ทำตัวเหมือนแม่เนื้อ
วันที่ 10 สิงหาคม 2505 เวลา 19:00 น. ความยาว 53.46 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

ทำตัวเหมือนแม่เนื้อ

 

พระพุทธเจ้า นับแต่เริ่มเสด็จออกทรงผนวช แสวงหาวิเวกสงัดเป็นหลักฐานประจำศาสดา บำเพ็ญพระองค์ในป่า สำเร็จพระอิริยาบถในป่า และตรัสรู้ในป่า เวลาปัจฉิมยามอันเป็นยามสงัดอย่างยิ่ง บรรดาพระสาวกก็ตามเสด็จในทางสายเดียวกัน มีความเป็นอยู่อย่างสงัดทั้งทางกายและทางใจ ไม่มีการคลุกคลีกับฝูงชนทุกชั้น ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ต่างก็มุ่งต่อความสงัดวิเวกประจำตน เมื่อไม่มีสิ่งเกี่ยวข้อง จิตย่อมมีความสงบได้เร็ว เพราะฉะนั้น กายวิเวกจึงเป็นบาทฐานสำคัญที่จะทำใจให้ได้รับความสงบเป็นอย่างดี

พุทธประเพณีทรงดำเนินแต่ต้นถึงวันตรัสรู้ ไม่ทรงสนพระทัยกับสิ่งใดอันจะเป็นเหตุก่อกวนความเพียรทางใจ ขณะทรงบำเพ็ญไม่ปรากฏว่าสนพระทัยกับผู้ใด และแสวงหาใครมาเป็นเพื่อน ทรงแสวงหาที่สงัดจริง ๆ แม้ตรัสรู้แล้วจะทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าเพื่อโปรดเวไนย ก็ไม่ทรงทอดธุระในสถานที่ดังกล่าวนี้ และทรงถือประจำพระอิริยาบถตลอดวันนิพพาน เพราะฉะนั้นความวิเวกสงัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้มุ่งต่อแดนนิพพาน

แต่ความสงัดมีหลายประเภท ความสงัดธรรมดาที่อยู่ ๆ กันอย่างหนึ่ง ความสงัดซึ่งอยู่เปลี่ยว ๆ ที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด อันเป็นเหตุให้ระวังภัยทั้งกลางวันกลางคืนอย่างหนึ่ง เราอยู่ด้วยกันหลายคนแม้จะไม่มีการพูดสนทนา ต่างคนต่างอยู่ในที่ของตน จัดเป็นกายวิเวกขั้นหยาบ การอยู่ในสถานที่เปลี่ยวและระวังภัยรอบด้านนั่นแล จัดเป็นกายวิเวกส่วนละเอียด เพราะไม่มองเห็นใครทั้งด้านตาและด้านความรู้สึก

ฉะนั้น อนุศาสน์ที่ประทานไว้ จึงเป็นหลักธรรมสำคัญประจำพระศาสนา เราจะเห็นได้จากสถานที่สงัดธรรมดาและมีหมู่คณะอยู่ด้วยกัน ความรู้สึกจะมีลักษณะทื่อ ๆ และประมาทนอนใจชอบกล แต่พอจากหมู่คณะไปอยู่ในสถานที่เปลี่ยวและน่ากลัว ทั้งอยู่คนเดียวด้วยแล้ว ความรู้สึกจะเปลี่ยนขึ้นทันที ความสนใจในธรรมะจะมีมาก เพราะความกลัวบังคับ จำต้องแสวงหาที่พึ่ง ไม่ว่าทางโลกทางธรรมย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกัน สติจะได้เคยอบรมหรือไม่เคยอบรมก็ตาม แต่ขณะที่สิ่งแวดล้อมบังคับเช่นนั้น จำต้องมีสติขึ้นมาทันที พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ตามปกติไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่ในเวลาเช่นนั้นจิตเริ่มระลึกยึดเอามาเป็นที่พึ่งทันทีโดยไม่ยอมให้พลั้งเผลอ เพราะถ้าเผลอไปในขณะนั้น เกิดมีอันตรายแก่ชีวิตขึ้นมาต้องเสียที

ดังนั้นผู้อยู่ในสถานที่เปลี่ยวและน่ากลัวต่อภัย จึงเป็นผู้จะตั้งสติบังคับใจให้เข้าสู่ความสงบได้เร็วกว่าปกติที่จะเป็นได้ ส่วนจิตที่มีความสงบได้บ้างและจิตที่เป็นสมาธิแล้ว ก็ยิ่งมีกำลังเพิ่มขึ้นและรวดเร็วกว่าปกติธรรมดา สำหรับผู้ก้าวเข้าสู่ปัญญาและผู้มีปัญญาคล่องแคล่วพอประมาณ ก็ยิ่งจะเพิ่มกำลังความแยบคายขึ้นทั้งภายในภายนอก ฉะนั้น นักบวชผู้มุ่งปฏิบัติธรรมขั้นสูงจึงควรเห็น และสนใจในที่สงัดเป็นที่บำเพ็ญเพียร เพราะจะทำให้ผู้เข้าอาศัยได้รับผลประจักษ์ใจ ทั้งด้านสมาธิและด้านปัญญา อันจะเกิดจากการระวังสังวรอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเป็นผู้กล้าหาญต่อความเป็นความตายเพื่อพระสัทธรรมจริง ๆ แล้ว สถานที่เช่นนั้นและผู้เช่นนั้นแล จะเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งสมาธิและปัญญา

พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี ผู้มีพระนามกระเดื่องเลื่องลือในไตรภพ ท่านบำเพ็ญในสถานที่สงัดทั้งนั้น จึงควรจะกล่าวได้ว่า ธรรมชอบเกิดในสถานที่สงัดและเวลาอันสงัด

แต่ผู้ขี้ขลาดหวาดกลัวและมีความท้อแท้อ่อนแอ เพราะความเห็นแก่ตัวมากกว่าธรรม ก็ยิ่งจะเพิ่มกิเลสอาสวะให้มากมูนขึ้นในใจ หรืออาจเป็นบ้าเป็นบอไป เพราะสถานที่เช่นนั้นก็ได้ ส่วนผู้จะถวายตัวเป็นลูกศิษย์พระตถาคตโดยชอบ ต้องเป็นผู้กล้าหาญต่อความจริง คือการเป็นการตายเป็นคติธรรมดา ไม่มีใครจะข้ามพ้นไปได้ในร่างอันนี้ ทั้งผู้กล้าผู้กลัวจำต้องเดินทางสายมรณะ คือเกิดแล้วต้องตายด้วยกัน เวลานี้ทุกท่านได้คาดเครื่องรบไว้อย่างเต็มตัว และเตรียมพร้อมแล้วที่จะทำสงครามกับกิเลสอันเป็นข้าศึกภายใน

คำว่า เครื่องรบ คือบริขารแปด อันเป็นเครื่องแบบของผู้จะก้าวเข้าสู่สงคราม และศีล สมาธิ ปัญญา ตลอดข้อวัตรปฏิบัติทุกประเภท นี่คือเครื่องมือในการรบ เครื่องรบทั้งนี้โปรดทราบว่า เป็นเครื่องรบของท่านผู้กล้าหาญ ของท่านผู้มีความเพียรกล้า ไม่ถอยทัพกลับตัวเป็นคนอ่อนแอขี้ขลาด มีความหวาดกลัวต่อข้าศึก เป็นเครื่องรบของท่านผู้กล้าตายในสงคราม เป็นเครื่องรบของท่านผู้ผ่านชัยชนะ และนำธงชัยมาสู่โลกด้วยความองอาจต่อผลที่ครองอยู่ว่าเป็นความจริงโดยสมบูรณ์ และสามารถจะประกาศความจริงเหล่านี้แก่ปวงชนทั่วทั้งไตรโลกธาตุอย่างไม่มีความขยาดหวั่นไหว และรื้อขนหมู่ชนทั้งทวยเทพให้หลุดพ้นไปตามได้ ท่านผู้นั้นคือ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ของหมู่ชน ผลที่ทรงได้รับจากชัยชนะให้โลกได้เห็นเป็นขวัญตาขวัญใจนั้น คือ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ของเวไนย และผู้ทำการรบตามเสด็จ จนได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ตามที่ประทานแนวทางไว้นั้น คือ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรา

เพราะฉะนั้น เครื่องแบบและเครื่องรบที่ครองอยู่กับตัวของทุกท่าน จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์วิเศษ และมีคุณค่าอันหาประมาณมิได้ มิใช่เครื่องบริขารของคนเกียจคร้าน นอนตื่นเอาตามอำนาจของกิเลสอาสวะบังคับ หนักไปในความเห็นแก่ตัวไม่มองดูธรรม อันเป็นทางเสื่อมเสียโดยถ่ายเดียว เรื่องทั้งนี้จึงควรเกลียดกลัวในวงปฏิบัติ เพราะเพศนี้เป็นเพศที่ก้าวหน้าด้วยความเพียรที่ชอบ บำเพ็ญตนด้วยความห้าวหาญรื่นเริงต่อแดนพ้นทุกข์ มีสติระมัดระวัง เพราะสมณะย่อมเป็นผู้งามด้วยมีธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องประดับ ถ้าความสำรวมระวังได้ด้อยลงหรือขาดไปในขณะใด ย่อมขาดความเป็นสง่าราศีและสวยงามลงในขณะนั้น ไม่มีใครจะฝืนชมว่าดีและงามตาเลย

คนผู้มีความสำรวมระวังประจำตน ย่อมเป็นผู้งามในหมู่ชน ทั้งนักบวชและฆราวาส ย่อมถือสังวรธรรมประจำตนและสังคมทั่ว ๆ ไป ทั้งเป็นธรรมประกันสังคมให้มีคุณภาพเป็นที่น่าดู ผู้ขาดสังวรธรรมแล้วจะไม่มีความงามเหลืออยู่เลย ดังนั้นผู้เป็นศิษย์พระตถาคตผู้ปรากฏงามเด่นในหมู่ชนด้วยสังวรธรรม จึงควรน้อมรับมาเป็นมรดกและประดับตนให้งามทั้งภายนอกภายใน จะเป็นผู้งามในเพศไม่มีวันจืดจาง

อันดับต่อไปคือความเพียร เป็นธรรมประจำองค์ของพระผู้เต็มไปด้วยความเพียร เพราะพระพุทธเจ้าและพระสาวกปรากฏเป็นผู้มีความเพียรกล้าในกิจที่ชอบทุกกรณี ไม่เคยเหยียบร่องรอยความท้อแท้อ่อนแอเป็นแบบพิมพ์แก่โลกไว้ที่ไหนเลย ถ้าโลกเราพยายามหัดเขียนหัดอ่านตามแบบพิมพ์ของพระพุทธเจ้าจนชินต่อนิสัยแล้ว โลกและธรรมจะมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ ทั้งด้านจิตใจและโภคทรัพย์

แต่ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะความเพียรทางใจ อันจะยังผลให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติตามเป็นลำดับ จำต้องมีสติควบคุมในการทำทุก ๆ ประโยค อย่าให้พรากจากใจ มีสติรับรู้อยู่กับกิจการนั้น นี่เป็นสาเหตุจะให้ความเพียรติดต่อ เพราะสติเป็นเครื่องรับรู้กับสิ่งสัมผัสทุกประเภท อันเป็นต้นเหตุให้เกิดอารมณ์ทางภายใน ถ้าขาดสติซึ่งเป็นธรรมสำคัญแล้ว อารมณ์ย่อมทำการติดต่อกับใจได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดธรรมเครื่องต้านทานขัดขวาง โดยมากที่ได้รับความทุกข์ร้อนภายในใจอย่างหนัก ถึงกับระบายออกมาทางกาย วาจา และบางครั้งจนหาทางออกไม่ได้ เลยตัดสินใจไปในทางผิดเพิ่มเข้าอีก ทั้งนี้ล้วนเป็นสาเหตุมาจากความขาดสติโดยสิ้นเชิง

ทุกท่านผู้มุ่งต่อความเพียร โปรดอย่าเห็นสติเป็นของเล็กน้อยและไม่จำเป็น นั่นคือทางหายนะโดยไม่มีทางแก้ไข เพราะสติเป็นธรรมจำเป็นทั่วโลกแดนธรรม คนมีสติจะเป็นผู้ตื่นตัวอยู่เสมอ เฉพาะอย่างยิ่งผู้บำเพ็ญทางใจ สติจะทำความรู้สึกกับสิ่งกระทบได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหาไม่แล้ว แม้จะถูกกระทบวันยังค่ำคืนยังรุ่ง จะไม่รู้เห็นอะไร ซึ่งควรจะแก้ไขหรือบำรุง แต่จะมาตำหนิตัวว่า วันนี้จิตไม่สบายมีแต่ความรุ่มร้อน ไม่ทราบว่าเป็นอะไร และร้อนทั้งกลางวันกลางคืน บางครั้งถึงกับหาที่ปลงกายปลงใจลงไม่ได้ นี่คือผลที่เกิดจากความเผอเรอ ซึ่งจิตสัมผัสกับสิ่งใดแล้ว ตนไม่มีสติรับทราบจึงไม่มีโอกาสรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นภัย การแก้ผลจึงไม่ใช่ฐานะจะเป็นไปได้ตามใจหวัง

การแก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือความสัมผัสรับรู้เบื้องต้น ด้วยอำนาจของสติและปัญญา ไม่เช่นนั้นจิตจะต้องสั่งสมความรุ่มร้อนขึ้นทั้งคืนทั้งวัน ทนไม่ไหว ย่อมเทียบกันได้กับส่วนร่ากายที่มีโรคภัยเกิดขึ้น นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงขั้นรุนแรง โดยเจ้าตัวไม่สนใจในการรักษา ปล่อยให้โรคร้ายตั้งบ้านเรือนอยู่บนร่างกายตามลำพัง จนถึงขั้นทนไม่ไหวร่างกายก็แตก เทียบกับใจไม่มีสติ ปล่อยให้กิเลสทยอยเข้ามาทั้งวันทั้งคืน โดยเราเปิดช่องทางให้เสียเอง คือเปิดทวารภายในออกรับข้าศึกภายนอกให้เข้ามารังควานจิตอย่างอิสรเสรี ไม่มีสติปัญญาเครื่องหักห้ามและกลั่นกรอง โรคกิเลสภายในนับวันกำเริบรุนแรง อย่างน้อยก็ทำตามอำนาจความผลักดันหนักเข้าเพศก็แตก เพราะโรคภายในบีบบังคับ

ฉะนั้น การปลีกตัวแสวงหาที่ซ่อนเร้นในสถานที่วิเวกสงัด ก็เพื่อจะหลบหลีกสิ่งก่อกวนความเพียรไม่ให้เป็นไปโดยสะดวก และเป็นแนวทางของพระพุทธเจ้าพาดำเนินมา ซึ่งเป็นที่เหมาะสำหรับนักบวชผู้มุ่งปฏิบัติจะอยู่อาศัยเพื่อความเพียรและจริตนิสัย ทั้งมีโอกาสบำรุงใจได้มากกว่าที่อื่นใด การอบรมด้วยข้อปฏิบัติอันชอบในสถานที่เหมาะสม จึงเทียบกับการแสวงหายามาพอกแผลในอวัยวะให้ค่อยหายไป และพยายามกีดกันสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อแผล ไม่ให้มาทิ่มแทงแผลซึ่งคอยจะกำเริบอยู่แล้วให้กำเริบยิ่งขึ้น วิธีการเช่นนี้เป็นทางก้าวเข้าสู่ความสงบสุขของจิตทุก ๆ ประโยคความเพียร เพราะเวลานี้ไม่มีอะไรเป็นข้าศึกต่อเรา นอกจากใจที่พยายามสั่งสมอารมณ์อันเป็นข้าศึกขึ้นเผาผลาญตนเอง เพราะความไม่สนใจต่อสติปัญญาเครื่องขับไล่สิ่งมัวหมองให้ล่าถอยออกไปจากตัวเท่านั้น

หลักการปฏิบัติเพื่อความไม่วกเวียนในกรอบของวัฏฏะ ต้องเป็นผู้ใหม่ต่อความเพียรเสมอ มีความระมัดระวังทุกกรณี เหมือนแม่เนื้อระวังสัตว์ร้ายและนายพราน แม้จะไปเที่ยวหากินที่ไหนตามความจำเป็นบังคับ แม่เนื้อไม่เคยนอนใจต่อสถานที่และอันตราย แม้ที่สุดกำลังกลืนผลไม้หรือกัดกินหญ้าอยู่ ยังต้องระวังอันตราย แม่เนื้อปฏิบัติต่อตนเองดังที่กล่าวมา

เราผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าผู้ฉลาดรอบคอบในสิ่งทั้งปวง ควรทำตัวเหมือนแม่เนื้อจะสมนามว่าศิษย์มีครู ไม่ควรทำความสนิทติดใจกับสิ่งใดจนเกินไป จะเป็นเหตุให้ลืมตัวและเป็นทางเสื่อมเสียโดยไม่รู้สึก การฝึกหัดสติระมัดระวังเพื่อรู้สาเหตุของความผิดชอบชั่วดี และฝึกหัดปัญญาตรวจตรา และไตร่ตรองดูสิ่งที่ผ่านเข้าผ่านออกจากทวาร คือ ตา หู กาย ใจ ฯลฯ จนสามารถรู้ชัดตามสิ่งดีและชั่วแล้ว รีบแก้ไขด้วยความไม่นอนใจนั้น เป็นทางเดินของผู้เห็นภัยในวัฏฏะ เพราะพระพุทธเจ้าผู้พ้นภัยและทรงบรรลุถึงความร่มเย็นอย่างสมบูรณ์ ท่านดำเนินอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่แบบนอนจมอยู่กับอารมณ์ ทำนองสัตว์นอนจมกองมูตรกองคูถโดยไม่คิดหาทางออกเช่นนั้น และวิธีฝึกหัดสติปัญญาให้มีความเคยชินต่อเหตุการณ์ทุกระยะนั้น

พึงทำความพยายามกับการเคลื่อนไหวไปมา และเวลานั่งภาวนาทำความรู้สึกให้ติดต่อกัน และพยายามทำเสมอ เช่นเดียวกับเด็กฝึกนั่ง ยืน เดิน เบื้องต้นก็มีการล้มลุกคลุกคลาน ต่อไปเด็กย่อมมีความชำนาญเพราะการฝึกหัดเสมอ จนกลายเป็นอิริยาบถของผู้ใหญ่ขึ้นมาในตัวของเด็ก ลักษณะของสติปัญญาย่อมมีทางเจริญและชำนาญได้ด้วยวิธีฝึกหัด ในทำนองเดียวกันคนมีสติปัญญาประจำใจย่อมมีทางรู้เรื่องของตัว จะพิจารณาอาการของกายหรือสภาวธรรมภายนอก ก็ย่อมเป็นธรรมและมีอุบายแยบคายเพิ่มขึ้นทุกระยะ และมีทางเอาตัวรอดไปได้โดยลำดับ ฉะนั้นสติกับปัญญาจึงเป็นธรรมจำเป็นที่จะแนบกับกิจการทุกแขนงทั้งทางโลกและทางธรรม ผู้บกพร่องหรือขาดสติอย่างเต็มที่ ย่อมกลายเป็นคนบ้าคนบอไปตามที่เห็น ๆ กันอยู่ ทั้งนี้ล้วนเป็นผลมาจากความขาดสติทั้งนั้น อย่าพึงเข้าใจว่าเป็นมาจากเรื่องอะไรอื่น

เราไม่เป็นคนเช่นนั้น แต่ก็เป็นคนในลักษณะขาดสติประจำความเพียร ผลที่ปรากฏขึ้นจึงเป็นความรุ่มร้อนภายในใจ ทำให้ที่กินอยู่หลับนอนคับแคบไปหมด วัน คืน เดือน ปี ดินฟ้าอากาศ อาหารหวานคาว เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ตลอดญาติมิตรเพื่อนฝูงอันเป็นที่ฝากชีวิตจิตใจ ฝากเป็นฝากตาย ก็กลายเป็นข้าศึกไปเสียสิ้น ไม่มีสิ่งใดจะเป็นที่เจริญหู เจริญตา เจริญใจ แต่กลับกลายเป็นศัตรูต่อตนทางความรู้สึก มองดูโลกที่เคยอยู่อาศัยก็กลายเป็นกองเพลิงไปทั่วดินแดน เพราะความทุกข์ร้อนภายในมีกำลังกล้า ปกปิดกำบังทางเดินเพื่อความปลอดภัยไว้เสียทุกด้าน แล้วเปิดทางโลกวินาศไว้คอยต้อนรับ ผลจึงกลายเป็นความพินาศไปตามสาเหตุ ฉะนั้นโปรดทราบไว้แต่ต้นทางว่า เรื่องที่กล่าวมาทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และเรื่องสติปัญญาซึ่งเป็นทำนบกั้นกางโลกวินาศเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยพอจะนิ่งนอนใจไม่นำพา เพราะเรื่องความเสื่อมความเจริญอันจะปรากฏขึ้นกับเราแต่ละท่าน จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสติปัญญาโดยตรง

การกล่าวเพื่อบำรุงสติปัญญาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็เพราะเห็นภัยซึ่งเคยเกิดขึ้น ทั้งแก่ตนและแก่ท่าน อย่างซับซ้อนแหลกเหลวจนประมาณมิได้ เพราะความขาดธรรม คือ สติ ปัญญาเครื่องแก้ไขบั่นทอน การฝึกฝนสติจนมีความเคยชิน ย่อมเป็นผลดีทั้งทางด้านสมาธิและด้านปัญญา ทั้งจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันกับเหตุการณ์ เพราะจิตไม่มีทางเล็ดลอดออกทำการติดต่อกับอารมณ์ ให้เป็นความมัวหมองและเสื่อมโทรม เช่นเดียวกับโจรที่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมอยู่ เขาจะค่อยกลายเป็นคนดีต่อไป ขณะที่เขาเป็นโจรไปเที่ยวปล้นหรือขโมยของใคร ๆ นั้น ไม่มีใครรู้และควบคุมเขา เขาจึงทำความชั่วได้ในขณะนั้น

ใจซึ่งเป็นโจรภายในก็เช่นเดียวกัน ขณะที่มีสติควบคุมอยู่ จิตจะทำความเสียหายขึ้นมาไม่ได้ ต่อเมื่อเผลอนั่นแล จิตจะทำความเสียหายจนปรากฏผล คือความทุกข์ร้อนขึ้นมาในขณะนั้น แต่ถ้ามีสติควบคุมบังคับไม่ให้เกี่ยวข้องและสนใจกับสิ่งที่เป็นข้าศึก พยายามดัดแปลงให้เข้าสู่กรอบแห่งหลักธรรมที่ตั้งไว้ มีอาการ ๓๒ ของกาย อาการใดก็ได้ ลมหายใจก็ได้ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ก็ได้ ตามจริตชอบ จิตจำต้องทำงานตามลำดับของสติที่ติดต่อกันในระยะสั้นหรือยาว ความสงบทั้งนี้จะเป็นเชื้อและสื่อให้เกิดศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสต่อการดำเนินของตน และเชื่อในมรรคผลแจ่มชัดขึ้นกับใจ ความเพียรก็นับวันมีกำลังขึ้นทุกประโยค ความเพียรจะมีจุดที่หมายเป็นเครื่องดึงดูดใจ ให้เร่งรีบต่อการดำเนินของตน ผลยิ่งแสดงเป็นความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นทุกวัน ทั้งด้านความสงบและความสุขจะทรงตัวอยู่ได้นาน ผู้ปฏิบัติทำความพยายามยิ่งขึ้น ผลจำต้องสนองตามวาระของความเพียร จนมีความชำนาญทางด้านสมาธิ คือให้พักและถอนได้ตามความต้องการ

อันดับต่อไป ควรใช้ปัญญาใคร่ครวญในสภาวธรรม มีกายเป็นต้น ในเวลาจิตถอนจากสมาธิแล้ว เพื่อสมาธิกับปัญญาจะได้เป็นคู่เคียงกันไปตามหน้าที่และโอกาส วิธีใช้ปัญญาขั้นต้น ต้องอาศัยการฝึกหัดเช่นเดียวกับทางสมาธิ โดยพาพิจารณาไตร่ตรองตามธาตุขันธ์อายตนะ อันเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงแปรปรวน ทั้งภายนอกภายในเต็มไปด้วยสิ่งผสมนานาประการ ไม่มีแม้สิ่งเดียวจะเป็นที่พึงใจและคงอยู่ตลอดไป แม้อารมณ์ดี ชั่ว สุข ทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับจิตอยู่ทุกขณะก็เต็มไปด้วยวิปริณามธรรม มีความแปรปรวนเสมอกัน คำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา คือสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น

มองลงไปที่กาย ที่ใจ จะพบแต่เรื่องไตรลักษณ์ทำงานอยู่ทุกขณะ ทั้งภายในภายนอกไม่มีช่องว่างแม้เท่าจุดเม็ดทราย พิจารณาทำนองนี้จนกว่าปัญญาจะเคยชินต่อหน้าที่และสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับตน นับวันจะเป็นความสะดวกในการพิจารณา เช่นเดียวกับจิตที่เคยเป็นสมาธิแล้ว ย่อมมีทางจะเป็นสมาธิไปเรื่อย ๆ จิตที่เคลื่อนออกทางปัญญาแล้ว ย่อมมีทางจะเป็นปัญญาไปเรื่อย ๆ จากความเพียรที่คอยหนุนหลังเสมอ เมื่อถึงปัญญาขั้นละเอียดแล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นปัญญา ในอิริยาบถทั้งสี่จะไหวตัวด้วยปัญญา เพราะสิ่งสัมผัสซึ่งเกี่ยวข้องกับอายตนะอันเป็นทำนองเตือนสติปัญญา ให้สะดุ้งตัวรับรู้และตรองตามนั้น มีอยู่ทุกระยะ ไม่เลือกวัน คืน เดือน ปี จิตจะหาเวลาว่างจากสิ่งสัมผัสไม่ได้เลย

เพราะตามธรรมดา จิตเป็นบ่ออารมณ์อยู่แล้ว ยิ่งมีสิ่งเกี่ยวข้องก็ยิ่งถือว่ามีงานทำ ฉะนั้นงานของจิตจึงไม่มีวันเสาร์ วันอาทิตย์ วันพระ วันโกน แต่เป็นวันงานไปเสียทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น หน้าที่ของสติปัญญาที่เตรียมฝึกซ้อมมาแล้วด้วยความเพียร จำต้องรู้สึกตัว และพิจารณาทันทีที่สิ่งนั้น ๆ มากระทบ เรื่องสภาวธรรมกับจิต และเรื่องของสติปัญญาทำหน้าที่ต่อกันไม่มีเวลาว่าง เช่นเดียวกับเรื่องสมุทัยทำการสั่งสมทุกข์ในคราวเขามีอำนาจฉะนั้น ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันกับการถอดถอนทุกข์สมุทัย ซึ่งเคยตั้งรากฐานบ้านเรือนอยู่บนหัวใจของเรามานาน การคุ้ยเขี่ยขุดค้นของปัญญาที่เคยชินต่อหน้าที่ของตนในขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติอาจจะเพลินจนลืมพักจิตในสมาธิตามโอกาสอันควรก็ได้ ดังนั้นเพื่อความราบรื่นและสม่ำเสมอจึงควรสนใจในสมาธิกับปัญญาเท่า ๆ กัน ไม่เช่นนั้นอาจจะหนักเบาไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้เนิ่นช้าต่อทางดำเนินที่ควรจะสะดวกและรวดเร็ว เพราะสมาธิกับปัญญาทำหน้าที่ไม่กลมเกลียวกัน

ปัญญาขั้นนี้แม้จะมีความเพลินต่อการพิจารณาสภาวธรรมเป็นอย่างมาก ก็ควรหยุดพักในสมาธิเป็นบางเวลา ถึงจะไม่นานก็ยังมีกำลังหนุนปัญญาเพื่อการพิจารณาต่อไป การติดสมาธิไม่ยอมถอนตัวออกเพื่อปัญญาก็ดี การเพลิดเพลินในปัญญาจนลืมตัวไม่ยอมพักจิตในสมาธิก็ดี ทั้งที่เคยถูกพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสยิ่งเตือนมาแล้ว แต่เพราะทิฐิเรามันสูงไม่ยอมรับท่าน มิหนำยังกลับอวดฉลาดเถียงท่านว่าตนดำเนินถูกไม่ยอมรับผิด ท่านก็ดุเอาบ้าง แม้เช่นนั้นยังไม่ยอมลงรอยกับท่าน เพราะถือว่าตนถูกนั่นเอง เป็นเพียงยึดคำพูดของท่านไว้พิจารณา ยังไม่ปฏิบัติตามด้วยความเชื่อและเต็มใจ

ครั้นทำไป ๆ ผลสุดท้ายต้องยอมกราบท่านโดยหลักธรรมชาติ ปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น คำที่กล่าวนี้ทุกท่านโปรดรับทราบไว้ เพราะต่างท่านต่างจะเดินไปในทางสงบสายเดียวกัน ปัญญาขั้นนี้ควรจะเรียกว่าปัญญาธรรมจักร เพราะหมุนรอบตัวทั้งวันทั้งคืน และเป็นขั้นฟังธรรมเทศนาในหลักธรรมชาติ ไม่มีเวลาหยุดยั้งระหว่างจิตกับอารมณ์ จิตกับอารมณ์ก็ดี สติกับปัญญาก็ดี ทำหน้าที่ต่อกันโดยติดต่อไม่ขาดวรรคขาดตอน เหมือนลูกโซ่ที่เกี่ยวโยงกันเป็นลำดับ

เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญมาถึงขั้นนี้ ถ้าไม่มีผู้แนะนำให้รู้ตัวไว้ก่อน อาจจะตำหนิสมาธิที่เคยให้คุณแก่ตนมา ว่าสมาธินอนสงบนิ่งอยู่เฉย ๆ ไม่ทำงาน ถ้าเข้าพักในสมาธิก็กลัวจะเป็นบุคคลที่นอนนิ่งไม่ทำงาน เลยกลายเป็นบุคคลไม่มีสถานีจอดพัก หลักปัญญาก็ไม่แน่นและแยบคายเท่าที่ควร เพราะโทษแห่งความไม่รู้ประมาณ สมาธิซึ่งเป็นกองเสบียงหนุนปัญญาก็หาว่าสิ้นสาระ ทั้งนี้อาจเป็นได้เพราะเราทุกคนเกิดมาไม่เคยเกิดกับศีล สมาธิ ปัญญา และพ่อแม่ไม่เคยพาตั้งบ้านเรือนให้เป็นศีล สมาธิ ปัญญา พอจะให้มีความฉลาดช่ำชองในทางนี้มาแต่เล็ก ๆ จึงอาจจะพลาดได้บ้างเป็นธรรมดา เพราะทางไม่เคยเดิน ต่างก็เริ่มปฏิบัติต่อเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงน่าเห็นใจทั้งเราทั้งท่าน ที่ต่างก็มุมานะมาบำเพ็ญด้วยความเชื่อเลื่อมใสและเต็มใจด้วยกัน หวังว่าพวกเราคงได้รับประทานอภัยจากพระธรรมเท่าที่ควร

ดังนั้นในวาระต่อไป โปรดทราบอนุสนธิแห่งธรรมที่สืบเนื่องกันมายังไม่จบ เพื่อเป็นคติแก่ท่านผู้ฟัง ขออธิบายต่อไปจนกว่าจะเห็นว่าสมควร

ความจริงทั้งสมาธิทั้งปัญญาต่างมีคุณค่าด้วยกัน เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามหน้าที่และโอกาสที่ควร หากมีความรอบคอบกับปัญญาอีกวาระหนึ่ง จะดำเนินสมาธิและปัญญาได้ด้วยความสม่ำเสมอ ไม่หนักเบาในฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และจะถึงจุดหมายได้ตามใจหวัง ทั้งไม่ล่อแหลมต่อสิ่งไม่พึงปรารถนา อันจะเกิดจากสมาธิหรือปัญญาไม่พอดี ตามที่เคยปรากฏจากวงปฏิบัติเรา ปัญญาที่มีสมาธิอบรมด้วยดีแล้ว ย่อมหมุนไปเพื่อหาทางแก้กิเลสอาสวะโดยถ่ายเดียวไม่เนิ่นช้า ความเห็นโทษแห่งวัฏฏะก็เห็นเพื่อความเพียรโดยชอบ ไม่เห็นเป็นความโลดโผนอันเป็นลักษณะคนขาดสติและปัญญาความรอบคอบในมารยาท จนกลายเป็นบุคคลที่น่าเกลียดต่อหมู่คณะและประชาชนโดยเจ้าตัวไม่รู้สึก

เพื่อความรอบคอบในปฏิปทาเครื่องดำเนิน จงทำความมั่นใจในสมาธิและปัญญาว่า เป็นธรรมมีคุณค่าเสมอกันเพื่อการดำเนินไปสู่จุดหมาย เพราะการปรับปรุงสมาธิกับปัญญาให้กลมเกลียวกันโดยถูกต้อง การดำเนินปัญญาจะรอบคอบในสิ่งทั้งปวง และปัญญาขั้นนี้จะมีการสังเกตเหตุผลดีชั่ว ระหว่างจิตกับอารมณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกันอยู่ทุกขณะ นอกจากนั้นยังค้นเข้าไปตามสาเหตุของอารมณ์ดีชั่วอีกด้วย สาเหตุนั้นคือ ที่รวมของทุกข์กับสมุทัยอันเป็นกงของวัฏจักรที่พาสัตว์หมุนให้เกิดตายไม่มีสิ้นสุด ถ้าไม่ถูกทำลายเสีย สาเหตุก็ดี อารมณ์ที่เกิดจากสาเหตุก็ดี ย่อมกลายเป็นที่ทำงานของสติปัญญาประเภทนี้ทำการวินิจฉัยเพื่อความรู้ และทำลายการทำงานด้วยความเพียรที่สนใจจริง ๆ ไม่ว่างานชนิดใด ต้องถึงแดนแห่งความสำเร็จ

งานของความเพียรภายใน อันเป็นไปด้วยสติปัญญาก็เช่นเดียวกัน ย่อมจะสามารถคลี่คลายดูสิ่งปิดบัง ซึ่งฝังจมอยู่ภายในจิต ให้เปิดเผยขึ้นมาโดยไม่มีอะไรสามารถมากีดขวางได้ สิ่งปิดบังในที่นี้ได้แก่อวิชชา คือยอดแห่งความมืดมิด สามารถปิดบังใจดวงรู้ ๆ ไว้ในอำนาจของตน โดยไม่มีกลางวันกลางคืน แม้จะให้นามว่า ยอดแห่งความหลงก็คงไม่ผิดจากธรรมชาตินี้แน่ เพราะมีอยู่กับคนทุกคน ถ้าปัญญาไม่สามารถรู้เท่าทันและแก้ไขได้ นี่แลจะพาให้สัตว์ก่อกำเนิด เกิดเป็นภพเป็นชาติและผลิตทุกข์ขึ้นมาไม่มีวันจบสิ้น แต่ขึ้นชื่อว่าความเพียรของผู้สัมปยุตด้วยสติปัญญาแล้ว ต้องสามารถรู้และทำลายได้ในเวลาหนึ่งแน่นอน

ผู้ปฏิบัติทุกเพศจะเห็นกำลังสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรทำลายที่มั่นของวัฏจักรคือ อวิชชาออกจากใจโดยสิ้นเชิง ในขณะเดียวกันจะประสบแดนแห่งวิวัฏฏะ คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ขึ้นกับใจดวงที่เคยโง่ต่อวัฏฏะมาเป็นเวลานาน พออวิชชาดับไปเท่านั้น ปัญญาที่เคยหมุนตัวอยู่รอบด้านเหมือนเครื่องจักรเครื่องยนต์ย่อมยุติลง เพราะหมดเหตุปัจจัยทำความกระเทือน สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติของตนก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีสิ่งแทรกซึม จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาตามที่เคยเป็นมา ท่านผู้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงแล้ว ย่อมปฏิบัติต่อขันธ์เพื่อความอยู่สบายในทิฏฐธรรมปัจจุบัน และเพื่อทำประโยชน์ตามโอกาสอันควร

เพราะฉะนั้นการบำเพ็ญของพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ จึงปรากฏเป็นไปอยู่ตลอดวันนิพพาน ไม่ทรงลดละโดยถือขันธ์เป็นเหตุ ผู้ปฏิบัติถึงขั้นทำลายต้นเหตุของกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวลแล้ว ย่อมเป็นผู้มีอิริยาบถเป็นที่สบาย เพราะมีปัจจุบันธรรมอันบริสุทธิ์เป็นที่อยู่อาศัย ศีลก็ย่อมเป็นปกติตามหลักธรรมชาติ ไม่เป็นศีลที่คะนองและลำพองตัว ซึ่งจะถูกบังคับอย่างกวดขัน เช่นเขาบังคับคนต้องโทษในเรือนจำ สมาธิย่อมเป็นไปตามหลักธรรมชาติ ไม่เป็นสมาธิในลักษณะผู้ต้องหา ซึ่งจะถูกพานำเข้านำออกด้วยการบังคับ เช่นเขานำผู้ต้องหาเข้าออกจากที่คุมขัง มีการพักสงบได้ตามสบาย และปัญญาย่อมเป็นปัญญาในหลักธรรมชาติ ไม่หดหู่และห้อยโหนโยนตัวเกินประมาณในลักษณะลิง ค่าง บ่าง ชะนี แต่พิจารณาไปตามเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องตามโอกาสอันควร ศีล สมาธิ ปัญญาทั้งสามนี้จึงกลายเป็นเครื่องประดับ และเสริมใจของท่านให้มีความสะดวกกายสบายใจในทิฏฐธรรม เช่นเดียวกับวิหารธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงอาศัยประจำพระอิริยาบถตลอดวันนิพพาน

นี่แลผลอันเป็นที่พอใจซึ่งผู้ปฏิบัติจะพึงได้รับ โปรดฟังให้ถึงใจ เรื่องความมีกิเลส วิธีการแก้กิเลสและกิเลสหมดสิ้นไปจากใจ ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของผู้อื่นใด แต่เป็นเรื่องของเราแต่ละท่าน ซึ่งฟังกันอยู่ขณะนี้ จะนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขตนเอง จนปรากฏเป็นผู้สิ้นกิเลสขึ้นมาที่หัวใจดวงกำลังมีกิเลสอยู่ขณะนี้ แต่การบำเพ็ญเพื่อสิ้นกิเลส โปรดอย่าทำตนเหมือนคนสิ้นกิเลสแล้ว คือทำตัวเป็นเศรษฐีธรรมทั้งที่กำลังจน ๆ อยู่ จงทำความเห็นภัยว่าตนยังมีกิเลสอยู่ทุกขณะ จะเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้นอนใจในความพยายาม และโปรดคำนึงถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นเศรษฐีธรรมอยู่เสมอ พระองค์ไม่เคยวางร่องรอยความเกียจคร้านอ่อนแอไว้ให้บรรดาสัตว์ถือเอาเยี่ยงอย่างมาดำเนิน นับแต่วันเสด็จออกทรงผนวชถึงวันตรัสรู้ ตลอดวันนิพพาน

ฉะนั้น คำว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนก้าวล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร จึงเป็นธรรมที่ทันกับการหมุนตัวของมนุษย์ทั่วโลกและแดนธรรมะ ไม่เคยล้าสมัยต่อเหตุการณ์ที่ผู้นำธรรมบทนี้ไปดำเนินเลย ปัญหาจึงมีเพียงสั้น ๆ ว่า เราอย่าทำตนให้ล้าสมัยต่อธรรมบทนี้เท่านั้น จะเป็นผู้เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม และธรรมบทว่า สนฺทิฏฺฐิโก และ ปจฺจตฺตํ ไม่ใช่เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ แต่ประทานไว้เพื่อผู้ปฏิบัติเป็น สุปฏิปนฺโน อุชุ ญาย สามีจิ ทั้งหญิง ทั้งชาย จะเป็นสมบัติของแต่ละท่านสมกับพระเมตตาที่มีแก่โลกทั่ว ๆ ไป ดังนั้นจึงใคร่ขอความร่วมมือกับทุกท่าน โปรดปฏิบัติด้วยความองอาจกล้าหาญทุกประโยคความเพียรในอิริยาบถ จะปรากฏ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ธรรมชาติอันเป็นสมบัติของเราแท้ ซึ่งประทับรออยู่บนหัวใจของทุกท่านผู้มุ่งตามเสด็จในวันหนึ่งโดยไม่สงสัย

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขอความสมหวังที่ตั้งไว้ จงสำเร็จแก่ทุกท่านผู้ตั้งใจปฏิบัติโดยทั่วหน้ากันเทอญ

 

www.Luangta.com or www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก