|
/body onLoad="MM_preloadImages('../images/link_2_6_a.gif')">
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
สายกิเลส สายธรรม |
|
วันที่ 28 มิถุนายน 2545 ความยาว 25.47 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด |
| | |
ค้นหา :
สายกิเลส สายธรรม
ลำดับลำดาไปนี้ประชาชนชาวพุทธเราก็จะได้รู้ภาษาของโลก ภาษาของธรรม หรือภาษากิเลส ภาษาของธรรม ไปในตัวนั่นแหละ เพราะภาษาที่เราเทศน์นี้ไม่มีใครออกใช่ไหม นี่ละคือภาษาของธรรมแท้ ตรงไปตรงมา ภาษาของกิเลสมันอ้อมแอ้ม ๆ ไม่ไปตามความจริง ไปเจอที่หลบก็หลบ ๆ ไป เพราะกิเลสอยู่ตรงกลาง ไปโดนกิเลสไม่ได้มันผิดผีกิเลส เข้าใจไหม แต่ธรรมนี้ผีกิเลสใหญ่อยู่ตรงไหนใส่เข้าตรงนั้นเลย เป็นอย่างงั้นนะ พี่น้องทั้งหลายจะได้เห็นได้ยินเสียงภาษาธรรม เราพูดตรง ๆ เป็นภาษาธรรม ที่เจตนาจะมีแบบโลก มีเจตนาอย่างโลกคือกิเลส เจตนาแฝง ๆ เจตนาหลบหลีก เจตนาอะไรแล้วแต่ เรื่องของกิเลสมีเจตนาจะหลบหลีกจากความจริง ๆ ไม่เข้าสู่ความจริง แต่ธรรมะนี้ตรงแน่วนะ
เพราะฉะนั้นภาษาของธรรมจึงไม่มีเล่ห์มีเหลี่ยม ตรงไปตรงมาเลย สำหรับผู้เทศน์ก็ต้องเทศน์ไปตามภาษาของธรรม จะไม่มีเจตนาที่จะพูดดุด่าว่ากล่าว หรือพูดหยาบพูดโลนพูดสกปรกโสมมดังที่กิเลสหาเรื่องมาโจมตีนั้นนะ ธรรมะไม่มี มีแต่ความจริง ๆ ล้วน ๆ แต่กิเลสมันหาอย่างนั้นมันบอกอย่างนั้น เพราะไม่มีอะไรเกินกิเลสเรื่องชอบยอแล้วชอบที่สุดเลย ชอบยอมากคือกิเลส กิเลสไม่อยู่กับอะไร อยู่กับความยกยอปอปั้น ธรรมะอยู่กับความจริง ไม่มีอะไรบกพร่องธรรมะพอที่จะมาตัดออกหรือจะมาเพิ่มเติม ธรรมะไม่มี มีแต่ตรงไปตรงมา แต่กิเลสมีความบกพร่องหิวโหยตลอดเวลา จึงต้องได้ส่งได้เสริมได้ยกได้ยอกันอยู่ตลอด
อันนี้แม้แต่สัตว์ก็แบบเดียวกันกับมนุษย์ ชอบยอ เข้าใจไหม คำว่าชอบยอคือชอบยกย่องชอบยอ เราเห็นได้ชัด มีหมาตัวหนึ่งหูตูบ ๆ น่ารัก เตี้ย ๆ เขาเลี้ยงไว้ รู้ภาษามนุษย์เราได้ดี เขาบอกว่าหมาตัวนี้รู้ภาษามนุษย์เราได้ดี ที่เราพูดเหล่านี้เขาเข้าใจ เขาก็นอนอยู่ หูตูบ ๆ น่ารัก เตี้ย ๆ เราพูดอะไร ๆ เขารู้เรื่องหมด เช่นอย่างให้เขาลงน้ำเขาก็ลง ให้เขาไปไหนเขาไปได้เลย พอว่าให้ลงน้ำเขาก็ลง มันมีสระน้ำอยู่ที่เขาเลี้ยงปลา สระเล็ก ๆ เท่าห้องนี้ละมั้ง เขาเลี้ยงปลาไว้ บอกให้เขาลงสระน้ำเขาก็ลง ปุ๊บปั๊บลุกขึ้นวิ่งเลย โอ๊ย ไม่เอาละ ๆ บอกเฉย ๆ ไม่ได้สั่งให้ลงนี่นะ พูดตามเรื่องเฉย ๆ บอกให้เขาลงน้ำเขาก็ลงปุ๊บปั๊บ บอกไม่เอาแหละพูดเฉย ๆ ไม่ได้บอกให้ลง เขาก็กลับมานอน
ทีนี้พอบทสุดท้าย พอจบลงคือเราพูดธรรมดาเสียงธรรมดา เขาจะฟังเหมือนไม่มีหูนะ นอนนิ่ง ทีนี้บทสุดท้ายเจ้าของเขาก็สรุปความ พอบทสุดท้ายเขาบอกว่า ไอ้บ้า เท่านั้นละนะ พูดว่าไอ้บ้า ไม่ได้พูดเสียงดังนะ เขาก็นอนฟัง พอสุดท้ายเขาก็บอกว่าไอ้บ้า ฮ่า ๆ ขึ้นเลย นั่นเห็นไหมล่ะเขาไม่ชอบตำหนิติเตียน ขึ้นฮ่า ๆ เลย เราขบขัน เราเห็นเองนี่ เราไปฉันในบ้านเขา
นี่พูดถึงเรื่องกิเลสมีแต่ชอบยกชอบยอ ผิดก็ให้พลิกบอกว่าเป็นถูก ยอเขาให้เป็นถูกไปอย่างงั้น นี่บรรดาผู้ฟังอรรถฟังธรรมทั้งหลาย เรื่องราวทั้งหมดมีแต่กิเลสกลืนเอาไว้ ๆ คำพูดคำจาภาษาสำนวนอะไรก็แล้วแต่ ต้องให้เป็นเรื่องไพเราะเพราะพริ้งอ่อนหวานนิ่มนวล นี่เป็นภาษาของกิเลสที่กิเลสใช้กับโลกเรื่อยมาใช้อย่างนี้ ภาษาของธรรมไม่ค่อยมี ถ้าว่าธรรมก็ธรรมไปเรียนมาจากกิเลส ถ้าเรียนมาจากตำรับตำรา ไปเรียนมาก็เป็นภาษาของกิเลสมาด้วยกัน พูดจึงเป็นเรื่องไปตามภาษากิเลสทั้งหมด ควรจะทุบจะตีจะตบจะต่อยกิเลสตรงไหนไม่ยอมทำ เพราะกิเลสไม่ให้ทำ ก็อ่านตามตำรับตำราไปอย่างงั้นแหละ
สุดท้ายก็เหมือนไอ้ตูบนั่นแหละ จบท้ายก็ต้องลงว่า เจริญพร นี่กิเลสชอบ กิเลสมันชอบอย่างนั้น ธรรมไม่มี แล้วพูดก็วกเข้ามาหาที่เรานำธรรมมาเทศน์นี่ คนทั้งหลายจะแปลกหูแปลกตาแปลกใจ จนถึงลงกันเป็นส่วนมากว่า หลวงตานี้พูดหยาบพูดโลนพูดดุพูดด่า หลวงตานี้เป็นพระหยาบโลนไม่ได้เหมือนพระทั้งหลาย นี่กิเลสโจมตีเข้าใจไหม ตามเรื่องของกิเลสที่เข้ามาต่อต้านธรรมก็ต้องต่อต้านอย่างนี้ ความจริงเขาไม่พูด จริงหรือเท็จประการใดที่พูดไปนั้นเขาไม่คำนึง เขาคำนึงแต่ว่าหยาบว่าโลน คือเขาไม่ให้ไปแตะเขา
นี่ก็เริ่มออกมาเรื่อย ๆ ภาษาธรรมออกมา ให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบ การเทศนาว่าการนี้เราไม่เคยคำนึงถึงความดุด่าว่ากล่าว ว่าหนักว่าเบาว่าสกปรกโสมมอะไรไม่มี เป็นทางเดินของธรรม ไม่ว่าหยาบว่าโลนว่าอะไร ๆ เป็นภาษาของธรรม เป็นทางเดินของธรรม ธรรมจะก้าวเดินไปตามนั้น สูงก็ไปตามสูง ต่ำไปตามต่ำ เหมือนเราเดินทาง ขึ้นเนินขึ้นเขา ที่ลุ่มที่ดอนก็ขึ้นลงตามนั้น ธรรมะก็ไปตามตรง เป็นอย่างงั้น ไม่มีเจตนาที่ว่าหยาบว่าโลนดังกิเลสหาเรื่องใส่นะ นี่ก็เริ่มออกมานานแล้ว บางทีเอาถึงขนาดหนัก ๆ ฟังซิ คือหนักฉุดลากอย่างแรง ไม่ใช่หนักขยำลงให้แหลกนะ ฉุดลากขึ้นมาจากหล่มจากลึกจากฟืนจากไฟอย่างรุนแรง ลากขึ้นมา นี่ก็เป็นภาษาธรรม นี่เขาก็ว่าดุ เข้าใจไหมล่ะ คือฉุดลากออกจากหล่มจากลึกจากฟืนจากไฟ ถ้าเบา ๆ ไม่ทันมันจะเสียการณ์ ใช่ไหมล่ะ ลากเร็ว ๆ เอาอย่างแรง ๆ เบาก็ไม่ได้ นั่น ภาษาธรรมหนักก็หนักอย่างนั้นเสีย ไม่ใช่หนักแบบเหยียบย่ำทำลาย หนักแบบฉุดแบบลากขึ้นต่างหาก ภาษาธรรมเป็นอย่างนั้น
สำหรับโลกทั้งหลายโลกกิเลส การพูดทั้งนี้เราไม่ได้ตำหนิผู้หนึ่งผู้ใดนะ เราพูดตามแถวแนวของกิเลสมันเดินแถวไหนเดินทางใด ธรรมเดินทางใดต่างหากนะ พูดสายทางของกิเลสและสายทางของธรรมเดินมันต่างกัน สายธรรมเดินไปตามความจริง สายกิเลสเดินไปตามความยกยอสรรเสริญ อ้อม ๆ แอ้ม ๆ ไม่ไปตามความจริง หลบนั้นหลีกนี้ไปเสียกิเลส ส่วนธรรมตรงไปตรงมา เช่นอย่างที่ว่าหูหนวกหรือตาบอดหรือ นี่กิเลสต้องต้านทานอย่างรุนแรง หาว่าพูดหยาบพูดโลน พูดโหดร้ายทารุณ ว่าอย่างนั้นนะ ความจริงฉุดขึ้นแรง ๆ เข้าใจไหม มันบอดมันอยู่ในที่หล่มลึก เราลากขึ้นอย่างรุนแรง ว่าตาบอดไม่เห็นเหรอ คือท่านเห็นมาแล้วนี้คือภัย ท่านพ้นมาแล้ว ยังไม่พากันเห็นเหรอ จับฉุดขึ้นมาอย่างแรง นี่กิเลสมันก็ว่าหยาบว่าโลนว่าโหดร้ายไปเสีย ความจริงธรรมะฉุดออกจากฟืนจากไฟอย่างรุนแรง เข้าใจไหม ลากขึ้นให้ทันเหตุทันการณ์ ธรรมะท่านเป็นอย่างนั้นต่างหาก ท่านไม่ได้มีแบบกิเลส
ที่เห็นก็คือ เจ้าของต้องเห็นแล้วเป็นแล้ววิธีการต่อสู้ทุกแบบทุกฉบับ ระหว่างกิเลสกับธรรมบนหัวใจของผู้บำเพ็ญ ผู้บำเพ็ญธรรมนั่นแหละเป็นผู้ที่รู้เรื่องของกิเลสและธรรมได้ดี วิธีการต่อกรกันแบบไหน ๆ จะผ่านอันนี้ทั้งหมดก่อนที่จะออกเป็นธรรมเทศนาว่าการสอนโลกทั่ว ๆ ไป ท่านเป็นผู้ผ่านมาแล้วทั้งนั้น ๆ เพราะฉะนั้นการพูดท่านจึงไม่มีอัดมีอั้น พูดตามหลักความจริงล้วน ๆ ไปเลย
ทีนี้เราไม่ได้ปฏิบัติ เรียนแต่ตำรับตำรา ไม่เห็นเพลงของกิเลสกับธรรมต่อยกันบนเวทีคือหัวใจมันก็พูดไม่ถูก เราตำหนิใครก็ไม่ได้นะ มันเป็นอย่างนั้นด้วยกัน เวลาไปเจอเข้าจัง ๆ แล้วจะให้พูดว่ายังไง ก็มันเห็นจัง ๆ อยู่นี้ หายสงสัย พูดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้บอกพี่น้องทั้งหลายว่า นี่ภาษาธรรมเริ่มออกแทรกกับโลกเข้าไปแล้วนะ โลกจะได้เห็นได้ยินได้ฟัง ดีไม่ดีได้ตื่นเต้นกัน ตื่นเป็นแบบ ๒ อย่าง ตื่นเต้นเป็นไปในทางธรรม ตื่นเต้นหลบภัยก็มี ดูถูกเหยียดหยามตำหนิติเตียนก็มี นี่เป็นเรื่องของกิเลสที่ว่านี้ ถ้าตื่นเต้นดีใจเป็นเรื่องของธรรม ท่านฉุดท่านลากเท่าไรยิ่งบืนเลย ๆ นั่นต่างกัน
ผ่านเข้าไปในหัวใจแล้วก็รู้เอง การเทศนาว่าการนี้ไม่ออกมาจากหัวใจจะออกมาจากไหน หัวใจเป็นผู้ขึ้นเวทีแล้วนี่ต่อกรกับกิเลส ในสามแดนโลกธาตุนี้มารวมอยู่ที่หัวใจ สังหารกันที่หัวใจด้วยธรรมซึ่งอยู่ในหัวใจอันเดียวกัน ผ่านพ้นไปเสร็จแล้วท่านก็พูดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย พูดด้วยความลืมตา ท่านเห็นทุกอย่าง ทั้งกิเลสท่านก็เห็นทั้งธรรมท่านก็เห็นเต็มหัวใจของท่าน แล้วการเทศนาว่าการทำไมจะเทศน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ฝ่ายกิเลสฝ่ายธรรม เทศน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกันหมด น้ำหนักเท่ากัน
ธรรมะที่เราเทศน์นี้เราก็พูดอย่างนี้ ใครจะตำหนิติเตียนยังไงเราก็ไม่เคยสนใจ เพราะการตำหนินั้นไม่ใช่ความจริง ความจริงคือที่แสดงออกนี้ต่างหาก ความจริงมียังไงก็ออกตามหลักความจริง ๆ ใครจะตำหนิติเตียนอะไร ๆ จึงไม่มีคำว่าหวั่น ถ้าหวั่นไปก็ผิดจากหลักความจริง มันก็ปลอมไปเสีย เข้าใจไหม ถ้าเป็นความจริงก็ตรงไปตรงมาตามหลักความจริงแท้ เราจึงไม่เคยเป็นอารมณ์ว่าเทศน์อย่างนั้นโลกจะตำหนิอย่างนั้น จะติเตียนอย่างนี้ จะโจมตีอย่างนั้น โลกไม่พอใจอย่างนี้ เวลาได้เทศน์แล้วจะไม่สนใจกับสิ่งเหล่านี้เลย จะมีแต่เรื่องของธรรมและทางเดินของธรรม สูงต่ำหนักเบามากน้อย นี่ทางเดิน จะก้าวไปตามนี้เรื่อย ๆ ไปเลยเท่านั้น เรื่องของธรรมเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น
ถ้าหากว่าจะมาหวั่นไหวอย่างงั้น ธรรมก็เหมือนโลก ถูกโลกเหยียบย่ำทำลาย ธรรมโงหัวไม่ขึ้น ธรรมเป็นธรรมแล้วต้องไปเลย ตรงไปตรงมาเรียกว่าธรรมเป็นธรรม รื้อถอนกิเลสได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าผู้ปฏิบัติตามที่ท่านแสดงออกด้วยความเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว จะเป็นประโยชน์ทั่วถึงกัน เราจึงได้เตือนเสมอ ถึงขนาดหลับหูหลับตาหรือ ก็ว่าออกมาแรงนี่ เราเคยว่ามาแล้ว เราไม่มีอย่างที่กิเลสตำหนิ เรามีแต่ฉุดขึ้น ๆ ลากขึ้น ๆ หนักบ้างเบาบ้างตามแต่ความรีบด่วนหรือไม่รีบด่วน เหตุการณ์มันบอกยังไงบ้าง มันบอกอยู่ในนั้น ควรจะเร่งก็เร่ง ควรจะหนักก็หนัก ควรจะฉุดลากเอากันอย่างหนัก
เห็นไหมพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอนุปุพพิกถา ๔ เห็นไหมล่ะ นี่เรียงลำดับ อนุปุพพิกถา แปลว่า การแสดงธรรมไปโดยลำดับ เมื่อแปลตามศัพท์นี้แล้วนะ การแสดงธรรมเป็นลำดับ คือเหมือนเครื่องบินเหินฟ้า ขึ้นจากสนามทีแรกก็ค่อยเหินขึ้น ๆ เหินขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็บึ่งเลย ธรรมะก็เทศน์ตั้งแต่เรื่องทานเรื่องศีลเรื่องสวรรค์ขึ้นไปเรื่อย ๆ อาทีนพ เนกขัมมะ นั่นเห็นไหมขึ้นแล้วนะ พออาทีนพ เนกขัมมะ นั่นขึ้นแล้ว ทาน ศีล นี่พยุงขึ้นไปก่อน พอได้ระดับแล้วก็ผึงเลย เรียกว่า อนุปุพพิกถา ท่านแสดงอย่างนั้นทั้งสองประเภท ประเภทหนึ่งตรงเป๋งเลยอย่างท่านเทศน์สอนเบญจวัคคีย์ทั้งห้า นี่ผู้พร้อมแล้วนี่จะมาวุ่นอะไรกับพื้นเพนี้ ผู้นี้พร้อมแล้วก็ใส่บึ่ง เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ขึ้นไปเลยทีเดียว
ท่านไม่ถามว่า ศีลเป็นยังไง ทานเป็นยังไง ท่านไม่ถาม เพราะท่านเหล่านี้บำเพ็ญในธรรมขั้นนี้ที่จะก้าวอยู่แล้ว ด้วยอำนาจแห่งทาน ศีล เหล่านี้หนุนขึ้นมาแล้ว อยู่ในขั้นนี้แล้วส่งต่อเลย เข้าใจไหมล่ะ ไม่ใช่ท่านผู้บำเพ็ญธรรมขั้นสูงแล้วจะไม่มีทานมีศีล มีเป็นพื้นฐานส่งมาแล้ว จนถึงระดับนี้แล้วยกส่งเลย เข้าใจไหมล่ะ เทศน์อริยสัจ ๔ เป๋ง ๆ เลย ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ชาติปิทุกฺขา ชราปิทุกฺขา เรื่อยไป แล้วก็สำเร็จเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาในเวลานั้น มีพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น
ลำดับต่อมาก็เทศน์ อนัตตลักขณสูตร เปิดเผยหมด อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ให้ปล่อย ๆ หมดเลย ทั้งสามประเภทนี้ไม่ควรยึดควรจับถือไว้ นี้คือฟืนคือไฟ แน่ะถึงขั้นที่ควรปล่อยให้ปล่อย ถึงขั้นที่ควรเกาะให้เกาะไปก่อน เหมือนเราเดินตามทางหรือขึ้นบันได เมื่อยังไม่ถึงที่หมายแล้ว บันไดเป็นของสำคัญที่เราจะต้องถือบันไดเป็นสำคัญ ทางเดินเป็นสำคัญแยกแยะไปไหนไม่ได้ ต้องตรงตามทาง เมื่อถึงที่แล้วจะมายุ่งอะไร ทางก็เพื่อที่อันนี้ บันไดก็เพื่อที่อันนี้ ขึ้นมาถึงแล้วไปยุ่งกับบันไดหาอะไร แน่ะ บึ่งเลย ธรรมะเป็นขั้น ๆ อย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการเทศน์สอนทั่ว ๆ ไปกับเทศน์สอนพระล้วน ๆ จึงผิดกันมากทีเดียว จึงแยกประเภทเป็น ๓ ประเภทด้วยกัน ประเภทแกงหม้อใหญ่ เทศน์สาธารณะทั่ว ๆ ไป ให้ได้ประโยชน์ทั่วถึงกัน ตามขั้นตามภูมิแห่งนิสัยวาสนาบุญญาบารมีของผู้มาได้ยินได้ฟัง จากนั้นก็แกงหม้อเล็ก ผู้นี้ก้าวแล้วที่จะขึ้นแกงหม้อเล็ก แกงหม้อจิ๋วพุ่งเลย แบบ เทฺวเม ภิกฺขเว แหละ พุ่ง ๆ เรื่อย ๆ ไปอย่างนั้น ผู้ที่จิตใจมีความสงบร่มเย็นควรแก่มรรคแก่ผลซึ่งเป็นธรรมขั้นสูงต่อไปแล้วก็ส่งเลย ๆ นี่ต่างกันท่านเทศน์
เพราะฉะนั้นที่เราเทศน์นี้เราไม่ได้วัดรอยนะ มันหากเป็นโดยหลักธรรมชาติ ประเภทนี้ควรเทศน์ขั้นไหน ๆ มันจะบอกในตัวของมันเองเลย เพราะฉะนั้นการเทศน์มันจึงออกไปตามลำดับลำดา เทศน์สอนพระสำหรับพระวัดป่าบ้านตาดนี้ ส่วนมากมักจะมีแต่แกงหม้อเล็กขึ้นไป หม้อเล็กหม้อจิ๋วขึ้นไปเรื่อย ๆ เวลานี้ธรรมเหล่านี้ก็จะออกไปทางอินเตอร์เน็ตเหมือนกันนะ ดูว่าออกแล้ว แล้วแต่ใครจะมาเลือกเอาตอนไหนกัณฑ์ใด สูงต่ำขนาดไหน ก็เลือกในอินเตอร์เน็ต ได้ทราบมาว่าอย่างนั้นนะ ดูว่าออกแล้ว ให้เขาได้เลือกฟังทุกอย่างในธรรมของเรา
เราพูดอย่างเปิดอกเราไม่มีสงสัยในธรรมบรรดาที่แสดงมาแล้ว ทั้งที่ธรรมเป็นพื้นฐาน ธรรมเป็นลำดับลำดา แกงหม้อใหญ่ หม้อเล็ก หม้อจิ๋ว เราเทศน์ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทุกอย่าง ถอดออกมาจากหัวใจล้วน ๆ เพราะฉะนั้นจึงว่า ตาบอดอยู่หรือ อย่างว่านั่นซิเข้าใจไหมล่ะ พระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลายท่านจ้าครอบโลกธาตุตาของท่าน ตาใจ พวกเรายังบอดอยู่หรือ ตามันใสยิ่งกว่าตาแมว คนหนึ่งอยากได้ ๑๐ ตามันก็บอดด้วยกัน มันบอดที่ใจ ยังหลับตาอยู่เหรอ หลับตาใน เมื่อไรจะตื่น นั่น ตื่นบ้างซี พระพุทธเจ้ามาประกาศศาสนาเป็นคู่แข่งของกิเลส ปราบกิเลส ช่วยมานานเท่าไรแล้ว ทำไมไม่เอามาปราบ
เข้าทางจงกรมก็ให้กิเลสไปปราบอยู่ทางจงกรม ด้วยความเซ่อซ่าเหลวไหล ไม่มีสติสตังเสีย ถ้านั่งก็นั่งเป็นหัวตอไม่มีสติสตังเหม่อลอยไปเสีย แน่ะ มันก็ไม่ได้เรื่องได้ราว มีแต่กิเลสเอาไปเป็นเครื่องมือ ๆ ถ้าเรื่องธรรมเป็นเครื่องมือแล้ว อยู่ที่ไหนสติสตังต้องระมัดระวังตัวเองเสมอ นั่นเรียกว่าเป็นผู้มีธรรม ยืนเดินนั่งนอนเป็นธรรมทั้งนั้น ต่างกันนะ ท่านสอนมาเท่าไรเป็นยังไงพวกเรายังไม่ตื่นอยู่เหรอ หรือนอนยังไม่พอเหรอ นอนจนตายกี่กัปกี่กัลป์มาแล้ว ควรจะรู้สึกตัวตื่นบ้าง ฟิตกันบ้างสู้กันบ้าง
สู้กับกิเลสนี้มีทางดีตลอดนะ หนักขนาดไหนก็มีทางดีไปตลอด แต่ปล่อยตามกิเลสนี้จมไปเรื่อย ๆ อะไรก็เอาความสะดวกเข้าว่า ๆ นั้นละคือทางของกิเลส ทางศีลทางธรรม กิเลสปักขวากปักหนามไว้กั้นทางไว้หมด ไม่ให้ไป มันก็ไม่อยากไป ไปวัดไปวาไม่อยากไป เพราะกิเลสกั้นเอาไว้ด้วยความลึกลับของมัน มันดึงดูดให้ไปทางของมันเสีย ทางนี้ไม่อยากให้ไป มันไม่อยากไปก็คือกิเลสแทรกเข้าแล้วเป็นเรา เราก็ไม่อยากไป ไปวัดไปวาฟังธรรมจำศีลทำบุญให้ทานไม่อยากไป เรื่องกิเลสมันกั้นไว้ขนาดนี้ เวลามันเปิดมันเห็นหมดจะว่ายังไง
ก็ดังที่พูดที่ว่า ทำความเพียรนี้เดินจงกรมก็จะหลับบนทางจงกรม นี่เวลามันไม่เอาไหนนะ มันเป็นจริง ๆ ในหัวใจดวงนี้ จะว่ายังไง เดินจงกรมก็เซ่อ ๆ ซ่า ๆ ตามทางจงกรม ทั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทั้งอยากหลับอยากนอน มิหนำซ้ำฉันจังหันแล้วใหม่ ๆ เราไม่อยากว่าฉันจังหันนะ มันเข้ากันไม่ได้ แต่สะแตกข้าวชาวบ้านเขามาใหม่ ๆ ว่างั้นเหมาะ แล้วมานอนใจอยู่นี่ ว่างั้นถูกต้องดีนะ เขาไม่ได้ให้ทานมาด้วยกินแล้วให้นอนนะ ให้เถ่อ ให้หิวโหยอยากหลับอยากนอนอย่างนี้นะ เขาให้ทานมาเพื่อสร้างบุญสร้างกุศล เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาด้วยความขยันหมั่นเพียรต่างหากนะ นั่น มันไม่ไปทางนั้นละซิ มันลงทางนี้ มันเป็นอย่างนั้นนะ
นี่เวลากิเลสมีกำลังกล้า ฟิตไปฟิตมาเอากันไปกันมาก็มีช่องทางได้ สักเดี๋ยวเห็นช่องทางแล้วทีนี้ขยับขึ้น ต่อไปนี้ความขี้เกียจขี้คร้าน อ่อนแอตะเกียกตะกายมันก็ค่อยลดลง ๆ ทางนี้ก็ค่อยดีดขึ้น ๆ ทีนี้ก็เอาแล้ว นั่นเห็นไหมล่ะ เมื่อทางกิเลสที่มันปิดบังเอาไว้ ปักขวากปักหนามเอาไว้นั้น เปิดกว้างออกไปหมดด้วยธรรมแล้ว มันก็จ้า ๆ ทีนี้ก็พุ่งเลย นั่น ก็เป็นอย่างนั้นที่เคยพูดให้ฟัง ถอดออกมาจากหัวใจทั้งนั้นมาพูดนี่นะ ไม่ได้เอามาจากที่ไหน ไม่ได้โอ้ได้อวด เรียนธรรมพระพุทธเจ้า ธรรมพระพุทธเจ้าสอนว่ายังไงปฏิบัติยังไงเห็นผลยังไงก็เอามาพูดให้ฟัง เป็นอย่างนั้นนะ เวลามันได้เปิดกว้างแล้วทีนี้รอไม่ได้ ถึงขั้นแล้วนี่ ถึงขั้นรอไม่ได้ก็มี ตายก็ตายเลย ที่จะให้ถอยถอยไม่ได้ นั่นฟังซิ
นี่ละอำนาจของธรรมก็พูดไว้หมด เรียกว่า อัตโนมัติแล้วนั่น ถ้าลงขั้นอัตโนมัติแล้วมีแต่ตายทั้งนั้นแหละ ไม่ตายต้องให้พ้น ให้พ้นตลอด ๆ จะเป็นจะตายไม่สนใจ นี้แหละธรรมเมื่อได้ก้าวแล้วเป็นอย่างนั้น จากหัวใจดวงล้มลุกคลุกคลานนี่ละ ถ้าได้ฟัดได้เหวี่ยงต่อสู้กันมันหากมีทางที่จะเป็นไปได้คนเรา ถ้าจะปล่อยตามมันเรื่อย ๆ จมไปเรื่อย ๆ นะ ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็มีแต่ศพของเราคนเดียวแหละทั่วโลกธาตุ เราจะว่าไม่มีศพเราเหรอ แดนโลกธาตุมีแต่ศพของเราศพของเขาสับปนกันเต็มไปหมด เพราะความนอนใจ กิเลสลากไป ๆ ลงตายกองกันอยู่นี้ กิเลสลากไปเพื่อตายกองกัน ธรรมลากออก ๆ จากการตายกองกัน ให้หลุดให้พ้น วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ ได้เสร็จแล้วการรบราฆ่าฟันกับกิเลสซึ่งเป็นตัวมหาภัยได้สิ้นสุดลงไปแล้ว นั่น วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เสร็จกิจแล้วในงานข้าศึกอันใหญ่หลวงคือฆ่ากิเลสชำระกิเลส กตํ กรณียํ กิจที่ควรที่จะทำเราได้ทำเสร็จแล้ว ควรนั่นคือการละกิเลส สร้างความดี เราทำเรียบร้อยแล้ว ทำกิจอื่นที่จะให้ยิ่งกว่านี้ไปอีกไม่มีแล้ว ตั้งแต่วันนั้นต่อไป พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ไม่เคยได้ชำระกิเลส ไม่เคยได้ต่อสู้กิเลสอีกเลย ตั้งแต่กิเลสม้วนเสื่อลงไปแล้ว นั่นแหละสุขบรมสุข เป็นนิพพานเที่ยงตลอดไปเลยที่นี่
เราต้องการไหม นิพพานเที่ยง ความสุขบรมสุขตลอดไปเลย กับความจมตลอดไปเลยด้วยความทุกข์อันนี้ เราต้องการอันไหน ถ้าเราต้องการความทุกข์จมไปเลยอย่างนี้ ก็ให้สั่งสมความขี้เกียจขี้คร้านท้อแท้อ่อนแอ แล้วอย่าฟังเสียงครูเสียงอาจารย์ อย่าฟังเสียงอรรถเสียงธรรม ให้กิเลสลากไปอย่างนี้ตลอด จะจมอย่างนี้ตลอดไป เข้าใจไหมล่ะ ถ้าฟังเสียงครูเสียงอาจารย์ สมกับตัวของเราเป็นผู้รับผิดชอบตัวเราเอง ต้องฟัดต้องเหวี่ยงต้องสู้กันซิ มันถึงถูก เข้าใจแล้วเหรอ สู้ไปสู้มามันก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร ไม่ได้พ้นด้วยความเกียจคร้านนะ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ผู้ที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะความเพียรต่างหาก ไม่ได้เพราะความขี้เกียจขี้คร้านท่านสอนไว้แล้ว พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกเต็มไปด้วยความเพียรนี้ทั้งนั้น ไม่ได้เต็มด้วยความเกียจคร้านนะ พากันจำเอา เอาเท่านี้แหละ วันนี้พูดเพียงเท่านี้
อ่านธรรมะหลวงตาวันต่อวัน ได้ทาง Internet www.Luangta.com |
** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก
ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์
และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์
|
|
|
|