ความเพียรกล้า
วันที่ 18 มีนาคม 2546 เวลา 9:00 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

ความเพียรกล้า

 

        (อยากทราบวิธีทำความเพียรกล้าค่ะ) อ้าว ก็ได้พูดแล้วนี่ ความเพียรกล้าก็เร่งรัดอุตส่าห์พยายามอดทนเรื่อย ๆ นี่กล้า แล้วก็เร่งด้วยความพอใจกล้า ก็เรียกความเพียรกล้า มันหลายประเภทนี่นะความเพียรกล้า อย่างผู้ที่พระนิพพานอยู่ชั่วเอื้อม ๆ ไม่เรียกว่าความเพียรกล้า มันเลยไปแล้ว ต้องได้รั้งเอาไว้ คือมันกล้าเกินเหตุเกินผล ต้องรั้ง ๆ ความเพียรมีหลายประเภทนะ ความเพียรอย่างที่ว่าสติปัญญาอัตโนมัติ มหาสติมหาปัญญานี้ ประเภทนี้มีแต่รั้งเอาไว้ ๆ ที่จะได้ไสเรื่อย ๆ หรือพยายามไม่มี มีแต่รั้ง ๆ เอาไว้ คือไม่งั้นเลยเถิด เลยความพอดี เช่นอย่างไม่หลับไม่นอน

แล้วจิตที่ควรจะเข้าพักสมาธิเอากำลังออกทางด้านปัญญาแก้กิเลสต่อไป มันก็ไม่ยอมพัก มีแต่จะเอาให้ได้อย่างใจ ๆ ไม่ทราบว่าเอาสันคมเอาคมลง คือมีแต่ใจ เรียกว่าต้องได้รั้งเอาไว้ ไม่เรียกว่าความเพียรกล้า ถ้ากล้าเพื่อความพ้นทุกข์ เอาทุกข์เป็นจุดข้างหน้านะ ความเพียรนี่เพื่อความพ้นทุกข์ วิธีไหนก็เรียกความเพียรกล้า อย่างนี้ก็ได้ใช่ไหมล่ะ มันหลายประเภทความเพียร ความเพียรกล้าก็คือผู้ที่ได้หลักได้เกณฑ์ในจิตใจ มีเชื้ออยู่ภายในใจ ความหวังที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ หรือดื่มด่ำธรรมภายในใจๆ แล้วความเพียรจะกล้าขึ้นเรื่อย ๆ ทุกอย่างกล้าขึ้นด้วยกัน

ประเภทที่ถูไถไม่เอาไหน ต้องได้อาศัยพยายามเพียรบึกบึน ฝืนกัน มันเป็นหลายประเภทนะ ประเภทที่ฝืนกันก็มี คือเอาปัญญากางเอาไว้ เมื่อเวลาฝืนแล้วจะได้ผลอย่างนั้น ๆ มากน้อยก็ฝืน มีแต่ทางได้ ๆ ไม่ฝืนไม่ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าฝืน บังคับ ต่อจากนั้นเป็นไปด้วยความพอใจไปโดยลำดับ ๆ ความพอใจจนกระทั่งเหนียวแน่น ๆ  นั้นเป็นอีกประเภทหนึ่ง อยู่ในใจดวงเดียวกันนั้นแหละ

พอพูดถึงเรื่องนี้ซึ่งควรจะนำมาพูดในขณะเดียวกันนี้ อย่างพระโสณะที่ได้รับเอตทัคคะเลิศในทางความเพียรกล้า แน่ะ ท่านก็เรียกว่าความเพียรกล้าเหมือนกัน ความเพียรกล้าสามารถ ความเพียรเก่ง เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก คือมันทะลุไปถึงเนื้อ คือหนังนี่เดินไปเดินมามันก็บางเข้า ๆ มันก็ทะลุถึงเนื้อ เรียกว่าฝ่าเท้าแตก ฝ่าเท้าทะลุ หรือว่ามันบางเข้าไปๆ มันกัดเข้าไปจนกระทั่งถึงเนื้อ นี้จะเรียกว่าฝ่าเท้าอะไรพิจารณาซิ พระโสณะเป็นประเภทนี้แหละ คือเดินจงกรมนี้เดินไม่หยุดไม่ถอย ฝ่าเท้ามันก็ค่อยบางเข้าไป ๆ ทั้ง ๆ ที่ฝ่าเท้าหนา ๆ เดินไม่หยุดไม่ถอยมันก็ค่อยบางเข้าไป ๆ สุดท้ายก็เข้าถึงเนื้อ แต่ท่านให้ชื่อว่าฝ่าเท้าแตก ใคร ๆ ก็พึงทราบเอาว่า เดินจงกรมจนฝ่าเท้าบางไป ๆ จนทะลุถึงเนื้อ ท่านเรียกว่าฝ่าเท้าแตก ในหนังสือว่างั้น

นี่ในหนังสือเราก็อ่าน ว่าท่านเดินจงกรม ท่านทำความเพียรกล้า เดินจงกรมถึงขนาดฝ่าเท้าแตก แต่ยังไม่ได้คิดลึกซึ้งอะไรเข้าไปเมื่อมันยังไม่มีพยาน พยานสำคัญนะ ก็ทราบว่าท่านฝ่าเท้าแตก ๆ ยอมรับว่าท่านความเพียรกล้า ฝ่าเท้าแตก  หากได้เพียงแค่นั้นนะ ไม่ซึ้งยิ่งกว่านั้นไป บทเวลามันเข้าถึงกัน โอ๋ย มันยอมรับทันทีเลย ความเพียรกล้าเดินจงกรมขนาดถึงฝ่าเท้าแตก พวกเราประกอบความเพียรทั้งหลายนี้ อุตส่าห์พยายามเดินไป ไม่มีจิตใจดูดดื่ม พุ่ง ๆ ไม่ดูดดื่มรุนแรง เดินไป ๆ ถึงขนาดฝ่าเท้าแตกนี้ แหม ร้อยรายหรือพันรายจะไม่มีนะ อุตส่าห์พยายามบึกบึนเดินไปจนกระทั่งฝ่าเท้าแตก พูดง่าย ๆ ว่าเราไม่ค่อยเชื่อแหละ พูดอย่างเบา ๆ ว่าเราไม่ค่อยเชื่อ พูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยว่าเราไม่เชื่อ

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็มันเป็นในตัวเองน่ะซี ความดูดความดื่มของจิตนี้มันพุ่ง ๆ เลย ความเพียรมันก็เป็นไปเองล่ะซี ก็ทางนี้พุ่ง ๆ ตลอด ประหนึ่งว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อม ๆ มันเห็นประจักษ์ ๆ ในทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ประจักษ์ เห็นโทษเห็นภัยของทุกข์ทั้งหลายที่เคยเป็นมาก็ประจักษ์ เมื่อต่างอันต่างประจักษ์แล้วมันก็พุ่ง ๆ นี่ละความเพียรประเภทนี้ เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ หรือมหาสติมหาปัญญา ประเภทนี้ไม่ต้องบอกเรื่องความเพียร ต้องรั้งเอาไว้

พระโสณะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตกยอมรับเลย อย่างนี้ฝ่าเท้าแตก นั่นเห็นไหม อย่างอื่นไม่เชื่อ..เรา ก็มันเป็นเองนี่ว่าไง เมื่อถึงขั้นของใครแล้วมันยอมรับเองแหละน่า อย่างที่ว่าเดินจงกรมจนกระทั่งฝ่าเท้าแตก เราก็ฟัง ดูอยู่ในตำรา จะให้ฝืนก็ไม่ฝืน คือว่าไม่เชื่อก็ไม่เชิง จะว่าเชื่อเสียจริง ๆ ก็ไม่เห็น มันก็ลอย ๆ ไปอย่างนั้นแหละ บทเวลามาถึงจุดที่มันจะยอมรับกันในเรื่องความเพียร ลงได้ก้าวเข้าสู่ทางจงกรมแล้ว ไม่มีวันมีคืน เหมือนกับนักมวยต่อยกันบนเวที ใครจะไปหากำหนดเวล่ำเวลาไม่มี ฟัดกันใหญ่เลย ความเพียรประเภทนี้ประเภทหมุนติ้ว เรียกว่านักมวยเข้าวงใน

พอก้าวลงทางจงกรมนี้ไม่มีเวล่ำเวลา อิดหิวเมื่อยล้าอะไรไม่สนใจ เหมือนนักมวยเข้าวงในต่อยกันอยู่นั้น ใครจะไปสนใจว่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าใช่ไหมล่ะ อันนี้ก็เหมือนกัน ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันบนหัวใจ หัวใจเป็นเวที กิเลสกับธรรมเป็นนักมวยต่อยกัน แล้วมันจะไม่แตกยังไง ฝ่าเท้าต้องแตก ถ้ากิเลสไม่แตกก่อนฝ่าเท้าต้องแตก อย่างพระโสณะนี้ท่านฝ่าเท้าแตก แล้วคงจะบรรลุทีหลัง แต่เวลายกให้เป็นเอตทัคคะว่าเลิศนี้ ก็ไม่ทราบว่าฝ่าเท้าแตกแล้วกิเลสถึงแตกทีหลังก็ไม่ทราบนะ มันเป็นได้ทั้งสอง คือถ้ากิเลสพังลงไปก่อนฝ่าเท้า ทั้ง ๆ ที่เร่งความเพียรฝ่าเท้ายังไม่แตก กิเลสแตกเสียก่อน ความเพียรนี้ก็ลดเองเข้าใจไหม ไม่ต้องบอกลดเอง

ถ้าหากว่ากิเลสยังไม่แตกนี้ ฝ่าเท้าแตกได้ เอาทีนี้ยันเข้ามานี้เลย เราเห็นอย่างนี้เองจะว่าอะไร ก็มันเป็นอย่างนั้นจะให้พูดว่ายังไง ลงได้ก้าวลงทางจงกรมไม่ว่ากลางวี่กลางวันกลางคืน มันไม่ทราบเวล่ำเวลา อันนี้มันไม่ถอย มันหมุนติ้ว ๆ ทีนี้ถึงเวลา เช่นอย่างน้ำนี้ไม่รู้จักหิวจักกระหายนะ ไม่รู้ อะไร ๆ ไม่สนใจเลยว่างั้นเถอะน่ะ มีแต่ฟัดกันอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาปัดกวาดออกมา หิวน้ำ มองเห็นน้ำในกานี้ โอ๋ย.คว้าเลยทันทีนะมันจะตาย คว้ามาใส่กั๊ก ๆ สำลักจะเป็นจะตาย นี่เห็นไหมเวลาจิตมันออกมานี้ มันก็ไปเต็มเม็ดเต็มหน่วยของมันจนสำลัก แต่เวลามันทำความเพียรไม่ได้สนใจ จากนั้นแล้วก็ออกร้อนฝ่าเท้าซิ นี่ที่ชัดเจนมาก ฝ่าเท้านี่ออกร้อนเหมือนไฟลนนะ ฝ่าเท้าเรานี้ พรึ่บ ๆ ออกร้อน เอ๊ ฝ่าเท้าเรานี้มันแตกเหรอ หรือมันเป็นยังไง

ก็มาจับเท้าลองดู ไม่แตก แล้วเอามือลูบ มันชัดขนาดนั้นแหละ คือมันออกร้อนเสียจนเจ้าของสงสัยว่าฝ่าเท้ามันทะลุเข้าถึงเนื้อหรือยังไง เราไม่อยากว่าฝ่าเท้าแตก มันทะลุ แล้วมาดู เอ๊ ก็ไม่แตกว่างั้นนะ แล้วเอามือมาสะบัด โอ๋ย.เสียว ๆ เจ็บเสียว นั่น ถ้าเลยนี้แตก แต่นี้พูดให้มันตรงศัพท์เลย สาธุจริง ๆ ไม่ได้อวด กิเลสแตกเสียก่อน มันถอยของมันเอง นั่นเห็นไหมล่ะ มันก็รู้กันอย่างนี้ละ แล้วจะหาใครมาเป็นพยาน พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านเป็นพยานของกันและกัน ผางอันเดียวเหมือนกันหมด ไม่มีใครค้านใครเลย เป็นอันเดียวกันหมด ก็แบบเดียวนี้ อย่างปฏิปทาที่ว่าฝ่าเท้าแตกเพราะเหตุผลกลไกอะไรมันก็รู้

ถ้าฝืนอดทนจนกระทั่งฝ่าเท้าแตกโดยที่ตะเกียกตะกาย โอ๊ย.พูดอย่างย่อม ๆ แบ่งให้บ้าง บอกว่าเราไม่อยากเชื่อ ถ้าพูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามหลักความจริงที่เราผ่านมาแล้วนี้ เราไม่เชื่อว่างั้นเลย ถ้าแบบความเพียรอันนี้แล้วเชื่อร้อยทั้งร้อยเลย ถ้าว่ากิเลสยังไม่แตกฝ่าเท้าต้องแตก ไม่รู้จักเวล่ำเวลา นอนก็เหมือนกัน ทะลุจนถึงตอนเช้าไม่หลับเลย ก็มันหมุนกันอยู่นี้มันจะหลับได้ยังไง นอนก็หมุนกันอยู่บนเวทีต่อยกันอยู่อย่างนั้น ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันโดยอัตโนมัติให้รู้เสีย นี่ละเวลาธรรมมีกำลังฟัดกับกิเลสเป็นอัตโนมัติไปเลยทีเดียว ถ้ากิเลสไม่ขาดสะบั้นไม่หยุด ถ้าพักก็พักอย่างนี้พักเพื่อจะฟัด เรียกว่าพักให้น้ำว่างั้นเถอะน่ะ แต่เรื่องถอยไม่ถอย คู่ต่อสู้เหมือนว่าคนนั้นให้น้ำทางนั้นคนนี้ให้น้ำทางนี้ซิ จากนั้นก็ฟัดกันเท่านั้นละ มันไม่มีเวล่ำเวลา

นอนอยู่ โอ๊ย.เราไม่รู้กี่คืนนะ ที่มันไม่หลับตลอดรุ่ง ๆ จนกระทั่งถึงมาวิตก เอ้า นี่มันจะไม่ตายก่อนกิเลสแล้วเหรอ มันพิลึกนะ กลางวันยังจะไม่นอนอีก มันหมุนของมันอยู่ตลอด นี่เห็นไหมถึงเวลามันจะไป เหมือนนิพพานอยู่ชั่วเอื้อม ภัยมหาภัยนี่ยันเข้ามานี่ ดันเข้ามาใกล้ ๆ ทางนี้ก็จะเอาให้พ้น นี่ละที่มันรุนแรงเข้าใจไหม ไม่คำนึงถึงที่จะหลับนอนเสียก่อน มหาโจรกำลังอยู่นี้มันจะหลับนอนได้ยังไงใช่ไหม ก็นี้ที่จะพ้นภัยก็นี่น่ะ ๆ ก็คว้าใส่ละซิ ฟังเข้าใจไหมล่ะ

เราพูดอย่างจัง ๆ ให้พี่น้องทั้งหลายฟัง จะมีองค์เดียวเท่านี้ละ จะบ้าก็บ้าองค์เดียวนี้พูดอย่างไม่มีการสะทกสะท้าน เราบอกเราไม่มี ในสามโลกธาตุเราไม่มี เราพูดตามอรรถตามธรรม พูดแล้วหายเงียบไปเลยไม่มีอะไรเหลือ ไม่เป็นอารมณ์ ทั้งพูดเด็ดพูดด่าพูดดุอะไรเป็นธรรมล้วน ๆ เพื่อความดีทั้งหมดไม่มีความเสียหายจากธรรม ไม่ว่าจะใช้กิริยาใดออกมาก็ตามเป็นพลังของธรรมออกล้วน ๆ เลย ถ้ากิเลสก็กิเลสออกล้วน ๆ ดีไม่ดีขาดสะบั้นไปเลยเป็นเถ้าเป็นถ่านคู่ต่อสู้หรือข้าศึกเข้าใจไหม นั่นละพลังของกิเลสมันรุนแรง ทีนี้พลังของธรรมกิเลสก็ขาดสะบั้นไปแบบเดียวกัน

นี่ละที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านรั้งเอาไว้นะ อย่างนั้นละ ท่านเคยผ่านมาแล้วนี่ อย่างนี้เราทราบจากมหาเถระ สมเด็จมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาสเรานั้นละถามท่าน เวลาคุยธรรมะกับท่านแล้ว เอ้อ เธออยู่คนเดียวไม่ได้มีหมู่มีเพื่อน เวลาสงสัยธรรมะอะไร ๆ นี่เธอจะปรึกษาปรารภกับใครว่างั้นนะ สมเด็จท่านถาม ท่านสาธุขึ้นเลย สาธุ เกล้ากระผมนี้ฟังธรรมอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ก็เหมือนกับว่าต่อยกันทั้งวันทั้งคืนนั่นเอง ฟังธรรมทั้งวันทั้งคืนไม่มีเวลาหยุดยั้งเลย เออ เธอดีนะ ท่านก็เลยไปอย่างนั้น เพราะท่านไม่รู้ท่านก็ต้องถาม ดีนะเธอ ท่านว่าไปอย่างนั้น

นี่ท่านเล่าให้ฟังนะ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเล่าให้ฟัง ท่านบอกท่านฟังธรรมอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่มีเวลาหยุดยั้งเลย นี่ละความเพียรประเภทนี้ละหมุนติ้ว ๆ ๆ เร่งก็ยิ่งหมุนขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้ากิเลสยังไม่ขาดเจ้าของต้องมีผู้รั้ง เราก็คือพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นรั้งเอาไว้นะ บอกว่ามันไม่ได้หลับได้นอน บางคืนไม่นอนเลย นั่นละมันบ้าสังขารเห็นไหมท่านเอาเด็ด ๆ นะ ท่านไม่ได้พูดธรรมดา อย่ารุนแรงมากให้ลดอย่างนั้นมันจะไม่ถึงใจของเราที่เป็นนิสัยผาดโผน ท่านรู้นิสัยนี่ พูดกับเรานี้พูดอย่างธรรมดากันนี้ไม่ผิดอะไรพ่อกับลูกคุยกันนะ กับเรานะ จะว่าเมตตาหรืออะไรมันก็สนิทกันขนาดนั้นละ ถ้าพูดกันธรรมดานี้เหมือนพ่อกับลูกคุยกัน

พอหมุนไปธรรมะนี้เปรี้ยงทันทีเลยนะกับเรา ไม่เคยอ่อนนะ นี่เราจับได้ทั้งนั้น ถ้าพูดธรรมะหลวงปู่มั่นกับเราไม่เคยมีการอ่อนเลย ผางทันทีเลย เพราะรู้นิสัยมันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นมาตลอด นี่ท่านบอกว่านั่นละมันหลงสังขาร สังขารคือสังขารอันนี้เป็นสังขารฝ่ายมรรคเป็นพอดิบพอดี เป็นสังขารฝ่ายมรรคแก้กิเลส ๆ ถ้ามันเลยความพอดีนี้สังขารฝ่ายสมุทัยเข้าแทรกเข้าใจไหม มันเป็นสังขารฝ่ายสมุทัยเป็นกิเลสไปได้ถ้าไม่รู้จักประมาณ ต้องรู้จักประมาณมีการยับยั้ง ท่านจึงบอกว่านี่ละมันหลงสังขาร เราก็ตอบขึ้นทันทีถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้ เราก็ว่าอย่างนี้

นั่นละ บ้าหลงสังขาร ท่านเอาใหญ่นะ นี่ละบ้าหลงสังขาร บ้าไม่รู้จักหนักจักเบา ท่านพูดเท่านั้นละ ท่านบอกว่าบ้าหลงสังขารนะ เห็นไหมท่านพูดกับเรา คำว่าบ้าหลงสังขารท่านทั้งหลายว่าหยาบเหรอ นั่นละท่านพูดธรรมะท่านเด็ดที่สุดให้มันถึงใจเรา ความหมายว่าอย่างนั้น โลกกิเลสฟังนี้ว่า โอ๊ย.ท่านดุอย่างนั้นดุอย่างนี้ พวกบ้ามันเป็นอย่างนั้น มันฟังไม่ได้นะ ระหว่างธรรมกับธรรมฟังกันแล้ว กับกิเลสแทรกเข้ามามันรู้ทันทีเลย ปัดออกทันทีเลย นั่นละคำพูดสำนวนอย่างนี้เป็นคำพูดสำนวนที่เด็ด จะเอากิเลสให้ขาดสะบั้นเลย ให้ถึงใจผู้ฟัง นั่นละมันหลงสังขาร ทางนี้ก็ตอบ ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้เราว่าอย่างนี้นะ นั่นละบ้าหลงสังขาร ๆ ไม่รู้จักหนักจักเบา นั่นเห็นไหม ทางนี้สะดุดกึ๊กนะ ไม่รู้จักหนักจักเบา

นั่นเห็นไหมเอาจุดนั้นละเรา ไม่รู้จักหนักจักเบา คือการจะพักผ่อนหย่อนตัวเวลาจะหลับจะนอนหรือเข้าสู่สมาธิมันก็ต้องมีธรรมดา ถึงจะได้การได้งานจากการทำงานขนาดไหน ร่างกายมันอ่อนเพลียได้ ถึงเวลาพักต้องพัก เช่น พักผ่อนนอนหลับ หรือรับประทานอาหารให้กำลังวังชาของเรามีขึ้นภายในกาย ถึงจะเสียเวลาบ้างก็ตาม สิ้นเปลืองไปด้วยวัตถุที่นำมาเยียวยาธาตุขันธ์ก็ตาม แต่เหล่านี้ที่เสียไปเพื่อจะได้กำลังข้างหน้าเข้าใจไหมล่ะ นั่นละถึงบอกว่า บ้าหลงสังขารไม่รู้จักหนักเบา

นี่ละหลวงปู่มั่นท่านว่าให้เรา ท่านรั้ง พอท่านรั้งมันก็รู้ เวลามันจะตายมันก็เข้าละ มันจะตายจริง ๆ มันเข้าสู่สมาธิ เข้าสู่สมาธินี้มันหมุนติ้วๆ มันจะออกตลอดนะ สมาธิเป็นเหมือนมูตรเหมือนคูถไปอย่างนั้นนะ แต่ก่อนชมเชยที่สุดเรื่องสมาธิว่าเยี่ยม นิพพานอยู่ที่นี่ ๆ จ้อตรงนั้นนะ บทเวลาออกทางด้านปัญญามันกระจายนี้เห็นสมาธิเป็นกองมูตรกองคูถไป มันไม่อยากอยู่ มันไม่ได้ผล ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส สมาธิไม่ได้ฆ่ากิเลส แต่สมาธิเป็นพลังเพื่อหนุนกิเลสมันไม่คิดละซิ หนุนฆ่ากิเลสเข้าใจไหม มันก็มีแต่จะฆ่ากิเลสถ่ายเดียว

เวลามันผ่านไปมันก็รู้ ทีนี้ก็รั้งเข้ามา ๆ ให้เข้าสู่สมาธิ คือจิตให้พัก หยุดจากการต่อยพูดง่าย ๆ ให้น้ำความหมายว่าอย่างนั้น ให้น้ำพัก พักมันก็ไม่ยอมมันจะออก บังคับเอาเลย เช่น สมาธินี้ต้องได้ใช้คำบริกรรม เหมือนเราไม่เคยมีสมาธิทั้ง ๆ ที่สมาธิเรานี้เต็มภูมิแล้วนะ แต่เวลามันเพลินกับปัญญาประหนึ่งว่าสมาธินี้ไม่มี มันไม่สนใจ ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส มันไปเอานู้นนะ

ทีนี้เวลารั้งเข้ามามันจะไม่อยู่ มันจะพุ่งออกไปหางานแก้กิเลส ก็บังคับไว้ ๆ สุดท้ายก็เอาพุทโธนั่นแหละเรา เอา พุทโธ ๆ บังคับใจมาแต่ต้นนั่นแหละ ทีนี้เอาพุทโธถี่ยิบเลยนะ สติมันไม่เผลอ เรื่องเผลอไม่เผลอแหละ แต่พอเบานี้สักหน่อยมันจะพุ่งออกโน้น เพราะฉะนั้นจึงรั้งเอาไว้ให้มีสติจ่ออยู่กับนี้ ไม่ให้มันออกไปทางโน้น บังคับเอาไว้ พุทโธ ๆ ถี่ยิบลง เดี๋ยวจิตก็แน่วพุ่ง นิ่งหมดเลย สงบแน่ว ทีนี้ใจของเราเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะ ที่เป็นความทุกข์ทรมานมากมายทั้งหลายจากการพิจารณาทางด้านปัญญานะ มันจะสงบตัวเข้ามาสู่จุดสมาธิ พอจิตเข้าสู่สมาธิแล้วแน่วเลยเชียว บังคับไว้นะนั่น มันยังไม่มีกำลังมากยิ่งกว่าทางด้านปัญญา ต้องบังคับ พอปล่อยผึงเลยนะ ทีนี้มันไม่ได้กำลังพอ เพราะฉะนั้นจึงต้องบังคับให้ได้กำลังพอเสียก่อน บังคับไว้นั้น จนกระทั่งทางนี้มีความผาสุกเย็นใจกระปรี้กระเปร่าโล่งไปหมด เบาหวิวเลย นี่พลังของสมาธิเห็นไหมล่ะ

ทีนี้พอได้กำลังเต็มที่ทางด้านสมาธิก็ถอย พอถอยก็ผึงออกเลย ทีนี้เอาละมีดเล่มนี้แหละ มันลับหินแล้วนี่ ฟันลงขาดสะบั้น ๆ เราผู้ฟันนี้เราก็มีกำลังแล้ว มีดเราก็ลับหินแล้วฟาดลงไปนี้ขาดสะบั้น ๆ กิเลสตัวเดียวกันปัญญาประเภทเดียวกัน แต่ก่อนฟันไม่ทราบเอาสันลงเอาคมลงนะ คราวนี้มีแต่คมทั้งนั้นลงเปรี้ยง ๆ ขาดสะบั้น ๆ นี่ละผลแห่งการพักสมาธิแล้วออกไปทำงานทางด้านปัญญา เมื่อสมาธิมีกำลังแล้วมีผลอย่างนี้ ให้พากันจำเอาทุกคนนะ เราผ่านมาพอแล้วจึงได้พูดอย่างไม่สงสัยว่าจะผิดไป นี่ละสมาธิ ถึงคราวเข้าสมาธิ มันอ่อนมากเข้าไปแล้วบังคับเข้าสู่สมาธิ ได้ไม่ได้ช่างงาน ขอให้ได้ความสงบพอ ความสงบนี้แลจะเป็นพลังหนุนปัญญาออกคราวหลังมันจะแกล้วกล้าสามารถนะ พุ่ง ๆ เลย นี่การพิจารณาทางด้านปัญญา

นี่เราพูดมาตั้งแต่เบื้องต้นที่ว่า ความเพียรกล้าหรือฝ่าเท้าแตก ฝ่าเท้าแตกแตกอย่างนี้ละ แตกเป็นที่ยอมรับกันเลยในวงปฏิบัติ ในธรรมขั้นเยี่ยมยอมรับกันทันที ไม่ต้องถามกันเลย มันหากรู้เอง เรื่องที่จะบังคับให้ความพากความเพียรจนกระทั่งถึงฝ่าเท้าแตก เราจึงพูดย่อม ๆ แบ่งให้ว่าเราไม่อยากเชื่อเราว่าอย่างนั้น ถ้าว่าความเพียรแบบอัตโนมัตินี้แล้วยอมให้เลย ถ้าธรรมดาเราไม่อยากเชื่อหรือเราไม่เชื่อว่าอย่างนั้นนะ พอก้าวอันนี้แล้วไม่ต้องบอกเชื่อเลยทันที รั้งทั้งนั้นละนะ ต้องรั้ง

ทีแรกว่าความเพียรกล้า คือกล้าต่อพระนิพพานจะให้ถึง อันนั้นเรียกว่าความเพียรกล้าได้ แต่ในระยะนี้มันจะถูไถของมันไป โอ๋ย.ไม่มี มีแต่รั้งเอาไว้ทั้งนั้น นี่ความเพียร นี่รู้ไหมว่าธรรมะเมื่อมีกำลังแล้วเป็นอย่างนี้ เหมือนกับกิเลสมีกำลังของโลกทั่ว ๆ ไป มีแต่กิเลสมีกำลัง กิเลสเป็นอัตโนมัติผูกมัดสัตว์โลก ให้คิดให้ปรุงให้แต่งให้ดิ้นรนกระวนกระวาย กวัดแกว่งตลอดเวลา มีแต่กิเลสหนุนออกให้ทำงานด้วยอัตโนมัติเข้าใจไหม เราไม่รู้นะว่ากิเลสทำงานบนหัวใจเรา บีบบี้สีไฟหัวใจเราเป็นอัตโนมัติของมันไม่รู้ต่อเมื่ออันนี้มันขึ้นผ่านมาแล้ว แล้วผ่านไปเลยแล้วมันถึงรู้ชัดเจน นี่ละกิเลสทำงานเป็นอัตโนมัติในหัวใจของสัตว์มีทุกตัวสัตว์ เป็นอัตโนมัติของมัน อะไรถ้าได้เห็นได้ยินได้ฟังกิเลสจะทำงาน ๆ ไปก่อนเลย นี้เรียกว่ากิเลสมันทำงานอัตโนมัติของมัน

ทีนี้เมื่อความเพียรของเราตั้งแต่ขั้นถูไถขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งขั้นที่ก้าวขึ้นมาเป็นอัตโนมัตินะ ทีนี้เมื่อเป็นอัตโนมัติแล้วจะทราบว่าแก้กิเลสแก้โดยอัตโนมัติอย่างนี้ๆ แก่กล้าสามารถรวดเร็วคล่องแคล่วไปโดยลำดับ จนกระทั่งที่ว่ากิเลสไม่ขาดเมื่อไรถอยไม่ได้เลย นี่เรียกว่าธรรมมีกำลังแล้วทำงานแก้กิเลสโดยอัตโนมัติ เหมือนกันเลยนะ ทีแรกกิเลสมันทำงานอัตโนมัติของมันบนหัวใจของสัตว์ฉันใด เวลาธรรมมีกำลังแล้วแก้กิเลสเป็นอัตโนมัติบนหัวใจของสัตว์เช่นเดียวกัน ขาดสะบั้นไปหมดแล้วหยุดเอง อย่างที่ว่าความเพียรที่ฝ่าเท้าแตกไม่ต้องบอกหยุดเอง หากหยุดเอง

ความเพียรหรือมหาสติมหาปัญญานี้เป็นมรรคนะ ไม่ใช่ความบริสุทธิ์นะ สติปัญญาอัตโนมัติ มหาสติมหาปัญญานี่ แกล้วกล้าสามารถขนาดไหนก็ตาม เป็นเรื่องของมรรคที่หยาบกลางละเอียดไปโดยลำดับเช่นเดียวกัน ไม่จัดว่าเป็นความสุดยอดได้ยังไง ทีนี้เมื่อเวลากิเลสมันขาดสะบั้นไปหมดแล้ว มหาสติ มหาปัญญา นี้จะสงบตัวลงเองโดยไม่ต้องบังคับ หายหน้าไปไหนหมดไม่รู้ ก็ทำงานเสร็จสิ้นแล้ว พวกสิ่วพวกขวานพวกมีดพวกอะไร ที่ถือทำงานมันก็ทิ้งเอง งานเสร็จแล้วไปถือไว้ทำไมเข้าใจไหม อันนี้งานของกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วถือไว้หาอะไรความเพียร มันก็แบบเดียวกันนั้นแหละเป็นเอง

นี่ละท่านทั้งหลายจำเอาไว้ เรื่อบาป บุญ มรรคผลนิพพานสด ๆ ร้อน ๆ เหมือนกันหมดในหัวใจของสัตว์ ขอแต่ให้เราดีดเราดิ้นนะ เราอย่าปล่อยตามกิเลสเป็นอันขาดเราจะจมไปตลอดนะ ต้องฝึกต้องฝืนต้องบึกต้องบึนไม่บึกบึนไม่ได้นะ ผู้ที่จะเป็นนักปราชญ์จอมปราชญ์พ้นจากทุกข์มีแต่พวกบึกบึนทั้งนั้น ไม่ใช่แบบที่สุกเอาเผากิน นอนไม่รู้จักตื่นนะ ไม่ใช่อย่างนี้นะ ต้องบึกต้องบึนอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา สุดท้ายมันก็คล่องตัวมันเอง ทุกอย่างถ้าได้รับการฝึกฝนแล้วคล่องตัวไปโดยลำดับ ไม่ว่ากิเลสไม่ว่าธรรม กิเลสถ้าฝึกฝนหรือถ้าวิ่งตามมันตลอดเวลาแล้วมันก็คล่องตัว อะไรเป็นกิเลสอะไรเป็นความชั่ว เช่น คนเคยฉกเคยลักเคยปล้นสะดมวันหนึ่ง ๆ ไม่ได้ทำไม่ได้ขโมยอยู่ไม่ได้นะ มันปวดหัวมันจะตาย ถ้าได้ทำแล้วสบายเข้าใจไหม นั่น เข้าใจแล้วเหรอที่นี่ วันนี้พูดเรื่องอะไรก็ไม่ทราบ มันมาถึงนี้ก่อน ที่ถามก็เลยไม่ได้เรื่อง ตอบไปแล้วนี่นะ เราตอบไปหมดแล้ว

โยม  ความเพียรกล้าครับ

หลวงตา  เออ ก็ตอบไปหมดแล้วนะนี่ เข้าใจแล้วยังเหล่านี้น่ะ ก็ครอบไปหมดแล้วนี่ ๆ นี่ละความเพียรกล้าหรือเรียกว่าธรรมเป็นอัตโนมัติ ธรรมมีกำลังแล้วแก้กิเลสเป็นอัตโนมัติเหมือนกัน จนกระทั่งกิเลสสิ้นซากไม่มีเหลือเลย เช่นเดียวกันไม่ผิดกันละ อัตโนมัติเป็นได้ทั้งกิเลสเป็นได้ทั้งธรรม กิเลสผูกมัดสัตว์โลกเป็นอัตโนมัติ ทีนี้ธรรมแก้กิเลสให้ขาดสะบั้นลงจากใจเป็นอัตโนมัติเหมือนกันเลย ให้ทราบว่ามีเท่ากันคนละฝั่งอย่างนี้เหมือนกัน เอาละที่นี่พอ

โยม  หลวงตาเจ้าขา ถามอีกข้อหนึ่งนะเจ้าค่ะ เมื่อกี้หลวงตาเทศน์มหาสติ มหาปัญญา แต่มันมีคลื่นแล้วหลวงตาก็เลยไม่ต่อ หลวงตาบอกว่าเอาไว้วันหลัง

หลวงตา คลื่นก็คลื่นเหมือนยิบ ๆ ของสติปัญญาที่คล่องตัวนั่นเอง เข้าใจไหม เมื่อก้าวเข้าสู่มหาสติปัญญาแล้วมันลากไปเลย มันเชื่อมถึงกันหมดเลยไม่มียิบแย็บ ๆ เลย มันเชื่อมถึงกันไปเลย ละเอียดขนาดนั้นความหมายว่าอย่างนั้น

เมื่อวานนี้ได้ ๑๑ บาทนะทองคำ เมื่อวานนี้ท่านบุญมีได้ทองคำมา ๑ กิโลกับ ๑๐ บาท ก็เท่ากับว่า ๑ กิโลกับ ๒๐ บาทละนะ ทองคำที่ได้หลังจากมอบเข้าคลังหลวงแล้วเมื่อวันที่ ๑๐ นั้นได้ทองคำ ๕๐๕ กิโล ส่วนดอลลาร์ได้ ๑๔๙,๑๔๓ ดอลล์ เรียกว่ายังอีกตั้งครึ่งกว่าจะเต็ม นี่เราได้ ๑ แสน ๕ หมื่นก็แสดงว่ายังขาดอีก ๑ แสนห้า รวมแล้วเป็น ๓ แสนใช่ไหม อันนี้เพียง ๑๔๙,๐๐๐ เรียกว่ายังขาดมากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ เข้าใจ

โยม  วันนี้ก็ครบแล้วนะเจ้าค่ะ ก็ได้ ๑๕๐,๐๐๐ แล้วเจ้าค่ะ ก็เกินแล้วค่ะ

หลวงตา  ก็ต้องเกินซิ จะถอยหลังไม่ได้นี่ มันต้องเกินซิ เอ้า นี้ต่อไปเราวันนั้นให้ได้ ๓ แสนขาดไม่ได้ ปักแล้วนะ ๕๐๐ กิโลก็ปักแล้วนี่ได้แล้ว ยังอีก ๓ แสนให้ติดกันไปให้ได้ ๓ แสน เรียกว่าทองคำ ๕๐๐ กิโลกับเงินดอลลาร์ ๓ แสนดอลล์คราวนี้ให้ได้เช่นเดียวกับคราวที่แล้ว คราวที่แล้วก็ได้ ๕๐๐ กับ ๓ แสนเหมือนกันนะ คราวนี้ก็ให้ได้ ดอลลาร์ที่ได้แล้ว ๑๔๙,๑๔๓ ดอลล์ ยังขาดอยู่อีก ๑๕๐,๘๕๗ ดอลล์ จะครบจำนวน ๓ แสน เขาก็บอกไว้แล้วนี่นะ

รวมทองคำทั้งหมด ที่มอบแล้วและยังไม่ได้มอบเป็นทองคำ ๖,๐๖๔ กิโลครึ่ง หรือ ๖ ตันกับ ๖๔ กิโลครึ่ง รวมดอลลาร์ที่ได้แล้วทั้งหมด ที่มอบแล้วและยังไม่ได้มอบเป็นจำนวนดอลลาร์ ๗,๓๔๙,๑๔๓ ดอลล์ นี่ที่เราได้แล้วทั้งหมดนะ พากันเข้าใจตามนี้นะ จะเอาให้ได้ ให้ได้เป็นจุด ๆ เลยทุกจุด เอาจุดไหนให้ได้จุดนั้น ๆ จะไม่เสียศักดิ์ศรีดีงามของคนไทยทั้งชาติ ซึ่งช่วยตัวเองเต็มกำลังความสามารถด้วยกันทุกคน ถ้าไม่ได้ถึงนั้นเสียนะ หลวงตานี้จะเสียมากกว่าเพื่อน เป็นผู้นำไม่เป็นท่าพาลูกน้องล้มเหลวไม่ได้จุดที่หมาย ซึ่งไม่ได้เกินกว่ากำลังของเราที่จะช่วยได้นี่นะ แต่ขาดไปได้อย่างนี้อย่าให้มีนะ ให้ฟังเสียงหัวหน้าก็แล้วกัน นี้ก่อนที่จะออกมาแต่ละอย่าง เราจะพิจารณาเต็มเหนี่ยว ๆ เสียก่อน พอพิจารณาเต็มเหนี่ยวแล้วออก เอ้า พอนี้อะไรผ่านไม่ได้นะ พอทางนี้ได้พิจารณาเต็มเหนี่ยวออกแล้วอะไรผ่านไม่ได้ขาดสะบั้นเลย ถอยไม่มี ๆ ถ้ายังไม่เต็มเหนี่ยวยังไม่ออก พิจารณาเสียก่อน ทบทวนพิจารณา พอแน่แล้วปั๊บก็พุ่งเลยละ อย่างที่เคยพาพี่น้องทั้งหลายปฏิบัติเรื่อยมาอย่างนี้ก็แบบเดียวกัน อันนี้เราก็เอาเป็นระยะ ๆ อย่างนี้ละนะ เออ เอาละทีนี้ให้พร

 

ชมการถ่ายทอดสด ธรรมะหลวงตาวันต่อวัน ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก