เทศน์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
พิสูจน์ตายเกิดตายสูญ
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (๓ หน)
อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโขติ.
บัดนี้จะเริ่มได้แสดงธรรมิกถา อันเป็นโอวาทคำสั่งสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ท่านพุทธบริษัททั้งหลายฟัง ตามกำลังและโอกาสอำนวย วันนี้เกี่ยวกับการถวายเพลิงศพของท่านพระอาจารย์ฝั้น ซึ่งเป็นพระอาจารย์สำคัญองค์หนึ่ง เวลานี้กำลังจะเสร็จเรียบร้อยลงไปด้วยดี ทำไมท่านอาจารย์ฝั้นท่านก็เป็นพระเหมือนกันกับพระทั้งหลายที่ว่าเป็นลูกศิษย์พระตถาคต ปรากฏอย่างเด่นชัดในความเป็นพระเหมือนกัน แต่ประชาชนพุทธบริษัททั้งหลายมีความเคารพนับถือ มีความรักความจงรักภักดีต่อท่านมากทั่วประเทศไทยก็ว่าได้ ไม่ว่าทางใกล้ทางไกล ฐานะสูงต่ำหรือวัยใดไม่เลือก ต่างท่านต่างเสียสละมาด้วยความเชื่อความเลื่อมใส มาถวายเพลิงท่านในวาระสุดท้ายนี้
การมานี้ย่อมเสียสละทุกอย่างเราท่านทั้งหลายก็ทราบได้ดี เสียสละทั้งเวล่ำเวลาหน้าที่การงานสมบัติเงินทอง แม้ที่สุดชีวิตจะหาไม่ในขณะที่มาก็จำยอม นี่เพราะความเชื่อความเลื่อมใสต่อท่าน ท่านเป็นพระประเภทใดถึงได้มีประชาชนเคารพนับถือมาก เราเองเพียงจะมีความภูมิใจในเรา เป็นที่อบอุ่นใจในเราก็ยังเป็นไปไม่ได้ แต่ท่านเองสามารถทำความร่มเย็นให้แก่องค์ท่านเองแล้ว ยังสามารถทำความร่มเย็นหรือเป็นเครื่องดูดดื่มจิตใจของประชาชนทั้งหลายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเทียบกับแม่เหล็กอันสำคัญดึงดูดจิตใจประชาชนให้มีความเชื่อความเลื่อมใส ทั้งนี้เพราะท่านมีความสำคัญอยู่ภายในองค์ท่าน เรียกว่าคุณธรรม คุณธรรมนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐเหนือโลกทั้งสาม คำว่าธรรมนั้นเป็นของมีอยู่ตลอดอนันตกาล แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรื้อฟื้นธรรมนั้นขึ้นมาแสดงให้โลกเห็นได้ นอกจากพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกเพียงองค์เดียว
ท่านอาจารย์ฝั้นได้บวชในพระพุทธศาสนา ตั้งใจประพฤติปฏิบัติดัดกายวาจาใจของตน เต็มสติกำลังความสามารถเรื่อยมา เรียกว่าเป็น สุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อทางมรรคผลนิพพาน ญายปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงภายในใจ สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมน่ากราบไหว้บูชา เพราะฉะนั้นคนทั้งหลายจึงได้กราบไหว้บูชาเคารพนับถือท่าน เนื่องจากท่านมีของดีด้วยธรรมปฏิบัติมี ๔ ประการนี้เป็นรากฐานสำคัญ
คำว่า สุปฏิปนฺโน อุชุ ฯ ญาย ฯ สามีจิปฏิปนฺโน นี้นั้น เป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนบรรดาพุทธบริษัท เฉพาะอย่างยิ่งคือภิกษุบริษัท หรือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะถากถางดัดแปลงกายวาจาใจของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ให้ได้ถึงความรู้ยิ่งเห็นจริง ศาสนาของพระพุทธเจ้ารวมลงแล้วเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมศูนย์กลางอยู่เสมอต่อมรรคผลนิพพาน ท่านผู้ใดตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าภิกษุ ไม่ว่าอุบาสก อุบาสิกา ธรรมไม่ได้เลือกหน้า ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นต้องให้ผลแก่ผู้ปฏิบัตินั้นโดยลำดับด้วยกัน
ท่านอาจารย์ฝั้น ท่านเป็นพระสำคัญมาดั้งเดิม การประพฤติปฏิบัติก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ จนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นสมัยพุทธกาลก็เรียกว่าบรรลุธรรมขั้นนั้นๆ ไปโดยลำดับ ผู้มีความสามารถฉลาดรู้ถึงอรรถถึงธรรมจริงๆ ก็บรรลุถึงอรหัตผลได้เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล เพราะศาสนธรรมนี้เป็นท่ามกลางเสมอในการสั่งสอนอบรม หรือเป็นท่ามกลางในการที่ผู้ปฏิบัติจะนำมาแก้กิเลสอาสวะทุกประเภทที่มีอยู่ภายในใจ และเป็นความเหมาะสมในการแก้กิเลสทุกประเภทตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
ธรรมนี้ไม่มีการเสื่อมสูญ ไม่มีเรียวมีแหลมไปไหน นอกจากผู้ปฏิบัติธรรมจะทำความเรียวแหลมแก่ตนเท่านั้น มรรคผลนิพพานจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าครั้งพุทธกาลหรือสมัยปัจจุบันนี้ มีการปฏิบัติเป็นสำคัญ ไม่มีสิ่งใดที่จะมากีดกันหวงห้ามไม่ให้ผู้ปฏิบัติโดยชอบธรรมตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ในสัจธรรมท่านแสดงไว้ ๔ ประการ คือ ๑) ทุกข์ ความทุกข์กายทุกข์ใจ ซึ่งเป็นผลอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากร่างกายวิกลวิการวิปริตผิดไปต่างๆ ทุกข์อันที่ ๒) เกิดขึ้นมาจากใจที่คิดสั่งสมกิเลสอาสวะให้เกิดขึ้นภายในตน แล้วปรากฏผลขึ้นมามากน้อย ทั้งสองประการนี้แลที่จะเป็นเครื่องกั้นกางมรรคผลนิพพานไม่ให้เกิดขึ้น
แล้วมีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องบุกเบิก หรือถากถางสิ่งกีดขวางทั้งสองประเภทนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ ท่านกล่าวไว้ว่า มัชฌิมาปฏิปทา คำว่า มัชฌิมา นั้นสรุปธรรมทั้งหลายนับแต่ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ลงมา ย่อลงมาเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น และสัมมาสมาธิเป็นที่สุด ท่านผู้ใดนำมัชฌิมาปฏิปทานี้ไปปฏิบัติให้สมบูรณ์ ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้สามารถจะบุกเบิกทางอันเป็นสิ่งที่รกรุงรังด้วยกิเลสทั้งหลายภายในจิตใจของตนให้หลุดพ้น หรือให้ผ่านพ้นไปได้โดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงนิโรธคือความดับทุกข์ มรรคคือข้อปฏิบัติมีกำลังสามารถเพียงไร นิโรธคือความดับทุกข์ย่อมดับไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งมรรคมีกำลังเต็มที่ สามารถสังหารกิเลสทุกประเภทให้หมดไปจากใจ นิโรธคือความดับทุกข์ อันเป็นผลเกิดขึ้นมาจากสมุทัยได้แก่กิเลสทั้งหลายนั้น ก็แสดงขึ้นมาอย่างเต็มที่ภายในจิตใจของผู้นั้น
การสำเร็จมรรคผลนิพพานไม่ได้หมายสถานที่กาลเวลาเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าการประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าครั้งพุทธกาลหรือสมัยนี้ก็ตาม ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง อันควรแก่การแก้กิเลสประเภทต่างๆ ให้หมดสิ้นไปได้ด้วยมรรคคือข้อปฏิบัตินี้เป็นของสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เราท่านทั้งหลายผู้ปฏิบัติศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ได้สนใจคิดบ้างหรือไม่ว่า สัจธรรมทั้ง ๔ ประเภทนี้ ยังมีสมบูรณ์อยู่กับพวกเราทั้งหลาย หรือหากว่าส่วนใดที่ด้อยลงไป การด้อยขอให้ด้อยในทางทุกข์และสมุทัยเถิด อย่าให้ด้อยข้อปฏิบัติ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา จะเป็นโอกาสหรือจะเป็นความหวังที่จะให้ผู้ปฏิบัตินั้นๆ ได้ถึงความพ้นทุกข์ได้เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล
พอเทศน์มาถึงตอนนี้ ก็มีปัญหาอันหนึ่งที่ปรากฏขึ้นเมื่อเย็นวานนี้ มีพระท่านไปถามว่า ในครั้งพุทธกาลปรากฏว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่พุทธบริษัท ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานมากมายก่ายกอง อันนี้เป็นความจริงประการใดหรือไม่ เราก็ได้ตอบตามความรู้ป่าๆ ของเราว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ธรรมะที่แสดงออกจากพระทัยของพระพุทธเจ้าโดยทางพระโอษฐ์ เป็นธรรมะที่บริสุทธิ์หมดจด ออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ ผู้ฟังฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ เพื่อจะรู้ยิ่งเห็นจริงในความจริงทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เมื่อต่างอันต่างจริงเข้าบวกกันแล้ว จะเป็นของเลวลงได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ก็ต้องเป็นผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมต่อความสัตย์ความจริงจริงๆ และผู้ชี้แจงแสดงธรรมก็เป็นผู้แสดงด้วยความรู้จริงเห็นจริง ไม่แสดงแบบสุ่มสี่สุ่มห้าเดาหน้าด้นหลังไปอย่างนั้น ตนเองไม่รู้จำได้แต่ชื่อของธรรมว่า ความโลภเป็นอย่างนั้น ความโกรธเป็นอย่างนี้ ความหลงเป็นอย่างนั้น เราจำชื่อของกิเลสได้จนกระทั่งถึงปู่ย่าตายายของมันก็ตาม เช่นเดียวกับเราจำชื่อของโจรผู้ร้ายทั้งหลายได้นั่นเอง อย่าว่าเพียงจำชื่อของโจรผู้ร้ายทั้งหลายนั้นได้เลย จำจนกระทั่งโคตรแซ่ของผู้ร้ายเหล่านั้นได้ ก็ไม่เห็นเกิดประโยชน์อันใด ถ้าจับตัวเสือเหล่านั้นไม่ได้ ก็คือเสือเหล่านี้เองที่จะทำความเดือดร้อนเสียหายแก่บ้านแก่เมือง หาความสงบไม่ได้
อันนี้การจำชื่อของกิเลสตัณหาอาสวะเฉย ๆ ไม่เพียงแต่จะจำชื่อของตัวกิเลส จำจนกระทั่งถึงโคตรแซ่ของกิเลสด้วยความจดความจำเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรให้กิเลสมีความกระทบกระเทือน หรือจับกิเลสไม่ได้ ฆ่ากิเลสไม่ตายแล้ว การจำชื่อกิเลสทุกประเภทได้ไม่เห็นมีความหมายอันใดเลยเช่นกัน
เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญอยู่ที่การจำชื่อของกิเลสได้แล้ว ให้ทำหน้าที่ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่จะให้กิเลสเหือดแห้งหรือหมดสิ้นไปด้วยอุบายวิธีใด ที่เรียกว่าฆ่ากิเลสไปโดยลำดับ กิเลสจะสิ้นออกจากใจไปเป็นลำดับจนกระทั่งหมดสิ้นภายในจิตใจ เป็นผู้ถึงความบริสุทธิ์วิมุตติพุทโธเหมือนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เรียกว่าตามเสด็จพระองค์ทัน เช่นเดียวกับเราจำชื่อของโจรของผู้ร้ายได้แล้ว ตามจับตัวมาทำโทษให้ได้ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะเป็นโจรผู้ร้ายก่อความเดือดร้อนแก่บ้านเมืองอีกต่อไป
การปฏิบัติศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราควรคำนึงถึงพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอนพวกเรา ไม่ใช่สั่งสอนเพียงปาวๆ เท่านั้น ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ก็ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่ออรรถเพื่อธรรม จนกระทั่งถึงสลบไสลไปถึง ๓ ครั้ง ซึ่งเราเคยทราบในตำรับตำราอยู่แล้ว จนกว่าจะได้ตรัสรู้มีความลำบากยากเย็นแค่ไหน ไม่มีใครเสมอเหมือนพระพุทธเจ้าในเรื่องความลำบาก หรือความอุตส่าห์พยายามทุกด้านทุกทาง เพื่ออรรถเพื่อธรรมมาเป็นสมบัติของพระองค์และมาสั่งสอนโลก
การสั่งสอนโลกนั้น พระองค์สั่งสอนด้วยพระเมตตาจริงๆ ไม่มีโลกามิสใดๆ เข้าเคลือบแฝงเลย เพราะพระทัยท่านบริสุทธิ์ ไม่มุ่งประสงค์สิ่งใดนอกจากหัวใจของสัตว์โลก ได้รับผลประโยชน์มีความร่มเย็นเป็นสุข และรู้เหตุรู้ผล รู้ดีรู้ชั่วรู้บุญรู้บาป รู้นรกสวรรค์ ประจักษ์ตามพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนนั้นเท่านั้น นั้นเป็นสิ่งที่พระองค์ต้องการอย่างยิ่ง
พระโอวาททุกบททุกบาททรงแสดงด้วยพระเมตตา เราผู้รับพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ควรจะสำนึกในพระคุณของท่าน แล้วพยายามปฏิบัติตนอย่าให้เสียเวล่ำเวลา เกิดมาในชาติหนึ่งๆ ไม่ใช่เป็นของเล็กน้อย เช่นเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องมีภูมิคุณธรรมควรที่จะเป็นมนุษย์ได้ถึงจะมาเป็นได้ เช่น กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของที่หาได้ยาก แต่เราทุกคนที่ปรากฏตัวอยู่เวลานี้ ได้เป็นมนุษย์แล้วอย่างสมบูรณ์ด้วยกัน และทราบประจักษ์ใจว่าตนเป็นมนุษย์ เมื่อได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ก็ควรจะรักษาคุณสมบัติแห่งความเป็นมนุษย์นี้ด้วยดี ด้วยข้อปฏิบัติ มีทานมีศีลมีอบรมเจริญเมตตาภาวนาสวดมนต์ประจำภูมิมนุษย์เรา ไม่เช่นนั้นก็จะกลายไปแย่งภูมิสัตว์ กิริยามารยาทความรู้ความเห็นของสัตว์มาเป็นของตัว เมื่อไปแย่งเอากิริยามารยาทความรู้ความเห็นของสัตว์มาเป็นของตัวแล้ว ก็จะก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนและผู้อื่นได้มากมาย เพราะมนุษย์เรามีความฉลาดกว่าสัตว์ การทำความเสียหายจึงทำได้อย่างมากมายยิ่งกว่าสัตว์ใดๆ ทั้งนั้น และมนุษย์เราเป็นผู้ฉลาดกว่าสัตว์ การบำเพ็ญตนให้เป็นไปในทางที่ดี ย่อมไม่มีสัตว์ตัวใดจะเสมอมนุษย์ได้เลย เพราะมนุษย์ฉลาด
เวลานี้เราเกิดมาในท่ามกลางแห่งพระพุทธศาสนา ก็เรียกว่าเป็นบุญลาภของเราแต่ละท่านๆ อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ตามหลักธรรมที่ได้ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารร่างกายของเราทุกๆ ท่านตั้งอยู่ในความไม่แน่นอนทุกขณะ คือ สังขารร่างกายไม่เที่ยง ไม่เพียงไม่เที่ยงอยู่เฉพาะกาลเท่านั้น ไม่เที่ยงไปตลอดเวลา แปรอยู่โดยสม่ำเสมอตั้งแต่ขณะแรกเริ่มปฏิสนธิวิญญาณขึ้นมา จนกระทั่งถึงบัดนี้ และแปรไปจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายคือความตาย
เราจึงไม่ควรนอนใจในชีวิตจิตใจของเราที่เป็นอยู่นี้ว่าจะไม่ตาย สัตว์ทุกตัวสัตว์ มนุษย์ทุกคนมีป่าช้าเต็มตัว ใหญ่โตกว้างแคบดูในตัวของเราก็ทราบ นี้เป็นป่าช้าหมดทั้งตัว เมื่อตายแล้วหาสาระอันใดไม่ได้ อุปฺปาทวยธมฺมิโน มีเกิดขึ้นกับตายเท่านั้นเป็นคู่เคียงกัน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เกิดแล้วต้องตาย นั่นท่านบอก เตสํ วูปสโม สุโข การระงับดับเสียได้ซึ่งความเกิดเป็นรูปเป็นกายเป็นหญิงเป็นชายอะไรนี้เสียได้ ท่านว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง
พวกเราทั้งหลายปรารถนาอยากเกิดกัน แต่ไม่ปรารถนาอยากตาย เป็นความขัดแย้งต่อความจริง ปีนเกลียวกับความจริง จึงได้ทุกข์อยู่เรื่อย ๆ เพราะความปีนเกลียวความจริง การรู้ตามความจริงปฏิบัติตามความจริง คือหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนไว้นั้นเป็นความถูกต้อง เราจะได้ไม่ประมาท เกิดขึ้นมาอย่างไรแล้วต้องตาย ในขณะที่มีชีวิตอยู่นี้ให้พยายามบำเพ็ญ เราอย่าเชื่อเราจนเกินไปเรามีกิเลส เหมือนคนตาบอดเชื่อตัวเองไม่เชื่อตนตาดี เดินไปที่ไหนชนแต่ไม้โดนแต่ไม้ เจ็บแข้งเจ็บขาก็เจ็บแข้งเจ็บขาคนตาบอดนั้นแล ไม่ใช่เจ็บแข้งเจ็บขาคนตาดี การเชื่อคนตาดีดีกว่าเชื่อตัวเองซึ่งเป็นคนตาบอด คนโง่ควรจะเชื่อคนฉลาดเป็นของดี
ถ้าเราเชื่อเรามากจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงว่า ผู้ใดบ้างที่จะมีความฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าเรา ถือว่าเราเป็นผู้ฉลาดเหนือใครๆ หรือว่าฉลาดเต็มตัว นั้นมักจะโง่เต็มตัวอยู่ทุกขณะ การที่เชื่อย่อมมีเชื่อหลายด้านหลายทาง เช่น เชื่อว่าตายแล้วสูญก็มี นี่เชื่ออย่างจมไปเลย ความที่ว่าตายแล้วสูญนั้น เราค้นหาสาเหตุอันใดมา มีเหตุมีผลอย่างไรพอที่จะยืนยันได้ว่าตายแล้วสูญเล่า
ตายแล้วเกิดนี่มีหลักมีเหตุผลเป็นเครื่องยืนยัน ดังพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ท่านเรียกว่าวัฏวน วนไปเวียนมาอยู่ในกำเนิดต่างๆ แล้วแต่กรรมที่มีอยู่ภายในจิตใจจะพาให้ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ชั้นสูงชั้นต่ำชั้นใดๆ ไม่เลือก สำคัญอยู่ที่กรรมซึ่งมีอยู่ภายในใจ กรรมดีกรรมชั่วนี่เป็นเชื้ออันสำคัญที่จะยังสัตว์ทั้งหลายให้ไปเกิด และมีความสุขความทุกข์ มีอำนาจวาสนา โง่ฉลาดต่างกัน มีอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ได้มีอยู่ที่ความสำคัญเอาเฉยๆ
เช่นอย่างว่าตายแล้วสูญเป็นต้น อะไรมันสูญ ถ้าหากว่าตายแล้วสูญ พวกเราทั้งหลายที่นั่งอยู่นี้มีมาได้อย่างไร เพราะคำว่าตายแล้วสูญนั้นจะไม่สูญตั้งแต่เพียงเท่านี้ จะสูญมาดั้งเดิมอยู่แล้ว ไม่ใช่จะมาสูญเพียงขณะเรามาพูดนี้เพียงเท่านั้น อะไรมันสูญ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เข้าผสมกันแล้ว จิตไปจับจองว่าเป็นเจ้าของมาเกิดเป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชาย ปรากฏเป็นตัวเราเป็นสัตว์ต่างๆ มีอยู่เต็มโลกเต็มแผ่นดิน นี่ถ้าโลกเป็นของตายแล้วสูญจริงๆ สัตว์มาเกิดได้อย่างไร เอาอะไรมาเกิด เพราะอะไรๆ มันก็ต้องสูญไปหมด จิตตายแล้วสูญมีความรู้สึกในตัวคนได้อย่างไรเล่า นี่ก็เพราะตายแล้วไม่สูญนั่นเอง มันถึงมีอยู่ให้เห็นอยู่รู้อยู่อย่างนี้
ผู้ที่ว่าตายแล้วสูญนั้นแล เป็นเหตุที่จะให้ทำความชั่วช้าลามกต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงผลว่าจะเป็นอย่างไร ความเชื่อตัวเองนั้นแลเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เราสำคัญว่าตายแล้วสูญ แต่ความจริงมันไม่สูญ เมื่อไปเกิดในภพต่างๆ เพราะอำนาจแห่งการทำกรรมหนัก ก็จะได้รับความทุกข์แก่ตัวเองนั้นแล เช่นเดียวกับคนตาบอดไม่เชื่อคนตาดี ความเจ็บก็จะต้องตัวเองเป็นคนเจ็บ โดนไม้โดนอะไรก็ตาม ความไม่เชื่อคนตาดี ผลสุดท้ายก็คนตาบอดนั้นแลเป็นผู้ได้รับความทุกข์ เพราะความเชื่อตัวเอง
เราทั้งหลายมืดบอด ไม่มีความสว่างไสวอันใดเป็นเครื่องยืนยัน พอที่จะรับรองเป็นความจริงได้ เกิดมาก็ไม่ทราบว่ามาจากภพใดชาติใด มาปรากฏเป็นมนุษย์อยู่นี้ แล้วตายจากนี้แล้วจะไปไหนอีก เมื่อไม่มีทางออกโดยธรรมแล้วก็ว่าตายแล้วสูญ คนที่เข้าใจว่าตายแล้วสูญนั้นแล เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่วช้าลามกได้โดยไม่มีการยับยั้ง เพราะว่าเราเกิดชาติเดียวตายไปแล้วไม่เห็นมีอะไรทั้งนั้น สูญสิ้นไปเลย นี่เป็นความสำคัญ แต่สิ่งที่เป็นเชื้อให้เกิดนั้นได้แก่อะไร ท่านว่าอวิชชาเป็นเชื้อสำคัญ แต่การที่เราจะพิสูจน์ถึงเรื่องความเกิดความตายนี้ เราจะพิสูจน์เพียงความคิดด้นเดาเอาเฉยๆ นั้นไม่ได้ ไม่ยังผู้นั้นให้สิ้นสงสัยได้เลย
พระพุทธเจ้าผู้ทรงสั่งสอนสัตว์โลก ทรงค้นพบด้วยภาคปฏิบัติของพระองค์ ตรัสรู้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ได้ตรัสรู้ด้วยการด้นเดา ด้วยการคิดเอาเฉยๆ เมื่อได้ตรัสรู้ความจริงแล้ว นำความจริงนั้นมาสั่งสอนโลก ธรรมนั้นจึงเป็นของจริงลบไม่สูญ เช่นอย่างว่าตายแล้วเกิดอีก อะไรเป็นเหตุให้เกิดอีก พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบแล้วว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เป็นต้น อวิชชานั้นแลเป็นเชื้อสำคัญ ที่ฝังอยู่ภายในจิตนั้น พาให้สัตว์ไปเกิดในกำเนิดต่างๆ กันไม่มีที่สิ้นสุดจุดหมายปลายทางเลย การที่จะระงับดับเสียซึ่งความเกิดนั้นดับวิธีใด ท่านสอนวิธีดับ เฉพาะอย่างยิ่งคือ จิตตภาวนาเป็นภาคพิสูจน์อันสำคัญ และจะเห็นความจริงด้วยภาคภาวนานี้เท่านั้น อย่างอื่นเป็นไปไม่ได้
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยการภาวนา ตรัสรู้ด้วยการปฏิบัติ สาวกทั้งหลายบรรลุธรรมด้วยการปฏิบัติ รู้จริงเห็นจริงด้วยการปฏิบัติ ไม่ได้รู้จริงเห็นจริงด้วยความจำความคาดคะเนเอาเฉยๆ อันนั้นเป็นความสำคัญของคนมีกิเลส ไม่ใช่เป็นความจริงของธรรม พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติธรรม รู้ธรรมด้วยความจริงในพระทัยแล้วจึงนำมาสั่งสอนโลก เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว
คำว่า อวิชฺชาปจฺจยา นี่เราจะทราบได้ทางภาคปฏิบัติ เริ่มแรกปฏิบัติถ้าใจของเรายังไม่เคยสงบร่มเย็นเลย เราก็ไม่ทราบว่าใจคืออะไร ร่างกายคืออะไร มันรู้ไปหมดทั้งตัวแต่จับจุดแห่งความรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ อย่างท่านสอนให้อบรมจิตให้มีความสงบ ก็เพื่อจะตะล่อมกระแสจิตเข้ามาสู่วงเฉพาะของตนเอง เพื่อจะจับตัวเองได้ว่านี้คือจิต นั้นคือร่างกาย ในภาคปฏิบัติเบื้องต้นก็จะพิสูจน์ถึงเรื่องของจิต พิสูจน์เรื่องจิตท่านให้พิสูจน์ด้วยหลักจิตตภาวนา เมื่อใจมีความสงบเราจะเห็นจุดแห่งความรู้อย่างเด่นชัดอยู่ภายในตัวของเรา สงบมากเพียงไรยิ่งเห็นจุดของจิตเด่นชัด ร่างกายเป็นอย่างหนึ่ง จิตเป็นอย่างหนึ่ง เห็นได้อย่างชัดเจนภายในใจของผู้สงบ ยิ่งจิตมีรากฐานแห่งสมาธิแน่นหนามั่นคงด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นฐานของจิตได้อย่างชัดเจน จากนั้นแล้วก็พิจารณาทางด้านปัญญา
คำว่าปัญญาคือความเฉลียวฉลาด ความคลี่คลาย ความพินิจพิจารณาไตร่ตรองค้นหาความจริงที่มีอยู่ในสกลกายของเรา เรียกว่ามีอยู่ที่ขันธ์ ๕ นี้ รูปได้แก่ร่างกายส่วนต่างๆ นี้เรียกว่า รูป เวทนา ได้แก่ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่มีอยู่ทั้งในร่างกายและจิตใจ สัญญา คือความจำได้หมายรู้ จำได้ว่าบ้านนั้นอยู่นั้น บ้านนี้อยู่นี้ คนนั้นชื่อนั้น สังขารคือความคิดความปรุงของใจ นี่เป็นอาการที่ออกมาจากจิตแต่ละอย่างๆ วิญญาณคือความรับทราบ เวลาอายตนะภายนอกกับอายตนะภายในกระทบกัน ได้แก่ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง เป็นต้น เกิดความรู้สึกขึ้นในขณะนั้น พอสิ่งสัมผัสผ่านไปความรู้นี้ก็ดับไป ท่านเรียกว่าวิญญาณ
การพิจารณาคลี่คลายสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้เห็นชัดตามเป็นจริงของมัน เรียกว่าปัญญา ปัญญาคลี่คลายดูให้เห็นชัด รูปให้เห็นเป็นสภาพของรูปตามความจริง ไม่ใช่เรา เวทนา ความสุขความทุกข์เฉยๆ เป็นความจริงแต่ละอย่างๆ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา นี่ทางภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ สังขาร ความคิดความปรุงขึ้นมาภายในจิตใจ เกิดแล้วดับ ดับแล้วเกิด คิดดีคิดชั่วดับ มีเกิดมีดับเป็นคู่เคียงกันเสมอไป ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
พิจารณาจนเห็นชัดภายในจิตใจ ว่ารูปเป็นรูป เวทนาเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ เป็นอาการหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ให้เห็นได้อย่างชัดเจนประจักษ์ใจ เมื่อรู้แจ้งเห็นชัดในอาการทั้งห้านี้แล้ว จิตย่อมหดตัวเข้าไป ปล่อยวางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ออกไว้ตามความเป็นจริงของมัน นี่การคลี่คลายการพิสูจน์ถึงเรื่องจิต มีอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดไม่เกิด จิตมีความติดข้องพัวพันในสิ่งใด หนักในอารมณ์ใดมาก เราย่อมทราบได้ชัดว่า จิตนี้ยังมีความสืบต่อกับสิ่งนั้นๆ
เมื่อปัญญาพิจารณาหยั่งทราบชัดเจนแล้วปล่อยวางเข้ามาๆ เรียกว่าจิตขาดจากอารมณ์นั้นๆ โดยลำดับ จนกระทั่งเข้ามารู้ภายในตนเอง คือ มีจิตกับอวิชชาเท่านั้น กิ่งก้านแขนงของอวิชชาที่ส่งออกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือส่งไปทางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถูกตัดหมดหรือถูกรู้เท่าทันด้วยปัญญา ปล่อยวางเข้ามาไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย เหลือแต่อวิชชาตัวเดียวเท่านั้น ลูกเต้าหลานเหลนถูกฆ่าฉิบหายตายหมดด้วยปัญญาแล้ว ก็พิจารณาตัวเชื้อที่พาให้เกิด ไม่มีอันใดที่จะพาให้เกิดนอกจากอวิชชานี้เท่านั้น นี่การปฏิบัติให้พิสูจน์เรื่องความตายเกิดตายสูญต้องพิสูจน์อย่างนี้
เมื่อได้ทำลายอวิชชาลงไปหมดด้วยปัญญาอันแหลมคมแล้ว หมดเชื้อ ความเกิดไม่มี เป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นี้ละที่พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าเป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นอย่างนี้ การเกิด-เกิดเพราะสาเหตุแห่งอวิชชานี้ ได้ชำระลงไปหมดโดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือแล้ว ภพไม่มี นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ความเป็นอีกความเกิดอีก คือ เกิดในภพนั้นๆไม่มี รู้ประจักษ์พระทัยพระองค์อย่างนี้ ไม่ได้รู้ด้วยความคาดคะเน ความด้นเดาเอาเฉยๆ ว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญอะไรทำนองนั้น
แม้เราจะเชื่อตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าว่า ตายแล้วเกิดก็ตาม แต่ถ้ายังไม่ถึงความจริงที่เราปฏิบัติรู้เองเห็นเอง อันนั้นก็ยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร เพียงเชื่อไปเท่านั้น การที่จะให้เกิดผลโดยสมบูรณ์ ต้องเป็นเราประพฤติปฏิบัติให้เห็นตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วภายในใจของตน ทุกสิ่งทุกอย่างจริงหมดด้วยปัญญาแล้ว นั้นแลเป็นผลของผู้ปฏิบัติ การสิ้นสุดแห่งความเกิดก็สิ้นสุดที่อวิชชาซึ่งเป็นเชื้อให้พาเกิดพาตาย เมื่ออวิชชาสลายตัวลงไปแล้ว ด้วยอำนาจของข้อปฏิบัติมีปัญญาเป็นสำคัญแล้ว ไม่มีอันใดที่จะมาเป็นสาเหตุให้ก่อภพก่อชาติอีก นั้นคือท่านผู้บริสุทธิ์ ผู้นี้ไม่เกิด
ทุกขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ในขณะเดียวกันทุกข์ย่อมมีแก่ผู้ชอบเกิดเสมอนั่นแหละ ทุกฺขา ชาติ ปุนพฺปุนํ การเกิดบ่อยๆ ก็เป็นทุกข์ไม่หยุด การไม่เกิดเสียนั้นแลเป็นบรมสุข ท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง จะหมายถึงอะไร ก็หมายถึงความบริสุทธิ์ของใจนั้นแล ไม่ต้องไปก่อภพก่อกำเนิดเกิดในสถานที่ใดอีก ประจักษ์ด้วยปัญญา นี้แลเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก เป็นผู้รู้เองเห็นเองด้วยการปฏิบัติของตนเอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้โดยเฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่สาธารณะแก่ผู้ใดที่ไม่ได้ปฏิบัติ
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาเหล่านี้ เวลานี้เป็นโมฆะไปแล้วเหรอ สวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนั้น ชอบตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน่นเหรอ ปัจจุบันนี้ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ชอบเหรอ หรือชอบแต่พวกเรา แต่ธรรมไม่ชอบ มันจึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลสตัณหาอาสวะ เกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เราเป็นชาวพุทธปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วกิเลสตัวไหนบ้างที่ได้หลุดลอยออกไปเพราะถือศาสนา ถือเฉยๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ถ้าไม่ถือเพื่อปฏิบัติ เหมือนเราถือขนมอยู่ในมือของเรานั้นน่ะ ถ้าไม่รับประทานก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ข้าวต้มขนมมันก็ทิ้งไปเฉยๆ เน่าเฟะไปเฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ นอกจากเอามารับประทานเท่านั้น
ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่จะมีอยู่เฉยๆ ยกเป็นตู้เป็นหีบแบกอยู่บนบ่าแล้วชื่อว่าถือศาสนา ถืออยู่ที่ใจ ปฏิบัติอยู่ที่ใจ ให้รู้ที่ใจให้เห็นที่ใจ พิสูจน์ความจริงของธรรมต้องพิสูจน์ภายในใจ ท่านสอนลงที่นี่ไม่ได้สอนไปที่ไหน
นี่ละท่านอาจารย์ฝั้น ท่านปฏิบัติมีความรู้ยิ่งเห็นจริงอย่างนั้น ท่านมีความอบอุ่น มีความภูมิใจในอรรถในธรรมสำหรับท่าน ท่านเคารพท่าน เพราะฉะนั้นจึงเป็นสาเหตุให้คนทั้งหลายมีความเคารพต่อท่าน ท่านเป็นผู้ดี คนทั้งหลายก็มีความเคารพ นี่เป็นหลักสำคัญ ขึ้นอยู่กับ สุปฏิปนฺโน อุชุ ฯ ญาย ฯ สามีจิปฏิปนฺโน นี้เป็นหลักสำคัญ
เราท่านทั้งหลายก็เป็นผู้มีความรู้อันหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของอยู่ในร่างกายนี้ มีสิทธิ์ที่จะรู้จะเห็นธรรมทั้งหลายได้เช่นเดียวกันกับครั้งพุทธกาล เพราะศาสนธรรมที่สอนไว้นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหญิงกับชายโดยถ่ายเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย มีจิตตภาวนาเป็นสำคัญ ครั้งไหนก็ตามคำว่ามัชฌิมาต้องท่ามกลางเสมอ เป็นธรรมเหมาะสมกับการแก้กิเลส ถอดถอนกิเลสทุกประเภท สำหรับผู้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมแล้ว มีสิทธิหรือมีอำนาจที่จะถอดถอนกิเลสภายในจิตใจของตนให้หลุดพ้นได้ด้วยกัน ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาถึงปัจจุบันนี้ไม่มีอะไรแปลกต่างกันเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เรียกว่ากิเลส ก็เป็นกิเลสประเภทเดียวกันมาแต่ครั้งพุทธกาลถึงปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น ธรรมจึงไม่จำเป็นจะต้องไปเปลี่ยนแปลงหาอย่างอื่นมาแก้กิเลส
หากว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้ ไม่สามารถจะแก้กิเลสในสมัยปัจจุบันเรานี้ได้เหมือนครั้งพุทธกาลแล้วไซร้ ก็ควรจะได้เสาะแสวงหาธรรมใหม่เอี่ยมขึ้นมาให้ทันสมัย แต่นี้ธรรมนี้เป็นธรรมที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาแล้วที่จะแก้กิเลสทุกประเภท หรือทำคนให้ดีได้โดยลำดับเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล ท่านจึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมศูนย์กลางเสมอ เป็นความเหมาะสมเสมอ ความพอดีเสมอ เรียกว่ามัชฌิมาคือความพอดี
โลกเรานำไปใช้ก็เอาหลักมัชฌิมานี่แหละไปใช้ถึงจะพอดี ถ้าเลยมัชฌิมานี้แล้วไม่พอดีทั้งนั้น ไม่ว่าอันใดก็ตาม เช่นอาหาร แกงเผ็ดเกินไปไม่พอดี เค็มเกินไปไม่พอดี หวานเกินไปไม่พอดี เปรี้ยวเกินไปไม่พอดี ฟังคำที่ว่าเกินไปๆ นั้นไม่ใช่มัชฌิมา นั้นไม่ใช่ความพอดี ความพอดีก็คือว่าอาหารนี้พอดี ไม่จืดเกินไปไม่เค็มเกินไป เหมาะ นี่เรียกว่าเหมาะสมแล้ว ถ้าเป็นบ้านเป็นเรือนก็เหมาะสม ไม่สูงเกินไปไม่ต่ำเกินไป คนก็พอดี ไม่สูงนักไม่ต่ำนักก็พอดี
หลักสากลของโลกนำมัชฌิมานี้ทั้งนั้นไปใช้ คือความพอดี เลยนี้แล้วไม่เรียกว่าพอดีได้เลยและขัดขวางด้วย เราจะเห็นว่าศาสนธรรมนี้เข้ากับโลกได้หรือไม่เมื่อเป็นเช่นนั้น ธรรมเข้ากับโลกไม่ได้แล้วโลกจะเป็นอย่างไร เช่นโลกแห่งสัตว์ สัตว์ประเภทไหน เช่นสุนัขอย่างนี้เขาไม่สนใจกับอรรถกับธรรมเลย เรียกว่าธรรมกับเขาเข้ากันไม่ได้ แล้วน่ากราบน่าไหว้ไหม เราเห็นความสวยงามของสัตว์ที่ไม่มีอรรถมีธรรมไหม
มนุษย์เราเมื่อไม่มีอรรถมีธรรมหาความสวยงามหาความน่าดูที่ไหนมี มนุษย์เราไม่ใช่จะงามในรูปร่างกลางตัวแล้วเป็นความสดสวยงดงาม เป็นที่มีคุณค่าราคาโดยถ่ายเดียว สำคัญที่คุณธรรม การประพฤติปฏิบัติ กิริยามารยาท นี่เป็นเหตุที่จะส่งเสริมบุคคลนั้นให้มีสาระสำคัญขึ้นมาภายในตน ไม่ใช่เพียงรูปร่างเท่านั้นเป็นสำคัญ อันนั้นเป็นแต่เพียงเครื่องประดับหน้าร้านเท่านั้น ถ้าเข้าไปในร้านไม่มีอะไรก็เป็นเครื่องหลอกโลก คนนั้นสวยงามแต่รูปร่างแต่จิตใจต่ำทราม ความประพฤติปฏิบัติเลวทรามใช้ไม่ได้
คนเรามีคุณค่าอยู่ที่ความประพฤติปฏิบัติ สัตว์ทั้งหลายมีคุณค่าอยู่ที่เนื้อที่หนังของมัน ตายแล้วนำไปจ่ายตลาดได้เป็นเงินเป็นทองสำเร็จประโยชน์ มนุษย์ตายแล้วกลัวผีกันทั้งนั้น หาคุณค่าราคาไม่ได้ถ้าไม่หาคุณค่าราคาด้วยคุณธรรม ยกตัวอย่างเช่นครูบาอาจารย์นี่ลองดูซิ อย่างท่านอาจารย์ฝั้นนี้เป็นต้น ใครกลัวไหมกระดูกท่านอาจารย์ฝั้น มีแต่ผู้อยากได้ต้องการทั้งนั้น ถ้าเราจะแจกแล้วชุลมุนกันใหญ่เลย เป็นข้าศึกน้อยๆ อันหนึ่งขึ้นมาในวงงานนี่แหละ เพราะใครก็ต้องการกระดูกท่าน ต้องการอัฐิท่าน ใครก็ต้องการๆ
ไม่เห็นมีใครว่ากลัวกระดูกท่านอาจารย์ฝั้นเลย นี่เพราะเหตุใด เพราะกระดูกนี้มีคุณค่า กระดูกนี้มีคุณธรรม ออกมาจากท่านผู้มีคุณธรรม อะไรก็กลายเป็นคุณธรรมไปหมด เช่น ผ้าสบง จีวร เครื่องใช้ต่างๆ บริขารของท่านเป็นสิริมงคลไปหมด เพราะท่านพาให้เป็นสิริมงคล ท่านเป็นผู้มีคุณค่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมีคุณค่าไปหมด แน่ะ ถ้าเป็นธรรมดาๆ อย่างคนตายธรรมดาๆ แล้วใครกลัวผีทั้งนั้นแหละ แม้แต่พ่อแม่กับลูกยังกลัวผีกัน กลัวพ่อจะมาหลอก แม่จะมาหลอก และกลัวลูกคนนั้นจะมาหลอกมาหลอน ทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่รักกันแทบล้มแทบตาย พอชีวิตหาไม่แล้วเท่านั้นกลัวผีกันแล้ว นั่นเพราะเหตุไร มันต่างกันที่คุณธรรมนี้
มนุษย์เราจึงสำคัญที่คุณธรรมเป็นหลักใหญ่ พระพุทธเจ้าจึงสอนธรรมะนี้เพื่อให้เป็นคุณธรรม ให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นเครื่องประดับมนุษย์ให้มีความสวยงาม สวยงามภายนอกสวยงามภายใน เช่นดอกไม้ ดอกไม้สวยงามแต่กลิ่นไม่หอมก็ไม่น่าทัดน่าทรง ทั้งสวยงามด้วยทั้งกลิ่นหอมด้วยน่าทัดน่าทรงมาก ดอกไม้ไม่สวยงามแต่กลิ่นหอมก็ยังดี ทั้งขี้ริ้วขี้เหร่ดอกไม้นั้นน่ะ ทั้งกลิ่นเหม็นด้วย ไม่มีใครเหลียวแลเลย ดูไม่ได้ มนุษย์เราก็เหมือนกัน รูปร่างกลางตัวสวยงามด้วยความประพฤติปฏิบัติตัวเองก็ดีด้วย มีคุณธรรมด้วย ผู้นั้นมีคุณค่าสูง รูปร่างไม่สวยงามแต่น้ำใจสวยงาม ผู้นั้นก็มีคุณธรรมดี รูปร่างก็ไม่สวยงามแล้วทั้งจิตใจก็เลวทรามใช้ไม่ได้เลย รูปร่างก็ขี้ริ้วขี้เหร่ น้ำใจก็เหมือนกันอีก นี่เรียกว่าดูไม่ได้ ในลักษณะ ๔ อย่างนี้ ให้เราทั้งหลายเทียบเคียงเอาเอง
มนุษย์เรามีคุณค่าที่การประพฤติปฏิบัติดังที่กล่าวแล้วสักครู่นี้ ถ้าไม่มีคุณค่าอันนี้น่ะกลัวผีกันทั้งนั้นแหละ ถ้ามีคุณค่านี้แล้วดังอัฐิของท่านอาจารย์ฝั้นนี้แหละแจกไม่ได้ ต้องเป็นข้าศึกกันทันที ใครก็จะเอาๆ กระดูกของท่านมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนทั่วประเทศไทยใครก็จะเอาๆ นั่นละตอนจะเกิดข้าศึกกัน ทำไมใครจึงไม่คิดกลัวผีกระดูกท่านบ้าง ก็เพราะคุณธรรมของท่านเป็นสำคัญ
ให้เราทำตัวของเราอย่างนี้ ไม่ได้อย่างท่านอาจารย์ฝั้นก็ตาม แต่ขอให้เราเป็นคนดี ประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี ธรรมของพระพุทธเจ้านี้เป็นเครื่องประดับสัตว์โลกให้มีความสวยงาม ทั้งความประพฤติการปฏิบัติตัว นอกจากนั้นยังเป็นสุขในปัจจุบันและเป็นสุขในอนาคตอีกด้วย ในโลกนี้ก็เป็นสุข ไปโลกหน้าก็เป็นสุข เพราะเป็นผู้สร้างคุณงามความดีอันเป็นสาเหตุให้เกิดความสุขขึ้นมา
วันนี้ได้อธิบายถึงเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา และเกี่ยวกับเรื่องท่านอาจารย์ฝั้น ให้ท่านทั้งหลายนำไปประพฤติปฏิบัติ และพูดถึงเรื่องตายเกิดตายสูญ ขอให้ทุกๆ ท่านได้นำไปวินิจฉัยภายในตัว เราทุกคนเป็นผู้เกิดมาแล้ว ให้วินิจฉัยตัวเองให้ทราบด้วยตัวเองนั้นแล เป็นสิ่งสำคัญที่สุด วันหนึ่งๆ ที่ผ่านไปๆ ขอให้ผ่านไปด้วยคุณงามความดีประสมกันไปด้วย อย่าให้มีแต่ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม อย่าให้มีแต่ความลืมเนื้อลืมตัวไปหมด ศีลธรรมไม่ปรากฏภายในจิตใจเลย คนนั้นหาคุณค่าหาราคาไม่ได้
คำว่าบุญและบาปนั้นลบไม่สูญ ใครจะว่าบุญและบาปไม่มีก็ตาม ก็เหมือนกับว่าตายแล้วสูญนั่นแหละ สิ่งที่มีอยู่ย่อมเป็นสิ่งที่เปิดเผยด้วยความมีอยู่ของตน แต่ลี้ลับสำหรับคนที่ไม่เห็น เช่นหนามที่ขวางทางอยู่ เป็นความเปิดเผยด้วยความมีอยู่ของมัน แต่เราไม่เห็นไปเหยียบเข้า หนามที่เราไม่เห็นนั่นแลมันปักเท้าเราให้เจ็บได้ คำว่าบาปหรือบุญนี้เราเทียบกันได้อย่างชัดเจนก็คือว่า สุขกับทุกข์ เคยหนีจากร่างมนุษย์และร่างสัตว์เมื่อใด สุขทุกข์มีมาดั้งเดิม บาปก็คือความชั่ว อันเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ บุญก็คือความดีอันเป็นสาเหตุให้เกิดความสุข เราจะลบล้างได้อย่างไร
ผู้ใดเป็นผู้ตรัสไว้ในสิ่งเหล่านี้ บาปก็พระพุทธเจ้าแสดงไว้ บุญก็พระพุทธเจ้าแสดงไว้ นรกสวรรค์ก็พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ทรงแสดงไว้ทุกแง่ทุกมุม ไม่ได้แสดงแบบลวงโลก พระพุทธเจ้าไม่ใช่ศาสดาลวงโลก เป็นศาสดาที่รู้จริงเห็นจริงจริงๆ นำสิ่งที่รู้เห็นประจักษ์พระทัยแล้วออกมาสั่งสอนโลกแล้วจะผิดไปที่ไหน จึงหาความผิดไม่ได้ มีแต่ความถูกต้องดีงาม สมกับหลักธรรมว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วตรัสชอบแล้วเท่านั้น
ขอให้ทุกท่านซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน นำอรรถนำธรรมของพระพุทธเจ้าไปเป็นสิริมงคล ไปเป็นคุณสมบัติแก่ตัวของเรา เราจะมีความอบอุ่นภูมิใจในความเป็นมนุษย์ของเรา เวลาเราตายไปเราก็มีความภูมิใจว่าเราได้สร้างความดีไว้ในใจ ใจนี้เป็นนักท่องเที่ยวเกิดได้ทุกแห่งทุกหน ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ในสถานที่เกิด สำคัญที่มีกรรมดีกรรมชั่วเป็นเครื่องหนุนอยู่ภายในจิตใจ นี่เป็นของสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงควรสร้างความดีให้มากๆ
ให้เราระลึกถึงป่าช้าบ้างวันหนึ่งคืนหนึ่ง วันหนึ่งๆ ควรระลึกถึงความตายอย่างน้อยสัก ๕ ครั้ง ใจคนเราก็จะมีหยุดชะงักบ้าง การทำความชั่วช้าลามกทั้งหลาย หรือความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม การลืมเนื้อลืมตัวก็จะมีสติสตังบ้าง เพราะป่าช้ามีอยู่กับตัว เราต้องตายวันหนึ่งแน่นอน จะมั่งมีศรีสุขขนาดไหนก็ต้องมีตาย ทุกข์จนขนาดไหนก็ต้องมีตาย คนโง่คนฉลาดมีความตายประจำด้วยกัน จึงควรสร้างความดีงามไว้สำหรับตน จะได้เป็นสิริมงคลในปัจจุบันแลอนาคต
การแสดงธรรมก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงมาคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขกายสบายใจ และกลับไปบ้านด้วยความปลอดภัยโดยทั่วกัน เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ |