เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๕
น้อมเอาธรรมมาเป็นครูสอนตน
การฟังเทศน์พึงตั้งใจไว้เฉพาะหน้า ไม่ต้องไปสนใจข้างนอกให้ยิ่งกว่าการกำหนดไว้ภายในใจของตน เพื่อให้รู้รสของพระธรรมอย่างแท้จริงภายในใจ เพราะการฟังเทศน์ท่านก็กล่าวไว้แล้วว่าได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะฟังเทศน์ ส่วนผลประโยชน์ข้างหน้านั้นเป็นผลพลอยได้ส่วนหนึ่งต่างหาก เพราะเหตุนั้น ครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมจึงปรากฏว่า พุทธบริษัทผู้สดับธรรมจากพระองค์แล้วได้ตรัสรู้ต่อพระพักตร์ของพระองค์ท่านมีจำนวนมาก เนื่องจากการฟังเทศน์โดยจิตตั้งไว้อย่างถูกต้อง ไม่ได้มุ่งอดีตอนาคตไปจากความรู้ปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่เฉพาะหน้า เพื่อสดับรับรสพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงในขณะนั้นเท่านั้น
ครั้งพระองค์เสด็จออกทรงผนวช ได้เสด็จออกด้วยความสนพระทัยในธรรมอย่างยิ่ง และก่อนหน้าจะเสด็จออกก็ทรงสนพระทัยอยู่ก่อนแล้ว เริ่มแต่ทอดพระเนตรเทวทูตทั้งสี่เป็นลำดับมา จนถึงวันเสด็จออกไปเสียจริง ๆ และทรงประกอบสมณกิจด้วยความเพียร และสนพระทัยต่อหน้าที่ของพระองค์ นับแต่วันเสด็จออกครั้งแรกจนวันตรัสรู้ ไม่ทรงทอดธุระให้ขาดวรรคขาดตอนในทางความเพียร ความเกียจคร้านความท้อแท้อ่อนแอไม่มีโอกาสทำหน้าที่บนพระทัยของพระพุทธเจ้าอีกต่อไป เหมือนที่เคยทำต่อบรรดาสัตว์ทั่ว ๆ ไป
แม้สาวกทั้งหลายออกบวชตามเสด็จพระองค์ ด้วยความสนใจใคร่ต่อความพ้นทุกข์ ได้สดับธรรมจากพระองค์ทุกบททุกบาท ล้วนแต่สดับด้วยความสนใจ นำไปปฏิบัติด้วยความสนใจ อยู่ด้วยความสนใจ ไปด้วยความสนใจ ความเพียรทุกประโยคเป็นไปด้วยความสนใจใคร่ต่อเหตุต่อผลจริงๆ ผลจะพึงได้รับเครื่องตอบแทนความสนใจของสาวกในครั้งนั้น จึงรู้สึกแปลกต่างกันกับพวกเราทั้งหลายในสมัยนี้ ทั้งนี้เนื่องจากความรู้สึกในแง่ธรรมและการปฏิบัติมีความหนักเบาต่างกันอยู่มาก เมื่อเป็นเช่นนี้ผลจะให้เหมือนกันได้อย่างไร
พระพุทธเจ้านับแต่วันเริ่มประกอบความเพียรจนวันตรัสรู้ ไม่ทรงท้อถอยในธุรกิจที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ จนปรากฏเป็นผลประจักษ์พระทัย คือความเป็นศาสดาขึ้นมาในโลก อันดับต่อไปก็ทรงนำธรรมที่ออกมาจากศาสดา มาประทานพุทธบริษัทโดยการแนะนำสั่งสอนไปตามแนวแห่งธรรมที่ทรงได้รับผลมาแล้ว บรรดาสัตว์ที่ได้รับการถ่ายทอดพระธรรมจากพระองค์แล้ว ต่างก็มีความชื่นบานหรรษาต่อรสพระธรรม นำไปปฏิบัติได้รับผลจนกลายเป็นสาวกสาวิกาขึ้นมาเป็นลำดับ ทั้งภูมิแห่งธรรมของผู้บรรลุและจำนวนของพุทธบริษัทผู้มีดวงตาเห็นธรรมตามพระองค์ท่าน
พระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับของพุทธบริษัทแต่ต้นมา ดังจะเห็นได้แต่เบื้องแรก พระองค์เสด็จออกบวชในป่า บวชแล้วเที่ยวอยู่ในป่าในเขา ไม่เคยสนพระทัยกับสิ่งใดและใครๆ ทั้งนั้น แม้แผ่นดินที่เคยปกครองให้บรรดาไพร่ฟ้าประชาชนได้รับความร่มเย็นในร่มเงาแห่งพระบารมีของพระองค์ และไม่ทรงเป็นอารมณ์ห่วงใยในความเป็นกษัตริย์ของประชากรทั่วทั้งแผ่นดิน ทรงบำเพ็ญพระองค์ด้วยความอาจหาญและอดทนต่อความเพียร ไม่มีใครจะทำให้ยิ่งกว่าพระศาสดาของเราไปได้ การกระทำทุก ๆ กรณียิ่งกว่าโลก การเสด็จออกบวชก็ผิดแปลกจากโลก เวลาผลปรากฏจึงแปลกต่างจากโลก จนกลายเป็นคนละโลกไป เพราะใจกลายเป็นใจของพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์ขึ้นมาทั้งดวง ผลที่ปรากฏจึงต่างจากโลกทั่วๆ ไปอย่างนี้
แม้พระสาวกทั้งหลายที่ได้ออกบวชตามเสด็จพระองค์ท่าน พอได้สดับอนุศาสน์จากพระองค์ว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถโว ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย เท่านั้น บรรดาสาวกรู้สึกมีความพออกพอใจยิ้มแย้มแจ่มใสในพระโอวาทที่ทรงประทานให้ พูดตามภาษาของเราก็ว่าโน้นภูเขา โน้นป่ารกชัฏ โน้นชายเขา โน้นซอกเขา โน้นซอกห้วย โน้นลำธาร โน้นเงื้อมผา โน้นหลังเขา โน้นไหล่เขา โน้นท่าน้ำลำคลองติดชายเขา แสนสบายไม่มีเครื่องกังวล จงพากันไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น เราตถาคตตรัสรู้ขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้าเพราะที่เช่นนั้น ไม่ได้ตรัสรู้ด้วยความคลุกคลี ไม่ได้ตรัสรู้ด้วยความรื่นเริงบันเทิงตามกระแสแห่งตัณหา คือความทะเยอทะยานหรือความเสือกคลานของตนเอง ซึ่งเป็นเพราะอำนาจแห่งกิเลสตัณหาเป็นเครื่องฉุดลากไป
เราตถาคตได้ตรัสรู้อยู่ในที่สงัดเช่นนั้น ได้ประกอบความเพียรอยู่ในที่เช่นนั้น ได้ปลีกจากฝูงชนทุกชั้น ปลีกจากปราสาทและบ้านเมืองมาสู่สถานที่เช่นนั้น ตถาคตทุกข์ก็ทุกข์เพื่อความเพียรอยู่ในที่เงียบสงัดเช่นนั้น ตถาคตไม่ได้ตรัสรู้อยู่ในห้องหอปราสาท ตถาคตไม่ได้ตรัสรู้ในทางสามแพร่งสี่แพร่ง ตถาคตไม่ได้ตรัสรู้ในตลาด ตถาคตไม่ได้ตรัสรู้ในท่ามกลางฝูงชน แต่ตถาคตได้ตรัสรู้ในที่อันเงียบสงัดวิเวกวังเวง ปราศจากสิ่งรบกวนใด ๆ ตถาคตได้ถึงความบริสุทธิ์พุทธะเพราะสถานที่สงัดเช่นนั้น เพราะเหตุนั้นขอให้พวกท่านทั้งหลายจงไปในสถานที่ที่เราตถาคตชี้บอกเถิด ว่านั้นภูเขา นั้นชายเขา นั้นถ้ำ นั้นร่มไม้ใบหนา นั้นป่าทึบ นั้นที่แจ้ง อากาศโปร่งโล่งสบาย นั้นเป็นที่วิเวกสงัด นั้นเป็นที่ไม่วุ่นวาย ไม่กังวลกับสิ่งก่อกวนทั้งหลายที่จะเอื้อมเข้าไปถึง
สถานที่เช่นนั้นใคร ๆ เขาไม่ต้องการ ขอให้พวกท่านทั้งหลายจงไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น เพราะเราตถาคตได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาเพราะที่เช่นนั้น ถ้าท่านทั้งหลายต้องการเป็นผู้หมดจดพ้นทุกข์ไปตามเราตถาคตแล้วไซร้ จงพากันไปอยู่ตามสถานที่ที่เราตถาคตชี้บอก จะเป็นผู้สิ้นภพสิ้นชาติ เกิด ๆ ตาย ๆ อันเทียบกับหลุมถ่านเพลิง ไปตามเราตถาคตได้ในวันนี้วันหน้า ไม่ต้องสงสัย
ที่อธิบายผ่านมาแล้วอนุศาสน์ข้อที่ ๒ ข้อต้นว่า ปํสุกูลจีวรํ เป็นต้น ท่านทั้งหลายบวชมาแล้ว พึงแสวงหาผ้าบังสุกุลที่เขาทอดทิ้งตามป่าข้า ตามถนนหนทาง นำมาปะติดปะต่อ ปะชุนกันเข้าเป็นผืน สบง จีวร สังฆาฏิ พอได้ครองร่างและชีวิตสืบต่อเพศพรหมจรรย์ให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ สมกับเพศสมณะซึ่งไม่ใช่นักฟุ่มเฟือยโก้เก๋ ครองตัวในปัจจัยสี่ด้วยความเป็นผู้มีธรรม คือความมักน้อยและสันโดษในปัจจัยสี่ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมในบริขารของพระเครื่องอาศัยชั่วคราว ส่วนคหบดีจีวรที่ศรัทธาถวายด้วยมือก็พึงรับเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ทั้งเป็นความเบาใจของศรัทธาผู้อุปัฏฐากดูแล
ข้อที่ ๓ ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ เป็นต้น เราบวชในพระศาสนาแล้ว อย่าเป็นผู้เกียจคร้าน จงบิณฑบาตมาฉันด้วยกำลังปลีแข้งของตัวโดยความบริสุทธิ์ใจ บรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลายให้ด้วยความเต็มอกเต็มใจ ใส่บาตรให้เรามาฉันตามสมณประเพณี ซึ่งปราศจากการซื้อขาย ปราศจากการทำไร่ทำนาเหมือนอย่างประชาชน การบิณฑบาตมาฉันเป็นกิจวัตร ชื่อว่าเป็นทางแห่งอาชีพที่บริสุทธิ์ของนักบวช พึงอุตส่าห์ทำอย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด ลาภเหลือเฟือคือของพิเศษอันอาจเกิดมีขึ้นในบางกาล พึงเห็นว่าเป็นคราวสมัยจะพึงสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาชน แต่อย่าทำตนให้มีความประมาทนอนใจ และถือเป็นเกียรติในความเกิดขึ้นแห่งลาภสักการะทั้งหลายนั้น จะกลายเป็นว่า สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ ลาภสักการะสังหารโมฆบุรุษให้ตาย (ปลาตายเพราะเหยื่อล่อ)
ข้อ ๔ คิลานเภสัช คือยารักษาโรค คำว่า โรคหรือไข้ เป็นได้ทั้งพระและฆราวาสไม่เลือกหน้า เมื่อความจำเป็นเกิดขึ้น เรื่องจำเป็นจะต้องแก้ไขก็ต้องมีขึ้นเป็นเงาเทียมตัว แต่พึงรู้จักประมาณในการขอจากญาติในพระศาสนา หรือคนให้โอกาสแก่การขอให้เป็นความดีที่สุด ความรู้จักประมาณเป็นธรรมจำเป็น นักบวชควรมีประจำตนตลอดเวลา แล้วจะเป็น สงฺฆโสภณา คือ นักบวชผู้งามและประดับเกียรติพระศาสนาให้เป็นสง่าราศี และเป็นที่นิยมยินดีของพุทธบริษัท และพาหิรชนทั่ว ๆ ไป ข้อสำคัญของนักบวชจงระวังความเลยเถิดทุกกรณี คือกรณีขอทุกประเภท (เว้นบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรประจำวันของพระเณร) กรณีไปมาหาสู่ กรณีขอความร่วมมือจากประชาชนอย่าให้เป็นนิสัยไปทีเดียว พึงบริกรรมความรู้จักประมาณไว้ให้พร้อมมูล เวลาความจำเป็นเกิดขึ้นทุกกรณี
บรรดาพระสาวกเมื่อได้สดับอนุศาสน์ธรรมจากพระองค์แล้ว น้อมรับไปปฏิบัติด้วยความยินดีและสนใจอย่างยิ่ง ต่างปลีกออกหาที่วิเวกสงัด อยู่ในป่าในเขาอันเป็นที่เปลี่ยว จะเป็นหรือตายไม่คำนึงในชีวิต แม้จะออกจากตระกูลต่างๆ มีตระกูลพระยามหากษัตริย์เป็นต้น ก็ไม่นำเรื่องของตระกูลและยศศักดิ์เข้ามาแทรกสิงหัวใจให้เกิดทิฐิมานะ พอที่จะตำหนิติเตียนในสถานที่อยู่หรืออาหารปัจจัย ซึ่งบรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลายให้ด้วยศรัทธา ตามกำลังความสามารถของเขาซึ่งหามาได้ แล้วให้ทานไป
สาวกท่านมีความยินดีในอาหารปัจจัยทุกประเภท เว้นแต่จะผิดวินัยบริโภคใช้สอยไม่ได้ นอกนั้นสาวกทั้งหลายเป็นที่พึงพอใจรับเพื่อยังชีวิต และความเพียรให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ มีความสนใจต่อความเพียรและข้อปฏิบัติ มีความสนใจต่อสถานที่ที่วิเวกสงัด ซึ่งไม่พลุกพล่านด้วยสิ่งรบกวนทั้งหลาย มีความเพียรติดต่อทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เห็นสิ่งใดที่มีคุณค่ายิ่งกว่าการบำเพ็ญตนให้พ้นจากทุกข์ บรรดาสาวกทั้งหลายเห็นความพ้นทุกข์เท่านั้น ว่าเป็นธรรมอันล้นเหลือค่ายิ่งกว่าการเวียนเกิดเวียนตาย ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกหลอกของอวิชชา อันเป็นโรงงานผลิตทุกข์แก่สัตว์ทั้งโลกธาตุไม่มีวันจบสิ้น
เมื่อสาวกมีความมุ่งมั่นต่อแดนหลุดพ้นเต็มที่แล้ว เรื่องทิฐิมานะที่ถือว่าออกมาจากตระกูลกษัตริย์ก็ดี ทิฐิมานะอันเกิดจากความมั่งคั่งสมบูรณ์ก็ดี และทิฐิมานะอันเกิดจากความเฉลียวฉลาด เพราะการศึกษาเล่าเรียนมามากก็ดี สาวกทั้งหลายไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เข้าไปเคลือบแฝงในจิตใจได้ นอกจากความสนใจใคร่ต่อปฏิปทาเครื่องดำเนิน เพื่อยกจิตของตนให้พ้นจากทุกข์เท่านั้น ถึงกับได้ตรัสรู้ตามพระองค์ท่าน นับแต่องค์แรกจนถึงองค์สุดท้ายแห่งสาวกอรหันต์
เพราะฉะนั้นขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย นำเรื่องของพระพุทธเจ้าและประวัติของสาวกอรหันต์มาสนใจว่า ท่านปฏิบัติอย่างใดจึงได้รับผลเป็นที่พอใจ จนปรากฏเด่นแก่โลกทั้งหลายให้ได้สักการบูชา นับแต่เทวดาลงมาถึงมนุษย์ทุกชั้น ไม่มีใครรู้และฉลาดสามารถอย่างประเสริฐเหนือพระพุทธเจ้ากับพระธรรมและพระสงฆ์ไปได้ ขอให้เราทุกท่านโปรดทราบไว้อย่างนี้ ความท้อแท้อ่อนแอ ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง ความเห็นแก่หลับนอน เหล่านี้ไม่ใช่ทางประเสริฐและพ้นทุกข์ พอจะสามารถยังธรรมอันประเสริฐให้ปรากฏในมโนทวาร คือหัวใจของเราได้
ความเคลื่อนไหวไปมาทุก ๆ อาการในอิริยาบถทั้งสี่ พึงเป็นผู้สนใจต่อเหตุผลและสนใจในความเคลื่อนไหวของตนตลอดเวลา อย่าให้ข้องแวะกับสิ่งใดๆ ที่จะเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า และเป็นมลทินแก่กาย วาจา ใจของตน จงเป็นผู้ยินดีต่อความวิเวก ยินดีต่อการอยู่คนเดียว ทั้งเรื่องของกายและจิตใจกับความเพียรเท่านั้น จงมีเข็มทิศ คือความมุ่งมั่น ตั้งไว้เพื่อความพ้นทุกข์ทุก ๆ อิริยาบถ หรือทุก ๆ ขณะจิตที่เคลื่อนไหว ผลจะพึงได้รับจะเป็นเช่นพระพุทธเจ้าและสาวก โดยไม่มีอะไรจะสามารถแยกออกได้ เพราะเป็นทางสายเดียวกัน
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น พระพุทธเจ้าไม่ประทานไว้เพื่อใคร นอกจากจะเพื่อพวกเราผู้มีข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ประจำตนเท่านั้น เมื่อดำเนินตามร่องรอยที่ประทานไว้ ตลอดสถานที่และวิธีประกอบตามที่อธิบายแล้วว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ เป็นต้น ผลที่ได้รับจะไม่เป็นอย่างอื่น นอกจากความพ้นทุกข์ และจากความเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าขึ้นในหลักธรรมชาติ คือความบริสุทธิ์ภายในใจ ขอให้สำนึกตัวเสมอ ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับ ซึ่งเป็นของเหลือวิสัย จงใคร่ต่อสติปัญญาและความเพียรของตนเสมอไป เรื่องความหลุดพ้นจะปรากฏขึ้นที่ใจของตน
การฟังธรรมในครั้งพุทธกาลฟังด้วยความสนใจจริง ๆ ฟังแล้วก็ฝังลงที่จิต ไม่ได้ปล่อยให้เรี่ยราด หรือสักแต่ว่าฟังพอเป็นพิธี ตกมาสมัยทุกวันนี้ไม่ว่าใคร ๆ แม้เราผู้เป็นนักบวชอยู่ขณะนี้ การกระทำทุก ๆ อย่างก็ยังจะกลายเป็นพิธี ถ้าไม่ได้สนใจและมีความมุ่งมั่นต่อความพ้นทุกข์อย่างเต็มที่แล้ว อาการทุกอย่างมันจะกลายเป็นพิธีโดยไม่รู้สึกตัว เช่น เดินจงกรม ก็พอเป็นพิธีตามเวล่ำเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่จิตกับสติจะสัมปยุตด้วยความเพียรหรือเปล่า ข้อนี้เป็นปัญหาที่น่าสงสัย เมื่อเป็นเช่นนี้ผลที่ปรากฏขึ้นมาให้เราได้รับก็จะกลายเป็นอื่นไปได้ เพราะเหตุใด เพราะทั้ง ๆ ที่เราว่าเราเดินจงกรม แต่จิตกลายเป็นอื่นไปนอกจากหลักธรรม
ก็หลักธรรมเป็นอย่างไร หลักธรรมแสดงว่าเป็นผู้มีสติรับรู้ในประโยคความเพียรของตน เราจะกำหนดหรือพิจารณาในธรรมบทใด อาการใด ถ้าจิตและสติไม่ได้ติดต่อสืบเนื่องกันโดยลำดับในบทธรรมหรืออาการนั้น ๆ ปล่อยให้จิตเพ่นพ่านหรือเร่ร่อนไปสู่สถานที่และอารมณ์ต่าง ๆ ตามอำนาจของสิ่งยั่วยวน นั่นแสดงว่ากระแสของใจ และใจไปสู่ความเป็นอื่นแล้ว ผลที่จะพึงได้รับก็ผิดจากความเป็นธรรมกลายเป็นอื่นไปได้ ถ้าไม่ได้สนใจในความเคลื่อนไหวของเราแล้ว โดยถือเอาเพียงประโยคเบื้องต้นว่า เราทำความเพียรเท่านี้
เราอาจจะมีความเห็นผิดไปตำหนิติโทษพระศาสนาว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เป็นนิยยานิกธรรม พอที่จะนำผู้ปฏิบัติธรรมให้พ้นจากทุกข์ไปได้จริง สมกับที่พระองค์ตรัสไว้ว่าสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว แท้จริงทั้งวันทั้งคืนกระแสแห่งใจของเราเอนเอียงไปสู่โลกตลอดเวลา คำว่า โลก ทั้งโลกใน ทั้งโลกนอก พึงทราบว่าเป็นสภาพหนึ่งจากธรรมที่พระองค์ทรงมุ่งหวัง การปฏิบัติของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายมุ่งในหลักธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ เพราะเหตุนั้น ประโยคแห่งความเพียรทุก ๆ ประโยค จึงเป็นไปเพื่อความแก้ไขมลทินจนหมดสิ้นโดยตลอดไม่มีอะไรเหลืออยู่ จากนั้นก็กลายเป็น พุทโธ ขึ้นมาให้โลกได้กราบไหว้บูชา
ที่ท่านเป็นธรรมทั้งองค์เพราะท่านปฏิบัติถูกธรรม เหตุกับผลจึงลงกันได้อย่างนี้ ส่วนเราทั้งหลายเดินจงกรมนั่งสมาธิจริง แต่กลายเป็นสมาธิหัวตอ นั่งหลับในสมาธิไม่รู้กี่ครั้งกี่หน หรือกลายเป็นเรื่องประจำก็อาจเป็นไปได้ในบางราย นี่ผู้เทศน์ไม่รับรองแทนได้ แต่เรื่องคงเป็นความจริงอย่างนั้น ผลจึงกลายเป็นอื่นเสมอไป ถ้าเหตุเป็นเรื่องของธรรมแล้ว ผลจะกลายเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะเหตุกับผลต้องสวมรอยกันไป เพราะเราทำไม่ถูกต้องตามหลักธรรม
แทนที่จะเดินจงกรม นั่งสมาธิ ให้สติสัมปยุตด้วยความเพียรติดต่อกันกับบทธรรม หรือสภาวธรรมที่เราพิจารณา แต่จิตกลายเป็นอื่นไปเสีย โดยส่งกระแสใจไปตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส แม้ธรรมารมณ์ที่ปรุงขึ้นกับใจก็ปรุงไปเพื่อ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต ไม่ปรากฏจิตเป็นปัจจุบันแม้แต่ขณะเดียว อย่างนี้ผลก็ต้องเป็นโลกเสมอไป เพราะกระแสของจิตกลายเป็นโลกอยู่ตลอดเวลา ส่วนจิตก็ต้องเป็นโลกขึ้นมา ได้แก่เรื่องของสมุทัยแดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ทำหัวใจของเราให้เดือดร้อนแล้วก็มาตำหนิผลว่า ทำไมจึงเกิดความรุ่มร้อน วันนี้ไม่สบาย แต่ตนก่อเหตุความไม่สบายไว้ทั้งวันทั้งคืน เพื่อความเป็นอื่นจากธรรมโดยไม่รู้สึกตัว ไม่ได้คำนึงถึงเลย เรื่องจึงเป็นอย่างนั้น
เพราะเหตุนั้น เราทุกท่านซึ่งเป็นนักปฏิบัติจงมีเข็มทิศ คือความมั่นใจต่อความพ้นทุกข์ตั้งไว้เสมอ กับความเคลื่อนไหวแห่งกาย วาจา ใจของตน อย่าให้คลาดเคลื่อน พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร โน้นป่ารกชัฏอันเป็นที่สงัดวิเวก ควรแก่การประกอบความเพียร ท่านไม่สอนว่านั้นตลาด นั้นถนนสามแพร่งสี่แพร่ง นั้นชุมนุมชนคนหนาแน่น พวกท่านจงไปกางกลดกางมุ้งอยู่ในที่ชุมนุมชนเช่นนั้น พวกท่านทั้งหลายจะปลอดภัยและถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์ได้โดยพลัน อย่างนี้พระองค์ไม่ได้สอน เราต้องพิจารณาถึงเหตุผลว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ มีความหมายอย่างไร บรรดาพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงประทานธรรมข้อไหนไว้ ต้องมีเหตุผลและเป็นหลักความจริง ซึ่งจะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติตามเสมอไป ฉะนั้น ประวัติของพระพุทธเจ้ากับสาวกจึงเป็นเรื่องที่แปลกและอัศจรรย์ ทั้งการบำเพ็ญเหตุทั้งผลสุดยอด คือความเป็นศาสดาของโลกทั่ว ๆ ไป
ศาสดาคือครูของโลกก็ดี ครูอาจารย์ของศิษย์ทั่ว ๆ ไปก็ดี จะสั่งสอนเราในบางสมัย สำคัญที่สุดเราต้องน้อมเอาธรรม คือหลักเหตุผลอันเป็นองค์ของศาสดาแท้มาเป็นครูสอนตนเสมอไป การเหลือบซ้ายแลขวา ตลอดความเคลื่อนไหวทุก ๆ อาการ จะต้องกระเทือนถึงครู คือหัวใจเสมอ เราต้องสำนึกตัวอย่างนี้ อย่าเป็นคนลืมตน ไม่เช่นนั้นจะพาตัวไปไม่รอด และจะเสียวันเสียคืนไปเปล่า อย่าพึงเข้าใจว่ามืดกับแจ้งที่ผ่านมาเมื่อวานนี้กับวันนี้และวันพรุ่งนี้ จะเป็นของแปลกประหลาด เป็นมืดแจ้งอันเดียวกัน กิเลสอาสวะไม่ได้เกี่ยวกับมื้อ วัน ปี เดือน แต่เกี่ยวกับหัวใจของเราและสิ่งแวดล้อมที่เคยเกี่ยวข้องกันอยู่เท่านั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด จงพิจารณา
จะไปไหนมาไหนให้มีศาสดาสอนตนเสมอไป นั่งก็ดี นอนก็ดี ยืนก็ดี เดินก็ดี จงเป็นผู้มีสติระลึกในอาการของตัว ความสงบใจก็ดี ความรอบคอบของใจก็ดี จะพ้นจากหลักของสติกับปัญญาไปไม่ได้ เพราะสติกับปัญญาและความเพียรเป็นรั้วกั้น หรือเป็นธรรมประกันไว้แล้ว ขอแต่ดำเนินในกรอบแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยความเพียร จะเห็นแดนพ้นทุกข์ปรากฏขึ้นกับใจของเราโดยไม่ต้องไปถามใคร ไม่ว่าสมัยโน้นกับสมัยนี้หรือสมัยใด ๆ เมื่อสวากขาตธรรมมีเป็นคู่เคียงกับโลกด้วย ผู้สดับและศึกษาเล่าเรียนจาก สวากขาตธรรม นำมาปฏิบัติด้วยความสนใจและถูกทางด้วย ผลจะถึงความเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องถึงความพ้นทุกข์ประจักษ์กับใจของตนอย่างแน่นอน โปรดทราบไว้และแก้ปัญหาที่ใจของเรา ไม่เช่นนั้นจะเหลวไปทุกวัน และหาอะไรมาปรากฏผลไม่มี
ถ้าเป็นนักตั้งสติค้นคว้าด้วยปัญญาในสภาวธรรม มีกายเป็นต้นเสมอ ความรู้ที่แปลกประหลาดจะปรากฏขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าความเพียรได้ขาดวรรคขาดตอน ผลที่จะปรากฏก็ล่าช้าเช่นเดียวกัน ดังนั้นจงอุตส่าห์บำรุงสติและปัญญาให้มีความรอบรู้อยู่เสมอ อย่างไรเสียต้องเป็นไปเพื่อสมาธิ คือความมั่นคงของใจ และเป็นไปเพื่อความเฉลียวฉลาดในทางปัญญา เพราะเหตุแห่งการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม หรืออริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคโดยแท้ และคำว่าสติปัฏฐานก็ดี อริยสัจก็ดี เป็นปัจจุบันธรรมซึ่งปรากฏอยู่กับกายกับใจของเราตลอดเวลา
ในมัชฌิมาปฏิปทาทรงตรัสไว้ว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คำว่าเห็นชอบทั่ว ๆ ไปก็มี เห็นชอบในวงจำกัดก็มี และเห็นชอบในธรรมส่วนละเอียดยิ่งก็มี ความเห็นชอบของผู้ถือพระพุทธศาสนาทั่ว ๆ ไปโดยมีวงจำกัด เช่น เห็นว่าบาปมีจริง บุญมีจริง ผู้ทำดีได้รับผลดี ผู้ทำชั่วได้รับผลชั่ว เป็นต้น นี่ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิขั้นหนึ่ง ความเห็นในวงจำกัดของนักปฏิบัติผู้ประกอบการพิจารณาสติปัฏฐาน หรืออริยสัจสี่ โดยกำหนด กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ประจำตนทุกอาการด้วยปัญญา
ปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นลงในพระสัจธรรม เพราะการพิจารณาไตรลักษณ์เป็นต้นเหตุ และถือไตรลักษณ์ที่มีอยู่ในสภาวธรรมนั้น ๆ เป็นทางเดินของปัญญา และพิจารณาในอริยสัจ เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกายและจากใจ ทั้งของตนและของคนอื่น สัตว์อื่น ว่าเป็นสิ่งไม่ควรประมาทนอนใจ พร้อมทั้งความเห็นโทษในสมุทัย คือแหล่งผลิตทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่สัตว์เสวยผล ไม่มีประมาณตลอดกาล และเตรียมรื้อถอนสมุทัยด้วยปัญญา เพื่อก้าวขึ้นสู่นิโรธ คือ แดนสังหารทุกข์โดยสิ้นเชิง นี่ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิขั้นหนึ่ง
สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบในธรรมส่วนละเอียดนั้น ได้แก่ ความเห็นชอบในทุกข์ว่า เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นชอบในสมุทัยว่า เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นชอบในนิโรธว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง และความเห็นชอบในมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความเห็นชอบโดยปราศจากการตำหนิติชมในอริยสัจและสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป จัดเป็นสัมมาทิฏฐิขั้นหนึ่ง
สัมมาทิฏฐิมีหลายขั้นตามภูมิของผู้ปฏิบัติในธรรมขั้นนั้นๆ ถ้าสัมมาทิฏฐิมีเพียงขั้นเดียว ปัญญาจะมีหลายขั้นไปไม่ได้ เพราะกิเลสความเศร้าหมองมีหลายขั้น ปัญญาจึงต้องมีหลายขึ้น เพราะเหตุนี้เอง สัมมาทิฏฐิจึงมีหลายขั้นตามที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว
ในปฏิปทาข้อ ๒ ตรัสว่า สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ มี ๓ ประการ คือ ดำริในทางไม่เบียดเบียน ดำริในทางไม่พยาบาทปองร้าย ดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกพัน ๑
ดำริในทางไม่เบียดเบียนนั้น คือ ไม่คิดเบียดเบียนคนและสัตว์ ไม่คิดเบียดเบียนตนเองด้วย ไม่คิดให้เขาได้รับความทรมานลำบาก เพราะความคิดของเราเป็นต้นเหตุ และไม่คิดหาเรื่องลำบากฉิบหายใส่ตนเอง เช่น ไม่คิดจะกินยาเสพย์ติด มีสุรา ฝิ่น และเฮโรอีน เป็นต้น
ดำริในทางไม่พยาบาท คือ ไม่คิดปองร้ายหมายฆ่าใคร ๆ ทั้งสัตว์และมนุษย์ ไม่คิดเพื่อความชอกช้ำและฉิบหายแก่ใคร ไม่คิดให้เขาได้รับความเจ็บปวดบอบช้ำ หรือล้มตายลงไป เพราะความคิดของเราเป็นต้นเหตุ และไม่คิดปองร้ายหมายฆ่าตัวเอง เช่น คิดฆ่าตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ นี่คือผลเกิดจากความคิดผิด ตัวเองเคยมีคุณแก่ตัวและเป็นสมบัติอันล้นค่าแก่ตัวเอง เพราะความคิดผิดจึงปรากฏว่าตัวกลับเป็นข้าศึกแก่ตัวเอง เรื่องเช่นนี้เคยมีบ่อย พึงทราบว่าเป็นผลเกิดจากความดำริผิดทาง ผู้รักษาตัวและสงวนตัวแท้ เพียงแต่จิตคิดเรื่องไม่สบายขึ้นภายในใจเท่านั้น ก็รีบระงับดับความคิดผิดนั้นทันทีด้วยเนกขัมมอุบาย ไหนจะยอมปล่อยความคิดที่ผิดให้รุนแรงขึ้นถึงกับฆ่าตัวตาย เป็นตัวอย่างแห่งคนรักตัวที่ไหนมี
ความดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกมัด นี่ถ้าเป็นความดำริทั่ว ๆ ไป ตนคิดอ่านการงานเพื่อเปลื้องตนออกจากความยากจนค่นแค้น เพื่อความสมบูรณ์พูนผลในสมบัติ ไม่อดอยากขาดแคลน ก็จัดเข้าในเนกขัมมสังกัปโปของโลกประการหนึ่ง
ผู้ดำริให้ทาน รักษาศีล ภาวนา คิดสร้างถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำ ก่อพระเจดีย์ ทะนุบำรุงปูชนียสถานที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างกุฏิ วิหาร ศาลา เรือนโรงต่าง ๆ โดยมุ่งกุศลเพื่อยกตนให้พ้นจากกองทุกข์ ก็จัดเป็นเนกขัมมสังกัปโปประการหนึ่ง
ผู้ดำริเห็นภัยในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเกิดในสัตว์และสังขารทั่ว ๆ ไป ทั้งเขาทั้งเราไม่มีเวลาว่างเว้น เห็นเป็นโอกาสอันว่างสำหรับเพศนักบวชจะบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นไปได้ตามความหวัง ดำริจะบวชเป็นชีปะขาว เป็นพระ เป็นเณร นี่ก็จัดเป็นเนกขัมมสังกัปโปประการหนึ่ง
นักปฏิบัติมีความดำริพิจารณาอารมณ์แห่งกรรมฐานของตน เพื่อความปลดเปลื้องจิตออกจากนิวรณ์ธรรมทั้งหลาย โดยอุบายต่าง ๆ จากความดำริคิดค้นไม่มีเวลาหยุดยั้งเพื่อเปลื้องกิเลสทุกประเภท ด้วยสัมมาสังกัปโปเป็นขั้น ๆ จนกลายเป็นสัมมาสังกัปโปอัตโนมัติ กำจัดกิเลสเป็นขั้น ๆ ด้วยความดำริคิดค้นตลอดเวลา จนกิเลสทุกประเภทหมดสิ้นไป เพราะความดำรินั้น ๆ นี่ก็จัดเป็นสัมมาสังกัปโปประการสุดท้ายแห่งการอธิบายปฏิปทาข้อที่สอง
ปฏิปทาข้อที่ ๓ ตรัสไว้ว่า สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ นี่กล่าวชอบทั่ว ๆ ไปก็มี กล่าวชอบยิ่งในวงแห่งธรรมโดยจำเพาะก็มี กล่าวชอบตามสุภาษิตไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ฟัง กล่าวมีเหตุผลน่าฟังจับใจไพเราะเสนาะโสต กล่าวสุภาพอ่อนโยน กล่าวถ่อมตนเจียมตัว กล่าวขอบบุญขอบคุณต่อผู้มีคุณทุกชั้น เหล่านี้จัดเป็นสัมมาวาจา ประการหนึ่ง
สัมมาวาจาที่ชอบยิ่งในวงแห่งธรรมโดยจำเพาะนั้น คือกล่าวในสัลเลขธรรม เครื่องขัดเกลากิเลสโดยถ่ายเดียว ได้แก่กล่าวเรื่องความมักน้อยในปัจจัยสี่เครื่องอาศัยของพระ กล่าวเรื่องความสันโดษ ยินดีตามมีตามได้แห่งปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรม กล่าวเรื่อง อสังสัคคณิกา ความไม่คลุกคลีมั่วสุมกับใคร ๆ ทั้งนั้น วิเวกกตา กล่าวความสงัดวิเวกทางกายและทางใจ วิริยารัมภา กล่าวเรื่องการประกอบความเพียร กล่าวเรื่องการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ กล่าวเรื่องทำสมาธิให้เกิด กล่าวเรื่องการอบรมปัญญาให้เฉลียวฉลาด กล่าวเรื่องวิมุตติ คือความหลุดพ้นและกล่าวเรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น นี่จัดเป็นสัมมาวาจาส่วนละเอียด การกล่าวนั้นไม่ใช่กล่าวเฉย ๆ กล่าวรำพัน กล่าวรำพึง กล่าวด้วยความสนใจและความพออกพอใจ ใคร่ต่อการปฏิบัติในสัลเลขธรรมจริง ๆ
ในปฏิปทาข้อ ๔ ตรัสไว้ว่า สัมมากัมมันโต การงานชอบ การงานชอบทั่ว ๆ ไป ประการ ๑ การงานชอบในธรรมประการ ๑ การงานทำโดยชอบธรรม ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่น การทำนา ทำสวน การซื้อขายแลกเปลี่ยน เหล่านี้จัดเป็นการงานชอบ การปลูกสร้างวัดวาอารามและการให้ทานรักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ก็จัดเป็นการงานชอบ แต่ละอย่าง ๆ เป็นสัมมากัมมันโตประการ ๑ การเดินจงกรม นั่งสมาธิก็จัดเป็นการงานชอบ ความเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจทุกอาการ พึงทราบว่าเป็นกรรมคือการกระทำ การทำด้วยกาย พูดด้วยวาจา และคิดด้วยใจ เรียกว่าเป็นกรรม คือการกระทำ ทำถูก พูดคิดถูก เรียกว่า สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
คำว่า การงานชอบ มีความหมายกว้างขวางมาก แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะน้อมไปใช้ในทางใด เพราะโลกกับธรรมเป็นคู่เคียงกันมา เหมือนแขนซ้ายแขนขวาของคนคนเดียว จะแยกโลกกับธรรมจากกันไปไม่ได้ และโลกก็มีงานทำ ธรรมก็มีงานทำด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากภาวะของคนและการประกอบไม่เหมือนกัน การงานจะให้ถูกรอยพิมพ์อันเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นผู้อยู่ในฆราวาสก็ขอให้ประกอบการงานถูกกับภาวะของตน ผู้อยู่ในธรรมคือนักบวชเป็นต้น ก็ขอให้ประกอบการงานถูกกับภาวะของตน อย่าให้การงานและความเห็นก้าวก่ายไขว้เขวกัน ก็จัดว่าต่างคนต่างสัมมากัมมันตะ การงานชอบด้วยกัน โลกและธรรมก็นับวันจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ เพราะต่างท่านต่างช่วยกันพยุง
ปฏิปทาข้อ ๕ ตรัสไว้ว่า สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ การเลี้ยงชีพด้วยการรับประทานธรรมดาของมนุษย์และสัตว์ทั่ว ๆ ไปประการหนึ่ง การหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยอารมณ์อันเกิดจากเครื่องสัมผัสประการหนึ่ง การหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยธรรมเป็นขั้น ๆ ประการหนึ่ง
การแสวงหาอาชีพโดยชอบธรรมปราศจากการปล้นสะดมฉกลักของใคร ๆ มาเลี้ยงชีพ หาได้มาอย่างไรก็บริโภคเท่าที่มี พอเลี้ยงอัตภาพไปเป็นวัน ๆ หรือจะมีมากด้วยความชอบธรรมก็จัดเป็นสัมมาอาชีโว ประการหนึ่ง
ใจได้รับความสัมผัสจากสิ่งภายนอก คือ รูปหญิง ชาย เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสของหญิงชาย และสิ่งของที่ถูกกับจริตชอบ เกิดเป็นอารมณ์เข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความแช่มชื่นเบิกบานหายความโศกเศร้ากันแสง มีแต่ความรื่นเริงบันเทิงใจกลายเป็นอายุวัฒนะขึ้นมา แต่ถ้าแสวงผิดทางก็กลายเป็นพิษเครื่องสังหารใจ นี่ก็จัดเป็นสัมมาอาชีพสำหรับโลกผู้มีมัตตัญญุตา รู้จักประมาณและขอบเขตที่ควรหรือไม่ควร
การบำรุงจิตใจด้วยธรรมะ คือ ไม่นำโลกที่เป็นยาพิษเข้ามารังควานใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสธรรมารมณ์ ให้พึงพิจารณาเป็นธรรมเสมอไป อย่าให้เกิดความยินดียินร้ายจะกลายเป็นความฝืดเคืองขึ้นภายในใจ การพิจารณาเป็นธรรมจะนำอาหาร คือโอชารสแห่งธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงหัวใจ ให้มีความชื่นบานด้วยธรรมภายในใจ ให้มีความชุ่มชื่นด้วยความสงบแห่งใจ ให้มีความชุ่มชื่นด้วยความเฉลียวฉลาดแห่งปัญญา ไม่แสวงหาอารมณ์อันเป็นพิษเข้ามาสังหารใจของตน พยายามนำธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงเสมอ
อายตนะภายในมี ตา หู เป็นต้น กระทบกับอายตนะภายนอก มีรูป เสียง เป็นต้น ทุกขณะที่สัมผัสจงพิจารณาเป็นธรรม คือความรู้เท่าและปลดเปลื้องด้วยอุบายเสมอไป อย่าพิจารณาให้เป็นเรื่องของโลกแบบจับไฟเผาตัวเอง จะกลายเป็นความร้อนขึ้นที่ใจ จงพยายามกลั่นกรองอารมณ์ที่เป็นธรรมเข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจอยู่ตลอดเวลา อาหารคือโอชารสแห่งธรรมจะหล่อเลี้ยงและรักษาใจให้ปลอดภัยเป็นลำดับ ที่อธิบายมานี้จัดเป็นสัมมาอาชีวะประการหนึ่ง
ปฏิปทาข้อ ๖ ตรัสไว้ว่า สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ท่านว่าเพียรในที่สี่สถานคือ เพียรระวังอย่าให้บาปเกิดขึ้นในสันดานหนึ่ง เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไปหนึ่ง เพียรยังกุศลให้เกิดขึ้นหนึ่ง และเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วอย่าให้เสื่อมสูญไปหนึ่ง โอปนยิโกน้อมเข้าในหลักธรรมที่ตนกำลังปฏิบัติได้ทุกขั้น แต่ที่นี่จะน้อมเข้าในหลักสมาธิกับปัญญาตามโอกาสอันควร พยายามระวังรักษาจิตที่เคยฟุ้งซ่านไปตามกระแสแห่งตัณหา เพราะความโง่เขลาฉุดลากไปหนึ่ง ความดิ้นรนกวัดแกว่งของจิตที่เคยเป็นมา จงพยายามทรมานให้หายพยศด้วยอำนาจสติและปัญญาเป็นเครื่องฝึกทรมานหนึ่ง
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมแก้กิเลสทุกประเภท จงพยายามอบรมให้เกิดขึ้นกับใจของตน ถ้าต้องการไปนิพพานดับไฟกังวลให้สิ้นซาก จงอย่าเห็นศีล สมาธิ ปัญญาเป็นกรวดเป็นทราย ศีล สมาธิ ปัญญา ทุก ๆ ขั้นได้ปรากฏขึ้นกับตนแล้ว อย่ายอมให้หลุดมือไปด้วยความประมาท จงพยายามบำรุงศีล สมาธิ ปัญญา ทุก ๆ ขั้นที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญเต็มที่ จนสามารถแปรรูปเป็นมรรคญาณประหารกิเลส แม้อนุสัยให้สิ้นซากลงเสียที แดนแห่งวิมุตติพระนิพพาน ที่เคยเห็นว่าเป็นธรรมเหลือวิสัย จะกลายเป็นธรรมประดับใจทันทีที่กิเลสสิ้นซากลงไป
ในปฏิปทาข้อ ๗ ตรัสไว้ว่า สัมมาสติ ความระลึกชอบ ได้แก่ การตั้งสติระลึกตามประโยคความเพียรของตน ตนกำหนดธรรมบทใดเป็นอารมณ์ของใจ เช่น พุทโธ หรือ อานาปานสติ เป็นต้น ให้มีสติระลึกธรรมบทนั้น ๆ หรือตั้งสติกำหนดในสติปัฏฐานสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งกำหนดเพื่อสมาธิ ทั้งการพิจารณาเพื่อปัญญา ให้มีสติความระลึกในประโยคความเพียรของตนทุก ๆ ประโยค จัดเป็นสัมมาสติที่ชอบข้อหนึ่ง
ปฏิปทาข้อ ๘ ตรัสไว้ว่า สัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ชอบ ได้แก่สมาธิที่สัมปยุตปัญญา ไม่ใช่สมาธิแบบหัวตอ และไม่ใช่สมาธิที่ติดแน่นทั้งวันทั้งคืน ไม่ยอมพิจารณาทางด้านปัญญาเลย โดยเห็นว่าสมาธิเป็นธรรมประเสริฐพอตัว จนเกิดความตำหนิติโทษปัญญา หาว่าเป็นของเก๊ไปเสีย สมาธิประเภทนี้เรียกว่า มิจฉาสมาธิ ไม่จัดเป็นสมาธิที่จะทำบุคคลให้พ้นจากทุกข์ไปโดยชอบธรรม ส่วนสมาธิที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องกำหนดลงไปในหลักธรรมหรือบทธรรมตามจริตชอบ ด้วยความมีสติกำกับรักษา จนจิตรวมลงเป็นสมาธิได้ และจะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตาม เมื่อรู้สึกจิตของตนสงบหรือหยุดจากการคิดปรุงต่างๆ รวมอยู่เป็นเอกเทศอันหนึ่งจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลายจนกว่าจะถอนขึ้นมา จัดเป็นสมาธิที่ชอบ
และไม่เหมือนสมาธิซึ่งรวมลงไปแล้วไม่ทราบกลางวันกลางคืน เป็นตายไม่ทราบทั้งนั้น เหมือนคนตายแล้ว พอถอนขึ้นมาจึงระลึกย้อนหลังว่า จิตรวมหรือจิตไปอยู่ที่ไหนไม่ทราบ นี่เรียกว่าสมาธิหัวตอ เพราะรวมลงแล้วเหมือนหัวตอ ไม่มีความรู้สึก สมาธิประเภทนี้จงพยายามละเว้น แม้ที่เกิดขึ้นแล้วรีบดัดแปลงเสียใหม่ สมาธิที่กล่าวนี้เคยมีในวงนักปฏิบัติด้วยกัน วิธีแก้ไขคือหักห้ามอย่าให้รวมลงตามที่เคยเป็นมาจะเคยตัวตลอดกาล จงบังคับให้ท่องเที่ยวในสกลกายโดยมีสติบังคับเข้มแข็ง บังคับให้ท่องเที่ยวกลับไปกลับมาและขึ้นลงเบื้องบนเบื้องล่างจนควรแก่ปัญญา และมรรคผลต่อไป
ส่วนสัมมาสมาธิ เมื่อจิตรวมลงไปแล้ว มีสติรู้ประจำอยู่ในองค์สมาธินั้น เมื่อถอนขึ้นมาแล้วควรจะพิจารณาทางปัญญาในสภาวธรรมส่วนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกาย ในจิต ก็พิจารณาในโอกาสอันควร สมาธิกับปัญญาให้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกันเสมอไป อย่าปล่อยให้สมาธิเดินเหินไปแบบไม่มองหน้ามองหลังโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอะไรทั้งนั้น
สรุปความแล้ว สติ สมาธิ ปัญญา ทั้งสามนี้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน โดยจะแยกจากกันให้เดินแต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ สมาธิกับปัญญาต้องผลัดเปลี่ยนกันเดิน โดยมีสติเป็นเครื่องตามรักษาทั้งสมาธิและปัญญา
นี่แลปฏิปทาทั้ง ๘ ที่ได้อธิบายมา โดยอิงหลักธรรมบ้าง โดยอัตโนมัติบ้าง ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ ถึงสัมมาสมาธิ พึงทราบว่าเป็นธรรมหลายชั้น แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะนำไปปฏิบัติตามภูมิแห่งธรรมและความสามารถของตน
ในปฏิปทาทั้ง ๘ ประการนี้ ไม่เลือกว่านักบวชหรือฆราวาส ใครสนใจปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้ ผลคือวิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของผู้นั้น เพราะศีล สมาธิ ปัญญารวมอยู่ในมรรคนี้ และเป็นเหมือนกุญแจไขวิมุตติทั้งสองให้ประจักษ์กับใจอย่างเปิดเผย
อนึ่ง ท่านนักปฏิบัติอย่าพึงเข้าใจว่า วิมุตติกับวิมุตติญาณทัสสนะทั้งสองนี้แยกกันไปอยู่ในที่ต่างแดนหรือแยกกันทำหน้าที่คนละขณะ ที่ถูกไม่ใช่อย่างนั้น เขาตัดไม้ให้ขาดด้วยขวาน ขณะไม้ขาดจากกัน ตาก็มองเห็น ใจก็รู้ว่าไม้ท่อนนี้ขาดแล้วด้วยขวาน เห็นด้วยตากับรู้ด้วยใจเกิดขึ้นในขณะเดียวกันฉันใด วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะก็ทำหน้าที่รู้เห็นกิเลสขาดจากใจด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ในขณะเดียวกันฉันนั้น จากนั้นแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพราะปัญหายุ่งยากก็คือปัญหากิเลสกับใจเท่านั้นที่ใหญ่ยิ่งในไตรภพ เมื่อปล่อยใจอันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดแล้ว กิเลสซึ่งเป็นสิ่งอาศัยอยู่กับใจก็หลุดลอยไปเอง ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็ปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง เรียกว่า ต่างฝ่ายต่างจริงแล้วก็หมดคดีคู่ความลงเพียงเท่านี้
วันนี้ได้อธิบายธรรมให้แก่นักปฏิบัติทั้งหลาย โดยยกสมเด็จพระผู้มีพระภาคและพระสาวกทั้งหลายมาเป็นแนวทางให้ท่านทั้งหลายฟัง จะได้ตั้งเข็มทิศ คือ ข้อปฏิบัติของตน ๆ ให้เป็นไปตามพระองค์ท่านโดยไม่ลดละ เมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมที่ท่านทั้งหลายบำเพ็ญได้บริบูรณ์แล้ว วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะอันเป็นองค์พระนิพพานก็จะเป็นของท่านทั้งหลายอย่างไม่มีปัญหา
เพราะเหตุนั้นธรรมทั้งหมดที่ได้กล่าวในวันนี้ ท่านผู้ฟังทุกๆ ท่านจงเข้าใจว่ามีอยู่ในกายในใจของเราทุกท่าน ขอให้น้อมธรรมเหล่านี้เข้ามาเป็นสมบัติของตน ทั้งการดำเนินเหตุ ทั้งผลที่ปรากฏขึ้นจากเหตุอันดี คือวิมุตติพระนิพพาน จะเป็นของท่านทั้งหลายในวันนี้วันหน้าโดยนัยที่ได้แสดงมา ขอยุติลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
www.Luangta.com or www.Luangta.or.th
|