๆ สติก็ไม่มีอยู่ในที่ไหนๆ ท่านจึงเรียกว่า  สติปัฏฐานสี่  กายหนึ่ง  เวทนาหนึ่ง  จิตหนึ่ง  ธรรมหนึ่ง  นี่เป็นที่ตั้งของสติ หรือเรียกว่าเป็นที่บำรุงสติ เป็นที่บำรุงปัญญา เป็นที่เพาะปลูกสติ เพาะปลูกปัญญาให้มีความเฉลียวฉลาดรอบตัว เมื่อเรายังมีความโง่อาการทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นข้าศึกต่อเรา กายก็กลายเป็นข้าศึก เวทนาก็กลายเป็นข้าศึก จิตก็กลายเป็นข้าศึก ธรรมก็กลายเป็นข้าศึก

เมื่อเราได้หยั่งสติลงที่จุดนี้ หยั่งปัญญาลงที่จุดนี้ กายก็กลายเป็นธรรมขึ้นมา เวทนาก็กลายเป็นธรรมขึ้นมา  จิตก็กลายเป็นธรรมขึ้นมา  ธรรมก็กลายเป็นธรรมขึ้นมาในหลักธรรมชาติ เพราะเหตุนั้นท่านจึงเรียกสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือหินลับของสติ ของปัญญานั่นเอง  แต่ผู้ไม่ฉลาดเอามีดไปฟันหิน มีดก็ต้องเสีย  ถ้าผู้ไม่ฉลาดถือหินลับนี้ว่าเป็นตน  กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งหมดนี้ก็กลายเป็นข้าศึกแก่คนโง่ผู้นั้น เพราะเหตุนั้นที่พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่นี้ ไม่ได้สอนว่าให้เอามีดไปฟันหิน  ไม่ได้สอนว่าให้ถือกาย เวทนา จิต ธรรม นี้ว่าเป็นตน ตรงกันข้ามสอนว่าให้พิจารณาถึงเรื่องกาย  เรื่องเวทนา  เรื่องจิต  เรื่องธรรมด้วยสติ ด้วยปัญญา อย่างนี้ต่างหาก  เพราะเหตุนั้นสติจึงตั้งได้ที่กาย เวทนา จิต ธรรม ปัญญาจึงมีความเฉลียวฉลาดรู้รอบคอบตนเองขึ้นได้ด้วยหลักแห่งธรรมทั้งสี่ประเภทนี้คือ กาย  เวทนา  จิต  ธรรม

นี่บ่อแห่งความเฉลียวฉลาด  บ่อแห่งความรู้รอบอยู่ที่นี่ จงตั้งลงสู่ที่นี่ การเรียนมากเรียนน้อย เราไม่มีโอกาสที่จะไปร่ำไปเรียนศึกษาให้ได้มากๆ เหมือนอย่างบรรดาท่านที่มีโอกาสทั้งหลายก็ตาม เราไม่ต้องเสียใจ ให้เรียนในหลักธรรมชาตินี้ พระพุทธเจ้าก็ดี  สาวกก็ดี  ท่านสอนในหลักธรรมชาติ เรื่องของกิเลสก็เป็นหลักธรรมชาติอันหนึ่ง  ใครๆ ไม่เคยมีป้าย มีกระดานดำเรียนวิชากิเลส  แม้แต่สัตว์เดรัจฉานทำไมจึงมีกิเลสเล่า  เด็กเล็กเด็กน้อยเขาเคยรู้กิเลสเมื่อไร  ทำไมธรรมชาติอันนี้จึงมีฝังอยู่ในหัวใจของเขา และเราผู้ใหญ่ก็เหมือนกันไม่เคยมีโรงร่ำโรงเรียนที่ไหน ท่านมาเรียนตั้งแต่ธรรมทั้งนั้นไม่ได้เรียนวิชากิเลส  เหตุใดกิเลสจึงมีเต็มหัวใจของเราทุกๆ ท่าน เพราะเหตุใด

เพราะกิเลสเป็นหลักธรรมชาติไม่ขึ้นกับใคร และไม่เข้ากับใครไม่ออกใครทั้งนั้น เป็นผู้มีความเที่ยงธรรม คือตั้งอยู่ในหลักเหตุผลเช่นเดียวกัน ถ้าคิดผิดก็เป็นกิเลสขึ้นมา  ถ้าคิดถูกก็เป็นธรรมะขึ้นมา สรุปความลงแล้วกิเลสกับธรรมไม่ใช่ผู้อื่นใดที่จะก่อร่างสร้างขึ้นให้เป็นข้าศึกและเป็นคุณต่อตนเอง นอกจากหัวใจของเราผู้โง่และผู้ฉลาดนี้เท่านั้น ที่จะสามารถแก้ไขกิเลสออกได้ด้วยความฉลาดของตน และที่จะทำกิเลสให้ผูกมัดตนเองขึ้นด้วยความโง่ของตนเท่านั้น และกิเลสจะเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นที่ไหน นอกจากจะเกิดขึ้นจากความโง่  โง่อะไรเล่า  เมื่อจะแยกออกตามประเภทแห่งความโง่แล้ว  เห็นก็โง่  ได้ยินก็โง่  สิ่งใดที่มาสัมผัสก็หลงตามไปหมด  นี่ท่านเรียกว่าโง่เพราะเหตุนี้  เพราะรากฐานของจิตมันโง่ เพราะเหตุนั้นจึงต้องพยายาม  มันโง่อยู่ที่จุดไหนให้กำหนดพิจารณาลงที่จุดนั้น  มันผูกตนของตนอยู่ที่จุดไหน ให้พิจารณาตนของตนแก้ไขลงที่จุดนั้น

เฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ ไม่มีอันใดที่เป็นข้าศึกต่อเราซึ่งเป็นของยอดเยี่ยมที่สุดนอกไปจากกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ ความหลงก็หลงกายนี้ว่าเป็นเรา  รักก็รักกายนี้  ชังก็ชังกายนี้ ทุกข์ก็เกิดขึ้นในกายนี้ จิตได้รับความเดือดร้อนก็เพราะเรื่องแห่งกายนี้ คำว่าทันสมัยเอาอะไร ก็กาย เวทนา จิตนี้เอง รวมลงแล้วเรียกว่าธรรม  ทีนี้เราพยายามที่จะพิจารณาใจของเรา ในสติปัฏฐานสี่ ด้วยสติ ด้วยปัญญาไตร่ตรองอยู่ทั้งวันทั้งคืน มีการงานคือ สติปัฏฐานสี่เท่านั้นเป็นงาน เป็นทางเดิน เป็นที่อยู่ เป็นที่อาศัย เป็นที่ทำงานของเราไม่มีที่ไหน ให้พิจารณาลงที่นี้ เมื่อได้พิจารณาให้เห็นชัดด้วยอำนาจของปัญญา พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าดังที่เคยอธิบายให้ฟัง

เหมือนอย่างเขาขุดดินหรือคราดนาไถนา ไถแล้วไถเล่า  ขุดแล้วขุดเล่า ไถดะไถแดอะไรก็แล้วแต่ แล้วคราดจนแหลกละเอียด ความเร็วความช้าไม่เป็นของสำคัญ  สำคัญที่มูลคราดมูลไถแหลกละเอียดแล้วเป็นพอ การพิจารณาจะเร็วหรือช้าก็ตามไม่เป็นของสำคัญ สำคัญที่สุดก็คือว่า  พิจารณาจนเข้าใจ เมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วเมื่อไร นั่นแลเป็นผลสะท้อนย้อนมาให้เราได้รับความสุข  ให้เราได้รับความเฉลียวฉลาด  ให้เราได้เห็นโทษเห็นภัย ให้เราได้ปล่อยวางสิ่งที่เป็นข้าศึกนี้ได้ ปราศจากความถือว่าเป็นตน เป็นเรา เป็นเขา  เป็นของเที่ยง  เป็นของสุข เป็นอัตตาเสียได้ด้วยอำนาจของปัญญา ให้พิจารณาเข้ามาที่นี่

หลักแห่งการพิจารณา  เราจะเห็นว่าพิจารณามากไปหรือน้อยไป งานของเราที่ทำในวันหนึ่งๆ เราไม่ต้องว่าเราทำงานน้อยไปหรือมากไป ให้สำเร็จการเลี้ยงชีพได้อย่างน้อย ต้องให้เป็นอย่างนั้น มากกว่านั้นให้มีการได้ซื้อได้ขาย ได้ร่ำได้รวยเงินมาไว้สำหรับเป็นความสะดวกแก้ขัดแก้จนของเราในคราวจำเป็น ไม่ต้องถือว่างานน้อยหรืองานมาก  ไม่ต้องถือว่าหนักว่าเบา เมื่อเหนื่อยหรือหิวแล้วก็มาพักผ่อนร่างกายหรือรับประทานอาหาร  พักให้สบาย  จากนั้นก็เริ่มงานอีกเป็นลำดับอย่างนี้ทุกวันๆ  ไม่ได้ถือว่าเราทำงานมากหรือทำงานน้อย  เรื่องของการครองชีพเป็นความจำเป็นบังคับเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำไม่ได้ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างนี้  ข้อนี้ก็มีในฉันนั้นเหมือนกัน

การพิจารณาด้วยปัญญาในสติปัฏฐานสี่  คือ  กาย  เวทนา  จิต  ธรรม เราไม่ต้องว่าเราพิจารณามากหรือพิจารณาน้อย  พิจารณาจนมีความเข้าใจเป็นลำดับๆ  เมื่อมีการเหนื่อย จิตอยากจะพัก ก็ให้เข้าพักในเรือนคือสมาธิ  การพักของจิตจะพักนานหรือไม่นานก็ตาม ขึ้นอยู่กับความเพียงพอของใจ  เช่นเดียวกับเรานอนหลับ  จะนอนหลับมากหรือน้อยก็ตาม ขึ้นอยู่กับความเพียงพอของธาตุขันธ์แล้วตื่นขึ้นมา  แล้วเราก็ประกอบการงานได้ ลักษณะของการพักสมาธิก็เช่นเดียวกัน จะพักอยู่สักกี่ชั่วโมงก็ตามไม่เป็นของจำเป็นที่เราจะต้องถอนขึ้นมาเอาเฉยๆ ปล่อยให้พักอยู่นั้นจนเพียงพอแก่ความต้องการของจิตแล้วถอนขึ้นมาเอง เมื่อจิตได้ถอนขึ้นมาแล้วมีหน้าที่ที่เราจะต้องพินิจพิจารณาในสติปัฏฐานสี่  คือ  กาย  เวทนา  จิต  ธรรม ด้วยปัญญาของเราเป็นลำดับๆ ไป

การพิจารณาเรื่องของกายแยกส่วน แบ่งส่วน  ขยายให้โตบ้าง  ทำให้เล็กบ้าง  แล้วแยกออก จะเป็นกองเนื้อกองหนังในส่วนใดๆ ก็ตาม และกำหนดให้ละลายหายสูญไปจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล  จากความเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นต้น จนกลายลงเป็นธาตุเดิม คือ  ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วปรุงขึ้นมาใหม่ พิจารณาอยู่เช่นนี้ วันหนึ่งจะได้สักกี่เที่ยวหรือกี่รอบไม่เป็นสิ่งที่เราจะไปพึงคำนวณ  ผลรายได้ที่ปรากฏขึ้นจากใจของเราคือ ความฉลาด  ความหายสงสัยในส่วนแห่งกายไปทุกวันๆ เป็นลำดับอย่างนี้เป็นความต้องการของเรา จนกระทั่งถึงว่าใจของเรามีความเพียงพอต่อส่วนแห่งกายนี้แล้ว จะรู้เท่าทันในส่วนแห่งกายนี้โดยทางปัญญา แล้วปล่อยวางได้อย่างสนิท ไม่มีอันใดที่จะมาเป็นเครื่องติดจิตติดใจหรือซึมซาบว่ากายนี้เป็นเราเป็นของเราได้อีกแม้แต่นิดเดียว นี่เป็นความเพียงพอของการพิจารณาร่างกาย

ทีนี้เรื่องเวทนาซึ่งเกิดขึ้นจากกายและเกิดขึ้นจากใจ เพราะเวทนามีประเภท เวทนาในส่วนแห่งกายอย่างหนึ่ง เวทนาในส่วนแห่งใจอย่างหนึ่ง  ใจจะเป็นสุขเวทนาก็ตาม  ทุกขเวทนาก็ตาม ที่สืบเนื่องมาจากการได้รับอารมณ์ จะเป็นอารมณ์ในทางมรรคหรือในทางสมุทัยก็ตาม ถ้าใจของเรามีความสุข เพราะการพิจารณาเห็นแจ้งเห็นชัดในสภาวธรรมที่มีอยู่ในตัวของเรานี้ ปรากฏเป็นความสุขขึ้นมา นี้เรียกว่าสุขเกิดขึ้นจากมรรค คือเกิดขึ้นจากทางด้านปัญญา  ถ้าสุขมีความรื่นเริงบันเทิงไปในทางโลกทางสงสาร แสดงว่าสุขนี้เกิดขึ้นทางด้านสมุทัย  ให้เรารู้ชัดอย่างนี้  เรื่องของทุกข์ก็พึงเทียบเคียงกันเช่นนี้

แต่การปล่อยวางกายนี้นั้นปล่อยวางในขั้นต้น เมื่อจิตได้พิจารณาถึงเรื่องเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจนแจ่มแจ้งชัดเจนตามเป็นจริงทุกชิ้นไม่มีอันใดเหลือ จนกระทั่งถึงกระแสของจิตได้วิ่งไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว  เรื่องกายก็ดี  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณก็ดี เป็นสภาวธรรมมีสภาพเช่นเดียวกัน พิจารณาผสมผสานกันได้หมด มีแต่ว่าเจตนาผิดกันเท่านั้น เจตนาในเบื้องต้นในการพิจารณากายก็ดี  พิจารณาเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณก็ดี  พิจารณาเพื่อรู้แจ้งเห็นชัด  พิจารณาเพื่อถอดเพื่อถอน  เพื่อเปลื้องตนของตนออกจากสภาวะเหล่านี้โดยทางปัญญา  แต่เมื่อเราย้อนกลับมาพิจารณาครั้งหลังนี้ เป็นแต่เพียงว่าพิจารณาโดยวิหารธรรม ให้เป็นความสะดวกกายสบายใจ ซึ่งระหว่างขันธ์กับจิตได้อาศัยกันอยู่ เป็นความสุขความสบายในระหว่างขันธ์กับจิตที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่มีความมุ่งมาดปรารถนาส่วนใดอื่น ซึ่งนอกไปจากให้เป็นความสะดวกกายสบายใจในระหว่างที่กระทำที่มีชีวิตอยู่นี้เท่านั้น

การพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีลักษณะประเภท ลักษณะ ๒ ประเภทนั้นคือ  เกี่ยวกับเรื่องความสัมผัสภายนอก คือมีสิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัส ปรากฏเป็นความปรุงหรือความจำหมายขึ้นมา  ความรับรู้ขึ้นมาอย่างหนึ่ง  อย่างหนึ่งแม้สิ่งเหล่านี้จะไม่ปรากฏขึ้นมาก็ตาม สัญญาจะไม่ปรากฏก็ตาม  วิญญาณจะไม่ปรากฏก็ตาม  เป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ จะต้องพิจารณาได้โดยไม่ต้องมีสิ่งอันใดมาทำให้กระเพื่อม  แต่พึงทราบก่อนว่าเรื่องของปัญญาเกิดขึ้นมาได้อย่างไง  ก็สังขารนั้นเองเมื่อไปทางสมุทัยท่านก็เรียกว่า  สมุทัยไปเสีย คือเราปรุงไปทางให้เกิดทุกข์ เป็นเรื่องกิเลสตัณหาพัวพันในจิตใจของเรา  ท่านเรียกว่าสังขารประเภทนั้นเป็นสมุทัย แต่ถ้าคิดปรุงไปในทางจะเปลื้องตนของตนให้พ้นจากสิ่งผูกมัดทั้งหลาย ท่านให้ชื่อว่า  มรรค  ก็คือสังขารนั่นเอง

เรียกว่าสังขารฝ่ายสมุทัยอย่างหนึ่ง สังขารฝ่ายมรรคอย่างหนึ่ง คือสังขารฝ่ายผูกมัดตนเองนั้น  เรียกว่าสังขารฝ่ายสมุทัย  สังขารฝ่ายเปลื้องหรือฝ่ายแก้ไขตนเอง  ท่านเรียกว่ามรรค คือปัญญา  เมื่อเป็นเช่นนั้นแม้สังขารจะไม่ปรุงในส่วนสมุทัยก็ตาม  สังขารที่เป็นตัวปัญญาสามารถที่จะปรุงพลิกแพลงในเรื่องอันใดให้เกิดความฉลาดแก่ตนเองได้  จนกระทั่งมีความเพียงพอในเรื่องเวทนาก็ดี ในสัญญาก็ดี ในสังขารก็ดี จะวิ่งเข้าไปสู่จุดเดียวเท่านั้นเพราะรูปก็มาจากใจเป็นรากฐานหรือเป็นแดนเกิด เวทนาก็ต้องมาจากใจ แม้จะไม่ใช่ใจก็ต้องมาจากใจ เช่นเดียวกับกายถึงจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่ใจก็ตาม แต่ก็อาศัยใจปรากฏเป็นขึ้นมา ประชุมกันเป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชายขึ้นมา

เรื่องของเวทนาก็เช่นเดียวกัน แม้จะไม่เป็นเรื่องของใจก็ตามแต่ก็ออกมาจากใจ สัญญา สังขาร วิญญาณที่เรียกว่าขันธ์ห้านี้แต่ละอย่างๆ ก็ต้องออกมาจากใจ  เมื่อปัญญาเราได้พินิจพิจารณาเช่นเดียวกับเราพิจารณาในเรื่องร่างกาย จนเกิดความชำนิชำนาญ  แม้ที่สุดจะกระเพื่อมขึ้นเมื่อไรก็ทราบ ถึงจะดับไปแล้วก็ตาม ก็ทราบทั้งเรื่องความเกิดขึ้น ดับไปแห่งเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณแต่ละอย่างๆ  ทราบทั้งความที่ตั้งขึ้นว่าตั้งขึ้นจากอะไร และดับไปแล้วไปอยู่ที่ไหน จะตั้งขึ้นก็ตามไม่ตั้งขึ้นก็ตาม  จะตั้งอยู่ก็ตามไม่ตั้งอยู่ก็ตาม ก็เป็นเหตุจะให้ทราบชัดถึงเรื่องสมุฏฐานที่เกิดของอาการทั้งสี่ทั้งห้านี้ ว่าเกิดขึ้นมาจากไหน นี่เรื่องปัญญา

เมื่อได้ทราบชัดเป็นลำดับๆ ลงไป เรื่องการที่เราจะไปตำหนิติโทษในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสมันก็หมดปัญหาไปแล้ว  นอกจากว่าเราจะตำหนิติโทษของเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณหรือของรูปกายของเราเท่านั้น  เมื่อพิจารณาในส่วนนี้เห็นชัดอีกแล้ว  ก็หมดการตำหนิติโทษในรูปของตน เวทนาของตน  สัญญาของตน  สังขารของตน  วิญญาณของตน เหตุที่จะหมดโทษหรือเหตุที่จะหมดการตำหนิติชม ก็เพราะอำนาจของปัญญาได้รื้อฟื้นดูทุกสิ่งทุกประการ  รื้อฟื้นดูทางรูป  ทางเสียง  ทางกลิ่น  ทางรส  แล้วย้อนเข้ามาดูสัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ผู้รับสัมผัสในสิ่งเหล่านั้น จนเห็นชัดทั้งด้านนอก  เห็นชัดทั้งด้านใน  เห็นชัดเข้าไปจนกระทั่งถึงที่เกิดแห่งสัญญา  แห่งสังขาร  แห่งวิญญาณ  แห่งเวทนาว่าเกิดขึ้นมาจากไหนนี่  ความตำหนิติชมในรูปก็ดี  ในเวทนาของตนก็ดี  ในสัญญา  สังขาร  วิญญาณของตนก็ดี  ก็หมดเข้าไปเป็นลำดับๆ

แล้วสิ่งที่เป็นกิเลส อะไรเป็นกิเลสที่นี่ เมื่อรูปก็เป็นรูป  เวทนาก็เป็นเวทนาในส่วนแห่งกาย สัญญาก็เป็นสัญญา สังขารก็เป็นสังขารไม่เป็นกิเลสแล้วอะไรเป็นกิเลส รูป เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณไม่ใช่กิเลสมันก็รู้ชัด  ผู้ใดเป็นผู้หลง นั่น  มันจะย้อนเข้าไป  ธรรมชาติที่ไม่รู้ไม่มีอันใดหลง  ความที่รู้นั่นเองเป็นเหตุที่จะให้เกิดความหลงขึ้นมาได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ความรู้นี้ก็ต้องเป็นเรื่องของกิเลสประเภทหนึ่ง จะกลับเข้าไปเห็นภัยในความรู้ประเภทนั้น นี่ท่านเรียกว่าความรู้ที่เป็นรากเหง้าแห่งเรื่องทั้งหลาย  จะติดต่อก่อแขนงขึ้นมาจากธรรมชาติที่รู้อันนี้เท่านั้น หมดการตำหนิติชมภายนอก นอกจากจะเห็นเรื่องเห็นราว เห็นเหตุเห็นผลจากธรรมชาติที่รู้นี้เท่านั้น ว่าจะเป็นไปอย่างไรอีก หรือจะมีความเคลื่อนไหว หรือมีความแปลกประหลาดอย่างไรจากธรรมชาติที่รู้นี้

ปัญญาก็จดจ่อวินิจฉัยในสภาพที่รู้ กับสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความรู้ คืออาการของจิตที่เคลื่อนไหวแพล็บ ก็เกี่ยวถึงความรู้อันนั้นทันที ก็ย้อนเข้าไปๆ จนกระทั่งถึงผู้รู้นั้นเราได้เห็นว่าเป็นตัวโทษ  เห็นว่าเป็นตัวพิษอย่างชัดแจ้งด้วยปัญญาแล้ว  เราจะทนถือผู้รู้นี้ว่าเป็นเราได้อย่างไร เราจะทนถือผู้รู้นี้ว่าเป็นความฉลาดได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องของกิเลสดีๆ เพราะได้เห็นชัดด้วยปัญญาแล้ว ตอนนี้ธรรมชาตินี้จะตั้งอยู่ไม่ได้เมื่อปัญญาได้ทันท่วงทีหรือพอแก่กำลังของตนแล้ว ธรรมชาติอันนี้ก็จะต้องขาดกระเด็นลงไปทันทีไม่มีอันใดเหลือ

เมื่อธรรมชาติอันนี้ได้ขาดกระเด็นลงไปแล้ว นั้นแลสิ่งทั้งหลายจะปรากฏเปิดเผยไปทั่วทั้งโลกธาตุ แล้วจะประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่า สภาวธรรมเป็นธรรมชาติที่ปกติอยู่ตามธรรมชาติของเขา ไม่เคยเป็นข้าศึกศัตรูต่อผู้ใด นอกจากธรรมชาติที่รู้ๆ อันเต็มไปด้วยความหลงอันเดียวเท่านี้ ไปเที่ยวหาเรื่องหาราวเกิดคดีฟ้องร้องในตัวเอง แล้วก็ลุกลามไปหาสิ่งภายนอกให้กลายเป็นคู่ความกันตามกันไปเท่านั้น สภาวธรรมทั้งหลายจึงกลายเป็นสิ่งที่เปิดเผยขึ้นมาอย่างเต็มที่ ในขณะที่ธรรมชาติที่ลี้ลับได้ตกสูญหายไป และในขณะเดียวกันธรรมชาติที่แท้จริงก็ได้ปรากฏเปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กันกับธรรมชาติที่ลี้ลับ คือความรู้ที่เจือไปด้วยความหลงนั้นได้สลายตัวลงไปเท่านั้น

ธรรมชาติที่ว่ารู้อันนี้ ที่เป็นรู้โดยหลักธรรมชาตินี้กับสภาวธรรมทั้งหลาย จะเรียกว่ากลายเป็นสหายกันก็ได้ หรือจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่เสมอภาคด้วยกันก็ได้  ต่างไม่มีอันใดที่จะตำหนิติชมต่ออันใด รูปทั่วทั้งโลกธาตุก็เห็นเป็นไปตามความจริงของรูปในความตั้งขึ้น  ในความตั้งอยู่ ในความดับไปของรูป เวทนาแม้จะมีอยู่ในส่วนแห่งกาย ก็ทราบชัดว่าเป็นสภาพความจริงอันหนึ่ง หรือเสียงก็ดี  กลิ่นก็ดี  รสก็ดี  เครื่องสัมผัสทั่วๆ ไปในขอบเขตจักรวาลนี้ก็ดี ปรากฏว่าเป็นหลักความจริง เป็นยุติธรรมเสมอหน้ากันไปหมด  เนื่องจากความรู้ที่เป็นความรู้ในหลักธรรมชาตินี้ ได้กลายเป็นความรู้ที่ยุติธรรมต่อตนเองเท่านั้น สภาวะทั้งหลายจึงกลายเป็นสภาพที่เป็นยุติธรรมไปตามๆ กันหมด

เมื่อจะย้อนเข้ามาพูดให้เห็นชัดๆ ก็คือว่า เราเป็นผู้โกหกผู้เดียวเท่านั้น หรือเราเป็นผู้หลงเราเพียงอันเดียวหรือเพียงคนเดียวเท่านั้น เลยกลายไปทำโลกธาตุขอบเขตจักรวาลให้เป็นเรื่องเป็นราวตามๆ เราไปหมด  สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเลยกลายเป็นเรื่องเป็นราวเป็นคดีคู่ความกันกับเราทั่วทั้งดินแดน พอเราได้ปรากฏเป็นความรู้ที่ยุติธรรมขึ้นมาเท่านั้น  สภาวะทั้งหลายก็กลายเป็นยุติธรรมเสมอหน้ากันไปหมด นี้แลเรียกว่า ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ  ความรู้เห็นตามเป็นจริงในสภาพแห่งหลักธรรมชาติของตนด้วยปัญญาอย่างแจ้งชัดแล้ว สภาวะทั่วๆ ไปจึงกลายเป็นความจริงเสมอหน้ากันไปหมด นี่เรียกว่า  ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ ทั้งรู้ทั้งเห็นในสภาวะทั้งหลายตามเป็นจริงทั้งข้างนอกทั้งข้างในไม่มีอันใดลี้ลับ กลายเป็นสภาวะเปิดเผยไปเสียสิ้น

เพราะธรรมชาติที่ลี้ลับคือตัวอวิชชานั้นได้ดับไปเพียงดวงเดียวเท่านั้น ธรรมชาติที่แท้จริงหรือธรรมชาติที่เป็นยุติธรรมจึงได้โผล่ขึ้นมาเต็มที่ให้ปรากฏชัดในจิตใจ พร้อมทั้งคำตัดสินในหลักธรรมชาติได้ปรากฏขึ้นว่าสิ้นเรื่องเพียงเท่านี้ เรื่องกิเลส  เรื่องตัณหา เรื่องรักๆ เรื่องชังๆ เรื่องหลงเรื่องรู้อะไรต่อไปอีกนั้น หรือรู้เพื่ออะไรต่อไปอีกนั้น เป็นอันว่ายุติกันลงในที่นี่  นอกออกไปก็คือว่าเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายที่จะมาเกี่ยวโยงกันเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา เป็นอันว่ายุติลงได้ในขณะนี้เท่านั้น  จะไม่มีอันใดที่จะสืบต่อธรรมชาตินี้ไปได้อีกแล้ว เพราะอดีตก็รู้เท่า อนาคตก็รู้ทัน ปัจจุบันก็ไม่ยึด  ปรากฏเป็นความบริสุทธิ์อย่างล้วนๆ อยู่ในหลักธรรมชาตินั้นแล้ว นั่นแลที่นี่ตาก็ไม่เป็นภัย  หูก็ไม่เป็นภัย  จมูก ลิ้น กายไม่เป็นภัยเพราะใจไม่เป็นภัย  รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็ไม่เป็นคู่เวร ไม่เป็นศัตรูต่อใคร  กลิ่น รส  เครื่องสัมผัสทั่วทั้งขอบเขตจักรวาลหรือไตรโลกธาตุประกาศเป็นคู่มิตรในเสียงเดียวกันหมด  นี่เรียกว่าสุคโต

ข้างนอกก็เป็นสุคโตเพราะข้างในไม่มีภัย ไปเที่ยวก่อกรรมก่อเวรก่อเข็ญตำหนิติโทษในสิ่งอันใดทั้งนั้น  ทั้งภายนอก  ทั้งใกล้ทั้งไกล  ทั้งสูง  ทั้งต่ำ  ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด  ทั้งภายในของตนเอง จึงกลายเป็นธรรมชาติที่เปิดเผยไปทั่วทั้งหมด นี่ผลแห่งการปฏิบัติด้วยความทบทวนสอบสวนดูความเคลื่อนไหวในการดำเนินของตนเอง ตั้งแต่ส่วนหยาบตามที่อธิบายแล้วเบื้องต้น จนกระทั่งมาถึงส่วนกลาง คือเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ  เรื่องของปัญญา จนกระทั่งถึงส่วนปลาย ได้แก่ผลซึ่งเกิดขึ้นจากอำนาจของศีล  สมาธิ  ปัญญา  เป็นสมบัติของเราทุกๆ ท่าน พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงผูกขาดไว้สำหรับพระองค์เดียว เป็นสาธารณสมบัติสำหรับท่านผู้มีความสามารถ ท่านผู้มีความแกล้วกล้าด้วยความพากความเพียรไม่เห็นแก่ความท้อแท้อ่อนแอ

คุณธรรมทั้งหลายที่ได้กล่าวมานี้ ตั้งแต่ต้นจนสุดขีดความสามารถที่แสดงในวันนี้ ขอย้อนย้ำอีกว่าไม่ได้เกิดขึ้นมาให้ผิดจากหลักแห่งสวากขาตธรรม การดำเนินก็ดำเนินให้ถูกหลักแห่งสวากขาตธรรม ผลที่จะพึงได้รับก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก เห็นเองทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง  ส่วนละเอียดซึ่งเป็นผลแห่งการปฏิบัติแล้ว อกาลิโก เมื่อได้ปรากฏเต็มที่แล้ว  บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีกลางวันกลางคืน ไม่ได้มีหลับมีตื่น เป็นของบริสุทธิ์อยู่นั้น เรียกว่า อกาลิโก บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา  เอหิปสฺสิโก เป็นของรู้อยู่  เห็นอยู่ไม่ขาดวรรคขาดตอน สามารถที่จะแสดงหลักความจริงที่ตนได้รู้ได้เห็น ทั้งที่เป็นส่วนแห่งความบริสุทธิ์  ทั้งที่เป็นส่วนแห่งสภาวธรรมที่เกิดๆ ดับๆ ให้แก่บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายได้เห็นชัดตามเป็นจริงและเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นด้วย

ฉะนั้นขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ได้มีความอาจหาญร่าเริงต่อความเป็นอยู่ ความทำอยู่ ความประพฤติอยู่ของตน ความหิว ความกระหาย ความลำบากรำคาญ  เป็นเรื่องของขันธ์จะต้องมีด้วยกันทุกคน ความทุกข์ในทางใจที่มีกิเลสอยู่แล้วจะเป็นส่วนหยาบ  ส่วนกลาง ส่วนละเอียดต้องรังควานเราให้ปรากฏอยู่เสมอ ให้พึงทราบว่านั้นคือ  หนามยอกหัวใจ พยายามถอดถอนออกให้จนได้ การตะเกียกตะกายเพื่อการถอดหนาม  การตะเกียกตะกายเพื่อขึ้นจากหลุมมูตรหลุมคูถ อย่าถือเป็นความลำบากกว่าที่เราจะนอนอยู่ในหลุมมูตรหลุมคูถ หรือกว่าที่จะยอมให้หนามจมอยู่ในหัวใจของเรา ทุกข์เพื่อก้าว ทุกข์เพื่อออกจากทุกข์ ทุกข์ด้วยข้อปฏิบัติ เป็นทุกข์ที่พระองค์เจ้าทรงสรรเสริญ ไม่ใช่ทุกข์เพื่อจะเข้า เป็นเรื่องทุกข์เพื่อจะออก เป็นทางที่ถูกตามที่พระองค์เจ้าทรงดำเนินมาแล้ว ย่อมได้รับทุกข์เช่นเดียวกับบรรดาเราทั้งหลาย อย่าพึงทราบว่าสุขจะเกิดขึ้นมาล้วนๆ โดยปราศจากเหตุผลคือการดำเนิน

วันนี้ได้แสดงธรรมะตั้งแต่ขั้นความสะดวก ความสงบเบื้องต้น สงบสบายในระหว่างหมู่เพื่อน ย้อนเข้าไปถึงความสงบสบายในระหว่างจิตใจกับอารมณ์ เป็นความสงบเป็นชั้นๆ จนกระทั่งถึง เตสํ วูปสโม สุโข ความสงบอันยิ่งยวดนั้น ได้แก่การระงับดับเสียซึ่งสังขารอันก่อกวนให้เกิดเรื่องเกิดราว  เกิดความทุกข์ทรมานต่อไป  สังขารที่เป็นส่วนสมุทัยได้ดับสิ้นเสียหมดแล้ว  ยังเหลือตั้งแต่สังขารประจำขันธ์ห้า นี่ท่านเรียกว่า เตสํ วูปสโม สุโข ไม่เป็นปัญหาอะไรกับสังขารประจำขันธ์ห้า พระพุทธเจ้าก็มี สาวกก็มีจนกว่าว่าท่านจะนิพพานเสียเมื่อใด  ขันธ์ทั้งห้านี้จึงจะสลายลงไปสู่สภาพเดิมของเขา

เพราะเหตุนั้นขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายจงได้มีแก่จิตแก่ใจ สละมาจากบ้านจากเรือนทั้งใกล้ทั้งไกล มาด้วยความเต็มอกเต็มใจ จงฟังให้ถึงจิตถึงใจ ปฏิบัติให้ถึงขีดถึงแดน ตายที่ไหนแล้วเราไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับร่างอันนี้  ป่าช้าของเรามีอยู่ทุกแห่งทุกหน ต้นไม้ ภูเขาที่ไหนก็ตาม  ล้มลงแล้วใครจะเอาไปที่ไหนก็แล้วแต่  สิ่งที่เราไม่ยอมแพ้คือ เรื่องความเพียร ขอให้ท่านทั้งหลายยึดไว้เป็นหลักหัวใจ จะเป็นผู้ถึงซึ่งแดนแห่งความบริสุทธิ์ได้เพราะหลักความเพียร หรือหลักแห่งความกล้าหาญอันนี้  และขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายทุกถ้วนหน้ากัน  เอวัง.

 

************

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก