เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๙
พระเมตตาสงสารต่อสัตว์โลก
ที่ประเพณีเราถือกันมาว่า
พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ
กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา
เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ
นั้นหมายถึงท้าวมหาพรหมลงมาอาราธนาพระพุทธเจ้า ให้ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก เริ่มแรกก็คือพระพุทธเจ้าได้ทรงปรารถนาเป็นโพธิญาณ เพื่อความตรัสรู้เป็นศาสดาเอกของโลก แล้วโปรดบรรดาสัตว์จนกว่าจะถึงอายุกาลของพระองค์ แล้วประทานพระศาสนาไว้ นี่เป็นความปรารถนาดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า พอบำเพ็ญพระองค์จนได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระทัยดวงที่ได้พระนามว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้จะทรงสั่งสอนสัตว์โลกนั้น เป็นพระทัยที่บริสุทธิ์สุดส่วน เป็นความอัศจรรย์เหนือโลกทั้งสาม ไม่มีสิ่งใดละเอียดอ่อนและอัศจรรย์ยิ่งกว่าพระทัยที่ได้ตรัสรู้ในวันเดือนหกเพ็ญ ปัจฉิมยาม เวลาจวนสว่าง
เมื่อทรงเห็นธรรมอัศจรรย์ภายในพระทัยแล้ว ทรงเทียบดูใจสัตว์ทั้งหลายที่เต็มไปด้วยกิเลสความโสมม กับธรรมประเภทที่จะนำไปสั่งสอนสัตว์โลกนี้ รู้สึกว่าไกลกันห่างกันลิบลับ ทำให้ท้อพระทัยคือท้อใจ ภาษาเราพระทัยก็หมายถึงใจ ทำให้ท้อใจไม่อยากสั่งสอนใครๆ ทรงทำความขวนขวายน้อย อยากจะอยู่ลำพังพระองค์เดียว แม้จะพูดให้ใครฟังก็ไม่มีใครจะทราบจะรู้เรื่องรู้ราวได้ เพราะอันหนึ่งหนา มืดแปดทิศแปดด้าน อันหนึ่งเป็นธรรมชาติอัศจรรย์ จะเข้ากันได้อย่างไร ทำให้ทรงมีความขวนขวายน้อย การสงสารสัตว์โลกก็สงสารเต็มพระทัย แต่ที่จะแนะนำสั่งสอนให้สัตว์โลกทราบหรือได้รู้ได้เห็นได้นั้นน่าจะสุดวิสัย ในขณะนั้นทรงคิดรำพึงเฉพาะในวงปัจจุบันที่ทรงรู้ทรงเห็นเท่านั้น ไม่ได้แยกแยะออกไปถึงปฏิปทาเครื่องดำเนิน
หลังจากนั้นก็เป็นเหตุให้ทรงคิดถึงปฏิปทาเครื่องดำเนินที่ทรงบำเพ็ญมานี้ และยกเอาความบริสุทธิ์อัศจรรย์นั้นขึ้นพิจารณาเทียบเคียงทดสอบว่า ถ้าหากธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่สุดวิสัยของโลกทั้งหลายจะพึงรู้ได้เห็นได้จริงอย่างที่ว่านั้น เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับมนุษย์ทั่วๆ ไป เหตุใดเราถึงรู้ถึงเห็นได้ เรารู้ได้เห็นได้เพราะเหตุไร ก็เป็นเหตุให้ขยายเรื่องราวออกไปถึงปฏิปทาทางดำเนินเข้ามาสู่ธรรมจุดนี้ ก็ทรงเข้าพระทัยว่า เรารู้ได้ด้วยเหตุนั้นๆ
ยกตัวอย่างย่อๆ ก็ทรงพิจารณา อานาปานสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าออก ภาษาของเราเรียกว่า กำหนดลมหายใจเข้าออก ด้วยความมีสติ เมื่อจิตมีความจดจ่อต่อเนื่องกันอยู่กับลมโดยลำดับ ด้วยความมีสติเป็นเครื่องประคับประคองไม่ให้พลั้งเผลอจากงานของตนอยู่แล้ว จิตที่เคยคิดยุ่งเหยิงวุ่นวายไปกับอารมณ์ต่างๆ ก็รวมตัวเข้ามาสู่จุดแห่งงานที่กำลังทำอยู่เวลานั้น ได้แก่อานาปานสติ จนพระจิตของพระองค์สงบรวมลงอย่างละเอียดสุขุม แล้วทรงพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท ในขณะนั้น คือทรงถอยออกมาพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท เพราะถึงขั้นแห่งธรรมอันละเอียดแล้ว เนื่องจากใจมีความละเอียดเพราะปราศจากอารมณ์ใดๆ มาก่อกวน เริ่มแต่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา,สงฺขารปจฺจยา วิญญาณํ, วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ, นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ...เรื่อยไป กำหนดดูความดับของจิต อาการของจิตมีอะไรเป็นสาเหตุให้ปรุงแต่งด้วยเรื่องราวต่างๆ ไม่จบสิ้น เพราะความอยากไม่มีวันอิ่มพอเป็นเครื่องหนุนออกมา อะไรเป็นเหตุให้อยาก อะไรเป็นสาเหตุให้คิดให้ปรุงถึงกับต้องมีภพมีชาติ มีความเกิดแก่เจ็บตายไม่แล้วไม่เล่าสักที
กำหนดเข้าไปสู่ต้นเหตุแห่งภพแห่งชาติ แห่งความเกิดแก่เจ็บตาย หรือต้นเหตุของกิเลสแท้ๆ ก็ได้แก่อวิชชา รวมตัวอยู่ภายในจิตใจดวงเดียวในขณะนั้น ไม่มีกิ่งก้านแขนงใดๆ แสดงตัวออกไปทางอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ทรงทราบชัดและทำลายอวิชชาในขณะนั้นที่เรียกว่าตรัสรู้ นั่นแหละท่านได้ตรัสรู้ ด้วยปฏิปทาที่ทรงดำเนินเข้าถึงธรรมอัศจรรย์นั้น การดำเนินในขั้นเริ่มแรกก็ทรงพิจารณาอานาปานสติ และกำหนดวิปัสสนาญาณในขณะนั้น วิปัสสนาญาณคือความละเอียดแห่งพระปัญญาปรีชาสามารถรอบรู้ในสิ่งที่เกี่ยวพันกับจิต แม้จะเป็นส่วนละเอียดเพียงไร คืออวิชชาเป็นความละเอียดมากในบรรดากิเลสทุกประเภท ไม่มีกิเลสประเภทใดละเอียดแหลมคมและน่าติดยิ่งกว่าอวิชชา แต่พระปัญญามีความละเอียดสามารถยิ่งกว่าอวิชชา จึงสามารถถอดถอนหรือรื้อถอนธรรมชาตินั้นออกจากพระทัยได้ กลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมา
เมื่อทรงทบทวนทั้งเหตุคือการปฏิบัติของพระองค์ และผลคือความบริสุทธิ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงปลงพระทัย เอ้อ สั่งสอนสัตว์โลกได้แล้วละที่นี่ เพราะมีทางดำเนิน จำต้องสั่งสอนอุบายวิธีต่างๆ ดังที่เราได้ปฏิบัติมาแก่บรรดาสัตว์ ผู้มีอุปนิสัยสมควรจะได้รู้ได้เห็น ต้องรู้ต้องเห็น เพราะความจริงเหล่านี้มีอยู่กับทุกคน สิ่งที่ปกปิดกำบังจิตใจก็ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นี่มันปิดบังจิตใจของสัตว์ไว้ จนกลายเป็นของไม่มีคุณค่าอันใดทั้งสิ้น โดยเห็นสิ่งอื่นว่าเป็นของที่มีคุณค่ากว่าใจไปเสียสิ้น ลืมสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง เพราะถูกสิ่งที่ไม่มีคุณค่าปกปิดกำบังไว้รอบดวงใจ ดังที่เคยเป็นในพระองค์มาแล้ว ต้องใช้สติปัญญาบุกเบิกเต็มพระสติกำลังความสามารถ ราวกับฟ้าดินถล่ม กว่าจะคว่ำจอมกษัตริย์วัฏจักรลงได้ โดยยึดอานาปานสติเป็นสนามรบ และพิจารณาปัจจยาการตามลำดับ
คำว่าสมาธิก็มาพร้อมกันกับขณะที่จิตมีความสงบด้วยอานาปานสติ คำว่าปัญญาเมื่อจิตสงบตัวเข้าแล้วก็มีพลัง สามารถแยกแยะพิจารณาส่วนต่างๆ ของร่างกายและขันธ์ต่างๆ เกี่ยวโยงกับอวิชชา และหยั่งเข้าไปถึงตัวการของสมมุติคืออวิชชาได้อย่างตลอดทั่วถึง จนได้บรรลุธรรมหรือตรัสรู้ขึ้นมา นิโรธคือความดับทุกข์ ก็ดับทุกข์อย่างสนิทในขณะที่กิเลสดับไปโดยสิ้นเชิง มรรคมีสติปัญญาเป็นต้นก็หมดหน้าที่ นิโรธคือความดับทุกข์ เพียงดับทุกข์ขณะเดียวเท่านั้นก็หมดปัญหาไป เพราะไม่มีทุกข์ใดที่จะมาให้ดับแล้ว เนื่องจากสาเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ไม่มี ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ดับไป กิเลสดับไป นิโรธทำหน้าที่ผ่านไป มรรคทำหน้าที่ประหารกิเลสแล้วผ่านไป นั้นคือความบริสุทธิ์ เมื่อได้ถึงความบริสุทธิ์แล้วจึงทรงรู้เห็นความอัศจรรย์อย่างประจักษ์ และทรงมีความขวนขวายน้อย ว่าเป็นสิ่งที่เหลือวิสัยที่สัตว์ทั้งหลายจะรู้ได้
เมื่อได้ทรงทบทวนปฏิปทาเกี่ยวโยงกันกับผล คือทั้งเหตุทั้งผลเกี่ยวโยงกันแล้ว จึงปลงพระทัยที่จะสั่งสอนสัตว์ หลังจากนั้นจึงทรงเล็งญาณว่า สมควรจะสั่งสอนบุคคลผู้ใดก่อน ซึ่งควรจะบรรลุธรรมได้ในเวลาอันรวดเร็ว พระทัยก็ประหวัดถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบสทั้งสอง ซึ่งเคยเป็นครูเป็นอาจารย์พระองค์มาแต่ก่อน แต่ไม่ใช่ทาง จึงทรงหลีกหนีจากดาบสทั้งสองนั้นเสีย เมื่อตรัสรู้แล้วจึงทรงมีพระเมตตาจะทรงย้อนไปสั่งสอนดาบสทั้งสองนี้ ว่าเป็นผู้ควรจะรู้ธรรมได้อย่างรวดเร็ว แต่ทรงทราบในพระญาณว่าได้สิ้นไปเสียแล้วตั้งแต่เย็นวานนี้ น่าเสียดาย ก็ทอดพระทัยหมดหวังที่จะไปสั่งสอน จึงทรงย้อนกลับมาถึงเบญจวัคคีย์ทั้งห้า ว่าท่านเหล่านี้เป็นผู้สมควรที่จะรู้เห็นธรรมเหล่านี้อย่างรวดเร็ว จึงได้เสด็จไปสั่งสอนเบญจวัคคีย์ทั้งห้า
ปฐมเทศนาก็ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เกี่ยวกับทางดำเนินว่า ทางคดโค้งหย่อนยานเกินไปย่อมไม่เกิดผล และการทรมานตนจนเกินไปโดยหาเหตุผลไม่ได้ ก็ย่อมไม่เกิดผลทั้งสองทาง อันดับจากนั้นก็ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางตรงแน่วต่อมรรคผลนิพาน คือ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาวาจา สมฺมาอาชีโว สมฺมากมฺมนฺโต จนกระทั่งถึง สมฺมาสมาธิ ไปโดยลำดับๆ ทรงแสดงอริยสัจ โดยยก ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา ขึ้นแสดง สมุทัยก็แสดง มรรคก็แสดง นิโรธก็แสดง เบญจวัคคีย์ทั้งห้าพระอัญญาโกณฑัญญะที่เป็นหัวหน้า ได้บรรลุพระโสดาบันในขณะประทานพระธรรมจักรจบลง ได้เปล่งอุทานขึ้นว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับ ท่านได้ดวงตาเห็นธรรม
หลังจากนั้นก็แสดงอนัตตลักขณสูตร แสดงเรื่องอนตฺตา รูปก็เป็นอนตฺตา เวทนาก็เป็นอนตฺตา คำว่ารูปไม่ว่ารูปอะไรๆ ทั้งหมดเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาทั้งสิ้น สุดท้ายรวมลงว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งมวลเป็นอนตฺตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง นี่เรียกว่ารวมยอดธรรม จะเป็นรูป เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนใดก็ตาม ไม่เพียงแต่เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เพียงเท่านั้น ยังรวมลงเป็นอนตฺตาทั้งสิ้น คือรวมลงธรรมทั้งหลายเป็นอนตฺตา ท่านเหล่านี้จึงได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่เพราะพระองค์มีพระเมตตาปลงพระทัยในการสั่งสอนสัตว์ในเบื้องต้น ทรงได้พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นพยานในธรรมทั้งหลายที่ตรัสรู้แล้ว และประกาศศาสนาแก่มวลสัตว์
อันดับแรกนี้เป็นธรรมาธิษฐาน ทรงมีพระเมตตาที่จะสั่งสอนสัตว์โลกอยู่แล้วตามความปรารถนาที่ทรงตั้งไว้ อันดับที่สองก็มีท้าวมหาพรหมลงมาอาราธนาดังที่กล่าวไว้เบื้องต้นนั้นว่า พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ มาอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์โลก ผู้มีธุลีอันเบาบางยังมีอีกมาก ท่านเหล่านี้จะได้พ้นทุกข์พ้นภัยตามนิสัยวาสนาและกาลอันเกินควร แม้ผู้ที่ยังหนาอยู่ก็จะพลอยได้รับผลรับประโยชน์และเลื่อนภูมินิสัยวาสนาขึ้นไปตามลำดับแห่งการได้ยินได้ฟังและการอบรมบ่มอินทรีย์
จึงได้มีธรรมเนียมเรื่อยมา เวลาท่านจะเทศน์ก็ พฺรหฺมา จ โลกาฯ ให้ชาวพุทธได้ทราบทั่วกันขณะจะแสดงธรรม แต่กรรมฐานส่วนมากไม่ได้ให้อาราธนาแหละ ท่านนึกน้อมความเคารพถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์ศาสดา อันเป็น นโม ขึ้นมาภายในใจขณะนั้น จากนั้นท่านก็แสดงอุบายต่างๆ อันเป็นอรรถเป็นธรรม เป็นแนวทางที่จะให้คนรู้ดีรู้ชั่วและประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งฝ่ายละและฝ่ายบำเพ็ญไปโดยลำดับ จนกระทั่งสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ยุติ ที่เรียกว่าจบธรรมเทศนา ปกติท่านมักว่า เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ สรุปธรรมทั้งหลายลงใน เอวํ มีเท่านี้ จบเพียงแค่นี้
บางคนก็จะไม่เข้าใจว่า พฺรหฺมาฯ มีมาตั้งแต่ครั้งไร มีมาตั้งแต่ครั้งโน้นแหละ เป็นประเพณีกันมาเรื่อยๆ ถึงเราจะไม่ว่า พฺรหฺมา จ โลกาฯ ก็ตาม การแสดงธรรมก็แสดงเพื่อผู้ฟัง เมื่อเหตุการณ์หรือบุคคลที่ควรจะรับฟังพร้อมกันอยู่แล้วกับผู้เทศน์ พระท่านก็เทศน์ เทศน์แปลว่าบอก แน่ะ เทศนาๆ แปลว่าบอก แปลว่าแนะแนวทางให้ เรียกว่า เทศน์ กรุณาทำความเข้าใจไว้อย่างนั้น
เราได้เกิดมาในท่ามกลางแห่งพระศาสนา ให้พากันระลึกถึง พุทโธ ธมฺโม สงฺโฆ บ้าง วันคืนปีเดือนล่วงไปๆ อย่าให้ล่วงเลยไปเสียเปล่าๆ จะเสียประโยชน์ เมื่อถึงเวลาจำเป็นจะคว้าอะไรไม่เจอ เราพยายามอบรมจิตใจของเราให้มีอรรถมีธรรมมีคุณงามความดี เวลาจำเป็นจำใจขึ้นมา เราจะได้อาศัยอันนี้แลเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะ เป็นเครื่องพยุงจิตใจเราให้มีความอบอุ่น อย่างน้อยก็พอประทัง ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ไม่พังทลายไปแบบไม่เป็นท่าน่าทุเรศเวทนา
เราอยู่ในโลกนี้เราก็พึ่งบุญคือความสุข ถ้ามีแต่ความทุกข์ล้วนๆ แผดเผาอยู่ตลอดเวลาใครจะทนได้ใครจะอยู่ได้ และใครจะอยากมาอยู่ในโลกนี้ เท่าที่อยู่กันได้ก็เพราะมีทั้งความสุขมีทั้งความทุกข์เจือปนกันไป พอบรรเทากันไปในช่วงระยะหนึ่งๆ อาศัยความเย็นบ้างร้อนบ้าง ไม่มีแต่ร้อนอย่างเดียว อาศัยความสุขบ้าง ไม่มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว คนเราเมื่อเจอร้อนย่อมคิดถึงเย็น เมื่อเจอหนาวย่อมคิดถึงความอบอุ่น เมื่อหิวกระหายย่อมคิดถึงอาหารเครื่องเยียวยา เมื่อเกิดทุกข์ย่อมคิดถึงสุขเครื่องแก้กัน อันเป็นความรู้สึกของโลกทั่วไปปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นจึงจำต้องคิดหาสิ่งบรรเทาและแก้กันไว้ก่อนเหตุการณ์ยังไม่เกิด จึงเรียกว่าผู้รอบคอบ
คำว่าบุญก็คือความสุข สาเหตุที่จะให้เกิดความสุขก็คือการกระทำความดี ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ ปุญฺญํ สุขํ ชีวิตสงฺขยมฺหิ บุญทำให้เกิดสุขทั้งปัจจุบันและอนาคตที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ท่านบอกไว้เตือนไว้อย่างนั้นเรื่อยมา เพราะกลัวสัตว์โลกจะเสียท่าให้กิเลสตัวเป็นภัยเอาไปกินไปเผาให้แหลกเสียหมดนั่นเอง คำว่าบุญไม่เคยเป็นภัยต่อผู้ใดสัตว์โลกรายใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่พยุงและสนับสนุนให้มีความสุขความสบาย ไปเกิดในภพใดแดนใดความสุขนี้จะปราศจากไม่ได้ ต้องอาศัยความสุขคืออาศัยบุญเป็นชีวิตจิตใจตลอดไป เพราะฉะนั้น เราจึงควรทำบุญไว้เพื่อเราก่อนอื่น
การทำบุญ ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองข้าวของตั้งแสนตั้งล้านมาทำ เราทำด้วยน้ำใจ เรามีมากน้อยทำตามกำลังศรัทธาความสามารถของเรา เช่น ให้ทาน เรามีอะไรเราก็ทาน น้ำใจเป็นสำคัญมาก วัตถุเป็นเครื่องประกอบ ถ้าวัตถุของเราไม่ดีไม่เยี่ยมสมใจที่อยากมี เอ๊า เรามีอะไรก็ทานอันนั้น ด้วยน้ำใจที่รักบุญรักทาน ก็ได้บุญมากเช่นเดียวกัน ข้อสำคัญอยู่ที่น้ำใจ เอ้า วัตถุดีด้วย น้ำใจดีด้วย ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีกและภาวนาพุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ อย่าละอย่าวาง อยู่ที่ไหนก็นึกพุทโธ ถึงองค์ศาสดาได้ ผลที่ปรากฏขึ้นมาก็คือความรู้ได้แก่ใจของเรานี้เด่นดวง
เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าไม่ได้หมายจะเอาความสุขความสบาย ผลประโยชน์อันใดน้อมถวายพระพุทธเจ้า เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าคือพุทธะ ก็หมายถึงความระลึกรู้จิตตัวเอง ที่มีอยู่กับตัวเรานี้แลให้เป็นความรู้ที่เด่นดวงขึ้นมา แต่อาศัยพระนามของพระพุทธเจ้า ชื่อของพระพุทธเจ้า เข้ามาบริกรรมภายในจิตใจ ว่าพุทโธๆ เพื่อส่งเสริมจิตของเราต่างหาก เมื่อพุทโธ กับความรู้ของเรากลมกลืนกันอย่างสนิทแล้ว คำว่าพุทโธอันแท้จริง ก็คือความรู้ของเราที่เด่นดวงอยู่ในเวลานั้นนั่นแล อันเป็นผลมาจากการภาวนาพุทโธ นี่ก็เป็นบุญอันหนึ่ง เป็นความผาสุกเย็นใจไม่มีสิ้นสุด ตามแต่ผู้ภาวนาได้มากน้อย ให้พากันบำเพ็ญคุณงามความดีดังที่กล่าวมา ใจจะมีที่ยึดที่เกาะ ใจจะไม่ว้าเหว่เคว้งคว้าง ใจจะมีความสุข ความอบอุ่นประจำตนในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ
อย่าตำหนิติเตียนตนเองว่าบุญน้อยวาสนาน้อย ว่าทุกข์ว่าจน คนเราถ้าพูดถึงเรื่องทุกข์แล้ว ทุกข์ด้วยกันทุกคน ทุกๆ คนทั้งคนมีคนจน คนโง่ คนฉลาด เกิดมาทีแรกผ้าผืนหนึ่งก็ไม่ได้ติดตัวมา มีแต่ร่างเปล่าๆ เท่านั้น สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับโลก ร่างกายนี้ก็คือธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ผสมกันเข้า มีจิตเข้าไปเป็นตัวการยึดครองเป็นเจ้าของ ก็แปรรูปมาเป็นหญิงเป็นชายเป็นสัตว์เป็นบุคคลดังที่เห็นกันอยู่นี่แล เวลาจะตายก็ต้องสละสิ่งเหล่านี้ไว้ตามโลกเดิมธาตุเดิมของเดิมของเขา
สมบัติเงินทองข้าวของมีมากน้อย เสื้อผ้าที่อยู่ที่อาศัยปัจจัยต่างๆ ตลอดร่างกายของเรา ก็ต้องมอบไว้เป็นสมบัติเดิมของโลกไป ใครจะยึดจะถือจะหอบจะแบกจะหามไปด้วยไม่ได้ นอกจากคุณงามความดีที่เราอาศัยสิ่งสมมุติเหล่านี้เป็นเครื่องมือทำไว้ในเวลามีชีวิตอยู่เท่านั้น เช่นอาศัยวัตถุเหล่านี้เป็นทาน อาศัยร่างกายอันนี้บำเพ็ญกุศล ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำด้วยวัตถุใดก็เป็นความดี เป็นบุญหลั่งไหลเข้าไปเป็นสมบัติของใจ สิ่งนี้แลที่จะติดสอยห้อยตามเราจริงๆ คือบุญนี้แล นี้เป็นของแท้ เป็นสมบัติแน่ใจ เป็นสมบัติที่ฝากเป็นฝากตายฝากผีฝากไข้ได้ไม่สงสัย ฉะนั้นจงอย่าได้นอนใจ อย่าได้ตำหนิติเตียนตนว่าเป็นคนทุกข์คนจนแล้วไม่สร้างบุญ จะขาดทุนร่ำไป คนจนนั่นแลสร้างบุญ คนมีนั่นแลสร้างบุญ เพราะต้องการความสุขความเจริญด้วยกัน
พูดถึงเรื่องมี มีด้วยกัน จนด้วยกัน ใครไม่ได้เป็นเศรษฐีมาตั้งแต่อยู่ในท้อง เกิดมาค่อยเป็นเศรษฐี เมื่อมีสมบัติมาก สกุลร่ำรวย วาสนาอำนวย ผู้เป็นคนจนก็ไม่ควรเสียใจ เพราะนั่นเป็นกรรมนิยมต่างๆ กัน สมบัติเกิดมีมากน้อยนั้นแล้วแต่บุญแต่กรรมที่เราเคยสร้างไว้แต่กาลก่อน ไม่ต้องไปตำหนิ ถ้าตำหนิก็ตำหนิเรานี่แหละ การตำหนิเราไม่ใช่ตำหนิเพื่อให้ท้อถอย เช่นสมมุติว่าชาตินี้เรามีวาสนาน้อย เอ้า เราสร้างความดี ไม่มีวัตถุเป็นเครื่องมือที่จะสร้าง ก็ให้สร้างด้วยจิตตภาวนา คือ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ให้เป็นเครื่องอบอุ่นภายในจิตใจ ก็เรียกว่าคนมีบุญเหมือนกัน เป็นบุญเหมือนกัน เพราะบุญวาสนานั้นเกิดได้หลายทางจากผู้ขวนขวาย เกิดจากการให้ทาน เกิดจากรักษาศีล เกิดจากภาวนา รวมแล้วก็เป็นกองมหากุศลเช่นเดียวกัน จึงสำคัญอยู่ที่การขวนขวาย
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร เอาละ |