เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒
อำนาจธรรมหักห้ามสิ่งชั่วร้ายได้
ท่านที่ยังไม่เคยฟังธรรมะทางด้านปฏิบัติ ถ้าจะคอยจดจำเอาเนื้อเรื่องต่างๆ ที่ท่านเทศน์ไปเหมือนจะเป็นเรื่องนิทงนิทานอะไรทำนองนั้น จิตได้จ่อกับเรื่องกับราวไป ไม่จ่อกับตัวเองก็ไม่ค่อยได้ผลในขณะที่ฟัง ฉะนั้นจึงเผดียงให้ทุกๆ ท่านได้ทราบไว้ ในเรื่องการฟังเทศน์ให้สำเร็จผลขึ้นในปัจจุบัน คือตั้งจิตไว้กับตัว มีสติรู้สึกตัวอยู่ภายในนี้ โดยไม่ต้องส่งกระแสจิตไปที่ไหน แม้แต่ส่งมาหาผู้เทศน์ก็ไม่จำเป็น คืออยู่กับความรู้ ความรู้นั่นท่านเรียกว่าจิต ให้ความรู้อยู่กับตัวมีสติคอยควบคุม
ขณะฟังเทศน์ก็ไม่จำเป็นต้องจดจำว่าท่านเทศน์เรื่องอะไรบ้าง แต่ให้ทำความรู้สึกไว้จำเพาะหน้าที่เรียกว่า ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันจิต เมื่อจิตตั้งรับไว้ด้วยดี กระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดงไปย่อมจะเข้าไปสัมผัสที่ใจซึ่งรับรู้อยู่แล้วนั้น ให้รู้สืบเนื่องกันไปโดยลำดับ จิตใจไม่มีโอกาสส่งออกสู่ภายนอกเพราะรับทราบจากกระแสธรรม หรือกระแสเสียงแห่งธรรมที่ท่านแสดงไป ความรู้นั้นก็สืบต่อกันไปโดยลำดับไม่ขาดวรรคขาดตอน จนกระทั่งเทศน์จบลง เพียงเท่านี้เราก็พอเห็นผลจากการฟังธรรมว่ามีจิตสงบ ความสงบของจิตนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการฟังธรรมด้วยความตั้งใจไว้ถูกต้อง ส่วนเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านแสดงนั้น บทใดเรื่องใดที่ตกค้างอยู่ในความทรงจำก็ย่อมจำได้เองโดยไม่จดจ่อว่าจะจำ
เมื่อจิตสงบ ใจย่อมเป็นสุข ที่ใจไม่มีความสุขเพราะใจไม่สงบ ใจรบกวนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าอิริยาบถใดเว้นแต่หลับสนิทเสียเท่านั้น เรื่องความปรุงความคิด เรื่องราวต่างๆ อันเป็นเรื่องยุ่งกวนใจนั้นไม่แสดงในขณะที่หลับสนิท แต่ถ้าหลับไม่สนิทก็ทำให้ฝันไปต่างๆ คือภวังค์แห่งความหลับมี เช่นเดียวกับภวังค์แห่งสมาธิของนิสัยบางท่าน
ถ้าจิตเข้าสู่ภวังค์แห่งความหลับอย่างสนิทแล้วจะไม่ฝัน ตื่นขึ้นมาก็รู้สึกร่างกายมีกำลัง ถ้าฝันโน้นฝันนี้ฝันไม่หยุดไม่ถอยไม่ค่อยมีกำลังทางร่างกาย นั่นคือจิตไม่สงบลงสู่ภวังค์แห่งความหลับ จิตเมื่อสงบย่อมมีความสุขขึ้นมา เราจึงพอเห็นโทษแห่งความไม่สงบของใจว่าเป็นเรื่องก่อกวนทำลายความสงบสุขของใจ จากนั้นก็ทำใจให้ขุ่นมัว ผลแห่งความขุ่นมัวของใจก็เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา แต่ไม่รู้วิธีแก้ไข
ขณะนี้เป็นขณะที่จะฟังธรรม เพื่อผลประโยชน์ทางด้านจิตใจโดยเฉพาะ จึงไม่ควรส่งจิตไปสู่เรื่องหรือสถานที่อื่นใดในขณะที่ฟัง เมื่อฟังด้วยอาการอย่างนี้ผลจะเป็นความสงบสุข ผลที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่าเป็นอานิสงส์แห่งการฟังธรรม จิตมีความสงบและความผ่องใส ท่านว่ามีอยู่ห้าข้อด้วยกัน คือผลที่เกิดขึ้นจากการฟังธรรมหรืออานิสงส์แห่งการฟังธรรม ให้พากันเข้าใจไว้อย่างนี้ ส่วนมาก ๙๙% พระปฏิบัติ มักจะแสดงเรื่องราวในวงสัจธรรม ไม่ค่อยจะแสดงเรื่องนิทาน เช่นยกนิทานโน้นมาสาธก ยกนิทานนี้มาสาธกเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ เทศน์ทางภาคปฏิบัติท่านไม่ค่อยยกนิทานมาแสดง ท่านเทศน์เรื่องความจริงที่มีอยู่กับตัวของเราทุกคน เพื่อทราบความจริง เมื่อทราบความจริงแล้วก็มีทางดำเนิน หรือมีอุบายวิธีปลดเปลื้องต่อไป
ท่านทั้งหลายมีความสนใจในพุทธศาสนา และการปฏิบัติจิตตภาวนา ซึ่งเป็นไปเพื่อความสงบทางด้านจิตใจ ได้อุตส่าห์พากันมา จึงได้ลงมาแสดงให้ฟังตามเจตนาที่มุ่งมา แม้จะมีความลำบากด้วยสุขภาพไม่ค่อยเหมือนแต่ก่อนก็ตาม เพราะสุขภาพทุกวันนี้รู้สึกว่าทรุดโทรม มีโรคสองโรค คือโรคหัวใจหนึ่งและโรคเจ็บหลังเจ็บเอวหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ก็ขัดยอกเวลาปัดกวาดเป็นอย่างมากทีเดียว ต้องประคบยาตั้งห้าวันติดกัน จึงค่อยยังชั่วบ้างวันสองวันนี้ ถ้าธรรมดาแล้วก็ไม่เกี่ยวข้องกับใคร อยู่โดยลำพัง เพื่อความสงบของธาตุขันธ์ ความสะดวกของธาตุขันธ์เท่านั้น นี่ท่านทั้งหลายก็ได้ตั้งใจมาแสดงให้ฟังตามสมควรที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงกรุณาตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์
ธรรมเป็นธรรมชาติที่เลิศประเสริฐสุดในโลก ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนเลย การที่ธรรมนี้จะปรากฏตัวว่าเป็นความสงบหรือเป็นความอัศจรรย์มากน้อยเพียงไรนั้น มีจิตเป็นผู้รับทราบ มีจิตเป็นผู้รับรอง มีจิตเป็นภาชนะสำหรับธรรมทั้งหลาย หากจิตยังไม่สามารถที่จะรับธรรมทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งทางด้านปฏิบัติได้ ธรรมแม้จะมีอยู่มากมายเพียงไรก็ไม่ปรากฏให้รู้ว่าเป็นสิ่งสำคัญ หรือศักดิ์สิทธิ์วิเศษประการใด ก็มีแต่พูดกันลมๆ แล้งๆ โดยไม่เห็นความจริงนั้นเลย แล้วก็ทำให้เสื่อมศรัทธาลงได้ เมื่อไม่มีสักขีพยานเป็นเครื่องรับกันระหว่างจิตกับธรรม เพราะฉะนั้น การปฏิบัติจิตตภาวนาจึงเป็นประโยคอันสำคัญอย่างยิ่งที่จะรับทราบระหว่างจิตกับธรรมเข้าสัมผัสกัน เพราะจิตเป็นภาชนะที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับธรรม ธรรมย่อมสถิตที่จิตนี้เท่านั้น ไม่มีที่อื่นเป็นที่สถิตเป็นที่อยู่ ใจกับธรรมจึงเหมาะสมกันอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้ศาสดาทุกองค์ที่ประกาศธรรมสอนโลก จึงสอนลงที่ใจของมนุษย์เรา ซึ่งเป็นผู้รู้สมมุติชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ไม่เหมือนสัตว์ทั่วๆ ไป ซึ่งไม่รู้ภาษีภาษาอะไร พระพุทธเจ้าผู้สอนธรรมก็สอนลงที่ใจ เพราะใจเป็นภาชนะสำคัญกับธรรมทั้งหลาย ใจมีธรรมเป็นอาหาร หรือใจมีอารมณ์เป็นอาหาร ร่างกายมีวัตถุเป็นอาหารเป็นที่อาศัย เช่นตึกรามบ้านช่อง เสื้อผ้า อาหารการบริโภค หยูกยาต่างๆ นี่เป็นเครื่องอาศัยของร่างกาย เป็นเครื่องบำรุงร่างกายให้มีความเป็นอยู่และมีความผาสุก ส่วนใจมีอารมณ์เป็นที่ยึดเป็นที่อาศัย แต่อารมณ์นั้นมีสองประเภท คืออารมณ์ชั่วอย่างหนึ่ง อารมณ์ดีอย่างหนึ่ง ถ้าอารมณ์ชั่วก็เป็นภัยต่อจิตใจ ทำใจให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย ถ้าอารมณ์ดีก็เป็นคุณแก่จิตใจให้มีความสงบร่มเย็นไปโดยลำดับ เช่นธรรมเป็นอารมณ์และเป็นที่ยึดของใจ
อารมณ์ดีท่านเรียกว่า กุศลธรรม อารมณ์ชั่วเรียกว่า อกุศลธรรม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากจิตดวงเดียวนี้ แล้วแต่จะเปิดโอกาสให้ทางใดเกิด จิตสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ธรรมซึ่งเป็นของดี จึงควรแก่ผู้หวังดี ความดีทั้งหลายจะพึงปฏิบัติให้ธรรมเข้าสัมผัสใจ พระพุทธเจ้าได้ทรงสัมผัสธรรมอย่างเต็มพระทัย เป็นพระทัยที่บริสุทธิ์สุดส่วนแล้วจึงได้นำธรรมนั้นมาสั่งสอนสัตว์โลก โดยถือพระองค์เองเป็นผู้ประกันเป็นหลักประกันว่า ธรรมะที่มาสั่งสอนสัตว์โลกนี้ มีจำนวนมากต่อมากไม่อาจคณนา แต่จารึกไว้ในคัมภีร์เพียงพอประมาณว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ซึ่งน้อยนิดเดียว ไม่สมภูมิกับศาสดาที่สั่งสอนโลกทั้งสาม ว่าจะต้องใช้อุบายวิธีต่างๆ มากมายให้เหมาะสมกับจริตนิสัยของสัตว์โลกรายนั้นๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน ธรรมจึงต้องมีมากมาย และธรรมทั้งมวลนี้ออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ที่ทรงรู้ทรงเห็นแล้วทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่สงสัย การสั่งสอนสัตว์โลกจึงเป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงามทุกขั้นแห่งธรรม
พุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประกันในหลักธรรมทั้งหลายที่ทรงค้นพบแล้ว ทั้งเหตุคือการดำเนิน ทั้งผลที่ได้รับก็คือบรมสุข ที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุคือบรมสุข จากนั้นก็ทรงสั่งสอนประชาชนให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใส บางจำพวกก็สละตนออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นสาวกอรหัตอรหันต์ขึ้นมาจำนวนมาก ที่เราทั้งหลายได้กราบไหว้บูชาระลึกถึงท่านว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี้ล้วนแต่เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่ได้พูดแบบลมๆ แล้งๆ โดยหาความจริงไม่มี พระพุทธเจ้ามีความจริงเต็มพระองค์ พระธรรมมีความจริงเต็มส่วน พระสงฆ์สาวกก็มีความจริงเต็มองค์ท่านที่เป็นวิสุทธิบุคคล เราน้อมระลึกถึงท่าน จึงเป็นเหมือนระลึกถึงธรรมองค์วิเศษศักดิ์สิทธิ์เข้ามาสถิตอยู่ที่หัวใจของเรา ใจจึงเป็นสิริมงคล เพราะธรรมทั้งหลายเป็นมหามงคลอย่างยิ่งได้เข้ามาสู่ใจ ด้วยความนึกน้อมและการปฏิบัติตามท่าน
ในขั้นเริ่มแรกก็พยายามฝึกหัดจิตใจ อย่าปล่อยให้ความคิดอันเป็นสิ่งก่อกวนไม่เกิดประโยชน์และเกิดโทษโดยถ่ายเดียวนั้นย่ำยีมากนัก ให้พยายามดัดแปลงแก้ไขพยายามหักห้าม จิตเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ ถ้าฝึกฝนไม่ได้พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสอนสัตว์โลกให้ฝึกฝนจิตใจ ใจเป็นเรื่องใหญ่โตในบุคคลและสัตว์ ตลอดถึงหน้าที่การงานแผนกต่างๆ กว้างแคบลึกตื้นหยาบละเอียดขึ้นอยู่กับใจที่ฝึกอบรมด้วยดีนี้ทั้งนั้น ใจจึงควรได้รับการอบรมให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อจะดำเนินกิจการนั้นๆ ให้เป็นไปเพื่อความราบรื่นดีงาม และได้ผลเป็นที่พึงพอใจ เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนาเมื่อทำลงไปผลจะปรากฏขึ้นเป็นความสงบ ในเบื้องต้นเป็นความสงบเย็นใจ พอเห็นผลขึ้นมาแล้วความขยันหมั่นเพียรก็มาเอง เพราะเชื่อในผลที่ประจักษ์กับใจของตนแล้วก็พยายามทำเรื่อยๆ
เราจะกำหนดธรรมบทใดก็ตาม ตามแต่จริตนิสัยที่ชอบในธรรมบทนั้นๆ เช่น อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก ทำความรู้สึกอยู่กับลมที่สัมผัสอวัยวะส่วนใดมาก เช่นดั้งจมูกเป็นต้น เป็นที่สัมผัสลมมากกว่าเพื่อนก็ให้ตั้งสติไว้ที่ตรงนั้น ขณะที่ลมผ่านเข้าก็ให้รู้ ลมผ่านออกก็ให้รู้ มีสติจดจ่ออยู่กับประตูคือช่องจมูกนี้เท่านั้น ลมเข้าลมออกรับทราบอยู่โดยลำดับๆ สืบต่อเนื่องกัน ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอนด้วยความมีสติ โดยไม่ต้องตามลมเข้าไปข้างในและไม่ตามลมออกไปข้างนอก ถ้าเป็นคนก็ยืนเฝ้าประตูอยู่นั้น ใครเข้ามาประตูก็รู้ ใครออกไปก็รู้ว่าคนออกคนเข้าๆ ให้กำหนดรู้อยู่เท่านั้น นี่เป็นอารมณ์อันหนึ่งหรือเรียกว่าเป็นอุบายอันหนึ่งที่จะฝึกหัดจิตใจให้ได้รับความสงบ
โดยลำพังของใจไม่มีที่ยึดย่อมหาความสงบและหลักเกณฑ์ไม่ได้ ความรู้มีทั้งร่าง แต่ไม่ทราบว่าตัวรู้จริงๆ คืออะไร อยู่ที่ไหน จับตัวไม่ได้ จึงต้องอาศัยลมเป็นที่ยึด ถ้าพูดแบบโลกๆ จิตต้องอาศัยเครื่องล่อจึงสงบได้ เหมือนผู้ที่ต้องการปลา ไปตกเบ็ดก็ต้องเอาเหยื่อเสียบใส่ที่ปลายเบ็ดนั้น เพื่อปลาจะได้กินเหยื่อแล้วก็กระตุกปลานั้นได้ ถ้ามีแต่เบ็ดเท่านั้นปลาก็ไม่กิน มีแต่ความรู้ก็ไม่ทราบว่าความรู้อยู่ที่ไหน จึงต้องอาศัยอารมณ์เป็นที่ยึดที่อาศัยของใจ เช่น อานาปานสติ หรือจะ พุท เข้า โธ ออก ก็ไม่ผิด หรือจะยึดคำบริกรรมใดก็ได้ตามแต่จริตนิสัยที่ชอบ แต่ข้อสำคัญคือสติให้รู้อยู่กับตนกับจุดแห่งการทำงานนั้น อย่าให้เคลื่อนคลาดไปที่ไหน
เรื่องมรรคเรื่องผล เรื่องสวรรค์นิพพาน เรื่องนิมิต เทวบุตรเทวดา อินทร์พรหมอะไร ดังที่เคยได้ยินอยู่เสมอนั้น อย่านำมาเป็นอารมณ์ในขณะภาวนาด้วยบทธรรมนั้นๆ ถ้านำมาเป็นอารมณ์ก็จะมารบกวนงานของเราซึ่งกำลังทำอยู่ในปัจจุบันนั้นให้เสียไป ผลจะไม่ปรากฏขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นเป็นภายนอกไม่สำคัญยิ่งกว่าจิตกับภาวนา จิตเป็นสิ่งสำคัญมาก ให้พยายามอบรมให้ถูกต้องตามหลักภาวนาดังที่กล่าวมานี้ ให้เกิดความสงบเย็นใจขึ้นมา นั่นคือผลที่ถูกต้องของการภาวนา
ผลแห่งการปฏิบัติศาสนาอยู่ภายในตนเอง และสามารถท้าทายได้ภายในตน เกิดความอาจหาญรื่นเริง พูดไม่สะทกสะท้านไม่กลัวจะผิดไปเพราะเรารู้อยู่ที่ใจ ไม่ว่าสมาธิขั้นใด ไม่ว่าปัญญาขั้นใด หรือมรรคผลขั้นใด จนกระทั่งมรรคผลอันสูงสุด ก็ได้บรรจุไว้แล้วภายในใจนี้โดยสมบูรณ์ การพูดถึงมรรคถึงผล ถึงสมาธิ ถึงปัญญาขั้นใดก็ตาม จึงพูดได้สะดวกสบาย ด้วยความจริงใจและอาจหาญ พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นสามารถประกาศธรรมได้ทั้งสามโลกธาตุ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ นั่นเราฟังซิ เป็นครูทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งหลายนับแต่ชั้นพรหมโลกลงมา
แต่เวลานี้ศาสนากำลังถูกดึงเข้ามาสู่ตัวคน และดึงเอาเทวดาชั้นต่างๆ เข้ามาสู่ตัวคนอันเป็นภพมนุษย์ ไม่ได้เป็นไปตามความจริงของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอน ก็เริ่มมีแทรกเข้ามาบ้างแล้วเวลานี้ (ปราชญ์สมัยจรวดกำลังเริ่มเกิด) เช่น เทวดาที่ไหนจะมี เทวดาก็มนุษย์เรานี่แหละ เอาตรงนี้เลย นรกที่ไหนมี ก็มีเรานี้แหละ เลยปฏิเสธสิ่งภายนอกไปเสียหมด เหมือนกับว่าข้าวนี้มีอยู่ภายในจานนี้เท่านั้น ความจริงสิ่งเหล่านี้มีที่มาจากไร่จากนา จากยุ้งฉาง จากหม้อหุงข้าวตามลำดับ เช่นข้าวที่อยู่ในจานนี้มาจากไหน มาจากหม้อ ออกจากหม้อมาจากไหน มาจากที่นั่นๆ จนกระทั่งถึงลงไปท้องนาเต็มไปด้วยข้าว มันต้องมีใกล้มีไกล มีในมีนอก ใครจะฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า เราจะไปอวดดิบอวดดียิ่งกว่าพระพุทธเจ้านั้นมันเป็นความโง่เกินมนุษย์ไป ผู้ที่พูดอย่างนั้นมีอยู่มากมายเวลานี้ กำลังรวบรัดศาสนาเข้ามาสู่ความรู้ของตน เป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้าโดยที่ตนกำลังโง่ที่สุดในขณะนั้น มีเวลานี้ เริ่มมีมากขึ้น ผู้ปฏิบัติจึงควรใช้ความสังเกตด้วยดี ไม่งั้นตกหลุมพรางของกิเลสจากลมปากของศาสดาสมัยจรวดดาวเทียม
สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าภายในภายนอก พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น ส่วนที่ทรงทราบ ทรงเห็นด้วยตาเนื้อพระองค์ก็เห็นเช่นเดียวกับเรา สิ่งที่ได้ยินด้วยหูหนังก็ได้ยินเหมือนอย่างเรา สิ่งที่สามารถรู้ได้ด้วยพระญาณพระองค์ก็รู้ แต่เราไม่รู้ และได้ยินด้วยทิพยโสตคือหูทิพย์ ซึ่งเป็นออกไปจากใจที่บริสุทธิ์ของพระองค์โดยถ่ายเดียว ไม่ต้องอาศัยหู อาศัยตา จมูก ลิ้น กาย นี้เลย พระองค์ก็สามารถรู้ได้เห็นได้ตามสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลายไม่มีอะไรปิดบังพระญาณได้ เพราะการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าตลอดความรู้ความเห็น โลกทั้งหลายไม่สามารถปฏิบัติได้รู้ได้เห็นได้อย่างพระองค์ เพราะฉะนั้น ความรู้ของโลกทั้งหลายจะสามารถรู้ได้อย่างพระพุทธเจ้าอย่างไรเล่า เรื่องพุทธวิสัย เรื่องความสามารถฉลาดแหลมแห่งพุทธวิสัย ก็นำเอามาเทียบกับตนเอง ซึ่งความรู้ความฉลาดแค่หางอึ่ง สู้หางกระรอกกระแตก็ไม่ได้ ไม่คิดกระดากอายหนูที่หางยาวกว่าความรู้ความฉลาดของตัวบ้างหรือไง น่าอับอายแทนเสียจริง
สิ่งในโลกนี้มีอยู่มากซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดสุดวิสัยของเรา แม้แต่วัตถุอันละเอียด เรายังไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อ เช่น เชื้อโรคชนิดต่างๆ ซึ่งมีมากต่อมากไม่อาจคณนานับได้ ต้องอาศัยกล้องส่องลงไปถึงจะเห็น ตาเนื้อธรรมดาไม่มีความหมายกับเชื้อโรคเหล่านั้น นี่เพียงวัตถุแท้ๆ เรายังไม่สามารถเห็นด้วยตาเนื้อ เหตุใดสิ่งที่ละเอียดยิ่งกว่านี้เพียงตาเนื้อจะไปสามารถรู้เห็นเอาเสียหมด เมื่อไม่รู้ก็ประมวลเข้ามาว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีบ้าง ว่าได้แก่ตัวเราเองบ้าง ปฏิเสธสิ่งภายนอกที่มีอยู่ตามความจริงของตนอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นความรู้เพื่อเข้าตัว เห็นแก่ตัว และลบล้างความจริงไปหมดซึ่งเป็นความรู้คลังกิเลสดีๆ นั่นแล จะเป็นของแปลกจากหน้าตากิเลส กิริยาของกิเลสที่แสดงออกตรงไหนกัน สิ่งที่นำมากล่าวอันเป็นการลบล้างความจริงนี้ กิเลสมันวาดภาพและตีตราใส่หัวใจสัตว์โลกมานานแล้ว จึงไม่ควรนำวิชาของกิเลสมาอวดวิชาธรรมและลบล้างธรรมของพระพุทธเจ้า ให้ปราชญ์ท่านหัวเราะและปลง อนิจฺจา วต สงฺขารา
พระพุทธเจ้ามีแยกแยะภายในภายนอก สูงต่ำ ด้วยความรู้ความเห็นของพระองค์เองทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างเหมาะสม จึงเรียกว่า สวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ใครจะตรัสชอบยิ่งกว่าพระพุทธเจ้ามีเหรอ เพราะรู้ชอบทุกสิ่งทุกอย่างโดยตลอดทั่วถึงมาแล้ว สิ่งที่เราไม่รู้พระองค์ก็รู้ และสามารถแสดงได้ทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาที่ทรงรู้ทรงเห็นแล้วโดยไม่สะทกสะท้าน เราไม่สามารถปฏิบัติได้ ไม่สามารถจะรู้ได้เหมือนอย่างพระองค์ เราจึงยอมยกท่านเป็นครู ความเลิศก็คือพระพุทธเจ้า ธรรมที่ว่าเลิศก็คือดวงพระทัยที่บริสุทธิ์เต็มส่วนแล้ว ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกัน เข้ากลมกลืนเป็นอันเดียวกันแล้ว นั่นคือความเลิศแห่งพระทัยหรือความเลิศแห่งธรรม
การภาวนาเราอย่าไปคิดภายนอก ในเรื่องที่กล่าวมานี้ เช่น นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี เทวบุตรเทวดา เปรตผีใดๆ ก็ดี อย่าไปสนใจคิดให้เสียเวล่ำเวลา จะทำจิตใจให้เขว ขอให้ตั้งหลักจิตไว้ด้วยดีเถิด โดยการภาวนาที่ถูกต้องตามหลัก ผลจะพึงปรากฏขึ้นโดยลำดับ ถ้านิสัยที่ควรจะรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งใดบ้างซึ่งเป็นส่วนภายนอก นอกจากมรรคผลที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัตินี้แล้ว ผลพลอยได้จะปรากฏภายในจิตตามจริตนิสัย แต่เวลานี้ไม่ให้คาดให้หมาย ไม่ให้อยาก สิ่งที่ให้อยากก็คือความสงบเย็นใจ ความหลุดพ้นความรู้แจ้งเห็นจริง นี้เป็นสิ่งที่ควรอยาก เพราะความอยากอันนี้ไม่เป็นกิเลสตัณหาแต่เป็นเรื่องของมรรค อยากพ้นทุกข์เป็นเรื่องมรรค ถ้าไม่อยากพ้นทุกข์จะดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์ได้อย่างไร ความอยากเป็นต้นเหตุให้เกิดความพยายาม มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นฝ่ายดีรวมอยู่ในความอยากอันเป็นมรรคนั้นหมด ถ้าไม่อยากเลยย่อมไม่มีกำลังใจจะบำเพ็ญและตะเกียกตะกายด้วยอุบายและวิธีการต่างๆ ดังนั้นความอยากประเภทนี้จึงสำคัญมาก ควรเจริญให้มีขึ้นในใจมากๆ ใจจะมีกำลังในการบำเพ็ญความดีทุกด้านจนถึงที่อันเกษมโดยสมบูรณ์แล้ว ความอยากอันเป็นมรรคนี้ก็หมดหน้าที่ไปเอง
อยากที่เป็นตัณหาท่านเรียกสมุทัย อยากแก้กิเลสตัณหา อยากหลุดพ้นจากทุกข์ อยากหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาอาสวะท่านเรียกว่ามรรค เป็นความคิดความดำริที่ชอบ เป็นความเฉลียวฉลาดที่เรียกว่าปัญญา ไม่ใช่อะไรๆ พอปรากฏเป็นความอยากขึ้นมาก็จะเป็นกิเลสไปหมดอย่างนี้ก็ผิด เพราะทำให้งอมืองอเท้าก้าวไม่ออก สุดท้ายก็นอนคอยกิเลสหั่นหอมหั่นกระเทียมอยู่เท่านั้น นั่นดีละหรือ
วิธีการนั่งภาวนา ได้อธิบายให้ฟังพอเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ให้พึงทำ เวล่ำเวลาที่เราจะทำเราอย่าหาเรื่องใส่ตน เราเกิดมากับเวล่ำเวลา ตั้งแต่วันอุบัติขึ้นมาจนกระทั่งบัดนี้อยู่กับมืดกับแจ้งตลอดมา อยู่กับวันเดือนปีตลอดมา ทำไมเวลาจะประกอบความพากเพียรเพื่อเป็นผลประโยชน์อันดีงามแก่ตนโดยตรง จึงหาเรื่องหาราวมาทำลายตน โดยหาว่าเวล่ำเวลาไม่มีบ้างการงานยุ่งบ้าง อะไรยุ่งไปหมด มีแต่เรื่องจะมาทำลาย นี่คือกลอุบายหรือกลมายาของกิเลสมันเคยหลอกพวกเรา เราเคยเชื่อมันเสียอย่างจมมิดจนมองหาตัวไม่เจอ ถูกกิเลสกลืนเอาหมด ถ้ายังไม่ทราบก็ควรทราบเสียแต่บัดนี้ จะมีทางผ่อนคลายจากการถูกต้มตุ๋นด้วยกลอุบายของมัน เวล่ำเวลาจะพอคุ้ยเขี่ยหาได้บ้างไม่ให้มันเอาไปกินเสียหมด
เมื่อไม่มีธรรมเป็นเครื่องรื้อฟื้น ไม่มีธรรมเป็นเครื่องทดสอบเทียบเคียง ก็ไม่ทราบเรื่องของกิเลสว่ามันผิดมันถูกประการใด มีแต่ความเชื่อตามมันโดยถ่ายเดียว แต่เมื่อมีธรรมเป็นเครื่องทดสอบเทียบเคียงแล้วย่อมจะทราบได้ว่าสิ่งนั้นจริงสิ่งนั้นปลอม เหมือนธนบัตรถ้ามีแต่ปลอมเสียจริงๆ ก็ไม่ทราบว่าอะไรเป็นของจริง เมื่อมีธนบัตรจริงเข้ามาแทรกของจริงเข้ามาเทียบเคียงกัน ก็ทราบว่านี้เป็นของจริง นั้นเป็นของปลอม พระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมไว้ก็เพื่อให้เป็นเครื่องเทียบเคียง และถอดถอนสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และเป็นความทุกข์ออกจากจิตใจ และบำเพ็ญธรรมเข้าให้มากเพราะเป็นของจริง ย่อมชำระหรือชะล้างสิ่งสกปรกโสมมอยู่ภายในใจออกได้ ใจก็จะสว่างไสวเอง สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ขึ้นมา เมื่อปราศจากสิ่งปิดบังทั้งหลายแล้ว สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็เห็น สิ่งไม่เคยละได้ก็ละได้ สิ่งไม่เคยประสบพบเห็นไม่เคยได้ ก็ได้เสวยเต็มหัวใจเพราะการปฏิบัติบำเพ็ญ
ธรรมไม่มีเพศ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเพศหญิงเพศชาย นักบวช ฆราวาสจึงบำเพ็ญหรือทำได้ด้วยกันเพราะจิตไม่มีเพศ จิตเป็นธรรมชาติที่รู้เท่านั้น ส่วนธาตุขันธ์นี้จึงเป็นเพศ เป็นสมมุติประเภทหนึ่ง ธรรมจึงเข้ากันได้กับจิต เพราะธรรมไม่มีเพศ จิตก็ไม่มีเพศ ประพฤติปฏิบัติธรรมได้ บุญบาปไม่มีเพศ สุขทุกข์ไม่มีเพศ เมื่อทำดีต้องเป็นสุขขึ้นมา ทำชั่วต้องเป็นทุกข์ขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายนักบวชหรือฆราวาส เพราะฉะนั้นเราจึงปฏิบัติธรรมได้ด้วยกัน
คำว่าจิตสงบมันลงไปยังไงอย่าไปคาด หรือขึ้นไปไหนอย่าไปคาด ผิดความจริง ให้รู้อยู่กับจิต จิตสงบเข้ามาจากอารมณ์ต่างๆ ก็ให้ทราบโดยหลักความจริงที่มีอยู่กับจิตนั้น รู้อันใดเห็นอันใดขึ้นมาก็ให้รู้อยู่ในวงนั้น เห็นอยู่ในวงนั้น อย่าไปคาดไปหมาย ซึ่งเป็นความผิด ดีไม่ดีก็หลงเพลินไปตาม และถือความผิดความจอมปลอมนั้นว่าเป็นความถูกต้องไปได้ และทำให้คนอื่นเสียไปด้วย ผู้ที่เชื่อง่ายก็พลอยให้เสียไปด้วยเหมือนกระต่ายตื่นตูม
กระต่ายตื่นตูม ท่านทั้งหลายก็เคยได้อ่านมาแล้วเพราะเคยเป็นนักเรียน กระต่ายนอนหลับอยู่ใต้ต้นตาล ลมพัดมะตูมหล่นลงมาถูกก้านตาลและใบตาล มะตูมหล่นตูมตามลงมาหากระต่ายที่นอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้นน่ะ กำลังนอนหลับเพลินอยู่นั้น พอตกใจตื่นขึ้นมาก็เข้าใจว่าฟ้าถล่ม จึงโดดวิ่งหนีตายจนไม่มีสถานี ไม่มีเหตุไม่มีผล วิ่งไปถึงไหน สัตว์ตัวไหนถามว่าวิ่งอะไร ก็บอกว่าฟ้าถล่มได้คำเดียว ไอ้พวกที่จอมโง่ก็วิ่งตามกันไปล้มระเนระนาด แข้งหักขาหัก เจ็บเนื้อเจ็บตัวตายพินาศ จนไปถึงพญาราชสีห์ พญาราชสีห์ถาม พากันวิ่งมาอะไร จะวิ่งกันไปอะไร ตัวนั้นก็ว่าฟ้าถล่ม ตัวนี้ก็ว่าฟ้าถล่ม ฟ้าถล่มที่ไหนพาเราไปดู และใครเป็นคนว่าฟ้าถล่ม สุดท้ายเรื่องก็มาอยู่ที่กระต่าย พญาราชสีห์ให้พาไปดูสถานที่ฟ้าถล่มว่ามันถล่มยังไง เมื่อไปดูก็เห็นมะตูมหล่นถูกใบตาลหลุดตกลงมาอยู่ที่ข้างๆ กระต่ายนอนหลับนั้นแล นั่นมันไม่มีเหตุผล สัตว์ที่เชื่อและวิ่งตามกระต่ายจึงพากันหยุดวิ่ง ไม่ล้มตายพินาศกันอีกต่อไป
อันนี้ใครว่าอะไรก็เชื่อตามๆ โดยหาหลักฐานไม่ได้ จะเป็นกระต่ายตื่นตูม พญาราชสีห์น่ะก็คือนักปราชญ์ท่าน กระต่ายนั้นก็เหมือนพวกเรานี่แหละ โง่เง่าเต่าตุ่นว่าอะไรๆ ดีหมด ยิ่งเขาโฆษณาอะไรว่าอันนั้นดี อันนี้ดีด้วยแล้ว บ้าเชื่อแหละ โฆษณาอะไรเชื่อไปหมด เงินหลั่งไหลออกจากกระเป๋าจนไม่มีอะไรเหลือเลย เป็นกระเป๋าร้างเหมือนบ้านร้าง เพราะเชื่อง่ายโดยไม่คำนึงถึงเหตุถึงผล เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นเหตุเป็นผลอันดีงามเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ ซึ่งเราทั้งหลายก็เป็นชาวพุทธอยู่แล้ว
การปฏิบัติจงให้ถือหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นกฎเกณฑ์สำคัญ ยิ่งกว่าผู้อื่นใดที่จะมาพูดให้ฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องนรก สวรรค์ เปรต อสุรกาย อะไร ได้เห็นที่นั่นได้เห็นที่นี่ อย่างนี้มันจะทำให้เขวจากหลักของการภาวนา เมื่อถึงคราวจะควรรู้ตามนิสัยของตนแล้วปิดไม่อยู่ แต่ก่อนไม่เคยเห็นก็เห็น ไม่เคยรู้ก็รู้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติ อันหนึ่งๆ ส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด และมีอยู่เช่นเดียวกับสมมุติทั่วๆ ไป เมื่อเครื่องรับมีแล้วมันก็ได้เห็นได้ยิน คิดดูอย่างเสียงต่างๆ แต่ก่อนไม่เห็นได้ยินกัน เดี๋ยวนี้พูดเมืองอเมริกาโน่นมันก็ยังได้ยินถึงเมืองเรา ทำไมเป็นอย่างนั้น ถ้ามีเครื่องรับมันก็ได้ยิน เช่น วิทยุ ว่าไง แต่ไม่ให้สนใจกับเรื่องเหล่านั้น
จิตใจที่มีธรรม มีภาวนาเป็นหลักใจย่อมมีเหตุผล มีการยับยั้งชั่วตวงได้ดี ไม่เป็นคนตื่นข่าว ไม่เป็นคนเถลไถลชอบประพฤติตามใจ ซึ่งส่วนมากความประพฤติตามใจนั้นมักผิด เราเคยชินต่อนิสัยนี้มาแล้วหักห้ามไม่อยู่ ถ้าไม่เอาธรรมเข้าไปหักห้าม คนเราใครจะอยากชั่ว ไม่มีใครอยากชั่ว อยากดีกันทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมมันชั่วได้ ก็เพราะปล่อยตามใจหลายครั้งหลายหน ความปล่อยตามใจก็เป็นการเสริมใจให้เป็นไปตามอารมณ์โดยไม่มีการหักห้ามอย่างใด ทีนี้พอถึงเวลาจะหักห้ามก็ห้ามไม่ได้เพราะความเคยตัว จึงต้องพยายามหักห้ามด้วยธรรมแต่ต้นมือ ไม่ปล่อยแบบเลยตามเลย
ธรรมเท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอำนาจหักห้ามสิ่งชั่วทั้งหลายได้ ภายในกายวาจาใจของเรานี้ เราอยากเป็นคนดี อะไรเป็นเครื่องมือแห่งความเป็นคนดีถ้าไม่ใช่ธรรม อะไรจะดีต้องอาศัยการตบแต่ง อาศัยการจัดทำ อาศัยความฉลาดของผู้ทำ อาศัยเครื่องมือแห่งการทำงานนั้นๆ เช่น เขาปลูกบ้านปลูกเรือน ปลูกตึกกี่ร้อยชั้นก็ตาม เครื่องมือเขามีมากมาย เป็นลำรถโน้น ไม่ใช่น้อยๆ จึงพอกับการก่อสร้าง ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีความแน่นหนามั่นคงและสวยงามตามความต้องการ ช่างเป็นสิ่งสำคัญมาก มีเครื่องมือแล้วต้องมีช่าง นี่เราเป็นช่างเราเอง โดยอาศัยเครื่องมือ คือ ธรรมอันเป็นฝ่ายเหตุเข้ามาแก้ไขดัดแปลงตนเอง ดัดแปลงใจนี้แหละ ตัวคึกตัวคะนองไม่มีเพศมีวัย ไม่มีกาลไม่มีสถานที่ก็คือใจ ถ้าจะปล่อยให้เพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิงไปอยู่ตลอดเวลาโดยไม่หักห้ามแล้ว ก็จะมีแต่ความเสียไปโดยลำดับๆ และกลายเป็นคนเสียไปเลยทั้งที่ใครก็ไม่อยากเสีย ฉะนั้นเราต้องมีเครื่องมือเป็นเครื่องหักห้าม มีเหตุมีผลเป็นเครื่องบังคับจิต อย่าให้เป็นไปตามยถากรรมดังที่เห็นๆ กันอยู่ทั่วไปซึ่งน่าทุเรศมาก แทบจะไม่มีคนดีเหลือค้างอยู่ในโลกในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นสมัยของคนและสังคมปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่สนใจกับการหักห้ามบ้างเลย
ถ้าคนเราต่างคนต่างได้รับการอบรมทางด้านศีลธรรม เข้าหากันพูดกันก็รู้เรื่อง เรื่องราวที่ก่อความไม่สงบ ก่อความวุ่นวาย ก่อความทะเลาะเบาะแว้ง ตลอดถึงการฆ่าการทุบตีกันก็ไม่ค่อยมี เพราะต่างคนต่างพูดตามหลักความจริง ต่างคนต่างรู้เรื่องกัน เพราะต้องการเหตุผลคืออรรถธรรมด้วยกันอยู่แล้ว พูดอะไรก็รู้เรื่องกัน นี่แลธรรมเข้าสู่จิตใจเข้าสู่สังคมหรือสถานที่ใด สถานที่นั้นสังคมนั้นจึงมีความสงบร่มเย็น ตามส่วนแห่งธรรมที่เข้าถึงมากน้อย
ศาสนาจึงไม่เป็นภัยต่อผู้ใดต่อสิ่งใดแต่ไหนแต่ไรมา นอกจากเป็นการส่งเสริมให้หน้าที่การงานและจิตใจของผู้นั้นมีความเจริญรุ่งเรือง และราบรื่นดีงามถ่ายเดียว ไม่มีช่องทางที่ควรตำหนิศาสนาว่า เป็นการกดถ่วงความเจริญของโลกในแง่ใดเลย
พระพุทธเจ้าทรงสอนเสมอว่า อุฏฺฐานสฺมฺปทา ให้ถึงพร้อมด้วยความขยับหมั่นเพียร ไม่ว่าหน้าที่การงานใด หนักก็เอาเบาก็สู้ ขึ้นชื่อว่างานการนั้นๆ จะเป็นประโยชน์แล้วไม่ให้ท้อแท้อ่อนแอ ให้มีความขยันหมั่นเพียรเพื่อผลของงานจริงๆ คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนคนให้มีความอ่อนแอท้อแท้ มีความเกียจคร้านนอนตื่นสาย อันเป็นเรื่องของคนไม่เอาไหน อันเป็นเรื่องของคนหมดสารคุณ
อารกฺขสมฺปทา เมื่อผลเกิดขึ้นจากงานที่ชอบเพราะความขยันหมั่นเพียร ก็ให้เลือกสรรปันส่วนที่ควรจะจับจ่ายไปในทางใดบ้าง ให้มีเหตุผลเป็นเครื่องกำกับ อย่าให้กิเลสตัณหาอาสวะความอยาก ความทะเยอทะยานมาโกยเอาไปหมด จนไม่มีเหลือแม้สตางค์หนึ่งติดกระเป๋า จะเก็บไว้เพื่ออะไรบ้างก็มีเหตุมีผลที่เก็บไว้ การจับจ่ายจะจ่ายเพื่ออะไรก็ให้มีเหตุผลที่ควรจ่ายถึงจ่ายไป อย่านำความอยากเข้ามาเป็นเจ้าเรือน มาเป็นเจ้าหัวใจ มันจะทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจให้แหลกเหลวไปหมด คนเราถ้าใจรั่วตั้งตัวไม่อยู่แล้ว สมบัติเงินทองจะมีมากน้อยเพียงไรก็แหลกเหลวไปหมดไม่เกิดประโยชน์อะไร มิหนำซ้ำยังกลายมาเป็นข้าศึกต่อคนชั่วนั้นได้อีก พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ก็เพื่อความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมนั่นเอง ไม่ได้สอนให้คนล่มจมฉิบหาย
สมชีวิตา การเลี้ยงชีพก็ให้พอประมาณ อย่าจิ๊บๆ จั๊บๆ กินนั้นกินนี้กินไม่หยุดไม่ถอย ท้องก็ไม่ได้โตอะไร เท่าท้องคนนี่แหละแต่กินเหมือนยักษ์ นั่น มันเกินเหตุเกินผลเกินประมาณที่น่าตำหนิ พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนไว้ เพราะพวกเราโง่ เคยกินมาตั้งแต่วันเกิดก็ยังไม่รู้จักว่ากินแบบไหนมันดี กินแบบไหนมันฉิบหาย กินเสียจนฉิบหาย ใช้เสียจนฉิบหาย อะไรๆ ก็เอาความฉิบหายเข้าว่ากัน ไม่ได้เอาความพอประมาณเหมาะสมเข้าเป็นแบบเป็นฉบับ คนเราถึงได้ทุกข์และบ่นกันทั่วโลก
พระพุทธเจ้าจึงสอนความพอประมาณ อันเป็นความเหมาะสมไว้ว่า สมชีวิตา ให้เลี้ยงชีพพอประมาณอย่าให้ฝืดเคืองจนเกินไปทั้งๆ ที่สมบัติสิ่งที่สนองความต้องการมีอยู่ อย่าให้เหลือเฟือจนเกินไปเป็นนิสัยไม่ดี เคยตัว ลืมเนื้อลืมตัว กินนิดหน่อยแล้วทิ้งเสีย เอามาใช้นิดหน่อยแล้วทิ้งเสียๆ โดยไม่เก็บไม่รักษาไม่ทะนุถนอมบำรุงให้เป็นประโยชน์ที่ควรจะได้ต่อไป แทนที่จะเป็นประโยชน์ได้เป็นเดือนๆ หรือเป็นปี กลับได้เพียงสองสามวัน สองสามเดือน แต่สลัดปัดทิ้งหายเงียบไป ฉิบหายไป คว้าเอาใหม่ เป็นเสื้อเป็นกางเกงเครื่องนุ่งห่มใช้สอยเครื่องประดับตกแต่งต่างๆ อันนี้ไม่ดีเอาอันนั้น อันนั้นไม่ดีเอาอันนี้ตามนิสัยหลุกหลิก
ความจริงก็เรามันไม่ดีเอง ถ้าเราดีอะไรมันก็ดีทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับเรา เอาอันนั้นมาประดับก็เท่าเดิม เอาอันนี้มาตกแต่งก็เท่าเดิม ถ้าใจไม่ดี ใจไม่มีเหตุมีผลเสียอย่างเดียว ต่อให้เอาสมบัติสิ่งของทั้งโลกมาปรนปรือ ก็เท่ากับเอาดอกไม้ไปบูชาขี้หมานั่นแล จะผิดกันอะไร
ถ้าใจมีเหตุมีผลเสียอย่างเดียวอะไรๆ ก็ดีทั้งนั้น สิ่งต่างๆ ที่เรานำมาใช้จนถึงอายุขัยของมันแล้วจึงทิ้งไป ด้วยเหตุผลว่าใช้ไม่ได้แล้ว ก็ให้ทราบตามความเหมาะสมว่าใช้ไม่ได้ อย่าให้กิเลสตัณหาความทะเยอทะยานมันบอกว่าใช้ไม่ได้ ใช้เพียงเดือนสองเดือน ผ้าก็ยังไม่เก่าแต่ใช้ไม่ได้มันไม่ทันสมัย ไปหามาเรื่อยให้ทันสมัย กว่าจะทันสมัยเจ้าของตายเสียก่อนและฉิบหายไปก่อนแล้ว แล้วเมื่อไรที่เป็นเวลาทันสมัย ไม่เคยทันสมัยเลยถ้าทำตามอำนาจของกิเลส
เพราะความบกพร่องไม่มีอะไรเกินกิเลส มันมีความสมบูรณ์เมื่อไรขึ้นชื่อว่ากิเลส อยากตลอดเวลา หิวโหยตลอดเวลา ทั้งหลับตื่นลืมตา มีแต่ความหิวโหยความบกพร่องต้องการอยู่เช่นนั้น ท่านจึงเรียกว่ากิเลสเป็นเครื่องกวนใจที่สุด กวนใจกวนทรัพย์สมบัติ สังหารทรัพย์สมบัติ สังหารจิตใจของคนให้เสียไปและสังหารคนทั้งคน นอกนั้นก็สังหารกันได้ทั่วโลกถ้าต่างคนต่างไม่สำนึกตัวและไม่คิดว่ามันเป็นโทษ
กลฺยาณมิตฺตตา นี้อีก การคบคว้าสมาคม เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์ขี้ขลาดอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีเพื่อนมีฝูง มีพ่อมีแม่ มิตรสหาย ไปที่ไหนต้องมีเพื่อนมีฝูง ไปคนเดียวไม่ได้ อยู่คนเดียวไม่ได้ สู้สัตว์บางตัวบางชนิดก็ไม่ได้ซึ่งเขาอยู่ตัวเดียวเขา ทีนี้เมื่ออยู่ด้วยกันก็คอยแต่จะทะเลาะกัน มีความเห็นแก่ตัวว่าตัวนี้สูงและดีกว่าเพื่อนมนุษย์ไปเสีย เหมือนกับตัวเท่าราชสีห์หรือเท่าช้าง เพื่อนมนุษย์ตัวเล็กเท่าหนู ไปที่ไหนก็กระทบกระเทือน พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้พยายามระมัดระวังความเป็นพาลของใจตัวเอง อย่าให้มันไปเที่ยวอาละวาดคนนั้นคนนี้ การอาละวาดคนอื่นก็คือการอาละวาดตัวเอง ความไม่ดีก็ส่อมาถึงตัวเองว่าเป็นคนไม่ดีนั่นแล
การคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงผู้ใดก็ให้เลือกเฟ้นด้วยดี อย่าคบสุ่มสี่สุ่มห้า เสียก็เสียเรานี้แหละ นี่พระพุทธเจ้าก็สอน แล้วจะให้ท่านสอนอะไรอีก การอยู่ก็สอน การกินก็สอน การไปการมาก็สอน การจับจ่ายใช้สอยก็สอน การเสาะแสวงหาพระพุทธเจ้าก็สอน การเก็บรักษาก็สอน เพราะเราโง่ไม่ฉลาด ท่านต้องสอนทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้เป็นผลเป็นประโยชน์แก่ตนและสมควรแก่สมบัติที่ได้มามากน้อยนั้น จะได้จีรังยั่งยืนต่อไป ทุ่นเวล่ำเวลาไป เราก็ไม่ยุ่งยากจนเกินไปเพราะความใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
หลักธรรมเพียงสี่ข้อเท่านี้ก็ครอบโลกธาตุแล้ว มีธรรมแง่ไหนที่จะเป็นการกดถ่วงโลกไม่ให้เจริญไม่มี มีแต่เป็นเครื่องส่งเสริมทั้งหน้าที่การงาน สังคมทั่วโลกดินแดนให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีความสงบสุขด้วยเหตุด้วยผลด้วยด้วยอรรถด้วยธรรม แล้วพยายามสั่งสอนตนให้เจริญทางด้านจิตใจ ให้มีขอบเขตเหตุผลประจำใจ จะทำอะไรก็ตาม ประพฤติอย่างไรก็ให้มีเหตุมีผลเป็นเครื่องกำกับรักษา เหมือนรถมีเบรกจะเร่งก็เร่งในสถานที่ควรเร่ง ควรจะเบรกห้ามล้อก็ห้าม ไม่ให้ไป ไม่ให้ทำ เพราะจิตอยู่ใต้อำนาจของสติปัญญา สติปัญญาเป็นเจ้าของของจิต โดยปกติจิตจะถูกหมุนบังคับให้ไปไหนก็ไป เช่นกิเลสบังคับให้ไป จิตก็ไป ธรรมบังคับให้ไปจิตก็ไป โดยอาศัยสติปัญญา จิตจึงเป็นของฝึกได้ จึงขอให้ทุกๆ ท่านนำไปประพฤติปฏิบัติ คนเรามีคุณค่าคุณสมบัติด้วยความประพฤติ อัธยาศัยใจคอ หน้าที่การงาน จงนำธรรมเข้าไปส่งเสริมจิตใจให้มีความสงบเย็นใจ ให้มีเหตุมีผลทุกแง่ทุกมุม นั้นแหละชื่อว่าเป็นนักธรรมะ
ขึ้นชื่อว่าความอยากแล้วมักจะทำลายคนเสมอ ไม่ค่อยจะเป็นฝ่ายดีแหละ ให้เอาสติปัญญาเข้าไปจับดู มันอยากอะไรบ้าง เมื่อหลายครั้งหลายหนเข้าก็เห็นหน้าของกิเลส เห็นหน้าของความอยาก เห็นหน้าของความโลภ ความโกรธ ความหลงไปเรื่อยๆ ก็ระงับดับมันเรื่อย ตีมันลงไปเรื่อย ฆ่าลงไปเรื่อย ฆ่าหลายครั้งหลายหน ลูกมันตายแล้ว หลานมันตาย แล้วพ่อแม่มันตาย ปู่ย่าตายายมันตาย ตายไปเสียจนหมดไม่มีตัวใดเหลือแล้ว จิตนั้นเรียกว่าบริสุทธิ์ทั้งดวง เพราะการชำระล้าง เพราะการฝึกฝนทรมาน
ดังพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นพระองค์แรก ได้สาวกอรหัตอรหันต์เป็นลำดับมาถึงพวกเราทั้งหลาย ย่อมดีด้วยการชำระสะสาง ดีด้วยเครื่องมือคือธรรมนำไปประพฤติปฏิบัติ จะกลายเป็นคนดีไม่มีที่สิ้นสุด ดีที่สุดก็คือมนุษย์เราผู้มีธรรมนั่นแล
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร ต้องขอยุติเพียงแค่นี้ |