เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
เงาของจิต
คำว่ากิเลสก็ดี ธรรมก็ดี ไม่มีใครสามารถรู้โทษและคุณของกิเลสและธรรมได้ เพราะไม่เคยสนใจคิดไม่เคยสนใจค้นคว้า พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแต่ละพระองค์ นั้นแลคือท่านผู้ค้นพบเรื่องกิเลสและธรรม ซึ่งมีอยู่ภายในหัวใจสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ได้มีอยู่ที่อื่น เพราะใจเป็นผู้สัมผัสรับรู้เรื่องของกิเลสและธรรม ซึ่งเกิดขึ้นกับตน และจะเกิดขึ้นกับตน พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ๆ ที่มาตรัสรู้ก็คือมาค้นสิ่งที่เป็นภัยให้สัตว์โลกทั้งหลายได้เห็นได้รู้ ว่ามีอยู่ที่ใจของทุกคนแต่ไม่สามารถรู้ทั้งฝ่ายกิเลสและธรรมได้เท่านั้น
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ตรัสรู้ขึ้นมาจึงปรากฏว่ากระเทือนทั่วทั้งโลกธาตุ เพราะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย การที่จะค้นพบสิ่งที่เป็นโทษก็ดี สิ่งที่เป็นคุณก็ดี สิ่งที่เป็นโทษหนักที่สุดก็คือกิเลส สิ่งที่เป็นคุณมากที่สุดก็คือธรรม แต่ไม่มีสัตว์โลกรายใดจะสามารถเสาะแสวงหาหรือค้นพบในสิ่งทั้งสองนี้ได้ มีพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เท่านั้น ซึ่งตรัสรู้ถ่ายทอดกันมาเรื่อย ๆ เป็นวรรคเป็นตอน
พวกเราทั้งหลายนี้เป็นผู้ล้างมือคอยเปิบเท่านั้น วิธีการทุกอย่างในการที่จะละสิ่งที่เป็นโทษซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของตน และในการที่จะบำเพ็ญสิ่งที่เป็นคุณ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในใจของตน พระพุทธเจ้าท่านทรงแนะนำพร่ำสอนไว้หมดทุกแง่ทุกมุมแล้ว เรื่องกิเลสก็แยกประเภทออกให้เห็นอย่างชัดเจน ว่ากิเลสประเภทใดแสดงอาการลักษณะอย่างไรขึ้นมาที่ใจ และออกมาทางกายทางวาจา กิเลสประเภทใดแสดงออกมาในแง่ใด มีลักษณะอย่างไร ซึ่งมีกายวาจาและใจเป็นเครื่องมือ หรือเป็นทางเดินออกมาของกิเลสและธรรมทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้หมดทุกแง่ทุกมุม เราชาวพุทธทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ล้างมือคอยเปิบเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีการทุกอย่างไว้แล้ว ไม่ยากอะไรนัก เพียงแต่นำอุบายของท่านมาอบรมสั่งสอนตนเท่านั้น ก็ถือเป็นความลำบากแล้วก็เป็นมนุษย์ที่หมดหวัง เฉพาะอย่างยิ่งพระเป็นพระปฏิบัติด้วยแล้วก็เรียกว่าเป็นผู้หมดหวัง ไม่มีผลที่จะพึงได้ถ้าเหตุไม่เป็นไปตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว อย่างไรผลก็ไม่ปรากฏ เพราะเหตุเป็นแดนเกิดแห่งผลทุกประเภท เราบำเพ็ญไม่ถูกต้องและไม่เพียงพอที่เหตุจะสมบูรณ์ได้ หรือการปฏิบัติไม่ถูกต้องที่จะให้ผลปรากฏขึ้นมาโดยลำดับ จนถึงขั้นสมบูรณ์ได้
สิ่งที่กล่าวเหล่านี้เราอย่าไปตำหนิติเตียนผู้หนึ่งผู้ใด เพราะเราเองเป็นผู้จะประพฤติปฏิบัติ ขุดค้นให้รู้ทั้งฝ่ายโทษและคุณซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของตนเองให้รู้ให้เข้าใจ ไม่มีผู้อื่นใดจะมาประพฤติปฏิบัติแทนเราให้เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดได้ นอกจากเราเพียงคนเดียวเท่านั้นซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตน ให้พากันเข้าใจอย่างนี้บรรดานักปฏิบัติทั้งหลาย
อย่าส่งจิตไปอื่นนอกจากเรือนรังแห่งกิเลสและธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจนี้ สัจธรรมนั้นมีทั้งภายนอกภายใน มรรคก็มีได้ทั้งภายนอกภายใน แต่สรุปลงแล้วสัจธรรมภายในตัวของเรานี้เป็นสิ่งที่รับรองอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จะให้สัจธรรมใดเกิดขึ้น เช่นสมุทัยก็เป็นสัจธรรมประเภทหนึ่ง ให้เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นที่ใจ ทุกข์ซึ่งเป็นสัจธรรมประเภทหนึ่ง อันเป็นผลเกิดขึ้นจากสมุทัย ก็จะเกิดขึ้นได้เมื่อสมุทัยเป็นผู้ผลิตงานขึ้นมากน้อยเพียงไร ผลคือความทุกข์จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเองโดยไม่ต้องไปถามใคร
เพราะฉะนั้นใจเราจึงเป็นภาชนะที่รับรองสัจธรรมไว้ทั้งมวล ทั้งดีและชั่วอยู่ภายในจิตใจดวงเดียวนี้ทั้งนั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นี่เรียกว่าสัจธรรมฝ่ายละฝ่ายถอน มรรค นิโรธ เป็นฝ่ายบำเพ็ญ ให้เกิดให้มีขึ้นภายในใจดวงเดียวกันนี้ ใจจึงเป็นเรือนรังแห่งสัจธรรมทั้ง ๔ ประเภทนี้ แต่ที่เราต้องการอย่างยิ่งก็คือสัจธรรมทั้ง ๒ ประเภทนี้ให้มีกำลัง
มรรคปฏิปทาเครื่องดำเนินหรือทางดำเนิน ท่านพูดสรุปลงแล้วในธรรมทั้งหลาย จากธรรมทั้งหลายว่ามี ๘ ประการด้วยกัน นี่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไปโดยลำดับ ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้รวมแล้วเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ธรรม ๘ ประการนั้นคืออะไร คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ได้แก่ความฉลาดรอบคอบ ท่านเรียกว่าองค์ปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ๓ ประเภทนี้ก็เรียกว่ามรรครวมตัวเหมือนกัน การทำงานชอบ การพูดชอบ การเลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เพียรชอบ ตั้งสติไว้ชอบ สมาธิคือความสงบใจด้วยความชอบธรรม รวม ๔ อย่างนี้ท่านเรียกว่ามรรคปฏิปทา หรือเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะถอดถอนกิเลสทุกประเภทภายในจิตใจนี้ออกได้โดยไม่มีเหลือ
กิเลสทุกประเภทไม่มีอำนาจนอกเหนือไปจากมรรคปฏิปทาหรือมัชฌิมานี้ไปได้เลย พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศสอนเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ขึ้นเป็นปฐมโอวาท เรียกว่าปฐมเทศนา ขึ้น เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา. โย จายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค, หีโน คมฺโม โปถุชฺชนิโก อนริโย อนตฺถสญฺหิโต. เป็นต้น ทางสองแยก กามสุขัลลิกานุโยค ทำความลำบากแก่ตนเปล่า ๆ ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อะไรนั้นไม่ใช่ความเหมาะสมของการแก้กิเลส ทำตนหมักหมมอยู่ในกาม ไม่คิดเสาะแสวงหาทางออกหาทางหลีกเร้นจากสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่มีทางที่จะประสบพบเห็นมรรคผลนิพพานได้ ไม่เป็นธรรมที่เหมาะสมแก่การบรรลุธรรม อัตตกิลมถานุโยค การประกอบฝึกฝนทรมานตนให้ลำบากเปล่า ๆ โดยไม่มีสติปัญญาเคลือบแฝงในการที่จะถอดถอนกิเลสแต่ละประเภทนั้น ก็เป็นความลำบากเปล่า ๆ ไม่ใช่เป็นวิธีการฝึกฝนอันเหมาะสมที่จะให้กิเลสหลุดลอยออกไปจากใจได้เลย
จากนั้นท่านก็ว่า มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา, จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ. ยกมัชฌิมาปฏิปทาซึ่งเป็นธรรมที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการปราบปรามกิเลสทุกประเภทขึ้นมา ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็เพราะอันนี้พูดง่าย ๆ ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อจักษุญาณ เพื่อวิชชา เพื่อความรู้ในแง่ต่าง ๆ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ อย่างนี้เป็นต้น ความรู้เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมัชฌิมาปฏิปทานี้ทั้งนั้น ไม่มีที่อื่นเป็นที่เกิดขึ้น สอนอย่างนี้ ท่านสอนอย่างอาจหาญเพราะท่านทรงประพฤติปฏิบัติมาแล้วทั้งเหตุได้ทั้งผลเป็นที่พอพระทัย นำมาสั่งสอนเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ท่านเรียกว่าอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ยกมัชฌิมาขึ้นเป็นธรรมที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
แล้วคำว่ามัชฌิมาปฏิปทานั้นอยู่สถานที่ใดเวลานี้ อยู่ในคัมภีร์ใบลานก็เป็นชื่อของธรรม ชื่อของมัชฌิมาปฏิปทา ชื่อของปัญญา ชื่อของศีล ชื่อของสมาธิ ไม่ใช่ตัวสมาธิที่แท้จริง ชื่อของกิเลสประเภทต่าง ๆ ไม่ใช่กิเลสอันแท้จริง มีแต่ชื่อ ตัวกิเลสจริง ๆ ทุกประเภทมีอยู่ที่หัวใจเรา องค์มัชฌิมาปฏิปทาทั้งสิ้นก็อยู่ที่ใจของเราเองที่ผลิตขึ้นมาให้มี เพราะฉะนั้นจงอย่าลืมธรรมะที่ท่านสอนตามตำรับตำรานั้น ชี้เข้ามาที่หัวใจของสัตว์โลกนี้ทั้งนั้น ไม่ได้ชี้ไปไหนเลย
ท่านจดจารึกเอาไว้เพื่อให้รู้แนวทาง ที่จะนำเข้ามาปฏิบัติต่อจิตใจของตน ซึ่งถูกกิเลสเหยียบย่ำทำลายอยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน ตลอดภพตลอดชาติเรื่อยมาไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย กิเลสเหยียบย่ำทำลายอยู่อย่างนั้น ให้นำธรรมะนั้นเข้ามาสู่จุดนี้ จุดที่เป็นสงครามกันอยู่เวลานี้ ได้แก่ระหว่างจิตกับกิเลส ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติก็เรียกว่ากับธรรม จะแย่งเอาสมบัติอันล้นค่าคือใจมาเป็นสมบัติของตน
ก่อนหน้านี้กิเลสทุกประเภทได้เป็นเจ้าของครองจิตใจ เป็นวัฏจักรมาเป็นเวลานาน ท่องเที่ยวในวัฏสงสารภพน้อยภพใหญ่ สับสนปนเปจนเจ้าของเองไม่สามารถจะนับอ่านได้ว่ากี่ภพกี่ชาติ ชาติหนึ่ง ๆ ได้เคยเกิดเป็นอะไรได้รับความสุขความทุกข์ความลำบากลำบนแค่ไหนบ้าง เจ้าของเองไม่มีทางทราบได้ ทั้งที่เจ้าของเป็นตัวการแห่งความท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตาย นานแสนนานเรื่องกิเลสเป็นเจ้าครองหัวใจ พาให้สัตว์โลกทั้งหลายหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เช่นนี้ ท่านจึงเรียกว่าวัฏจักร คือหมุนไปเวียนมาอยู่เช่นนั้น
นี่จิตถูกกิเลสเป็นเจ้าของเป็นเจ้าอำนาจครอบงำ จึงเป็นเหมือนกับนักโทษในเรือนจำไม่ผิดเลย ไม่ได้อยู่โดยอิสรเสรีแม้แต่เวลาหนึ่ง นอนก็กิเลสบังคับอยู่นั้น ตื่นขึ้นมาก็กิเลสบังคับ นับตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาเวลาเราหลับกิเลสก็สงบตัว เรียกว่ากิเลสหลับ พอเราตื่นกิเลสก็ตื่นพร้อมกัน แล้วก็ตื่นเรื่อย ความโลภความโกรธความหลงแสดงออกมาตั้งแต่ขณะตื่นนอนทีแรก สัญญาอารมณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นเครื่องทำลายจิตใจให้บอบช้ำให้ขุ่นมัวมีอยู่ตลอดกาล นี่เป็นแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นทำงานอยู่บนหัวใจ
ที่นี่เราจะพยายามผลักกิเลสประเภทต่าง ๆ ซึ่งเคยครองหัวใจนี้ออก เพื่อธรรมทั้งหลายจะได้เข้าครองจิตใจให้มีความร่มเย็นเป็นสุข กิเลสครองหัวใจให้ได้รับความทุกข์ความทรมานมาก ทั้งภพเก่าภพใหม่ เกิดแล้วเกิดเล่า ตายแล้วตายเล่า เต็มไปด้วยความทุกข์ความทรมาน หาความสุขความสบายไม่ได้เลย นี่เราพยายามจะเอาธรรมเข้าครองใจเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข สงบสุขภายในจิตใจของตนด้วยธรรม จึงต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียรในการประพฤติปฏิบัติต่อหลักธรรมหลักวินัย ซึ่งเป็นทางเดินอันถูกต้องเหมาะสม โดยที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้เรียบร้อยแล้วไม่มีข้อบกพร่อง จึงเรียกว่าเราเป็นผู้ล้างมือเปิบ หยิบยื่นเข้าใส่ปาก มือล้วงเข้าไปในบาตรก็ถือว่าเป็นความลำบากลำบน จะเคี้ยวจะกลืนอาหารก็ถือเป็นความลำบากลำบน คนคนนั้นก็คือคนกำลังจะตายนั่นเอง หมดคุณค่าหมดราคาแล้ว
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ทุกแง่ทุกมุม ก็เปรียบเหมือนอาหารที่ปรุงไว้เรียบร้อยแล้ว จะหยิบยกขึ้นมาประพฤติปฏิบัติต่อตัวเองเท่านั้น ก็ยังหยิบยกมาปฏิบัติไม่ได้แล้วเราหาคุณค่าจากอะไร ตัวของเราเองมันหมดคุณค่าไปแล้ว การประพฤติปฏิบัติอันใดก็ไม่เป็นหน้าเป็นหลัง ไม่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นชิ้นเป็นอันได้เลย มีตั้งแต่ความขี้เกียจขี้คร้านความอ่อนแอซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นเข้าเหยียบย่ำทำลาย แม้เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ไม่พ้นที่กิเลสจะตามเข้าไปเหยียบย่ำทำลายธรรมทั้งหลายที่ตนกำลังบำเพ็ญอยู่นั้น ให้จิตแส่ส่ายไปตามอารมณ์ของกิเลสนั้นเสีย สุดท้ายก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
เดินจงกรมก็เดินไปด้วยอารมณ์ของกิเลส นั่งสมาธิก็นั่งด้วยอารมณ์ของกิเลส เลยมีแต่กิริยาที่นั่งสมาธิ เป็นกิริยาที่เดินจงกรม จิตใจกับสติไม่สัมผัสสัมพันธ์กัน พอให้รู้เหตุรู้ผลรู้เรื่องรู้ราวของอรรถของธรรมบ้างเลย อย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในสิ่งที่เราพึงหวังพึงปรารถนานั้น เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ากิเลสยังสวมรอย ๆ อยู่ตลอด ถ้าเราไม่แยกแยะกิเลส ระหว่างกิเลสกับธรรมให้เป็นฝักเป็นฝ่ายเป็นวรรคเป็นตอนกัน ในขณะที่ประกอบความเพียรด้วยความมีสติสตัง เราจะไม่หวังได้มีความอิ่มตัวภายในจิตใจเลย
ดุจเดียวกับคนรับประทาน ล้วงมือลงไปในหม้อในถ้วยในจานก็เห็นเป็นความลำบาก จะมารับประทานจะเคี้ยวจะกลืนก็ลำบาก ถือว่าเป็นความลำบาก คนนั้นคือคนกำลังจะตายหมดคุณค่าเสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ร่างกายก็ไม่ทำงาน สุดท้ายคนนั้นก็ต้องตายเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์ นี่ก็เหมือนกันธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติไว้ ประทานไว้ทุกแง่ทุกมุม เราจะหยิบยกขึ้นมาปฏิบัติ ซึ่งเปรียบเหมือนกับการรับประทานเพื่อให้ความอิ่มอกอิ่มใจ มีความสงบร่มเย็นเกิดขึ้นภายในจิตใจ ด้วยการปฏิบัตินั้นเราก็ทำไม่ได้แล้วเราก็หมดคุณค่า ไม่มีธรรมภายในใจพอที่จะเข้าไปครองใจได้เลย ก็มีแต่จะปล่อยให้กิเลสมันเอาไปเข้าตลาดไหนก็ไม่รู้ นี่สมควรแล้วหรือแก่เราผู้ปฏิบัติตามหลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุด
ตั้งแต่ขณะเสด็จออกทรงผนวชก็ทรงทำให้เห็นแล้ว แบบฉบับของพระพุทธเจ้ามีแบบอ่อนแอท้อถอยที่ไหนบ้าง เราเคยเห็นไหมในตำรับตำรา ตัดขั้วพระทัยออกเสียจนจะไม่มีพระทัยติดพระองค์ไปเลย ความห่วงใยอะไรทุกสิ่งทุกอย่างในความเป็นกษัตริย์ บริษัทบริวารไพร่ฟ้าประชาชีมีมากมายขนาดไหน ทรงตัดออกจนหมดสิ้นเหมือนกับตัดขั้วหัวใจนั่นแล พระญาติพระวงศ์ก็มี พระชายาพระราชโอรสก็มี ทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของ ไพร่ฟ้าประชาชีทั้งหลาย ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นบริษัทสมบัติบริวารของพระองค์ ใครจะไม่รักใครจะไม่หวงแหน การเสด็จออกไปเช่นนั้นถ้าไม่เหมือนกับการตัดขั้วหัวใจ ยังเหลือไปแต่ร่างจะเรียกว่าอย่างไรจึงจะเหมาะสมดี นี่พระพุทธเจ้าก็ทรงทำให้เป็นตัวอย่างเป็นอันดีอยู่แล้ว
เวลาออกทรงผนวชแล้วก็ได้รับความทุกข์ความทรมาน เพราะการบริโภคก็ลำบากลำบน ความเป็นกษัตริย์ตกลงไปสู่ความเป็นคนขอทาน ก็เหมือนกับเทวดาตกจากสวรรค์ลงไปสู่นรกนั้นเอง ทรงลำบากลำบนมาก ความเป็นอยู่ ที่อยู่ที่อาศัยเครื่องใช้ไม้สอยไม่มี พระองค์ไม่สนพระทัยสิ่งใดนอกเหนือไปจากธรรมที่ทรงมุ่งหวังอย่างเต็มพระทัยเท่านั้น จึงต้องเสียสละอย่างเต็มที่เต็มฐาน ความทุกข์ความลำบากในการประกอบความพากเพียร ไม่ถือว่าเป็นภาระอันหนักหน่วง แต่มุ่งอรรถมุ่งธรรมคือแดนแห่งความตรัสรู้เพื่อจะเป็นศาสดาสอนโลก ด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงก่อนแล้วนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงมุ่งหวังอย่างยิ่ง
ถึงขนาดสลบไสลไปตั้งสองสามหน นี่ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นปฏิปทาคติเครื่องเตือนใจของชาวเราทั้งหลาย ซึ่งเป็นลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า เราไม่ยึดสิ่งเหล่านี้มาเป็น พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เราจะเอาอะไรเป็น พุทฺธํ ต้องยึดทั่งปฏิปทาเครื่องดำเนินของพระองค์ด้วย ยึดทั้งคุณสมบัติคุณธรรมของพระองค์ที่บริสุทธิ์ผุดผ่องนั้นด้วย มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา จึงจะได้มีกำลังวังชาในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ท้อถอยอ่อนแอให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายอยู่ทุกขณะจิตดังที่เป็นอยู่เวลานี้ใช้ไม่ได้เลย
การต่อสู้กับกิเลสก็เหมือนกับการต่อสู้กับข้าศึก ไม่เขาก็เราต้องตาย การต่อสู้กันบนเวทีก็เช่นเดียวกัน อย่างน้อย ๆ ก็ต้องบอบช้ำ มากกว่านั้นก็ตาย ถูกคู่ต่อสู้น็อกเอาตายได้ แต่เมื่อได้ขึ้นบนเวทีแล้วตายก็ต้องตาย ต้องเอาให้สุดเหวี่ยงทีเดียว สติกำลังวังชาความสามารถมีขนาดไหนทุ่มลงให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายไม่ตายแล้วค่อยลงมาจากเวที ได้ชัยชนะหรือแพ้ก็ทราบกันตรงนั้น
ผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลานี้เราได้ก้าวเข้าสู่เวทีแล้วคือแดนแห่งนักบวช อันเป็นแดนแห่งความสมหวัง อันเป็นแดนแห่งความว่าง อันเป็นแดนแห่งความเหมาะสมทุกสิ่งทุกอย่างแล้วสำหรับเราซึ่งเป็นนักบวชทั้งหลาย ถ้าไม่ตักตวงเอาในขณะนี้แล้วจะไปตักตวงเอาเวลาไหน เรื่องก็มีเท่านั้น โลกสงสารยุ่งเหยิงวุ่นวายไปทุกหย่อมหญ้า เขายังอุตส่าห์สละวัตถุสิ่งของเงินทองจตุปัจจัยไทยทานทั้งสี่มาบำรุงบำเรอผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราไม่เห็นขัดข้องขาดเขินอะไรบรรดาปัจจัยทั้งสี่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะที่อยู่ที่อาศัย คิลานเภสัชยาแก้โรคแก้ภัยก็เห็นเต็มไปหมดไม่มีการบกพร่อง นอกจากจะบกพร่องในความเพียรของเรา ที่จะเป็นทหารชั้นเอกดังพระพุทธเจ้าที่ทรงพาดำเนินมาเท่านั้น เราไม่ซ่อมแซมในสิ่งที่บกพร่องนี้เราจะซ่อมที่ตรงไหน
เราออกแนวรบแล้วต้องสู้ ไม่ตายให้รู้ ไม่รู้เอ้าตายนั่นจึงชื่อว่าเป็นนักรบ ไม่ใช่นักหลบ หลบนั้นหลีกนี้ไม่ใช่เป็นศิษย์ตถาคต ตถาคตเอาชัยชนะในสงคราม นำมหาสมบัติมาประกาศสอนโลกจนกระทั่งถึงทุกวันนี้กี่ปีมาแล้วดูซีธรรมหมดไหม ๒๕๐๐ กว่าปีแล้วยังไม่หมด รสชาติยังดื่มด่ำซึ้งถึงจิตถึงใจผู้ปฏิบัติอยู่เสมอมา พวกเรามีความรู้สึกตัวอย่างไรบ้างที่มาบวชในศาสนานี้ กิเลสมันอยู่ทุกซอกทุกมุม อยู่ทุกขณะ แอบอยู่กับใจ ถ้าเราไม่ใช้สติปัญญาระมัดระวังพินิจพิจารณา หรือต่อสู้ขัดขืนกับมันจริง ๆ แล้วก็เหลือแต่ร่างกระดูกเท่านั้นเอง ไม่มีคุณสมบัติติดตัวเลย
คุณสมบัติจะติดตัวได้ด้วยความเป็นผู้มีความพากเพียร มีความอุตส่าห์พยายาม มีความอดความทน มีสติปัญญาเป็นเครื่องกำกับจิต และพยายามระมัดระวังรักษาจิตของตนที่จะเกิดอารมณ์ขึ้นมาอย่างไรบ้างอยู่เสมอ เลือกเฟ้นอารมณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาไม่นอนใจ
ความคิดปรุงนั้นมีได้ ๒ อย่าง ส่วนมากหรือเป็นพื้นฐานความคิดปรุงที่ออกมาจากกิเลส ท่านเรียกว่าสังขารนี้เป็นสมุทัย เป็นแดนที่จะผลิตทุกข์ขึ้นมาเผาลนจิตใจนั่นเอง สังขารประเภทนี้ท่านเรียกว่าสังขารฝ่ายกิเลส สังขารประเภทหนึ่งเป็นสังขารฝ่ายธรรม เช่น สติปัญญาผลิตขึ้นมาคิดค้นขึ้นมา นี่สังขารนี้เป็นฝ่ายธรรมเป็นด้านปัญญา ที่จะแก้กิเลสซึ่งมีอยู่ภายในจิตดวงเดียวนั้น
อุบายวิธีต่าง ๆ ผมก็ได้เคยอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อนมาแล้วเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลังความสามารถ ไม่มีลี้ลับแม้แต่น้อยหนึ่งเลย ผมอบรมหมู่เพื่อนด้วยความเมตตาสงสารจริง ๆ โดยยกข้อเปรียบเทียบขึ้นมาระหว่างใจของเรากับหมู่เพื่อน แม้ใจของเราที่มีความเสาะแสวงหาต่อครูต่ออาจารย์ อยากให้ท่านเมตตาอบรมสั่งสอนไว้พอจะเป็นคนสักคนหนึ่ง ใจจะหลุดจะขาดไปจากตัวกลัวท่านจะไม่เมตตารับไว้อบรมสั่งสอน เมื่อได้อยู่กับท่านแล้วเหมือนจะเหาะจะบิน มีความภาคภูมิใจ ฟังท่านพูดอะไรนี้ฟังเอาจริง ๆ จัง ๆ เหมือนกับอัดเทปไว้ภายในจิตใจเลย ฟังได้ทุกแง่ทุกมุมไม่มีหลุดมีขาดตกบกพร่องไปตรงไหน ไม่มีเรี่ยราดไปไหน ฟังซึ้ง ๆ เข้าไปภายในจิตใจหมด
เวลาเราตรองไปตามธรรมเทศนาของท่านที่เทศน์ผ่านไปแล้วอยู่โดยลำพังคนเดียว มันจะซึ้งไปโดยลำดับ ๆ จำได้ทุกแง่ทุกมุมไปเลย เพราะความตั้งใจสนใจมันเป็นไปได้อย่างนั้นจริง ๆ เราก็ไม่อยากจะพูดว่าเป็นความจำ ไม่ทราบว่าจะพูดอะไรให้เหมาะสมกับนั้น มันซึ้ง ๆ มันเลยติดไปเลย ๆ เหมือนกับเสียงติดเทปนั่นเอง นี่ด้วยความตั้งใจ
เวลามาเป็นครูเป็นอาจารย์สอนหมู่คณะก็ได้เป็นด้วยความจำเป็น ไม่ได้เป็นด้วยความสมัครใจ จะว่าจืดว่าจางต่อหมู่เพื่อน หรือต่อประชาชนญาติโยมเราก็ยอมรับ เราเห็นการอยู่คนเดียวเป็นความสะดวกสบายตามอัธยาศัยของตน เพราะไม่มีอำนาจวาสนามากมายอะไรพอที่จะคิดแนะนำสั่งสอนใครต่อใคร แต่ครั้นแล้วก็คนนั้นมาเสกมาสรรให้เป็นครูเป็นอาจารย์เรื่อยมา มีผู้มาเกี่ยวข้องทั้งพระทั้งเณรตั้งแต่ท่านอาจารย์มั่นมรณภาพไปทีแรกจนกระทั่งปัจจุบันนี้ไม่ขาดวรรคขาดตอน หลั่งไหลกันมาทั้งพระทั้งเณรทั้งประชาชน จำเป็นต้องได้ให้การอบรมสั่งสอน
เพราะคิดเห็นใจของเราที่เคยเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์นั้น จนแทบใจจะหลุดจะขาดไปจากตัว หมู่เพื่อนมีความหิวความกระหายต่ออรรถต่อธรรม ก็คงจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ นี้จึงได้ปลงใจอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อน เมื่อได้ปลงใจลงแล้วก็ปลงจริง ๆ ตั้งใจสอนตามเหตุตามผลให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งฝ่ายเหตุเป็นอย่างไร ตนได้ดำเนินอย่างไร ๆ มา และผลปรากฏขึ้นมีแง่หนักเบามากน้อยหยาบละเอียดแค่ไหน ก็ได้เล่าให้หมู่เพื่อนฟังไม่มีปิดบังลี้ลับ หมดไม่มีเหลือภายในหัวใจอันนี้ หากไม่พอจะเป็นคติตัวอย่างแก่หมู่เพื่อนได้ยึดได้ถือ ว่าเป็นความถูกต้องดีงามแล้ว ธรรมะที่จะให้เลยนี้ไปสำหรับจะสั่งสอนหมู่เพื่อนไม่มีอีก ผมยอมรับว่าผมหมดเนื้อหมดตัวแล้วไม่มีอะไรเหลือ ถ้าหมู่เพื่อนไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ หมดจริง ๆ หมดเนื้อหมดตัวจริง ๆ ให้พูดยิ่งกว่านี้ไปไม่ได้เพราะรู้เท่านั้น ปฏิบัติมาความสามารถขนาดไหนก็ได้เล่าให้ฟังแล้วว่าเต็มเท่านั้นความสามารถ เต็มภูมิเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่านี้ทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผล
หมู่เพื่อนจะพอถือเป็นคติเตือนใจเป็นสิริมงคลแก่ตัว ว่าเป็นการถูกต้องดีงามแล้ว ก็น่าจะได้รับผลประโยชน์ แล้วก็น่าจะสนใจประพฤติปฏิบัติเต็มสติกำลังความสามารถของตน ไม่เห็นสิ่งอื่นใดมีความสำคัญยิ่งกว่าการบำเพ็ญธรรมเพื่อความหลุดพ้น ด้วยการประพฤติปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยวอาจหาญชาญชัย สมกับว่าเป็นลูกตถาคตไม่ยอมแพ้อะไร เฉพาะอย่างยิ่งก็คือกิเลสไม่ยอมแพ้เป็นเด็ดขาด เอาให้ชนะไปได้โดยลำดับ ๆ
ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันมีกำลังวังชา มันเป็นเครื่องหลอกไปในตัวให้ติดใจด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าความโลภเกิดขึ้นต้องติดจนได้ มันมีเสน่ห์อยู่ภายในตัวของมัน มีรสมีชาติอยู่ภายในตัวของความโลภ ความโกรธมันก็มีรสมีชาติอยู่ภายในตัวของมัน เพราะฉะนั้นสัตว์โลกจึงต้องติดโกรธ พอใจโกรธ พอใจโลภ พอใจหลง พอใจรัก พอใจชัง ไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นภัย เพราะมันกล่อมได้สนิท เนื่องจากกิเลสนี้เป็นสิ่งที่แหลมคมมาก ในไตรโลกธาตุนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะฉลาดแหลมคมยิ่งกว่ากิเลส เพราะฉะนั้นจึงได้ขึ้นครองใจของสัตว์โลก
ทีนี้กิเลสประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นจอมกษัตริย์วัฏจักรครองหัวใจสัตว์โลกอยู่นี้ จะพังทลายลงได้โดยไม่มีเหลือเลยนอกจากธรรมแล้วไม่มี ธรรมก็คือมัชฌิมาปฏิปทาเป็นสำคัญ นี่กิเลสทุกประเภทกลัวมากที่สุด เพราะกิเลสเคยตายเพราะศาสตราอาวุธประเภทนี้แล้ว มาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ไหน ๆ สาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใด ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ปราบกิเลสให้ราบลงไปสิ้นซากไม่มีเหลือ เพราะมัชฌิมาปฏิปทาแบบฉบับเดียวกันนี้ทั้งนั้น ไม่มีแบบอื่นแบบใดมาปราบกิเลสให้หมอบราบไปได้ นอกจากหลักมัชฌิมาปฏิปทาอันเหมาะสมอย่างยิ่งตลอดมานี้เท่านั้น เมื่อเรานำมาประพฤติปฏิบัติเหตุใดกิเลสจึงจะมาทะนงตัวได้ ถ้าเราไม่หมอบคลานหัวเข้าไปให้กิเลสฟันเอา ๆ เท่านั้น ด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน ด้วยความเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่หลับแก่นอน เห็นแก่อยู่แก่กัน เห็นแก่ความอ่อนแอ เห็นแก่ความสะเพร่ามักง่าย ไม่เห็นแก่ความเป็นอรรถเป็นธรรม ความจริงความจังในกิจการทั้งหลายทั้งภายนอกภายในพอกิเลสจะได้กลัวบ้าง นี่ให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสทั้งนั้น
เราปฏิบัติหัวใจเราดูหัวใจเราอยู่ ทำไมจะไม่ทราบว่าจิตเคลื่อนไหวไปในทางถูกหรือทางผิดเป็นไปได้เหรอ ถ้ามีสติปัญญารักษาตัวอยู่แล้ว ต้องทราบความเคลื่อนไหวของใจที่เป็นไปในทางถูกและผิดได้เป็นอย่างดี สติปัญญาสำคัญมาก เราไม่เคยปล่อยวาง พูดคำไหนอยากจะพูดเรื่องสติเรื่องปัญญานี้อยู่ตลอด เพราะนี้เป็นสำคัญ เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมอย่างยิ่งทีเดียว กิเลสหลุดลอยออกไปไม่หลุดลอยจากอะไร ศรัทธาความเพียรเหล่านั้นเป็นเครื่องสนับสนุน เป็นเสบียงสนับสนุนให้มีกำลัง สติปัญญาเป็นผู้ฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสทุกประเภทไม่นอกเหนือไปได้เลย
สมาธิตะล่อมกิเลสเข้ามาสู่จุดรวม เหมือนกับว่าไล่กิเลสเข้ามาสู่จุดรวม ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายออก ฟันออกทำลายทีละตัวสองตัวไปเรื่อย ๆ ๆ ตั้งแต่กิเลสส่วนหยาบ ๆ ตัวใหญ่ ๆ เรียกว่าตัวหยาบ ๆ ลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งละเอียดสุดถึงราชาของกิเลส กษัตริย์วัฏจักรของกิเลสได้แก่อวิชชา นั่นเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมากที่สุด ก็ไม่พ้นที่มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นธรรมละเอียดยิ่งที่สุด ปราบให้เรียบราบไปเช่นเดียวกัน ฉะนั้นจึงไม่มีกิเลสตัวใดที่จะอาจหาญต่ออรรถต่อธรรมของพระพุทธเจ้าได้ ถ้าเรานำมาประพฤติปฏิบัติเหตุใดจะไม่รู้
อ่านมาทำไมอ่านหนังสืออ่านแต่ชื่อ อ่านสมาธิใครอ่านก็ได้ชื่อของสมาธิ ชื่อของปัญญาใครอ่านก็ได้ ชื่อของวิมุตติ ความหลุดพ้นใครอ่านก็ได้ ชื่อของกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ ใครอ่านก็ได้ใครจำก็ได้ ชื่อของอรรถของธรรมตั้งแต่ต้นจนถึงมรรคผลนิพพานใครอ่านก็ได้ใครจำก็ได้ ไม่สำคัญอะไรนักถ้าไม่ปฏิบัติ เพราะท่านสอนให้เรียนเพื่อปฏิบัติ เรียนรู้ชื่อของมันแล้วให้ปฏิบัติ ภาคปฏิบัติท่านก็สอนไว้แล้ว จะเอาอะไรปฏิบัติ ทำอะไรลงไปไม่พ้นสติที่จะต้องตาม เป็นผู้ควบคุมงาน
เราจะบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆ ก็ต้องให้มีสติอยู่กับคำบริกรรมนั้น ๆ หรือจะกำหนดอานาปานสติก็ตาม ลมเข้าก็ให้รู้ ลมออกก็ให้รู้อยู่ด้วยสติสัมผัสสัมพันธ์อยู่นั้น ไม่ต้องไปคาดหมายเรื่องมรรคผลนิพพานว่าจะเกิดขึ้นมาในกาลใดสมัยใดเวลาใด จะเกิดขึ้นในลักษณะใด ไม่ต้องไปคิดไปคาดให้เผลอตัวจากงานที่กำลังทำอยู่ด้วยสตินั้น จิตต้องสงบได้ไม่พ้น สติเป็นผู้ควบคุมงานเพื่อใจสงบ สติเป็นผู้ควบคุมความปลอดภัย รักษาความปลอดภัยได้ดี ถ้าเผลอสติเมื่อไรแล้วโจรผู้ร้ายได้แก่กิเลสตัณหาอาสวะ มันต้องฉุดลากเอาไปยำจนแหลก ด้วยเหตุนี้สติจึงเป็นของสำคัญ
ถัดจากนั้นพอจิตมีความสงบร่มเย็นลงได้ พอเป็นปากเป็นทางแห่งความคิดอ่านทางด้านปัญญาได้แล้ว ก็ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาแยกดูธาตุดูขันธ์ อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมแล้วเรียกว่ากาย ดูทั้งภายในภายนอก ดูตั้งแต่หนังเข้าไปหาเนื้อหาเอ็นหากระดูก หาภายในลึก ๆ ดูไปหมด เต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครก ปัญญาสอดแทรกเข้าไป ๆ หลายครั้งหลายหนจนเป็นที่ชำนิชำนาญลึกซึ้งภายในจิตใจแล้ว กิเลสทนไม่ได้เมื่อรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ ต้องทลายลงไปเป็นลำดับ
ถ้าจะพิจารณาว่าธาตุก็สักแต่ว่าธาตุ ดินเราดูเอาซิ เหยียบไปไหนก็มีแต่ดิน น่ารักน่าชังน่าโกรธน่าเกลียดมันที่ตรงไหนก็ดินเฉย ๆ น้ำเราก็เห็นอยู่แล้ว ภายในร่างกายของเราก็มีธาตุดิน ส่วนที่แข็ง ๆ ท่านเรียกธาตุดิน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เรียกว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ก็เช่น น้ำลาย น้ำเหงื่อเป็นต้น น้ำก็สักแต่ว่าน้ำมันน่ารักน่าชังน่าเกลียดน่าโกรธที่ไหน ถ้าพิจารณาให้ซึ้งตามความจริงของความมีอยู่ความเป็นอยู่ความจริงอยู่ของเขาแล้ว ใจของเราก็จริงเท่านั้น เพราะใจของเราเป็นผู้หลง ไปสำคัญมั่นหมายว่าดินเป็นตน ธาตุดินเป็นเรา ธาตุดินเป็นของเรา ธาตุน้ำเป็นเรา ธาตุน้ำเป็นของเรา ลมก็เช่นลมหายใจเป็นต้น เราก็เคยรู้อยู่ตลอดเวลาว่าลมเป็นอย่างไร มันน่ารักน่าเกลียดน่าโกรธที่ไหน ลมหายใจทำไมหลง ไฟธาตุไฟเราก็ใช้หุงต้มอยู่ตลอดเวลา ไฟภายในร่างกายเราทำไมมาหลงว่าเป็นเราเป็นของเรา ถ้าเราไม่โง่เสียจนเกินไป
พิจารณาให้เห็นคามความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้ดูซิจะเป็นยังไง จะหาที่ค้านพระองค์ได้เหรอ เมื่อพิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ คุ้ยเขี่ยขุดค้นดูหลายครั้งหลายหนก็ค่อยแจ้งออกมา ๆ สว่างออกมาถึงความจริงเข้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงความจริงเต็มส่วนในร่างกายนี้แล้ว สลัดปุ๊ดเดียวพึ่บเดียวหายหมดไม่มีเหลือ จะเคยยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตนเป็นของตนมาตั้งกัปตั้งกัลป์ก็เถอะ ถ้าลงสติปัญญาได้หยั่งทราบให้ตลอดทั่วถึงอย่างซึ้งใจแล้วยังไงก็ทนยึดไปไม่ได้ ก็มันเป็นธาตุนี่ไม่ใช่เราถือมันไว้ทำไม นั่นเวลารู้ชัด ๆ แล้วทนไม่ได้มันต้องปล่อย นี่พิจารณาร่างกาย
พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าอยู่งั้น กำหนดทำลายลงไปให้แตกหรือให้พุพองน้ำหนองไหลเยิ้มไปหมด เต็มสกลกายนี้เป็นเรื่องอสุภะอสุภังน่าเกลียดอยู่แล้ว น่าอิดหนาระอาใจ น่ายึดน่าถือน่ารักมันยังไง จากนั้นกระจายลงไปมันก็ไปเป็นธาตุ ดินก็เป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ใจก็เป็นใจอยู่นี้ มันหากไปหลงเขานี่ เพราะฉะนั้นจึงพิจารณาเพื่อให้ใจเป็นผู้รู้ ใจเป็นผู้หลงต้องคลี่คลายให้ใจดูให้เห็นตามหลักความจริงด้วยปัญญา ใจก็ถอนตัวเข้ามา นั่นขั้นร่างกายเป็นอย่างนี้ พิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ
ในเวลาที่เราพิจารณาเอาจริงเอาจังอยู่กับการพิจารณา ไม่ต้องไปห่วงในเรื่องความสงบสมาธิของใจเวลาทำงาน แต่เวลาหยุดงานเพื่อเข้าสู่ความสงบเพื่อเอากำลังวังชาที่จะออกไปทำงานเพื่อผลประโยชน์ต่อไปแล้ว ก็ต้องพักในสมาธิคือความสงบ ไม่ต้องห่วงเรื่องของปัญญา เรื่องหน้าที่การงานอะไรทั้งหมดไม่ต้องห่วง ทำงานเป็นวรรคเป็นตอน วาระใดเป็นงานของสมาธิที่จะให้ความสงบ วาระนั้นต้องทำให้เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเรื่องของสมาธิจริง ๆ ไม่ต้องเอาปัญญาเข้ามาแทรกมายุ่งเหยิงวุ่นวายมันจะก้าวก่ายกัน
พอจิตมีความสงบได้กำลังวังชาแล้วถอยออกมา จากนั้นก็พิจารณาทางด้านปัญญา เอาให้มันแหลกละเอียดไปหมดสกลกายของเรา และทั่วโลกธาตุดินแดนอันนี้ไม่มีอะไรที่จะผิดแปลกจากกัน เป็นเหมือนกับสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ของเรานี้ทุกชิ้นทุกอัน ทั้งของเขาของเรา เปรียบเทียบกันได้หมดทุกสัดทุกส่วน จะเรียกว่า โลกวิทู จะผิดที่ตรงไหน รู้แจ้งโลก ทั้งโลกนอกก็รู้อย่างเดียวกันนี้ ทั้งโลกในก็รู้อย่างเดียวกันนั้น เมื่อรู้แจ้งเห็นชัดแล้วจิตใจก็ปล่อย
คำว่าปล่อยก็หมดเรื่องความกดถ่วงตัวเอง อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น เหมือนกับตะปูที่ตีจับไม้ไว้อย่างแน่นนั่นเอง ถอนออกมาให้ไม้มันดีดผึงขึ้นมา ใจก็ดีดผึงขึ้นมาเลย พอหมดอุปาทานเสียเท่านั้นใจก็ดีดตัวขึ้นมา นี่เป็นส่วนหยาบร่างกายนี่ ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาจนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงในส่วนนี้แล้ว ก็ปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ไม่ถือว่ากายเป็นเราเป็นของเรา แม้จะอาศัยกันอยู่ก็สักแต่ว่ารับรู้เท่านั้นเองไม่ยึด เวทนาที่มันเกิดขึ้นภายในร่างกายมันก็สักแต่ว่าเวทนา คือความสุข ความทุกข์ ความเฉย ๆ เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป นี้เป็นสภาพของมันอย่างนี้ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งเฉย ๆ มีลักษณะเช่นเดียวกัน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ๆ อันใดเกิดขึ้นอันนั้นตั้งอยู่แล้วดับไป ๆ เหมือนกันหมด ไม่ว่าดี ว่าชั่ว ว่ากลาง ๆ ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าเฉย ๆ มันมีความเกิดขึ้นดับไป ๆ
สัญญา คือความจำได้หมายรู้ เราก็จำมาสักเท่าไรแล้วมันเป็นสาระอะไร ก็เพราะมันลืมไปหมด จำแล้วก็ลืมไป ๆ สญฺญา วาสฺส วิมุยฺหติ มันเป็นของแน่นอนพอที่จะถือเป็นเราเป็นของเรา ไว้เนื้อไว้ใจได้อย่างไร วิญญาณ ความรับทราบเวลาตากระทบรูป หูกระทบเสียง กลิ่นรสเครื่องสัมผัสกระทบกันกับตาหูจมูกลิ้นกายของเรานี้ ก็เกิดความรู้ขึ้นมาเหมือนกับแสงหิ่งห้อยแย็บ ๆ ๆ พอสิ่งสัมผัสผ่านไปอันนี้ก็ดับไปพร้อม ๆ เอาสารประโยชน์อะไรจากมัน มันมีแต่อาการของความรู้เท่านั้น เรามาตื่นทำไมตื่นเงา
เหล่านี้เป็นอาการของความรู้เป็นอาการของจิตเป็นเงาของจิต ถ้าพิจารณาไม่รอบก็ต้องหลงเงานี้แหละ ตื่นเงานี้แหละ ยึดเงานี้แหละ ถ้าเรายังไม่เคยได้พิจารณาเลยก็จะยึดเงานี้เป็นตัวของตัวตลอดเวลา เป็นเรื่องเป็นราวก่อกวนตัวเองอยู่ตลอด คนเรานั่งเฉย ๆ อยู่คนเดียวลองดูซิ มันไม่นั่งเฉย ๆ นะนั่น มันนั่งก่อเรื่อง เรื่องนั้นเรื่องนี้ มีแต่เรื่องสังขารเรื่องสัญญามันปรุงมันหมาย เป็นอดีตผ่านไปแล้วกี่ปี่กี่เดือนกี่มื้อกี่วัน มันไม่ได้เห็นว่าเป็นของเก่าแหละ จะต้องใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ ด้วยความตื่นความหลงสัญญาอารมณ์ของตัวเอง วุ่นกันอยู่ตลอดเวลา มันไม่ได้อยู่คนเดียว มันอยู่กับเรื่องอารมณ์บ้า ๆ บอ ๆ ทำให้เจ้าของลุ่มหลงไปอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้รู้ยิ่งเห็นจริงด้วยปัญญาแล้วก็ปล่อยเช่นเดียวกันหมด รูปก็ปล่อย เวทนาก็รู้เท่า รูปก็รู้เท่า สัญญาก็รู้เท่า สังขารก็รู้เท่า วิญญาณความรับทราบซึ่งแต่ละอย่าง ๆ ที่กล่าวมานี้เป็นเงาเป็นอาการของจิตทั้งนั้น รับทราบไว้หมด รู้เท่าทันหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ นี่ละการพิจารณาทางด้านปัญญาเป็นอย่างนี้ พอรู้เท่าแล้วก็ปล่อย ๆ นี่ละเรียกว่าปล่อยด้วยปัญญา ฆ่ากิเลสฆ่าด้วยปัญญา นี่ก็ฆ่าอุปาทานเข้าไปเป็นทอด ๆ แล้ว เป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป ฆ่าอุปาทานความยึดถือกายก็ฆ่าได้แล้ว ทำลายลงไปได้แล้ว ความยึดถือเวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นอาการของจิตก็ฆ่าไปโดยลำดับ รู้เท่าไปโดยลำดับแล้ว นี่เรียกว่าฆ่ากิเลส ฆ่าด้วยสติ ฆ่าด้วยปัญญา ศรัทธาความเพียร
สุดท้ายก็จะมีที่ไหน ไม่มีที่ออกหากินแล้วที่นี่กิเลส อวิชชาไม่มีบริษัทบริวาร จะออกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ถูกตัดหมด จะไปติดรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัสก็ถูกตัดหมด ไม่มีทางหากินแล้วอวิชชาก็ต้องผอมต้องโซที่นี่ โซซัดโซเซติดแนบอยู่กับใจ สติปัญญาหยั่งลงไปที่ใจนั้นอีก พิจารณาฟาดฟันหั่นแหลกลงไปในตรงนั้น โดยลักษณะไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน ไม่ถือความรู้นั้นว่าเป็นเราเป็นของเรา พิจารณาให้เห็นตามความจริง เช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลายที่เราเคยพิจารณามาแล้ว ด้วยสติปัญญาอันแหลมคม สุดท้ายมันก็พังทลายไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลย
นั่นแหละทำลายโลกธาตุ ทำลายความเกิดแก่เจ็บตายของตนก็ทำที่นั่น ทำลายเชื้อแห่งความเกิดตรงนี้แหละ นี่แหละเชื้อแห่งความเกิด ได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ที่จะก่อแขนงแผ่กระจายไม่มีสิ้นสุด ความเกิดแก่เจ็บตาย ไปที่ไหนมีแต่ป่าช้าของสัตว์ อวิชชานี้เป็นเชื้ออันสำคัญเป็นต้นเหตุพาให้เกิดให้ตาย เมื่อทำลายอันนี้หมดไปไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว ก็เหลือแต่ความบริสุทธิ์เท่านั้น นั่นละที่นี่หมดเรื่อง เรื่องกลมายาของกิเลสร้อยแปดพันประการที่เคยต่อสู้กันมาโดยลำดับ ๆ เป็นอันว่ายุติ พอจิตหลุดพ้นจากสิ่งทั้งหลาย กิเลสหมอบราบตายหายซากไปหมดแล้ว ไม่มีสิ่งใดมากวนใจ เราเห็นความสุขอันไพบูลย์ประจักษ์ใจไม่สงสัยตลอดอนันตกาล
เวลานี้เราอยู่กับการก่อกวนของกิเลสเรายังเห็นว่าเป็นสุขอยู่เหรอ อยู่ทั้งวันทั้งคืนอยู่กับเรื่องก่อกวนวุ่นวาย ถูกกิเลสย่ำยีตีแหลกหมด ทุกข์ทรมานลำบากลำบน ไม่ว่าคนโง่คนฉลาด คนมั่งมีคนจน ต้องเป็นผู้ได้รับความทุกข์เพราะความเหยียบย่ำทำลายของกิเลสทั้งนั้น เมื่อได้ฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสหลุดลอยไปจากจิตใจหมดแล้ว ใจเป็นอิสรเสรีเต็มที่ไม่มีสิ่งใดมายุแหย่ก่อกวนอีกแล้วแสนสบาย ไม่มีคำว่ากาลเวล่ำเวลา สถานที่ไม่มี สมมุตินิยมอะไรทั้งหมดในสามโลกธาตุนี้ไม่สามารถเข้าไปแทรกสิงใจได้เลย
นั่นจึงว่าเป็นใจที่พอตัวเต็มที่ เป็นใจที่มีอิสรเสรีเต็มภูมิของตน แล้วอยู่ด้วยความผาสุกเพราะอำนาจแห่งความเพียรของเรา ที่ตะเกียกตะกายล้มลุกคลุกคลานมา บางครั้งถึงขนาดที่จะสลบไสลเพราะความทุกข์ก็ยอมทนต่อสู้กับกิเลส เอ้า กิเลสไม่ตายให้เราตาย เราไม่ตายให้กิเลสตาย สุดท้ายก็กิเลสนั่นแหละตาย ดังพระพุทธเจ้าสลบถึง ๓ หน แต่พระองค์ไม่ตาย สุดท้ายก็กิเลสตาย พระสาวกทั้งหลายลำบากลำบนสักขนาดไหน สุดท้ายก็กิเลสตายท่านไม่ได้ตาย นี่เราทำไมจะกลัวตายยิ่งกว่ากลัวกิเลสตาย ความกลัวเจ้าของตายยิ่งกว่าการกลัวกิเลสตายก็คือกลัวกิเลสตายนั่นเองมันผิดกันไหมกับท่านพิจารณาซิ เวลานี้ความรู้ความเห็นการปฏิบัติตัวของนักปฏิบัติเราฝืนธรรมนะ ดูหัวใจตัวเองนั่นแลจะรู้และเข้าใจคำว่าฝืนธรรม เพราะคิดแต่เรื่องของกิเลสตลอดเวลานี่
ครั้งพุทธกาลปราชญ์ท่านมองเห็นการณ์ไกล เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะ จึงต้องจดจารึกเอาไว้ ไม่งั้นกุลบุตรสุดท้ายภายหลังจะไม่เห็นแม้กระทั่งเงาของธรรมเลย ศาสนธรรมนี้จะไม่มีเหลือ จึงต้องจดจารึกเวลาศาสนาผ่านมาตั้งหลายร้อยปีแล้ว เราจึงได้มาอ่านตามตำรับตำรานี้ ก็พอเป็นกรุยหมายป้ายทางให้เราได้พินิจพิจารณาดีอยู่แล้ว อย่างทุกวันถ้าไม่มีตำรับตำราเราจะเอาอะไรมาปฏิบัติ ตำรับตำราดีขนาดไหนพิจารณาดูซิ ถ้าไม่มีตำรับตำราเราจะเอาอะไรมาเรียน จะเอาอะไรมาปฏิบัติ นี่ปราชญ์ท่านได้ทำเอาไว้เพื่อเป็นกรุยหมายป้ายทางให้กุลบุตรสุดท้ายภายหลัง ได้แก่พวกเราได้ยึดได้ถือดำเนินตาม
การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมนั้น ก็เป็นมัชฌิมาอยู่ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าเรียวแหลม ถ้าความพากเพียรไม่เรียวแหลมเสียเท่านั้น ความอุตส่าห์พยายาม ความประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมเรียวแหลมนั้น ผลก็ต้องเรียวแหลม ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักแห่งสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบนี้แล้ว ก็เป็นมัชฌิมาอยู่ทั้งผลที่จะพึงได้รับไม่มีอะไรสงสัย ก็มีเท่านี้จะให้ผมพูดอะไรไปอีกกับหมู่เพื่อน หมดภูมิ สอนอย่างเต็มภูมิ
เรายังไม่เห็นโทษของกิเลสแล้วเราจะเห็นโทษอะไร ดูใจเจ้าของให้รู้ มันเคลื่อนไหวมีแต่เรื่องของกิเลสพาเคลื่อนพาไหว ไม่ใช่ธรรมพาเคลื่อนไหว ตั้งสติลงไปก็รู้เอง นักปฏิบัติต้องรู้จิตของตัวเอง จิตเป็นนักโทษ ใครจะเป็นผู้ประคับประคองจิตนั่น ไม่ให้ข้าศึกเข้ามาราวีอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่สติปัญญาเท่านั้นนอกนั้นไม่มี เอาให้จริงให้จังนักปฏิบัติ ถ้าอยากเป็นเจ้าของมหาสมบัติคือมรรคผลนิพพานภายในใจตัวเองน่ะ อย่าตื่นอย่าหลงกาลสถานที่ สมัยโน้นสมัยนี้ ลม ๆ แล้ง ๆ ตามคำหลอกลวงของกิเลส ซึ่งวิชาแขนงนี้กิเลสเคยหากินบนหัวใจของสัตว์โลกผู้โง่มานานแล้ว เราผู้ปฏิบัติธรรมอย่าโดนมันหลอกจะเสียทีเช่นโลกทั่วไป
เอาละพอ |