โอชารสแห่งธรรม
วันที่ 13 ธันวาคม 2524 เวลา 19:00 น. ความยาว 63.56 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔

โอชารสแห่งธรรม

 

ใจที่ถูกบังคับบีบคั้นหรือกดถ่วงอยู่ตลอดเวลา กับใจที่หลุดพ้นจากสิ่งบังคับบีบคั้นกดถ่วงนี้ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ต่างกันมาก โดยไม่มีสมมุติใดจะเทียบได้ เพราะจิตประเภทนั้นไม่ได้อยู่ในวงสมมุติ พอจะมาเทียบให้ถูกต้องตามหลักความจริงของธรรมชาตินั้นได้ แม้จะมีข้อเปรียบเทียบก็เทียบกันไปอย่างนั้นเอง ไม่ตรงตามความจริงที่เป็นอยู่ของธรรมชาตินั้น เมื่อโลกมีสมมุติ มีข้อเปรียบเทียบ ก็จำต้องนำมาเปรียบเทียบกัน

เราดูนักโทษในเรือนจำที่ถูกกดขี่บังคับ เสียความอิสระอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่วันก้าวเข้าสู่ความเป็นนักโทษหรือต้องโทษ จนกระทั่งวันออกหรือวันพ้นโทษ เขาจะมีความสุขอย่างไรบ้าง แม้จะมีการหัวเราะกันบ้างด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้หัวเราะ ก็คือนักโทษหัวเราะอยู่นั่นเอง ฟังแต่ว่านักโทษ ไม่ใช่คุณพาหัวเราะ โทษพาหัวเราะ มันกดขี่บังคับอยู่ในนั้น หาความสุขความสบายที่ไหนมี

เทียบเข้ามาสู่ภายในระหว่างจิตกับกิเลส สิ่งกดขี่บังคับภายในจิตใจของเรา มันกดขี่บังคับอยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิต แม้จะไม่ปรุงไม่แต่งก็ถูกกดขี่บังคับอยู่อย่างนั้นตามหลักธรรมชาติของมันเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นจะหาความสุขอันแท้จริงที่ไหนมี ความสุขก็เป็นความสุขเหมือนกับอาหารที่เขานำไปเลี้ยงนักโทษในเรือนจำนั่นแล จะเป็นอาหารประเภทใดเล่า เพราะอาหารของนักโทษเราย่อมทราบดี แม้จะไม่เคยเป็นนักโทษเราก็ทราบได้ว่าเป็นอาหารประเภทใด เป็นที่พึงพอใจไหม อาหารที่เขานำไปเลี้ยงนักโทษนั้น

อาหารคือเครื่องล่อที่กิเลสนำมาเลี้ยงจิตใจเรา ถ้าพูดตามภาษาโลกก็ว่า พอไม่ให้ตายเหมือนนักโทษในเรือนจำ เพื่อจะเอาการเอางานจากจิตดวงนี้ เช่นเดียวกับเขาต้องการการงานจากนักโทษ ผลของงานจากนักโทษนั้นแล อาหารของจิตที่กิเลสนำมาเยียวยาหรือพอมาประทังชีวิตเรา จึงเป็นอาหารประเภทเดียวกันกับอาหารของนักโทษ ไม่ได้ผิดอะไรกัน ถ้าเทียบแล้วเป็นเช่นนั้น

แต่นักโทษถ้าจะพูดในอีกแง่หนึ่งยังดีกว่าเรา คือเขายังรู้ว่า อาหารนี้กินไปด้วยจำเป็นจำใจเท่านั้น ไม่ได้กินด้วยความชอบพอในอาหาร รสอาหารอะไรเลย เพราะไม่เป็นสิ่งที่น่าชอบใจเลยในอาหารประเภทต่างๆ ที่เขานำมาให้กิน สำหรับเราผู้เป็นนักปฏิบัติ ยังติดรสของโลกามิสด้วยความพอใจ จึงเรียกว่าติด ติดรูปก็มีรสอยู่ในรูปนั้นแล ติดเสียง ติดกลิ่น ติดรส เครื่องสัมผัสต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีรสอยู่ภายในสิ่งนั้นๆ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่จะมีแต่รสที่ว่าลิ้นลิ้มรสอย่างเดียวเท่านั้น รสที่เกิดจากการสัมผัสทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีด้วยกัน และติดกันชนิดไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าติด เรื่อยมาตั้งกัปตั้งกัลป์

จิตใจมีความติด มีความผูกพันรักชอบในสิ่งเหล่านี้ โดยเจ้าตัวไม่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นรสที่ทำความผูกมัด มันเป็นเรื่องของกิเลส เป็นรสของกิเลสทั้งมวล เราจึงติดไม่มีวันที่จะทราบโทษของรสเหล่านี้ได้เลย ถ้าไม่ใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาโดยแยบคายไปตามลำดับ จะกี่กัปนับกัลป์ไม่ได้ก็ตาม จะต้องเป็นผู้ติดรส เพลิดเพลินในรสโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวตลอดไป นี่แหละความแยบคาย ความแหลมคมของกิเลส แยบคายแหลมคมขนาดไหน

ถ้าอยากทราบก็จงตั้งใจประพฤติปฏิบัติ และอย่าลืมคำที่พูดนี้ หากจะประจักษ์ภายในใจในวันหนึ่งแน่นอนจากการปฏิบัติจริงของเรา จะไม่พ้นไปได้ คำที่ท่านว่า “รสแห่งธรรม ชำนะซึ่งรสทั้งปวง” นั้นฟังให้ดี รสแห่งธรรมเป็นอย่างไรจึงต้องชำนะซึ่งรสทั้งปวง ก็รสเหล่านั้นเป็นรสอาหารของนักโทษในเรือนจำ ที่ถูกคุมขังอยู่ในวัฏจักรด้วยอำนาจของกิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่อาหาร ไม่ใช่รสที่พึงใจเป็นลำดับ ไม่ใช่รสที่แท้จริง ไม่ใช่รสแห่งความจริง มันรสแห่งความปลอมของกิเลสเสกสรรปั้นยอหรือปรุงแต่งขึ้นมา ให้เราได้สัมผัสสัมพันธ์ หรือให้เราได้รับได้กินต่างหาก ไม่ใช่รสแห่งธรรมแท้

ส่วนรสแห่งธรรมจะเริ่มปรากฏตั้งแต่จิตเป็นสมาธิ พอจิตเริ่มสงบ ความสุขเริ่มเป็นรสขึ้นมาแล้ว ตามความสงบมากน้อยในขั้นสมถะ คำว่าขั้นสมถะนี้ อย่าไปคิดว่าเป็นขั้นเหมือนบันได ท่านพูดไว้อย่างนั้นเอง ความจริงย่อมเชื่อมโยงไปตั้งแต่ความสุขของสมาธิขั้นพื้น ๆ ไปโดยลำดับ จนถึงขั้นของสมาธิอันละเอียด ความสุขก็มีความละเอียดไปตาม ๆ กัน นี่ก็จัดว่าเป็นรสแห่งธรรม คือ สมาธิธรรม สันติธรรม ในขั้นแห่งความสงบของจิต

พอจิตมีอาหารคือความสงบเป็นเครื่องดื่มเท่านั้น จิตก็ปล่อยวางความกังวลเกี่ยวกับรสต่าง ๆ ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส ทางกายสัมผัส มาโดยลำดับลำดา เพราะรสนี้เริ่มเหนือกว่าแล้ว เพียงเท่านี้ก็เริ่มเหนือรสทั้งหลายอยู่แล้ว ยิ่งจิตได้พิจารณาแยกแยะโดยทางปัญญา กระจายออกตามหลักไตรลักษณ์ หรือหลักอสุภะอสุภังปฏิกูลโสโครกแห่งกรรมฐานก็ตาม เพราะในเบื้องต้นมักจะเดินทางด้านอสุภกรรมฐาน คลี่คลายดูสกลกายทุกสัดทุกส่วนทั้งภายในภายนอกของตน และของบุคคลอื่นสัตว์อื่นตามแต่ความถนัดและเหมาะสมของการพิจารณา เพราะเป็นสภาพเหมือนกันให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนไปโดยลำดับ รสแห่งธรรมก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นรสแยบคาย นอกจากเป็นรสแยบคายแล้ว ยังเป็นรสที่เกิดขึ้นจากการปล่อยวางได้ด้วย

ตามธรรมดาของจิต เมื่อพิจารณารู้แจ้งเห็นชัดในสิ่งใดแล้วย่อมปล่อยวาง การไม่ปล่อยวาง การยึดถือไว้นั้น เป็นโซ่เป็นตรวนของกิเลสมันมัดไว้ มันเสกสรรปั้นยอว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้สวยสิ่งนั้นงาม มันไม่ได้บอกว่าสิ่งนั้นเป็นของปฏิกูลเป็นของโสโครก เป็นของน่าเกลียด เป็น อนิจฺจํ ของไม่เที่ยง เป็น ทุกฺขํ ความกดขี่บังคับหรือเป็นทุกข์ เป็น อนตฺตา ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขาของใคร กิเลสมันไม่พูด มันไม่บอก ไม่เสี้ยมสอนตามหลักความจริงนี้ แต่มันจะนำหลักวิชาของมันเข้ามาแทรกซ้อนกับธรรม หรือแทรกแซงกับธรรมเข้าไปว่า เป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม คือว่าเป็นของสวยของงาม เป็นของจีรังถาวร เป็นของมีคุณค่า ลบล้างของจริงไปโดยลำดับ เพราะมันมีอำนาจมาก ด้วยเหตุนี้จึงติดตามแก้ไข และถอดถอนกลมายาของมันด้วยธรรม มีสติธรรม ปัญญาธรรมเป็นต้น

โลกของเราเป็นโลกที่ติดอยู่ในกลมายาของกิเลสนี้ทั้งมวล เมื่อปัญญาได้พิจารณาเข้าไปตามหลักความจริงโดยทางอสุภะดังที่กล่าวแล้วนี้ และโดยทางไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แยกแยะขุดค้น ย้อนหน้าย้อนหลัง ตลบทบทวนหลายครั้งหลายหนด้วยสติด้วยปัญญา เพื่อหาความจริงที่ถูกกิเลสปิดบังไว้ เปิดเผยขึ้นมาตามหลักความจริง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความจริงล้วน ๆ ไม่ใช่เป็นของปลอม เรื่องของปลอม ความเห็นที่ปลอมนั้น เป็นเรื่องของกิเลสต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของธรรม

เราจะเห็นตามความจริงโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อเปิดของปลอมที่ปกคลุมหุ้มห่อไว้ออกได้ เช่น ความสวยงามเป็นต้น ความจริงแล้วสวยงามที่ไหน เอาอะไรมาสวยงาม คนทั้งคนดูได้เมื่อไรถ้าพูดตามหลักธรรมชาติแห่งความจริงแล้ว มันมีตั้งแต่ของสกปรกเต็มไปหมดทั้งร่าง ไม่ว่าภายนอกภายใน จึงต้องชะล้างอยู่ตลอดเวลา แม้เครื่องนุ่งห่มใช้สอยสิ่งที่ร่างกายนี้อาศัย ต้องสกปรกรกรุงรังไปตามกันหมด เนื่องจากส่วนใหญ่คือร่างกายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความปฏิกูลอยู่แล้วทั้งภายนอกภายใน เมื่อสัมผัสสัมพันธ์หรือคลุกเคล้ากับสิ่งใด สิ่งนั้นจึงกลายเป็นของสกปรกโสโครกไปตาม เช่น สบง จีวร เสื้อผ้า สถานที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ที่หลับที่นอนหมอนมุ้ง มนุษย์ไปอยู่ที่ไหนสกปรกที่นั่น แต่ไม่มองเห็นความจริง เพราะความไม่สนใจมองนั่นแลเป็นหลักใหญ่

นักปฏิบัติค้นให้เห็นตามความจริงนี้ อย่าหนีจากหลักความจริง นี่คือความจริงแท้ สิ่งเหล่านั้นปลอมมันหลอกว่าสวยว่างาม เอ๊า ดูซิในตัวของเรานี้ เอาชิ้นไหนมาเป็นของสวยของงาม มาแข่งกับธรรมคือของจริง ลองดูซิ จะมีชิ้นใดบ้างมากล้าแข่งว่าเหนือธรรมและจริงยิ่งกว่าธรรม นอกจากปลอมยิ่งกว่าธรรมเท่านั้น

ที่ธรรมไม่ปรากฏภายในจิตใจเรา เพราะเวลานี้ความปลอมมันมีอำนาจเหนือกว่า มันหนาแน่นกว่าและปิดบังไว้อย่างมิดชิด แม้เป็นของปฏิกูลทั่วสรรพางค์ร่างกายทั้งภายนอกภายใน ก็ยังเข้าใจว่าเป็นของสดสวยงดงามเป็นของจีรังถาวรไปได้ ระหว่างความจริงกับความปลอมมันมีอยู่ในตัวของเรา มีอยู่ในจิตของเรานี้แล เพราะกิเลสแท้อยู่กับจิต กระจายอำนาจออกมาสู่อวัยวะส่วนต่าง ๆ นอกจากนั้นยังระบาดสาดกระจายไปทั่วโลกสงสาร นั่นเป็นเรา นี่เป็นของเรา อะไร ๆ เป็นเราเป็นของเราไปหมด กลายเป็นของสวยของงามเป็นของแน่นหนาถาวร น่ากระหยิ่มยิ้มย่องไปหมด ล้วนแล้วแต่เพลงของกิเลสตัวจอมปลอม มันหลอกลวงจิตใจเราให้วิ่งเต้นเผ่นกระโดด หมุนติ้วยิ่งกว่าฟุตบอลเป็นไหน ๆ หาความสุขความเจริญใจที่ไหนจากการวิ่งเต้นเผ่นกระโดดกับสิ่งหลอกลวงทั้งหลายดังกล่าวมา

จนกระทั่งถึงบัดนี้ยังไม่ตื่นตัวตื่นใจ แล้วจะตื่นเวลาไหน สถานที่ใด ถ้าธรรมของพระพุทธเจ้าปลุกสัตว์โลก เช่น เราซึ่งเป็นนักปฏิบัตินี้ยังตื่นไม่ได้แล้ว ใครจะตื่นได้ในโลกนี้ คำว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว ชอบอย่างเห็นประจักษ์ ไม่มีปิดบังลี้ลับ ลี้ลับที่ไหนดูที่ตาก็เห็น ดังที่กล่าวมาแล้วนี้

เอ้า ดูเข้าไปซิ ตั้งแต่ผิวหนังเข้าไป ขี้เหงื่อ ขี้ไคลเป็นของดีแล้วเหรอ เป็นของสวยของงามของสะอาดเหรอ ถ้าเป็นของสะอาดจะเรียกขี้ยังไง นั่น และดูเข้าไปจนกระทั่งถึงภายใน ภายในทั้งหมดนี้มันมีชิ้นไหนที่จะมาแข่งธรรมว่าเป็นของสวยของงาม ทั้ง ๆ ที่ธรรมบอกว่าไม่ได้สวยได้งาม เป็นของปฏิกูล แล้วมีชิ้นไหนที่จะมาแข่งธรรมของพระพุทธเจ้าได้ ถ้าธรรมไม่เป็นของจริง ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ตรัสไว้ชอบ เอาอะไรมาแข่งมาลบล้างซิ สิ่งที่ธรรมตำหนิทั้งมวล เมื่อได้หยั่งลงด้วยปัญญาแล้วเป็นจริงอย่างนั้น หาที่ค้านไม่ได้

สิ่งทั้งปวงนั้นมันจริงอยู่แล้วตั้งแต่เรายังไม่ได้พิจารณา เป็นแต่ว่าเราถูกกิเลสปิดตาใจของเราไว้ ทั้ง ๆ ที่มองเห็นอยู่มันก็ไม่เห็นไปตามความเป็นจริง ปฏิกูลเต็มเนื้อเต็มตัวมันก็มาลบล้างไปหมด กลายเป็นว่าเป็นของสวยของงามไปเสีย แล้วก็เชื่อมัน โดยไม่มองดูธรรมที่โบกมือคอยช่วยเหลืออยู่เรื่อยมา ประหนึ่งตะโกนเรียกว่า เกาะซิเกาะธรรม รีบเกาะจะพ้นภัย รีบปล่อยกิเลส มันเป็นไฟเผาอยู่นั่นน่ะ

จงฟาดฟันให้มันแตกกระจายไปนี้เป็นอย่างไร สู้จนหมดลมหายใจ นั้นแลธรรมจะแสดงอย่างเปิดเผยทุกสัดทุกส่วนให้เห็นได้อย่างชัดเจน นี่วิธีขุดค้นสิ่งปิดบังเพื่อเห็นความจริงคือธรรมแท้ ถ้าเห็นความจริงก็เริ่มเห็นธรรมแท้ไปโดยลำดับ เพียงแต่ขั้นความสงบก็ไม่ยุ่งกับอะไรแล้ว เพราะเป็นโอชารสแห่งธรรม ใจได้ดื่มธรรมคือความสงบเย็นใจ ใจย่อมไม่วิ่งเต้นเผ่นกระโดด ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งไปสู่อารมณ์ต่างๆ เพราะได้อาหารอันพึงใจเป็นเครื่องดื่มเครื่องเสวย

เมื่อได้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาที่เรียกว่าปรุงอาหาร ให้ละเอียดเข้าไปยิ่งกว่าอาหารทางสมถะนี้ เป็นอาหารทางด้านปัญญา นั่นยิ่งเป็นรสเป็นชาติที่ละเอียดลออเข้าไปไม่มีสิ้นสุด โดยพิจารณาแยกแยะดูสกลกายที่ให้นามว่ากรรมฐาน หลักใหญ่ของการแก้การถอดถอนกิเลสอยู่ตรงนี้ ท่านจึงสอนลงตรงนี้ สอนไปอื่นไม่ได้ เพราะสัตว์โลกติดอยู่ตรงนี้เป็นพื้นฐานเสียก่อน แล้วจึงไปติดภายนอก เมื่อพิจารณาให้เห็นตามความจริงนี้เป็นลำดับลำดาไม่หยุดไม่ถอยการพิจารณา จนกระทั่งเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ความอิ่มพอแห่งการพิจารณาและความปล่อยวางแห่งความยึดมั่นถือมั่น จะกระเด็นออกไปเองด้วยอำนาจของปัญญา เป็นผู้เพิกผู้ถอนสิ่งปิดบังทั้งหลาย หรือตัดฟันรื้อถอนสิ่งทั้งหลายที่จอมปลอมนั้นออก เห็นความจริงอย่างประจักษ์ใจ ปัญญาขั้นนี้ก็หยุดไปเอง

เรื่องอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นไม่ต้องบอก เพราะนั้นเป็นผลแห่งความหลงต่างหาก เมื่อความรู้หยั่งไปถึงไหน ความหลงจะถอนตัวออกทันที อุปาทานจะทนได้อย่างไร ต้องถอนตัวออกมาโดยไม่ต้องสงสัย นี่การพิจารณาปรุงอาหาร คือธรรมารสขึ้นด้วยอำนาจของสติอำนาจของปัญญา พิจารณาคลี่คลายเห็นสิ่งเหล่านั้นชัดเจนตามความจริงเท่าไร จิตยิ่งมีความเบาหวิวๆ เกิดความสลดสังเวช โอ้โฮ นี่เคยติดมาตั้งแต่เมื่อไร ทำไมจึงกล้ามาเสกสรรปั้นยอเอาอย่างหน้าด้านๆ เช่นนี้ นั่นคือคำอุทานว่าเจ้าของเอง เพราะความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ทำไมจึงเสกสรรปั้นยอเอาได้อย่างนั้น เป็นเพราะเหตุไร มันก็รู้เรื่องจอมปลอมที่พาให้เป็นได้ในทันทีทันใดนั้นเอง เพราะปัญญาเป็นผู้หยั่งลงและเลือกเฟ้น จะไม่ทราบของจริงของปลอมได้อย่างไร เอ้า ถ้าจะแยกออกให้แตกกระจัดกระจายก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คือกองป่าช้าผีดิบ ตายลงไปก็เป็นกองป่าช้าผีตาย ดูได้ที่ไหน เอ้า ดูไปทั่วโลกธาตุนี่ ที่ไหนไม่มีป่าช้า สัตว์บุคคลอยู่ที่ไหนมีป่าช้าผีดิบผีตายอยู่ที่นั่น

พิจารณาให้ลงถึงความจริงซิ ปัญญามีไว้ต้มแกงกินได้เหรอ สำหรับมาใช้เพื่อรื้อเพื่อถอนความล่มจมของตัว ให้หลุดลอยออกมาจากความเป็นนักโทษที่ถูกกิเลสควบคุมต่างหาก ทำไมจะทำไม่ได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเหมาะสมอย่างยิ่งแล้วกับมนุษย์เรา จึงประทานพระโอวาทไว้กับแดนแห่งมนุษย์ เห็นว่าเป็นจุดศูนย์กลางอย่างยิ่ง เหมาะสมอย่างยิ่ง ไม่มีใครฉลาดยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดา ประทานธรรมะไว้ในจุดที่เหมาะสมอย่างยิ่งคือมนุษย์เรา

เวลานี้เราเป็นอะไร เราเป็นมนุษย์ เราแน่ใจอยู่แล้วว่าเป็นมนุษย์ นอกจากนั้นยังเป็นพระ ยังเป็นผู้ปฏิบัติอีก ทำไมจะไม่สามารถคว้าเอาของประเสริฐแห่งธรรมารสขึ้นมาชม ขึ้นมาเป็นสมบัติของตนได้ด้วยข้อปฏิบัติของตน ถ้าเราไม่สามารถใครจะสามารถในโลกนี้ มอบความสามารถนี้ให้กับใคร เวลานี้ทุกข์บีบบังคับอยู่ในหัวใจใด ไม่ใช่บีบอยู่ในหัวใจเรานี้เหรอ เราจะมอบความสามารถเป็นต้นนี้ไว้กับใคร ภาระธุรังทั้งหมดเพื่อความปลดเปลื้องจะมอบให้ใคร มอบให้ทุกข์เหรอ ทุกข์ก็มีอยู่กับหัวใจนี้แล้ว นอกจากจะถอนทุกข์ออกด้วยความเพียรเท่านั้น

เราเป็นนักต่อสู้ ต้องเป็นนักท้าทาย ไม่มีคำว่าถอย เอ๊า ทุกข์เถอะ ทุกข์ถึงไหนถึงกัน ทุกข์ด้วยความเพียรไม่ล่มจม ดียิ่งกว่าทุกข์ที่บีบคั้นตัวเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหาผลประโยชน์อะไรไม่ได้เป็นไหนๆ ขุดลงไปนักปฏิบัติ นี่ขั้นหนึ่งของการพิจารณา

ท่านสอนให้ไปดูป่าช้า ก็เพราะยังไม่เห็นป่าช้าภายใน ให้ไปดูป่าช้าภายนอกก่อน เพื่อเป็นบาทเป็นฐานเป็นแนวทาง แล้วได้ย้อนจิตเข้ามาสู่ป่าช้าภายในของตน มันมีมันเต็มไปหมด นอกจากร่างกายของเราเป็นป่าช้าผีดิบแล้ว สัตว์สาราสิงชนิดต่างๆ ยังเต็มอยู่ภายในท้องเรานี้อีกด้วย มีอะไรบ้าง บรรจุกันมานานเท่าไร ป่าช้าตรงนี้ทำไมไม่ดู ดูให้เห็นชัดเจน ความเป็นอสุภะอสุภัง ความเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา กองอยู่ในนี้หมด ไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย

แยกไปทางความแปรปรวนคือเป็น อนิจฺจํ มันก็เห็นอยู่ชัดๆ แปรสภาพอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย แม้แต่เวทนามันก็ยังแปรของมัน มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ หมุนตัวอยู่อย่างนั้นมีเวลาหยุดยั้งที่ไหน ถ้ามีสติปัญญาทำไมจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ทำงานของตัวโดยหลักธรรมชาติของเขา ด้วยสติปัญญาของเรา ต้องรู้ต้องเห็น ปิดไม่อยู่ ปิดสติปัญญาไม่อยู่ ต้องทะลุโดยไม่สงสัย

ทุกฺขํ อวัยวะส่วนไหนพาให้มีความสุขความสบายบ้าง นอกจากทุกข์เต็มตัวต้องบำบัดรักษาอยู่เรื่อยมา จึงพอรอดมาได้ถึงวันนี้ ยังพากันเพลิดเพลินกับกองไฟอยู่หรือ

อนตฺตา ท่านประกาศไว้ชัดเจนแล้ว อย่ายุ่ง อนตฺตา เหมือนกับว่าจะตีข้อมือพวกเรานั่นแหละ อย่าไปเอื้อมอย่าไปจับ อันนั้นเป็นพิษเป็นภัย อย่าไปเข้าใจว่าเป็นตนเป็นของตน เป็นเราเป็นของเรา นั่นคือพิษคือภัย เมื่อว่าเป็นเราเป็นของเราเมื่อไร ความยึดมั่นถือมั่นก็เหมือนการจับไฟนั่นแล จงถอนตัวออกมาด้วยปัญญา ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา โดยแท้ จิตจะไม่ไปอาจไปเอื้อมไปจับ ไม่ไปแตะไปต้องจะปล่อยวางภาระธุรังคือ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นภาระอันหนักนั้นออกมาโดยลำดับ

เมื่อจิตถอนตัวออกจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น จิตก็เบาขึ้นตามๆ กันสบายขึ้นตามๆ กัน โอชารสของธรรมจะแสดงขึ้นโดยลำดับ ละเอียดยิ่งกว่าขั้นสมาธิ เมื่อรสแห่งธรรมเหนือรสของกิเลสประเภทนั้นๆ ก็ต้องเหยียบย่ำกันไป ปล่อยกันไปเรื่อยๆ

รูปขันธ์เป็นสำคัญ ทำจิตให้กระทบกระเทือนมากทีเดียว รักก็เป็นทุกข์ ชังก็เป็นทุกข์ เกลียดเป็นทุกข์ โกรธเป็นทุกข์ เกี่ยวกับเรื่องรูปขันธ์นี่สำคัญมากกว่าเพื่อน ถ้าจิตไม่สงบก็จะไม่มีสถานที่บรรเทา ไม่มีสถานที่หลบซ่อนตัวพอมีความสุขบ้างเลยพระเรา จึงต้องพยายามทำจิตให้สงบ นำธรรมเข้ามาฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป

อย่าเสียดายเวล่ำเวลา อย่าเสียดายวัฏสงสาร อย่าเสียดายเรือนจำ อย่าเสียดายตะราง อย่าเสียดายผู้คุมขังผู้ทรมาน ผู้บีบบังคับเราคือตัวกิเลสแต่ละประเภทๆ นี้คือตัวทรมานเราอย่างใหญ่หลวงมาแต่ไหนแต่ไรนับไม่ได้ก็ตาม ให้ถือเอาหลักปัจจุบันนี้เป็นตัวการสำคัญ แล้วจะกระจายไปหมด อดีตมีมานานเท่าไรก็คือธรรมชาติแห่งกองทุกข์ดังที่เป็นอยู่นี้ หากปลดเปลื้องกันไม่ได้ก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป

อย่าไปสนใจกับเรื่องอื่น ให้ดูเรื่องความเป็นจริงซึ่งมีอยู่ในตัวของเรา และประกาศอยู่ตลอดเวลานี้ด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร อย่าลดละถอยหลัง อย่าเห็นสิ่งใดมีคุณค่ายิ่งกว่าความเพียรที่จะรื้อถอนตนออกจากสิ่งบีบบังคับนี้ ให้กลายเป็นตนผู้วิเศษขึ้นมา ตนนี้จะเสกสรรก็ตาม ไม่เสกสรรก็ตาม ไม่ติดไม่เป็นภาระ ไม่เป็นอุปาทาน เอาตรงนี้ให้ได้ นั่นแหละท่านว่าโอชารสอันสูงสุดอยู่ตรงนั้น ให้ถอดให้ถอนสิ่งที่เกี่ยวข้องพัวพันกันออกไปโดยลำดับ ถากถางเข้าไปตั้งแต่กองรูป ซึ่งเป็นกำแพงอันหนึ่ง หรือเป็นสิ่งหุ้มห่อหนาแน่นอันหนึ่ง

พอผ่านกองรูป ทำลายกองรูปนี้ไปได้ไม่มีเยื่อใย รู้ชัดแจ้งด้วยปัญญาแล้ว เหมือนกับเรามีต้นทุนก้อนใหญ่ประจักษ์ใจ แน่ใจในการที่จะก้าวให้หลุดพ้นได้ในชาติปัจจุบันนี้ และในวันใดวันหนึ่ง ไม่ได้คาดว่าปีโน้นปีนี้ ถ้าลงจิตได้ถึงขั้นนี้แล้วเป็นที่แน่ใจ ความเพียรมาเอง ความทุกข์ความยากความลำบากเพราะการประกอบความเพียรนั้น มันลบล้างกันไปเองเพราะอำนาจรสแห่งธรรมที่ได้ปรากฏ คือเป็นผลปรากฏประจักษ์ใจ เหนือกว่าความทุกข์เพราะความพากเพียรเป็นไหนๆ ใจมีความพอใจโดยหลักธรรมชาติขึ้นมา ความเพียรหมุนตัวเป็นเกลียวในบุคคลที่เคยเกียจคร้าน

ความเกียจคร้านเป็นเรื่องของกิเลสต้านทานธรรมต่อสู้ธรรม เราจะประกอบความพากเพียรความขี้เกียจขี้คร้าน ความอ่อนแอความท้อแท้เหลวไหล ความทุกข์ความลำบากจึงประดังกันเข้ามา บีบบังคับให้ก้าวไปไม่ได้ สุดท้ายก็ล้มตูม แสดงว่าถูกยิงแล้ว ไม่ต้องซ้ำหลายนัด ตูมเดียวก็ล้ม ล้มลงเสื่อลงหมอน หลับครอกๆ แครกๆ ล้วนแต่ถูกกิเลสมันยิงเอาๆ ฟันเอาแหลกแตกกระจาย ความเพียรไม่เป็นท่า ถ้าอย่างนี้แล้วก็คือผู้ที่จะจมอยู่ในวัฏสงสาร จมอยู่ในเรือนจำคือวัฏจักรนี้ตลอดไป หาวันหลุดพ้นไปไม่ได้ หาวันเป็นอิสระไม่ได้

เพราะฉะนั้น  จงฟาดฟันลงไปตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้นี้ไม่เป็นอื่น จะต้องพ้นจากสิ่งที่บีบบังคับนี้โดยไม่ต้องสงสัย สำคัญอยู่ที่ความเพียร ที่สติ ที่ปัญญา ความอดความทน เอ้า ทนลงไป ทนเพื่อบึกบึนเป็นอะไรไป อย่างอื่นเรายังทนได้ ทุกข์แทบล้มแทบตายในร่างกาย ไม่มีใครมาอดมาทนให้เรา เราจำต้องอดต้องทนมา เคยทนมาแล้วไม่ใช่เหรอ ส่วนความอดความทนทุกข์เพราะการประกอบความเพียรนี้ ทำไมจะไม่พออดพอทนได้ เพราะทนเพื่อจะประกอบความเพียรรื้อถอนตนให้พ้นจากทุกข์ ทำไมเราจะทนไม่ได้ว่ะ เอาให้หนักแน่นซิหัวใจของพระ หัวใจนักปฏิบัติ ถ้าลงเห็นภัยตามหลักธรรมแล้ว เห็นคุณก็จะเห็นขึ้นในลำดับต่อไปด้วยความเพียรของเรานั้นแล

เบื้องต้นให้ฟาดฟันในเรื่องกรรมฐานนี้ให้มาก พอเป็นปากเป็นทาง ได้นี้เป็นเหตุเป็นผลเป็นต้นทุนแล้ว เรื่องขันธ์สี่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็เป็นอันทำงานด้วยกันอยู่แล้ว เวทนากายก็มี เวทนาจิตก็มี เวลาพิจารณาร่างกายนี้ทำไมจะไม่วิ่งประสานกัน เพราะธรรมเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่พิจารณาร่างกายเสร็จแล้ว จึงไปพิจารณา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่าไปคาด อย่างนั้นผิด ในหลักปฏิบัติหลักความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น ทำงานจ่อลงจุดใดแล้วมันจะกระเทือนกันไปหมด แต่เวลาเด่นมันไปเด่นตอนที่ร่างกายหมดความหมายไร้ค่าไปแล้วจากธรรม แต่ก่อนเราเห็นว่าสิ่งนี้มีความหมายมีคุณค่ามาก พอธรรมความจริงเข้าไปทำลายความจอมปลอมของกิเลสตัณหาประเภทนี้แล้ว สิ่งเหล่านั้นก็หมดความหมายไร้ค่าไป ธรรมเป็นของมีคุณค่าเหนือนั้นแล้วอย่างเด่นชัด ทีนี้พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้จะเด่น เพราะได้เป็นปากเป็นทางมาแต่ขั้นรูปกายแล้ว

เวทนามีอะไร ส่วนมากจะเข้าสู่จิตเวทนา เวทนาส่วนร่างกายก็เคยได้อธิบายให้ฟังแล้ว แยกดูในขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วย ในขณะที่นั่งนานๆ ก็รู้ ถ้าอยากรู้เอาวันนี้ก็รู้เรื่องทุกขเวทนาด้วยสติปัญญา จะต้องรู้เห็นกันชัดเจน ถ้าใช้ปัญญา อย่าอดทนเฉยๆ การต่อสู้กับทุกข์ต้องต่อสู้ด้วยปัญญา ต่อสู้เฉยๆ อดทนเฉยๆ ไม่จัดว่าเป็นมรรค มรรค คือ สติปัญญา ทุกข์มีมากเพียงไรยิ่งหมุนติ้ว สติปัญญาจะออกจากจุดนั้นไม่ได้ เอาให้เห็นความจริงภายในนั้น เรื่องร่างกายแต่ละชิ้นละส่วนนั้นจะเป็นความจริง ตามหลักธรรมชาติของตนอย่างชัดเจนภายในจิต เพราะตามหลักธรรมชาติ เขาก็เป็นความจริงของเขาอย่างนั้นอยู่แล้ว

เวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไรภายในร่างกาย มันก็เป็นความจริงอันหนึ่งของตัวเอง มีจิตเท่านั้นเป็นผู้ไปสำคัญมั่นหมาย เมื่อจิตได้พิจารณารู้เท่าด้วยปัญญาแล้ว จิตก็ถอนตัวเข้ามาสู่ความจริงของตนในขั้นนี้ แล้วก็ต่างอันต่างจริง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วเป็นโทษต่อกันที่ตรงไหน กระทบกระเทือนกันได้อย่างไร ไม่กระทบกระเทือนกัน กายก็เป็นกาย ทุกข์ก็เป็นทุกข์ ใจก็เป็นใจ คือ จิตเป็นจิต ต่างอันต่างจริงไม่กระทบกัน แม้ทุกขเวทนาจะไม่ระงับดับไปก็ตามก็ไม่กระทบกระเทือนกัน ไม่ทำความกระทบกระเทือนแก่จิตให้หวั่นไหวได้เลย นั่นคือเห็นความจริง หลายครั้งหลายหนก็สามารถถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในส่วนร่างกายนี้ได้ เวทนาทางกายมันก็ผ่านไปด้วยกัน เหลือแต่เวทนาทางจิต

สัญญา สังขาร เป็นสำคัญ เวลาผ่านจากกายนี้ไปแล้ว รูปขันธ์นี้ไปแล้ว มันจะเด่นเรื่อง สัญญา สังขารความคิดความปรุง เพราะมันหมดปัญหาทางร่างกายแล้วจิตใจก็ไม่ยอมพิจารณา เหมือนกับเรารับประทานอิ่มแล้ว อาหารประเภทนี้อิ่มแล้วก็ปล่อย อันใดที่ยังสัมผัสสัมพันธ์ยังดูดดื่มก็รับประทานสิ่งนั้นๆ เรื่อยไป จนกระทั่งอิ่มโดยประการทั้งปวงแล้ว ปล่อยหมด ไม่ว่าอาหารหวานคาวประเภทใด การพิจารณาก็เหมือนกัน มันหากบอกอยู่ในตัวนั้นแล เมื่อใจอิ่มพอกับสิ่งใดย่อมปล่อยวางสิ่งนั้น แล้วหยุดการพิจารณาในสิ่งนั้น พิจารณาสิ่งอื่นต่อไป เช่นเดียวกับเรารับประทานอาหารประเภทนี้ เมื่อพอแล้วก็รับอาหารประเภทอื่นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอิ่มพอตัวหมดแล้ว ปล่อยหมดทุกประเภทของอาหาร การพิจารณานี้ก็เพื่อความอิ่มพอ แล้วปล่อยวางนั่นแล

สังขารคือความคิดปรุงอยู่ภายในจิต ปรุงดีปรุงชั่ว เรื่องนั้นเรื่องนี้ ปรุงอยู่ตลอดเวลา เราทุกคนหลงเรื่องของตัว ไม่มีคนอื่นมาเกี่ยวข้องก็ตาม จิตจะต้องวาดภาพ ความคิดความปรุง ทั้งอดีตทั้งอนาคตยุ่งไปหมดภายในจิตใจ หลงเพลินอยู่กับอารมณ์นั้น โศกเศร้าอยู่กับเรื่องนั้น เรื่องผ่านไปแล้วกี่ปีกี่เดือนก็นำมาอุ่น นำมาปรุงมาแต่งให้กวนใจ บีบบังคับใจอยู่นั้นแล เพราะความหลง ไม่ทันกับกลมายาของกิเลสประเภทนี้จึงต้องพิจารณา จิตปรุงขึ้นมาเรื่องอะไร ดีก็ดับ ชั่วก็ดับ เอาสาระอะไรจากสิ่งเหล่านี้ มันเกิดขึ้นมาที่ตรงไหนก็ค้นลงไปตรงนั้น

สัญญาความสำคัญมั่นหมาย มันก็หมายออกมาจากจิต จิตนี้เมื่อเข้าถึงขั้นละเอียดเป็นอย่างนั้น หากเป็นหลักธรรมชาติของการพิจารณาเองเป็นเช่นนั้น ใครไม่บอกก็เข้าใจไปเอง สัมผัสสัมพันธ์ที่ไหน สติปัญญาจะหมุนติ้วๆ อยู่ตรงนั้น จนกระทั่งเข้าใจแล้วปล่อย

เมื่อปัญญาได้ตัดสะพานทางรูปขันธ์ ก็เท่ากับตัดสะพานทางรูป เสียง กลิ่น รส ภายนอกเข้ามาเช่นเดียวกัน จะเหลืออยู่ภายในจิตก็เพียง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มีอยู่กับจิตล้วนๆ พิจารณาอยู่ในจุดนั้นด้วยปัญญา ไม่ทำความคุ้นเคยกับอาการใดในสี่อาการ คือ เวทนา สุขเกิดขึ้นมาก็ดับ ทุกข์เกิดขึ้นมาก็ดับภายในจิตนั้น ท่านจึงเรียกว่า อนิจฺจา ๆ หรือ อนตฺตา ๆ มันเป็นสิ่งเกิดดับ สัญญาก็ อนิจฺจํ    ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกัน จะยึดอะไร มันก็เป็นเหมือนกับรูปขันธ์นี้แหละ คือเป็นกองแห่งไตรลักษณ์เหมือนกันทั้งสิ้น

เมื่อพิจารณาหลายครั้งหลายหน อาการทั้งสี่นี้ก็หดตัวตะล่อมเข้าสู่จิต นี่แลการไล่กิเลส ตีต้อนกิเลสตีเข้าไปอย่างนี้ มันไปหลบไปซ่อนอยู่ที่ไหน คลี่คลายขุดค้นตามไปด้วยปัญญา จนกระทั่งรู้ชัดเห็นชัดแล้ว กิเลสหาที่หลบซ่อนไม่ได้วิ่งเข้ามาสู่จิต จากนั้นสติปัญญาก็หมุนติ้วเข้าสู่จิต มโน ท่านก็ไม่ให้ยึด ฟังซิ มโนก็เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นั่นฟังซิ มโนไม่เป็นไตรลักษณ์ได้ยังไงก็กิเลสอยู่ในนั้น เราจะถือว่าใจเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร เมื่อกิเลสทั้งกองทัพมันอยู่ภายในจิตใจ ถ้าเราไปถือว่าจิตเป็นเราเป็นของเราแล้ว ก็เท่ากับถือกิเลสเป็นเราเป็นของเราเข้าอีก แล้วจะพ้นไปได้ยังไง ลึกซึ้งมากธรรมะข้อนี้ นี่ในขั้นพิจารณา

จิตก็เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยกัน เพราะกิเลสมีอยู่ภายในนั้น เอ๊า ฟาดลงไปด้วยการพิจารณา อะไรจะแหลกแตกกระจาย แม้ที่สุดจิตจะฉิบหายไปกับสิ่งทั้งหลาย ก็ให้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญาของเราเถอะ

ตอนกิเลสเป็นยอดวัฏจักร ที่ท่านว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นละเชื้อแห่งภพแห่งชาติมันฝังจมอยู่ภายในจิตดวงนี้ เมื่อถูกตัดสะพานออกหมดไม่มีที่หากิน ออกทางตาก็ถูกตัดออกแล้ว ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถูกตัดหมดด้วยปัญญา กิเลสหาทางออกไม่ได้ จะไปรักรูป รักเสียง รักกลิ่น รักรส เครื่องสัมผัส ก็ถูกตัดสะพานหมดแล้ว รู้เท่าความเป็นจริงหมดแล้ว มันก็วิ่งเข้าสู่ภายใน จะไปติดรูปขันธ์ นี้ก็พิจารณารู้แล้วด้วยปัญญา ปล่อยวางไปแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็พิจารณาไล่ตะล่อมเข้าไปโดยความเป็นไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไปหมดแล้ว มันอยู่จุดไหนกิเลส มันก็ต้องไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใหญ่คือจิต ปัญญาก็ฟาดฟันลงไป

ที่นี่จิตเป็นเราเหรอ จิตเป็นของเราเหรอ ฟันลงไป เอ๊า อะไรจะฉิบหายก็ให้ฉิบหายไปไม่อาลัยเสียดาย เราต้องการความจริงเท่านั้น แม้จิตจะฉิบหายกระจายไปหมดกับสิ่งทั้งหลายที่แตกกระจายไป ก็ให้รู้เห็นกับการปฏิบัตินี้ ฟาดฟันลงไป สุดท้ายสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายก็แตกกระจาย ธรรมชาติของจริงล้วนๆ ของจริงอันประเสริฐคือจิตที่บริสุทธิ์นั้นไม่ตาย ไม่ถูกทำลาย นั่นเห็นไหม ที่นี่จะว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หรือไม่ว่าก็ตามเถอะ ขอให้จิตบริสุทธิ์เสียอย่างเดียวเท่านั้นก็พ้นจากสมมุติไปหมดแล้ว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้อยู่ในวงสมมุติ พอจิตได้หลุดพ้นจากนั้นไปแล้ว หมดคำที่จะพูดอะไรต่อไปอีกแล้ว ทั้งๆ ที่รู้ๆ อยู่นั้นแล สงสัยอะไรที่นี่

นี้แลคือการพ้นจากที่คุมขัง พ้นจากวัฏจักร คือที่คุมขังของสัตว์ทั้งหลายมีเราเป็นสำคัญ มีใจเราเป็นสำคัญ รื้อถอนออกที่ตรงนี้ ปลดเปลื้องออกที่ตรงนี้ เมื่อกิเลสหลุดลอยออกไปจากใจโดยสิ้นเชิงเสียเท่านั้น จะไม่มีอะไรเป็นปัญหาต่อจิตใจอีกเลย ท่านจึงเรียกว่า อกาลิกจิต อกาลิกธรรม หากาลหาเวลาไม่ได้ คือไม่มีกาลไม่มีเวลา เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ พุทโธ เต็มดวงอยู่เช่นนั้น

ทีนี้เราจะไม่เห็นโทษของกิเลสชัดเจนได้อย่างไร เมื่อสติปัญญาเป็นต้นขึ้นเหยียบหัวกิเลสให้แหลกแตกกระจายออกไปหมดแล้ว ทำไมจะไม่เห็นโทษของมันอย่างเต็มใจ ความสุขที่กิเลสนำมาป้อนเวลาเราจะตาย มันเอามาเยียวยาเราบ้างพอประทังชีวิตทำไมจะไม่รู้ นี่ความสุขเคลือบน้ำตาลที่เกิดขึ้นจากกิเลสปรุง และนำมาเยียวยาเราพอประทังชีวิต มันเป็นอย่างนี้นี่แลรสของกิเลส แต่รสของธรรมกลับตรงข้ามเป็นอย่างนี้ ทำไมจะไม่รู้

เมื่อสรุปความลงแล้ว จิตที่อยู่ในอำนาจของวัฏจักรคือกิเลสเป็นเครื่องบีบบังคับ จึงไม่ผิดอะไรกับนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เมื่อได้พ้นจากสิ่งคุมขังคือกิเลสนั้นโดยสิ้นเชิงแล้ว จึงหาอะไรเทียบไม่ได้ แม้เช่นนั้นท่านก็ยังยกว่า ประเสริฐๆ ซึ่งเป็นสมมุติอันหนึ่งขึ้นมา ที่ไม่ตรงกับความจริงอันนั้นนักเลย ถึงไม่ตรงก็ให้เป็นที่แน่ใจเถอะ ความต่างกันเป็นดังที่ว่านี้แล ระหว่างจิตที่มีสิ่งควบคุมกับจิตที่หลุดพ้นแล้วจากสิ่งบังคับทั้งหลาย เป็นอิสรเสรีเต็มที่ของตัวแล้ว ต่างกันดังที่กล่าวมาแล้วนี้แล

ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจ ต่างมุ่งมาศึกษาหาสาระใส่ตน พิจารณาให้เห็นชัดตามหลักอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เพราะทั่วไตรโลกธาตุเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่มีอะไรจะเป็นของวิเศษพอให้อาลัยอาวรณ์กับมัน นอกจากการหลุดพ้นเสียเท่านั้นเป็นของวิเศษ เป็นธรรมชาติที่วิเศษแท้ ไม่ต้องเสกสรรปั้นยอก็เป็นธรรมชาติของตน พอกับทุกสิ่งทุกอย่าง นี้แลที่ว่ารสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง รสที่เราเคยผ่านมาจะเป็นรสชนิดใดก็ตาม รสแห่งธรรมชนะทั้งหมด ปล่อยทั้งหมด เพราะไม่มีรสอะไรเสมอ แม้รสนี้ก็ไม่ติด รสที่ว่าประเสริฐนี้ก็ไม่ติดตัวเอง เป็นหลักความจริงอันหนึ่งเท่านั้น

เอ๊า เอาให้จริงนักปฏิบัติ อย่าท้อถอย เอ้า พลีชีพต่อพระพุทธเจ้าเถอะ การพลีชีพต่อกิเลสนี้เราไม่ว่าพลีก็ตาม เราเคยพลีมามากและนานแสนนานแล้ว จนนับไม่ได้ในภพชาติหนึ่งๆ ของแต่ละสัตว์แต่ละบุคคล นับไม่ได้แล้ว เอาวงปัจจุบันที่เห็นๆ เป็นๆ อยู่เวลานี้ ย้อนหลังไปจนหาประมาณไม่ได้ เป็นมาจากอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ที่ฝังอยู่ภายในใจนี้แลเป็นภพๆ ชาติๆ สิ่งอื่นๆ ทั่วไตรภพ ไม่มีสิ่งใดชิ้นใดพาให้เป็นภพเป็นชาติ และพาให้แบกกองทุกข์ทั้งมวล มีอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารานี้เท่านั้น

เพราะฉะนั้น จิตเวลาคนตายแล้วว่าสูญ มันสูญไปไหน เอาภาคปฏิบัติเข้าไปจับซิ อย่าพูดตามกลมายาของกิเลสปิดหูปิดตาซิ กิเลสมันบอกว่าตายแล้วสูญ นั่น มันปิดไว้อย่างมิดชิดแล้ว กิเลสตัวพาให้สัตว์เกิดตายนั้นสูญไปไหน ทำไมไม่ย้อนศรแทงมันบ้างถ้าอยากรู้กลหลอกของมัน มันพาสัตว์โลกให้จมอยู่ในวัฏสงสารนี้ มันสูญไปไหนกิเลสน่ะ และกิเลสบังคับอะไรถ้าไม่บังคับจิต จิตเมื่อมันสูญไปแล้วกิเลสบังคับได้ยังไง มันไม่สูญน่ะซิมันถึงบังคับให้เกิดแก่เจ็บตายได้เรื่อยมาเรื่อยไปไม่หยุดไม่ถอย ทำไมเราจะไปหลงกลมายาของกิเลสว่าตายแล้วสูญๆ ไม่สะดุดใจเห็นโทษกลหลอกของมันบ้าง กิเลสตัวแสบนี้เคยหลอกสัตว์โลกให้หลงและงมทุกข์มานานแสนนานแล้ว

พิจารณาให้ถึงความจริงซิ อะไรสูญไม่สูญก็ให้รู้ นี่จึงเรียกว่านักธรรมะ นักค้นคว้าพิจารณาให้ถึงความจริง ดังพระพุทธเจ้าที่ประกาศสอนธรรม ท่านประกาศสอนด้วยความจริง ท่านทรงปฏิบัติแล้ว ทั้งเหตุก็สมบูรณ์เต็มที่ จึงได้ผลเป็นที่พอพระทัยแล้วนำธรรมนี้ออกสอนโลก ท่านสอนไว้ที่ตรงไหนว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วสูญ อยู่ที่ตรงไหน มีแต่ว่าเกิดแก่เจ็บตายๆ อยู่อย่างนั้น ท่านสอนไว้เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ค้านกัน เพราะรู้อย่างเดียวกันเห็นจริงอย่างเดียวกันตามหลักความจริงนั้นๆ จะลบให้สูญได้อย่างไรเมื่อเป็นความจริงเต็มส่วนอยู่แล้ว

การเกิดการตาย เกิดตายไม่หยุดไม่ถอยเพราะอะไรเป็นสาเหตุ ท่านก็สอนไว้แล้วว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เป็นต้น นี่เป็นสาเหตุ มันฝังอยู่ภายในจิต จึงพาให้เกิดอยู่ไม่หยุดไม่ถอย พอทำลายอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ลงไปแล้วเป็นอย่างไร อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ นั่น พออวิชชาดับจากใจเสียเท่านั้นไม่ว่าอะไรๆ ดับไปหมด นิโรโธ โหติ นั่น จะว่าไง หรือว่า เอวเมตสฺส เกวลลฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ นั่น พออวิชชาดับไปเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างดับไปหมด แล้วผู้ที่รู้ว่าอวิชชาดับ นั่นคือผู้บริสุทธิ์ ผู้บริสุทธิ์นั้นดับสูญไปได้อย่างไร ความจริงสุดส่วนเป็นอย่างนี้ ดูเอา ฟังเอา ผู้ถือ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ น่ะ ก็พวกเราชาวพุทธมิได้ถือ กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ นี่วะ

เราเป็นนักปฏิบัติต้องค้นให้เห็นความจริงซิ ใครจะยกสามแดนโลกธาตุมาหลอกมาค้านก็ไม่หวั่น ถ้าลงได้รู้เห็นความจริงเต็มหัวใจแล้วค้านได้ยังไง เราคิดดู พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ทำไมจึงสามารถเป็นครูเป็นศาสดาของโลกได้ทั้งสามโลก ถ้าไม่เอาความจริงที่ทรงรู้ทรงเห็นเต็มพระทัยมาสอนเอาอะไรมาสอน การสอนก็สอนด้วยความอาจหาญไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้าผู้เป็นอาชาไนย ผู้นำความจริงล้วนๆ มาสอนโลก ไม่ได้เอาความปลอมความด้นเดามาสอนนี่ การพูดออกมาด้วยความด้นเดาเกาหมัดนั้นเป็นวิชาของอวิชชา เป็นหลักวิชาของอวิชชาที่กล่อมโลกให้ล่มจมไปตามมันต่างหาก หลักธรรมแท้ๆ ไม่ได้สอนให้ล่มจม ถึงเรียกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของปลอม ธรรมเป็นของจริงที่พึ่งเป็นพึ่งตายได้ไม่สงสัย

กิเลสมันปลอมทั้งเพ ร้อยทั้งร้อยปลอม ธรรมจริงร้อยทั้งร้อยจริงหมด มันเดินสวนทางกันระหว่างกิเลสกับธรรม จึงต้องเป็นข้าศึกกัน การปฏิบัติความพากเพียรไม่รบกับกิเลสจะรบกับอะไร นี่คือข้าศึก ไม่รบกับอันนี้จะรบกับอะไร เวลานี้กิเลสเป็นข้าศึกต่อธรรม เป็นข้าศึกต่อเรา เราไม่รบกับกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อเราและต่อธรรมจะรบกับอะไร เมื่อรู้เรื่องของกิเลสเสียทั้งมวลแล้ว จะสงสัยธรรมไปที่ไหนกันอีก เฉพาะอย่างยิ่งจิตสงสัยอะไร เรื่องตายเกิดตายสูญ สูญที่ไหนก็ให้รู้ซินักปฏิบัติ ฟังอะไรเสียงลมปากที่อมกิเลสตัวสกปรกพ่นออกมา ไม่ขี้เกียจล้างหูหรือ จงฟังเสียงธรรมของศาสดาองค์เอกนั่นซิ หูจะได้สะอาด ใจจะได้บริสุทธิ์

เอาให้จริงให้จัง ทำลุ่มๆ ดอนๆ เหลาะๆ แหละๆ เห็นแก่หลับแก่นอน เห็นแก่ปากแก่ท้องเหล่านี้เคยฝังใจมานานแล้ว เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล จงพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงให้เป็นเรื่องของธรรมขึ้นมา จะสมชื่อสมนามว่าเป็นลูกศิษย์ตถาคต ได้พลีตนออกมาบวชในพระพุทธศาสนา และดำเนินตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า จะได้มหาสมบัติอันล้นค่ามาครองใจ เมื่อธรรมครองใจกับกิเลสครองใจนั้นต่างกันอย่างไร นี่ก็ดังที่พูดแล้ว ธรรมครองใจประเสริฐเลิศเลอ สง่าผ่าเผย มีอิสระเต็มตัวเต็มใจ ไม่ไขว่คว้า ไม่หิวโหย ไม่เสาะแสวง ไม่หวังพึ่งอะไรเพราะธรรมเต็มใจแล้วอิ่มพอ

 

พูดต่อตอนท้ายแห่งการแสดงธรรม

ระหว่างพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่จะมาตรัสรู้เรียก พุทธันดร ระหว่างพุทธันดรที่ว่างจากศาสนานั้น ไม่ได้ยินคำว่า บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพานเลย เพราะไม่มีใครบอกว่าธรรมเป็นยังไง กิเลสเป็นยังไง แล้วจะมีทางเดินได้ยังไง ก็หัวสุมกันอยู่ในเรือนจำนั้นน่ะซิ จะว่าไง ในเรือนจำนั้นยังทำโทษต่อกันในเรือนจำได้อีก ไม่เพียงแต่ว่าเป็นนักโทษแล้วมันทำโทษอะไรไม่ได้นะ เป็นนักโทษแล้วมันก็ยังทำโทษได้อีก อย่างนักโทษในเรือนจำ ฆ่ากันเก่งอยู่ในเรือนจำนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เมื่อไม่มีอรรถมีธรรมอะไรมาชี้แจงแสดงบอกเหตุบอกผลดีชั่ว ต่างๆ แล้ว ก็มีแต่ความชั่วเต็มหัวใจสัตว์ แล้วจะไปเอาความดีที่ไหนมาทำ เพราะมีแต่ความชั่ว  ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้มาตรัสรู้แต่ละพระองค์ ๆ และสั่งสอน ก็จมอยู่ในโลกันตสัตว์นั้นตลอด พอพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ จึงได้ยกอันนี้ขึ้นมา ยกอันนั้นขึ้นมา ให้รู้ให้เห็นกันทั้งบุญทั้งบาป ทั้งนรกทั้งสวรรค์และนิพพาน ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ติดกับตัวเรานั่นแหละ แต่เจอไม่ได้ เห็นไม่ได้ เพราะไม่มีผู้บอก เจอตั้งแต่ทุกข์ที่กิเลสบีบบังคับให้แสดงผลออกมา ตัวสาเหตุคือกิเลสที่ผลิตทุกข์ให้เรา บีบบังคับเราให้เป็นทุกข์นั้น เราก็ไม่เห็น ทางที่จะออกจากกิเลสเราก็ไม่รู้ไม่เห็น เพราะไม่มีธรรมแสดงทางออกพอได้ขวนขวาย

นี่เราพร้อมแล้ว ถึงพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปนานสักเท่าไร ก็สวากขาตธรรมนั้นแลคือองค์ศาสดา ดังที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์นั่น แหมซึ้งมากนะ “พระธรรมและวินัยที่เราแสดงไว้แล้วนี้แล อานนท์ จะเป็นครู เป็นศาสดาของเธอทั้งหลายแทนเราในกาลที่เราล่วงไปแล้ว” หมายถึงพระสรีระพระองค์ล่วงไปเป็นธรรมดาของ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ส่วนธรรมของจริงนั้น เป็นศาสดาไปโดยตลอด ผู้เคารพธรรมวินัย จึงชื่อว่าเคารพศาสดา และเดินตามนี้จะไม่ไปไหน จะไปตรงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วนั้นแล เหมือนพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ไม่ผิดอะไรกันเลย

สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วๆ ขอให้เดินตามหลักธรรมที่ชอบนั้นเถอะ จะเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติดี ตรงก็อยู่ที่นั่น สุปฏิปนฺโน ก็อยู่ที่นั่น อุชุฯ ก็อยู่ที่นั่นญายฯ อยู่ที่นั่น สามีจิฯ อยู่ที่นั่น สุดท้ายก็ เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ เมื่อบรรลุธรรมเป็นขั้นๆ จนถึงความหลุดพ้นแล้ว นั้นแลคือสาวกของพระพุทธเจ้าอยู่ที่นั่น

ผู้ทรงหลักความจริงนั้นแหละจะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว จะเป็นผู้เป็นหลักของตัวและของโลกไปได้ คือทรงความจริงไว้ไม่หวั่น ถ้ามีความจริงอยู่ภายในใจแล้วไม่หวั่นการประพฤติปฏิบัติทุกอย่างสม่ำเสมอ ไม่เป็นลุ่มๆ ดอนๆ สำคัญอยู่ที่จิต เพราะฉะนั้น จึงต้องสอนเน้นลงที่จิต ให้หมู่เพื่อนได้หลักได้เกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติทางด้านจิตใจ ข้อวัตรปฏิบัติ สิกขาบทวินัยอะไรจะเป็นไปตามหลักของจิต เมื่อจิตได้น้อมลงสู่ธรรมแล้ว การดำเนินทำไมจะไม่เป็นไปโดยความเป็นธรรมเป็นวินัย ต้องเป็น

ถ้าเพียงแต่ความจำเฉยๆ มันไม่ได้เรื่องนา ผมไม่ได้ประมาทธรรมของพระพุทธเจ้า เรียนก็เรียนเพื่อความจำ มีแต่ความจำเฉยๆ ความจำอันไหนมาแก้กิเลสได้มีเหรอ จำได้หมดพระไตรปิฎก กิเลสก็เต็มตัวอยู่นั้น ไม่มีกิเลสตัวไหนที่หนังบางเอานักหนาพอผิวมันถลอกบ้าง หนังมันถลกบ้าง นอกจากจะเพิ่มกิเลสขึ้นมาให้หนังหนาเท่านั้น ด้วยความสำคัญว่าเราเรียนมากรู้มาก เคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้ มันหนักความรู้ความฉลาดของตนที่เรียนมามาก ความจริงมันหนักกิเลสความถือเนื้อถือตัว ความสำคัญมั่นหมายว่าตัวรู้ตัวฉลาดต่างหาก นั้นแลกิเลสมันแทรกอย่างนั้น จงเข้าใจไว้ด้วยดี อย่าลืมตัวว่าเรียนมาก รู้มาก ฉลาดมาก กิเลสน้อยลง ถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อความจริงแห่งธรรมทั้งหลาย จะไม่มีหวังเห็นธรรมของจริงประจักษ์ใจตลอดไป

เอ้า ภาคปฏิบัติฟาดลงไป เราจะเห็นเรื่องเหล่านี้แตกกระจายออกไปภายในจิตใจของเรา ที่เคยแบกเคยหามความรู้ความฉลาดอันเป็นกิเลสสำคัญนั้นอย่างประจักษ์ไม่สงสัย เพราะความจำกับความจริงนั้นต่างกัน ความจริงนี้ลงได้เข้าถึงไหน กิเลสหลุดลอยไปถึงนั้น ความจำ จำไปถึงไหน กิเลสพองตัวขึ้นถึงนั้นแหละ นี่เป็นความจริงพูดตามความจริง เราก็เคยเรียนมา นี่ถ้าหากว่าเราไม่เรียนมา ใครๆ เขาจะว่าเรานี้ประมาทเอาเสียจนสิ้นดี เราไม่ได้ประมาท ในความรู้สึกของเราไม่เคยมีความประมาทธรรมพระพุทธเจ้าเลย

เรียนเราก็ได้เรียน จำเราก็ได้จำ เรียนนักธรรมตรี ได้ความรู้นักธรรมตรี ที่นี่มันหมายออกไปแล้วนะ โอ เรานี่มีความรู้มากนะ ได้ถึงนักธรรมตรี พอได้นักธรรมโท ขยายออกไปอีกแล้ว แหม.เรามีความรู้มากถึงนักธรรมชั้นโทนะ เป็นนักธรรมเอกขึ้นเป็นมหาเปรียญ โอ๋ย ยิ่งจะก้าวไม่ออก มันหนักความรู้ มันหนักความรู้ตายอะไร มันหนักกิเลสทิฐิมานะ ว่าตัวรู้ตัวฉลาดต่างหาก นั้นละตัวโง่ที่สุด มันไม่ได้เรียนเพื่อฉลาด มันเรียนเพื่อโง่ถ้าเป็นอย่างนั้น

ถ้าเรียนเพื่อรู้หลักข้อปฏิบัติแล้วจะได้ดำเนินตามนั้น นั่นละเรียนเพื่อความฉลาด การเรียนนั้นจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าการเรียนแล้วมาสำคัญตัว และยึดเอาสมบัติของพระพุทธเจ้าจากที่เรียนมาจำได้มานั้น มาเป็นสมบัติของตนเป็นไหนๆ ความจำเป็นสมบัติได้ยังไง ความจริงต่างหากเป็นสมบัติ เมื่อเรียนแล้วก็ปฏิบัติ ท่านจึงว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ฟังซิ ธรรมทั้งสามเป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกันแยกกันไม่ออก ถ้าผู้มุ่งผลตามหลักความจริงที่ทรงสอนไว้แล้ว ต้องดำเนินตามธรรมทั้งสามประเภทนี้ ปริยัติเรียนรู้แล้ว เอ้า ปฏิบัติ ท่านสอนว่ายังไง เช่น เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ เป็นต้น เป็นเรื่องเล็กน้อยหรือ ครอบโลกธาตุอยู่แล้วนี่

ดังที่พูดตะกี้นี้อะไรร่างกายมันเป็นยังไง เกสา ดูซิ โลมา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แน่ะ คนเรามันดูกันได้เพียงหนังหุ้มห่ออยู่เท่านั้นแหละ ผิวบางๆ หลอกตาคนโง่ให้หลงกันเสียจนทั่วดินแดน ท่านจึงสอนไว้ตรงนั้น ตจปริยนฺโต มีหนังหุ้มห่ออยู่เท่านั้นนะจึงพอดูได้ กิเลสมันละเอียดแหลมคมมาก มันฉลาดมาก มันเอาหนังบางๆ มาหลอกสัตว์ หุ้มไว้ในร่างว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล ว่าเป็นหญิงเป็นชาย ว่าเป็นของสวยของงาม ทำให้สัตว์โลกฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ดิ้นรนกวัดแกว่งยิ่งกว่าสุนัขเดือนเก้า เดือนสิบ เสียงเห่าเสียงหอนอึกทึก เพราะอำนาจแห่งราคะตัณหามันกำเริบมันดิ้นรน นั้นอำนาจของหนังห่อกระดูกมีอิทธิพลมากไหม พิจารณาดูซิ มันดิ้นรนอะไร พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงแล้ว มันจะไปดิ้นอะไร เพราะเห็นชัดๆ อยู่แล้วนี่ ตาก็เห็นอยู่นี่ ชะล้างอยู่ทุกวัน ชะล้างของสกปรกนั่นเอง สะอาดแล้วไปชะล้างกันทำไม ท่านสอนมาถึงนี้ซึ่งเป็นส่วนใหญ่แล้วท่านก็หยุด เพราะเวลามีน้อย ยังไม่ได้สอนให้มากกว่านี้

ผู้พิจารณาก็พิจารณากระจายออกไปถึงอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า นั่น หมดแล้วธาตุดินภายในร่างกาย ที่นี่เราก็พิจารณากระจายให้แหลกด้วยปัญญาเป็นไร มันจะหลงไปไหน กิเลสมันหลบมันซ่อนอยู่ตามอาการเหล่านี้ มันเสกสรรปั้นยออยู่ตามนี้ ฟาดฟันลงไปให้ถึงหลักความจริงด้วยสติปัญญา มันจะไปไหนกิเลส จะหาที่หลบซ่อนได้ที่ไหนดังที่พูดแล้ว

ใครมาสอนอย่างนี้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าใครจะมาสอนอย่างนี้ได้ เพราะไม่มีใครเห็นใครรู้นี่ กิเลสปิดหูปิดตาโลกไว้อย่างมิดชิดทีเดียว เมื่อสติปัญญาอันเป็นธรรมเครื่องประหารฟาดฟันเข้าไปตรงไหน มันแตกกระจายไปตรงนั้น เห็นความจริงตรงนั้นๆ ทีนี้มันก็ถอนตัวเข้ามาๆ ละซิ นี่คือความจริง เข้าถึงไหนแตกกระจายไปถึงนั้น จิตเบาขึ้นๆ นั่นคือการถอดถอนกิเลสด้วยความจำเพื่อการปฏิบัติเป็นอย่างนั้น

เมื่อรู้แล้วก็ให้ปฏิบัติดังที่รู้มา เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ เป็นต้น นี่เราจำได้แล้วในภาคปริยัติ ที่ท่านสอนกรรมฐานทีแรก นั้นคือปริยัติ เราได้เรียนแล้วจากอุปัชฌาย์อาจารย์ของเรา จากนั้นก็เป็นภาคปฏิบัติ นำไปคลี่คลายกระจายดูให้เห็นตามหลักความจริง นี้คือภาคปฏิบัติ เมื่อเห็นตามความจริงมากน้อย ย่อมถอดถอนตนออกมาๆ กิเลสค่อยหลุดลอยไปๆ ท่านจึงว่า ปฏิเวธๆ ความรู้แจ้งแทงตลอด คือแทงทะลุไปเรื่อยๆ จนแทงทะลุปรุโปร่งไม่มีอะไรเหลือเลย พ้นจากโลกพ้นที่ไหน ถ้าไม่พ้นที่ใจซึ่งเคยถูกบีบบังคับอยู่นี้จะไปพ้นกันที่ไหน ใครจะมีจรวดดาวเทียมมาให้ขับขี่ให้ขึ้นไปเพื่อพ้นโลก พ้นโลกอะไรอย่างนั้น มันไปตายอยู่บนอวกาศก็ยังมี มันพ้นที่ไหนถึงได้ตาย แต่กิเลสที่ไม่ตายยังฝังอยู่ในจิตมันก็พามาเกิดอีกนั่นแล ให้พ้นที่จิตนี้ซิ เพราะกิเลสตัวบีบบังคับอยู่ที่จิตนี้ มิได้อยู่ที่อวกาศ

ความเกิดความตาย จิตเป็นตัวการสำคัญ ที่ยาพิษคือกิเลสแทรกเข้าไปให้หมุนติ้วๆ ทั้งวันทั้งคืน ยืนเดินนั่งนอน และในภพนั้นภพนี้ ภพน้อยภพใหญ่ ภพไหนมันก็กองอยู่กับใจดวงนี้ นักปฏิบัติธรรมสงสัยที่ตรงไหน สงสัยอะไรกัน เอาให้จริงซิ ถ้าลงได้รู้วิวัฏจิตนี้แล้ว ไม่ต้องบอกความพ้นทุกข์หรือพระนิพพาน จิตรู้เองเห็นเองพ้นทุกข์ถึงพระนิพพานเอง โดยไม่สนใจกับใครจะมาบอกหรือตามส่งเสียแหละ เหมือนกับนักโทษนั่นแล พอถูกปล่อยออกจากเรือนจำเท่านั้น เขาไม่ถามว่า บ้านของข้าอยู่ที่ไหน ข้าติดตะรางมาหลายปีแล้ว ข้าจำบ้านไม่ได้ ไปส่งข้าด้วย ดังนี้ไม่มี มีแต่เผ่นถึงบ้านทีเดียว อยากให้มีสัก ๕ ขา หรือ ๑๐ ขาโน่น จะได้เผ่นพร้อมๆ กันให้ถึงเร็วทันใจ เพราะความอยากกลับบ้านกลับเรือน เพื่อเห็นหน้าลูกหน้าเมียญาติมิตรเพื่อนฝูง และกลับไปสู่ความเป็นอิสระ อะไรจะมีกำลังมากยิ่งกว่าหัวใจที่พองตัวเวลาพ้นจากโทษแล้ววะ

นี่ก็เหมือนกัน เมื่อจิตหลุดลอยออกจากกิเลสแล้ว ไม่ต้องถามหาละนิพพานถามหาทำไม ขอให้รู้นิพพานประจักษ์ใจเถอะจะไม่ต้องถามใครทั้งสิ้น ที่ไม่รู้นิพพานนั่นซิ ถึงถามกันให้ยุ่งในชาวพุทธเรา ดีไม่ดียังทะเลาะกันด้วยมวยฝีปากไม่ยอมลงเวทีซึ่งมีอยู่เยอะ

นิพพานคืออะไร ขอจงทำใจให้บริสุทธิ์เถอะ จะหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง ขึ้นชื่อว่าสมมุติจะไม่มีเข้าไปเกี่ยวข้องขัดแย้งได้เลย นี่ละธรรมะพระพุทธเจ้า เป็นธรรมสดๆ ร้อนๆ อยู่อย่างนี้ มรรคผลนิพพานทำไมจะไม่สดๆ ร้อนๆ กับผู้ปฏิบัติเล่า เราไปคว้าหาอะไรลมๆ แล้งๆ ตะครุบเงา ตะครุบไปทำไม เอาตัวจริงนั่นซิ จับตัวได้แล้วก็จับเงาได้เท่านั้นแหละ เพราะเงานี้ออกไปจากตัว จับตัวได้แล้วทำไมจะจับเงาไม่ได้ไม่ถูก การตะครุบเงา เงามันวิ่งเราก็วิ่ง ทันเมื่อไร ความสำคัญมั่นหมายหลอกเราไปเรื่อยๆ นี้แลคือเงา จงจำไว้ให้ถึงใจจะถึงธรรมคือตัวจริง

ไม่มีอะไรที่จะมากั้นกางมรรคผลนิพพาน มีสัจธรรม ๒ ประการเท่านั้น คือ ทุกข์กับสมุทัย เป็นเครื่องปิดบังจิตใจไม่ให้ก้าวเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้ แล้วอะไรจะเป็นเครื่องบุกเบิกสิ่งที่ปิดบังหุ้มห่อทั้งสองประเภทนี้ ก็มรรคสัจ นิโรธสัจนั่นแล มีเท่านี้เครื่องบุกเบิกที่จะให้ถึงมรรคผลนิพพานมี มรรคสัจ ได้แก่ข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป จนกระทั่งสัมมาสมาธิเป็นที่สุด นี่คือเครื่องมือบุกเบิกที่จะให้เข้าสู่มรรคผลนิพพาน ปราบให้เตียนโล่ง กิเลสไม่มีเหลือเพราะมัชฌิมาปฏิปทานี้แล มันเพราะกาลสถานที่ที่ไหน มันเพราะบุคคลผู้ใดมีอำนาจมากีดกันบังคับคับจิตใจของเราไม่ให้พ้นจากกิเลส มันไม่มีกาลสถานที่และสิ่งใดหรือบุคคลผู้ใดมากีดกันมรรคผลนิพพาน นอกจากเราเองที่ถูกกิเลสกล่อมเอาเท่านั้น มันถึงไปไม่รอดและหลับครอกๆ อยู่ด้วยความประมาทนอนใจเท่านั้น มันเป็นเรื่องของกิเลสคือทุกข์สมุทัยทั้งมวลที่ขับกล่อม และกีดกันสัตว์โลกไม่ให้ถึงมรรคผลนิพพานน่ะ มรรคผลนิพพานจะไปล้าสมัยที่ไหน ถ้าไม่ใช่เราเป็นคนล้าสมัยเสียเอง ถ้าอยากให้ทันสมัยก็เอาซิ ปฏิบัติตามหลักธรรมพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงและถึงใจซิ คำว่าล้าสมัย อันเป็นกลมายากดถ่วงของกิเลสจะสิ้นซากไปเอง

ธรรมะของพระพุทธเจ้าล้าสมัยที่ตรงไหน มัชฌิมาๆ ฟังซิ พอเหมาะพอดีอยู่ตลอดเวลากับการปราบกิเลสทุกประเภท อะไรจะเหมาะยิ่งกว่ามัชฌิมา ความพอเหมาะพอดีกับการปราบกิเลสทุกประเภท กิเลสประเภทไหน เก่งกล้าให้ผาดโผนออกมาถ้าไม่อยากพังทลายตายเกลื่อนน่ะ กิเลสประเภทนี้เก่งให้ออกมา มัชฌิมาปฏิปทา เครื่องมือชนิดนี้ฟาดฟันขาดสะบั้นไปหมด เอา กิเลสประเภทไหนเก่งให้ออกมา ถ้าสามารถให้ออกมา มัชฌิมานี้เป็นไม่ถอย ถ้าเราได้ยึดหลักมัชฌิมาให้ดีแล้ว กิเลสต้องพังทลายๆ เป็นลำดับลำดา จนถึงวาระสุดท้าย กิเลสละเอียดก็พังทลายด้วยมัชฌิมาขั้นละเอียดแหลมคมไม่มีเหลือซากอีกต่อไป นี่อยู่ตรงนี้มรรคผลนิพพาน อย่าสงสัย สงสัยไปทำไม ธรรมคือความจริงมีอยู่ อย่าถูกหลอกไปเรื่อยๆ เชื่อกิเลสเชื่อมานานและล่มจมเพราะมันมานานแล้ว ให้เชื่อธรรมคือทางหลุดพ้นและความหลุดพ้น พระองค์ประทานไว้หมดแล้ว รีบนำมาใช้ปราบกิเลส อย่าจดๆ จ้องๆ เลื่อน ๆ ลอย ๆ จะเสียการณ์และตายเปล่า

มัชฌิมาปฏิปทานั้นแล ธรรมเครื่องบุกเบิก นิโรธ ความดับทุกข์ นั่นเป็นผลของมัชฌิมาปฏิปทาต่างหาก มัชฌิมาทำหน้าที่ได้มากน้อยเพียงไร ความดับทุกข์ก็ดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมัชฌิมาปฏิปทามีกำลังเต็มที่ ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ นิโรธคือความดับสนิทแห่งกองทุกข์ทั้งหลายก็แสดงผลเต็มที่ ทุกข์หมดไปโดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือแล้วจะถามหามรรคผลนิพพานที่ไหน ไม่ถาม เพราะรู้สดๆ ร้อนๆ อยู่กับตัวของเรา อยู่กับใจของเราโดยสมบูรณ์แล้ว

จงดูกลมายาของกิเลสให้ดี ตัวปิดตัวกั้น กั้นด้วยวิธีใด อาการความคิดความปรุงของจิตในแง่ต่างๆ ล้วนเป็นอาการของกิเลสแสดงตัวนะถ้าสติไม่ทัน เมื่อสติทันก็เห็นความเคลื่อนไหวของกิเลส โน่นเข้าถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ หรือมหาสติ มหาปัญญาโน่นละถึงจะรู้ชัดเรื่องความเคลื่อนไหวของกิเลสว่ามันรวดเร็วขนาดไหน แต่ก็สู้สติปัญญาอัตโนมัติ หรือมหาสติมหาปัญญาไปไม่ได้ พอกิเลสเคลื่อนพับ สติปัญญาตื่นแล้ว ปัญญาตามต้อนแล้ว เมื่อถึงขั้นนี้กิเลสต้องหมอบ ความหมอบของกิเลสไม่ใช่กิเลสกลัวธรรมนะ นั่นเป็นความฉลาดของกิเลสต่างหากที่มันหมอบหลบซ่อนน่ะ สติปัญญาต้องคุ้ยเขี่ยขุดค้นกันขึ้นมาทำลาย เอาจนกิเลสแหลกแตกกระจายไปหมด ตลอดลูกเต้าหลานเหลนของกิเลสก็ดับ และดับเชื้อไม่มีเหลือภายในใจแล้ว นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ท่านว่า ดับความหิวกระหาย ไม่มีอะไรดับสนิทยิ่งกว่ากิเลสดับจากใจ แล้วมีอะไรที่นี่ โลกสามโลกก็เหมือนไม่มีนั่นแล

มีแต่กิเลสเท่านั้นรบรวนกวนใจ บีบคั้นจิตใจ เมื่อกิเลสหมดไปแล้ว ไม่มีอะไรมาบีบบังคับอีก ต้นไม้เป็นต้นไม้ ภูเขาเป็นภูเขา ดินฟ้าอากาศเป็นดินฟ้าอากาศ เขามีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่เห็นมาบีบบังคับเรา ภูเขาทั้งลูกก็ไม่ได้มาบีบบังคับ กิเลสต่างหากบีบบังคับหัวใจ ฟาดฟันกิเลสให้แหลกตรงนี้แล้ว อะไรไม่มาบีบบังคับเเหละ

เอาให้รู้ให้เห็นซินักปฏิบัติ ให้เห็นกับตัวนี่ อย่าให้เห็นกับผู้ใดว่าดียิ่งกว่าเห็นกับตัวของเรา ด้วยการปฏิบัติของเรา เอาให้จริง จะรู้จริงเห็นจริงตามหลักแห่งสวากขาตธรรมไม่สงสัย เพราะเป็นธรรมค้ำประกันโลกและมรรคผลนิพพานมานานแสนนานไม่เป็นอื่นเรื่อยมา

นี่ก็ได้พยายามสอนหมู่สอนเพื่อนจนเต็มเหนี่ยว ผมไม่ได้สงสาร ผมไม่ได้ห่วงใยผม ยิ่งกว่าห่วงหมู่ห่วงเพื่อนนะ จงเห็นใจ หมู่เพื่อนนี่ผมเอาใจใส่จริงๆ ในจิตของเราปฏิพัทธ์และรักสงวนหมู่เพื่อนมาก ตาก็แหลมหูก็กางรับหมู่เพื่อนตลอดเวลา ไม่ใช่อวดนะ พูดตามเจตนาความรู้สึกของจิต พาให้ตาแหลมตาสอดส่อง หูก็แหลมไปตามกัน อะไรๆ ว่าแล้วดุเล่าๆ เพราะอันนั้นมันผิดนี่ จะเปิดโอกาสให้กิเลสมันเหยียบย่ำทำลายลูกศิษย์เราอยู่ได้ยังไง เราเป็นอาจารย์ก็บอกละซิ นั่นเหมือนกับว่าช่วยตบออก ช่วยตีออกปิดป้องให้ดีซิ อย่าเปิดตรงนั้น กิเลสจะต่อยตรงนั้น อย่าเปิดตรงนี้ นั่นเหมือนนักมวยเขาฝึกซ้อมมวยกัน ครูกับลูกศิษย์ฝึกซ้อมมวยกัน ครูต้องเตือนเสมอว่า อย่าเปิดตรงนั้นๆ พอครั้งที่สามครูก็เตะตูม พอเตะก็เตะ พอศอกก็ศอกเข้าไป พอหมัดก็หมัดเข้าไปพร้อมกับคำเตือนว่า อย่าเปิดตรงนั้น ในเวลาฝึกซ้อมกัน

ครูมวยตี ครูมวยต่อย ครูมวยเตะ มันไม่ได้เจ็บเท่าคู่ต่อสู้ตบหรือต่อย คู่ต่อสู้ต่อยดีไม่ดีตาย ครูนั้นตีบอกตีสอน เตะบอกเตะสอน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเตือนต้องบอกฝึกซ้อมกันไปๆ เตือนบอกกันไปว่าอย่าเปิดตรงนั้น และเตะต่อยที่เผลอ พร้อมบอกว่า แน่ะ บอกแล้วนะ ฝึกซ้อมกันไปๆ อย่าเปิดตรงนั้น แล้วฝึกซ้อมกันไป พอครั้งที่สามก็ตูมเข้าไป อย่าเปิดตรงนั้น

นี้มันก็ทำนองนั้นแหละ ดุตรงนั้นดุตรงนี้ ดุองค์นั้นดุองค์นี้ ก็เหมือนกับอย่าเปิดตรงนั้นๆ นั่นเอง เพราะไหวพริบปัญญาของเรามันไม่ทันกิเลส เห็นแต่กิเลสมันเหยียบหัว เตะโน้นเตะนี้ ทั้งศอกทั้งเข่า เรากลิ้งไปกลิ้งมา ยังเพลินหลับครอกๆ อยู่ได้ ถูกกิเลสเตะเอาขนาดนั้น มันก็น่าโมโหละซิผู้เป็นครูอาจารย์ฝึกอบรมน่ะ อย่าเปิดตรงนั้นๆ ก็ต้องว่าละซิ ทำไมองค์นั้นเป็นอย่างนั้น ทำไมองค์นี้เป็นอย่างนี้ แน่ะ ก็เหมือนกับว่าอย่าเปิดตรงนั้นๆ นั่นแล

เมื่อสติปัญญาเหนือกิเลสอยู่แล้ว มันจะอยู่ในหัวใจดวงใด จะแสดงออกมาด้วยท่าทางหรืออาการใด จะไม่พ้นจากสติปัญญาที่เหนือมันไปได้ ต้องรู้เห็นหมดทั้งๆ ที่ผู้นั้นไม่รู้ ถ้าลงได้เหนือกิเลสแล้วเป็นอย่างนั้น กิเลสมันเคยอยู่ในหัวใจเรามานานเท่าไรแล้ว และเคยต่อสู้กับมันด้วยวิธีการต่างๆ มาแล้ว เอ้า สมมุติว่ากิเลสพินาศฉิบหายไปจากหัวใจนี้แล้ว แม้กิเลสอยู่หัวใจอื่นทำไมจะไม่รู้ เพราะมันเป็นเพลงเดียวกัน วิชาเดียวกันที่มันไปเสี้ยมสอนสัตว์โลก กล่อมสัตว์โลก ทำไมจะไม่รู้กลมายาของมันเล่า พูดไป เตือนไป ดุด่าไป ซึ่งเป็นเหมือนคลังกิเลสสำหรับผู้ฟัง ฟังเสียงเปรี้ยงๆ ขณะพูดอรรถพูดธรรมให้หมู่เพื่อนฟัง ทั้งนี้ก็เพราะพูดด้วยความตั้งใจ บอกสอนให้เห็นจุดบกพร่องจริงๆ ผู้ฟังจะได้ถึงใจไม่ผิดพลาดบ่อยๆ

เอาละพอวันนี้ เหนื่อยแล้ว


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก