การอยู่กับครูอาจารย์
วันที่ 2 กันยายน 2505 เวลา 19:00 น. ความยาว 48.49 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๕

การอยู่กับครูอาจารย์

 

ท่านนักปฏิบัติผู้หวังความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนและวงพระศาสนาทั้งหลาย โปรดทำความเข้าใจในตัวเองแต่บัดนี้เป็นต้นไป คือพยายามตั้งหลักให้ถูกต้องและมั่นคงแต่ต้นมือ นับแต่วันแรกที่เราก้าวเข้ามาศึกษาและปฏิบัติกับครูอาจารย์ เพราะผู้ที่จะได้กำลังทางใจจะต้องได้ในเวลามาอาศัยอยู่กับท่าน และออกแสวงหาที่วิเวกตามบริเวณใกล้เคียงท่านตามโอกาสอำนวย  แล้วกลับเข้ามาหาครูอาจารย์เพื่อการศึกษาและแก้ไขข้อข้องใจ พอได้อุบายแล้วก็ปลีกตัวออกหาที่สงัดวิเวก ถ้าเกิดข้อข้องใจในธรรมขึ้นมาก็รีบเข้าไปศึกษากับท่านอีก มีการเข้าออกอยู่ทำนองนี้ ย่อมได้อุบายขึ้นโดยลำดับ แต่การจากครูอาจารย์ไปทั้ง ๆ ที่ใจยังไม่มีความแน่นอนทั้งทางด้านสมาธิ และด้านปัญญา ย่อมไม่สมควร ทั้งไม่อาจจะนำตนให้ถึงความปลอดภัยได้

อนึ่ง การมารับคำอบรมสั่งสอนและศึกษาจากท่าน พึงเป็นผู้มีสติปัญญา คอยสำเหนียกศึกษาเสมอ ทั้งทางตาก็ควรสอดส่อง มองดูอากัปกิริยาความเคลื่อนไหวของท่าน และหมู่คณะด้วยความสนใจจริง ๆ ทางหูก็ต้องพยายามศึกษาเพื่อความเข้าใจจากท่านและหมู่คณะ ซึ่งพอจะเป็นคติแก่ใจได้ มีความพยายามฝักใฝ่อยู่เช่นนี้ชื่อว่าผู้มาศึกษาด้วยดี จะได้สติปัญญาเป็นสมบัติประดับใจต่อไป แม้อาจารย์หรือหมู่คณะที่ตนถือว่าเป็นที่เคารพได้จากไป หรือตนได้จากท่านไปแล้ว คุณธรรมที่ได้รับจากท่านมาจนเพียงพอภายในใจนี้แล จะเป็นอาจารย์แทนท่านแนบสนิทอยู่กับใจ

ขณะที่เรากำลังศึกษาอยู่กับท่าน กิจการงานก็ไม่ค่อยมีมากพอจะให้เกิดความกังวล นอกจากจะพยายามอบรมตนถ่ายเดียวเท่านั้น โดยมากที่เกิดความรู้สึกเป็นลุ่ม ๆ ดอน ๆ และมีข้อปฏิบัติไม่ค่อยสม่ำเสมอเหมือนครูอาจารย์ ตามปฏิปทาของท่านที่พาดำเนินมา เนื่องจากเวลามาพักอยู่กับท่านไม่มีความสนใจอย่างจริงจัง เบื้องต้นก็รู้สึกว่าตั้งใจมาศึกษา ครั้นต่อ ๆ มาเพราะอำนาจกิเลสที่เคยเป็นเจ้าครองใจ คือความเกียจคร้านได้สำแดงเดชขึ้น ความตั้งใจนั้นก็ค่อยเอนเอียงและล้มเหลวไปโดยไม่รู้สึกตัว แล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนความรู้สึกขึ้นมาใหม่ทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นความเห็นไปว่า มาอยู่กับท่านพอได้ชื่อได้นาม แล้วก็เอาชื่อของอาจารย์ไปเป็นโล่บังหน้าเพื่อความสะดวกส่วนตัว เช่นนี้ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะทำหมู่เพื่อนและครูอาจารย์ให้เสียหายไปด้วยเท่านั้น

ฉะนั้นขอให้เราทั้งหลายได้โปรดทำความรู้สึกกับเรื่องเช่นนี้ไว้เสมอ เพราะการมุ่งศึกษา และปฏิบัติจริง ๆ ท่านพูดอะไรหรือเราเห็นกิริยามารยาทส่วนใดที่ท่านแสดงออกมา ต้องน้อมเข้าถึงใจยึดไว้เป็นหลักฐานทันที ไม่ยอมให้ผ่านไปเปล่า และเราไม่ต้องไปสนใจในคำพูดเสียงหนักเบา ซึ่งเป็นเพียงกระแสเสียงเท่านั้น ควรสังเกตเหตุผลจากคำพูดเป็นของสำคัญ คำพูดที่ท่านพูดออกมาทุกๆ คำนั้น มีเหตุผลพอที่ผู้มาศึกษาจะได้รับประโยชน์อย่างไรหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลแล้วแสดงว่าคำพูดนั้นเต็มไปด้วยธรรม ควรยึดมาเป็นคติทันที ความดังของเสียงไม่เป็นของสำคัญอะไร เพราะฟ้าร้องบนอากาศยังมีเสียงดังมากยิ่งกว่าเสียงครูอาจารย์เป็นไหน ๆ แต่สิ่งที่เราได้รับคือฝนที่ตกลงมา นำความเย็นให้แก่มนุษย์ สัตว์ ตลอดจนต้นไม้ใบหญ้าทั่วดินแดน

เรื่องของครูอาจารย์ท่านต้องมีความฉลาดในอุบายต่าง ๆ ที่จะนำมาสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์แต่ละรายโดยไม่ให้ซ้ำกัน เพราะนิสัยของผู้มาศึกษามีจำนวนมากและต่าง ๆ กัน ถ้าท่านจะวางกิริยามารยาทและคำพูดจาเป็นแบบเดียวแล้วไซร้ ผู้มาศึกษาด้วยความตั้งใจเพื่อรับประโยชน์จากท่านอย่างจริงจังแล้ว ย่อมจะไม่ได้ความฉลาดเท่าที่ควร ถ้าหากครูอาจารย์ไม่มีความฉลาด สามารถจะแนะนำบรรดาศิษย์ทั้งหลายให้ตรงกับจริตนิสัยของศิษย์นั้น ๆ ก็เปรียบเหมือนนายแพทย์ผู้ไม่ฉลาด ย่อมไม่สามารถจะยังโรคที่มีอาการต่าง ๆ ให้หายได้ด้วยยา เพียงแต่ทราบว่าโรคเท่านั้น แต่ไม่ทราบว่าเป็นโรคประเภทใด

เพราะโรคที่เกิดกับสัตว์และบุคคลมีจำนวนมากมาย จนไม่สามารถที่จะนับอ่านได้ ยาจึงต้องมีหลายขนาน สำหรับนายแพทย์ผู้ฉลาดที่จะนำไปรักษาโรคนั้น ๆ แต่ถ้าไม่ว่าใครเป็นโรคอะไรมาหาแพทย์ แพทย์ก็นำยาขนานเดียวเท่านั้นมารักษา แล้วยาจะทันและถูกกับโรคได้อย่างไร ถ้าเป็นโรคที่ควรรับยานั้นอยู่บ้าง ยาก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเป็นโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับยาขนานนั้นแล้ว ยานั้นก็ไม่ผิดอะไรกับน้ำหรือวัตถุธรรมดา ถ้าเป็นนายแพทย์ผู้ฉลาด เมื่อคนไข้เข้าไปหาต้องถามว่าท่านมีอาการอย่างไร ตลอดจนความเป็นมาของโรคว่าเป็นอย่างไร ต้องถามและตรวจให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมไม่ต้องถามชื่อโรคจากคนไข้ เพราะเรื่องชื่อนามของโรคไม่เป็นของสำคัญเท่ากับอาการของโรค ว่าเป็นอย่างไร ไม่สบายตรงไหน แพทย์ย่อมทราบได้และให้การรักษาที่ถูกต้องจนหายได้

นี่เป็นลักษณะของแพทย์ผู้ฉลาด ต้องถามอาการโรคและตรวจให้แน่นอนแล้วก็นำยามารักษาให้ถูกต้องกับโรคนั้น ๆ เมื่อโรคถูกกับยา อาการก็จะทุเลาลงหรือหายไปได้ เพราะฉะนั้นผู้จะทำการรักษาคนไข้ต้องเรียนและมีความรู้ชำนาญทางการแพทย์มาก่อน ดีกว่าการตั้งตัวเป็นหมอก่อนเรียนวิชาแพทย์ คนไข้ที่มารับการรักษาจะไม่ผิดหวัง ทั้งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมือง ถ้าเป็นหมอเถื่อนจะไม่สามารถรักษาคนไข้ให้หายได้ ถึงจะตั้งตัวเป็นหมอก็ไม่ผิดแปลกจากคนธรรมดา และจะเป็นอันตรายต่อคนไข้จำนวนมากด้วย

เรื่องของครูอาจารย์ก็ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกับนายแพทย์ผู้ฉลาด ถ้าไม่มีความสามารถปฏิบัติต่อบรรดาผู้มาศึกษา แม้ใครมาหาก็วางมารยาทอันเดียว คำพูดชนิดเดียวกันหมด ตลอดจนธรรมะที่จะนำมาสั่งสอนแก่ผู้ศึกษาก็ยกขึ้นบทเดียว บาทเดียว คาถาเดียว วันไหนก็ยกขึ้นบทนั้น บาทนั้น คาถานั้น แปลว่าอย่างนั้น ใครจะมาศึกษาปรารภเรื่องอะไรก็ไม่สนใจ ใครจะมีความรู้สูงต่ำขนาดไหน ใครจะอยู่ในขั้นสมาธิ หรือปัญญาอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด ตามขั้นของสมาธิ และขั้นของปัญญาก็ตาม อาจารย์ไม่เคยสนใจ สอนแต่บทเดียว บาทเดียว คาถาเดียวเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้จะไม่อาจนำบรรดาศิษย์ให้ได้ประโยชน์ สมเจตนาที่ได้อุตส่าห์พยายามมาพึ่งพิงอาศัยกับอาจารย์องค์นั้น ๆ

แต่ถ้าอาจารย์เป็นผู้ฉลาดแล้ว ต้องทราบทั้งภูมิความรู้ ทั้งอัธยาศัยของบรรดาผู้มาศึกษา ว่ามีความรู้และนิสัยหนักเบาในแง่ไหน ตลอดถึงธรรมะจะต้องมีการศึกษาปรารภและสนทนาซึ่งกันและกัน แม้จะไม่ทราบด้วยญาณก็ต้องทราบด้วยวิธีสนทนา ว่ามีความรู้สูงต่ำแค่ไหนในทางด้านจิตใจ และต้องปฏิบัติให้ถูกจริตนิสัยของผู้มาศึกษานั้น ๆ ว่าผู้นี้ต้องปฏิบัติด้วยอย่างนี้ ผู้นั้นต้องใช้กิริยาต้อนรับอย่างนั้น ตามความรู้ความฉลาดของผู้มาศึกษาซึ่งไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องของอาจารย์ผู้ฉลาดเข้าใจในอรรถธรรม รู้ความตื้นลึกแห่งธรรมมาแล้ว ควรจะเป็นอย่างนั้นเป็นส่วนมาก แต่ถ้าผู้มาศึกษาไม่ได้พินิจพิจารณา พอเห็นกิริยาคำพูดจาของท่าน สูงบ้างต่ำบ้าง ค่อยบ้าง แรงบ้าง เลยมายึดเอาเสียงนี้เป็นตัวกิเลสตัณหา และถือว่าเป็นข้าศึกต่อตนเอง มิหนำยังเห็นว่าครูอาจารย์เป็นเสือร้ายตัวหนึ่ง ซึ่งจะฉีกกัดเราไปเสีย แล้วก็ปลีกหนีไปด้วยความเขลาของตน

ที่ถูกควรคิดดูให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน แม้แต่นายแพทย์ฉีดยาเข็มแทงเรายังรู้สึกเจ็บปวดแสบร้อน ตามฤทธิ์ของยาและเข็มซึ่งมีพิษต่าง ๆ กัน โดยบางรายอาจต้องถึงผ่าตัด โรคบางรายเพียงรับประทานยาก็หาย โรคบางรายอาจต้องทั้งฉีดยา และผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก ตามวิธีการของนายแพทย์ที่เห็นสมควร เพื่อยังโรคให้หาย โรคที่ควรรับประทานยาก็มี ที่ต้องฉีดยาก็มี ที่ต้องผ่าตัดก็มี มากน้อยก็ต้องทำไปตามความหนักเบาของโรค โรคเป็นที่อยู่ตรงไหนควรทำอย่างไร นายแพทย์ต้องทราบโดยตลอด ไม่เช่นนั้นจะรักษาคนไข้ไปไม่ได้

เราไปสังเกตดูตามโรงพยาบาลและสถานคลินิกต่าง ๆ ก็พอจะทราบได้ว่าวิธีการของแพทย์นั้นไม่เหมือนกัน คือปฏิบัติต่อคนไข้รายหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง อีกรายหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง ตลอดมารยาทอัธยาศัยอันดีงามซึ่งเป็นโอสถขนานหนึ่ง ที่หมอไม่ควรมองข้ามไปเสียโดยเห็นว่าไม่สำคัญ เพราะคนไข้มีหลายประเภท และมีนิสัยต่าง ๆ กัน แต่ให้ชื่อว่าคนไข้อย่างเดียวกัน นายแพทย์ผู้สามารถจะรักษาโรคให้หายนั้น ต้องเป็นผู้ฉลาดทันกับโรค และนิสัยของคนไข้ที่มารับการรักษาเป็นราย ๆ ไป

ธรรมนั้นก็ต้องมีหนักบ้าง เบาบ้าง ค่อยบ้าง แรงบ้าง สูงบ้าง ต่ำบ้าง ตามจริตนิสัยความโง่ ความฉลาดของผู้มาศึกษาจะรับเอา แต่จะเป็นธรรมประเภทใด พึงทราบว่าเป็นยาแก้โรคหัวใจ คือแก้โรคกิเลสอาสวะให้เบาบางและหายสนิท จนเป็นจิตที่บริสุทธิ์ พุทธะขึ้นมาทั้งดวง

หน้าที่ของครูอาจารย์ที่จะแนะนำศิษย์ที่มาศึกษากับท่าน ถ้าเป็นอาจารย์ผู้สามารถ จะนำพระศาสนาและบรรดาศิษย์ให้เจริญรุ่งเรืองได้แล้วไซร้ ต้องเป็นไปตามแนวทางอันเดียวกันกับวิธีการของนายแพทย์ผู้รักษาคนไข้ ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ทั้งนี้ล้วนแต่เกิดจากอุบายคือ ความฉลาดของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นหมอเอกรักษาโรคภายในของบรรดาสัตว์ให้หายได้ กลายเป็นพลเมืองดีเป็นจำนวนมาก ผู้ใดนำเอาธรรมของพระองค์ไปปฏิบัติ ด้วยความเชื่อความเลื่อมใสตามกำลังและฐานะของตน แม้จะอยู่ในฆราวาสก็พอเป็นพอไป มีสมบัติพอใช้ไม่ขาดแคลน

พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนให้เกียจคร้าน ทั้งนักบวชและฆราวาสที่จะทำให้ผู้ถือพระพุทธศาสนาอดอยากขาดแคลน ในเครื่องอุปโภคบริโภค ดำเนินการครองชีพไม่ทันเขา เช่น ผู้แสวงหารายได้ไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือนักบวชทำตนให้ขาดความเลื่อมใสของปวงชน ไม่ใช่เป็นเพราะพระพุทธศาสนาสอนให้เป็นเช่นนั้น แต่เป็นเพราะนิสัยของผู้ปฏิบัติที่ชอบทำตัวให้เป็นเช่นนั้นต่างหาก ถ้าผู้สนใจในพระโอวาทแล้วอย่างน้อยต้องมีความร่มเย็นในตนและครอบครัว อยู่ที่ไหน ไปที่ใดย่อมเป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวม ไม่เป็นที่รังเกียจแก่หมู่เพื่อนและสังคมทั่วไป ทั้งเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ไม่มีใครระแวงสงสัย เพราะมีธรรมในใจ เช่นเดียวกับผู้มีเครื่องดื่ม เครื่องรับประทานไว้คอยต้อนรับแก่คนหิวกระหายที่เข้ามาอาศัยฉะนั้น   เพราะฉะนั้น ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์จึงเป็นเช่นเดียวกับตัวยาที่นายแพทย์นำมารักษาคนไข้ชนิดต่าง ๆ กัน

โรคหัวใจคือโรคกิเลสของคนและสัตว์มีมากมาย เทียบกับคำว่าคนไข้คำเดียว เมื่อแยกประเภทของโรคจากคำว่าคนไข้แล้วก็มีไม่รู้กี่ร้อยกี่พันโรค คำว่า โรคใจ หมายถึงโรคกิเลสเครื่องบีบบังคับใจ ก็แยกประเภทต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน ธรรมของพระพุทธเจ้าจะมีเพียงบทเดียวบาทเดียวอย่างไร ก็ไม่ทันกับโรคกิเลสอาสวะที่เป็นไปอยู่อย่างแน่นหนาภายในใจของสัตว์ ที่เรียกว่า โรคมืดภายในใจ ซึ่งควรให้นามว่าโรคมืดแปดทิศแปดด้านทั้งท่านและเรา ได้แก่โรคกิเลสตัณหา เพราะเวลาโรคประเภทนี้ได้เข้าสิงหัวใจแล้วมันมืดไปหมด สามารถฆ่าได้ทั้งคนและสัตว์ไม่เลือกหน้าว่าเป็นใคร แม้มารดาบิดาผู้บังเกิดเกล้าเลี้ยงมาแต่กำเนิดก็สามารถฆ่าได้ และฆ่าวันละหลาย ๆ ศพ เพราะฤทธิ์ของโรค แล้วแต่ความดันของโรคกิเลสมันสูงมากน้อยเพียงใด

เมื่อความดันของโรคมันสูงขึ้นมากก็ทำความชั่วได้มาก จะทำได้วันยังค่ำคืนยังรุ่ง ไม่มีความอิดหนาระอาใจต่อการทำความชั่ว เพราะความดันของโรคมันสูงสุดขีด ปรอทไม่สามารถจะวัดได้ จนนายแพทย์ทุกคนต้องยอมจำนนต่อโรคประเภทนี้ ทั้งนี้อธิบายเทียบเคียงให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ทราบถึงเรื่องมาอยู่กับครูอาจารย์ อย่าไปสำคัญในคำพูดกิริยามารยาทสูงต่ำ ให้ยึดในหลักเหตุผลเป็นของสำคัญ ผู้มุ่งต่อหลักเหตุผลจะได้ธรรมอันล้ำค่าไปครองหัวใจ แม้จะจากครูอาจารย์ไปแล้วก็พอจะพยุงตัวได้ กลายเป็นผู้เจริญที่จะสืบพระศาสนา จะเป็นผู้ใหญ่ และเป็นผู้สามารถสั่งสอนหมู่เพื่อนและประชาชนทั่วไป เพราะความฉลาดรอบคอบ และยึดหลักไว้ได้เมื่อคราวอาศัยอยู่กับท่าน

เรามาศึกษากับท่านยังไม่ได้อะไรเป็นคติภายในใจ เวลาจากท่านไปไม่มีหลักยึดย่อมลำบาก ลำพังความจดจำที่ได้จากท่านเท่านั้น ยังไม่พอที่จะนำไปรักษาคุ้มครองตัว ข้อสำคัญขอให้ใจได้รับความสงบพอเป็นหลักฐานทางภายใน เริ่มแต่สมาธิขึ้นไปถึงปัญญาขั้นกลางเป็นอย่างน้อย แม้จะไม่ถึงปัญญาขั้นสุดยอด ถ้าเป็นผู้หนักแน่นต่อธรรมอยู่แล้วก็พอจะพยุงตัวให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้โดยลำดับ แต่ถ้าไม่มีอะไรติดใจเลยลำพังการมาศึกษาจากท่านเท่านั้น ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของเรา และยังไม่สามารถจะรักษาตัวเราให้พ้นภัยได้ อาจจะเกิดความเสื่อมเสียในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งมีเหตุอันรุนแรงมากระทบเข้า และอาจกลายเป็นคนเสียหายในขณะนั้นก็ได้

เพราะการจดจำมาจากท่านเป็นสิ่งที่หลงลืมได้ง่าย ๆ ไม่เหมือนสิ่งที่ติดแนบสนิทอยู่กับใจจริง ๆ เช่นมีดพร้าที่วางไว้นอกกายของเราเป็นอย่างหนึ่ง ที่เหน็บพกไว้เป็นอย่างหนึ่ง และที่ถือไว้กับมือเราเป็นอีกอย่างหนึ่ง เวลาจะนำออกมาใช้ให้ทันท่วงที มีดที่วางไว้นอกกายย่อมนำมาใช้ช้ามาก ที่เหน็บพกก็เร็วขึ้นบ้าง ส่วนมีดที่เราถือไว้ในมือย่อมใช้ได้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ธรรมที่เราเรียนมาอย่างหนึ่ง ธรรมที่ได้จากการศึกษาอบรมกับอาจารย์อย่างหนึ่ง และธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา ซึ่งเนื่องจากอบรมกับครูอาจารย์นี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน

ธรรมที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนมา โดยที่ไม่ได้อบรมทางด้านจิตใจเลย เช่นเดียวกับมีดที่วางไว้นอกกาย ธรรมที่จำมาได้จากการอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ว่าท่านสอนอย่างไร เช่นเดียวกับมีดที่เหน็บไว้ในพก ส่วนธรรมที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติซึ่งเนื่องมาจากอุบายที่ได้จากอาจารย์เป็นผลประจักษ์ขึ้นกับใจ เช่นเดียวกับมีดที่ถือไว้ในมือ และธรรมส่วนนี้แลจะเป็นเครื่องรักษาความปลอดภัยให้แก่เรา ได้มากกว่าธรรมทั้งสองประเภทนั้น

เพราะฉะนั้น จงพยายามขุดค้นธรรมประเภทนี้ให้เกิดขึ้นภายในใจ เพราะธรรมที่ได้จากครูอาจารย์ เช่นเดียวกับการหยิบยืมสิ่งของของใคร ๆ มาใช้นั่นเอง พอถึงเวลาแล้วต้องส่งคืนเจ้าของเดิม ส่วนสิ่งของที่เราประดิษฐ์ขึ้น เสาะแสวงหามาได้เองเช่นเงินทองเป็นต้น เราใช้ได้สะดวกทั้งไม่เป็นกังวลในการทดแทนเขา ธรรมที่ได้รับจากท่านเป็นเหตุให้หลง ๆ ลืม ๆ บางทีรักษาตัวไม่คุ้ม เพราะไม่ทันกับเหตุการณ์ซึ่งอาจมาเผชิญหน้าเวลาใดก็ได้ แต่ถ้าเป็นธรรมที่เกิดกับใจของเราแล้ว ก็นำมาใช้ได้ทันท่วงที นี่คือใจที่มีรากฐาน

ผู้ที่มีหลักใจกับผู้ไม่มีหลักใจนั้นต่างกัน จะไปไหนมาไหนความวอกแวกคลอนแคลน หรือความหวั่นไหวต่ออารมณ์ก็ต่างกัน สุขทุกข์ที่จะพึงได้รับก็ต่างกัน ผู้ไม่มีธรรมภายในใจเลย เพียงแต่ได้รับการศึกษาอบรมจากอาจารย์เท่านั้น เวลาไปประสบอารมณ์ระหว่างรูป รส กลิ่น เสียง เครื่องสัมผัส กับตา ลิ้น จมูก หู กาย ใจ ประสานกันเข้าเท่านั้น ทำให้เกิดธรรมารมณ์ภายในใจ จนหาที่ปลงลงไม่ได้ ผลคือความรุ่มร้อนก็แสดงเปลวขึ้นมาที่หัวใจทันที แต่ผู้มีธรรมภายในใจแล้ว สามารถจะกระดิกพลิกแพลงโดยอุบายต่าง ๆ ในทางปัญญา ให้หลุดพ้นจากสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น แล้วเอาตัวรอดไปได้โดยปลอดภัย

เพราะฉะนั้นการศึกษาจากครูอาจารย์เพื่ออบรมใจของตน ให้เป็นไปตามแนวทางที่ท่านสอนไว้ จนปรากฏผลขึ้นภายในใจเป็นขั้น ๆ นับแต่ขั้นความสงบเบื้องต้นจนถึงขั้นความสงบตามต้องการ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้ปัญญาก็โปรดทราบว่ามีความสำคัญเสมอกัน จงพยายามฝึกค้นในโอกาสอันควรให้เป็นคู่เคียงกันไป จนมีความสงบและเฉลียวฉลาดทั้งทางด้านสมาธิ และด้านปัญญาแล้ว จะไปที่ไหนก็พอรักษาตัวได้ การระแวดระวังภัยภายนอกก็นับวันน้อยลง     ผู้มีธรรมเป็นหลักภายในใจ    กับผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตใจมีความสะดวกต่างกัน แม้จะเดินทางไปในสายเดียวกันและกระทบเหตุการณ์อันเป็นเรื่องเดียวกัน จะได้รับความชอกช้ำต่างกันมากแม้เป็นเรื่องอารมณ์ชนิดเดียวกัน

เรื่องที่กล่าวนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดรอบคอบของผู้อบรมมาต่างกัน ในแง่ความหนักเบาแห่งธรรม และความรู้สึกเป็นราย ๆ ไป สภาวธรรมทั่ว ๆ ไป เมื่อใจยังไม่ฉลาดพอย่อมกลายเป็นข้าศึกต่อเราได้ แต่เมื่อใจฉลาดจนพอตัวแล้วจะไปที่ไหน ๆ สิ่งทั้งหลายย่อมกลายเป็นคุณ มิได้เป็นโทษ หรือข้าศึกเหมือนที่เคยเป็นมา ทั้งนี้เนื่องจากใจกลายเป็นคุณต่อตนเอง และอำนาจของสติปัญญาที่เคยสั่งสมมาจนเพียงพอ เราทุกท่านที่ได้มุ่งหน้ามาศึกษาโปรดได้เป็นผู้สนใจในเรื่องสติกับปัญญา ประกอบเป็นองค์ความเพียร จงพยายามตักตวงจนเพียงพออย่าลดละ แม้จะจากท่านไป แต่ต้นทุนคืออุบายต่าง ๆ ที่ได้จากท่านเป็นเครื่องหนุนกำไรภายใน จนปรากฏผลเป็นที่พึงพอใจ

แต่ผู้ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทำไปแบบงู ๆ ปลา ๆ ผลประโยชน์ที่จะพึงได้รับประจักษ์ไม่ค่อยปรากฏ นอกจากจะเป็นไปในทางเสียหายโดยมาก เช่นผู้ชอบตั้งตัวเป็นอาจารย์เสียแต่อายุพรรษายังน้อย โดยไม่มีคุณธรรมภายในใจเท่าที่ควร เรียกว่าลักษณะขายก่อนซื้อ ชอบสั่งสอนคนอื่นมากกว่าสั่งสอนตัวเองเช่นนี้ อย่างไรก็ยากที่จะก้าวหน้าและเอาตัวรอด ที่ถูกต้องพยายามฝึกฝนอบรมตนจนเป็นที่เพียงพอ และรู้สึกกำลังภายในใจก่อน ว่าสมควรจะแนะนำสั่งสอนคนอื่นได้อย่างไรบ้าง แม้การรับหมู่เพื่อนเพื่ออบรมก็ควรคำนึงถึงสติปัญญาและความสามารถของตน ถ้ากำลังไม่พอแต่จะรับภาระมาก นอกจากผู้มาศึกษาจะไม่ได้รับประโยชน์แล้ว ตนเองยังจะกลายเป็นคนเสียไปด้วย

เรื่องทั้งนี้เคยทราบจากท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นอาจารย์ที่บรรดาสานุศิษย์ได้ฝากชีวิตจิตใจกับท่านจริง ๆ ในสมัยที่อยู่กับท่าน ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านไปรับโยมมารดาของท่านมาบวชเป็นชี และปฏิบัติอยู่กับท่าน ในโอกาสนั้นได้มีพระเณรเข้าไปอาศัยและศึกษากับท่านเป็นจำนวนมาก ท่านก็ทราบว่ากำลังใจของท่านยังไม่มีกำลังเพียงพอที่จะแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อน ท่านได้มีความดำริ และพยายามปลีกตัวจากหมู่คณะเสมอ ท่านจึงหาอุบายพาโยมมารดาของท่านไปส่งที่จังหวัดอุบลราชธานี ถ้านับแต่วันท่านรับโยมมารดามาบวชอยู่ด้วยนั้นก็เป็นเวลาถึง ๖ ปี เมื่อรู้สึกเช่นนั้นแล้วจึงพาโยมมารดาออกจากบ้านสามผง จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นที่พักเดิม เดินทางไปโดยลำดับ แวะพักบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนมชั่วคราว แล้วไปถึงจังหวัดอุบล

พอส่งโยมมารดาถึงบ้านแล้ว จึงเป็นโอกาสให้ท่านปลีกตัวจากหมู่เพื่อนไปอยู่จังหวัดเชียงใหม่ได้ ๑๑ ปี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ จึงได้ไปอาราธนาท่านจากจังหวัดเชียงใหม่มาพักจำพรรษาที่อุดร เกียรติคุณของท่านได้ปรากฏแก่พี่น้องชาวอุดร หนองคาย สกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง ให้ได้กราบไหว้ท่านแทบทั่วหน้ากัน เวลาท่านมาพักจำพรรษาที่อุดร ๒ ปี และสกลนคร ๘ ปี ได้อุตส่าห์สั่งสอนพระเณร และประชาชนจนสุดความสามารถตลอดมา จนถึงวันท่านมรณภาพไปด้วยความสงบเป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่ง ทั้งไม่เคยปรารภถึงเรื่องกำลังพอหรือไม่พออีกเลย

นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ากำลังของท่านเพียงพอ ทั้งภายในใจและอุบายต่าง ๆ ที่จะนำมาสั่งสอนบรรดาศิษย์ผู้ไปศึกษากับท่าน ซึ่งนับว่าเป็นคติตัวอย่างอันดียิ่งแก่ผู้สนใจมุ่งดำเนินตามไม่น้อยเลย ฉะนั้นเราทุกท่านควรตระหนักใจตลอดเวลา และควรทราบไว้ว่ากำลังภายในใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ชี้ให้เห็นง่าย ๆ ทั้งเราก็มีภาระคือการฝึกฝนเพื่อแก้ไขตนเอง ทั้งรับภาระคือการสั่งสอนหมู่เพื่อน ต่างก็กำลังตกอยู่ในความหิวโหยอาหาร คือธรรมะด้วยกัน ทั้งเราก็กำลังรับประทาน ทั้งจะแบ่งให้หมู่เพื่อนรับประทาน ถ้าของมีน้อยก็หมดไปเสียจากเราและหมู่เพื่อน ก็ขาดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

จึงควรทราบเรื่องกำลังไม่เพียงพอ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ายินดีและนอนใจสำหรับผู้มุ่งต่อแดนพ้นทุกข์ เมื่อทราบว่าตนบกพร่องที่ตรงไหน รีบแก้ไขดัดแปลงเสียแต่ต้นมือ สถานที่สงัดวิเวกคือสนามชัยของผู้มุ่งเอกราชในตัวเอง จงปลดปล่อยตัวเองในที่เช่นนั้น เมื่อได้ชัยชนะเป็นที่พอใจแล้ว จงนำธงชัยดวงอัศจรรย์ คือ นิโรโธ นิพฺพานํ  เข้าสู่วงหมู่คณะด้วยความองอาจในหลักความจริงที่ตนได้ประจักษ์กับใจ มาแจกจ่ายหมู่เพื่อนด้วยความบริสุทธิ์ใจ จะไม่มีสิ่งเป็นพิษเข้าเคลือบแฝงเลยแม้แต่น้อย จะเป็นที่ภาคภูมิใจตนเอง และทุกท่านที่เข้าไปรับการศึกษา ทั้งจะเป็นสง่าราศีแก่วงพระศาสนา และประเทศชาติบ้านเมืองอีกด้วย

สำหรับท่านพระอาจารย์มั่นท่านสมบูรณ์ในคุณธรรมที่กล่าวมานี้ จึงสามารถสั่งสอนบรรดาศิษย์ผู้ไปศึกษา ให้ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนมากกว่าธรรมดาที่ควรจะเป็นได้ แต่คนมีจำนวนมากและมีนิสัยต่าง ๆ กัน จึงเป็นที่หนักใจแก่การอบรมสั่งสอนอยู่บ้าง เฉพาะผู้มุ่งหวังอย่างแรงกล้าอยู่แล้วก็สอนง่าย ทั้งพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองอย่างเต็มที่ จนสามารถรู้ตามเห็นตามท่าน ในลักษณะอาจารย์ถึงไหนลูกศิษย์ถึงนั่น นี่เข้าใจว่ามีแต่จำนวนน้อย รองลงมาก็พยายามถ่ายทอดข้อปฏิบัติและความรู้ภายในใจตามสติปัญญาของตน ยังนับว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตนและวงพระศาสนาต่อไป แต่ที่คอยจะทำลายตัวเองโดยไม่ยอมรับเหตุผลคือข้ออรรถข้อธรรม จากการสำเหนียกศึกษาก็อาจจะมี เพราะดีกับชั่วเป็นสิ่งที่มีเจือปนกันอยู่ในโลกผสมแต่ไหนแต่ไรมา จึงเป็นหลักธรรมดาไม่ควรเป็นกังวลให้หนักใจแก่ตนเอง

อุบายของอาจารย์ที่มาแนะนำสั่งสอนพวกเรา ได้มาด้วยความฉลาดและเพียงพอ วัดตวงดูกำลังของตน เทียบกับภาระที่จะนำมาแบกหาม ข้อนี้โปรดถือเป็นหลักประจำใจ อย่าได้ลืมตลอดกาล จะเป็นผู้เจริญในอนาคต ถ้าความฉลาดรอบคอบไม่เพียงพอ เราอาจจะล่มจมไปตามเขา เช่นเดียวกับคนตกน้ำ เข้าไปช่วยเขาด้วยความไม่รอบคอบ เราอาจจะล่มจมไปกับคนตกน้ำก็ได้

ดังนั้นผู้มาอยู่กับอาจารย์ มีหน้าที่จะพยายามตักตวงความเพียรให้ได้สติปัญญาเต็มความสามารถเท่านั้น แม้จะจากท่านไปก็ควรแสวงหาที่สงัดวิเวก และสืบต่อความเพียรอย่าลดละ และอย่าเป็นกังวลกับสิ่งใด ๆ มีตนกับความเพียรเป็นไปอยู่ในอิริยาบถทั้งหลายไม่ควรขาดวรรคขาดตอน และไม่ให้เสียเวลาไปเพราะกิจการอื่น ๆ เมื่อมีข้องใจในธรรมเกิดขึ้น โปรดพยายามมาศึกษากับท่าน อย่าเดินเหิน หรือทำไปตามอัตโนมัติจะผิดทาง อย่างน้อยก็เนิ่นช้า อย่างมากก็ทำตัวให้เสีย เพราะความละเอียดแห่งธรรมไม่สิ้นสุดอยู่กับผู้ใด

โปรดทำความสนใจตามที่กล่าวมา และไม่ควรไปสนใจกับคำพูดจากิริยามารยาทของท่าน ซึ่งเห็นว่าไม่ผิดจากหลักของพระธรรมวินัย จงถือหลักเหตุผลเป็นเครื่องปกครองใจ และเรามาศึกษาเพื่อธรรม อย่านำโลกเข้ามาด้วย การนำโลกเข้ามาด้วยนั้นเป็นเรื่องให้เกิดความมากระทบกระเทือน อย่างน้อยต้องกระเทือนตนเอง อย่างมากก็กระเทือนหมู่เพื่อนด้วยกัน คำว่านำโลกเข้ามานั้น พูดง่ายๆ ก็ว่านำทิฐิมานะมาด้วยนั่นเอง ถ้านำธรรมะเข้ามาต้องเป็นผู้มุ่งต่อเหตุผล ได้เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ต้องน้อมเข้าเทียบกับหลักเหตุผลเสมอไป ถ้าถูกต้องกับหลักเหตุผลแล้วชื่อว่าเป็นธรรม รีบยึดมาเป็นเครื่องสอนใจตนทันที

เมื่อเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาอยู่โดยทำนองนี้แล้ว เรื่องศีลไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่บริสุทธิ์ เพราะต่างก็เคยรักษาทุกวันด้วยความใคร่ในศีลของตน ศีลต้องมีความบริสุทธิ์เสมอไป สมาธิเมื่อได้รับการกดขี่บังคับด้วยสติปัญญาอยู่เสมอแล้ว จำต้องเป็นไปเพื่อความสงบ ข้อสำคัญก็คือเรื่องของสติ จงตั้งไว้ตลอดเวลา และเรื่องของปัญญาจำต้องใคร่ครวญ เมื่อสติจับไว้ ปัญญาต้องเป็นผู้คลี่คลายหรือตัดฟันเสมอ ความสงบจะต้องเป็นไปในจิตโดยไม่ต้องสงสัย

ถ้าใจไม่มีความสงบเลย คุณค่าของพระศาสนาก็จะไม่ทราบว่ามีแค่ไหน ได้แต่เดาไปอย่างนั้นเอง นาน ๆ ไปความขี้เกียจขี้คร้านเข้ามานั่งอยู่บนศีรษะคือหัวใจเสียแล้ว ความเพียรก็ล้มละลาย ศีลก็กลายเป็นสูญไปเสีย สมาธิก็กลายเป็นความฟุ้งไม่มีความสงบได้ และปัญญาเลยกลายเป็นความโง่ไปโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าความเกียจคร้านได้เหยียบย่ำที่ตรงไหนแล้วพึงทราบว่า ที่นั้นต้องแหลกละลาย เช่นเดียวกับไฟถ้าลงได้ไหม้หรือเผาอะไรแล้ว ต้องแหลกละเอียดไปหมด แม้แต่เหล็กแข็ง ๆ ก็จำต้องละลายไปได้ เพราะอำนาจของไฟ เรื่องความเกียจคร้านเหมือนกันเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดสินใจว่า พระศาสนามีความลึก ตื้น หยาบ ละเอียด แค่ไหน ขอให้ทำตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ท่านสอนอย่างไรให้กำหนดจับตัวเหตุนั้นไว้ แล้วนำไปปฏิบัติด้วยความขยันหมั่นเพียร มีอิทธิบาทสี่เป็นเครื่องพยุงความเพียรทุกประโยค ผลท่านทั้งหลายจะได้รับประจักษ์ใจ เช่นให้ตั้งสติและบังคับจิตใจของตนเองอยู่กับความเพียร พิจารณาในอาการทั้งหลายที่มีอยู่ในกายของเรานี้ ท่านว่ามีอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น พิจารณาอยู่ในอาการเหล่านี้ด้วยสติเป็นเครื่องบังคับ อย่างไรสมาธิต้องปรากฏขึ้น คำว่า สมาธิ คือความตั้งมั่นของใจนั่นเอง

ใจเริ่มสงบก็เริ่มเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิจะเป็นขั้นใดก็ตาม นั่นแลผลได้เริ่มปรากฏขึ้นแล้วว่า คุณค่าแห่งพระศาสนามีแค่ไหน และคุณค่าแห่งความสงบก็ปรากฏให้เราทราบประจักษ์กับใจแล้ว ในขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นโทษแห่งความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของใจ ซึ่งคิดปรุงอยู่ตลอดเวลา ไม่มียับยั้ง เช่นเดียวกับเครื่องจักรที่เปิดไว้ในโรงงานต่างๆ ไม่มีเวลาปิดฉะนั้น ใจเริ่มสงบก็เริ่มเป็นสุข ถ้าเดินทางก็เริ่มจะถึงร่มไม้และท่าน้ำ เพื่อการพัก อาบดื่ม สบายหายเหนื่อยในระหว่างทาง แล้วต่อไปเร่งฝึกฝนค้นด้วยปัญญาให้เห็นคู่เคียงกันไป ค้นแล้วค้นเล่าเหมือนเขาขุดดินหรือคราดนา คราดกลับไปกลับมาจนมูลไถมูลคราดแหลกละเอียด จะเพาะปลูกหรือปักดำก็ควร ข้าวกล้าหรือสิ่งเพาะปลูกก็จะงอกงามดี

ใครชอบปัญญาใคร่ครวญกลับไปกลับมาไม่หยุดยั้ง ผู้นั้นแลจะได้รับผล คือความเยือกเย็นและความสว่างไสวขึ้นในใจ ทั้งปัญญาก็ใคร่ครวญอยู่ตลอดเวลา เพราะอำนาจแห่งความเคยชิน ทั้งการตั้งสติ ทั้งสมาธิก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ อยู่ที่ไหนก็เพลิดเพลิน เช่นเดียวกับเศรษฐีเพลินในรายได้ แม้กำลังนั่งรับประทานอาหาร พอเห็นลูกค้าเดินผ่านเข้ามาหน้าร้านเท่านั้น เขาต้องลุกจากที่นั่งทันที เพื่อหวังรายได้จากลูกค้าที่มาติดต่อ เมื่อสรุปความลงแล้วก็คือเงินนั่นเอง

ผู้เริ่มจะเป็นเศรษฐีภายในใจ คือเศรษฐีธรรมแล้ว ต้องเป็นผู้เพลินในความเพียรของตน ปลีกตัวเข้าสู่ที่สงัดเท่าไรยิ่งเพลิน ปลีกออกจากหมู่คณะและฝูงชนไปเท่าไรยิ่งเพลิน อดก็ตาม อิ่มก็ตาม เรื่องของใจยิ่งเพลินต่อการตั้งสติการคิดค้นด้วยปัญญา เพลินต่อการแก้ไขจิตใจโดยลำดับ วันหนึ่งคล้ายกับว่ามีเพียง ๔-๕ ชั่วโมง คืนหนึ่งคล้ายกับว่ามีเพียง ๓-๔ ชั่วโมง เพราะจิตใจไม่ได้คิดไปถึงเวลาค่ำ เวลานาฬิกาที่ไหน เพลินดูแต่ความเกิดความดับของสภาวธรรมที่มีอยู่รอบด้าน และประกาศตนตามหลักความจริงอยู่ตลอดเวลาด้วยสติปัญญา ซึ่งเคยอบรมมาจนเพียงพอ จิตมาถึงขั้นนี้แล้วต้องเพลิน

ทีแรกก็ต้องถูไถกัน กดขี่บังคับกัน เช่นเดียวกับเขาบังคับผู้ต้องหาที่มีโทษหนักฉะนั้น เมื่อได้จังหวะและเห็นความสามารถของกำลังสติปัญญาแล้วยิ่งเพลิน นั่งอยู่ก็เพลิน นอนอยู่ก็เพลิน เว้นเสียแต่หลับเท่านั้น ตื่นขึ้นก็จับสติปัญญาเข้าประกอบกับความเพียรทันที ไม่อืดอาดให้เสียเวลา มีสติปัญญาประจำตนทุกอาการเคลื่อนไหว จนสามารถถอดถอนกิเลสอาสวะได้โดยสิ้นเชิง เพราะอำนาจของความเพียรไม่ลดละ ใจที่เคยอยู่ใต้อำนาจแห่งการบังคับบัญชาของกิเลสก็กลายเป็นอิสระขึ้นมา และรู้เรื่องของตัวเองโดยไม่มีลี้ลับ กิเลสทุกประเภทที่เคยตั้งบ้านเรือนอยู่บนหัวใจ มีอวิชชาผู้เรืองอำนาจในไตรภพเป็นผู้ครองวัฏจักร ก็ได้ถูกทำลายลงด้วยดาบคือปัญญาที่ทันสมัย ใจกลายเป็นวัฏฏะขึ้นมาในขณะนั้น

ความอัศจรรย์ซึ่งปรากฏขึ้นจากแดนแห่งวิมุตติ ได้แผ่กระจายไปทั่วสรรพางค์กาย และจิตใจโดยตลอด ขณะวิชชาวิมุตติเรืองอำนาจขึ้นอย่างเป็นธรรม ทำหน้าที่ปลดปล่อยสภาวธรรมที่ถูกอวิชชาบังคับจองจำไว้ ให้หลุดลอยขึ้นมาสู่ความเป็นอิสระของตนตามลำพัง และประกาศความเสมอภาคทั่วถึงกันหมด ความตำหนิติชมสภาวธรรมทุกประเภท ปรากฏเด่นอยู่ด้วยความเป็นธรรมในสภาวะทั่ว ๆ ไป ความเป็นทั้งนี้แม้จะอุทานขึ้นมาภายในใจว่า สุขํ วต สุขํ วต สุขหนอ ๆ ก็พอจะได้ แต่จะกล่าวออกมาทางวาจาต่อบุคคลหรือสถานที่ต่างๆ  เขาจะหาว่าบ้าแล้วพาไปรักษาปากคลองสาน ดังนั้นท่านนักปราชญ์ท่านจึงไม่พูดพล่ามในที่ทั่วไป เพราะท่านฉลาดในสถานที่ บุคคล และกาลสมัย ที่ควรจะพูดหนักเบามากน้อย ทั้งท่านกลัวโรคน้ำลายฟุ้งไปฟุ้งมา ถึงกับเขาหาว่าบ้าน้ำลายก็อาจจะมี

เราอย่าให้เป็นหรือเข้ากับบุคคลที่ต้องหานี้ เพราะเราศึกษาและปฏิบัติเพื่อความฉลาด ต้องฉลาดทั้งภายใน ฉลาดทั้งภายนอก ต้องแก้ไขได้ทั้งภายในและภายนอก ย่อมเป็นสุคโต ไม่เป็นคนขวางโลก ไปที่ไหนไม่มีภัย ไม่มีเวร คิดไปไหนไม่ติดไม่ข้อง โลกวิทูรู้ชัดทั้งโลกใน คือ เรื่องของตนเอง ทั้งโลกนอก คือสภาวะทั่ว ๆ ไป ซึ่งควรจะปฏิบัติต่อเขาโดยถูกต้อง นี่คือผลแห่งการปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้อาจหาญร่าเริงต่อความเพียร ถ้าได้ลงตั้งหน้าทำด้วยความขยันหมั่นเพียรและสนใจจริง ๆ แล้ว ผลต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน ท่านนักปฏิบัติไม่ต้องสงสัย

ขออย่างเดียวคืออย่าชิงสุกก่อนห่ามก็แล้วกัน ความขี้เกียจขี้คร้านเป็นตัวก่อเหตุให้การงานที่ได้รับผิดทุกแขนง ต้องล้มละลาย ฉะนั้นจงอย่าทำความเกียจคร้าน ความท้อแท้อ่อนแอเข้าไปทำงานด้วย จะไปทำลายงานของเราให้แหลกไปหมดไม่มีอะไรเหลือ โปรดทราบว่าความขยันหมั่นเพียร ความอดทนต่อสิ่งที่ชอบ มีอยู่ในบุคคลใดหรือสถานที่บ้านเมืองใด บุคคล และสถานที่นั้น ๆ ต้องเจริญรุ่งเรืองโดยลำดับ จงนำธรรมเหล่านี้ไปสร้างความเจริญในตนเอง จนปรากฏผลตามที่อธิบายมาแล้ว และอย่าลืมตัวไปว่า ความเกียจคร้านไม่เป็นคุณต่อโลกและธรรม

วันนี้ได้อธิบายธรรมแต่ต้น คือการอยู่กับครูอาจารย์เป็นลำดับจนมาถึงโลกวิทู แดนแห่งความเปิดเผยทั้งภายในและภายนอก ส่วนที่ยังเหลืออยู่ในวงแห่งขันธ์ก็กลายเป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีอะไรเข้าเคลือบแฝง เพียงครองกันไปวันหนึ่ง ๆ พอถึงกาลของเขาจะแตกก็แตกไป เมื่อยังอยู่ก็อยู่ไป ไม่มีอารมณ์ข้องใจ เพราะอนาคตของขันธ์ก็รู้เท่า อดีตของขันธ์ก็รู้ทัน ปัจจุบันของขันธ์ก็ไม่ยึด เรื่องความยุ่งเหยิงในสมมุติจึงยุติลงที่นี่

ฉะนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย ซึ่งเราเองก็ให้นามว่านักปฏิบัติ คนอื่นก็ยังให้นามเราว่าเป็นนักปฏิบัติ จงอย่าให้เสียชื่อเราว่านักปฏิบัติด้วย อย่าให้เสียชื่อเสียนามที่โลกได้ให้นามเราว่านักปฏิบัติด้วย ผลที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติ ก็อย่าให้แคล้วคลาดจากเราไปได้ นับแต่เบื้องต้นคือความสงบ จนถึงวิมุตติพระนิพพาน จงพยายามทำให้เปิดเผยขึ้นกับใจดวงนี้ให้สมกับคำว่าโลกวิทู ซึ่งเป็นแดนที่มุ่งหวัง เราทั้งหลายจะหมดปัญหากับภพกับชาติ ความแก่ เจ็บ ตาย อันเป็นผลเกิดจากอวิชชา

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขอให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายจงได้ถึงโลกวิทู อันเป็นแดนแห่งความเปิดเผยทุก ๆ ท่านโดยทั่วหน้ากันเทอญ

 

www.Luangta.com or www.Luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก