ฝืนใจเพื่อธรรม
วันที่ 3 เมษายน 2508 ความยาว 30.16 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๘

ฝืนใจเพื่อธรรม

 

        วัดนี้โดยมากได้ศึกษาเล่าเรียนกันมาบ้างพอสมควร จึงหนักไปทางด้านภาวนาคือ การอบรมใจโดยเฉพาะ การศึกษามามากน้อยย่อมเป็นเหมือนเข็มทิศทางเดิน ผู้ปฏิบัติก็เช่นเดียวกับการเดินทางตามเข็มทิศ เข็มทิศคือข้ออรรถข้อธรรมที่ศึกษามานั้น เป็นเช่นเดียวกับเรือ ผู้จะข้ามหาสมุทรทะเลต้องยึดเรือเป็นสำคัญ เรือในที่นี้คือหลักธรรมวินัย เฉพาะนักบวชย่อมถือหลักธรรมวินัยเป็นเข็มทิศทางเดินอันสำคัญยิ่ง การข้ามแม่น้ำต้องถือเรือเป็นหลักของชีวิต แม้จะประสบเหตุการณ์ต่างๆ ในเวลาเดินเรือต้องยึดเรือเป็นหลักประกันชีวิต จะช้าหรือเร็วต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของเรือเป็นผู้พาไป เราเพียงเป็นผู้อาศัยไปกับเรือเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติพระธรรมวินัยก็เหมือนกัน ต้องถือพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ พยายามดำเนินตามมิให้เคลื่อนคลาด แม้จะมีความรู้ความฉลาดขนาดไหน ก็ไม่ให้นอกเหนือพระธรรมวินัย โง่ก็ขอให้โง่อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย อย่าให้เป็นทำนองคนข้ามน้ำ นั่งอยู่ในเรือ แต่เชื่อฝีมือตัวว่าเก่งและรวดเร็วกว่าเรือ แล้วโดดจากเรือเพื่อว่ายน้ำให้ทันกับความจำเป็นและเวลาที่ตนต้องการ พอว่ายไปไม่ถึงไหนกำลังก็อิดโรยลงเป็นลำดับ ปลาฉลามใหญ่มาเจอเข้าก็ช่วยว่ายใหญ่ เลยพลอยไปกับปลาฉลามเงียบหายซากไปเลย

ผู้จะข้ามมหาสมมุติ มหานิยม ซึ่งอาศัยพระธรรมวินัยพาก้าวเดินก็ควรคิดให้มาก เดี๋ยวจะเข้าใจว่าตนมีความเฉลียวฉลาด และทันสมัยกว่าหลักพระธรรมวินัยที่เคยมีประสิทธิภาพ พาคนข้ามสงสารนับจำนวนไม่น้อย แล้วโดดแหวกแนวออกจากหลักพระธรรมวินัย ทำไปตามความคิดความเห็นของตน ไม่มองดูศาสดา ผลสุดท้ายก็จะไปเจอเอาปลาฉลามใหญ่เข้าอีก แล้วปลาจะพาว่ายเข้าซอกเข้ามุมไปโดยไม่รู้สึกตัว ผลที่ได้รับจากการทำเอาตามความเห็นของใจที่มีกิเลสเป็นผู้บงการ ได้ความว่า “สิ้นเนื้อประดาตัว” ไปเลย ข้อนี้ท่านนักปฏิบัติโปรดทำความสะดุดใจ อย่าให้เก่งกว่าครูคือศาสดาผู้เป็นโลกวิทู จะไม่มีอะไรเหลือติดตัวโดยแน่นอน การยอมโง่หรือฉลาดไปตามหลักพระธรรมวินัย ไม่มีทางเสียหายและน่าหมั่นไส้ แต่กลับว่าโง่น่ากราบ ฉลาดน่าชม

        คำว่าพระวินัยก็พอทราบกัน คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ เหล่านี้เป็นหลักพระวินัยทั้งนั้น ส่วนพระธรรมมีมากและละเอียดไปเป็นขั้น ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น จัดเป็นหมวดธรรม พระวินัยเป็นของจำเป็นตามขั้นและเพศของผู้รักษา ผู้รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ในเวลาใดก็ถือเวลานั้นเป็นเวลาจำเป็นของตน ผู้รักษาศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็เป็นผู้จำเป็นต่อศีลประเภทนั้น ๆ ตามเพศและหน้าที่ของตน ไม่อาจเอื้อมล่วงเกิน ใจก็มีความเยือกเย็น ไม่เป็นอารมณ์ เพราะเหตุแห่งความผิดศีลที่ตนรักษา จะอบรมใจให้สงบ ก็ไม่มีศีลวิบัติเป็นอารมณ์เครื่องกวนใจ ใจมีทางสงบได้ง่าย แม้อยู่โดยลำพังก็เย็นใจ ผิวพรรณก็ผ่องใส และมีกิริยาองอาจ ไม่สะทกสะท้าน นี่เป็นศีลสมบัติที่เราได้รับในปัจจุบัน

ต่อไปก็เริ่มให้เป็นสมบัติขึ้นภายในใจ โดยวิธีอบรมจิต เช่น นั่งกำหนดอานาปานสติ ถือลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ของใจ หรือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ บทใดบทหนึ่งที่จริตชอบ มีสติกำกับอยู่ที่ใจซึ่งบริกรรมธรรมบทนั้น ๆ เป็นอารมณ์อยู่ ใจจะค่อยมีความรู้เด่นขึ้นที่จุดนั้น และมีความเย็นสบาย ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบจะไม่เหมือนความสุขอื่นใดที่เคยผ่านมา ผู้ได้รับความสุขประเภทนี้แล้ว จะเป็นที่สะดุดใจทันที พร้อมทั้งความพอใจที่จะพยายามให้ความสงบสุขนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยวิธีทางภาวนาให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีจิตอันสงบแล้วจึงเป็นผู้มีความหนักแน่นต่อความพากเพียร เชื่อบุญ เชื่อกรรม และเชื่อผลแห่งกรรมที่ตนทำแล้วว่าเป็นสิ่งไม่ไร้ผล ผู้เป็นนักบวชที่ปรากฏความสงบประจักษ์ใจ จึงเป็นผู้เชื่อต่อความเพียรเพื่อผลอันยอดเยี่ยมขึ้นไปเป็นขั้น ๆ ไม่มีการลดละความเพียร

        ความสงบของใจมีหลายขั้น คือขั้นหยาบ ขั้นกลาง และขั้นละเอียด ตามแต่ผู้บำเพ็ญจะสามารถทำได้เป็นขั้น ๆ และพยายามทำจิตของตนให้ขยับขึ้นไปเป็นระยะ จนถึงขั้นละเอียดสุดของสมาธิ ส่วนความสุขอันเป็นผลย่อมมีความละเอียดขึ้นไปตามขั้นของสมาธิ ปัญญาก็มีขั้นหยาบ ขั้นกลาง และขั้นละเอียดเช่นเดียวกับสมาธิ และควรนำมาใช้กำกับสมาธิขั้นนั้น ๆ ได้ตามโอกาสอันควร จะเป็นความรอบคอบของนักปฏิบัติธรรมทุก ๆ ขั้นไป

แต่ใจที่ไม่ยอมเข้าสู่ความสงบได้ตามใจหวังในเวลาบำเพ็ญนั้น โดยมากใจมีอารมณ์เครื่องยั่วยวนมาก เช่น รูปไหลเข้ามาในคลองจักษุ  เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างก็ไหลเข้ามาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วไหลผ่านเข้าไปถึงใจ กลายเป็นธรรมารมณ์ขึ้นมา ใจซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ชั่ว ดี และสุข ทุกข์ จึงมีความกระเพื่อมรับอารมณ์อยู่ตลอดเวลา หาโอกาสดำรงตนอยู่ด้วยความสงบสุขไม่ได้เลย จำต้องรับรู้ รับเห็น รับสุข รับทุกข์จนไม่มีเดือน ปี นาที ชั่วโมง เป็นเวลาพักผ่อนใจ แต่เป็นธรรมดาของสามัญจิต จะอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังตนเองย่อมไม่ได้ ต้องอาศัยอารมณ์เป็นผู้พาอยู่ พาไป พาให้ดี ให้ชั่ว พาให้สุข ให้ทุกข์ พาให้ดีใจและเสียใจ พาให้เพลิดเพลินและเศร้าโศกอยู่เป็นประจำ จึงไม่มีโอกาสได้เห็นความสุขอันแท้จริงของใจ

ความสุขที่เกิดจากการอบรม แม้จะอาศัยธรรมเป็นอารมณ์ของใจ แต่ก็เป็นเครื่องสนับสนุนใจให้ได้รับความสุขเพื่อเป็นตัวของตัวขึ้นไปเป็นลำดับ จนถึงขั้นเป็นตัวของตัวได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งแปลกต่างจากอารมณ์ชนิดอื่น ๆ ที่ควรจะให้นามว่า อารมณ์ของโลก อารมณ์ของธรรม ขณะที่ใจได้รับความสงบเพราะอารมณ์แห่งธรรมที่นำมาภาวนา กายก็เบา ใจก็เบา ทุกส่วนในร่างกายและจิตใจรู้สึกว่าเบาไปตาม ๆ กันหมด กายกับใจก็ปรากฏว่าเป็นคนละส่วน ไม่คละเคล้ากัน ขณะที่จิตหยั่งลงสู่ความสงบจริง ๆ แล้ว แม้กายจะปรากฏตัวอยู่ในท่านั่งหรือท่านอน แต่ความรู้ของจิตปรากฏว่ากายไม่มีเลย คงปรากฏแต่จิตล้วน ๆ ที่แสดงความสงบและสว่างอยู่ภายในตัวเองเท่านั้น ไม่ปรากฏเรื่องกายและเรื่องอื่น ๆ มาแฝงเลย นี้เป็นความสงบที่แปลกประหลาดและอัศจรรย์ยิ่งกว่าความสงบขั้นต้น ซึ่งรู้สึกว่ากายมี แต่ไม่รบกวนใจด้วยอาการต่าง ๆ เพียงสักว่ากายมีอยู่เท่านั้น

        เมื่อความสงบประเภทนี้ปรากฏขึ้นบ่อย ๆ จนรู้สึกเป็นความเคยชินในการเข้าการออก หากจิตมีธุระที่จะต้องทำในเวลาออกจากที่ภาวนาแล้ว แต่ความสงบอันเป็นฐานของใจจะมีประจำอยู่ พอย้อนความรู้สึกเข้ามาสู่ตัวเมื่อไรก็ปรากฏความสงบ อันเป็นพื้นฐานนั้น รู้เด่นอยู่เฉพาะตัว คือเป็นเอกเทศหนึ่งจากกาย มิได้คละเคล้ากัน ดังที่เคยเป็นมาในคราวที่จิตยังไม่มีความสงบ เช่นเดียวกับเราอยู่ในบ้าน แต่บ้านเป็นอันหนึ่งจากเราผู้อยู่ในบ้าน ฉะนั้น เบื้องต้นก็แยกกันไม่ออก กายกับใจคล้ายกับเป็นอันเดียวกัน เพราะใจไม่มีเวลาเป็นตัวของตัว แต่ใจที่ได้รับการอบรมที่ควรจะเข้าใจตามความจริงของตนบ้างก็ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องรู้และเข้าใจ

ใจที่มีความสงบเป็นพื้นฐานแล้ว เราจะไปทำการงานอะไรก็คงเป็นความสงบประจำตนอยู่เช่นนั้น และไม่ทำการงานนั้น ๆ ให้เสียด้วย เพราะฉะนั้น ผู้บำเพ็ญธรรมภายในใจจึงไม่ทำงานใด ๆ ให้เสียไป นอกจากจะเป็นหลักอันดีของงานแล้ว ยังสนับสนุนงานทุกด้านให้สำเร็จเรียบร้อยลงด้วยความสวยงามและน่าดูอีกด้วย  ผู้มีธรรมภายในใจประกอบการงานทุกประเภทไม่ว่าทางโลกและทางธรรม ย่อมสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ทำงานให้เป็นเครื่องหมักดองจนกลายเป็นอากูล (ทำงานคั่งค้าง) นี่กล่าวถึงความสงบ ท่านผู้ฟังพอจะทราบได้ว่า กายกับใจแยกจากกันได้ในความรู้สึกของจิตที่มีสมาธิเป็นเรือนใจ

        ต่อไปนี้กล่าวเรื่องปัญญา ปัญญายังเป็นสิ่งที่ละเอียดเข้าไปอีกมากมายตามขั้นของปัญญา ความสงบนั้นเป็นเพียงระงับความฟุ้งเฟ้อของใจให้ได้รับความสงบสุขในขั้นต้น แต่ปัญญาเป็นผู้ทำหน้าที่ถอดถอนกิเลสขึ้นมา สิ่งใดที่ยังหมักหมมอยู่ในใจมากน้อย ปัญญาต้องทำการถอดถอนออกเป็นลำดับ เช่น การพิจารณาธาตุขันธ์เพื่อรู้ตามเป็นจริงของเขา นับแต่วันเกิดมาถึงวันนี้ ถ้านับเป็นวัน เดือน ปี ได้กี่วัน กี่เดือน กี่ปี สภาพร่างกายนี้คงที่อยู่หรือค่อยเปลี่ยนแปลงไป ตามความจริงแล้วเขามีความเปลี่ยนตัวเองอยู่ทุกขณะ ไม่มีการหยุดพักเหมือนคนทำงาน จนถึงจุดสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลง แล้วก็สิ้นสุดลงไปพักหนึ่ง

สรุปความแล้ว ทุกส่วนในร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอาการใดยับยั้งตัวไว้ได้ โดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแม้อาการเดียว แต่เป็นส่วนละเอียดจึงไม่สามารถทราบได้ว่า เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรบ้าง อาศัยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาย่อมรู้เห็นได้ชัดตามความเป็นจริงของความเปลี่ยนแปลง และมีทางปลดเปลื้องอุปาทาน คือ ความยึดมั่นในกาย อันเป็นภาระหนักออกได้เป็นลำดับ จนปลดเปลื้องให้หมดไปโดยไม่เหลือ เพราะอุปาทานเป็นเครื่องกดถ่วงใจให้จมดิ่งลงไปในทางต่ำอันมีทุกข์เป็นผล มีมากเท่าไรก็มีทุกข์มากเท่านั้น

        ท่านกล่าวไว้ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เราเคยได้เห็นได้ยินในคัมภีร์ ส่วนตัวจริงของธรรมเหล่านี้ติดแนบอยู่กับกายกับใจของเรา แต่เราไม่รู้ไม่เห็นจึงปลงไม่ตก เพียงจำได้แต่ชื่อเท่านั้น เหมือนคนจำชื่อของโจรได้ว่า นั่นชื่อโจร ก. นั่นชื่อโจร ข. และนั่นโจรชื่อ ค. เป็นต้น แต่การจำชื่อได้หรือไม่ได้นั้น ไม่ทำให้พวกโจรหยุดจากการทำโจรกรรม และทำความเย็นใจแก่ชาวบ้าน จึงไม่สู้จะมีประโยชน์อะไรนักจากการจำชื่อของโจรได้ โดยมิได้มัดโจรให้อยู่ในเงื้อมมือ การจำชื่อของไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นต้นได้ จึงไม่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ไม่สนใจพิจารณาตามฐานะความจริงของธรรมเหล่านี้ ทุกข์ก็คงเป็นทุกข์ สมุทัยก็คงเป็นสมุทัยอยู่อย่างเดิม ไม่หยุดทำงานบนร่างกายและจิตใจของคน เพราะเราไม่นำสัจจะเหล่านี้เข้ามาพิจารณาให้รู้ตามฐานะความจริงด้วยปัญญา อันเป็นทางรู้เท่าและปล่อยวาง

หากสนใจพิจารณาบ้าง แม้จะไม่มองและพิจารณาไปทางอื่น แต่มองและพิจารณาลงไปในกายในจิต ก็พอจะรู้เห็นได้ว่าอาการของกายและจิตทุกส่วนทำงานเป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น ไม่มีเรื่องอื่นมาแฝงเลย เหตุใดจึงไม่รู้ไม่เห็น ท่านผู้สั่งสอนเช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็คงจะแปลกพระทัยไม่น้อยที่พวกเราเหยียบย่ำธรรมของจริงอยู่ต่อหน้าต่อตาท่าน แต่จับจุดธรรมไม่ถูก คว้าหาธรรมไม่พบ ไม่ทราบว่าจะให้ท่านสอนว่าอย่างไรต่อไปอีก ผู้สอนก็รู้สึกจะหมดภูมิธรรมของจริงที่รู้เห็นมา เพราะผู้รับไปคว้าเอาของปลอมมาครองใจเสีย มากกว่าจะรับเอาของจริงจากท่านมาแก้ไขตนเอง เช่น ท่านสอนให้ลงทุ่งกว้าง แต่พวกเรากลับวิ่งเข้าป่าดงพงลึกไปเสียเช่นนี้ คำสอนก็จะเป็นประโยชน์อะไรเล่า แม้จะเป็นธรรมของจริงและประเสริฐแค่ไหน ก็คงเป็นโมฆะสำหรับพวกเราอยู่นั่นเอง

        พระกายและพระทัยของพระพุทธเจ้า และกายใจของสาวกท่านเป็นธรรมของจริงทั้งแท่ง แต่กาย ใจของพวกเราจะเป็นของจริงหรือปลอมแค่ไหนกันแน่ นี่เชื่อแน่ว่ามีความจริงเท่ากัน ถ้าพิจารณาให้ถึงฐานความจริง แต่ถ้าไม่สนใจพิจารณาก็จะเป็นของปลอมไปหมด และยังจะปลอมไปอีกตลอดกาล ไม่มีโอกาสกลับตัวได้โดยลำพัง ถ้าไม่ใช้สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร รื้อฟื้นให้กลับตัวในเวลาที่มีชีวิตอยู่นี้ การใช้สติปัญญา ความเพียร ขุดค้นคลี่คลายส่วนต่าง ๆ ของกายและใจ อย่างไรจะต้องรู้เหตุรู้ผลซ้อนขึ้นมาในวงความเพียรอย่างแน่นอน ธรรมของจริงจะเล็ดลอดตาข่ายแห่งความเพียรไปไม่พ้น สิ่งจอมปลอมต้องจนมุมวันหนึ่งแน่นอน ไม่มีทางออก

วัยขนาดเรา ๆ เป็นวัยที่ควรคิดตรองไปข้างหน้า และย้อนหลังเกี่ยวกับสภาพการณ์ที่เป็นมา เป็นอยู่ และจะเป็นไปได้แล้ว จิตที่นอนจมอยู่กับกองธาตุกองขันธ์และกิเลสโสมม โดยถือว่าเป็นสมบัติอันพึงพอใจ แล้วประมาทนอนใจไม่หาทางออก เมื่อถึงกาลของธาตุขันธ์พังทลายลงตามสภาพของเขา เราจะไม่หมดหวังในสมบัติอันพึงพอใจ และเกิดทุกข์เดือดร้อนขึ้นในเวลานั้นบ้างหรือ? เราเป็นนักบวชซึ่งเป็นเพศที่สุขุมด้วยความคิดอ่านไตร่ตรอง ทำไมจึงไม่คิดให้ละเอียดถี่ถ้วนในเรื่องที่เกี่ยวกับตน พอให้สมกับเพศที่สุขุมด้วยธรรมที่นำมาครองตัว จะเป็นความงามและเหมาะสมกับเพศอย่างยิ่ง ส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาซึ่งจะทำให้แยบคายสำหรับนักปฏิบัติค้นคว้า ก็มีเพียงกายกับจิตเท่านั้น ซึ่งไม่เหลือกำลังแก่การพิจารณา

อาการของกายทุกส่วนก็มีหนังหุ้มห่อเป็นวงแคบอยู่แล้ว ไม่กว้างขวางและลึกลับอะไรมากนักพอจะพิจารณาได้ทั่วถึง โปรดหยั่งปัญญาลงไปที่นั่น อย่ายอมปล่อยจิตตัวคะนองให้เล็ดลอดออกจากวงความเพียร ทุกอาการของกายและธาตุในร่างกายจะรู้กันขึ้น ณ ที่นั่น และปล่อยวางกันได้ ณ ที่นั่นด้วยอุบายของปัญญา ซึ่งเคยอธิบายให้ฟังมาหลายครั้งแล้ว อุปาทานของกายเป็นภาระกดถ่วงใจอันหนึ่ง ผู้ถอดถอนอุปาทานนี้ได้ชื่อว่า ผู้เปลื้องทุกข์ไปได้ขั้นหนึ่ง รู้สึกเบาขึ้นมาก

อุปาทานของใจก็เป็นภาระกดถ่วงใจได้อย่างละเอียดและแนบแน่นมาก ต้องใช้สติปัญญาอันทันสมัย คือมหาสติ มหาปัญญา มหาวิริยะ เข้ารวมกัน และขุดค้นลงตรงที่จิตรักและสงวนมาก ๆ นั่นแล จนสิ่งนั้นถูกทำลายพินาศลงไปแล้ว กลายเป็นวิวัฏจิตขึ้นมาในขณะนั้น จากนั้นก็เป็นใจที่หมดสมมุติ แต่เข้ากันได้กับสมมุติทั่ว ๆ ไป ทั้งด้านวัตถุและนามธรรมแต่ไม่ติด เพราะจิตที่บริสุทธิ์เป็นจิตที่พอตัวแล้ว ไม่จำต้องหาอะไรมาเพิ่มอีก การเพิ่มเติมไม่จัดเป็นสันติ  คือความสงบอันแท้จริงและตายตัว  ตามบทธรรมว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี

        เพราะฉะนั้น จิตที่ยังไม่ได้รับการอบรมธรรม จึงมีการเอนเอียงและน้อมไปตามสิ่งที่มาหลอกลวง ตามธรรมเนียมของจิตที่แสวงหาความพอตัวยังไม่เจอ จึงยับยั้งตัวไม่ค่อยได้ คอยแต่จะล้มละลายไปตามสิ่งที่มายั่วยวนอยู่เสมอ ยิ่งเป็นสิ่งที่เคยฝังนิสัยแล้วรู้สึกว่าแก้ไขดัดแปลงยากมาก ดังนั้นหลักนิสัยจึงเป็นสิ่งสำคัญในตัวเรา ไม่ควรมองข้ามไปโดยถือว่าไม่สำคัญ เช่นเราเคยดูหนังจนฝังนิสัยแล้ว ภายในใจคอยกระซิบให้พาไปดูหนังอยู่เสมอมิได้ขาด จำต้องได้พาไปเสียจึงจะผ่านวันผ่านคืนไปได้ ถ้าวันไหนไม่ได้ไป แหม ใจไม่สบายเลย ใครมาพูดให้เคืองหูนิดหน่อยไม่ได้ คอยแต่จะโกรธเอาท่าเดียว นั่นเพราะความเคยชินฝังใจ จนถือเรื่องเช่นนั้นเป็นกิจสำคัญประจำนิสัย ทั้งนี้เพราะการส่งเสริมและคล้อยตาม จนกลายเป็นยาเสพย์ติดขึ้นมาอย่างฝังลึกและแก้ไม่ตก

ขณะที่ดูรู้สึกเพลิดเพลินใจ และนำเอาเรื่องราวที่เขาแสดงมาครุ่นคิดเป็นอารมณ์ ถึงบทเพลินก็เพลิน ถึงบทรักก็รัก ถึงบทเศร้าโศกก็เศร้าโศกไปตาม เงินค่าตั๋ว ค่าข้าวต้มขนมนมเนยและเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ตลอดค่าอะไรชนิดที่รู้ไม่ถึงก็เสียไป หลักนิสัยที่เคยเป็นคนดีก็ค่อยเสื่อมเสียไปวันละเล็กละน้อย รวมหลายครั้งและหลายวันเข้าก็มากไปเอง จิตที่เสียหลักแล้วเลยหาที่ยึดไม่ได้ จึงกลายเป็นจิตลอยลมไปเลย โดยไม่มีฝั่งมีฝาหาที่จอดแวะไม่ได้

        การกล่าวทั้งนี้ กล่าวเป็นการเทียบเคียงเพื่อเป็นคติเตือนใจเพื่อนมนุษย์ผู้หวังความเจริญแก่ตนเองและส่วนรวม ควรสนใจในหลักนิสัยเป็นสำคัญกว่าอื่น มิได้กล่าวเพื่อตำหนิทั้งท่านผู้เสนอเพื่อความสะดวกของประชาชน และท่านผู้ชมเพื่อเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ที่ตึงเครียดกับงานมาตลอดเวลา และเพื่อยึดเอาสาระจากการชมมาบำเพ็ญประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมได้เท่าที่เห็นควร เพราะทุกสิ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้มุ่งแสวงหาสารประโยชน์อยู่แล้ว แต่อาจเป็นความเสียหายแก่ผู้ไม่รอบคอบ และไม่รู้จักประมาณในทุกสิ่งที่มีประมาณอยู่ในตัวมันเอง ฉะนั้นด้านธรรมท่านจึงสอนให้พยายามฝึกหัดดัดแปลงตนเสียแต่ต้นมือ ซึ่งเป็นโอกาสอันเหมาะสำหรับผู้อยู่ในระหว่างการศึกษาอบรม จะได้ต่อสู้กับภาระของโลกและดำรงตนอยู่ในฐานะที่ควร ไม่หลุดลุ่ยไปในระหว่างซึ่งยังไม่ถึงกาลที่ควรจะเป็น

สำหรับด้านธรรมะเวลานี้ยังไม่สาย พอเหมาะกับเราผู้กำลังตั้งหน้าศึกษาและปฏิบัติอยู่ โปรดพยายามตักตวงคุณงามความดีให้เพียงพอกับความต้องการ ในอนาคตข้างหน้าหากว่าเชื้อแห่งภพชาติของเรายังมีอยู่ตราบใด คุณงามความดีอันเป็นสิ่งอาศัยเพื่อเสวยผล จะเป็นสมบัติคอยรับรองเราอยู่ตราบนั้น เพราะใจมีอาหารประเภทหนึ่งคืออารมณ์ กายมีอาหารประเภทหนึ่ง มีข้าว น้ำ เป็นต้น ทั้งสองนี้มีอาหารเครื่องบำรุงต่างกัน แม้อาศัยกันอยู่ เครื่องบำรุงใจได้แก่บุญกุศลที่เราบำเพ็ญมาเป็นลำดับ นับหลายภพหลายชาติ โดยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา การภาวนาตามความรู้สึกของนักบำเพ็ญเห็นว่าเป็นของยาก แต่มีผลมาก เพราะเป็นของทำยาก เราควรสนใจ

อนึ่ง การนึกภาวนาไม่ได้เสียอัฐเสียสตางค์อะไรเลย และทำได้ทุกเวลาที่ต้องการ การฝืนใจทำความดีนั้นไม่ผิดจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า และท่านทรงชมเชยมากนัก เพราะพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพราะการฝืนใจ เราเป็นลูกของท่านต้องเดินตามร่องรอยของท่าน จะชื่อว่าลูกศิษย์มีครู

        การฝืนใจเพื่อธรรมนั้น กิเลสเขาไม่ชอบ เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่ชั่วและโสมม เขาจึงไม่ชอบธรรมซึ่งเป็นของดีและสะอาด ทั้งไม่อยากเดินทางร่วมด้วย แต่ถ้าคล้อยตามเขาแล้ว เขายินดีด้วยวันยังค่ำ เวล่ำเวลาไม่ต้องมี เขายินดีตลอดกาล นั่นคือสิ่งที่เขาชอบจริง ๆ แต่กลับเป็นพิษแก่เรา สิ่งที่เราชอบ เขากลับไม่ชอบ เพราะเป็นภัยแก่เขา กิเลสอาสวะนี้รู้สึกมีมารยาและอุบายอันแหลมคมมาก เช่นเวลาเขาเข้าสิงใจ ทำให้เราชอบเขาและหลงไปตามทันที กว่าจะรู้สึกตัวและฉุดลากกลับมาได้ คล้ายกับเขาควักเอาดวงหทัยวัตถุไปกินเสียครึ่งหนึ่งแล้ว เรารู้สึกชอกช้ำใจไม่น้อย ขณะที่เขาเข้าถึงตัว แม้จะฝืนนึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ แหม รู้สึกลำบากมาก ประหนึ่งใจจะขาดไปในเวลานั้นจนได้

แต่ถ้าปล่อยไปตามเขาให้เขาพาไป พาเที่ยวชมนั่น ชมนี่ เข้าตรอกนั้น ออกซอยนี้ เข้าร้านนั้น ขึ้นห้องนี้ พักโฮเต็ลนั้นโรงแรมนี้ เข้าโรงโน้น ออกโรงนี้ รู้สึกว่านึกง่าย เที่ยวง่าย ไปง่าย อยู่ง่าย พักง่าย นอนง่าย อย่างคล่องปากคล่องใจขึ้นมาทันที สิ่งที่ยังไม่เคยรู้เคยเห็น เขาวาดภาพให้ดูทันทีและเชื่อเขาอย่างทันควัน ยอมจำนนทันที เรื่องความชำนาญของกิเลสที่เคยปกครองใจเรา มันปกครองง่ายอย่างนี้เอง ใครก็รักและเคารพมันมาก ไม่อยากให้นายคนนี้จากไปไหน ไม่ค่อยมีการตำหนิมันว่าไม่ดี แต่ชอบกันทั้งนั้น ยิ่งผู้แสดงด้วยแล้วก็ยิ่งถูกมันต้มยำเอาอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ไม่มีความเกรงขามเราบ้างเลยนับประมาณไม่ได้ เพราะตัวเราเองก็ชอบอย่างนั้น จะให้มันเกรงเอาอะไร ฉะนั้น การฝืนกิเลสจึงเป็นการฝืนยาก น่าเห็นใจทั้งท่านและเรา เพราะมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน

การอบรมใจที่ว่ายาก ๆ ก็เพราะกิเลสมันฝืนนั่นเอง แต่โปรดทราบว่ากิเลสมันกลัวธรรม ถ้าคนมีธรรมกิเลสก็พลอยกลัวด้วย ไม่กล้ามาทะลึ่งมากนัก เพราะธรรมมีความคมคายกว่ากิเลสอีกมากมาย พูดถึงรสชาติก็ยิ่งกว่ารสชาติของกิเลส พูดถึงความสูงของธรรมกับความต่ำของกิเลสก็หาที่เทียบไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรเหมือนธรรม นี่ก็พอจะทราบได้ว่าธรรมมีประสิทธิภาพสูงเพียงไร กิเลสต่ำเพียงไร ธรรมมีความเบาเพียงไร กิเลสมีความหนักหน่วงเพียงไร ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงชมเชยและเคารพธรรม แต่ทรงตำหนิกิเลส ทั้ง ๆ ที่ทรงผ่านมาเช่นเดียวกัน

        ท่านนักปฏิบัติพอจะนำกิเลสโสมมมาชั่งตวงเทียบกับธรรมได้บ้างไหมว่า ทางไหนจะมีน้ำหนักทางคุณสมบัติเชิดชูใจให้มีความเกษมสำราญ และกดถ่วงจิตใจให้ได้รับความทุกข์ทรมานมากน้อยต่างกันอย่างไรบ้าง เท่าที่ทราบมาในวงปราชญ์ คือบุคคลที่แน่นอน มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ล้วนแต่ชมเชยธรรมว่าเป็นนิยยานิกธรรมทั้งนั้น และทรงตำหนิกิเลสว่าเป็นเครื่องผูกมัดมวลสัตว์ให้อยู่ในวงล้อมแห่งวัฏจักร และถูกทรมานให้ได้รับความทุกข์ชอกช้ำอยู่ตลอดกาล ถ้าทราบชัดว่าธรรมเป็นธรรม กิเลสเป็นกิเลส ทำนองเห็นกงจักรเป็นกงจักร เห็นดอกบัวเป็นดอกบัว โดยเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว ควรเลือกหาทางเดินอย่างมั่นใจได้แล้ว เดี๋ยวจะสายเกินไป โปรดรีบ ๆ แจว รีบ ๆ พาย เดี๋ยวตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่าและขายไม่ออก คือรีบเร่งบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติ สมาธิ ปัญญาให้มีกำลังในเร็ววัน

เพราะร่างกาย อย่าเข้าใจว่าไม่ก้าวเดินทุกระยะ เพื่อความแก่ชราตลอดถึงความตาย ไม่เคยมีจุดหมายบอกไว้ว่า วันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น นาทีนั้น ชั่วโมงนั้น เป็นเวลาที่เขาจะตาย แต่ตายได้ทุกกาลสถานที่และไม่เลือกบุคคล ตลอดชาติชั้นวรรณะ เมื่อถึงขั้นตายแล้วจะทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป เท่ากับขายไม่ออก นอกจากปล่อยให้เน่าเปื่อยทิ้งไปเท่านั้น อย่ามัวเพลินกับสิ่งที่เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่เพียงเท่านั้นจะเสียการ เพราะพระศาสนามิได้สอนเพียงเล่น ๆ แบบนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เปล่า ๆ โดยไม่คิดอ่านไตร่ตรองเพื่อหาทางออก แต่สอนเรื่องทุกข์เพื่อให้รู้เห็นทุกข์จริง ๆ สอนเรื่องสุขเพื่อให้เห็นสุขจริง ๆ สอนเรื่องกิเลสเพื่อให้เห็นและถอนตัวออกจากกิเลสจริง ๆ และสอนอุบายวิธีดับกิเลสและกองทุกข์เพื่อให้รู้และดับได้จริงๆ ฉะนั้นท่านจึงประกาศว่าธรรมเป็นของจริง มิได้บอกว่าธรรมเป็นของเล่น เหมือนตุ๊กตาพอจะทำกันแบบเล่นๆ และหลับๆ ตื่น ๆ เหมือนคนขี้เกียจ เพราะพระพุทธเจ้ามิใช่คนขี้เกียจมาสั่งสอนโลกให้เป็นคนเกียจคร้านอ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

        พระพุทธศาสนาสอนคนให้เห็นบุญเห็นบาปในปัจจุบัน เพราะกรรมดี กรรมชั่ว เราก็ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ผลก็ควรจะรู้ในปัจจุบัน คือวันนี้ ชาตินี้ ส่วนที่เศษจากปัจจุบันอันต่างแห่งกรรมซึ่งควรจะให้ผลในระยะสั้นหรือระยะยาวนั้น ก็ควรให้เป็นไปตามกรรมและตามกาล จะเป็นโลกหน้าหรือชาติหน้า ยกให้แก่กรรมและจิตผู้เป็นเจ้าของแห่งกรรม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แม้เช่นนั้นผู้บำเพ็ญจิตตภาวนาก็ยังมีทางจะรู้ว่า จิตของตนยังจะมีทางสืบต่อกับภพชาติซึ่งควรจะมีกรรมเกี่ยวข้องอยู่หรือไม่ ตลอดความบริสุทธิ์ของจิตอันเป็นวาระสุดท้าย จำต้องทราบขึ้นมาเป็นลำดับ ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะสั่งสอนโลกได้อย่างไร เพราะท่านไม่ทรงทราบความตรัสรู้ของท่าน แต่ที่ทรงสั่งสอนโลกได้อย่างเต็มภูมิของพระพุทธเจ้า ก็เพราะ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ  นั่นเอง เป็นเครื่องประกาศพระองค์เอง และ สนฺทิฏฺฐิโก สำหรับผู้บรรลุจำต้องรู้ประจักษ์ใจโดยทั่วกัน

        ดังนั้น โปรดยึดธรรมที่ทรงรู้จริงเห็นจริงไปปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ผลที่จะควรได้รับจะไม่เป็นทำนองคอยรับรางวัลจากครู แต่จะรู้ขึ้นมาที่ดวงใจอันบริสุทธิ์หมดจดแล้วนั่นแล จึงยุติธรรมเพียงเท่านี้ เอวํ

 

www.Luangta.or.th

 

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก