ยึดธรรมให้มั่นคง
วันที่ 1 เมษายน 2508 ความยาว 41.37 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๘

ยึดธรรมให้มั่นคง

 

        ความสุข ความสมหวังทั้งทางโลกและทางธรรม ย่อมเกิดขึ้นความบากบั่นทำลงไป จะยากหรือง่ายไม่ถือเป็นสำคัญ เพราะมุ่งผลเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่จะให้ฝ่าฝืนนั้นเป็นของต่ำซึ่งเคยมีอยู่กับใจ จึงทำให้ผู้คล้อยตามมีใจอันต่ำทราม สิ่งเหล่านี้ปกติก็เป็นของต่ำอยู่ในตัวของมันเอง เมื่อแผ่กระจายออกไปทางกาย วาจา จึงทำให้กาย วาจาต่ำไปด้วย ทั้งคอยจะฉุดลากเราไปทางต่ำเสมอ เช่นเดียวกับน้ำชอบไหลลงสู่ที่ต่ำ นอกจากจะมีสิ่งดึงดูดให้ไหลขึ้นสู่ที่สูงเท่านั้น

ตามธรรมดาของน้ำแล้วจะไม่ไหลขึ้นสู่ที่สูงเลย ต่ำเท่าไรก็ยิ่งไหลลงไปได้ง่าย และไหลลงไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้ายังมีที่ต่ำพอจะให้ไหลลงไปได้ก็ยิ่งไหลไปจนหมด ถ้าไม่หมดก็ลงถึงทะเล หากทะเลยังมีที่ต่ำพอน้ำจะไหลลอดลงไปได้อีก ก็ต้องและลอดซึมลงไปจนหมดน้ำ ลักษณะของน้ำไม่ชอบไหลขึ้นสู่ที่สูง  เช่นภูเขาเป็นต้น ที่เขาใช้น้ำประปากันก็ต้องทำที่สำหรับบรรจุน้ำไว้ในระดับอันสูง ถ้าต่ำกว่าที่อยู่อาศัยหรือที่ใช้น้ำแล้ว น้ำจะไม่ไหลเข้าไปถึงที่ต้องการได้เลย นี่เรื่องของน้ำ เคยเป็นเช่นนั้นตลอดมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คือที่ไหนลงทางต่ำแล้วแต่กลับไหลทวนกระแสขึ้นมา อย่างนี้ไม่เคยมี

ลักษณะของใจซึ่งมีสิ่งที่ต่ำอยู่ภายใน ก็ย่อมจะฉุดลากใจให้ลงสู่ที่ต่ำเสมอ สิ่งใดที่ต่ำใจรู้สึกจะชอบ เพราะมีสิ่งต่ำที่เป็นสื่อยั่วยวนและคอยกระซิบให้ชอบ และผลักดันให้เป็นไปในทางต่ำอยู่เสมอ หากว่าจิตไม่ต้องอาศัยการอบรมดัดแปลงเพื่อฝ่าฝืนธรรมชาติที่ต่ำนี้ แต่ก็จะเป็นไปในทางที่ดีโดยลำพังตนเองแล้ว เรื่องครูอาจารย์ หรือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องผลักดันจิตเราให้ขึ้นสู่ที่สูง ก็ไม่เป็นของจำเป็นอะไรเลย และศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าๆ ทุก ๆ พระองค์ที่สอนคนให้อบรมดัดแปลงตนให้เป็นไปในทางที่ชอบ เพื่อความสุขความเจริญนั้น จะต้องขัดแย้งกันแน่นอน แต่จิตก็เป็นไปโดยลำพังตนเองไม่ได้ ต้องอาศัยการฝึกหัดดัดแปลงโดยอุบายต่าง ๆ แม้ธรรมก็เป็นเครื่องดัดแปลงกาย วาจา ใจ เพื่อผลมีความสุขอันสมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายในนั่นเอง จึงพอเหมาะสมกันกับผู้สนใจดัดแปลงตนด้วยธรรม

        ข้อนี้เทียบกับครูสอนนักเรียน ย่อมมีความปรารถนาจะให้เด็กมีความรู้ความฉลาด และรู้หน้าที่การงานของตนตลอดวิธีปฏิบัติต่อตัวเอง เพราะตามธรรมดานิสัยของเด็กไม่ค่อยมีความสนใจในหน้าที่การงานที่จะให้เกิดประโยชน์ นอกจากจะประพฤติตามความชอบใจของตนเท่านั้น ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองทางบ้านและครูทางโรงเรียนไม่คอยตักเตือนว่ากล่าวเสมอแล้ว เด็กอาจมีทางเสียได้ เพราะเด็กยังไม่มีความรู้ความฉลาดพอจะรักษาตัวคุ้มตัว ฉะนั้นพ่อแม่และครูต้องคอยสั่งสอน ทั้งความประพฤติ มรรยาท การศึกษาเล่าเรียนและหน้าที่การงานตามวัยของเด็ก เพื่อเด็กจะได้มีทางรักษาตัวไม่ไหลลงสู่ทางต่ำ เพราะความประพฤติไม่ดี จนเด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และมีวิชาหาเลี้ยงชีพ ไม่ขัดสนจนทรัพย์อับปัญญา

จิตก็จำต้องการอาศัยการปกครองด้วยความถูกต้องจากเจ้าของ เพราะการศึกษาอบรมมาจากที่ต่าง ๆ คือจากทางโลกบ้าง จากทางธรรมบ้าง นำมาดัดแปลงตนเองให้ถูกต้องตามหลักวิชานั้น ๆ แต่การดัดแปลงตนให้เป็นไปในทางที่ดี ไม่ว่าทางโลกและทางธรรม รู้สึกจะเป็นการฝืนอยู่บ้างในขั้นแรกเริ่ม เพราะเป็นกิจที่ไม่เคยทำและยังไม่เห็นผลพอจะเป็นเครื่องดึงดูดใจ

        เฉพาะด้านธรรม ยังจะมีการฝืนมากกว่าทางโลกอยู่บ้าง ฉะนั้น จึงหาคนดีในด้านธรรมและด้านจิตใจได้ยาก ทั้งหมู่เพื่อนที่เป็นนักธรรมและครูอาจารย์ผู้ให้ความอบอุ่นในทางนี้ก็มีจำนวนน้อย เมื่อพูดมาถึงตอนนี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ผู้ประทานกำเนิดแห่งธรรมให้แก่พวกเรามากขึ้น เพราะความเชื่อในพระปรีชาสามารถฉลาดรอบรู้ของพระองค์ที่ทรงเสกสรรคนชั่วให้เป็นคนดี เสกสรรคนมีกิเลสหนาปัญญาทึบ ให้กลายเป็นผู้เบาบาง และเสกสรรผู้มีอุปนิสัยที่ค่อนข้างเบาบางอยู่แล้ว ให้เป็นบุคคลพิเศษขึ้นเป็นขั้น ๆ โดยเป็นพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคาและพระอรหันตบุคคล ซึ่งคนธรรมดาสามัญเราไม่มีใครสามารถจะทำได้อย่างพระองค์ท่าน

ดังนั้น การแสวงหาของดีทุกชนิดจึงเป็นของหายากมาก ไม่ใช่เป็นของหาได้อย่างง่ายดายเลย เราหาของดีในตัวเราก็ย่อมเป็นของยากอยู่บ้าง คือยากตรงที่ต้องฝืนใจทำ เช่นเดียวกับคนไข้ฝืนใจให้หมอฉีดยา แม้เจ็บก็อดทนเอาบ้าง แต่อย่างไรก็ดี อย่าลืมนิสัยของเราชาวพุทธที่ถือหลักเหตุผลเป็นที่ตั้งของการงานทุกประเภท จะหนักบ้าง เบาบ้างไม่สำคัญ แต่ชาวพุทธเราเห็นสำคัญอยู่ที่ผลประโยชน์อันจะพึงได้รับเป็นที่พอใจ ไม่เป็นไปเพื่อความกระเทือนตนและผู้อื่น ชาวพุทธเราถือว่าเป็นกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง และอย่าลืมคำว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเป็นสรณะและเข็มทิศของเรา ท่านทวนกระแสของโลกทั้งด้านความประพฤติและความรู้สึก พระธรรมที่ปรากฏขึ้นในพระทัยจึงเป็นธรรมที่ทวนกระแส พระสาวกพระอรหันต์ก็เป็นผู้ปฏิบัติทวนกระแสตามเสด็จพระพุทธเจ้า

เราที่น้อมนึกถึงท่านเป็นสรณะ และฝากเป็นฝากตายในชีวิต ก็เพราะท่านเป็นสรณะพิเศษกว่าสรณะเครื่องอาศัยทั่ว ๆ ไป ถ้าจะพูดถึงพุทธะ คือธรรมชาติที่รู้ของพระพุทธเจ้าและสาวกกับของบุคคลทั่ว ๆ ไปก็มีเช่นเดียวกัน แต่ไม่บริสุทธิ์พิเศษเหมือนพุทธะของพระพุทธเจ้าและสาวกท่าน ถ้าจะพูดถึงธรรม ธรรมของพวกเราก็มี แต่ยังมิใช่ธรรมอันศักดิ์สิทธิ์วิเศษเหมือน ธมฺโม ปทีโป ขององค์สรณะ เพราะยังไม่สามารถบำเพ็ญให้เต็มภูมิได้เหมือนอย่างท่าน เพราะฉะนั้น สรณะทั้งสามจึงเป็นที่เคารพรักและสงวนยิ่งของปวงชนชาวพุทธตลอดมา ไม่มีใครสามารถอาจเอื้อมดูหมิ่นเหยียดหยาม เพราะถือเป็นหัวใจของชาวพุทธแต่ละท่าน

        พระพุทธเจ้าองค์สรณะที่หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รื้อฟื้นสรณะที่สองและที่สามขึ้นมา ให้เป็นขวัญตาขวัญใจของโลกได้กราบไหว้บูชาเป็นคู่เคียงกันมา รู้สึกว่าเป็นที่น่าแปลกและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งในพระประวัติที่ทรงบำเพ็ญมา เป็นประวัติอันยิ่งใหญ่ประหนึ่งโลกสะเทือน เพราะเป็นประวัติที่เอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แบบพูดพล่ามทำเพลงเฉย ๆ แล้วไม่ทำตามที่พูดไว้ ทั้งไม่ทรงเกริ่นเวลาและโฆษณาชวนเชื่อ ตลอดทรงหวังพระเกียรติในการเสด็จออกเพื่อทรงผนวชแต่อย่างใด แต่เสด็จออกแบบนายสานายมาไปเยี่ยมญาติโดยไม่มีใครทราบ เพราะไม่รับสั่งอำลาใคร แม้พระชายาและพระโอรสก็ไม่ทรงอำลา เกรงจะเป็นอุปสรรคต่อการเสด็จออกเพื่อพระโพธิญาณ ซึ่งกำลังจะเข้าถึงเงื้อมพระหัตถ์อยู่แล้ว ไม่ทรงอาลัยเสียดายพระราชสมบัติและพระราชฐานที่เคยเสด็จประทับอยู่อาศัย เสด็จออกในเวลากลางคืนยามดึกสงัด มีเพียงนายฉันนะและม้าเท่านั้นตามเสด็จ

พอเสด็จถึงที่และเสร็จการทรงผนวชแล้ว ก็รับสั่งให้นายฉันนะและม้ากลับพระราชฐาน ส่วนพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในป่านั้นพระองค์เดียวเปลี่ยวพระทัย หมดที่พึ่งอาศัย ในพระอิริยาบถทั้งสี่ไม่มีความสะดวกพระกายสบายพระทัยเลย ในระยะที่ทรงเริ่มบำเพ็ญ แต่ก็ทรงอดทนฝืนความที่เคยเป็นมาให้เข้ารูปกับความเป็นนักบวช ซึ่งเป็นเพศที่ช่วยตัวเอง ไม่ทรงหวั่นไหวต่อความทุกข์ทรมานใด ๆ ทั้งสิ้น ทรงมีความเพียรอันเด็ดเดี่ยวกล้าหาญต่อพระโพธิญาณ บางครั้งถึงกับสลบไสลไปเพราะความเพียรกล้า แต่ทรงมุ่งหน้าต่อความเป็นพระพุทธเจ้าไม่ทรงลดละ ถ้าเป็นพวกเราไปโดนอย่างนั้นเข้าบ้าง ก็น่ากลัวจะร้องโวยวายไปทั่วทั้งป่า และร้องเรียกให้คนไปช่วยหามกลับมาบ้านอย่างไม่มีปัญหา

แต่การหามคนที่แพ้การต่อสู้ นอกจากหามนักมวยที่ถูกน็อกบนเวทีลงมาเพื่อช่วยพยาบาลแล้ว ไม่มีประเพณีหามกัน นอกจากจะหามลงใส่ตมใส่โคลนไปตามเรื่องของคนที่แพ้เท่านั้น เพื่อให้เห็นโทษในความไม่เป็นท่าของตน ไม่มีทางเป็นที่น่าชมเชย เพราะประเพณีของโลกที่นิยมกัน ต้องหามผู้มีชัยชนะจากการต่อสู้ เพื่อเสริมเกียรติให้เขามีแก่ใจในวาระต่อไปเท่านั้น แต่จะหามเพื่อเสริมเกียรติคนที่แพ้การต่อสู้อย่างหลุดลุ่ยนั้น ก็จะเป็นการส่งเสริมคนขี้เกียจอ่อนแอไม่เป็นท่า ให้แสวงหาเกียรติในทางนั้นมากขึ้น ศาสนาก็จะล่มจม คนดีจะสูญพันธุ์ไปหมด จะปรากฏแต่คนประเภทไม่เป็นท่าเต็มแผ่นดินเท่านั้นเอง

        พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกประโยคแห่งความเพียร แม้จะผิดพลาดไปบ้างในกิจไม่เคยทำ แต่ก็เป็นคติแก่โลก สมการบำเพ็ญของศาสดาว่ามิใช่ผู้ทำเล่น ๆ แต่ทำสมภูมิของผู้จะเป็นศาสดาของโลกจริง ๆ เราพอจะทราบความเป็นมาแห่งศาสดาของโลก ควรเป็นผู้สมพระนามว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ จริง ทั้งด้านความเพียรอันทรหดอดทน ทั้งด้านความรู้จริงเห็นจริง และด้านการสั่งสอนสัตว์โลกด้วยสวากขาตธรรม เพื่อนิยยานิกธรรมจริง ๆ  ธรรมสมบัติที่ทรงค้นพบก็เป็นธรรมอันประเสริฐ และสังฆสมบัติที่ทรงผลิตขึ้นก็เป็นสงฆ์องค์ประเสริฐ รวมองค์ของพระศาสนาแล้วมีแก้วอันประเสริฐสามดวงเป็นหัวใจของโลกตลอดมา ดังนั้น เราผู้มีแก้วสามดวงเป็นหัวใจ โปรดยึดเยี่ยงอย่างแห่งแก้วสามดวงนั้นด้วย เท่าที่เพศวัยและกำลังความสามารถจะอำนวย

วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป อายุและวัยของเราก็ชื่อว่าก้าวเคียงกันไปกับวัน คืน เดือน ปีด้วย ในรอบของคืนหนึ่งและวันหนึ่งควรถือเป็นเวลาสำคัญ เพื่อคิดบัญชีของตัวสักหนึ่งเวลา คือการบำเพ็ญความดีเพื่อเป็นชิ้นเป็นอันของตัวบ้าง ได้แก่แบ่งเวลาไว้อบรมจิตตภาวนา เพื่อรู้วิถีทางเดินของชีวิตจิตใจ ทางที่ดีควรตั้งความสัตย์กำหนดเวลาบังคับตนบ้าง เพื่อไม่ให้จิตหาเรื่องออกตัว เพราะจิตขั้นเริ่มแรกแห่งการอบรม รู้สึกจะมีเรื่องมากทั้ง ๆ ที่ไม่มีเรื่อง เช่นเดียวกับเราบังคับเด็กให้ทำงาน โดยมากเด็กชอบออกตัวเพื่อหลบงานเสมอ ถ้าผู้ใหญ่เผลอเด็กก็หาทางหลีกงานไปได้ ถ้าถูกบังคับเข้าจริง ๆ จนหาทางหลบหลีกไม่ได้ เด็กก็ยอมทำงานให้ตามคำสั่ง

จิตขั้นเริ่มแรกก็รู้สึกจะเป็นเช่นนั้น ถ้าสติไม่บังคับและความสัตย์ไม่บีบตัวจริง ๆ จิตอาจหาทางออกได้ อย่างหนึ่งไม่ยอมทำงาน คือ การภาวนา อย่างหนึ่งยอมทำงานแต่ไม่จดจ่อกับงาน พอให้เสียเวลาโดยไม่ได้ผล ฉะนั้น  การตั้งกฎเกณฑ์และตั้งสติบังคับใจ จึงเป็นกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง สำหรับผู้มุ่งความก้าวหน้าทางด้านจิตตภาวนา จนกว่าจิตจะมีความเคยชินต่อกฎเกณฑ์ เคยชินต่อตัวเอง และปรากฏผลขึ้นมาบ้างแล้ว จากนั้นจิตจะมุ่งทำงานในหน้าที่ของตัวไปเอง แม้จะมีธุระมากน้อยก็ไม่ยอมลดละ พอถึงเวลาอันควร จิตจะปล่อยวางและย้อนกลับเข้ามาหางานภายในทันที โดยไม่ต้องบังคับขู่เข็ญดังที่เคยเป็นมา

        อนึ่ง การสมาคมเป็นสิ่งสำคัญทั้งด้านความเจริญและด้านความเสื่อมเสีย เพราะการสมาคมก็เท่ากับการศึกษาและทำความจดจำอย่างฝังใจเหมือนกัน ความจำเป็นนั่นแลเป็นสาเหตุแห่งความประพฤติดีชั่ว ซึ่งจะพาตัวให้เจริญและเสื่อมเสียไป ท่านจึงสอนเสมอว่า   อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา จงพยายามปัดเป่าสิ่งที่ชั่วอย่าให้เข้าใกล้ชิดตัว และจงพยายามแสวงหาของดี อย่าขี้เกียจ ไม่ว่าชั่วข้างนอกหรือชั่วข้างใน อย่าทำความนอนใจ จะทำเราให้เสียได้จริง และไม่ว่าดีข้างนอกหรือดีข้างในจงทำความหมายมั่นปั้นมือเสาะแสวงและส่งเสริม จะทำเราให้เป็นคนดีได้จริงๆ จิตที่ได้รับการบำรุงรักษาด้วยดีต้องเป็นไปเพื่อความก้าวหน้าไม่ล่าถอย เพราะเป็นสิ่งที่เสริมให้ดีและกดให้เลวได้จากผู้เป็นเจ้าของ

        เรื่องความอยาก ทั้งมนุษย์และสัตว์ย่อมมีเหมือน ๆ กัน ความอยากตามธรรมดาที่ธาตุขันธ์ต้องการก็มี ความอยากตามอำนาจของตัณหาก็มี ประเภทหลังนี้สำคัญมาก ถ้าปล่อยให้ความอยากประเภทหลังนี้ถือพวงมาลัย อย่างไรต้องเร่งเครื่องใหญ่ และมีหวังพาเราลงคลองแน่ ๆ พอส่งเราลงไปนอนสลบไสลอยู่ในคลองแล้ว ตัวมันก็เผ่นหนีเลย ตามจับตัวมาเข้าห้องขังไม่ได้ สุดท้ายต้องยอมเสียทั้งเราและเสียทั้งชีวิตไปด้วย การปล่อยตามอำนาจของความอยากคือตัณหาไม่มีเมืองพอดีนี้ ย่อมลำบากและได้รับความเสียหายอย่างมากมาย ฉะนั้น จงพยายามกดขี่บังคับมันให้ยอมตัวลงเป็นล้อรถ เราเป็นผู้ขับขี่และถือพวงมาลัยบังคับเครื่องเอง เร่งเครื่องและหมุนพวงมาลัยรถไปในทางดี จนล้อตัณหามันหมุนเป็นไฟไปเลย จะพอดีกับที่มันเคยขี้โกงและแสนงอนต่อเรามานาน

โดยมากที่ทำตัวให้เสียจนไม่สามารถยับยั้งชั่งตัวได้ ก็เพราะตัณหาตัวเดียวนี้เท่านั้นถือพวงมาลัย สิ่งและสถานที่ที่จะให้เกิดความฉิบหาย มันชอบขับขี่พาเราเข้าไป เช่น โรงหนัง โรงละคร โรงบาร์ และสถานที่ขับกล่อมบำรุงบำเรอต่าง ๆ เป็นสถานที่เก็บรถของมันทั้งนั้น เงินทองแสวงหามาได้มากน้อยไม่พอจับจ่าย และชดใช้ค่าเสียหายที่เจ้าตัณหามันเที่ยวทำเอาไว้ มันเป็นผู้กินผู้ใช้อย่างไม่มีปรานีปราศรัย แต่เราเป็นผู้จ่ายตามหลังมันแบบเป็นน้ำเป็นไฟไปเลย ไม่มีเหลือ ชดใช้ไม่ทันกับความต้องการของมัน ต้องขอเชื่อเครดิตไปก่อน นาน ๆ ไปมันสั่งให้เชื่อแกมโกง และขอเอาแบบดื้อ ๆ ถ้าไม่ให้มัน มันก็สั่งแบบใช้อำนาจ มันไปที่ไหน เป็นโรคระบาดฆาตกรรม ไม่มีการยับยั้ง ใคร ๆ ต้องกลัวอำนาจโรคประเภทนี้

ทั้งนี้ผู้แสดงเคยถูกมันหลอกไปต้มเสียอย่างมอมแมมจนนับประมาณไม่ได้ ที่บอบช้ำมาจนบัดนี้ ก็เพราะถูกเจ้าตัณหาผู้มีกลมารยามากมายหลอกลวงนั่นเอง จึงถือโอกาสแสดงเรื่องของตัวที่ถูกหลอกให้ท่านผู้ฟังทราบ เผื่อจะได้หาทางหลบหลีกปลีกตัว พอมีทางลอดตาข่ายของมันไปบ้าง หากไม่ได้อย่างสมใจ

        โดยมาก ตัณหามีกำลังแผ่อำนาจเพราะมีอาหารเครื่องบำรุง คือความคล้อยตาม ไม่มีการหักห้ามบั่นทอน ท่านที่เห็นโทษมันมาแล้ว จึงสอนให้หักห้ามบั่นทอนตัณหาให้มีกำลังลดน้อยลง จะพอมีทางสบายบ้าง ไม่ถูกไสไปโดยถ่ายเดียว ถ้าเป็นฆราวาสก็ให้ตั้งอยู่ในความเป็นพลเมืองดี ไม่เป็นที่รังเกียจของท่านผู้ดี จนเกิดเบื่อหน่ายไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย ถ้าเป็นพระก็ให้ตั้งอยู่ในสังวรธรรม มีความสงบเสงี่ยมสมกับเพศของตน ที่ได้นามว่า สมณะ คือผู้สงบงามตา ยิ่งกว่านั้นก็ขอให้เป็น ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ผู้สิ้นตัณหาทั้งหลายจะเป็นเพศที่เย็นใจและงามเต็มภูมิของสมณะเรา ซึ่งโลกนับถือและไว้วางใจอย่างยิ่ง

        ตามหลักธรรมดา ไม่ว่าต้นไม้ใบหญ้า สัตว์ บุคคล และดี ชั่ว เป็นต้น จะตั้งอยู่หรือเจริญขึ้นได้ ต้องอาศัยเครื่องบำรุง ถ้าหาไม่แล้วจะเจริญเติบโตขึ้นไปไม่ได้ ถ้ามีสิ่งบั่นทอนอยู่เสมอ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ต้องนับวันเวลาเสื่อมลงเป็นลำดับจนสิ้นสูญไปเลย ไม่มีสิ่งใดจะฝืนตัวตั้งอยู่ได้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า จงพยายามสั่งสมคุณงามความดีทีละเล็กละน้อย ความดีจะค่อยเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับจนถึงขั้นสมบูรณ์เต็มที่ได้ และจงพยายามตัดทอนความชั่วลงวันละเล็กละน้อย ความชั่วจะค่อยหมดไป จนไม่ปรากฏซากเหลืออยู่เลย นี้ท่านหมายถึงการส่งเสริมสิ่งที่ควรจะส่งเสริม และตัดทอนในสิ่งที่ควรตัดทอนนั่นเอง

ฉะนั้น การส่งเสริมและการตัดทอนเป็นสิ่งที่เราควรจะสนใจเป็นพิเศษ เพื่อจะนำไปใช้ในกิจการที่ชอบซึ่งควรจะส่งเสริม และในสิ่งที่ไม่ชอบซึ่งควรจะตัดทอน ตามอุบายวิธีที่ท่านสั่งสอน ไม่เช่นนั้นกิจการทั้งปวงจะไม่มีประมาณพอดีที่ยังเหลืออยู่ พอให้เป็นที่น่าดูเลย เรื่องความดีความชั่ว และความสุขความทุกข์ที่มีประจำอยู่ในตัวเรา อย่าเข้าใจว่าเกิดขึ้นอย่างลอย ๆ และตั้งอยู่อย่างลอย ๆ ต้องมีเครื่องบำรุงส่งเสริมพอสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเจริญขึ้นได้ การบำเพ็ญใจด้วยคุณงามความดี ท่านจัดว่าเป็นการบำรุงส่งเสริม เพื่อให้ใจมีกำลังก้าวหน้าไปสู่ความสุขความเจริญเป็นขั้น ๆ

        ธรรมอันเป็นฝ่ายสูงกับกิเลสตัณหาอันเป็นฝ่ายต่ำ นักปราชญ์ถือว่าเป็นข้าศึกของกันและกันแต่ไหนแต่ไรมา ถ้าฝ่ายต่ำได้รับการส่งเสริมให้มีกำลังมากขึ้น ธรรมอันเป็นฝ่ายสูงก็ลดกำลังลงเป็นลำดับ ทำให้ลืมกิจธุระที่เป็นกุศลซึ่งตนเคยบำเพ็ญมาเป็นประจำ หนักเข้าก็ลืมวันพระ วันธรรมสวนะ ลืมเจริญภาวนา ลืมไหว้พระสวดมนต์ ลืมทางเดินจงกรม นั่งสมาธิอบรมภาวนา ลืมข้อวัตรปฏิบัติประจำเพศ และหน้าที่ของตน เลยกลายเป็นคนไม่มีหลักยึดและมีคติไม่แน่นอน จิตใจคลุกเคล้ากับความยุ่งเหยิงจนไม่มีวันและเวลาปลงวางลงได้ นรกซึ่งได้ยินแต่ชื่อ ไม่ทราบว่าอยู่ใกล้อยู่ไกลหรืออยู่โลกไหน แต่ความทุกข์ในไตรโลกธาตุก็มากลุ้มรุมอยู่ที่ใจของตนคนเดียว ประหนึ่งไข้สุมอยู่ตลอดวัน ไม่มีเวลาสร่าง

โทษทั้งนี้เกิดจากการปล่อยตัว ให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาอันเป็นฝ่ายต่ำเป็นผู้นำทาง ซึ่งเขาชอบทางมืดประจำนิสัยอยู่แล้ว จะเห็นได้จากกิเลสตัณหาพาให้ทำ โดยมากจะไม่ชอบทำในที่เปิดเผย แต่ชอบทำในที่ลับหูลับตาซึ่งมีทางกำบัง สรุปความแล้ว กิเลสตัณหาชอบเดินทางมืด ชอบอยู่ในที่มืด ชอบทำในที่มืด สมกับกิเลสเป็นตัวมืดมน ไม่มีความสว่างแจ่มใสภายในตัวของมัน เมื่อเข้าสิงจิตจึงทำให้จิตมืด เข้าสิงคนทำให้เป็นคนมืด ถ้าเข้าสิงมาก ๆ ก็ทำให้มืดบอดไปเลย หมดทนหนทางแก้ไข ที่ท่านเรียกว่า ปทปรมะ คงจะหมายจำพวกนี้ก็ได้ ส่วนธรรมเป็นความสว่าง ท่านจึงให้นามว่า ธมฺโม ปทีโป ถ้ามีในบุคคลก็เป็นคนสว่าง รู้สึกผิดชอบ ชั่วดี ตามความแทรกซึมของธรรมที่มีมากน้อย ผู้มีธรรมในใจจะไปจะมา จะทำ จะพูด จะคิด ย่อมเป็นผู้เปิดเผยเสมอ ไม่เป็นนิสัยลอบ ๆ มอง ๆ มีความสง่าผ่าเผย ไม่เป็นคนอับเฉา สมกับธรรมเป็นความสว่างและเปิดเผย

        ท่านนักบวชและท่านสาธุชนผู้ใจบุญ ซึ่งสนใจต่อการบำเพ็ญตนเป็นประจำนิสัยของผู้รักธรรม ต่างท่านจึงไม่เห็นแก่ความลำบากและสิ้นเปลืองใด ๆ อุตส่าห์มาบำเพ็ญเต็มสติกำลังความสามารถ เพื่อการตัดทอนฝ่ายต่ำให้ลดน้อยลงเป็นลำดับ และเพื่อส่งเสริมธรรมฝ่ายสูงให้มีกำลังมากขึ้น ด้วยการบำเพ็ญโดยลำพังตนเองบ้าง ด้วยการสดับฟังจากครูอาจารย์บ้าง เพื่อธรรมจะได้คุ้นกับใจจนมีกำลังทรงตัวได้ โดยไม่ต้องอาศัยการบังคับขู่เข็ญจากตนเองและจากครูอาจารย์ อยู่ที่ใดไปที่ใดมีธรรมเป็นเพื่อนสอง คอยกระตุ้นเตือนในเวลาผิดพลาด ประหนึ่งมีเข็มทิศประจำตัวในการเดินทางไม่ผิดพลาด แม้จะทำกิจการใดๆ ไม่ว่าทางโลกทางธรรม ย่อมมีธรรมเป็นแว่นส่องทาง ผลได้และเสียอันจะเกิดจากงานนั้น ๆ  ไม่ทำเอาตามใจชอบ แต่มีหลักธรรมเป็นเครื่องทดสอบเสมอ ไม่ทำแบบพรวดพราดพอขอไปที ทั้งงานส่วนตัวและงานส่วนรวม

ชอบทำด้วยความสังเกตสอดรู้และพิถีพิถัน เพื่อหวังผลเป็นที่เรียบร้อยจากงานจริง ๆ ทำด้วยความจงใจ และมีความขยันหมั่นเพียรในการงานที่เกี่ยวข้องกับตน สมกับทำเหตุเพื่อผลที่ตนมุ่งหวังจริง ๆ จะไปมาทางไหนกับใครก็ไม่ทำให้เป็นสิ่งที่รังเกียจและหนักใจด้วย แต่กลับเป็นเครื่องดึงดูดจิตใจของคนอื่นได้ดี ความเป็นผู้มีธรรมในใจนี้รู้สึกว่าเป็นผู้งามอย่างยิ่ง งามไม่มีจืดจาง งามไม่มีสถานที่ กาล บุคคลเข้าเคลือบแฝงเลย ไม่มีเครื่องประดับใดจะมีคุณค่าและงามกว่าผู้มีธรรมประดับตน เป็นฆราวาสก็งามไปทางหนึ่ง เป็นนักบวชก็งามไปทางหนึ่ง ถ้าจะให้กรรมการผู้มีธรรมไม่ลำเอียงมาตัดสิน จำต้องตัดสินให้เสมอกัน เพราะต่างก็งามไปตามหน้าที่และเพศของตน ไม่ซ้ำรอยกันพอจะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นที่หนึ่งหรือที่สอง

        ยิ่งได้รับการอบรมใจให้งามด้วย สมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะด้วยแล้ว ยิ่งงามอย่างลึกซึ้งไม่มีอะไรเสมอเหมือนได้ ความงามด้วยธรรมภายในใจที่บริสุทธิ์ นั่งอยู่ก็งาม เดินไปก็งาม ยืนอยู่ก็งาม หลับหรือตื่นก็งาม งามไปตลอดอิริยาบถไม่ลดละความงาม การเกี่ยวข้องกับฝูงชนทั้งใกล้และไกล ย่อมงามไปตามลำดับแห่งการอบรมสั่งสอน

        งามในเบื้องต้น คือการสั่งสอนคนให้รู้จักตนกับศาสนา ว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร ตนกับศาสนามีความจำเป็นต่อกันอย่างไร และจะควรปฏิบัติต่อกันอย่างไรบ้างให้สมกับศาสนาเป็นสมบัติจำเป็นของทุกคน ผู้มุ่งหวังความสุขความเจริญแก่ตน จนทราบชัดว่าหลักศาสนากับตนเองไม่เป็นอื่นจากกัน แต่ตนกับศาสนาเป็นอันเดียวกัน การติชมพระศาสนาก็เท่ากับติชมตนเองด้วย เมื่อเข้าใจหลักศาสนากับตนว่าเป็นอวัยวะเดียวกันแล้ว จะปฏิบัติศาสนาอย่างเต็มใจเท่ากับปฏิบัติต่อตนเอง เพราะหลักศาสนาหนึ่ง กรรมหนึ่ง และตนหนึ่ง เป็นกฎตายตัวอันเดียวกันโดยแยกจากกันไม่ออก

การทำกรรมดี กรรมชั่วจึงกระเทือนถึงศาสนาและตัวผู้ทำกรรมเอง ผู้ไตร่ตรองดูกฎอันตายตัวทั้งสามนี้จนทราบชัดแล้ว จำต้องยอมเชื่อศาสนา เชื่อกรรม และเชื่อผลแห่งกรรมที่จะพึงได้รับแก่ผู้ทำ ทั้งมีความพอใจต่อการทำดีทุกประเภท ที่เป็นวิสัยของตนจะทำได้ ไม่บิดพลิ้วเพื่อหาทางออก โดยเห็นว่ากรรมไม่มีผลแก่ผู้ทำ และศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับตน มีความเชื่อต่อกรรมเช่นเดียวกับการเชื่อต่อการรับประทาน เพื่อผลคือความอิ่มสำหรับตนผู้รับประทาน

        งามในท่ามกลาง คือการสั่งสอนให้รู้จักวิธีอบรมใจให้มีความสงบเป็นสมาธิ อันเป็นเหมือนเรือนพักหลับนอน คือความอยู่เย็นสบายของใจเป็นขั้น ๆ ของสมาธิ สมาธิมีแง่ที่ควรสงสัยตอนไหน พยายามอธิบายให้ฟังอย่างแจ่มแจ้งตามที่รู้เห็นและตามหลักธรรมที่ท่านแสดงไว้ สมาธิตอนไหนมีทางจะเกิดความรู้ความเห็นเป็นต่าง ๆ ซึ่งอาจจะทำผู้บำเพ็ญนั้นให้เสียหรือเขวไป สมาธิตอนไหนที่เห็นว่าถูกและควรส่งเสริม เพื่อให้ผู้บำเพ็ญแน่วแน่และมีกำลังใจ ตลอดปัญญาที่จะนำมาใช้ในสมาธิขั้นนั้น ๆ ตามกาลที่ควรจะใช้ ก็พยายามชี้แจงให้ฟังอย่างละเอียด จนผู้บำเพ็ญหายสงสัยในภูมิธรรมของตนที่กำลังเป็นอยู่ และพอใจพยายามบำเพ็ญเพื่อความก้าวหน้า เพราะอุบายที่แสดงให้ฟังเป็นเครื่องสนับสนุน

        งามที่สุด คือการสั่งสอนเกี่ยวกับสมาธิและปัญญาขั้นละเอียด ซึ่งจะปฏิบัติต่อกันให้พอเหมาะสมตลอดไปจนถึงจุดหมายปลายทาง สมาธิขั้นละเอียดที่มีแง่ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะติดและทำให้เสียเวลา ก็พยายามอธิบายให้ฟังจนเป็นที่เข้าใจ เพื่อมิให้ทำความผูกพันอยู่กับสมาธิจนเกินไป ในเวลาที่ควรจะออกคิดค้นทางด้านปัญญา การพิจารณาก็ไม่เพลินจนลืมพักสงบในสมาธิที่เคยเป็นธรรมหนุนกำลังปัญญา ปัญญาที่จะรู้เท่าทันกับเหตุการณ์ ต้องพลิกแพลงตัวเองกับสิ่งเกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว โดยแยกขันธ์ออกเป็นส่วน ๆ ทดสอบด้วยปัญญาอย่างรอบคอบ ไม่ยอมให้นอนจมอยู่กับขันธ์ใดขันธ์หนึ่งโดยเข้าใจว่าเป็นตน

ทุกสิ่งที่ปรากฏขึ้นกับใจไม่ว่าดีหรือชั่ว มันเป็นเรื่องของขันธ์ทั้งนั้นที่แสดงตัวออกมา ต้องใช้ปัญญาตามรู้ลงไปในจุดที่ปรากฏนั้นทันที ไม่ยอมยึดถือหรือให้ผ่านไปเปล่า ไม่เช่นนั้นจะกลับมาหลอกจิตให้หลงเชื่อจนได้ นอกจากการพิจารณาขันธ์ให้เข้าใจแล้ว ปัญญายังมีทางสืบต่อจากขันธ์ลงไปถึงจุดใหญ่แห่งภพ คือ จิต กับ อวิชชา ซึ่งกำลังคละเคล้ากันอยู่ประหนึ่งเป็นอันเดียวกัน โดยเห็นว่านั่นคือ จุดข้าศึกอันใหญ่หลวงกำลังตั้งอยู่ จนเห็นชัดด้วยปัญญาแล้ว ขณะนั้นแลเป็นขณะที่อวิชชาจะสลายตัวออกจากจิต และไม่มีทางต่อสู้ปัญญาอันแหลมคมไปได้ อวิชชาต้องดับไปในจุดนี้ ไม่มีทางออกตัวได้อีกต่อไป

หลังจากอวิชชาดับไปแล้ว ขันธ์แต่ละขันธ์ อายตนะหกแต่ละอย่าง ต่างก็ทรงความจริงของตนไว้อย่างสมบูรณ์ เพราะจิตซึ่งเป็นหลักใหญ่ของสิ่งเหล่านี้ เข้าถึงความจริงอย่างเต็มภูมิแล้ว ไม่มีส่วนใดจะเกิดปัญหาโต้แย้งกันดังที่เคยเป็นมา โลกกับธรรม ขันธ์กับจิต ก้าวลงสู่ความสันติต่อกันอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีใครมาบังคับ จิตกับสภาวธรรมทั่ว ๆ ไปหมดทางขัดแย้งกันนับแต่ขณะอวิชชาดับไป ต่างก็เป็นสุคโตไปตามสภาพของตน ๆ

        นี่กล่าวถึงท่านผู้เป็นสุคโตอนุเคราะห์แก่พวกเราชาวพุทธมามกะ เป็นความงามมาเป็นลำดับจนตลอดสาย ไม่มีความเป็นลุ่ม ๆ ดอน ๆ แฝงอยู่ในอุบายแห่งการสั่งสอนของท่านเลย ก็คุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะเหล่านี้ เราจะไปแสวงหาที่ไหนกันจึงจะพบความจริงดังกล่าวมา นอกจากจะแสวงหาด้วยข้อปฏิบัติอันชอบธรรม จนปรากฏผลขึ้นกับตนเท่านั้น ไม่มีที่อื่นใดพอจะเป็นบริษัทห้างร้านของธรรม มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นต้นเลย เพราะธรรมเหล่านี้มิได้ขึ้นอยู่กับ กาล สถานที่ บุคคลทั่ว ๆ ไป แต่ขึ้นอยู่กับการบำเพ็ญโดยไม่อ้าง กาล สถานที่เท่านั้น

        ถ้ากล่าวตามธรรมคือความเสมอภาคแล้ว รู้สึกว่าให้ความสะดวกและเสรีแก่ผู้บำเพ็ญโดยไม่เลือก กาล สถานที่ ชาติ ชั้น วรรณะ และเพศวัย ตลอดอิริยาบถที่เห็นว่าสะดวกแก่การบำเพ็ญตามเวลาที่ต้องการ ไม่มีการหวงห้าม นอกจากผู้บำเพ็ญจะทำความขัดข้องแก่ตนเสียเองแล้วไม่อยากทำ โดยหาวิธีหลีกเลี่ยงไปต่าง ๆ นานา ตามวิสัยของกิเลสพาให้เป็นไปเท่านั้น ถ้าถือเป็นกิจจำเป็นเสมอด้วยงานอื่น ๆ แล้ว จิตคงไม่ตกอยู่ความอับจนและขนทุกข์ใส่ตัวเองจนมากมายนัก อย่างไรต้องมีสุขสมบัติประดับใจ ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์อันเป็นสถานที่รวมแห่งสมบัติต่าง ๆ แต่น่าเห็นใจทั้งท่านและเราที่มีกิเลสเป็นเจ้าเรือนด้วยกัน มันชอบไปหาเกาในสถานที่ไม่ควรจะเกา ไปคันในสถานที่ไม่ควรจะคัน และชอบเที่ยวหาเกาในสถานที่ไม่คัน ที่คัน ๆ ควรจะเกาแต่ไม่สนใจเกาให้หายคัน โรคคันจึงไม่หายจากการเกา เพราะเกาไม่ถูกกับจุดที่คัน

ชอบสนใจในสิ่งที่ไม่ควรสนใจ ชอบเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ควรเพลิดเพลิน ชอบแสวงหาความสุขในสิ่งที่จะให้เกิดทุกข์ ชอบเห็นว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่จะให้เกิดความสุข ชอบขี้เกียจในสิ่งที่จะควรขยัน แต่ชอบขยันในสิ่งที่จะให้เกิดความฉิบหายเดือดร้อน ชอบสรรเสริญในสิ่งที่ควรจะตำหนิและหาทางออก แต่ชอบตำหนิกิจที่ควรจะเป็นคุณประโยชน์ ฉะนั้น โทษคือความทุกข์ จึงไม่วายจากใจ อยู่ที่ใดไปที่ใด ได้ยินแต่ความบ่นกัน ประหนึ่งความบ่นเป็นยาอายุวัฒนะขนานวิเศษ ไปที่ไหนแอบถือติดตัวไปจนได้ หรือจะได้อวดเขาว่า เรามียาอันศักดิ์สิทธิ์วิเศษ คือความบ่น

ถ้าไม่ได้ติดตัวไปมากแต่ขนาดอุบอิบพึมพำ จำต้องมีติดตัวไปด้วย จะขาดไม่ได้ทั้งท่านและเรา ทั้งหญิงและชาย ทั้งนักบวชและฆราวาส ไม่ค่อยมีใครปราศจากได้ และมีอยู่ทุกแห่งทุกหนไม่ต้องออกร้านค้า เพราะต่างคนต่างมี แม้จะนำมาบ่นวันยังค่ำคงไม่จบเรื่องความบ่นของแต่ละคน อิ่มก็บ่น หิวก็บ่น จะนอนก็บ่น ตื่นนอนขึ้นมาก็บ่น นั่งอยู่เฉย ๆ ไม่มีอะไรมาทำให้ยุ่งก็บ่น ยิ่งได้สมาคมกับเพื่อนฝูงที่ถูกคอกันด้วยแล้ว จะได้ยินแต่เสียงบ่น จนไม่ทราบว่าเสียงเข้าเสียงออก เป็นเสียงอะไรกันแน่ เพราะไม่มีผู้สม่ำเสมอและเชื่องชินต่อความสุขทุกข์ พอจะรับฟังและให้อุบายไปแก้ไขปรับปรุงตัว เพื่อบรรเทาความบ่นให้น้อยลง หรือหมดไปโดยวิธีที่ถูก

        ธรรมเป็นโอสถสำคัญสำหรับแก้ความคะนองทางกาย วาจา ใจอันเป็นสาเหตุแห่งความบ่นเพ้อได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจและยึดธรรมเป็นหลักใจ จึงเป็นผู้รู้จักสภาพการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้ดี ไม่ค่อยมีความตื่นเต้น และดีใจเสียใจจนเลยความพอดี รู้จักวิธีปฏิบัติตัวเองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ แล้วสลายตัวลงตามหลักอนิจจัง อันมีระยะสั้นและระยะยาวได้เป็นอย่างดี ไม่ค่อยมีการห้อยโหนโยนตัวไปตามความดีใจและเสียใจ เพราะสิ่งที่รักชอบพลัดพรากจากไป และสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาผ่านเข้ามา สามารถวางตัวได้อย่างน่าดูน่าชม และเป็นคติตัวอย่างอันดีแก่คนอื่นได้ด้วย เพราะธรรมเครื่องหักห้ามใจ ย่อมเป็นเช่นกับเบรกเครื่องห้ามล้อรถ ซึ่งจะนำมาใช้ได้ตามเวลาต้องการและจำเป็น

ใจที่ไม่มีธรรมเครื่องหักห้าม ย่อมหมุนตัวไปทางผิดได้อย่างง่ายดาย และไม่มีสิ่งใดจะมีกำลังเรี่ยวแรงสามารถหักห้ามจิต ให้ดำรงตนอยู่โดยถูกต้องได้ นอกจากธรรม แม้จะมีความรู้ ความฉลาดจากการศึกษาและสมาคมมามาก ก็เป็นเพียงบริวารหรือเครื่องมือซึ่งจะคอยปฏิบัติตามคำสั่งของตัณหาอยู่นั่นเอง ดังนั้นผู้มีความรู้ความฉลาดเสมอท่าน ๆ เรา ๆ จึงตกอยู่ในอำนาจแห่งความผิด ๆ ถูก ๆ ตามอำนาจของสิ่งขับพาให้เป็นไป ธรรมเมื่อนำมาใช้ย่อมเป็นเครื่องมือต้านทาน และหักห้ามสิ่งเป็นภัยต่อจิตได้ดี ตามกำลังของผู้มีธรรมมากน้อย ถ้ามีเพียงพอก็สามารถหักล้างกันได้อย่างไม่มีปัญหา เช่น ท่านผู้ถึงธรรมอันสูงสุดแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้หมดภัยทางใจโดยสิ้นเชิง ไม่มีปัญหาใด ๆ ตกค้างอยู่ในใจของท่านเลย นี่คือท่านผู้หยุดเดินและหมดภัยจริง ๆ

        ท่านนักปฏิบัติที่เตรียมพร้อมแล้วเพื่อก้าวเดินให้ผ่านพ้นทางกันดาร ยิ่งเป็นผู้จำเป็นต่อธรรมทุกขั้น เริ่มต้นแต่หลักสมาธิ ซึ่งเคยได้ยินแต่ชื่อ เวลานี้จิตของเราเป็นอย่างไรบ้าง มั่นคงไปในทางขี้เกียจตามหลักของกิเลส หรือมั่นคงไปในทางความขยันหมั่นเพียรตามหลักธรรมของศาสนา โปรดสังเกตตลอดสายของจิตที่มีอะไรฝังจมอยู่ภายใน ถ้าจิตมีธรรมกำกับอย่างใกล้ชิด จิตต้องเป็นสมาธิมั่นคงต่อตนเองอย่างแน่นอน จิตเคยเป็นนักท่องเที่ยวและซัดเซพเนจรมานาน เพราะไม่มีธรรมเป็นเครื่องยึด

แต่เวลานี้เราพาจิตก้าวไปสู่แดนแห่งธรรมอันเป็นเกาะยึดที่มั่นคงแล้ว โปรดยึดธรรมให้มั่นคงอย่าปล่อยวาง และขยับความเพียรเข้าเป็นลำดับอย่าลดละ สมาธิจะกลายเป็นสมบัติของเราในเร็ววัน ไม่ผ่านตาข่ายของความเพียรไปได้ โปรดตั้งหลักจิตกับธรรมให้สนิทต่อกัน อย่าปล่อยให้สิ่งที่เคยเป็นปรปักษ์เข้ามาแอบแฝงในวงความเพียรได้ จะทำให้จิตและความเพียรเอนเอียงและล้มไปตาม และโปรดทราบไว้เสมอว่า จิตกำลังแสวงหาที่ยึดเหนี่ยวอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับคนตกน้ำคว้าหาที่ยึดเหนี่ยวเพื่อความพ้นภัยฉะนั้น แต่จิตไม่มีความฉลาดพอ จึงไม่สามารถยึดถูกสิ่งที่จะพาใครให้ได้รับความปลอดภัย จึงกลายเป็นเรื่องพาให้จิตล่มจมไปเพราะอารมณ์อย่างไม่มีจุดหมาย

ก็บัดนี้เราคว้าถูกเกาะอันเยี่ยมคือธรรมแล้ว จงพยายามยึดไว้ให้เต็มมือ ถือไว้ให้เต็มใจ จิตจะเคยรวนเรมานานเท่าไรไม่เป็นปัญหา ต้องหยั่งลงสู่ความแน่วแน่และสงบได้ในเวลาไม่นาน ผลจะเป็นความสุขเย็นใจ หายจากทุกข์ทันที มีแต่ความสุขเป็นเครื่องเสวยผลในขณะนั้น นี่คือองค์ของสมาธิแท้ที่ปรากฏขึ้นกับผู้มีความเพียร แม้ชื่อของสมาธิที่เคยได้ยินจนชินหูก็มารวมกันอยู่ในจุดนี้ และหมดปัญหาทั้งชื่อและองค์ของสมาธิในขณะนั้น เมื่อได้หลักเบื้องต้นแล้ว หากสมาธิจะเปลี่ยนสภาพขึ้นสู่ความละเอียดตามลำดับของความเพียรที่เป็นไปอยู่ ก็จะทราบภายในตัวเอง เช่นเดียวกับที่เคยทราบในสมาธิขั้นเริ่มแรกมาแล้ว

        สติปัญญาซึ่งเป็นธรรมจำเป็น ที่ควรจะนำมาใช้ในโอกาสอันควร จึงถือเป็นเรื่องสำคัญซึ่งควรจะแอบแฝงกันไป กายวิภาคหรือขันธวิภาคมอบให้เป็นหน้าที่ของสติปัญญาเป็นผู้จะทำการตรวจตรองโดยละเอียดถี่ถ้วน นักภาวนาที่หนักไปทางกายวิภาคหรือขันธวิภาค จะเป็นผู้กำชัยชนะไว้ในเงื้อมมือโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ มากีดขวางไว้ได้ คำว่า สติปัญญาอย่าเข้าใจว่าเป็นธรรมเล็กน้อย แต่เป็นเครื่องมือรื้อถอนกิเลสทั้งมวลออกจากใจได้โดยสิ้นเชิง เพราะผู้บรรลุถึงพระนิพพาน ต้องเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยมหาสติมหาปัญญาทั้งนั้น

ไม่ปรากฏว่ามีผู้เล็ดลอดถึงพระนิพพานได้ เพราะความรอดสายตาของกิเลสมองไม่ทั่วถึง แต่เพราะกิเลสฉิบหายไปโดยสิ้นเชิงด้วยอำนาจของมหาสติมหาปัญญาเผาผลาญต่างหาก ทุกท่านโปรดจำไว้อย่างฝังใจ แล้วนำไปปฏิบัติหน้าที่ต่อกิเลสที่นอนจมอยู่ในใจเรา จะได้เห็นมันหลั่งไหลออกจากใจ จนไม่มีกิเลสตัวใดจะฝืนอวดดีว่า ฝีมือเก่งกว่ามหาสติมหาปัญญา แล้วนอนจมอยู่ในจิตได้อีกต่อไป นอกจะจะถูกทำลายลงอย่างละเอียดผุยผงไปเท่านั้น ไม่มีทางต่อสู้มหาสติมหาปัญญาอันเป็นกองทัพปรมาณูไปได้เลย

        ผู้มีความเพียรไม่ลดละนับแต่ขั้นเริ่มแรกเป็นลำดับถึงขั้นสมาธิ และตามลำดับขั้นของสมาธิเป็นระยะ มีสติปัญญาสอดแทรกเข้าไปตามสมัยที่ควรคิดค้น ไม่ว่าธาตุหรือขันธ์ใด ๆ จำต้องถูกพิจารณาและคลี่คลายออกเป็นชิ้นเป็นอัน และกำหนดละลายถึงธาตุเดิมจนหมด ความสำคัญว่าสัตว์ บุคคล และประกอบเข้าไว้ตามส่วนผสมของธาตุขันธ์ที่เรียกว่า สัตว์ บุคคลตามเดิม แล้วแต่ความต้องการและความแยบคายของปัญญา เช่นเดียวกับเขาถอดเครื่องอะไหล่ของรถออกตรวจดูเครื่องแล้วประกอบไว้ตามเดิมฉะนั้น เป็นผู้มีหวังหลุดพ้นโดยแน่นอน ขอแต่ความเพียรอันเป็นทางสมหวังอย่าลดละ สติปัญญาขั้นเริ่มแรกจะเชื่อมโยงถึงขั้นมหาสติมหาปัญญา อย่างไม่มีทางปลีกแวะเป็นอย่างอื่น ทั้งกองธาตุกองขันธ์ และดวงจิตจะเป็นที่ทำงานของสติปัญญาตลอดเวลาไม่มีการหยุดยั้ง จนสามารถรู้เท่าและปล่อยวางได้โดยตลอดทั่วถึง

จิตที่เคยนอนจมอยู่กับกิเลสสมมุติมานานแสนนาน ก็หลุดลอยขึ้นมาเหนือโลกสมมุติ ดำรงตนอยู่ด้วยอิสรธรรม มีความบริสุทธิ์เป็นผล พ้นจากเครื่องกดถ่วงทางใจที่เคยเป็นมา คำว่า พุทโธก็ถึงใจ ธัมโมก็ถึงใจ และสังโฆก็ถึงใจ ขึ้นชื่อว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทุกบททุกบาทที่ได้เห็นได้ยินมา เป็นธรรมที่ถึงใจโดยตลอด เพราะปัญหาหัวใจสิ้นสุดลงไม่มีการขัดแย้งอีกต่อไป

        ธรรมที่อธิบายมาทั้งนี้ พวกเรานั่งทับนอนทับกันอยู่ตลอดอิริยาบถ แต่ไม่ปรากฏเป็นของแปลก ดังนั้น โปรดคุ้ยเขี่ยขึ้นมาให้ทั่วถึง จะเห็นธรรมเป็นของแปลกขึ้นมาที่ใจ คำว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหนจะไม่มีแง่สงสัย เพราะทรงตรัสรู้ที่สัจธรรมสถิตอยู่นั่นเอง

        การแสดงธรรมกัณฑ์นี้นับว่ามากและนาน ก็เห็นว่าควรแก่การยุติ ท่านที่ได้สดับแล้วโปรดนำไปไตร่ตรองดูตัวเรากับหลักธรรมที่แสดงในคัมภีร์ ชี้เข้ามาที่ตัวของเราทุกบททุกบาท ไม่มีชี้ให้ผิดพลาดไปที่ไหน จะได้ทำความเข้าใจระหว่างธรรมกับเราโดยถูกต้อง ผลที่เกิดขึ้นจากความคิดที่ถูกต้องจะเป็นสมบัติของเราแต่ผู้เดียว จึงขอยุติเพียงเท่านี้ เอวํ

 

www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก